แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
๘ เมษายน ๒๕๑๓ ท่านที่เรียกตัวเองว่าเป็นครูทั้งหลาย การบรรยายอย่างวันนี้สำหรับอาตมาเป็นการบรรยายพิเศษอย่างที่เรียกว่า นอกหลักสูตร ไม่บังคับ ก็ไปถือเป็นธรรมเนียมกันเสียว่า ถ้ามีอบรมอะไรกันที่นี้ อาตมาจะต้องมาให้ของฝากเล็ก ๆ น้อย ๆ เสมอไป จึงทำให้เกิดเป็นธรรมเนียมอย่างนี้ขึ้น เกิดเป็นธรรมเนียมอย่างนี้ขึ้นจนเป็นที่รู้กันแล้ว นั้นขอให้เข้าใจสำหรับท่านที่ยังไม่ทราบ
การบรรยายของอาตมาที่ค่ายธรรมบุตรทุกคราวก็เป็นเรื่องธรรมะ แม้จะพูดกับใคร จะพูดกับลูกเสือ จะพูดกับอนุกาชาด จะพูดกับครู จะพูดกับใครก็ตามแต่ เป็นเรื่องธรรมะ แต่ว่าเป็นธรรมะเท่าที่บุคคลประเภทนั้น ๆ ควรจะได้ทราบ คือ ดีกว่าไม่ทราบ ทั้งนี้ก็เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้น มันเป็นสิ่งพิเศษจำเป็นสำหรับทุกคน แล้วก็ช่วยคนได้ทุกคนหรือในทุกกรณี เหมือนอย่างคำโบราณเขาเรียกกันว่า เป็นยาหม้อใหญ่ เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นอะไรทำนองนี้ ดังนั้นจึงเป็นการที่ไม่ผิดหวังในการที่จะเอาธรรมะมาพูดแก่ใครก็ได้ ตามที่เห็นว่าจะเหมาะหรือจะเป็นประโยชน์แก่บุคคลเหล่านั้น
สิ่งที่จะต้องทราบ จะต้องนึกและถ้านึกเห็นแล้วจะสังเวชก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า คนไม่สนใจกับธรรมะให้มากเท่ากับที่ควรหรือเท่ากับที่ธรรมะมีประโยชน์หรือมีความจำเป็น เดี๋ยวนี้คนทั้งโลกสนใจสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ น้อยลง จนกระทั้งไม่รู้จักธรรมะ จนกระทั้งมีศาสนาแต่เพียงเปลือกหรือพิธีรีตอง จนเราพูดได้ว่า โลกกำลังไม่มีศาสนา อย่าเข้าใจว่าโลกไม่มีโบสถ์ วิหาร วัดวาอาราม พระเจ้าพระสงฆ์นั้นมี ๆ อยู่แล้วแต่นั้นมันเปลือกของศาสนา เนื้อแท้ของศาสนา คือ ธรรมะที่ทุกคนจะต้องประพฤติปฏิบัติอยู่ที่กาย ที่วาจา ที่ใจ เปลือกก็มีความสำคัญ ถ้าว่าเนื้ออยู่ไม่ได้โดยไม่มีเปลือก แต่ว่าถ้ามีแต่เปลือกไม่มีเนื้อแล้วก็ลองคิดดูเถอะว่ามันจะเป็นอย่างไร จะกินเปลือกกันได้อย่างไง เดี๋ยวนี้โลกทั้งโลกกลายเป็นโลกที่ไม่มีศาสนา หรือไม่มีธรรมะ ไม่มีศาสนา เพราะว่าคนเกลียดศาสนา รังเกียจโดยตรง โดยอ้อม ไม่ปฏิบัติตามที่ศาสนาต้องการ จนมีคำล้อเกิดขึ้นมาว่า สมัยนี้พวกเราเอาแต่ไหว้ พอบอกให้ประพฤติธรรมก็กำหู ส่วนไหว้ทำพิธีรีตองนี้ก็ดูจะเก่งมากหรือจะมากขึ้นไปอีก แต่พอถึงทีที่จะปฏิบัติตามนั้น มีอาการเหมือนกับจะอุดหู ไม่รู้ไม่ชี้ แกล้งไถล ทำไก๋ อะไรไปเสีย
ที่เป็นอย่างนี้ไม่ใช่เป็นเฉพาะพระพุทธศาสนา เป็นหมดทุกศาสนา เพราะว่าโลกทั้งโลกมันถูกครอบงำไปด้วยวัตถุนิยม หรือ ความเจริญอย่างแผนใหม่ คนในโลกกำลังหายใจเป็นวัตถุ แล้วก็บูชา ไอ้วิชาเทคโนโลยีที่จะช่วยให้สำเร็จประโยชน์ สำเร็จตามความต้องการในทางวัตถุ ก็บูชาไอ้เทคโนโลยีแทนสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ศาสนาไม่มีวัตถุง่ายเหมือนเทคโนโลยี ศาสนามีไอ้ความรู้แจ้งในฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณให้ แต่คนไม่ต้องการเพราะว่าเขาเห็นว่าไม่รู้จะเอาไปทำอะไร นั้นจึงไม่พอใจ ไม่ชอบศาสนา ถือเป็นของทำให้เสียเวลา เป็นของครึกคละ (นาทีที่ ๖.๕๙) แต่ก็ทิ้งเด็ดขาดไม่ได้เพราะมันมีธรรมเนียม มีประเพณี มีอยู่ว่าจะต้องทำประเพณี พิธีรีตองอย่างนั้น
แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือความโง่ของคนเหล่านั้นยังไม่หมด เพราะว่ามันยังมีความกลัวเหลืออยู่ ถ้าปัญหาที่มันเกิดขึ้นทางจิตใจ ถ้าไม่มีความกลัว ไม่มีอะไรช่วยได้นั้นแหละก็จะเรียกหาศาสนา เรียกหาพระเจ้า เรียกหาพระธรรม เพราะฉะนั้นในกองทัพที่กำลังรบกันอยู่ก็มีพิธีรีตองทางศาสนา ทำอย่างพิธีรีตองล้วน ๆ เหมือนกับเครื่องจักร ดูเหมือนกับหุ่นยนต์ แต่ในใจนั้นไม่ได้มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามพระเจ้า ถ้าปฏิบัติตามพระเจ้า มันต้องให้อภัยกันเสีย ไม่รบ ไม่รา ไม่ฆ่า ไม่ฟันกัน อย่างพุทธศาสนาเราก็สอนให้ ๆ อภัยกัน สอนให้ไม่เบียดเบียน ศาสนาคริสเตียนก็สอนในทำนองว่า เขาตบแก้มซ้ายแล้วก็ให้เขาตบแก้มขวาด้วยสิ เขาพยายามจะเอาเสื้อของเราก็เอาผ้าห่มไปให้เขาเสียด้วย เขาก็ไม่มีโกรธ ไม่มีจองเวร ไม่มีอภัย แต่นี้ในโลกเวลานี้ไม่มีชาติไหนที่จะถือหลักอย่างนี้ นี้คือไม่ถือหลักศาสนา ไม่ถือพระเจ้า นั้นโดยเนื้อแท้ โดยจิต โดยวิญญาณ ไอ้โลกนี้กำลังไม่มีศาสนา กำลังไม่มีธรรมะ ในกาย วาจา ใจ มีแต่พิธีรีตอง ที่พูดนี้ก็เพื่อจะชี้แต่นิดเดียวว่า มนุษย์นี้หันหลังให้ศาสนา ให้ความไม่เป็นธรรม หรือให้ความอยุติธรรมให้แก่ศาสนา พอถึงทีจวนตัวถึงทีกลัวขึ้นมาก็เรียกหาศาสนา แต่แล้วก็ไม่มีการปฏิบัติตามศาสนา ศาสนาไม่มีอยู่ในลักษณะที่เป็นตัวแท้ของศาสนาที่มีอยู่ จึงอยู่เพียงพิธีรีตอง
นี้คือข้อที่จะต้องนึก ๆ เห็นแล้วจะสังเวชว่า คนกำลังไม่มีธรรมะมากขึ้น จนเบียดเบียนกันไปทั้งโลกนี้อย่างหนึ่ง ที่นี้ที่แคบเข้ามาก็คือว่า สิ่งที่เรียกว่าธรรมะหรือศาสนานั้นมันช่วยให้มีคนดี นี้ฟังดูให้ดี มันช่วยให้มีคนดี เดี๋ยวนี้สิ่งต่าง ๆ หรือปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นเพราะโลกไม่มีคนดีที่เพียงพอแก่หน้าที่การงานนั้น ๆ แม้ในประเทศไทยเรานี้แหละที่แก้ปัญหาอะไรต่าง ๆ ไม่ได้ ทำไปไม่รอด ก็เพราะว่ามันไม่มีคนดีมากพอที่จะปฏิบัติหน้าที่นั้น ๆ ข้อนี้อย่าพูดให้มันมากนั้นเลย เดี๋ยวมันจะเป็นการกระทบกระเทือน เพราะว่าท่านทั้งหลายก็คงจะฟังออกหรือทราบอยู่แล้ว แม้โครงการจะดี แผนการจะดี เงินจะมี อะไรก็มี แต่ถ้ามันขาดคนดีแล้วสิ่งเหล่านั้นมันไม่มีประโยชน์อะไร ก็ไปโกง ไปทำอะไรกันเสียหมด โครงการดีแต่ถ้าไม่มีคนดีมันก็ใช้อะไรไม่ได้ ไม่มีคนสุจริต ไม่มีคนยุติธรรม สิ่งต่าง ๆ ก็เป็นไปในทางไม่เป็นธรรม ก็คือทำให้เดือดร้อนและเบียดเบียนกัน หรือแต่เพียงแต่มีคนดีเท่านั้น อะไร ๆ ก็จะดีไปหมด
โครงการแผนการต่าง ๆ ทำได้ การบังคับบัญชาการปกครองก็จะดี ก็มีคนดีปฏิบัติให้ดี ให้จริงให้ตรงมาเป็นลำดับ ๆ จนเป็นผู้เผด็จการได้ ทีนี้เราไม่ยอมให้ใครเป็นผู้เผด็จการ ก็เพราะเราไม่เชื่อว่าเขาเป็นคนจริงคนตรง เขาชอบประชาธิปไตย แต่แล้วเมื่อหลายคนเป็นคนโลเลเหละแหละหรือเป็นกันทั้งหมด ประชาธิปไตยก็โลเลเหละแหละ ก็ใช้ไม่ได้ เผด็จการก็ใช้ไม่ได้ ประชาธิปไตยก็ใช้ไม่ได้ เพราะมันขาดคนดี ถ้ามันมีคนดีเพียงอย่างเดียวนั้น ยิ่งเผด็จการยิ่งดี ยิ่งเร็ว เมื่อพระพุทธเจ้าท่านมีชีวิตอยู่นั้นท่านเป็นเผด็จการ ไปอ่านดูเถอะในพระบาลีจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าท่านเป็นเผด็จการนั้นจึงทำสิ่งต่าง ๆ ไปได้โดยสะดวกและรวดเร็ว แต่เมื่อท่านจะปรินิพพานหรือท่านคาดแผนการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าถ้าปรินิพพานก็ต้องเป็นรูปประชาธิปไตยแล้วแต่สงฆ์ แล้วแต่หมู่ แล้วแต่คณะ แล้วถ้าคณะสงฆ์ดี สิ่งต่าง ๆ ก็เป็นไปด้วยดี ถ้าคณะสงฆ์เกิดไม่ดี มันก็ไม่ดี นั้นจะดี จะรอดหรือไม่รอด นี้มันอยู่ที่ว่าดีหรือไม่ดี ดีหรือไม่ดี ถ้าเรามีคนดีสักคนหนึ่ง ไว้ระบุสิ่งต่าง ๆ คนนี้ควรฆ่าเสีย คนนี้ควรเอาไว้ มันก็วิเศษ ทีนี้เราหาคนดีชนิดนั้นไม่ได้ก็เลยไม่ไว้ใจใคร จะตั้งใจจะเป็นคนเผด็จการอย่างนี้ก็ทำไม่ได้เพราะมันไม่มีคนดี
นั้นจึงควรจะมองเห็นประโยชน์ของธรรมะ ว่าธรรมะนี้ช่วยให้มีคนดี คือมีธรรมะ แล้วสิ่งต่าง ๆ จะชั่วไม่ได้ จะเลวร้ายไม่ได้ จะเป็นไปแต่ในทางดีและโดยเร็ว นี้พูดกันอย่างกว้าง ๆ คือ คำว่า “ธรรมะ” หรือ “ประโยชน์ของธรรมะ” ที่ชี้ให้เห็นว่า เราจะต้องสนใจกับธรรมะตามสัดตามส่วน ตามเวลาที่เรามี ท่านทั้งหลายเป็นครูมาประชุมอบรมกันที่นี้ก็ล้วนแต่เรื่องเทคนิคของครู อาตมาก็จะไม่พูดเรื่องเหล่านี้ เอามะพร้าวมาขายสวน ไม่มีประโยชน์อะไรที่พูดเรื่องที่ไม่มีใครพูด คือเรื่องธรรมะ แต่แล้วก็กลับเป็นสิ่งที่จำเป็นแก่ครูทุกคน ถ้าครูขาดธรรมะ ครูไม่เป็นครู เป็นครูแต่ชื่อ เป็นครูแต่ปาก เป็นครูแต่เปลือก ถ้ามีธรรมะ ครูก็จะเป็นครูโดยแท้จริง โดยเนื้อแท้
นั้นเรื่องที่จะพูดวันนี้ก็คือเรื่องวิญญาณของความเป็นครู คำว่า “วิญญาณ” มันมีความหมายกำกวม หมายถึง จิต ถึง วิญญาณ อย่างวิญญาณภูติผีปีศาจนั้นก็ได้ แต่คำว่า “วิญญาณ” นี้หมายถึงเนื้อแท้ เนื้อหาสาระ หัวใจของเรื่องก็ได้ ซึ่งแปลว่า เจตนารมย์ ก็ได้ คำว่า “วิญญาณ” ในลักษณะอย่างนี้ ตรงกับคำว่า “สปิริต” ซึ่ง สปอร์ตติ้งสปิริต ก็วิญญาณแห่งการเป็นนักกีฬา คำว่า “วิญญาณ” อย่างนี้ก็แปลว่า “สปิริต” คำว่า “สปิริต” แปลว่า เล่าก็ได้ แปลว่า จิตใจก็ได้ แปลว่า ผีก็ได้ แปลว่า เจตนารมย์ก็ได้ นี้เมื่อพูดว่า วิญญาณของความเป็นครู นี้ก็หมายถึง เจตนารมย์ความเป็นครู เนื้อแท้ หัวใจของความเป็นครู ก็คือพูดเรื่องครูในแง่ที่เกี่ยวกับธรรมะ มีธรรมะก็เป็นครู ไม่มีธรรมะก็ไม่เป็นครู
ในข้อแรกก็อยากจะพูดโดยสรุปเป็นหัวข้อว่า ครูนี้คืออะไร เมื่อถามว่าครูคืออะไร มันก็เกี่ยวพันยุ่งกันไปถึงคำอื่น ๆ ซึ่งคล้ายกัน หรือเนื่องกันที่เราพูดกันติดปาก เช่น ครู อุปัชชาย์ อาจารย์ พระศาสดา อย่างนี้เป็นต้น มีอยู่มากมาย ล้วนแต่เป็นเรื่องของครูทั้งนั้น แล้วยิ่งกว่านั้นมันยังมีคำอื่น ๆ ซึ่งเนื่องกัน ไกลออกไป ไกลออกไป คำว่า “ครู” นี้เป็นคำภาษาบาลี หรือ ภาษาสันสกฤต นี้คำอื่น ๆ ก็ล้วนแต่เป็นคำบาลี คำสันสกฤต อุปัชชาย์ ศาสดา อาจารย์ กระทั้งฤาษี มุนีเรื่อยไป ซึ่งจะขอโอกาสพูดพอสมควร จะเริ่มมาแต่วงนอก เช่น คำว่า “ฤาษี มุนี ดาบส นักศิษย์ วิทยาธร”(นาทีที่ ๑๖.๕๒) อะไรเหล่านี้
นี้มันคือพวกที่ออกไปจากสังคม ไปอยู่ในที่สงบสงัด คิดค้นวิชาความรู้ ขอให้เข้าใจว่าเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ความรู้อย่างที่มนุษย์มี ๆ อยู่นี้ มันยังไม่มี คือมันยังไม่มีอะไรเลย เมื่อหลายพันปีมาแล้ว ซึ่งถ้าเราพูดก็ต้องเล็งที่ประเทศอินเดียเป็นต้นตอของวัฒนธรรมเหล่านี้ วัฒนธรรมไทย ศาสนาพุทธเรารับมาจากอินเดีย มันจึงไปรวมอยู่ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งมีอายุอยู่หลายพันปีมาแล้ว คนที่เขาเบื่อความเป็นอย่างซ้ำซากของความเป็นชาวบ้านนี่ เขาคิดว่ามันมีอะไรดีกว่าที่เป็น ๆ กันอยู่อย่างชาวบ้านนี้ นั้นจะต้องออกไปแสวงหา จึงไปสู่ที่สงัด คือ ป่า ถ้ำ ภูเขา ไกลสังคมออกไป ออกไปแสวงหา ผู้แสวงหานั้น ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลีก็คือคำว่า “จิติ” (นาทีที่ ๑๘.๑๔) หรือภาษาสันสกฤตก็คือคำว่า “ทิฎฏิ”(นาทีที่ ๑๘.๑๖) ทีนี้เราเรียกกันว่าฤาษี ในภาษาไทย คำว่า “ฤาษี” นั้นแปลว่า ผู้แสวงหา ถ้าเป็นคำบาลีก็จิติ ถ้าเป็นสันสกฤตก็เป็นทิฎฏิ ผู้ใดออกไปแสวงหาความจริง ความลับอะไรอย่าง ๆ ๆ ยิ่งในป่า ในที่สงบสงัด ค้นคว้าเป็นพิเศษ นั้นเรียก ฤาษี ทั้งนั้น ใครก็ได้ แม้พระพุทธเจ้าของเราก็ออกบวชในลักษณะฤาษี คือ ผู้ออกไปค้นคว้า
ลองนึกถึงคนแรกที่สุดที่ออกจากสังคมไปทำการค้นคว้าในป่า เรื่องที่สูงไปกว่าเรื่องที่ชาวบ้านรู้ ๆ กันอยู่ นั้นก็คือฤาษี ฤาษีนี้ยังไม่ใช่ครู เพราะว่าฤาษีรุ่นแรก ชุดแรก ยุคแรกไม่สอน พบอะไรบ้าง พบความจริงอะไรบ้างก็ประพันธ์ เป็นคำประพันธ์ คือที่เรียกว่า คาถา คำว่า “คาถา”นี้ ที่แท้คือตรงกับคำประพันธ์ ประพันธ์ที่เป็นคำกลอน ฤาษีเหล่านั้นที่ผูกขึ้นเป็นคำกลอน แล้วก็ท่องไว้ เพราะไม่มีกระดาษจะจด ไม่มีดินสอจะเขียน หรือจะสลักหินก็ไม่มีเลย แล้วการที่จะจำได้ก็จะต้องประพันธ์ขึ้นเป็นคำกลอน พูดให้เป็นคำกลอนแล้วก็ตัวเองท่องไว้ มันง่ายกว่าที่จะท่องคำร้อยแก้ว นี้เมื่อฤาษีนั้นทำไปนานเข้า นานเข้า ก็มีคำกลอนหรือคาถาที่จำไว้ได้มากหลายคาถา หลายประโยค นี้ต่อเมื่อมีคนไปพบไปเจอะ ไปติดต่อด้วย อยากจะได้ ท่านจึงจะบอกคาถานี้ให้บ้าง แต่มิได้มีเจตนาจะเป็นครู ทีนี้ต่อมามันก็มากเข้า มากเข้า ๆ ไอ้ที่เขาเรียกว่า คาถานั้นนะ คนก็ได้รับมาในฐานะที่เรียกว่า มนต์ เขาเรียกยุคนี้กันว่าเป็นยุคมนต์ ได้รับคาถาจากฤาษีมาโดยไม่รู้ความหมายอะไรนัก ก็เกิดต้องการคนอธิบาย นี้จึงมีผู้ตีความหมาย ตีเป็นคำอธิบายขึ้นมาอีกพวกหนึ่ง เป็นยุคพราหมณ์วรรณะ คืออธิบายคาถาของไอ้สูตรต่าง ๆ ของพวกฤาษี นี่ความรู้มันจึงค่อยเกิดขึ้น ๆ เกือบทุกแขนง
ทีแรกมันก็ตั้งคำถามว่า อะไรดี อะไรดีกว่า อะไรดีที่สุด นั้นฤาษีก็ไปค้น ๆ ๆ ให้พบว่าอะไรดี ดีกว่า ดีที่สุด ในด้านการเป็นอยู่ การเกิดขึ้น การกระทำ การอะไรก็ตาม พบกันอยู่เป็นคาถาเสมอ กระทั่งต่อมากล้าไปจนถึงเรื่องโลภ เรื่องชาวบ้าน แม้จะหยุดแต่เรื่องกิจกรรมระหว่างเพศ ฤาษีก็พยายามค้นและก็ได้ผูกเป็นคาถา เป็นสูตรอะไรด้วยเหมือนกัน นี่ลงมาถึงอย่างนี้
นี้เรียกว่าพวกฤาษียังไม่ได้เป็นครูโดยตรง แต่จะเห็นได้ว่าเป็นต้นกำเนิดครู ส่วนที่เรียกว่ามุนี ดาบส ต่อไปนี้มันเป็นเพียงความหมายแขนงหนึ่ง แขนงหนึ่ง คำว่า “มุนี” ก็แปลว่า ผู้รู้ เมื่อฤาษีเป็นผู้รู้ ฤาษีก็ได้ชื่อว่ามุนี คำว่า “ดาบส” แปลว่า ผู้ทำตบะ คือทำความเพียรอย่างแรกกล้า เขาเรียกดาบส ฤาษีก็เป็นผู้ทำความเพียร ทำตบะอย่างแรกกล้า ฤาษีก็ได้ชื่อว่าเป็นดาบส มีคำว่า “ศิษชา” (นาทีที่ ๒๒.๔๒) แล้วก็คำว่า “นักศิษย์” (นาทีที่ ๒๒.๔๕) นี้ก็ผู้ที่เกิดความสำเร็จ ฤาษีพวกนี้ก็เป็นผู้ประสบความสำเร็จ นั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นศิษชาหรือนักศิษย์
นี้มันมีคำอื่น ๆ ที่รองลงไป รองลงไปอีกมากมายหลายคำ กระทั้งถึงคำว่า “วิทยาธรณ์” (นาทีที่ ๒๓.๑๑) ซึ่งเป็นคำโบราณมาแต่เดิมเหมือนกัน วิทยาธรณ์ ก็แปลว่า ผู้ท่านวิทยา แต่ก็ไม่ใช่ครู พวกวิทยาธรณ์ คัชยาธรณ์ (นาทีที่ ๒๓.๒๕) อะไรพวกนั้น เป็นผีเจ้าชู้ เป็นเทวดาเจ้าชู้มากกว่า ลองฟังดีให้ดีเถอะ วิทยา แปลว่า ความรู้ ธรณ์ แปลว่า ทรงไว้ด้วยความรู้ แต่พวกวิทยาธรณ์นี้กลายเป็นพวกผีเจ้าชู้ พวกเทวดาเจ้าชู้ ไม่ได้มีความหมายว่าครู เหมือนพวกเราที่มีวิชาความรู้ ทรงไว้ซึ่งความรู้ นั้นระวังคำว่า วิทยาธรณ์ กับวิทยาอะไรเหล่านี้ไว้บ้าง ไปอ่านเรื่องวิทยาธรณ์แล้วจะพบว่า มีการกระทำอย่างเจ้าชู้ เป็นผีบ้าง เป็นเทวดาบ้างนะ ก็ไม่ใช่กำเนิดของครูถ้ามองดูก็พบว่า พวกมุนี ฤาษีนี้ก็พอจะเป็นต้นกำเนิดของครู แต่ยังไม่ใช่ครู เพราะยังไม่ทำหน้าที่สอนผู้อื่นโดยตรงหรือเป็นอาชีพ ก็เลยเรียกฤาษี มุนี ดาบส นักพรตอะไรไปตามเรื่อง
นี้ต่อมาสิ่งต่าง ๆ มันเป็นรูปเป็นร่างดีขึ้น จนมีผู้รับสอนรับแก้ปัญหา คือตอบคำถามในเรื่องนี้โดยตรง เหมือนกับเป็นสถาบันขึ้นมา นี้ตอบคำถามทางด้านจิต ด้านวิญญาณ ไม่ใช่เรื่องทำมาหากิน ไม่ใช่เรื่องสอนหนังสือ แต่เป็นเรื่องปัญหาทางจิตทางวิญญาณ เป็นผู้นำในทางวิญญาณ บุคคลประเภทนี้คือบุคคลที่เรียกว่า คุรุ หรือ ครู ในภาษาไทย ดิชชั่นเนอรี่ภาษาอังกฤษ ที่เป็นชั้นมาตรฐานเริ่มจะแปลคำว่า “ครู” นี่ว่า สเปคริชั่วไกด์(นาทีที่ ๒๕.๒๕) คือ เป็นไกด์ในทางวิญญาณ ไม่ ยังไม่มีหน้าที่สอนหนังสืออย่างพวกเรา หรือว่าสอนวิชาอาชีพอย่างพวกเรา นี้คำเดิมของเขาเป็นอย่างนี้ ต่อเมื่อถูกยืมมาใช้ในภาษาไทย ใหม่ ๆ หยก ๆ นี้จึงเปลี่ยนความหมาย เป็นสอนหนังสือ สอนวิชาชีพ โดยเนื้อแท้ดังเดิมเป็นผู้นำในทางวิญญาณ
นี้คำว่า “อุปัชชาย์”เสียอีก เป็นครูสอนอาชีพ คำว่า “ครู” แปลว่า หนัก หนัก คือ มีบุญคุณ มีคุณค่า มีความหมาย อาตมาอยากจะพูดว่าหนัก คือ มีบุญคุณอยู่เหนือศรีษะคนทุกคน คำว่า “ครู” อุปัชชาย์ ตัวหนังสือ แปลว่า ผู้ที่ใคร ๆ ควรจะเข้าไปเพ่งเล่ง ผู้ที่ใคร ๆ ควรจะเข้าไปเพ่งเล่ง แต่ความหมายที่เห็นอยู่ในภาษาสันสกฤตนั้น แปลเป็นครู สอนวิชาชีพ วิชาชีพอะไรก็ได้ เป็นวิชาดนตรี ผู้สอนดนตรีก็เรียกว่า อุปัชชาย์ ลองไปเปิดดูหนังสือ อย่างหนังสือธรรมานักษิกา (นาทีที่ ๒๖.๔๙) หรือเป็นหนังสือสันสกฤตบทละคร จะพบคำว่า วัดยาอีอุปัชชาย์ (นาทีที่ ๒๖.๕๓) ชาวบ้านว่า วัดยาอี สอนดีดพิณ นั้นเป็นภาษาปะลาสิต(นาทีที่ ๒๗.๐๒) ขอเทียบให้ฟังว่า ถ้าเป็นภาษาปะลาสิตหรือภาษากลางบ้าน เรียกว่า อวดยาอี(นาทีที่ ๒๗.๑๐) เป็นภาษาบาลี ก็ อวดอุยาโย (นาทีที่ ๒๗.๑๓) ถ้าเป็นภาษาสันสกฤต ก็ อุปัสยา (นาทีที่ ๒๗.๑๖) มัน ๆ ๆ เสียงมันออกไปต่าง ๆ กันตามหลัก คำซ้ำในภาษาเป็นคำ ๆ เดียวกัน ภาษาปะลาสิต ภาษาชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนา ว่า วัดยาอี คือคำว่า อุปัชชาย์ อุปัชชายะ
อุปัชชาย์ นี้คือ ครูสอนอาชีพ หรือ ผู้สอนอาชีพที่ทุกคนจะต้องเข้าไปเพ่งเลง หรือ เลือกเอาให้เหมาะกับอาชีพของตน ของตน เดี๋ยวนี้พอมาเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ก็เลยกลายเป็นอุปัชชายะ ผู้ให้อุปัชชาย์ อุปสมบท นั้นเป็นอาชีพของสมณะ อาจจะไม่เคยได้ยินมั้ง อยากจะบอกให้ทราบว่า มีคำว่า “อาชีพสิกขาอาชีพ” อย่างภิกษุทั้งหลาย คำว่า “อาชีพ” นี้มันแปลก ไม่ได้อยู่แต่ทำมาหากิน แบบแห่งการดำรงชีวิตอยู่ให้รอดอยู่ได้ไม่ตาย การเป็นภิกษุ ก็จัดเป็นอาชีพชนิดหนึ่ง สิกขาอาชีพอย่างภิกษุ
ทีนี่เราใช้คำ อุปัชชาย์ ในความหมายเพียงอุปัชชาย์บวชนาค ไม่ได้ใช้ในความหมายเดิมโบราณบรมที่ว่า เป็นครูสอนอาชีพ ที่มาของคำว่า “อาจารย์” อาจาระ แปลว่า มรรยาท อาจารยะ แปลว่า ผู้ช่วยพูดให้มันยาก นี้ก็คือ ครูสอนจริยะศึกษา อาจารย์ เพราะว่า เราจะมีแต่ความรู้ ความสามารถอย่างอื่น แต่ไม่มีอาจาระ หรือมรรยาทที่ดี มันเป็นไปไม่ได้ เป็นคนไปไม่ได้ จึงมีอาจารย์สำหรับทำหน้าที่ฝึกมรรยาท
นี้ไกลออกไปถึงคำว่า ศาสดา ตัถถา(นาทีที่ ๒๙.๒๓)ในบาลี ภาษาไทยเขาว่า ศาสดา พระพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา คำนี้ถ้าแปลตามตัวหนังสือก็แปลว่า ผู้ให้ซึ่งศาสตร์ ศาสตรา คำว่า “ศาสตร์” นี้แปลว่า อาวุธ ศาสตระ ศาสตราหรืออะไรก็ตาม แปลว่า อาวุธ ทางนามธรรมหมายถึงว่า ปัญญา วิชาในขั้นสูงที่เรียกว่า ศาสตร์ เพราะศาสดา ตัถถานี้คือ ผู้ให้ศาสตร์ หรือ ให้อาวุธ หมายถึง วิชาที่จะตัดกิเลส
แต่ยังมีความหมายของ ศาสตร์ ในความหมายอื่น ๆ เช่น คชศาสตร์ อะไรศาสตร์ ล้วนแต่ศาสตร์ มีอยู่มากมาย ความหมายก็อย่างเดียวกัน คือในฐานะที่เป็นอาวุธที่จะแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้สอนอย่างนี้เรียกว่า ตัตถา หรือ ศาสดา แต่นี้ในภาษาไทยเรามีคำที่เข้าทีอยู่ว่า ศาสตราจารย์ แต่ว่า จะปฏิบัติได้ตรงตามความหมายของคำนั้นหรือไม่ ไปดูเอาเองก็แล้วกัน
นั้นคำว่า “ศาสดา” ก็แปลว่า ผู้ให้ศาสตร์ ศาสตระเป็นอาวุธ ให้ความรู้ชั้นสูงสุดแล้วก็ตัดปัญหาทั้งหมด แต่เดี๋ยวนี้เราใช้คำว่า “ศาสดา” กันแต่กับพระพุทธเจ้าหรือผู้ที่ตั้งพระศาสนา ศาสนาใด ศาสนาหนึ่งเท่านั้น
ที่เอามา ที่เอามาพูดให้ฟังนี้ก็เพื่อจะค้นดูทีว่า ไอ้วิญญาณความเป็นครูนี้มันอยู่ที่ตรงไหน คำว่า “ครู” แท้ ๆ ก็คือผู้นำในทางวิญญาณ คำว่า “อุปัชชาย์” แปลว่า ผู้ที่ควรที่จะเข้าไปเพ่งเพื่อรู้วิชาอาชีพ คำว่า “อาจารย์” ก็ ผู้ฝึกมรรยาท คำว่า “ศาสดา” ก็ ผู้ให้ความรู้ ชนิดศาสตร์ เช่น พุทธศาสตร์อย่างนี้เป็นต้น นี้คำว่าครู มีความหมาย อะไรอยู่ที่ตรงไหน มันคงจะรวมไว้ได้หมด ถ้าเราเอาความหมายของคำว่า “ครู” อย่างเดียวนี้สอนพุทธิศึกษา จริยศึกษา พละศึกษา หัตถศึกษา อะไรต่าง ๆ แต่ความหมายที่สูงสุด หรือเป็นวิญญาณ สปิริต นั้นมันไม่พ้นไปจากคำเดิมของคำว่า “คุรุ” หรือ “ครู” คือ “ผู้นำในทางวิญญาณ”
แม้เราจะสอนหนังสือเด็ก ก็ขอให้สอนไปในลักษณะที่เรียกว่า วิญญาณของเด็กสว่างไสวแจ่มแจ้งเจริญงอกงามขึ้น ถ้าเราทำหน้าที่นี้ถูกต้อง จะไม่มีเด็กชกต้อยกันในสนามกีฬา หรือขวางระเบิดขวด ที่ขว้างระเบิดขวดนี้เพราะวิญญาณมันไม่สูง วิญญาณมันต่ำ ยิ่งเรียนยิ่งต่ำ ยิ่งเรียนรู้มาก วิชาเข้าวิญญาณยิ่งต่ำ มันจึงมีทำถึงขนาดนั้น แม้ในชั้นโรงเรียน ชั้นสูง ชั้นมหาวิทยาลัย ชั้นอะไรต่าง ๆ
นี้อยากจะพูดว่า ครูไม่ได้ทำหน้าที่ของครู หรือทำหน้าที่แต่เพียงเหลียบ หรือตัวหนังสือ หมายความว่าสอนตะบันในเรื่องวิชา วิชาชีพ วิชาอะไรก็ตาม แต่ไม่ได้ยกวิญญาณให้สูงขึ้น นี้ขอให้ดูความสำคัญของคำว่า “ครู” ถ้าครูยังมีอยู่นี้ในโลกนี้ ในประเทศไทยเรานี้ อันตรายชนิดอย่างที่ว่านี้จะไม่เกิดขึ้น
นี้พูดมาถึงขนาดนี้ บางคนจะรู้สึกว่าอาตมาด่าแล้ว คือพูดกระทบกระเทียบแล้ว ก็ไม่เป็นไร เพราะต้องการจะพูดเพื่อประโยชน์แก่คนทุกคน หรือแก่ประเทศชาติ เพราะเรากำลังขาดบุคคลที่เป็นครูที่ถูกต้องตามเจตนารมย์ของคำ ๆ นี้ เราอาจจะมีครูเป็นหมื่นเป็นแสนก็ได้ในที่สุด แต่ต้องวัดผลกันด้วยข้อที่ว่าวิญญาณของเด็กสูงขึ้นหรือไม่ ถ้าวิญญาณของเด็กยังไม่สูงก็ยังขาดครู ตามอุดมคติของพุทธศาสนาหรือแม้แต่คำบาลีของคำนี้ว่า ผู้นำในทางวิญญาณ
แต่ว่าพูดนี้ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเรา พูดทั้งโลก และประเทศอื่นอาจจะร้ายยิ่งกว่าประเทศไทยเราในการที่ไม่มีครู บางประเทศยิ่งเรียนไปก็ยิ่งเหมาะสมที่จะไปเป็นยิปปี้ อย่างนี้ก็ไม่ต้องอธิบายเพราะว่าอ่านข่าวอ่านคราวรู้กันหมดอยู่แล้ว ยิ่งเรียนมากขึ้นไปเท่าไหร่ก็ยิ่งเหมาะสำหรับที่จะไปเป็นยิปปี้ แล้วโรคระบาดนี้กำลังจะเข้ามาในเมืองไทย ถ้าวิญญาณของครูมีไม่พอ ต้านทานไม่อยู่แล้ว ประเทศไทยก็จะเหมือนกับประเทศที่เต็มไปด้วยยิปปี้ ไม่ต้องสงสัย เพราะการยกสถานะทางวิญญาณมันไม่มี หรือ มีไม่พอ
ขอให้นึกถึงคำ ๆ นี้ว่าครูนี้มีความหมายอย่างไร มีความหมายสำคัญอยู่ที่ว่ายกสถานะทางวิญญาณให้สูงขึ้น นั้นคือ ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ และสิ่งที่เป็นอุปัทวะ(นาทีที่ ๓๕.๒๓) อันตราย อะไรต่าง ๆ ก็ไม่มี ถ้าสิ่งที่ยังเป็นอุปัทวะต่าง ๆ ยังมีอยู่ ก็หมายความว่า เรายังไม่มีธรรมะ ไม่มีภาวะของความเป็นครูที่สมบูรณ์นั้นเอง
นั้นคอยดูกันต่อไป การจัดการศึกษาของประเทศไทย หรือของโลกทั้งโลกนี้ จะเป็นไปในรูปไหน เราคงไม่ตายเสียเร็วเกินไป อีกยี่สิบ สามสิบปีใกล้ ๆ นี้จะรู้ว่าคนในโลกนี้จะมีวิญญาณสูงขึ้นหรือไม่ หรือว่ามีวิญญาณตกต่ำลงไป ถึงระดับเป็นภูติผีปีศาจ เพราะบูชาความสุขทางเนื้อ ทางหนัง ทางกามารมณ์นั่นเอง แล้วก็เพิ่มอำนาจของเครื่องจักร แล้วก็วิชาทางเทคโนโลยีที่ให้คนจมอยู่ใต้วัตถุ อยู่ใต้ ๆ ความสุขทางเนื้อหนังนี้ยิ่ง อย่างยิ่งอย่างเร็ว แล้วโลกจะเป็นอย่างไร พวกเราที่เป็นครูนี้คอยดูกันต่อไปในระยะยี่สิบ สามสิบปีนี้เอง ยังไม่ทันตาย
ตรงนี้อยากจะพูดว่าเรามีความรับผิดชอบร่วมกัน อาตมาก็เป็นครู เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านเป็นครูและเป็นบรมครู ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าทุกคนต้องเป็นครู มีหน้าที่ยกวิญญาณของสัตว์ในโลกให้สูงขึ้น อาตมาก็ครู ท่านทั้งหลายก็เป็นครู อย่างนั้นก็ควรจะพูดอะไรกันตรง ๆ ได้ ตรงไปตรงมาได้ คือว่า เราคอยดูกันในระยะไม่นานนัก โลกนี้จะเป็นอย่างไร วิญญาณของคนในโลกจะเป็นอย่างไร นี้คือผลของครูทั้งหลายในโลกกำลังทำหน้าที่ของตนในการยกสถานะทางวิญญาณของคนในโลก
เท่าที่กล่าวมานี้ทุกคนก็พอจะสรุปความหมายได้เองแล้วว่า ครูนั้นคืออะไร ตามสปิริต ตามเจตนารมย์ของคำ ๆ นี้นั้นคืออะไร แล้วเราเป็นกันมากน้อยเท่าไร หรือเป็นแต่พิธีรีตอง แล้วก็เอาความรู้ที่กำลังพูดเกี่ยวกับคำว่า “ครู” นี้ จะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ ก็ขอเอาไปวินิจฉัยเอาเองโดยอิสระ
นี้เราพูดถึงคำว่า “ครู” คืออะไรแล้วก็จะพูดโดยหัวข้อที่สองต่อไปว่า อันเนื่องจากอะไร มันเนื่องมาจากอะไร ไอ้สิ่งที่เรียกว่าครูหรือคนที่เรียกว่าครูนี้จึงเกิดขึ้นในโลก ด้วยเหตุอะไรจึงเกิดครูขึ้นมาในโลก เป็นความต้องการของใคร การที่ต้องเกิดบุคคลประเภทครูขึ้นมาจนเป็นสถาบันอันหนึ่งในหมู่มนุษย์ของโลกนี้ มันตอบได้ง่ายนิดเดียวก็เพราะว่า ไอ้หน้าที่อันนี้มันพิเศษ ชาวไร่ชาวนาทำไม่ได้ ผู้ที่จะสามารถยกวิญญาณของคนให้สูงขึ้นนั้นนะ มันเป็นหน้าที่พิเศษ ต้องอบรม ต้องศึกษากันโดยเฉพาะ ชาวไร่ชาวนามันทำไม่ได้ นั้นจึงต้อง มันบีบบังคับอยู่โดยในตัวมันเอง ให้เกิดสถาบันครูขึ้นมา เพื่อรับภาระอันนี้ รับหน้าที่อันนี้ คือหน้าที่อันสูงสุด หน้าที่อันน่าภาคภูมิใจนี้
พูดได้ว่าเพราะว่าเหลือวิสัยที่ทุกคนจะเป็นครูได้ นั้นจึงต้องมีบุคคลประเภทหนึ่งซึ่งศึกษาอบรมฝึกฝนกันมาเพื่อจะเป็นครู เป็นความต้องการของใคร เป็นความต้องการของคน หรือว่าเป็นความต้องการของพระเจ้า หรือเป็นความต้องการของธรรมชาติ ถ้าพูดอย่างหลักธรรมดาสามัญ หรือพูดตามวิธีการวิทยาศาสตร์ มันก็ความต้องการของสังคมนั้นแหละ สังคมที่ค่อยพัฒนาการขึ้นมาเป็นพัน ๆ ปีไปเรื่อย ๆ มา มันมีความคิด ความนึก มองเห็นว่าจะต้องมีบุลคลกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่อันนี้ เป็นความต้องการของคนหรือของสังคม
แต่ถ้ามองไปให้ลึกลงไปอีก ก็มันกลายเป็นว่า ความต้องการของธรรมชาติ มันบีบบังคับให้คนรู้สึกอย่างนี้ บีบบังคับให้คนทุกคนในสังคารู้สึกอย่างนี้ นั้นขอให้มองให้ลึกว่า มันเป็นความต้องการของธรรมชาติ ทีนี้เรามองข้ามธรรมชาติ เหยียบย่ำธรรมชาติ เหยียดหยามธรรมชาติ ไม่มองดูในฐานะเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดที่จะต้องเคารพ
เคารพหมายความว่าเอาใจใส่ และ เชื่อฟัง เราพอใจแต่ฟัง ฝืนกฎธรรมชาติ แล้วก็ต้องได้รับผลตอบแทนคือความยุ่งยากและความทุกข์ ตรงนี้ฟังยาก อาจจะเข้าใจต่างกัน ก็มันลึกกว่าที่จะมองเห็นกันได้ง่าย ๆ เมื่ออาตมาพูดว่า เราทำฝืนกฎธรรมชาติ เราจึงเป็นทุกข์
แต่คนหนึ่งอาจจะพูดว่า ทำไปตามธรรมชาติก็เหมือนกับสัตว์เดรัจฉาน นั้นมันคนละระดับ เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ยังเป็นทุกข์น้อยกว่าคน ไปมองดูให้ดี คนนี้ตีตนออกห่างธรรมชาติ เป็นความเจริญทางวัตถุ ทางเนื้อหนัง ทาง มากขึ้น นับตั้งแต่มีบ้านมีเรือนอยู่ ไม่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน แล้วทำนั้นทำนี้ขึ้นมามากมายเดี๋ยวนี้ จนกระทั่งในเวลานี้ ในบ้านหลังหนึ่งจะต้องมีอะไรบ้าง นี้คือทิ้งธรรมชาติ สละธรรมชาติ อย่างนี้เรียกว่าผิดกฎธรรมชาติ หรือว่าเกินความจำเป็นที่ธรรมชาติต้องการ ธรรมชาติไม่ต้องการอะไรมากอย่างนี้ ธรรมชาติไม่ได้ต้องการให้เรากินน้ำแข็ง ธรรมชาติไม่ได้ต้องการให้เรามีโทรทัศน์ หรืออะไรเหล่านี้
นี้เราก็ฝืนธรรมชาติ ไกลออกมา ไกลออกมา เราจึงได้รับปัญหายุ่งยาก คือมีความต้องการมาก จนสนองความต้องการไม่พอ เราจึงต้องรบราฆ่าฟันกัน นี้ไปมองดูก็แล้วกัน ไอ้ที่มันคอยจี้รถจักรยานยนต์อยู่ข้างถนนเอาไปยิงตายเอารถไปนี้ มันก็เพราะเหตุอันนี้ ที่มันรบกันทั้งโลกระหว่างคอมมูนิสต์กับประชาธิปไตย มันก็เพราะเหตุอันนี้ คือมันมีความต้องการเกินกว่าธรรมชาติ เกินกว่าความเป็นธรรม หรือเกินกว่าความถูกต้อง
นี้ยิ่งไกลธรรมชาติออกไป มนุษย์ยิ่งประสบปัญหาความยุ่งยากมากขึ้น มีความทุกข์มากขึ้น ยิ่งเจริญอย่างทางสมัยใหม่ อย่างที่พวกฝรั่งเขาเป็นกันเท่าไรแล้วก็จะยิ่งมีปัญหากันมากขึ้น จะมีความยุ่งยากมากขึ้นตามความเจริญ เพราะความเจริญแปลว่ารกรุงรัง รกรุงรังก็ด้วยปัญหา ปัญหาก็คือความทุกข์
เราดูจนตลอดชีวิตอายุพวกเราที่นั่งอยู่นี้ว่าฝรั่งจะแก้ปัญหาของโลกนี้ได้อย่างไร ฝรั่งที่เจริญด้วยการศึกษา วิชาความรู้ที่เรากำลังจะไปหลงบูชาเขานั้นแหละ ว่าเขาจะแก้ปัญหาของโลกนี้ได้อย่างไร ไอ้ใจความสำคัญมันอยู่ที่ว่า พวกนี้มันหนีธรรมชาติไปไกล ไม่เชื่อฟังธรรมชาติ ไม่เอาตามเท่าที่ธรรมชาติต้องการให้เอา ให้มี ให้เป็น ให้ยึดครอง ให้หยิบมาใช้ คือพอสมควร
พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องนี้ว่ากินอยู่พอดี คือ พอเหมาะตามธรรมชาติแล้วความทุกข์จะไม่เกิดขึ้น ทีนี่เราแปลว่า กินดีอยู่ดี กินดีอยู่ดี ขยายออกไปเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด มันไม่ได้กินอยู่พอดีซะแล้ว มันต้องมีความทุกข์ มันต้องมีปัญหาเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็คือเงินเดือนไม่พอใช้ จะขึ้นเงินเดือนอีกกี่ครั้งกี่หนเท่าไร มันก็ยังไม่พอใช้อยู่นั่นเอง เพราะขยายความกินดีอยู่ดีขึ้นไปเรื่อย
นี่เราจะมองให้เห็นว่าไอ้ธรรมชาตินั่นแหละ คือ สิ่งที่มีอำนาจเหนือสิ่งใดหมด ถ้าเราเป็นนักวิทยาศาสตร์ เราเรียกธรรมชาติ แต่ถ้าเราเป็นนักศาสนา เราเรียกว่าพระเจ้าหรือพระธรรม เมื่อพูดถึงธรรมชาติ เราก็พูดในวิชาความรู้ธรรมดา ในฐานะเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ถึงอย่างนั้นก็อย่ามองกันกันแคบ ๆ นะ เมื่อพูดถึงธรรมชาติจะต้องมองถึงสี่อย่างด้วยกัน คือ
หนึ่ง ตัวธรรมชาติแท้ ๆ เป็นนอมิดาร์( นาทีที่ ๔๕.๐๓) ทั้งหลาย ปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เรียกว่า ตัวธรรมชาติ
แล้ว สอง ก็คือ กฎของธรรมชาติ มันคนละอันกับตัวธรรมชาตินะ เดอะโลออฟดิเนเจอร์นี่แล้วก็เดอะลอร์ออฟเนเจอร์
อันที่สาม คือ หน้าที่ที่สัตว์มีชีวิตทั้งหลายจะต้องทำให้ถูกกฎของธรรมชาติ ดิวตี้ หน้าที่ อิน(นาทีที่ ๔๕.๓๒) ถูกต้องตามกฎธรรมชาติ
แล้วอันสุดท้าย คือ ผลของมัน ผลที่จะเกิดจากหน้าที่อันนั้น
ธรรมชาติอย่างหนึ่ง กฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง หน้าที่ตามกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง แล้วผลที่จะเกิดขึ้นจากหน้าที่ตามกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง นี่คือธรรมชาติ แล้วมันมีอำนาจมากน้อยเท่าไรไปคิดดู เพียงแต่คำว่า “กฎธรรมชาติ” คำเดียวเท่านั้นแหละ มันก็คือสิ่งสูงสุดที่ไม่มีใครต่อต้านได้ และนั่นแหละคือ เขาเรียกกันว่าพระเจ้า หรือ พวกเราเรียกว่าพระธรรม พระธรรมไม่มีอะไรมากไปกว่ากฎของธรรมชาติ
พระพุทธเจ้าท่านสอนกฎของธรรมชาติเรื่องความทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ วิธีให้ถึงความดับทุกข์ หรือพระธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ไม่หลีกหนีไปจากกฎของธรรมชาติ แล้วเราก็เรียกว่าพระธรรม นี่พวกที่ไม่เรียกว่าพระธรรม ก็เรียกว่าพระเจ้า หรือจะเรียกอย่างอื่น ๆ อีกก็ตามใจเขา แต่เมื่อไม่ถือศาสนา ไม่พูดตามหลักศาสนา ก็เรียกว่า ธรรมชาติอันสูงสุดครอบงำสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอยู่
นี่เรายิ่งไม่รู้จักธรรมชาติในทางที่ถูกต้อง ไปรู้ในทางที่ผิดแต่เข้าใจว่าถูกต้อง คือความเจริญอย่างสมัยปัจจุบัน ไม่มีใครพอใจจะสันโดษอยู่ในเรือนเล็ก ๆ กระท่อมน้อย ๆ อยากอยู่ปราสาท อยากอยู่ตึก อยู่วิมาน อยู่ปราสาท ไม่มีใครจะพอใจที่จะเป็นอยู่เท่าที่จำเป็น แต่พอใจที่จะมีกิน มีใช้ มีเล่น มีเกินความจำเป็น อย่างนี้ก็เรียกว่า มันไม่เชื่อฟังพระเจ้า คือธรรมชาติ ปัญหาก็ต้องเกิดขึ้น
ที่มาพูดนี้ มุ่งหมายแต่เพียงว่า ให้รู้ว่า มันเป็นความต้องการของธรรมชาติ ทั้งที่ธรรมชาตินั้นไม่ได้เป็นคน แต่มันยิ่งกว่าคน ธรรมชาตินี้ไม่ได้เป็นคน เป็นอะไรก็ไม่รู้ เป็นยิ่งกว่าพระเจ้า เป็นอะไร ไม่มีใครรู้ หรือพระธรรม นี้เป็นอะไรก็ไม่มีใครรู้ เป็นผีก็ไม่ใช่ เป็นคนก็ไม่ใช่ แต่เป็นพระธรรม เป็นพระเจ้า ตัวธรรมชาติก็เหมือนกัน มันจึงมีอำนาจชนิดที่มนุษย์ต่อต้านไม่ได้ มนุษย์ทำผิดอะไร มันก็ตบหน้าให้เท่านั้น แล้วมันยังหลอกให้มนุษย์ทำผิดมาก ๆ ขึ้น เราจึงไปไกลในทางผิด โลกจึงมีแต่ความทุกข์มากขึ้น
จะเชื่อไม่เชื่อ กรุณากลับไปคิดดูใหม่ว่าโลกกำลังจะมีความทุกข์มากขึ้น เพราะว่าเหยียดหยามธรรมชาติ ไม่ ๆ ๆ เชื่อฟังกฎธรรมชาติ ไปแก้ไข หรือไปอะไรตามกิเลสตัณหาของตัว นี่อยากจะพูดว่าธรรมชาติที่ไม่รู้อะไรนี้ มันต้องการให้มนุษย์เป็นอย่างนี้ ๆ ธรรมชาตินี่ต้องการครู ธรรมชาติต้องการให้ครูมีอยู่ในโลก เพื่อคุ้มครองโลก ต้องการให้ครูทำหน้าที่ของครูอย่างถูกต้อง คือ ยกวิญญาณของมนุษย์ให้สูงแล้วโลกเราก็จะมีแต่ความสงบสุข
นี่ถ้าเราไม่แยแสกับธรรมชาติ ไม่เคารพกฎธรรมชาติ ไปทำอะไรตามชอบใจเรา เป็นครูไม่ตรงตามที่ธรรมชาติต้องการ นั้นปัญหาก็ต้องเกิดขึ้น โลกนี้ร้อนเป็นไฟ เพราะใคร ๆ ก็ต้องยอมรับว่าเด็กทุกคนในโลก ถูกนำไปโดยครู เพราะว่าครูมีหน้าที่นำเด็กไป นี้ครูในโลกทุกคนนำเด็กไปทางไหน ไปในทางที่จะให้มีความสงบสุข หรือว่ายุ่งมากขึ้น ถ้าไม่เอื้อเฟื้อแก่กฎของธรรมชาติ ไม่เห็นแก่บูชาความสุขทางเนื้อหนังแล้ว มันก็ต้องไปในทางยุ่งมากขึ้นเป็นทุกข์มากขึ้นเหมือนพวกฝรั่ง ซึ่งไปก่อนเรา ไปสู่ความยุ่งและความทุกข์ก่อนหน้าเราแล้วเรากำลังจะตามก้นเขาไป ถ้าไม่ระวังให้ดี อยากจะบอกว่า ธรรมชาติ หรือพระธรรม หรือพระเจ้านั่นนะ ต้องการความเป็นครูที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์แก่ความสุขสวัสดีของมนุษย์ทุกคนในโลก
เราอย่าคิดว่ารัฐบาลต้องการเราหรือใครต้องการเรา พระเจ้าต้องการเรา พระธรรมต้องการเรา คือพูดภาษาวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติอันไม่รู้ เข้าใจได้ยากนั้นต้องการเรา ถ้าครูไม่มีในโลก โลกนี้ก็ฉิบหาย หรือว่าถ้าครูเป็นครูไม่จริง โลกนี้ก็ฉิบหายเหมือนกัน
นั่นถ้าจะพูดกันแล้ว ความต้องการของสังคม ก็คือ ธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือพระเจ้า พระเจ้าก็คือพระธรรม ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกัน ต้องการให้คนเป็นไปแต่ในทางสุขสวัสดี แต่ต้องทำอย่างนี้ ๆ ๆ ถ้าไปทำ ฝืนกฎธรรมชาติแล้วจะไปสู่ความทุกข์ ความยุ่งยากลำบากมากขึ้น เราจะต้องมีอะไรที่จะต้องทำมากขึ้นกว่าแต่ก่อน งานในหน้าที่จะมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่แล้วก็ไม่เป็นไปเพื่อความสงบสุขหรือสันติภาพ เป็นไปเพื่อซับซ้อนยุ่งยาก ซับซ้อนในทางที่จะให้เราเบียดเบียนซึ่งกันและกันมากขึ้น
นี่คำตอบของคำถามที่ว่าครูมาจากไหน มาจากความต้องการของอะไร ที่มาบันดาลให้ครูเกิดขึ้นในโลก คือ ความต้องการของพระเจ้า หรือของพระธรรม หรือของธรรมชาติ หรือความต้องการของสังคมที่เกิดขึ้นตามกฎธรรมชาติ
นี่ก็เห็นได้ในข้อต่อไปที่ถ้าจะถามว่า เพื่อประโยชน์อะไรครู ก็เพื่อจะให้คนในโลกนี้มีความสุข นี่ตอบกำปั้นทุบดิน ไม่มีความคิด มีครูอยู่ในโลกเพื่อประโยชน์อะไร เพื่อประโยชน์ให้คนทุกคนมีความสุข ให้แต่ละคนมีความสุข เรียกว่ามีความสุขในทางใจ มีสันติ มีสันติในจิตใจ แล้วก็มีสันติภาพในโลก คือ ทางสังคมก็มีความสุข ก็แปลว่ามีความสุขทั้งทางกายและทางใจ และให้มนุษย์มีประสิทธิภาพในการที่จะสร้างความสุข
การมีครู หรือสถาบันของครูอยู่ในโลกนี้ เพื่อให้มนุษย์มีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของตน คือในการสร้างความสุขส่วนบุคคล และสร้างสันติภาพของโลกในส่วนรวมเพื่อประโยชน์อย่างนี้ จะรับผิดชอบหรือไม่รับผิดชอบ ไม่เป็นปัญหาอะไร พระเจ้าหรือพระธรรม ย่อมศักดิ์สิทธิ์มากพอที่จะลงโทษคนที่ไม่รับผิดชอบ และให้รางวัลกับคนที่รับผิดชอบ ที่ตั้งใจจะทำหน้าที่ให้ถูกต้องและสมบูรณ์
รวมความแล้วก็ว่าความมีครูอยู่ในโลกนี้ก็เพื่อให้มนุษย์ มีประสิทธิภาพในการที่จะสร้างสันติสุขส่วนตัวและส่วนสังคมทางโลก
แล้วทีนี้ก็อยากจะพูดเป็นข้อที่สี่ว่า จะทำได้โดยวิธีใด คือครูนี้ จะเป็นครูได้โดยวิธีใดให้ถูกต้องตามความต้องการของธรรมชาติ อาตมาก็ตอบกำปั้นทุบดินว่า ขอให้รักษาอุดมคติของครู คือ ทำให้ตรงตามอุดมคติของครู (ครูบริสุทธิ์) ทำให้ถูกให้ตรงให้สมบูรณ์ ตามอุดมคติของครู แล้วก็บริสุทธิ์ในวงเล็บ เพราะว่าเรายังมีครูที่ไม่บริสุทธิ์ จนเราอาจจะมองเห็นกันได้ทุกคนว่า ครูประเภทลูกจ้างก็มี ครูประเภทเรือจ้างก็มี แล้วก็ครูประเภทครูจริง ๆ บริสุทธิ์ก็มี
ครูประเภทลูกจ้างนั้นนะ คือครูจำเป็น ไม่มีปัญญาหากินอย่างอื่น ต้องมารับจ้างเป็นครู นี้เรียกว่าครูลูกจ้าง
นี้ครูเรือจ้างหมายความว่ามีปัญญา แต่เดินไปในทางอื่นได้ด้วยกำลังแข้งของตัว ต้องมาแฝงความเป็นครู เป็นสะพาน เป็นครูไปพราง เรียนกฎหมายไปพราง แล้วก็ไปเป็นอื่น ๆ ที่มันไม่ใช่ครู โดยอาศัยครูนี้เป็นเรือจ้าง ซึ่งก็มีอยู่มาก เป็นครูเท่าที่ความจำเป็นบังคับ แล้วก็เรียนกฎหมาย แล้วก็ไปเป็นผู้พิพากษา ไปเป็นอะไรก็ตามแต่ นี้อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นครูอย่างเรือจ้าง
นี้ส่วนครูแท้ ๆ ไม่เป็นอย่างนี้ ทำหน้าที่ยกวิญญาณของมนุษย์ หรือของเด็ก ๆ นี้ให้สูง ประพฤติ ก้มหน้าก้มตาแต่จะทำหน้าที่นี้ ไม่คำนึงถึงประโยชน์เป็นเงินเดือนหรือเป็นอะไร นี้ตรงกับครู คำว่า ความหมายของคำว่า “ครู” แต่ดังเดิมโบราณกาลหลายพันปีมาแล้ว เขาไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ที่จะตอบแทน จะคำนึงแต่หน้าที่ที่จะยกวิญญาณของสัตว์ในโลกให้สูงขึ้นไป แล้วยังถือว่าเอาบุญให้ฟรี เมื่อครูมีข้าวกินโดยทางอื่นแล้วก็มีสอนฟรีให้
พระพุทธเจ้าก็เป็นครูแล้วก็สอนฟรี คำว่า “สอนฟรี” นี้จริง ๆ แล้วก็ไม่ค่อยถูกเท่าไรนักหรอก เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านมีอาหารฉันก็เพราะความเป็นครูของท่าน หรือว่าภิกษุที่สืบอายุพระศาสนามากระทั้งเดี๋ยวนี้มีอาหารฉันก็เพราะทำหน้าที่ครูเหมือนกัน อยู่เฉย ๆ ก็ไม่มีใครเอาข้าวมาให้กิน แต่เนื่องจากว่าเขาทำไว้แต่ก่อนนู้นดีจนเป็นสถาบัน นี้เป็นพระก็เลยมีข้าวกิน จะทำงานหรือไม่ทำงานก็ตามใจ จะเป็นครูหรือไม่เป็นครูก็ตามใจ เป็นพระเราก็มีข้าวกิน แต่ถ้าเป็นสถาบันอย่างนี้
แต่ว่าเนื้อแท้นั้นมันมาจากการที่ทำประโยชน์ คือ ช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้มีความรอดในทางวิญญาณ คำว่า “ความรอดในทางวิญญาณ” เป็นศาสนา เป็นภาษาแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นภาษาทางศาสนา ภาษาพุทธ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอะไรก็ตามก็มีความหมายอยู่ที่ความรอดในทางวิญญาณ อย่างพุทธศาสนา ก็เรียกว่า วิมุตติ หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ นี้คือรอดในทางวิญญาณ สอนวิชานี้ ทำหน้าที่นี้ แล้วมันก็มีข้าวกิน ก็เพราะเหตุว่า ไอ้สิ่งที่เราสอนให้ไป ไอ้ที่เราให้ไป มันมีค่ามาก มันสูงมาก ส่วนไอ้ข้าวปลาอาหารจาน ๆ นี้ มันไม่กี่สตางค์ แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระเจ้าให้ไปนี้มันมาก นี้เลยเรียกเป็นโวหารอย่างใหม่ขึ้นมาว่า
ท่านบริโภคอย่างเจ้าหนี้ คือท่านให้ไปมาก เหลือเฟือล้นล้าฟ้าเขียวกันเลย แต่ที่รับมาฉันบิณฑบาตรเช้า ๆ วันหนึ่ง มันไม่กี่สตางค์ เรียกว่า ท่านบริโภคอย่างเจ้าหนี้ เพราะว่าสัตว์โลกเป็นหนี้บุญคุณของท่าน แต่รวมความแล้วก็ต้องทำงาน นี้เราเป็นครูสมัยนี้สอนหนังสือ ก็อย่าได้ถือว่ามันเป็นลูกจ้างหรือว่าเป็นอะไร ถือว่าเหมือนกับของใส่บาตรที่ประชาชน หรือสังคมเขาได้ใส่บาตรให้ครูได้เลี้ยงชีวิตรอดอยู่ได้ คิดอย่างนี้ดีกว่า
ถ้าเราคิดว่า ถ้าคิดเป็นอย่างอื่นแล้วก็ กลายเป็นลูกจ้าง เป็นเรือจ้างไปทันที เป็นครูประเภทลูกจ้าง ประเภทเรือจ้างทันที แต่ถ้าในใจปัก แน้วแน่อยู่ที่ว่าเราทำหน้าที่ของเราในการยกวิญญาณของเด็ก อย่างนี้แล้วเงินเดือนก็กลายเป็นของบูชาเหมือนกับของใส่บาตร ในลักษณะที่เป็นการบูชา อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าให้ทาน ให้ทานนั้นผู้รับมันเลวกว่า ผู้รับมันด้อยความสามารถกว่า อย่างคนขอทานก็เรียกว่า ให้ทาน แต่ถ้าเอาของไปถวายพระพุทธเจ้านั้น มันก็กลายเป็นของบูชา เพราะว่าพระพุทธเจ้ามีหนี้บุญคุณอยู่เหนือบุคคลให้ทาน นี้ครูนี้ก็เหมือนกัน ถ้าหน้าที่ของครูบริสุทธิ์และสมบูรณ์แล้ว นั้นก็กลายเป็นเจ้าหนี้ นั้นเงินเดือนก็กลายเป็นขี้บุญ คือบูชาอยู่แทบฝ่าเท้าไม่ได้อยู่บนหัวเรา แต่ถ้าเราไปหลงเงินเดือน มันก็ไปอยู่บนหัวเรา เราก็กลายเป็นลูกจ้าง
นี่ก็หมายความว่า ครูประเภทลูกจ้าง ประเภทเรือจ้าง ประเภทอุดมคติเป็นอย่างนี้ นี่เราจะทำหน้าที่นี้ได้ก็ด้วยการบูชาอุดมคติ รักษาอุดมคติ ยิ่งมีเงินเดือนน้อยเรายิ่งเป็นครูมากขึ้น ขอให้ฟังดูให้ดีเถอะ ยิ่งได้เงินเดือนน้อยนั้นแหละจะยิ่งเป็นครูที่สมบูรณ์และบริสุทธิ์มากขึ้น เอาแหละพูดตรง ๆ ว่ายิ่งไม่เป็นราชการ จะยิ่งเป็นครูมากขึ้น ถ้าเข้าเป็นราชการหรือไม่ได้เป็น ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ยิ่งไม่เป็นราชการ ยิ่งเป็นครูมากขึ้น ยิ่งเป็นราชการก็ยิ่งเป็นอย่างอื่นไปมากขึ้น แล้วยิ่งลำบากมากนั่นแหละ ยิ่งเป็นครูมากขึ้น หรือเป็นครูที่มีอุดมคติมากขึ้น นั่นขึ้นชื่อว่า ครู แล้วต้องลำบาก เพราะมันเป็นงานของปูชนียบุคคล
เขาว่า ครูบาอาจารย์มีพระคุณอยู่เหนือเกล้าเหนือเศียร เป็นปูชนียบุคคล ไม่ใช่ลูกจ้าง นี้ครูไปทำผิดเสียเอง จนไปกลายเป็นลูกจ้าง นั้นขอให้ละลายอุดมคติเดิม ๆ หรือว่าอย่างน้อยก็ให้รู้ว่าครูนี้เป็นปูชนียบุคคล ไม่ใช่ลูกจ้าง ตอนรุ่นอาตมาเป็นเด็ก ๆ แล้วถูกสอนให้ครูเป็นปูชนียบุคคลมากที่สุด แล้วรุ่นต่อมานี้มันจางลง จางลง จนเด็ก ๆ สมัยนี้ไม่เห็นครูเป็นปูชนียบุคคล เด็ก ๆ สมัยนี้เห็นครูเป็นลูกจ้าง ผลของอะไรก็ลองคิดดูก็แล้วกัน แต่อยากจะโทษว่าเพราะครูนี้สอนไม่ดี เด็ก ๆ จึงไม่เห็นครูเป็นปูชนียบุคคล ถ้าครูสอนให้ดี ทำตัวให้ดี อะไรให้ดี เด็ก ๆ จะเห็นครูเป็นปูชนียบุคคล ปัญหามันก็จะหมด แต่นี้ปัญหาที่จะเผาประเทศให้ไหม้เป็นไฟไปก็คือว่า เด็ก ๆ ไม่นับถือว่าครูเป็นปูชนียบุคคล ไม่เคารพครู สิ่งต่าง ๆ เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ไม่เคารพครูอย่างเดียว ปัญหาต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นมาก และเป็นแก้ไม่ได้ ฉะนั้นเด็ก ๆ จะไปเป็นอะไร ชนิดที่สร้างความยุ่งยากลำบากแก่สังคมมากขึ้น นั้นขอให้รักษาอุดมคติของคำว่า “ครู” ชนิดที่เป็นครูที่บริสุทธิ์ไว้
ทำได้อย่างไร ก็ทำได้ด้วยการเอาธรรมะเข้ามา พูดสมัยใหม่ก็ว่า ประยุกต์ ธรรมะนี้ให้มันเข้ากับครู ให้ครูมีธรรมะ ครูก็กลายเป็นธรรมบุตร เหมือนกับชื่อของค่ายนี้ว่า ค่ายธรรมบุตร ธรรมบุตรแปลว่าบุตรแห่งธรรม หรือ ลูกแห่งธรรม ผู้ใดเอาธรรมะมาประยุกต์เข้ากับชีวิตของตนมีอยู่ที่กาย วาจา ใจแล้ว คนนั้นก็กลายเป็นธรรมบุตร เป็นบุตรของพระธรรม เป็นบุตรของพระเจ้า หรือเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าไปในที่สุด เราเองต้องทำตัวให้เป็นธรรมบุตรเสียก่อน เราจึงจะสามารถทำเด็ก ๆ ให้เป็นธรรมบุตรได้ นี้เราทำตัวให้เป็นธรรมบุตรโดยถูกต้องเสียก่อน แล้วเราก็จะสามารถทำให้เด็ก ๆ กลายเป็นธรรมบุตรได้ ถ้าเราว่าเป็นธรรมาบุตรไม่ได้ ก็ไม่มีหวังในข้อนี้ที่จะไปให้เด็กเป็นธรรมบุตรได้ ในเมื่อเราเป็นไม่ได้ ลองไปคิดดูถึงความหมายของคำว่า “ธรรมบุตร” ลูกของพระธรรม เป็นลูกของพระธรรม เป็นบุตรของพระธรรม เพราะบูชาพระธรรมยิ่งกว่าสิ่งใด มอบชีวิตจิตใจทั้งหมดทั้งสิ้นให้แก่พระธรรมได้ ดังนั้นจึงมีธรรมะอยู่ที่เนื้อ ที่ตัว ที่กาย ที่วาจา ที่ใจของเรา แม้เราจะไม่รู้มันก็เป็นผู้มีธรรม และเป็นธรรมบุตรอยู่ในตัว
นี้ไหน ๆ ก็มาอยู่ที่นี้ มานั่งอยู่ที่นี้ ซึ่งเรียกว่า ค่ายธรรมบุตรแล้ว อาตมาขอร้องขอวิงวอน ขอร้องว่าอย่าให้เสียทีเหล่าที่ได้มานั่งนอน ในค่ายธรรมบุตรนี้ ขอให้มีความเป็นธรรมบุตรนี้ติดตัวไปด้วย แล้วก็จะสามารถทำเด็ก ๆ ให้เป็นธรรมบุตร สืบ ๆ ๆ ต่อกันไปไม่รู้ขาดสาย ทั้งหมดนี้สำเร็จได้ด้วยการยอมเสียสละ ถ้าไม่มีการเสียสละแล้วไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะครูเป็นปูชนียบุคคล มีเดิมพันอยู่ที่การเสียสละ ไม่มีการเสียสละแล้วไม่มีการเป็นครู เพราะว่าครูเป็นปูชนียบุคคล มีพระเดชพระคุณท่วมทับอยู่เหนือเศียรเหนือเกล้าของคนทั้งหลาย เพราะเหตุเพียงอย่างเดียวคือว่าเสียสละ
การยอมเสียสละทุกอย่างทุกประการเพื่อหน้าที่ของเรา นั่นอุดมคติของครูก็คืออุดมคติของโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์คงจะเคยได้ยินกันมั้ง คำว่า “โพธิสัตว์” หรือ “พระโพธิสัตว์” อย่าได้เข้าใจเป็นอย่างอื่นสำหรับคำว่า “พระโพธิสัตว์” สำหรับพระโพธิสัตว์นั้นมีสปิริต หรือวิญญาณอยู่ตรงที่ว่า ผู้เสียสละ ผู้บูชาความเสียสละ เขาจึงเรียกว่า พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าก็เป็นโพธิสัตว์ก่อน เพราะตลอดเวลานั้นก็คือเสียสละทุกอย่างทุกประการ ทุกอย่างทุกประการ จึงเป็นพระพุทธเจ้าในที่สุด หรือพระโพธิสัตว์องค์ไหนก็ตาม จะมีชื่อว่าเป็นโพธิสัตว์ได้ก็มีวิญญาณเป็นการเสียสละเท่านั้น คือ ไม่มี ไม่ใช่ ๆ ๆ จุดมุ่งหมายอันใหญ่ จุดมุ่งหมายอันใหญ่ก็คือการเสียสละ ส่วนสติปัญญา ความเมตตา ความกรุณานั่นก็มา มาเป็นของแวดล้อม เป็นของประกอบ ถ้าเราลงเสียสละได้แล้ว เราก็แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ในเมื่ออุดมคติของครูก็คืออุดมคติของโพธิสัตว์ ดังนั้นมันก็หลีกการเสียสละไปไม่พ้น นั้นขอให้ชอบให้พอใจในการเสียสละ เสียสละเพื่อมนุษย์ ไม่ใช่เสียสละเพื่อเรา ถ้าเสียสละเพื่อเรา ไม่ใช่การเสียสละ
อันนี้ขออภัยที่ต้องขอย้ำหรือขอเตือนทั้งที่เข้าใจว่าคงจะทราบกันอยู่แล้วว่ากลัวจะเผลอ ถ้าเสียสละเพื่อประโยชน์แก่เราแล้วมันไม่ใช่การเสียสละ การเสียสละต้องเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นต้องไม่ใช่เรา นี้เราเหน็ดเหนื่อยไปอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเพื่อเราจะได้ขึ้นเงินเดือนหรือเพื่ออะไรนี้ อย่างนี้ไม่ใช่การเสียสละ ถ้าการเสียสละก็คือว่า ให้แก่ผู้อื่น คือทำลายความเห็นแก่ตัวออกไปได้แหละนี่คือ สิ่งที่เรียกว่า เป็นการเสียสละ ทีนี้จะพูดเพียงแค่นี้
ท่านทั้งหลายทุกคนก็จะมองเห็นเป็นวงกว้างออกไปว่า ปัญหายุ่งยากของประเทศไทยเรา หรือของโลก ความลำบากของประชาชน มันก็อยู่ที่ความไม่มีเสียสละ พูดแล้วเดี๋ยวจะเป็นการเมือง ไม่ต้องพูดมากนั่นมันอยู่ที่ไม่มีใครยอมเสียสละ มีแต่จะกอบโกย ทีแรกหากพวกครูเกิดเป็นพวกกอบโกยขึ้นมาแล้วก็หมดเลย หมด ๆ โลกนี้ไม่มีที่พึ่ง เพราะว่าครูเป็นผู้ปั้นวิญญาณของอนุชนเด็ก ๆ ให้เติบโตขึ้นมาตามลำดับ เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ เหล่านี้กลายไปเป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งไปเป็นประธานาธิบดีมันก็แย่ นั่นเราจะต้องปั้นวิญญาณของเด็ก ๆ ให้เป็นเด็ก แล้วโลกนี้ก็จะรอดได้ แล้วเราต้องเสียสละ ขึ้นเงินเดือน ยศฐาบรรดาศักดิ์อะไรนั้นมันเป็นเครื่องประดับ อุดมคติแท้ ๆ มันอยู่ที่การเสียสละเพื่อได้ยกวิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย ให้สูงขึ้นให้จงได้เท่านั้นเอง
นี้สรุปความกันเสียทีว่าเป็นครู ครูนี้คืออะไร ครูนี้คือผู้ยกวิญญาณ หรือผู้นำทางวิญญาณของสัตว์โลก เนื่องจากอะไร เนื่องจากธรรมชาติอันเล้นลับหรือพระเจ้าหรือว่าพระธรรมต้องการให้มีบุคคลชนิดนี้มีอยู่ในโลก เพื่อประโยชน์อะไร เพื่อประสิทธิภาพของมนุษย์ในการเป็นมนุษย์ที่ดี แล้วเพื่อจะได้มีสันติสุขโดยส่วนตัวและส่วนรวม แล้วก็จะสำเร็จได้โดยวิธีใด ก็สำเร็จได้โดยการเสียสละ เพื่อทำตนให้เป็นครูอุดมคติ โดยการมีธรรมะ ประยุกต์ธรรมะเข้าความเป็นครู นี้เป็นลอจิกง่าย ๆ ว่าคืออะไร จากอะไร เพื่ออะไรโดยวิธีใดในสี่หัวข้อ คืออะไร คือผู้ยกวิญญาณของโลก เนื่องจากอะไร เนื่องจากธรรมชาติต้องการ เพื่อประโยชน์อะไร เพื่อมนุษย์จะมีประสิทธิภาพในการสร้างสันติสุข โดยวิธีใด ก็โดยเป็นครูที่ถูกต้องแท้จริงตามอุดมคติของคำว่าครู มีธรรมะ ประยุกต์ธรรมะเข้ากับความเป็นครู เราก็เป็นธรรมบุตร นี้ใจความสั้น ๆ มีเท่านี้ จะน่าฟังหรือจะไม่น่าฟังก็สุดแท้แต่อาตมามีความรู้สึกสัตย์จริงว่าทั้งหมดนี้จะมีประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายเป็นแน่นอน จึงได้เอามาพูด ส่วนที่จะเพราะหรือไม่เพราะ จะน่าฟังหรือไม่น่าฟัง นั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง ช่วยไม่ได้ แต่อาตมานึกแล้วนึกอีกว่า นับแต่ได้รับคำขอร้องให้มาพูดที่นี้ ก็นึกว่าจะพูดเรื่องอะไรดีนี้ก็นึกได้แต่อย่างนี้ นึกได้แต่ข้อความดังที่ได้พูดไปแล้วว่า นี้จะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นครูเหมือนกับอาตมา อาตมาก็เป็นครูเหมือนท่านทั้งหลายก็เป็นครู ก็มาพูดกันตรงไปตรงมาในลักษณะอย่างนี้ เรียกว่า วิญญาณของความเป็นครูมีอยู่อย่างนี้ นี้ขออธิษฐานให้ครูทุกคนประสบความสำเร็จในหน้าที่ของตน ประสบความสุขทุกทิวาราตรีกาลเทอญ