แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ทั้งหลาย อาตมายินดีในการมาของท่านทั้งหลาย และยินดีในการต้อนรับด้วยการสนองความประสงค์เท่าที่จะทำได้ เท่าที่อาตมาทราบ ท่านทั้งหลายมาที่นี่เพื่อจะฟัง ก็หมายความว่าจะมาศึกษาอะไรบางอย่าง แต่ก็ไม่ได้บอกเป็นที่ชัดแจ้งว่าต้องการจะฟังเรื่องอะไร หรือจะศึกษาอะไร อาตมาก็ยุติเอาเองว่าจะฟังเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นครู ที่มันจะเป็นประโยชน์แก่ความเป็นครู ทีนี้มันก็มีปัญหาว่ามันกว้างเหลือเกิน ไม่ทราบว่าจะเป็นเรื่องอะไรดี ก็เป็นอันว่าจะพิจารณาดูเท่าที่จะเห็นว่ามันจะต้องเป็นเรื่องอะไรดี ไปๆมาๆมันก็เหมือนกับกำปั้นทุบดิน คือมันไม่พ้นไปจากเรื่องของธรรมะ ทีนี้ธรรมมะมันก็ยังแบ่งแยกไปได้หลายแขนง ธรรมมะเพื่อบุคคลทั่วไปในฐานะที่เป็นมนุษย์นี่มันก็อย่างหนึ่ง ธรรมมะในฐานะที่เป็นประโยชน์แก่ครูโดยเฉพาะ เพราะมนุษย์มีหลายชนิด หลายอย่าง หลายหน้าที่การงาน ธรรมมะสำหรับคนทั่วไปก็ได้ ธรรมะสำหรับผู้ที่เป็นครูก็ได้ ถ้าท่านยังต้องไปสอนเด็กมันก็ยังมีธรรมะสำหรับเด็กอีก เอาล่ะเป็นอันว่าเราจะพูดกันถึงเรื่องธรรมะก็แล้วกัน พูดธรรมมะเรื่องทั่วไป คือธรรมมะสำหรับมนุษย์ทั่วไป แล้วจะค่อยพูดธรรมมะสำหรับบุคคลที่เป็นครูภายหลัง
ท่านทั้งหลายนั้นก็อยากจะทราบเรื่องธรรมมะแต่ก็ไม่รู้ว่าธรรมมะไหนด้วยเหมือนกัน เพราะมันมาก อาตมาจึงสันนิษฐานเอาเองว่าธรรมมะโดยหลักทั่วๆไปอย่างนี้แหละ จะเอาไปใช้ให้สำเร็จประโยชน์ได้ ดูเหมือนเขาจะแปลคำว่าธรรมะกันว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้ยินเด็กๆเขาว่ากันอย่างนั้น ครูในโรงเรียนเขาสอนอย่างนั้น ว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่มันยังไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ถ้าไม่ได้พูดว่าท่านสอนว่าอย่างไร ท่านสอนให้ทำอะไร ฉะนั้นเราควรจะมีคำถามต่อไปว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นสอนเรื่องอะไร นี่ช่วยสังเกตให้ดี ธรรมะของพระพุทธเจ้าสอนเรื่องธรรมชาติที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ธรรมะของพระพุทธเจ้าสอนเรื่องกฎของธรรมชาติที่มีอยู่ในธรรมชาติทั่วไป ธรรมะของพระพุทธเจ้าสอนเรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องทำ ข้อสุดท้ายธรรมะคือผลที่เกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่ เรียกให้สั้นก็ว่า ธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ผลที่เกิดจากหน้าที่ นี่ขอให้ทราบไว้เถิดว่า มันไม่มีอะไรอีกแล้วที่นอกไปจาก ๔ ความหมายนี้ หรือจะพูดเลยไปถึงว่า เรื่องทุกเรื่องในโลกมันก็ไม่พ้นไปจากคำ ๔ คำนี้ พูดจำกัดอยู่ในวงพระพุทธศาสนาว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า มันก็ไม่มากออกไปจาก ๔ ความหมายนี้ ขอให้เข้าใจ คำว่าธรรมะใน ๔ ความหมายนี้เป็นประเดิมเรื่องแรก ให้ชัดเจนให้แจ่มแจ้ง แล้วต่อไปจะง่ายดายที่สุดที่จะศึกษาธรรมะให้ลึกและกว้างออกไป เนื่องจากการศึกษาธรรมะนั้นศึกษาจากธรรมชาติเป็นดีที่สุด ก็เพราะบอกแล้วว่าธรรมะ คือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลเกิดจากหน้าที่ที่ปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ
ทีนี้คำว่าธรรมชาตินี่กินความครอบจักรวาล ทั้งจักรวาลเป็นธรรมชาติ คือเป็นทั้งที่มันเป็นวัตถุ เรื่องวัตถุธาตุต่างๆ นี่ก็เป็นวัตถุธาตุ จะเป็นเรื่องทางจิตใจทางนามธรรมที่ไม่มีตัวตนเป็นดุ้นเป็นอันให้จับให้ฉวยได้ เป็นเรื่องทางจิตใจนั่นก็คือธรรมชาติ ก็เลยหมดทั้งจักรวาล มันไม่มีอะไรนอกไปจากนี้ แม้จะต่างกันอย่างไร ต่างอย่างตรงกันข้ามอย่างไร มันก็ยังคงเป็นธรรมชาติอยู่นั่นเอง แม้ที่สุดจะใช้คำพูดที่เอาเปรียบว่า ความมีอยู่หรือความไม่มีอยู่นี่มันก็เป็นธรรมชาติ ความว่างหรือความไม่ว่างนี่ก็ล้วนแต่เป็นธรรมชาติ เรื่องทางฟิสิกส์ทั้งหลาย เราก็เรียนกันมามากแล้วมันก็เป็นธรรมชาติที่มีวัตถุธาตุ เรื่องที่มันนอกเหนือจากฟิสิกส์ คือจับต้องไม่ได้อย่างวัตถุ มันก็เป็นธรรมชาติ ขอให้จิตใจของท่านทั้งหลาย ระลึกแล่นไปทั่วจักรวาลว่ามันมีธรรมชาติ มีแต่ธรรมชาติ ไม่ว่าเนื้อตัวของคน ของสัตว์ ของต้นไม้ หรือว่าจิตใจคือความรู้สึกที่มีอยู่ในคน ในสัตว์ ในต้นไม้ นี้มันก็คงเป็นธรรมชาติในภาษาธรรมะนะ ภาษาวิทยาศาสตร์ ภาษาวิชาแขนงอื่นซึ่งเขาเรียนกันที่อื่นอาจจะไม่พูดอย่างนี้ก็ได้ แต่ถ้าพูดตามหลักของธรรมะในพระพุทธศาสนาแล้วก็พูดอย่างนี้ สิ่งที่เป็นอยู่เองนั้น ทั้งที่เป็นวัตถุและมิใช่วัตถุเป็นธรรมชาติ
ทีนี้ข้อที่ ๒ ที่ว่ากฎของธรรมชาติอยู่ที่ไหน มันก็อยู่ในตัวธรรมชาตินั่นเอง เช่นว่า ต้นไม้ แผ่นดิน มันก็เป็นตัวธรรมชาติและมันมีกฎของธรรมชาติที่มีสิงสถิตที่อยู่ในธรรมชาตินั้น เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นไปตามกฎนั้น เช่น ต้นไม้เติบโตเปลี่ยนแปลงไปตามกฎนั้น จะอยู่หรือจะตายก็เป็นไปตามกฎนั้น สัตว์เดรัจฉานก็เหมือนกัน มนุษย์ก็เหมือนกัน ให้รู้ว่าในธรรมชาตินั้น มีกฎของธรรมชาติควบคุมอยู่ เราต้องดูให้ลึกลงไปถึงส่วนนั้นด้วย
ทีนี้มาพูดถึงหน้าที่มันมีตามกฎของธรรมชาติว่าถ้าเป็นอย่างนั้นมันอยู่ ถ้าเป็นอย่างนั้นมันตาย ถ้าเป็นอย่างนั้นมันเจริญ ถ้าเป็นอย่างนั้นมันเสื่อม ฉะนั้นจึงมีหน้าที่ที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องกระทำ มนุษย์ก็ต้องทำ สัตว์เดรัจฉานก็ต้องทำ แม้แต่ต้นไม้ต้นไร่นั้นก็ต้องทำ มีหน้าที่ต่อสู้เพื่อรอดชีวิตอยู่ในการหาอาหาร ในการหาเหตุปัจจัยของมัน เช่น แสงแดด เป็นต้น จำคำว่าหน้าที่นี้ไว้ให้ดีๆ เพราะว่ามันเป็นความหมายที่สำคัญที่สุดใน ๔ ความหมายนั้น
ทีนี้อันสุดท้าย ก็ ผลที่เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่นี้ก็เป็นธรรมะเรียกว่าธรรมะ เช่นบรรลุธรรมะ เป็น มรรคผล นิพพาน หรือว่าบรรลุมรรคผลธรรมดา ตามบ้านตามเรือน ผลที่เกิดขึ้นนั้นก็เรียกว่าผลด้วยเหมือนกัน ผลนี้ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ลองเปรียบเทียบดูเองว่าอันไหนมันสำคัญที่สุด ที่เราจะต้องเกี่ยวข้องมากที่สุด ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ แล้วก็ธรรมะคือผลอันเกิดจากหน้าที่ ๔ อย่างนี้อย่างไหนสำคัญมากที่สุด ที่เกี่ยวข้องกับเรามากที่สุด มันก็ได้แก่อย่างที่ ๓ ที่เรียกว่าหน้าที่ ในปทานุกรมในประเทศอินเดียซึ่งเป็นเจ้าของคำพูดภาษานี้ ภาษาอินเดียนี้คำว่าธรรมะ เขาก็แปลว่าหน้าที่ แต่ปทานุกรมเมืองไทยเรา ธรรมะอาจจะแปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อาตมาเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นไปเปิดดู แต่คงไม่แปลว่าหน้าที่ ธรรมมะคือหน้าที่เหมือนในปทานุกรมอินเดีย นี่เป็นสิ่งที่ควรจะสนใจว่าธรรมะคืออะไร ธรรมะคือหน้าที่ที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องทำ และเกี่ยวกับธรรมชาติทั้งนั้น อย่างที่ออกชื่อมาแล้วว่า ตัวธรรมชาตินั้นเอง กฎของธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวธรรมชาตินั้น แล้วก็หน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั้น และผลที่ออกมาจากหน้าที่ มันเลยเป็นเรื่องของธรรมชาติหมด ธรรมะคือธรรมชาติใน ๔ความหมายนี้
จึงอยากจะบอกเสียเลยว่าการศึกษาธรรมะนั้นพยายามศึกษาจากธรรมชาติเถิด เพราะว่าธรรมะนั้นเป็นเรื่องของธรรมชาติ เราศึกษาธรรมะจากธรรมชาติพยายามใกล้ชิดธรรมชาติ ยิ่งไกลธรรมชาติยิ่งรู้ธรรมะยาก ยิ่งใกล้ชิดธรรมชาติ สัมผัสธรรมชาติ ยิ่งรู้ธรรมะง่าย พระศาสดาโดยเฉพาะพระพุทธเจ้าท่านจึงรู้เรื่องธรรมชาติและท่านก็เกี่ยวข้องกับธรรมชาติอย่างยิ่ง หากจะมองลึกในส่วนลึกมันไม่ใช่ส่วนธรรมดาเหมือนกับธรรมชาติผิวเผิน จึงตรัสรู้ในท่ามกลางธรรมชาติ พระพุทธเจ้าประสูติกลางดินซึ่งเป็นธรรมชาติ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็เมื่อนั่งกลางดินโคนต้นไม้ก็เป็นเรื่องธรรมชาติ ใกล้ชิดธรรมชาติ สอนสาวก เป็นอยู่ในชีวิตทั้งหลาย ทั้งหมู่สงฆ์ก็อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับพื้นดิน กุฏิพื้นดิน โรงฉันพื้นดิน อะไรก็ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับดิน ลงปาฏิโมกข์ ลงโบสถ์ ก็ลงก็นั่งกันกลางดิน ไม่ได้มีโบสถ์วิหาร สวยๆสูงๆอย่างที่เราเห็นในเมืองไทยเรา หรือที่อื่นๆ ในที่สุดท่านก็นิพพานกลางดิน เอาภาษาลูกเด็กๆมาใช้หน่อยว่า นิพพานคือตายสำหรับพระพุทธเจ้า แต่จริงคำว่านิพพานไม่ได้แปลว่าตายนะ นิพพานแปลว่าดับเย็นแห่งกิเลส ที่เรามายืมมาใช้ว่าตายสำหรับพระพุทธเจ้าหรือสำหรับพระอรหันต์ เป็นภาษาลูกเด็กๆ เราควรจะรู้ทั้งสองภาษา ว่านิพพานนั้น เมื่อเย็นไม่มีไฟคือกิเลสนั้นคือนิพพาน เมื่อพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ท่านทำให้กิเลสสิ้นไปก็นิพพานไปแล้วเมื่อตรัสรู้ ไม่ได้ตาย ไม่ต้องตาย นิพพานไม่เกี่ยวกับตายแต่เกี่ยวกับเย็นเพราะไม่มีกิเลสคือไฟ แต่แล้วว่าเดี๋ยวนี้ถือว่าเราเอาคำว่านิพพานมาใช้กับกริยาที่เรียกว่าตายและใช้สำหรับพระพุทธเจ้า จึงพูดว่าท่านก็นิพพานหรือตายกลางดิน พูดอย่างธรรมดาที่สุดคือ เกิดกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน ตายกลางดิน เป็นนักธรรมชาติเหลือเกิน เดี๋ยวนี้ท่านทั้งหลายก็นั่งอยู่กลางดิน นึก นึก นึกบ้าง รู้สึกบ้างหรือเปล่าว่าเรากำลังนั่งอยู่บนที่นั่ง ที่นอนของพระพุทธเจ้า ผู้ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน ตายกลางดิน ถ้าอยู่ที่โรงเรียนหรือวิทยาลัยไม่ได้นั่งกลางดินนะ นั่งบนตึกราคาแสนราคาล้าน เลยไม่ต้องรู้เรื่องดิน ยังโง่ในเรื่องดิน เลยรู้จักพระพุทธได้โดยยาก ทำจิตใจเข้าถึงพระพุทธเจ้ากันเสียเดี๋ยวนี้เลย ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน อยู่กลางดิน ตายกลางดิน เพื่อมันจะใกล้ธรรมชาติ เพื่อจะย้ำในคำว่าธรรมชาติกันมาก จำคำว่าธรรมชาติออกไปว่าหมายถึงสิ่งที่เราเรียกกันว่าธรรมะใน ๔ ความหมาย
ทีนี้จะพูดถึงข้อถัดไปว่า ธรรมชาติเหล่านี้ ถ้าเราจะศึกษาให้ดีก็ต้องศึกษาภายใน ในตัวเรานั่นแหละ ในตัวเรานั่นแหละมีอะไรหมด ในตัวเรายังเป็นๆยังไม่ได้ตายนี่จะศึกษาอะไรก็ได้ ศึกษาธรรมะ ๔ ความหมายจากตัวเรา ทุกคนมีร่างกายและจิตใจ บางคนไม่เคยสนใจ ไม่สนใจแม้แต่เรื่องร่างกาย ไม่รู้จักแม้แต่เรื่องร่างกาย เลยไม่รู้เรื่องจิตใจ เดี๋ยวนี้รู้กันแต่ว่าเราแต่ละคนนั้นมีร่างกายและจิตใจ ทั้งร่างกายและจิตใจเป็นธรรมชาติ แต่เป็นธรรมชาติภายใน สนใจให้ดี ให้รู้จักในสิ่งที่เรียกว่าร่างกายและจิตใจนั้นให้ดีๆ มันเป็นอะไร มันอยู่อย่างไร มันมีลักษณะอย่างไร มันเป็นผลของอะไร หรือมันจะเป็นเหตุให้เกิดอะไร คราวนี้ดูให้ดีๆไม่ใช่มันเข้าใจได้ง่ายๆ ทั้งที่มันเป็นเนื้อตัวของเรา เราก็ยังไม่เข้าใจมัน เราก็หลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว หลงอะไรกันไปตามเรื่อง อันดับแรกจะต้องศึกษาตัวเรา ที่สมมติเรียกว่าตัวเรานี่คือร่างกายและจิตใจ สมมติเรียกว่าตัวเรา ที่จริงมันเป็นธรรมชาติ เป็นของธรรมชาติตามธรรมชาติ
ทีนี้ก็ดูในความหมายที่ ๒ ว่ากฎของธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวเรา กฎของธรรมชาติมันครอบงำเต็มอยู่กับตัวเรา ที่ตัวเรา ในตัวเรา ดังนั้นมันจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในตัวเรา แม้แต่เซลล์ทั้งหลาย ทุกๆเซลล์ก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ รวมกันก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ทั้งเนื้อทั้งตัวก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ฉะนั้นร่างกายจึงเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ และที่สำคัญที่สุดก็คือเจริญเติบโตขึ้นมา หรือในทางตรงกันข้าม โรคภัยไข้เจ็บ ความแก่ ความเจ็บความตายนี่มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ และเมื่อได้ถูกใจก็ดีใจเป็นสุข ได้ไม่ถูกใจก็เป็นทุกข์ แม้แต่ว่าไปหยิกเข้ามันก็เจ็บ มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติอย่างนี้ และที่สำคัญนั้นคือมันต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ดูให้ดีๆกฎของธรรมชาติมันบังคับ และมันยังบังคับในความหมายที่กว้างกว่านั้น มันมีกฎอยู่อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น หลายๆกฎทีเดียว ถ้าไปทำเข้าอย่างนี้มันจะหัวเราะ ไปทำเข้าอย่างนี้มันจะร้องไห้ ไปทำเข้าอย่างนี้มันจะเป็นทุกข์ ไปทำเข้าอย่างนี้มันจะไม่เป็นทุกข์ นี่เพราะกฎของธรรมชาติ มันสิงสถิตอยู่ในร่างกายเราทุกๆเซลล์หรือทุกๆปรมณูเลย จึงเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เนื้อตัวของเราทั้งหมดทั้งร่างกายและจิตใจ นี่เราเรียนกฎของธรรมชาตินี้เรียนจากภายใน ในร่างกายและจิตใจ เขาเรียนวิทยาศาสตร์เรื่องธรรมชาติอย่างอื่นมันเป็นเรื่องภายนอกก็อีกไปเรื่องหนึ่งนั่นไปตามเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องธรรมมะ จะเรียนธรรมะต้องเรียนจากภายในเสมอ
นี่ดูความหมายที่ ๓ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติที่ร่างกายต้องทำหน้าที่ มันทำไปเองโดยไม่ต้องเจตนาก็มี และต้องเจตนาให้ทำก็มี ฉะนั้นร่างกายมันทำหน้าที่ร่วมกับความรู้สึกของเรา นี้ เช่น เราต้องบริหารมัน นี่หน้าเป็นที่ ต้องให้มันได้กินอาหาร ต้องให้มันได้พักผ่อน ต้องให้มันได้การบริหารที่ดี ทั้งอาบน้ำ ต้องถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ คือต้อง คำว่าต้องนั่นแหละคือหน้าที่ ฉะนั้นในเนื้อในตัวในชีวิตจิตใจของเรามีหน้าที่ ตั้งแต่ทางกายไปจนถึงทางจิต ทางวิญญาณนี่เรียกว่าหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ถ้าเรียกสั้นๆก็ ธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่
ถ้าจะสรุปความก็จะได้เป็นสองชั้นว่า ต้องทำหน้าที่เพื่อให้รอดชีวิตอยู่ได้ตามหลักสัญชาติญาณ มันต้องต่อสู้ดิ้นรนให้รอดชีวิตอยู่ได้ เป็นหน้าที่อันดับแรกเพื่อให้รอดชีวิตอยู่ได้ ส่วนหน้าที่ถัดไปก็คือมันก้าวหน้าเจริญถึงที่สุด รอดอยู่ได้เฉยๆก็ไม่น่าดู ถ้าเราทำให้มันมีอะไรดีมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น มีค่ามากขึ้น มากขึ้น จนกระทั่งบรรลุ มรรคผล นิพพาน จะเอาไม่เอาก็ตามใจ แต่ว่าปลายสุดของหน้าที่มันอยู่ที่นั่น ฉะนั้นจึงมีหน้าที่ เช่น มาศึกษาธรรมะนี่เพื่อรู้เรื่องหน้าที่ ปลายสุด ดับทุกข์ไปทางของนิพพาน ถ้าหน้าที่เพียงแต่เพื่อให้รอดอยู่ได้ ท่านทั้งหลายก็ไม่ต้องมาที่นี่ให้เหนื่อย ให้เปลือง ไปศึกษาที่ไหนก็ได้ เพียงเพื่อให้รอดอยู่ได้ และตำรับ ตำราวิชาที่เรียนที่สอนกันอยู่มันก็มีพอ แต่ส่วนเรื่องธรรมะ หน้าที่ทางจิตทางวิญญาณนั้น คงจะไม่มีสอนกันนัก จึงต้องมาถึงที่นี่ ลำบากด้วย เปลืองด้วย การศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษา มีแต่เรียนหนังสือกับเรียนวิชาชีพ ฉะนั้นสองอย่างนี้ก็หน้าที่ หน้าที่อันแรก เพื่อให้รอดชีวิตอยู่ได้ อาชีพนี่เพื่อรอดชีวิตอยู่ได้ หนังสือให้ฉลาด มันจะได้ฉลาดทำมาหากิน แต่ถ้าเอาความฉลาดนั้นมาใช้กับหน้าที่ทางจิตใจเพื่อจะบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ก็จะนับว่าดีมาก คือฉลาดครบถ้วน ถ้าฉลาดแต่หาใส่ปากใส่ท้องนี่คงไม่ดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งรู้จักหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องรอดชีวิตอยู่ได้เหมือนกัน มนุษย์เรามันมากกว่านั้น มันจะต้องใช้ความฉลาดเพื่อรอดชีวิตอยู่ได้และให้เจริญถึงที่สุดที่มนุษย์มันจะเจริญได้ นี่ก็ไม่ค่อยสนใจกันว่ามนุษย์ดีที่สุดที่ตรงไหน ก็เลยไม่สนใจจะทำ ถ้าสนใจก็ไปศึกษาไปแสวงหามันก็จะมีพบเรื่องที่สอนไว้ว่าทำอย่างไรมนุษย์จึงจะไปถึงจุดสุดท้าย ที่มนุษย์มันจะดีได้ถึงที่สุด นี่ก็เรื่องธรรมะ คือทำให้มันเป็นมนุษย์สูงสุด ถ้าพูดอย่างภาษาศาสนาก็เป็นพระอรหันต์ มนุษย์สูงสุดก็คือมนุษย์ที่เป็นพระอรหันต์ ไม่รู้จักความทุกข์เลย อยู่อย่างไม่เบียดเบียนใคร ไม่เอาประโยชน์จากใคร มีแต่ให้ประโยชน์แก่ผู้อื่น แล้วก็เป็นสุขที่สุด ไม่มีความทุกข์เลย นี่พระอรหันต์โดยหลักใหญ่ๆเป็นอย่างนี้ เราเป็นมนุษย์ให้ดีที่สุด ให้ถึงที่สุดนั้นเป็นหน้าที่ ฉะนั้นอย่าลืมหน้าที่ ต้องกินอาหาร ต้องอาบ ต้องถ่าย ต้องบริหารทุกอย่าง ต้องกินหยูกกินยา ต้องบริหารจนมันรอดชีวิตอยู่ได้ นั่นหน้าที่อันแรก ทีนี้ก็ทำต่อไปให้ถึงหน้าที่ขั้นสูง
ครูก็จะต้องรอบรู้ในหน้าที่ที่จะต้องทำ จะได้สอนเด็ก หรือสอนประชาชนพลเมืองให้เขาได้เป็นมนุษย์ถึงที่สุด นี่ก็สรุปว่าต้องศึกษาจากข้างใน หน้าที่ที่มันทำอยู่ ตั้งแต่โดยไม่เจตนา เช่น หัวใจสูบฉีดโลหิต ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงไปตาม เรื่องนั้นไม่ได้เจตนา เป็นของธรรมชาติในร่างกาย มันก็ทำหน้าที่โดยไม่เจตนา มีอยู่เยอะไปหมด เยอะแยะไปหมดในร่างกายนี้ มีการต่อสู้จนกระทั่งว่าอะไรมาจะทำให้มันตาย มันก็ต่อสู้ได้ โดยที่เราไม่ต้องเจตนา อะไรมาเข้าตาน้ำตามันก็ออกมาล้างโดยที่เราไม่ต้องเจตนาอย่างนี้เป็นต้น ถ้าเคยเรียนเรื่องสรีระศาสตร์ก็จะรู้ได้เองว่ามันมากมาย นี่ก็เป็นหน้าที่ที่ไม่ต้องเจตนาของร่างกายนี้ เดี๋ยวนี้ที่เราต้องเจตนาก็หาเลี้ยงให้มันรอดอยู่ ก็ทำให้มันดีที่สุดเท่าที่มันจะดีได้ นี่คือตัวธรรมะ สูงสุดกว่าธรรมะแขนงอื่น
อันสุดท้ายก็คือว่าเราทำหน้าที่อะไรแล้ว เราก็ได้รับผลอยู่ทุกวัน จะเรียนหนังสือก็ได้รับผลรู้หนังสือ ขณะที่ประกอบอาชีพก็ได้รับผลจากอาชีพ เราทำถูกวิธีเรามีความสุขเป็นผล เราทำผิดวิธีเรามีความทุกข์เป็นผล นี่รวมเรียกสั้นๆมันก็มีนี่คือเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ นี่คือธรรมะที่เป็นผล อยากได้ผลที่ดีก็ทำให้มันดี อยากได้ผลที่ร้ายก็ทำให้มันร้าย มันจะเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ แม้นี่ก็ต้องศึกษาจากข้างใน อย่าไปเอาข้างนอกเป็นหลักไม่เป็นประมาณนะ เช่นทำดีก็เห็นว่าดีแน่เพราะจิตดี จิตคิดดี การกระทำดี อันนี้ยอมรับแต่ทีแรกว่าอย่างนี้เรียกว่าทำดี พอทำเข้ามันก็ต้องดี ไม่ต้องให้มีใครมาสรรเสริญเยินยอ ไม่ต้องรวย ไม่ต้องได้ผลพลอยได้ภายนอก ก็เรียกว่ามันเป็นของมันเสร็จแล้ว พอทำดีก็ดีเสร็จแล้ว พอทำชั่วก็ชั่วเสร็จแล้ว จะได้เงินหรือไม่ได้เงินนี่ไม่แน่นะ ถ้าไปยึดถือเอาของภายนอก เช่น เงิน เป็นหลักแล้วเข้าใจผิดหมด เพราะมันไม่แน่ แต่ที่มันแน่คือว่า กาย วาจา ใจที่ทำลงไปดี มันก็ดีอยู่นั่น ไม่ต้องมีใครมาว่า หรือมาแต่งตั้ง ทำชั่วมันก็ชั่วแล้ว ไม่ต้องมีใครรู้ก็ได้ ผลพลอยได้ภายนอกนั้นมันไม่แน่ ได้ก็มีไม่ได้ก็มี และบางทีมันก็ทำให้กลับ ให้เข้าใจผิดกลับกันเสียว่า ทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี เหมือนที่คนเดี๋ยวนี้โดยมากก็มักจะพูดกัน ทำดีไม่เห็นได้ดี คนทำชั่วได้ดี นี่มันหลอกตัวเองโดยไม่รู้สึกตัว เพราะมันไม่รู้เรื่องนี้ เราเข้าใจเสียให้ถูก ผลดีผลชั่วจะเป็นไปตามการกระทำที่เราบัญญัติเรียกว่า ดีหรือชั่ว เสมอ ส่วนที่ว่าจะได้เงินเยอะแยะ ได้อะไรอีกนั่นมันอีกส่วนต่างหาก แต่ถ้าว่าทำไปในทางดีแล้วก็มีส่วนที่จะได้ง่ายขึ้นกว่าที่จะทำไปในทางชั่ว เช่นอยากจะมีเงิน ทำไปในทางดีจะได้เงินมาดยปลอดภัย ยั่งยืน มั่นคง แต่หาเงินด้วยความชั่วนี่ มันคงจะได้มาอย่างหลอกๆ ไม่เท่าไรมันก็จะหายไปหมด มันจะทำอันตรายแก่บุคคลนั้นด้วย เรื่องผลของการกระทำนี่อย่าเอาไปทำให้มันผิด อย่าเข้าใจผิดจนสับสนกันไปหมด ทำหน้าที่เพื่ออะไร ผลมันก็ได้มาอย่างนั้นเสมอ ผิดก็ผิด ถูกก็ถูก นี่คือธรรมะ
ใจความสำคัญอยู่ในความหมายที่ ๓ คือหน้าที่ ขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายรู้จักมันอย่างนี้ จะได้ไปสอนลูกศิษย์ลูกหาต่อไปว่า สิ่งที่เรียกว่าธรรมะมันอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมะ สอนธรรมะ ถ้าถามว่าสอนอย่างไร ก็คือสอนให้รู้เรื่องธรรมชาติ รู้กฎของธรรมชาติ รู้หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ รู้ผลอันเกิดจากหน้าที่นั้น ก็ตายตัว เด็ดขาด เป็นกฎตายตัวเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่หลอกใคร และทีนี้ธรรมะ แปลว่าหน้าที่ นี่เป็นความหมายที่สำคัญ ฉะนั้นขอให้ไปย้ำถึงหน้าที่ ถ้าได้ทำหน้าที่ก็ขอให้มองเห็นว่าได้ประพฤติธรรม ประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรมนั้นมันอยู่ที่การทำหน้าที่ คนทั่วไปไม่ค่อยรู้สึก เขาว่าจะประพฤติธรรมก็ต้องมาโกนหัว บวชอยู่วัด สมาทานศีลอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นการประพฤติธรรม แต่โดยความจริงของธรรมชาติ ประพฤติธรรมนั้นมีเมื่อทำหน้าที่ เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่คือธรรมในความหมายที่ว่าเป็นหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเมื่อครูคนใดทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องอยู่ในโรงเรียน เมื่อนั่นแหละเขาประพฤติธรรม ถ้าจะว่ายังไม่ค่อยมองกัน แล้วก็มองไม่เห็น แล้วก็ไม่อยากจะมองเพราะไม่เคยเรียนมาอย่างนี้
เมื่อคนหนึ่งมันถีบสามล้ออยู่กลางถนนมันก็ประพฤติธรรมตามหน้าที่ของเขา เมื่อคนหนึ่งมันแจวเรือจ้างมันก็ประพฤติธรรมตามหน้าที่ของเขา คนหนึ่งล้างท่อถนน ขนรถอุจจาระ ขยะมูลฝอย มันก็คือประพฤติธรรมตามหน้าที่ที่เขาจะทำได้ เพราะมันมากกว่านั้นเขาทำไม่ได้ จะเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นประธานาธิบดี ปกครองโลกปกครองบ้านเมืองมันก็คือประพฤติธรรม ทำหน้าที่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นโดยหลักนี้จะไม่ถือว่าหน้าที่ไหนวิเศษประเสริฐกว่าหน้าที่ไหน โดยถือเสมอกันว่าถ้าทำหน้าที่แล้วก็เป็นการประพฤติธรรม เขาก็จะได้รับผลการทำหน้าที่ เพื่อจะรอดชีวิตอยู่ได้ หรือจะก้าวหน้าให้มันยิ่งๆขึ้นไป
เมื่อรู้สึกว่าทำหน้าที่ ก็ให้รู้สึกว่าประพฤติธรรม ฉะนั้นควรจะพอใจตัวเอง เคารพตัวเอง ก็ทำให้สนุกไปเลย อย่ารอเมื่อไหร่จะถึงชั่วโมงปิด ไปเที่ยว ไปเล่น ไปกินเหล้า ไปอบายมุข ไม่อยากจะทำหน้าที่ นั่นนะมันเข้าใจผิด ถ้ามันเข้าใจถูก มันอยากจะอยู่กับหน้าที่ตลอดเวลา จนกว่าจะเหน็ดจะเหนื่อยจะไปพักผ่อน ไม่ใช่เมื่อไหร่จะสามสี่โมงเย็น จะไปกินเหล้า ไปอาบอบนวด ไปบูชาสิ่งเหล่านั้น สิ่งที่เป็นหน้าที่เป็นธรรมะที่ควรบูชากลับไม่บูชา เขาจึงไม่มีธรรมะ ไม่ก้าวหน้าในทางธรรมะ กิเลสก็ครอบงำ กิเลสก็ชักจูงไปตามแบบของกิเลส ก็มีแต่ความทุกข์ ความร้อน เขาก็จะวินาศไม่ทันรู้ตัว เมื่อทำหน้าที่ขอให้พอใจ จะเป็นสุขในหน้าที่ ไม่ต้องเสียสตางค์ แล้วก็จะได้สตางค์ ขอให้บูชาหน้าที่ว่าเป็นธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ เป็นสุขเมื่อปฏิบัติหน้าที่ ก็เลยไม่ต้องลงทุนก็ได้ความพอใจ เคารพตัวเอง นับถือตัวเอง เป็นสุข แต่คนสมัยนี้เขาไม่มอง เขาจะเกลียด เขาจะเห็นว่าไร้ความหมาย เมื่อเราได้ทำหน้าที่ เรียกว่าปฏิบัติธรรม แล้วก็พอใจตัวเอง เรียกว่าธรรมปีติ ปีติในธรรม ธรรมคือหน้าที่ ถ้าใครทำได้คนนั้นจะมีความสุขอยู่ในการงานที่ทำ จะเป็นสุขได้จากการงานที่ทำ ไม่ต้องเอาเงินไปซื้อที่สถานกามารมณ์เหมือนกับที่เขาทำกันอยู่ ความสุขแท้จริงคือ “ปีติในธรรม” เพราะได้ปฏิบัติหน้าที่ ความสุขแท้จริงชนิดนี้ไม่ต้องซื้อด้วยสตางค์ ช่วยจำไว้สักนิดเถิดว่า ความสุขแท้จริงไม่ต้องเสียสตางค์ซื้อหามา แต่ความสุขหลอกลวงสำหรับคนโง่นั้นต้องใช้สตางค์มากๆจนเงินเดือนไม่พอใช้
พวกคุณคิดดูว่า เราทำหน้าที่สอน สนุกสนาน มือถือชอล์กอยู่หน้ากระดานดำ สมมติว่าเป็นครูแบบนี้ มันเป็นสุขอยู่ที่นั่น มันไม่อยากจะเลิก ไม่อยากจะออกไปที่สถานเริงรมย์ กามารมณ์ พอใจยกมือไหว้ตัวเองได้ เป็นสุขอยู่ที่นี่ เหนื่อยก็ไปนอนเสีย นี่ความสุขที่แท้จริงได้มาโดยไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ถ้าความสุขหลอกๆคุณก็ต้องพกเงินไปที่สถานเริงรมย์ สถานอบายมุขทั้งหลาย แล้วก็จ่ายเงินจ่ายเงิน เที่ยวซื้อความสุขเหล่านั้นเพื่อความบ้าวูบเดียว วูบเดียว บ้าวูบเดียวนั้นอาจจะแพง เป็นพัน เป็นร้อยก็ได้ นี่ความสุขที่ไม่แท้จริง คือความสุขหลอกลวงต้องจ่ายเงิน นี่ธรรมชาติมันทำมาให้อย่างนี้ ฉะนั้นควรจะสนใจ ว่าหน้าที่คือสิ่งสูงสุด บางคนก็พูดว่าหน้าที่คือพระเจ้า จะโปรดเรา คือสิ่งสูงสุดอยู่ที่หน้าที่ อยู่ที่การทำหน้าที่ อย่าไปดูถูกถ้าเขาจะต้องถีบสามล้อ แจวเรือจ้าง ล้างท่อถนนก็อย่าไปดูถูกเขาเลย จงยกฐานะของเขาเสมอเหมือนกับเราที่ทำหน้าที่อะไรที่มันไม่ถึงขนาดนั้น แต่มันก็ยังเป็นหน้าที่ เพราะฉะนั้นถ้าใครทำหน้าที่จะมีความสุขไม่ต้องจ่ายเงิน แล้วเงินก็จะมีมา จะเกิดขึ้นและจะเหลือใช้ เพราะความสุขของเราไม่ต้องจ่ายเงินซื้อหา กลับทำให้เกิดเงินทองขึ้นมา จนไม่รู้จะเอาไปไหน มันจะเหลือใช้ แต่ถ้าเราไม่เอาความสุขในธรรมะหรือหน้าที่ เราก็ต้องหาเงินต่างหาก เรียนต่างหาก ประกอบอาชีพต่างหาก ได้เงินมาแล้วก็ไปซื้อปัจจัยแห่งกามารมณ์ นี่จึงเป็นเหตุให้เดือดร้อน ไม่พอใช้บ้าง ฆ่าตัวตายเพราะไม่พอใช้บ้าง เพราะอย่างอื่นๆบ้าง นี่เป็นความหลงของคนที่ไม่รู้ว่าธรรมะนั้นคืออะไร ความจริงมันมีอยู่อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านก็สอนด้วยหลักอย่างนี้ อาตมาได้สนใจศึกษาเล่าเรียนมาอย่างนี้ ก็บอกอย่างนี้แหละ พูดอย่างอื่นไม่เป็น จะพูดอย่างอื่นก็คือโกหกตัวเอง หลอกคนอื่น ฉะนั้นจึงต้องพูดไปตามตรง ตามที่มันจริง จึงขอร้องว่าช่วยเอาไปคิดดู เดี๋ยวนี้ไม่เชื่อก็ได้ เดี๋ยวนี้ยังไม่เชื่อก็ได้ แต่ถ้าจะเอาไปคิดดู เห็นจริงแล้วค่อย ทำตาม ทำตามธรรมะ ตามหลักธรรมะที่มีอยู่อย่างนี้ การงานคือการปฏิบัติธรรม ทำแล้วยกมือไหว้ตัวเองได้ เพราะว่ามีธรรมะแล้วก็เป็นสุข เป็นสุขที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อหา แต่กลับจะเอาเงินมาให้อีก เพราะว่าการงานสมัยนี้ปัจจุบันนี้ก็มีผลเป็นเงินอยู่แล้ว เป็นความจริงที่มันก็ไม่ลึกลับอะไร แต่ว่ามุมไม่มองก็ไม่เห็น เพราะฉะนั้นถ้าไม่เคยมองก็ขอให้มองเสียบ้างว่า มันมีอยู่อย่างนี้ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ขอให้ทำเถิด ก็ยกมือไหว้ตัวเองได้ แล้วเงินก็จะมาเองและเหลือใช้ นี่หน้าที่สำหรับรอดอยู่ได้
ที่นี้ธรรมะจะเป็นหน้าที่ ถ้าขยับไปสูงขึ้นไปนั้น ก็มีอยู่ระบบหนึ่งล่ะ มันมีระบบของมันอยู่อีกระบบหนึ่งว่า เราแม้รอดชีวิตอยู่ได้ แต่เป็นทุกข์ มีความทุกข์ เพราะความโลภ เพราะความโกรธ เพราะความหลง นี่ไม่มีวิเศษอะไร ไม่วิเศษ เป็นทุกข์อยู่ เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง เราจึงมีหน้าที่ ที่ต้องกำจัด ความโลภ ความโกรธ ความหลงเสีย คือหน้าที่สูงขึ้นไปเพื่อเป็นชั้นอริยะ ชั้นประเสริฐ ชั้นสูงสุดก็ศึกษาต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง คือหน้าที่ที่สูงขึ้นไปสำหรับจะไปถึงที่สุดยอดของมนุษย์ ทีนี้ก็ตั้งต้นที่ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั่นแหละ ถ้าอาตมาจะพูดว่าหลายๆคนนี้ได้ยินแต่ชื่อไม่รู้จักตัวจริง ได้ยินแต่ชื่อว่าโลภ ว่าโกรธ ว่าหลงแล้วไม่รู้จักตัวจริงเพราะไม่ได้สนใจ อย่างนี้ก็รู้สึกว่าน่าละอายมาก ฉะนั้นถ้าจะศึกษาธรรมะชั้นนี้ให้จริงนะ ไม่ใช่ทำแต่พอเป็นพิธี ก็ต้องศึกษาจากข้างในเหมือนกัน พอมันเกิดความโลภ ความรัก ความกำหนัด อะไรขึ้นมา รีบดู ดูดูดู ให้รู้จัก ศึกษาให้รู้จัก เวลาอื่นศึกษาไม่ได้หรอก มันศึกษาได้เฉพาะเมื่อเวลาที่มันมีอยู่เท่านั้น เช่น ถ้าจะศึกษาเรื่องความโลภนี่ต้องศึกษาเมื่อความโลภมันเกิดขึ้น ทีนี้ถ้าไม่สนใจศึกษาก็โลภแล้วโลภอีกอย่างนั้น ก็ไม่มีใครรู้จักความโลภ นี่โลภะ- ความโลภ อยากได้อย่างโง่เขลา ไม่ประกอบไปด้วยธรรม คือไม่ทำหน้าที่ อยากได้อย่างโง่เขลา คดโกง นี้ก็เรียกว่าความโลภ
ทีนี้ราคะ ความกำหนัด เกี่ยวกับความรู้สึกทางเพศ มันจะร้อนหรือจะเย็นหรือจะเผา มันรู้ไม่ได้หรอกถ้าไม่ศึกษาเมื่อมันเกิดขึ้น ศึกษาจากหนังสือไม่สำเร็จ จงศึกษาเมื่อราคะมันเกิดขึ้น มีจิตใจกำหนดให้ดี ให้ละเอียดลออ ให้รู้จักว่าสิ่งที่เรียกว่าราคะ มันเป็นอย่างไร มันมีอิทธิพลอย่างไร มีผลอย่างไร เผาลนอย่างไร หลอกลวงอย่างไร ล่อให้คนหลงอย่างไร นี่ ศึกษา ศึกษาจนรู้จักมัน ถ้ารู้จักมันจริงจะเกลียดมันเอง โลภะก็ดี ราคะก็ดี ที่เราเคยชอบ เคยบูชานั้นถ้าเมื่อไรเราเกิดรู้จักมันขึ้นมาเราจะเกลียดมันเอง ไม่ต้องมีใครมาใช้ให้เกลียด ไม่ต้องมีใครมายุให้เกลียด ฉะนั้นขอให้สนใจศึกษา โลภะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี ถ้าทำอย่างนี้จะรู้ธรรมะเร็ว จะเร็วที่สุด เร็วกว่าทางอื่นหมด ไม่ต้องเรียนเป็นปีๆ อย่างเรียนนักธรรม เรียนบาลี นี่มันอ้อมค้อมเกินไป ต้องเรียนจาก โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งรวมเรียกว่ากิเลส ที่มันเกิดขึ้นจริงๆ ทุกคนมีกิเลส คนธรรมดามีกิเลส เพราะว่ายังโง่อยู่ นี่พูดมันหยาบคายไปหน่อย แต่มันไม่รู้จะพูดยังไงให้เข้าใจได้
ถ้ายังมีความโง่อยู่มันก็ไปหลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว หลงใหล หลงอะไรต่างๆ เพราะมันยังโง่อยู่ ถ้าไม่มีความโง่ คือไม่มีอวิชชาแล้ว กิเลสเกิดไม่ได้ กิเลสทั้งหลายต้องอาศัยความโง่ทั้งนั้น ถ้าอะไรมาทำให้รัก ให้อยาก ความโง่มันก็ทำให้รักและให้อยาก ถ้าอะไรมาทำให้โกรธมายั่วให้โกรธ ความโง่มันก็ทำให้โกรธ ให้หลง ให้สะเพร่า ให้ประมาทนี่ก็เหมือนกัน ความโง่มันทำให้โง่ ให้หลง ให้ประมาท อวิชชา เขาเรียก อวิชชา เราต้องรู้ว่าอวิชชามันขึ้นมาทำกับเราอย่างไร เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น เมื่อลิ้นได้รส เมื่อสัมผัส ผิวหนังได้สัมผัสกับผิวหนังอื่น หรือเมื่อจิตมันรู้สึกอารมณ์อะไรขึ้นมา ความโง่เข้ามาก็จะทำให้เกิดความอยากไปตามความโง่ อยากได้ก็มี อยากไม่ให้มันมารออยู่ก็มี คือเรียกว่ายินดียินร้าย ยินดีก็อยากเอามา ยินร้ายก็อยากให้มันไปเสีย อยากจะตีให้ตาย อยากจะฆ่าให้ตาย นี่อวิชชาเกิดขึ้น
อวิชชานี่คล้ายๆกับมีอยู่ในบรรยากาศทั่วไป ได้โอกาสเมื่อไรก็แสดงตัวออกมา มันจะแสดงตัวออกมาเมื่อเราสัมผัสสิ่งต่างๆในโลก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าทำผิดนิดเดียวอวิชชาเข้ามา ผสมอยู่ในสัมผัสนั้น จะเกิดเวทนา รู้สึกไปอย่างโง่ๆ น่ารักบ้าง น่าเกลียดบ้าง แล้วแต่ว่ามันจะโง่กันอย่างไร พอมันเกิดความรัก หรือความโกรธอะไรก็ตาม รุนแรงแล้ว จิตถัดลำดับไป มันก็จะคือจิตชื่อว่า "กู" ทีนี้ "กู" จะเกิดขึ้น ความรู้สึกว่า "กู" จะเกิดขึ้น เป็น "ตัวกู" รัก โกรธเกลียด กลัว ต้องการอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อเอามาเป็น "ของกู" ช่วยจำเอาไว้ว่าสิ่งที่เรียกว่า “กู” นี่ คือผี เพิ่งโผล่มาหยกๆนี่เอง ไม่ใช่มีอยู่ตลอดเวลา เป็นผีที่เพิ่งโผล่มาจากการสัมผัสด้วยความโง่ เมื่ออยากมากก็รู้สึกว่า “กูอยาก” เมื่อไม่ชอบมากรู้สึกเป็น “กูเกลียด” ทุกคนและทุกวันจะมี “ตัวกู” อย่างนี้เกิดขึ้น ตามโอกาสแห่งความโง่ของเรา เราโง่ให้มันเกิด ถ้า “ตัวกู” เกิดแล้วก็ร้อนเป็นไฟเสมอ ที่รักก็ร้อนอย่างความรัก ที่เกลียดก็ร้อนอย่างความเกลียด ที่โกรธก็ร้อนก็อย่างความโกรธ ที่กลัวก็ร้อนอย่างความกลัว ที่เศร้าก็ร้อนอย่างเศร้า เป็นร้อนทั้งนั้นแหละไม่ว่าความรู้สึกประเภทไหน ที่มันเจืออยู่ด้วยอวิชชา นี่เป็นคนธรรมดาเป็นอยู่อย่างนี้ แม้รอดชีวิตอยู่ ถ้าอยู่ในลักษณะอย่างนี้มันจะดีอะไร ฉะนั้นเราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องกำจัดกิเลส นี่ศึกษาให้รู้อะไรไว้อย่าให้เกิดอวิชชา คือความโง่ไปเสียหมด จะมาศึกษาธรรมมะ ศึกษาพุทธศาสนา นั้นต้องศึกษาในส่วนที่เป็นวิชชา ที่ตรงกันข้ามจากอวิชชา ทำให้รู้อะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอะไร สำหรับจะไม่โง่ในเมื่อมันเป็นโอกาสที่จะโง่
ทีนี้เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส ผิวหนังสัมผัสผิวหนัง มันก็ไม่โง่ มันก็ไม่โง่อย่างชนิดที่ไม่ได้ศึกษาหรือไม่รู้ มันก็ไม่เกิด โลภะ โทสะ โมหะ ไม่เกิดไฟ ไม่เกิดกิเลส คือไม่เกิดไฟ ไม่เกิดไฟก็คือเย็นเพราะมันไม่มีไฟ ภาวะที่เย็นเพราะไม่มีกิเลสนั่นแหละเขาเรียกว่า นิพพาน คำว่า นิพพาน แปลว่า เย็น เพราะว่างจากความร้อน ครูบาอาจารย์สอนว่า นิพพาน คือการตายของพระพุทธเจ้า นี่ผิดพลาดโง่เขลาที่สุด ไม่รู้มันโง่กันมาแต่ครั้งไหนที่ว่านิพพานคือการตายของพระพุทธเจ้า นิพพาน มันแปลว่าเย็นเมื่อว่างจากกิเลส เมื่อหมดกิเลสก็นิพพานจริง เมื่อกิเลสหยุดไปเป็นคราวๆ ก็นิพพานคราวๆ ฉะนั้นรู้เสียเถิดว่า นิพพานนั้นแปลว่าเย็น เมื่อไม่มีกิเลส แต่ถ้าเรามีกิเลสตลอดเวลาไม่มีนิพพานเลย เราบ้าตายหมดแล้ว ใน ๒๔ชั่วโมงเราว่างจากกิเลสกันบ้างตามสมควร ส่วนนั้นเป็นเย็นเป็นนิพพาน พอกิเลสเกิดก็ร้อนเป็นไฟพักหนึ่งเดี๋ยวก็เปลี่ยนหายไป มีเย็นคอยเข้ามาช่วยหล่อเลี้ยงไว้ทันท่วงที จึงไม่เป็นบ้า จึงไม่ตาย ฉะนั้นนิพพานไม่ใช่ความตาย ไม่เกี่ยวกับความตาย มันเป็นความเย็น เมื่อหมด เมื่อว่างจากกิเลส แล้วคนตายจะรู้สึกได้หรือ คนตายจะมีกิเลสได้หรือ มันมีไม่ได้ คนตายจะมีนิพพานไม่ได้ เพราะว่านิพพานนั้นคือเย็นเมื่อไม่มีกิเลส
แล้วที่มันโง่มาก โดยไม่รู้นะที่ว่าพระพุทธเจ้าตายนี่ เป็นความโง่สูงสุดของพุทธบริษัท เพราะว่าพระพุทธเจ้านั้นตายไม่ได้นะ พระอรหันต์นั้นตายไม่ได้นะ ถ้าเปลือกของท่านละก็จะได้ ร่างกายเนื้อหนังนี่ตายเหมือนอย่างคนธรรมดาได้ แต่ตัวจริงของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์นี้ตายไม่ได้ นั่นก็จึงว่าไม่ตาย เป็นอมตะ เป็นไม่ตาย พระพุทธเจ้าจะอยู่กับเราตลอดไป คือธรรมะจะอยู่เหนือกิเลส เหนือความทุกข์ ท่านได้สอนไว้อย่างไร ให้ปฏิบัติอย่างไรนี้จะอยู่กับเราตลอดไป หรือว่าที่เราจะนึกได้เองสังเกตได้เองตั้งแต่เล็กๆจนโตขึ้นมาเดี๋ยวนี้ เราก็นึกอะไรได้มากเราก็พบอะไรได้ด้วยตนเองมาก นี้ก็ไม่พ้นจากความเป็นพระพุทธเจ้า คือความรู้หรือปัญญาที่เรารู้ว่าทุกข์อย่างนี้ ดับทุกข์อย่างนี้ นั้นแหละคือพระพุทธเจ้าที่เกิดขึ้นหรือที่เราสร้างขึ้นมาก็ได้มาอยู่ในเรามา อยู่กับเรา บางคนอาจจะได้ฟังมาแล้วว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม" นั้นไม่ใช่เรื่องกายนี้ เห็นร่างกายนี้ไม่ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะว่าในอินเดียสมัยโน้นก็มีคนเป็นอันมากไม่รู้จักพระพุทธเจ้า เดินสวนทางกันก็ไม่จักพระพุทธเจ้า เพราะว่าพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่ร่างกาย มีอะไรอันหนึ่งที่มันอาศัยร่างกายคือปัญญาที่รู้ว่าความทุกข์เป็นอย่างไร ดับทุกข์เป็นอย่างไร ฉะนั้นพระพุทธเจ้าแท้จริงนั้นตายไม่ได้ ใครบอกว่าพระพุทธเจ้าตาย คนนั้นมันหลับตาพูด แล้วมาสอนว่านิพพานว่าคือการตายของพระพุทธเจ้า นั่นมันเป็นคนฆ่าพระพุทธเจ้า มันต้องตกนรกหมกไหม้ไม่สิ้นไม่สุด ถ้ามันเป็นคนฆ่าพระพุทธเจ้า เพราะว่าพระพุทธเจ้าตายไม่ได้ ถ้าเป็นพุทธบริษัทขอให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าอยู่กับเรา และท่านก็ตรัสไว้อย่างนั้นว่า ธรรมวินัยที่ฉันบอกเธอทั้งหลานั่นแหละย อยู่เป็นตัวฉันกับพวกเธอ เมื่อร่างกายนี้มันล่วงลับไป
ที่นี้จะพูดอย่าง ชาตินิยมสักหน่อยว่า เราเป็นชาวพุทธนะ เราช่วยกันรักษาเหลี่ยมของชาวพุทธ อย่าให้เกิดปมด้อยขึ้นมาในหมู่ชาวพุทธ คือพระพุทธเจ้าไม่ตาย อยู่กับเราเป็นที่พึ่งแก่เรา ถ้าเราไปพูดว่าพระพุทธเจ้าตายเหลือแต่พระธาตุอย่างนี้ คือเราสร้างปมด้อยขึ้นมาในพระศาสนาของเรา เรื่องมันมีที่เขาเล่ากันมาแล้วก็บันทึกกันไว้ พวกมิชชันนารีคริสเตียนเขาเข้ามาในเมืองไทยใหม่ๆ เมื่อเขาจะดึงคนไทยนี้ไปถือศาสนาคริสต์ เขามีเล่ห์เหลี่ยมมีอะไรมากทีเดียว
ตัวอย่างเช่น เขาถามว่า "เดี๋ยวนี้พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าของคุณอยู่ที่ไหน" ถามชาวพุทธนี้ ชาวบ้านนั้นก็พาซื่อก็ตอบตามที่ครูสอน “นิพพานแล้วเหลือแต่พระธาตุ” คือตายแล้วนั่นแหละ ความหมายก็คือตายแล้ว ทีนี้เขาก็ถามว่า “นี่คุณนี่จะพึ่งคนตายแล้วดีหรือว่าพึ่งคนยังอยู่ดี” คนนั้นมันก็พาซื่อตอบว่า "พึ่งคนยังอยู่สิ คนตายแล้วจะพึ่งอะไรได้" เขาก็บอกสมกันเทียว “พระเจ้าเท่านั้นแหละยังอยู่ พระเป็นเจ้าพระยะโฮวาห์นั้นยังอยู่ อยู่ตลอดไป เธอจะไปพึ่งคนตายแล้วดี หรือพึ่งคนที่ยังอยู่ดี?” อย่างน้อยก็ทำให้ชาวพุทธคนนั้นรวนเรพักหนึ่งแหละ หรืออาจจะเข้าไปถือคริสเตียนเลยก็ได้ แล้วก็มีอยู่จริงๆ ที่เป็นพุทธอยู่ก่อนแล้วก็ไปเป็นคริสเตียน โดยไม่รู้ความจริงอย่างนี้แหละ
ฉะนั้นเรารู้ไว้ด้วยส่วนนี้ ส่วนที่ว่าพระพุทธเจ้าตายแล้วหรือยังอยู่นี่ช่วยรู้ให้ดีๆ ถ้าใครว่าพระพุทธเจ้าตายแล้ว ก็คนนั้นแหละฆ่าพระพุทธเจ้าเสียเอง และท่านก็ตายไม่ได้ เราก็ตอบ “พระพุทธเจ้ายังอยู่” ถ้าเขาถามอย่างนั้นก็ตอบว่า “พระพุทธเจ้ายังอยู่” “อยู่ที่ไหน?” “ อยู่ในหัวใจของฉัน ฉันเก็บไว้ในหัวใจของฉัน” คือความรู้ดับทุกข์อย่างไร อย่าเอาไว้แค่พระเครื่องที่แขวนคอ เอาไว้ที่ในหัวใจที่ประกอบอยู่ด้วยปัญญา รู้ว่าเป็นทุกข์อย่างไร ดับทุกข์อย่างไร รู้ว่าโลภะ โทสะ โมหะเป็นอย่างไร เกิดอย่างไร ดับอย่างไร นั่นแหละคือพระพุทธเจ้า ภาวะแห่งจิตใจ หรือจิตใจ ปัญญา ที่มันรู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั่นคือพระพุทธเจ้า ตายไม่ได้ และจะอยู่กับสิ่งที่มีชีวิตทุกสิ่งเพราะว่าสิ่งที่มีชีวิตทุกสิ่งมันจะรู้บ้างไม่มากก็น้อยว่าอย่างนี้เป็นทุกข์นะ ไม่เอานะ มันกลัวโดยสัญชาติญาณของมันเอง นี่เรียกว่า เมื่อกิเลสไม่เกิดขึ้นเผาให้ร้อน เมื่อนั้นเป็นนิพพาน จะมีอยู่พอสมสัดสมส่วนที่เราไม่ต้องเป็นบ้าและตาย งงไปหมดแล้วหรือยังว่า เราต้องตั้งต้นศึกษาเรื่องนี้ที่กิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง พอมีก็ร้อนเป็นไฟ พอไม่มีก็เป็นนิพพาน ถ้าอยากจะให้เป็นนิพพานถาวรเราก็ต้องกระทำชนิดที่กิเลสหมด อบรมจิตใจจนกิเลสเกิดไม่ได้ ทีนี้กิเลสก็หมด
ทีนี้ความลับเกี่ยวกับเรื่องกิเลสคือว่า พอเกิดกิเลสขึ้นมาทีหนึ่งนะ จะโลภทีหนึ่ง หรือโกรธทีหนึ่ง หรือหลงทีหนึ่งนี่ เกิดกิเลสทีหนึ่งนี่ มันสะสมความที่จะเป็นเช่นนั้นไว้ในสันดานของเรา ๑ หน่วย ๑ คะแนน ถ้าเราโกรธทีหนึ่ง มันจะเพิ่มหน่วยหนึ่ง รัก โกรธ เกลียด กลัว มันจะเพิ่มไว้หน่วยหนึ่ง หน่วยหนึ่ง เป็นความเคยชินอยู่ในสันดาน เขาเรียกว่า อนุสัย นั่นแหละมันคงความยากลำบากให้แก่เรา ที่เราควบคุมไม่ได้ เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง ง่ายเหลือเกิน ง่ายเหลือเกิน เพราะมันมากชินอยู่ในสันดาน ทีนี้โดยกฎของธรรมชาติมันมีอีกว่า ถ้าเราไม่ให้เกิดกิเลส มันจะลด มันจะเป็นลบ ถ้าให้มันเกิดกิเลส มันจะเป็นบวก มันก็จะเพิ่ม หนึ่ง หนึ่ง หนึ่ง หนึ่ง เรื่อยไป ทีนี้เรามีสติพอ ที่คอยควบคุมไม่ให้โลภ ในกรณีนี้มาถึงตอนที่มันจะโลภสุดเหวี่ยงแล้วยังเหลือแค่เส้นผม มันควบคุมได้ไม่ให้โลภ นี่คือไม่โลภ ไม่โลภทีหนึ่งสันดานโลภจะลดลงไปหน่วยหนึ่ง หรือว่าความเคยชินแห่งความโลภในสันดานจะลดไปหน่วยหนึ่ง จะทำให้เกิดอีกทีหนึ่งก็ลดอีกหนึ่ง ลดอีกหนึ่งเรื่อยๆจนมันน้อย เขาเรียกว่าสันดานมันเบาบางจากความเคยชินแห่งกิเลส ความเคยชินแห่งกิเลสนี้เรียกว่า อนุสัย เกี่ยวกับความรัก-ความโลภนี่ก็ได้ เกี่ยวกับความโกรธ-โทสะ นั้นก็ได้ เกี่ยวกับโมหะ-ความโง่ ความสะเพร่า อะไรก็ได้ มันเหมือนกันทั้งนั้น ถ้าปล่อยให้มันเกิดทีหนึ่ง มันจะสร้างความเคยชินไว้หน่วยหนึ่งในสันดาน แต่ถ้าไม่ให้มันเกิดมันก็ลดความเคยชินลงไปหน่วยหนึ่งในสันดาน ทีนี้ตั้งแต่เราเกิดมาจากท้องพ่อแม่ เป็นเด็กมันสร้างมาเป็นในทางบวกเรื่อย จนกว่าจะมารู้ธรรมมะ ศึกษาธรรมะจึงจะรู้จักป้องกัน ห้ามไม่ให้เกิด จึงจะเป็นไปในทางลบ ลดลง ลดลง ถ้ามันลดลงเรื่อยไป มันก็หมดวันหนึ่งล่ะไม่ต้องสงสัย เรียกว่านิสัยสันดานของเราดีขึ้นดีขึ้น เพราะกิเลส ความเคยชินแห่งกิเลสลดลง ลดลง จนกิเลสไม่เกิด กิเลส ที่เกิดนี้ เรียกว่า กิเลส ความเคยชินที่สะสมไว้ในสันดานเรียกว่า อนุสัย ความที่มันปรี่ที่จะไหลออกมาเรียกว่า อาสวะ เมื่อเราทำให้ในสันดานมันไม่มีเชื้อสะสมแห่งกิเลส มันก็ไม่มีอะไรที่จะไหลออกมา จึงไม่เกิดกิเลส ถ้าเราอบรมจิตอย่างนี้ๆ เรื่อยไปๆ จนห้ามไว้ได้ทุกทีไป ความเคยชินแห่งกิเลสก็หมด กิเลสก็เกิดไม่ได้ เขาเรียกว่าหมดกิเลส หมดกิเลสโดยสมบูรณ์เป็นพระอรหันต์ หมดไปบางอย่างตามสมควรก็เรียกว่าพระอนาคามีบ้าง สกิทาคามีบ้าง โสดาบันบ้างแล้วแต่ระดับ แต่ว่าก็ขอให้อยู่ในพวกที่จะหมด หมดทั้งนั้นแหละ ไม่หมดเดี๋ยวนี้ก็หมดในวันหน้า ถ้ายังเป็นเหมือนเดิม เรียกว่า ปุถุชน หนาอยู่ด้วยกิเลส ถ้าเริ่มลดลงลดลงก็เป็นพระอริยเจ้า พอลดหมดก็เป็นพระอรหันต์ นี่เรื่องความลับของกิเลส หรือธรรมะที่เป็นกฎของธรรมชาติเกี่ยวกับกิเลส รู้ไว้ ทำให้กิเลสลดลงมันก็ไปในทางเป็นมนุษย์ที่สูงสุด จะเป็นมนุษย์สูงสุดได้ด้วยการกระทำอย่างนี้ เขาเรียกว่าเรื่องฝ่าย โลกุตระ โลกอุดรหรือโลกุตระจะเป็นไปเพื่อสิ้นกิเลส ถ้าอยู่กับกิเลสตามธรรมดาสามัญก็เรียกว่าเรื่องโลกียะ เรื่องทำมาหากิน มีอะไรตามกฎ ตามธรรมดา อยู่ในโลกนี้เป็นเรื่องโลกียะ ก็ต้องทำให้ดี ต้องทำให้ถูกเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นมันเป็นทุกข์มากเกินไป ทีนี้ถ้าว่าต้องการจะไปไกลกว่านั้นอีกก็ไปทำกิเลสให้ลดลงจนหมด นี่เป็นเรื่องของโลกุตระ โลกอื่น โลกอื่น เป็นโลกอุดร โลกที่ไม่ใช่โลกอย่างนี้ แต่ความจริงมันไม่ใช่โลกหรอก คือมันจะหมดโลก สิ้นโลก นี่แหละธรรมะชั้นสูง ภาคปลาย ภาคเหนือโลก แต่ภาคในโลกก็คืออย่างที่เราเป็นๆกันอยู่ เรียนหนังสือ มีอาชีพ ทำให้ดีอยู่ในโลก ภาคอยู่ในโลก ทีนี้ถ้าว่ายังไงๆมันก็อย่างนั้นแหละ มันไม่มีอะไรแปลกจากนั้น มันเบื่อขี้เกียจจะเป็นอย่างนั้น จิตมันก็น้อมไปภาคเหนือโลก ถ้าใครชอบก็เอา ใครไม่ชอบก็ไม่ต้อง ก็อยู่กับโลกนี้ไปเรื่อยๆ แต่อย่าอยู่อย่างทรมานตน เป็นทุกข์จนน่าเกลียด ให้พอดูได้ ถ้าอยู่อย่างสบายก็เรียกว่าสวรรค์ ถ้าอยู่อย่างทุเรศก็เรียกว่านรก รู้สึกอยู่ที่จิตใจ ร้อนเป็นไฟก็เรียกว่านรก พอยกมือไหว้ตัวเองได้บ้างก็เป็นสวรรค์ พอหมดความต้องการอะไร หมดตัวกู หมดความรู้สึกเป็นตัวกู ของกู ก็เป็นเหนือโลก ก็เรียกว่า โลกุตระ ยิ่งไปกว่าสวรรค์ สวรรค์นั้นอยู่ในโลกนี้นะ เมื่อผิดก็เป็นนรก เมื่อถูกก็เป็นสวรรค์ ต่อเมื่อเหนือโลกนี้จึงจะเป็น มรรค ผล นิพพาน เป็นโลกอุดร ใจความสั้นๆโดยสรุปมันมีอยู่อย่างนี้ คุณจะเคยฟังหรือไม่เคยฟังก็ไม่ทราบหรอก แต่ว่าใจความสั้นๆ หัวข้อของมันมีเท่านี้แหละ เมื่อเป็นมนุษย์รอดตายอยู่ได้แล้วยังมีกิเลสรบกวน ก็ต้องมีหน้าที่ลำดับ ๒ ที่จะอยู่เหนือกิเลส ศึกษาธรรมะ ให้มีสติ มีสติยิ่งๆกว่าคนธรรมดา เพื่อควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ ไม่ให้เป็นที่เกิดของกิเลส มันก็ไม่เกิดเหมือนกับที่แล้วๆมา ตั้งแต่เล็กนี่เกิดมาเรื่อยจนเคยชินอยู่ในสันดาน ถ้าคิดว่าเกินความต้องการของครูอาตมาก็พูดเพ้อไปคนเดียว ถ้าครูคนไหนไม่ฟังอาตมาก็ร้องเพลงให้ก้อนหินฟังไปคนเดียว แต่มันต้องพูดเพราะมันมีอยู่อย่างนี้ มันไม่มีอย่างอื่น มันพูดอย่างอื่นไม่ได้ มันก็ต้องพูดอย่างนี้ ขอให้จำเอาไปเถิดเพราะมันมีอย่างนี้ ใครจะเอาหรือไม่เอามันก็มีอยู่อย่างนี้ เรียกว่ากฎของธรรมชาติมีอยู่อย่างนี้ และมันเกี่ยวกันอยู่กับธรรมชาติซึ่งเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา ถ้าเราต้องการผลที่พึงปรารถนา เราก็ต้องทำหน้าที่ตามธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติในทางนั้น แล้วมันก็จะได้ผล แล้วทีนี้ก็ว่าเราจะเป็นมนุษย์ ไม่ให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ มันไม่มีทางอื่นต้องทำอย่างนี้ ต้องศึกษาเรื่องของธรรมชาติมันถึงจะทำให้เป็นมนุษย์ มนุษย์แปลว่าใจสูง หรือว่าเหล่ากอของผู้ที่มีใจสูง ถ้าใจไม่สูงยังไม่ใช่มนุษย์ ถ้าใจสูงเป็นมนุษย์ ใจสูงจนกิเลสเกิดไม่ได้ความทุกข์เกิดไม่ได้ มนุษย์ที่สมบูรณ์คือพระอรหันต์ ถ้ายังไม่ถึงนั้นก็เป็นมนุษย์เด็กๆเล็กๆไปตามเรื่อง แต่ถ้าต่ำจนความชั่วหรือกิเลสครอบงำได้แล้วยังไม่ใช่มนุษย์ ฉะนั้นขอให้สนใจความที่มีใจสูง การศึกษาหรือการกีฬาอะไรต่างๆที่เป็นการศึกษาเพื่อให้ใจสูง ซึ่งครูหรือนักเรียนเขาร้องเพลง "กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลส ทำคนให้เป็นคน" ทีนี้อาตมากลัวไปว่าครูบางคนจะสอนไม่ถูก มันเป็นคนอยู่แล้ว จะทำให้เป็นคนยังไงอีก นี่สอนถูกไหมข้อนี้ ทำคนให้เป็นคน ดูมันคำพูดบ้าๆหรือว่าคำพูดที่ถูกต้อง แต่ที่แท้แล้วมันเป็นคำพูดที่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะว่า “คน” คำหลังนี่มันคนสมบูรณ์ แต่ “คน” คำแรกนี่มันไม่สมบูรณ์ แก้กองกิเลสเสียก่อนแล้วคนก็จะเป็นคน กิเลสอย่างเดียวกับที่ว่าไว้เมื่อสักครู่นี้ล่ะ แก้มันให้ออกเสียก่อนแล้วคนที่ไม่สมบูรณ์ก็จะเป็นคนที่สมบูรณ์ ใช้กีฬาเป็นเครื่องแก้ แล้วกีฬานี้ถ้าประพฤติถูกต้องตามเจตนารมณ์แล้ว เป็นธรรมะสูงสุดนะ เพราะบังคับ “ตัวกู” ไม่ให้เกิดกิเลส ไม่ให้โกรธ ไม่ให้อันธพาลในสนามกีฬา แต่เดี๋ยวนี้เหลวทั้งนั้นแหละ เล่นกีฬาเพิ่มกิเลส เดี๋ยวนี้เพิ่มกิเลสทำคนไม่ให้เป็นคน เล่นกีฬากันเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ว่าจะแก้กองกิเลสเพื่อทำคนให้เป็นคน เพราะว่าในสนามกีฬายังมีโกง มีดุร้ายเหมือนกับยักษ์กับมาร มีความเลวเต็มไปในตัวนักกีฬา เพราะว่าจะเอาแต่แพ้และชนะนี่ ไม่มุ่งว่าถูกหรือผิด ไม่มุ่งว่าเป็นนักกีฬาหรือไม่ การเล่นกีฬาแต่ก่อนนั้นเขามุ่งว่าแสดงความเป็นนักกีฬาออกมาให้เห็น ถ้ามันมีน้ำใจเป็นนักกีฬาคือถือธรรมมะเป็นหลัก ไม่เอาแต่จะชนะ เดี๋ยวนี้มันเอาแต่จะชนะ ให้ลูกบอลเข้าประตูท่าเดียวนี่ ผิดถูกไม่รู้ โกงกันซึ่งหน้าจนต้องไล่ออกอย่างนั้นก็มี มันไม่เป็นคนอย่างนี้ กีฬาเช่นนี้ทำคนให้ไม่เป็นคน เราก็ต้องเล่นชนิดที่ทำคนเป็นคน มันจึงไปเข้ารอยของพระพุทธเจ้า คือพระอริยบุคคลได้ จากความเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์ก็มาเป็นคนที่สมบูรณ์
เคยอ่านหนังสือเรื่องโสเครติสจุดคบส่องกลางวันกลางถนนในกรุงเอเธนส์บ้างไหม? ครูอาจารย์ทั้งหลายเหล่านี้ โสเครติส นักปราชญ์เอกที่โลกยังนับถือกันมาจนบัดนี้ มัน ๒,๐๐๐ ปีมาแล้วนะหมอนี่ เป็นอาจารย์ปรัชญาเป็นอะไรที่ฝรั่งเขายกย่องเขานัก โสเครติสนี่จุดคบส่องที่ถนนกลางวันแสกๆในกรุงเอเธนส์ แล้วชาวบ้านก็ถามว่า “ส่องหาอะไรคุณพ่อ?” เขาบอกว่า “ส่องหาคนโว้ย!” ส่องคบกลางวันกลางถนนหาคน แล้วประชาชนก็ถามว่า “แล้วฉันล่ะ ฉันล่ะไม่ใช่คนหรือ?” ก็ตอบไปว่า “ไม่ใช่คนที่ฉันต้องการ เธอไม่ใช่คนที่ฉันต้องการ ฉันต้องการคนที่สมบูรณ์ สมบูรณ์ตามความหมายของฉัน” นี่แปลว่า เรื่องเป็นคนหรือไม่เป็นคนนี่มันเป็นปัญหาเกิดมาแล้วตั้ง ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ถ้าสมัยโสเครติสนี่ก็สองพันกว่าปีมาแล้ว เขาสนใจว่าเป็นคนหรือไม่เป็นคนกันมาตั้งแต่ครั้งกระนั้น คือเป็นมนุษย์หรือไม่ เป็นมนุษย์หรือไม่ ถ้าเป็นคนยังไม่ใช่มนุษย์ เมื่อผู้ชายจะบวชเป็นภิกษุ เอามาทำพิธีบวชเขาถามว่า “เป็นมนุษย์ไหม?” คำถามคำแรกว่าเป็นมนุษย์ไหม ต้องยืนยันว่า “ฉันเป็นมนุษย์มีความเป็นมนุษย์” ถึงขนาดถึงความเป็นมนุษย์จึงจะให้บวช แล้วถามว่า “เป็นบุรุษไหม?” คือเป็นผู้ชายไหม เขาถามเพื่อก็ขอให้ยืนยันว่าเป็นลูกผู้ชาย มีคุณสมบัติอย่างลูกผู้ชาย ถ้าอย่างนั้นให้บวช แม้ในเรื่องทางศาสนาก็มีหลักเกณฑ์สำหรับจะบัญญัติความเป็นมนุษย์หรือไม่เป็นมนุษย์ เป็นลูกผู้ชายหรือไม่เป็นลูกผู้ชายกันอย่างดีด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นเราเกิดมายังไม่เป็นมนุษย์แต่สำหรับจะเป็นมนุษย์ เกิดมาจากท้องแม่เป็นคนไปก่อน แล้วเมื่อได้มาศึกษาเล่าเรียนถูกทาง ใจมันก็สูงขึ้นสูงขึ้น ก็เป็นมนุษย์เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น กว่าจะสมบูรณ์ตามที่กฎเกณฑ์นั้นๆเขาจะวางไว้อย่างไรว่าเป็นมนุษย์ คือเป็นคนในความหมายหลัง “แก้กองกิเลสทำคนให้เป็นคน” หรือว่าโสเครติสมาจุดไฟจุดคบเพื่อส่องหาคน คนเต็มไปทั้งเมืองก็ยังไม่ใช่คน เขาจึงไปหาคน “คน” ในความหมายนี้ก็คือมนุษย์ที่จิตใจสูง รู้อะไรเป็นอะไร ควบคุมตัวเองได้ รู้ธรรมะดีและมีธรรมะอยู่ในจิตในใจ ที่เรียกว่าคนมันก็ขึ้นมายอดสุดของความเป็นคน นี่อาตมาพูดมาตั้งชั่วโมงครึ่ง พูดเรื่องคนยังไม่จบ ขอจบเท่านี้แหละว่ามันมีธรรมะ ๔ ความหมาย ปฏิบัติความหมายที่ ๓ คือหน้าที่ ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ นี่ธรรมะทั่วไปสำหรับทุกคน
ทีนี้ที่เหลือจะพูดเรื่องคุณครู เรื่องธรรมะสำหรับครูสักนิด อย่างที่ได้บอกไว้แล้วตอนต้นว่าจะพูดเรื่องธรรมะสำหรับครู แล้วก็ไม่ค่อยมีใครชอบหรอก อาตมาพูดหลายหนจนเขาเกลียดน้ำหน้าแล้ว เพราะว่าที่พูดนั้นเขาไม่ชอบ เช่น พูดว่า “ครูเป็นปูชนียบุคคลไม่ใช่ลูกจ้าง” นี่เขาไม่ชอบ เพราะเขาอยากเป็นลูกจ้าง อยากจะเป็นเพียงลูกจ้าง สอนหนังสือเงินเดือนไปสถานกามารมณ์ จะบอกว่าครูนี้เป็นอาชีพที่ได้บุญ ไม่เชื่อหรือว่าครูนี้เป็นอาชีพที่ได้บุญไม่เหมือนอาชีพอื่น อาชีพอื่นมันก็ได้เงินได้ของไปตามเรื่องแล้วไม่ได้บุญ นี่เป็นครูนี่เป็นให้ถูกต้องเถิดมันเป็นอาชีพที่ได้บุญเพราะว่าทำให้คนมันดีขึ้นจะไม่ได้บุญยังไง แล้วครูนี่เป็น “ผู้สร้างโลก” ใครว่าหลับตาพูด พูดบ้าๆไปคนเดียวว่าครูผู้สร้างโลก อาจจะมีคนกำลังนึกอย่างนี้อยู่แล้วก็ได้ อาตมาพูดบ้าๆไปคนเดียวว่าครูผู้สร้างโลก ข้อนี้เราหมายความว่า โลกจะเป็นอย่างไรมันแล้วแต่คนในโลก ถ้าครูสร้างคนในโลกอย่างไรโลกนี้ก็เป็นอย่างนั้นแหละ ถ้าครูทั้งหลายสร้างเด็กๆดีคนในโลกมันก็ดี โลกนี้มันก็ดี ถ้าครูสร้างเด็กๆผิด เด็กไม่ดี เด็กเลว โตขึ้นเป็นคนในโลก โลกนี้มันก็เลว เพียงแค่นี้ยังไม่มองเห็นหรืออย่างไรว่าครูมันจะสร้างโลกให้ดีหรือให้เลวได้ ว่าโดยตรงว่าเด็กมันจะสร้างโลก แต่ว่าครูนั้นสร้างเด็กอีกทีหนึ่ง ฉะนั้นครูก็เหมือนกับว่าพระเจ้าสร้างโลก เขาไม่เอาเขาสั่นหัว มันชักจะบังคับให้เขาทำในสิ่งที่มันดีเกินไปจนเขาไม่มีโอกาสที่จะไปเลว ที่เขาไม่ต้องการเพราะอย่างนี้ เขาไม่กล้ารับปากว่าครูจะเป็นผู้สร้างโลกหรือว่าครูจะเป็นปูชนียบุคคล ๒๐, ๓๐ ปี เกือบ ๔๐ ปีมาแล้ว อาตมาไปพูดครั้งแรกที่วิทยาลัยครูสุนันทา พูดว่าครูคือผู้เปิดประตูทางวิญญาณ เป็นผู้นำทางวิญญาณ เขาว่าบ้าแล้วนี่ ครูทั้งหลายเหล่านั้นว่าอาตมาบ้าเพราะเขาไม่รู้คำว่าวิญญาณคืออะไร ดูเป็นผีสางเป็นอะไร ครูเป็นผู้นำทางวิญญาณ น้อยคนจะเข้าใจ แต่เดี๋ยวนี้เข้าใจกันมากแล้วไม่เหมือนกับเมื่อหลายสิบปีก่อน ทีนี้ถ้าเราถือตามหลักที่เขาถือกันมาแล้วในประเทศอินเดียซึ่งเป็นเจ้าของภาษานี้ ภาษาอินเดียที่มีคำว่า “ครู” แต่ในภาษาไทยเรามักจะถือว่า ครู คือคำว่าผู้หนัก ผู้มีบุญคุณ ผู้หนักต้องเคารพ แต่ต้นตอคำนี้ในภาษานั้น ครู นี่คือผู้เปิดประตู คำกริยา ครู รากศัพท์นั้นแปลว่าเปิดประตู จึงถือว่าสัตว์ทั้งหลายมนุษย์ทั้งหลายอยู่ในที่ขัง คอกที่ขัง มืดมิดสกปรกไม่มีแสงสว่าง อยู่ในคอกชนิดนั้นออกมาไม่ได้ ก็คือคอกของความโง่ของอวิชชา ของกิเลสนั่นแหละ แล้วครูก็เปิดประตูให้สัตว์เหล่านั้นออกมาสู่แสงสว่างที่สะอาด ที่สบาย คำว่าครูคือผู้เปิดประตู คอก แต่มันเป็นเรื่องทางวิญญาณ เราทำลายทำลายคอก คืออวิชชา ความโง่เสีย สัตว์มันก็ออกมาสู่แสงสว่างและเป็นสุข เหมือนกับที่ว่าเมื่อสักครู่นี้คือรู้จักทำลายกิเลสให้หมดไป และครูเหล่านี้เขามาเอาคำๆนี้ เราเอาคำๆนี้มาใช้เรื่อยมา แต่ว่าลดค่าของมันต่ำลงๆๆ จากที่ว่าเปิดประตูทางวิญญาณ หรือนำทางผู้นำทางวิญญาณนี้ เหลือเพียงแต่สอนหนังสือนี่ก็พอ ที่จริงมันไม่พอสอนหนังสือนี้มันก็เรียกว่าเบื้องต้นเป็นส่วนน้อย ต้องสอนให้เขารู้จักทำมาหากินให้สูงขึ้นไป แล้วก็ต้องสอนให้คนรู้จักทำจิตไม่ให้มีกิเลส นั่นแหละสูงสุดของความเป็นครู
พระพุทธเจ้าเป็นบรมครู ใครยอมรับบ้างทั้งหมดนี้เป็นครู ใครยอมรับว่าพระพุทธเจ้าเป็นบรมครู ไม่มีใครสมัครจะเอาพระพุทธเจ้าเป็นครูยอดสุด เพราะว่าเราขึ้นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ นี่แหละมันมีอะไรมันผูกมัดอยู่ที่นี่ไม่กล้าไปรับเอาพระพุทธเจ้ามาเป็นบรมครูแล้วก็ทำตามท่าน แต่สำหรับอาตมาหรือพระสงฆ์ทั้งหลาย ไม่ ไม่ ไม่ได้ ไม่เป็นอย่างนั้น ยอมรับเอาพระพุทธเจ้าเป็นครู อาตมาก็ดี พระ เณรทั้งหลายก็ยังเรียกว่าเป็นครู เพราะว่าจะสอนอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า มันเกิดมีครูสองครูขึ้นมา ครูสังกัดพระพุทธเจ้า กับครูสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ใครจะกล้าเป็นทั้งสองอย่าง ใครจะกล้าเป็นทั้งสองอย่างนั่นแหละจะสำเร็จประโยชน์ ฉะนั้นจะถามว่าคุณมานี่ทำไม มาสวนโมกข์ทำไม มาหาอะไร มาหาเรื่องของครูชนิดไหน ถ้าไม่ใช่เรื่องของบรมครูคือพระพุทธเจ้า ทีนี้ถ้าเราทำหน้าที่เดียวกันอย่างนี้ แล้วก็เปิดประตูทางวิญญาณแล้ว ครูก็เป็นอาชีพที่ได้บุญ ครูเป็นอาชีพปูชนียบุคคล ไม่ใช่ขอทานหรือรับจ้างหรือว่าทำอย่างนั้น เราทำหน้าที่ให้คนรอดทางกายทางจิตทางวิญญาณ มันมีผลมากกว่าเงินเดือนที่เขาให้เรา เพราะนั้นเราจึงเป็นอาชีพปูชนียบุคคล ไม่ใช่อาชีพกรรมกรแบกกระสอบข้าวสาร มันได้รับผลตอบแทนเท่าที่งานแรงงานเสียนั้นไป เดี๋ยวนี้เราทำประโยชน์ให้มากกว่านั้นมากจนเขาตอบแทนไม่ไหว คิดบัญชีกันแล้วมันก็บวกฝ่ายเราก็จึงเป็นผู้ที่เป็นเจ้าหนี้ เขาเรียกว่าเป็นอาชีพปูชนียบุคคล ช่วยให้เขารอดทางวิญญาณมันได้บุญ ฉะนั้นจงยึดถือหลักรากศัพท์ภาษาว่า ครูคือผู้เปิดประตูทางวิญญาณ ให้สัตว์เขาออกมาจากคอกแห่งกิเลสและความทุกข์ บางเล่มก็บอกว่าเป็นผู้นำทางวิญญาณ คือว่าให้จิตใจมันเดินถูกทางนั่นแหละหน้าที่ของครู นี่หน้าที่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ ครูมีหน้าที่คือเปิดประตูทางวิญญาณ สอนหนังสืออย่างเดียวไม่พอต้องสอนอาชีพ สอนอาชีพอย่างเดียวไม่พอต้องสอนให้รู้ว่าเป็นคนอย่างไรจึงจะเป็นมนุษย์นั่น
กระทรวงศึกษาธิการเขาวางหลักสูตรไว้เป็นหมาหางด้วน ทั้งโลกแหละเป็นการศึกษาหมาหางด้วน สอนแต่หนังสือกับอาชีพ ทีให้สอนธรรมะว่าเป็นคนเป็นอย่างไรเขาไม่สอน เขาตัดออกไปเสีย ฝรั่งนี่ตัวนำ ฝรั่งมันนำตัดศาสนาออกไปจากการศึกษา เมื่อก่อนโน้นสักห้าหกสิบปีมาแล้วการศึกษาเรื่องศาสนามันรวมอยู่ในการศึกษาชาวบ้านนี่ เขาเพิ่งมาตัดออกเมื่อไม่นานนี้ นักการเมือง นักเศรษฐกิจเขาบอกว่า “โอ๊ย นี่มาเกะกะทำให้เสียเวลา การศึกษาต้องเพื่อเศรษฐกิจ ต้องเพื่อประชาธิปไตย ต้องเพื่อการเมือง เอาศาสนามารีๆขวางๆเกะกะ เสียเวลา ตัดออกไป” ได้ยินว่าในบางรัฐของบางประเทศนั้นมีกฎหมายห้าม ถ้าเอาเรื่องของศีลธรรมหรือศาสนามาสอนในโรงเรียนคนนั้นผิดกฎหมาย ผิดกฎหมายเพราะเอาเรื่องธรรมะมาสอนในโรงเรียน ฉะนั้นการศึกษาธรรมะจึงถูกตัดออกไปเสียจากการศึกษาทั่วไป เหลืออยู่แต่หนังสืออักษรศาสตร์กับวิชาชีพคือศิลปศาสตร์ ส่วนธรรมศาสตร์ไม่มีเพราะเขาตัดออกไปเสียแล้ว ทีนี้เราประเทศไทยเดินตามก้นเขา ประเทศเล็กๆนี้เดินตามก้นเขา เป็นหมาโง่ตัดหางของตัวออกตามหมากลับกลอกตัวนั้น ในหนังสือนิทานอีสป เข้าใจว่าครูหลายคนที่นี่คงไม่เคยอ่านเรื่องนี้เพราะเขายกเลิกหนังสือเล่มนั้นเสียแล้ว สมัยอาตมายังมี เรื่องหมาหางด้วน คือ หมาตัวหนึ่งมันเป็นติดกับเหล็กฟันคมหางขาด มันก็มาหาทางออกบอกหมาทั้งหลายว่า “หางด้วนดีกว่า” หางด้วนดีกว่า อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น พูดไปว่าหางด้วนดีกว่า ไอ้หมาโง่ๆทั้งหลายก็พลอยตัดหางตามหมาตัวนั้น จนหมาแก่ตัวหนึ่งมันรู้ทันมันบอกว่า "ไม่เอาหรอก ไม่ดี กูไม่เอากับมึงหรอก" มันไม่ยอมตัด นี่แหละหมาที่เผอิญหางมันด้วนอย่างนี้มันไปหลอกให้คนอื่นตัด ขออภัยพูดตรงๆว่า พวกฝรั่งที่มันหางด้วนเพราะวัตถุนิยมกัดเอานั้น โลกสมัยวัตถุนิยมเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนังนั่นแหละมันกัดเอาหางด้วน คือทิ้งศาสนาไปเลยเอาศาสนาออกไปเลยนี่ ไอ้กับที่คมนี่คือลัทธิวัตถุนิยมสมัยใหม่ทางเนื้อทางหนังนี่ มันงับเอาหางด้วน ทีนี้ไทยเราเดินตามก้นเขาก็เลยตัดหางด้วย เอาการศึกษาธรรมะออกไปเสียจากการศึกษา
ฉะนั้นก็น่าเห็นอกเห็นใจครูเหมือนกันแหละ อาตมาก็ไม่ได้ติเตียนครูหรอกเพราะว่าครูไม่มีอำนาจที่จะทำถ้ารัฐบาลเขาไม่ต้องการ ทีนี้รัฐบาลทั้งโลกไม่ต้องการให้มีธรรมะหรือศาสนาอยู่ในระบบการศึกษาสามัญ อย่างที่พูดแล้วว่าบางรัฐในบางประเทศนั้นผิดกฎหมายถ้านำศาสนามาสอนในโรงเรียน นี่เราไปตามก้นเขาศาสนาก็ถูกกำจัดออกไป กำจัดออกไป กำจัดออกไป จนหมด จนเหลือน้อย จนเหลือแต่พิธีรีตอง หรือว่าเหลือแต่คำพูดที่ให้เด็กจดไว้ในสมุด ศาสนาคือข้อความที่เด็กจดไว้ในสมุด ไม่มาอยู่ที่เนื้อที่ตัวของคน นี่แหละเรียกว่าไม่มีศาสนาไม่มีธรรมะ เด็กของเราจึงเปลี่ยน เด็กสมัยอาตมาเห็นพระยกมือไหว้ เด็กสมัยนี้เห็นพระไม่รู้ไม่ชี้ แสดงอาการเหยียดๆ พูดครับพูดอะไรกับพระไม่เป็น บุ้ยใบ้พยักหน้าไม่อยากจะพูดว่าครับกับพระอันนี้ก็มี ที่นี่เด็กขับรถคนหนึ่งมันเดินท่าทางหยิ่ง ทั้งๆที่เขาอยากจะรู้ว่าต้นไม้นี้ชื่ออะไร เขาก็ยังถามอย่างหยิ่ง ถามอย่างสะบัดหน้า มีคนมาเล่าให้ฟังว่า เด็กหญิงก็พูดคะไม่เป็น เด็กชายก็พูดครับไม่เป็น แล้วก็ได้แต่พยักหน้าส่ายหน้าไปตามเรื่องของคนที่ไม่อยากจะแสดงความเคารพด้วยกิริยา วาจา หรือด้วยคำพูด นี่คือโทษของการที่ตัดธรรมะ ตัดศาสนาออกไปเสียจากสามัญศึกษา ก็ยากที่จะเรียกกลับมาในเวลาอันรวดเร็ว เพราะมันค่อยๆถูกลบออกไป ลบออกไป กินเวลายาวนานมากที่จะเรียกกลับมาในเวลาอันสั้นนี่ทำยาก แต่อาตมาเห็นความจำเป็นว่าธรรมะหรือศีลธรรมนี่ต้องกลับมาไม่อย่างนั้นมนุษย์จะไม่เป็นมนุษย์ จะลดลงไปเป็นคน คน คน และคนที่เลวที่สุด รู้แต่หนังสือกับอาชีพ ไม่รู้ว่าจะเป็นมนุษย์กันอย่างไร
อยากจะบอกให้ทราบว่าอาตมาพูดไปออกวิทยุประเทศไทย วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ ๓ ของทุกเดือนถ้าว่าไม่รังเกียจละก็ ช่วยเปิดฟังกันบ้าง วันอาทิตย์ของสัปดาห์ที่ ๓ ของทุกเดือน พูดมา ๓๑ ครั้งแล้ว เรื่อง “ศีลธรรมกลับมาไม่ฉะนั้นโลกาจะวินาศ” จนเขาเหมาว่าเป็นคนบ้า พูดไปคนเดียวเรื่องศีลธรรมกลับมามิฉะนั้นโลกาจะวินาศ พูดมา ๓๑ ครั้งแล้ว เพื่อให้ศีลธรรมกลับมา ถ้าเขายังให้พูดอยู่อีกก็พูดข้อนี้แหละศีลธรรมกลับมามิฉะนั้นโลกาจะวินาศ อีกกี่ ๑๐๐ ครั้งก็ตามใจ ถ้ายังมีโอกาสได้พูด พูดเรื่องอื่นไม่เป็น ไม่จำเป็นจะต้องพูดด้วย เรื่องจำเป็นที่สุดของมนุษย์เราเวลานี้ก็คือ ธรรมะกลับมา ศาสนากลับมา พระเป็นเจ้ากลับมา แล้วแต่จะถือศาสนาไหน จะเป็นพุทธศาสนาก็ธรรมะกลับมา ศีลธรรมกลับมา ถ้าเป็นคริสเตียน เป็นอิสลามก็พระเป็นเจ้ากลับมา ศาสนากลับมา ไม่อย่างนั้นโลกาจะวินาศ
ก็เห็นอยู่ว่าพวกครูบาอาจารย์ทั้งหลายนี้จะช่วยทำให้กลับมาได้เร็ว ถ้าว่ามันไม่มีในหลักสูตรก็ทำเอาบุญบ้างสิ อ้างว่าส่วนหนึ่งฉันเป็นครูสังกัดอยู่กับพระพุทธเจ้า แล้วก็ทำหน้าที่อันนี้บ้าง ช่วยกันทำให้ศีลธรรมกลับมา มันจะเร็วขึ้น ได้ยินเขาพูดกันว่ากระทรวงศึกษาฯ เขาจะปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาใหม่ให้มันมีศีลธรรมมีอะไรมากขึ้น ถ้าทำได้ก็ดี ก็ขอให้มีศีลธรรมกลับมาได้จริงๆ อย่าเพียงแต่ให้เด็กจดไว้ในสมุด ช่วยอบรมเขาให้เขารักผู้อื่นแล้วก็ไม่ขาดศีลข้อไหนหมด ให้เขาบังคับกิเลส ก็ทำชั่วไม่ได้ ให้เขาปฏิบัติธรรมะว่าเป็นหน้าที่ เขาก็จะมีธรรมะ ธรรมะก็จะเต็มไปหมด
หัวข้อ ๓ หัวข้อนี้ขอฝากครูบาอาจารย์ทั้งหลายไปด้วย ไปช่วยอบรมเด็ก ข้อ ๑ ให้รักผู้อื่น ๓ พยางค์พอ รัก-ผู้-อื่น พอรักผู้อื่นแล้วฆ่าใครก็ไม่ได้ ขโมยใครก็ไม่ได้ ล่วงทางเพศใครก็ไม่ได้ โกหกใครก็ไม่ได้ ดื่มน้ำเมาให้คนอื่นรำคาญก็ไม่ได้ นี่คำเดียวมันลากศีลทั้งหมดมา เพียง ๓ พยางค์ว่า รักผู้อื่น มันจะลากศีล ลากเอาข้อปฏิบัติดีๆทั้งหลายมาสู่มนุษย์ในทางสังคม ไม่มีภัยไม่มีอันตราย ข้อที่ ๒ ว่า บังคับตน ๓ พยางค์อีกแหละ บัง-คับ-ตน ๓ พยางค์ บังคับตนในที่นี้คือบังคับกิเลส บังคับความรู้สึกชั้นต่ำ ความรู้สึกเลวๆ เขาก็ทำผิดไม่ได้ ทำชั่วไม่ได้ มีแต่จะทำดี ทำสูงขึ้นไป ไม่มีปัญหาอะไรในสังคมถ้าทุกคนบังคับกิเลส ไม่มีข่มขืนแล้วฆ่าอีกต่อไปถ้าทุกคนมันบังคับกิเลส ทีนี้ข้อสุดท้ายว่า การงานคือการปฏิบัติธรรม หน้าที่ คือการปฏิบัติธรรม ทุกคนทำหน้าที่จนมีธรรมะมาก จนพอใจตัวเอง จนมีความสุข จนยกมือไหว้ตัวเองได้ วัดผลด้วยการยกมือไหว้ตัวเองได้นะข้อนี้นะ หน้าที่คือการปฏิบัติธรรมนี่ ต่อเมื่อยกมือไหว้ตัวเองได้นี่จึงจะเรียกว่าปฏิบัติสมบูรณ์แล้ว พอนึกแล้วขยะแขยงไหว้ตัวเองไม่ลงนี่ อย่าเพิ่ง ยังไม่ถึงขนาดที่ว่าการงานคือการปฏิบัติธรรม เมื่อเขาพอใจในหน้าที่ ทำหน้าที่ก็หมดปัญหา ไม่มีใครยากจน ไม่มีใครเป็นอันตรายแก่ใคร ทุกคนร่ำรวยเพราะเขาทำหน้าที่ มีกินมีใช้ไม่ต้องจี้ ไม่ต้องปล้น ไม่ต้องขโมยเหมือนที่เต็มไปในหน้าหนังสือพิมพ์ เพราะมันไม่ทำหน้าที่ คือไม่ทำงานในฐานะเป็นการปฏิบัติธรรม ถ้าประชาชนของเรา มีธรรมะในหน้าที่ ในการงานแล้ว ประเทศชาติก็ไม่ขาดดุลการค้า และจะเป็นเจ้าหนี้ดุลการค้าทั่วโลกไปเสียอีก แต่นี้มันขี้เกียจทำงาน ทุกคนยังขี้เกียจทำงาน ไม่ต้องทำงานแล้วก็ดี ทำงานนิดๆได้เงินเดือนมากๆแล้วก็ดี นี่คือขี้เกียจทำงานนั่นเอง ฉะนั้นอย่าเพิ่งไปนึกถึงเงินเดือนมากเงินเดือนน้อย ทำงานหน้าที่ถูกต้องให้สุดเหวี่ยงก็แล้วกัน ขอฝากไว้ ๓ ข้อ “รักผู้อื่น บังคับตน ทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม” ทำงานเพื่องาน อย่าทำงานเพื่อเงิน คำขวัญนั้นลบทิ้งไปเสีย งานเพื่อเงินนะลบทิ้งเสีย งานเพื่องานกันดีกว่า งานเพื่อหน้าที่ งานเพื่อธรรมะ จะแก้ปัญหาในโลกนี้ได้
เอาล่ะเป็นอันว่าอาตมาได้ตอบสนองความประสงค์แล้ว คือการแสดงธรรมะที่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่คนทั่วไปตามธรรมชาติ และที่เป็นประโยชน์แก่ครูโดยเฉพาะ เรามีเวลาเท่านี้มันก็ทำได้เท่านี้ เมื่อมีเวลาน้อยอย่างนี้ก็พูดกันได้แต่หัวข้อ หัวข้อสำคัญๆ ในรายละเอียดนี่ไม่มีโอกาสจะพูด ก็ไปศึกษาหาเอาเองได้ หนังสือหนังหาตำรับตำราเดี๋ยวนี้มันมากนัก ไปหาเอาได้ในรายละเอียด แต่โดยหัวข้อหรือความลับที่ลึกลับมันมีอยู่เพียงเท่านี้ ถ้าเราเข้าถึงใจความสำคัญของมันแล้ว เปิดเผยแล้ว เราก็จะดำเนินไปได้เองและถูกต้อง
อาตมาขอแสดงความยินดีในการมาของครูบาอาจารย์ทั้งหลายอีกครั้งหนึ่ง และก็สนองของความประสงค์ของท่านทั้งหลายเท่าที่จะสนองได้ ฉะนั้นขอให้เอาไปคิดไปนึกใคร่ครวญดู ถ้าเห็นว่ามันมีเหตุผล มันมีประโยชน์ ปฏิบัติตามแล้วมีประโยชน์ ก็ขอร้องให้ช่วยกันอย่างเต็มความสามารถเพื่อทำอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นขออวยพรโดยที่ไม่ต้องให้พรให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายทุกคน มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ในความเป็นมนุษย์ ในการมีความสุข ที่เรียกให้พรโดยที่ไม่ต้องให้พร อวยพรโดยที่ไม่ต้องให้พรเพราะว่า ถ้าทำดีแล้วมันก็เป็นพรของมันอยู่ในตัว ไม่ต้องมีใครมาให้ แต่ที่เขาให้ตามธรรมเนียมนะ พรแปลว่าดี ดีแปลว่าพร เมื่อทำดีแล้วก็มีพรโดยไม่ต้องมีใครมาให้ นี่ก็ได้แต่ยุกันบ้าง ยุให้ทำดี ถ้าดีก็เป็นพร พรก็คือดี เพราะฉะนั้นก็คงจะมีพรสำหรับมีความสุขความเจริญ ก้าวหน้าในหน้าที่การงานหรือชีวิตอยู่ทุกทิพาราตรี ขอยุติการบรรยายไว้แต่เพียงเท่านี้.