แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายปาฐกถาธรรมในวันนี้ ปรารภ อภิลักขิตสมัย เฉลิมพระชนม์พรรษาแห่งสมเด็จบรมมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย เป็นสิ่งที่เราทุกคนจะต้องมีความเข้าใจ แล้วประพฤติกระทำให้ได้รับผลเต็มที่ สมตามความมุ่งหมายนั้น ๆ ทุกประการ พระมหากษัตริย์ มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราก็ได้ยึดถือหลักเกณฑ์อันนี้กันอย่างมั่นคง ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ กระทำไปจนได้เห็นผลประจักษ์ว่าเป็นความถูกต้อง ประเสริฐ มีผลดี ทำให้เกิดมี คำว่า พ่อแห่งชาติ ดังนั้นเลยกระทำให้เกิดมี วันพ่อแห่งชาติ นี่เราก็มาจัดการประกอบพิธีเฉลิมฉลองกัน อย่างสุดความสามารถดังที่จะกระทำในวันนี้
ทีนี้ก็จะได้พิจารณากันโดยละเอียดว่า การเฉลิมนั้นคืออะไร ข้อนี้ควรจะมองกันในหลายแง่ หลายมุม เพื่อความถูกต้องและสมบูรณ์ อยากจะขอร้องให้พิจารณา คำว่า เฉลิม แล้วก็ ฉลอง แล้วก็ สมโภชน์ เป็น ๓ คำ ด้วยกัน เฉลิม คือการกระทำให้งอกงาม ประเสริฐสมบูรณ์ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกว่าจะถึงความสำเร็จในขั้นสุดท้าย ส่วนคำว่า ฉลอง ก็คือการประกาศยืนยัน ด้วยความพอใจในความสำเร็จที่กำลังได้รับอยู่ ส่วนคำว่า สมโภชน์ ๆ นี้ก็คือ ยินดี ๆ ปรีดา ปราโมชย์ พอใจอย่างยิ่ง ในความสำเร็จนั้น ถึงกับจัดให้มีการเลี้ยงดู การบริโภค เพื่อให้เป็นที่ระลึกแก่ความสำเร็จ โดยสรุปก็คือว่า เฉลิม ทำให้งอกงามยิ่งขึ้นไป ฉลอง ประกาศยืนยันในความสำเร็จ สมโภชน์ ยินดีปรีดาในความสำเร็จ ซึ่งเราจะต้องประพฤติกระทำให้ครบ ทั้ง ๓ ความหมาย
ทีนี้ก็มาถึง คำว่า พระชนมายุครบ ๕ รอบ หรือ ๖๐ ปี ถือว่าเป็นปีพิเศษแห่งชีวิต เพราะถือกันเป็นหลักทั่ว ๆ ไปว่า เป็นจุดสูงสุดของ สติกำลังทั้งทางกาย และทางจิต แต่มิได้หมายความว่าจะหยุดเพียงเท่านั้น เพราะจะอาจมองดูต่อไปถึงการที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบแห่งชีวิต แล้วก็มีการกระทำที่เสริมให้สูงขึ้นไปอีกขั้น คล้าย ๆ กับว่า เป็นตอน ระยะที่มีหัวเลี้ยวหัวต่อ คำว่า ๖๐ ปี ก็มีความหมายในทางจูงใจ ให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป เป็นพิเศษ
ทีนี้ก็จะดูถึงการกระทำ ในการกระทำนี้ ยังจะต้องพิจารณากันถึงถ้อยคำ สัก ๓ คำ คือ คำว่า วิธี คำหนึ่ง แล้วก็คำว่า พิธี อีกคำหนึ่ง แล้วก็ คำว่า พิธีรีตอง อีกคำหนึ่ง
โดยภาษาบาลีแล้ว คำว่า พิธี กับ วิธี นั้นเป็นอย่างเดียวกัน เป็นคำเดียวกัน แต่พอตกมาเป็นภาษาไทย มันกลายเป็นต่างกัน คือ วิธีนั้นเป็นการกระทำ หรือเทคนิคของการกระทำ ส่วนพิธี นั้นเพียงสักว่าเป็นพิธี กลายเป็นทำพอเป็นพิธี ไม่เกี่ยวกับเทคนิคของการกระทำ พอมาถึงคำว่า พิธีรีตอง ด้วยแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่เลย ดูสิคำว่า รีตอง นี่มันจะหมายถึงอะไร มันจะเพียงแต่เอาใบตองมาลาด ๆ เข้าก็ได้ หรือประดับประดา ตกแต่งด้วยใบตอง จนกลายเป็นพิธีรีตอง ไปดังนี้ เราจะต้องทำให้ตรงตามลักษณะที่ เรียกว่า วิธี ๆ หรือเทคนิคของการกระทำ ไม่ใช่ทำพอเพียงเป็นพิธี และก็ไม่เลยเตลิดไปถึงกับว่าเป็นพิธีรีตอง ไปโน้น ขอให้นึกถึง วิธี ๆ ถึงเทคนิคของการกระทำ หลักการแห่งการกระทำ วิธีการกระทำ ก็ทำให้ครบถ้วน อย่างน้อยก็โดยนัยยะ ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ในลักษณะแห่งการเฉลิม ก็สมบูรณ์ ในลักษณะแห่งการฉลอง ก็สมบูรณ์ ลักษณะแห่งการสมโภชน์ ก็บริบูรณ์ ทั้งหมดนี้เป็นการกระทำเพื่อความคงกระพันชาตรีแห่งพระราชยภาวะ คือราชบัลลังก์ เป็นความมั่นคงของประเทศชาติ พร้อมกันไปในตัว และเป็นความปึกแผ่นของประชาชนเอง เป็นพื้นฐาน นี่แหละ คืออะไร สำหรับคำว่าการเฉลิมพระชนม์พรรษา
ทีนี้จะดูกันต่อไป ในแง่ที่ว่า มีมูลเหตุ มาอย่างไร หรือเนื่องจากอะไร จึงต้องประกอบกรรมอันนี้ ดู ๆ ไปก็จะเห็นว่า เรายังไม่รู้สึกพอใจ มั่นใจหรือแน่ใจ บางทีก็มีความว้าเหว่อยู่บางอย่าง ยังไม่มั่นใจในความมั่นคงว่า ยังไม่ถึงที่สุด และ ความเจริญยังไม่ถึงที่สุด ความหมดปัญหาก็ยังไม่หมดถึงที่สุด ความอยู่เย็นเป็นสุข ก็ยังไม่ถึงที่สุด เพื่อความถึงที่สุด เราจึงประกอบพิธีกรรมอันนี้ หรือมองอีกทางหนึ่งก็ว่า มีมูลเหตุมาจากคุณธรรม คือ กตัญญูกตเวทิตา เมื่อมีความตั้งใจที่จะสนองพระคุณนั้นด้วยการกระทำ หรือแม้ที่สุดแต่ว่า ความสำนึกในความสำคัญของพระมหากษัตริย์ ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตรย์เป็นประมุข ก็ยังเป็นมูลเหตุ ให้เราทำ เราจะต้องมีพระประมุขที่สมกับนามว่าพระประมุข ดู ๆ ไอ้กำลังกายนี่ ก็มีด้วยกันทุกคน จะกล่าวว่าอย่างเดียวกันหรือเท่าเทียมกัน ก็ได้ แต่กำลังสติปัญญา ปรีชาสามารถนั้น มีไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงต้องเลือกหาผู้เป็นประมุข โดยทุกวิถีทาง และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวอย่างยิ่ง ของมหาชนจำนวนมากมายมหาศาล ปราศจากความยึดเหนี่ยวที่ถูกต้องแล้ว ก็ย่อมจะเกิดความร้าวฉาน และล้มละลายได้ มีพระมหากษัตริย์ เป็นจุดศูนย์รวมแห่งจิตใจ เป็นเสมือนหนึ่งสิ่งประสานทุกสิ่งทุกอย่างให้ยึดมั่นกันอย่างมั่นคง ยึดมั่นราษฎร มั่นคงกับราษฎร ยึดมั่นราษฎรกับรัฐบาล ยึดถือรัฐบาล ยึดหน่วงรัฐบาลกับรัฐสภา ยึดหน่วงรัฐบาลกับสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ถ้ามีรอยร้าวหรือแตกแยกอันใดเกิดขึ้น ก็มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ประสาน เป็นผู้เหนี่ยวรั้ง เป็นจุดศูนย์รวม ที่จะต้องวิ่งเข้าหาศูนย์กลาง อย่างนี้มันก็ไม่อาจจะเกิดการแตกแยก
อนึ่ง คำว่า พระราชา มีความหมายตามพระบาลีว่า ผู้ที่กระทำให้มหาชนร้องออกมาว่า พอใจ ๆ เราต้องการจะมีผู้ที่ทำสิ่งซึ่งทุกคนร้องออกมาได้ว่า พอใจ ๆ เราจึงสนใจในการจะมีพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขอันสูงสุดดังกล่าวแล้ว เนื่องจากเหตุผลเหล่านี้ เราจึงมีการกระทำที่เรียกว่า เฉลิมพระชนม์พรรษากันทุกปี ๆ ๆ ขอให้ทำในใจ เข้าใจในวัตถุประสงค์อันนี้ แล้วก็จะสมบูรณ์ในการกระทำ
ทีนี้ก็จะดูต่อไปถึงข้อที่ว่า ทำเพื่อประโยชน์อะไร นี้เข้าใจว่าเป็นที่ มองเห็นหรือประสงค์กันอยู่ทั่ว ๆ ไปแล้ว จะสรุปความอีกทีก็ว่า เพื่อความก้าวหน้า เพื่อความมั่นคง เพื่อความปกติสุข เพื่อความปลอดภัย ของประเทศชาติ หวังผลจะให้เป็น ความก้าวหน้า ความมั่นคง ความปกติสุข ความปลอดภัยของทุกคน เพื่อทุกคนจะสามารถดำรงตนอยู่ด้วยความรู้สึกว่า ถูกต้อง ๆ และพอใจ ที่มีผู้นำที่แท้จริง ทั้งทางวัตถุ และทางจิต ทางวิญญาณ มีพระภาษาบาลียืนยันไว้ ซึ่งควรจะสนใจว่า ราชา รัฏฐัสสะ ปัญญานัง พระราชาเป็นสง่าราศีที่เชิดชูของแว่นแคว้น ความหมายอันนี้ มีความหมายที่ควรจะระลึกนึกถึง และก็กระทำให้สำเร็จประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น
ทีนี้ก็จะพิจารณากันต่อไปถึงข้อที่ว่า จะทำให้สำเร็จได้โดยวิธีใด ขอกล่าวสั้น ๆ สรุปความสั้น ๆ อย่างมีความหมายคลอบคลุมทั้งหมดว่า ความสำเร็จ ทั้งหลายเหล่านี้ จะสำเร็จมาได้ด้วยการที่เราทั้งหลาย พากันเจริญตามรอยพระยุคลบาท ด้วยทศพิธราชธรรมอย่างเต็มที่ มองไปอีกทางหนึ่งก็ว่า เราทุกคนเคารพสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงเคารพ ข้อนี้ขอให้ทำความเข้าใจดี ๆ ว่า เราเคารพพระพุทธองค์ แต่ก็มิได้ทำการเคารพในสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงเคารพ ฟังดูก็น่าแปลก หรือว่าน่าหัว เคารพพระพุทธเจ้า แต่ไม่เคารพสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคารพ ทรงเคารพ สิ่งนั้นคือ ธรรมะ เรียกในภาษาอินเดียโบราณว่า ธรรมะ เรียกในภาษาไทยเดี๋ยวนี้ว่า หน้าที่ ธรรมะ แปลว่าหน้าที่ แม้จะแปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็เรื่องหน้าที่ เขารู้จัก สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ และเรียกกันมาว่า ธรรมะ ๆ ตั้งแต่สมัยโบราณ ดึกดำบรรพ์ ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด มนุษย์คนแรกเริ่มสนใจในสิ่งนี้ จึงได้พูดออกมาเป็นคำพูดว่า หน้าที่ ๆ คือคำว่า ธรรมะ ๆ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงเคารพหน้าที่ เป็นคำยืนยันของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสไว้เอง สิ่งที่เรียกว่า หน้าที่นั้นคือ การกระทำที่ถูกต้องแก่ความรอด การกระทำที่ถูกต้องแก่ความรอด การกระทำที่ไม่เป็นไปเพื่อความรอดแล้วไม่ใช่หน้าที่ มันต้องเป็นไปเพื่อความรอด ทั้งทางกาย ทั้งทางจิต ทั้งทางวิญญาณ จึงจะเรียกว่าหน้าที่ พระพุทธองค์ทรงเคารพหน้าที่ ทรงกระทำจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ อย่างที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่ในพระพุทธประวัตินั้น นี่ขอให้เราเคารพหน้าที่ มีความถูกต้อง พอใจในหน้าที่อยู่ทุกอิริยาบถ หน้าที่หาเลี้ยงชีวิตก็ดี หน้าที่บริหารชีวิตประจำวันก็ดี หน้าที่สังคมโดยรอบด้านก็ดี ต้องกระทำไปโดยถูกต้องทุก ๆ อิริยาบถ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโอกาสนี้ เรายึดถือทศพิธราชธรรมเป็นหน้าที่ และพยายามกระทำกันอย่างมีฝามีตัว แล้วก็ให้ถูกฝาถูกตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้มีหน้าที่ทำการปกครอง และผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง ต้องมีความถูกฝาถูกตัว แก่กันและกัน ด้วยการทำหน้าที่
ทีนี้จะลองพิจารณาต่อไปดูอีกสักนิดหนึ่งว่า ใครจะเป็นคนทำหน้าที่ ก็ทุกคน ๆ ที่มีความสัมพันธ์กัน อยู่ในโลกทั้งโลกก็ได้ ทุกคนทำหน้าที่ เดี๋ยวนี้ในประเทศไทยเรา ยึดหลัก สร้างแผ่นดินทองด้วยแผ่นดินธรรม คนเหล่านั้นแหละมีหน้าที่ ที่จะสร้าง ถ้าสร้างแผ่นดินทองด้วยแผ่นดินธรรมได้จริง และสำเร็จประโยชน์ สมบูรณ์แก่ประเทศชาติ และแก่ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เป็นฝา และฝ่ายที่เป็นตัว สร้างแผ่นดินทองด้วยแผ่นดินธรรมในประเทศที่เป็นไท เป็นไท ทั้งทางวัตถุ ทั้งทางร่างกาย ทั้งทางจิต ทั้งทางสติปัญญา ไม่ต้องเป็นทาส ทางกาย ทางจิต ทางสติปัญญา หรือแม้แต่ทางวัตถุของใคร จึงจะเรียกว่าเป็นไท มิเช่นนั้นก็ยังไม่เป็นไท ทางอื่นไม่มี จะต้องสร้างแผ่นดินทองด้วยแผ่นดินธรรมในประเทศที่เป็นไท คือในแผ่นดินไทยก็ได้
แผ่นดินธรรม ๆ ในที่นี้ จะมีความหมายสมบูรณ์ถึงที่สุดได้ ก็คือ แผ่นดินของมหาชนที่ประกอบด้วยทศพิธราชธรรม ทั้งฝ่ายที่เป็นฝาและฝ่ายที่เป็นตัว และก็มีการถูกฝาถูกตัว ทุกคนพากันยินดีได้ ท้าทายได้ ยืนยันได้ ว่ามีการถูกฝาถูกตัว รัฐบาลกับรัฐสภา ก็ถูกฝาถูกตัว ราษฎรกับรัฐบาล ก็มีการถูกฝาถูกตัว ผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ก็มีฝามีตัว ถูกฝาถูกตัว เป็นการถูกฝาถูกตัวอย่างแท้จริง นี่แหละคือใคร ๆ ที่ว่าจะมีหน้าที่กระทำ ให้เกิดผลอย่างไรตามที่ต้องการ
จะขอสรุปความในที่สุดว่า เมื่อเราได้ประพฤติ กระทำหน้าที่โดยสมบูรณ์อย่างนี้แล้ว มีความถูกฝาถูกตัวแก่ทุกฝ่ายดังนี้แล้ว ทุกอย่างก็เป็นไปตามที่เราประสงค์ หรือมีไว้เป็นหลักการแห่งความประสงค์ เราจะมีองค์ปรมศาสนูปถัมภก แก่ทุก ๆ ศาสนา ตามพระราชประเพณี ทุกคนเห็นอยู่แล้ว โดยชัดเจนทีเดียวว่า พระมหากษัตริย์เป็นศาสนูปถัมภก แก่ทุกศาสนา เพราะว่ามันจำเป็นที่ในโลกต้องมีหลายศาสนา ในประเทศก็ยังมีหลายศาสนา ในบ้านเมืองก็ยังมีหลายศาสนา แม้แต่ครอบครัว บางครอบครัว ในครอบครัวเดียวก็ยังมี ถือกันหลายศาสนา มันจะต้องมีเพราะว่ามีความจำเป็นตามธรรมชาติ หรือว่าตามความรู้สึก หรือตามเหตุผลอย่างอื่น ซึ่งถ้าไปยกเลิกเข้า มันยุ่งยากลำบาก ถ้าทำให้กลมกลืนกันได้ มันก็สะดวกดาย เยือกเย็น สงบสุข เราจึงต้องมีศาสนา หลายศาสนาในโลก ในประเทศ ในบ้านเมือง แม้แต่ในครอบครัวถ้าจำเป็น จึงต้องมีศาสนาที่ถูกต้อง และเข้ากันได้ ร่วมมือกันได้ ในระหว่างศาสนา ทุก ๆ ศาสนา เพื่อทำหน้าที่ของพระศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็เรียกว่า ทำลายความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นศัตรูอันร้ายกาจของมนุษย์ ศัตรูอันร้ายกาจของมนุษย์ก็คือ ความเห็นแก่ตัว ศาสนาทุกศาสนามุ่งหมายจะกำจัดสิ่งนี้ ขอท้าทายในข้อนี้ ขอให้ไปค้นดูหัวใจหรือความมุ่งหมายของทุกศาสนา เกิดขึ้นมาในโลกเพื่อจะขจัดสิ่งเลวร้าย หรือวิกฤตการณ์ในโลก ซึ่งมันไปสรุปรวมอยู่ที่สิ่ง ๆ เดียวคือ ความเห็นแก่ตัว ของบุคคลผู้เป็นสมาชิกในโลกนั่นเอง เราจึงต้องมีความร่วมมือกันระหว่างศาสนาทุกศาสนา แม้ว่าจะมีวิธีการต่างกันในการที่จะกำจัดความเห็นแก่ตัว ก็ไม่เป็นไร ต่างศาสนาต่างใช้วิธีการของตน กำจัดความเห็นแก่ตัวออกไปเสียได้เท่าไหร่ ก็เป็นผลดีแก่มนุษย์ในโลกถึงที่สุดได้ด้วยกันทั้งนั้น ขจัดความเห็นแก่ตัวให้ออกไปเสียได้ จากมนุษย์ จากสมาชิกของโลก ทุกศาสนาสามารถ ตามแบบ ของตน ๆ มันเป็นความเหมาะแก่บุคคลของแต่ละคนเป็นคน ๆ ไป หรือตามความสมัครใจที่เขาจะถือศาสนาใดเป็นแนวทางของเขา ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศไม่มีการจำกัดการถือศาสนา
ทีนี้ก็จะมีการเป็นอยู่ที่ประกอบด้วยธรรมะ คือหน้าที่ที่ถูกต้องเพื่อความรอด ถ้าเห็นแก่ตัว มันก็ทำเพื่อตัว ถ้าไม่เห็นแก่ตัว มันก็ทำเพื่อธรรมะ เพื่อความความถูกต้อง ถ้ามันไปเห็นแก่ตัวเสียหมดแล้ว มันก็ไม่มีทางทำเพื่อธรรมะ หรือเพื่อผู้อื่น กำจัดความเห็นแก่ตัวออกไปเสียได้ ก็จะเห็นแก่ธรรมะ และเห็นแก่ผู้อื่น การเป็นอยู่ก็จะประกอบเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ผู้ที่อยู่ในฐานะสูงสุด หรือจะรวมเรียกว่า พระราชวงศ์ ก็ตั้งมั่นอยู่ด้วยสิ่ง ๆ หนึ่งซึ่งจะเรียกว่า พระพิชัยยพล(นาทีที่ ๒๔.๓๒) กำลัง เพื่อความชนะอย่างสูงสุดทุกชนิด พระพิชัยยพล กำลังแห่งชัยชนะทุกชนิด เพื่อขจัดปัญหาตามหน้าที่ ที่ว่าได้ยกย่องขึ้นไว้ในฐานะเป็นประมุขของประเทศ ที่มีระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั่นเอง มันเลยเป็นการถูกฝาถูกตัว ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ทิศทางไหน มันก็จะมีการถูกฝาถูกตัวไปหมดทุกทิศทุกทาง ถูกฝาถูกตัวแก่กันและกัน ดังนั้นจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่ง ที่เราจะมีการเฉลิมพระชนมพรรษาให้ครบถ้วน ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป มีการฉลองพระชนม์พรรษาให้สมกับที่มี และสมโภชน์พระชนม์พรรษา ด้วยความยินดีปรีดาปราโมชย์ ด้วยการที่ประกอบไปในธรรมะ ในวาระอันสมควรแก่การกระทำแห่งการนี้ เมื่อกระทำได้อย่างนี้แล้ว ขอให้คิดดูเถิด ว่า อะไรจะเหลืออยู่สำหรับเป็นปัญหา หรืออยู่ในภาวะที่ไม่น่าพอใจ มันมีแต่ภาวะที่น่าพอใจ ปราศจากปัญหาโดยประการทั้งปวง สิ่งที่เรียกว่าปัญหา ๆ นั่นก็คือ ความทุกข์ ทุกคนทนอยู่ไม่ได้ต่อสิ่งที่เรียกว่าปัญหา ล้วนแต่ดิ้นรนที่จะออกจากปัญหา ดิ้นรนเพื่อจะหมดปัญหา หรือจะขจัดปัญหาทั้งปวงให้หมดสิ้นไป มีคำพูดสั้น ๆ เพียงคำเดียวว่า หมดปัญหา นั่นแหละ เป็นความดับทุกข์ ทุก ๆ ประการ จนถึงจุดสูงสุดกล่าวคือพระนิพพาน ก็เป็นการหมดปัญหาอย่างยิ่ง
ดังนั้นขอให้เราทั้งหลาย มีความรู้ความเจ้าใจในการที่จะประกอบกรรม ในวาระที่เรียกว่าเฉลิมพระชนม์พรรษา ในความหมายของคำว่าเฉลิมก็ดี ในความหมายของคำว่าฉลองก็ดี ในความหมายของคำว่าสมโภชน์ก็ดี โดยเฉพาะในความหมายพิเศษของคำว่า มีพระชนมายุครบ ๖๐ ปี เป็นจุดที่สมควรจะภาคภูมิใจว่า ได้ขึ้นมาถึงจุดสูงสุด ในระยะหนึ่ง ในลักษณะหนึ่ง ในขั้นตอนหนึ่ง และก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนจุด หรือขั้นตอนให้สูงยิ่งขึ้นไปอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นที่น่าชื่นใจ น่าพอใจยิ่งไปกว่าเก่า
ขอให้เราทั้งหลายทุกคน มีความเข้าใจตามหน้าที่ของตน ๆ แล้วประกอบพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาให้ถูกต้องตามความหมาย หรือถูกต้องทั้งตัวพยัญชนะ ตัวอักษร และถูกต้องทั้งการกระทำ จนเกิดผลดังที่กล่าวมานี้จริง ๆ แล้วจงมีความถูกฝาถูกตัวอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ทุกทิศทุกทาง ทุก ๆ ระดับแล้ว ดำรงตน อยู่ในธรรมะ คือหน้าที่อันถูกต้อง เป็นทางแห่งความรอด มีความเจริญงอกงามในทางแห่งความรอด เป็นสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ