แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หัวหน้าทีมพอจะบอกได้ไหมว่าจะให้พูดเรื่องอะไร ท่านนักศึกษาและครูบาอาจารย์ทั้งหลาย อาตมาจะไม่ถามในข้อที่ว่าท่านมานี้ต้องการอะไร เคยถามแล้วไม่ได้เรื่อง ก็เลยคิดเอาเสียเองว่า ท่านควรจะต้อง ควรจะได้รับอะไรมากกว่า เมื่อรู้สึกว่าควรจะได้รับอะไรก็ถือโอกาสพูดเรื่องนั้น ทีนี้มันกำปั้นทุบดินที่ว่าเรื่องที่ควรจะได้รับก็คือเรื่อธรรมะที่ใครๆ ก็ตอบได้ ต้องการจะรู้ธรรมะ รู้ธรรมะนี่มันก็คนละเรื่องกับมีธรรมะ เดี๋ยวนี้เรารู้ธรรมะกันมาก เข้าใจว่าเคยอ่านหนังสือกันมาคนละหลายๆ เล่มแล้วทั้งนั้น ก็รู้ธรรมะ แต่แล้วก็ยังไม่มีธรรมะ นี่ก็เรียนรู้ธรรมะแล้วธรรมะตัวจริงก็มิได้มี เราไม่ได้มีปัญหาที่ว่าไม่รู้ธรรมะ มันจะรู้มากไปก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้หนังสือหนังหาก็แพร่หลายเหลือเกิน อ่านแล้วก็รู้ พอรู้แล้วทำอย่างไรจึงจะมีธรรมะ เราจะพูดกันในข้อนี้
ที่ว่าจะได้รับธรรมะ ก็ต้องหมายความว่าได้ธรรมะจริงๆ ไป คือมีธรรมะนั่นเอง ไม่ใช่เพียงแต่เรียนรู้ หรือพูดๆ กันเรื่องธรรมะ ธรรมะคืออะไร มันก็สังเกตเห็นได้ทันทีว่า ธรรมะสำหรับเพียงแต่เรียนรู้ก็มี แล้วก็ธรรมะสำหรับปฏิบัติมันก็มี นี่ก็อีกส่วนหนึ่งอีกชั้นหนึ่ง และธรรมะที่เป็นผลของการปฏิบัติมันก็มีอยู่ส่วนหนึ่งอีกต่างหาก อย่างน้อยมัน ๓ ส่วนแล้ว คือว่าธรรมะสำหรับเรียนรู้ ท่องๆ จำๆ จดๆ ไว้ในสมุดก็ได้ ซื้อหนังสือมาอ่านก็ได้ ธรรมะสำหรับเรียนรู้ ทีนี้ธรรมะสำหรับปฏิบัติ หรือธรรมะที่เป็นตัวการปฏิบัติ มันหมายถึงการปฏิบัติธรรมะ ถ้าเรารู้จักปฏิบัติธรรมะนี่จะช่วยได้มาก คือเราสามารถปฏิบัติธรรมะ ก็เรียกว่ามีธรรมะชนิดที่เป็นการปฏิบัติ ทีนี้เมื่อมีธรรมะที่เป็นการปฏิบัติแล้ว ก็ต้องได้ธรรมะอีกประเภทหนึ่งคือธรรมะที่เป็นผลของการปฏิบัติ
ถ้าท่านมาที่นี่และหวังว่าจะได้ธรรมะ ก็ลองคิดดู ว่าจะเป็นธรรมะประเภทไหนที่จะช่วยให้ได้ในเวลาอันเล็กน้อยเท่าที่มานี้ ชั่วเวลาเล็กน้อย ส่วนใหญ่ก็ทำกันได้แต่เพียงให้รู้ธรรมะสำหรับรู้ ธรรมะสำหรับปฏิบัติก็ทำไม่ได้ เพราะมันมีเรื่องมาก มันมีพิธีการกระทำอะไรมาก กินเวลามาก ส่วนธรรมะที่เป็นผลของการปฏิบัตินั้นก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะยังไม่ได้ปฏิบัติมันก็ไม่มีทางจะได้ มันก็จะพูดถึงธรรมะที่พอจะได้ พอจะทำให้ได้รับกลับไปได้ คุ้มค่ามาหรือไม่คุ้มสุดแท้ แล้วแต่ว่าจะสนใจกันอย่างไร
ธรรมะสำหรับเรียนรู้นี่ก็ยังมีอยู่เป็นชั้นๆ เหมือนกัน คือว่าอ่านหนังสือก็เป็นเรื่องเรียนรู้ ถามกัน ถกเถียงกัน ซักซ้อมกันมันก็เป็นเรื่องเรียนรู้ จะเป็นเรียนรู้ข้างนอก คือจากหนังสือ จากบุคคล ทีนี้มีวิธีเรียนรู้อีกอย่างหนึ่ง คือเรียนจากธรรมชาติที่แวดล้อมเรา ไอ้ธรรมชาติที่แวดล้อมเราอยู่นี่ บางคนก็จะถือว่าเป็นเรื่องภายนอกตัวเหมือนกัน เช่น หนังสือหนังหา หรือเรียนจากบุคคล เรียกว่าเรียนจากภายนอกตัว ทีนี้เรียนจากธรรมชาตินั่นมันมีวิธีของมันพิเศษ คือเรียนจากความรู้สึกที่ธรรมชาติทำให้เกิดขึ้น นี่มันจะไม่ใช่นอกตัวละทีนี้ อย่างว่าท่านมาที่นี่ แล้วธรรมชาติทั้งหมดของที่นี่แวดล้อมให้เกิดความคิดนึกรู้สึกอย่างไร ท่านจะต้องเรียนจากความคิดนึกความรู้สึกเหล่านั้นโดยตรง ไม่ใช่เรียนจากต้นไม้ ก้อนหิน อะไรนักหนา ถ้าจะเรียนจากต้นไม้ก้อนหินก็ได้ มันเป็นเรื่องภายนอกจริงเหมือนกัน ดูต้นไม้ ดูความหมายของก้อนหิน ของต้นไม้ออก มันก็เป็นเรื่องภายนอกเหมือนกัน
ที่ว่าภายใน ศึกษาจากภายในนั้น คือจากความรู้สึกที่อยู่ในใจ ที่ธรรมชาติมันบังคับให้เกิดขึ้น เช่นว่าเรามานั่งอยู่ตรงนี้ ถ้าเผอิญบางคนเกิดความรู้สึกเย็นอก เย็นใจ สบายใจ เป็นสุข บอกไม่ถูก นี่ก็เป็นความรู้สึกที่ธรรมชาติตรงนี้มันบีบบังคับให้เกิดขึ้น เราจะต้องศึกษาจากความรู้สึกอันนั้นที่มีอยู่ในใจทันทีว่า เอ้, นี่ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ จนพบว่าทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ เพื่อจะได้เอาไปเทียบกันกับที่อื่น ที่กรุงเทพ ที่ในเมืองอันอัดแออะไรก็ตาม ว่าที่นั่นทำไมให้เกิดความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง ทำไมที่นี่ให้เกิดความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง จนกระทั่งว่าไปพบความจริงที่เป็นหลัก เป็นประธานอยู่ว่า ถ้าความรู้สึกของเรามันประกอบไปด้วยความยึดถือว่าตัวตน เห็นแก่ตนแล้ว มันก็จะเป็นสุขเยือกเย็นใจไม่ได้ ถ้าความรู้สึกในใจของเรามันไม่ประกอบอยู่ด้วยตัวกูของกูอย่างนี้แล้ว มันก็จะรู้สึกเป็นสุขเย็นอกเย็นใจได้ พอมานั่งลงตรงนี้ ธรรมชาติมันมีอำนาจพอที่จะบังคับไม่เกิดความรู้สึกประเภทตัวกูของกู มันให้เกิดแต่ความรู้สึกประเภทที่ว่างจากตัวกูของกู ก็จิตมันว่างจากความรู้สึกชนิดนั้น มันก็หยุด มันก็เย็น มันก็เป็นสุขกัน ที่เราไม่เคยได้รับมาแต่ก่อน คือความสุขที่เกิดมาจากจิต มันหยุด มันเย็น มันว่าง มันอิสระ มันปกติ แล้วแต่จะเรียก แต่ใจความสำคัญก็คือมันว่างจากความรู้สึกประเภทตัวกูของกูก็แล้วกัน
ธรรมชาติที่ไหนก็ตาม ที่อินเดีย หรือที่ๆ พระพุทธเจ้าเกิด หรือที่หิมาลัย หรือที่เมืองไทย หรือที่นี่ที่ไหน ถ้ามันเป็นธรรมชาติแท้ๆ แล้ว มันจะแวดล้อมจิตใจไปในทางให้เกิดความรู้สึกว่างจากความคิดนึกประเภทตัวกูของกูทั้งนั้น ฉะนั้นธรรมชาติป่านี่จึงเป็นที่พอใจของพระศาสดาทั้งหลาย ซึ่งเราจะสังเกตได้จากประวัติว่า ศาสดาของทุกๆ ศาสนาล้วนแต่ตรัสรู้กันในป่าทั้งนั้น ไม่มีศาสดาองค์ไหนได้ตรัสรู้เป็นศาสดาในบ้านในเมือง บนปราสาทราชฐาน หรือว่าบนตึกเรียนมหาวิทยาลัย อย่างนี้มันไม่มี แม้ว่าจะมีการเรียนระดับมหาวิทยาลัยในโบราณ สมัยโบราณโน้น ก็ไม่มีศาสดาองค์ไหนตรัสรู้ในห้องเรียน หรือในที่เรียนอย่างระดับมหาวิทยาลัย มันมีแต่ตรัสรู้ในป่า ในถ้ำ ในหุบเขา ในธรรมชาติอันเงียบสงัดทั้งนั้น นี่คือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธรรมชาติ ว่าได้เป็นที่เกิดของพระศาสดาทุกลัทธิ ทุกศาสนา ก็ธรรมชาติทำให้จิตใจไปอยู่ในรูปที่หยุด เย็นสงบ ปกติ อิสระ จึงคิดนึกอะไรออก มองเห็นอะไรทะลุปรุโปรงไปทีเดียว ซึ่งเรียกว่าเป็นการตรัสรู้
เราควรจะขอบใจธรรมชาติ เพราะมันมีไว้สำหรับให้เกิดพระศาสดา เราว่าเรานี่พอมาอยู่กับธรรมชาติ มันก็พลอยได้รับผลอันนั้น กลุ้มอกกลุ้มใจมา พอเข้ามาสู่ธรรมชาติอันสงบสงัด มันก็หายกลุ้มใจ รู้สึกสบายใจ ในป่า บนภูเขาก็ได้ ริมทะเลก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ขอให้เป็นธรรมชาติ และเราก็พยายามอีกทางหนึ่งที่จะให้เข้าใกล้ชิดธรรมชาติ อย่างเดี๋ยวนี้เราก็ไม่ชวนท่านทั้งหลายไปนั่งในตึกหลังโน้น ตึกสองหลังโน้น ซึ่งจะพอไปนั่งได้ มีเก้าอี้ มีอะไรได้ แต่ก็ไม่จัด หรือไม่ชวนให้ไปนั่งในตึกนั้น ต้องการให้มานั่งกลางดินที่ตรงนี้ นี้ก็เป็นเจตนาของพวกเราที่นี่ เพื่อให้ท่านทั้งหลายผู้มาได้รับประโยชน์ ได้รับกำไร หรือว่าได้รับสิ่งที่แปลกออกไปจากที่ท่านเคยได้รับอยู่ที่ในเมืองหลวง จึงชวนให้นั่งกลางดิน
บางคนอาจจะเข้าใจผิดว่าไม่ให้เกียรติ ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่อะไรต่างๆ เราก็ไม่ได้คิดไปทำนองนั้น คิดว่าให้ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ จะได้รับอิทธิพลจากธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และอีกอย่างหนึ่งก็จะให้เป็นผลทางจิตใจไปพร้อมกันเลย คือให้ท่านทั้งหลายเกิดพุทธานุสติ เรียกว่าสติระลึกถึงพระพุทธเจ้า ว่าพระพุทธเจ้านั้นท่านประสูติกลางดิน พระพุทธเจ้านั้นท่านตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็เมื่อนั่งกลางดิน ท่านสอนปัญจวัคคีย์ และสอนภิกษุเหล่าอื่นก็สอนเมื่อนั่งกลางดิน จนจะพูดได้ว่าพระไตรปิฎกทั้งหมดมันเกิดกลางดิน เกิดมาจากการสอนกันกลางดิน ในที่สุดท่านนิพพาน ก็นิพพานกลางดิน ระหว่างต้นไม้ ทำไมเป็นพระพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์จะไม่เกิดในวัง ในปราสาท มาเกิดกลางดินนี้มันเรื่องอะไรกัน จะถือว่าเป็นเรื่องบังเอิญก็ตามใจ แต่มันเป็นที่แน่นอนแล้วว่าพระพุทธเจ้าประสูติกลางดิน เวลาเที่ยงวันที่สวนลุมพินี ที่ใต้โคนต้นไม้ที่เรียกว่าต้นสาระ ที่มีอยู่หน้าตึกนั้นอยู่ต้นหนึ่ง ไปดูให้รู้จักว่าต้นสาระเป็นอย่างไร
มันจะเป็นเรื่องบังเอิญ หรือว่าเป็นเจตนาของใคร ทำให้พระพุทธเจ้าต้องประสูติกลางดิน ทีนี้ตรัสรู้ เมื่อหลีกออกไปอยู่ในป่าตามธรรมชาติ ตรัสรู้เมื่อนั่งที่โคนต้นไม้ริมตลิ่งแห่งแม่น้ำ ที่เรียกว่าแม่น้ำเนรัญชรา มันเป็นธรรมชาติไปหมดแหละ และก็กลางดินอีกแหละ ถึงแม้จะมีหญ้าคารองบางๆ มันก็เรียกว่านั่งกลางดินนี่แหละ ทีนี้ไปสอนทุกแห่ง ไปตามธรรมชาติ พบกันที่ไหนพูดกันที่นั่น และเนื่องจากนักบวชทั้งหลายในประเทศอินเดียสมัยโบราณเขาอยู่กันตามพื้นดิน กุฏิก็เป็นเรื่องกุฏิพื้นดิน เป็นโรงมีหลังคา และก็อยู่กันกลางดิน เสื่อสาดอาสนะอย่างดีสุดก็มีเตียงชนิดสำหรับนักบวชสูงสักคืบหนึ่ง มันก็เรี่ยดิน วางแล้วมันก็ยังเรี่ยๆ ดินอยู่ แต่มีน้อยมาก ส่วนมากมันก็ใช้กลางดิน ฉะนั้นเราจึงพบปะกันกลางดิน พูดจากันกลางดินเสียมากที่สุด ไปดูเรื่องที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก
ครั้นนิพพานนั้นก็เป็นนิพพานตรงที่ๆ มันเหมือนกับว่าไม่คำนึงถึงเกียรติยศอะไรหมด อยากจะนิพพานที่ตรงนี้ เป็นวนอุทยานของกษัตริย์เมืองหนึ่ง ก็เข้าไปนิพพานที่นั่น ถ้าพูดอย่างภาษาชาวบ้านไม่เป็นราชาศัพท์ ก็ต้องพูดว่า เกิดกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน ตายกลางดิน นี่คือพระพุทธเจ้า เราไม่นึกถึงข้อนี้บ้างหรืออย่างไร เมื่อเรานั่งลงกลางดินอย่างนั่งเดี๋ยวนี้ ก็ควรจะนึกถึงพระพุทธเจ้า ถ้านึกถึงก็เป็นพุทธานุสติขึ้นมาทันที เป็นสมาธิเป็นธรรมะขึ้นมา จึงถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องที่ให้ท่านทั้งหลายนั่งกลางดิน ให้มันเข้ากับเรื่องราวที่ว่า ไอ้เรื่องธรรมะนี้มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นตัวธรรมชาติ เป็นกฎของธรรมชาติ เป็นหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เป็นผลที่เกิดจากหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ อะไรก็ธรรมชาติทั้งนั้น ฉะนั้นพยายามใกล้ชิดธรรมชาติจะรู้ธรรมะได้โดยง่าย
เอ้า, ทีนี้มันก็มีวี่แววมาแล้วว่าธรรมะนั้นคืออะไร ที่อยากจะให้จำกันไว้ทุกคน มีประโยชน์แก่การศึกษาคืบหน้าต่อไปได้ผลดี อย่างนี้ก็อยากจะให้จำว่า ให้จำหลักเกี่ยวกับคำว่าธรรมะนี้ไว้ว่า ธรรมะคือตัวธรรมชาติทั้งหลาย ธรรมะคือตัวกฎของธรรมชาติทั้งหมด ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ คือหน้าที่ที่กระทำถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ นี่ก็คือธรรมะ ธรรมะคือผลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ นี่ก็คือธรรมะเหมือนกัน
ทีนี้ท่านทั้งหลายเรียนมาจากโรงเรียน ก็รู้แต่เพียงว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็แคบนิดเดียว คำว่าธรรมะในภาษาบาลี ในภาษาพุทธศาสนา มันหมายถึงทุกสิ่งหมด ไม่ยกเว้นอะไร จนว่ามันจะมีอะไรในที่ทุกหนทุกแห่งตลอดกาลทั้งปวงนี้ ทุกอย่าง ทุกส่วน ทุกหน่วย เรียกว่าธรรมะได้ทั้งนั้น นี่คือตัวธรรมชาติ ตัวธรรมชาติในสากลจักรวาล ตัวธรรมชาติที่เป็นเนื้อหนังวัตถุ หรือตัวธรรมชาติที่เป็นจิตใจของสิ่งที่มีชีวิตจิตใจอะไรก็ตาม นี่เรียกว่า ร่างกายก็ดี วัตถุก็ดี จิตใจก็ดี ทั้งหมดทั้งสิ้นที่เป็นไปอยู่ตามธรรมชาติ นี่เราเรียกว่าธรรมชาติ เรียกเป็นบาลีว่าธรรม ธรรมะ เพราะว่าคำว่าธรรมะแปลว่าธรรมชาติ นี่มันผิดจากที่จะรู้กันแต่เพียงว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันอาจจะมาบรรจบกันได้ก็ตรงที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ อะไรก็ตามที่มีอยู่ตามธรรมชาติ พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องธรรมชาติ ธรรมะคือธรรมชาติ ดังนั้นก็เข้ากันได้กับเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านสอน
ทีนี้ธรรมะอีกความหมายถัดมานี้ก็คือ กฎของธรรมชาติ ที่ไหนมีธรรมชาติ ที่นั้นจะมีกฎของธรรมชาติสิงสถิตอยู่ในสิ่งนั้นๆ ที่บังคับสิ่งนั้นๆ ให้เป็นไป มีกฎตายตัวของมัน ขี้ฝุ่น เม็ดทราย อะไรสูงขึ้นมาจนกระทั่งว่ามันมีชีวิตเป็นต้นไม้ เป็นสัตว์ เป็นคน อะไรก็ตาม ทุกๆ ส่วน ทุกๆ อณู ทุกๆ ปรมาณูของมัน มีกฎของธรรมชาติควบคุมอยู่ในตัวธรรมชาตินั้นๆ มันแยกตัวธรรมชาติออกไปเป็นธรรมะในความหมายที่หนึ่ง และแยกเอาตัวกฎของธรรมชาติในธรรมชาติเหล่านั้นออกมาเป็นธรรมะในความหมายที่สอง รู้จักคำว่ากฎของธรรมชาติให้ดีๆ มันไม่ใช่อันเดียวกับตัวธรรมชาติ มันคือตัวกฎของธรรมชาติที่ทำให้ธรรมชาติเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เป็นไป ดับไป พระพุทธเจ้าท่านก็สอนเรื่องนี้ ฉะนั้นธรรมะก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ได้ แม้ธรรมะที่เป็นกฎของธรรมชาติพระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องนี้ กฎแห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป กฎแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กฎแห่งปฏิจจสมุปบาท กฎแห่งความทุกข์ที่เรียกว่า อริยสัจ นี่ล้วนแต่เป็นกฎของธรรมชาติ ท่านค้นพบ ท่านได้ตรัสรู้ แล้วก็เอามาสอน ดังนั้นคำสอนของท่านก็เรื่องกฎของธรรมชาติจริงเหมือนกัน
ทีนี้ในความหมายที่สาม ธรรมะคือหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ทีนี้ก็มาหมายถึงหน้าที่ที่สิ่งที่มีชีวิต ถ้ามันไม่มีชีวิตมันก็ไม่ต้องปฏิบัติอะไร ก็พูดว่าต้องปฏิบัติให้ถูกกฎธรรมชาติ และก็ต้องหมายถึงสิ่งที่มีชีวิต แม้แต่ต้นไม้นี้มันก็ทำตัวให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ จึงจะรอดอยู่ได้ สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายก็ต้องทำตัวให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ มนุษย์เราก็ต้องทำตัวให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ นี่เรียกว่าหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติสำหรับสิ่งที่มีชีวิตจะต้องปฏิบัติ นี่ก็คือตัวธรรมะ
นี่มีความหมายสำคัญอยู่ที่ความหมายที่สาม นี่แหละ ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนมากที่สุด ท่านสอนว่าต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะอยู่รอดอยู่ได้ และปฏิบัติอย่างไรจึงจะดับทุกข์ทั้งปวงได้ ท่านสอน หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ นี่หมายความว่าเราต้องการจะมีความสุข ต้องการจะไม่มีความทุกข์ เราต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฎของความสุขคือไม่มีความทุกข์ มันเป็นกฎฝ่ายที่จะไม่เกิดทุกข์ เราปฏิบัติให้ถูกต้อง ทำหน้าที่นี้ให้ถูกต้อง หรือว่าลงไปถึงว่าให้รอดชีวิตอยู่ได้ เราเกิดมาแล้วจะต้องทำอย่างไร จะต้องกินอาหารอย่างไร จะต้องบริหารกายอย่างไร ต้องทำอะไรอย่างไรอย่างที่ทำๆ แล้วรอดชีวิตอยู่ได้ นี่เรียกว่าหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติในชั้นที่ทำให้รอดชีวิตอยู่ได้
ทีนี้รอดชีวิตอยู่ได้นี้มันยังมีอีกระดับหนึ่งว่า มันดีที่สุดหรือยัง มันสูงสุดหรือยัง จึงมีหน้าที่อีกชั้นหนึ่งสูงขึ้นไปว่า ไม่ใช่เพียงแต่ชีวิตรอด แต่จะอยู่อย่างดีที่สุด ถูกต้องที่สุดด้วย คือการบรรลุมรรคผลนิพพาน ดับทุกข์สิ้นเชิง มีประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น นี่มันสูงสุดที่นี่ ให้เรารู้หน้าที่อันนี้ด้วย หน้าที่ให้ชีวิตอยู่รอดอยู่ได้นั้นก็เป็นพื้นฐานทั่วไป แม้แต่สัตว์เดรัชฉานมันก็ต้องทำ นี่มนุษย์เรารอดชีวิตอยู่ได้แล้ว ยังจะต้องมีหน้าที่ที่สูงขึ้นไปให้มันแปลกจากสัตว์เดรัจฉาน คือรู้ธรรมะประเภทที่จะดับทุกข์หมด ไปอยู่กันอย่างไม่มีความทุกข์เลย เรียกว่าบรรลุมรรคผลนิพพาน
หน้าที่เหล่านี้ก็เรียกว่าธรรมะด้วยเหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านก็สอนมาก คำสอนของท่านจึงเป็นเรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติฝ่ายที่เป็นความทุกข์ ความเลว ไปทำเข้าสิ มันก็เลวจริง ทุกข์จริงเหมือนกัน แต่เราไม่มีหน้าที่ที่จะต้องไปทำอย่างนั้น ถ้าใครต้องการก็ได้ ทีนี้เมื่อทำแล้ว ผลมันเกิดขึ้นอย่างไร เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ในการปฏิบัติหน้าที่นั้นผิดหรือถูก ผลนั้นก็ยังคงเรียกว่าธรรมะอยู่นั่นแหละ หมายความว่ามรรคผลนิพพานนั้นก็เรียกว่าธรรมะด้วยเหมือนกัน หรือว่าจะได้รับความสุขอย่างมนุษย์ธรรมดาสามัญ ไอ้ความสุขนั้นก็เรียกว่าธรรมะเหมือนกัน ความสุขที่สูงขึ้นไปจนเป็นชั้นเทวดา ชั้นมรรคผลนิพพาน ก็เรียกว่าผลของการปฏิบัติหน้าที่ ก็เรียกว่าธรรมะเหมือนกัน
ฉะนั้นธรรมะจึงมีความหมายอย่างน้อยที่สำคัญๆ นี้ ๔ ความหมาย ๑. ตัวธรรมชาติ ๒. ตัวกฎของธรรมชาติ ๓. หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ๔. ผลที่เกิดจากหน้าที่นั้น นี่เราจะรู้กันแต่เพียงว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี้มันยังสลัวเกินไป ยังไม่ชัดเจน ยังไม่พอ ควรจะรู้ว่ามันว่าอย่างไร ท่านสอนว่าอย่างไร ทีนี่เมื่อเห็นว่ามันมีอยู่ถึง ๔ ความหมาย เราควรจะสังเกต ตั้งข้อสังเกตค้นหาให้พบว่าความหมายไหนสำคัญที่สุดที่เราจะต้องรู้ ขอให้ทุกคนใคร่ครวญเอาเอง ความหมายที่หนึ่ง คือตัวธรรมชาติ ความหมายที่สอง คือตัวกฎของธรรมชาติ ความหมายที่สาม คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ความหมายที่สี่ คือผลที่เกิดมาจากหน้าที่นั้น มีอยู่ ๔ ความหมาย ความหมายไหนสำคัญที่สุด เอาสติปัญญาสามัญสำนึกมาใช้คิดดูเองว่าอันไหนสำคัญที่สุด
ถ้าเขาให้เลือกเอาเพียงอย่างเดียวใน ๔ อย่างนั้น จะเลือกเอาอย่างไหน ทุกคนจะเห็นได้ทันทีได้เองว่าความหมายที่สาม หน้าที่จะต้องทำให้ถูกตามกฎของธรรมชาตินั่นแหละสำคัญที่สุด ถ้าเรารู้หน้าที่อย่างถูกต้อง เราก็ไปปฏิบัติถูกต้อง เราต้องได้รับผลเป็นแน่นอน แต่ถ้าเรารู้เรื่องกฎของธรรมชาติ รู้เรื่องของตัวธรรมชาติเองด้วยก็ยิ่งดี แต่ถ้ามีจำกัดให้เลือกเพียงอย่างเดียว เราเลือกเอาความหมายที่สาม คือหน้าที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติสำหรับสิ่งที่มีชีวิตจะต้องประพฤติ จะต้องกระทำ เพราะฉะนั้นในปทานุกรมภาษาบาลี หรือภาษาสันสกฤต ในประเทศอินเดีย ซึ่งไม่เกี่ยวกับศาสนา ปทานุกรมที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาเลย เขาก็มีคำว่าธรรมะเหมือนกัน คำว่าธรรมะนี้เขาให้คำแปลไว้ว่าหน้าที่ Duty ฉะนั้นเราก็รู้ธรรมะในความหมายนี้ ในความหมายสำคัญที่สุด จนเข้าไปเป็นคำแปลในปทานุกรมว่า หน้าที่
ที่ท่านทั้งหลายมาที่นี่ อยากจะรู้ธรรมะ มันก็คือธรรมะนี้ คำว่าหน้าที่ว่าต้องปฏิบัติอย่างไร เราควรจะพูดกันในเรื่องนี้ให้มากที่สุด ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะแก้ปัญหาในชีวิตได้ ดับความทุกข์ได้ แม้ว่าเราจะไปพูดกันเรื่องตัวธรรมชาติ เรื่องตัวกฎของธรรมชาติบ้างก็ได้ ถ้ามันเหมาะสม หรือมันอำนวยให้ ไอ้ส่วนความหมายสุดท้ายคือ ผลของหน้าที่นั้น เรายังไม่สนใจก็ได้ เพราะว่าถ้าเราปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องแล้ว ผลมันเกิดเองแหละ ไม่ต้องไปเป็นห่วงมัน
ฉะนั้นจึงสนใจแต่ว่าปฏิบัติอย่างไร จะต้องรู้ขณะที่ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง หรืออย่างเพียงพอ และก็แน่นอน ก็จะได้รับผลจากธรรมะ อย่างธรรมดาสามัญก็รอดชีวิตอยู่ได้ตามสบาย ถ้าสูงขึ้นไปก็ดับทุกข์สิ้นเชิง บรรลุมรรคผลนิพพาน และยังเป็นไปเพื่อทั้งสองฝ่าย คือเพื่อตัวเราเองด้วย เพื่อเพื่อนมนุษย์ของเราด้วย ถ้าปฏิบัติถูกต้องและสมบูรณ์ มันจะเกิดผลดีทั้งเราด้วย ทั้งเพื่อนมนุษย์ของเราด้วย เรามีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ของเราด้วยเหมือนกัน เพราะว่าเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ นี่ใครๆ ก็ควรจะมองเห็น
ถ้าเราไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น เราก็คือคนเห็นแก่ตัว และมันก็มีความสุขไม่ได้ เห็นแก่ตัวมันก็คับแคบ มันก็เกิดกิเลส ฉะนั้นจึงวางรูปโครงของธรรมะไว้ให้ครบถ้วนว่า ต้องปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนเองและผู้อื่น เราควรจะมองดูกันตรงนี้ให้มาก เพื่อจะรู้หน้าที่อันแท้จริงและสมบูรณ์ ทุกคนควรจะตั้งปัญหาขึ้นมาว่าเราควรจะได้อะไร ทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้วควรจะได้อะไร อย่าไปตั้งปัญหาว่าฉันไม่ได้อยากเกิดมา มันใครให้เกิดมาก็ไม่รู้ อย่าไปตั้งปัญหาอย่างนั้น คือยอมรับเสียว่า เดี๋ยวเราก็ได้เกิดมาแล้ว มันไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงแล้ว แล้วเราควรจะได้อะไร ทุกคนลองคิดดู ลองเลือกดูตามพอใจ
อาตมาก็บอกได้แต่ว่า ถ้าถือตามหลักของธรรมะแล้ว เราควรจะได้ประโยชน์ส่วนตัวเราคือ ดับทุกข์ ดับปัญหายุ่งยากเร่าร้อนในชีวิตหมดสิ้น เป็นคนเย็น เป็นคนมีความสงบเย็นเป็นสุข นี่ส่วนตัวเรา และก็ให้การเป็นอยู่ของเรานั้นเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย นี่เราควรจะนึกด้วยในข้อนี้นะ เราควรจะเป็นผู้มีความสุขสงบเย็น หมดปัญหาของเรา และเราควรจะเป็นผู้ที่มีประโยชน์ เป็นประโยชน์ แก่เพื่อนมนุษย์ของเราพร้อมกันไปด้วยในตัว นี่คือสิ่งที่เราควรจะได้ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ เราก็เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยธรรมะ จำกัดความว่าสมบูรณ์ด้วยธรรมะ ไม่ใช่สมบูรณ์ด้วยเรื่องอื่น เงินทอง ข้าวของ อะไรก็ไม่ได้พูดถึงในที่นี้ สมบูรณ์ด้วยธรรมะ หรือจะเรียกว่าสมบูรณ์ด้วยความเป็นมนุษย์ มีความเป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยม เราต้องได้รับประโยชน์คือว่า มีความสงบสุข ไม่มีความทุกข์ และการที่มีเราอยู่ในโลกนี้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย เราควรจะนึกและก็พยายามที่จะให้เป็นตามนั้น ทำอย่างไรเราจะไม่มีความทุกข์เลย และทำอย่างไรที่จะให้ชีวิตของเรานี้เป็นประโยชน์แก่ทุกคนในโลกด้วย ก็ลองคิดดูเองก็ได้ ถ้าทำได้ก็ได้ ไม่ต้องเสียเวลามาศึกษาพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าก็เปิดโอกาสให้ท่าน ท่านคิดได้เองก็ท่านคิดเถิด ถ้ามันได้ มันก็ได้เหมือนกันแหละ มันก็จะตรงกับที่ว่าเราพูด เราก็ลองคิดดูเองบ้างเราจะทำอย่างไร ต่อเมื่อเราจนปัญญา คิดไม่ได้ คิดไม่ออก จึงจะมาหาพระพุทธเจ้า ขอทราบคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตามที่ได้สอนสืบๆ กันมา แนะไว้อย่างไร เดี๋ยวนี้เราก็เรียนอะไรมามาก เป็นครูบาอาจารย์มาแล้ว ตอบปัญหาว่ามนุษย์ควรจะได้อะไรบ้าง นี่ควรจะตอบได้ ถ้าตอบไม่ได้ ก็ไม่ควรจะเรียกตัวเองว่าครูบาอาจารย์ คือไม่รู้ว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อจะได้อะไร มันก็ต้องมีส่วนถูกอยู่มากแหละที่เราจะตอบได้เองว่า มนุษย์ควรจะได้รับอะไร การที่เกิดมาเป็นมนุษย์อยู่นี้ ก็ทำจนได้รับสิ่งนั้น
คนที่มีอายุยังน้อย มันก็อาจจะงงเหมือนกัน ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม หรืออะไรจะเป็นประโยชน์ที่สุด แต่ทีนี้คนผ่านโลกไปมากๆ อายุมากๆ แล้ว ก็คงจะมีความคิดที่เข้ารูปเข้ารอยว่า เราควรจะได้รับอะไร เพราะว่าเขามองเห็นปัญหา มองเห็นความทุกข์นานาชนิด นานาระดับ อยู่ในโลก ในบ้าน ในเมือง ไม่อยากจะมีสิ่งเหล่านั้น ไม่อยากจะมีปัญหาเหล่านั้น อยากจะหมดปัญหาเหล่านั้น นี่ก็สังเกตเองให้ละเอียด ดูไปให้ละเอียด ดูไปให้ละเอียดก็จะค่อยๆ พบมากขึ้นเหมือนกันว่า เราควรจะได้อะไร เราควรจะทำอย่างไรในที่สุด มันก็เป็นเรื่องค้นคว้า เมื่อค้นคว้าในสิ่งที่เรายังไม่รู้ เราก็เรียกว่า คลำ คลำไป ที่จริงการพิสูจน์ทดลองทางวิทยาศาสตร์มันก็คือการคลำชนิดหนึ่ง อย่าอวดดีไปเลย
ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านเกิดขึ้นในโลกแล้ว ท่านมองเห็นว่า ไอ้อย่างที่มนุษย์เขามีๆ กันอยู่นั้นน่ะ มันไม่วิเศษอะไร ท่านจึงออกไปค้นหาเพื่อจะให้รู้ ให้พบสิ่งที่ดีกว่านั้น ท่านก็ทำอาการอย่างคลำเหมือนกัน แต่ไม่ได้คลำอย่างทางวัตถุ ท่านคลำทางจิตทางวิญญาณ สอดส่องดูแลเรื่อยไป จนไปพบจุดที่มันถูกต้องคือ การตรัสรู้ ถ้าพูดด้วยคำธรรมดา ซึ่งค่อนข้างหยาบคายหรือโสกโดก อาตมาก็เคยพูดว่า พระพุทธเจ้าท่านมีอาจารย์ชื่อนายคลำ คนเขามักจะพูดว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้เองไม่มีครูบาอาจารย์ อาตมาบอกว่า อาจารย์ของพระพุทธเจ้ามี ชื่อนายคลำ โดยตัวของท่านเอง ท่านก็พบ แล้วท่านก็ตรัสรู้ ทีนี้เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ก็ลองคิดดู ถ้าเราจะอวดเก่งว่า เราไม่อยากจะเรียนต่อจากพระพุทธเจ้า เราก็ต้องคลำไปเหมือนกัน แต่ว่ากว่าเราคลำพบอย่างที่พระพุทธเจ้าพบ มันคงจะกินเวลามาก จะหลายชาติ หลายสิบชาติ หลายร้อยชาติ หลายพันชาติ กว่าจะพบเท่ากับที่พระพุทธเจ้าพบ
ฉะนั้นคุณจึงเอาเปรียบ มาสวนโมกข์ มาให้อาตมาช่วยบอกเรื่องที่พระพุทธเจ้าค้นพบ ก็เพื่อประหยัดเวลา แต่คุณก็มีสิทธิ์ที่จะไปคลำเอาเอง นั่นเอาเอง จนกว่าจะพบ และก็จะเก่งมากด้วย ถ้าว่ามันค้นพบเอง คลำพบเอง เดี๋ยวนี้กลัวมันจะไม่ทันเวลา มันจะตายเสียก่อน มันจึงหาวิธีที่จะศึกษาธรรมะที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อประหยัดเวลา เอาไปพิสูจน์ทดลอง ให้พบที่มันตรงกับเรื่องของเรา แล้วก็ปฏิบัติ มันก็พอจะได้รับผลทันแก่เวลา ทันแก่ชีวิต ถือว่าชีวิตนี้คงไม่เกินร้อยปีไปได้ ฉะนั้นเราก็มีการศึกษา มีการทดลอง ค้นคว้าปฏิบัติไปเรื่อยๆ ให้มันถูกต้องตามทำนองคลองธรรม แล้วก็ได้บรรลุผลของพระธรรมทันในเวลาชีวิต และทุกคนโลกมันก็จะมีความสงบสุข แล้วก็เป็นโลกที่น่าดู เป็นโลกที่น่าอยู่ เป็นโลกที่น่าชื่นใจ
เดี๋ยวนี้ก็อยากจะบอกเสียเลยว่า ให้ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่าในโลกนี้เขาคิดอย่างที่เรากำลังพูดนี้หรือเปล่า และว่าการศึกษาที่มีอยู่ในโลกนี้มันให้สำเร็จประโยชน์อย่างนี้หรือเปล่า ถ้าว่ามันมีในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัยของคุณ คุณก็ไม่ต้องมาที่สวนโมกข์สิ เพราะมันมีความรู้อย่างนั้นให้แล้ว มันก็ไม่ต้องมา เดี๋ยวนี้ที่โรงเรียน ที่มหาวิทยาลัยนั้น มันเรียนกันแต่หนังสือ เรียนกันแต่วิชาชีพ ไม่สอนธรรมะ มันจึงขาดอยู่นะ ขาดอยู่ส่วนหนึ่งทีเดียว ไอ้ส่วนของการศึกษาที่สำคัญที่สุดคือ รู้หนังสือศิลปะอะไรให้มันฉลาด นี่ส่วนหนึ่ง มันมีสอนกันจนเฟ้อ และวิชาชีพที่ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี วิชาใช้เทคนิคให้เป็นประโยชน์ นี่สอนกันมาก ก้าวหน้ากันใหญ่ จนโลกนี้จะเป็นอะไรไปแล้ว นี่ก็เรียกว่าวิชาชีพ สอนกันเต็มที่
แต่พอมาถึงวิชาธรรมะ ไม่ได้สอนถึงขนาดนั้น จนยุวชนทั้งหลายนี้ไม่รู้ว่าจะเป็นมนุษย์กันอย่างไร คุณรู้สึกว่าเป็นคำด่าไหม ที่จะพูดว่าเดี๋ยวนี้คุณก็ไม่รู้ว่าจะเป็นมนุษย์กันอย่างไร หรือจะว่ามีธรรมะกันอย่างไรก็ไม่รู้ เพราะว่าที่โรงเรียน ที่มหาวิทยาลัย มันไม่ได้สอน อาตมาจึงตะโกนออกมาคราวหนึ่งว่า ระบบการศึกษาในโลกยังเป็นระบบการศึกษาหมาหางด้วน มันไปหลงในวัตถุนิยมในวิชาเทคโนโลยีฝ่ายวัตถุมากเกินไป ไม่สนใจเรื่องจิตใจ มันก็ขาดอยู่เหมือนกับหมาหางด้วน ครูบาอาจารย์หลายคนฟังแล้วเขาโกรธ ผู้จัดการศึกษาของกระทรวงก็โกรธ อาตมาก็เปลี่ยนใหม่ สุนัขหางหาย โกรธนิดหน่อย เดี๋ยวนี้พูดใหม่ดีกว่า เขาก็จะได้โกรธน้อยลงหน่อยว่า การศึกษายังเป็นระบบเจดีย์ยอดด้วน มันเจ็บน้อยกว่าว่าหมาหางด้วนใช่ไหม เจดีย์ยอดด้วนมีแต่ฐานเจดีย์ มีองค์เจดีย์แล้วไม่มีส่วนยอด ตอนที่เป็นยอดมันไม่มี
นี่เรียนกันแต่หนังสือ เรียนกันแต่อาชีพ พอถึงธรรมะที่จะให้เป็นมนุษย์ได้สมบูรณ์ ไม่ได้เรียน มันก็เหมือนกับเจดีย์ยอดด้วน มันไม่น่าดู จึงขอให้ทุกคนสนใจศึกษาธรรมะอีกส่วนหนึ่ง เป็นส่วนที่สามของการศึกษาให้มันสมบูรณ์ หนังสือก็รู้ วิชาวิชาชีพก็รู้ และก็ธรรมะก็รู้ ธรรมะนี่รู้สำหรับเป็นมนุษย์ให้ถูกต้อง ให้อยู่เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง การรู้หนังสือการรู้อาชีพนั้นล้วนแต่สร้างปัญหาทั้งนั้นแหละ คุณก็ควรจะรู้ รู้สึกอยู่แล้ว ไปหลงใหลในเรื่องอาชีพ เรื่องเงิน เรื่องทอง เรื่องเกียรติยศชื่อเสียง ก็ล้วนแต่สร้างปัญหาร้อนเป็นไฟอย่างนั้น ต้องมีธรรมะที่จะดับไฟแก้ปัญหาเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง เราอยู่กับโลกซึ่งมันทำให้เกิดปัญหาร้อนเป็นไฟ ก็ต้องมีธรรมะที่จะดับไฟนั้นอีกทีหนึ่ง นี่แหละความจำเป็นที่จะต้องศึกษาในส่วนที่สาม คือศึกษาธรรมะ พอมีการศึกษาส่วนนี้ มันก็เป็นมนุษย์กันถูกต้อง พระเจดีย์มันก็ไม่ยอดด้วน มันเป็นพระเจดีย์ที่สมบูรณ์ ขอให้สนใจธรรมะในฐานะที่มันมีความหมายมากถึงขนาดนี้
ถ้าไม่มีธรรมะ ไอ้มนุษย์คนนั้นก็เป็นเหมือนกับหมาหางด้วน หรือพระเจดีย์ยอดด้วน ต่อเมื่อมีธรรมะแล้ว มนุษย์คนนั้นจึงจะเป็นเหมือนพระเจดีย์มียอด หรือสุนัขที่หางไม่ด้วน ที่มันสมบูรณ์หรือมันน่าดู ไอ้หางสัตว์นี้เราพอจะมองเห็นได้ว่ามันมีไว้สำหรับความสมดุล เมื่อเดิน เมื่อวิ่ง เมื่ออะไร ถ้ามันมีหางนี่ทำให้เกิดความสมดุล พอไม่มีหางมันก็เสียความสมดุล ลองจับสัตว์มาตัดหาง แล้วปล่อยให้มันบิน หรือให้มันวิ่ง มันจะวิ่งชนิดวกวนเปะปะ บางทีหมุนติ้วเลย อย่างนกนี่จับมาถอนขนหางหมด แล้วปล่อยไป มันจะบินอย่างหมุนติ้ว ไปไหนไม่ได้ เพราะมันไม่มีหาง ฉะนั้นหาง ขึ้นชื่อว่าหางแล้วก็มันมีลักษณะทำให้เกิดความสมดุล ทำให้รักษาทิศทางที่จะวิ่งไปนั้นได้ มันมีประโยชน์จำเป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นธรรมะนี่ก็เหมือนหางแหละ ถ้าเราจะถือหางชีวิตนี่ ให้ชีวิตนี่มันแล่นไปอย่างถูกต้อง ฉะนั้นขอให้สนใจธรรมะในลักษณะนี้ และมองเห็นได้ว่ามันมีค่ากว่าการศึกษา ๒ ชั้น ๒ ระดับข้างต้น คือรู้หนังสือกับรู้อาชีพ เรารู้หนังสือ และรู้อาชีพ และมีอาชีพดีแล้ว ปัญหายังไม่หมด เราจะต้องเผชิญกับกิเลสความทุกข์ ซึ่งมันเกิดอยู่ตามธรรมชาติในโลกนี้ ซึ่งมันต้องมีในโลกนี้ เราจึงเห็นคนนั่งร้องไห้ก็มี ฆ่าตัวตายก็มี เป็นอันธพาลก็มี อันธพาลทั้งหลายเขาไม่อาจจะแก้ปัญหาของเขาได้ เขาจึงต้องเป็นอันธพาลอย่างเลวร้ายมากขึ้นทุกทีๆ ฉะนั้นถ้าเขามีธรรมะพอ เขาแก้ปัญหาได้ เราจงแก้ปัญหาได้เพราะมีธรรมะพอ
อาตมาพูดไปบ้าง ไม่ใช่บ้าง หลายครั้งแล้วล่ะสิว่า เรามีการศึกษาที่สมบูรณ์กันเถิด เมื่อเรายืมเอาคำว่า ศึกษา มาใช้ในภาษาไทยนี้ ก็ขอให้เอาความหมายมาด้วย อย่าเอามาแต่คำ คำว่า ศึกษา ศึกษาเหมือนอย่างมาใช้เป็นเรื่องศึกษาในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัยนี้ ก็เรียนแต่หนังสือกับอาชีพ ยึดความหมาย คือมีแต่พยัญชนะหรือคำเรียก ความหมายไม่ได้เอามา ถ้าเอาความหมาย มันต้องเล็งถึงว่า พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสให้ศึกษาหรือสิกขาไว้ ๓ อย่าง ศีลสิกขา ความถูกต้อง การกระทำที่ทำให้เกิดความถูกต้องทางร่างกาย ทางวัตถุ นี่คือศีลสิกขา ระบบประพฤติระบบหนึ่งทีเดียว ทำให้เกิดความถูกต้องทางร่างกาย ทางวัตถุ ทีนี้อันที่สองเรียกว่า จิตสิกขา ความถูกต้องทางจิต ทางเรื่องของจิต ตัวจิต อนามัยของจิต สมรรถภาพของจิต อะไรก็ตาม มันถูกต้องหมด นี้เรียกว่า จิตสิกขา คือเรื่องสมาธินั่นเอง ชนิดที่สาม ก็เรียกว่า ปัญญาสิกขา ความถูกต้องของสติปัญญา ความรู้สึกคิดนึก ความเชื่อ ความคิดความเห็นอะไรก็ตาม นี่รวมไว้ในชุดนี้หมด นี่เรียกว่าปัญญาสิกขา ความถูกต้องทางสติปัญญา
สิกขามี ๓ ถูกต้องทางกาย ทางวัตถุนี้ ทางวาจาอะไรด้วย นี้เรียกว่า ศีล ทีนี้ถูกต้องทางจิต เรียกว่า สมาธิ ถูกต้องทางสติปัญญา ความคิดความเชื่ออะไรต่างๆ เรียกว่า ปัญญา ขอให้เอาศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา มาครบทั้งคำเรียกและเนื้อความ ความหมายของคำว่าสิกขาต้องเอามาด้วย เราก็จะมีการศึกษาส่วนที่เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เอามาใช้ในโลกนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของพระอยู่ที่วัด หรือไม่ใช่เป็นเรื่องของฤษีมุนีอยู่ในป่า อยู่ที่บ้าน อยู่ในโลกนั่นแหละ มันต้องการสิกขาทั้ง ๓ นี้ คือเขาจะต้องมีความถูกต้องทางวัตถุ ทางร่างกาย อย่าให้มีความผิดพลาดเลย อยู่ที่บ้านหรืออยู่ในโลกไหนก็ตาม อย่าให้มีความผิดเกิดขึ้น ทางร่างกาย อนามัยของร่างกาย ทางวาจาการพูดจา วัตถุสิ่งของ เครื่องใช้ไม้สอย บ้านเรือนต่างๆ อย่าให้มันมีความผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ นี่คือศีลสิกขา มันดีเท่าไรถ้าหากว่าเรามีความถูกต้องในโลกนี้ในเรื่องนี้
เดี๋ยวนี้เห็นไหมเรายังกินเกิน ยังแต่งเนื้อแต่งตัวเกิน เหมือนอย่างพวกคุณนี่แหละ มันยังมีความผิดพลาดอยู่ในเรื่องนี้ เรายังมีการพูดจาที่ไม่ถูกต้อง มีเรื่องทางวัตถุที่ไม่ถูกต้อง มีเครื่องใช้ไม้สอยเกิน หรือไม่จำเป็น หรือยุ่งยากลำบาก ทั้งโลกกำลังทำผิด ในเรื่องร่างกายจึงมีเรื่องเจ็บไข้ มีเรื่องไม่สะดวกสบายเกี่ยวกับทางกาย เกี่ยวกับเครื่องใช้ไม้สอย สิ่งเหล่านี้กับเพิ่มภาระให้ มีรถยนต์คันเดียวไม่พอ ต้องมี ๒-๓ คัน มีบ้านราคาแสนไม่พอ ต้องมีบ้านราคาล้าน มันก็มัวผิดกันอยู่ตรงนี้ เมื่อไรมันจะสงบ เมื่อไรมันจะอยู่กันอย่างผาสุก เราทำผิดเรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องอาบ เรื่องถ่าย เรื่องอะไรแล้ว มันก็ไม่มีความสุขทางกาย นี้ก็เรียกว่า มันไม่มีศีลสิกขา มันฆ่าสัตว์คือ ประทุษร้ายชีวิตร่างกายผู้อื่น มันลักทรัพย์คือ ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของเขา มันประพฤติผิดกาเมคือ ประทุษร้ายของรักของผู้อื่น มันพูดมุสาประทุษร้ายความเป็นธรรมยุติธรรมของผู้อื่น มันดื่มน้ำเมาประทุษร้ายสติปัญญาสมปฤดีของตัวเอง นี่มันผิดเท่าไร มันโง่เท่าไรเล่า คือมันไม่มีศีลสิกขา
ปอดมันอยู่ดีๆ เอาควันไปรมมันเข้า ไปซื้อมาซองละ ๘ บาท ๑๐ บาท เอาควันรมปอด ปอดมันอยู่ดีๆ มันจะได้พังเร็วๆ นี่มันทำผิดทางศีลสิกขา น้ำอะไรก็ไม่รู้ขวดตั้งหลายสิบบาท เอามากินให้ตับมันแข็งเร็วๆ นี่มันทำผิดทางศีลสิกขาอย่างนี้ แล้วเมื่อไรโลกนี้มันจะไปสู่ความสงบสุขเล่า ลองคิดดู ทำไมไม่เอาความหมายของคำว่าสิกขาที่เป็นส่วนศีลนี้มาด้วย เพราะเอาคำว่าสิกขาเขามาใช้แล้วไม่เอาความหมายมาให้หมด ทีนี้จิตสิกขา ถูกต้องทางจิต เขามีจิตที่ดี จิตที่ไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ มีอนามัยดี คิดเก่ง จำเก่ง อยู่ด้วยความปกติ และไม่มีโรคจิต ไม่มีโรคประสาท ไม่มีโทษเกี่ยวกับทางจิต นี่เรียกว่าจิตสิกขา ทำไมไม่เอามาด้วย ทำไมไม่มาสอนในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ให้พวกเรามีสมรรถภาพทางจิตสูงเล่า สมรรถภาพทางจิตสูงเขาบัญญัติไว้ว่า
๑. มันเป็นจิตบริสุทธ์ ไม่ถูกกิเลสย่ำยี และ
๒. มันเป็นจิตที่ตั้ง มั่นเข้มแข็ง มีกำลัง และก็
๓. มันเป็นจิตที่ว่องไวในหน้าที่การงานของจิตนั้น
อย่างที่หนึ่งเรียกว่า ปริสุทโธ จิตมันบริสุทธิ์ อย่างที่สอง จิตมันเข้มแข็ง มั่นคง ตั้งมั่น เรียกว่า สมาหิโต อย่างที่สาม จิตมันว่องไว Active คำว่า Active มันใช้กันได้กับคำนี้ ในหน้าที่การงานของมัน เขาเรียกว่า กัมมนีโย ถ้าจิตมัน ปริสุทโธ สมาหิโต กัมมนีโย แล้วก็เรียกว่า เราไม่มีความผิดพลาดทางจิตล่ะ เราใช้จิตนี้ทำประโยชน์ได้เต็มที่ ฉะนั้นควรจะเอาความหมายของคำว่า จิตสิกขา นี้มาใช้มาสอนกันอยู่ในการศึกษา ในระบบการศึกษา ที่โรงเรียน ที่มหาวิทยาลัยด้วย
คุณไปคิดดูเถิด ที่ไหนมุมโลกไหนมันไม่ต้องการจิตที่อย่างนี้ เมืองฝรั่ง เมืองแขก เมืองและคนระดับไหนชั้นไหนที่ไม่ต้องการจิตชนิดนี้ มันต้องการทั้งนั้น มันมีประโยชน์ ไม่ให้โทษเลย อย่าว่าเป็นเรื่องของพระ อย่าเป็นเรื่องของคนอยู่ในป่า คนที่อยู่ในบ้านในเมืองควรจะมีจิตชนิดนั้น มันจะมีสมรรถภาพสูงสุด
ทีนี้ปัญญาสิกขา ถูกต้องทางสติปัญญา ในโลกทั้งโลกมันต้องการความถูกต้องของสติปัญญา ความรู้ ความคิด ความเชื่อ เราก็มีปัญญาให้มันถูกต้อง คือปัญญาที่จะดับทุกข์ได้ เดี๋ยวนี้เรามีปัญญาที่เรียกว่า เฉโก ปัญญาเห็นแก่ตัว ปัญญาที่ไม่ถูกต้อง เรียกเป็นภาษาไทยๆ เรียกว่า เฉโก เขาให้ความหมายของคำว่า เฉโก ในภาษาไทยไว้อย่างนี้แล้ว จึงขอร้องว่าให้ทุกคนนี่สนใจ ศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา ความถูกต้องทางกาย ทางวัตถุ ความถูกต้องทางจิต ความถูกต้องทางสติปัญญา นี่คือตัวธรรมะที่เป็นหน้าที่ ความหมายของธรรมะที่สำคัญคือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และก็ทำให้มันเป็นอย่างนี้ให้ได้ ให้มีความถูกต้องทางกาย ทางจิต ทางปัญญา
ขอให้ประพฤติกระทำในลักษณะที่มีความถูกต้องทางกาย ทางจิต ทางปัญญา ฉะนั้นควรจะศึกษากันเป็นพิเศษ อย่าศึกษาให้เฟ้อ มันเสียเวลา เรื่องมันมากเกิน แล้วก็ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์น่ะ เราศึกษา ๒-๓ ธรรมขันธ์ก็พอ พระพุทธเจ้าท่านก็เลือกแล้วว่า มันควรเอามาสอนเท่าไร ที่ท่านไม่เอาสอนนั้น ท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนกับใบไม้ทั้งป่า คิดดูเถิด และที่ท่านเอามาสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว ท่านก็เลือกคัดให้เป็นอย่างยิ่งแล้ว ให้เหลือเพียงกำมือเดียวจากใบไม้ทั้งป่า ก็คือสอนนี้ ศีล สมาธิ ปัญญา ดับทุกข์กันอย่างไร เป็นอยู่ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา นี้ก็เรียกว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มรรคมีองค์ ๘ ประการ มันก็พอที่จะทำให้แก้ปัญหาทั้งหมดได้ ฉะนั้นขอให้สนใจ ให้มีธรรมะพอส่วนเฉลี่ยว่า ไอ้ความรู้หนังสือเราก็มีพอตัว ความรู้อาชีพเราก็มีพอตัว ความรู้ธรรมะเราก็มีพอตัว นี่คือความเต็มเปี่ยมของความเป็นมนุษย์ มนุษย์ที่เต็มแห่งความมนุษย์มันมีอย่างนี้
ฉะนั้นขอให้สนใจ อย่าให้การศึกษาเป็นเหมือนหมาหางด้วน หรือเจดีย์ยอดด้วนอีกต่อไป ท่านทั้งหลายก็เป็นครู ท่านทั้งหลายก็เป็นนักศึกษาครูที่จะเป็นครูในอนาคต ช่วยกันทำให้การศึกษานี้สมบูรณ์ นี่อาตมาก็ขอร้องกลับไปบ้าง โดยการแลกเปลี่ยนกัน ถ้าเราทำได้อย่างนี้ก็คือ ทำประโยชน์แก่สากลโลก ให้โลกนี้ไม่มีปัญหา เดี๋ยวนี้มนุษย์ในโลกมันสนใจกันแต่เรื่องหนังสือกับอาชีพ เทคโนโลยีเอามาใช้เพื่ออาชีพ หรือว่าประดิษฐ์อะไรที่มันเป็นเรื่องทางวัตถุ ทำอะไรขึ้นมาในโลกนี้ เช่นว่าอย่างไปโลกพระจันทร์ก็ไปได้เป็นว่าเล่น ต่อไปเป็นเรื่องว่าเล่น ไปโลกพระจันทร์กลายเป็นเรื่องขี้เหล่ ขี้ประติ๋ว เพราะมันก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น แต่นั่นมันไม่ร้ายกาจเท่ากับที่ว่าเขาใช้วิชาเทคโนโลยีนี่สร้างสิ่งที่ทำลายมนุษย์ ทำลายจิตใจของมนุษย์ ไปสร้างสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับมนุษย์ ให้มนุษย์มากินมาใช้เสียเวลา
ครูบาอาจารย์มัวแต่เปิดแคตตาล็อกกระโปรง เปิดแคตตาล็อกกางเกงยีนส์อย่างนี้ ไม่เคยไปเปิดหนังสือตำรับตำราทางธรรมะให้มันมากพอๆ กัน นี่เพราะว่าเทคโนโลยีมันก้าวหน้ามาก คุณมีเสื้ออย่างนี้ แล้วเขาทำอย่างใหม่ขึ้นมา คุณก็ต้องซื้ออีก คุณมีกางเกงอย่างนี้ เขาออกแบบใหม่มา คุณต้องซื้อมันอีก แล้วมันไม่ใช่เพียงเท่านั้น มันมีอะไรอีกมากมายที่เราหาเงินมาซื้อไม่ทัน จนเราร้องตะโกนว่าเงินเดือนไม่พอใช้ ทุกคนร้องตะโกนว่าเงินเดือนไม่พอใช้ทั้งนั้น เพราะผลของเทคโนโลยีในโลกมันก้าวหน้า มันทำสิ่งให้เกิดอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางจิตใจ นี่เขาใช้วิชานี้ มาทำให้มันเกิดของใหม่ๆ ขึ้นมา ทำให้คนหลงใหลไม่พออยู่เรื่อย เพิ่มเงินเดือนให้คุณอีก ๓ เท่าตัว มันก็ไม่พอใช้
เดี๋ยวนี้เราจะเพิ่มสัก ๒๐% ก็ยังลำบาก ให้เพิ่มสัก ๓๐๐% มันก็ยังไม่พอใช้อยู่นั่นแหละ เพราะในโลกนี้เขาผลิตไอ้สิ่งที่จะทำให้เราอยากได้อยากใช้มาก มากขึ้นๆ เราไม่รู้มันเป็นเรื่องเกิน เราก็หลงใหล กินเกิน แต่งเนื้อแต่งตัวเกิน เครื่องใช้ไม้สอยเกิน เล่นหัวเกิน อะไรเกิน จนพวกคอมมิวนิสต์เขาไปพูดว่า นี่เป็นกลลวงของนายทุน พวกนายทุนเขาผลิตอุตสาหกรรมยั่วยวนออกมา ทำโลกให้มันเป็นทาสของนายทุน พวกคอมมิวนิสต์เขาว่าอย่างนี้นะ มันมีส่วนถูกอยู่เหมือนกัน แต่เขาก็สวมรอยมากกว่า ที่จริงกิเลสของมนุษย์น่ะทำให้มนุษย์โง่หลงใหลในส่วนเกิน แล้วนายทุนเขาก็มีเครื่องจักรอุตสาหกรรมผลิตของส่วนเกินออกมาขาย กิน ใช้ อย่างมากมายท่วมโลกไปเลย เพราะเราไม่รู้ทัน ไปชอบส่วนเกิน มันก็ผิดธรรมะเพราะมันเกิน ธรรมะมันต้องสมดุล ถ้าเป็นเรื่องของการเกินแล้วก็ผิดธรรมะ ฉะนั้นช่วยระวังกันสักหน่อย อย่าให้มันเกิน พระพุทธเจ้าท่านวางระเบียบไม่ให้มันเกินไว้แล้ว เรามันไม่สนใจกันเอง
ระหว่างที่พักอยู่ที่นี่ถือศีล ๘ กันหรือเปล่า นั่นน่ะส่วนที่จะป้องกันไม่ให้เกิน อาหารที่เกินไม่กิน อาหารเย็น อาหารอะไรที่มันเป็นส่วนเกิน อร่อยเกิน ดีเกิน แพงเกิน ไม่กิน เรื่องฟ้อนรำ ขับร้อง ไปเลาจน์ ประดับประดาตกแต่งรูปทาอะไรนี้ มันเกิน มันก็ไม่เอา ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่เกินก็ไม่เอา เครื่องใช้ไม้สอยสวยเกินก็ไม่เอา เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยก็ไม่เอา เอาธรรมดาๆ คนที่ถือศีล ๘ ศีลอุโบสถ เขาถืออย่างนี้ มันไม่มีทางจะเกินได้ แล้วก็ไม่ถูกกิเลสครองงำเรา ไปคิดเอาเองเถิด อะไรมันเกิน มันดีเกิน สวยเกิน งามเกิน ก็อย่างไปเอากับมันเลย เอาตามธรรมดาดีกว่า มันเป็นธรรมะ ถ้าเกินเป็นกิเลส ถ้าพอดีก็เป็นธรรมะ
เดี๋ยวนี้ชอบเกิน ทำไมล่ะ เพระว่ามันเป็นทาสของความอร่อย ความลับของธรรมะคุณอยากจะรู้ไหม ถ้าอยากรู้ ก็อยากจะบอกให้ว่า ไอ้ต้นเหตุของมัน มันอยู่ที่มนุษย์มันชอบอร่อย มันจึงทำผิดธรรมะ ไม่มีธรรมะ อร่อยทางตาเห็นมันสวย อร่อยทางหูให้มันไพเราะ อร่อยทางจมูกให้มันหอมหวน อร่อยทางลิ้นให้มันอร่อยอย่างรสทางลิ้น อร่อยทางผิวหนัง ทางกามารมณ์ อันนี้ก็ยิ่งไม่มีขอบเขต กระทั่งอร่อยทางจิตใจ เกียรติยศชื่อเสียงที่หลงใหลกันนัก เพราะความอร่อยทางจิตใจ
มันมีอวัยวะสำหรับรู้สึกอยู่ ๖ อย่างคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอยู่ ๖ อย่าง ทุกอย่างไอ้มนุษย์ปุถุชนนี่มันต้องการอร่อย ปัญหามันก็เกิดจากการอร่อย กิเลสเกิดมาจากการต้องการอร่อย ถ้าไม่หลงใหลในความอร่อยแล้ว ไม่มีทางที่กิเลสจะเกิดขึ้นได้ เมื่อรู้จักสิ่งที่ร้ายกาจที่สุด ก็คือสิ่งที่เป็นความอร่อย บาลีเขาเรียกว่า อัสสาทะ ความอร่อยที่เป็นเสน่ห์ที่จะผูกมัดจิตใจสัตว์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ความอร่อยนี้เป็นเสน่ห์ที่จะผูกมัดจิตใจสัตว์ นี่คือต้นตอรากเหง้าแห่งปัญหาทั้งหลาย
ถ้าเราไม่เป็นทาสของความอร่อย ไม่ต้องการความอร่อยแล้วว่ากิเลสไม่มีทางเกิดได้ ความโลภมันเกิดไม่ได้เพราะเราไม่ต้องการเกิน ต้องการแต่พอดี เมื่อต้องการแต่พอดี ไม่ต้องการเกิน มันก็โกรธไม่ได้ ไอ้โกรธนี้มันเกิดมาจากการที่ไม่ได้ตามที่ตัวต้องการ มันมีความโลภเป็นความต้องการ ทีนี้มันก็เผาผลาญมากอยู่เหมือนกัน ทีนี้พอไม่ได้ตามที่ต้องการ มันก็เกิดโทสะ คือความโกรธ ทีนี้มันไม่มีปัญญาที่ทำให้ได้ที่ควรจะได้มันก็เป็นโมหะ เป็นความโง่ เป็นความหลง ฉะนั้นอย่าชอบที่มันเป็นของหลอกลวง ยั่วยวน คือความอร่อย ถ้าเรามัวแต่เป็นทาสของความอร่อยกันแล้วก็ ไม่มีทางที่จะมีธรรมะได้ มันเดินสวนทางกันเสมอ กิเลสกับโพธิหรือธรรมะนี่ มันเดินสวนทางกันเสมอ ถ้าเราบูชาความอร่อยมันก็เดินสวนทางกับธรรมะ ธรรมต้องการให้เป็นอิสระ ให้พอดี ถูกต้อง
เดี๋ยวนี้คุณก็จะสังเกตเห็นได้เองว่าที่ในกรุงเทพมหานคร มันมีไอ้สิ่งที่สนองความเอร็ดอร่อย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มากเกินไป แม้ที่สุดแต่เรื่องกินอาหารอย่างเดียวนี่ ช่วยไปคำนวณดูเถิด ร้านอาหารอย่างเดียวมันก็ล้วนแต่เพิ่มไอ้ความเอร็ดอร่อยสำหรับผูกมัดลูกค้าขาประจำ เราก็เป็นขี้ข้า เป็นทาส ของความอร่อย เราจึงอยู่ในอำนาของเขา เขามีศิลปะ มีความรู้ มีความก้าวหน้า ในเรื่องที่จะทำให้มันอร่อย ที่มันจะผูกมัดเรา เราระวังตัว อย่าไปเข้าในบ่วงเบ็ดอันนี้ มันจะลำบาก ลำบากทางเศรษฐกิจ ลำบากทางอนามัน ลำบากทุกอย่าง มันก็เกิดกิเลส ก็จูงให้คอร์รัปชั่น ทุกคนที่คอร์รัปชั่นในประเทศไทยมันเป็นทาสของความอร่อยทั้งนั้น ไปดูไหมว่าคนไหนที่มันทำคอร์รัปชั่นมันเป็นทาสของความอร่อย เงินไม่พอใช้ต้องคอร์รัปชั่นเพื่อความอร่อย ฉะนั้นขอให้รู้ไว้ว่าหลักธรรมะมันตั้งต้นที่ความอร่อย ความโง่ ความหลงในรสแห่งอารมณ์ นี่มันก็เกิดกิเลส เมื่อเกิดกิเลส มันก็เป็นทุกข์ เมื่อต้องการจะดับทุกข์ มันก็ต้องมีธรรมะ มันก็ต้องค้นหาธรรมะให้ถูก ให้ตรง สำหรับที่จะดับทุกข์
ก่อนนี้มันไม่มีเรื่องอร่อย อร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันไม่มี มันเพิ่งมี พอมีมันก็มีปัญหาเป็นโรคบ้าขึ้นมาทันที ถอยหลังไปสักหมื่นปีพอไหม สองหมื่นปี เมื่อมันยังไม่นุ่งผ้า แล้วมันจะสวยงามกับใครมันไม่นุ่งผ้า มันก็ไม่ต้องมีความอร่อยเรื่องสวยงาม แล้วมันกินเนื้อดิบๆ มนุษย์สมัยนั้นมันกินเนื้อดิบๆ แล้วมันจะอร่อยอย่างไรได้เล่า มันก็กินเท่าที่ความหิวมันบังคับ มันก็ไม่มีของสวยทางตา ของหอมทางจมูก ความไพเราะทางหูอะไรมันก็ไม่มี มันไม่มีความเกิน ต่อมาที่เมื่อมันมาพบไอ้อย่างนี้ๆ ๆ อย่างนั้นเข้า มันก็จึงก็รู้จักแต่งตัวให้สวยงาม ใครมีความคิดอย่างไรก็ประดิดประดอยให้มันแพง ให้มันสวย ให้มันเงินเดือนไม่พอใช้อยู่เรื่อยไป
เมื่อมันกินเนื้อดิบๆ นะ มันก็จะกินได้กี่มากน้อย คิดดูเถิด ทีนี้บังเอิญมันไปพบไฟ ทำให้เนื้อสุก มันก็อร่อยกว่า มันก็กินมากกว่ากินเนื้อดิบๆ มนุษย์ยุคมันที่รู้จักใช้ไฟทำให้เนื้อสุก มันก็กินเนื้อมากกว่ายุคที่กินเนื้อดิบ ต่อมาถึงยุคที่มันพบสิ่งปรุงรส เช่น เผอิญพบเกลือในแผนดินนี้ เอาน้ำเกลือมาจิ้มเนื้อที่สุก มันก็อร่อยกว่า มันก็กินมากว่า กินมากกว่าเมื่อไม่จิ้มน้ำเกลือ เดี๋ยวนี้มันมีอะไรบ้าง ก็ดูเถิด มันมีน้ำจิ้มตั้ง ๒๐ ชนิด น้ำจิ้มที่จะหลอกให้คนกินมากกว่าที่จำเป็นจะต้องกินตั้ง ๒๐ ชนิด ไอ้ถ้วยเล็กๆ ๆ ๆ วางบนโต๊ะเต็มไปหมด เมื่อเบื่อรสอย่างนี้ ไปจิ้มรสอย่างนั้น เมื่อเบื่อรสอย่างนั้น ไปจิ้มรสอย่างนี้ มันเลยกินมากกว่าที่มันจำเป็น คนป่าสมัยไม่นุ่งผ้าก็กินเนื้อดิบๆ ก็กินนิดเดียว เดี๋ยวนี้มันกินมาก กินจนเกินที่ธรรมชาติต้องการ มันก็เป็นโรคอะไรกันมากมายหลายอย่าง หลายสิบอย่างในโลกปัจจุบัน
อย่างผงชูรสมันเพิ่งมี ก่อนนี้มันก็ไม่มี เมื่อผงชูรสมีขึ้นมาในโลก มันก็ต้องกินมากกว่าที่เมื่อไม่มีเป็นแน่ เพราะผงชูรสมันช่วยให้กินมาขึ้นไปอีกนิดหนึ่งอย่างน้อย นี่เรามาเป็นทาสของไอ้สิ่งเหล่านี้ สิ่งปรุงแต่ง รสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางจิตใจ ฉะนั้นเครื่องใช้เพื่อการบันเทิง เพื่อส่งเสริมกิเลส มันจึงมีมากเต็มไปหมด และก็ขายดีด้วย แม้แต่เครื่องเสียงอย่างเดียว เราก็ซื้อไม่ไหวแล้ว เครื่องทำเสียงให้ไพเราะ
มันก็มีปัญหา เสียทั้งเวลา เสียทั้งจิตใจ เสียทั้งเงิน มันก็เสียความสงบสุข เพราะไปหลงในความอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ต้นตอของปัญหาอยู่ที่ตรงนี้ ปัญหาธรรมะมันตั้งต้นที่ตรงนี้ ที่มนุษย์มันเป็นทาสของความอร่อย ก็เรียกว่าเป็นทาสของเวทนา หรือเรียกว่าเป็นทาสของอายตนะ
อายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรามันเป็นทาสของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปัญหามันก็เกิดขึ้น เพราะมันเกิดกิเลส เกิดความทุกข์ทั้งเรา ทั้งผู้อื่น เรียกว่าเป็นทาสอายตนะ ก็หยุด เลิก เลิกเป็นทาสของอายตนะ จะเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ธรรมชาติไม่ได้สร้างเรามาเพื่อให้เป็นทุกข์ เป็นทาสของกิเลส ของกามารมณ์ ของอารมณ์ ของอายตนะ เรามันโง่ไปเอง มันมีอวิชชาพาไปเอง ตกลงไปในความผิด ในเหวลึกของอวิชชา หลงบูชาสิ่งที่มันเป็นโทษ เขาเรียกกันมานานแล้วว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว บูชาสิ่งที่ส่งเสริมกิเลส นี่มันจึงละเลยธรรมะ
ความก้าวหน้าทางวัตถุ ทางเทคโนโลยี มันเพิ่งมี พออันนี้มี มันก็จับใจคนเอาไปเป็นทาส ไอ้คนก็เลิกธรรมะ หันหลังให้ธรรมะ ไม่สนใจธรรม ไม่อยากรู้ธรรมะ เห็นธรรมะเป็นเรื่องโง่เขลาเต่าล้านปี ทีนี้เราก็ ก็เป็นมนุษย์ที่ไม่ต้องมีธรรมะ มีแต่ความอร่อยทางอายตนะเป็นสิ่งสูงสุด เมื่อเราบูชาความอร่อยทางอายตนะ เราก็จะมีเป้าหมายที่จะเสาะแสวงหาสะสมปัจจัยแห่งความอร่อย เราจึงมีแผนการที่จะเอาประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นของตัว เกิดระบบการเมืองที่จะครองโลก ที่จะเอาของผู้อื่นมาเป็นของเราคนเดียว มันก็เกิดจักรวรรดินิยม เกิดอะไรต่างๆ จะมีอำนาจรวบรวมปัจจัยแห่งความอร่อยทั้งโลกมาไว้เป็นของเราคนเดียว ดูเรื่องของกิเลส ทำเล่นกับกิเลส มันกลายเป็นเรื่องครอบโลกครอบจักรวาลไปเลย
ฉะนั้นขอให้สนใจคำว่าธรรมะ ถ้าหากว่ามันมีอยู่ มันก็ควบคุมไม่ให้ผิดพลาด ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทางสติปัญญา ไม่ให้ไปบูชาส่วนเกิน ไม่ให้เป็นทาสของอายตนะ ไอ้คนมันก็มีจิตใจปกติ หวังความสงบ และมันก็รักผู้อื่นได้ ถ้ามันหลงใหลเรื่องกิเลส มันไม่มีจิตใจจะไปรักผู้อื่นหรอก เพราะมันรักกิเลสซะจนหมดจิตหมดใจ ไม่เหลือจิตใจจะไปรักใครที่ไหนอีก เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้จึงเป็นคนเห็นแก่ตัว ต่างฝ่ายต่างเห็นแก่ตัว มันก็ต้องได้รบกัน โลกนี้จึงมีการรบกันไม่ขาดระยะ นี่ต่อไปนี้เราจะเห็นว่ามีการรบ มีสงคราม มีอะไรเรื่อยไปไม่ขาดระยะ เพราะว่ามันมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น ไอ้องค์การโลกที่จะจัดขึ้นเพื่อทำโลกให้สงบ ให้สันติ นั่นก็มีแต่ตัวหนังสือ มีแต่ชื่อ เพราะมันไม่มีธรรมะ ต่อเมื่อธรรมะมันเข้ามานั้นแหละ โลกนี้จึงจะมีสันติภาพ เมื่อธรรมะไม่มีมา มันก็ไม่มีสันติภาพ ฉะนั้นขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายตั้งปณิธานมั่นหมายว่า จะช่วยโลกนี้ให้มีธรรมะ นี่เป็นการได้บุญได้กุศลสูงสุดเหลือประมาณ
โลกนี้มันสร้างขึ้นโดยพวกครู บางคนคิดว่านี่ๆ ๆ ประจบครูอีกละ อาตมาไม่ประจบครูหรอก พูดตรงๆ อย่างนี้ว่าโลกนี้มันสร้างขึ้นโดยครู เพราะว่าไอ้โลกนี้ประกอบด้วยพลโลก พลโลกมันเป็นอย่างไรเพราะครูมันสร้างขึ้นมา ครูมันให้การเล่าเรียนอย่างไร ไอ้พลโลกมันก็เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นโลกทั้งโลกมันก็ต้องเป็นอย่างที่ไอ้พลโลกเหล่านั้น ฉะนั้นครูคือพระเจ้าที่สร้างโลก ครูสอนให้ถูกสิ มันก็มีคนที่ดี ที่ถูก ที่เป็นสุภาพบุรุษ เป็นสัตบุรุษในโลก ฉะนั้นโลกนี้มันก็สงบสุข เพราะว่าครูสอนดี สอนถูกต้อง ให้มนุษย์มันมีธรรมะ แต่ครูก็ไม่รู้ค่าของตัวเองว่า ครูคือผู้สร้างโลก ครูก็รู้จักแต่จะสอนหนังสือเลี้ยงชีวิตไปวันๆ หนึ่ง ไม่กล้าคิดถึงว่าจะช่วยกันสร้างโลกใหม่ให้เป็นโลกที่น่าดู ฉะนั้นอาชีพครูก็เลยไม่ได้บุญ มันเป็นลูกจ้าง เป็นอาชีพลูกจ้างเหมือนกับอาชีพอื่นไปเสีย
ถ้าเราคิดว่าครูนี้คือผู้สร้างโลก แล้วตั้งหน้าตั้งตาสอนให้เด็กๆ เยาวชนแต่อ้อนแต่ออกให้มันดี มันถูก กลายเป็นพลโลกที่ดี โลกนี้มันก็ดี ครูมันก็ได้บุญเหลือประมาณ ได้บุญเหลือประมาณ เงินเดือนสองพันสามพันเหมือนกับขี้ฝุ่นมาอยู่ใต้เท้า ใต้ฝ่าเท้า เงินเดือนนั้นมันเล็กนิดเดียว เหมือนกับขี้ฝุ่นอยู่ใต้ฝ่าเท้า เพราะว่าเราทำประโยชน์ให้แก่มนุษย์ แก่โลกมันมากเหลือเกิน คือสร้างโลกแห่งสันติภาพ ฉะนั้นถ้าครูคิดอย่างนี้ก็ ครูก็คือปูชนียบุคคล เป็นบุคคลที่โลกต้องเคารพบูชา ไม่ใช่เป็นลูกจ้างสอนหนังสือ เอาเงินเดือนมาเลี้ยงชีวิตไปวันหนึ่งๆ อย่างนั้นมันเป็นครูในภาษาคนมากเกินไป ถ้าเป็นครูในภาษาธรรม มันก็สอนธรรมะ สร้างมนุษย์ที่ดีให้โลกนี้เป็นโลกที่ดี ครูอย่างนี้เขาเป็นปูชนียบุคคลตามความหมายเดิม
ฉะนั้นขอให้ครูสอนลูกเด็กๆ ให้มันมีธรรมะ ให้มันมีความเข้าใจถูกต้อง สมมติว่าครูคนใดคนหนึ่งที่นั่งอยู่ที่นี่ จะไปออกไปสอนเป็นครู ตั้งต้นด้วยการสอนเด็กชั้นอนุบาล อาตมาก็อยากจะขอร้อง หรือแนะนำไปเสียเลยว่า อย่าไปมัวสอน ก ข ก กา ร้องเพลงไปในตัวอย่างสนุกสนานเลย อย่าเริ่มสอนเด็กด้วยตัวหนังสือ เรื่องหนังสือ สอนเด็กๆ เล็กๆ ให้มันรู้ว่าแม่คืออะไร พ่อคืออะไร เพื่อนคืออะไร ชีวิตนี้คืออะไรอย่างนี้ดีกว่า ไอ้ลูกเด็กๆ อนุบาลมาเข้าโรงเรียนวันแรก เราสอนให้ถามเลยว่าแม่คืออะไร สอนไปจนมันรู้ว่าแม่คืออะไร ให้มันรักแม่ ให้มันซื่อตรงต่อแม่ ให้มันบูชาพ่อแม่ แล้วพี่น้องน่ะคืออะไร กระทั่งครูบาอาจารย์คืออะไร กระทั่งว่าเราควรจะได้อะไร อะไรที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ให้มันเป็นรู้เค้าเงื่อนไปตั้งแต่แรกทีเดียว แล้วค่อยสอน ก ข ก กา อะ อา อิ อี รู้อะไรเป็นภาษา เป็นหนังสือต่อทีหลังดีกว่า ไอ้ยุวชนของเราก็จะเป็นยุวชนที่ดี ที่มีธรรมะ ที่มีรากฐานที่ดี สำหรับจะเป็นมนุษย์ที่ดีในโลกนี้ อย่างนี้เรียกว่า ครูคือผู้นำในทางวิญญาณ ตรงตามความหมายเดิมของคำว่าครู
คำว่าครูนี้เด็กๆ มันคิดว่าคือผู้สอนหนังสือ และเราก็เห็นอยู่ว่าครูก็คือผู้รับจ้างสอนหนังสือ แต่คำว่าครูในภาษาอินเดียนั้น เขาให้คำแปลว่า Spiritual Guide เป็นผู้นำในทางวิญญาณ คือจูงวิญญาณให้เดินถูกทางนั่นแหละคือคำว่าครู ไอ้ศัพท์เดิมมันจะว่าอย่างไรก็ไม่ค่อยมีใครรู้กันนัก และเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า นักศึกษาศัพทศาสตร์รู้เรื่องคำนี้ว่าไอ้คำว่า ครู นี้มาจากคำว่า เปิดประตู คือเปิดประตูแห่งจิตใจ สัตว์มันถูกขังอยู่ในคอก ในเล้า ที่มืด ที่สกปรก ที่ไม่มีแสงสว่าง ที่ทนทุกข์ทรมาน ทีนี้คำว่า ครุ นี่ Root ของศัพท์นี้แปลว่า เปิดประตู ให้สัตว์ออกมาจากคอก จากเล้า ที่เหม็น ที่เน่า ที่สกปรกนั้นได้ ครูกลายเป็นผู้เปิดประตูทางวิญญาณ ให้สัตว์หลุดออกมาเสียได้จากคอกแห่งอวิชชา ความโง่ ความทุกข์อะไรต่างๆ
นี่ขอให้ครูเป็นครูไปตั้งแต่จุดตั้งต้นในการสอนเด็กอนุบาลอายุ ๓-๔ ขวบ ให้เขาเดินถูกทาง ให้ประตูวิญญาณของเขาถูกเปิดออก ให้เขาได้มาสู่แสงสว่าง นี่คือธรรมะ จุดตั้งต้นของความเป็นครู นี่ฟังดูเถิดอาตมาพูดอย่างอื่นไม่เป็น พูดเป็นแต่อย่างนี้ จะชอบหรือไม่ชอบ จะโกรธก็โกรธเถิด พูดอย่างอื่นมันไม่เป็น มันได้แต่พูดอย่างนี้ พูดกับครูและก็ยิ่งพูดตรงไปตรงมา โดยถือว่ามันเป็นผู้ที่ช่วยกันสร้างโลกด้วยกัน พระพุทธเจ้าเป็นพระบรมครู อาตมาก็เป็นครู พูดกับท่านทั้งหลายที่เป็นครู ก็พูดตรงไปตรงมา ไม่ต้องอ้อมค้อม ถ้ามันรุนแรงไปบ้าง ก็ขอให้ถือว่ามันเป็นการพูดในลักษณะที่ปรึกษาหารือปรับทุกข์กันมากกว่า
ขอให้การมาที่นี่ของครูบาอาจารย์ทั้งหลายจงได้รับประโยชน์คุ้มค่ามา โดยที่มารู้ความหมายของคำว่าครู ความหมายของคำว่าธรรมะ ของความหมายของคำว่ามนุษย์ ให้มันถูกต้อง และก็เอาไปประพฤติกระทำให้มันถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ประพฤติหน้าที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้นเรียกว่าธรรมะ
มีธรรมะที่ไหนก็มีความสงบสุขที่นั่น มีการปฏิบัติธรรมะที่ไหนก็มีปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ที่นั่น วัดเป็นวัดอยู่ก็เพราะว่ามีผู้ปฏิบัติธรรมะ ทีนี้ถ้าคุณยกเอาธรรมะไปปฏิบัติที่บ้าน บ้านของคุณก็กลายเป็นวัดไปทันที ที่ออฟฟิศ ที่การงาน ที่โรงเรียน ที่ห้องเรียน ถือชอร์คอยู่หน้ากระดานดำนี้ ประพฤติธรรมะที่ตรงนั้น ตรงนั้นก็เป็นวัด เป็นวัดวาอารามไปทันที ไม่ต้องมาวัดที่นี่ให้เสียเวลา ถ้าต้องการบุญกุศล ถ้าว่าเราประพฤติให้ถูกต้องอยู่ที่เนื้อ ที่ตัว ที่กายวาจาของเรา ไอ้เนื้อตัวของเราก็เป็นวัด เป็นปูยชนียสถานไปทันที นี่มันทำได้ถึงขนาดนี้ ขอให้เอาไปคิดดู และเราผู้กระทำจะได้รับประโยชน์สูงสุด ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ
ขอแสดงความหวังในลักษณะที่เป็นการอวยพรกลายๆ ไปในตัวว่า ขอให้ครูบาอาจารย์นักศึกษาเหล่านี้จงประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของตน ออกไปเป็นครูที่ดี ช่วยกันสร้างโลกที่มีสันติสุข ตัวเองก็เป็นสุข เพื่อนมนุษย์ก็เป็นสุข มีความสุขในหน้าที่การงานนั้นๆ สนุกอยู่ในการทำประโยชน์ให้แก่โลกนี้ ทั้งโลกก็จะได้รับประโยชน์พร้อมๆ กันไป เราก็เป็นผู้ที่มีคุณค่าสูงสุดเต็มตามความหมายของคำว่ามนุษย์ เป็นที่พอใจตัวเอง เคารพตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้อยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ
ธรรมบรรยายนี้ชั่วโมงครึ่งแล้ว เดี๋ยวคุณจะโมโห ยุติกันที
นั่งกลางดินคือนั่งที่ ที่นั่งที่นอนของพระพุทธเจ้า ช่วยจำเอาไปด้วย ทีนี้หลายคนไม่อยากจะนั่งกลางดิน อยากจะนั่งบนตึกสิบชั้น ร้อยชั้น อยากไปอยู่สวรรค์วิมาน ในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านประสูติ ตรัสรู้ นิพพานอยู่กลางดิน จะพบกันได้อย่างไร คิดดู คนหนึ่งมันอยากไปอยู่บนสวรรค์วิมาน ทำบุญสักนิด อธิษฐานท่วมหัวท่วมหูขอให้อยู่สวรรค์วิมาน จะพบพระพุทธเจ้าได้อย่างไร วิทยาลัย มหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าเปิดกลางดิน ท่านเปิดกลางดิน ไม่ต้องมีตึก ไม่ต้องมีห้องเรียน ไม่ต้องมีอะไรอย่างที่เขาเรียกว่าตึก โรงเรียน ชั้นสอน อุปกรณ์การสอน มหาวิทยาลัยของท่านเปิดที่โคนไม้ มานั่งคุยกันก็แล้วกัน
ใครจะมีปัญหาอะไรบ้างก็ได้ อย่างไรก็ทำไปตามที่กำหนดไว้ นอนกี่ทุ่ม กำหนดไว้หรือเปล่า ก็ไปนอน เดี๋ยวนี้มัน ๙.๑๕... ๒๑.๑๕
เอาความรู้ไปทำให้เป็นประโยชน์ก็ดีที่สุด ไม่มีอะไร ถ้าไม่ปัญหา ไม่มีคำถามอะไรก็ปิดประชุมได้