แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายปาฐกถาธรรมชุดพุทธธรรมนำสุขในครั้งนี้ อาตมาจะของกล่าวในหัวข้อว่า บวชอยู่ที่บ้านต่อไปอีกสักครั้งหนึ่ง ชื่อเดียวกันว่าบวชอยู่ที่บ้าน แต่ระเบียบการเป็นอยู่หรือการเป็นอยู่นั้นต่างกัน ในครั้งแรกอยู่อย่างมีอินทรีย์ ๕ พละ ๕ ในครั้งที่ ๒ อยู่อย่างมีฆราวาสธรรม ๔ ประการ ในครั้งที่ ๓ อยู่อย่างมีสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ในครั้งนี้จะอาศัยแนวธรรมชื่อว่า อปัณกะปฏิปทา ๓ ประการ อปัณกะแปลว่าไม่ผิด ปฏิปทาแปลว่าข้อปฏิบัติ อปัณกะปฏิปทา แปลว่าข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด ไม่ผิดต่อการที่จะได้รับผลเป็นความสุข และเป็นหลักธรรมที่ว่ากว้างขวางทั่วไป ใช้ได้แก่คนทุกเพศทุกวัยทุกชนิด และอยู่ที่บ้านก็ทำได้ ทำได้เต็มที่ ดังนั้นจึงเอามากล่าวในฐานะเป็นข้อปฏิบัติ สำหรับผู้ที่จะบวชอยู่ที่บ้าน เพราะว่าไม่มีโอกาสจะไปบวชอยู่ที่วัด ด้วยเหตุใดๆก็ตาม ก็ไม่ต้องท้อถอย ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องน้อยใจว่าไปบวชไม่ได้ สามารถที่จะบวชได้ในที่ทุกหนทุกแห่ง ถ้าเป็นคนจริง เป็นคนตั้งใจกันจริงๆ ในการที่จะช่วยตัวเอง ถ้าประกอบอยู่ด้วยคุณธรรม ๓ ประการนี้แล้ว ก็จะเป็นการบวชอย่างละเอียด อย่างประณีต อย่างลึกซึ้ง อย่างสุขุม อย่างสูงสุดทีเดียว
ข้อที่ ๑ เรียกว่า อินทรียสังวร อินทรียสังวรณ์ แปลว่าคุ้มครองอินทรีย์ คำว่าอินทรีย์ในที่นี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญกว่าทุกเรื่อง เพราะว่าถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วอะไรๆ มันก็ไม่มี โลกนี้มันก็ไม่มี ตัวเองมันก็ไม่มี ถ้าเราเกิดมาไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจะทำอะไรได้ ท่านจึงยกเอา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการดำรงอัตภาพแห่งความเป็นมนุษย์ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่คุ้มครองไม่ได้ ปล่อยให้ปรุงแต่งไปตามอำนาจของกิเลส ก็เกิดกิเลสและเกิดความทุกข์ อย่าไปมองที่อื่นว่ากิเลสและความทุกข์จะมาจากที่อื่น กิเลสและความทุกข์มันมาจากการที่เราบังคับ คุ้มครอง ดูแล ปกป้องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้ไม่ได้ ถ้าเราสามารถดูแลคุ้มครอง ปกป้อง กำกับ ควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไว้ได้ กิเลสไม่มี เพราะไม่อาจจะเกิด กิเลสนี้ไม่ได้มีอยู่เป็นการถาวร เพียงแต่มันจะเกิดขึ้นเมื่อมีความบกพร่องโดยสติสัมปชัญญะที่ควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดังนั้นทุกคนจงเอาใจใส่สิ่งที่เรียกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของตน เมื่อมีอะไรมากระทบ แล้วก็ควบคุมไว้ให้ได้ อย่าให้มันไปปรุงจิตชนิดที่ผิดพลาด ให้มันเป็นการกระทำที่อยู่ในอำนาจของการคุ้มครอง การดูแล ถ้าจะมากระทบจิต ก็ต้องจัดให้เป็นไปในทางที่ให้มันฉลาด ให้มันรอบรู้ ให้มันได้ประโยชน์ อย่าให้มันไปสร้างกิเลสและความทุกข์ขึ้นมาในจิตใจ
อินทรียสังวรนี่ มีคนเอาใจใส่น้อยมาก คือไม่ค่อยจะเอาใจใส่กันนั่นเอง เป็นคนประมาท เป็นคนหลับตา เป็นคนอวดดี ปล่อยไปตามความรู้สึกหวัดๆ ของตนที่ยังเป็นคนไม่รู้อะไร ถ้าพูดอย่างภาษาธรรมะก็ว่ายังเป็นอันธพาลอยู่ มันก็มีความผิดพลาดทางอินทรีย์นี้อยู่เป็นประจำ ตัวอย่างเช่นว่า ถ้ามีอะไรมากระทบตา มันก็มีความรู้สึกสติสัมปชัญญะว่ามีอะไรมากระทบ มันเป็นของตามธรรมชาติ เป็นของตามธรรมดา และอยู่ในลักษณะอะไร มันจะก่อให้เกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ต้องไปยินดี ยินร้ายกับสิ่งที่มากระทบ และรู้จักว่าควรจะทำอย่างไรกับสิ่งที่มากระทบ แล้วก็กระทำให้ถูกต้อง การกระทบนั้นก็จะกลายเป็นประโยชน์ คือจะอย่างน้อยที่สุดก็เป็นโอกาสให้ได้รู้เรื่องนั้นๆ ว่ามันเป็นอย่างไร มันก็เป็นการศึกษาไปเสีย ถ้าปล่อยให้กระทบด้วยความโง่ มันก็เป็นที่ตั้งความยินดียินร้าย เมื่อเกิดโลภะเมื่อยินดี เกิดโทสะเมื่อยินร้าย เกิดโมหะเมื่อยังไม่แน่นอน ดังนี้ขอให้สนใจสิ่งที่เรียกว่าการคุ้มครองอินทรีย์ ให้ชีวิตแต่ละวัน ๆ นี้ อย่าได้เกิดความผิดพลาดขึ้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจเลย มองดูแล้วขอให้มีแต่ความถูกต้องไปเสียทั้งหมดทั้งสิ้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ล้วนแต่ดำรงไว้ในลักษณะที่ถูกต้องทั้งนั้น อย่างนี้เรียกว่าอินทรีย์สังวร ควบคุมส่วนที่สำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์ไว้ ให้อยู่ในความถูกต้องได้ ชีวิตนี้มันก็จะมีแต่ความถูกต้อง ไม่มีความผิดพลาด ไม่เกิดความทุกข์ นี่เป็นการประพฤติธรรมะสูงสุด อยู่ข้อหนึ่ง
ทีนี้ข้อที่ ๒ โภชเนมัตตัญญุตา แปลว่ารู้จักประมาณในการบริโภค คำว่าบริโภคในภาษาบาลีนี้ หมายได้ทุกอย่าง จะกิน จะใช้ จะใช้สอย จะเกี่ยวข้อง อะไรก็เรียกว่าบริโภคได้ทั้งนั้น ตามปกติคนเราก็มีเรื่องที่จะต้องบริโภคมากมายหลายทาง จะต้องระมัดระวังให้การบริโภคนั้นมีความพอดี เดี๋ยวนี้เขาถือกันง่ายๆว่า กินอยู่ กินดีอยู่ดี แล้วก็ไม่มีขอบเขตอันจำกัดไว้ว่าเพียงเท่าไร ความกินดีอยู่ดี มันก็เลื่อนไป เลื่อนไป เลื่อนไปตามอำนาจของกิเลส เกินพอดีจนยิ่งกว่าเกินก็ยังไม่รู้ มันก็เกิดปัญหาขึ้นมา แปลว่าตกบ่อของกิเลส ท่วมทับมิดหัวมิดหูแล้วก็ยังไม่รู้ ก็ยังจะส่งเสริมกิเลสอยู่นั่นเอง ทำอะไร ทำอะไรก็จะเป็นไปเพื่อการส่งเสริมกิเลส เพราะความไม่รู้ความประมาณในการบริโภค
ในการหามา หาทรัพย์สมบัติเงินทองนั้นในการหามา ก็ต้องรู้ความพอดี คือถูกต้องกับความสามารถสติปัญญาของตน ในการได้ผล มันก็ต้องได้อย่างถูกต้องและพอดี ในการมีไว้ เก็บไว้ รักษาไว้ ก็ถูกต้องและพอดี มันมีเรื่องถูกต้องและพอดีไปเสียทั้งนั้น จะใช้จ่ายมันก็ต้องถูกต้องและพอดี จะเอามาทำบุญทำทานให้เกิดการกุศลก็ต้องให้ถูกต้องและพอดี ไม่ใช่ทำอย่างบ้าบุญ บ้าสวรรค์ บ้าเกินพอดี แม้ที่สุดแต่จะเอื้อเฟื้อเจือจานเผื่อแผ่ญาติมิตรสหายบ้านใกล้เรือนเคียง เป็นการผูกพันความไมตรีไว้นี้ก็ต้องถูกต้องและพอดี ขอให้นึกถึงให้รอบคอบ ให้ครบถ้วนทุกอย่าง ให้มันมีความถูกต้องพอดี ในการหามาถูกต้องพอดี ในการมีไว้และเก็บไว้ก็ต้องถูกต้องและพอดี ในการใช้สอย กินอยู่ก็ถูกต้องและพอดี แม้แต่จะทำบุญทำทานก็ต้องถูกต้องและพอดี นี่เป็นสิ่งที่ฆราวาสจะต้องประพฤติกระทำให้ถูกต้องและพอดีอย่างนี้ ก็จะไม่มีโทษอันใดเกิดขึ้น ถ้าไปบูชากินดีอยู่ดีอย่างไม่มีขอบเขต ไม่เท่าไหร่ก็จะต้องตกลงไปในปลักแห่งความยุ่งยาก ลำบาก ทนทรมาณ เป็นหนี้ เป็นสิน เป็นสิ่งที่เหลือที่จะทนได้ ดังนั้นอย่าได้เห่อ เห่อตามคนที่เขาไม่รู้จักความถูกต้องและพอดี พยายามที่จะมีความถูกต้องและพอดีอย่างนี้
ทีนี้ก็มาถึงข้อที่ ๓ เรียกว่า ชาคริยานุโยค ชาคริยานุโยค คงจะเป็นคำที่แปลกหู สำหรับท่านทั้งหลายส่วนมากก็ได้ แต่เป็นคำที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ จะต้องเข้าใจ และจะต้องประพฤติปฏิบัติ ชาคริยานุโยค แปลว่าประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่ ผู้ตื่นอยู่ คำว่าตื่นอยู่ในที่นี้ ไม่ ไม่ ไม่ใช่หมายความว่าแตกตื่นหรือตื่นตูม ไม่แตกตื่น ไม่ตื่นตูม แต่ว่าตื่นอยู่อย่างคนที่ไม่หลับ ขอให้เปรียบดูระหว่างคนที่หลับกับคนที่ตื่น คนที่หลับนั้นมันไม่รู้อะไร ถ้าคนที่ตื่นอยู่มันรู้อะไรนี่ มันต่างกันตรงกันข้ามอย่างนี้ จงประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่ ก็คือการเป็นอยู่ที่ไม่ปราศจากสติ มีสติระลึกได้ว่าอะไรเป็นอะไรอยู่เสมอ นั่นแหละเรียกว่าความตื่นอยู่ ที่สำคัญที่สุดก็ขอให้มีความตื่นอยู่ ในความเป็นมนุษย์ของตน อย่าได้โง่หลงงมงาย ไม่มีความรู้ในความเป็นมนุษย์ของตน เป็นอยู่เหมือนกับคนหลับ คนที่ไม่รู้จักความเป็นมนุษย์ของตนแล้ว เขาก็เป็นอยู่เหมือนอย่างคนหลับหรือคนละเมออย่างมาก ก็ทำอะไรไปอย่างละเมอ ละเมอ จะต้องรู้จักความถูกต้องของความเป็นมนุษย์ ดำรงตนให้อยู่ในความ ตื่นอยู่ในความถูกต้องของความเป็นมนุษย์ รู้เท่าทันเหตุการณ์ทุกอย่าง ทุกชนิดที่จะเกิดอยู่ ที่จะเกิดขึ้นหรือเกิดอยู่ หรือเกิดแล้ว รู้จักใช้สติปัญญาในที่ทุกสถานให้มีอุปมาเสมือนหนึ่งว่าคนที่ตื่นอยู่ มิได้หลับ คนที่หลับ เป็นคนที่เหมือนกับโชคร้าย มันโง่ มันงมงาย มันหลงใหล มันอะไรต่างๆนานา เป็นปัญญาอ่อนไปเสียทุกกรณี ถ้าเป็นคนตื่นอยู่มันก็รู้จริง รู้ถูกต้อง รู้จักวิถีทางที่จะดำเนินประโยชน์ ดำเนินชีวิตนี้ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เหมือนกับคนตื่นอยู่มันเดินไปได้ คนหลับอยู่มันจะเดินไปได้อย่างไร นี่เป็นคุณธรรมสำคัญที่ว่าจงประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่ ขอย้ำว่าตื่นอยู่ในความเป็นมนุษย์ของตน จงมีความตื่นอยู่ รู้สึกอยู่ในความเป็นมนุษย์ของตน อย่าให้เป็นมนุษย์หลับ มนุษย์โง่เขลา มนุษย์มีอวิชชา มีกิเลสครอบงำอย่างมืดมิด นั่นแหละเป็นมนุษย์ที่ไม่มีความตื่นแห่งความเป็นมนุษย์ของตน ขอย้ำข้อที่ว่าจงมีความตื่นอยู่แห่งความเป็นมนุษย์ของตนอยู่ทุก ๆ เวลา ทุกประการเถิด ก็จะมีความเจริญรุ่งเรืองในความเป็นมนุษย์ ๓ประการนี้คือ ระวัง สังวรณ์ในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และรู้ประมาณในการบริโภคแต่พอดี และก็ประกอบความรู้สึกเสมือนหนึ่งว่าเป็นคนตื่นอยู่เสมอ แม้อยู่ที่บ้านก็จะเป็นเสมือนการบวชอย่างยิ่ง คือจะไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใดๆ ไม่มีบาป ไม่มีอกุศล ไม่มีความผิดพลาดใดๆ มีแต่ความถูกต้อง แล้วก็มีผลเป็นความถูกต้อง ขอให้ท่านทั้งหลายได้ประสบความสำเร็จในการที่จะเป็นผู้ประพฤติ ปฏิบัติ ดำเนินชีวิตอยู่ในร่องรอยของความถูกต้อง ไม่มีความผิดพลาดใดๆ หันเหออกไปจากร่องรอยจากความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง ทำอย่างนี้ได้แม้บวชอยู่ที่บ้าน ก็ไม่แพ้พวกบวชอยู่ที่วัด หรือบางทีจะดีกว่าพวกที่บวชอยู่ที่วัดบางคน บางจำพวกด้วยซ้ำไป หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้ประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิตเป็นมนุษย์ทั้งๆที่ว่าบวชอยู่ที่บ้าน อยู่เป็นสุขทุกทิพาราตรีกาลเทอญ.