แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย โอกาสแห่งวิสาขบูชาได้เวียนมาถึงเข้าอีกครั้งหนึ่งแล้ว และเราทั้งหลายก็พากันเตรียมจิตใจต้อนรับโอกาสอันพิเศษนี้ โดยทั่วไปก็ถือกันว่าเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า อธิบายกันให้ง่ายๆก็คือว่า เป็นวัน อ่า, ประสูตินั้นเป็นวันเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า ตรัสรู้นั้นเป็นการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า นิพพานนั้นเป็นการบรรลุนิพพาน อ่า, ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ใช่ดับขันธ์ปรินิพพานหรือที่เรียกว่าตาย แต่การลุถึงนิพพานคือภาวะที่เป็นความเย็น เป็นอนันตกาล เลยเป็นสิ่งเดียวกันได้ทั้ง ๓ คำ คือเกิดขึ้น ตรัสรู้ และนิพพาน ขอให้ทำความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะมีความหมายอย่างยิ่ง พิเศษ ถูกต้อง ครบถ้วน ทุกๆประการ ในโอกาสนี้จะได้กล่าวธรรมิกถาเป็นที่ระลึกแก่อภิรักษ์จิตสมัยนั้น หัวข้อที่จะกล่าวนี้ก็เนื่องกันกับการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ การตรัสรู้นั้นก็คือรู้เรื่องความทุกข์ ความดับทุกข์ และเหตุแห่งทุกข์ และหนทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์ ใจความสำคัญมันอยู่ที่คำว่าความดับทุกข์เพียงคำเดียว เพราะว่าถ้ามันดับทุกข์ได้มันก็สำเร็จประโยชน์ ถ้ามันดับทุกข์ไม่ได้ แม้จะทำอะไรให้มากมายมันก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร หัวใจของเรื่องมันจึงมีอยู่ที่คำว่าดับทุกข์ ดังนั้นเราจะได้วินิจฉัยกันถึงคำๆนี้ ให้ละเอียดลออ ให้ถูกต้อง ให้ครบถ้วน ให้สำเร็จประโยชน์ อ่า, ของคำว่าความดับทุกข์ สังเกตดูให้ดีใครๆก็พูดอย่างเดียวกันว่า ดับทุกข์ ดับทุกข์ แม้อาตมาก็พูดว่า ดับทุกข์ ดับทุกข์ แต่ความหมายที่แท้จริงนั้นมันไม่ใช่ดับทุกข์ มันเป็นการดับเหตุแห่งทุกข์ ถ้าขืนไปดับทุกข์โดยตรง มันก็จะมีลักษณะเหมือนกับเอาไม้สั้นไปรันขี้ คำไม่น่าจะมาพูดที่นี่ก็ได้มาพูดแล้วว่าเอาไม้สั้นไปรันขี้ เพราะว่าถ้าจะดับที่ตัวทุกข์ มันก็เผชิญกับความเลวร้าย หรือเป็นทุกข์มากยิ่งๆขึ้นไป แต่ถ้าว่าดับที่เหตุแห่งทุกข์ มันก็ไม่ต้องเผชิญกับความทุกข์ การเผชิญกับความทุกข์น่ะเปรียบเหมือนกับเอาไม้สั้นไปรันขี้ เพราะไม้มันสั้น มันก็เลอะเทอะ แต่ถ้าดับที่เหตุ มันก็ไกลกัน มันก็ไม่สกปรกด้วยความทุกข์ มันเหมือนกับเอาไม้ยาวไปดับทุกข์ แต่ยังมีอะไรที่ดีกว่านั้นซึ่งจะได้พูด อ่า, ต่อไป ในที่นี้ที่ว่าดับที่เหตุของมันนั้น หมายความว่าไม่ต้องไปเผชิญหน้ากับความทุกข์ เหมือนกับดับไฟ ใครดับไฟที่เปลวไฟ คนนั้นมันก็บ้าแล้ว มันก็ดับไม่ได้ แต่ถ้ามันไปดับตรงที่เหตุ อ่า, ให้ไฟเกิด ที่เชื้อเพลิง ที่ถ่านไฟ หรือที่ตรงที่ไฟมันลุกขึ้นมาน่ะ จัดการที่ตรงนั้นไฟมันก็ดับ ดับได้ และไม่มีความยุ่งยากลำบากเหมือนกับจะไปดับที่ตัวไฟโดยตรง สังขตธรรมทั้งหลายทั้งปวงมีเหตุ ความทุกข์ก็เป็นสังขตธรรมชนิดหนึ่ง ดังนั้นมันจึงมีเหตุ เราจึงดับที่เหตุแห่งความทุกข์ ก็จะสำเร็จประโยชน์ดังที่มุ่งหมาย บัดนี้ก็จะได้พิจารณากันต่อไปถึงสิ่งที่เรียกว่า เหตุแห่งทุกข์ เหตุแห่งความทุกข์นี้ มันมีทั้งโดยตรง และมีทั้งโดยอ้อม เรามาพิจารณากันทีละอย่างถึงเหตุโดยตรงก่อน เหตุโดยตรง อ่า, ของความทุกข์ก็คือสิ่งที่เรียกว่า กิเลส กิเลส กิเลสนี้มีชื่อต่างๆกัน ที่โดยส่วนลึก ส่วนใหญ่ ส่วนสำคัญ ก็เรียกว่าอวิชชา กิเลสที่รองลงมาก็เรียกว่าตัณหา ที่รองลงมาก็เรียกว่าอุปาทาน หรือจะกล่าวโดยชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างอื่นอีกก็ได้เหมือนกัน แต่จะต้องเข้าใจให้เห็นชัดว่ามันเป็นต้นเหตุอย่างไร เหตุโดยตรงคือกิเลส สิ่งแรกที่จะนำขึ้นมาพิจารณาก็คือสิ่งที่เรียกว่าอวิชชา อวิชชานี้มักจะแปลกันว่าความไม่รู้ นี่ก็เหมือนกันเป็นคำที่กำกวม ที่จริงอวิชชาคือมันไม่มีความรู้ที่ควรจะรู้ และมันก็รู้อะไรอีกมาก แต่รู้ผิดทั้งนั้นแหละ ที่รู้มากๆ รู้ผิดๆ นั้นก็เรียกว่าอวิชชา เพราะว่ามันมิใช่วิชาที่ควรจะรู้ หรือควรจะมี หรือควรจะใช้ดับทุกข์ได้ เพราะไม่มีวิชาที่ดับทุกข์ได้ จึงเรียกว่าอวิชชา คือไม่มีวิชา ขอให้เข้าใจว่า มันไม่ได้หมายความว่าไม่รู้อะไรเสียเลย มันรู้อะไรมาก แต่มันผิดๆ มันดับทุกข์ไม่ได้ เราจะเรียกว่าไม่มีวิชาที่ดับทุกข์ได้ มันก็ทำอะไรผิดๆ ไปตั้งแต่ต้นจนปลาย มันก็เลยก่อให้เกิดทุกข์ยิ่งๆขึ้นไป ไม่ดับทุกข์ แล้วยังก่อให้เกิดทุกข์ยิ่งๆขึ้นไป ก่อให้เกิดสิ่งที่ ๒ ที่เรียกว่า ตัณหา ตัณหา ตัณหานี้คือความอยาก ที่อยากด้วยความโง่ อยากด้วยความโง่ ถ้าอยากด้วยสติปัญญา ด้วยวิชาความรู้ ไม่เรียกว่าตัณหา ต้องอยากด้วย อ่า, ความโง่ หรือความไม่รู้ ก็คืออยากผิดๆนั่นเอง ความโง่เป็นเหตุให้อยากในสิ่งที่ไม่ควรจะอยาก แล้วก็อยากในลักษณะที่เป็นการเผาลน ที่จำแนกไว้สำหรับศึกษาก็คืออยากในกาม ในกามารมณ์ ก็ด้วยความโง่ และก็อยากจะเป็นนั่น เป็นนี่ อย่างกลัดกลุ้มอยู่ในใจก็เป็นความอยากด้วยความโง่ บางทีก็อยากที่จะไม่เป็นอะไร ก็เป็นความอยากด้วยความโง่ ทั้ง ๓ อยากนี้เรียกว่าอยากด้วยความโง่ อยากในกาม อยากในเป็นนั่น เป็นนี่ อยากในไม่เป็นนั่น ไม่เป็นนี่ นี่ก็เรียกว่าอยากด้วยความโง่ อ่า, ขอให้สนใจให้ดีถึงความหมายของคำว่าตัณหา คืออยากด้วยความโง่ เมื่อมันมีความอยากในสิ่งใด มันก็มีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น และก็เรียกว่าอุปาทาน เมื่อยึดมั่นในสิ่งใด มันก็มีความหนักอกหนักใจ แก่ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่น นั้นเรียกว่าความทุกข์ มีตัณหา ก็มีความยึดมั่นถือมั่น มีความยึดมั่นถือมั่น ก็เรียกว่ามี อ่า, ความทุกข์ กิเลสในชื่อใดๆ ก็ตามเหล่านี้เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดทุกข์ แต่ว่าเหตุโดยตรงนั้นยังไม่พอ ต้องมีปัจจัยช่วยด้วยมันจึงจะสำเร็จ ถึงต้องมีเหตุโดยอ้อมที่เรียกว่าปัจจัย เหมือนอยากว่า เอ้อ, เหมือนอย่างว่า คนมันจะปั้นหม้อ มันก็ต้องมีเหตุโดยตรงคือความอยาก อยาก อยากที่จะปั้นหม้อ นี้เป็นเหตุ แล้วมันก็ต้องมีปัจจัย เช่นมีดินที่จะปั้น มีน้ำที่จะเคล้าดิน มีเครื่องหมุนที่จะหมุนก้อนดิน เหล่านี้ก็เรียกว่าเป็นปัจจัย มีปัจจัยก็เรียกว่ามีเหตุโดยอ้อม ความทุกข์นี้ก็เหมือนกัน มันมีปัจจัย หรือจะเรียกว่าเหตุโดยอ้อมก็ยังได้ คือมันจะต้องมีอายตนะ ๒ ฝ่าย อายตนะภายใน อายตนะภายนอก อายตนะภายในก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอกก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันมีอารมณ์เช่นรูป หรือเสียง เป็นต้น ที่น่ารัก น่าพอใจ อันเป็นที่ตั้งแห่งความอยาก และก็มันจะต้องมีปัจจัยคือโอกาส โอกาสที่จะให้เป็นเช่นนั้น ถ้าไม่มีโอกาสมันก็เป็นไม่ได้ แม้โอกาสที่จะเป็นเช่นนั้น ก็เรียกได้ว่ามันเป็นปัจจัย แล้วมันยังมีสิ่งแวดล้อมรอบด้าน ที่ช่วยสนับสนุน ช่วยให้เกิดการเป็นอย่างนั้น แล้วมันก็ยังมีสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัย บางทีก็มีผลกรรมที่ได้กระทำไว้ มาเป็นเครื่องสนับสนุนให้เกิดโอกาส ให้เกิดปัจจัย เป็นเหตุแวดล้อมจนได้มีการกระทำที่เป็นความทุกข์ หรือจะพูดให้ลึกกว่านั้นอีกก็ว่าเพราะมันมีภพ หรือมีชาติ มีชาติในความหมายธรรมดา เช่นว่ามันได้เกิดมาเป็นคนอย่างนี้ เกิดมาจากท้องแม่ แล้วมาเป็นคนอยู่อย่างนี้ มีความรู้สึก คิดนึก มีอะไรต่างๆ นานา มันจึงมีโอกาสที่จะ อ่า, เกิด อ่า, ความทุกข์ดังที่กล่าวแล้ว หรือว่ามันจะมีชาติ ในความหมายทางภาษาธรรมคือเป็นความคิดนึก รู้สึกด้วยความหมายมั่น เป็นตัวกู เป็นของกู ได้หลายอย่าง วันเดียวก็เกิดได้หลายอย่าง คือหลายชาติ คิดอย่างคน ก็เกิดเป็นคน คิดอย่างสุนัข ก็เกิดเป็นสุนัข คิดอย่างโจร ก็เกิดเป็นโจร คิดอย่างบัณฑิต ก็เกิดเป็นบัณฑิต อ่า, คิดหรือทำอย่างชาวนา ก็เป็นชาวนา คิดหรือทำอย่างพ่อค้า ก็เป็นพ่อค้า นี่ชาติในความหมายที่ว่ายึดมั่น ถือมั่นว่าตนเป็นอะไร ชาติอย่างนี้ก็เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ แม้ที่สุดอย่างน้อยที่สุดก็เป็นที่ตั้งแห่งความแก่ ความเจ็บ ความตาย เพราะว่ามันมีชาติ คำว่าภพ ภพนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันไม่มีภพ มันก็เกิดทุกข์ไม่ได้ เดี๋ยวนี้มันมีภพ จะภพในภาษาคนก็ได้มาเกิดในภพของมนุษย์ ในกามภพ อ่า, ของมนุษย์ นี้ก็เรียกว่าภพ ด้วยเอาร่างกายเป็นประมาณ มาในเกิดในภพอย่างนี้ ก็ได้มีโอกาสที่จะได้เกิดกิเลส และเป็นทุกข์ และที่ละเอียดลึกซึ้งไปกว่านั้น ก็ภพในความหมายของภาษาธรรม นั่นคือการสำคัญมั่นหมายว่าตนเป็นอะไร ความคิดนึกว่าตนเป็นอะไรเกิดขึ้นแล้ว ตนก็ได้อยู่ในภพนั้นๆ หรือตนมีความรู้สึกอย่างยิ่งอยู่ในภาวะเช่นไร ก็เรียกว่าตนได้มีอยู่ในภพอย่างนั้น เช่นกำลังกลัดกลุ้มอยู่ด้วยกามารมณ์ ความรู้สึกทางเพศ ก็ได้ชื่อว่าเกิดแล้วในกามภพ หรือถ้ามันตรงกันข้าม ไปพอใจยินดีในสมาธิ ในฌาน ในสมาบัติ ตรงกันข้ามกับกามารมณ์ก็จริง แต่มันก็มีความสำคัญมั่นหมายตัวเองว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้มันก็ได้เกิดในรูปภพบ้าง ในอรูปภพบ้าง แล้วแต่ว่าจะได้อาศัยสมาธิ หรือสมาบัติชนิดไหน ถ้าจะเป็นสมาธิอย่างรู เอ่อ, ปฌาน มันก็เป็นรูปภพ ถ้าเป็นสมาธิอย่างอรูปฌาน มันก็เป็นอรูปภพ ได้มีภพเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกคิดนึกว่าตนเป็นอะไร มันก็ได้โอกาสที่จะเกิดกิเลสไป อ่า, ตามสมควรแก่ภพนั้นๆ ดังนั้นขอให้พยายามใคร่ครวญดูให้ดีว่าปัจจัยโดยอ้อมที่จะให้เกิดทุกข์นั้น มันมีมากมาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็คือสิ่งที่เรียกว่าโลก โลกทั้งหมด โลกทั้งปวงนั่นแหละ ในโลกนี้ อ่า, มันมีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส อ่า, มีโผฏฐัพพะ มีธรรมารมณ์ อ่า, สำหรับจะคู่กันกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเราก็มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดังนั้นมันจึงหลีกเลี่ยงไปไม่ได้ หลีกเลี่ยงไปไม่พ้น มันก็ได้พบคู่กัน ตาได้เห็นรูป หูได้ฟังเสียง จมูกได้รับกลิ่น ลิ้นได้รับรส ผิวกายได้รับสัมผัส ผิวหนังจิตก็ได้รู้ อ่า, ได้รับรสความรู้สึก ในโลกมันมีแค่อย่างนี้ มันเป็นจุดตั้งต้นที่ว่ามันได้มีรูปหรือเสียงเป็นที่พอใจ แล้วมันก็เกิดความรู้สึกที่เป็นที่ตั้งแห่งความพอใจ เป็นสุขเวทนา แล้วเกิดเป็นตัณหา เป็นอุปาทาน เป็นกิเลส ยิ่งๆขึ้นไปดังนี้ มันมีวัตถุที่ตั้ง ที่อาศัย แห่งกิเลส และกิเลสมันจึงได้เกิดขึ้น แล้วโอกาสที่จะเกิดกิเลสนี้มันมีอยู่ทั่วๆไป อ่า, เรียกว่ามีอยู่ทั่วไป สิ่งแวดล้อมที่จะช่วยให้เกิดกิเลสก็มีอยู่ทั่วไป นั้นขอให้เรากำหนดเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ดีๆ จะป้องกันได้ง่ายเข้า นี้ก็ได้พิจารณา อ่า, กันถึงตัวเหตุ และตัวปัจจัย เป็นเหตุโดยตรงก็เรียกว่าเหตุ เป็นเหตุโดยอ้อมก็เรียกว่าปัจจัย เราอยู่ท่ามกลางเหตุโดยตรง และเหตุโดยอ้อมมากมายเหลือที่จะนับไหว มันก็เป็นโอกาสแห่งความทุกข์อย่างยิ่งโดยประการทั้งปวง จนมีความทุกข์ได้ในวันหนึ่งวันหนึ่ง หลายอย่าง หลาย ๑๐ อย่าง หรือ หลาย ๑๐๐ อย่างก็ยังได้ นี่ขอให้ระวังให้ดี จะดับทุกข์กันอย่างไร จะดับอย่างเอาไม้สั้นไปรันขี้ หรือว่าจะดับเอาอย่างไม้ยาว หรือว่าจะฉลาดไปกว่านั้นอีก คือไม่ทำให้มันเกิดทุกข์ขึ้นมาเสียเลย มันก็ไม่ต้องดับทุกข์ เพราะว่าได้สามารถป้องกันไว้อย่างเด็ดขาด ไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นมา ดังนั้นความป้องกันไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้นมานั่นแหละ คือตัวการดับทุกข์ที่ประเสริฐที่วิเศษที่สุด มันไม่ต้องเอาไม้สั้นไปรันขี้ มันไม่ต้องเอาไม้ยาวไปรันขี้ แต่มันได้ทำให้ไม่มีขี้ มันไม่เกิดขี้ คือมันไม่เกิดความทุกข์ นี่มันจะดีกันที่ตรงนี้ นั้นขอให้สนใจ อ่า, ในการที่จะดับทุกข์ ในลักษณะที่จะมีความยุ่งยากลำบากน้อยที่สุด แต่ถ้าพูดถึงว่ามันเกิดขึ้นแล้ว เราก็ต้องใช้ไม้ยาว อ่า, รันไปก่อน จนกว่าจะป้องกันไม่ให้เกิด อ่า, ขึ้นมาได้ ทางที่จะป้องกันไม่ให้เกิดนั้น ต้องมีธรรมะที่ถูกต้อง ที่เพียงพอ ที่สมควรแก่กรณีนั้นๆ ธรรมะที่สำคัญที่สุด จำเป็นที่สุดที่จะเอามาเป็นคู่ชีวิตได้ก็จะเสนอแนะไว้สัก ๔ อย่างด้วยกัน คือ ความมีสติ ๑ มีสัมปชัญญะ ๑ มีปัญญา ๑ มีสมาธิ ๑ เมื่อมีการกระทบทางตา หู เป็นต้น ที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสแล้ว ก็มีสติ สติ ระลึกได้ทันควันว่า อ้าว, มันเกิด อ้า, การกระทบอย่างนี้แล้ว สตินี้เป็นเครื่องระลึก ก็ระลึกไปถึงปัญญา วิชา ความรู้ที่ได้ศึกษาไว้ว่าอะไรเป็นอย่างไร อะไรคืออะไรที่เรียกว่าปัญญา สติก็แปรความรู้ที่เรียกว่าปัญญานั้นมาเผชิญหน้ากับอารมณ์ที่ได้รับ หรือสัมผัสอยู่ ปัญญาอันมากมายนั้น ก็แยกตัวมาเป็นสัมปชัญญะเฉพาะเรื่อง เฉพาะกรณีนั้นๆ อย่างถูกตรง แล้วก็ยืนคุมเชิงอยู่ ในกรณีนั้นๆ อย่างนี้เรียกว่าสัมปชัญญะ ถ้ามันเป็นปัญญาทั้งหมด รวมกันอยู่ทั้งหมดเรียกว่าปัญญา แต่ถ้าแยกตัวออกมาเฉพาะกรณี สำหรับจะจัดการกับสิ่งใดๆโดยเฉพาะแล้ว ก็เรียกว่าสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม โดยเฉพาะเจาะจงกับเหตุนั้นๆ กรณีนั้นๆ ฝึกสติไว้ให้เร็วพอ ให้เร็ว เหมือนกับสายฟ้าแลบ หรือจะยิ่งกว่าสายฟ้าแลบก็ยิ่งดี เพื่อจะระลึกถึงความรู้ที่ถูกต้องตามที่ได้ศึกษาไว้อย่างไร ก็เอามาทำเป็นสัมปชัญญะ แล้วกำลังมันยังไม่พอ ก็เพิ่มด้วยสมาธิ ทำให้กำลังของสัมปชัญญะเพิ่มรุนแรงขึ้น หนักหน่วงขึ้น เข้มข้นขึ้นด้วยสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ ซึ่งก็ได้ฝึกไว้อย่างเพียงพอด้วยเหมือนกัน อ้า, กำลังของสมาธิมากแล้ว กำลังของสัมปชัญญะ หรือปัญญาก็มาก มากพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดกระแสแห่งความทุกข์ หรือจะตัดกระแสแห่งความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่ก็ได้ อยู่ในลักษณะที่ป้องกัน อ่า, ก็ได้ อยู่ในลักษณะที่ตัดกระแสที่เกิดขึ้นแล้วก็ได้ แต่ว่าตัดกระแสที่เกิดอยู่แล้วนั้นมัน มันต้องมีเรื่องยุ่งยากแหละ เช่นว่าเอาไม้สั้น หรือไม้ยาวไปรันขี้ แต่ถ้าตัดป้อง อ่า, ตัดด้วยการป้องกัน คือป้องกันน่ะ ไม่ให้เกิดขึ้นมา นี่เป็นการตัดที่ต้นเหตุ อย่างนี้ประเสริฐวิเศษที่สุด ขอให้ท่านทั้งหลายจงสนใจในเครื่องมือที่จะช่วยตัดต้นเหตุแห่งความทุกข์ คือมีสติเร็วเพียงพอ มีปัญญาเพียงพอ มีสัมปชัญญะได้ทุกทีที่มี อ่า, เหตุการณ์เกิดขึ้น และมีกำลังของสมาธิเพียงพอที่จะไม่ใช้ในกรณีของสัมปชัญญะ ในกรณีนั้นๆ ท่านทั้งหลายจงได้ถือเอาธรรมะ ๔ อย่างนี้ว่าเป็นเพื่อนคู่ชีวิต อ่า, สิ่งที่เป็นคู่ชีวิตนี้ ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าธรรมะ ไอ้คู่ชีวิตอย่างเป็นคนๆนั้น ก็ทะเลาะกันบ่อยๆ แล้วก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่ถ้าคู่ชีวิตคือธรรมะนี้ ไม่มีทะเลาะวิวาท ไม่มีอะไรนอกจาก ช่วย ช่วย ช่วย โดยส่วนเดียว ป้องกันได้โดยส่วนเดียว ไม่ต้องเกิดปัญหา ไม่ต้องเกิดความทุกข์ มีธรรมะอยู่ที่ไหน มันก็ป้องกันธรรมะที่นั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมะที่เรียกว่าสติ อ่า, สัมปชัญญะ ปัญญา สมาธินี้แล้ว จะป้องกันได้ อ่า, โดยประการทั้งปวง ขอให้ศึกษา ฝึกฝน อบรมไว้ให้มีมากพอ นอกจากมากพอแล้ว ก็ต้องให้รวดเร็ว และว่องไว อ่า, คล่องแคล่ว อ่า, ด้วย จึงจะสำเร็จประโยชน์ ขอให้ท่านทั้งหลายเปรียบเทียบดูอีกสักครั้งหนึ่งเถิด ว่าการเอาไม้สั้นไปรันขี้นั้นมันเป็นอย่างไร การเอาไม้ยาวไปรันขี้นั้นมันเป็นอย่างไร การที่ไม่ต้องรันอะไรเสียเลยโดยประการทั้งปวงนั้น มันจะเป็นอย่างไร อย่างไหนมันจะดีกว่ากัน เอาไม้ยาวไปรันขี้ คงจะดีกว่าเอาไม้สั้นไปรันขี้ แต่ถ้าไม่ขี้ให้ต้องรัน อ่า, กันเสียเลยนั้น มันก็ประเสริฐกว่า ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายทุกคน จงมีการสำนึกถึงค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของตน ว่าเกิดมาทั้งทีนี้ควรจะได้อะไร เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ควรจะได้ อะไรๆ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดของความเป็นมนุษย์ มันต้องแล้วแต่สติปัญญาของบุคคลนั้น เด็กๆ เขาก็คิดว่า โอ้, ได้กิน ได้เล่น ได้แล้วก็พอ ดีที่สุดแล้ว คนวัยรุ่นก็จะคิดว่า ได้กิน ได้เล่น ได้เพลิดเพลิน ยิ่งขึ้นไป คนหนุ่ม คนสาว ก็ได้แฟน ได้คู่ก็ดีที่สุดแล้ว ผัว เมีย หากว่าได้งานทำที่ดี ที่เลี้ยงชีวิต อ่า, ได้ดี คนแก่คนเฒ่าก็ได้รับ ก็มีบุญ กุศล ที่เป็นที่พอใจก็เรียกว่าดี แต่ว่ามันยังเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น ถือมั่น ทำให้เกิดปัญหา ไม่อย่างใด ก็อย่างหนึ่ง เอ่อ, ที่จะดีแท้จริงนั้น ก็คือได้ระบบชีวิตที่เยือกเย็น ชีวิตที่เยือกเย็น ไม่มีกิเลสมาแผดเผาให้เร่าร้อน เย็นโดยประการทั้งปวง ก็เรียกว่านิพพาน เย็นชั่วคราว เฉพาะครั้ง เฉพาะเวลา เฉพาะถิ่น เฉพาะกรณีก็เรียกว่า นิพพุติ ทั้ง ๒ คำ แปลว่าเย็นเหมือนกันทั้งนั้น นิพพานก็แปลว่าเย็น นิพพุติก็แปลว่าเย็น เพียงแต่ว่ามันไม่เท่ากัน บางทีก็เป็นการเย็นชนิดที่เป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมดา ไม่ได้ตั้งใจกระทำ มันก็มี เพราะว่ากิเลสนี้มันก็เป็นสิ่งที่มีการเกิดดับเป็นธรรมดา เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป เมื่อมันดับไป ยังไม่ทันจะเกิดใหม่ มันก็มีความเย็นชนิดหนึ่งชั่วคราว ก็ยังดีกว่าไม่เย็นเสียเลย นี่ขอให้เรามีความเย็น แม้จะเป็นของชั่วคราวนี้กันไว้มากพอ จะได้นอนหลับสนิท จะไม่ปวดศีรษะ จะไม่เป็นโรคประสาท จะไม่เป็นบ้า จะไม่ต้องฆ่าตัวตาย เหมือนที่เป็นกันอยู่โดยมาก เพราะมันมีชีวิตที่ร้อน มีชีวิตที่ไม่เย็น มีชีวิตที่ถูกรบกวนอยู่ด้วยความทุกข์ตลอดเวลา บัดนี้เป็นโอกาสแห่งวิสาขบูชา เรามาน้อมจิตระลึกนึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ได้ตรัสรู้การดับทุกข์ ความดับทุกข์ วิธีดับทุกข์ แล้วก็สอนให้ทุกคนสามารถที่จะดับทุกข์ ผู้ที่ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ก็ดับทุกข์ได้ และมีความเยือกเย็นอยู่ในชีวิตของตน สมตามที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา โอกาสแห่งวิสาขบูชา ขอท่านทั้งหลายทุกคน จงระลึกนึกถึงเรื่องนี้ ทำในใจถึงเรื่องนี้ พิจารณาในเรื่องนี้ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ให้สำเร็จประโยชน์สมตามที่เป็นอภิรักษ์จิตสมัย พิเศษ และศักดิ์สิทธิ์ วันหนึ่ง วัน อ่า, ในปีหนึ่ง วันหนึ่ง ในปีหนึ่ง อย่าให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์เลย ขอให้ประสพความสุขสวัสดีอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ