แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย วันมาฆบูชาได้เวียนมาถึงเข้าอีกครั้งหนึ่งแล้ว พุทธบริษัททั้งหลายเห็นความสำคัญของวันนี้กันอยู่เป็นอันมาก แต่เข้าใจว่าที่ยังไม่เข้าใจก็จะยังมีอยู่มากเหมือนกัน หรือเข้าใจไปในบางแง่แปลกไปจากที่อาตมาประสงค์จะให้ท่านทั้งหลายเข้าใจ แง่ที่อาตมาประสงค์จะให้ท่านทั้งหลายเข้าใจนั้นคือแง่ที่ว่า วันมาฆบูชานั้นเป็นวันสัตวธรรมนูญหรือวันโลกธรรมนูญ คือถ้าเราเปรียบกันกับวันรัฐธรรมนูญของประเทศเรา วันมาฆบูชาก็เหมือนวันโลกธรรมนูญ คือธรรมนูญของโลกหรือธรรมนูญของสัตวโลกที่มีชีวิตอย่างทั่วๆไปนั่นเอง จะพูดให้ฟังง่ายก็จะต้องพูดว่า วันมาฆบูชาเป็นวันรัฐธรรมนูญของสัตวโลก ข้อนี้จะเป็นได้อย่างไรเราก็จะได้พิจารณากันต่อไป
ในข้อแรกจะต้องพิจารณากันว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในวันนี้จึงได้มีนามว่าวันมาฆบูชา เคยปรารภกันมาหลายครั้งแล้วว่า วันวิสาขบูชาคือวันพระพุทธเจ้า วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำหรับพระธรรม วันมาฆบูชาเป็นวันสำหรับพระสงฆ์ ที่ว่าวันมาฆบูชาเป็นวันปลงพระชนมายุสังขารนั้นเป็นของผนวก แต่โดยที่แท้แล้วเป็นวันของพระอรหันต์ทั้งหลายประชุมกัน มีพระพุทธองค์เป็นประมุข ประกาศธรรมนูญ ใช้คำว่าธรรมนูญ ธรรมนูญของใคร ธรรมนูญของสัตว์ทั้งหลายทั่วไปที่ต้องการจะอยู่กันอย่างไม่มีความทุกข์ เป็นวันเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มหาสังฆสันนิบาต คือพระอรหันต์ทั้งหลายในพระศาสนานั้นประชุมกัน ทำนองว่าจะเป็นวันประกาศรัฐธรรมนูญอย่างของพวกเราเดี๋ยวนี้ก็ได้ เพราะว่าในที่ประชุมนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงประกาศหลักสำคัญที่สุดที่มนุษย์จะอยู่กันอย่างไรจึงจะไม่เกิดความทุกข์
ส่วนข้อสำคัญรึ ที่น่าอัศจรรย์ที่ว่าจำนวนมาก หรือว่าไม่นัดหมายก็มาประชุมกัน หรือว่าทั้งหมดนั้นล้วนแต่เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา นี้ก็มีความหมายอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ที่เป็นประโยชน์แก่พวกเราโดยตรงนี้มันมีความหมายอยู่ที่ว่าวันนี้เป็นวันที่พระองค์ทรงประกาศธรรมนูญสำหรับสัตว์โลก ว่าสัตว์โลกจะต้องอยู่กันอย่างนี้ๆ
ทีนี้ถ้าดูต่อไปในข้อที่ว่า พระศาสนาหนึ่งๆ พระพุทธเจ้าองค์หนึ่งๆมีการประกาศพระธรรมนูญของสัตว์โลกในหมู่พระอรหันต์ทั้งหลายอย่างนี้ทุกพระองค์หรือไม่ ถ้าถามอย่างนี้ก็ตอบได้ตามข้อความในพระบาลีมหาปทานสูตร ทีฆนิกายได้เลยว่า พระพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ล้วนแต่มีการประชุมมหาสังฆสันนิบาต แสดงโอวาทปาติโมกข์ด้วยกันทั้งนั้น
พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑ ซึ่งมีพระนามว่า พระวิปัสสี มีการประชุมมหาสังฆสันนิบาตในวันมาฆบูชาถึง ๓ ครั้ง นี่เมื่อกล่าวตามพระบาลีนั้น ครั้งแรกมีพระอรหันต์ประชุมกัน ๖๘ หมื่น ๖๘ หมื่นรูป ครั้งที่สองมีพระอรหันต์ประชุมกัน ๑๐ หมื่นรูป ครั้งที่สามมีพระอรหันต์ประชุมกัน ๘ หมื่นรูป น่าอัศจรรย์
พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ พระนามว่า พระสิขี ในพระศาสนาของพระองค์ก็มีมหาสังฆสันนิบาตแสดงโอวาทปาติโมกข์ ๓ ครั้งเหมือนกัน ครั้งที่หนึ่งมีพระอรหันต์ ๑๐ หมื่นรูป ครั้งที่สองมีพระอรหันต์ ๘ หมื่นรูป ครั้งที่สามมีพระอรหันต์ ๗ หมื่นรูป ประชุมกันในลักษณะที่เป็นมหาสังฆสันนิบาต มีการแสดงโอวาทปาติโมกข์
พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๓ มีพระนามว่า พระเวสสภู ก็มีการประชุมมหาสังฆนิบาตถึง ๓ ครั้ง ครั้งที่หนึ่งมีพระอรหันต์ ๘ หมื่นรูป ครั้งที่สองมีพระอรหันต์ ๗ หมื่นรูป ครั้งที่สามมีพระอรหันต์ ๖ หมื่นรูป ประชุมกันและมีการแสดงโอวาทปาติโมกข์
นี้มาถึงพระพุทธเจ้าที่ ๔ พระนามว่า กกุสันโธ มีพระอรหันต์ประชุมกัน ๔ หมื่นรูปครั้งเดียว
พระพุทธเจ้าพระนามว่า โกนาคม มีการประชุมมหาสังฆนิบาตพระอรหันต์ ๓ หมื่นรูปครั้งเดียว
พระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ มีการประชุมมหาสังฆสันนิบาต มีพระอรหันต์ ๒ หมื่นรูปและก็ครั้งเดียว
แล้วครั้งสุดท้าย คือพระสมณโคดม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งยุคปัจจุบันนี้ มีประชุมมหาสังฆสันนิบาตแสดงโอวาทปาติโมกข์โดยพระอรหันต์ประชุมกัน ๑,๒๕๐ รูปและมีครั้งเดียว
ท่านทั้งหลายลองใคร่ครวญพิจารณาดูว่า ในยุคแรกๆพระอรหันต์มีมาก ประชุมสันนิบาตถึง ๓ ครั้ง ๓ ครั้ง ถึง ๓ องค์พระพุทธเจ้า แล้วต่อมาอีก ๓ องค์พระพุทธเจ้ามีประชุมแค่ครั้งเดียว และองค์สุดท้ายนี้ก็ครั้งเดียวและจำนวนน้อยที่สุด เมื่อพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆประชุมสาวกเรียกว่าจำนวนหมื่นๆ พระองค์นี้ก็เพียงพันเศษ ลองคิดดูเถอะว่าจะมีความหมายอย่างไร กล่าวตามคติโบรมโบราณก็ว่า มันถอยลงๆ มันลดลงๆ ของโลกมนุษย์เราในยุคที่มีพระอรหันต์มากก็หมายความว่ามีสัตวโลกชนิดที่มีอุปนิสัยแห่งศีลธรรมมาก บัดนี้มันลดลงๆ เทียบกันครั้งแรกที่สุดมีพระอรหันต์ ๖๘ หมื่น กับครั้งสุดท้ายมีพระอรหันต์เพียง ๑,๒๕๐ รูป ก็พอจะเป็นหลักเครื่องวัดว่าโลกนั้นน่ะมันเสื่อมถอยจากคุณงามความดีลงมาในอัตราอย่างไร ขอได้พิจารณาดูเถิด
แต่อาตมาเห็นว่านี้ยังไม่น่าอัศจรรย์เท่าไร ยังมีสิ่งที่น่าอัศจรรย์ตรงที่ว่าพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์เหมือนกันทุกๆพระองค์และทุกๆครั้ง หมายความว่าการแสดงโอวาทปาติโมกข์ ๑๓ ครั้งทั้งหมดนั่นมีข้อความอย่างเดียวกันอย่างที่ท่านทั้งหลายก็เคยได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้ว มีใจความเป็นบาลีว่า
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง แปลว่า ไม่กระทำบาปทั้งปวง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา ทำกุศลให้ถึงพร้อม
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง ทำจิตให้ขาวรอบ
เอตัง พุทธานะสาสะนัง นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา ตบะ เครื่องเผากิเลสนั้น มีขันตีเป็นธรรมะสูงสุด คือมีขันตี ความอดกลั้นอดทนเป็นธรรมะสูงสุดในเครื่องเผาตบะ
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นบรมธรรม
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่นอยู่ อ่า, ผู้ประทุษร้ายสัตว์อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ นี่ก็ชุดหนึ่ง
แล้วชุดสุดท้ายว่า
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย
ปาติโมกเข จะ สังวะโร การสำรวมในปาติโมกข์
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค
ปันตัญจะ สะยะ สะยะนาสะนัง การเสพที่นอนที่นั่งอันสงัด
อะธิจิตเต จะ อาโยโค ทำความเพียรในการทำจิตให้ยิ่ง
เอตัง พุทธานะสาสะนัง นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ชุดแรกรวบรัดเพียง ๓ ข้อว่า ไม่กระทำบาป ทำกุศลให้ถึงพร้อม ทำจิตให้ขาวรอบ นี่ก็หมวดหนึ่ง
ชุดที่สองว่า ขันตี ความอดกลั้นอดทนเป็นเครื่องเผาบาปอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสิ่งสูงสุด เบียดเบีย เอ่อ, เบียดเบียน อ่า, กำๆ กำจัดทำลายสัตว์อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าบรรพชิต เบียดเบียนสัตว์อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าสมณะ นี้ก็หมวดหนึ่ง
อีกหมวดสุดท้ายว่า ไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้าย สำรวมในปาติโมกข์ รู้ประมาณในการบริโภค เสพเสนาสนะนั่งนอนอันสงัด มีความเพียรในการทำจิตให้ยิ่ง นี้ก็หมวดหนึ่ง
หมวดแรกเป็นหลักที่กว้าง หัวข้อสั้นเกินไป หมวดที่สองมุ่งหมายบรรพชิตมากกว่า หมวดที่สามนี่แหละอาตมาตั้งใจว่าท่านทั้งหลายจะพยายามศึกษาและรับฟังในฐานะเป็นเสมือนหนึ่งกับว่าเป็นธรรมนูญของสัตวโลก เหมือนกับที่รัฐธรรมนูญเป็นธรรมนูญของประเทศ ประเทศเรามีรัฐธรรมนูญเป็นหลักประพฤติปฏิบัติ เป็นแม่บทแห่งกฎหมายทั้งปวง เราจึงมีการปกครองที่เรียบร้อย ได้ผลดี
ทีนี้สัตว์โลกทั้งหลายเล่าจะมีอะไรเป็นเสมือนรัฐธรรมนูญของประเทศ ก็คือมีโอวาทปาติโมกข์หมวดสุดท้ายนี่แหละ เพราะฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนจงได้สนใจอย่างที่เรียกว่า มาพร้อมกันหรือไปพร้อมกันเพื่อกระทำมาฆบูชาที่ไหนนั้นจะต้องนึกถึงว่าบูชาอย่างไรจึงจะเป็นการบูชาที่แท้จริง บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนของหอมเวียนประทักษิณนั้นยังเป็นอามิสบูชา บูชาชั้นสามัญ แต่ถ้าการปฏิบัติตามบทพระธรรมนั้นๆแล้วก็เป็นปฏิบัติบูชา ซึ่งพระองค์ตรัสว่าเป็นการบูชาแก่ตถาคตอย่างสูงสุด อย่างสูงสุดกว่าบูชาทั้งปวง
เราจึงต้องสนใจในปฏิบัติบูชานี้ คือปฏิบัติตามพระพุทธดำรัสนี้เป็นเครื่องบูชาพระองค์ และถือว่าหลักปฏิบัตินั้นแหละคือธรรมนูญของสัตวโลก สัตว์โลกทั้งหลายควรจะถือหลักปฏิบัติกันอย่างนี้โดยเสมอหน้ากัน จะมีกี่โลก จะมีกี่จักรวาลก็สุดแท้ สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นจะต้องมีหลักปฏิบัติชนิดนี้เป็นธรรมนูญของการปฏิบัติ และใช้การปฏิบัตินั้นเป็นการบูชาแก่พระองค์ ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจที่จะบูชาด้วยการบูชาอย่างนี้ซึ่งเป็นการบูชาสูงสุดซึ่งอาตมาจะได้กล่าวไปทีละข้อๆ
ข้อแรกว่า อะนูปะวาโท ไม่กล่าวร้าย กล่าวสรุปสั้นง่ายๆก็คือว่า อย่าให้ปากของท่านนั้นน่ะมันทำอันตรายแก่ผู้ใด พูดอย่างนี้มันกว้างที่สุดแล้ว ว่าอย่าให้ปากของท่านนั้นทำอันตรายแก่ผู้ใด เช่น ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ซึ่งเป็นการทำราย ทำลายผู้อื่น ทิ่มแทงผู้อื่นด้วยหอก คือปาก ในพระบาลีมีคำว่า หอกคือปาก แทงคนเจ็บกว่าหอกตามธรรมดา อย่าให้ปากของเราเป็นอันตรายแก่ผู้ใด ทำความขุ่นข้องหมองใจให้แก่ผู้ใด นี่ข้อ ๑
ข้อที่ ๒ อะนูปะฆาโต ไม่เข้าไปทำร้าย คืออย่าให้มือตีนของเรานี่แหละไปทำอันตรายแก่ผู้ใด คู่กันกับที่เมื่อปากก็ไม่ทำอันตรายใคร กายก็ไม่ทำอันตรายใคร ก็จะอยู่กันเป็นผาสุก
ข้อที่ ๓ สำรวมในปาติโมกข์นั้น ตามตัวหนังสือออกเสียงว่าปาติโมกข์ ท่านทั้งหลายจะเข้าใจไปว่าสำหรับพระสวดในวันอุโบสถ์เท่านั้น ไม่ๆๆเนื่องๆ ไม่เนื่องอะไรกับเรา แต่ขอเข้า ขอให้เข้าใจว่า คำว่าปาติโมกข์ในที่นี้คือระเบียบวินัยทั้งหมดทั้งสิ้น ระเบียบวินัยสำหรับชนพวกใดก็เรียกว่าปาติโมกข์สำหรับชนพวกนั้น พูดอย่างสามัญที่สุดในเวลานี้ก็ว่าทุกคนจะต้องมีระเบียบ อยู่ในระเบียบ ตั้งตนอยู่ในระเบียบ นับตั้งแต่ระเบียบเล็กๆน้อยๆ กระๆทั่งถึงกฎหมายอันสูงสุด เป็นผู้อยู่ในระเบียบวินัยที่ดีนับตั้งแต่ระเบียบวินัยในครอบครัว ลูกจะปฏิบัติอย่างไรต่อพ่อแม่ พ่อแม่จะปฏิบัติอย่างไรต่อลูก กระทั่งว่าเด็กๆจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรต่อสัตว์ เช่น สุนัขและแมว ไก่ เป็นต้น ปฏิบัติให้ถูกต้องแก่ทุกคน ทุกสิ่ง ด้วยความสำรวมระวังเป็นอย่างดี นี่แหละเรียกว่าผู้สำรวมในระเบียบวินัย ต้องประพฤติอย่างทั่วถึงด้วยกันทุกคนและทุกฝ่าย
ข้อที่ ๓ รู้ประมาณในการบริโภค เราจะ เรารู้สึกกันว่าบริโภคกันแต่ทางปาก ที่จริงนั้นในภาษาบาลีคำว่าบริโภคหมายหมดการใช้สอย การกินอยู่ การบริโภคมีได้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี่ตาบริโภครูป สวยหรือไม่สวย หูบริโภคเสียง ไพเราะหรือไม่ไพเราะ จมูกบริโภคกลิ่น ลิ้นบริโภครส นี่ที่เรารู้จักกันแต่บริโภค ก็บริโภคทางลิ้น กายบริโภคสัมผัสที่เข้ามาสัมผัสผิวหนัง นิ่มนวลหรือแข็งกระด้าง เป็นที่ตั้งแห่งความพอใจ-ความไม่พอใจนี้เขาเรียกว่าบริโภคเหมือนกัน แม้แต่เครื่องนุ่งห่มที่เอามาประกอบกันเข้ากับร่างกาย สิ่งใช้สอย อาศัยก็เรียก ล้วนแต่ว่าเป็นเครื่องบริโภค แต่ในภาษาไทยเรามักจะยักไปเรียกว่าอุปโภค แต่ในภาษาบาลีนั้นขอให้หมายความว่าบริโภคทั้งนั้น เพราะว่าเป็นการทำให้ได้รับรสอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็เรียกว่าบริโภคทั้งนั้น นี่เราต้องรู้ประมาณในการที่จะบริโภค อย่าให้บริโภคผิดประมาณ มากไป น้อยไป ต่ำไป สูงไป ดีไป เลวไป ให้มันรู้ ให้มันถูกประมาณในที่นี้ก็คือพอดี พอดีกับสถานะ จะกินอยู่ใช้สอยเหมือนกันทุกคนทุกชั้นนั้นมันไม่ได้ แต่ละชั้นๆต้องบริโภคให้ถูกแก่ฐานะของตน
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง ข้อต่อไปก็คือว่า ชอบอยู่ในเสนาสนะอันสงัด
(นาทีที่ 21:09-21:25 ท่านพุทธทาสหยุดเทศน์ครู่หนึ่งเพื่อสนทนากับผู้อื่น) ต่อไปเลยใช่ไหม
ตามธรรมดาคนเราชอบระคน ชอบรุก คลุกคลี ชอบเล่นหัวกันเป็นหมู่ คลุกคลีกันโดยไม่จำเป็น ไม่ใช่รวมกำลังกันทำประโยชน์ แต่ว่ารวมกำลังกันเล่นหัว หรือประพฤติสิ่งที่เป็นไปในทางส่งเสริมกิเลส อย่างนี้เรียกว่าเสนาสนะอันให้โทษหรือเลวร้าย จะไม่มีความรู้สึกคิดนึกที่ดี ไม่มีการกระทำที่ดี ถ้าเราพอใจในเสนาสนะอันสงัดอยู่แล้วเรื่องก็ไม่ค่อยเกิดหรือจะไม่เกิด แล้วผู้นั้นก็ได้รับความสุขเย็น มีชีวิตเย็น ไม่มีอะไรรบกวน ไม่มีอะไรรบกวนแหละ เรียกว่าเสนาสนะอันสงัด กินความไปถึงว่าใจไม่ถูกรบกวน อยู่ในที่ใดใจไม่ฟุ้งซ่าน ที่นั้นก็เรียกว่าเสนาสนะอันสงัด ขอให้เราพอใจในเสนาสนะอันสงัดเช่นที่กล่าวนี้
ข้อสุดท้ายว่า พากเพียรในการทำจิตให้ยิ่ง อะธิจิต แปลว่าจิตอันยิ่ง คนมักจะคิดว่าเป็นเรื่องของบรรพชิตอยู่วัดหรือฤษีมุนีอยู่ป่าจึงจะทำ อะธิจิต คือทำกรรมฐาน ในที่นี้หมายความว่า จิตที่ดีกว่าธรรมดา จิตที่สูงกว่าธรรมดาที่กิเลสครอบงำไม่ได้ ความทุกข์ครอบงำไม่ได้ นั่นแหละเรียกว่า อะธิจิต ถ้าปล่อยไปตามบุญตามกรรมมันเป็นจิตทราม มันเป็นจิตธรรมดา ครอบงำอยู่ด้วยกิเลส ถ้าทำจิตให้สูงให้ยิ่งชนิดที่กิเลสครอบงำไม่ได้ เป็นจิตที่ดีทำความชั่วไม่ได้ เป็นจิตที่ฉลาด รู้สิ่งที่ควรกระทำแล้วก็มีความสงบเย็น นี่เรียกว่าจิตอันยิ่ง
เดี๋ยวนี้โลกเราสมัยนี้ไม่ถือธรรมนูญนี้ ถือธรรมนูญของกิเลส เป็นผู้กล่าวร้าย กล่าวร้ายกันอยู่ทั่วไป คือการด่าทอกัน กล่าววาจาทำลายกัน โลกแบ่งเป็น ๒ ค่าย ด่าทอกันอยู่ทางวิทยุทั่วไปทั้งโลก ตลอดวันทั้งวันก็ได้ เวลานี้โลกระหว่างประเทศน่ะด่าทอกันทั้งวันก็ได้ หรือว่ามีการทำร้าย คือทำสงครามเปิดเผย สงครามใต้ดิน เตรียมสงครามกันอยู่ตลอดเวลาเพื่อทำร้าย
โลกปัจจุบันไม่รู้บทประมาณในการบริโภค เพราะว่าคนสมัยนี้มันไม่อยากจะมีประมาณในการบริโภค มันตะกละยิ่งกว่าผีร้าย เพราะว่ามันหามากินได้ คนสมัยนี้จึงตะกละในการบริโภค แล้วเขาก็ไม่อยากจะมีประมาณในการบริโภค ท่านทั้งหลายอยู่ในพวกที่ไม่ๆอยากจะประ มีประมาณในการบริโภคหรือไม่ก็ขอให้ลองคิดดู
โลกสมัยนี้ไม่ชอบเสนาสนะอันสงัด คือไม่ชอบ ไม่ๆๆชอบสิ่งแวดล้อมอันสงัด มีๆแต่จะกระทำให้มีเสียงเอ็ดตะ ตะโร อย่างเดี๋ยวนี้ไปที่ไหนก็ได้ยินแต่เสียงเพลง เปิดวิทยุทั้งวัน ไม่ต้องการเวลาที่จะมีความสงบสงัด ไม่อยากจะสงบสงัด และก็มีเครื่องมือที่จะทำให้มันกึกก้องไปทั้งวันด้วย
ไอ้ข้อสุดท้าย โลกสมัยนี้ไม่มีความเพียรในการอบรมจิตให้สูงให้ยิ่ง มีแต่จะอบรมจิตให้ต่ำทราม คือหาสิ่งมาสนองกิเลส หาอำนาจ หาเครื่องมือมาทำลายล้างผู้อื่น มีจิตประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะอยู่เป็นประจำ นี้เรียกว่าไม่สนใจที่จะทำจิตให้ยิ่ง มีแต่จะทำจิตให้ทราม แล้วก็นิยมยกย่องกันในทางนี้ จิตมันก็ยิ่งทราม
ขอให้เราทุกคนบูชาพระพุทธองค์อย่างที่เรียกว่ามาฆบูชานี้ด้วยการไม่กล่าวร้ายใดๆ ไม่ทำร้ายใครๆ รู้ประมาณในการบริโภค เสพเสนาสนะอันสงัด คือมีที่อยู่อันๆสงบสงัด ตั้งหน้าตั้งตาทำจิตให้สูงให้ดีให้งามให้สะอาดให้สว่างสงบอยู่ทุกทิพาราตรีกาล เป็นประจำ นี่คือการทำบูชาในโอกาสแห่งมาฆบูชา
หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคน จะเป็นพุทธบริษัทหรือไม่เป็นพุทธบริษัทก็ตาม จงได้ทราบว่าหลักปฏิบัตินี้ ๖ ประการนี้เป็นธรรมนูญของสัตวโลก ถ้าเป็นสัตว์ มนุษย์อยู่ในโลกแล้วต้องประพฤติปฏิบัติตามหลัก ๖ ประการนี้ อาตมาจึงได้กล่าวว่า วันมาฆบูชาคือวันสัตวธรรมนูญ วันมาฆบูชาเป็นวันรัฐธรรมนูญของสัตว์โลกที่จะอยู่ร่วมโลกกัน ไม่มีธรรมนูญนี้เป็นหลักปฏิบัติแล้วโลกนี้ก็จะเป็นไปเพื่อการเบียดเบียน มีความทุกข์เพิ่มขึ้น และจะวินาศไปในที่สุด ขอได้ฟังคำสุดท้ายว่า จะวินาศไปในที่สุด ถ้าเรายังมีหลัก ๖ ประการนี้ให้เป็นเสมือนหนึ่งรัฐธรรมนูญของประเทศ อ่า, ของสัตวโลก ของมนุษยชาติแล้วก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนจงดำเนินตนในหลักปฏิบัติ ๖ ประการนี้ มีความสุขสวัสดีเพิ่มขึ้นๆอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ