แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย วันอาสาฬหบูชาได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกแล้วในวันนี้ ดังที่ท่านทั้งหลายก็ได้ทราบกันอยู่แล้วเป็นอย่างดี วันสำคัญวันนี้เราได้พากันตอบสนองด้วยการบำเพ็ญ การปฏิบัติ หรือพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งโดยสมควรแก่ความสำคัญของวันนี้ อาตมาจะได้กล่าวถึงความสำคัญของวันนี้ตามสมควร เพื่อท่านทั้งหลายจะได้สนใจประพฤติปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่วันๆนี้ดังที่กล่าวแล้ว
ข้อแรกที่สุด ขอให้ระลึกนึกถึงข้อที่ว่าวันนี้เป็นวันแห่งพระธรรม เรียกสั้นๆว่าเป็นวันพระธรรมก็ได้ คือเป็นวันที่พระธรรมได้ปรากฏขึ้นในโลก หมายถึงพระธรรมตามหลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ คือเป็นวันที่พระองค์ทรงแสดงธรรมตามที่ได้ตรัสรู้มาเพื่อประโยชน์แก่สุข เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนทั้งเทวดาแลมนุษย์ ธรรมนั้นเพิ่งปรากฏในวันนี้ จึงได้เรียกว่า ปฐมเทศนา คือพระบาลีธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เราถือเอาใจความของพระสูตรๆนี้ ซึ่งก็ทรงแสดงธรรมอีกนั่นเอง มันจึงเป็นวันแห่งพระธรรม แสดงออกมาปรากฏแก่ชาวโลก แม้ว่าจะมีคนได้รับผลเพียงคนเดียวก็กล่าวได้ว่าพระธรรมได้ปรากฏแล้ว
เรามีวันพระพุทธ วันพระธรรม วันพระสงฆ์โดยหลักการอย่างนี้ จึงเรียกวันนี้ว่าเป็นวันพระธรรม ซึ่งจะเป็นเครื่องคุ้มครองโลกช่วยโลกให้รอด เราทั้งหลายจงพากันมารื่นเริงยินดี แสดงความปีติปราโมทย์ต้อนรับวันนี้ในฐานะเป็นวันสำคัญอย่างยิ่ง คือเป็นวันแห่งพระธรรม ต้อนรับพระธรรม บูชาพระธรรม เคารพพระธรรม ปฏิบัติพระธรรม ได้รับผลแห่งพระธรรมเต็มที่ในทุกๆความหมาย
ทีนี้วันแห่งพระธรรมนี้ยังเรียกได้อีกวันหนึ่งว่า วันแห่งความถูกต้อง เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงในวันนี้ทรงแสดงความถูกต้องในลักษณะ ๘ ประการ เราต้องต้อนรับการแสดงความถูกต้องของพระองค์ด้วยการประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งจะต้องวินิจฉัยกันให้ละเอียดลออสักหน่อยว่าถูกต้องอย่างไร
ในชั้นแรกนี้ มันถูกต้องเพราะว่าทรงแสดงหนทางที่ถูกต้องที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือหนทางสายกลาง ในพระบาลีธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น เรื่องแรกที่สุดก็เรื่องมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางนี้ ครั้นแสดงจบแล้วจึงแสดงเรื่องจตุราริยสัจจ์ คืออริยสัจ แสดงว่าเป็น ๒ เรื่องอยู่ด้วยกัน เรื่องความถูกต้องนั้นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ให้ละความไม่ถูกต้องหรือหนทางที่ไม่ถูกต้องนั้นเสีย มาดำเนินอยู่ในหนทางที่ถูกต้อง
เป็นการเชื่อได้ว่าในสมัยนั้นในประเทศอินเดียหรือชมพูทวีปนั้นมีข้อปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องอยู่เป็น ๒ อย่าง คือว่าเหวี่ยงสุดซ้าย เหวี่ยงสุดขวา ทางๆหนึ่งเหวี่ยงไปทางสุดซ้ายก็ว่า อ่า, มั่ว มั่ว เมา มัวเมาลุ่มหลงจมอยู่ในกาม นี่เรียกว่าเหวี่ยงซ้าย อีกทางหนึ่งก็ทรมานกายให้ลำบากด้วยคิดว่าจะรอดจะพ้นจากการทำอย่างนั้นเรียกว่ามันเหวี่ยงขวา มันไม่อยู่ตรงกลาง พระองค์ทรงแสดงว่าทั้ง ๒ อย่างนั้นเป็นเรื่องสุดโต่ง ขอให้เว้นไอ้ความเหวี่ยงสุดโต่งนี้เสียมาอยู่ตรงกลาง แล้วก็ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา ความถูกต้อง ๘ ประการ รวมกันเข้าแล้วเป็นหนทางอันเอก เป็นหนทางสายเดียว เรียกว่าทางแห่งความถูกต้องก็ได้ จะเรียกตามพระบาลีก็เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา
ทางนี้มีลักษณะไม่หย่อน ไม่ตึง หย่อนคือตามใจกิเลส ตึงก็คือเข้มงวดกวดขันต่อกิเลสจนไม่สำเร็จประโยชน์อะไร อันหนึ่งมันอ่อนข้อให้แก่กิเลส อันหนึ่งมันตึงจนไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ที่ถูกต้องนั้นต้องไม่หย่อนและไม่ตึง อีกอย่างหนึ่งพระองค์ตรัสเรียกว่า ไม่เปียกแฉะและไม่ไหม้เกรียม ความหลงใหลในกามคุณนั่นเรียกว่าเป็นฝ่ายเปียก ฝ่ายหย่อน เปียกแฉะเลอะเทอะไปหมด อีกทางหนึ่งนั้นเรียกว่าไหม้เกรียม คือทรมานร่างกาย ทำลายสมรรถภาพแห่งอายตนะคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่ แทบว่าจะให้มันหมดสมรรถภาพไป โดยคิดว่าถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่มีสมรรถภาพแล้วกิเลสก็จะหมดไปด้วยเหมือนกัน นี่เรียกว่ามันไหม้เกรียม รวมความว่าไม่สุดซ้ายไม่สุดขวา ไม่หย่อนไม่ตึง ไม่ไหม้เกรียม ไม่เปียกแฉะไม่ไหม้เกรียม เรียกว่า ความถูกต้องหรือมัชฌิมาปฏิปทา
ใจความหรือรายละเอียดความถูกต้องที่ทรงแสดงไว้นั้นทรงแสดงไว้ ๘ ประการ ซึ่งเราเรียกกันว่าหนทางมีองค์ ๘ เป็นทางสายกลาง องค์ ๘ นั้นคือความถูกต้อง ๘ ประการ ขอให้ตั้งใจฟังให้ดีๆว่า ๘ ประการนั้นเป็นอย่างไร
ถูกต้องทางกายมี ๒ ประการ คือ
ทำการงานชอบ ดำรงชีพชอบ สองอันนี้เรียกว่าเป็นความถูกต้องทางกาย เพราะเป็นการกระทำที่เนื่องกันอยู่กับกายเป็นส่วนใหญ่
ทีนี้ความถูกต้องทางวาจามีอยู่ ๑ ประการเรียกว่า สัมมาวาจา มีวาจาชอบ ไม่ อ่า, ไม่เป็นคำเท็จ ไม่เป็นคำส่อเสียด ไม่เป็นคำหยาบ ไม่เป็นคำเพ้อเจ้อ ไม่มีโทษโดยประการใดๆในทางวาจาแล้วก็เรียกว่า วาจาชอบ เรียกเต็มที่ก็ว่า สัมมาวาจา คือวาจาชอบหรือวาจาถูกต้อง
ในส่วนทางจิตนั้นทรงแสดงไว้ ๓ ประการด้วยกัน คือ
นี่ถูกต้องทางจิตมี ๓ ประการอย่างนี้ พากเพียรถูกต้อง ระลึกถูกต้อง ตั้งจิตไว้มั่นอย่างถูกต้อง
ส่วนในทางสติปัญญานั้น ทรงแสดงไว้ ๒ ประการ คือ
ที่ว่าสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องนั้น มันต้องรวมสิ่งที่เนื่องกันอยู่กับทิฏฐินี้อย่างครบถ้วนด้วย เช่นความรู้ก็ถูกต้อง ความเชื่อก็ถูกต้อง ความเข้าใจก็ถูกต้อง เหล่านี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไรในที่ควรจะรู้และควรจะกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความรู้เรื่องการดับทุกข์อย่างถูกต้อง เราทั้งรู้ดีรู้ชั่ว รู้บุญรู้บาป รู้ที่ควรจะรู้ทุกๆอย่างรวมอยู่ในข้อนี้ เราต้องมี
สัมมาสังกัปโปนั้นคือสิ่งที่มนุษย์ดำริ ประสงค์โดยปรกติ ไอ้ความดำริหรือความประสงค์ ความต้องการนั้น มันผิดก็ได้ มันถูกก็ได้ เดี๋ยวนี้เอาแต่ที่มันถูกต้อง คือดำริไปในทางที่จะไม่เบียดเบียนใคร ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น แล้วก็ไม่ดำริในทางที่ให้จมลงไปในกามคุณ แล้วก็ไม่ดำริไปในทางที่ว่ากระทบกระทั่งถึงผู้อื่นโดยไม่รับผิดชอบแม้ไม่เจตนา อย่างนี้ก็เรียกว่ามันไม่ถูกต้อง ต้องไม่กระทำให้เกิดโทษเหล่านี้ ความหวังนั้นจึงจะเป็นความหวังที่ถูกต้อง เรียกว่าสัมมาสังกัปโป
ถูกต้องทางกาย ๒ อย่าง ถูกต้องทางวาจา ๑ อย่าง ถูกต้องทางจิต ๓ อย่าง ถูกต้องทางสติปัญญาอีก ๒ อย่าง รวมกันเป็น ๘ อย่าง ถูกต้องทั้ง ๘ อย่างนี้มาผสมกันเป็นหนทางอันเอก เรียกว่า อริยมรรค อริยมรรคา จากความทุกข์ไปสู่ความดับทุกข์ นี่เรียกว่าหนทางแห่งความถูกต้อง ประกอบไปด้วย องค์ ๘ ประการ เราจะต้องระลึกนึกถึงเป็นอย่างยิ่งในวันนี้ซึ่งเป็นวันแห่งความถูกต้อง หรือเป็นวันแห่งพระธรรม ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ทีนี้จะดูถึงความหมายของความถูกต้อง ความถูกต้องมีความหมายอย่างไรบ้างนี่เป็นสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ทั่วๆไป แม้ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาเขาก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับความหมายของคำว่าถูกต้อง มาถามกันอยู่เสมอว่าถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้การศึกษาในโลกนี้มันออกจะเพ้อเจ้อ มีหลักทางตรรกวิทยาหรือ Logic บ้าง มีหลักทางการคำนวณที่เรียกว่า Philosophy บ้าง มีหลายอย่าง ล้วนแต่ให้ความหมายไปตามแบบของตนๆ จนไม่สำเร็จประโยชน์ก็มี จนฟุ้งซ่านไปเสียก็มี เรียกว่าความหมายของความถูกต้องนี้มีหลายประการ
นี่เราจะเอาตามหลักของพระพุทธศาสนา ตามหลักของพระพุทธศาสนา ความถูกต้องนั้นก็คือไม่เป็นอันตราย ไม่เป็นโทษแก่ฝ่ายใด มีแต่คุณมีแต่ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ความคิด คำพูด หรือการกระทำใดๆ ถ้าว่าถูกต้องตามหลักธรรมะแล้วไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่ฝ่ายใด ทั้งฝ่ายเรา ทั้งฝ่ายเขา ทั้งฝ่ายตนเอง ทั้งฝ่ายผู้อื่น มีแต่ให้เกิดประโยชน์สุขเกื้อกูลแก่ทุกฝ่ายทั้งฝ่ายเราและทั้งฝ่ายผู้อื่น ถ้าเป็นอย่างนี้เรียกว่าถูกต้องตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา ความสำคัญอยู่ที่ว่า แก่ทุกฝ่าย มันไม่ใช่เฉพาะฝ่ายเราฝ่ายเดียว
ทีนี้ดูให้ละเอียดลงไปก็ว่า ไอ้ความถูกต้องนี้มันต้องถูกต้องอยู่ในลักษณะที่มนุษย์ปฏิบัติได้ ไม่เหลือวิสัย ถ้าความถูกต้องเหลือวิสัยมนุษย์ปฏิบัติไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ฉะนั้นต้องเน้นอยู่ในข้อที่ว่าอยู่ในลักษณะที่มนุษย์อาจจะปฏิบัติได้และไม่เหลือวิสัย จึงจะเรียกว่าถูกต้อง ถ้ามันถูกต้องหรือดีเกินไปจนมนุษย์ปฏิบัติไม่ได้เหลือวิสัย มันก็คือไม่ถูกต้อง หรือมันไม่ๆสำเร็จประโยชน์อะไร ข้อนี้ก็ควรสนใจกันให้มากที่ว่าจะถูกต้องหรือดีหรืองามหรืออะไรนั่น มันต้องอยู่ในลักษณะวิสัยที่มนุษย์สามารถปฏิบัติได้ แล้วสามารถรับผลของการปฏิบัติได้ด้วย นี้ก็จะเรียกว่าความถูกต้อง ความหมายหนึ่ง
ทีนี้ความหมายต่อไปก็อยากจะพูดว่า ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของความเป็นมนุษย์ มนุษย์มีวิวัฒนาการมาอย่างไรกี่ขั้นกี่ตอน ความถูกต้องต้องถูกแก่ความเป็นมนุษย์นั้นทุกขั้นทุกตอน ถ้าเอากันอย่างรอบนอกหรือยืดยาว มนุษย์มีขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการตั้งต้นแต่เป็นคนป่าคล้ายๆสัตว์ แล้วเป็นครึ่งคน แล้วก็เป็นคนป่า แล้วก็เป็นดีขึ้นๆ จนกระทั่งเป็นมนุษย์แห่งยุคปัจจุบัน มีขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการอย่างนี้ ธรรมะนั้นต้องถูกต้องกับทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการนั้น ซึ่งมันก็ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาแหละเพราะมนุษย์มันเปลี่ยน ความถูกต้องสำหรับมนุษย์ก็เปลี่ยนมาตามความเปลี่ยนของมนุษย์ นี่เรียกว่าความถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา
หรือจะเอาขั้นตอนในระยะใกล้ๆแคบๆ เช่นว่าเกิดจากท้องแม่เรียกว่าตอนหนึ่ง เป็นทารกแบเบาะก็ตอนหนึ่ง เป็นเด็กทารกวิ่งได้ก็ตอนหนึ่ง เป็นเด็กโตแล้วตอนหนึ่ง เป็นวัยรุ่นตอนหนึ่ง เป็นหนุ่มเป็นสาวตอนหนึ่ง เป็นพ่อบ้านแม่เรือนตอนหนึ่ง เป็นคนแก่คนเฒ่านี้ก็ตอนหนึ่ง เรียกว่าขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการด้วยเหมือนกัน ในชั่วชีวิตเดียวก็ยังมีหลายขั้นตอน แม้กระนั้นธรรมะก็ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์นั้นทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ
ธรรมะจึงมีสำหรับทุกขั้นตอนแม้ว่ายังอยู่ในท้อง ถ้าอยู่ในท้องก็เป็นหน้าที่ของมารดาผู้อุ้มท้องแหละจะต้องประพฤติปฏิบัติเพื่อลูกในท้องมันจะได้รับความถูกต้องของพระธรรม เป็นทารกออกมาแล้วก็แวดล้อมให้ถูกต้อง พอเติบโตขึ้นมาเป็นๆทารกแบเบาะมันก็ต้องมีความถูกต้อง จน ถูกต้องจนมันเป็นคนตลอดชีวิตของคน มีความถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ
ทีนี้มาไม ในบัดนี้เรามีการงานหลักหรือหลักการที่เป็นหลักๆ มีการเรียนเรียกว่าปริยัติ มีการกระทำเรียกว่าปฏิบัติ มีการรับผลของการปฏิบัติเรียกว่าปฏิเวธ ในชีวิตคนเรามีการเรียน มีการประพฤติกระทำ มีการได้รับผลแห่งการกระทำ ที่ในวัดนี่เขาเรียกกันว่า ถูก อ่า, ทะ ทางปริยัติ ทางปฏิบัติ ทางปฏิเวธ ที่บ้านเขาก็เรียกกันว่าถูกต้องในการเรียน ในการกระทำ ในการได้รับผลของการกระทำ มันต้องถูกต้องหมด เมื่อเรียนก็เรียนถูกต้อง เรียนอย่างถูกต้อง เรียนสิ่งที่ถูกต้อง พอปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องในสิ่งที่มันถูกต้อง แล้วมันก็จะได้รับผลเป็นความถูกต้อง ก็เลยเป็นความถูกต้องทั้ง ๓ สถาน เรียนก็ถูกต้อง กระทำก็ถูกต้อง รับผลการกระทำก็ถูกต้อง มันก็เป็นไปเพื่อความสุข สงบ สันติภาพแก่โลกแก่ทุกคน ทั้งเทวดาแลมนุษย์ นี้ตามสำนวนของพระพุทธเจ้าท่านว่า แก่มหาชน ทั้งเทวดาแลมนุษย์ เทวดามีความทุกข์แบบเทวดา มนุษย์มีความทุกข์แบบมนุษย์ มนุษย์ที่คล้ายเทวดาก็ทุกข์แบบมนุษย์ที่คล้ายเทวดา มนุษย์ยากจนข้นแค้นก็มีความทุกข์ไปตามแบบยากจนข้นแค้น ก็เรียกว่าให้มันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน ทั้งเทวดาแลมนุษย์ มันก็หมดแล้ว ไม่ยกเว้นอะไรแล้วในโลกนี้
แล้วความถูกต้องนี้ต้องมีลักษณะที่เห็นได้ด้วยตนเอง รู้สึกได้ด้วยตนเอง รู้อยู่ด้วยตนเอง เพราะว่ามันเป็นการรู้เอง ทำเอง ปฏิบัติเอง ได้รับผลเอง ดังนั้นมันจึงเป็นการรู้อยู่ในใจของผู้นั้นเอง ก็เรียกว่าเป็น สันทิฏฐิโก คำนี้ช่วยจำไว้ให้มากๆว่ามันเห็นเอง รู้สึกเอง เป็น สันทิฏฐิโก ตลอดไปถึงว่ามันไม่ต้องจำกัดเวลา มันมีไอ้หลักว่าเรียนเมื่อไรรู้เมื่อนั้น ทำเมื่อไรก็มีผลเมื่อนั้น
แล้วก็ไอ้กฎความจริงอันนี้มันไม่ขึ้นอยู่กับเวลา กฎความจริงอันนี้ไม่ขึ้นอยู่กับเวลา เป็นความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าเปลี่ยน ถ้าความจริงเปลี่ยนแปลงเรียกว่าความจริงมันขึ้นอยู่กับเวลา นี้ไม่ใช่ความจริง เราจะต้องมีความถูกต้องอยู่ในเนื้อในตัว อยู่ที่กาย ที่วาจา ที่ใจ ชัดเจนแจ่มแจ้งเพียงพอจนกล้าเรียกผู้อื่นว่ามา มาดูๆ มาดูความถูกต้องของฉัน ท้าให้พิสูจน์ เอ้า, พิสูจน์ว่าอะไรมันเป็นความไม่ถูกต้อง นี่เพราะเรามีความถูกต้องอย่างแท้จริงและสมบูรณ์อย่างนี้ เราจึงมีธรรมะหรือพระธรรมชนิดที่เป็น เอหิปัสสิโก มา จงมาดู จงมาดู กล้าเรียกร้องให้คนมาดูมาพิสูจน์
นี่คือความหมายของความถูกต้องว่าไม่ทำอันตรายแก่ใคร มีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย อยู่ในลักษณะที่ไม่เหลือวิสัยของมนุษย์ ถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ทั้งโดยการเล่าเรียน โดยการประทิด ประ ประพฤติปฏิบัติ และการรับผลของการปฏิบัติ ทุกสิ่งนี้รู้สึกประจักษ์อยู่แก่ใจ
เอาแล้ว ทีนี้ก็จะพูดถึงการปฏิบัติความถูกต้องกันบ้าง มีสติควบคุมความถูกต้องอยู่ตลอดเวลา จนรู้สึกว่าตัวเราปฏิบัติถูกต้องแล้ว เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องอะไรก็ตามที่เรากำลังสนใจปฏิบัติอยู่ ก็ปฏิบัติอยู่อย่างถูกต้องจนรู้สึกแก่ตัวเองว่ามันถูกต้อง ถูกต้องและพอใจ ถูกต้องเป็นที่พอใจ ทำอะไรๆให้รู้สึกว่าถูกต้องเป็นที่พอใจในทุกกรณี ไอ้สิ่งที่เราทำให้ถูกต้องได้ด้วยการปฏิบัตินี่เราก็สามารถจะทำ อ่า, จะปฏิบัติให้จนมีความรู้สึกว่าถูกต้องและพอใจตลอดชีวิตนี่
ทีนี้ถ้าในกรณีที่เราทำไม่ได้หรือเราไม่ได้ทำ มันเป็นเรื่องความเจ็บความไข้ ความเป็นความตาย เรื่องอุบัติเหตุ เรื่องธรรมชาติแปรปรวน เรื่องอะไรต่างๆเข้ามากระทบเรา เราจะรู้สึกว่าถูกต้องได้อย่างไร ข้อนี้บางคนคงไม่ยอมรับ แต่ถ้าตามความเป็นจริงนั้น เราต้องมีความรู้ในชั้นสูงที่เรียกว่าชั้นปรมัตถ์น่ะ ว่า อ้อ, มันก็ถูกต้องแล้วนี่ มันเกิดมาในโลกนี้ เมื่อเกิดมาในโลกนี้มันก็ต้องเป็นอย่างนี้นี่ เกิดมาในโลกนี้มันต้องมีความเจ็บความไข้อย่างนี้ นี่ก็ ก็ถูกต้องแล้วที่เราได้เจ็บไข้ เรากลับไม่มีความทุกข์เพราะความแก่ ความเจ็บ ความตาย แก้ไขกันไปตามเรื่องโดยไม่ต้องมีความทุกข์
ถ้ามันเป็นอุบัติเหตุของธรรมชาติ เช่นว่ามันมีน้ำท่วม มีไฟไหม้ มีอะไรก็ตามที่มันเผอิญเป็น ก็มันถูกต้องแล้ว เมื่ออยู่ในโลกนี้มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ เอ้า, ก็ถูกต้องแล้ว ก็ถูกต้องแล้ว ไม่เสียใจไม่อะไร แล้วก็แก้ไขกันไปตามเรื่องให้พ้นจากภัยเหล่านั้น นี่คนๆชนิดนี้มันถูกต้องๆ แล้วพอใจไปหมด ให้มันทุกเวลา ในใจรู้สึกว่าถูกต้องและพอใจทุกสถานที่ ทุกหนทุกแห่ง ก็ถูกต้องและพอใจ ทุกอิริยาบถเคลื่อนไหว นะ อ่า, นั่ง นอน ยืน เดิน ก็ถูกต้อง จนกระทั่งว่าทุกครั้งที่หายใจเข้าออกก็รู้สึกอยู่ว่ามันถูกต้อง มันถูกต้อง
ตื่นนอนขึ้นมายังไม่ทันลุกจากที่นอนก็คำนึงคำนวณเห็น อ้าว, ถูกต้องแล้ว รอดชีวิตมาวันหนึ่งแล้ว ทีนี้จะไปล้างหน้า ก็หยิบขันมาล้างหน้า มันก็ถูกต้องแล้ว รู้สึกอยู่ตอด ตลอดเวลาว่านี้มันทำถูกต้องแล้ว นี้ไปอาบน้ำมันก็ถูกต้องทุกอิริยาบถของการอาบน้ำ ไปรับประทานอาหารก็ถูกต้องทุกอิริยาบถ รับประทานอาหารอยู่ด้วยความรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องและพอใจและพอดี ไม่มีกิเลส แล้วแต่งตัว เอ้า, ก็ถูกต้อง ไปทำงานก็ถูกต้อง นั่งทำงานอยู่ก็ถูกต้อง พักระยะ ระยะก็ถูกต้อง งานเสร็จก็ถูกต้อง เตรียมตัวกลับบ้านก็ถูกต้อง มาขึ้นบ้านเรือนใหม่ก็ถูกต้อง อาบน้ำก็ถูกต้อง กินข้าวถูกต้อง ถึงเวลาจะนอนมันก็สรุปไอ้ความถูกต้องนี้ให้เป็นความถูกต้องอันเดียวกันหมด ว่าถูกต้องทุกอิริยาบถ ถูกต้องทุกเวลา ถูกต้องทุกสถานที่ เห็นความถูกต้องในตัวตนอย่างแท้จริงดังนี้แล้ว ก็ยกมือไหว้ตัวเอง
อยากจะพูดว่าเขากราบ ๓ ครั้งก่อนนอนน่ะ กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือจะกรา กราบ ๔ ครั้ง กราบครูบาอาจารย์อะไรก็ตามเถอะ ขอๆเติมอีกครั้งหนึ่งว่า กราบตัวเอง กราบความถูกต้องของตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเอง มีความถูกต้องชุ่มชื่นอยู่ในใจ เป็นสวรรค์อันแท้จริง สวรรค์นี้แท้จริงเพราะปรากฏอยู่ในใจจริงๆ ไสว สวรรค์บนฟ้า นรกใต้ดินนั้นเขาพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้านะ ไม่ใช่ของพุทธศาสนานะ พลัดเข้ามาในพุทธศาสนาก็เพียงว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งผลดีผลร้ายเท่านั้นแหละ แล้วก็ยังมีการสอนว่าทำอย่างนั้นก็ไปสวรรค์ ทำอย่างนี้ก็ไปนรกเหมือนกัน แต่ตัวสวรรค์ตัวนรกนั้นมันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสเองว่านรกสวรรค์ที่แท้จริงอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอทำผิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็เป็นนรก พอทำถูกต้องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็เป็นสวรรค์
ขอให้ทุกคนได้มองเห็นความถูกต้องของตนตลอดเวลา พอถึงเวลาจะนอนก็ยกมือไหว้ตัวเองได้ พอใจในความถูกต้องของตน ก็จะได้ชื่อว่าอยู่ในสวรรค์แท้จริงไม่ใช่หลอกลวง ไม่ใช่หลอกให้ทำดี ไม่ใช่เป็นเหยื่อล่อเด็กใดๆก็หามิได้ เรามีการกระทำที่ถูกต้องมาทั้งวันตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ พอจะนอนสักทีก็มองเห็นความดีอันนี้ ยกมือไหว้ตัวเองเป็นสวรรค์ นั่งพักอยู่ในสวรรค์สักครู่ก็ได้ แล้วเดี๋ยวก็ค่อยหลับต่อไป หลับด้วยความถูกต้องแล้วก็จะตื่นขึ้นมาด้วยความถูกต้องอีก นี้เรียกว่ามีพระธรรม มีธรรมะ มีความถูกต้องอยู่กับเนื้อกับตัว เรียกว่าเป็น ธรรมชีวี มีความถูกต้องอยู่กับเนื้อกับตัว ทำได้อย่างนี้ก็ไม่เสียทีที่ว่าเป็นพุทธบริษัท เป็นพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้าต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทำได้อย่างนี้ก็ไม่เสียทีที่เป็นพุทธบริษัท ไม่ต้องเสียเกียรติของความเป็นพุทธบริษัท และทำได้อย่างนี้สมกับที่เป็นมนุษย์ที่พบพระพุทธศาสนา แม้จะมองกันในแง่ของมนุษย์ล้วนๆเราก็ได้ทำถูกต้องแล้ว เป็นมนุษย์ที่ถูกต้องไม่เสียชาติเกิด
ขอให้เราทั้งหลายสำนึกในความถูกต้องทุกอย่างทุกประการ มีผลอย่างนี้แก่เรา เราทำให้ได้อย่างนี้ เป็นชีวิตของความถูกต้อง นี่ใช้เป็นเครื่องต้อนรับวันอาสาฬหบูชา เป็นการปฏิบัติบูชา บูชาด้วยการปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้า เป็นการปฏิบัติสูงสุด เป็นการบูชาอย่างสูงสุดต่อพระพุทธองค์ เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะนำมาระลึกนึกถึงแล้วประพฤติกัน กระทำกันในคาบสมัยแห่งอาสาฬหบูชา ยังความเป็นพุทธบริษัทของตนให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนายิ่งๆขึ้นไป แล้วมีความสุขสวัสดีอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ.
เอ้า, ทีนี้เรื่อง ทีนี้เรื่องที่สอง
ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย บัดนี้มาถึงคาบสมัยแห่งการจำพรรษา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่ทั่วๆไปในหมู่พุทธบริษัท เราต้อนรับเทศกาลเข้าพรรษาตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาหลายอย่างหลายประการ ทั้งที่วัด ทั้งที่บ้าน ขอให้สนใจความหมายของคำว่า พรรษา หรือจำพรรษา หรือเข้าพรรษาให้ถูกต้อง แล้วประพฤติให้สำเร็จประโยชน์แก่ทุกคน ทั้งที่เป็นคฤหัสถ์และเป็นบรรพชิต
โดยทั่วไปเข้าใจกันว่าเรื่องเข้าพรรษานี้เป็นเรื่องของพระ ไม่ใช่เรื่องของชาวบ้าน นี้มันก็ยังไม่ถูก เพราะว่าแม้จะมองดูอย่างผิวเผินที่สุดมันก็เป็นเรื่องของชาวบ้านอยู่ในตัว เพราะชาวบ้านได้พากันบำเพ็ญกุศลนานาชนิดเนื่องในโอกาสเข้าพรรษา มันก็กลายเป็นเรื่องของชาวบ้านอยู่แล้ว ทีนี้อยากจะให้มองให้ยิ่งไปกว่านั้น คือให้ได้รับประโยชน์แห่งกาลพรรษานี้ กาลพรรษานี้ เต็มที่พอๆกันกับที่บรรพชิตได้รับ
ฆราวาสจะสามารถได้รับประโยชน์ของคำว่าพรรษาไม่น้อยกว่าบรรพชิต ข้อนี้จะสำเร็จได้ด้วยการที่ทำอะไรให้ตรงตามความหมายของคำว่า จำพรรษา ขอให้ทำความเข้าใจกันตอนนี้ให้ดีๆเสียก่อน พรรษา พรรษามันแปลว่าฝน แปลว่าฤดูฝน จำพรรษาก็คือว่าไม่เดินทางตลอดฤดูฝน แต่ว่าอยู่กับที่นั้นไม่ใช่อยู่เปล่า ได้พยายามประพฤติกระทำอะไรให้ดีที่สุดที่จะทำได้จนตลอดฤดูฝน แล้วจึงจะจาริกไป ทำประโยชน์อย่างเคลื่อนที่ ถ้าเป็นฤดูฝนทำประโยชน์ชนิดอยู่กับที่ จะทำประโยชน์ตนก็ได้ ประโยชน์ผู้อื่นก็ได้ ชนิดอยู่กับที่เรียกว่าจำพรรษา พอออกพรรษาสิ้นฤดูฝนแล้วก็เดินทางไปก็ทำประโยชน์ตนก็ได้ ประโยชน์ผู้อื่นก็ได้ในลักษณะที่เคลื่อนที่
ทีนี้ก็มาพิจารณาดูในข้อที่ว่าอยู่กับที่ตลอดฤดูฝนนั้นทำอะไร ภิกษุทั้งหลายก็พยายามศึกษา พยายามปฏิบัติ ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าตามทางของธรรมะในพระพุทธศาสนาชนิดที่เรียกว่า ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ในพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งเต็มที่ในเวลาพรรษาตลอดพรรษา คำว่าพรหมจรรย์นี้ก็แปลว่าประพฤติประเสริฐ ประเสริฐที่ตรงไหน ประเสริฐตรงที่ดับทุกข์ได้ จะดับทุกข์ได้ต้องทำให้มันถูกต้อง แล้วก็ทำจริงๆ ทำสุดความสามารถ จึงต้องศึกษาให้มีความรู้ถูกต้อง ครั้นมีความรู้ถูกต้องแล้วก็ประพฤติปฏิบัติให้จริงเต็มที่สุดความสามารถ ผลจะต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาตามมากตามน้อย ตามสมควรแก่การปฏิบัติ
ภิกษุก็ทำไปตามสิกขาวินัย หรือธรรมวินัยของภิกษุ ชาวบ้านก็ทำไปตามระเบียบวินัยหรือสิกขาของชาวบ้านที่เป็นฆราวาส ขอแต่ให้ทำดีที่สุดเต็มความสามารถตลอดระยะกาลฝน ตลอดฤดูฝนก็เรียกว่าจำพรรษาทั้งนั้น ดังนั้นฆราวาสจึงตั้งใจจะทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งที่เห็นว่าดีที่สุด แล้วก็ทำสุดความสามารถตลอดฤดูฝน
ทีนี้อาตมาก็จะขอเสนอสักอย่างหนึ่งว่า ประพฤติให้ดีที่สุดตลอดฤดูฝน เป็นเสมือนหนึ่งจำพรรษา สำหรับพวกฆราวาสก็คือทำงานให้สนุก ทำงานให้สนุกตลอดพรรษา อย่าเพ่อหัวเราะ ผู้ฟัง อย่าเพ่อหัวเราะ ว่าทำงานให้สนุกตลอดพรรษานั่นแหละคือการจำพรรษาของฆราวาส
ทีนี้จะอธิบายไอ้คำว่าทำงานให้สนุกต่อไปอีก ทำงานให้สนุกแล้วก็เป็นสุข รู้สึกเป็นสุขเสียเมื่อกำลังทำงานนั้นเอง ทำงานให้สนุก ถ้าสนุกมันก็พอใจ พอใจก็เป็นสุข นั้นเราก็ได้เลยได้รับความสุขโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ คนโง่ๆนั่นเขาทำงานสะสมเงินไว้แล้วไปซื้อความหลอกลวงว่าเป็นความสุข ไปซื้อความหลอกลวงทางกามารมณ์ว่าเป็นความสุข เงินๆหมดไม่พอใช้ ต้องคดต้องโกง ต้องคอรัปชั่นกันก็มี เพราะนั่นมันไม่ใช่ความสุข มันเป็นความหลอกลวงของความสุข ต้องซื้อด้วยเงิน ถ้าเป็นความสุขแท้จริงไม่ต้องซื้อด้วยอะไรเลย ทำงานให้สนุกแล้วก็พอใจ เมื่อพอใจก็เป็นสุข ไอ้เงินที่เป็นผลของงานก็ไม่ต้องใช้มันก็เหลืออยู่เยอะแยะ นี่ทำงานให้สนุกได้รับความสุขที่แท้จริง เงินกลับเหลือเยอะแยะ
ถ้าไปหลงความสุขหลอกลวงเงินก็ไม่พอใช้ ไอ้ตัวเองก็ไม่รู้สึกเป็นสุขอะไร คือเร่าร้อนอยู่ด้วยความถูกกระตุ้นด้วยไอ้สิ่งกระตุ้นของกิเลสนั้นน่ะ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอะไรก็ประดังกันเข้ามา เพราะมันเป็นเครือเดียวกันหมด ถ้ามีความรัก เอ้า, มันก็ต้องมีความโกรธแหละ คือเมื่อมันมีความรักแล้วมันก็ไม่ได้ตามความรักเสมอไป มันก็ต้องมีความโกรธ มันก็มีคู่อิจฉา มีความเกลียด มีอันตรายคือความกลัว มันเนื่องกันอยู่ไอ้ในสิ่งเหล่านี้
นี้เรามาทำงานให้สนุกกันเสียดีกว่า แล้วจะได้รู้สึกเป็นสุขเมื่อกำลังทำงาน งานคืออะไรที่จะทำให้เป็นสุขได้ คนเขาไม่เข้าใจ เขาเห็นว่างานนี้มันเหนื่อย ทำงานแต่น้อยเอาเงินมากๆแล้วก็ดี นั่นน่ะเพราะเขาไม่รู้สึกว่างานๆนั้นคืออะไร เขาจึงรู้สึกเหนื่อยเพราะไม่ชอบงาน ไม่อยากจะทำงาน คำว่างานนั้นคือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต การงานนั้นคือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตต้องทำงานคือทำหน้าที่ คำว่าหน้าที่ในภาษาไทยนั้นเป็นคำเดียวกับคำว่าธรรมะในภาษาบาลี ในภาษาบาลีออกชื่อว่าธรรมะ ธรรมะคำนี้แปลว่าหน้าที่ ในภาษาไทยเราใช้คำว่าหน้าที่ตามแบบภาษาไทย ฉะนั้นคำว่าหน้าที่กับคำว่าธรรมะนั้นคือสิ่งเดียวกัน
เมื่อมนุษย์คนแรกที่พ้นมาจากความเป็นคนป่าน่ะ ที่ยังๆๆเป็นสัตว์ แล้วเป็นคนครึ่งคนครึ่งสัตว์ แล้วเป็นไอ้คนครั้งแรกเหมือนกับ เสมือนคนป่าน่ะ พอมันเริ่มสังเกตเห็นว่า โอ, มันมีหน้าที่ที่จะต้องทำนี่ ไอ้สิ่งที่มันสังเกตเห็นหรือหน้าที่นั้นมันๆเรียกชื่อว่าธรรมะ ธรรมะในภาษาที่นั่นยุคนั้นน่ะ คำว่าธรรมะๆมันเกิดขึ้นในฐานะที่เป็นหน้าที่
ทีนี้ดูที่คำว่าธรรมะ ธรรมะ เดี๋ยวนี้ ในภาษาบาลีเดี๋ยวนี้คำว่าธรรมะนี่คำนี้มันแปลว่าทรงไว้ซึ่งชีวิต ธร ธร แปลว่าทรงไว้ ยกขึ้นไว้ ชูขึ้นไว้ ธรฺม นี่แปลว่าสิ่งที่จะยกขึ้นไว้ชูขึ้นไว้ซึ่งชีวิต สำหรับสิ่งที่มีชีวิต เมื่อสิ่งที่มีชีวิตประพฤติหน้าที่ ไอ้หน้าที่หรือธรรมะก็ทรงคนนั้นไว้ให้รอดชีวิตและให้เจริญยิ่งๆขึ้นไปนั่น ธรรมะหมายความว่าอย่างนั้น ทางร่างกายก็ไม่ตาย ทางจิตก็ไม่ตาย แล้วก็ทางหน้าที่การงาน ไอ้ความอยู่เป็นสุขก็ยิ่งๆ ก็เจริญยิ่งๆขึ้นไปนี้ คนก็ต้องทำหน้าที่ของคน สัตว์ก็ต้องทำหน้าที่ของสัตว์ ต้นไม้ต้นไร่นี้ก็ต้องทำหน้าที่ตามแบบของต้นไม้ต้นไร่มันจึงไม่ตาย ต้นไม้มันก็ไม่ตายเพราะมันทำหน้าที่ทั้งกลางวันและกลางคืนนี่
เขาว่า พวกนักวิทยาศาสตร์นั่นเขาว่าต้นไม้นี่มันทำงานทั้งกลางวันกลางคืนน่ะ นี่พอมีแสงแดดอย่างนี้มันก็ย่อยอาหาร เปลี่ยนๆอาหารที่ดูดขึ้นไปน่ะเป็นอาหารเลี้ยงต้น เป็นใบ เป็นดอก เป็นต้น กลางคืนก็ยังดูดน้ำ ดูดอาหาร ดูดแร่ธาตุ หรือว่าเจริญงอกงามด้วยอาหารที่ปรุงไว้ตั้งแต่กลางวันอย่างนี้ ก็เลยทำงาน ๒๔ ชั่วโมง ไม่ต้องนอนหลับกันก็ได้ นับว่าเก่งมาก คนสู้ไม่ได้ คนทำงาน ๖ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมงก็ยังเบื่อแล้ว
สัตว์เดรัจฉานก็ดูยังจะทำงานซื่อตรงต่อหน้าที่ ไม่เอาเปรียบหน้าที่ ไม่หลบหลีกหน้าที่ ไม่โกงเวลาทำงานเหมือนคน พอมาถึงคนนี่ไม่รู้จักความประเสริฐของการงาน รู้จักแต่ว่าจะเอร็ดอร่อย สนุกสนาน ก็โกงเวลาไปเอร็ดอร่อยสนุกสนานเสียมากกว่าที่จะทำงาน นี่คนจึงเอาเปรียบการงาน เอาเปรียบเวลา คดโกงเวลา เมื่อใดทำหน้าที่การงาน เมื่อนั้นแหละคือการประพฤติธรรม ธรรมคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ไปดูให้ดีจะยิ่งเห็น ฉะนั้นเมื่อใดทำหน้าที่เมื่อนั้นน่ะคือปฏิบัติธรรมะ ยิ่งมีเหงื่อยิ่งมีธรรมะ นี่ไม่มีใครเชื่อก็ได้ จะบอกว่ายิ่งทำงานยิ่งมีเหงื่อมาก ออกเหงื่อมากนั่นยิ่งมีธรรมะมาก เพราะว่ามันทำจริง มันทำจริง มันมีธรรมะมาก
หน้าที่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ ยิ่งมีเหงื่อออกมากก็ยิ่งมีการทำหน้าที่มาก ยิ่งมีธรรมะมาก ทำหน้าที่ที่ไหนก็มีธรรมะที่นั่น ทำนาอยู่กลางนาก็มีธรรมะที่กลางนา ทำสวนอยู่ในสวนก็มีธรรมะในสวน ธรรมะอยู่ที่ร้านค้าขายก็มีธรรมะในร้านค้าขาย ทำงานหน้าที่ราชการอยู่ที่ออฟฟิศราชการก็มีงะ อ่า, ธรรมะอยู่ที่หน้าที่ราชการที่ที่ทำงาน เป็นกรรมกรอยู่กลางถนน กลางทุ่งนา ในน้ำ แจวเรือจ้าง ถีบสามล้อ ล้างท่อถนน มันก็มีธรรมะอยู่ที่การงานนั้น กระทั่งว่ามันนั่งขอทานอยู่อย่างถูกต้องมันก็มีธรรมะอยู่ที่ๆนั่งขอทานนั่นแหละ ไม่เท่าไรธรรมะจะช่วย จะช่วยให้มันพ้นจากความเป็นคนขอทาน นี่หมายความว่าเขาซื่อตรงต่อหน้าที่ของเขา คือหน้าที่ของคนขอทาน ทำอย่างดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ไม่เป็นขอทานอันธพาลเลย ไม่เท่าไรก็จะพ้นจากความเป็นคนขอทาน นี่ธรรมะช่วยอย่างนี้ ธรรมะช่วยยกช่วยชูขึ้นมาอย่างนี้จนพ้นจากสภาพของความเป็นคนขอทาน
ทำหน้าที่ที่ถูกต้องเมื่อไรที่ไหนก็มีธรรมะที่นั่นและเมื่อนั้น ขอให้มองเห็นอย่างนี้ ในโบสถ์ ในวัดอาจจะไม่มีธรรมะก็ได้ ถ้าคนที่อยู่ในโบสถ์ในวัดไม่ทำหน้าที่ เอาสิ ถ้าในโบสถ์มีแต่นั่งสั่นเซียมซี นั่งขอร้องบนบานอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ทำหน้าที่ ในโบสถ์น่ะไม่มีธรรมะหรอก ที่ทุ่งนาที่ทำงานอยู่ตัวเป็นเกลียว เหงื่อไหลไคลย้อยนี่กลับจะมีธรรมะ ที่ไหนทำหน้าที่ที่นั้นมีธรรมะ ที่ไหนไม่ทำหน้าที่ไม่มีธรรมะ ในวัดไม่ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องก็ไม่มีธรรมะ ชาวนาชาวสวนอยู่กลางนากลางสวนกลับจะมีธรรมะ มันน่าละอายสักเท่าไรนี่ นี่พูดแทนตัวเอง
ทีนี้ท่านทั้งหลายจงกำหนดไว้ดีๆว่าธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ เราจะต้องรู้จักว่าไอ้หน้าที่การงาน หน้าที่การงานนั่นแหละคือธรรมะที่เราจะต้องเคารพ ที่เราจะต้องยึดถือ ที่เราจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องแท้จริง ดังนั้นเปรียบดูอีกทางหนึ่ง อีกทางหนึ่งนะ มองดูอีกทางหนึ่งนะ ไอ้หน้าที่การงานของเรานั่นแหละคือพระ พระเจ้า พระเป็นเจ้า พระเจ้าของเราคือหน้าที่การงานของเรา เราลองทำหน้าที่การงานให้ดีเถอะ มันก็จะกลายเป็นพระเจ้าแล้วก็ช่วยเรา ช่วยเรา ผู้ที่ช่วยเราคือหน้าที่การงานที่เราทำไปแล้วก็จะเป็นพระเจ้าช่วยเรา มารู้จักพระเจ้าที่แท้จริงกันเสียทีว่านั้นน่ะคือ เอ่อ, การงานที่ทำนั่นแหละคือพระเจ้าที่แท้จริง อย่าไปคิดว่าอยู่บนฟ้าบนสวรรค์ที่ไหนก็ไม่รู้ บูชาอ้อนวอนกันเป็น เอ่อ, เสียเวลาเสียสิ่งของเสียอะไร บูชาพระเจ้าที่ไหนก็ไม่รู้ให้มาช่วย ไม่รู้ว่าพระเจ้าที่แท้จริงคือหน้าที่การงานที่มีอยู่ แล้วแต่ว่ามีการงานอย่างไร
การงานในหน้าที่ของตนๆตามระดับชั้นเชิงของตนนั่นแหละคือพระเจ้า นับตั้งแต่คนขอทานขึ้นไปจนถึงพระมหาจักรพรรดิ ขอทานมีหน้าที่อย่างขอทาน กรรมกรมีหน้าที่อย่างกรรมกร ประชาชนทั่วไปมีหน้าที่ของประชาชนทั่วไป ชาวไร่ชาวนามีหน้าที่ตามแบบชาวไร่ชาวนา ทีนี้ผู้เป็นข้าราชการ เป็นพระราชามหากษัตริย์ เป็นจักรพรรดิน่ะ ก็มีหน้าที่ของตนๆ เมื่อใดทำหน้าที่ของตน หน้าที่นั้นจะกลายเป็นพระเจ้า แล้วก็ช่วยตน ช่วยยกตนให้ขึ้นพ้นจากความทุกข์หรือปัญหาต่างๆที่ไม่พึงปรารถนา พระเจ้านี้ก็ช่วยได้ ช่วยได้จริง เพราะว่าการงานที่ทำแล้วอย่างสนุก ทำงานอย่างสนุก เป็นสุขเมื่อกำลังทำงาน ช่วยให้มีความสุข ช่วยให้มีความสนุก ช่วยๆให้มีเงินเหลือแยะ เพราะว่าเป็นสุขแล้วในการงาน เงินเหลือไปช่วย ไปใช้จ่ายตามที่ควรแล้วเหลือเพื่อช่วยผู้อื่น เราทำงานให้เต็มที่ ใช้จ่ายแต่พอดี เก็บไว้แต่พอดี เหลือไปช่วยผู้อื่น นั้นน่ะคือคนประเสริฐที่สุด เรียกว่า เศรษฐีๆ คำว่าเศรษฐีแปลว่าคนประเสริฐที่สุด ทำงานมาก แล้วก็ใช้จ่ายแต่พอดี เก็บไว้แต่พอดี เหลือช่วยผู้อื่น ตั้งโรงทาน ตั้งโรงช่วยเหลือคนยากคนจนไปตามแบบของเศรษฐี นี่มันช่วยกันหมดทุกคนอย่างนี้ เรามีหน้าที่ที่จะต้องช่วยผู้อื่นด้วยเพราะว่าเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ เราต้องช่วยทุกคน อยู่ร่วมกันได้โดยสะดวกสบาย เราจึงช่วยคนทุกคน
ขอให้สนใจ มีสติสัมปชัญญะในการทำงาน พอถึงเวลาที่จะทำงาน ไปถึงที่ที่ทำงาน พนมมือขึ้นมาบูชายกย่องการงาน ถ้ามีโต๊ะทำงานก็ไหว้โต๊ะทำงาน มีจอบ มีไถ มีควาย มีอะไรก็ไหว้ ยกมือไหว้ควาย ไหว้จอบ ไหว้ไถในฐานะที่เป็นอุปกรณ์ของพระเจ้าที่จะช่วยเรา อย่างนี้ดีกว่า ดีกว่าไปนั่งบูชาอ้อนวอนไอ้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรที่ไหนก็ไม่รู้ ของจริงมันอยู่ที่ตรงนี้ ตั้งนะโม สำรวมสติสัมปชัญญะโดยการตั้งนะโม ก่อนจะทำอะไรตั้งนะโม นี่ทำงานด้วยไอ้ความรู้สึกมีสติสัมปชัญญะ ทำไปๆ ถูกต้องแล้ว ทำไป พอใจ ถูกต้องแล้วพอใจ ทำไปๆ ถูกต้องแล้วพอใจ พอเหงื่อออกมากลายเป็นน้ำมนต์เย็นฉ่ำ ถ้าทำใจอย่างนี้นะ ถ้าไม่ทำใจอย่างนี้พอเหงื่อออกมามันก็โกรธๆๆ ไปขโมยดีกว่า เลิกงานทิ้งงานไปขโมยดีกว่า นี่เกิดอันธพาล ขึ้นมาในโลกเต็มไปหมด เพราะมันไม่รู้ว่าไอ้ทำงานนั่นแหละคือพระเจ้า การงานคือพระเจ้าจะช่วยเรา
ขอให้เราทั้งหลายตั้งจิตอธิษฐานว่า ตลอดพรรษานี้ ตลอดพรรษานี้ ตลอดพรรษานี้ จะทำงานให้สนุก จะทำงานให้สนุก จะทำงานให้สนุก จะมีความสุขเมื่อกำลังทำงาน รู้สึกอยู่ในใจแล้วบอกแก่ตัวเองว่าถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้ว พอใจ พอใจ ถูกต้องแล้ว พอใจ ถูกต้องแล้ว พอใจอยู่ทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหว จนกว่าจะค่ำลง จะหลับจะนอนลงไปนี้ ก่อนๆจะนอนนี้ พอใจตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเอง คือไหว้พระเจ้านั่นแหละ การงานที่ได้ทำมาตลอดเวลากลายเป็นพระเจ้าช่วยเรา เราก็นอนหลับสนิท พอใจจนนอนหลับสนิทไป รุ่งขึ้นมาก็อย่างนั้นอีก พอตื่นขึ้นมาก็ถูกต้องแล้ว ก็ทำทุกอย่างไปตามลำดับ ถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้ว จนกว่าจะค่ำลงถึงเวลานอนอีกก็ถูกต้องแล้ว พอใจเป็นครั้งสุดท้าย ยกมือไหว้ตัวเองอยู่กับสวรรค์
นี่ขอให้ทำอย่างนี้จนตลอดพรรษาทุกๆคนเถิด ก็จะได้รับประโยชน์จากการทำพรร จำพรรษา แม้อยู่ที่บ้านก็ไม่แพ้คนอยู่ที่วัด คฤหัสถ์จำพรรษาอย่างนี้ก็ได้รับประโยชน์จากการจำพรรษาไม่แพ้ภิกษุที่อยู่ที่วัด ขอให้ท่านทั้งหลายจงสนใจพิจารณาดูให้ดีๆว่า ทำงานให้สนุก มีความสุขในการทำงาน มีพระเจ้าอยู่ที่หน้าที่การงาน การงาน หน้าที่การงานนั่นแหละคือพระเจ้าที่จะช่วยเรา อันนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นความปรารถนาที่ถูกต้อง แล้วก็ควรจะกระทำให้ถูกต้องให้สำเร็จประโยชน์อย่างนี้อยู่ด้วยกันทุกคน ขอให้ท่านทั้งหลายมีความกล้าหาญพอใจในการที่จะทำอย่างนี้ แล้วก็ทำอย่างนี้ แล้วก็ประสบความสุขสวัสดี มีความสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ.