แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลายปาฐกถาธรรม โดยหัวข้อว่าพุทธธรรมนำสุขในครั้งนี้ อาตมาจะได้กล่าวโดยบทสรุปสั้นๆ ว่าการประพฤติธรรมเป็นความสนุก คนเป็นอันมากเขาไม่เชื่อ และไม่ยอมเชื่อว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นความสนุก ได้ยินกันมาแต่ว่าเป็นความยากเป็นความลำบาก หรือเป็นทุกข์ อย่างเช่นว่าอย่างน้อยก็ต้องไปอยู่ที่วัด ดีขึ้นไปอีกก็ไปอยู่ตามถ้ำตามเขาในป่าในดง ลำบากด้วยการเป็นอยู่ ด้วยการกินอาหารเป็นต้น แล้วการปฏิบัตินั้นก็ทำให้ต้องอดทน เจ็บปวดในทางกาย หรือทนทรมานในทางจิตใจ สรุปแล้วเขาก็ว่าการปฏิบัติธรรมนั้นลำบากและเป็นทุกข์ ข้อนี้อย่าได้เห็นเช่นนั้นเลย คำกล่าวเช่นนั้นเป็นคำกล่าวอย่างหลับหูหลับตา เป็นปรัมปราคือกล่าวสืบๆ กันมาของบุคคลที่ไม่เคยปฏิบัติธรรม ครั้งแรกก็จะเป็นการเดาเอาของใครคนใดคนหนึ่งเสียมากกว่า แล้วก็บอกต่อๆ กันมา หรือมิฉะนั้นก็เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เป็นการปฏิบัติชนิดที่ให้ลำบากเป็นทุกข์ทรมานกาย แล้วก็ไม่ได้ผลอะไร แล้วก็ใส่ไคล้ว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นทุกข์ หรือต้องทนลำบาก ดังนั้นขอให้เรามาทำความเข้าใจกันเสียใหม่ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับคำว่า ธรรม นั้นเอง
ท่านต้องมีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า คำว่า ธรรม หรือ ธรรมะ นี้เกิดขึ้นในการพูดจาของมนุษย์มาแต่ก่อนพุทธกาลนานไกล แม้พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ธรรม มีอยู่ก่อนสิ่งใด ทั้งนี้ก็เพราะว่าคำว่า ธรรม ธรรมตามคำพูดของคนเหล่านั้น เขาหมายถึงการทำหน้าที่ เมื่อมนุษย์เริ่มพ้นจากการเป็นคนป่า มารู้จักทำการทำงาน ไม่เพียงแต่หาอาหารจากในป่าง่ายๆ มารู้จักการทำงานที่บ้านที่หมู่บ้าน ที่อยู่กันเป็นหมู่บ้าน จนกระทั่งพบว่ามันมีอยู่สิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญมาก สิ่งนั้นคือหน้าที่ที่เราจะต้องทำ เขาคลำพบตัวสิ่งที่เรียกว่า หน้าที่ที่จะต้องทำ แล้วก็พูดออกมาเป็นคำพูดว่า ธรรม หรือ ธรรมะ หรือธรรมะแล้วแต่จะใช้สำเนียงของภาษาชนเหล่าไหน แต่ใจความก็เหมือนกัน เมื่อเขาพบสิ่งที่เป็นหน้าที่ของมนุษย์นั้น เขารู้สึกว่าหน้าที่นั่นแหละ คือสิ่งที่จะช่วยดำรงมนุษย์ไว้ให้อยู่ได้ ให้ไม่ตาย ให้ไม่เสื่อมเสีย ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าไป เป็นสิ่งที่ทรงมนุษย์ไว้ ให้อยู่ในสภาพที่พึงปรารถนาอย่างนี้ และก็เรียกเป็นภาษานั้น ในเวลานั้นว่า ธรรม ดังนั้น ธรรม คำนี้จึงมีความหมายว่าทรงไว้ซึ่งผู้ปฏิบัติ
คำว่าธรรมล้วนๆ แปลว่า ทรง ทรงไว้ซึ่งตัวมันเองก็ได้ เมื่อสามารถทรงตัวมันเองได้ ก็สามารถที่จะทรงสิ่งอื่นได้ ในที่นี้เราหมายถึง ธรรมะสามารถจะทรงผู้ปฏิบัตินั้นไว้ ไม่ให้ตกต่ำไปในทางที่ไม่พึงปรารถนา ธรรม จึงหมายถึงสิ่งที่ทรงผู้ปฏิบัติไว้ไม่ให้ตกต่ำลงไปในสภาพอันเป็นทุกข์ มีความหมายว่า ทรงไว้ ทรงไว้ ทรงไว้ซึ่งผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในความทุกข์ จึงเห็นได้ว่ามันเป็นหน้าที่โดยตรง ถ้าไม่ทำหน้าที่ ก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นการทรง หรือดำรงชีวิตไว้ ดำรงความเป็นมนุษย์ไว้ หรือดำรงความดีความงามอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ มันต้องมีสิ่งที่ดำรงไว้ มิฉะนั้นมันจะตาย หรือมันจะเสื่อมเสีย จึงต้องมีสิ่งที่ทรง สิ่งที่ทรงนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องมี ทำหน้าที่ทรงตัวเองไว้ ทรงชีวิตไว้ ทรงความเป็นมนุษย์ไว้
ดังนั้นคำว่า ธรรม จึงมีความหมายว่า หน้าที่ ขึ้นมา ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต ถ้าไม่ทำหน้าที่อันนี้มันก็ตาย หรือยู่อย่างที่ทนทรมาน คำว่าหน้าที่ หน้าที่นี้จึงเป็นคำพิเศษประเสริฐสูงสุด จำเป็น หรือมีเกียรติที่สุด สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายต้องมีธรรม หรือธรรมะในฐานะที่เป็นหน้าที่ นับตั้งแต่ว่าพฤกษชาติทั้งหลาย ลงมาถึงหญ้าบอนตะไคร่น้ำ มันมีชีวิต เมื่อมันมีชีวิต มันก็ต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อที่จะดำรงชีวิตไว้ พฤกษชาติทั้งหลายจึงต้องงดูดน้ำกิน ต้องดูดแร่ธาตุเป็นอาหาร ต้องรับแสงแดด ปรุงอาหารที่ใบไปหล่อเลี้ยงลำต้นทั่วๆ ไป กระทั่งออกดอกออกผล ก็เป็นหน้าที่ มันจึงไม่สูญพันธุ์ ดูเถิดว่าแม้แต่ชั้นพฤกษชาติก็ยังต้องทำหน้าที่
ทีนี้มาถึงสัตว์เดรัจฉานซึ่งสูงกว่าพฤกษชาติ ก็ต้องทำหน้าที่ อย่างที่เราก็เห็นๆ กันอยู่ว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงต้องหากิน ต้องต่อสู้ ต้องหนีภัย ต้องบริหารกาย ต้องกระทำทุกอย่างที่มันเป็นหน้าที่ใหญ่ๆ และหน้าที่น้อยๆ เช่นว่ากินอาหาร ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ หลบหนีเหลือบยุงลมแดด อย่างนี้มันก็เป็นหน้าที่ไปหมด ธรรมะ คือ หน้าที่แม้สำหรับสัตว์เดรัจฉาน ก็เป็นธรรมะสำหรับสัตว์เดรัจฉาน สำหรับเป็นอยู่ มีอยู่อย่างสัตว์เดรัจฉาน ทีนี้ก็มาถึงมนุษย์เราหรือคนเรา คนเราก็ต้องมีหน้าที่ ในฐานะเป็นสิ่งที่มีชีวิต ก็ต้องมีหน้าที่เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตนั้นไว้
ถ้าจะกล่าวเป็นคำที่สรุปสั้นที่สุด หน้าที่นั้นก็เพื่อความรอด ทุกศาสนามีคำว่ารอด รอดอยู่เป็นคำสุดท้าย ตอนสุดท้ายของการกระทำนั้น จะมีคำว่าความรอด รอดในที่นี้มีอยู่ ๒ ระดับ ระดับแรกรอดชีวิตมีชีวิตอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย นี่เรียกว่ารอดจากความตาย รอดจากความลำบากยากแค้นหรือยากจน นี่ก็เรียกว่ารอดครั้งแรก เมื่อรอดครั้งแรกอย่างนี้ได้แล้วก็รอดสูงขึ้นไป คือรอดจากความทุกข์อันละเอียด รอดจากความทุกข์ที่เกิดมาจากกิเลส เช่น ความโลภ โกรธ หลง รอดมาจากความทุกข์ตามธรรมชาติ เช่น ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
ศึกษาธรรมะ เพื่อรู้ธรรมะ เพื่อไม่ให้เกิดมีความทุกข์ เพราะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้ความเกิดแก่เจ็บตายเป็นของธรรมชาติไป อย่าไปมีตัวตนรับเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นของตน สูงสุดที่ตรงนี้ พุทธบริษัทมีพระพุทธองค์เป็นกัลยาณมิตรแล้ว รู้ธรรมะแล้ว พ้นจากความบีบคั้นของความทุกข์ทั้งปวง แม้ที่สุดแต่ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ไม่ได้ทำให้เป็นทุกข์ นี้รอดอันสุดท้าย รอดที่ ๑ รอดชีวิตอยู่ได้ รอดที่ ๒ รอดจากการบีบคั้นของความทุกข์ทั้งปวง นี่คือหน้าที่เพื่อทำความรอด ความรอดเป็นผลของการกระทำหน้าที่ หน้าที่นั้นแหละเรียกว่าธรรมะ ในฐานะดำรงสิ่งที่มีชีวิตให้รอดอยู่ได้ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดทุกระดับ จึงต้องมีหน้าที่ มีหน้าที่นั้นแหละเป็นเครื่องรอดชีวิตอยู่ได้ ถ้ามองเห็นความจริงข้อนี้ ก็จะถือว่าหน้าที่นั้นแหละ หน้าที่นั้นแหละ หน้าที่นั้นแหละเป็นสิ่งสูงสุด ประเสริฐที่สุด มีเกียรติที่สุดสำหรับมนุษย์ และจำเป็นที่สุดที่จะต้องมีธรรมะในฐานะที่เป็นหน้าที่อย่างนี้
ถ้ามีความรู้ถึงขนาดนี้ก็เรียกว่าเป็นพุทธะ พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้รู้ คือ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร หายความโง่ซึ่งเป็นเหมือนความหลับ เรียกว่าตื่นจากความหลับ คือ กิเลสและมารู้อยู่ตามที่เป็นจริง จึงได้มีความเบิกบาน เพราะไม่มีความทุกข์ ช่วยกันจำไว้ให้ดีๆ ว่า พุทธะ แปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราเป็นพุทธบริษัทต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มิฉะนั้นจะไม่เป็นพุทธบริษัท มันจะน่าละอายเหลือประมาณ จงทำหน้าที่ด้วยความรู้สึกว่าเป็นสิ่งสูงสุด ประเสริฐที่สุด จำเป็นที่สุดในหน้าที่นั้น จึงจะสนุก นี่แหละเรียกว่าการงานมันสนุก ก็มองเห็นอยู่ซึ่งผลเลิศที่สุด คือ ความรอดชีวิต และรอดจากความทุกข์ทั้งปวง ในขณะศึกษาก็ให้สนุก ในขณะทำการงานก็ให้สนุก ในการบริหารชีวิตของตนเอง หรือของผู้อื่นตามหน้าที่ ก็ขอให้ทำให้สนุก
ทำหน้าที่นี้เรียกว่า ประพฤติธรรมะ เพราะมองเห็นค่าอันสูงสุดของธรรมะ ก็เลยทำสนุก และด้วยความพอใจ สนุกในการทำงาน หรือสนุกในการปฏิบัติธรรม หรือสนุกในการทำหน้าที่ของมนุษย์นั้น แล้วแต่จะเรียกว่าอะไร ถ้าไม่มองเห็นถึงขนาดนี้ คือไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะถึงขนาดนี้ ก็จะทำงานไม่สนุก เห็นเป็นของหนัก น่าเบื่อหน่าย น่าระอา ดังที่วัยรุ่นผู้ไร้การศึกษา เขารู้สึกว่าทำงานนี้เหนื่อยเปล่าๆ ไปขโมยไปปล้นไปจี้ดีกว่า ไม่ต้องเหนื่อย แล้วก็รวยเร็ว ก็สนุกไปตามแบบของเขา คือสนุกตามแบบของอันธพาล จึงต้องแยกกันเด็ดขาดว่าสนุกตามแบบของกิเลสของอันธพาลนั้น ใช้ไม่ได้ ต้องสนุกของธรรมะ ของสติปัญญา ของบุคคลผู้รู้ตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร ถ้ารู้แล้วสนุกโดยนัยยะอย่างนี้แล้ว เรียกว่าเป็นความสนุกที่ถูกต้อง สนุกในการประพฤติธรรม สนุกในการทำหน้าที่ แล้วก็เป็นสุขอยู่ในการทำหน้าที่ในขณะที่ทำหน้าที่นั้นเอง มีความสุขพอใจตัวเอง นับถือตัวเอง สรุปเรียกว่ายกมือไหว้ตัวเองได้ แล้วจะไม่เป็นสุขอย่างไร
ถ้าผู้ใดมีความสนุกในการประพฤติธรรม คือทำหน้าที่การงานแล้วผลก็จะเกิดขึ้นเป็นที่พึงปรารถนาคือว่าไม่มีใครยากจน ไม่มีใครตกเป็นภาระให้คนอื่นต้องเลี้ยงดูให้ลำบาก เพราะทุกคนทำหน้าที่ของตนอย่างสนุก มันก็มีเหลือกินเหลือใช้ กินแล้วใช้แล้วก็ยังมีเหลือเก็บไว้สำหรับช่วยผู้อื่น ก็เลยมีความเป็นผาสุกกันทุกคน หรือทั้งโลก ซึ่งควรจะมองกันไปถึงข้อนั้นด้วย เพราะว่าเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ ต้องอยู่ด้วยกันอย่างที่เป็นบุคคลที่มีความผาสุกด้วยกัน นี่ขอให้ทุกคนมองเห็นธรรมะว่าเป็นหน้าที่อย่างนี้ แล้วทำหน้าที่นั้นให้สนุกเถิด ก็จะมีโอกาสที่จะอยู่ด้วยกันอย่างเป็นผาสุก
หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจธรรมะว่าเป็นหน้าที่ ว่าการงานนั้นแหละเป็นหน้าที่ การงานนั้นแหละเป็นธรรมะ ที่ใดมีการทำการงาน ที่นั้นมีการทำธรรมะ ไม่ต้องพูดว่าที่วัดหรือว่าที่บ้าน พูดว่าที่ใดมีการทำหน้าที่ของมนุษย์ ที่นั่นมีธรรมะ ที่ใดไม่มีการทำหน้าที่ของมนุษย์ ที่นั้นไม่มีการทำหน้าที่ของธรรมะ แม้แต่ในวัดในวา ถ้ากลางทุ่งนามีการทำหน้าที่ของมนุษย์อยู่อย่างแท้จริง ที่นั้นมีธรรมะมากกว่า ขอกล่าวตรงๆ อย่างนี้ว่าท่านทั้งหลายจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ คือหน้าที่ หน้าที่คือการงาน การทำงานคือการปฏิบัติธรรม แล้วเป็นผู้มีความสนุกสนานในการทำงาน มีความสุขจากการทำงานในขณะที่ทำงานอยู่ตลอดทุกทิพาราตรีกาลเทอญ