แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพุทธทาส : มีอะไรอีกล่ะ
ถาม : ทีนี้ก็มาถึงปัญหาที่โด่งดังอยู่ในปัจจุบัน มีท่านผู้หนึ่งถามว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่แม้จะผิดหลักศีลธรรม แต่ยังประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ผิดหลักพุทธธรรมหรือไม่ มีอีกท่านผู้หนึ่งถามมาเหมือนกัน ผมก็ขออ่านเสียเลยว่า ถามว่า ขณะนี้ในกรุงเทพฯ มีปัญหาขัดแย้งกันเรื่องการทำแท้ง บางพวกว่าควร บางพวกว่าไม่ควร อยากทราบความคิดเห็นของท่านอาจารย์ เพราะทางฝ่ายสงฆ์ที่กรุงเทพฯ ท่านเฉยๆ ไม่แสดงความคิดเห็น นอกจากพระฝ่ายสันติอโศกที่ไม่เห็นด้วย
ท่านพุทธทาส : เราต้องนึกถึงหลักของพระพุทธเจ้า ถ้าพูดว่า “ควร” ก็ไม่ถูก พูดว่า “ไม่ควร” ก็ไม่ถูก บ้าทั้งสองอย่าง มันก็ต้องแล้วแต่เหตุผลของมัน อยู่ที่ตรงกลาง ไปที่ตรงกลาง ว่ามันมีเหตุผลควรจะทำหรือไม่ จะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เขียนบทบัญญัติให้ชัดลงไปว่า อย่างไรควร อย่างไรไม่ควร อย่างไรอนุญาต อย่างไรไม่อนุญาต ให้มันเป็นกลางอย่าตัดไปซะว่า ควรหรือไม่ควร หรืออย่าไปส่งเสริม หรืออย่าไปคัดค้านให้ยุ่งเปล่าๆ ใช้วิธีสายกลาง ดูเอาเองว่ามันควรหรือไม่ควรด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ที่จริงเขาก็ทำกันมาแต่ก่อนนานแล้วทั่วทั้งโลก ถ้าเห็นว่าควรจะช่วยมารดาไว้ต้องทำลายลูก มันก็ทำลายลูก เอามารดาไว้ นี่ก็เป็นที่ยอมรับกันมาแต่ก่อน เพราะมันมีเหตุผลในทางที่ว่ามันควรที่จะทำอย่างนั้น เรื่องอย่างนี้ขอให้ถือหลักพุทธศาสนาว่า พระพุทธเจ้าท่านจะไม่พูดอะไรโดยส่วนเดียว เหวี่ยงซ้ายหรือเหวี่ยงขวาโดยส่วนเดียว ว่าควรหรือว่าไม่ควร ท่านตอบว่าจะต้องดูก่อน นี่แหละคือหลักพระพุทธเจ้า แล้วก็ดูว่ามันจะควรหรือไม่ควร เราจะไม่กินผัก เราจะไม่กินเนื้อ เราจะไม่กินทั้งผักและทั้งเนื้อ เราจะอยู่ตรงกลาง คือกินอาหารที่ควร กินอาหารที่ถูกต้อง กินแต่เนื้อก็เป็นยักษ์ กินแต่ผักก็เป็นค่าง เราเอาอยู่ตรงกลางๆ ดีกว่า คือที่ควรน่ะ เรากินแต่อาหารที่ถูกต้อง อย่าให้บัญญัติว่านั่นนี่ นั่นนี่ลงไปให้มันเหวี่ยงขวาเหวี่ยงซ้ายสุดโต่งเลย เรื่องทำแท้งก็ควรเขียนกฎหมายให้ชัดลงไปว่า อย่างไรควร อย่างไรไม่ควร ถ้าไปทำที่มันไม่ควรก็ต้องให้มันผิดกฎหมาย จับหมอมาลงโทษ นี่เป็นหลักใหญ่นะ ช่วยกันจำไว้ทุกคนนะว่า พระพุทธเจ้าท่าน ท่านเองด้วย ท่านก็ไม่ยอมให้สาวกทำอะไร คือจะพูดผ่าซากโดยส่วนเดียวลงไปว่าอย่างไรจะไม่มี ท่านจะอยู่ที่มัชฌิมาปฏิปทา คือ อยู่ตรงกลาง เช่นว่า มันทั้งชั่วทั้งดี ล้วนแต่อัปรีย์ ก็อยู่ตรงกลางระหว่างชั่วระหว่างดี จะสบาย อยู่ตรงกลาง มัชฌิมาปฏิปทา อย่าชอบพูดอะไรสุดเหวี่ยง ว่า เอ้า, หรือ ได้ หรือว่า ยอม หรือไม่ยอม นั่นมันสุดเหวี่ยง นั่นไม่เป็นพุทธ ไม่เป็นชาวพุทธ ชาวพุทธต้องมีเหตุผลสำหรับจะอยู่ตรงกลางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา แล้วก็ไม่หมายมั่นอะไรให้มันโผงผาง ผ่าซาก ดื้อรั้นโดยส่วนเดียว ข้างใดข้างหนึ่ง ให้มันอยู่ตรงกลางไว้ คือ ดูดีแล้ว มีเหตุผลดีแล้ว เรื่องทำแท้งนี่อาตมาบอกว่า ไม่มีอะไรจะพูดว่า ควรหรือไม่ควร พูดแต่ว่าให้ไปดูให้ดีว่าอย่างไรควรทำ อย่างไรไม่ควรทำ แล้วเขียนกฎหมายไว้เสียให้ชัดนะ แต่ถ้าคริสเตียน ศาสนาคริสเตียนเขามีเขียนไว้เด็ดขาดเลย ทำไม่ได้ๆ แต่พระพุทธเจ้าเชื่อว่าไม่เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านจะบอกว่าให้ดูให้ดี มันควรหรือไม่ควร จะไม่พูดไว้โดยเด็ดขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง คุมกำเนิดก็ไม่ได้ ทำแท้งก็ไม่ได้ ถ้าสำหรับศาสนาคริสเตียนเขาถือคัมภีร์บัญญัติไว้ชัดว่า ไอ้นั่นมันเป็นความประสงค์ของพระเจ้า ที่ต้องเกิดมาหรือจะอะไรก็ตามมันเป็นไปตามประสงค์ของพระเป็นเจ้า เราจะไปขัดขวางไม่ได้ แต่พุทธศาสนานี้จะไม่พูดอย่างนั้น จะพูดว่าดูๆ ดูให้ดี มันควรหรือไม่ควร แต่มันก็ยากน่ะที่ว่าสติปัญญาของมนุษย์จะไปตัดสินว่า ควรหรือไม่ควร นี่มันมักจะเข้าข้างตัวเอง มันก็เลยลำบากเหมือนกัน ถ้าควรหรือไม่ควรเสียโดยส่วนเดียวมันก็จะลำบากเหมือนกัน มันไม่ตรงกับเรื่องแน่ มันจะไม่ถูกตรงกับเรื่องได้เสมอไป อยู่ที่ว่า รวมหัวกันใช้สติปัญญาให้ดีที่สุด ให้พบว่าควรหรือไม่ควรนั่นแหละจะดี ต้องตอบว่าไปดูเอาเองว่าควรหรือไม่ควร เราไม่อาจจะบอกว่าควรหรือไม่ควร มีอะไรอีก
ถาม : มีท่านผู้หนึ่งถามว่า มีคนโบราณเขากล่าวว่า ไม่มีชีวิตจิตใจ ฉะนั้นขอเรียนถามว่า คำว่าชีวิตคืออะไร จิตคืออะไร ใจคืออะไร
ท่านพุทธทาส : อะไรที่ไม่มีชีวิตจิตใจ อะไรที่ไม่มีชีวิตจิตใจ
ถาม : คือว่า บางคนก็นั่งเฉยๆ อะไรอย่างนี้ เพราะว่านั่งไม่มีชีวิตจิตใจหรืออย่างไร ผมสงสัยว่าคำว่า ชีวิตจิตใจนั้นหมายความว่าอย่างไร
ท่านพุทธทาส : นั่นเป็นสำนวนพูด เช่นว่า มันนั่งเหม่อ นั่งใจลอย นั่งไม่มีสติสัมปชัญญะ เหมือนกับมัน ขาดคำว่า เหมือนกับ เหมือนกับไม่มีชีวิตจิตใจ ถ้ามันยังไม่ตายมันต้องมีชีวิตจิตใจ มันต้องมี แต่ว่านี่มันเฉยมากไป มันเงียบมากไปเหมือนกับไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่ถูก ทำเหมือนกับไม่มีชีวิตจิตใจนี่มันก็ไม่ถูก ไม่ได้ประโยชน์อะไร
ถาม : ปัญหาต่อไป เมื่อไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด ทำไมคนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน บางคนเกิดมาพิการ บางคนเกิดเป็นลูกพระยามหากษัตริย์ บางคนเกิดในป่าเขาทุรกันดาร ถ้าไม่ใช่เพราะเวรกรรมที่ทำไว้ในชาติหนึ่งๆ บันดาลให้เกิดแตกต่างกัน
ท่านพุทธทาส : เช่นนั้นเอง ต้องตอบว่า มันเช่นนั้นเอง ที่จะมาเกิดเป็นลูกพระยามหากษัตริย์ หรือเกิดเป็นยาจกเข็ญใจ หรือมันก็ว่ามันเป็นเช่นนั้นเองตามธรรมชาติก็ได้ แต่ว่าถือว่า เพราะบุญเก่า กรรมเก่า นั้นมันมีประโยชน์ทางศีลธรรม ก็มันไม่มีใครยกเลิกนะ อย่าไปหาว่าใครไปยกเลิกไอ้ความเชื่อชนิดนั้น ไม่ได้ยกเลิก แต่เดี๋ยวนี้เมื่อเกิดมาแล้วนี่ เกิดมาแล้วนี่เกิดเป็นลูกพระมหากษัตริย์ อะไรก็ตาม ถ้าไม่อยากจะเป็นทุกข์ล่ะก็ ให้มองในทางที่ว่ามันไม่มีตัวตน ไม่เป็นตัวเป็นตนของใคร ไอ้คนนั้นเขาถือว่า ถ้าเกิดมาดี เป็นลูกพระยามหากษัตริย์ก็พออกพอใจ เกิดเป็นลูกคนจนมันก็ ก็ไม่พอใจใช่ไหม ก็มันอยู่ในระดับนั้น ระดับที่ยึดถือ แบ่งอย่างนั้น ไอ้เราว่าทั้งชั่วทั้งดี ล้วนแต่อัปรีย์ เพราะไม่อยากเกิดมากกว่า ยังไม่อยากจะเกิดเป็นอะไร แม้เกิดมาแล้วก็ไม่อยากจะเป็นอะไร เกิดมาแล้วก็ไม่อยากจะเป็นดีหรือเป็นชั่ว อยากจะเกิดมาว่าง เกิดมาเป็นว่างๆ เพื่อจะไม่เป็นทุกข์อย่างเดียว อย่าเข้าใจว่าเกิดมาเป็นคนรวยแล้วจะไม่ทุกข์ คนรวยถ้าทำจิตไม่เป็นมันก็เป็นทุกข์ คนจนถ้าทำจิตไว้เป็น มันก็ไม่เป็นทุกข์ อยู่ที่ความรู้จริง รู้แจ้งเห็นจริงตามที่เป็นจริง ว่าโดยเนื้อแท้แล้ว มันไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มันมีแต่การปรุงแต่งไปตามธรรมชาติ ของรูปของนาม คือ ของวัตถุธาตุและของวิญญาณธาตุ มันเป็นไปตามปัจจัยของมัน ตามกฎของมัน ถ้าสมมติเป็นสัตว์ เป็นบุคคล มันก็คล้ายๆ กับว่า ฝืนธรรมชาติ มันก็ต้องเผชิญปัญหา คือได้เป็นทุกข์ เพราะมันไม่จริง เรื่องไม่มีตัวตน เรื่องว่างจากตัวตนนี่เป็นเรื่องชั้นสูงสุด ชั้นลึก อธิบายยาก ไม่เข้าใจๆ ไม่อาจจะเข้าใจ ถ้าเข้าใจผิดแล้วเป็นอันตราย เรื่องไม่มีตัวตน เรื่องนี้ถ้าเขาเกิดเข้าใจผิดแล้วมันอันตราย ฉะนั้นคนโบราณท่านจึงชักชวนไว้ อย่าเอามาสอน เรื่องไม่มีตัวตน แต่ธรรมะจริงมันต้องการจะสอนอย่างนั้น มันเป็นธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีแต่ตถาตา ความเป็นเช่นนั้นเอง ตามกฎของธรรมชาติ อย่างนี้อยู่เหนือกรรม เหนือดี เหนือชั่ว มันไม่มีคนที่จะเป็นดีหรือเป็นชั่ว มันอยู่เหนือกรรม มันว่างไป แต่คนที่เขายังอยากจะดี หรือยึดมั่นในความดีนี่ เขาไม่เอา เขาไม่ชอบล่ะพูดอย่างนั้น เขาชอบให้มีตัวตน แล้วก็ทำให้ดี แล้วก็อยู่ด้วยความดี เสวยผลของความดี อะไรทำนองนี้ ไม่ดูว่ามีตัวตน ช่วยให้พ้นความดี มันก็เป็นทุกข์หนักเพราะว่ายึดถือความดี อย่ายึดถือให้เป็นชั่วหรือเป็นดี ปล่อยให้ไปตามกฎของธรรมชาติว่ามันอย่างนั้นเอง แม้ว่ามันจะดี ก็อย่าไปยึดถือเข้า มันจะกัดเอา เราไปจัดการกับความดีให้พอเหมาะพอสม ไอ้คือสิ่งที่เรียกว่าดีน่ะอย่าไปยึดถือด้วยอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น มันจะกัดเอา แต่ถ้าเราทำไปพอดีๆๆ มันก็ใช้ประโยชน์ได้ จำไว้ มีคำที่มันเนื่องกันสองคำ คำว่า สมาทาน สมาทาน กับคำว่า อุปาทาน อุปาทาน แปลว่า ยึดมั่นถือมั่น สมาทานแปลว่า ถือไว้อย่างดี สมาทาน สมาทิยามิ สมาทานศีลนี่ ถือไว้อย่างดี ไม่ใช่อุปาทานนะ ถ้าเราจะถือศีลนี่จงทำอย่างสมาทาน ถือไว้อย่างดี ถ้าไปอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นถือศีลแล้ว เป็นสีลัพพตปรามาสเตลิดเปิดเปิงไปไหนก็ไม่รู้ จะไม่เป็นศีลที่มีประโยชน์อะไรได้ เพราะฉะนั้นในทุกเรื่องขอให้ทำด้วยสมาทาน ทำกับมันอย่างดี ถือไว้อย่างดี อย่าไปยึดมั่นถือมั่น มันจะกลายเป็นให้โทษ เช่น มีเงิน มีเงินจงมีด้วยสมาทาน อย่ามีด้วยอุปาทาน ถ้ามีด้วยอุปาทานแล้วมันจะกัดเอา จะนอนไม่หลับ จะเป็นบ้าไปตามเรื่อง ถ้ามีเงินด้วยอุปาทาน แต่ถ้ามีด้วยสมาทาน ถือไว้อย่างดี มีไว้อย่างดี ไม่กัด เพราะฉะนั้นจะมีบุตร ภรรยา สามีอะไรก็ตาม อย่ามีด้วยอุปาทาน มันจะกัด จงมีด้วยสมาทาน คือเกี่ยวข้องกันอย่างดี พอดีๆ นี่จำไว้เถอะ ว่าอุปาทานแล้วมันกัด ถ้าสมาทานแล้วก็ไม่เป็นไร จะมีประโยชน์ ถ้ามีด้วยอุปาทานจะเป็นสีลัพพตปรามาสไปหมด แม้มีบุญมีกุศลมีดีมีอะไร เป็นสีลัพพตปรามาสไปหมด จะกัดเอาด้วย อะไรอีกล่ะ
ถาม : ทีนี้ก็มาถึงปัญหาสุดท้ายแล้วครับ เราวกกลับมาที่เด็กอีก ขอให้ท่านอาจารย์แนะนำวิธีที่จะชักจูงใจเด็กๆ ซึ่งอยู่ในสังคมของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ซึ่งเด็กๆ ส่วนใหญ่มักจะรักความสนุกสนาน และมองผู้ที่สำรวมเป็นคนอีกพวกหนึ่ง จะมีวิธีใดบ้างที่จะชักจูงให้เด็กๆ หรือผู้ใหญ่บุคคลอื่นๆ มาประพฤติธรรมให้มากๆ ขณะนี้บางครั้งท้อใจเพราะเมื่อพูดถึงการเสียสละ การให้ หลายๆ คนจะไม่ฟัง คัดค้านและว่าทำให้เป็นผู้อ่อนแอ
ท่านพุทธทาส : นั่นมันเป็นวิชาครู ขอให้ครูเขาไปแก้เขาเอง มันเป็นวิชาครู จูงใจเด็กไปสู่จุดที่พึงประสงค์ มันเป็นวิชาครู มันมากแหละ มันมีเทคนิคกว้างขวางมาก พูดกันสั้นๆ แบบนี้ไม่ถูก ไม่ได้ ไม่พอ มันเป็นเรื่องยากเรื่องหนึ่ง ลึกซึ้ง ต้องไปค้นคว้า มีผู้พยายาม เฉพาะล่ะก็ดี ก็เดี๋ยวนี้ไม่มีใครทำนี่ หรือทำมันยังไม่ถูก มันวางหลักกันผิด ที่เด็กเดี๋ยวนี้ไม่เคารพพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ไม่บังคับความรู้สึกของตัว นี่เพราะมันสอนมาผิด พวกฝรั่งน่ะมันทำผิด คนไทยไปตามก้นฝรั่ง โดยที่ไม่ดูว่าพวกฝรั่งเป็นอย่างไร ถ้าเราดูผลที่พวกฝรั่งกำลังได้รับอยู่ล่ะ เราคงไม่ตามก้นฝรั่งอย่างหลับหูหลับตาแบบนี้ ก็ดูฝรั่งเองมันมีความสุข มีสันติภาพที่ไหน แล้วเราจะไปเอามาเป็นหลักนี่ จนทิ้งพุทธศาสนาไปเลยนี่ไม่ถูก เราเอาตามหลักพุทธศาสนาไปตั้งต้นด้วยการเคารพบิดามารดา ให้เด็กตอบคำถามว่า แม่คือใคร ลูกคือใคร ตัวเด็กเล็กๆ ถ้าเขามาที่นี่อาตมาก็จะให้เขาจำไว้กลับไป แม่คือผู้ที่เรา ก็คือธนาคารที่เราเบิกเงินได้โดยไม่ต้องฝาก แกไปคิด คิดจนตาย แม่คือธนาคารที่เราเบิกเงินได้โดยไม่ต้องฝาก ถ้าแกคิดได้แกก็จะรัก แกก็จะกตัญญู จะซื่อสัตย์ จะเคารพ ให้เด็กเขารู้สึกอย่างนี้สิ แล้วลูกล่ะ ลูกคืออะไร ลูกคือผู้ที่เกิดมาเพื่อทำให้พ่อแม่สบายใจโว้ย ลูกคือผู้ที่เกิดมาเพื่อทำให้พ่อแม่สบายใจ ให้มันยึดอย่างนี้ไปตั้งแต่เล็กๆ มันจะสะดุ้งเมื่อทำให้พ่อแม่ร้อนใจ นี่เป็นตัวอย่าง ที่ว่าจะต้องมีจุดตั้งต้นที่ดี ให้เด็กๆ เขายึดฝัง ฝังหัวฝังราก ฝังจิตฝังใจ เกิดมาเพื่อทำให้พ่อแม่สบายใจ มิฉะนั้นไม่ใช่ลูกเว้ย แล้วแม่พ่อคือธนาคารที่เบิกเงินได้โดยไม่ต้องฝาก ถ้าเขารู้สึกเข้าใจ เขาก็จะเกิดความรัก ความอะไรในพ่อแม่ เสียสละเพื่อพ่อแม่ขึ้นมาได้ เขาตอบถูกกันโดยมากแหละเด็กตัวเล็ก ถามว่าไอ้เนื้อเลือดเนื้อร่างกายนี้เอามาแต่ไหน เอามาแต่ไหน มันตอบถูกทุกคนแหละ เอามาแต่พ่อแม่ คือแบ่งมาจากพ่อแม่ แต่ถ้าเราไม่ถาม เขาก็ไม่คิดเหมือนกัน เขาก็ไม่คิดเหมือนกันนะ เราควรจะตั้งคำถามให้เขาได้คิด แล้วก็ตั้งคำถามให้มันเหมาะ ที่ให้เขานึกได้เอง ว่าไอ้เนื้อหนังชีวิตนี่เราแบ่งมาจากพ่อแม่ เมื่อเขาคิดได้ เขาก็จะนึกต่อไปว่าจะทำอย่างไรกับพ่อแม่ มันควรจะมีปัญหาเฉพาะเด็กเล็กนี่ให้เขาตอบ สักสามสี่ร้อยข้อกว่าเขาจะโต เป็นปัญหาที่เขาจะมองเห็นเองและตอบได้เอง โดยที่เราไม่ต้องบอกเขาให้ต้องตอบ ถ้าเราตอบให้เขาก็ท่องจำเท่านั้น ไม่ค่อยรู้สึกอะไร เขาก็ท่องจำเสีย แต่ถ้าเราให้เขาคิดนึกได้เอง เขาจะรู้สึกฝังหัว เสื้อนี่มาแต่ไหน กางเกงนี่มาแต่ไหน เข็มขัดนี่มาแต่ไหน รองเท้ามาแต่ไหน มันก็นึกได้เอง มันก็นึกได้ว่าอะไรก็ไปเอามาแต่แม่ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นคำถามจะมีประโยชน์ที่จะอบรมให้เกิดศีลธรรม บางคนเด็กนี่มันเด็กบ้านนอก เด็กนี่อาตมาถามที่นี่มันก็รู้ว่าเลือดเนื้อชีวิตคนเรานี่แบ่งมาจากพ่อแม่ เขาว่าอย่างนั้น มันก็ใช้ได้แหละเด็กคนนั้นมันก็ใช้ได้ เพราะฉะนั้นในวิชาครู เตรียมคำถามชนิดเด็กอนุบาลนี้ไว้สักสามร้อยข้อ ให้เด็กตอบได้เองแล้วก็ถามกันอยู่บ่อยๆ แล้วก็มีศีลธรรมเกิดขึ้นในจิตโดยอัตโนมัติ เอ้า, ปัญหาหมดแล้ว ปิดประชุม ไปตามรายการ
ถาม : ผมคิดว่าอาจารย์สมทรงในฐานะประธานชมรมครูคงจะมาสรุปคำถามหรืออย่างไรเป็นการปิดรายการ ขอเชิญอาจารย์สมทรงครับ
ท่านพุทธทาส : ไม่หิวข้าวหรือ
ถาม : เป็นผู้สรุปสุดท้ายเท่านั้นครับ
ท่านพุทธทาส : เอาสิ ไป เอาไป เอาไปใช้เป็นหลักสำหรับพิจารณาหาวิธี ๒ ชั่วโมง ๒๐ นาทีที่นั่งกันตรงนี้
ถาม : กราบนมัสการท่านเจ้าคุณอาจารย์ เรื่องที่พูดมาทั้งหมดพอสรุปได้ เรื่องแรกคือว่า สัตว์ชนิดหนึ่งที่เหลืออยู่แต่ชื่อ มีอยู่ ๓ ชนิด ก็คือ ไดโนเสาร์, มนุษย์, ครู ๓ อย่างนี้เหลือแต่ชื่อ ของจริงแท้ๆ นั้นหายากเพราะว่าไม่ค่อยมี เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์ ๒ เรื่องแรกจะไม่ย้ำมาก จะมาลงที่ตัวที่ ๓ คือครู ว่าครูนั้นจะต้องทำหน้าที่ของครูอีกเพื่อว่าครูแท้ๆ จะได้กลับมา เมื่อครูแท้ๆ ได้กลับมา มนุษย์ก็จะได้กลับมา เมื่อถึงขั้นเป็นมนุษย์ได้แล้ว อริยชนก็จะได้กลับมา แม้จะไม่ได้มาทั้งหมด ไม่มากแต่ขอให้มากสักเท่าสมัยพุทธกาลก็ยังดี
จากนั้นท่านได้พูดถึงการเปิดประตูทางวิญญาณ ซึ่งท่านให้ความเห็นว่า ไม่ว่าพืชดอกไม้ หรือแม้แต่คนก็เช่นเดียวกัน เกิดมาจะไม่รู้ว่าตัวเองนั้นมีอะไร เป็นอะไร ประตูมันปิดมาแต่เดิม เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีใครสอน มาได้รับความยินดียินร้ายในชีวิตในเวลาต่อมาเข้า แล้วครูก็ ก็ไม่รู้ชัดอีก จึงทำให้มีกิเลสที่ปิดบังมากยิ่งขึ้น สำหรับพ่อแม่ครูอาจารย์ก็ไม่ได้เปิดประตูให้เด็ก ดูแต่จะเอาของสวยของงามเข้าล่อให้ปิดประตูหนักยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นเด็กไทยของเราจนถึงขั้นหนุ่มสาวก็ยังไม่รู้เรื่อง เพราะว่าประตูมันปิดเป็นสนิม จนมาเป็นพ่อบ้านแม่เรือนก็ยังไปยึดถือสิ่งต่างๆ ก็ยิ่งปิดประตูยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อมนุษย์เรามีทุกข์จึงจะเริ่มเขย่าประตู การที่เราสอนธรรมะในเรื่องเขย่าประตูนี้ การจะพูดเรื่องอริยสัจ ๔ จึงจะพูดกับผู้ใหญ่ได้ง่ายกว่า และโดยเฉพาะเป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านชีวิตมามากพอสมควรแล้วจะพูดได้ดีกว่าพูดกับเด็กซึ่งจะไม่ค่อยรู้เรื่อง ท่านได้กล่าวถึงว่า คนอายุมากแล้วบางคนก็ยังไม่สนใจธรรมะ เพราะฉะนั้นประตูของคนผู้นั้นก็ยังปิดอยู่ แต่บางคนนั้นมีอุปนิสัยอยู่บ้าง ก็พยายามที่จะสนใจธรรมะ และถ้าโชคดีประตูของเขาจะเปิดได้ก่อนตาย เขาจึงมีเวลาที่จะอยู่กับประตูที่เปิดได้นี้หลายๆ ปี ยิ่งถ้าใครเปิดประตูชีวิตของตนได้ตั้งแต่หนุ่มสาว ก็จะมีบุญมาก ถ้าหมั่นศึกษาก็จะสามารถเปิดประตูแห่งอวิชชาได้พบพระนิพพาน อันเป็นความเย็น ความสิ้นกิเลส พระนิพพานนั้นเป็น ที่พูดถึงนั้นเป็นลักษณะหรือเป็นผล อันเป็นอายตนะอย่างหนึ่ง ชนิดที่สัมผัสได้ ที่จะรับได้
จากนั้นท่านอาจารย์ได้เล่าเรื่องนิทานเรื่องจันทโครพกินขี้ แล้วก็ได้พูดถึงเรื่องนิวรณ์ ได้ให้คำคมๆ ว่า ทั้งชั่วทั้งดี ล้วนแต่อัปรีย์ เพราะฉะนั้นถ้าไปยึดมั่นถือมั่นเข้ามันจะกัดเอา แต่ท่านก็ได้เตือนไว้ด้วยว่า การใช้ถ้อยคำนี้จะต้องรู้ให้ลึก ไม่เช่นนั้นจะถูกมองไปในอีกทางหนึ่ง
ท่านได้กล่าวย้ำเตือนในเรื่องให้กินอยู่แต่พอดี ให้ทุกคนคิดว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม รู้จักทำงานให้สนุก ถ้าจะสอนลูกสอนหลาน ให้ไปสอนให้รู้จักรักบุญ กลัวบาป
เมื่อมีผู้ถามถึงเรื่องบางเรื่องที่จะต้องตัดสินเมื่อเกิดการขัดแย้งให้นึกถึงหลักของพระพุทธเจ้าที่จะไม่พูด ว่าอะไรควรหรือไม่ควร เหวี่ยงไปทั้งสองข้าง แต่ท่านให้ดูมัชฌิมาปฏิปทาลงไปตรงกลางว่าเหตุผลเป็นเช่นไร เพราะว่าเรื่องแต่ละเรื่องนั้นจะชี้ชัดลงไปว่าควรหรือไม่ควรโดยเด็ดขาดนั้นเป็นไปไม่ได้ ให้ดูให้ดีด้วยเหตุผล ให้ดีว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ โดยเฉพาะเรื่องการทำแท้ง ควรจะเขียนกฎหมายให้ชัดเจน แล้วก็ สำหรับศาสนาคริสเตียนนั้น เขาเขียนไว้ชัดว่าทำไม่ได้ เพราะว่าผิดพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า ทีนี้สำหรับเมืองไทยเราที่เป็นชาวพุทธนั้นน่ะความจริงมีปัญหาอะไรนั้นยากที่จะตัดสิน เพราะสติปัญญามนุษย์มักจะเข้าข้างตัวเอง ดังนั้นจึงควรจะรวมตัวกัน แล้วก็พยายามใช้สติปัญญาเข้าพิจารณาชี้ชัดออกมาให้ได้ แล้วก็ทำไปตามในสิ่งที่ถูกที่ควรนั้น
จากนั้นได้มีคำถามของหลายๆ ท่าน ถามถึงว่าทำอย่างไรที่จะให้ศีลธรรมกลับคืนมา หรือว่ากลวิธีที่จะให้ในการสอนเด็ก ท่านอาจารย์ได้แนะว่า สำหรับเด็กเล็กๆ นั้น ควรจะตั้งคำถามสักสามร้อยสี่ร้อยข้อให้แกตอบคำถามในจุดใหญ่ เช่น ในเรื่องที่ว่าเด็กไม่รู้จักเคารพพ่อแม่ หรือบังคับความรู้สึกไม่เป็น ถ้าตั้งคำถามดีๆ เด็กก็จะเกิดความรู้สึกรักในพระคุณของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ และอันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ศีลธรรมกลับคืนมา ก็จะเห็นจะเป็นแค่นี้ล่ะคะเป็นบทสรุป พวกเราทั้งหมดกราบนมัสการท่านอาจารย์คะ แล้วจากนั้นเราค่อยสวดมนต์
ท่านพุทธทาส : รับอาหารให้เสร็จก่อนค่ำ ค่ำแล้วจึงสวดมนต์ก็ได้ จัดเวลาให้ถูกให้ตรงเถอะ