แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
จริยศึกษานี่อาจจะให้เป็นสากลก็ได้ คือมันเข้าได้ทุกศาสนา ตรง ๆ กัน
ถ้าเป็นเรื่องสอนศีลธรรม ก็ตามหลักสูตร จำเป็นต้องเอาตามหลักสูตรที่กระทรวงเขามีให้ และวิธีสอนเขาก็มีให้ เขาพิมพ์ขึ้นแล้ว พระที่นี่ก็ได้ไปช่วยเหมือนกัน ในเรื่องหลักสูตรและวิธีสอนศีลธรรมตามหลักสูตร เราจะไม่พูดกันถึงเรื่องนี้อีก ก็ไปหาเอาได้จากหนังสือที่กระทรวงพิมพ์ขึ้นแล้ว ที่นี่เรามีเวลาจำกัดวันเดียว ก็พูดให้มันเป็นเรื่องกว้าง ๆ ทั่วไป ใช้เป็นหลักทั่วไปได้ เราจะบอกผู้เรียนจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ทราบว่าทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับคำพูดเพียงคำเดียว คือคำว่าธรรมนั่นแหละ ให้เขาเข้าใจและมองเห็น ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับคำเพียงคำเดียวว่าธรรม ธรรมในฐานะสำหรับสิ่งที่ต้องเรียนอย่างหนึ่ง ธรรมในฐานะสิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างหนึ่ง และธรรมในฐานะสิ่งที่เป็นผล อันเกิดขึ้นมาจากการปฏิบัตินี้อย่างหนึ่ง กล่าวตามหลักที่ใช้กันอยู่ในวงพุทธศาสนา คำว่าธรรมที่เกี่ยวกับมนุษย์โดยตรง ชั้นพื้นฐานทั่วไปไม่ต้องรู้อะไรมากนัก ก็คือธรรมใน ๓ ลักษณะนี้ ธรรมที่ต้องเรียน ธรรมที่ต้องปฏิบัติ ธรรมที่เป็นผลของการปฏิบัติ รวมเรียกคำเดียวว่าธรรม นั้นถ้าเราจะมองดู รวมกันทีเดียวทั้งหมดแล้วก็บอกเขาว่าธรรมคือสิ่งสิ่งเดียวที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์ ทุกชนิด คำว่าปัญหาคือสิ่งที่ทำให้เราทนอยู่ไม่ได้ ต้องดิ้นรนเพื่อจะหลบหลีกเพื่อให้หมดไปจากปัญหา ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่มีความสงบสุข ส่วนบุคคลก็ดีรวมกันทั้งโลกก็ดี มันก็เรียกว่าปัญหาเสมอกัน ถ้ามันยังมีปัญหาอยู่มันก็คือมีความยุ่งยากลำบาก กระวนกระวาย ระส่ำระสาย ที่เรียกว่าวิกฤต วิกฤตคือความผิดปกติ พอผิดปกติก็เกิดความที่ทนอยู่ไม่ได้ เพราะมันผิดปกติ ธรรมคือสิ่งที่จะแก้ปัญหาทุกอย่าง มีอยู่ในรูปแบบที่เราต้องเรียนให้รู้ให้เข้าใจตรงนี้ อยู่ในรูปแบบที่เราต้องปฏิบัติให้เสร็จลงไปก็มี มีอยู่ในรูปแบบของผลการปฏิบัติเกิดขึ้นมา ก็เรียกว่าธรรม อยากจะบอกว่าคำว่าธรรมคำนี้มันเป็นคำประหลาด คำพูดที่ประหลาด ไม่มีคำพูดไหนจะประหลาดเท่าคำ ๆ นี้ ที่เราแจกออกเป็นสองอย่าง เราหมายถึงเฉพาะธรรมที่เกี่ยวกับมนุษย์โดยตรง ทีนี้คำว่าธรรมมันเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยกเว้นอะไร นั้นควรจะจำไว้เป็นหลักอย่างหนึ่งว่า ธรรมโดยความหมายทั่วไปนั้น หมายถึงความจริงของธรรมชาติ เป็น natural truth, natural fact เป็นความจริงของธรรมชาติ ซึ่งจะแบ่งแยกได้เป็น ๔ ลักษณะ
๑. คือตัวธรรมชาติทั้งปวง เทียบกันได้กับในศาสนาที่มีพระเจ้า ก็ว่าคือสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา ตัวธรรมชาตินั้นเองเทียบกันได้กับสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา
๒. ธรรมในฐานะที่เป็นกฏของธรรมชาติ เมื่อกี้ธรรมชาตินั้นเอง ตัวธรรมชาตินั้นเองอย่างที่ ๑ อย่างที่ ๒ คือกฏของธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวธรรมชาตินั้น ๆ เทียบกันได้กับองค์พระเจ้าในศาสนาที่เขามีพระเจ้า พุทธศาสนาก็มีพระเจ้าคือมีกฏของธรรมชาติเป็นพระเจ้า ทุกอย่างออกมาจากพระเจ้า เราก็บอกทุกอย่างออกมาจากกฏของธรรมชาติ ปฐมเหตุของสิ่งทั้งปวงคือกฏของธรรมชาติ กฏของธรรมชาติเป็นผู้สร้างสิ่งทั้งปวงขึ้นมา เป็นผู้ควบคุมสิ่งทั้งปวงอยู่ หรือเป็นผู้ยกเลิกสิ่งทั้งปวง คือความดับ กฏของธรรมชาติมีครบทุกอย่าง Omniscience กฏของธรรมชาติอยู่ในที่ตัวไป Omnipresentกฏของธรรมชาติสูงสุดกว่าสิ่งใด omnipotent อย่างนี้เป็นต้น แม้กฏของธรรมชาตินี้ก็เรียกว่าธรรมเฉย ๆ คำเดียว พยางค์เดียว
๓. คือหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติตามกฏของธรรมชาติ หน้าที่ที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายจะต้องปฏิบัติตามกฏของธรรมชาติ นี่เทียบกันได้กับคำสั่งหรือความประสงค์ของพระเป็นเจ้า ในศาสนาที่มีพระเป็นเจ้า ในกรณีนี้ธรรมะแปลว่าหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติไม่ได้จะต้องตาย ที่เราพูดเมื้อตะกี้ว่าธรรมใน ๓ ลักษณะคือ ที่ต้องเรียน ต้องรู้ ต้องปฏิบัติ แต่ผลการปฏิบัติมันก็อยู่ที่ข้อนี้ ข้อที่ ๓ คือหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติตามกฏของธรรมชาติ ถือว่าเป็นคำสั่งหรือข้อเรียกร้องหรือความประสงค์ของพระเเจ้า ไม่ทำไม่ได้โดยเด็ดขาด
ข้อสุดท้ายก็เรียกว่าผล ผลจากการปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติถูกก็เป็นผลดี ปฏิบัติผิดก็เป็นผลร้าย นี้มันก็เทียบกันได้กับของประทานของพระเจ้า ของสิ่งที่พระเจ้าท่านประทานให้ โดยเสมอกัน มันแล้วแต่การปฏิบัติหน้า เพราะในบางเวลาก็ต้องประทานในสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ที่มนุษย์ไม่ปรารถนาเป็นโรคระบาดหรือเป็นอะไรลงมา เพราะเขาปฏิบัติผิดหน้าที่ นี้เป็นไปตามกฏของธรรมชาติ สิ่งที่ประทานให้ก็ไปตามการปฏิบัติของผู้ปฏิบัติ ขอให้ฟังดูให้ดีว่าธรรม เมื่อกล่าวให้หมดจดสิ้นเชิงแล้วมันหมายถึงสัจจะของธรรมชาติ แยกเป็น ๔ ความหมายคือ ตัวธรรมชาตินั้นเอง ตัวกฏของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ และผลตามสำควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ ๔ อย่างนี้ก็เรียกว่าธรรม นั้นจึงไม่สามารถจะแปลเป็นภาษาไหนได้ ภาษาไทยก็ไม่อาจจะแปล จึงใช้คำว่าธรรม ตามความหมายเดิม ไม่ว่าจะพูดถึงธรรมในลักษณะไหน ใน ๔ อย่างนั้น เราก็อธิบายกันไป นี้บอกให้ทราบว่ามันเป็นคำประหลาดที่เล็งถึงทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไรจึงไม่อาจจะแปลเป็นภาษาใดในปัจจุบันนี้ ใน ๔ ความหมายนั้น มันก็เป็น ๔ คำอยู่แล้ว จะหาคำแต่ละคำ คำเดียว คำต่อคำ มาใช้แปลคำเหล่านั้นมันก็ยังไม่ได้ มีคนลองแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ครบถ้วนตามความหมายทุกอย่าง ทุกชนิดของคำคำนี้ ปรากฏว่าแปลมาเป็นภาษาอังกฤษต่าง ๆ กันตั้ง ๓๒ คำแล้วก็ยังไม่หมด นี่มันถึงว่าประหลาด เป็นคำที่ประหลาด ตรงที่แปลเป็นภาษาใดไม่ได้ จึงต้องใช้ภาษาเดิมคือคำว่าธรรม ธรรมในภาษาไทย ธรรมะในภาษาบาลี ธรรมะในภาษาสันสกฤต ที่ลงไปอยู่ในดิกชั่นนารีอังกฤษธรรมดาสามัญก็ใช้คำว่า Dharma ตามรูปแบบสันสกฤต ในฐานะที่เป็นนาม ถ้าเป็นคุณทรัพย์จะใช้คำว่า Dharmic Dharma ใส่ ic ข้างหลัง อ่านว่า ธรรมมิก ถ้า ma ก็ ธรรมะ นั่นคือสิ่งที่กำลังพูดถึง ถ้าภาษาอังกฤษโดยตรงมันต้องแปลได้ตั้งหลายสิบคำ ก็ใช้คำว่า ธรรม ดีกว่า เรียนธรรมะใน ๔ ลักษณะ คือตัวธรรมชาตินั้นเอง และตัวกฏของธรรมชาตินั้น ตัวหน้าที่ตามกฏของธรรมชาตินั้น และก็ตัวผลที่ได้รับตามหน้าที่ ที่ว่าเป็นหน้าที่นั้นทำในฐานะที่เป็นหน้าที่แล้วก็มาแยกเป็น ๓ ระดับ คือระดับที่ต้องเรียน ระดับที่ต้องปฏิบัติ ระดับที่เป็นผลของการปฏิบัติ ได้รับผล ทั้ง ๓ อย่างนี้ล้วนแต่เป็นเรื่องแก้ปัญหาทุกประการของมนุษย์ มันเหมือนกับว่าเราเจ็บไข้ เราก็ต้องการยามาแก้ไขความเจ็บไข้ เราเป็นทุกข์เราก็ต้องมีอะไรมากำจัดความทุกข์ เดี๋ยวนี้มนุษย์มีปัญหา คือความยุ่งยากลำบาก ทนทรมาน ก็ต้องมีวิถีทางที่จะแก้ปัญหานั้น ด้วยสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ สำหรับเรียนก็มี แล้วปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วก็มีผลของการปฏิบัติ เป็น ๓ ระดับกันอยู่ ทีนี้มันยังมีปัญหาต่าง ๆ กันอยู่หลายระดับ ปัญหาระดับเด็กๆ ก็มี ระดับหนุ่มสาวก็มี ระดับผู้ใหญ่ก็มี ระดับคนแก่ก็มี ปัญหามันไม่เหมือนกัน ก็จึงมีธรรมะสำหรับแก้ปัญหาให้แก่คนทุกวัย อีกทางหนึ่งเราใช้คำพูดเป็น ๓ ระดับเหมือนกัน คือปัญหาเกี่ยวกับทางวัตถุ คือ Material หรือ Physical ปัญหาทางวัตถุ เนื้อ หนัง ร่างกาย ทรัพย์สมบัติ อย่างนี้เรียกว่าทางวัตถุ อีกชั้นหนึ่งปัญหาทางระบบจิต คือ Mental ระบบประสาท ระบบจิตไม่สมประกอบ เช่นเราเป็นโรคจิต ร่างกายสบายดีแต่ยังเป็นโรคจิต อย่างนี้ก็เป็นปัญหาทางจิต ระบบสุดท้ายเราไม่รู้จะเรียกอะไร เราเรียกกันไปทีก่อนว่าระดับปัญหาทางวิญญาณ คือคำว่า Spiritual ไปหาคำแปลเอาเองก็ได้ Spiritual นี้ ทีนี้ขอแปลไปทีก่อนว่าทางวิญญาณ แต่ไม่ใช่วิญญาณรู้อะไรทางตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยตรง เป็นวิญญาณอีกความหมายหนึ่ง วิญญาณแปลว่ารู้แจ่มแจ้ง วิแปลว่าแจ่มแจ้ง ญาณแปลว่ารู้ วิญญาณแปลว่ารู้แจ่มแจ้ง ปํญหาทางวิญญาณนี่ คือปัญหาทาง Spiritual เราไม่รู้แจ่มแจ้งต่อสิ่งทั้งปวงเราจึงปฏิบัติผิดต่อสิ่งทั้งปวง เกิดเป็นปัญหาทางวิญญาณขึ้นมา แต่คำว่าทางวิญญาณนี้มันกำกวม มันไปปนกับความหมายอื่นก็ได้ ขอให้จำไว้เป็นพิเศษ เช่นเดียวกับคำว่า Spiritual นั่นเอง ในที่นี้เราหมายถึงทางวิญญาณอย่างนี้ แต่คำว่า Spiritual มันไปปนเปกับความหมายอย่างอื่น เรื่องผีเรื่องสางเรื่องอะไร ๆ ก็ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องผีเรื่องสาง เป็นเรื่องเกี่ยวกับระดับสติปัญญาอันลึกซื้ง เราจึงมีปัญหากันอยู่เป็น ๓ ระดับ ระดับร่างกายหรือวัตถุ เช่นความยากจน เช่นร่างกายไม่มีสุขภาพ บ้านเรือนที่อยู่อาศัยไม่ดี อย่างนี้เป็นต้น นี้เป็นปัญหาทางวัตถุหรือทางกาย ธรรมะก็ช่วยแก้ได้ มันมีธรรมะอยู่ระดับหนึ่งระบบหนึ่งสำหรับแก้ปัญหาทางนี้ นี้ปัญหาทางจิตโดยตรงที่เรียกว่า Mental นั้น ก็รู้จักทำจิตให้สงบ แต่ไม่ได้รู้อะไร ไม่ได้หมายความว่ารู้อะไร ทำจิตให้ปกติ ทำจิตให้สงบพอจะมีความสุขทางจิตบ้าง ไม่เป็นโรคประสาท ไม่เป็นโรคจิต หรือว่าไม่มีความรู้สึกรบกวนจิต ประจำวัน ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัวที่มันเคยชิน มันเกิดขึ้นมาง่าย ๆ โดยไม่รู้ว่ามาจากอะไร อย่างนี้ก็เป็นเรื่องปัญหาทางจิตเหมือนกัน ปัญหาทางจิตทั้งหมดก็มีธรรมะอยู่ระบบหนึ่ง ก็เมื่อจะขจัดออกไปได้ ทีนี้ก็มาถึงระบบที่เรียกว่าทางวิญญาณหรือทาง Spiritual นี้ ร่างกายก็สบายดี มีที่อยู่อาศัยดี โรคประสาทก็ไม่เป็น โรคจิตก็ไม่เป็น แต่มันยังโง่ต่อธรรมชาติอันลึกซึ้ง พูดว่ามันโง่ต่อปรมัตถธรรมหรือปรมัตถสัจจะ หรือโง่ต่อพระเจ้าก็ได้ ความโง่ต่อพระเจ้าต่อเรื่องของพระเจ้ามันเป็นปัญหาทางวิญญาณ เราจะต้องหมดปัญหาทางวิญญาณเราจึงจะเป็มนุษย์ที่หลุดรอดจากปัญหาทั้งปวง คำว่าหลุดรอดเป็นคำรวมของศาสนาทุกศาสนา ไปศึกษาคำสุดท้ายของทุกศาสนาที่เขาเรียกว่า Final Goal จะพบคำที่มีความหมายว่ารอด พุทธก็รอด คริสต์ก็รอด อิสลามก็รอด แล้วเขาก็หมายตามภาษาคนว่าวิญญาณมันรอด มันรอดออกไปจากปัญหาที่เป็นความโง่ เป็นความทุกข์ ที่เป็นกิเลส นี่ธรรมะคือทำให้หมดปัญหา ทั้งทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ ทั้งในระดับเด็ก ระดับหนุ่มสาว ระดับผู้ใหญ่ ระดับคนแก่คนเฒ่า ถ้าใครมองเห็นตัวธรรมะถูกต้องอย่างนี้ เขาก็จะชอบธรรมะในฐานะเป็นพระเจ้า ฉะนั้นสิ่งสูงสุดหรืออำนวยทุกอย่างง่าย ก็จะชอบธรรมะในฐานะที่เป็นพระเจ้า ในพุทธศาสนานี้ก็มีพระเจ้ากับเขาด้วยเหมือนกัน คือสิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั่นเอง แต่ในธรรมะในทุกความหมายแล้วก็ความหมายสำคัญมันอยู่ที่กฏของธรรมชาติ คือความหมายที่ ๒ ถ้าจดไป ๔ ความหมาย คือความหมายที่ ๒ คือกฏของธรรมชาติ แล้วมันน่าหัวที่มันเผอิญเป็นโดยทางตัวหนังสือในภาษาไทย คือคำว่ากฏเมื่อออกเสียงให้ยาวมันกลายเป็นกอด มันก็เลยเป็นคำคำเดียวกับในศาสนาที่เขามี God มีพระเจ้า แต่มันเป็นเรื่องขบขันเรื่องเผอิญเป็นเรื่องน่าหัว พุทธบริษัทก็มี God กับเขาด้วยเหมือนกัน คือกฏของธรรมชาติในฐานะเป็นธรรมะในลักษณะที่ ๒ เรื่องมี God หรือไม่มี God ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ที่ประเทศอินโดนีเชียมีคนดั่งเดิมตั้งแต่สมัยก่อนอิสลามเข้ามาเขาก็เคยเป็นพุทธมาแต่กาลก่อนโน้น เขาอยู่ว่าง ๆ ถือพุทธ ก็ไม่เชิง แต่ก็ไม่ใช่คริสต์ ไม่ใช่อิสลาม ต่อมาคนไทยเราไปสอนศาสนาพุทธให้แก่เขา ให้แก่คนพวกนี้ คนที่ว่าง ๆ ศาสนาอยู่ เคยเป็นพุทธมาแต่ครั้งโน้นก่อนสมัยศรีวิชัย สมัยศรีวิชัยเป็นอย่างน้อย ทีนี้ไปสอนเขาว่าพุทธศาสนาไม่มีพระเจ้า รัฐบาลเขาก็จัดพุทธบริษัททั้งหลายไว้ในฐานะเป็นผู้ไม่มีศาสนา คือไม่มี Religion โดยเขาจำกัดความตามกฏหมายนั้นว่า Religion ต้องมีพระเจ้า เมื่อชาวพุทธไม่มีพระเจ้า ชาวพุทธก็ไม่มี Religion นั้นจึงไม่เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ตามกฏหมายของประเทศอินโดนีเชีย นั้นชาวพุทธก็ไม่ได้รับสิทธิหรือประโยชน์อะไรตามที่กฏหมายบัญญัติไว้ให้ เพราะเขาเป็นพลเมืองที่มีศาสนา นี่พุทธบริษัทเลยไม่ได้สิทธิตามกฏหมายในส่วนนี้ ต่อมามีผู้เอาคำอธิบายนี้ไปตอบโต้กับรัฐบาลว่าพุทธบริษัทก็มี God มีพระเจ้า ในลักษณะอย่างที่ว่านี้คือกฏของธรรมชาติ มีคุณสมบัติอย่างเดียวกับพระเจ้าทุกอย่าง กฏของธรรมชาตินี่เป็นปฐมเหตุเป็นผู้สร้าง เป็นผู้ควบคุม เป็นผู้ทำลาย เป็นผู้รู้ทุกอย่าง เป็นผู้อยู่ในที่ทั้งปวง เป็นผู้เป็นใหญ่กว่าสิ่งทั้งปวง เขายอมรับ ถ้าอย่างนั้นพุทธบริษัทก็มีพระเจ้าในความหมายที่มิใช่บุคคลอย่างนี้ เลยยอมให้พุทธบริษัทนั้นเป็นพลเมืองที่มีศาสนา เป็นพลเมืองที่มีสิทธิสมบูรณ์อย่างพลเมืองทั่วไปตามกฏหมายและได้รับประโยชน์ การทำความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าหรือไม่พระเจ้ามันมีปัญหาอย่างนี้ด้วยเหมือนกัน เดี๋ยวนี้ในประเทศไทยเขาสอนกันอยู่ว่า พุทธศาสนาไม่มีพระเจ้า แม้ในหลักสูตรของกระทรวงที่เขียนให้พวกคุณที่เป็นครูสอนพุทธศาสนาก็คงจะได้เขียนลงไปว่า พุทธศาสนาไม่มีพระเจ้า ทีนี้เรามาอยู่ที่นี่บอกว่าไม่ใช่อย่างนั้น พุทธศาสนาก็มีพระเจ้าคือมีอย่างนี้ อย่างนี้ คือพระเจ้าอย่างมิใช่บุคคล ที่เขาพูดกันตามความหมายทั่วไปโน้นเป็นพระเจ้าอย่างพูดให้เป็นบุคคล เป็นพระเจ้าที่มีอารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อารมณ์อะไรได้เหมือนบุคคล ก็เรียกกันว่าพระเจ้าอย่างบุคคล หรือ Personal God เหมือนกับพระเจ้าในศาสนาคริสเตียน หรือฮินดู หรืออิสลามก็ตาม ถ้าพระเจ้าอย่างนั้นในพุทธศาสนาไม่มี แต่พุทธศาสนามีพระเจ้าตามแบบของพุทธศาสนา คือมีสิ่งซึ่งมีคุณสมบัติอย่างเดียวกับพระเจ้านั้นทุกประการ หากแต่ว่ามิได้เป็นบุคคล มิได้อยู่ในรูปแบบของบุคคล เราจึงต้องมีพระเจ้าที่เรียกว่า Non Personal God หรือ Impersonal God เราก็มี God ด้วยเหมือนกัน ตรงนี้ก็ต้องขอบอกกล่าวกันหน่อยว่า ถ้าในหลักสูตรของกระทรวงเขาให้สอนนักเรียนว่าพุทธศาสนาไม่มีพระเจ้าคุณก็ต้องสอนไปตามหลักสูตร ไปอธิบายอย่างนี้เขาไม่ยอม นักเรียนของคุณก็จะสอบไล่ตกหมด บอกให้รู้อย่างนี้ เว้นแต่ว่านักเรียนจะเก่งอธิบายให้เขาเห็นได้เลยว่ามีพระเจ้าในความหมายนี้เขาก็คงไม่เอาตก เขาจะถือว่ามีความรู้ดีเกินไปก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้โดยทั่วไปพวกฝรั่งเกือบทั้งหมดในโลกนี้ก็จัดพุทธศาสนาเป็น Atheistคือศาสนาประเภทที่ไม่มีพระเจ้า ที่สวนโมกข์นี่มายืนยันอยู่ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนา Theist คือมีพระเจ้า นี่ก็เลยเล่าให้ฟัง ว่าธรรมะในฐานะที่เป็นกฏของธรรมชาตินั่นแหล่ะคือสิ่งซึ่งมี qualification ทุกอย่างครบบริบูรณ์ตามคำของคำว่าพระเจ้า นี่เราพูดถึงเรื่องธรรมเพียงคำเดียว เกี่ยวข้องไปถึงสิ่งหลายสิ่งเต็มทีแล้ว ขอให้เข้าใจคำว่าธรรมเป็นคำเดียวครอบงำทุกเรื่องในโลก ครอบงำทุกเรื่องในโลก พูดอย่างนี้เลยหรือทั้งหมดขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าธรรมเพียงคำเดียว ธรรมในภาษาไทย ธรรมะในภาษาบาลี Dharma ในภาษาสันสกฤต ทุกอย่างไม่ว่าในโลกนอกโลกเหนือโลกอะไรก็ตามขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าธรรมเพียงคำเดียว เพราะคำคำนี้มันมีความหมายครอบคลุมไปหมด ตัวธรรมชาติก็ดี กฏของธรรมชาติก็ดี หน้าที่ปฏิบัติตามกฏธรรมชาติก็ดี ผลที่เกิดขึ้นก็ดี เรียกได้คำพูดเพียงคำเดียวว่าธรรม ในความหมายว่าเป็นสัจจะของธรรมชาติ ทีนี้คุณถามว่าจะสอนธรรมะแก่นักศึกษา นักเรียนอย่างไร ถ้าเอาทั้ง ๔ ความหมายนี้จะสอนไหวหรือคิดดู มันคงจะไม่ไหว มันจะเกินไป แต่เราอาจจะบอกได้ สอนได้ที่ให้มันครอบคลุมทั้ง ๔ ความหมาย ว่ามันมีธรรมชาติ มีกฏธรรมชาติ มีหน้าที่ตามกฏธรรมชาติ มีผลตามการปฏิบัติหน้าที่ของธรรมชาติ มีธรรมะเป็นสิ่งสูงสุด เด็ดขาดเฉียบขาดที่สุดไม่ดูหน้าใคร เราต้องทำให้ตรงตามความประสงค์ของธรรมะ เหมือนกับที่พวกที่มีพระเจ้าเขาต้องปฏิบัติตรงตามประสงค์ของพระเจ้า จะเป็นนักเรียนถือพุทธ หรือนักเรียนถือคริสต์ หรือถือฮินดู ไม่มีข้อแตกต่างกัน ต้องปฏิบัติให้ตรงตามบทบัญญัติของพระเจ้าหรือของกฏธรรมชาติ ของกฏของธรรมชาติ คำว่าตามกฏของธรรมชาติพวกคอมมิวนิสต์ก็ยอมรับได้ ถ้าเราสอนพุทธศาสนาอย่างนี้ คอมมิวนิสต์ไม่มีทางจะค้าน มีทางให้คอมมิวนิสต์ยอมรับนับถือพุทธศาสนาก็ได้ เพราะมันเป็นวิทยาศาสตร์ยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์ เป็นความจริงที่ยิ่งกว่าความจริง เดี๋ยวนี้เราสอนกันไม่ถูกจนเขาด่าให้ว่าพุทธศาสนาเป็นยาเสพติด สมน้ำหน้าไป เพราะว่าสอนกันไม่ถูก ลองสอนกันให้ถูกจะไม่มีใครคิดอย่างนั้น พุทธศาสนาจะไม่ถูกหาว่าเป็นยาเสพติด แล้วถ้าเด็ก ๆ เขารู้ว่าธรรมะมันเป็นกฏของธรรมชาติ เล่นตลกกับมันไม่ได้ ต้องทำลงไปอย่างนั้นผลจึงจะเกิดขึ้นอย่างนั้น ถ้าทำลงไปอย่างนี้ผลจะเกิดขึ้นตามสำควรแก่การทำอย่างนี้ ทำอย่างโน้นก็คือย่างโน้น นี่คือหัวใจของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า กฏแห่งเหตุผล หรือกฏอิทัปปัจจยตา คือกฏแห่งเหตุผลตามธรรมชาติเรียกว่ากฏอิทัปปัจจยตา ตัวหนังสือทำให้แปลว่าเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี นี่กฏที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาเป็นกฏของธรรมชาติในฐานะเป็นหัวใจของพุทธศาสนา และก็ไม่ขัดกับคริสเตียนที่ว่าถ้าพระเจ้ามีสิ่งทั้งปวงจึงมีจึงถูกสร้างขึ้น และก็บอกว่าเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะกฏของธรรมชาติมีสิ่งนี้จึงมี ไม่มีทางค้านกัน ถ้าสอนกันให้ถูกต้องแล้วไม่มีทางค้านกัน สอนว่าเพราะพระเจ้ามีโลกนี้จึงมี แล้วก็บอกเพราะกฏอิทัปปัจจยตามีโลกนี้จึงมี มันไม่มีทางจะค้านกัน แต่ไม่มีใครสอนกันถึงระดับนี้เดี๋ยวนี้ เราพูดอย่างนี้เขาก็จะหาว่าอุตริ พูดเอาเองแหวกแนวก็ได้ ก็ตามใจแต่เราก็ยังพูดอย่างนี้ ที่ทุกคนพอจะมองเห็นและก็ได้รับประโยชน์ นี่คือธรรมะ สิ่งที่เรียกว่าธรรมเป็นคำเดียวว่าธรรมะ ถ้าสอนอยู่ในระดับธรรมดาสามัญ สำหรับสังคมทั่ว ๆ ไป เราก็เรียกว่าศีลธรรม ถ้าสอนแบบไปถึงสูสุด จุดหมายปลายทาง เราก็เรียกว่าปรมัตถธรรมมันก็มีเท่านั้น คำสอนระดับทั่วไปในโลกในบ้านเรือนสำหรับสังคมปกติเราก็เรียกว่าศีลธรรม รวมถึงตัวเราด้วย และถ้าสอนให้จิตหลุดพ้นจากสิ่งทั้งปวง หลุดพ้นจากกิเลส ความทุกข์โดยประการทั้งปวงโดยสิ้นเชิง มันสูงสุดก็เรียกเสียใหม่ว่าปรมัตถธรรม หรือโลกุตรธรรม โลกียธรรม ธรรมะในเรื่องเกี่ยวกับโลก โลกุตรธรรม ธรรมะที่เหนือโลก พ้นโลก ให้ถึงจุดสูงสุดคือนิพพาน ศาสนาอื่นก็จะใช้คำว่าไปรวมอยู่กับพระเจ้า ไปรวมเป็นอันเดียวกับพระเจ้าก็ได้เหมือนกัน คือมันพ้นโลกนี้ไปอยู่รวมกับพระเจ้า ก็สูงสุดจบกันที่นั่น ในพุทธศาสนาก็ว่าพ้นจากโลกนี้ เป็นโลกุตระอยู่เหนือโลก เป็นสภาพที่เหนือโลกเหนือความทุกข์ เราเรียกว่านิพพานอย่างนี้ก็ได้ เพราะเราเรียกอย่างนี้เราใช้คำอย่างนี้ เรียกกันอย่างนี้มาแต่เดิม มีค่าเท่ากับว่าไปอยู่รวมกับพระเจ้าในโลกของพระเจ้าเป็นอันเดียวกันโดยนิรันดร นิพพานก็เป็นนิรันดร การถึงนิพพานการถึงสภาพนิรันดรอันหนึ่งไม่เปลี่ยนแปลง คือไม่มีความทุกข์อีกต่อไป ส่วนนั้นเป็นธรรมะครึ่งหลัง ธรรมะสูงสุด เป็นปรมัตถธรรมเป็น เป็นโลกุตรธรรมแล้วแต่จะเรียก ครึ่งแรกเรียกว่าโลกียธรรมหรือศีลธรรมก็แล้วแต่จะเรียก ศึกษาให้เข้าใจและไปพิจารณาดูเอาเองว่าจะสอนลูกเด็ก ๆ ในชั้นอนุบาลกันอย่างไร จะสอนลูกเด็ก ๆ ที่โตขึ้นมาในชั้นประถมกันอย่างไร ชั้นมัธยมอย่างไร กระทั่งระดับผู้ใหญ่อย่างไร ก็จะสำเร็จประโยชน์ในการสอนธรรมะ เมื่อตะกี้นี้ก็บอกแล้วว่าเรามีเวลาจำกัดวันเดียวจะพูดโดยรายละเอียดทุกอย่างมันทำไม่ได้ ยังพูดโดยเท้าความ โดยหัวข้อ อย่างที่ว่านี้ รายละเอียดก็ไปหาเอาได้จากหนังสือต่าง ๆ ทีนี้ก็มาพูดถึงวิธีเรียนหรือสอนธรรมะ เท่าที่ปรากฏอยู่จริงในโลกเวลานี้ การเรียนธรรมะมีอยู่เป็น ๒ รูปแบบคือเรียนให้แตกฉาน เกี่ยวกับธรรมะในทุกแง่ทุกมุมตามวิธีการที่ใช้เรียนใช้สอนในระดับเป็นนักปราชญ์ในโลกนี้ นี้ก็มีอยู่พวกหนึ่ง เราจะเรียกการศึกษาพวกนี้ว่า ในระดับนี้ว่า Academic Study ระดับ Academic ระดับวิทยาลัย มหาวิทยาลัย เรียนเป็นบ้าเป็นหลัง แล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติอะไร โดยมากเป็นอย่างนั้น เรียนจนตายเป็นนักปราชย์ บรมปราชย์ ในทางนั้นก็ไม่ได้ปฏิบัติอะไรไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากศาสนาเลยอย่างนี้ก็มี นี่เราจะเรียกมันว่า Academic Study เป็นนักปราชญ์ ศาสตราจารย์ในฝ่ายธรรมะหรือฝ่ายศาสนาไปเลย ทีนี้พวกหนึ่งเขาไม่ได้ต้องการอย่างนั้น เขาเรียนเพื่อจะปฏิบัติ ตัวศาสนาโดยตรง ปฏิบัติที่ดับทุกข์ได้ ที่เรียกว่าพรหมจรรย์ ในพุทธศาสนาเรียกว่าพรหมจรรย์ เรียกกันกลาง ๆ ว่า Religious Life ชีวิตตามแบบของศาสนา พวกนี้จะเรียนแต่วิธีปฏิบัติตามแบบของศาสนา เป็น Religious Life Study นั้นไม่เรียนมาก เรียนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว แล้วก็ปฏิบัติแล้วก็ดับทุกข์ได้ มันมีอยู่ ๒ ชนิดอย่างนี้ ทีนี้เราจะเอาชนิดไหนไปสอนลูกเด็ก ๆ ไปใช้กับลูกเด็ก ๆ มันก็แล้วแต่ว่าหน้าที่การงานของเราอยู่ในระดับไหน นี้เพียงแต่จะพูดให้ฟังว่ามันต่างกันอย่างไร ถ้าจะเรียนศาสนากันในระดับ Academic Study เขาต้องเรียนตั้งต้นไปตั้งแต่ประเทศ ภูมิประเทศที่เกิดศาสนานั้น ๆ เช่นจะเรียนพุทธศาสนาต้องเรียนประเทศอินเดียเป็นอย่างนั้นอย่างนั้น เกิดคนมาอย่างนั้นมีวัฒนธรรมมาอย่างไร มีการศึกษามาอย่างไร มีศาสนาเดิม ๆ มาอย่างไรจนเกิดพุทธศาสนาเปรียบเทียบแตกต่างกันอย่างไร รู้แล้วก็ไปเปรียบเทียบในแง่ของปรัชญา ว่าเป็นรูปแบบของปรัญชญาต่าง ๆ กันอยู่ในประเทศอินเดียอย่างไร และเอาไปเปรียบเทียบนอกอินเดียกับปรัชญาตะวันตก ของฝรั่ง หรือไปเปรียบเทียบกับปรัชญาตะวันออกสุดของข๋งจื๊อ เหลาจื๊ออย่างนี้เป็นต้น เจอเท่านี้ก็เวียนหัวเกือบตายแล้วยังไม่ปฏิบัติอะไร แล้วก็เรียนในลักษณะของปรัชญา โดยมีคำถามว่าทำไม เพื่ออะไร โดยเหตุผลอะไรอยู่เรื่อยไปไม่ได้ปฏิบัติ เรียนจนตายก็ไม่รู้อะไร มันแปลกดีนะ ถ้าเรียนแบบปรัชญาเรียนจนตายก็ไม่รู้อะไร คือไม่รู้ว่าจะปฏิบัติลงไปอย่างไร Academic Study เป็นอย่างนี้ เห็นว่าไม่มีประโยชน์ อย่าไปหลงกันถึงอย่างนั้นเลย มาเรียนกันในรูปแบบของให้รู้จักพรหมจรรย์ การปฏิบัติ ตัวศาสนา ประพฤตปฏิบัติอยู่เป็น Religious Life เป็นชีวิตที่ดีกว่าเป็นชีวิตแบบอื่นจากที่เป็นอยู่ตามธรรมดาในโลก อย่างนี้ไม่ต้องเรียนแม้แต่เรื่องอินเดีย ไม่ต้องเรียนเรื่องพระพุทธเจ้าไม่ต้องเรียนพุทธประวัติก็ได้ พูดแล้วมันดูคล้ายจะโอหังมากไป จะจ้วงจาบมากไป ก็ยังไม่ต้องเรียนแม้แต่พุทธประวัติก็ได้ ขอแต่ให้เรียนว่าทำอย่างไรกับความทุกข์จัดการอย่างไรกับความทุกข์และก็จัดการลงไป สอนอยู่ว่าความทุกข์เกิดมาจากความปฏิบัติผิด เมื่อสัมผัสอารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีความโง่อยู่ขณะนั้นเวลานั้นเกิดความคิดผิด ต้องการผิด ยึดมั่นถือมั่นมันก็เป็นทุกข์ ก็ระวังอย่างให้เป็นอย่างนั้น มันก็มีเท่านั้น เรียกว่าเรียนอย่างใบไม้กำมือเดียว อย่างพระพุทธเจ้าท่านสอนโดยการเปรียบเทียบว่าใบไม้ทั้งป่า หมดทั้งป่ามันเท่าไหร่ แล้วใบไม้กำมือเดียวมันเท่าไหร่ ประโยชน์ที่เราจะได้รับจากใบไม้กำมือเดียว ก็ยิงโดยตรงไปที่ความทุกข์และเหตุให้เกิดความทุกข์ ถ้าจะให้ใช้คำว่าตั้งต้นที่ตรงไหน ก็ตั้งต้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และก็เรียนเรื่องของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนเกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ แล้วก็เรียนเพื่อมีสติทันเวลา ต่อเมื่อสัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วความคิดอย่างนั้นมันก็ไม่เกิด ความรู้สึกความโง่ความหลงมันก็ไม่เกิด แล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์ แล้วเรื่องมันก็จบ เราไม่ต้องตั้งต้นศึกษาเรื่องประเทศอินเดีย เรี่องปรัชญาของประเทศอินเดีย เรื่องพุทธประวัติอะไรต่าง ๆ ไม่ต้องตั้งต้น กอ ขอ กอ กา ของเราตั้งต้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้จักมันดีควาบคุมมันได้ ความทุกข์ไม่เกิดขึ้นในใจ มีจิตใจปราศจากความทุกข์ พระพุทธเจ้าอยู่นี่เอง เมื่อจิตใจของเราสว่างไสว สะอาด สงบ เย็นเมื่อไหร่พระพุทธเจ้าอยู่ที่นี่เอง แล้วรู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์จริงเสียด้วย คือภาวะที่จิต สะอาด สว่าง สงบ เป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระธรรมเป็นพระสงฆ์อยู่ที่ตรงนี้ เรียนลัดมาจากทางไม่รู้มาเจอพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ถ้าเรียนอย่าง Academic Study เรียนจนตายก็ไม่รู้อะไร ไม่เคยพบพระพุทธเจ้าพระองค์จริง มันต่างกันอย่างนี้ เราจะสอนลูกเด็ก ๆ ในโรงเรียนเราโดยวิธีไหน มันก็แล้วแต่หลักสูตรว่าคุณเป็นลูกจ้างของกระทรวงหรือของโรงเรียนก็ต้องสอนให้นักเรียนสอบไล่ได้ ที่พูดนี้อาจจะนอกหลักสูตรก็ได้ แต่มันเป็นเรื่องที่จริงหรือมีประโยชน์เป็นตัวจริงของพุทธศาสนา ในมหาวิทยาลัยเมืองไทยหรือทั้งโลกก็ดีเขาเรียนแบบ Academic Study กันทั้งนั้น แล้วก็ขอท้าให้มันเรียนจนตายมันก็ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพุทธศาสนา เพราะมันไม่หยิบลงไปสู่การปฏิบัติเพื่อการรู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในขณะที่มันทำงานจริง ๆ สัมผัสจริง ๆ เกิดทุกข์จริง ๆ ถ้าจะเรียนพุทธศาสนาหรือศาสนาไหนก็ตามให้เรียนอย่างระบบวิทยาศาสตร์ อย่าเรียนอย่างระบบปรัชญา ปรัชญาในที่นี้หมายถึงคำว่า Philosophy ไม่ใช่หมายถึงคำว่า ปรัชญาในภาษาอินเดียหรือภาษาสันสกฤต มันคนละความหมาย คำว่าปรัชญาในภาษาอินเดียวกับคำว่า Philosophy ภาษาฝรั่งนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกันโดยตัวแท้ แต่ก็เกิดเอาไปเป็นคำแปลแก่กันและกันเสียแล้วเราก็ช่วยไม่ได้เพราะมันเป็นเรื่องของการสมมุติในวงการที่มันมีอำนาจ จะเรียนพุทธศาสนาอย่างปรัชญาก็ได้เหมือนกันแต่ไม่มีประโยชน์อะไร ใช้คำอย่างนี้ดูมันจะหยาบคายไปหน่อย มันจะมีประโยชน์แต่เพียงเป็นครูรับจ้างสอนศาสนาเท่านั้นมันไม่ดับทุกข์ จะเรียนพุทธศาสนาอย่างเป็นปรัชญาแล้วจะไม่ดับทุกข์ มันจะได้ประโยชน์เป็นความรู้อย่างปรัชญา ไปเป็นครูสอนเอาเงินเดือนมาก ๆ ตามมหาวิทยาลัยก็ได้ ความรู้อย่างปรัชญามันไม่เกี่ยวกับของจริง มันมีสมมุติฐานซึ่งไม่มีตัวจริง มันมีสมมุติฐานขึ้นมาหาเหตุผลมาแวดล้อมว่าสมมุติฐานนั้นใช้ได้และถูกต้องมันก็เท่านั้น เรื่องปรัชญามันก็เท่านั้น เอาลม ๆ แล้ง ๆ มาทำให้เป็นตัวเป็นตน แล้วก็หาเหตุผลมารับรองว่ามันจริงอย่างนั้นก็พอแล้ว แต่ถ้าเป็นระบบวิทยาศาสตร์จะทำอย่างนั้นไม่ได้ มันต้องเอาของจริงมา จะใช้สมมุติฐานไม่ได้ต้องของจริงมาดูว่ามันคืออะไรเป็นอย่างไรมาจากอะไรปัญหาอยู่ที่ตรงไหน สิ่งที่พึงประสงค์อยู่ที่ตรงไหน แล้วก็ทำให้ได้ตามนั้น อย่างนี้เราจะเรียกว่าระบบวิทยาศาสตร์ ไม่เกี่ยวกับสมมุติฐานเพื่อการใช้เหตุผล คำนึงคำนวณ เรื่องระบบคำนวณ Induction Deduction ระบบไหนก็ตามไม่มีเรื่องที่จะเอามาใช้กับพุทธศาสนาตัวแท้ ถ้าเราต้องการจะเรียนเพื่อดับทุกข์ แต่ถ้าจะเรียนเพื่อเป็นปรัชญาก็ได้ไม่มีที่สิ้นสุด ก็มันเรียนไปได้ตามแบบของปรัชญา แต่ถ้าถามกันว่าพุทธศาสนาตัวแท้นี่เป็นปรัชญาหรือเป็นวิทยาศาสตร์ เราก็จะบอกว่ามันก็เป็นวิทยาศาสตร์ในด้านวิญญาณ ด้านจิตด้านวิญญาณ มันไม่ใช่ปรัชญา ขอให้เรียนมันอย่างวิทยาศาสตร์ในด้านจิตด้านวิญญาณ แล้วท่านก็จะแตะต้องตัวพุทธศาสนาไปตั้งแต่วินาทีแรกทีเดียว จึงตั้งต้นด้วยของที่มีอยู่จริง ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มันจะสัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส …...(นาทีที่55:31)เป็น ๖ คู่ด้วยกัน สัมผัสแล้วเกิดความรู้สึกอย่างไร เกิดอะไรอย่างไร เกิดยึดมั่นเป็นตัณหา เป็นอุปาทานและเป็นทุกข์ มันสัมผัสของจริงอย่างนี้ แล้วก็ศึกษาวิธีที่ว่าจะต้องมีสติอย่างไรให้ทันแก่เวลาเมื่อมีการสัมผัสแบบสายฟ้าแลบ มีสติให้ทันกับเวลา มีความรู้อย่างถูกต้องว่าอย่างไร จนมันไม่เกิดตัณหา อุปาทาน กิเลส ในเรื่องนั้น ๆ ในขณะนั้นแล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์ มันก็ไม่มีทุกข์ มันก็ดับทุกข์ก็มีเท่านี้ พูดสั้น ๆ ก็มีเรื่องเดียว ข้อเดียวคือมีธรรมะพอที่จะไม่ให้เกิดความทุกข์ในลักษณะป้องกันหรือแก้ไขก็ตาม ที่จะไม่เกิดความทุกข์ นั้นเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาที่ฟังดูแล้วบ้า ๆ บอ ๆ นั่นก็คือควาจริงที่สุด ไม่มองเห็นในสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาสัมผัสกับเราทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเนี่ย มันเป็นธรรมชาติ ที่เป็นไปตามกฏแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่าไปเอาส่วนใด สิ่งใดมาเป็นตัวเรา หรือเป็นของเราเลย จิตมันจะเป็นทุกข์เสียเปล่า ๆ ศึกษาไปในทางที่จะให้จิตมันฉลาดและว่องไวในการที่จะรู้แจ้งไม่โง่ ไม่หลง ไม่โง่ ไม่หลับตา ไปจับฉวยอะไรเข้ามาเป็นตัวเป็นตน เป็นของของตนก็ไม่มีความทุกข์ เราอยากได้อะไรก็ได้ แต่ก็อยากด้วยสติปัญญาว่ามันเป็นสิ่งที่ควรจะมี แล้วก็แสวงหาวัตถุปัจจัยทั้ง ๔ คืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อะไรก็ได้ ก็แสวงหาในฐานะที่ว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องมีเพื่อให้ชีวิตนี้ แล้วก็มิได้ยึดถือโดยความเป็นตัวตนของเรา ชีวิตนี้ก็ดี ปัจจัยเกื้อกูลแก่ชีวิตทั้งหลายทั้งปวงก็ดี มิใช่ตัวเรามิใช่ของเรา ก็มันเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ เป็นไปตาคำสั่งของพระเจ้า เป็นของพระเจ้าไม่ใช่ของเรา เราอยากบฏต่อพระเจ้า อย่าขโมยเอาของพระเจ้ามาเป็นของเรา เราก็ไม่ต้องถูกลงโทษด้วยความทุกข์ นี่คือความรู้ที่ทำให้เราไม่ต้องเป็นทุกข์ แม้เราจะต้องแสวงหาหรือจะต้องทำการงานหรือต้องทำอะไรทุกอย่างมาเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตนี้ให้เป็นอยู่โดยปกติและไม่เป็นทุกข์ และให้ชีวิตนี้มันรู้ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป จนเป็นชีวิตอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของสิ่งใด ชีวิตที่เป็นอิสระอยู่กับความเป็นอิสระนั้นเราเรียกโดยสมมุติว่าอยู่กับพระเจ้า ในทางพุทธศาสนาก็หลุดรอดเป็นวิมุตติ เป็นนิพพาน เราสอนให้เด็ก ๆ ของเรารู้จักทำอะไรด้วยสติปัญญา อย่าทำอะไรด้วยกิเลสตัณห แม้แต่เราจะกินอาหาร ก็ต้องกินด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญารู้สึกอยู่ อย่ากินด้วยกิเลสตัณหาด้วยความละโมบด้วยความอยากด้วยความตะกละ ด้วยความหลงไหลในความอร่อย ถ้าเรากินด้วยกิเลสตัณหาเราจะต้องเป็นทุกข์ ถ้าเรากินด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญาทุกอย่างจะเรียบร้อย จะไม่เป็นทุกข์และจะอยู่ได้สะดวกสบาย สำหรับศึกษาเล่าเรียนไปเรื่อย ๆ เราจะบอกเด็ก ๆ ของเราให้รู้ว่ากิเลสตัณหานี้มันเป็นของที่มีอยู่แล้วโดยการสะสมมาทีละเล็กละน้อยตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่คลอดจากท้องมารดา เรารู้จักอยาก รู้จักรัก รู้จักโกรธ รู้จักเกลียด รู้จักลัว รู้จักอิจฉาริษยา เราก็รู้จักนี้มันไม่ใช่รู้จักอยู่เท่าเดิม ก็ไปทำมันเข้าครั้งหนึ่งมันก็เพิ่มสะสมความเป็นอย่างนั้นก็ครั้งหนึ่ง เมื่อเราไปรักอะไรเข้าครั้งหนึ่งหรือไปโลภอะไรเข้าครั้งหนึ่งมันจะสะสมความเคยชินที่จะรักหรือจะโลภเอาไว้นิดหนึ่ง เราไปรักไปโลภอีกครั้งหนึ่งมันก็สะสมความเคยชินที่จะรักจะโลภไปอีกนิดหนึ่ง ไปโลภไปรักอีกทีหนึ่งก็สะสมอีกทีหนึ่งเรื่อยไป มันจึงเกิดอนุสัยแห่งความโลภหรือความรัก เราจึงรักอะไรง่าย โลภอะไรง่าย ๆ อย่างโง่ ๆ เพราะว่าเรามีอนุสัยส่วนนี้มาตั้งแต่แรกเกิด สะสมมาเรื่อย ๆ เรื่องความโกรธความเกลียดก็ดีเหมือนกัน โกรธก็ทีหนึ่งจะสะสมความเคยชินสำหรับจะโกรธนิดหนึ่ง โกรธอีกทีหนึ่งก็นิดหนึ่ง จนบัดนี้ไม่รู้กี่ทีไม่รู้กี่ร้อยกี่พันที เพราะนั้นเราจึงมีอนุสัยแห่งความโกรธที่รวดเร็วเหมือนกับสายฟ้าแลบ แป๊บเดียวก็โกรธแล้ว ยับยั้งไม่ทัน เรื่องความโง่ ความสะเพร่า เขาเรียกว่าโมหะนี่ก็เหมือนกัน โง่ทีหนึ่งมันก็สะสมเชื้อความเคยชินที่จะโง่เข้าไว้นิดหนึ่ง โง่อีกทีหนึ่งก็เพิ่มอีกนิดหนึ่ง โง่อีกทีหนึ่งก็เพิ่มอีกนิดหนึ่งเพราะนั้นมันจึงมีความเคยชินที่จะโง่หรือจะสะเพร่ามากพอที่จะโง่หรือจะสะเพร่าได้เหมือนสายฟ้าแลบเหมือนกัน นี่เรามีความโลภความโกรธความหลงอย่างนี้เป็นทุนอยู่ในสันดาน เราจึงรักเร็ว โกรธเร็ว เกลียดเร็ว กลัวเร็ว โง่เร็ว อะไรเร็ว นั่นคือปัญหา แต่เป็นปัญหาทางจิตทางวิญญาณที่เรียกว่าระบบ Spiritual ปัญหานี้แก้ยากแต่ไม่ใช้แก้ไม่ได้ แก้ได้โดยลด ลดความเคยชินลงทีละนิด ทีละนิดอีกเหมือนกัน เช่นเรื่องมันควรจะรักแล้วเราไม่รักมันก็ลดความชินที่จะรักลงมานิดหนึ่ง ก็สร้างอุปนิสัยที่จะไม่รัก ที่จะไม่หลงรักได้นิดหนึ่ง ไม่รักอีกทีหนึ่งก็สร้างนิดหนึ่ง ไม่หลงรักอีกทีก็สร้างนิดหนึ่ง จนเรามีอุปนิสัยแห่งการไม่หลงรัก เรื่องโกรธก็เหมือนกันพอมันจะต้องโกรธ บางทีมันเคยโกรธเราบังคับไม่โกรธได้ทีหนึ่ง มันก็เปลี่ยนเป็นสร้างอุปนิสัยแห่งการไม่โกรธเพิ่มเข้าไว้นิดหนึ่ง ต้องไปลดอนุสัยสำหรับจะโกรธลงนิดหนึ่งแล้วก็เพิ่มอุปนิสัยฝ่ายที่จะไม่โกรธนี้ไว้นิดหนึ่ง นี้เราไม่โกรธ ไม่โกรธ ไม่โกรธแล้วหลายหนเข้า อนุสัยสำหรับโกรธมันก็หายไปมาก อุปนิสัยฝ่ายที่จะไม่โกรธมันก็เข้มแข็งขึ้น เพราะนั้นเราจึงไม่โกรธได้ในที่สุด ให้เขารู้ว่ามันแก้ไขได้ โดยการลดหรือเพิ่ม ความโง่ความสะเพร่าก็เหมือนกันระวังอย่าสะเพร่าระวังอย่างโง่ ทีหนึ่งมันก็จะไม่สะเพร่าหรือไม่โง่เพิ่มขึ้นนิดหนึ่ง ไอ้ที่เคยโง่เคยสะเพร่ามันจะลดลง อนุสัยสำหรับจะโง่จะสะเพร่ามันก็ลดลงๆ มันก็เพิ่มอุปนิสัยฝ่ายที่จะไม่โง่ไม่สะเพร่านี้มากขึ้นมากขึ้นอย่างนี้เรียกว่าโลภะ โมหะ โทสะมันเบาบางไป แล้วอโลภะ อโทสะ อโมหะนี้มันเพิ่มขึ้น ๆ เราอยู่ด้วยความที่อโลภะ อโทสะ อโมหะ มันเพิ่มขึ้น เราก็หมดปัญหายิ่งขึ้นทุกที เราก็จะหมดปัญหาได้จริงในที่สุด แล้วก็ถึงที่สุดของความเป็นมนุษย์ คือไม่มีปัญหา สิ่งที่จะมาช่วยแก้ปัญหานั้นเรียกว่าธรรม หรือธรรมะ คือสิ่งที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฏของธรรมชาติ เมื่อเราต้องการจะไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เราต้องปฏิบัติตามกฏของธรรมชาติที่จะบรรเทาความโลภ ความโกรธ ความหลงจนกระทั่งมันหมดไป นี่คือธรรมะในความหมายที่เรียกว่าปฏิบัติตามกฏของธรรมชาติ ธรรมะที่จำเป็นสำหรับมนุษย์คือธรรมะในความหมายที่ ๓ นี้ คือการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฏของธรรมชาติ ตัวธรรมชาติก็เป็นตัวธรรมชาติไป ตัวกฏของธรรมชาติก็เป็นตัวกฏของธรรมชาติไป มันยังไม่จำเป็นโดยตรงกับเราที่จำเป็นกับเราคือการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฏของธรรมชาตินั้น เราเรียนรู้ได้เองตามลำพังก็ได้ เราได้รับคำสั่งสอนโดยเร็วจากบทบัญญัติทางศาสนาก็ได้ แต่เพื่อประโยชน์ความรวดเร็วหรือเพียงพอเราก็รับเอาบทบัญญัติทางศาสนามาศึกษา หน้าที่อันแรกก็คือศึกษาแล้วก็ปฏิบัติ เราก็รู้จักธรรมชาติหรือกฏของธรรมชาติยิ่งขึ้นยิ่งขึ้น โดยได้รับผลของการปฏิบัติเป็นประจักษ์พยานอยู่ ถ้าเราสอนลูกเด็ก ๆ ให้รู้ (...นาทีที่ 1:06:45) ทางจิตทางวิญญาณที่มีอยู่ในใจของมนุษย์ว่ามันเป็นอย่างนี้อย่างนี้ เด็กเขาก็รู้จักตัวเองมากขึ้น ไม่มีอะไรดีไปกว่ารู้จักตัวเอง แล้วก็บังคับสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นให้ได้ ทีนี้ที่เราจะให้เขามองเห็น แล้วเขาก็จะอยากมีธรรมะก็คือข้อที่ว่าตามธรรมดาถ้าปล่อยไปตามธรรมดาไม่มีธรรมะเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว เราจะมีความทุกข์ทรมาน กระวนกระวายอยู่เสมอไป คือว่าเราทุกคนมีความอยากมีความต้องการอะไรอยู่เป็นของประจำใจ ประจำตัว อย่างน้อยที่สุดเด็กนักเรียนเขาก็อยากจะสอบไล่ได้ เขาก็หวังจะสอบไล่ได้แล้วจะมีเงินมีอาชีพมีเงิน มันมีสิ่งที่อยากอยู่อย่างหนึ่งประจำตัว แล้วก็อยากจะได้อะไรอยากจะได้ตุ๊กตาก็ได้ตัวเล็ก ๆ เด็กเล็ก ๆ เมื่ออยากมันก็ทรมานใจ เมื่อยังไม่ได้มันก็ทรมานใจ ก็ยังไม่ได้ก็อยากจะได้ เมื่อยังไม่ได้ก็มีกระวนกระวายใจใช้คำอย่างนี้ก็พอดี เมื่อยังไม่ได้ก็กระวนกระวายใจ ที่เผอิญได้มาด้วยดีมันไม่ใช่หมดความกระวนกระวายใจ มันเปลี่ยนเป็นกระวนกระวายใจอันอื่น กระวนกระวายใจเพราะรักเพราะว่ามันได้ตามที่ต้องการแล้วมันก็รัก ก็เป็นความกระวนกระวายใจ แล้วมันหึงแล้วมันหวง มันก็เป็นความกระวนกระวายใจ แล้วมันระแวงว่าจะสูญหายไปหรือเปลี่ยนแปลงไปมันวิตกกังวล ว่าตุ๊กตาตัวนี้มันจะถูกขโมยไปหรือมันจะตกแตกมันก็กระวนกระวายใจ เมื่อไม่ได้ก็กระวนกระวายใจไปแบบหนึ่ง เมื่อได้มาก็กระวนกระวายใจไปแบบหนึ่ง นี่คือการไม่มีธรรมะ ถ้าเรามีธรรมะถ้าเราไม่กระวนกระวายใจแม้เมื่อไม่ได้ เมื่อยังไม่ได้ เราก็รู้จักทำจิตไม่ให้กระวนกระวาย มีความรู้ถูกต้องว่าเราควรจะมีอะไร ควรจะได้อะไรหรือไม่ ถ้าไม่ควรจะได้ไม่มีเหตุผล อย่าไปได้อย่างไปนึกได้เลย จะเรียกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรจะได้ก็ได้ก็นึกว่าครรจะได้และก็ต้องการและก็ไม่ต้องกระวนกระวายใจ ก็ทำไปตามที่ว่ามันจะได้โดยวิธีใดก็ทำไป ไม่ต้องกระวนกระวายใจเมื่อมันยังไม่ได้ ได้มาแล้วก็อย่าไปหลงรัก หลงอะไรให้มันเกิดความกระวนกระวายใจเพราะความรัก เพราะความหึง เพราะความหวง เพราะความหวาดระแวง ยิ่งน่ารักมากก็ยิ่งทำให้ความระแวงมาก ทำความทุกข์มาก นั้นก็อย่าโง่ให้ความทุกข์มันเกิดขึ้นเพราะการได้ ได้ด้วยสติสัมปชัญญะว่ามันก็อย่างนี้เอง จะกินจะใช้จะเล่นจะหัวก็ทำไปโดยไม่ต้องกระวนกระวายใจไม่ยึดถือ นี่คือยอดสุดของธรรมะที่จะตัดปัญหาหรือดับความทุกข์ เรียกสั้น ๆ ในพุทธศาสนาว่าความไม่ยึดมั่น ถือมั่น ความหมายมั่นด้วยความโง่แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นและความหวังความต้องการตามเหตุผล ตามสติปัญญานี้ยังไม่เรียกว่าความยึดมั่นถือมั่นในที่นี้ แต่ความยึดมั่นถือมั่นหมายความว่ามันยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่ ความไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ แต่ความอยากและความต้องการนั้นมันจึงกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่น แต่ถ้าเรารู้ว่าสิ่งนี้คืออะไรอย่างไรมันควรจะมีอย่างไรและก็ทำไปโดยไม่ต้อง ด้วยกำลังของความโง่ เช่นรู้ว่าเราจะต้องเรียนหนังสือ เราจะต้องสอบไล่ได้ มันเป็นเรื่องที่มีเหตุผลอย่างนั้น ๆ แล้วก็เรียนไป ไม่ต้องยึดมั่น สอบตกก็ไม่ต้องร้องไห้ สอบได้ก็ต้องไม่ลิงโลดเหมือนกับคนบ้า มันก็ดี เรียกว่าไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เมื่อไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ใจคอมันปกติมันเรียนได้ดีมันจะสอบไล่ได้มากกว่าคนที่เรียนด้วยความยึดมั่นถือมั่น เป็นโรคประสาทเป็นวัณโลกเสียเมื่อเรียนนั้นเองไม่ได้สอบไล่กับเขาก็มี คนที่มันเรียนด้วยความยึดมั่นถือมั่นเป็นบ้าเป็นหลัง ต้องเจ็บป่วยเพราะการเรียนนั้นเสียก็มี นี้เราก็ไม่ต้องเจ็บป่วยอย่างนั้นไม่ต้องทรมานจิตใจ เรียนไปอย่างสนุกสนาน ด้วยความอิ่มใจว่าได้ทำสิ่งที่ควรทำแล้วก็สนุกสนาน การเรียนนั้นก็เลยเป็นความสุขไปในตัว สอบไล่ได้ก็คืออย่างนั้นแหละ มันก็รู้ว่านี่เรามันทำขึ้นมาอย่างถูกต้องตามกฏของธรรมชาติ เหตุผล เขาก็เป็นคนฉลาด ไม่มีความทุกข์ เนี่ยธรรมะสำคัญที่จะต้องใช้ในชีวิตประจำวันของทุกคน ก็คือการควบคุมความยึดมั่นถือมั่น ก่อนจะได้ก็ไม่กระวนกระวาย ได้มาแล้วก็ไม่กระวนกระวายเท่านี้พอคนเราจะอยู่สบายและก็จะมีใจคอปกติ เฉลียวฉลาด เรียนอะไรได้ดี คือไม่มีความกระวนกระวายตลอดกาลเลย เมื่อยังคิดนึกอยู่พยายามอยู่แสวงหาอยู่ก็ไม่กระวนกระวาย เมื่อได้ก็ไม่กระวนกระวายเพราะความรัก เพราะความหลงรัก เพราะความหึงหวง เพราะความระแวงเป็นต้น เดี๋ยวนี้คนมันไม่ทำกันอย่างนี้ มันก็เป็นทุกข์ ตลอดเวลาทั้งก่อนได้และภายหลังได้ ทุกอย่างในโลก นั้นเดี๋ยวนี้หมอเขายังบอกว่าสถิติของคนประสาทคนโรคประสาทหรือโรควิกลจริตนี้มันกำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ในโลกนี้ในปัจจุบันนี้เพราะมันทำผิดในเรื่องนี้ คิดดูว่าธรรมะมีประโยชน์มากหรือมีประโยชน์น้อย โดยแท้จริงแล้วมันจะป้องกันอาการอันนี้ ถ้าคนในโลกมันมีความรู้อย่างนี้ ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ สถิติคนที่เป็นโรคประสาทหรือโรคจิต จะไม่เพิ่มจะลดลงด้วยซ้ำไป นั้นเรามองเห็นประโยชน์ของธรรมะแล้ว เอาไปสอนเอาไปปลูกฝังให้ลูกเด็ก ๆ ให้มันมีความรู้ความเข้าใจถูกต้อง เขาจะเป็นคนที่มีโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบกันกับธรรมะ หรือศาสนา ศาสนานี้ควรจะดูต่อไปอีกว่า เป็นสิ่งที่เขาได้ทำไว้ดีแล้ว เด็ก ๆ อย่าอวดดีว่าเราไม่เชื่อ เราจะค้นหาของเราเอง อย่างนั้นมันก็ถูกเหมือนกัน ไม่ใช่มันผิด ก็คิดอย่างนั้นก็ถูก แต่ขอให้เขาคิดดูใหม่ว่า มันเปลืองเวลาโดยไม่จำเป็น เรารับเอาระบบที่เขาคิดไว้ดีแล้ว วางไว้ดีแล้วมาพิจารณาดูดีกว่า เพราะนั้นประหยัดเวลา เราจะพบทันทีว่ามันแน่แล้ว มันอย่างนี้แน่แล้ว ก็ลองปฏิบัติดู มันก็จริง ๆ อย่างนั้น เพราะนั้นเราจึงไม่เสียเวลามากในการที่จะต้องตั้งต้นค้นใหม่ รับเอาระบบธรรมะ หรือระบบศาสนาที่ผู้มีปัญญาหรือเป็นพระศาสดาได้บัญญัติไว้แล้วนั้นมาพิจารณาดู ไม่เชื่อทันทีก็ได้เหมือนกัน แต่ขอให้พิจารณาดู แล้วจะพบจะเห็นจริงแล้วก็เอามาปฏิบัติตามด้วยความสมัครใจ มันก็ทันแก่เวลาสำหรับบุคคลคนหนึ่ง ที่จะต้องรู้อะไรบ้างจะต้องปฏิบัติอะไรบ้าง นั้นการที่ศาสนามีหลักไว้อย่างไรในทางศีลธรรมเป็นต้น ก็ควรเอามาพิจารณาดู ถ้าสมองของเด็กไม่พอ เราก็ช่วยอธิบายชี้แจงให้เขาเข้าใจ สำหรับระบบศีลธรรม สำหรับระบบที่เรียกว่าศีลธรรมที่มีอยู่แล้วในศาสนาทั่วไปและตรง ๆ กันหมด ที่เห็นว่าเอาไปใช้สอนลูกเด็ก ๆ ได้ทันที เราอาจจะสรุปความได้อย่างนี้ ว่ามีอยู่เป็นลำดับได้อย่างนี้ ลำดับแรกให้เขามีความรู้สึกว่าทุกคนทุกชีวิตเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เมื่อทุกชีวิตคือสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดทุกชีวิตเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน นี่คือเขาวางรากฐานไว้อย่างกว้างขวางที่สุด วางรากฐานไว้เป็นระบบที่กว้างขวางที่สุด ว่าให้ถือว่าชีวิตทุกชีวิตเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ศีลธรรมต้องสร้างรากฐานบนคติอันนี้ ชีวิตแล้วก็เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ชีวิตคนก็ตามชีวิตสัตว์เดรัจฉานก็ตาม แม้แต่ชีวิตต้นไม้ก็ตาม ถ้าใครยอมรับลงไปถึงว่าแม้แต่ต้นไม้ที่มีชีวิตนั้นก็เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายของเรา เดี๋ยวนี้มันกำลังได้รับโทษอย่างหนักที่ไม่ยอมรับว่าต้นไม้ก็เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายของเรา ไปทำลายมันวินาศหมดแล้วมนุษย์ก็เดือดร้อนแสนสาหัส เพราะไม่มีน้ำไม่มีฝน นี่สมน้ำหน้ามัน ที่มันไม่ยอมรับว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน สัตย์เดรัจฉานเราก็ทำลายมันมากเกินไป ทีนี้เราก็ทำลายมนุษย์กันมากเกินไป ทำลายชีวิตก็มีทำลายอย่างอื่นก็มี มนุษย์เลวลงด้วยความเห็นแก่ตัวเพราะไม่เห็นว่าทุกชีวิตเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน นั้นพวกอาชญากรทั้งหลายไม่มีศีลธรรมข้อนี้เลย จึงฆ่าจึงขโมย จึงข่มขืน จึงข่มขืนแล้วฆ่า แล้วเลื่อนชั้นมาเป็นฆ่าก่อนข่มขื่นมันเลวเท่าไหร่ ขอให้ลองคิดดู ถ้าเขามีความรู้สึกว่าชีวิตทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันแล้วจะทำอย่างนี้ได้อย่างไร เราจะต้องยอมรับข้อนี้ในฐานะเป็นรากฐานของศีลธรรมทั้งหลาย เป็นของโบราณดั่งเดิมก่อนพระพุทธเจ้า คือประโยคที่ว่า อหิงสา ปรโม ธัมโม ความไม่ทำความลำบากทุกข์ยากเป็นบรมธรรม เขาเรียกว่าอหิงสา มันแปลว่าไม่ทำให้เกิดความยากลำบากแก่กันและกัน เราก็ดีผู้อื่นก็ดี อย่าทำให้มีความยากลำบาก คือความทุกข์ขึ้นมา นั้นคือบรมธรรม คำพูดนี้มีอยู่ก่อนพุทธกาลและถือมาเป็นลำดับ ๆ จนเป็นคำกลาง เรียกว่าเป็นคำกลางบ้าง ถ้าว่าใครอยากประกาศตัวเป็นศาสดาแล้วก็ตะโกนคำนี้ ประชาชนเขาก็รับนับถือว่ามันเป็นผู้มีธรรมะ มันต้องตะโกน อหิงสา ปรโม ธัมโม คนคดโกงหลอกลวงก็เอาคำนี้ไปโฆษณาชวนเชื่อให้เขา รับรองว่ามันเป็นผู้มีธรรมะอย่างนี้ก็มีอยู่ หลักอันแท้จริงคนทุจริตเอาไปใช้เพื่อประโยชน์แก่ตัวเองอย่างนี้ก็มี เพราะว่าเขาเชื่อถือยอมรับเป็นสถาบันในจิตใจของคนมาตั้งแต่ครั้งไหนก็ทราบไม่ได้ ใช้ว่าครั้งดึกดำบรรห์ดีกว่า โดยคติที่ว่า อหิงสา ปรโม ธัมโม เหมือนกับหมอขายยาในอินเดียก่อนพุทธกาลนี่จะมีประโยคว่า อโรคยา ปรมาลาภา จะร้องตะโกนอย่างนี้เพื่อขายยา มันเป็นธรรมที่เข้าใจและนับถือจนเป็นสถาบัน เท่า ๆ กันกับคำว่า อหิงสา ปรโม ธัมโม มันพูดได้เลยว่าเขาต้องการให้ทุกคนถือระบบอหิงสา คือไม่ทำผู้ใดให้ลำบากเดือดร้อนเป็นตายนี่อหิงสา เรียกกันว่า Nonviolence ไปหาเอาเองก็ได้ ก็ไม่ทำใครให้ลำบากเป็นทุกข์ มันเป็นธรรมะสูงสุด นี่เราเป็นข้อแรกเป็นข้อพื้นฐานของศีลธรรมทั้งปวง โดยถือว่าชีวิตทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่เป็นครูก็ทำให้นักเรียนได้ยินได้ฟังข้อนี้สำหรับเรียน และก็ทำให้เขาปฏิบัติข้อนี้ไม่เท่าแต่เรียนเฉย ๆ ครูทั้งหลายจะดลบันดาลให้นักเรียนในความรับผิดชอบของเราได้ปฏิบัติข้อนี้ ให้เขาถือว่าเป็นเพื่อนทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน ดังนั้นเราต้องประพฤติต่อกันในฐานะเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน ดังนั้นเราจึงมีความรักกัน มีความช่วยเหลือกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ก็จะสร้างให้เป็นแฟชั่นขึ้นมาในโรงเรียนในห้องเรียนก็ได้ว่า ถ้ายังไม่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นซักนิดหนึ่งแล้วเรายังจะไม่กินเอง เช่นเรามีเงินมาบาทหนึ่ง เราจะให้เพื่อนซัก ๑๐ สตางค์ก่อน แล้วเราจะใช้ ๙๐ สตางค์นั้นกินเองอย่างนี้เป็นต้น ถ้ามันเป็นแฟชั่นขึ้นมาอย่างนี้ก็จะเป็นรากฐานศีลธรรมที่ดีและก็จะทำให้ไม่มีนักเรียนคนไหนไม่มีอาหารกินกลางวัน นี่ยกเอาการที่นักเรียนไม่มีอาหารกินกลางวันเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องโฆษณาหาชื่อเสียงให้แก่ตนที่จะทำให้นักเรียนมีอาหารกินกลางวัน สู้ระบบศีลธรรมเดิม ๆ ไม่ได้ เราจะช่วยผู้อื่นหรือให้ผู้อื่นกินก่อนแล้วเราจึงจะกิน คนแต่ก่อนรุ่นปู่ย่า ตายายนั้น เขาทำอย่างนั้นจริง ๆ จะให้แมวให้สุนัขกินก่อน แม้แต่ให้กา อีกากินก่อนก็ยังได้ หรือแต่ในที่สุดแต่จะให้มดแมลงกินก่อน เขาหยิบอาหารนิดหนึ่งที่อร่อย ๆ ไปวางไว้ให้มดนิดหนึ่งก่อน ให้มดได้กินก่อน แล้วเขาจึงจะกิน อย่างนี้อาตมาเคยเห็น ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องเล่า มันเป็นการปฏิบัติของบรรพบุรุษสมัยปูย่า ตายายโดยหลักที่ว่า ถ้ายังไม่ได้ให้ผู้อื่นกินแล้วเราไม่ยอมกินเป็นอันขาด ทีนี้เมื่อไม่มีคนมาเขาก็ให้กับสัตว์เดรัจฉาน นั้นเขาจึงโปรยให้อีกากิน ถ้าไม่มีอีกก็ให้มดแมลงข้าง ๆ มันสร้างความรู้สึกในจิตใจ ไม่ได้หวังบุญกุศล เอาสวรรค์วิมารอะไรก็ได้ เอาสิ่งที่ดีกว่านั้นคือความรักสิ่งที่มีชีวิตในฐานะเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน ถ้าเรามีธรรมะข้อนี้ประจำใจ คนนั้นเรียกว่ามีความปลอดภัยในการที่มีธรรมะคุ้มครองตน เราจึงสอนให้ลูกเด็ก ๆ ถือหลักว่าถ้าเรายังไม่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นก่อนแล้วเรายังไม่กิน ถ้าเรายังไม่ให้ผู้อื่นกินก่อนแล้วเรายังไม่ แต่เราต้องช่วยเขา เพราะว่าเขาเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกกรณี แล้วเราจึงด่ากันไม่ได้ ทะเลาะวิวาทกันไม่ได้ เราจะโกหกกันไม่ได้ เราจะทำอะไรที่ให้ผู้ใดเสียหายไม่ได้ เพราะศีลธรรมข้อนี้ จึงหวังว่าผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ทั้งหลายจะได้ไปคิดหาวิธี ปลูกฝังความรู้สึกอันนี้ลงไปในจิตใจของเด็กด้วยการปฏิบัติอยู่ ไม่ใช่เพียงบอกแต่ปากให้เขาท่องจำหรือจดไว้ในสมุด แต่ให้เขาปฏิบัติอยู่ที่เนื้อที่ตัว เขาจะได้นึกถึงผู้อื่นเท่า ๆ กับนึกถึงตัวเขา นี่ศีลธรรมพื้นฐานให้เขาเรียนและให้เขาปฏิบัติ แล้วไม่เท่าไหร่เขาจะประสบผลของการปฏิบัติ มีความรักความสามัคคี มีความปรารถนาดี มีเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่รอบตัว รอบด้าน ไม่มีศัตรูเลย เมื่อเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เป็นนักธุรกิจ เป็นอะไรในโลกนี้ เขาก็จะช่วยโลกนี้ มันมีเมตตากรุณา เป็นโลกแห่งความรักใคร่ เมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นมูลฐานแห่งสันติภาพ ถึงถัดจากข้อนี้ ข้อที่ว่าทุกคนเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน ก็จะมาถึงศีลธรรมข้อที่เรียกว่า บังคับความรู้สึก คนเราทำอะไรไม่ได้ ให้ดี ไม่ได้ เพราะไม่บังคับความรู้สึก ความรู้สึกมันเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยที่แวดล้อม หลีกไม่พ้นต้องเกิด แต่เราต้องบังคับให้อยู่ในร่องในรอย ความรู้สึกรัก หรือโลภ ความรู้สึกโกรธ หรือโทสะ ความรู้สึกโมหะ สัพเพร่า โง่เขลา ผลุนผลัน มันเรียกความรู้สึก ทุกอย่างต้องบังคับ บังคับไม่ให้เกิด หรือถ้าเกิดขึ้นต้องบังคับให้หยุด หรือให้เปลี่ยนไปในทางที่ถูกต้อง เราต้องสอนให้ลูกเด็ก ๆ รู้จักสิ่งที่เรียกว่าความรู้สึก ให้มันเกิดเมื่อไหร่ มันเกิดอย่างไร โดยวิธีใด มันก็ไม่พ้นไปจากเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้เห็นรูป ได้ฟังเสียง ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสทางผิวหนัง ได้นึกคิดด้วยจิตใจมันอยู่ที่นี่ แล้วมันก็เกิดความรู้สีก เราต้องรู้ว่ามันเกิดอย่างไร ควบคุมทันแก่เวลา เราเรียกว่ามีสติรวดเร็ว มีสติรวดเร็ว หนังสือแบบเรียนสมัยเด็ก ๆ เมื่ออาตมาเป็นเด็ก ๆ มีหนังสือแบบเรียนอยู่เล่มหนึ่ง ในหนังสือเล่มนั้นมีนิทานซึ่งคงจะแปลมาจากของฝรั่ง นับ ๑๐ ก่อน เด็กหญิงชายสองคนพี่น้อง น้องชายถูกได้รับคำสั่งสอนว่าก่อนที่จะพูดออกไปด้วยความรู้สึกมันต้องนับ ๑๐ ก่อน จะเป็นพ่อแม่สอนหรือครูสอนก็สุดแท้เด็กชายตนนี้เขาถือมันทีเดียวว่าต้องนับ ๑๐ ก่อนที่จะพูดออกไปด้วยความรู้สึก ทีนี้วันนั้นเอากระป๋องเมล็ดพันธุ์ไม้ไปปลูกในสวน พี่สาวเขาทำกระป๋องเมล็ดหกกระจาย แล้วน้องชายยืนนิ่งอึ้งอยู่ไม่พูดอะไร พี่สาวเขาสงสัยถามว่าเป็นอย่างไรก็บอกว่าเขากำลังนับ ๑๐ อยู่ เขาโกรธพี่เต็มทีแล้วแต่เขายังนับ ๑๐ อยู่ เขายังไม่พูดด้วยความโกรธ แม่หรือครูเขาสอนมาอย่างนั้น นี่ก็แสดงว่าการบังคับความรู้สึกนี่เป็นหลักจริยธรรมสากล ไม่เฉพาะของตะวันออก ของตะวันตกเป็นของอะไรทั่วไปหมด ว่าเราต้องบังคับความรู้สึก ความรู้สึกมี ๓ ประเภท
รู้สึกประเภทที่ ๑ คือมันอยากจะเอาเข้ามา นี้เป็นความรักเป็นความโลภ มันอยากจะเอาเข้ามากอดรัดไว้ หรือหวงแหนอยู่ ความรู้สึกที่ ๑ มันอยากจะเอาเข้ามา คือความพอใจ
ความรู้สึกที่ ๒ มันอยากจะตีให้กระเด็นออกไป หรืออยากจะฆ่าเสีย ตรงกันข้าม เป็นความรู้สึกไม่พอใจ
ความรู้สึกประเภทที่ ๓ ยังโง่ ยังสงสัย ยังไม่เข้าใจได้ ว่าเป็นอะไร แต่ก็สนใจผูกพันอยู่เหลือประมาณ เรียกว่าความหลง ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันมีอยู่ ๓ ชนิดเท่านั้น
อันที่ ๑ จะเอาเข้ามา อันที่ ๒ จะตีออกไป อันที่ ๓ ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร แต่ก็สนใจอย่างยิ่ง เราต้องบังคับความรู้สึกเหล่านี้ให้มันอยู่ในความควบคุมของเรา มิฉะนั้นเราจะต้องทำจิตมันแน่นอน เด็ก ๆ เดี๋ยวนี้โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้อาตมาสังเกตุเห็นว่าไม่มีการบังคับความรู้สึกเหมือนเด็ก ๆ สมัยอาตมา พูดแล้วก็จะว่าอวดดี ยกตัวเอง สมัยอาตมาได้เห็นเด็ก ๆ สมาทานการบังคับความรู้สึกมากทีเดียว เพราะกลัวบาป เขากล้าบุญ เด็กสมัยนี้เขาไม่กลัวบาป เขาไม่กล้าบุญ เขาจึงไม่บังคับความรู้สึก บางทีหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียนจะเกิดบ้า ๆ บอ ๆ อะไรขึ้นมาสอนให้เด็ก ๆ ไม่บังคับความรู้สึกก็ได้ สอนให้เป็นประชาธิปไตยเสรี ไม่บังคับความรู้สึกก็ได้ เด็ก ๆ สมัยนี้จึงไม่นิยมการบังคับความรู้สึก เห็นแต่ว่าการบังคับความรู้สึกนั้นมันเสียอิสรภาพ เสียเสรีภาพ หรือขาดทุน ก็นิยมไม่บังคับความรู้สึก อันนี้ผิดมากที่สุด ถ้ามีอยู่ที่ไหนขอให้ช่วยกันแก้ไข บังคับความรู้สึกนั้นหมายความว่าเราไม่ยอมผ่ายแพ้แก่ภูติผีปีศาจ เรายินดีเชื่อฟังคำสั่งของพระเป็นเจ้า ของพระธรรม ไม่ใช่เสียหาย เลวร้าย หรือว่าโง่เขลาอะไร และจะทำให้มันถูกต้อง เราไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของกิเลส คือภูติผีปีศาจ เราจะเคารพเชื่อฟังคำสั่งของพระเป็นเจ้าของพระธรรม จะบังคับความรู้สึกไว้ให้ได้อย่างนี้ มันน่ากระทำ ไม่ใช่น่าละอายหรือสูญเสียอิสรภาพ ที่ไปทำตามความรู้สึกของกิเลศนั่นแหละคือสูญเสียอิสรภาพ นักศึกษานักเรียนสมัยนี้ก็ไปคิดเป็นอย่างนั้น ก็ไม่ยอมสูญเสียอิสรภาพในการที่จะคิดนึกตามความรู้สึกของเขา นั้นเขาจึงมีอะไรลุกขึ้นมาทำความยุ่งยากลำบากใจให้สังคมมากที่สุด นักศึกษาที่ถือคติเสรีภาพชนิดนี้กำลังเป็นภาระหนักแก่รัฐบาลทุกรัฐบาลในโลก เพราะเขาหลงในเสรีภาพของกิเลส ไม่บังคับความรู้สึก นั้นจึงทำอะไรผิดทำนองครองธรรม จึงถือว่าหลักศีลธรรมข้อที่ ๒ นี้คือ เป็นผู้บังคับความรู้สึก แล้วสิ่งต่าง ๆ จะอยู่ในครรลองของศีลธรรม
ที่อยากจะพูดอีกข้อหนึ่ง คือข้อที่ ๓ ข้อสุดท้ายว่า รู้สึกเป็นสุขเมื่อได้ทำหน้าที่ ทุกคนมีหน้าที่ หน้าที่คือสิ่งที่ทำคนให้เป็นคน กีฬาจะทำคนให้เป็นคนได้จริงหรือไม่ เราไม่วิจารณ์ แต่ยืนยันว่าการทำหน้าที่คือทำคนให้เป็นคน เรามีหน้าที่อย่างไร ขอให้ทำแล้วเราจะเป็นคน เราเป็นเด็กนักเรียนทำหน้าที่ของนักเรียน เราเป็นครูทำหน้าที่ของครู เป็นชาวนาทำหน้าที่ของชาวนา ทำอะไรมีหน้าที่อะไรทำหน้าที่อันนั้นเรียกว่ามันทำคนให้เป็นคน ด้วยการทำหน้าที่ให้ถูกต้อง เท่านี้เราก็ควรจะพอใจ พอได้ทำหน้าที่เราดีใจ เราไหว้ตัวเองได้ เพราะเราไม่เหลวไหลเราทำหน้าที่ของคน เรามีความเป็นคนมีค่าแห่งความเป็นคน เราจึงรู้สึกเป็นสุขเมื่อได้ทำหน้าที่ นั้นเราจึงรู้สึกเป็นสุขเมื่อเล่าเรียน ไม่ต้องคอยเป็นสุขเมื่อสอบไล่ได้ นั้นมันเด็กโง่ ไปบอกเขานั่นเป็นเด็กโง่ จะรู้สึกเป็นสุขเมื่อสอบไล่ได้ ถ้าเขาเป็นเด็กฉลาดเขาจะเป็นสุขเมื่อเขาเล่าเรียนอยู่อย่างถูกต้อง เขาพอใจได้ทำหน้าที่ เขาไหว้ตัวเองได้เขานับถือตัวเองได้ รู้สึกเป็นสุข คนที่ทำการงานทำราชการอะไรก็ตามเขาควรจะเป็นสุขเมื่อกำลังทำหน้าที่ เขาจะเป็นสุขเมื่อเงินเดือนออกแล้วไปบ้ากันอย่างหัวหกก้นขวิดก็ไปเป็นสุขเมื่อเงินเดือนออกแล้วไปบ้ากันอย่างหัวหกก้นขวิด เรียกว่าเป็นสุข นั้นเขาไม่รู้สึกเป็นสุขเมื่อทำหน้าที่อยู่ก่อนวันเงินเดือนออก อยู่ที่โต๊ะทำงานนั่นเขาทำหน้าที่เขาไม่รู้สึกเป็นสุข เขากระวนกระวายว่าเมื่อไหร่จะเลิกเมื่อไหร่จะหยุดเมื่อไหร่จะไม่ต้องทำ เขาจึงไม่อาจรู้สึกเป็นสุขแต่เขาตกนรกทั้งเป็นอยู่ที่โต๊ะทำงาน เดี๋ยวเราจะเปลี่ยนเป็นรู้สึกเป็นสุขเมื่อได้ทำหน้าที่ เมื่อทำหน้าที่อยู่ก่อนวันเงินเดือนออกตั้ง ๒๐ กว่าวันนั้นเป็นสุข พอถึงวันเงินเดือนออกก็ไม่รู้สึกอะไร ไม่เอาเงินเดือนนั้นไปใช้หาความสุขอย่างหัวหกก้นขวิด เป็นอันธพาล เป็นคนโง่ คนหลงไม่รู้จักตัวเองไม่รู้จักชีวิตไปเสียอีก เมื่อได้ทำอะไรดี แล้วเคารพตัวเอง ไหว้ตัวเองแล้วเป็นสุข หรือได้ประพฤติธรรมะได้ช่วยเหลือผู้อื่นเป็นต้น หรือได้ประพฤติความดีความงาม ความซื่อตรง ความกตัญญูกตเวที ความเชื่อฟัง พอใจก็ไหว้ตัวเองได้ เป็นสุขเมื่อได้ทำหน้าที่ สำหรับลูกเด็ก ๆ พูดกันลืม ก็ว่าเป็นสุขเมื่อเรียน ไม่ใช่ต้องเป็นสุขเมื่อสอบไล่ได้ เดี๋ยวมันจะเป็นบ้าเสียก่อน มันทรมานใจเกินไปกว่าจะถึงวันสอบไล่ มันจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บเสียก่อน ถ้ามันพอใจในการได้เล่าเรียนดีมันมีปีติปราโมทย์ มันก็เป็นธรรมะ มันหล่อเลี้ยงจิตใจให้เป็นสมาธิ แล้วก็ยิ่งเรียนได้ดี ขอให้จัดไปในรูปนี้ ความพอใจในการงานนั้นทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าปีติและปราโมทย์ ปีติและปราโมทย์ย่อมส่งให้เกิด ...(นาทีที่ 01:40:25)ความสงบแห่งจิต ...(นาทีที่ 01:40:30)ทำให้เกิดสมาธิ ความแน่วแน่แห่งจิตแล้วเขาก็จะมีปัญญา ให้อยู่เป็นประจำวันด้วยธรรมะเหล่านี้ เรียกว่าเป็นสุขอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดมาก็ได้ถ้าเราได้อบรมกันอย่างนี้ ให้เด็กเป็นสุขเมื่อรู้สึกว่าได้ทำความดี แล้วเขาก็ขยันทำความดี แล้วก็เป็นสุขอยู่ตลอดเวลา ก็จะมีสุขภาพกายดีสุขภาพจิตดี มีเรื่องทางวิญญาณทางสติปัญญาดี ก็หมดปัญหา นั้นเปลี่ยนเป็นว่ารู้สึกเป็นสุขเมื่อได้ทำหน้าที่ อย่ารู้สึกเป็นสุขเมื่อเอาเงินไปถลุงใช้เรื่องกินเรื่องกามเรื่องเกียรติเลย ทุกคนหมายถึงทุกคนไม่ได้เฉพาะนักเรียน ทุกคนที่ได้ยินอยู่ที่นี่ ขอได้จำคำนี้ไปด้วยว่าเราจงเป็นสุขเมื่อรู้สึกว่าเราได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง หน้าที่ของบุตร หน้าที่ของบิดามารดา หน้าที่ของครูบาอาจารย์ หน้าที่ระหว่างเพื่อน หน้าที่ของพลเมือง หน้าที่ของสาวกของพระศาสนา หน้าที่อะไรก็ตามทำอย่างซื่อตรงแล้วก็เป็นสุขสบายใจ เพราะว่าได้ทำตามประสงค์ของพระเป็นเจ้า หรือว่าได้ทำถูกต้องตามกฏเกณฑ์ ซึ่งเป็นกฏของธรรมชาติ มันก็หมดปัญหา ถ้าเราวางรากฐานศีลธรรม ๓ ประการนี้ลงไปในจิตใจของเด็กได้แล้วก็ไม่ต้องกลัว ศีลธรรมที่จำแหนกเป็นปลีกย่อยอื่น ๆ ก็จะมีมาหมดอย่างครบถ้วน ขอย้ำอีกทีหนึ่ง ข้อที่หนึ่งจงปลูกฝังนิสัยแห่งความรู้สึกว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น สองจงเป็นผู้บังคับความรู้สึก คือบังคับจิตบังคับตัวเองให้อยู่ในสติสัมปัชชญะ และปัญญา ข้อที่สาม จงเป็นสุขเมื่อได้รู้สึกว่าได้ทำหน้าที่ ไม่ต้องรอให้ครูสรรเสริญ ให้ใครให้รางวัล ไม่ต้องรอให้ใครมาให้เงิน ไม่ต้องรอต่อเมื่อเอาเงินเดือนไปใช้หัวหกก้นขวิด ไม่ต้องรอ พอทำหน้าที่เมื่อไรก็เป็นสุขพอใจในความเป็นมนุษย์ของตนอย่างถูกต้อง ไหว้ตัวได้เท่าไรยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น ขอให้ช่วยทำในลักษณะที่ให้ยกมือไหว้ตัวเองได้ เรียกว่ามีอยู่ ๓ อย่าง ทุกชีวิตเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ทุกคนต้องบังคับความรู้สึกให้อยู่ในทำนองครองธรรม แล้วขอให้เป็นสุขเมื่อได้รู้สึกว่าทำหน้าที่ เดี๋ยวนี้ไปรู้สึกเมื่อกิเลสครอบงำ ไปบ้ากิน บ้ากาม บ้าเกียรติแล้วก็เป็นสุขกันนัก นี่เป็นการตกนรก มันก็สับสนกันหมด มองกงจักรเป็นดอกบัว เรียกตามแบบโบราณว่ามองกงจักรเป็นดอกบัว อาตมาเห็นว่าได้บรรยาเรื่องธรรมะและวิธีสอนธรรมะโดยใจความมาพอสมควรแล้ว ช่วงเวลาที่เรามีอยู่เล็กน้อย ขอให้เอาหัวข้อเหล่านี้ไปศึกษาพินิจพิจารณาดูให้ดีอย่างละเอียดละออ แล้วก็จำแหนกแจกแจงแตกแขนงออกไปเองเป็นศีลธรรมข้อนั้นข้อนี้ซึ่งเป็นการกระจายออกไปได้จากหัวข้อใหญ่ ๆ เหล่านี้ แล้วก็ไปสอนให้ได้รับความรู้และการปฏิบัติตรงตามความมุ่งหมายของศาสนา และพร้อมกันนั้นให้มันเข้ากันได้กับหลักสูตรของกระทรวงด้วย อย่าให้ไปตีกัน คืนนี้หัวค่ำถ้าอากาศดีมาพูดกันอีกที อาตมาไม่สบายถ้าอากาศไม่ดี มีฝนมีชื้นแล้วก็ไม่สบายพูดไม่ได้ แต่เผอิญถ้าค่ำนี้อากาศดีก็พูดกันอีกทีก็ได้ วันนี้ขอยุติไว้เพียงเท่านี้ก่อน