แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายปาฐกถาธรรมในชุด พุทธธรรมนำสุข ในครั้งนี้อาตมาจะกล่าวในหัวข้อว่า ประพฤติธรรมแล้วมีชีวิตเย็น มีชีวิตเย็น พูดถึงเรื่องของชีวิตเย็น เป็นคำที่อาจจะแปลก แปลกหูสำหรับท่านผู้ฟังบางคนก็ได้ แต่เชื่อว่าคงเข้าใจได้โดยที่ไม่ต้องมีคำอธิบายอะไรมากนัก ชีวิตเย็นก็คือไม่ร้อน คนก็รู้อยู่ดีว่าอะไรร้อนอะไรเย็น แต่มันมีอยู่เป็น ๒ ระดับ คือ ร้อนหรือเย็นในทางกายทางวัตถุก็มี ร้อนหรือเย็นในทางจิตทางวิญญาณนั้นก็มี เดี๋ยวนี้เราหมายถึงเย็นในทางจิตในทางวิญญาณ เพราะว่าความร้อนที่ร้ายกาจรุนแรงแผดเผานั้นเป็นความร้อนทางจิตเป็นความร้อนทางวิญญาณ กล่าวเฉพาะเจาะจงลงไปก็คือความร้อนของ กิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ราคะเกิดแล้วร้อนเพราะความรัก โทสะเกิดแล้วร้อนเพราะความโกรธความเกลียด โมหะเกิดแล้วร้อนเพราะความสงสัย ความหลงใหล ความหวาดกลัว เรียกว่า ราคะ ก็เป็นไฟ โทสะก็เป็นไฟ โมหะก็เป็นไฟ สามอย่างนี้เรียกว่า ไฟกิเลส ถ้ามีเข้าในผู้ใด มันก็ร้อน ชีวิตนั้นก็เป็นชีวิตร้อน ไม่ใช่ชีวิตเย็น
ถ้าเมื่อใดไม่มีกิเลสที่เป็นไฟเกิดขึ้นในจิตใจ มันก็ไม่มีความร้อน มันก็เป็นชีวิตเย็น ถ้ามันเย็นเด็ดขาด เย็นตลอด เย็นไม่กลับร้อน ก็เรียกว่า บรรลุพระนิพพาน เดี๋ยวนี้เรายังไม่บรรลุพระนิพพานเพราะว่าไอ้ความเย็นนี้มันเป็นชั่วครั้งชั่วคราว ชั่วบังเอิญเป็นเสียมากกว่าที่ว่าไม่เกิดกิเลส แต่ก็ควรจะศึกษาไว้ให้เข้าใจ ว่าเมื่อใดในจิตใจของเราไม่มีกิเลส อย่างเช่นราคะเป็นต้น เราเย็นอย่างไร แล้วไปเปรียบเทียบกันดูกับว่าเมื่อใดในจิตใจมีไฟราคะเป็นต้น แล้วมันร้อนอย่างไร ดูเหมือนทุกคนจะเคยร้อนมาแล้วทั้งนั้น ร้อนเพราะความรัก ร้อนเพราะความโกรธ ร้อนเพราะความเกลียด ร้อนเพราะความกลัว ร้อนเพราะความวิตกกังวล ร้อนเพราะความอาลัยอาวรณ์ ร้อนเพราะความอิจฉาริษยา ร้อนเพราะความหึง ร้อนเพราะความหวง ต่างๆนาๆ เหล่านี้เป็นความร้อน สรุปรวมแล้วมีอยู่ ๓ ประเภทด้วยกัน คือ ร้อนเพราะราคะ ร้อนเพราะโทสะ ร้อนเพราะโมหะ ชีวิตอย่างนี้เราเรียกว่า ชีวิตร้อน ถ้าไม่มีไฟเหล่านี้มันก็เป็นชีวิตเย็น
ถ้าใครสนใจที่อยากจะมีชีวิตเย็น เขาต้องประพฤติธรรมะ ต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ แล้วประพฤติธรรมะ ประพฤติธรรมะแล้วมันจะป้องกันได้ไม่ให้ไฟลุกขึ้นมาในชีวิต ไม่เกิดราคะ โทสะ โมหะ เราเผลอมันก็เกิด ไม่เผลอมันก็ไม่เกิด จึงต้องหัดกันเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือว่า อย่าเผลอ ศึกษาให้รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร ไม่เกิดกิเลสอย่างไร แล้วก็อย่าเผลอ พอเผลอมันก็เกิด เราจึงต้องมีทั้งความรู้ รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร มีทั้งสติ สติคือระลึกได้อยู่เสมอ ไม่ให้เผลอ ให้ความรู้มันคุ้มครองเราอยู่เสมอ ถ้าไม่มีสติ ความรู้ก็ไม่มาคุ้มครองเรา ก็ทำผิดได้ง่ายๆ เมื่อตาเห็นรูป ก็ทำผิดเกี่ยวกับเรื่องสวยไม่สวย งามไม่งาม เมื่อฟังเสียงก็ทำผิดเกี่ยวกับเสียงเพราะเสียงไม่ไพเราะ เมื่อได้กลิ่น ก็ทำผิดเรื่องหอมเรื่องเหม็น เมื่อได้รสทางลิ้น ก็มีปัญหาเรื่องอร่อยหรือเรื่องไม่อร่อย อาจจะเป็นยักษ์เป็นมารขึ้นมา เพราะความไม่อร่อยนั่นก็ได้ เมื่อได้สัมผัสผิวหนังกระด้างหรือนิ่มนวล ก็มีการทำผิดเพราะความหลงรัก หลงเกลียด หลงชัง และส่วนมากก็เป็นไปในทางหลงรักในสิ่งที่นิ่มนวล หลงเกลียดสิ่งที่กระด้าง ล้วนแต่เป็นเรื่องวุ่นวายทั้งนั้น
เมื่อใจคิดนึกอะไร มันก็มีแต่ทางที่จะแยกออกไป เป็นความพอใจ หรือไม่พอใจ ยินดี ยินร้าย คิดดี คิดชั่ว มันก็ร้อนไปทั้งนั้น เรียกว่ามันมีความผิดในการคิด ผิดในความรู้สึกว่าคิดผิด เมื่อคิดผิด แล้วมันก็ทำผิด เมื่อทำผิดมันก็พูดผิด พูดผิดทำผิดมันก็เกิดเรื่อง อย่างที่ถึงกับฆ่ากันตาย อย่างที่เราเห็นอยู่ทั่วๆ ไป ว่าคนโง่นั้นมันฆ่ากันตาย ด้วยเรื่องนิดเดียว เรื่องนิดเดียวที่ไม่ควรจะฆ่ากัน ไม่ต้องถึงกับฆ่ากันก็ได้ แต่มันยังฆ่ากันได้ แล้วมันยังฆ่าถึงขนาดที่เรียกว่าล้างโคตรกันทีเดียว เพราะความผิดในครั้งแรกเพียงนิดเดียว มันลุกลามเป็นความผิดอันใหญ่หลวง
สิ่งที่จะให้มีความเข้าใจถูกมันก็คือ สติปัญญา ที่มาจากการศึกษา ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ต้องรู้มากกว่านั้น รู้แค่ว่าอะไรเป็นอะไร ก็หมายความว่า รู้ว่าอะไรควรทำอย่างไร อะไรควรทำอย่างไร สิ่งนี้มันจะให้โทษอย่างไร สิ่งนี้มันจะให้ผลอย่างไร มันรวมอยู่หมดในคำว่า ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
ความรู้นี้ไปสูงสุดอยู่ที่ความรู้เรื่อง เช่นนั้นเอง บาลีว่า ตถาตา เป็นไทยว่า เช่นนั้นเอง ฟังดูแล้วคล้ายกับพูดเล่น ฟังดูแล้วก็น่าหัวร่อคล้ายกับพูดเล่น ที่ว่ารู้เรื่องเช่นนั้นเอง ไอ้ที่ไม่รู้เรื่องเช่นนั้นเองนั่นแหละ ระวังเถิด ไม่รู้เรื่องว่ามันเป็นเช่นนั้นเองนั่นแหละ มันจะโง่ มันจะไปหลงรักไอ้สิ่งที่ยั่วให้รัก จะไปหลงโกรธหรือเกลียดสิ่งที่ยั่วให้เกลียด มันจะไปหลงกลัว หลงพะวง หลงใหลในสิ่งที่ยั่วให้หลง ก็มันไม่รู้อะไรเป็นอะไร ถ้ารู้ว่าอะไรเป็นอะไรเสียแล้ว มันจะไปหลงในอะไรไม่ได้ จะไปทำผิดในอะไรไม่ได้ จะไม่หลงรัก ไม่หลงโกรธ ไม่หลงเกลียด ไม่หลงกลัว ไม่หลงวิตกกังวล ไม่หลงอาลัยอาวรณ์ ไม่หลงอิจฉาริษยา ไม่หลงหึงหลงหวง และอะไรต่างๆ นาๆ รวมอยู่ในพวกเดียวกัน
ขอพูดย้ำๆ ซ้ำๆ ซากๆ ใครจะรำคาญก็ตามใจว่า พวกคุณนั้นมันเต็มอยู่ด้วยความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวง ซึ่งล้วนแต่ทำให้นอนไม่หลับ จนเป็นโรคประสาท จนเป็นโรคจิต ก่อโรคขึ้นมาเป็นความกระสับกระส่าย ทุรนทุราย นอนไม่หลับ นานเข้าเป็นโรคประสาท นานเข้าเป็นโรคจิต รักษาไม่หาย เป็นบ้าตายไปเลย เพราะทำเล่นกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งควรจะรู้จักกันให้ดีๆ ว่าอะไรเป็นอะไร
ธรรมะสูงสุดท่านเรียกไว้ว่า รู้ความเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเอง อย่าไปหลงรักมันเลย อย่าไปหลงเกลียดมันเลย อย่าไปหลงโกรธมันเลย อย่าไปหลงกลัวมันเลย อย่าวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวง เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เลย อย่างนี้มันก็เป็นตัวสติปัญญา มีตัวอยู่ด้วยสติปัญญา ไม่มีกิเลสตัณหา ซึ่งเป็นความโง่หลง เห็นเช่นนั้นเอง นี่มันมีความหมายครอบจักรวาล ทุกสิ่งในจักรวาลนี้มันเป็นเช่นนั้นเอง คือเป็นไปตามเรื่องของมันเอง ตามกฎของมันเอง ที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ความที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง นี่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ถ้าเราจะไปเกี่ยวข้องกับมัน ก็เกี่ยวข้องให้ถูกกับธรรมชาติของมัน อย่าไปหลงทำผิดกับมัน มันจะเกิดกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา สิ่งนั้นมันเป็นอย่างไร ถ้าเราจะต้องการจะใช้เป็นประโยชน์ ก็ใช้มันถูกต้อง อย่าไปหลงรัก ตกเป็นทาสของมัน แต่เราจะมีสติปัญญา รู้เท่าทันมัน อยู่เหนือมัน เป็นนายของมัน เอามาใช้ได้ เช่นวัว เช่นควาย นี่เอามาใช้ไถนาได้ เพราะเรารู้จักเรื่องของวัวของควาย จึงเอามาใช้ได้ แต่ว่าสิ่งทั้งหลายในโลกนั้นมันไม่ใช่เป็นวัวเป็นควาย มันเป็นอะไรมากกว่านั้น เข้ามาหลอกให้เรารักก็ได้ หลอกให้เราโกรธก็ได้ หลอกให้เราเกลียดก็ได้ หลอกให้เรากลัวก็ได้ หลอกให้เราวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวง ก็ได้
ทำไมอาตมาจึงพูดถึงคำเหล่านี้บ่อยนัก ซ้ำซากนัก จนท่านรำคาญกันแล้วก็ได้ว่า อย่าอยู่ด้วยชีวิตชนิดที่มันมีความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวง มันเป็นชีวิตนรก มันเป็นนรกที่นี่ เดี๋ยวนี้ ถ้าอยู่ด้วยความรู้สึกชนิดนี้ มันเป็นนรกที่นี่ มันทั้งน่าเกลียด มันทั้งน่ากลัว มันน่าขยะแขยง นั่นแหละคือ ชีวิตร้อน ชีวิตร้อน นรกก็มีความหมายว่าร้อน ชีวิตที่ร้อน ก็คือ ชีวิตที่จมอยู่ในนรก จะต้องเอาเรื่องเย็น เรื่องธรรมะ ที่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน ธรรมะไหนเป็นไปเพื่อพระนิพพาน ธรรมะนั้นเป็นไปเพื่อความเย็น เพราะคำว่า นิพพาน นั้นแปลว่า เย็น คำว่า นิพพาน แปลว่า เย็น ดับไฟหมดแห่งความร้อน ก็เป็นความเย็น ดับไฟหมดแห่งความทุกข์ก็เป็นความไม่ทุกข์ นี่เรียกว่า มันไม่มีไฟ
ไฟจะตั้งต้นขึ้นเมื่อไร ก็ขอให้รู้กันไว้บ้าง ไฟราคะ โทสะ โมหะ นี้มันตั้งต้นขึ้นเมื่อเราโง่ เราโง่เมื่อไร เราโง่เมื่อมีผัสสะมากระทบ กระทบอะไร คือมีสิ่งมากระทบตา กระทบหู กระทบจมูก กระทบลิ้น กระทบกาย กระทบใจ มีอะไรมากระทบ แล้วเรามันโง่ ก็มี ผัสสะโง่ ผัสสะโง่ก็ปรุงเวทนาโง่ เวทนาโง่ก็ปรุงตัณหา คือความต้องการที่โง่ มีตัณหาแล้วก็ปรุงอุปาทาน ยึดมั่น ถือมั่นในสิ่งที่ตนอยาก ที่ตัณหามันอยากอะไรก็ปรุงอุปาทานขึ้นในสิ่งนั้น ว่ามีตัวกูผู้อยากบ้าง มีสิ่งที่กูอยากจะเอามาเป็นของกูบ้าง นี่เป็นอุปาทานขึ้นมาอย่างนี้ หลอกทั้งนั้น มายาทั้งนั้น ไม่ใช่ตัวจริง แต่ถึงหลอกนั่นแหละ มันยิ่งร้อน ยิ่งหลอก ยิ่งร้อน ยิ่งหลอก ยิ่งเป็นทุกข์ ชีวิตนี้จึงเป็นทุกข์ เพราะตกลงไปในอำนาจของความหลอก ให้เรารู้ให้ทันเวลาที่มีผัสสะ อย่าไปโง่เมื่อมีผัสสะ รู้ว่านี่ผัสสะเท่านั้นเอง จะเวทนา ก็เวทนาเท่านั้นเอง มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติที่มีผัสสะ ที่น่ารักก็อย่าไปรักมัน ที่น่าเกลียดก็อย่าไปเกลียดมัน ที่น่าโกรธก็อย่าไปโกรธมัน ที่น่ากลัวก็อย่าไปกลัวมัน ดำรงจิตไว้ให้เป็นปกติอยู่เสมอ ก็ไม่เกิดตัณหา ที่จะอยากอย่างนั้น ที่จะอยากอย่างนี้ ที่จะอยากอย่างโน้น ไม่มีตัณหา ไม่มีอยาก แล้วก็ไม่มีอุปาทาน ก็ไม่มีความทุกข์ นี่ไม่โง่เมื่อผัสสะ เสียอย่างเดียวเท่านั้น ไฟมันก็ไม่ติดขึ้นมา ผัสสะมันก็หินเหล็กไฟ ตีแล้วก็เป็นไฟขึ้นมา นี่เรามีวิธีควบคุมไม่ให้เป็นไฟขึ้นมา ก็รู้อยู่ที่ตามเป็นจริงว่าอะไรมันไม่เป็นความร้อน เช่น เอาน้ำใส่เข้าไปให้มันเปียกเสีย มันก็ลุกเป็นไฟไม่ได้ นี่เรามีผัสสะกันทุกคน และตลอดเวลา ทุกวัน ทุกวัน วันหนึ่งไม่รู้ว่ากี่สิบกี่ร้อยผัสสะด้วยซ้ำไป ถ้าโง่ในเรื่องผัสสะก็ต้องได้เป็นทุกข์ ร้อนใจเพราะไฟราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น ถ้าควบคุมผัสสะได้ ก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่ต้องร้อนใจ ไม่เป็นไฟ
ในชีวิตนี้ จะเย็นตลอดเวลา เมื่อคิดจะทำอะไร ก็ยังเย็นอยู่นั่นแหละ ทำอะไรก็ยังเย็นอยู่ ทำเสร็จแล้วก็ยังเย็นอยู่ เพราะมันไม่ไปโง่ เรื่องได้ผล เรื่องไม่ได้ผล เรื่องได้อย่างใจ เรื่องไม่ได้อย่างใจ เราทำงานอยู่ก็เย็น เก็บกินผลงานอยู่ก็เย็น พักผ่อนอยู่ก็เย็น ถ้าไม่มีความรู้เรื่องนี้แล้ว แม้จะพักผ่อนก็ไม่เป็นสุข นอนก็ไม่หลับ พักผ่อนก็ไม่เป็นการพักผ่อน เพราะว่ากิเลสนี้มันรบกวน นี่เราเย็นเพราะว่าเราไม่เปิดโอกาสให้ไฟลุกขึ้นมาในจิตใจของเรา เรียกว่าเราช่วยตัวเราเองได้ เมื่อเราช่วยตัวเราเองได้ ก็ช่วยผู้อื่นได้ ช่วยผู้อื่นได้ก็คือช่วยชาติได้เลย ช่วยโลกทั้งโลกได้เลย
ขอให้มีหลักปฏิบัติชนิดที่ตัวเองไม่จุดไฟขึ้นมาแผดเผาตัวเอง ควบคุมผัสสะได้ดังที่กล่าวมานี้ แล้วก็จะพอใจตัวเอง เคารพตัวเอง นับถือตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้ ว่าช่างเต็มไปด้วยความถูกต้อง ความดี ความงาม จนกระทั่งต้องยกมือไหว้ตัวเอง เมื่อนั้นเป็นสวรรค์ เมื่อนั้นเป็นสวรรค์ เมื่อยกมือไหว้ตัวเองได้นั่นแหละเป็นสวรรค์ เมื่อเกลียดน้ำหน้าตัวเองนั้นเป็นนรก
ในที่สุดนี้หวังว่าท่านทั้งหลายจะรู้จักควบคุมสติแห่งจิตใจ เกี่ยวเนื่องกันอยู่กับร่างกายและสติปัญญา ให้ดำเนินไปแต่ในทางที่ถูกต้อง ให้สามารถยกมือไหว้ตัวเองได้แล้วเป็นสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ