แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ก่อนอื่นทั้งหมด ขอแสดงความยินดีในการที่ท่านทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้ ในลักษณะอย่างนี้ คือมาแสวงหาความรู้ทางธรรมะ การที่เราเลือกเอาเวลาอย่างนี้มาสนทนากันนี้ มันมีเหตุผล ท่านทั้งหลายก็พอสังเกตเห็นได้เองว่า ดอกไม้ในป่าทั้งหลายก็เริ่มบานเวลาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้เวลาอย่างนี้ สำหรับพวกเราเวลาอย่างนี้ก็น้ำชามันยังไม่เต็มถ้วย มันไม่ล้นถ้วย พอจะเติมลงไปได้อีก สำหรับเรื่องที่จะพูดกันในวันนี้ก็คือเรื่องธรรมะ ธรรมะที่ต้องรู้จัก
สงสัยอยู่ว่า คำว่า ฮวบ ในภาษาจีนนั้น จะมีความหมายครบอย่างนี้หรือไม่ อาตมาไม่รู้ ขอให้ทำความเข้าใจกันต่อไปถึงคำว่าธรรมชาติ นี่คือทุกสิ่งที่มีอยู่เอง มีอยู่เองตามธรรมชาติ เป็นธาตุ,ธา-ตุ เป็นธาตุตามธรรมชาติ อยู่ได้เองก็มี ต้องอาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่งก็มี เรียกว่าอสังขตะและสังขตะ นี้เป็นธรรมชาติ แล้วในธรรมชาตินั้นๆ ก็มีกฎเกณฑ์หรือสัจจะหรือกฎเกณฑ์ เมื่อธรรมชาติมีกฎเกณฑ์เด็ดขาด สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายก็มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ ครั้นทำหน้าที่แล้วก็มีผล ผลเกิดมาจากหน้าที่นั้น ตรงตามความประสงค์บ้าง ไม่ตรงบ้าง แล้วแต่ว่าเขาจะทำหน้าที่ผิดหรือถูกอย่างไร ธรรมชาติทั้งหมดทุกสิ่งทุกอย่างทั้งอสังขตะและสังขตะนี้เรารวมเรียกว่าสภาวธรรม นี้เป็นธรรมะที่หนึ่ง คำคำนี้แปลว่ามีอยู่เองหรือเป็นอยู่เอง มีอยู่เองหรือว่าเป็นอยู่เอง เรียกว่าสภาวธรรม เราจะต้องศึกษาเรื่องธาตุ ธาตุต่างๆ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ทุกๆ ธาตุ ที่มันมีอยู่ นี่จึงจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรม
ทีนี้ก็มาถึงสัจธรรม คือกฎเกณฑ์ที่ควบคุมสิ่งต่างๆ อยู่ ไม่ยกเว้นอะไร กล่าวได้ว่ามันควบคุมอยู่ทุกๆ ปรมาณู ทุกปรมาณูของทุกสิ่งในจักรวาลนี้ กฎเหล่านี้ที่สำคัญที่สุดหรือที่เป็นที่รวบรวมแห่งกฎทั้งหลาย ก็คือกฎที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องยืดยาวละเอียดซึ่งเราจะต้องพูดกันด้วยเรื่องนั้นโดยเฉพาะต่างหาก
ทีนี้ก็มาถึงหน้าที่ เรียกว่าปฏิปัตติธรรม สิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดทุกอย่างมันต้องมีหน้าที่ ต้องทำหน้าที่ ถ้าไม่ทำหน้าที่มันจะต้องตายหรือมีความทุกข์เกือบตาย ท่านทั้งหลายก็พอจะมองเห็นได้ว่า คนมนุษย์นี้ก็ต้องทำหน้าที่ สัตว์เดรัจฉานก็ต้องทำหน้าที่ ต้นไม้นี้ก็ต้องทำหน้าที่ ไม่ทำหน้าที่ก็คือไม่มีชีวิต สำหรับหน้าที่เพียงแต่ให้ไม่ตายให้รอดชีวิตอยู่ได้นี้ มันก็รู้กันอยู่โดยทั่วๆ ไป จึงไม่เอามาพูดในเรื่องของธรรมะ ในเรื่องของธรรมะจึงพูดแต่หน้าที่ หน้าที่ที่จะช่วยไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา สิ่งที่จะต้องปฏิบัติเพื่อจะไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมานี้ สรุปรวมเรียกในพุทธศาสนาว่าสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน ๔ แต่ชื่อที่จะชัดเจนกว่านั้นที่พระพุทธเจ้าท่านใช้เรียกนั้น ท่านเรียกว่าอานาปานสติ ๔ มันเป็นคำพูดที่แทนกันได้ คือท่านตรัสว่า เมื่ออานาปานสติสมบูรณ์แล้ว สติปัฏฐานก็สมบูรณ์ด้วย มันแทนกันได้อย่างนี้ เรื่องอานาปานสติหรือสติปัฏฐานนี้ ก็เหมือนกัน เป็นเรื่องยืดยาว มีรายละเอียดเฉพาะซึ่งจะต้องพูดกันเฉพาะเรื่องนั้นเป็นเรื่องหนึ่งต่างหาก ในที่นี้ บอกให้ทราบแต่เพียงว่า การปฏิบัติที่สูงสุดก็คือปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ หรืออานาปานสตินั่นเอง
ทีนี้ก็ธรรมะที่ ๔ ก็คือผล ผลที่ได้รับจากการปฏิบัตินั้น เรียกว่าปฏิเวธ ปฏิเวธะหรือปฏิเวธ โดยรายละเอียดก็ได้แก่ มรรค ผล นิพพาน ซึ่งมีรายละเอียดควรจะเอาไว้พูดอีกเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะอีกเหมือนกัน ในคราวนี้เราพูดรวมกันทั้ง ๔ อย่างซึ่งจะต้องเข้าใจให้ดีเป็นพิเศษก่อน และที่สำคัญที่สุดก็คือจะต้องรู้หรือมองให้เห็นว่ามันมีอยู่ในตัวเราทั้ง ๔ อย่าง เนื้อหนัง ร่างกาย กระดูกที่เป็นร่างกายทั้งหมดนี้ เรียกว่าสภาวธรรม ทีนี้ก็ทุกๆ ส่วนของร่างกายนี้มันมีกฎ กฎเกณฑ์หรือกฎ กฎปฏิจจสมุปบาทโดยเฉพาะนั้นแหละควบคุมอยู่ ที่ไหนมีสภาวธรรม ที่นั้นก็มีสัจธรรมควบคุมกำกับอยู่ ทีนี้ทุกอย่างทุกส่วนในร่างกายก็ต้องทำหน้าที่ แขน ขา มือ ตีน ตับไตไส้พุงต้องทำหน้าที่ ทุกๆ ปรมาณูในร่างกายทำหน้าที่ ฉะนั้นปฏิปัตติธรรมหรือหน้าที่ก็มีอยู่ในร่างกายนี้ ทีนี้ธรรมะที่ ๔ คือผลของการปฏิบัติหรือปฏิเวธ เราก็ได้รู้สึกรับผลว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรือแล้วแต่เราจะทำหน้าที่ถูกหรือทำหน้าที่ผิด ฉะนั้นปฏิเวธหรือผลของการทำหน้าที่มันก็มีอยู่ในร่างกายนี้ ในร่างกายนี้จึงมีครบทั้ง ๔ ขอให้สังเกตดูให้ดี ไม่ต้องไปศึกษาที่ไหน ศึกษาในร่างกายในชีวิตนี้ จะเห็นธรรมะนี้ครบทั้ง ๔ อย่าง
โดยสรุปแล้ว เราก็จะพูดว่า มีสิ่งสูงสุดซึ่งเข้าใจได้ยากจนไม่รู้จะพูดกันอย่างไร มันมีอยู่สิ่งหนึ่ง เป็นสิ่งแรกที่ทำให้เกิดกฎ,กฎเกณฑ์ขึ้นมา เมื่อมีสิ่งที่ทำให้เกิดกฎ มันก็มีสิ่งที่เรียกว่ากฎ,ตัวกฎมา เมื่อมีกฎแล้ว ก็มีผู้รู้ รู้กฎ ศึกษารู้กฎและปฏิบัติตามกฎ นี่ขอให้ท่านมองให้ลึกอย่างนี้ ท่านก็จะเข้าใจหรือรู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ต้องขอยืมคำพูดฝ่ายมหายานนั้นมาพูดว่า พระพุทธเจ้าที่เป็นเหตุให้เกิดกฎ เป็นตัวเหตุให้เกิดกฎ เราเรียกว่าอาทิพุทธะ พระพุทธเจ้าองค์แรก และตัวกฎที่มีขึ้นมานั้นเราเรียกว่าอมิตายุพุทธะ อมิตาภพุทธะก็ได้ นั้นตัวกฎ อมิตะแปลว่าคำนวณไม่ได้ นับไม่ได้ วัดไม่ได้ ตวงไม่ได้ คำนวณไม่ได้ อายุคำนวณไม่ได้ แสงสว่างคำนวณไม่ได้ หมายความว่าธรรมะที่เป็นตัวกฎนั้น มันมีอายุที่คำนวณไม่ได้ มันเป็นนิรันดร และแสงสว่างที่ออกไปก็คำนวณไม่ได้ว่าถึงไหน มันเป็นอนันตะ ดูเหมือนได้รับคำบอกเล่าว่า สำนวนจีนออกเสียงเป็น นอมีทอฮุก,อมิตะนอมี,นอมีตะ มีอายุไม่จำกัด มีแสงสว่างไม่จำกัด พระพุทธเจ้าอมิตาภะ-อมิตายุนี้ออกมาจากฌานของพระพุทธเจ้าอมิตาภะ คำพูดเหล่านี้ไม่จำเป็นจะต้องถือเอาตามตัวหนังสือ แต่เพียงแสดงความจริงว่ามันมีเหตุให้เกิดกฎ แล้วมันก็มีตัวกฎขึ้นมา แล้วต่อมาก็มีมานุสีพุทธะ คือพระพุทธเจ้าอย่างมนุษย์อีกมากมายๆ เป็นผู้ค้นพบกฎนั้น รู้กฎนั้น แล้วนำมาบอกกล่าวสั่งสอน เช่น พระพุทธเจ้าศากยมุนีพุทธะนี้ เป็นผู้ค้นพบกฎนั้น แล้วก็นำมาสั่งสอน เราจึงได้รู้ธรรมะในฐานะที่เป็นกฎ
สรุปอีกทีหนึ่งว่า มีเหตุที่ทำให้เกิดกฎ แล้วก็มีตัวกฎ แล้วก็มีตัวผู้ค้นพบ แล้วนำมาสอนให้รู้จักกันทั่วไป เป็น ๓ ประเภทอยู่ ทั้งหมดนี้เรียกว่าธรรม คือเหตุให้เกิดกฎก็ดี ตัวกฎก็ดี ผู้ค้นพบกฎแล้วเปิดเผยก็ดี ทั้งหมดนี้รวมกันเรียกว่าธรรม,ธรรมะ ทำไมจะต้องพูดเรื่องนี้ เรื่องธรรมะในลักษณะอย่างนี้ ก็เพราะเป็นเรื่องสำคัญ,สำคัญที่สุด คือ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นจะเห็นฉัน,ผู้ใดเห็นฉัน ผู้นั้นต้องเห็นธรรมะ เห็นแต่ร่างกายของฉันนี้คือไม่ใช่เห็นฉัน ไม่ได้เห็นฉัน ต้องเห็นธรรมะจึงจะเห็นฉัน และก็มีตรัสชัดลงไปอีกว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรมะ,ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นฉัน มันก็เลยเกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นเป็น ๒ ชนิด ชนิดที่เป็นบุคคลนี้ชนิดหนึ่ง ชนิดที่เป็นธรรม,ธรรมะมิใช่บุคคล นี้อีกอย่าง เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นเป็น ๒ ชนิด ต่อเมื่อเห็นพระพุทธเจ้าที่เป็นธรรมะนั้น จึงจะเรียกว่าเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง เห็นแต่พระพุทธเจ้าที่เป็นบุคคลชื่อสิทธัตถะนี้ยังไม่ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง พระพุทธเจ้าพระองค์จริงก็คือตัวกฎ,ตัวกฎเกณฑ์ อมิตายุ-อมิตาภะนั้นพระพุทธเจ้าที่เป็นกฎ ทีนี้พระพุทธเจ้าที่เป็นมนุษย์ที่ชื่อสิทธัตถะศากยะนี้เป็นพระพุทธเจ้าที่เป็นบุคคล แต่ก็เป็นผู้พบกฎแล้วนำมาเปิดเผยสั่งสอนให้รู้กันทั่วไป จึงมีพระพุทธเจ้าเป็น ๒ ชั้น แล้วก็ทำงานเนื่องกัน
พระพุทธเจ้าที่เป็นธรรม,ธรรมะนั้นเป็นนิรันดร เป็นอายุไม่จำกัด เป็นนิรันดร ไม่ใช่ลูกมนุษย์ ไม่ใช่เกิดที่นั่น ไม่ใช่เกิดที่นี้ ไม่ใช่เกิดที่อินเดีย ไม่ใช่ลูกพระสุทโธทนะ ไม่ได้เป็นลูกหลานใคร แต่เป็นธรรมชาติที่เป็นธรรมะเป็นนิรันดร พระพุทธเจ้าองค์นี้ไม่ต้องประสูติ ไม่ต้องตรัสรู้ ไม่ต้องนิพพาน มีอยู่ตลอดนิรันดร ส่วนพระพุทธเจ้าที่เป็นบุคคลนั้น ต้องเป็นลูกคนนั้น เป็นหลานคนนี้ เกิดตรงนั้น เกิดที่นี้ แล้วต้องมีประสูติ มีตรัสรู้ มีปรินิพพาน เพราะว่าเป็นอย่างบุคคล พระพุทธเจ้าองค์ที่เป็นบุคคลนั้นมีประวัติให้เราเรียน มีอยู่ในประวัติศาสตร์ พวกฝรั่งก็รู้จักแต่พระพุทธเจ้าองค์บุคคลนี้ เพราะมีประวัติให้เรียน มีประวัติศาสตร์ให้เรียนและจัดไว้ในประวัติศาสตร์ ส่วนพระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่ง อมิตาภะ-อมิตายุนี้ไม่มีประวัติศาสตร์ ไม่มีประวัติ ไม่มีประวัติศาสตร์ ไม่ได้เอามาเรียน ฝรั่งจึงไม่มี ไม่รู้จัก ไม่สนใจ แต่พวกเราชาวพุทธ ควรจะรู้จักทั้ง ๒ องค์ แม้เพียงแต่จะเอามาเรียกชื่อ เรียกชื่อนอมีโทฮุก, นอมีโทฮุก ของพวกอาซิ้มก็ยังดี ยังดีกว่าที่จะไม่พูดถึงเสียเลย พระพุทธเจ้าพระองค์ที่มิใช่บุคคลนั่นแหละเรียกว่าธรรม,พระองค์ธรรม พระองค์นี้พระองค์บุคคล พระองค์นี้พระองค์ธรรม พระพุทธเจ้าองค์นี้ตรัสว่า ต่อเมื่อรู้จักธรรมจึงจะรู้จักฉัน ขอให้จำคำที่สำคัญที่สุดว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นฉัน,ผู้ใดเห็นฉัน ผู้นั้นเห็นธรรม พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนั้น คือไม่ถือว่าตัวบุคคลนี้เป็นพระพุทธเจ้า ถือว่าตัวธรรมะนั้นเป็นพระพุทธเจ้า โชคดีที่พวกเรามีพระพุทธเจ้าชื่ออมิตาภะ-อมิตายุให้ศึกษา เมื่อเราศึกษาแล้ว เรารู้จักแล้ว นั่นแหละคือตัวธรรมะ,พระพุทธเจ้าองค์ธรรมะ รู้จักพระพุทธเจ้าองค์นี้คือรู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ได้ความว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นฉัน, ผู้ใดเห็นฉัน ผู้นั้นเห็นธรรม เรารู้จักพระพุทธเจ้าทั้ง ๒ องค์
ขอให้ท่านทั้งหลายสนใจพระพุทธเจ้าพระองค์ธรรม,ธรรมะให้มากที่สุด เพราะเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง องค์นี้เป็นนิรันดร ไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ ไม่ต้องมีการประสูติอย่างคลอดออกมา ไม่มีการตรัสรู้และก็ไม่มีการนิพพานคือตายไม่มีๆ ไม่ต้องประสูติ ไม่ต้องตรัสรู้ ไม่ต้องนิพพาน พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ พระพุทธเจ้าองค์นี้คือกฎ,ตัวกฎ หรือโดยเฉพาะคือกฎอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาท ในฝ่ายมหายานดูจะรู้จักใช้คำพูดว่าปฏิจจสมุปบาท และดูจะไม่ค่อยใช้คำพูดว่าอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาทแปลว่าอาศัยกัน อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น ลองสังเกตดูเอง คัมภีร์ฝ่ายมหายานไม่ค่อยจะมีคำว่าอิทัปปัจจยตา แต่ฝ่ายเถรวาทเต็มไปหมดในคำว่าอิทัปปัจจยตา แต่ใช้คำว่าปฏิจจสมุปบาทร่วมกันหรือตรงกัน ปฏิจจสมุปบาทก็ดี อิทัปปัจจยตาก็ดี มันเป็นตัวกฎ กฎธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ,Natural Truth ความจริงหรือกฎของธรรมชาติ มันจึงไม่มีเกิดไม่มีตาย กฎธรรมชาติพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ไม่มีประสูติตรัสรู้นิพพาน มีอยู่อย่างนั้น แสดงแสงสว่างไม่มีขอบเขตจำกัดอยู่อย่างนั้น มีอายุไม่มีขอบเขตจำกัดอยู่อย่างนั้น นี่คือพระพุทธเจ้าองค์ที่เป็นกฎและเราจะต้องรู้จัก
ต้องนึกถึงคำว่าผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรมะไว้เสมอ ธรรมะคือกฎที่ว่านี้ ฉะนั้นจึงพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าท่านรู้จักพระพุทธเจ้าอมิตาภะ-อมิตายุแล้ว ท่านจะรู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์จริง รู้จักแต่พระพุทธเจ้าที่ชื่อศากยมุนีพุทธะนี้ไม่พอ เพราะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างบุคคล และพระพุทธเจ้าอย่างบุคคลนั้นท่านปฏิเสธเสียเองว่า ไม่เห็นธรรมะก็ไม่เห็นฉัน ไม่เห็นธรรมะก็ไม่เห็นฉัน หมายความว่าต้องเห็นธรรมะ กฎปฏิจจสมุปบาทนั้นโดยตรง เห็นกฎนั้นจึงจะเห็นฉัน จึงขอบอกกล่าวท่านทั้งหลายให้จำง่ายๆ ว่า อมิตาภพุทธะ-อมิตายุพุทธะนั้นคือตัวกฎ ต้องรู้จักตัวกฎนี้แล้วจึงจะรู้จักพระพุทธพระองค์จริง พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ศากยมุนีพุทธะท่านก็ปฏิเสธว่า ถ้าไม่เห็นธรรมะ ไม่เห็นฉัน ก็หมายความว่า ท่านต้องการจะให้เห็นธรรมะคือตัวกฎนั้นด้วยเสียก่อน
ฝ่ายมหายานมีโชคดีที่มีคำว่า อมิตาภพุทธะ-อมิตายุพุทธะใช้ ใช้แทนคำว่ากฎ เห็นพระพุทธเจ้าองค์นั้นแล้วก็จะเห็นพระพุทธเจ้าองค์จริงที่เป็นองค์จริงขององค์นี้ ดังนั้นขอให้สนใจพระพุทธเจ้าองค์ที่เป็นกฎนั้นแหละให้มากที่สุดเถิด แล้วจะรู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์จริง
อาตมาเคยคุยกับอาซิ้มคนหนึ่ง เขาพูดว่า เดี๋ยวนี้เขาได้ออกชื่อพระพุทธเจ้านอมีทอฮุกอมิตาภะนี้ ๘๐,๐๐๐ ครั้งแล้ว เขาแน่นอน แน่นอนว่าจะไปสุขาวดี พอเขาจะตายก็มีรถมาอยู่บนหลังคารอรับอยู่เพื่อพาไปสุขาวดี คำนี้เป็นภาษาคนธรรมดาพูด เราต้องตีความหมาย แปลความหมายให้เป็นภาษาธรรม ถ้าผู้ใดพูดถึงอมิตาภะ-อมิตายุตั้ง ๘๐,๐๐๐ ครั้ง เขาคงจะมองเห็นตัวจริงของสิ่งที่มีแสงสว่างไม่จำกัดอายุไม่จำกัดนั้นบ้างเป็นแน่ ก็คือเห็นพระพุทธเจ้าอมิตาภะ-อมิตายุนั่นเอง ถ้าเห็นพระพุทธเจ้าอมิตาภะ-อมิตายุ แล้วมันแน่ แน่ที่จะนิพพาน
แต่คำว่านิพพานนั้นมันเข้าใจยาก คนธรรมดาเข้าใจไม่ได้ เขาจึงใช้คำเรียกอีกคำให้คนเข้าใจได้ง่ายๆ ว่าสุขาวดี,สวรรค์สุขาวดี และออกชื่ออมิตาภะ ๘๐,๐๐๐ ครั้งแล้ว แน่,แน่ที่จะไปสุขาวดี นี้หมายความว่า ถ้าผู้ใดรู้จักอมิตาภะ-อมิตายุโดยแท้จริงแล้ว ผู้นั้นแน่นอนที่จะนิพพาน ตรงนี้ขอทำความเข้าใจแทรกหน่อยว่า นิพพานนี้เข้าใจกันผิดอยู่มาก เข้าใจว่าตายอย่างนิรันดร ตายนิรันดร ตายสิ้นสุดนิรันดรนั้นเป็นนิพพาน นี่ผิดมาก,ผิดมาก ใช้ไม่ได้เลย นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย แต่แปลว่าเย็น เย็นก็หมายความว่าดับไปแห่งความร้อน ถ้าสิ่งที่ร้อนมันดับไป มันก็มีความเย็นโดยที่ไม่ต้องตาย คนไม่ต้องตาย กลับสบายเสียอีก ไม่ตายแล้วกลับเป็นสุขสบายเสียอีก นิพพานแปลว่าเย็น
ควรจะมีคำภาษาจีนสักคำหนึ่ง ซึ่งตรงกับคำฝรั่งว่า Quench ถ้าคุณจะบอกฝรั่งว่า นิพพานคืออะไร คุณก็บอกว่า Quench คือดับลงแห่งความร้อน ภาษาในครัวคำว่านิพพาน แปลว่าไฟดับ ภาษาชาวบ้านพูดกันในครัวก็ว่านิพพาน ภาษาทั่วไปก็ทำของร้อนให้เย็น ทำของร้อนให้เย็น เช่นว่า ช่างทองหลอมทองละลายเคว้งเป็นทองร้อนจัด ทีนี้เขาต้องเอาน้ำรดให้ทองที่ร้อนนั้นมันเย็น การทำอย่างนี้ในภาษาบาลีเรียกว่าทำให้มันนิพพาน ภาษาพูดของช่างทองในโบราณอินเดียทำให้ทองที่เหลวเคว้งเย็นนี้เรียกว่าทำให้มันนิพพาน แปลว่าทำให้มันไม่ร้อน,ให้หมดร้อน,ให้ดับเย็น นอกจากนั้นยังใช้กว้างไกลออกไปถึงว่า ทำให้หมดอันตราย ทำให้ไม่มีอันตราย ตัวอย่างเช่น สัตว์ดุร้ายที่อยู่ในป่า ดุร้าย เป็นสัตว์ร้าย จับมาเลี้ยงทำให้ไม่มีอันตรายใช้ได้เหมือนกับช้างป่าจับมาฝึกกันดีแล้ว สัตว์ดุร้ายในป่าประเภทเสือก็จับมาทำให้มันเล่นละครได้ ทำให้มันหมดอันตราย ทำให้หมดความร้ายกาจ ให้สัตว์เดรัจฉานหมดอันตราย ก็เรียกว่าทำให้มันนิพพานด้วยเหมือนกัน อย่างนี้มีพูดในบาลี
ดังนั้นนิพพานจึงไม่ใช่ตาย แต่กลายเป็นไม่ตาย นิพพานคือไม่ตาย แล้วก็เย็น อยู่อย่างสงบเย็นนี้คือนิพพาน ถ้าตายจะมีประโยชน์อะไร ถ้านิพพานแปลว่าตายจะมีประโยชน์อะไร คุณคิดดู จะมีประโยชน์อะไร นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย แต่แปลว่าเย็น คือหมดความทุกข์ หมดปัญหา หมดความเดือดร้อนทุกๆ อย่างทุกๆ ประการ และก็ไม่ต้องตาย นี้เรียกว่านิพพาน มันไม่มีความทุกข์ไม่มีความร้อน จะไม่เป็นทุกข์จะไม่เป็นร้อน ต้องไม่ยึดถือเป็นบวกหรือเป็นลบ อย่างที่เหลาจื้อเขาสอนว่า อย่าให้มันเป็นยิน หรืออย่าให้มันเป็นหยาง ไม่เป็นอิม ไม่เป็นเอี๊ยง ไม่เป็นทั้งสองอย่าง นั่นแหละคือไม่เป็นบวกไม่เป็นลบ แล้วจะไม่มีกิเลส แล้วจะไม่มีความร้อน
ความหมายของคำว่าอิม-เอี๊ยงนั้น สูงถึงอย่างนี้ แต่คนไม่เข้าใจ และไม่ได้เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ถ้ามันไม่มีอิม ไม่มีเอี๊ยง ไม่มียิน ไม่มีหยาง แล้วมันก็นิพพานนั่นเอง คำว่าเหนือบวก เหนือลบ ไม่เป็นบวก ไม่เป็นลบ อยู่เหนือบวกอยู่เหนือลบ ไม่บาปไม่บุญ ไม่บุญไม่บาป นั่นก็คือนิพพาน ฉะนั้นสิ่งที่ไม่เป็นบวกไม่เป็นลบนี้มันไม่เกิดกิเลส ถ้ามันเป็นบวก มันก็เกิดกิเลสบวก กิเลสบวกคือโลภะราคะ นั่นกิเลสบวก ถ้ามันเป็นลบมันก็เกิดกิเลสลบคือโทสะหรือ โกธะนั้น ถ้ามันไม่รู้ว่าเป็นบวกหรือมันเป็นลบ แต่มันยังหลงใหลอยู่นั้นมันก็เป็นโมหะ กิเลสโง่คือโมหะ,กิเลสโมหะ โลภะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี ทั้ง ๓ อย่างนี้มันเกิดมาจากความโง่ในความเป็นบวกในความเป็นลบ เราอย่ามีความรู้สึกที่เป็นบวกและเป็นลบ กิเลสไม่เกิดเลย จะไม่เป็นบวกจะไม่เป็นลบ ก็เพราะเราเห็นชัดว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง เป็นอย่างนั้นเอง เท่านั้นเอง ไม่ควรจะเรียกว่าบวกหรือลบ ไม่เป็นบวกไม่เป็นลบนั้นในภาษาบาลีเรียกว่าตถาตา
คำนี้ก็มีในคัมภีร์ฝ่ายมหายาน,ตถาตา ดูเหมือนจะแปลเป็นภาษาจีนว่า ยู่สี หรืออะไรคล้ายๆ นั้นแหละ แต่มันเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง มันเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ มันเป็นเช่นนั้นเอง และมันเป็นบวกไม่ได้ มันเป็นลบไม่ได้ เห็นเช่นนั้นเอง เห็นเช่นนั้นเอง ทุกอย่างจะเห็นว่าเช่นนั้นเอง จะไม่ไปแยกว่าสวยหรือไม่สวย ดีหรือไม่ดี งามหรือไม่งาม หอมหรือเหม็น มันเช่นนั้นเอง สวยหรือไม่สวยมันก็เช่นนั้นเอง หอมหรือเหม็นก็เช่นนั้นเอง มันความเป็นเช่นนั้นเอง ทีนี้ไปโง่ ถ้าสิ่งใดถูกใจก็ว่าสวยหรือหอม ไม่ถูกใจก็ว่าไม่สวยหรือเหม็น นี้มันโง่ ให้มันเป็นสองอย่างขึ้นมา ตามธรรมชาติจะเป็นอย่างเดียวคือมันเป็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ตามเรื่องของมัน ถ้าไม่เห็นเช่นนั้นเอง มันจะมีแบ่งเป็นรักหรือเกลียด คือสิ่งใดถูกใจก็เช่นนั้นเอง ฝ่ายถูกใจมันก็รักเช่นนั้นเอง ฝ่ายไม่ถูกใจมันก็เกลียด มันก็มีรักและมีเกลียด มันเป็นคู่ตรงกันข้ามขึ้นมา แล้วก็ทำให้เป็นทุกข์
มันมีความลับที่สุดว่า เราจะเป็นสุขที่สุดก็ต่อเมื่อเราไม่มีรักและไม่มีเกลียด คือไม่มีคู่ตรงกันข้าม เราจะมีความสุขที่สุด มันจะเป็นนิพพานไม่มีทุกข์ก็ต่อเมื่อไม่รักและไม่เกลียด ต่อเมื่อไม่ดีใจและไม่เสียใจ ไม่ทั้งสองอย่าง ไม่ดีใจด้วย ไม่เสียใจด้วย อย่างนี้แหละคือความสุขที่เป็นนิพพาน หัวเราะก็เหนื่อย ร้องไห้ก็เหนื่อย ใช้ไม่ได้ทั้งสองอย่างไม่หัวเราะไม่ร้องไห้จึงใช้ได้ เมื่อดีใจมันก็เหนื่อยนะ ดีใจมากๆ ก็นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ลงนะ,ดีใจ เสียใจก็เหมือนกัน กินข้าวไม่ลง นอนไม่หลับ ไม่เอา,ไม่เอาทั้งสองอย่าง เมื่อนั้นจึงจะเป็นสุขาวดี เรียกว่าเทียนไท้หรือเรียกว่าอะไร (เรียกว่าเทียนถัง) นั่นแหละเมื่อนั้นจะเป็นสุขาวดี มันจะมีนางฟ้า มีกามารมณ์ มีกามารมณ์กันใหญ่โตแล้วเป็นสุขาวดี นั้นมันเรื่องบวก,บ้าบวก ไม่บวกและไม่ลบ ช่วยจำไว้ให้ดีเถิด พูดให้ลึกกว่านั้น ก็ไม่ดีและไม่ชั่ว ถ้าดีก็รัก ถ้าชั่วก็ไม่รัก มันก็ยุ่งทั้งสองอย่าง ต้องเหนือดีเหนือชั่ว ขึ้นไปเหนือดีและเหนือชั่ว จึงจะถูก ไม่ใช่อยู่ตรงกลาง ไม่ใช่อยู่ตรงกลางนะ ตรงกลาง เดี๋ยวมาข้างนี้,เดี๋ยวมาข้างนี้ ใช้ไม่ได้ ไม่แน่นอน ต้องอยู่เหนือ,เหนือดีเหนือชั่ว ไม่ใช่อยู่ระหว่างดีระหว่างชั่ว เรื่องดีก็ยุ่งลำบากไปตามเรื่องดี เรื่องชั่วก็ยุ่งลำบากไปตามเรื่องชั่ว ต้องเหนือดีเหนือชั่ว แล้วก็มีนิพพาน เหนือดีเหนือชั่วนั่นแหละเป็นอมิตายุ เป็นอมิตาภะ อายุไม่จำกัด แสงสว่างไม่จำกัด ต่อเมื่อจิตอยู่เหนือดีเหนือชั่ว ขอให้สนใจอมิตายุ-อมิตาภะให้มากเถิด อย่าเพียงแต่ออกชื่อ ออกชื่อนั้นมันยังไม่พอ มันต้องเข้าใจว่าคืออะไร
สรุปว่าพระพุทธเจ้า,พระพุทธะนั้นมี ๒ ชนิด คือเป็นอย่างบุคคล คือศากยมุนีพุทธะ แล้วก็อย่างธรรมะไม่ใช่บุคคล คืออมิตายุ-อมิตาภะ เห็นอมิตายุ-อมิตาภะจึงจะชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้าศากยมุนีอย่างแท้จริงที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ต้องจำให้แน่นมั่นคงว่า เห็นธรรมคือเห็นพุทธะ ต้องเห็นธรรมจึงจะเห็นพุทธะตัวจริง เห็นธรรมก็คือเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นว่าความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร และความทุกข์จะดับลงไปอย่างไร เราจึงสามารถไม่ให้ความทุกข์เกิด ไม่ให้ความทุกข์เกิด ไม่มีทุกข์ตลอดไป นั่นแหละคือเห็นธรรม เห็นวิธีที่จะทำความทุกข์ให้ไม่เกิด ทำให้ความทุกข์ไม่เกิดได้ เห็นวิธีนั้นแล้วก็เรียกว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นพระพุทธเจ้า ผู้นั้นเห็นธรรม เป็นสิ่งเดียวกัน
ทีนี้ก็จะถามว่าเห็นที่ไหน พระพุทธเจ้า,พระพุทธะนั้นอยู่ที่ไหน จะเห็นที่ไหน ในโรงสอนธรรมะของเรานั้นมีรูปภาพเป็นคำตอบเรื่องนี้ว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคนทุกคนของท่านทั้งหลาย พระพุทธเจ้านั่งอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของท่านทั้งหลาย ท่านต้องไปหาพระพุทธเจ้าที่นั่น เลิกม่านเสีย ท่านจะพบพระพุทธเจ้า นี้เรียกว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของทุกคน ความโง่เรียกว่าอวิชชา อวิชชาแปลว่าไม่รู้สิ่งที่ควรรู้ ความโง่คืออวิชชา เป็นม่านบังไม่ให้เห็นสิ่งที่ควรจะเห็น พระพุทธเจ้านั่งอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของท่านทั้งหลาย พระพุทธเจ้านั่งอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของทุกคน จงไปหาพระพุทธเจ้าที่หลังม่านแห่งความโง่ของตนเอง ไม่ต้องไปหาที่วัด ไม่ต้องไปหาที่สวนโมกข์ ไม่ต้องไปหาที่อินเดีย ไม่ต้องไปหาที่ไหนหมด ไปหาที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ พบม่านนั้นแล้ว ทำลายเสีย เอาไฟเผาเสีย หรือยกขึ้นเสียก็ได้ จะพบว่าพระพุทธเจ้านั่งอยู่ที่ตรงนั้น ม่านแห่งความโง่จะพูดให้ชัดที่สุดก็คือว่าไปหลงบวกหลงลบอย่างที่กล่าวมาแล้ว หลงดีหลงชั่ว หลงบวกหลงลบ หลงบุญหลงบาป ไปหลงที่เป็นคู่ๆ นั่นแหละคือม่านแห่งความโง่ พวกยิวก่อนคริสเตียนนั้น คัมภีร์คริสเตียนที่ก่อนเก่าๆ ที่ยิวเขาว่า ไม่หลง Good and Evil,ไม่หลงดีไม่หลงชั่ว เหล่าจื๊อก็พูดว่า ไม่หลงอิม ไม่หลงเอี๊ยง ความหลงนั้นคือม่าน,ม่าน,ม่าน ทำลายม่านเสีย จะพบพระพุทธเจ้า
ฉะนั้นขอให้จำไว้เป็นเครื่องช่วยคิดง่ายๆ ว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคนทุกคน ไม่ว่าใครคนไหนใครก็ตาม รีบหาม่านแห่งความโง่ของตนให้พบ รีบหาม่านแห่งความโง่ของตนให้พบว่ามันอยู่ตรงไหน แล้วทำลายม่านนั้นเสีย จะพบพระพุทธเจ้า จะพบพระพุทธเจ้าองค์จริงที่เรียกว่าอมิตายุ-อมิตาภะ ไม่ต้องท่องออกชื่อ ๘๐,๐๐๐ ครั้งอย่างอาซิ้มก็ได้ เห็นอมิตาภะ เห็นอมิตายุ คือเห็นธรรมะนิรันดร,ธรรมะนิรันดร ไม่มีเกิดไม่มีดับและใช้ดับทุกข์ได้ เห็นพระพุทธเจ้าองค์จริงนี้แล้วก็คือเห็นพระพุทธเจ้าทั่วๆ ไปอย่างที่เราๆ เรียกกัน พระพุทธเจ้าองค์นี้ที่ว่า ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ก็ต้องเห็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ไม่ประสูติ ไม่ตรัสรู้ ไม่ปรินิพพานเสียก่อนแล้วจึงจะเห็นพระพุทธเจ้าองค์นี้ที่เป็นองค์จริง,องค์จริง,องค์จริง แล้วก็จะเห็นธรรมะ ธรรมะคือพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ก็เลยเห็นทั้งพุทธะและเห็นทั้งธรรมะ แล้วก็ในที่สุดจะเห็นสังฆะคือผู้ที่รู้ตามพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามจนดับทุกข์ได้ นี้คือสังฆะ เราก็มีพระพุทธะ พระธรรมะ พระสังฆะ ครบทั้งสามอย่าง และที่แท้จริง ที่เป็นที่พึ่งได้ แท้จริงๆ เป็นที่พึ่งได้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่เข้าใจผิดไม่ใช่ตัวจริงนั้นช่วยไม่ได้ รีบทำให้เป็นตัวจริงพระองค์จริงชนิดที่ดับทุกข์ได้ ท่านจงศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทให้เข้าใจแจ่มแจ้ง นั่นแหละคือกฎหรือธรรมะที่เรียกว่าอมิตายุ-อมิตาภะ แล้วท่านจงปฏิบัติอานาปานสติให้สำเร็จ แล้วท่านก็จะปฏิบัติปฏิจจสมุปบาทได้สำเร็จ คือปฏิบัติอานาปานสติได้สำเร็จแล้วก็จะปฏิบัติปฏิจจสมุปบาทได้สำเร็จ ก็ดับทุกข์ได้ไม่มีเหลือ เรื่องก็จบ
หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้พยายามเข้าใจหรือทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ,ธรรมะอันลึกซึ้งนี้ให้จนได้ ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือการทำหน้าที่ให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือการได้รับผลจากการปฏิบัติหน้าที่ มีความหมาย ๔ ความหมายอย่างสำคัญอย่างนี้ มันทำให้แปลเป็นภาษาอื่นไม่ได้ ต้องใช้คำว่าธรรมะไปตามเดิม ฝรั่งพยายามแปลคำว่าธรรมะในความหมายนั้นความหมายนี้เป็น ๓๒ คำแล้วก็ยังไม่หมด เลยยอมแพ้ เราใช้คำว่าธรรมะไปตามภาษาเดิมภาษาอินเดียเถิด ง่าย,ง่ายดี สงสัยคำว่าฮวบ ฮวบในภาษาจีนนั้นจะรวมความหมายทั้งหมดนี้ไว้ได้หรือไม่
ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจธรรมะทั้ง ๔ ความหมายนี้ ทั้ง ๔ ความหมายนี้มีอยู่ในตัวเรา ตัวเรานี้คนเดียวนี้มีถึง ๔ ความหมาย รู้ธรรมะทั้ง ๔ ความหมายนี้แล้วจะดับทุกข์ได้ จะไม่มีปัญหาใดๆ เหลืออยู่ให้เป็นความทุกข์ เราพูดเป็นใจความสั้นๆ ให้พวกฝรั่งฟัง แล้วเขาก็ชอบว่าโดยพูดว่า ถ้ามีธรรมะแล้ว ชีวิตนี้จะไม่กัดเจ้าของ มีธรรมะแล้ว ชีวิตนี้จะไม่กัดเจ้าของ ถ้าไม่มีธรรมะแล้ว,ไม่มีธรรมะแล้ว ชีวิตนี้มันจะกัดเจ้าของ ชีวิตนั้นเองมันจะกัดชีวิตนั้นเอง ชีวิตมันจะกัดเจ้าของ เพราะไม่มีธรรมะ มันเลวกว่าหมา เพราะหมามันยังไม่กัดเจ้าของ ลองไม่มีธรรมะสิ ชีวิตนี้จะกัดเจ้าของให้ทนทุกข์เรื่อยไป นี่คือข้อที่ว่า รู้ธรรมะมีประโยชน์มีอานิสงส์สูงสุดอย่างนี้ คือทำให้มีนิพพาน มีนิพพานไม่ตาย แต่มีความสุขสงบเย็น นี้คือประโยชน์ของความรู้เรื่องธรรมะและปฏิบัติธรรมะ
ขอขอบคุณท่านทั้งหลายเป็นผู้ฟังที่ดี อดทนฟังมาตั้งชั่วโมงครึ่งแล้ว ขอให้เอาธรรมะไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ให้ได้เต็มที่ตามความหมายของคำว่าธรรมะ เราเติมธรรมะลงไปได้ในชีวิต ถ้าชีวิตมีธรรมะน้อย เราเติมธรรมะลงไปได้ให้มันมีมาก สิ่งใดที่ไม่ควรจะมีก็เอาออกเสีย สิ่งใดยังไม่ถูกต้องก็แก้ไข,แก้ไข แก้ไขให้มันถูกต้อง แล้วเราก็จะมีธรรมะ ไม่มีความทุกข์เลย ขอให้เราทุกคนได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ขอบพระคุณในการเป็นผู้ฟังที่ดี และขอยุติการบรรยาย