แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักศึกษาผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย ช่วงเวลาเล็กน้อยนี้ เราอาจจะพูดกันได้ แต่เรื่องที่มันเป็นเค้าโครงใหญ่ๆของพระพุทธศาสนา และก็เป็นความจำเป็นด้วย ที่เราจะต้องจับเค้าโครงของพุทธศาสนาให้ได้ รายละเอียดนั้นอาจจะศึกษาได้เอง ค้นคว้าได้เอง จากหนังสือต่างๆ เรื่องเค้าโครงนั้นสำคัญมาก มันเหมือนกับการทำบ้านเรือน แม้ว่าเราจะมีไม้มากพอ แต่ถ้าเราไม่มีความรู้ ที่จะเอามาชนกัน ให้เป็นบ้านเป็นเรือนได้ ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ การที่ท่านทั้งหลายตั้งใจมา ว่าจะหาความรู้ทางพุทธศาสนาในวันนี้ เห็นว่าเราควรจะพูดกันถึงเรื่อง เค้าโครง
พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า แต่ก่อนก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ฉันบัญญัติเฉพาะ เรื่อง ทุกข์กับความดับทุกข์เท่านั้น คำว่าบัญญัติในที่นี้ หมายถึงเรื่องที่ทรงเอามาพูด มากล่าว มาทำ ให้มันเป็นเรื่อง หรือเปิดเผยให้เป็นที่เข้าใจแก่คนทั่วไป ก็หมายความว่า เอามาสอนนั่นเอง ท่านทรงยืนยันว่า จะพูดกันแต่เรื่องทุกข์กับความดับทุกข์ นั้น, เราจงถือเป็นหลักว่า ถ้าเรื่องอื่นนอกไปจากนี้ ยังไม่ต้องพูดก็ได้ จะต้องจับเรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์ให้ได้ ทีนี้อะไรเป็นเบื้องต้นของเรื่องความทุกข์ จะต้องเข้าใจกันเสียก่อน แล้วจึงทำในทางที่ตรงกันข้าม มันก็จะดับทุกข์ ถ้าจะถามขึ้นว่าเราจะตั้งต้นเรียน เรื่องความทุกข์ รวมทั้งความดับทุกข์ด้วยนี้ กันที่ไหน ท่านทั้งหลายจงรู้ไว้ มีความเข้าใจ หรือเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า เราจะต้องตั้งต้นกันที่ เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ถือว่านี่เป็น ก. ข. ก. กา ของพระพุทธศาสนา ที่เราจะเรียนก่อนสิ่งใดๆ หรือถ้าจะเรียนภาษาอังกฤษ เราก็ตั้งต้นที่ A B C D เรียนภาษาไทย ก็ตั้งต้นที่ ก. ข. ก. กา ถ้าเรียนพุทธศาสนาในทำนองนั้น ก็ตั้งต้นที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็ไม่ใช่เรียนจากหนังสือ หรือเรียนที่หนังสือ ต้องเรียนที่ตัวจริงของมัน ตัวจริงของมันก็อยู่ที่ คนทุกคน คนทุกคนมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็พอที่จะรู้ได้เองว่า มันทำหน้าที่อะไร ถ้าใครไม่รู้ได้ในข้อนี้ ก็ดูจะวิปริตมาก ตามปกติทุกคนจะรู้ได้ว่า
ตา สำหรับเห็นรูป หรือทำหน้าที่ การเห็นภาพ เห็นรูป
หู ทำหน้าที่ ได้ยินเสียง
จมูก ทำหน้าที่ รู้สึกกลิ่น
ลิ้น สำหรับรู้สึกรส
กาย คือผิวกายทั่วไป สำหรับ จะรู้สึกต่อสิ่งที่จะมากระทบกาย คือมากระทบผิวหนัง
ใจ มีหน้าที่ รู้สึกเรื่อง ที่จะเกิดรู้สึกขึ้นมาในทางใจ เช่น ความคิดนึก ความรู้สึก
เราก็จะมองให้เห็นละเอียดลงไปว่า เมื่อตาเห็นรูป มันก็เกิดผลขึ้นมาว่า เห็นรูปที่ถูกใจ หรือไม่ถูกใจ หูได้ยินเสียง ก็ได้ยินเสียงที่ถูกใจ หรือไม่ถูกใจ จมูกที่ได้กลิ่น ก็เหมือนกัน ให้รู้เอาเองได้ทั้ง ๖ ให้รู้เรื่องทั้ง ๖ นี้ว่า เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ ถ้ามนุษย์ไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันจะเป็นอย่างไรบ้าง ก็ลองคิดดูเอง มันก็เท่ากับไม่มีเรื่องอะไร เราไม่มีอะไรทั้งหมดเลยก็ได้ คือไม่มีโลกทั้งโลกเลยก็ได้ เพราะถ้าเราไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับรู้สึกสิ่งเหล่านี้แล้ว มันก็เหมือนกับไม่มี ลองคำนวณดูบ้าง ให้เห็นชัดลงไปว่า อะไรๆมันมีสำหรับเราทั้ง ๖ ทางนี่ ก็เพราะมันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เอง
ท่านจึงเรียกไอ้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ว่า อินทรีย์ อินทรียะ คำว่า อินทรีย์ นี้มันแปลว่า สิ่งที่สำคัญ
เรามีสิ่งที่สำคัญทั้ง ๖ อย่างนี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไม่มีสิ่งทั้ง ๖ นี่แล้ว อะไรๆ มันก็ไม่มีไปหมด เหมือนถ้าเรื่องมันจะเกิดก็เพราะเกี่ยวกับ สิ่ง ๖ อย่างนี้ เรื่องไม่เกิด ก็เพราะควบคุมไอ้สิ่ง ๖ สิ่งทั้ง ๖ นี้ไว้ได้ ท่านจึงจัดไอ้ทั้ง ๖ นี้ว่าเป็นสิ่งสำคัญ เลยเรียกว่า อินทรีย์ ๖ ในฐานะเป็นเรื่องสำคัญ
อีกทางหนึ่งเราเรียกไอ้สิ่งทั้ง ๖ นี้ว่า อายตนะภายใน คือ สิ่งสำหรับทำหน้าที่สืบต่อ หรือกระทบที่อยู่ในภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่มัน มันหมายความว่า มันอยู่ในตัวเรา อยู่ภายในตัวเรา แล้วมันก็คู่กันกับสิ่งภายนอก ซึ่งจะเรียกว่า อายตนะภายนอก อีก ๖ ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ธรรมารมณ์ คือ
รูป สำหรับ ตาเห็น
เสียง สำหรับ หูได้ยิน
กลิ่น สำหรับ จมูกรู้สึก
รส สำหรับ ลิ้นรู้สึก
ที่สำหรับผิวหนัง จะรู้สึกนั้นน่ะ เขาเรียกแปลกไปหน่อยไม่ค่อยคุ้นหูกับภาษาไทย คือเรียกว่าโผฏฐัพพะ จำไว้ด้วย เขียนให้อ่านได้ว่า โผฏฐัพพะ
แล้วส่วนที่ใจ จะรู้สึกนั้น เขาเรียกว่า ธรรมมารมณ์
มันแปลกอยู่ ๒ คำ รูป เสียง กลิ่น รส นี่ เรา เราเข้าใจกันดีแล้ว ภาษาไทยธรรมดา ไอ้ โผฏฐัพพะ กับ ธรรมารมณ์ นี่ เอาคำบาลีเดิมมาใช้
ทีนี้ สิ่งที่อยู่ข้างนอก เรียกว่า อายตนะภายนอก จะมากระทบกับสิ่งที่อยู่ภายในที่เรียกว่า อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ ที่เป็นสิ่งภายนอก อายตนะภายนอกนั้น ก็เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อารมณ์ อารมฺมณ
อารมณ์ ในภาษาไทยเรา อารมณ์ นี่ไปใช้หมายถึง ความรู้สึกในใจ เป็นอารมณ์ดี อารมณ์เสีย นั้นก็คำหนึ่งเป็นภาษาไทย ไม่เอามาปนกับคำว่า อารมณ์ ๖ นี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี่บางทีเราก็เรียกว่า อารมณ์ ๖ แปลว่า เป็นที่หน่วงเอา คำว่า อารมณ์ นี้แปลว่าเป็นที่หน่วงเอา
รูปารมณ์ คือ รูปเป็นที่หน่วงเอาแห่งตา
สัททารมณ์ เสียง สัททารมณ์ นี้เป็นที่หน่วงเอาแห่งหู
กลิ่น คันธารมณ์ นี้เป็นที่หน่วงเอาแห่งจมูก
แล้วก็ รส เรียกว่า รสารมณ์ นี้เป็นที่หน่วงเอาแห่งลิ้น
สัมผัสผิวหนัง โผฏฐัพพารมณ์ เป็นที่หน่วงเอากาย แห่งผิวกาย และ
ธรรมมารมณ์ ความรู้สึกภายในนั้น เป็นที่หน่วงเอาแห่งใจ
นี่แค่ ก. ข. ก. กา มีอยู่ ๖ คู่ ข้างในกับข้างนอก เป็นคู่กัน
ข้างใน ๖ คู่ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า อินทรีย์ ก็ได้ เรียกว่า อายตนะภายใน ๖ ก็ได้
ข้างนอกมีอยู่ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี้เรียกว่า อารมณ์ ๖ ก็ได้ เรียกว่า อายตนะภายนอก ๖ ก็ได้
เราได้สิ่งเหล่านี้มา ๑๒ สิ่ง ข้างใน ๖, ข้างนอก ๖ ก็ ก็ต้องรู้จักมันจริงๆ อย่า อย่าเพียงแต่จำชื่อได้หรือจดไว้ในกระดาษ มันต้องรู้จักมันจริงๆ ซึ่งเราก็ใช้มันอยู่ตลอดเวลา เอาละ ทีนี้เรื่องก็จะเดินต่อไป เรียง เรียกว่า ก. ข. ก. กา แล้วก็ต้องมีการแจกรูปกันไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะผันเป็นเสียงต่างๆ
ที่เราต้องรู้ต่อไปก็คือว่า อายตนะภายใน กับ อายตนะภายนอก มาถึงกันเข้าแล้ว ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า วิญญาณ
คู่แรกคือ
ตา มาถึงกันเข้ากับ รูป ก็เกิด จักษุวิญญาณ คือ วิญญาณทางตา
หู ถึงกันเข้ากับ เสียง ก็เกิด วิญญาณทางหู เรียกว่า โสตะวิญญาณ
จมูก ถึงเข้ากับ กลิ่น ก็เกิด วิญญาณทางจมูก เรียกว่า ฆานะวิญญาณ
ลิ้น ถึงกันเข้ากับ รส ก็เกิด วิญญาณทางลิ้น เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ
กาย สัมผัสกันเข้ากับ สิ่งที่มาถูกกาย ก็เกิด วิญญาณทางกาย ทางผิวหนัง
เรียกว่า กายะวิญญาณ
ความรู้สึกในใจ มาถูกเข้ากับ ใจ หรือใจ ถูกกันเข้ากับอารมณ์ของใจ ก็เกิดอารมณ์ทางใจ
เรียกว่า มโนวิญญาณ
เราก็ได้วิญญาณ ๖ ขึ้นมาอีก ดูให้ดี จดไว้ถูกไหม มันจะเกิด
จักษุวิญญาณ
โสตวิญญาณ
ฆานะวิญญาณ
ชิวหาวิญญาณ
กายะวิญญาณ
มโนวิญญาณ
ขึ้นมาอีก ๖ ชนิด ตามจำนวนของอายตนะ
อย่างที่สรุปความสั้นๆได้ว่า จากอายตนะภายใน ถึงกันเข้ากับ อายตนะภายนอก มันก็เกิด วิญญาณ อายตนะภายในมี ๖, อายตนะภายนอกมี ๖, ถึงกันเข้าเกิดวิญญาณ ๖
ทีนี้เรื่องต่อไปมันก็มีว่า เกิดวิญญาณแล้ว ทำหน้าที่ทางวิญญาณของสิ่งทั้ง ๓ นี้ ของสิ่งทั้ง ๓ นี้ที่จดลงไปแล้วว่า อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ ไอ้ ๓ อย่างนี้ทำงานร่วมกันนี้ ทำงานด้วยกันก็เรียกว่า ผัสสะ แล้วก็เลยมี ผัสสะ ๖ อีก
ผัสสะทางตา เรียกว่า จักษุสัมผัส
ผัสสะทางหู ก็เรียกว่า โสตะสัมผัส
ผัสสะทางจมูก เรียก ฆานะสัมผัส
ผัสสะทางลิ้น ก็เรียกว่า ชิวหาสัมผัส
สัมผัสผิวหนัง ก็เรียกว่า กายะสัมผัส
สัมผัสทางใจ ก็เรียกว่า มโนสัมผัส
ก็ได้มาอีก ๖ อย่าง ที่เรียกว่า สัมผัส ดูให้ดีว่าจดถูกไหม ว่าตั้งแต่แรกมาก็มี
อายตนะภายใน ๖
แล้วก็อายตนะภายนอก ๖
ถึงกันเข้า เรียกว่า วิญญาณ ๖
๓ อย่างนี้ทำงานร่วมกันเมื่อไหร่ก็เรียกว่า ผัสสะ แล้วก็มี ผัสสะ ๖
ทีนี้จะเรียนจากของจริง ก็คือ เมื่อเรา เมื่อไรตาเห็นรูป เมื่อไรหูได้ยินเสียง ก็เรียนจากสิ่งนั้นแหละ ไม่ใช่เรียนจากหนังสือหรอก ให้รู้จักตัวสิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ สิ่งที่เรียกว่าผัสสะ นั่นแหละ มีความสำคัญ เป็นจุดที่สำคัญที่จะต้องควบคุมให้ได้ ถ้าควบคุมผัสสะไม่ได้ แล้วก็จะต้องเกิดเรื่อง เป็นความทุกข์ ถ้ารู้เท่าทันควบคุมผัสสะได้ ก็ไม่เกิดเรื่อง เป็นความทุกข์ ผัสสะ จะให้เกิดเรื่องเป็นความทุกข์ ก็ต่อเมื่อขณะแห่งผัสสะนั้น เรามันโง่ เราปราศจากสติ เราปราศจากวิชชา ปราศจากปัญญา
เมื่อตาเห็นรูป เกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการนี้เรียกว่า ผัสสะทางตา เวลานี้ เป็นเวลาที่สำคัญที่สุด ถ้าเราโง่ไป ผัสสะทางตานี้ก็จะทำให้เกิด เวทนา เวทนา จะเป็นเวทนาที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ถ้ามันสวยก็เป็นเวทนาที่เป็นสุข ถ้ามันไม่สวยก็เป็นเวทนาที่เป็นทุกข์
เวทนา คือความรู้สึก ที่เกิดมาจากสัมผัสทางตา เวทนาก็เลยมี ๖ ด้วยเหมือนกัน คือ เวทนาที่เกิดมาจากสัมผัสทางตา เวทนาที่เกิดมาจากสัมผัสทางหู เวทนาที่เกิดมาจากสัมผัสทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต่อไป
เมื่อรูปที่เห็นนั้นมันสวย มันก็เกิดความรัก ถ้ารูปที่เห็นนั้นไม่สวย มันก็เกิดความเกลียด นี่แหละกิเลสมันจะตั้งต้นที่ ความรักหรือความเกลียด อธิบายต่อไปก็คือ เมื่อเกิดเวทนา รู้สึกพอใจ หรือ ไม่พอใจ แล้วมันก็จะเกิด ตัณหา ตัณหาไปตามลำดับจากเวทนา ถ้าเวทนาเป็นที่ถูกใจ มันก็เกิดตัณหาในทางที่จะเอา จะได้ จะมี จะเป็น ถ้าเวทนานั้นไม่ถูกใจ มันก็เกิดตัณหาในทางที่จะไม่เอา ไม่เป็น ไม่ได้ หรือจะตีเสียให้ตายอย่างนี้
ตัณหา แปลว่า ความอยาก แต่มันเป็นความอยากในความโง่ นี่, ตัณหาก็พลอยมี ๖, ไปตามจำนวน ๖ ของไอ้ อายตนะนี่เหมือนกัน คือ
ตัณหาในรูป
ตัณหาในเสียง
ตัณหาในกลิ่น
ตัณหาในรส
ตัณหาในโผฏฐัพพะ
ตัณหาในธรรมมารมณ์
ถ้าจดอยู่แต่ในหนังสือก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ถ้าเอามาคอยทำไว้ในใจว่า เรากำลังเกิดตัณหาอะไร เมื่อไหร่ ให้รู้เท่าทันท่วงทีนั่นแหละจะมีประโยชน์
นี่จะพูดต่อไปให้จบเสียก่อน ถ้าเกิดตัณห าคือความอยาก อยากเอา อยากได้ อยากเป็น ในเมื่อมันพอใจ อยากไม่ได้ ไม่เอา ไม่เป็น อยากจะทำลายเสีย เมื่อมันไม่พอใจ นี่ก็เกิดตัณหาแล้ว เป็นความอยากอย่างโง่แล้ว ก็จะเกิดยึดมั่น ถือมั่น เกิดความรู้สึกว่า กู ว่า ฉัน ขึ้นมาทีเดียว ซึ่งเป็นผู้อยาก เรื่องนี้มันออกจะแปลกสำหรับนักเรียนที่เคยเรียนมาตามหลักวิชาสามัญทั่วไป เขาก็จะถือว่ามันต้องเกิดมีผู้อยากก่อนถึงจะเกิดความอยากได้ แต่ในทางธรรมะ ทางจิตใจนี่ มันไม่เป็นอย่างนั้น มันเกิดการปรุงแต่ง เช่น เกิดความอยาก รู้สึกอยากก่อน พอความรู้สึกอยากเกิดแล้ว มันจึงค่อยเกิดความรู้สึก ว่า ฉัน กู ซึ่งเป็นผู้อยาก ผู้จะได้ ผู้จะเอา ขึ้นมา อย่างนี้เขาเรียกว่า อุปาทาน
ทีนี้อุปาทานเกิดมาจาก ตัณหา ความยึดมั่น ถือมั่นเป็นตัวตน เป็นของตน เป็นของกู เป็นตัวกู เป็นตัวฉันขึ้นมา คือเป็นผู้อยาก นั่นเอง ถ้าเรียนอย่าง Logic มันก็ขัดกับ Logic ว่า ผู้อยากมาทีหลังความอยาก เหตุผลธรรมดาว่ามีไม่ได้ มันต้องมีผู้อยากก่อน แล้วถึงจะมีความอยาก แต่นี่ธรรมะนี้มันเป็นธรรมชาติที่แท้จริง เพื่อจะบอกให้รู้ว่า ไอ้ตัวผู้อยากนั้นไม่ได้มีจริง มันหลอกๆ มันเป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้นเอง มันเป็นความรู้สึกว่า ตัวกู มันไม่ใช่มีตัวกูจริง ไม่ใช่มีตัวตนจริง แต่มันก็รู้สึกว่ามี ตัวกูที่อยาก นี่เรารู้ไว้เสียเดี๋ยวนี้เป็นการล่วงหน้าว่า ไอ้ตัวกูผู้อยากนั้นไม่ใช่ตัวจริง เป็นความคิดผิด สำคัญผิด เข้าใจผิดของอวิชชา ของความโง่ ที่จะต้องเกิดขึ้นตามหลังไอ้ความอยาก ความอยากเรียกว่า ตัณหา ความอยากคือ ตัณหา แล้วก็จะเกิดอุปาทาน ยึดถือตัวกูผู้อยาก นี่ก็เรียกว่า มันมีตัวกูขึ้นมาแล้ว นั่นก็ มีอุปาทานเป็นผู้อยากและก็เรียกว่ามี ภพ คือความมีอยู่แห่งตัวกู เกิด ตัวกู และก็เกิด ความมีอยู่แห่งตัวกู เรียกว่า ภพ อุปาทาน ที่ว่าให้เกิดภพ คือความมีอยู่แห่งสิ่งที่ยึดถือ
นี้, ภพนี้เป็นไปเต็มที่แล้วก็เรียกว่าเกิด ชาติ โดยสมบูรณ์ขึ้นมา คือเป็นตัวตนที่เต็ม เต็มที่ เต็มขนาด เต็มระดับ เป็นตัวฉันที่คิดนึกอะไร ในแบบตัวฉันเต็มที่ พอมีตัวฉันแล้ว อะไรๆมันก็จะเป็นปัญหาล้อมตัวฉัน ซึ่งจะทำให้ตัวฉันเป็นทุกข์ ถ้าไม่มีตัวฉัน ไอ้สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มี เพราะมีตัวฉัน สิ่งที่มันเกี่ยวข้องกับตัวฉัน มันก็มีเป็นปัญหาขึ้นมา เช่นว่า ความเกิดของฉัน ความแก่ของฉัน ความตายของฉัน ความได้อย่างใจ ความไม่ได้อย่างใจ อะไรก็เกิดขึ้นมาเกาะอยู่ที่ความรู้สึกว่า ตัวฉัน ที่สมบูรณ์นั่นเอง
นี่เราเป็นทุกข์กันตอนนี้ มีตัณหาความอยากทำให้เกิดอุปาทาน ผู้อยาก เกิดความมีอยู่ในบุคคลผู้อยาก เกิดความเต็มเปี่ยมแห่งความเป็นบุคคลผู้อยาก และก็ต้องเป็นทุกข์ด้วยสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาพัวพันอยู่กับ บุคคลผู้อยาก และยังมีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความรู้สึกต่างๆ ที่ทำให้เป็นทุกข์
ความทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นได้ เพราะเหตุอย่างนี้ นี่คือพระพุทธเจ้าท่านตรัส ขอให้รู้จักสิ่งนี้ เรื่องนี้ เป็นเรื่องแรก อย่าจดไปเฉยๆ เอาไปทำความเข้าใจ อยู่ตลอดเวลานานๆหน่อย แล้วจะเข้าใจพุทธศาสนาตัวจริง คือ พุทธศาสนาที่แท้จริงที่เรียกว่า ความทุกข์มีอยู่อย่างไร เกิดขึ้นอย่างไร นี่เรียกว่า เรื่องความทุกข์
ทีนี้อีกเรื่องหนึ่งคือ เป็นเรื่องความดับทุกข์ คือ ตรงกันข้าม ก็ตั้งต้นมาอย่างตะกี้อีกแหละ อ้าว, จดคอยดูทบทวนที่จดมาแล้วนะ ว่า อายตนะภายใน กับ อายตนะภายนอก ถึงกันเข้า ก็เกิดวิญญาณ ๖, ไอ้ ๓ ชนิด ไอ้ของ ๓ สิ่งนี้ ทำงานร่วมกันเรียกว่า ผัสสะ ๖, ทีนี้ในขณะแห่งผัสสะนี้ มันเกิดมีสติปัญญา มีสติ และมีปัญญาขึ้นมา ก็เป็นผัสสะคนละชนิดกับ ไอ้, ชุดแรกที่เป็น ผัสสะโง่ ผัสสะไปสัมผัสอะไรด้วยความโง่ นั่นแหละ, อวิชชาเข้าไปเกิดอยู่ในผัสสะ ทีนี้ในกรณีนี้ กรณีหลังที่จะไม่เกิดทุกข์นะ มันมี ผัสสะฉลาด คือเมื่อตาเห็นรูปก็ฉลาด เมื่อหูเห็น ได้ฟังเสียงก็ฉลาด จมูกได้กลิ่นก็ฉลาด เมื่อลิ้นรู้สึกรสก็ฉลาด เมื่อสัมผัสผิวหนังก็ฉลาด เมื่อจิตคิดอะไรก็ฉลาด นั่น มันฉลาดในขณะแห่งผัสสะ ก็เป็น วิชชา สัมผัส เอ่อ, สัมผัสอะไรๆด้วยความรู้สึกตัว และฉลาด อย่างนี้มันก็เกิดเวทนาด้วยเหมือนกันแหละ แต่เป็นเวทนาที่ความฉลาดของเราควบคุมอยู่ มันจึงไม่ทำให้เกิดตัณหา คือความรักหรือความเกลียด ไปตามอำนาจของเวทนา เพราะเวทนานี้ถูกความฉลาดของเราควบคุมอยู่ ควบคุมมาแล้วตั้งแต่ผัสสะโน่น เพราะเมื่อมีผัสสะสัมผัสน่ะ มันมีความฉลาด คือสติมาทันท่วงที ไอ้, เวทนานั้น ไม่ทำให้เกิดตัณหารัก หรือ ตัณหาเกลียดได้ มันก็ไม่เกิดตัณหา นี่เขาเรียก ตัณหาดับ คือ ตัณหาไม่เกิด หรือถ้ามันเก่งมาก กว่านั้น ก็ เวทนามันก็ดับ เวทนามันไม่เกิด เพราะ ผัสสะมันฉลาด แต่ตามปกติ เราฉลาดไม่ค่อยจะทัน ในขณะแห่งผัสสะ นี่ทุกคนแหละ ไป เอ่อ, ไป ไปย้อนระลึกถึง สิ่งที่เป็นมาแล้ว และที่จะเป็นต่อไปก็ได้ ว่าเมื่อตาเราเห็นรูป เราโง่หรือเราฉลาด เมื่อหูได้ฟังเสียง เราโง่หรือฉลาด เมื่อจมูกได้กลิ่น ไปจนถึงอันสุดท้ายนั้น เราโง่หรือเราฉลาด
เมื่อตาเห็นรูปที่น่ารัก เราไปรักเสียแล้ว หรือเห็นรูปที่ไม่น่ารัก เห็นรูปศัตรู เห็นอะไรนี่ เราก็ไปโกรธเสียแล้ว เห็นรูปคู่รัก มันก็ไปรักเสียแล้ว มันไม่มีอะไรที่จะยับยั้งได้ หรือฟังเสียงที่ไพเราะ เช่นเสียงเพลงที่เราชอบ เราลุกขึ้นไปเต้นตามเพลงนั้นเสียแล้ว ไม่รู้ตั้งแต่เมื่อไร นี่มันไม่มีสติ ไม่มีเครื่องควบคุม มันไม่มีการยับยั้ง เมื่อเสียงน่าเกลียดน่าชัง เสียงของคู่ ศัตรูคู่อาฆาตเราก็โกรธ เราก็เกลียดเสียแล้ว กลิ่นก็เหมือนกัน เมื่อกลิ่นหอม มันก็ยินดีเสียแล้ว เมื่อกลิ่นเหม็น มันก็ขัดใจเสียแล้ว นี่มันเป็นเรื่องที่ให้เกิดเวทนา แล้วเกิดตัณหา เกิดความทุกข์เสียแล้ว
ทีนี้มาเอากันใหม่ ถ้าเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า มาฝึกตนให้เป็นคนมีสติ เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น ไปทั้ง ๖, ๖อย่างนั้น มีสติ พอเห็นรูปสวย มีสติพอที่จะไม่ไปรักมัน เห็นรูปไม่สวย ก็มีสติพอที่จะไม่ไปเกลียดมัน ร้องด่ามันว่า โอ๊ย, สักว่ารู้เท่านั้นโว้ย, สักว่ารูปเท่านั้นโว้ย, จะไม่ให้มันมีความหมายเป็นสวย หรือไม่สวย พอได้ยินเสียงก็เหมือนกันว่า มันสักว่าเสียงเท่านั้น โว้ย, จะไม่ยอมให้มาครอบงำใจของกู ว่าเพราะ หรือไม่ไพเราะ กลิ่นก็เหมือนกัน สักว่ากลิ่นเท่านั้นแหละ จะหอม หรือ จะเหม็นก็สักว่ากลิ่นเท่านั้นนะ รสที่ลิ้นก็เหมือนกัน อร่อยหรือไม่อร่อย ก็สักว่ารสเท่านั้นเอง สัมผัสผิวหนังนิ่มนวลหรือกระด้าง ก็สักว่า สัมผัสผิวหนังเท่านั้น ถึงสัมผัสในใจ ก็โอ๊ย, สักว่าสัมผัสที่รู้สึกในใจเท่านั้นแหละ
นี่, อย่างนี้มันจะเรียกว่า มี สติสัมผัส ทุกอย่างในโลก เป็นสัมผัสที่ฉลาด คือมีความรู้ที่ถูกต้อง มีสติระลึกในความรู้อย่างถูกต้องนั้นได้ในขณะที่สัมผัส มาสัมผัสอะไร อันนั้น มัน, มันมากลายเป็นสิ่งที่เราจะศึกษาหรือเรียนรู้ไปหมด ไม่ให้เกิดเวทนา ให้เกิดตัณหา ไม่เกิดเวทนา ไม่เกิดตัณหา เช่นเห็นรูปอย่างนี้ มันก็รู้สึกว่า รูป แล้วเราจะ เราจะต้องทำอะไรกับรูปนี้ไหม เราจะต้องจัดการกับรูปที่เราเห็นนี้ไหม ถ้ามันไม่ ไม่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน ก็เลิกกัน ไม่ต้องไปสนใจ ถ้ามันมีเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกันก็ทำไป รูปอะไรที่ ที่มันเห็นอยู่ จะต้องทำอย่างไรกับรูปที่เห็นอยู่นี้ กับเสียงที่ได้ยินนี้ กับกลิ่นที่ได้รับสัมผัสอยู่นี้ ส่วนมากมันไม่ต้องทำอะไร คืออย่าไปยินดียินร้ายกับมัน มันก็หายไปตามเรื่องของมันเอง แต่ถ้ามันเป็นเรื่องที่ เราต้องทำ ก็ทำ และต้องทำด้วยสติ ด้วยปัญญา อย่าไปหลงให้เกิดตัณหา ให้เกิดอุปาทาน นี่ผัสสะอย่างนี้ เรายังไม่เคยมี เรามีแต่จะยินดีหรือยินร้าย เกิดเวทนาต่อผัสสะ แล้วก็ตกเป็นทาสของเวทนา เป็นทาสของตัณหา ก็ได้เป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้มันจะกลับตรงกันข้าม คือจะไม่ตกเป็นทาสของเวทนา ไม่เป็นทาสของตัณหา เพราะรู้เท่าทันใน ขณะแห่งผัสสะ
พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า ผัสสะนั้นแหละ เป็นเรื่องสำคัญทั้งหมดของทุกเรื่อง จะได้ จะเสีย จะเป็นทุกข์ หรือ จะเป็นสัมมาทิฐิ มิจฉาทิฐิ อะไรก็อยู่ตรงที่ผัสสะนั้นแหละ ให้รู้เรื่องผัสสะ ให้ควบคุมผัสสะให้ได้ นี่คือ รู้ พุทธศาสนาจริงๆ มันรู้ที่ตรงนี้ รู้เรื่องผัสสะและควบคุมผัสสะได้ ก็ไม่เกิดเวทนา ที่จะหลอก ให้เรารักหรือเกลียด แล้วมันก็เกิดตัณหาไม่ได้ คือตัณหาดับ ตัณหาดับอุปาทาน ไอ้ตัวกูผู้อยากมันก็ไม่ ไม่เกิดคือดับ ภพคือความเป็นแห่งตัวกูมันก็ดับ ชาติ ความสมบูรณ์ในตัวกูมันก็ดับ ไอ้ความทุกข์ทั้งหลายมันก็เกิดไม่ได้ มันไม่มีอะไรมาเป็น เกิด แก่ เจ็บ ตายของกู หรือไม่มีอะไรที่เป็นทุกข์มาเป็นของกู ทุกข์มันก็ดับ นี่เราเหลือบตาดูให้ดีว่า มันตั้งต้นมาจากจุดเดียวกัน แล้วมันแยกทางกัน ตรงกลาง อันหนึ่งไปทางที่จะเป็นทุกข์ อันหนึ่งมาในทางที่จะไม่เป็นทุกข์
อย่าเพิ่งเบื่อนะ จะซ้ำอีกทีว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่อยู่ข้างใน แล้วก็ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อยู่ข้างนอก มันมาเนื่องกันเข้าแล้วก็จะเกิดวิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทีนี้เรื่องข้างใน กับ เรื่องข้างนอก กับ วิญญาณ มาทำงานพร้อมกันเข้าเรียกว่า ผัสสะ
ตรงนี้เป็นจุดแยก เป็นทาง ๒ แพร่ง ถ้าตรงนี้ ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา มันก็ไปทางเวทนาที่จะให้เกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ และเป็นทุกข์ แต่ถ้าตรงจุดผัสสะนั้นเกิดมีสติและมีปัญญา มันก็ไม่เกิดเวทนา ที่จะให้เกิดตัณหา หรืออุปาทาน หรือภพ หรือชาติ ที่เป็นทุกข์ มันแยกมาในทางที่ไม่เป็นทุกข์ และเราก็ทำอะไร อะไร ได้ทุกอย่างตามที่เราควรจะทำ ในเรื่องนี้ มันก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์บางเรื่องนั้น เราต้องไปเกี่ยวข้อง เราต้องทำ ต้องจัด กับมัน ตามที่มันต้องทำสำหรับมนุษย์ เราก็ทำด้วยสติและปัญญา มันก็ไม่เกิดความทุกข์ ขอให้หลับตามองเห็นภาพว่า มันตั้งต้นมาจากจุดเดียวกัน
พอมาถึง ระดับแห่งผัสสะ มันเกิดแยกทางกัน ฝ่ายหนึ่งมันสำหรับคนโง่ ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ก็เป็นเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ และเป็นทุกข์
ส่วนฝ่ายนี้มันสำหรับคนฉลาด มันก็ไม่เกิด เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ และเป็นทุกข์ แม้ว่ามันจะเกิดเวทนา ก็เกิดเวทนาสำหรับให้เรารู้จักว่าจะต้องทำอย่างไร ไม่เกิดเวทนา ให้เราหลงรัก หลงชังเหมือนฝ่ายโน้น
นี่คือตัว ความทุกข์ กับความดับทุกข์ มันมีอยู่อย่างนี้
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ฉันพูดแต่เรื่อง ความทุกข์กับความดับทุกข์ เรื่องอื่นชวนพูดด้วยไม่เอา จะมีคนมาชวนพูดว่า ตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด พระพุทธเจ้าท่านว่า ยังไม่จำเป็น ยังไม่พูด มาพูดเรื่องความทุกข์กันเถอะ แกมีความทุกข์อย่างไรว่ามา ฉันก็จะบอกวิธีที่จะไม่ให้เป็นทุกข์ได้ แล้วมันก็หมดเรื่องกันไป ไม่ต้องไปเสียเวลา เรื่องตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด มีเรื่องอีกมากมายที่พระพุทธเจ้าท่านจะไม่ตรัสตอบหรือคุยด้วย ท่านว่า ไม่จำเป็น ไม่จำเป็น แต่เรื่องนี้แหละ คือเรื่องที่จำเป็น เรียกว่า เรื่องปฏิจจสมุปบาท ชื่อนี้จำยากหน่อย เขียนก็ดีเหมือนกัน ปฏิจจสมุปบาท คือเรื่องที่พูดเมื่อกี้นี้ ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์ ก็เป็นทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับทุกข์ ก็ไม่มีทุกข์
จำคำว่า ปฏิจจสมุปบาท ไว้ให้ดีๆ แปลกไหมคำว่า ปฏิจจสมุปบาท คำนี้มันแปลว่า อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น คำว่า ปฏิจจสมุปบาทนี้แปลว่า อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น คือทุกสิ่งมันต้องอาศัยเหตุปัจจัยอะไรอันหนึ่ง แล้วจึงเกิดขึ้นทั้งนั้นแหละ เป็นเรื่องของสิ่งอื่นๆที่ไม่ใช่มนุษย์ก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้เราพูดสำหรับเรื่องมนุษย์ในใจ เช่นว่า ตากับรูปอาศัยกันแล้วเกิดวิญญาณ
สามประการนี้อาศัยกันแล้ว เกิดผัสสะ เพราะมีผัสสะ จึงมีเวทนา ก็อาศัยเวทนานี้เกิดตัณหา ก็อาศัยตัณหานี้เกิดภพ อาศัยภพจึงเกิดชาติ อาศัยชาติจึงเกิดทุกข์ทั้งปวง เรียกว่า เพราะอาศัยกันจึงเกิดขึ้น หรืออาศัยกันแล้วเกิดขึ้น เรียกว่าเรื่อง ปฏิจจสมุปบาทที่จะเกิดความทุกข์
ทีนี้ ปฏิจจสมุปบาทที่จะไม่เกิดความทุกข์ ก็จะเกิดสิ่งที่ไม่เป็นทุกข์ มันก็อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาศัย พอมาถึงผัสสะแล้วมันก็อาศัย สติ และ ปัญญานี่ แล้วก็เกิดไอ้, เวทนาที่จะไม่เป็นตัณหา เวทนาที่จะไม่เกิดตัณหา แล้วมันก็อาศัยอันนี้ไม่เกิดอุ เอ่อ, ตัณหา ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดภพ ไม่เกิดชาติ มันได้อาศัยสิ่งนี้ แล้วมันก็มีความดับลงแห่งสิ่งนั้น ก็ไม่เป็นทุกข์ นี้เป็นเรื่องสำหรับสิ่งที่มีชีวิตนะ
ถ้าสำหรับสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น ก้อนดิน หิน ทราย เหล่านี้ก็เหมือนกันแหละ มันต้องมีเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง มันจึงเกิดขึ้นมาในโลกนี้ หรือแม้แต่โลกนี้ทั้งโลก อย่างที่เราเรียนมาในวิทยาศาสตร์นั้น มันก็มีเหตุปัจจัยอันใดอันหนึ่งที่ทำให้โลกนี้เกิดขึ้นมา พระจันทร์เกิดขึ้นมา อะไรๆเกิดขึ้นมา และสิ่งต่างๆเกิดขึ้นมาในโลก จนมีสัตว์ มีคน มีอะไรเต็มไปหมด กระทั่งสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา นั่นเพราะมนุษย์สร้างขึ้นมา ตึกรามอะไรต่างๆเหล่านี้ มันมีเหตุปัจจัย อาศัยเหตุปัจจัย แล้วมันจึงเกิดขึ้นมา
ข้อที่อาศัยเหตุปัจจัยแล้วจึงเกิดขึ้นมานี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท มีความสำคัญถึงกับมีคำกล่าวไว้ว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม และยังมีต่อไปว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม ตถาคตในที่นี้หมายถึง พระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ใด, ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท
เห็นปฏิจจสมุปบาท นั้นคือ เห็นด้วยเอ่อ, ปัญญาภายใน โดย, ตามเรื่องที่ได้พูดมาแล้ว ที่เรียกว่า ก. ข. ก. กา เห็นข้างใน ๖, ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นข้างนอก ๖, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ และเห็นวิญญาณ ที่เกิดมาจาก การเนื่องกันของอายตนะนั้น เมื่อเห็นผัสสะ ๖, เห็นเวทนา ๖, ตัณหา ๖, กระทั่งเห็นอุปาทาน ภพ ชาติ นั่นแหละ เห็นว่ามันเกิดทุกข์ขึ้นมาอย่างนี้ นี่เรียกว่า เห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นความจริงฝ่ายเกิดทุกข์ เรียกว่าเห็นฝ่ายตรงกันข้ามคือไม่เกิดทุกข์ เห็นชัดอยู่ รู้สึกอยู่ ไม่ใช่เขียนตัวหนังสือแล้วอ่านนะ เห็นด้วยความรู้สึก ด้วยปัญญาของเรา นี่เรียกว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท อย่างนี้เรียกว่าเห็นธรรม เห็นธรรมอย่างนี้เรียกว่าเห็นพระพุทธเจ้า
มันจะมากไปกว่าเห็นพระพุทธเจ้าก็ได้ คือเมื่อเรารู้อย่างนี้ เรารู้เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ นี่เราจะเป็นพระพุทธเจ้าเสียเองก็ได้ ถ้าเราเห็นอันนี้ชัดลงไปจริงๆ ก็เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านเห็น คือตรัสรู้แล้วเป็นพระพุทธเจ้า เพราะท่านเห็นเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น จิตของเราที่เห็นเรื่องนี้นั่นแหละเป็นพระพุทธเจ้าสำหรับเรา เรียกว่าเห็นพระพุทธเจ้า คือมีพระพุทธเจ้า หรือเป็นพระพุทธเจ้าให้กับเรา จิตที่เห็นปฏิจจสมุปบาทชัดๆนี่คือ คือเป็นพระพุทธเจ้า จิตนั้นเป็นพระพุทธเจ้าน้อยๆ ทีนี้ธรรมะที่เห็นนี่ เป็นพระธรรม พระธรรมก็อยู่กับเรา มีในเรา ที่จะมาถึงพระสงฆ์ เราต้องปฏิบัติ เพื่อมีสติ มีปัญญาในขณะแห่งผัสสะ ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องในขณะแห่งผัสสะ ไม่โง่ ไม่หลง เป็นผัสสะที่ลืมหูลืมตา มีปัญญา แล้วก็นี่แหละคือพระสงฆ์ คือปฏิบัติได้ จิตของเราเป็นพระพุทธจริง เป็นพระธรรมจริง เป็นพระสงฆ์จริง อยู่กับเรา มีในเรา เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จริง ไม่ใช่มัวตะโกน พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ นั่นมันเป็น พิธี มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างเป็นพิธี ก็ดีกว่าไม่มีเสียเลย แต่ถ้ามีกันจริงๆก็ต้องมีที่ จิต ที่เห็นอยู่อย่างนี้ รู้อยู่อย่างนี้ และก็สามารถที่จะ หยุดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทเสียได้
จะพูดความสำคัญเอ่อ, ของ เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ให้ฟังอีกเรื่องหนึ่งว่า แม้ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เรื่องนี้ และเป็นพระพุทธเจ้าเพราะรู้เรื่องนี้นะ นี่, ช่วยฟัง จำไว้ด้วย ว่า เป็นพระพุทธเจ้าเพราะรู้เรื่องนี้ นี่ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอง ท่านตรัสรู้เพราะมองเห็นปฏิจจสมุปบาทนี่ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ถึงแม้ว่าเป็นพระพุทธเจ้ามานาน มานานแล้ว ท่านก็ยังทรงชอบธรรมะเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้มากที่สุด จนท่านเอามาท่องเล่น ต้อง ต้องขอใช้คำว่าท่องเล่น ถ้าเรียกเป็นบาลีก็เรียกว่า มาสาธยายอยู่ ไม่มีเรื่องอื่นในพระไตรปิฎก เท่าที่เราจะสำรวจดูให้หมด หมดพระไตรปิฎก ไม่เห็นมีเรื่องไหนที่มีเกียรติมาก จนถึงกับพระพุทธเจ้าทรงนำมาสาธยายเล่น นอกจากเรื่องนี้
วันหนึ่งท่านประทับอยู่พระองค์เดียว เป็นอารมณ์ที่สบาย ท่านก็ท่องเรื่องนี้ เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ เล่นอยู่ตามลำพัง เหมือนกับพวกคนสมัยนี้เขาจะร้องเพลงอะไรที่เขาชอบที่สุด ร้องเพลงที่เขาชอบที่สุด งึมงำ งึมงำอยู่ตามลำพัง พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงสาธยายเรื่องปฏิจจสมุปบาท แต่ก็ว่าเป็นภาษาบาลี และก็ว่าไปทีละหมวด ละหมวด คือหมวดตา จบแล้วก็หมวดหู แล้วก็หมวดจมูก หมวดลิ้น หมวดกาย หมวดใจ แล้วก็หมวดฝ่ายเกิดขึ้นมาเป็นทุกข์ แล้วก็หมวดดับลงจนไม่มีทุกข์ และเกิดขึ้นแล้วดับลงนี่ มันก็มี ๖ หมวด หมวดละ ๒ มันก็มีถึง ๑๒ เที่ยวนั้นน่ะ ๖ เที่ยวอย่างเกิดขึ้น ๖ เที่ยวอย่างดับลง แต่ไม่ใช่ท่อง อย่างท่องสูตรคูณ ไอ้,สูตรคูณนั่นกลัวจะลืม แล้วเด็กก็ท่องสูตรคูณ นี่พระพุทธเจ้าท่านไม่ต้องลืม และไม่มีเรื่องลืม ไม่มีเรื่องหลง อะไรอีกแล้ว แต่ท่านก็ยังอุตส่าห์เอามาสาธยายเล่น ถ้าว่าเป็นภาษาบาลีก็จะว่า
(นาทีที่ 45.27)
จักขุนจะ ปฏิจจะ ปฏิจจะ อุปจะติ วิญญาณัง
ติณณัง ธัมมาณัง สังคะติปัตโส
ผัสสะปัจจยา เวทนา
เวทนาปัจจยา ตัณหา
ตัณหาปัจจยา อุปาทานัง
อุปาทานัง นะปัจจะยา ภะโว
ภะวะปัจจยา ชาติ
ชาติ ปัจจยา ชะรา มระณัง โศกะ เทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส (นาทีที่ 45.55)
นี่ว่าเรื่องตา แล้วก็ว่าเรื่องหู นี่ถ้าว่าเป็นบาลี ก็ว่าอย่างนี้ เพื่อให้มองเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เป็นตัวพุทธศาสนา ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะตรัสรู้เรื่องนี้ ตรัสรู้เรื่องนี้แล้วยังมาท่องเล่นอยู่บ่อยๆ นี่เรื่องดับทุกข์ เอ่อ, เรื่องทุกข์กับเรื่องดับทุกข์ คือเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ขอให้จำไว้เป็นหลัก
ถ้าท่านเคยเรียนเรื่อง อริยสัจ ๔ คือ เรียนว่าทุกข์คืออย่างนั้น อย่างนั้น คือ ชาติ ชรา มรณะ และเหตุให้เกิดทุกข์คือตัณหา ดับทุกข์คือไม่มีตัณหา มรรคมีองค์ ๘ ทำให้เกิดความดับทุกข์ นี่มันก็เรื่องเดียวกันแหละ แต่เขา นั่น, พูดอย่างสั้นว่า ตัณหาให้เกิดทุกข์ นี่, ทรงแสดงละเอียดว่าทำอย่างไรจึงจะเกิดตัณหา พอเกิดตัณหาแล้วเกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ ซอยโดยละเอียดจนกว่าจะเกิดทุกข์ ก็แปลว่า กล่าวให้มันละเอียดถี่ยิบเลย เรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้น คือเรื่องอริยสัจ แต่กล่าวอย่างถี่ยิบ อริยสัจธรรมดาสั้นๆลุ่นๆ ก็ว่า ตัณหาให้เกิดทุกข์ แต่ถ้าเรื่องปฏิจจสมุปบาท จะเกิดทุกข์อย่างละเอียดถี่ยิบ ก็ต้องมีอายตนะภายนอก ใน อายตนะภายนอก เกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา ตรงนี้ พอเกิด, เกิดตัณหาแล้วลำบาก เพราะมันจะเกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ เกิดทุกข์ นี่มีรายละเอียดถี่ยิบไปอย่างนี้ แต่มันก็เรื่องเดียวกัน
ทีนี้ก็มาดูตรงที่ว่า ทางสองแพร่ง หรือตรงผัสสะ ตรงจุดของผัสสะ มีอายตนะภายใน อายตนะภายนอก เกิดวิญญาณ แล้วเกิดผัสสะ ตรงนี้เป็นจุดทาง ๒ แพร่ง จะไปฝ่ายความโง่ก็เกิดทุกข์ จะมาฝ่ายความ ฝ่ายความฉลาดก็ไม่เกิดทุกข์ ทีนี้เราก็ต้องมาทำตนให้เป็นคนฉลาด คือทำให้เป็นคนฉลาดนี่ โดย,โดยเฉพาะใจความของเรื่องนี้ก็ทำให้มีสติ และมีปัญญา เพราะฉะนั้นเขาจึงมีระเบียบสอนให้ทำ สมถะ และ วิปัสสนา ชาวบ้านเขาเรียกกันทั่วๆไปว่า ทำวิปัสสนา คือทำให้เกิดสมาธิ ให้เกิดปัญญา
ทีนี้มันมีสติและปัญญามาก และคล่องแคล่วว่องไว สำหรับสติ ปัญญา ที่จะมาเกิดทันในขณะแห่งผัสสะ พอมีผัสสะกับอารมณ์แล้วก็ จิตนี้ว่องไวมากที่จะ มีสติ มีปัญญา เข้ามาควบคุมผัสสะทันที ถ้าเราต้องการอย่างนี้ เราก็ต้องไปลงทุนหน่อย ฝึกสติที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ฝึกให้มีสติ ฝึกวิปัสสนาชนิดที่ทำให้มีสติ แล้วก็มีปัญญาพร้อมกันอยู่ในตัว นั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ถ้าเราฝึกจนมีสติแล้ว ผัสสะของเราก็จะถูกควบคุมด้วยสติและปัญญา ก็เดินมาในทางแพร่งนี้ แพร่งที่จะไม่เกิดทุกข์ ถ้าเราไม่มีสติปัญญามันก็ไปในแพร่งที่จะเกิดทุกข์ นี้, การฝึกสติ สติปัฏฐาน นั้นมีประโยชน์มาก สำหรับจะดับทุกข์โดยตรงในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท นี่ว่าเจาะจงว่าจะตัดกระแสแห่งความทุกข์ ใน ในสายของปฏิจจสมุปบาทนั้น เราต้องมีสติ ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน แต่ทีนี้ท่านยังตรัสไว้อีกรูปแบบหนึ่งว่า ถ้าอยู่กันโดยทั่วๆไปสำหรับทุกคนนี้ก็ให้มี อริยมรรค มีองค์ ๘
อริยมรรค มีองค์ ๘ นี้เข้าใจว่า ทุกคนคงจะเคยได้ยินมาแล้ว ได้ฟังมาแล้ว และก็บางคนคงจะจำได้
สัมมาทิฐิ
สัมมาสังกัปโป
สัมมาวาจา
สัมมากัมมันโต
สัมมาอาชีโว
สัมมาวายาโม
สัมมาสติ
สัมมาสมาธิ
นี้ไปหารายละเอียดเอาจากหนังสือเรื่องนั้นๆอ่านโดยสมบูรณ์ ในที่นี้จะบอกแต่หลัก ที่เป็นใจความสำคัญว่า เราจะดำรงชีวิตของเราอย่างที่เรียกว่า อยู่ในรูปแบบของ มรรค มีองค์ ๘
องค์ที่ ๑ คือ เราจะต้องมี ความเห็น ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อถือ อะไรอย่างถูกต้อง เขาเรียกว่า สัมมาทิฐิ มีความเห็นชอบ ในชีวิตประจำวันของเราตลอดเวลานี้ขอให้มีสัมมาทิฐิ คือความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจอย่างถูกต้อง เรียกสั้นๆว่า มีความเห็นถูกต้อง
องค์ที่ ๒ มี สัมมาสังกัปโป คือ มีความหวัง ความดำริ ความใฝ่ฝัน อย่างถูกต้อง คือ มีความประสงค์ที่ถูกต้อง
ข้อที่ ๓ มี สัมมาวาจา มีการพูดจาที่ถูกต้อง
ข้อที่ ๔ มี สัมมากัมมันโต มีการทำการงานที่ถูกต้อง
ข้อที่ ๕ มี สัมมาอาชีโว ดำรงชีวิต เลี้ยงชีวิตอย่างถูกต้อง
ข้อ ๖ สัมมาวายาโม พากเพียรพยายามอยู่อย่างถูกต้อง
ข้อ ๗ สัมมาสติ นี่, คือตัวนี้ที่ว่าเมื่อตะกี้ สัมมาสติ มีสติอย่างถูกต้อง
ข้อ ๘ สุดท้าย สัมมาสมาธิ มีสมาธิอย่างถูกต้อง
มันมาสำคัญอยู่ที่มีสติ สัมมาสติ อย่างถูกต้องนั้นแหละ มันจะไปควบคุมไอ้ผัสสะ ให้มันเป็นผัสสะที่ฉลาด อย่าเป็นผัสสะที่โง่ แล้วปฏิจจสมุปบาทนั้น มันก็จะไม่เป็นไปเพื่อความทุกข์ มันจะย้อนกลับมาหาความดับทุกข์
ทำอย่างไร จะมีสติเพียงพอ มีสมาธิเพียงพอ เราก็ต้องฝึก เราอุตสาห์ฝึกเรื่องสติ เรื่องสมาธิ จนมัน, มันทำได้ถนัด มันมีประจำอยู่กับเรา ตลอดชีวิตของเรา เป็นผู้มีสติ เป็นผู้มีสมาธิ อย่างเพียงพอ สำหรับควบคุมผัสสะ แต่อย่างไรก็ดี จะต้องมีครบทั้ง ๘ นี้ ไปศึกษาให้ละเอียดเถอะ จะมีประโยชน์ที่สุด แล้วก็ท่องเป็นบาลีไว้ให้ได้ด้วย รู้ความหมาย รู้อะไรหมด แล้วก็ปฏิบัติให้มันมีสิ่งนั้นจริงๆ ถ้าอยู่ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างนี้แล้ว ผัสสะจะโง่ไม่ได้ ไม่ว่าจะไปสัมผัสอะไรทางไหน ก็เลยไม่เกิดความทุกข์ นี่เป็นเรื่องตั้ง ๘, ๘ เรื่องเอามารวมกัน เป็นเรื่องเดียว เรียกว่า มรรค คือหนทางที่จะดับทุกข์ แต่ที่จะพูดเฉพาะเจาะจง ที่ต้องการโดยด่วนโดยจำเป็นแล้ว ก็คือสติ มีสติในขณะแห่งผัสสะ แล้วความทุกข์ก็เกิดไม่ได้ แต่นี่เพื่อจะเป็นอยู่ให้สมบูรณ์แบบ เราจะต้องมีครบทั้ง ๘ ประการ
ช่วยจำไว้ว่านี่เป็นสิ่งประเสริฐที่สุด ที่พระพุทธเจ้าท่านประทานให้แก่เรา ซึ่งเราจะต้องศึกษาให้เข้าใจ และต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำตลอดชีวิต คุ้มครองไม่ให้เป็นทุกข์ เขาเรียกว่า มัจฉิมาปฏิปทา หนทางที่เป็นสายกลาง มีองค์ประกอบ ๘ องค์ เรียกว่า มรรค มีองค์ ๘ เรียกอริยสัจก็เรียกว่า นิโรธคามินี ทุกขนิโรธคามินี ปฏิปทา
ปฏิปทา เป็น ยังสัตว์ให้ถึงความดับแห่งทุกข์ มรรคมีองค์ ๘ นี้บางทีก็เรียกว่า พรหมจรรย์ ข้อปฏิบัติ ๘ อย่างนี้บางทีเรียกว่า พรหมจรรย์ จะประพฤติในองค์ ๘ นี้อยู่เขาเรียกว่า ประพฤติพรหมจรรย์ และจะทำลายความทุกข์ และจะทำลายกิเลส ที่เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ หรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมาได้ นี้ก็เลยได้บรรลุมรรคผลในพระพุทธศาสนา รวมความว่า ไม่ต้องเป็นทุกข์
แม้เราจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ก็ลองประพฤติธรรมะ ๘ ประการนี้ดูเถิด เราก็จะรับผลดีทุกอย่าง เรื่องการเรียนก็ดี การเป็นอยู่ก็ดี อะไรก็ดี มันจะมีผลดี ถ้าตั้งตนอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ และถ้าเราสามารถมีสติเพียงพอใช้สติทันแต่ท่วงทีแล้ว เราจะไม่เกิดความทุกข์เลย เราจะไม่โง่ จะไม่มัวโง่ เที่ยวหัวเราะในบางกรณี มาร้องไห้อยู่ในบางกรณี
เรื่องโง่มันมีอยู่ ๒ เรื่อง ชอบใจก็หัวเราะร่วน เหมือนกับคนบ้า ไม่ชอบใจก็มานั่งร้องไห้อยู่ มันมีอยู่ ๒ อย่าง อย่างนี้ เราไม่ต้องเป็นใน ๒ อย่างนี้ เราก็ปกติ มีความปกติ เพราะฉะนั้นหัดให้มีสติเร็วๆ เพียงพอ มีปัญญาอยู่ในสตินั้น มาทันในขณะที่ผัสสะ ที่มีผัสสะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเราต้องมีอยู่เสมอ อย่างน้อยที่สุด เราก็ต้องหัดยับยั้ง อย่าทำอะไรผลุนผลันลงไปตามเรื่องที่มากระทบ อะไรกระทบตา ก็ยับยั้งพอที่จะรู้สึกว่ามันคืออะไร อย่าไปหลงรัก หลงเกลียดมัน อะไรมากระทบหู ก็ยับยั้งความรู้สึกไว้ได้ก่อน อย่าไปหลงรัก หลงเกลียดมัน อะไรมากระทบจมูกก็เหมือนกัน กระทบลิ้น กระทบผิวกาย กระทบจิตก็เหมือนกัน ยับยั้งไว้ก่อน ยังไม่ไปพลุ่งพล่านที่จะไปรักมัน หรือเกลียดมัน คือไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ควบคุมความยินดียินร้ายให้ได้ ใจคอปกติแล้วมาดูอีกทีว่า เรื่องนี้จะต้องทำอย่างไร ถ้ารู้เห็นว่าต้องทำอย่างไรก็ทำไป ตามที่ควรจะทำเป็นผลดี ถ้าเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ต้องทำอะไร ไม่เกี่ยวข้องกันก็ได้ ก็เลิกก็ไม่ต้องสนใจกับมันก็ได้ นี่คือ การเป็นอยู่ มีชีวิตอยู่อย่างถูกต้องตามแบบของพระพุทธศาสนา แล้วเราก็จะไม่เป็นทุกข์เลย มันก็จะจบเรื่องพระพุทธศาสนา อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ฉันพูดแต่เรื่อง ความทุกข์ กับ ความดับทุกข์ เท่านั้น มันมีเท่านี้
ปัญหาของมนุษย์เรา ก็มีเรื่องความทุกข์ แล้วเราจะต้องดับทุกข์ให้ได้ แล้วเราก็ต้องรู้ว่าความทุกข์นั้นเป็นอย่างไร ความทุกข์นั้นเกิดมาจากอะไร แล้วเราจะทำอย่างไร สิ่งนั้นจึงจะไม่เกิด เหตุให้เกิดทุกข์จะไม่เกิด แล้วความทุกข์ก็ไม่เกิด บอกแล้วว่าวันนี้ มันจะพูดกันได้แต่ เค้าโครงของเรื่อง หรือ หัวข้อของเรื่อง โดยรายละเอียดไปหาเอาเองเถิด ความทุกข์มีอะไรบ้าง แจกรูปได้มากมาย หลายสิบ หลายร้อยชนิด เรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนี่ก็มีมาก รายละเอียดนั้นมันมีมาก แต่ใจความมันมีเท่านี้ ทีนี้ถ้าจะพูดกันอีก มันก็ต้องพูดเรื่อง ทำสติ ที่เรียกว่า ทำกรรมฐาน เพื่อจะได้มีสติทันท่วงที ในขณะแห่งผัสสะ ถ้าผู้นั้นมีสติทันท่วงที ในขณะแห่งผัสสะแล้วเป็นอันว่ารอดตัว จะไม่มีความทุกข์เลย เรื่องทำสติอย่างไร ก็มีหนังสือ หนังหา ตำรับ ตำรา ที่ละเอียดลออมากเหมือนกัน ไปหาอ่านดู วันนี้ก็ เดี๋ยวนี้ก็จะพูดได้เฉพาะเค้าโครงอีกเหมือนกัน
ที่ว่า ทำสติ นั้นเขาฝึกอย่างที่เรียกว่า ฝึกสมาธิ ถ้าฝึกสมาธิสำเร็จมัน ก็มีสติอยู่ด้วย รวมอยู่ในคำว่า สมาธิ นั้น มันมีหลักว่า เราจะฝึกให้เป็นคนรู้ตัว รู้สึกตัวก่อน จึงจะคิด จะพูด จะทำอะไรลงไป เราหัดบทเรียน บทนี้ว่า เราจะเป็น ผู้รู้สึกตัว ให้ดีเสียก่อน แล้วจึงจะพูด จะคิด จะทำอะไรออกไป คือเราจะต้องรู้สึกตัวทันควัน กับเมื่อมีเรื่องมันมากระทบ ถึงมันเร็วอย่างสายฟ้าแลบ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความชอบ เป็นความไม่ชอบ มันเร็วเหมือนกับสายฟ้าแลบ ดังนั้น คอยฝึกสติให้เร็วเหมือนอย่างสายฟ้าแลบ คือจะไม่พูดคิด จะไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำอะไรลงไป โดยปราศจากสติ นี่เราก็มาฝึกตนให้มีสติ ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่จน, จนสำเร็จ ฝึกให้มีสติ ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ แล้ว ก็มีการฝึกเมื่อมันจะมีการเปลี่ยนจากสิ่งหนึ่ง ไปยัง สิ่งหนึ่ง มันก็มีสติ
ที่นิยมกันโดยมากนั้น ก็ฝึกการกำหนดลมหายใจ เมื่อเราหายใจ มีสติกำหนดลมหายใจ อยู่ตลอดเวลา นี่เป็นบทเรียนที่แรก คนธรรมดาเขาทำไม่ได้ ที่จะให้สตินั้นไปกำหนดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตลอดเวลามันทำไม่ได้ มันก็หนีไปเสีย เอามากำหนดลมหายใจ เข้าออก เข้าออก เข้าออกอยู่นี่ มันก็หนีไปเสีย มันไม่, ไม่มัวติดกับลมหายใจเข้าออก เข้าออก เป็นเวลานานๆได้ นี่เรียกว่าเราบังคับจิตไม่ได้ บังคับสติไม่ได้ เอ่อ, เราก็ต้องฝึกในขั้นต้นที่สุดว่า ว่า เราจะบังคับมันให้ได้เสียก่อน ก็กำหนดสติที่ลมหายใจ ลมหายใจ หายใจออก เข้าอยู่ออก เข้า ออกอยู่ ก็จิต กำหนดลมหายใจด้วยสตินี่ หรือมีสติกำหนดลมหายใจนี่เข้า ออก เข้า ออก เข้า ออก อยู่ ลองไปทำดู มันก็มีบทเรียนเท่านี้ ข้อแรก
ทีนี้กำหนดลมหายใจ ให้มันละเอียด ละเอียด ละเอียด ลมหายใจที่ละเอียดเข้า ละเอียดเข้า เอ่อ, ร่างกายมันก็ระงับลงด้วย ก็เรียกว่า มีความสุขในทางความรู้สึก เพราะร่างกายมันสงบระงับ พร้อมกันนั้น จิตมันก็มีสมาธิกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ หรือจะให้กำหนดอย่างอื่นแทนลมหายใจ แล้วมันเป็นเรื่องเป็นราวไป ตามวิธีฝึก ซึ่งมีอยู่ถึง ๑๖ ขั้น ๑๖ ตอน มันพูดกันที่นี้ไม่ได้หรอก เพราะมันละเอียดอย่างนั้น ถ้าพูด ต้องพูดกันคราวอื่น หรือไปหาหนังสือหนังหา มาอ่านดู หรือว่าจะให้เปิดเทปให้ฟังเมื่อเวลามี การบรรยายเรื่องนี้ มีบันทึกอยู่ในเทป ที่เรียกว่าสมบูรณ์ก็มี
ถ้าสนใจก็ขอให้ท่านเปิดเทปฟัง นี่พูดแต่หัวใจของมันว่า กำหนดที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง จนกำหนดได้ หมายความว่า เราบังคับจิตได้ พอเราบังคับจิตได้ เราก็บังคับจิตให้มีสติเมื่อมีสัมผัส เราก็ควบคุมสัมผัสได้ มันก็ไม่เกิดเวทนา ตัณหา และเป็นทุกข์ ฝึกวิปัสสนานี่วิเศษมาก ดีมาก ไม่ใช่เรื่องบ้าๆบอๆเหมือนที่เขาพูดกัน คือเราฝึกที่จะเป็นผู้บังคับจิตได้ และก็สามารถจะบังคับจิต ให้มีสติในขณะแห่งผัสสะ ในชีวิตประจำวันของเรา ตลอดวัน ตลอดเดือน ตลอดปี เราไม่สัมผัสอะไรด้วยความโง่ หรือเผลอสติ ดังนั้น เราจึงควบคุมสติได้ เมื่อกระทบอารมณ์ทุกอย่างทุกชนิด กิเลสเกิดไม่ได้ ไม่มีการทำผิดพลาดให้เสียหาย อย่างคนที่มันไม่มีสติ แล้วทำการงานก็จะดีที่สุด จะศึกษาเล่าเรียนก็จะดีที่สุด จะพักผ่อนก็สบายที่สุด จะมีชีวิตอยู่เป็นคน จนกว่าจะตายมันก็เป็นไปในลักษณะที่ดีที่สุด เพราะอำนาจของสิ่งที่เรียกว่า สติ เพราะควบคุมโลภะ โทสะ โมหะได้ เพราะสติ เราควบคุมความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล ความโศกเศร้าอะไรได้ ด้วยอำนาจของความมีสติ
อย่างที่ว่ามาแล้ว ควรจะสนใจเป็นเรื่องคู่กันกับเรื่องปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทบอกให้รู้ว่าทุกข์ ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ความทุกข์จะดับไปอย่างไร แต่ความทุกข์จะดับลงไปได้นั้นต้องด้วยอำนาจของความมีสติ เพราะฉะนั้นไปฝึกสติ เราก็จะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในใจเรา หรือ จิตใจของเรา จะเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์น้อยๆขึ้นมาเสียเอง ด้วยการมีสติอย่างที่กล่าวนี้
ข้อที่เรารู้นั้นมันเป็นพระพุทธเจ้า สิ่งที่เรารู้มันก็เป็นพระธรรม สิ่งที่เราปฏิบัติหรือการปฏิบัตินั้นเป็นพระสงฆ์ เรามีจิตที่รู้ เรามีสิ่งที่สำหรับจิตรู้ และ มีการปฏิบัติจิตอันนั้นให้ถูกต้อง นี่คือการมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริง เราเรียกว่า ก. ข. ก. กา ของพุทธศาสนาที่แท้จริงมันมีอยู่อย่างนี้ นี่วันนี้ก็ตั้งใจว่าจะพูดแต่เค้าโครงของพระพุทธศาสนา ก็พูดได้เท่านี้ โดยรายละเอียดแล้วไปแสวงหาทางอื่น คราวอื่น หรือว่าถ้าจะพูดก็พูดกันคราวอื่น นี่เป็นจุดตั้งต้นที่จะมีไว้เป็นหลักพื้นฐานสำหรับศึกษาต่อไป ขอให้ทุกคนรักษาหลักพื้นฐานนี้ไว้ให้ดี ให้ชัดเจน แจ่มแจ้ง อยู่ในใจเสมอ แล้วจะศึกษาพุทธศาสนาเรื่องอะไรต่อไปก็ได้ แม้จะมีศีล มีศีลธรรม มีอะไรมันก็เพราะ ควบคุมความรู้สึกเหล่านี้ไว้ได้ ทุกเรื่องมันจะมาขึ้นอยู่กับ การมีสติในขณะแห่งผัสสะ ถ้าเราไม่มีสติในขณะแห่งผัสสะแล้ว จะไม่มีอะไรเหลือเป็นความถูกต้องอยู่ได้เลย ธรรมะจะมีอีก กี่ร้อย กี่พันอย่าง มันสำเร็จอยู่ตรงที่ มีสติในขณะแห่งผัสสะ ขอให้จำไว้ให้ดี เป็นผู้มีสติในขณะแห่งผัสสะให้มากที่สุด เท่าที่เราจะมีมากได้ แล้วก็เพิ่มให้มากขึ้นด้วยการฝึกสติต่อๆไปอีก เดี๋ยวนี้เรายังมีการฝึกสติน้อย ก็ใช้ไปตามน้อยก่อน มีสติในขณะแห่งผัสสะให้ทันแก่เวลา ก็จะคุ้มครองได้มาก แล้วต่อไป ฝึกสติให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก็คุ้มครองได้มากยิ่งขึ้น กว่าจะถึงที่สุด คือ ความทุกข์เกิดไม่ได้โดยแท้จริง
การบรรยาย รู้สึกว่าพอแล้วสำหรับวันนี้ เวลาเหลืออยู่บ้าง ก็ต่อไปนี้ ก็เป็นเวลาสำหรับตอบคำถาม ถ้าใครมีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ถามได้ และก็จะตอบให้ ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน นิพพานกลางดิน สอนสาวกกลางดิน พระไตรปิฎกทั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์เกิดขึ้น เพราะการนั่งสอนกันกลางดิน นี่เราเรียกว่า โรงเรียนของพระพุทธเจ้า นี่, แผ่นดินนี้ เป็นที่ประสูติ เป็นที่ตรัสรู้ เป็นที่ปรินิพพาน พระพุทธเจ้าท่านเกิดกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน ตายกลางดิน นี่พูดกันธรรมดา กุฏิของท่านตลอดเวลา ก็พื้นดิน เพราะฉะนั้น ขอให้ชอบพื้นดินกันบ้าง พอได้นั่งกลางดินทีไร แล้วก็จิตนึกถึงพระพุทธเจ้าทันที เรียกว่าพุทธานุสติ ได้บุญ ได้กุศล จะมีศรัทธาเสื่อมใสในพระพุทธเจ้ายิ่งขึ้น นี่โรงเรียนกลางดิน ไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าโรงเรียนที่เป็นตึก เป็นอะไร แบบที่เขามีกันทั่วไปในโลก เพราะฉะนั้นขอให้ถือว่าเรานั่ง หรือเราใช้โรงเรียนอย่างของพระพุทธเจ้าก็แล้วกัน มันมีจิตใจแปลกกันกว่าที่จะไปใช้โรงเรียนอย่างธรรมดาสามัญ เพราะฉะนั้นช่วยจำความรู้สึกในใจที่เกิดขึ้น ในขณะที่เรานั่งอยู่ตรงนี้ ว่ามันมีอย่างไร อย่างน้อยมันก็มีลักษณะที่สะอาด สว่าง และสงบ บ้างตามสมควร ถ้าความรู้สึกอันนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว ขอให้จำให้แม่นๆรักษาไว้ดีๆให้อยู่กับเราตลอดไปนานๆ จะเพิ่มเติมไว้เรื่อย ให้มันติดต่อกันไว้เรื่อยว่า มีความสะอาด มีความสว่าง มีความสงบ แห่งจิตใจ นี่ก็จะได้รับประโยชน์ ได้รับกำไรในชีวิต คือมีธรรมะ เป็นเครื่องทำความเยือกเย็นแก่จิตใจตลอดไป
ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็ปิดประชุมได้
ผู้ถาม : ขอกราบเรียน มีนักศึกษาถามว่า ตามธรรมดามนุษย์เราทุกคนเมื่ออยู่ในครรภ์มารดานั้นจิตย่อมว่าง แต่พอลืมตาขึ้นมองโลกย่อมมี 3 ตัว คือโลภ โกรธ หลง เข้ามาอยู่ทั้งสิ้น แต่เมื่อเรารู้จักตัวเอง กำจัดได้หนึ่งตัว ผลต่อมาจะกำจัดได้หมดหรือไม่ ขอให้ท่านได้ จงช่วยอธิบายให้เพื่อนๆนักศึกษาได้ฟังด้วย ว่ามีวิธีการกำจัด ๓ ตัวนี้ได้อย่างไร?
ท่านพุทธทาสตอบ :
ตัวเมื่ออยู่ในท้องมารดา มันไม่มีทางที่จะเกิดกิเลส กิเลสจะเกิดก็ต่อเมื่อคลอดออกมาแล้ว แล้วก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ทำงานได้แล้ว เพราะฉะนั้น ทารกนั้นจะต้องเติบโตพอสมควร จะเติบโตพอที่จะรู้ว่า อร่อยหรือไม่อร่อย พอใจหรือไม่พอใจ นี่ก็เรียกว่าต้องมีผัสสะเป็นแล้ว แล้วก็มีเวทนา เพราะว่าทารกนี้ยังไม่มีสติ ยังไม่มีปัญญา ยังไม่มีความรู้ เพราะฉะนั้น เขาก็มีผัสสะตามแบบของความไม่รู้ มันก็เกิดความรู้สึกที่เป็นกิเลสประเภทใดประเภทหนึ่ง รัก หรือ ต้องการ ด้วยความโง่ ก็เกิดความโลภ เมื่อไม่ได้อย่างใจด้วยความโง่ ก็เกิดความโกรธ อยู่ด้วยความโง่ ก็เรียกว่าความหลง นี่เด็กโตขึ้นมาก็ค่อยๆมีความโลภ ความโกรธ ความหลง เติบโตขึ้นมา ตามที่ผัสสะมันขยายตัวกว้างขวางอย่างไร เวทนากว้างขวางอย่างไร ก็เกิดกิเลสกว้างขวางเรื่อยขึ้นมา จนกว่าจะเป็นผู้ใหญ่ มันก็มีกิเลสเกิดขึ้นเต็มที่และสมบูรณ์
ทีนี้ที่ถามว่าจะกำจัดมันอย่างไร ก็เรื่องเดียวกับเมื่อตะกี้ที่พูดไปแล้วว่า มีผัสสะเมื่อไร ก็มีสติเมื่อนั้น มีสติควบคุมผัสสะ กิเลสก็ไม่เกิด แล้วศึกษาจนรู้ว่า ความทุกข์เป็นอย่างนี้ กิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ไม่ประสงค์ มันก็มีสติควบคุมผัสสะ กิเลสก็ไม่เกิด กิเลสไม่เกิดมันก็ไม่มีความชินที่จะเกิด มันก็ง่ายดายเป็นอยู่อย่างที่ไม่มีกิเลส ขอให้จำไว้ว่ามันเรื่องเดียวกัน คือควบคุมผัสสะไว้ให้ได้ กิเลสก็ไม่เกิด มีสติ มีปัญญาพอก็ควบคุมผัสสะไว้ได้ ขอให้ไปเพิ่มพูนสติและปัญญา ฝึกฝนให้มีมาก และเร็ว พอที่จะควบคุมผัสสะ ใจความมีเท่านี้
ผู้ถาม : ขอเรียนถามอีกข้อ กระผมได้อ่านหนังสือมา คำว่า ชาติปิ ทุกขา ชราปิ ทุกขา และมะระณัมปิ ทุกขัง ในหนังสือบางเล่ม เขาอธิบายว่า หมายถึงว่า การเกิดจากท้องพ่อ เอ้อ จากท้องแม่ จากครรภ์ของมารดา การตีความหมายอย่างนี้ กระผมคิดว่า ไม่ค่อยน่าจะถูกนัก ไม่ทราบว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส :
มันก็ถูกต้องทั้ง ๒ อย่างแหละ จะตีความหมายธรรมดาภาษาคน ว่าเกิดจากท้องแม่ แล้วก็ชราไปตามเรื่องนั้นก็ถูกเหมือนกัน มันก็เป็นทุกข์เหมือนกัน แต่ว่าที่มันเป็นทุกข์กว่านั้น มันเป็นทุกข์เมื่อมีความยึดถือว่า ความเกิดของเรา ความแก่ของเรา ความตายของเรา นี่เป็นความเกิดอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งเป็นทุกข์กว่า เป็นทุกข์จริงกว่า ถ้าเราไม่ถือว่าความเกิดของเรา ความแก่ของเรา ความตายของเรา มันก็ไม่เป็นทุกข์ ทั้งที่มันก็เกิด แก่ ตายอย่างนั้น ผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังมีร่างกายที่เรียกว่า แก่ เจ็บ ตาย อยู่นั่นแหละ แต่ท่านก็ไม่เป็นทุกข์ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของท่านมันก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะว่าท่านไม่ได้ถือว่า ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของเรา นี่เขาเรียก ความปล่อยวาง หรือความหลุดพ้น แต่ถ้าใครไปถือว่า ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของเรา คนนั้นจะเป็นทุกข์ทันที และทุกทีที่มีความยึดถืออย่างนั้น
ทีนี้ความเกิดจากท้องแม่นั้น ยังไม่มีความหมายอะไรนัก จนกว่าเมื่อไหร่มันถูกยึดถือว่า ความเกิดของเรา มันจึงจะ จะแสดงบทบาท แสดงฤทธิ์ให้เห็น เกิดจากท้องแม่มันก็แล้วไปแล้ว แต่ถ้าเอามายึดถือว่า ความเกิดของเรา เมื่อไหร่ ก็จะเป็นทุกข์เมื่อนั้น เพราะฉะนั้น ความเกิดจากท้องแม่ ไม่มีความหมายที่สมบูรณ์ จนกว่าเมื่อไรจิตใจจะเกิดความยึดถือ ว่าความเกิดของเรา เกิดมาจากท้องแม่ มันก็เป็นเรื่องครึ่งๆกลางๆไม่สมบูรณ์ จนกว่าจะมีความยึดถือไอ้ความเกิดนั้น ว่าความเกิดของเรา เมื่อนั้นแหละสมบูรณ์ ยึดถือเมื่อไร มีการเกิดเมื่อนั้น ยึดถือเมื่อไร มีการเกิดเมื่อนั้น และเป็นทุกข์เมื่อนั้น และเป็นทุกข์ทุกที จะเรียกว่า ถูก มันก็ถูกทั้ง ๒ ความหมายแหละ แต่ว่ามันไม่เท่ากัน ความหมายเล็กๆความหมายอย่าง ภาษาเนื้อหนัง วัตถุ มันก็เป็นอย่างหนึ่ง ความหมายทางจิตใจ คือความยึดมั่นถือมั่น นั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และสำคัญกว่า แล้วก็เป็น เป็นทุกข์กว่า
ความเจ็บปวดที่ไม่โง่ ไปหลงยึดถือ ว่าความเจ็บปวดของเรานั้น มันเจ็บน้อยกว่า ช่วยจำกันไปด้วยว่า เจ็บอะไรก็ตาม เจ็บแผล เจ็บอะไรก็ตาม ตามธรรมดาจะมีความทุกข์ตามแบบนั้นอยู่แล้ว แต่ถ้าไปยึดถือว่าความเจ็บของเรา มันก็ไปแต่จะเจ็บมากกว่านั้นอีก จะเจ็บจนถึงกับจะเป็นบ้า หรือว่าทรมานถึงส่วนลึกสุดของจิตใจ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ต่อเมื่อมันมีความหมายว่า เป็นของเรา ถ้าไม่ถูกยึดถือว่าเป็นของเรา มันก็จะไม่เรียกว่าไม่เป็นทุกข์ก็ได้ หรือเป็นทุกข์นิดเดียว ถ้ามันมีเวทนา ถ้ามันมีเวทนา เช่น ความแก่ ความเจ็บมันมีเวทนา ก็เป็นทุกข์นิดเดียว แต่ถ้าไปยึดถือว่า ความแก่ของเรา ความเจ็บของเรา จะทุกข์มากกว่านั้น หรือว่าทุกข์นิดเดียวตามรู้สึกธรรมดานี่ ถ้าไปยึดถือเข้าอีก มันจะมีความรู้สึกเป็นทุกข์มากกว่านั้นอีก นี่เรียกว่าตัวจริงของมันอยู่ที่ตรงยึดถือ
เมื่อใดไปยึดถือ เมื่อนั้นจะมีสิ่งนั้นเกิดขึ้นโดยความเป็นของเรา แล้วก็จะมีความทุกข์ มีห่วง มีวิตกกังวลเกี่ยวกับ ความเกิด แก่ เจ็บ ตายนั้นมากกว่า ที่จะปล่อยมันไปตามเรื่อง เมื่อกี้ถามว่าอันไหนจะถูกกว่า มันก็ถูกด้วยกันทั้ง ๒ แต่มันถูกกัน คนละระดับ และระดับที่มีปัญหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา คืออย่างหลัง อย่างที่มันถูกยึดถือว่าเป็นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของเรา ท่านสอนให้มีปัญญารู้ สลัดออกไป โดยความไม่ใช่เป็นของเรา ให้เป็นของธรรมชาติ มีปัญหาอะไรอีก
ผู้ถาม : มีปัญหาอีกข้อหนึ่ง ถามว่า ผมมีความทุกข์อยู่ ๒ อย่างคือ ผมกลัวผีหลอก ทำอย่างไรถึงจะหายกลัวผี อีกข้อหนึ่งถามว่า ผมกลัวโจรผู้ร้าย ต้องทำยังไงจึงจะหายกลัวโจร
ท่านพุทธทาส :
ถ้ามีสติ มีปัญญาพอ ก็ไม่มีกลัว ไปฝึก ให้มันมีสติ มีปัญญาพอ ได้เห็น ได้รู้สึกอะไร ก็อย่าไปเข้าใจว่าเป็นผี เมื่อเรายึดมั่น ถือมั่นให้มันเป็นผีขึ้นมา ไปศึกษาให้รู้ว่า กลัว มันก็เป็นทุกข์เปล่าๆ ไม่กลัวดีกว่า นี้ถ้าจะต้องทำอย่างไรก็ทำไป จะป้องกันหรือหลีกหนีโจรผู้ร้ายอย่างไร ก็หลีกหนีไป โดยที่จิตใจไม่ต้องกลัว จะได้ไม่เป็นทุกข์ มีสติ มีปัญญา สำหรับที่จะไม่กลัวและก็ไม่เป็นทุกข์
เอ้า, มีอะไรอีก
ผู้ถาม : ยังมีอีกแต่ว่ารู้สึกว่าตรงกับคำอธิบายที่ท่านอธิบายไปแล้วเมื่อกี้นี้ เช่นเขาถามว่า วิญญาณที่พระพุทธเจ้าได้กล่าวไว้นั้นหมายความว่าอย่างไร ก็รู้สึกว่าก็ตรงกับที่ท่านอธิบายผ่านมาแล้ว
ท่านพุทธทาส :
เมื่อ อายตนะภายนอก กับ อายตนะภายใน เนื่องกัน มันจะเกิดวิญญาณขึ้นทางอายตนะนั้นๆ คือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่, วิญญาณที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเป็นอย่างนี้ ส่วนวิญญาณเจตภูต ที่ชาวบ้านพูด ลอยไปเกิด ลอยมาเกิด นั้นอีกความหมายหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัสถึงเรื่องนี้ เราก็ไม่พูด แต่ถ้าเราเชื่อว่ามีวิญญาณที่เป็นผีอย่างนั้นอยู่ แล้วเราก็จะแก้ปัญหานั้นได้ด้วยมีสติ มีปัญญา เมื่อเกิดการกระทบชนิดที่ให้เกิดความรู้สึกว่า ผี มีสติมีปัญญาพอ ก็จะไม่เกิดความรู้สึกว่าผี หรือถ้ามันเกิดความรู้สึกว่าผี ก็ขอให้ถือว่ามันเป็นเพียงผลแห่งการกระทบทางอายตนะเท่านั้น ไม่ใช่ผีจริงๆ ถ้าศึกษาให้ถึงที่สุดมันเป็นเรื่อง ไม่มีตัว ไม่มีตน ศึกษาเรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตา แล้วจะไม่มีผีเหลืออยู่เลย
เวลาหมดหรือยัง โปรแกรมของคุณจะไปทำอะไรกันต่อนี้ เย็นมากแล้วนะ ไปรับประทานอาหารนะ นี่มัน ๕ โมงแล้ว พอดี ๖ โมงค่ำมีอะไรอีกจะได้ทำ เราปิดประชุมกันดีกว่ามัน ๕ โมงแล้ว