แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายปาฐกถาธรรมในครั้งนี้ อาตมาบรรยายโดยมีหัวข้อว่าบวชอยู่ที่บ้าน ข้อนี้ปรารภคนเป็นอันมาก มีความจำเป็นบวชไม่ได้ หรือเป็นสตรีบวชไม่ได้ หรือไม่มีโอกาสแม้แต่จะไปบวชธรรมจาริณีชั่วครั้งคราว เพื่อจะตัดปัญหาข้อนี้ อาตมาขอเสนอวิธีการบวชอีกชนิดหนึ่งคือบวชอยู่ที่บ้าน ฟังดูเป็นก็ของแปลก แต่ว่าอย่าเพิ่งเห็นว่าเป็นของแปลก คำว่าบวช บวชนี้มันมีความหมายกว้าง ความหมายสำคัญอยู่ที่ว่าละเว้น สิ่งที่ควรเว้เสียอย่างจริงจัง ประพฤติกระทำอยู่ในระบบหนึ่งซึ่งเป็นการละเว้นภาวะต่ำๆเหล่านั้นเสีย แม้อยู่ที่บ้านก็ทำได้ ดังนั้นจึงเสนอเป็นการบวชที่บ้าน อาศัยหลักที่เรียกว่าพละ ๕ หรืออินทรีย์ ๕ เป็นธรรมะ ๕ประการ ที่บุคคลมีแล้วย่อมมีอำนาจ ย่อมมีกำลังในการที่จะตัดเสียซึ่งสิ่งอันไม่พึงปรารถนา เช่นกิเลสเป็นต้น คือประพฤติปฏิบัติอยู่ที่บ้าน โดยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
๑.ก็มีศรัทธาเชื่อแน่ในพระธรรมอันเป็นที่พึ่ง ว่าเป็นเครื่องดับทุกข์ได้จริง ไม่มีความลังเลในพระธรรม แล้วก็มีความเชื่อมั่นในตังเองว่าทำได้ สามารถจะทำได้ พระธรรมดับทุกข์ได้จริง ตัวเองก็สามารถจะดับทุกข์ได้ มีความเชื่ออย่างนี้แล้ว ก็นำให้เกิดอำนาจ เกิดกำลังในการที่จะกระทำทุกอย่าง สรุปความลงในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา มีศีลจริงๆ อย่ามีศีลเล่นๆอย่างที่เคยทำกันมา มีสมาธิตามสมควร คือมีจิตใจแน่วแน่ มีอารมณ์เดียวในการทำทุกอย่างดังที่จะได้กล่าวต่อไป แล้วก็มีปัญญารู้สิ่งที่ควรจะรู้ นี่เรียกรวมกันแล้วเรียกว่ามีศรัทธาในพระธรรมที่จะเป็นที่พึ่ง และศรัทธาในตัวเองว่าจะต้องทำได้
นี้ข้อ ๒. นี่ก็มีวิริยะ ความกล้าหาญ ความพากเพียรเต็มที่ เพราะว่ามีศรัทธาในพระธรรมเต็มที่แล้ว มีศรัทธาในตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว ก็ทำอย่างถูกต้อง อย่างเข้มแข็ง อย่างกล้าหาญ อย่างพากเพียรในการที่จะป้องกันไม่ให้จิตเกิดบาป ในการที่จะละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว แล้วก็จะสร้างกุศลหรือความดีหรือโพธิให้เกิดขึ้นมา แล้วก็รักษากุศลความดีหรือโพธินั้นไว้ นี่เรียกว่ามีความเพียรสูงสุด ตามหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา
นี้ข้อ ๓. ก็มีสติ มีสติ ข้อนี้สำคัญมาก สตินี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ต้องมี ต้องใช้ในทุกๆ กรณี โดยทั่วไปเล็งถึงมีสติ เมื่อมีอารมณ์มากระทบจิต ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจเอง ลองคิดดูเถอะว่า ถ้าผู้ใดมีสติรู้สึกต่อผัสสะที่เกิดขึ้นชนิดนี้จะมีจิตใจอย่างไร ย่อมมีจิตใจสูงตามแบบของพระอริยะเจ้า เป็นผู้ที่มีธรรมะอย่างที่พระอรหันต์ท่านมี พระอรหันต์นั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าเป็นมีสติสมบูรณ์และเด็ดขาดถึงที่สุด เป็นผู้มีสติคือฝึกไว้ดี ระลึกได้เร็ว ระลึกได้มาก ทันแก่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อเป็นดังนี้ก็สามารถป้องกันการสัมผัสอารมณ์ด้วยอวิชชา คือรับอารมณ์ด้วยจิตที่ประกอบด้วยอวิชชานั้นเป็นความเสียหาย เป็นความผิด เป็นการกระทำที่ผิด จะต้องมีสติรับอารมณ์ด้วยวิชชาอยู่เป็นประจำ ฝึกฝนความมีสติอยู่เป็นประจำ แล้วก็มีหิริและโอตตัปปะ เมื่อพลั้งเผลอ เมื่อขาดสติ คนทั่วไปไม่รู้สึกว่าขาดสติ ขาดสติแล้วก็ยังเป็นคนหน้าด้าน ไม่ละอาย ยังเกเรอยู่อย่างเดิม ความมีสติมันก็มีไม่ได้ จะต้องรู้สึกละอายอย่างสุดเหวี่ยง สุดที่จะละอายได้สำหรับมนุษย์ มนุษย์ผู้มีมนุษยธรรมขาดสติไม่ได้ นี่ฝึกฝนการมีสติอยู่เป็นประจำแล้วก็ใช้สตินั้นอย่างถูกต้องทุกคราวที่มีสัมผัสกระทบจิต แล้วก็ละอายอยู่ทุกคราวที่เผลอสติ แม้ในเรื่องธรรมดาสามัญ เช่นเผลอสติลืมของอะไรสักอย่างหนึ่ง เช่นลืมปิดประตู ลืมปิดหน้าต่างอย่างนี้ อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าเป็นผู้ฝึกฝนสติแล้วก็เรียกว่าเสียหายมาก จะลืมอะไรสักนิดหนึ่งก็เป็นเรื่องของความไม่มีสติทั้งนั้น
ที่นี้ข้อ ๔. ก็เป็นผู้มีสมาธิ มีสมาธิ พึงฟังให้ดีใจความของสมาธิสำคัญที่สุดนั้น มีใจความว่าเอกัคคตาจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ เอกัคคตาจิตแปลว่าจิตที่มีอารมณ์เดียว คือคิดนึกอย่างเดียว เพ่งจ้องอย่างเดียว ระลึกอย่างเดียว เอกัคคตาจิต แล้วมีนิพพานเป็นอารมณ์หมายความว่านึกถึงแต่พระนิพพาน เพื่อประโยชน์แก่การบรรลุพระนิพพาน เข้าใจพระนิพพานอย่างถูกต้อง ว่าพระนิพพานนั้นคือภาวะที่ปราศจากกิเลส ปราศจากความทุกข์ เรียกภาษาชาวบ้านธรรมดาก็ว่าเป็นชีวิตที่เยือกเย็น เรามีความมุ่งหมายต่อชีวิตที่เยือกเย็นอยู่เป็นปรกติหรือตลอดชีวิต พูดว่าอย่างอื่นไม่เอาทั้งนั้น จะเอาแต่ชีวิตที่เยือกเย็น และคอยเพ่งจ้องอยู่อย่างนี้ แม้ในเพศฆราวาสก็จะเรียกว่ามีเอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ด้วยเหมือนกัน แล้วก็มีสติบวกสมาธิอยู่ในสิ่งที่จะทำ กำลังทำ รู้สึกตัวดีทั้งแต่ก่อนทำและเมื่อทำอยู่และเมื่อทำแล้ว แปลว่ามีสติบวกกันอยู่กับมีสมาธิ ในกิจการบ้านเรือนจะยกตัวอย่างให้ฟังอย่างที่บางคนอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องพูดเล่น เช่นว่ากวาดพื้นกระดานอยู่ ก็ขอให้จิตอยู่ตรงที่ปลายไม้กวาดจดพื้นกระดาน มีจิตแน่วแน่อยู่ตรงที่ปลายไม้กวาดจดพื้นกระดาน ถ้าล้างจานล้างชามอยู่ก็มีจิตแน่วแน่อยู่ตรงที่นิ้วมือที่กระทบจานที่ถูจาน ถ้ากำลังล้างหม้อถูหม้อขัดหม้ออยู่ก็มีจิตอยู่ตรงที่เครื่องขัดหม้อถูอยู่กับหม้ออย่างแน่วแน่ ถ้าผ่าฟืนอยู่ก็มีสติอยู่ที่ตรงที่ขวานชำแรกไม้ ขวานกระทบไม้แล้วแตกออกไป นี่ทำอย่างนี้อยู่ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีสมาธิอย่างเลิศ อย่างชั้นเลิศ ฟังดูเป็นของเล่น แต่ผลในแท้จริงนั้นก็เป็นของจริง โดยเหตุที่เห็นเป็นของเล่นไม่สนใจ ไม่เคยทำอย่างนั้น แม้แต่จะทำอะไรอยู่ใจก็ลอยไปอยู่ที่อื่นไม่ได้อยู่กับสิ่งที่ทำ ก็เลยไม่เป็นการฝึกสติไม่เป็นการฝึกสมาธิ เดี๋ยวนี้เรามาฝึกกันอย่างนี้เสียใหม่ จะนั่งก็รู้สึกตัวเมื่อมันนั่ง จะนอนก็รู้สึกตัวเมื่อนอน เดินก็รู้สึกตัวเมื่อเดิน ยืนก็รูสึกตัวเมื่อยืน นั่งก็มีสมาธิที่นั่งลงกระทบพื้น นอนก็ที่ตัวกระทบพื้น เดินก็ที่ปลายเท้ากระทบพื้น ยืนก็ที่ปลายเท้ากระทบพื้น เป็นของธรรมดาสามัญที่สุดแต่ถ้าทำได้ก็จะมีสติและสมาธิอย่างยิ่ง
นี่ข้อที่ ๕.หรือข้อสุดท้าย ก็มีปัญญารักษาจิตให้ไม่เกิดความคิดประเภทตัวกูของกู คือประเภทความคิดที่วุ่นวาย ทำจิตให้ว่างจากความคิดชนิดนี้ในทุกๆกรณี เมื่อทำงานก็ไม่ได้คิดว่าตัวกูทำเพื่อกู เมื่อได้ผลงานก็ไม่รู้สึกว่ากูได้ผลงาน รู้สึกแต่มันเกิดขึ้นตามกฎเกณฑ์ของธรรมดาที่ทำถูกต้อง เก็บผลงานไว้กินไว้ใช้ก็ไม่เป็นเรื่องของตัวกู เป็นเรื่องของกระทำที่ถูกต้อง และจะแบ่งปันให้ผู้อื่นทำบุญทำทานก็ไม่ต้องมีความคิดประเภทตัวกู ว่ากูกระทำเพื่อได้แก่ตัวกู ทำอย่างนี้เป็นการทำตามรอยพระอรหันต์ลัดสั้นอย่างที่สุดแล้ว เรียกว่าทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น กินอาหารของความว่างอย่างพระกิน ตายเสร็จสิ้นแล้วในตัวแต่หัวที ผู้ใดทำได้อย่างนี้ตามที่กล่าวมา ๕ประการนี้ ผู้นั้นกล่าวได้ว่าเป็นคนบวชอยู่ที่บ้านตลอดเวลา ไม่ต้องเสียใจว่าไม่ได้ไปบวชที่วัด เพราะเป็นสตรีหรือว่าไม่มีโอกาสจะไปบวชที่วัด ขอให้บวชที่บ้านถึงทำได้ก็จะไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องน้อยใจ ไม่ต้องท้อแท้ใจ แล้วก็จะได้รับผลอานิสงส์อย่างยิ่ง อย่างสูงสุด ยิ่งกว่าพวกที่บวชอยู่วัดบางคนด้วยซ้ำไป ขอท่านทั้งหลายจงรู้จักความประพฤติกระทำการบวชชนิดอยู่ที่บ้าน เป็นรายการพุทธธรรมนำสุขมาให้อย่างยิ่ง อาตมาขอยืนยัน การบรรยายสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยาย.