แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ที่มาจากวิทยาลัยครูนครสวรรค์ อาตมาสนองความต้องการของท่านด้วยการบรรยายตามที่ท่านขอร้องเรื่องเกี่ยวกับปรัชญาและศาสนา เจาะลงไปในเรื่องที่เรียกกันว่าจริยศึกษา เพราะว่าท่านทั้งหลายเรียกตัวเองว่าครูจริยศึกษา อาตมาได้อ่านหนังสือที่แจ้งความประสงค์ของท่านทั้งหลายแล้ว รู้สึกว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจที่จะต้องทำความเข้าใจกันบางอย่าง เกี่ยวกับคำที่ใช้พูดจาจากหนังสือนี้ อาตมาสังเกตเห็นว่าเราใช้คำไม่ตรงกัน แม้ใช้คำ ๆ เดียวกันแต่ใช้ความหมายต่างกัน เช่นคำว่าศาสนา คำว่าปรัชญา คำว่าจริยศึกษา คำว่าจริยธรรม คำว่าจริยศาสตร์ เป็นต้น คงจะเป็นการลำบากที่จะพูดกันโดยที่ว่า คนหนึ่งถือเอาความหมายอย่างหนึ่งอีกคนหนึ่งถือความหมายอย่างหนึ่ง ในคำ ๆ เดียวกันนั้น อาตมาจึงเห็นว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าที่เราจะทำความเข้าใจ เรื่องคำนี่ให้ตรงกันเสียก่อน อาตมาก็ต้องขอพูดไปตามที่ตัวเองรู้อยู่เข้าใจอยู่หรือใช้พูดอยู่ แล้วก็จะให้ท่านทั้งหลายได้เปรียบเทียบเอาเองว่ามันต่างกันอย่างไร แล้วจะไปเรียกชื่อกันเสียใหม่อย่างไร แล้วมันยังเกี่ยวเนื่องไปถึงคำที่เป็นสากลที่เขาใช้กันอยู่ในหมู่ชนต่างชาติต่างประเทศ นั่นขอให้ท่านทั้งหลายคอยฟังให้ดีก็แล้วกัน คืออาตมาจะพูดถึงเนื้อถึงตัวถึงเนื้อของมันเป็นหลักสำคัญ ไม่เอาตามคำที่เรียกไม่เอาตามชื่อที่เรียกกันอยู่ เพราะว่ามันยังไม่ตรงกัน เช่นคำว่าจริยศึกษา จริยธรรม จริยศาสตร์นี่ เห็นพูดกันต่างๆกัน ขัดกันในภายในประเทศเราก็มี แล้วขัดกันกับคำหรือความหมายที่เข้าใช้กันอยู่ในชาวต่างประเทศก็มี เอาละเป็นอันว่าเราถือว่าเราจะพูดกันถึงเรื่องปรัชญาและศาสนาเป็นหัวข้อใหญ่ สิ่งแรกที่สุดก็คือคำว่าปรัชญานั่นเอง มีความหมายที่ยึดถือไว้ใช้ต่างกันมาก และก็เป็นคำที่กำลังตื่นกันมาก ขออภัยใช้คำหยาบคายว่ามันเห่อกันมาก สำหรับคำว่าปรัชญา เช่นเดียวกับว่าทั้งโลกมันเห่อคำว่า philosophy ซึ่งเราเอามาแปลเป็นภาษาไทยว่าปรัชญา คนนอกประเทศชาวต่างประเทศเห่อคำว่า philosophy เช่นเดียวกับเราที่เมืองไทยเห่อคำว่าปรัชญา แล้วเอามาใช้ให้เป็นคำแปลของกันและกัน อันนี้เป็นจุด ตั้งต้นของความยากลำบาก เพราะว่าเราไปเอาคำสัณสกฤตว่าปรัชญานี่ไปใช้กับคำว่า philosophy ของฝรั่ง ซึ่งความหมายมันไม่ตรงกันเลย เมื่อแรกใช้ขึ้นมาในประเทศไทยเคยใช้ว่าปรัชญาให้เป็นคำแปลของคำว่า philosophy นี้ก็เขียนโต้แย้งกันตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่หลายเดือนทีเดียว แต่ในที่สุดก็ต้องยอมใช้ทั้งที่ไม่เหมือนไม่ตรง เพราะมันได้ยอมใช้กันมาเรื่อย ๆ จนมันจะเป็นภาษาที่เรายอมรับเสียแล้ว ปรัชญาคำนี้มันคือคำว่าปัญญาในภาษาบาลี แปลว่ารู้แจ้ง แทงตลอด ถูกต้องถึงที่สุดไม่มีปัญหาอีกต่อไป สำหรับคำว่าปรัชญา ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตตรงกับคำว่าปัญญา แต่ที่นี่คำว่า philosophy นั้น มันหมายถึงสิ่งที่ยังไม่ได้รู้แจ้ง ยังกำลังอยากจะรู้อย่างยิ่ง หรือควรรู้อย่างยิ่งว่ามันเป็นอย่างไร มันไม่มีความแจ่มแจ้งเด็ดขาดในคำว่า philosophy แล้วเอามาใช้เป็นคำเดียวกันเป็นคำแปลของกันและกัน แต่เดี๋ยวนี้มัน มันช่วยไม่ได้แล้ว มันใช้อย่างนี้เสียแล้ว เราก็เอาละเป็นอันว่าถ้าพูดถึงปรัชญาก็อย่าถือของความหมายตามภาษาสันสกฤต คำว่าปรัชญาที่เป็นภาษาสันสกฤตนี้ ให้ไปถือเอาความหมายตามภาษาฝรั่งที่ว่า philosophy นี้ต้องทำความตกลงกันอย่างนี้ก่อนว่า คำว่าปรัชญานั้นมีความหมายเป็น philosophy
ที่นี้ท่านมีหัวข้อว่าศาสนาและปรัชญาหรือปรัชญาและศาสนา นี่ก็เกิดเป็นปัญหากันมาอีก ปรัชญานั่นมันคืออะไรกันแน่ วิธีการอย่างไร ที่จริงมันไม่ได้เป็นเรื่องอะไรเด็ดขาดลงไป แต่มันเป็นวิธีการอันหนึ่งที่จะหาความรู้ที่เด็ดขาด แก่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้าอยากจะรู้จากตัวแท้ของคำว่าปรัชญา เราต้องเอาไปเทียบกันกับคำว่าวิทยาศาสตร์หรือ science วิทยาศาสตร์แล้วมาเทียบคำว่า philosophy คำนี้เป็นคู่ๆปรับกันมา เป็นคู่แข่งคู่เคียงกันมา วิทยาศาสตร์นั้นหมายความว่าไม่ต้องอาศัยการคำนวณ เพราะว่าเราเอาของจริงมาแยกแยะดูอยู่ตรงหน้าไม่ต้องใช้การคำนวณอย่างวิทยาศาสตร์เคมี ฟิสิกส์อะไรก็ตาม ไม่ต้องเอาสิ่งใดมาสมมุติ โดยไม่ต้องมีตัวจริงว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตัวจริงมาแยกมาดูอยางนี้เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าว่าสมมุติอะไรขึ้นมาซึ่งไม่ได้มีตัวจริง สมมุติหลักสมมุติคติ อุดมคติอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีตัวจริงแล้วก็ใช้การคำนวณด้วยเหตุผลแวดล้อมว่าไอ้ตัวจริงของเรื่องนี้จะต้องเป็นอย่างนี้ ใช้เหตุผลโดยวิธีต่างๆ จนจะให้สรุปลงไปว่าไอ้ความจริงตัวจริงของเรื่องนี้ต้องเป็นอย่างนี้ เขาเรียกว่าการคำนวณ speculation วิทยาศาสตร์ไม่มีคำนวณไม่มีการใช้เหตุผลคำนวณ เพราะมันใช้ของจริงเห็นอยู่ตรงหน้าไม่ต้องคำนวณ ถ้าทำกันอย่างนี้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าสมมุติขึ้นเรียกว่า hypothesis สมมุติอะไรขึ้นมาอันหนึ่งเหตุผลแวดล้อมว่าเรื่องนี้ต้องเป็นอย่างนี้ จนในที่สุดยอดรับกันว่าอย่างนี้ อย่างนี้เป็นปรัชญา นั้นจะพูดให้เป็นอุปมาจำง่าย ๆ ก็ว่าวิทยาศาสตร์นั้นต้องทำอย่างลืมตา ปรัชญาต้องทำอย่างหลับตา เพราะว่ามันคำนวณ ส่วนวิทยาศาสตร์นี้ไม่ต้องคำนวณ ลืมตาแล้วก็เห็นอยู่ มันต่างกันอย่างนี้
ทีนี้พุทธศาสนาโดยเนื้อแท้เราถือเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องการให้ใช้คำนวณอย่างปรัชญาคือตัวพุทธศาสนาแท้ๆ มีลักษณะเป็นวิทยศาสตร์ แต่ถ้าเราต้องการจะให้เป็นปรัชญาก็ได้เหมือนกันช่วยจำให้ดี เนื้อแท้มันมีลักษณะเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์แต่จะให้เป็นปรัญชาก็ได้เหมือนกัน ที่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์นั้นเป็นอย่างไร พุทธศาสนาไม่ต้องเอ่อต้องไม่หลับตาแล้วก็ทำให้ตาดีที่สุด เช่นทำให้เป็นสมาธิเสียก่อนแล้วมีตาดีที่สุดแล้วก็มองดูลงไปเรียกว่าวิปัสสนา คือตามันมองลงไปที่สิ่งนั้นมองลงไปที่สังขารมองลงไปที่อารมณ์ มองลงไปสิ่งที่จะต้องมองไม่ใช่มองด้วยตานี้ มองลงไปด้วยตาในตาใจตาปัญญา แต่ต้องมีอาการเหมือนเห็นตัวจริง เช่นว่าความสุข สุขเวทนาเกิดอยู่ก็ต้องอยู่จริงต้องรู้สึกอยู่จริง ทุกขเวทนาเกิดอยู่ก็ต้องรู้สึกอยู่จริงไม่ใช่เป็นการคำนวณ เพราะเราจะต้องแยกแยะดูลงไปที่สิ่งนั้น เช่นทุขเวทนาเป็นอย่างไรต้องรู้สึกอยู่จริงแล้วก็ต้องทำให้รู้สึกอยู่จริงต่อๆๆๆไปว่ามันเกิดขึ้นมาอย่างไรจะดับมันได้อย่างไร นี่เป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เรื่องอริยสัจทั้ง ๔ นี่ก็คุ้น ๆ กันดู ทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ ต้องเห็นอย่างชัดๆ และรู้สึก เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ ก็รู้สึกชัด ความไม่มีแห่งทุกข์เป็นอยางนี้ๆ ทางไม่มีแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้ ๆ มันเป็นลักษณะวิทยาศาสตร์ เรื่องปฏิจจสมุปบาท นั้นเป็นเรื่องเดียวกันกับอริยสัจ ๔ ถ้าแยกซอยให้ละเอียดลงไปมันยิ่งเป็นวิทยาศาสตร์ที่ละเอียดออกไป ถ้าว่าเป็นเรื่องไตรลักษณ์
ให้เห็นว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ต้องเห็นด้วยความรู้สึกว่ามันไม่เที่ยงจริง ๆ เพราะว่าเช่นว่าความทุกข์รู้สึกอยู่จริง ๆ และก็สังเกตรู้สึกอยู่จริงๆ ว่ามันไม่เที่ยงจริงหรือว่ามันเป็นของไม่เที่ยงสังขารไม่เที่ยงก็ต้องมีสังขาร อันใดอันหนึ่งมา รู้สึกหรือดูอยู่จริงๆ ก็เลยเห็นว่าเป็นไม่เที่ยงจริงๆ แม้ที่สุดอนัตตาซึ่งเห็นยาก ก็ต้องเห็นจริงเป็นว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ก็เห็นว่ามันเอาเป็นตัวตนไม่ได้โว้ยรู้สึกจริงๆไม่ต้องคำนวณ อย่างนี้พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ หากแต่ว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตใจเสียมากกว่าวิทยาศาสตร์ทางวัตถุ และถึงแม้มันจะเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตใจมันก็ไม่ใช่การคำนวณ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าวิปัสสนานั้นไม่เกี่ยวกับการคำนวณ ถ้าคำนวณไม่เป็นวิปัสสนาแต่เขาก็ทำกันอยู่โดยมาก อย่างที่สอนในโรงเรียนนักธรรมนั้นมันเอามาเป็นปรัชญาเสีย เช่นสังขารไม่เที่ยงอย่างนี้เพราะเหตุผลมาประกอบโดยที่ไม่มีตัวสังขารมาดูมารู้สึกในใจ ครูอุตส่าห์แวดล้อมด้วยเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้ โดยสรุปความว่า อ้าว,มันไม่เที่ยงสังขารไม่เที่ยงสังขารเป็นทุกข์ สังขารเป็นอนัตตา นี่นำความคิดนี้ตามเหตุผลที่พอจะคิดได้สุรปว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาอย่างนี้ไม่เป็นพุทธศาสนา มันเป็นปรัชญา คือมันไม่ประจักษ์ลงในอย่าง สันทิฏฐิโก ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา นั้นในโรงเรียนหรือที่ไหนก็ตามที่เราที่เราเรียนเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นเรียนอย่างปรัชญาทั้งนั้น เพราะต้องเป็นไปตามคำนวณตามเหตุผลที่ใช้ อย่างนี้คุณจะเห็นได้พระพุทธศาสนาเอาไปทำเป็นปรัชญาก็ได้ ทั้งที่ตัวแท้ของพระพุทธศาสนาต้องไม่ใช่ปรัชญา คือไม่ฝากไว้กับการคำนวณ ถ้าฝากไว้กับการคำนวณมันผิดหลักกาลามสูตรที่ มา นยเหตุ มา ตกฺกเหตุ มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา เป็นต้น มันขัดกับหลักกาลามสูตร เราต้องทำกับพระพุทธศาสนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มองเห็นชัด ที่นี้เมื่อเขาไปทำเป็นปรัชญาอย่างนั้นมันก็ได้มันก็สนุกดีนะ ถ้ามาทำกันอย่างรูปแบบปรัชญาในโรงเรียนมันก็สนุกมาก นักเรียนคนนั้นก็ให้เหตุผลอย่างนี้ นักเรียนคนโน้นก็ให้เหตุผลอย่างโน้น สรุปความมาว่าสังขารไม่เที่ยงสังขารเป็นทุกข์ ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตามันก็ได้เหมือนกันยกตัวอย่างให้เห็นว่าพุทธศาสนาแท้ๆ นั้นมันเป็นวิทยาศาสตร์แต่จะมาทำกับมันอย่างเป็นปรัชญาก็ได้เหมือนกัน
ที่นี้ท่านให้หัวข้อว่าศาสนากับปรัชญา หรือปรัชญากับศาสนานี้มันผิดคู่เสียแล้วแหละ มันผิดคู่ คู่ของมันปรัชญามันคู่คู่เปรียบกันกับวิทยาศาสตร์ เพราะมันเป็นปรัชญาเป็นวิทยาศาสตร์ นี้พระพุทธศาสนาเนื้อแท้มันเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าจะเกณฑ์ให้เป็นปรัชญาก็ได้อย่างที่ว่ามา ถ้าเราศึกษาพระพุทธศาสนาหลักธรรมะด้วยการคำนวณเอาเหตุผลมาคำนวณ มาเปรียบเทียบมาโดยใช้การคำนวณอย่างนี้ก็เป็นปรัชญาได้ แต่ถ้าเป็นพระพุทธศาสนาจริงต้องไม่มีเป็นการคำนวณ ถ้าจะพูดถึงดินน้ำลมไฟก็จะต้องใม่ใช่เรื่องคำนวณ ต้องมีที่ดินที่น้ำที่ไฟที่ลมจริงๆ พูดถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพธรรมารมณ์ ก็ต้องที่นั้นจริงๆ กำลังและต้องรู้สึกอยู่จริงๆ ถ้าเราจะเอาเรื่องทุกขเวทนามาพูดกันอย่างนี้มันต้องกำลังมีทุกขเวทนาอยู่ในความรู้สึกจริงๆ ไม่ใช่เอาอดีตเอาอนาคตอะไรมาพูด ซึ่งมันมีลักษณะคำนวณและที่นี้เราคอยระวังให้ดีว่า พุทธศาสนาเราจะเรียนอย่างที่เป็นวิทยาศาสตร์หรือเป็นศาสนาก็ได้ พุทธศาสนานี้เราจะเรียนอย่างที่มันเป็นปรัชญาก็ได้ มันจึงไม่อาจจะเป็นคู่เทียบปรัชญากับพุทธศาสนาหรือพุทธปรัชญากับพุทธศาสนา ถ้าเรียนอย่างพุทธศาสนาเราก็เป็นวิทยาศาสตร์แน่ ต้องมีของจริงอยู่ในใจดูอยู่เห็นอยู่ ถ้าจะเรียนพุทธปรัชญานี้ก็ได้เหมือนกัน ไม่ต้องมีของจริงเรียนไปตามความรู้เรียนไปตามตัวหนังสือ เรียนไปตามคำสั่งสอนซึ่งตั้งอยู่บนการคำนึงคำนวณให้เหตุผลว่าต้องเป็นอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้ นี่อย่าให้มันเพี้ยนกันเสียหมดระวังนะ ถ้าเราเรียนพุทธปรัชญาต้องเรียนลงไปที่ตัวจริงสุขทุกอุเบกขารูปเสียงกลิ่นรส ไม่ว่าชื่อไหนต้องมีสิ่งนั้นอยู่จริง ๆ ถ้าเรียนเรื่องไม่เที่ยงก็ต้องเอาของที่เราจะหาความไม่เที่ยงมาดูจริงๆ ถ้าจะหาความไม่เที่ยงของก้อนหินก็ต้องดูก้อนหินกันจริงๆ ถ้าจะดูความไม่เที่ยงของเนื้อหนังร่างกายก็ดูที่เนื้อหนังร่างกายจริงๆ อย่าคำนวณเป็นอันขาด ต้องลืมตาเสมอ ที่นี้มันๆแยกกันได้แล้วว่า เราจะเรียนธรรมะอย่างวิทยาศาสตร์ก็ได้เรียนธรรมะอย่างปรัชญาก็ได้ นี้ความหมายของคำว่าปรัชญากับคำว่าวิทยาศาสตร์มันเป็นคู่เทียบกันได้ อย่าให้มันเฝือกันเสียหมดนะว่าปรัชญานี้มันต้องหลับตาเรียน วิทยาศาสตร์มันลืมตาเรียนจะตาเนื้อตาปัญญาตาอะไรก็ตามเถอะ เพราะวิทยาศาสตร์มันต้องเรียนไปบนความจริง ปรัชญามันเรียนไปบนการคำนวณ หรือสิ่งที่สมมุติขึ้นมาไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง หรือปรากฎอยู่จริงหรือเป็นตัวจริงไม่ได้ปรากฎแก่ใจ เราไปเอาเรื่องใดมาก็ได้ มาเรียนอย่างปรัชญาก็หลับตาเรียนใคร่ครวญคำนวณไป ถ้าเรียนอย่างพุทธศาสนาต้องลืมตาเรียน คำว่าวิปัสสนานั้นแปลว่าดูอย่างแจ่มแจ้งเห็นอย่างแจ่มแจ้ง ถ้าใครไปใช้คิดคำนวณแล้วเป็นวิปัสสนาแล้ว แต่เขาสอนกัน ผิด ๆ กันอย่างนี้ให้คำนวณไปพิจาณาแล้วเป็นวิปัสสนามันน่าหัวอยู่เหมือนกัน ที่เราใช้กันอยู่ทำกันอยู่มันไม่ถูกเรื่อง
ที่นี้ก็มาถึงเรื่องที่เราต้องการจะทำกันอย่างละเอียดคือเรื่องศีลธรรม นี่ศีลธรรมนี้ก็คือศาสนาในส่วนที่เบื้องต้น ศีลธรรมนี้เขามุ่งหมายประโยชน์ทางสังคมเป็นส่วนใหญ่ ถ้าพูดตามภาษาธรรมดาๆ ถ้าปรมัตถธรรมก็จะพูดถึงเรื่องลึกที่จะไปนิพพาน ถ้าใช้คำว่าศีลธรรมก็คือเรื่องที่อยู่กันในโลกนี้อย่างเป็นสุขของสังคม จึงเกิดมีพระพุทธศาสนาระบบศีลธรรมขึ้น พุทธศาสนาระบบปรมัตถธรรมขึ้น ซึ่งเข้าใจว่าท่านคงไม่ต้องเข้าใจถึงระบบปรมัตถธรรม ต้องการจะให้พูดแต่ในระบบศีลธรรม เราจึงตัดระบบปรมัตถธรรมออกไปเสียก็ได้ จึงจะไม่พูดกันที่นี้ ในเรื่องมรรค ผล นิพพานจะไม่พูดกัน ที่นี้ จะพูดถึงแต่เรื่องศีลธรรมในพระพุทธศาสนา อ้าว,เมื่อยกศีลธรรมขึ้นมา คำๆว่าศีลธรรมขึ้นมา มันก็มีหลักการอย่างเดียวกันอีกมีโครงการอย่างเดียวกันจะเรียนมันอย่างวิทยาศาสตร์หรือจะเรียนมันอย่างปรัชญา นี่ถ้าเรียนอย่างวิทยาศาสตร์ ศีลธรรมมันก็ต้องเรียนลงไปที่ว่ามันให้ทำอย่างนั้น ถ้าเรียนอย่างปรัชญาก็จะเรียนอย่างทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น นี่เป็นเพียงแยกที่ชัดมาก ถ้าจะเรียนอย่างเป็นธรรมะจริง เป็นวิทยาศาตร์นี่จะมีคำถามว่าอย่างไรๆ ถ้าจะเรียนอย่างปรัชญามันจะมีคำถามว่าทำไม ศีลธรรมนี่มันพูดกันอย่างไร ถ้าปรัชญาของศีลธรรมจะพูดคำว่าทำไม นั้นศีลธรรมที่สมบูรณ์จะต้องบอกทั้งที่เป็นตัวศาสนาและเป็นตัวปรัชญา ถ้าเราบอกเขาว่าอย่าฆ่าสัตว์อย่างนั้นๆ อย่างนี้มันก็เป็นศาสนาหรือเป็นศีลธรรม แต่ถ้าบอกว่าทำไมจึงไม่ต้องจึงต้องไม่ฆ่าสัตว์เสียอย่างยืดยาวอย่างนี้ก็เป็นปรัชญาของศีลธรรม นี่พวกครูบาอาจารย์ได้ใช้คำ ๒ คำนี้ปนกันอย่างไรตรงกันหรือไม่ ทุกแห่งทุกโรงเรียนในประเทศไทยคือคำว่าศีลธรรมกับคำว่าปรัชญาของศีลธรรม ศีลธรรมคือตัวบททางศาสนา บอกว่าอย่างนี้ๆๆ ต้องทำอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เขาชอบปรัชญากัน เอาปรัชญาเขามาแฝดกันไว้ด้วย มันก็เลยกลายเป็นว่าทำไมต้องทำอยางนี้ๆ จีงเรียกว่าปรัชญาของศิลธรรม ที่บอกเป็นศีลธรรมต้องทำอย่างนี้ๆ เขาเรียกว่าศีลธรรม พวกฝรั่งเรียก moral หรือ morality ที่บอกว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ พวกฝรั่งเขาเรียก ethic ไม่ใช่คำเดียวกัน ethic คือปรัชญาของศีลธรรม ประมวลของศีลธรรมมีอย่างนี้ๆ มันเป็นเรื่องทางศาสนา มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์เพราะทำอย่างไร เพราะตั้งปัญหาทำไมถึงทำอย่างนี้ก็เป็นปรัชญา เป็นปรัชญาของศีลธรรม จงแยกกันให้ดีว่าศิลธรรมคือ morality ปรัชญาของศีลธรรมคือ ethic ที่นี้พอครูบาอาจารย์ใช้คำไหนในภาษาไทย อาตมาได้ยินคนโน้นพูดอย่างคนนี้พูดอย่างแต่พอจะสรุปได้ว่าโดยมากนั้นถือว่าคำว่าจริยธรรมนั้นแหละคือศีลธรรม คำว่าจริยศาสตร์นั้นคือปรัชญาของศีลธรรม ทั้งจริยธรรมและทั้งจริยศาสตร์เรารวมเรียกว่าจริยศึกษา ถ้าเราจะศึกษาเรื่องจริยาคือศีลธรรม เราต้องศึกษาทั้งในแง่จริยธรรมคือศีลธรรม และศึกษาทั้งในแง่ปรัชญาคือจริยศาสตร์ นี้ครูที่นั่งอยู่นี้ช่วยทบทวนดูก่อนว่าเราใช้ตรงกันหรือไม่ อาตมากำลังบอกว่าถ้าเราจะศึกษาศีลธรรมนี้เราใช้คำว่าจริยศึกษาจะศึกษาเรื่องจริยะ ต้องแยกออกเป็น ๒ อย่าง คือศึกษาในฐานะจริยธรรมคือศิลธรรม และจะศึกษาจะเป็นปรัชญาคือจริยศาสตร์ ถ้าเป็นอย่างนี้คำว่าจริยธรรม มันก็ตรงกับคำว่า morality คำว่าปรัชญาของศีลธรรมก็ตรงกับคำว่า ethic หรือตรงกันคำว่าจริยศาสตร์ จริยธรรมคือศีลธรรม จริยศาสตร์คือปรัชญาของศีลธรรม จริยธรรมคือ morality จริยศาสตร์คือ ethic ถ้าเราใช้คำตรงกันอย่างนี้คงจะไม่ยาก ถ้าเราจะใช้คำๆเดียวกันแต่ความหมายคนละอย่างแล้วคงจะเวียนหัว พูดกันไม่รู้เรื่องแน่ เอาโครงๆใหญ่ก็ว่า เอาโครงเค้าโครงใหญ่จะเรียน ระบบนี้จะเรียกจริยศึกษา นี้ก็แยกออกไปเป็นจริยธรรม morality กับปรัชญาของศีลธรรมคือ ethic ethic ควรจะใช้คำว่าจริยศาสตร์เหมือนที่เขาใช้กันโดยมาก morality ก็ใช้คำว่าศีลธรรมถึงเขาใช้กันโดยมากไม่ต้องใช้คำว่าจริยศึกษา อาตมาขอแยกเป็นว่าเรื่องตัวศีลธรรมโดยตรงกับเรื่องปรัชญาของศีลธรรมด้วยเป็น ๒ เรื่อง
นี้จะยกตัวอย่างเพื่อให้มันเข้าใจคำนี้ชัดขึ้น เช่นตัวเอาตัวศีล ๕ ดีกว่านะ ซึ่งมันแพร่หลายอยู่ทั่วไป ศีล ๕ ไม่ฆ่าสัตว์เป็นบทบัญญัติลงมาตายตัวเข้าใจได้ทันที่ อย่างนี้คือตัวศีลธรรม ถ้าเราอธิบายอีกทางหนึ่งว่าทำไมเราจึงต้องไม่ฆ่าสัตว์ ทำไมเราจึงไม่ควรจะฆ่าสัตว์ เราจะไม่ฆ่าสัตว์ได้อย่างไรยืดยาวนี่คือปรัชญาของศีลธรรม นั้นจะเรื่อง ปาณาติปาตา อทินนาทานา กาเมสุมิจฉาจารา เราต้องให้เขาเป็นคู่ เป็นคู่ไปเสมอ เด็ก ๆ จึงจะเข้าใจและปฏิบัติได้ เดี๋ยวนี้ความผิดพลาดของเราอยู่ที่ว่าเราบอกแต่ศีลธรรมว่าจงทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราไม่ได้บอกทำไม่จึงไม่ต้องทำอย่างนั้น จึงต้องไม่ทำอย่างนั้น เช่นบอกว่าอย่าฆ่าสัตว์แต่เราไม่ค่อยได้บอกว่า ทำไมจึงอย่าฆ่าสัตว์ ทำไมจึงไม่ควรฆ่าสัตว์ นั้นขอให้ไปทบทวนดูเถอะที่เราๆ พูด เราต้องสอนกันอยู่มันขาดอยู่ในส่วนที่จะต้องบอกว่าทำไมจึงไม่ทำอย่างนั้น แต่ถ้าเราบอกเตลิดเปิดเปิงไปไม่รู้จบมันก็เป็นปรัชญาไม่รู้จบ ซึ่งจะเพ้อเจ้อและเวียนหัวเปล่าๆ เหมือนกัน นี้ต้องบอกในขอบเขตที่จำกัดพอเข้าใจได้ เช่นจะบอกให้เด็กๆ เล็กๆ ว่าเธอต้องรักแม่ต้องเคารพบิดามารดา รักพ่อเคารพพ่อแม่นี้ แต่เราก็ไม่ต้องทำไมจึงต้องทำอย่างนั้นก็ไม่สำเร็จ เด็กๆ มันไม่มีความรู้สึกว่าทำไมเราจะต้องรักพ่อแม่ หรือเรารักพ่อแม่แล้วจะดีอย่างไร นี้เราไม่ค่อยได้บอกหรือไม่บอกกันเสียเลยบอกให้รักพ่อแม่ให้เคารพครูบาอาจารย์ ให้ประพฤติดีให้ทำดีแต่ไม่เคยบอกเลยว่าทำไมจึงจำเป็นที่สุดที่จะต้องทำดี เราจะสอนจริยศึกษาเราต้องให้เขาไปทั้งคู่ คือทั้งศีลทั้งๆจริยธรรมหรือศีลธรรมว่าทำอย่างนั้นๆ ทั้งจริยศาสตร์หรือปรัชญาของศีลธรรมว่าเพราะเหตุอย่างนี้ๆ เราจึงต้องทำอย่างนั้นๆ ให้มันครบเสีย เรื่องมันคงจะน้อยๆเข้า จริยศึกษาแยกออกเป็นศีลธรรมนี้คือตัวศาสนา ให้แยกเป็นจริยศาสตร์คือตัวปรัชญาของศาสนา ในหนังสือของคุณที่ให้มานี้ว่าจะๆศึกษาเรื่องปรัชญาและศาสนา ลำดับคำมันก็ไม่ตรงกันกับตัวเรื่องจริง ไปปรับกันเสียใหม่ว่า จริยศึกษาพูดเรื่องศีลธรรมนี่เป็นตัวศาสนา แล้วจะพูดเรื่องจริยศาสตร์ว่าทำไมจึงต้องมีศีลธรรมข้อนี้อย่างนี้มันเป็นปรัชญา ขอให้ไปปรับปรุงวีธีเรียนวีธีสอนกันเสียใหม่ให้สมบูรณ์ บอกหัวข้อศีลธรรมนี้เป็นจริยธรรม บอกเหตุผลของศีลธรรมนี้มันเป็นปรัชญาของศีลธรรม และเราเรียกว่าจริยศาสตร์ นี้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายจำคำ ๓ คำนี้ไว้ให้แม่น แล้วอย่าปนกันๆ เป็นอันขาด จริยศึกษาเราใช้เป็น คำกลางกว้างทั่วไป เป็นหัวข้อเรื่องใหญ่จะศึกษาเรื่องนี้กันแล้วเรื่องจริยะๆ นั่นเป็นจริยศึกษา แยกไปจริยธรรมเป็นตัวศีลธรรม เป็นจริยศึกษา ตัวศาสนา กับเป็นจริยศาสตร์ เป็นปรัชญาของศีลธรรม
ถ้าครูบาอาจารย์ทั้งหลายใช้คำนี้ด้วยความหมายอย่างอื่นและเวลารับรองพูดกับอาตมานี่ไม่รู้เรื่องแน่ แล้วก็จะขัดกันตลอดไปเลย ที่จะพูดกันต่อไปกันต่อไปอะไรก็ตาม แม้จะพูดกันในหมู่ครูบาอาจารย์กันเอง หรือว่าข้ามสำนัก คนละครูคนละคนนี่เด็กจะเวียนหัวเพราะว่าครูใช้คำไม่เหมือนกัน นี้ถ้าว่าไปเดี๋ยวไปพูดกับฝรั่งด้วยแล้วก็อาตมาสังเกตเห็นมาแล้วมันมีอย่างนี้ ถ้าจะให้เข้ารูปกันได้กับระบบที่ฝรั่งที่เขาใช้กันอยู่ ศีลธรรมคือ morality ปรัชญาของศีลธรรมคือ ethic คุณจะเรียกอันไหนเป็นจริยธรรมหรือจริยศาสตร์นั้นนะระวังให้ดี ถ้าเอาตามหลักที่ฝรั่งเขาใช้อยู่ก็เป็นอันว่าเราเอา ethic มาเรียกว่าจริยศาสตร์ เราเอาศีลธรรมหรือ morality นั้นมาเรียกว่าจริยธรรม ให้เข้าใจความหมายคำตรงกันอย่างนี้จะพูดกันได้โดยโดยเข้าใจตรงกันได้เรื่อยไปจนหมดเรื่อง จะพูดให้สั้นก็เหลือแต่ศีลธรรมกับปรัชญาของศีลธรรม พูดเป็นไทย ๆ อย่างนี้เรื่องศีลธรรมกับเรื่องปรัชญาของศีลธรรม เรียน ๒ เรื่องนี้มันคือเรียนเรื่องจริยศึกษาโดยสมบูรณ์ จริยธรรมเป็นบทบัญญัติตายตัวลงไปแล้ว จึงๆมีหน้าที่ที่จะบอกว่าอย่างไร ในส่วนจริยศาสตร์หรือปรัชญานั้นมันมีหน้าที่ที่จะบอกว่าทำไม แยกคำว่าอย่างไรกับคำว่าทำไมให้เด็ดขาดออกไปเสียจากกัน ถ้าลักษณะของมันบอกว่าอย่างไรนี้มันเป็นตัวศีลธรรม ถ้ามันบอกทำไมอย่างนี้มันจะเป็นปรัชญาของศีลธรรม นี่เราจะสอนศีลธรรมข้อไหนขอให้ฝากเหตุผลของ ข้อนั้นไปด้วย เหตุผลของข้อนั้นมันคือเรียกว่าปรัชญาในที่นี้ อาตมาก็ไม่ชอบคำว่าปรัชญา แต่ไม่รู้ว่าจะใช้คำไหน เพราะว่าเขาใช้คำนี้กันทั่วไปแล้ว และอย่าลืมๆ ไอ้ที่บอกที่แรกแล้วว่าพุทธศาสนาหรือธรรมะแท้ๆ ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นระบบวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ระบบปรัชญา แต่ถ้าบอกเป็นปรัชญานี้ก็บอกได้อธิบายได้ หลักธรรมะในพระพุทธศาสนาบอกไปตรงๆ เป็นวิทยาศาสตร์ เรียกว่าทำไมจึงต้องเป็นอย่างนั้นมันก็กลายเป็นปรัชญาไป จะมามัวถามกันให้มันเสียเวลาก็ได้ว่าทำไมทุกข์ถึงเกิดมาจากตัญหา จะไม่ยอมเชื่อเอาจะต้องพูดกันมาก มันก็ต้องพูดแบบปรัชญา แต่ถ้าพูดในทางศีลธรรมมันก็เห็นชัดๆ อยู่ว่าพอเราอยากทีไรเราก็เป็นทุกข์ทีนั้น พอเราอยากทีไรเราก็เป็นทุกข์ทีนั้น อย่างนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์ ที่มันไม่เอาทั่วทุกข์จริงมา พูดกันมันก็ต้องคำนวณว่ามันคงจะเกิดมาจากความอยากอธิบายอย่างนั้นๆๆ แวดล้อมเข้าไปเป็นปรัชญา หนังสือที่จะขายดีมันจึงใช้คำว่าปรัชญากันโดยมาก จริงไม่จริงก็ดูตลาดหนังสือสิ ถ้าใช้คำว่าพุทธศาสตร์นี้คนยังไม่ค่อยอยากซื้อพอใช้คำว่าพุทธปรัชญาอยากซื้อขึ้นมาทันที นี่เป็นอย่างนี้ไม่แต่เมืองไทยก็เห็นที่เมืองนอกพวกฝรั่งก็เหมือนกันชอบใช้คำว่าปรัชญาเป็นชื่อหนังสือที่แต่งขึ้นแล้วคนสนใจคนก็หูผึ่งขายได้ดีขายได้เร็ว ถ้าพูดเป็นพุทธธรรม พุทธศาสนานี้มันจืดไปแล้วมันชินไปแล้ว เมืองไทยเราก็เหมือนกัน กำลังเห่อคำว่าปรัชญา หรือเห่อคำว่า philosophy วิทยาศาสตร์นั้นเป็นธรรมดาเกินไป มันเรียนกันคนละอย่างศีลธรรมมันเรียนไปเพื่อดับทุกข์ลงไปตรงๆ ปรัชญานั้นเรียนเพื่อจะเป็นนักปราชญ์ คำว่าปราชญ์นี่คือคำเดียวกับคำว่าปรัชญา คำเดียวกันเลย รากศัพท์อันเดียวกันเลย ที่เขาเรียนมากเรียนเพ้อเรียนเกินไปเพื่อจะเป็นนักปราชญ์เขาถึงเรียนรูปแบบของปรัชญา ถ้าปฏิบัติมรรคผลนิพพานเร็วๆ ก็เรียนในรูปแบบของศาสนาหรือศีลธรรมและคำว่าศาสนาๆนี้ เราอยากจะสงวนเอาไว้ว่ามันเป็นระบบธรรมชาติ ระบบความจริงของธรรมชาติระบบศีลธรรม สำหรับพระพุทธศาสนามันจึงมีทางที่ตั้งคำถาม นี้คุณจะเรียนพุทธศาสนาหรือจะเรียนปรัชญาของพุทธศาสนา จะไม่มีโอกาสพูดอย่างนี้ว่าศาสนากับปรัชญา เพราะว่าศาสนาจะเรียนมันอย่างปรัชญาก็ได้ จะเรียนอย่างศาสนาก็ได้ สังเกตดูให้ดีสิ่งที่เราเรียกว่าศาสนาหรือ religion นี้เราจะเรียนอย่างศาสนาก็ได้ เราจะเรียนอย่างปรัชญาก็ได้ จะเรียนอย่างอื่นให้แปลกออกอีกไปก็ได้ จะเรียนเป็นจิตวิทยาเรียนเป็นอะไรอีกก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้ที่มันๆใช้กันจะเรียนอย่างศาสนาหรือจะเรียนอย่างปรัชญาของศาสนา อย่างศาสนาคริสเตียนอย่างนี้ลำบากมากที่จะมาเรียนอย่างปรัชญาเพราะมันเป็นศาสนา มันมีบทบัญญัติง่ายๆ ตรงไปตามความเชื่อ จะเรียนอย่างปรัชญาก็ได้เหมือนกันแหละแต่จะลำบาก คล้าย ๆ กับต้องฝืนต้องแสร้งทำ แต่ถ้าพุทธศาสนานี้ไม่ได้สอนเรื่องเชื่อพระเจ้าเรื่องอะไรทำนองนั้น มันสอนเรื่องลึกซึ้งของธรรมชาติของปรมัตถธรรมของธรรมชาติ ในพระไตรปิฏกมันจึงมีส่วนที่จะเรียนอย่างปรัชญามากมายเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอภิธรรมปิฎกนี่ จะเรียนกันได้ก็แต่ในรูปปรัชญาเท่านั้น จะเรียนในรูปแบบศีลธรรมหรือพระพุทธศาสนาตรงๆ ง่ายๆ นี้เขาไม่ใคร่กล่าวไว้ แต่ว่าในสุตตันตปิฎกก็ๆๆยังมีทางที่จะเรียนอย่างปรัชญา แต่ในสุตตันตปิฎกนั้น มันพูดในรูปแบบศาสนาปฏิบัติรูปแบบศาสนาไม่ต้องใช้รูปแบบปรัชญามากกว่า ถ้าเราจะดับทุกข์เร็วๆ เราก็เรียนสุตตันตปิฎกดีกว่า ในส่วนวินัยปิฏกจะไม่ต้องมีปรัชญาเลย เพราะเป็นบทบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นตามอำนาจของพระองค์ที่มี ไม่ต้องเรียนอย่างปรัชญา หรือไม่อาจเรียนอย่างปรัชญา เรียนอย่างตัวศีลตัวบทบัญญัติตัวอะไรไป
เราสรุปความว่าศาสนานี่เรียนอย่างศาสนาก็ได้ เรียนอย่างปรัชญาของศาสนาก็ได้ นั้นเราจึงเรียนพุทธศาสนาก็ได้เรียนพุทธปรัชญาก็ได้ ถ้าเรียนอย่างพุทธศาสนาก็เพื่อๆตอบคำถามว่าอย่างไร ถ้าเรียนอย่างพุทธปรัชญาก็เพื่อตอบคำถาม ว่าทำไม ไอ้เรื่องทำไมนี้ไม่รู้จบ อย่างไรมันก็ลงอย่างนี้ก็ลงมือทำเถอะลงมือทำอย่างนี้ๆ ทำไมถามว่าทำไมก็ต้องทำอย่างนี้อีก ทำไมต้องทำอย่างนี้อีก ทำแล้วทำไมต้องทำอย่างนี้อีก อย่างนี้ไม่มีจบนี้คือปรัชญา ไปตามการคำนวณด้วยเหตุผลตามสิ่งที่สมมุติขึ้นมา นี้ถ้าจะเรียนอย่างพุทธศาสนาต้องเรียนจากของจริง ต้องเรียนจากดินน้ำลมไฟ ตาหูจมูกลิ้นกายใจรูปเสียงกลิ่นรสจริงๆ จึงจะเป็นการเรียนพุทธศาสนา เรียนจากสิ่งนั้นโดยตรง นั้นเมื่อเรามานั่งเรียนกันนี้จะพูดแต่ปากนี้ไม่ได้ ต้องเรียนลงไปที่ตัวจริง นี้ถ้าว่าเราจะเรียนเรื่องทุกข์ต้องมีทุกข์อยู่จริง จะเรียนเรื่องสุขต้องมีสุขอยู่จริง ถ้าจะเรียนเรื่องกิเลส คนนั้นต้องมีกิเลสอยู่จริง เรียนลงไปบนตัวกิเลสนั้นจะเรียนพระพุทธศาสนา เดี๋ยวนี้เราเรียนที่โรงเรียนไม่มีกิเลสไม่มีอะไรเหล่านี้ แล้วเอ่ยชื่อมันเข้ามาแล้วก็พูดด้วยเรื่องราวเหตุผลตามที่เคยนั้นกันมาอย่างนี้มันกลายเป็นเรียนพุทธปรัชญา ในโรงเรียนนักธรรม วิธีเรียนวิธีสอนนั้นเป็นอย่างพุทธปรัชญาไปหมด ไม่เป็นตัวพุทธศาสนาโดยตรง เพราะไม่มีตัวตนจริงมาเรียนเอาแต่ชื่อมา แล้วก็มาเรียนอย่างหลับตาคือคำนวณคือหลับตาคำนวณ หลับตาคำนวณ หลับตาให้เหตุผล หลับตาคิดไปตามเหตุผล ไม่ได้ลืมตามองลงไปยังของจริง
นี่พอจะเข้าใจกันได้ว่าพุทธปรัชญากับพุทธศาสนามันต่างกันอย่างไร นี่ถ้าพูดว่าปรัชญาและศาสนานี้กว้างมากนะ ปรัชญาของอะไรก็ได้นะ ศาสนาไหนก็ได้ ทุกศาสนามีสิทธิที่จะเรียกว่าศาสนา เพราะมันดับทุกข์ด้วยกัน และปรัชญานี่มันปรัชญาของอะไรก็ได้ ต่อเมื่อเราจำกัดเราจะพูดกันแต่เรื่องศีลธรรม เราก็เลยพูดได้ชัดว่าปรัชญาของศีลธรรม ศาสนากับศาสนาที่สอนศีลธรรมอย่างนี้ได้ แต่ถ้าทิ้งไว้อย่างนี้ กว้างๆ อย่างนี้แล้วคงไม่รู้ว่าจะพูดเรื่องอะไรกัน เพราะปรัชญานั้นมันมีมากเหลือเกิน ศาสนาก็มีมากไม่รู้กี่ศาสนา เรียนลงไปบนของจริงเหมือนกับเรียนวิทยาศาสตร์คือเรียนตัวศาสนา ถ้าเรียนอย่างคำนวณด้วยเหตุผล วิธีการใช้การคำนวณนี้มันเป็นปรัชญา ถ้าสังเกตดูให้ดีว่าพวกเราเมาปรัชญากันมากเกินไปจนตัวปรัชญาของก้อนหิน มีคนแต่งหนังสือปรัชญาของตัว ก. ปรัชญาของตัว ข. ปรัชญาของตัว ค. อย่างนี้ก็มี นี้มันจะเกินไปแล้ว ที่แท้เราควรจะใช้ปรัชญาเพียงว่าทำไมเราจึงต้องทำอย่างนั้น เมื่อเราบอกเขาว่าให้ทำอย่างนั้น เราก็บอกลงไปว่าทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น นี้เราจะไปบอกเด็กอนุบาล หรือเด็กประถมมัธยมอะไรก็ตามที่จะบอกว่าเธอต้องทำอย่างนี้ อย่าลืมบอกเขาว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ด้วยนะ ให้มันเป็นคู่แฝดกันไปเรื่อยไป แล้วเด็กจะทำตามได้ง่าย จะมีกำลังใจในการที่จะทำตามเหมือนกับว่าเราบอกอานิสงค์เสียก่อน แต่จะบอกว่าทำอย่างไรมันน่าสนใจทำนองนั้น แต่ว่าวิธีเทศน์ของพระท่านบอก อานิสงค์ตอนท้ายตอนจบ มันจึงไม่ค่อยได้ผลไม่ยั่วใจ บอกเด็กว่าให้เว้นการฆ่าสัตว์นี้เรียกว่าศีลธรรม ทำไมเราจึงไม่ควรฆ่าสัตว์อธิบายละเอียดนี้คือปรัชญาของศีลธรรม นั้นให้ศีลธรรมกับปรัชญาของศีลธรรมไปด้วยกันเสมอไม่ว่าเราจะบอกเขาในข้อไหน ให้เรียนอย่างวิทยาศาสตร์คือมีความรู้สึกอยู่จริงๆ เหมือนกับมองเห็นอยู่จริงๆ อาตมายกตัวอย่างว่าเราจะสอนตั้งต้นสอนศีลธรรมกันในระบบที่สมบูรณ์ สอนแต่ลูกเด็กๆเลย อนุบาล ๓-๔ ขวบเลย ถ้าเราจะสอนศีลธรรมซึ่งยังไม่ใช่ปรัชญานะ เราสอนวันแรกบทแรกบทเรียนบทแรกแก่เด็กอนุบาล ๓-๔ ขวบว่า แม่คืออะไรให้เด็กทุกคน สมมุติว่ามีเด็ก ๒๐ คนในชั้นนั้นให้มันตอบทุกคนแม่คืออะไร เด็กจะต้องนึกในใจจนมองเห็นสักแง่หนึ่งมุมหนึ่งว่าแม่คืออะไร อย่างนี้ไม่ใช่ปรัชญาแล้วเพราะเด็กเขาจะมองเห็นว่าแม่คืออะไร ต้องว่าแม่คือคนที่ให้กินนมหรือว่าแม่คือคนที่อุ้มเรามาหรือแม่คนที่อะไรเราตีเราก็ได้ ให้เขาบอกมาจริงๆ อย่างนี้มันเรียนตัวศีลธรรม เรียนตัววิทยาศาสตร์ จนเด็กรู้ว่าแม่คืออะไรโดยแลกเปลี่ยนกัน ไม่ให้เด็กทุกคนตอบเหมือนกัน เธอจงตอบอย่าให้เหมือนกับคนนี้ แม่คืออะไรถามเด็กคนโน้นอีกแม่คืออะไร ถามเด็กคนโน้นอีกแม่คืออะไรเธออย่าตอบให้เหมื่อนกัน เด็กก็จะนึกคิดเอาจากความรู้สึกข้างในออกมาตามที่มองเห็นว่าแม่นี้คืออะไร ที่นี้เราต้องการจะให้เขารักแม่ เราชี้ข้อที่เขาเห็นว่าแม่มันมีเหตุผลที่น่ารักอย่างไร เช่นว่าเสื้อนี้ใครให้ เสื้อสตางค์ใครซื้อ กางเกงนี้ใครให้ สตางค์ก็เอาสตางค์ใครซื้อ หิวขึ้นไปมาขอสตางค์จากใคร ใครคนไหนที่เราขอสตางค์ได้ไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนกับว่าธนาคารไม่ต้องเอาเงินไปฝากแต่เบิกได้เรื่อยคือใคร นี้ให้เด็กมันมองเห็นอย่างนี้ เรียนอย่างวิทยาศาสตร์เด็กก็จะมองเห็น แล้วมันก็จะรักแม่ ไอ้ผลทางศีลธรรมมันก็เกิดขึ้น นี้เป็นเรียนศาสนาถ้าว่าเราจะตั้งปัญหารูปแบบปรัชญาให้มันเฟ้อไป จึงว่าทำไมเราต้องรักแม่ มันก็บอกอยู่ในตัวแล้วแม่ให้สตางค์เราแม่ให้เสื้อผ้าเราทุกชิ้นที่เราใช้อยู่แม่ให้ไม่มีสตางค์แจกกินขนมก็ไปขอแม่ไปขอได้ไม่สิ้นสุด ถ้าเราเจ็บไข้ใครรักษาถ้าเราเป็นอะไรไปใครจะป้องกันคุ้มครองเรานี่มันก็รู้พร้อมกันไปโดยต้องสอนให้เขาคำนวณอะไร นี้ล่ะเรียนอย่างวิทยาศาสตร์ต้องเรียนอย่างนี้ เด็กมองเห็นภาพนี้ชัดเจนจากภายใน แล้วเขาก็มีศีลธรรมก็มีศาสนา ไม่ใช่บอกให้เขาจดนะ เดี๋ยวนี้ครูดีแต่บอกบอกให้นักเรียนจด แล้วครูเองก็ได้แต่จดๆ มาเหมือนกัน แล้วมาบอกว่าให้นักเรียนจดต่อ อย่างนี้ไม่ๆ มันจะเป็นรูปปรัชญาไปหมด คือสรุปมันก็หลับตาเรียน ลืมตาเรียนแล้วมองลงไปให้เห็นชัดแล้วเอาออกมา เขาจะเป็นเรียนศาสนาหรือเรียนศีลธรรมโดยตรง แต่ว่าจะให้เรียนเป็นปรัชญาบ้างก็ได้เมื่อสมควร โดยที่เราจะตั้งปัญหาทำไมให้ดีๆ แล้วก็จะได้ผลมากเหมือนกันว่าทำไมจึงต้องทำอย่างนี้ เช่นว่าสอนให้รักผู้อื่น คือทำอย่างนั้นๆ รักผู้อื่น ทำไมเราจึงต้องรักผู้อื่น ถ้าสอนได้ดีก็ดี เพราะว่ามันเป็นการบอกอานิสงค์ของการรักผู้อื่น ถ้าเด็กเขาเห็นอานิสงค์อันนี้เป็นที่พอใจ เขาก็รักผู้อื่นได้จริงเหมือนกันง่ายโดยง่าย นั้นปรัชญาคือเหตุผลที่ควบคู่กันกับไอ้ตัวบทนั้นควรจะมี ถ้าบอกหรือสั่งหรือสอนให้ทำอย่างนี้แล้วก็ต้องควบคู่กันมาด้วยเหตุผลว่าทำไมเราต้องทำอย่างนี้ทุกเรื่องไปเลย ให้เด็กยืนร้องเพลงหน้าเสาธงก็ได้ มีระเบียบบังคับมันทำอย่างละเมอๆ ไปก็ได้ ไม่มีศรัทธาไม่มีอะไรที่ได้ผลเป็นเรื่องทางจิตใจ แต่ถ้าเราพยายามที่จะให้เห็นว่าทำไมเราจึงต้องเคารพธง ร้องเพลงหน้าเสาธงให้มันชัด มันก็จะได้ผลทำให้เด็กรู้สึกประทับใจรักชาติรักศาสนารักพระมหากษัตริย์อะไรขึ้นมาโดยแท้จริง เดี๋ยวนี้ครูก็ขี้เกียจที่จะอธิบายก็สอนให้มันร้องบังคับให้มันร้องอย่างนกแก้วนกขุนทอง ผลมันก็เลยไม่ค่อยจะได้ จนบัดนี้เด็กๆ ของเราก็ไม่ค่อยจะมีศีลธรรม เพราะเราสอนศีลธรรมไม่สำเร็จ เพราะเราไม่ให้ความสว่างแจ่มแจ้งที่เพียงพอ
นี่จะพูดเรื่องศีลธรรมต่อไปอีกว่าเรื่องศีลธรรมนี้ ถ้าเด็กๆ ของเรารักพ่อแม่อย่างเดียวเท่านั้นจะหมดปัญหา ขอให้ไปคิดดูสังเกตดู ถ้าเด็กรักพ่อแม่มันจะเชื่อพ่อแม่มันจะเคารพพ่อแม่ มันจะซื่อสัตย์ต่อพ่อแม่มันจะกตัญญูต่อพ่อแม่ ไอ้เหล่านี้มันๆบังคับว่าให้เด็กทำชั่วไม่ได้ มันสำเร็จอยู่ด้วยว่าทำให้เด็กรักพ่อแม่เพียงข้อเดียว แล้วก็มาสนใจธรรมข้อนี้ก่อน ให้เด็กมันรักพ่อแม่อย่างที่ว่าเมื่อตะกี้ แม่คือใคร แม่เป็นอย่างไร พอเด็กมันรักพ่อแม่ได้แล้วมันก็ไม่ดื้อ มันก็ทำตามมันก็อุตสาห์ทำให้พ่อแม่พอใจ ศีลธรรมของเด็กคนนั้นจะดี ความรักพ่อแม่นั้นน่ะไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเป็นเรื่องใหญ่โตเป็นเรื่องรากฐานทั้งหมด เราก็ยังทำไม่สำเร็จ ก็ยังเห็นเด็กนักเรียนโกหกพ่อแม่ทำให้พ่อแม่น้ำตาตกน้ำตาไหลอยู่บ่อยๆ หลอกไปเรียนที่กรุงเทพฯ ไปเหลวไหลทั้งนั้นแหละ ขอเงินทางบ้านจนพ่อแม่หมดเนื้อหมดตัว เอาไร่เอานาไปจำนองจำนำเดือนร้อนกันเป็นการใหญ่ มันไม่รักพ่อแม่เสียเลย ถ้ามันรักมันทำอย่างนั้นไม่ลง ขอให้นึกถึงเรื่องนี้ก่อนเพราะว่าเดี๋ยวนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องจริยธรรมและศีลธรรมกันแล้ว เราจะต้องตั้งต้นที่ตรงไหนโดยแท้จริงนี้มาจากเสนอข้อนี้จากลูกเด็กๆ เป็นอันแรกเลยเป็นๆจุดแรก มันคงมันต้องกินเวลาบ้างแหละมันจะเอาทันทีเดี๋ยวนี้ไม่ได้ เพราะว่าเด็กเพื่อผลข้างหน้าต้องเตรียมเด็กของเรา สำหรับจะมีศีลธรรมแล้วบ้านเมืองจะสงบสุข เด็กมันคือโลกในอนาคตโตขึ้นคนที่อยู่ในโลกนั้นน่ะมันก็จะเป็นคนสร้างโลก โลกเลวก็เพราะเด็กคนเลวโลกดีก็เพราะคนในโลกมันดี ถ้าเราสร้างคนในโลกให้ดีโลกนี้มันก็ดี ดังนั้นครูคือผู้สร้างโลกไม่ใช่พระเจ้าอะไรที่ไหนนะ ครูผู้สร้างโลก สร้างเด็กดีคนมันก็ดีคนมันดีโลกนี้มันก็ดี ถ้าสร้างเด็กเลวคนมันก็เลวโลกนี้มันก็เลว แต่เราไม่ยอมรับผิดชอบข้อนี้เราไม่อยากจะรับผิดชอบในข้อนี้ เพราะมันเหนื่อยเกินไปใช่ไหม ครูไม่อยากจะรับผิดชอบถึงขนาดที่ว่าจะเป็นพระเจ้าสร้างโลก ครูหนุ่มๆสาวๆนี้สมัครไปนั่งเปิดดูแคตตาล็อกกางเกงยินส์มากกว่าที่จะมานั่งคิดในข้อนี้ มันจึงไม่พูดกันรู้เรื่อง ไม่มาค้นคว้าขุ้ยเขี่ยเรื่องศีลธรรม รับผิดชอบว่าครูเป็นผู้สร้างโลกกันเสียเลย มักจะถือทำตามกันว่าทำงานอาชีพชนิดหนึ่ง ครูนี้คืออาชีพชนิดหนึ่งอย่างนี้มันสอนผิดสอนกันมาผิด ครูมันเป็น ปูชนียบุคคลที่จะสร้างโลกให้เป็นอย่างไรก็ได้ และเครื่องมือนั้นก็คือศีลธรรม นั้นครูจะต้องแตกฉานในเรื่องศีลธรรมจึงจะสามารถสร้างโลกให้เป็นโลกที่มีศีลธรรม ครูก็มีพระคุณอยู่เหนือหัวสัตว์ทั้งหลาย เป็นปูชนียบุคคลอยู่เหนือหัวของคน ทุกคน เดี๋ยวนี้ครูมันไม่ทำอย่างนั้นมันทำแต่อาชีพกินไปวัน ๆ หนึ่งอยู่ในพวกเช้าชามเย็นชามเหมือนกัน มันก็ไม่เป็นปูชนียบุคคลขึ้นมาได้
แล้วอยากจะพูดอีกสักข้อหนึ่งเพราะว่า คำขอร้องนี้พูดถึงเรื่องศีลธรรม จริยธรรม จริยศาสตร์ เราจะช่วยกันพยายามสุดความสามารถให้ทุกคนมองเห็นความจำเป็นของศีลธรรม เดี๋ยวนี้ประชาชนของเราเห็นความจำเป็นของศีลธรรมน้อยมากหรือไม่เห็นเลยก็มี ไม่อยากจะเห็นเสียอีกก็มี ไม่อยากจะเห็นความจำเป็นของศีลธรรม ดังนั้นคนเหล่านี้จะเลวกว่าหมาแล้วกว่าแมว น่าอายหมาน่าอายแมว คนที่ไม่มีศีลธรรมไม่เห็นความจำเป็นของศีลธรรม คนไม่มีศีลธรรมมันต้องปวดหัวมันต้องกินยาปวดหัว มันต้องนอนไม่หลับมันต้องกินยานอนหลับ คนไม่มีศีลธรรมมันต้องเป็นโรคประสาท คนไม่มีศีลธรรมมันต้องเป็นโรคจิตมันต้องฆ่าตัวตายด้วย เป็นอันธพาลอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองนี่ไม่มีศีลธรรม อยากจะให้เปรียบเทียบกับแมวไม่ได้ปวดหัวเลย คนทำไมมัวแต่ปวดหัวบ่อยเล่า แมวนั่นไม่ต้องกินยานอนหลับเลยมันก็นอนหลับ นี้คนทำไมต้องกินยานอนหลับเล่า มันน่าอายแมวในข้อนี้แหละ นี้คนมันเป็นโรคประสาท ที่อาตมาจำได้เมื่อ ๒-๓ ปีมาแล้วที่ว่าตั้ง ๗ แสนคนในประเทศไทยเป็นโรคประสาท เดี๋ยวนี้วันนี้มาคนมาบอกสถิติใหม่ว่า ๑๐ ล้านโน้น เป็นโรคประสาท ๑๐ ล้านก็ตกใจ อาตมาเคยรู้ว่ามัน ๗ แสนคนเป็นโรคประสาทกันในประเทศ เคยรู้ว่ามันเป็นโรคจิตกัน ๒ หมื่นๆ คน คนที่มาเล่าวันนี้โรคจิตมันขึ้นเป็น ๗ แสน ๘ แสน โรคประสาท ๑๐ ล้าน พลเมือง ๔๘ ล้านเป็นโรคประสาทเสีย ๑๐ ล้าน น่าเศร้าน่าตกใจ ซึ่งหมาไม่เป็นสักตัวหนึ่งนะ แมวไม่เป็นสักตัวหนึ่งนะ ไก่ไม่เป็นสักตัวหนึ่งนะ แล้วทำไมไม่ละอายกันบ้างว่านี้เพราะไม่มีศีลธรรมโว้ย มาเร็วๆ มาช่วยกันกอบกู้ศีลธรรมอย่าต้องอายหมาอย่าต้องอายแมวอย่าต้องอายไก่ ซึ่งมันไม่ปวดหัวซึ่งมันไม่เป็นโรคประสาท ซึ่งมันไม่เป็นโรคจิต ใครเคยเห็นแมวฆ่าตัวตายบ้าง สัตว์ตัวไหนมันฆ่าตัวตายบ้างมันหาไม่พบหาทำยาหยอดตาก็ไม่ได้ แต่คนมันฆ่าตัวตายกันดูเท่าที่มันอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ก็จะนับไม่ไหวอยู่แล้ว เพราะไม่มีศีลธรรม ถ้ามีศีลธรรมสิ่งนี้ก็ไม่เกิด แล้วเราไม่ต้องอายหมาไม่ต้องอายแมวไม่ต้องอายไก่ หรือไม่ต้องอายสัตว์เดรัจฉาน อาตมาคำนวณเอาเองว่าในโลกทั้งโลกเวลานี้ต้องกินยานอนหลับหรือกินยาแก้ปวดหัวคงเป็นตันๆแหละ เป็นคันรถทั้งโลก ต้องกินยาปวดหัวกันเป็นตันๆวันหนึ่ง นี้แมวไม่ต้องกินสักเม็ดหนึ่ง หมาไม่ต้องกินสักเม็ด ควายไม่ต้องกินสักเม็ดหนึ่ง แล้วมาเทียบกันดู ความมีศีลธรรมมันคุ้มครองมากอย่างนี้ นี่มันเหมือนกับสอนปรัชญา ว่าทำไมเราจึงต้องมีศีลธรรม เรามีศิลธรรมตามที่มีอยู่ว่าเราต้องรักผู้อื่น เราต้องบังคับจิตของเราได้ เราต้องทำแต่ความดี พอใจว่าได้ทำดีแล้วก็เป็นสุข ไม่ต้องไปกินเหล้าไม่ต้องไปอาบอบนวดไม่ต้องไปที่ไหน เราทำดีเราพอใจเรามีความสุขอยู่ที่โต๊ะทำงานที่โรงเรียนก็ได้ที่ออฟฟิศที่ไหนก็ได้ นี้เรามีศีลธรรม ทำไมเราถึงมีศีลธรรมเล่า ก็เพราะอย่าให้ต้องอายแมวนั้นแหละ แต่ถ้าว่ามันเป็นคนดีเป็นคนซื่อตรงพูดเพียงว่าอยางนี้ก็พอแล้วไม่ต้องอ้างว่าอายแมวไม่อายแมวหรอก ไม่ต้องบอกว่าละอายแมวไม่ต้องละอายแมวก็ได้ไม่ต้องบอกก็ได้ แต่ถ้าจำเป็นมันก็ต้องบอกว่าเป็นคนทั้งที่โว้ยอย่าให้ต้องอายแมวโว้ย จงมีศีลธรรม ศีลธรรมนี้ ถ้าสร้างมาตั้งแต่เด็กอย่างว่าเมื่อตะกี้ ถ้าเด็กรักพ่อแม่ศีลธรรมก็ดีหมด หรือว่าเดี๋ยวนี้โตๆ กันแล้วจะเอากันอย่างไง ไม่ใช่กลับไปรักพ่อแม่อีกก็ยังได้ คนโตๆอย่างนี้กลับไปรักพ่อแม่อีกและไม่ทำอะไรให้พ่อแม่เสียชื่อเสียชื่อของวงศ์ตระกูล ศีลธรรมมันก็ดี เอาละเอาเป็นว่าอย่าต้องละอายแมว เรามีศีลธรรมมันกันดี ก็ลงมือศึกษาเรื่องศีลธรรม พื้นฐานโดยทั่วไปเราต้องรักผู้อื่นทำไมเราต้องรักผู้อื่นพูดได้มาก พูดได้ง่าย เราต้องบังคับจิต อย่าให้โกรธอย่าให้โลภอย่าให้โกรธอย่าให้โง่อย่าให้บังคับจิตหรือบังคับตัวให้ได้ ทำไมเราต้องบังคับตัวให้ได้ เพราะดูคนที่ไม่บังคับตัวเองมันก็เลวกว่าหมาเลวกว่าแมว น่าละอายแมว บังคับความรู้สึกให้ได้ อย่าให้มันจูงไปสูบบุหรี่อย่าให้มันจูงไปกินเหล้า อย่าให้มันจูงไปดื่มน้ำเมาเที่ยวกลางคืนดูการเล่นเล่นการพนัน บังคับจิตไว้ให้ได้ ศีลธรรมมันก็มีอยู่ เราก็มีความสุขที่ไม่เป็นอันตราย สุขกินเหล้าเมายาอบายมุขอันตรายฉิบหายวายวอดไปหมด นี้สุขที่ไม่เป็นอันตรายคือความพอใจว่าได้ทำความดี เมื่อใดที่ได้ทำอะไรที่เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทำแล้วก็พอใจว่านี้คือการประพฤติธรรม การทำการงานที่ควรทำนั้นคือการปฏิบัติธรรม หน้าที่ตามกฏของธรรมชาตินี่คือธรรม เราไปทำเข้าก็ถือว่าประพฤติธรรม ก็พอใจยินดีว่าได้ประพฤติธรรม ความพอใจความยินดีนั้นย่อมมีสุขเสมอ ถ้าสังเกตดูเถิดว่าความสุขคือความพอใจชนิดใดชนิดหนึ่งเสมอ จะเรื่องกามารมณ์ก็ดี เรื่องไม่ใช่ก็ดี เรื่องบุญกุศลก็ดีอะไรก็ดีอะไรก็ดี ถ้ามันมีความพอใจแล้วจะมีความสุขชนิดหนึ่งเสมอ นี้ความพอใจมีหลายชนิด ชนิดต่ำก็มีสูงก็มีที่เลวๆก็มีที่ดีๆก็มี เอาแต่ที่ถูกต้องได้ทำหน้าที่ของมนุษย์อย่างถูกต้องแล้วก็พอใจก็เป็นสุขอยู่ที่นั่น ไม่อยากจะเลิกจากงาน ทำกันจนค่ำจนอะไรก็ได้สนุกอยู่นั่น มีความสุขอยู่นั้เน ไม่ต้องไปอบายมุขที่เขาไปๆกัน นี้คือศีลธรรมที่สำคัญที่สุด คือเรามีความสุขที่ไม่เป็นอันตราย ถ้าไปกินเหล้าไปสุดท้ายเป็นความสุขที่เป็นอันตราย ไม่ควรจะเรียกว่าเป็นความสุขที่แท้จริง ความสุขหลอกความสุขลวงความสุขคดโกงเอาตัว ก. สะกดดีกว่ามันจะเผาให้สุก สมน้ำหน้ามันถ้าสุก ข.สะกด มันต้องเย็นนะ ชีวิตนี้มันร้อนได้เย็นได้เมื่อไรกิเลสเกิดขึ้นชีวิตมันก็ร้อนมันนรกนะ ชีวิตมันร้อนมันเป็นนรก ที่นี้กิเลสไม่เกิดขึ้นชีวิตนี้มันก็เย็นนี้มันเป็นนิพพาน นิพพานน้อยๆ นิพพานสั้นๆ อยู่กับชีวิต ชีวิตนี่มันร้อนก็ได้มันเย็นก็ได้ ถ้าเรามีศีลธรรมแล้วมันจะเย็น คิดดูสิมันจะดีสักเท่าไหรชีวิตนี้มันเย็นไม่ต้องร้อน ไปโกรธใครมันก็ร้อน ไปอยากอะไรโง่เง่าเข้ามันก็ร้อน ไปสะเพร่าเป็นโมหะเข้ามันก็ร้อน ความโลภก็ร้อนความโกรธก็ร้อนความหลงก็ร้อนอย่าให้มันมี มันก็เย็น เย็นอกเย็นใจเขาเรียกว่านิพพานน้อยๆ ก็นิพพานน้อยๆ สั้นๆ ก็นิพพานสั้นๆ อุตส่าห์ขยายให้ใหญ่ให้ยาวไปเป็นนิพพานสมบูรณ์เหมือนกับพระอรหันต์ท่านเป็น ท่านเป็นนิพพานสมบูรณ์คือเย็นสมบูรณ์ อาตมาอยากจะเสนอสั้นๆ เพียง ๓ ข้อ ว่ารักผู้อื่นแล้วก็ทำอันตรายใครไม่ได้ แล้วก็บังคับตัวเองอย่าให้มันเกิดความรู้สึกที่เลวร้าย มันก็ไม่เป็นทุกข์แล้วมันไม่เป็นอันตรายแก่ผู้ใด พอใจในความสุขที่ไม่เป็นอันตรายคือความสุขจากการงาน การงานคือการปฏิบัติธรรม ช่วยไปอบรมสั่งสอนเพื่อนมนุษย์ด้วยกันให้มีหลักศีลธรรมเพียง ๓ ข้อเท่านี้ โลกนี้จะเป็นโลกพระศรีอาริยเมตตรัยขึ้นมาทันที มันรักผู้อื่นทำอันตรายกันไม่ลง บังคับตัวเองไว้เสมอมันก็ผิดไม่ได้ผิดพลาดไม่ได้ แล้วมันสุขอยู่ที่บริสุทธิ์สุขอยู่ที่ไม่เป็นอันตราย มันก็สบายเหมือนอยู่กับนิพพานเรื่อยๆไปกว่าจะถึงที่สุด นี่เรียกว่าตัวอย่างที่ว่าเราจะอบรมสั่งสอนศีลธรรมอย่างไร
ท่านทั้งหลายแสดงมาในหนังสือนี้ว่าเป็นครูบาอาจารย์ทางศีลธรรม อยากจะอบรมศึกษาวิชาเกี่ยวกับศีลธรรมก็ให้หัวข้อมาอย่างนี้ อาตมาก็มาปรับปรุงกันเสียใหม่ให้มันง่ายขึ้นว่าจริยศึกษา แบ่งเป็นจริยธรรมคือตัวศีลธรรมและจริยศาสตร์คือตัวปรัชญาของศีลธรรม ถ้าทำได้สมบูรณ์มันก็มีศีลธรรมจริง เป็นศาสนาที่เป็นรูปแบบของวิทยาศาสตร์โดยสมบูรณ์ คือมีๆตัวจริงมีของจริงมีการกระทำจริงมีการได้ผลจริง จะให้เรียนศาสนาอย่างศาสนาก็ได้ ให้เรียนศาสนาอย่างปรัชญาก็ได้แล้วแต่จะชอบ แต่ถ้าจะเอาตามข้อเท็จจริงแล้วพุทธศาสนาของเรานั้นเป็นระบบวิทยาศาสตร์ จะไปทำให้เป็นปรัชญาก็ได้ มันก็จะเสียเวลามาก มันก็จะสนุกจริงเหมือนกัน แต่ว่ามันจะได้ผลน้อย มันดับทุกข์เพราะปรัชญาไม่ได้มันต้องดับทุกข์เพราะศาสนาเสมอ ขอให้จำไปคิดดูใคร่ครวญดู คงจะได้หลักในเบื้องต้นที่มั่นคงเกี่ยวกับคำว่าจริยศึกษา จริยธรรม และจริยศาสตร์
ลาทีกำหนดกันไว้ก็หมดแล้ว อาตมาก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ แล้วครูบาอาจารย์มีโปรแกรมอย่างไรกับใครต่อไปก็เชิญ ไม่เข้าไปในตึกนั้นหรือไปดูโรงหนังไปดูภาพดู และจากนี้ต่อไปนี้คุณกำหนดจะทำอะไรกัน ไปนอนก็ดี ก่อนรุ่งนี่สมองดีเย็นดีทำอะไรได้ดี จะหัดทำสมาธิกันบ้างก็ตอนนั้นแหละดี ไว้ตอนโน้นดีกว่าให้คุณวรศักดิ์ช่วยสอนดีกว่าเวลามันเหมาะสม นี้มันก็พูดเรื่องนี้จนหัวเวียนแล้ว วันนี้พูดเสียมากมายก็เพราะกลัวเราจะใช้คำไม่ตรงกัน ใช้คำที่มีความหมายไม่ตรงกัน เราต้องเผื่อไว้สำหรับไปพูดกับชาวต่างประเทศด้วยเพราะว่าคำว่า ethic นี้พวกฝรั่งสนใจมากที่สุด เพราะมันเป็นปรัชญาของศีลธรรม นั้นแหละไปปรับคำๆให้ๆๆแน่นอนเสียก่อน คำพูดถูกต้องแน่นอนเสียก่อน วิทยุที่ไหน ฟังที่ไหน ใครพูด อ๋อนั้นก็ไม่ได้อธิบายไม่ได้บอกว่าบอกแต่ตัวปัญหาที่เหตุร้ายที่มันได้เกิดขึ้นแล้ว ไปทำให้ศาสนาเป็นปรัชญาแล้วมันก็ ปรัชญากำลังฮิต ปรัชญาอะไรก็ไม่รู้ในโลกนี้กำลังฮิตในโลกนี้ปรัชญากำลังฮิต ศาสนากำลังเนื่อย ๆ ศีลธรรมมันเป็นตัวศาสนา ไอ้ปรัชญาศีลธรรมนั้นมันผิวนอกและมันขยายออกไม่มีที่สิ้นสุด สอนศีลธรรมให้ตรงตามแบบของท่าน เรื่องถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติว่ามนุษย์ สังคมมนุษย์จะอยู่กันเป็นผาสุกได้อย่างไร ไอ้ศีลธรรมนั้นคือตัวศาสนาครึ่งแรก ๆ ตัวศาสนาครึ่งหลังคือเรื่องมรรคผลนิพพานที่สูงขึ้นไป ศีลธรรมสำหรับสังคมนี่คือพระพุทธศาสนาครึ่งแรกซีกแรก อันนี้ถ้ามีอยู่แล้วก็จะรับหน้า รับหน้าเหตุร้ายทั้งหลายได้ วิกฤตการณ์ทั้งหลายในโลกนี้ จงต่อสู้ด้วยศีลธรรม ถ้ามีศีลธรรมแล้วจะไม่มีปัญหาใดๆเกิดขึ้น เดี๋ยวนี้เรามีปัญหามากเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางเศรษฐกิจที่ว่าปวดหัวกันมาก นอนไม่หลับกันมากเพราะเศรษฐกิจโดยมาก เอาศีลธรรมมาเป็นรากฐานแล้วเศรษฐกิจจะไม่เกิดเป็นปัญหา เพราะว่าปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้นเพราะว่าคนไม่มีศีลธรรม ท้าอย่างนี้เลยเอาสิมาๆเถียงกันกี่วันก็ได้ ปัญหาเศรษฐกิจปัญหาการเมืองปัญหาการปกครองมันเกิดขึ้นเพราะคนไม่มีศีลธรรม ข้าราชการไม่มีศีลธรรมปัญหาการปกครองมันก็เกิดขึ้น พ่อค้าวานิชไม่มีศีลธรรมปัญหาทางเศรษฐกิจมันก็เกิดขึ้น ขูดรีดเอาเปรียบ การเมืองไม่มีศีลธรรมมันก็คือเรื่องหลอกกันเล่น เราพูดแล้วเขาก็ไม่ค่อยชอบ แล้วก็เขาจะปรับเราว่าไอ้ศูนย์ของการเมืองศูนย์ของการไม่มีศีลธรรม ตรงไหนเป็นศูนย์การเมืองตรงนั้นไม่มีศูนย์ของความไม่มีศีลธรรม แม้ที่สหประชาชาติมันไม่ได้พูดกันถึงเรื่องศีลธรรมเลย มันพูดกันแต่จะคุมพวกเอาเปรียบ คุมพวกนี้เอาเปรียบพวกโน้นคุม ต่างฝ่ายต่างคุมพวกเพื่อจะเอาเปรียบกัน มันไม่มีศีลธรรมโลกนี้ไม่มีความสงบสุข ศีลธรรมนี้จะช่วยมนุษย์ได้ ไม่มีใครมอง ต้องเรียนจากตัวจริงเอาตัวจริงมาเรียน นั่นแหละขอให้เป็นระบบนี้เราเรียกว่าการอบรม ถ้าเรียนจากตัวจริงเป็นเรื่องการอบรม ถ้าว่าเรียนจากสมุดท่องจำเรียนจากคำนวณละก็มันไม่เป็นการอบรมได้ มันเป็นการเรียนอย่างที่หลับตาเรียน จะเรียนเรื่องความทุกข์ต้องเรียนที่ความทุกข์ ต้องมีความทุกข์ต้องเรียนลงไปบนความทุกข์ จะรู้เรื่องความทุกข์ เอาคำว่าความทุกข์มาเรียนอย่างคำนวณมันก็ไม่ดับทุกข์ อ้าว,ไม่ใช่ เรามีวิธี มีวิธีบอกให้คนที่มีความทุกข์และเรียนความทุกข์ของเขา เขาต้องมีความทุกข์จริง เขาจึงจะเรียนเรื่องความทุกข์ได้ ไม่อย่างนั้นก็เรียนอย่างเรียน ไม่ใช่เรียนอย่างที่ปริยัติเรียน ปรัชญาได้ไม่ต้องมีความทุกข์อยู่เวลานั้นก็เรียนได้ เรียนเรื่องความทุกข์อย่างวิธีปรัชญาได้ อย่างนี้ไม่เป็นศาสนาไม่เป็นศีลธรรม ศีลธรรมคือต้องเรียนด้วยวิปัสสนา ตานี้เห็นอย่างแจ่มแจ้งแล้วเห็นอะไรมันต้องเห็นอันนั้น เห็นสิ่งที่มีอยู่จริง จึงเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตใจ กลัวว่าคอมมิวนิสต์ไม่ทันมาพุทธศาสนาจะหมดนี่ ถ้าปล่อยกันไว้อย่างนี้ คอยดูเถอะมันไม่มีศีลธรรม พุทธศาสนาจะหมดเสียก่อนคอมมิวนิสต์มา มันไม่มีศีลธรรมรับหน้าคอมมิวนิสต์ ไม่มีลัทธิของพระพุทธเจ้าเพื่อรับหน้าลัทธิคอมมิวนิสต์ นี้ทำไมคุณมานั่งที่นี้ ไม่ได้มาด้วยกันหรือ หา อ้าว, ปิดประชุม ไปนอนแก้เหนื่อย พรุ่งนี้จะได้มีเรี่ยวมีแรง