แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เราจะได้พูดกันถึงเรื่องปฏิจจสมุปบาท มันเป็นเรื่องสำคัญในฐานะเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เรื่องก็เนื่องมาจากที่เราพูดเมื่อวานนี้ที่ว่าเรื่องสิ่งที่ทำให้มีกฎ แล้วก็มีกฎขึ้นมา แล้วก็มีผู้เปิดเผยซึ่งกฎให้รู้ทั่วกัน แล้วก็ทำให้มีผู้ปฏิบัติตามกฎ มันสำคัญที่ว่ามันเป็นธรรมชาติที่ลึกซึ้งหรือละเอียดหรือประณีตจนรู้จักไม่ได้ เด็กๆ ก็เข้าใจไม่ได้จนเราต้องบอกเขาเป็นชื่อเรียกอีกอย่างอื่นไป อย่างในประเทศอินเดียเขาต้องบอกว่าเป็นเพราะพระเจ้า เช่น พระอิศวร พระนารายณ์เป็นต้นบันดาลให้เป็นไป เด็กๆ ในเมืองจีนก็ได้รับการบอกเล่าว่า อะไรๆ มันก็ล้วนแต่เป็นไปตามความต้องการของเง็กเซียนฮ่องเต้อย่างนี้เป็นต้น เด็กๆ ก็ได้รับความรู้หรือความเชื่อถือมาอย่างนั้น มันก็ระวังหรือว่ากลัวเหมือนกันแหละที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามความต้องการของพระเจ้า ก็นับว่ามีประโยชน์อยู่ แต่เดี๋ยวนี้มันมาถึงยุคของสติปัญญา พระพุทธเจ้าได้เกิดขึ้น ท่านก็ได้เปิดเผยเรื่องนี้ตามที่เป็นจริงว่า มันมีสิ่งที่ทำให้เกิดกฎ และกฎจะต้องเป็นไปตามกฎเรียกว่าเป็นเรื่องธรรมะของธรรมชาติ ในพระบาลีมีชัดที่เป็นพระพุทธภาษิตว่า ความสุขหรือความทุกข์ก็ตาม ไม่ได้เกิดมาจากผลของกรรมเก่าๆ กรรมแต่ก่อน และก็ไม่ได้เกิดจากการบันดาลของพระเป็นเจ้า มันหมายความว่า ในอินเดียเวลานั้นเขาสอนกันอยู่ในส่วนที่ว่าความสุขหรือความทุกข์ที่เราได้รับอยู่เวลานี้มันเป็นผลของกรรมเก่า ขอให้รู้ไว้ว่า เรื่องผลของกรรมเก่า รับผลของกรรมเก่านั้นเขาสอนอยู่แล้วก่อนพระพุทธเจ้า เรื่องนี้สำคัญมาก พุทธบริษัทยังเชื่อว่าสุขทุกข์มาจากผลของกรรมเก่าแม้แต่ประเทศไทยนี้ก็เหมือนกัน แม้ในพุทธบริษัทจีนก็ยังมีเชื่ออย่างนั้นกระมัง เหลืออยู่กระมัง และอีกทางหนึ่งก็ไม่ใช่เป็นการบันดาลของพระเจ้า พระเป็นเจ้า พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหมอะไรก็ตาม ไม่ใช่การบันดาลของพระเจ้า แต่ว่ามันมาจากการปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูกต่อกฎของปฏิจจสมุปบาท คนที่เขาเชื่ออย่างนั้น เขาก็ว่าโอ้,แล้วแต่กรรม แล้วแต่กรรม เราไม่มีทางแก้ไข แล้วแต่กรรม ก็ทนรับทุกข์ไป ถ้าเขาเชื่ออย่างนั้นเขาก็ไม่แก้ไขอะไร ก็ว่าแล้วแต่กรรม แล้วแต่กรรม จะเป็นไป หรือที่พูดติดปากกันอยู่ทั่วไปว่า แล้วแต่พรหมลิขิต,แล้วแต่พรหมลิขิต นี้คือมันแล้วแต่พระเป็นเจ้า แล้วแต่เง็กเซียนฮ่องเต้จะให้เป็นไป
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า แม้กรรมเก่าจะมี แต่เราปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของปฏิจจสมุปบาทแล้ว มันยกเลิกไป มันทำอะไรไม่ได้ ปฏิบัติให้มันถูกต้องตามกฎของปฏิจจสมุปบาท กรรมเก่าทำอะไรไม่ได้ แม้จะมีพระเจ้าพระเป็นเจ้าสูงสุดคอยบันดาล แต่เราก็สามารถปฏิบัติตามกฎของปฏิจจสมุปบาทไม่ให้ต้องเป็นทุกข์ได้ นี้คือประโยชน์สูงสุดของเรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็คือเราไม่ต้องฝากไว้กับกรรมเก่า เราไม่ต้องฝากไว้กับความต้องการเมตตากรุณาอะไรของพระเป็นเจ้า แต่เราทำได้เอง เราทำได้เองที่นี่ จะดับทุกข์หรือจะทำให้ความสุขเกิดขึ้น กฎปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นกฎของธรรมชาติ แต่ถ้าเราพูดว่าธรรมชาติๆ เด็กเล็กเกินไปยังฟังไม่รู้ แต่เราก็ต้องการให้เขาถือหลักเป็นกฎของธรรมชาติ คือให้เขายอมรับว่า มีสิ่งที่ทำให้เกิดกฎ แล้วก็มีตัวกฎของธรรมชาติที่เป็นกฎ แล้วมีผู้รู้กฎ แล้วเอากฎนี้มาประกาศมาสั่งสอน แล้วก็มีผู้ปฏิบัติตามกฎได้รับประโยชน์ แต่แล้วก็น่าหัวเราะ น่าหัวเราะที่เราต้องยืมคำชื่อพระเจ้าหรือชื่อเหมือนกับพระเจ้ามาใช้อยู่อีกนั่นแหละ แต่มันก็จำเป็นที่ต้องยืมคำคล้ายๆ กับชื่อของพระเจ้ามาใช้อีก เช่น เรายืมคำในมหายานมาใช้ว่า สิ่งที่ทำให้เกิดกฎ เรียกว่าอาทิพุทธะ สิ่งที่ทำให้เกิดกฎ,ธรรมชาติที่ทำให้เกิดกฎ เรียกว่าอาทิพุทธะ แล้วก็ยืมชื่อพระธยานีพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าที่เกิดจากฌาน เช่น อมิตาภะ-อมิตายุเป็นต้น ว่านี้เป็นตัวกฎ นี้เป็นตัวกฎ อมิตาภพุทธะ-อมิตายุพุทธะนี้เป็นตัวกฎนิรันดร แล้วก็มีพระพุทธเจ้าศากยมุนีพุทธะนี้เป็นผู้ค้นพบกฎรู้กฎแล้วนำมาเปิดเผยสั่งสอนให้คนทั่วไปรู้ ก็มีผู้ได้รับ ได้ฟัง ได้เข้าใจแล้วก็ผู้ปฏิบัติตามกฎจนได้รับผลตามที่ต้องการก็คือพระสงฆ์ทั้งหลาย เราจะมาเรียกกันว่าพระรัตนตรัยชั้นลึกก็ได้ พระรัตนตรัยชั้นลึกที่จะเข้าใจได้แต่ผู้ที่มีสติปัญญา ในชั้นตื้นๆ เรามีพระรัตนตรัยที่บอกเด็กๆ นั้นแหละ มีพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้และรู้กฎ แล้วก็มาสอนก็คือพระธรรม เอากฎมาสอนคือพระธรรม แล้วก็มีพระสงฆ์คือผู้ปฏิบัติ นี่เรียกว่ามี ๓ อย่าง อย่างนี้
ทีนี้ถ้าเด็กๆ เขาถามว่า พระธรรม กฎ ตัวกฎ กฎพระธรรมมาจากไหน ใครทำขึ้นมา เราก็ต้องบอกเขาอีกทีหนึ่งว่า มีสิ่งที่ให้เกิดกฎ มีธรรมชาติเบื้องต้น ธรรมชาติดั้งเดิม ธรรมชาติแท้จริง เรียกว่าอาทิพุทธะนี้ ทำให้เกิดกฎหรือทำให้เกิดธรรมะขึ้นมา เลยต้องแยกพระพุทธเจ้าเป็นสองพวก คือพระพุทธเจ้าที่มิใช่คนนั้นเป็นพระเจ้านิรันดรประจำตลอดกาล เป็นนิรันดร มิใช่คนนี้เป็นผู้ให้เกิดกฎ แล้วก็มีพระพุทธเจ้าอย่างบุคคลนี้เป็นผู้รู้แล้วเปิดเผยกฎ พระพุทธเจ้าได้ความหมายเป็นสองความหมาย คือให้เกิดกฎ นี่มิใช่คน แล้วสอนเรื่องกฎนี้คือคน,พระพุทธเจ้าอย่างคน ทีนี้พระธรรม พระธรรมก็คือตัวกฎ ตัวกฎนั่นแหละคือตัวพระธรรม พระสงฆ์ก็คือผู้ได้ยินได้ฟังแล้วปฏิบัติตามกฎแล้วก็ได้รับผล สิ่งสำคัญที่สุดก็คือตัวกฎ แล้วก็มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎ แต่มันยากและลำบากที่จะบอกลูกเด็กๆ ให้เข้าใจอย่างนั้นได้ จนเราต้องสอนลูกเด็กๆ ว่า ให้พึ่งพระพุทธเจ้า,ให้พึ่งพระพุทธเจ้า เด็กๆ เขาก็สนใจพึ่งพระพุทธเจ้า,พึ่งพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้ากลับสอนว่าให้พึ่งพระธรรม ให้พึ่งพระธรรมคือพึ่งกฎ นี่ความต่างมีอยู่อย่างนี้ ถ้ายังไม่มีความรู้อะไร ก็พึ่งผู้อื่น ถ้ามีความรู้พอแล้วก็พึ่งตัวเอง คือการกระทำตามกฎด้วยตนเอง ประพฤติกระทำให้ถูกต้องตามกฎด้วยตนเอง นี้เรียกว่าตนเอง พระพุทธเจ้าท่านสอนให้พึ่งตัวเอง แต่เรามันดื้อพระพุทธเจ้า ไปพึ่งผู้อื่น
ในเมืองไทยนี้ก็ดี แม้ในเมืองจีนก็ดี ก็เชื่อว่าปัญหาคงจะเหมือนกัน ถ้าใครจะมาบอกว่า อย่าไปพึ่งพระพุทธเจ้า ให้พึ่งตัวเองนี้คงจะถูกด่า แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าให้พึ่งตัวเอง คือพึ่งธรรมะหรือพึ่งกฎ คำตรัสก็ชัดๆ สั้นๆ ว่า อตฺตทีปา อตฺตสรณา,มีตนเองเป็นดวงประทีป มีตัวเองเป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าตรัส แต่เราไม่ยอม เราดื้อพระพุทธเจ้า เอาพระพุทธเจ้าเป็นดวงประทีป เอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ดูลูกศิษย์หัวดื้อ นี่มันเป็นผลของการที่ไม่รู้จักกฎ ไม่รู้จักตัวกฎ ไม่กล้าพึ่งกฎ แต่กล้าคิดที่จะพึ่งผู้อื่นเรื่อยไป มันก็เกิดเป็นไสยศาสตร์ขึ้นมา ไสยศาสตร์คำนี้จะแปลเป็นภาษาจีนว่าอะไร คือว่าไม่คิดที่จะทำเอง พึ่งตัวเอง ช่วยตัวเอง คิดพึ่งผีสางเทวดาพระเป็นเจ้าที่ภายนอก ไสยศาสตร์ๆ ถ้าถือไสยศาสตร์ก็พึ่งสิ่งอื่นนอกจากตน ถ้าถือพุทธศาสตร์ก็พึ่งตนเอง คือพึ่งธรรมะที่ปฏิบัติเอง
ทีนี้เราก็มาพูดกันถึงเรื่องพึ่งตนเองคือพึ่งธรรมะ พึ่งธรรมะคือพึ่งตนเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า อตฺตทีปา อตฺตสรณา,มีตนเป็นดวงประทีป มีตนเป็นที่พึ่ง นั่นคือ ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา,มีธรรมะเป็นดวงประทีป มีตนเป็นที่พึ่ง นี่แหละคือการปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติตัวกฎ ปฏิบัติตามกฎ ดังนั้นเราจะพูดกันเรื่องกฎนี้โดยละเอียด
กฎปฏิจจสมุปบาทคือกฎที่บอกความจริง ความจริงให้รู้ว่า ความทุกข์จะเกิดขึ้นมาด้วยเหตุอะไร ความทุกข์จะดับลงไปด้วยเหตุอะไร ถ้าใช้พูดกันอยู่แต่ในขอบเขตของสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ กฎนี้เรียกว่ากฎปฏิจจสมุปบาท แต่ถ้าใช้กว้างไกลออกไปถึงทุกสิ่งที่แม้ไม่มีชีวิตจิตใจ กฎนี้เรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตา แต่มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน คือบอกให้รู้ว่ามันอาศัยเหตุอะไรจึงเกิดขึ้นมา อาศัยเหตุอะไรจึงดับลงไป นี่เรื่องเดียวกันอย่างนี้
ยกตัวอย่างเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่จะสอนเด็กๆ ว่า เพราะมันมีน้ำ มีน้ำอยู่ทั่วไปในโลก เพราะมีดวงอาทิตย์ ก็มีแสงอาทิตย์ แสงอาทิตย์ถูกน้ำ น้ำก็กลายเป็นไอ,เป็นไอน้ำขึ้นไป ไอน้ำมันมากเข้าๆ มันก็กลายเป็นเมฆ,เมฆอยู่บนฟ้า เมฆมากเข้าได้รับความเย็น ได้รับความเย็นก็กลายเป็นน้ำฝนตกลงมา เพราะฝนตกลงมา แผ่นดินมันก็ลื่น เพราะแผ่นดินลื่น ไอ้หนูตัวเล็ก,ไอ้เด็กตัวเล็กนั้นมันก็หกล้ม เพราะมันหกล้ม หัวมันก็แตก เพราะหัวมันแตกมันก็เจ็บ เพราะมันเจ็บมันก็ไปหาหมอ หมอก็ต้องรักษา มันก็หายและมันก็สบาย ไปทำงานได้ต่อไป นี้คือความหมายของปฏิจจสมุปบาท มันไม่มีตัวเองที่แท้จริงที่ตรงไหน ไม่มีตัวเองที่แท้จริงที่ตรงไหน มีแต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย,ตามเหตุตามปัจจัย,ตามเหตุตามปัจจัย ตามเหตุตามปัจจัยจนเด็กหัวแตก และตามเหตุตามปัจจัยจนเด็กหายจากหัวแตก มันรักษาหาย มันจะเกิดความทุกข์ขึ้นมาก็ดี มันมีเหตุมีปัจจัย จะดับทุกข์ให้หายไปก็ดี มันก็มีเหตุมีปัจจัย การที่ทุกข์เกิดขึ้นมาจากเหตุจากปัจจัย แล้วก็ทุกข์ดับไปเพราะหมดเหตุหมดปัจจัย นี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท
พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา เราคือพระพุทธเจ้า นี้เราเห็นได้ชัดๆ ว่า ปฏิจจสมุปบาทนั้นคือกฎที่ความทุกข์เกิดขึ้นและความทุกข์ดับไป ต่อเมื่อเราเห็นกฎอันนี้ เห็นธรรมอันนี้ เห็นความจริงอันนี้ จึงจะชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ข้อนี้เราไม่ได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านว่าเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอง ท่านตรัสอย่างนั้น ว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม
นี่ขอให้เราเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง พระองค์จริงคือพระองค์ธรรม,พระองค์ที่เป็นธรรม อย่างที่เราพูดกันมาแล้วเมื่อคืนก่อนนั้น ถ้ามันเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่มีชีวิต มันก็เรียกว่าอิทัปปัจจยตา เราจะเห็นได้ว่าในโลกนี้เขามีความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตากันมากมาย ในโลกนี้ทั้งโลกมีความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตากันมากมาย จึงผลิตสิ่งนั้น ผลิตสิ่งนี้ผลิตสิ่งนู้นขึ้นมามากมายในโลก เพราะรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา โรงงานอุตสาหกรรมมากมายมหาศาลผลิตวัตถุ ผลิตวัตถุ ผลิตขึ้นมาเรื่อยไม่มีหยุด และยังจะทำกันอีกต่อไป บูชาอุตสาหกรรม นั้นมันรู้แต่เรื่องอิทัปปัจจยตา มันไม่รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ไม่รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท รู้แต่เรื่องอิทัปปัจจยตา มันไม่ดับทุกข์ มันให้ยุ่งมากขึ้นไป ลำบากมากขึ้นไป มารู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทกันดีกว่า คืออิทัปปัจจยตาส่วนที่เป็นปฏิจจสมุปบาท คือเกี่ยวกับสิ่งที่มีชีวิต
ทีนี้เราก็จะพูดกันเรื่องปฏิจจสมุปบาทโดยตรงโดยละเอียด สิ่งแรกที่สุดเหมือนกับ กอ ขอ กอ กา a b c d ของเรื่องนี้ก็คือเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ,๖ อย่าง ก็ดูสิ ใครบ้างล่ะที่ไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใครบ้างมันจะไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ว่ามันรู้จักหรือเปล่า มันรู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือเปล่าว่า มันมีบทบาทอย่างไร ถ้ามันไม่มีความรู้อย่างถูกต้อง มันก็ควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ได้ มันก็ผิด ผิดก็เป็นทุกข์ เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ภายในสำหรับจะรับอารมณ์จากภายนอก คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ชุดหนึ่งนั้นมันอยู่ภายใน ๖ อย่าง ชุดหนึ่งมันอยู่ภายนอกอีก ๖ อย่าง มีภายในและภายนอก ทั้งสองอย่างนี้จะทำสัมพันธ์กัน
ใน ๖ อย่างนั้นเรายกตัวอย่างเพียงอย่างเดียวมาพูดกันก็ได้ ก็คู่แรกคือตากับสิ่งที่จะเห็นด้วยตา ข้างในนี้มีตา และข้างนอกนั้นมีสิ่งที่จะเห็นด้วยตา เรียกว่ารูป ตากับรูปมาถึงกันเข้า ก็เกิดสิ่งที่สาม เรียกว่าวิญญาณคือการเห็นทางตา,จักษุวิญญาณ เราจะต้องสังเกตความเข้าใจผิดที่เข้าใจผิดกันอยู่ คือพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มีตา แล้วก็มีรูป และมาถึงกันเข้า เรียกว่าจักษุวิญญาณ เมื่อ ๓ อย่างนี้ทำงานอยู่ด้วยกัน ก็จะเรียกว่าผัสสะ หรือสัมผัสทางตา ที่เรียกว่าผัสสะหรือสัมผัสนั้นมันเป็นการกระทำของของ ๓ สิ่ง ตากับรูปแล้วก็จักษุวิญญาณ ทำงานด้วยกันอยู่เรียกว่าผัสสะ แต่ว่าเราพูดกันผิดๆ เพียงแต่ว่าตาเห็นรูปก็เรียกว่าผัสสะเสียแล้ว นี้มันผิด ในเมืองไทยก็ยังพูดกันผิดๆ จำไว้ให้ดีๆ ว่า ผัสสะนั้นต้อง ๓ สิ่ง ตา-รูป-จักษุวิญญาณ ๓ สิ่งทำงานด้วยกันอยู่ถึงกันอยู่ เรียกว่าผัสสะ
พอมีผัสสะแล้ว มันก็จะเกิดเวทนา คือความรู้สึกสุขหรือทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ผัสสะให้เกิดเวทนา ทีนี้มีเวทนาแล้วก็ให้เกิดตัณหาคือความอยากที่โง่เขลา,ความอยากที่โง่เขลา ความอยากที่โง่เขลาก็คืออยากไปตามอำนาจของเวทนา ถ้าเวทนาสวยหรือน่ารักเป็นสุข มันก็อยากจะเอา ถ้าเวทนาไม่น่ารัก ไม่สวย ไม่สุข มันก็อยากจะทำลายเสีย ถ้าไม่แน่นอนมันก็เที่ยวติดตามเวทนาอยู่ ความอยาก,ความอยากอย่างโง่เขลา ขอให้สังเกตดูดีๆ ในที่นี้พูดว่าอยากอย่างโง่เขลา อยากด้วยความโง่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อยากด้วยความโง่จึงจะเรียกว่าตัณหา
แต่ถ้ามันเป็นความอยากความต้องการด้วยสติปัญญา สติปัญญาถูกต้อง ต้องการสิ่งที่ควรอยาก เช่น อยากจะดับทุกข์ อย่างนี้ไม่เรียกว่าตัณหา เพราะมันอยากอย่างฉลาดถูกต้อง ไม่ใช่อยากอย่างโง่เขลา เมืองไทยก็มีสอนกันผิดๆ แม้เมืองจีนก็อาจจะมี คือสอนว่า ถ้าอยาก,อยาก,อยากแล้ว ก็เรียกว่าตัณหา เรียกว่าโลภะหมด นี้ไม่ถูก ต้องอยากด้วยความโง่จึงจะเรียกว่าตัณหา หรือเรียกว่าโลภะ
ทีนี้เมื่อมันอยาก มันอยากในสิ่งใด มันก็เกิดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น นี้เรียกอุปาทาน คือยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่มันอยาก มันก็เกิดความรู้สึกโง่ละเอียดต่อไปว่า มีกูผู้อยากและอยากจะเอามาเป็นของกู ความรู้สึกเรื่องกูเรื่องของกู มันก็เริ่มมีจุดตั้งต้น พอความรู้สึกว่ากูว่าของกูแก่เต็มที่ ก็เรียกว่ามีภพ ภวะ-มีภพ มีความเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่มันยึดมั่นถือมั่น นี่เกิดภวะ เกิดภพ คำนี้แปลยาก พอภพ,ความคิดเป็นตัวกูเป็นของกูเกิดขึ้นเต็มที่ แก่จัดเต็มที่แล้ว มันก็เกิดเป็นชาติหรือความเกิดออกมาเป็นตัวกูอย่างนั้นตัวกูอย่างนี้ในความรู้สึก เป็นตัวกูของกูที่สมบูรณ์อยู่ในความรู้สึก มีความโง่เป็นไปถึงสูงสุด มีตัวกู,มีตัวกู
ถ้าเราจะเปรียบอย่างเรื่องทางวัตถุ ก็คือว่าความอยากนี้มันเป็นจุดตั้งต้น ให้เกิดอุปาทานยึดมั่น มันเหมือนกับว่าตั้งครรภ์ แรกตั้งครรภ์ของผู้หญิง แล้วครรภ์มันก็แก่เข้าๆ มันก็เป็นภพ แล้วสักวันหนึ่งก็คลอดลูกออกมาเป็นชาติ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ เป็นลำดับกันมาอย่างนี้ เกิดชาติ ชาติมันเป็นตัวกูเต็มที่ ทีนี้คำว่าชาติที่เป็นตัวกูเป็นร่างกาย คลอดออกมาจากท้องแม่เป็นชาติทางร่างกายนี้ไม่ค่อยมีปัญหา เกิดทีเดียวแล้วก็พอแล้ว ก็สิ้นสุด เกิดทีเดียวเป็นชาติทางร่างกาย แต่ว่ามีชาติทางจิตใจซึ่งเกิดมาแล้ววันละหลายๆ สิบครั้ง ชาติอีกชนิดหนึ่งเกิดทางจิตใจ ด้วยอุปาทานด้วยความโง่อย่างที่ว่ามาแล้ว
เกิดมี ๒ เกิด มี ๒ ชาติ ชาติมี ๒ ชาติ ชาติทางร่างกายเป็นเนื้อตัวออกมาจากท้องแม่นี้ไม่มีปัญหาอะไร ทีเดียวก็เสร็จเรื่องแล้ว แต่ชาติทางจิตทางวิญญาณคือความคิดว่าตัวกู คิดว่าตัวกู คิดว่าตัวกู ทีหนึ่งก็เป็นชาติหนึ่ง คิดว่าตัวกูเรื่องหนึ่งก็เป็นชาติหนึ่ง นี้เกิดไม่มีที่สิ้นสุด แล้วชาตินี้ชาติในทางจิตนี้มีปัญหาคือความทุกข์ ท่านดูเอาเอง ก็จะเห็นได้เองว่าชาติทางร่างกายก้อนเนื้อที่เกิดมาจากท้องแม่นี้ไม่มีปัญหาอะไรนักหรอก แต่ต่อมานั้นมันเกิดชาติทางจิตทางความคิดว่าตัวกู ตัวกูอย่างนั้น ตัวกูอย่างนี้ ครั้งหนึ่งๆ นี่ ชาตินี้คือชาติที่มีความหมาย ชาติที่ทำให้เกิดปัญหา ชาติที่ทำให้เกิดความทุกข์ ระวัง,มัน ๒ ชาติอยู่อย่างนี้ ร่างกายออกมาจากท้องแม่แล้วก็เรียกว่าชาติเหมือนกันแหละ คือเกิดทางกาย เกิดนี้ยังไม่สมบูรณ์,ยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่มีปัญหา จนกว่าเด็กๆ เขาจะคิดนึกเป็นเรื่องตัวกูเป็นเรื่องของกูในทางจิตใจอีกทีหนึ่ง เมื่อนั้นแหละสิ่งที่เรียกว่าชาติจะสมบูรณ์ จะสมบูรณ์จนเป็นปัญหา เพราะว่าพอมันเกิดชาติในทางจิตใจ ความคิดว่ากู,กูเกิดขึ้นแล้ว มันก่ออะไรทุกๆ อย่างมาเป็นของกูหมด แม่ของกู บ้านของกู อะไรของกู กระทั่งเอาความเกิดเป็นของกู ความแก่เป็นของกู ความเจ็บไข้เป็นของกู ความตายเป็นของกู เพราะมันมีตัวกูตัวนี้ตัวเดียว พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่าเพราะมีชาติจึงมีความทุกข์ทั้งปวง ความทุกข์ทั้งหลายทั้งสิ้นมาจากชาติ คือมีความเกิดว่าตัวกู ถ้าไม่มีความรู้สึกว่าตัวกูมันก็ไม่มีที่ตั้งของอะไร ไม่มีที่ตั้งของความรู้สึกหรือความคิดนึกอะไรหมด เพราะมันมีตัวกู มันจึงคิดนึกแล้วมันก็ยึดเอาอะไรมาเป็นของกู กระทั่งโลกนี้ก็จะเป็นของกู นี่ความทุกข์ทั้งปวงเกิดมาจากชาติ คือความเกิดขึ้นแห่งตัวกู
เอ้า,ทีนี้ขอให้ท่านทั้งหลายสังเกตศึกษาดูว่า มันมีอะไรที่เป็นตัวเองเป็นตัวตนของตัวเองที่ไหน มันไม่มีมัน มันมีแต่อาศัยสิ่งนี้แล้วเกิดสิ่งนี้ อาศัยสิ่งนี้แล้วเกิดสิ่งนี้ อาศัยสิ่งนี้แล้วเกิดสิ่งนี้เรื่อยไปๆ อย่างนี้ มันไม่มีตัวตนที่แท้จริง ขอให้ฟังให้ดีให้สังเกตให้ดีว่า มันไม่มีตัวตน มันมีแต่การอาศัยปัจจัยแล้วก็เกิด อาศัยปัจจัยแล้วก็เกิด เกิดต่อๆ ต่อๆ กันไป
ขอให้ทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า เพราะเรามีตา มันจึงเกิดการถึงกันเข้ากับรูปที่อยู่ข้างนอก เพราะว่าเรามีตา จึงถึงกับสิ่งที่เรียกว่ารูปข้างนอกคือการเห็นนั่นแหละ เพราะมีการเห็นทางตาจึงเกิดจักษุวิญญาณ วิญญาณทางตา เพราะมันมีสิ่งทั้งสามนี้ คือตา รูป กับวิญญาณนี้ มันจึงได้เกิดผัสสะ เพราะมีผัสสะมันจึงมีเวทนา เพราะมีเวทนามันจึงมีตัณหา เพราะมีตัณหามันจึงมีอุปาทาน เพราะมีอุปาทานมันจึงมีภพ เพราะมีภพมันจึงมีชาติ เพราะมีชาติมันจึงมีความทุกข์ทั้งปวง คือไม่มีตรงไหนที่เป็นตัวเอง มีแต่ต้องอาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วจึงเกิดขึ้น อาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วจึงเกิดขึ้น ไม่มีตัวเอง นี้เรียกว่าอนัตตา ถ้าเห็นอนัตตาแล้วก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆ ให้เกิดทุกข์ ถ้าไม่เห็นอนัตตา มันจะโง่ โง่ถึงที่สุด คือมันจะรู้สึกว่า ตา,ดวงตาแท้ๆ ก็เป็นอัตตา คือว่าเป็นผู้เห็น มีอัตตาที่ดวงตา รูปข้างนอกมันก็อัตตาข้างนอก อัตตารูปข้างนอก ทีนี้พอเกิดวิญญาณ,วิญญาณการเห็นทางตาขึ้น มันก็คิดว่า วิญญาณนั้นเป็นอัตตา วิญญาณนั้นเป็นตัวตน วิญญาณนั้นเป็นอัตตา พอเกิดผัสสะมันก็ว่าสิ่งที่รู้สึกผัสสะก็เป็นตัวตน ผัสสะเป็นตัวตน พอเกิดเวทนา เวทนาขึ้นมา ก็เวทนาเป็นตัวตน เวทนาเป็นผู้รู้สึก เป็นตัวตนผู้รู้สึก เวทนาเป็นตัวตน ทีนี้ก็เกิดตัณหา มันก็ตัณหาหรือความอยากนั้นเป็นตัวตน ความอยากนั้นเป็นตัวตน ตัณหาเป็นตัวตน มันจึงอยากได้ เอาตัณหาเป็นตัวตน พอเกิดอุปาทานต่อจากตัณหา เอาอุปาทานเป็นตัวตน อุปาทานยึดมั่นถือมั่น เอาสิ่งที่เรียกว่าอุปาทานเป็นผู้ยึดมั่นถือมั่น นี้เอาอุปาทานเป็นตัวตน แล้วก็เอาภพคือความเป็นอย่างนั้นความเป็นอย่างนี้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเป็นตัวตน เอาภพเป็นตัวตน พอมันเกิดชาติ ก็เอาชาติเป็นตัวตน เรียกว่าเอาทุกๆ อย่างมาเป็นของตน ทุกๆ อย่างก็มาเป็นของตน แล้วมันก็เป็นทุกข์เพราะความโง่ ไปเอาอะไรๆ มาเป็นตัวตน มาเป็นของตน
นี้ตัดลัดสั้นๆ ปฏิจจสมุปบาทมีจุดตั้งต้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็มาเป็นลำดับๆ จนเกิดความทุกข์ แต่แล้วก็มีปฏิจจสมุปบาทที่สมบูรณ์กว่านี้ คือจะบอกต่อไปอีกว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้มันมาจากอะไร คือเติมออกไปข้างหน้าทางต้นว่ามีอวิชชา อวิชชาความไม่รู้เป็นเหตุให้เกิดสังขารคืออำนาจการปรุงแต่งสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น มีอวิชชาเป็นอำนาจปรุงแต่งให้เกิดมีสิ่งใหม่ขึ้นมา เรียกว่าอวิชชาให้เกิดสังขาร เมื่อสังขารอำนาจการปรุงแต่งมี,มีอำนาจปรุงแต่งแล้ว มันก็ไปเอาวิญญาณธาตุตามธรรมชาติที่มีอยู่ตามธรรมชาตินี้มาปรุงแต่งเป็นวิญญาณทางอายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เอาวิญญาณธาตุตามธรรมชาตินี้มาปรุงแต่งให้เป็นวิญญาณธาตุทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ภายใน เมื่อเรามีวิญญาณทางอายตนะภายในแล้ว ก็เรียกว่ามันมีกายกับใจขึ้นมาโดยสมบูรณ์ นามและรูปสองอย่างนี้ก็มีโดยสมบูรณ์ เมื่อเรามีนามและรูปคือกายกับใจสมบูรณ์แล้ว เราก็จะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างที่ว่ามาแล้วโดยสมบูรณ์ นี่ถ้ามันทำหน้าที่ของมันโดยสมบูรณ์ มันก็มีผัสสะ มีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน อย่างที่ว่ามาแล้วเป็นปฏิจจสมุปบาทยืดยาวตลอดสาย ถ้าว่านับอย่างนี้ มันจะได้เป็น ๑๒ สิ่ง ตั้งแต่อวิชชาไปถึงความทุกข์มันจะได้ ๑๒ สิ่ง แต่ถ้าเอามาทำเป็นคู่ๆ ว่า เพราะมีสิ่งนี้ จึงมีสิ่งนี้ เราจะได้ ๑๑ คู่ ทั้งหมดนี้มีอยู่ในชีวิตของเราทุกวันๆ เป็นประจำวัน ถ้าเราควบคุมมันไม่ได้ มันก็เป็นไปทางฝ่ายผิด ผิดแล้วมันก็เกิดทุกข์ ถ้าเรามีความรู้ควบคุมมันได้ มันก็ไม่มีทางที่จะเกิดทุกข์ แล้วมีปัญหาว่าเราจะควบคุมมันอย่างไร คำตอบก็คือว่า เราจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่าสติ,สติ,สตินี้เกิดขึ้นทันทีเมื่อมีผัสสะ สตินี้มันไปเอาปัญญามา เรามีการศึกษา มีปัญญา รู้ รู้ รู้ไว้เยอะแยะนี้ สติไปเอาปัญญามาทันทีเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น เช่น ตาเห็นรูป สติไปเอาปัญญามา หรือว่าอะไรกันๆ มันก็ควบคุมความรู้สึกทางตานั้นอย่าให้โง่,อย่าให้โง่ อย่าให้เป็นผัสสะโง่ สตินี้ไม่ใช่ความรู้นะ แต่มันไปขนเอาความรู้มา,เอาปัญญามา สติไปขนเอาปัญญามาทันเวลาที่มีผัสสะเมื่อตาเห็นรูป แล้วก็ไม่โง่ ไม่โง่เมื่อมีผัสสะ มันจึงเดินไปถูกต้องและไม่เป็นทุกข์
ดังนั้นเราจะต้องสะสมปัญญาความรู้นั้นไว้ให้มาก เล่าเรียนศึกษา ศึกษาให้มีปัญญาไว้มากๆ หลายๆ อย่าง หลายสิบอย่างก็ได้ พอมันมีเรื่องเข้ามาแล้วสติไปขนเอามาเฉพาะที่จะแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ได้เอามาทุกเรื่อง เปรียบตัวอย่างเหมือนกับว่า เรามีตู้ยา,ตู้ใส่ยา ในตู้นั้นมียาทุกชนิด แต่พอเกิดโรค เราเอามาอย่างเดียวเท่านั้นแหละ เอามาอย่างเดียวเท่านั้นแหละที่จะแก้โรคเฉพาะๆ นี่ก็เหมือนกัน ต้องมีปัญญาไว้มากๆ พอมีเกิดเรื่องทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สติก็ไปเอาอย่างหนึ่งมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะเรื่องนี้ เฉพาะเรื่องนี้
ท่านจงสะสมปัญญาไว้ให้มากอย่างๆ มาศึกษาทุกอย่างที่จะเกิดปัญญาแล้วก็เก็บไว้ทุกอย่าง พอเกิดเรื่อง สติไปเอาปัญญามา ปัญญาๆ นี้พอถูกเอามาอย่างเดียวมาเผชิญหน้ากับสิ่งที่มันเกิดขึ้น ก็เปลี่ยนชื่อเรียกว่าสัมปชัญญะ อยู่กันมากๆ เรียกว่าปัญญา พอเอามาอย่างเดียวมาเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเรียกใหม่ว่าสัมปชัญญะ รู้สึกตัวทั่วพร้อมทั่วถึง-สัมปชัญญะ ทีนี้ถ้าว่าสัมปชัญญะมีแรงน้อย แรงมีกำลังน้อย มีแรงน้อย ก็ต้องเพิ่มกำลังด้วยสมาธิให้สัมปชัญญะมีแรงมาก มันก็ต่อสู้อารมณ์ได้
นี่ท่านสังเกตดูให้ดีจะเห็นว่า มันมีการทำงานร่วมกันเป็น ๔ อย่าง สติไปเอาปัญญาที่เราเก็บไว้มากๆ มาเป็นสัมปชัญญะ สติเอาปัญญามาทำเป็นสัมปชัญญะ ถ้าแรงน้อยต้องมีสมาธิเพิ่มกำลังให้ จึงมี ๔ อย่าง คือมีสติ มีปัญญา มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ ๔อย่างนี้ต้องทำงานร่วมกัน มันเปรียบเหมือนกับคน ๔ คนทำงานร่วมกันจึงจะสำเร็จ คือจะดับทุกข์ได้ เราเรียกธรรมะชุดนี้ว่าธรรมะสี่เกลอ สี่เกลอคือเพื่อน ๔ คนทำงานร่วมกัน เรียกว่าธรรมะสี่เกลอ
ขอทบทวนอีกทีหนึ่งว่า จะต้องมีสติระลึกได้ทันที แล้วก็ไปเอาปัญญามาเป็นสิ่งที่สอง เผชิญหน้าอารมณ์ พอมาเผชิญหน้าอารมณ์เรียกว่าสัมปชัญญะ ปัญญาที่ยังไม่ได้มาเผชิญหน้าอารมณ์เรียกว่าปัญญา พอปัญญามาเผชิญหน้ากับอารมณ์เรียกว่าสัมปชัญญะ สัมปชัญญะเป็นปัญญาที่ทำหน้าที่ ปัญญาที่กำลังทำหน้าที่ ทีนี้ถ้ากำลังมันอ่อน ต้องมีสมาธิมาช่วยกำลังปัญญา แล้วปัญญานั้นก็จะสามารถตัดปัญหาไม่ให้อารมณ์นั้นปรุงแต่งให้เกิดความทุกข์ มันระงับปัญหาไปเสียได้ด้วยอำนาจของปัญญาที่มีสมาธิเพียงพอ ปัญญาต้องทำงานเป็นคู่กันกับสมาธิ ปัญญามันเหมือนกับความคม คมมาก,คมมาก แต่ถ้าไม่มีแรงที่จะกดลงไป ความคมก็ไม่มีประโยชน์หรอก มีดคมที่สุด แต่ถ้าไม่มีแรงที่จะกดมีดลงไปมันก็ไม่ตัดหรอก มันต้องมีสมาธิคือแรงที่จะทำให้ปัญญาตัด ตัดอารมณ์ ตัดปัญหา
ทีนี้ก็พูดถึงสติที่จะไปเอาปัญญามานั้น ต้องมีสติที่เร็วมาก ต้องเร็วมาก สตินั้นต้องเร็วมาก สติ,คำนี้แปลว่ามีความเร็วของลูกศร โบราณเขาไม่มีปืนไม่มีอะไร สิ่งที่จะว่าเร็วที่สุดก็คือลูกศรที่ยิงไป ความเร็วของลูกศรเอามาเป็นชื่อเรียกว่าสติ สติระลึกได้เร็วทันที ถ้าสติช้าก็ไม่สำเร็จประโยชน์ ต้องมีความเร็ว เร็วทันทีทันเหตุการณ์เหมือนกับ ความเร็วแห่งลูกศรหรือฟ้าแลบ
ขอทบทวนให้เข้าใจอีกที ท่านฟังให้ดีๆ ต้องมีสติเร็วมากไปเอาปัญญามา ปัญญามาแล้วเปลี่ยนรูปเป็นสัมปชัญญะ คือปัญญาเฉพาะเหตุการณ์เรียกว่าสัมปชัญญะ แล้วก็ทำหน้าที่ตัดอารมณ์ชนะอารมณ์ ตอนนี้ต้องมีสมาธิช่วย สติเอาปัญญามา กลายเป็นสัมปชัญญะ แล้วมีสมาธิช่วยสัมปชัญญะให้มีแรง มีแรงที่จะต่อสู้อารมณ์หรือตัดทางมาแห่งกิเลส ไม่เกิดกิเลส สติ,ปัญญา,สัมปชัญญะ,สมาธิ สี่อย่างนี้มันทำงานด้วยกัน
สรุปให้ชัดว่า เราต้องมีสติที่เร็วพอ ถ้าเรามีปัญญามากพอเผื่อเลือก แล้วเราก็เลือกเอามาอย่างหนึ่งที่จำเป็นที่สุดมาเผชิญหน้ากับอารมณ์ แล้วก็ใช้สมาธิกำลังของสมาธิทำให้มันสามารถที่จะจัดการกับอารมณ์ มีสติ มีปัญญา มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ
แล้วมันก็มีปัญหาว่า ท่านจะเอาของทั้งสี่นี้มาจากไหน คำตอบก็คือว่า ท่านจะต้องปฏิบัติธรรมะระบบหนึ่ง เรียกว่าอานาปานสติ ฝึกการปฏิบัติที่เรียกว่าอานาปานสติ หรือบางทีก็เรียกอย่างอื่นว่าสติปัฏฐานก็ได้ ถ้าประสบความสำเร็จแล้วเราจะมีสิ่งทั้งสี่นี้มากพอ
ฉะนั้นการอบรมที่นี่ของเราที่เซ็นเตอร์ที่อยู่ที่โน่น ครั้งแรกก็สอนให้เข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาทจนรู้ว่าเราจะต้องทำอย่างไร แล้วเราก็ฝึกหัดอานาปานสติเพื่อให้เรามีธรรมะครบถ้วนทุกอย่างที่จะมาปฏิบัติปฏิจจสมุปบาท ทั้งสองเรื่องนี้เราไม่แยกกัน เราต้องมีความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทสมบูรณ์ว่า เราจะต้องทำอย่างไร เรื่องนี้เราจะต้องทำอย่างไร เรื่องนี้เราจะต้องทำอย่างไร อย่างนี้ก่อน แล้วเราก็หาเครื่องมือที่จะทำอย่างนั้นให้ได้ นั่นคืออานาปานสติ ท่านปฏิบัติอานาปานสติให้ครบถ้วนเถิด แล้วท่านจะมีธรรมะสี่อย่างนี้มากมายเหลือเฟือ ปัญญาทำให้เรารู้จักสิ่งที่เรียกว่ากฎหรือสิ่งที่ทำให้เกิดกฎ ปัญญาทำให้เรารู้จักสิ่งที่เรียกว่ากฎ แล้วเราก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎ เมื่อถูกต้องตามกฎแล้วมันก็ดับทุกข์ได้โดยแน่นอน เรารู้ปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละคือเรามีพระพุทธเจ้าที่ถูกต้อง เราปฏิบัติตามกฎปฏิจจสมุปบาทให้ถูกต้อง นั่นคือเรามีพระธรรม,มีพระธรรม ทีนี้กายวาจาใจที่ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง นั่นคือพระสงฆ์ ดังนั้นชีวิตนี้ก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ ถูกต้องและสมบูรณ์ ความทุกข์และปัญหาทั้งปวงก็หมดไป นี้คือความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ปฏิบัติปฏิจจสมุปบาท ได้รับผลจากการปฏิบัติปฏิจจสมุปบาท เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็สรุปเป็นใจความได้อย่างนี้
ขอให้ท่านรู้จักและควบคุมมันให้ได้ เหมือนกับควบคุมกระแสน้ำไหล ควบคุมให้มันไปถูกทางที่มีประโยชน์อย่าให้มันเกิดโทษ เราควบคุมกระแสแห่งจิตให้มันไหลไปอย่างถูกต้องคือไม่เกิดความทุกข์ การปฏิบัติอย่างนี้ก็เท่ากับมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่กับเราตลอดเวลา แล้วเราก็พึ่งตัวเราเองได้ พึ่งตัวเราเองได้ด้วยเหตุนั้น
ขอบคุณท่านทั้งหลายเป็นผู้ฟังที่ดี อดทนฟังที่ดี ขอให้ได้รับความรู้สำเร็จประโยชน์ตามความมุ่งหมาย ขอยุติการบรรยาย