แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย ปาฐกถาธรรมในเรื่องพุทธธรรมนำสุขในครั้งนี้ อาตมาก็จะขอกล่าวถึง อมตะธรรม อีกสักครั้งหนึ่ง คือธรรมที่ทำความไม่ตาย มีคำอธิบายแปลกออกไปหน่อยหนึ่งตรงที่ว่าธรรมะที่ทำความไม่ตายนั้น เรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค หรือจะเรียกว่า สัมมัตตะก็ได้ คือคำว่าความไม่ตายก็เป็นอย่างเดียวกันอีกในที่ทุกแห่ง คือในบาลีทุกแห่ง หมายความว่า ทำให้ความตายไม่บีบคั้นจิตใจของบุคคลผู้มีธรรมะนี้ ผู้มีธรรมะอย่างนี้จะไม่รู้สึกว่าเราตายหรือใครตาย เป็นแต่กระแสปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ถ้าเราอยากจะเข้าถึงความไม่ตายก็มีธรรมะที่ช่วยให้เป็นเช่นนั้น ก็คืออัฏฐังคิกมรรคที่เรารู้จักกันอยู่ทั่วๆ ไปนั้นแหละ แต่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังว่าจะเป็นเครื่องกำจัดความตายได้ เดี๋ยวนี้ก็จะเอามาบรรยายให้ฟัง
ขอย้อนไปถึงถ้อยคำที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้ใดมีตถาคตเป็นกัลยาณมิตร ผู้นั้นจะพ้นจากความเกิดแก่เจ็บตาย ทีนี้การมีพระพุทธองค์เป็นกัลยาณมิตรนั้น ก็คือการปฏิบัติตามอัฏฐังคิกมรรคมีองค์ ๘ ก็เรียก ว่าสัมมัตตะ ๘ หรือสัมมัตตะ ๑๐ ก็เรียก เอาเป็นว่าเป็นเรื่องเดียวกัน คือการประพฤติปฏิบัติอยู่อย่างถูกต้อง อย่างที่มีคำว่าสัมมา สัมมานำอยู่ข้างหน้า สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา เป็นต้น ล้วนแต่มีคำว่าสัมมา สัมมาคือถูกต้องหรือโดยชอบ นำอยู่ข้างหน้าทั้งนั้น สัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้อง สัมมาสังกัปโปความปรารถนาถูกต้อง สัมมาวาจาการพูดจาถูกต้อง สัมมากัมมันโตประกอบการงานถูกต้อง สัมมาอาชีโวมีอาชีวะถูกต้อง สัมมาวายาโมความพากเพียรถูกต้อง สัมมาสติมีความระลึกถูกต้อง สัมมาสมาธิตั้งใจมั่นถูกต้อง
ในที่นี้มีอุปมาที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ง่ายแก่การจดจำ ที่พระพุทธองค์ตรัสเรียก อัฏฐังคิกมรรคนี้ว่าเป็น วิเรจนะ คือเป็นยาถ่าย เรียกว่า วมน คือยาให้สำรอกอาเจียน เรียกว่าโธวน ชำระกระดูกหรือโครงร่างให้สะอาดหมดบาป คำเหล่านี้เป็นคำที่เขาเรียกกันอยู่ในครั้งนั้น คือครั้งพุทธกาล ที่เรียกว่ายาถ่ายหรือวิเรจนะนั้น เมื่อปฏิบัติอยู่ตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนี้ ก็จะทำหน้าที่เป็นยาถ่าย คือถ่ายบาป ถ่ายอกุศล ถ่ายกิเลส ถ่ายอนุสัย และในครั้งสุดท้ายก็ถ่ายความยึดถือว่าตัวตน ความโง่ว่าตัวตน ถ่ายมาออกหมด ไม่มีความยึดถือว่าตัวตนเหลืออยู่ในจิตใจ ด้วยอำนาจของยาถ่าย คืออัฏฐังคิกมรรค แล้วก็หมดโรคหมดภัย ไม่มีกิเลสตัณหา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วมน ยาสำรอกให้อาเจียน นี่ก็หมายความว่าเมื่อกินยาพิษเข้าไป หรือมีอะไรเกิดเป็นพิษขึ้นมาในภายใน หมอก็ประกอบยาให้กิน แล้วสำรอกอาเจียนออกหมด ก็เลยหายจากโรค
อัฏฐังคิกมรรคมีองค์ ๘ ประการนี้ เมื่อบุคคลประพฤติปฏิบัติอยู่ย่อมสำรอกบาปกิเลสอกุศล ความชั่วร้ายทุกอย่างทุกประการ กระทั่งอุปาทานว่าตัวตนว่าของตน ถูกทำให้สำรอกออกมาสิ้น ไม่มีอีกความรู้สึกยึดถือว่าตัวตนเหลืออยู่ ก็ไม่มีที่ตั้งแห่งความทุกข์อีกต่อไป เพราะว่าความทุกข์ทั้งหลายย่อมเกิดมาจากอุปาทานว่าตัวว่าตนทั้งนั้น นี่พูดกันในรูปของยาสำรอกให้อาเจียน ให้ปฏิบัติตามอัฏฐังคิกมรรคอยู่เถิด จะมีการสำรอกหรืออาเจียนกิเลสบาปอกุศลออกมาจากวิญญาณ จากดวงวิญญาณหรือชีวิตนี่อยู่เสมอไป
ทีนี้ที่เรียกว่าเป็นน้ำล้างกระดูกให้สะอาด นี่เป็นเรื่องเปรียบเทียบกันกับศาสนาอื่น ศาสนาอื่นในอินเดียที่มีชื่อเสียงใหญ่โตในครั้งกระนั้น ก็คือศาสนาพราหมณ์ เขามีพิธีเรียกว่า โธวน เอากระดูกของผู้ตายมาแล้วก็ทำพิธีล้าง ล้าง ให้คนนั้นหมดบาป หรือจะล้างคนเป็นๆ อาบน้ำให้คนเป็นๆ ให้หมดบาปก็ยังคงเรียกว่า โธวน หรือ ล้าง การล้างให้หมดบาปอยู่นั่นเอง พระพุทธองค์ตรัสว่า อัฏฐังคิกมรรค เป็น โธวน ล้างบาปให้หมดไป หมายความว่าถ้าผู้ใดปฏิบัติตนดำรงตนอยู่ในอัฏฐังคิกมรรค คือความถูกต้อง ๘ ประการนั้นแล้ว ก็จะเกิดความสะอาดหมดจากบาปได้จริง ได้จริงยิ่งกว่าวิธีอื่นใด ไม่ใช่เราพูดเข้าข้างพระพุทธเจ้าเพราะว่าเราเป็นสาวกของพระองค์ แต่ใครๆ ก็มองเห็นอยู่ว่าเมื่อปฏิบัติตามอัฏฐังคิกมรรคนั้นแล้ว ก็สะอาด สะอาดจากบาป สะอาดจากอกุศล สะอาดจากกิเลสตัณหาอุปาทานใดๆ ทั้งหมดทั้งสิ้น
ทีนี้ก็จะต้องเข้าใจลึกลงไป ที่เรียกว่ายาถ่ายก็ดี ยาสำรอกอาเจียนก็ดี ล้างบาปก็ดี นั้นเขาพูดถึงภาษาคน ถ้าพูดเป็นภาษาธรรมคือการประพฤติปฏิบัติโดยหลักอัฏฐังคิกมรรคนั้นให้ถูกต้อง องค์ ๘ นี้เข้าใจว่าผู้ฟังที่เป็นพุทธบริษัทโดยมากจำกันได้ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ถ้าผู้ใดจำไม่ได้หรือไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำไปแล้ว อาตมาขอร้องว่านี่เป็นหลักปฏิบัติสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา จงรีบหามาศึกษาจำให้ได้ และใช้เป็นประโยชน์ในชีวิตของตนอยู่ทุกๆ วันเถิด
สัมมาทิฏฐิข้อแรก ความเห็นถูกต้อง หมายถึงมีความรู้ความเข้าใจ ความเชื่ออะไรนี้ล้วนแต่ถูกต้องรวมเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ เขาจะต้องมีสัมมาทิฏฐิว่าอะไรผิดว่าอะไรถูก ถ้าเรารู้สึกว่าทิฏฐิของเรากำลังผิดเรากำลังมีความเห็นผิด ก็ทำความเห็นเสียให้ถูก พยายามอย่างยิ่งที่จะให้ความเห็นถูกขึ้นมา นี่เรียกว่าสัมมาวายาโม พยายามอยู่อย่างถูกต้อง การพยายามนี้ทำอยู่ด้วยสติ มีสติระลึกได้ว่าอะไรมิจฉา อะไรสัมมา การกระทำนี้เรียกว่าสัมมาสติ เรามีสัมมาวายามะกับสัมมาสติ นี่ช่วยให้เกิดสัมมาทิฏฐิจนได้ในที่สุด
แล้วก็ปฏิบัติข้อต่อไปคือ สัมมาสังกัปปะ ความดำริใฝ่ฝันต้องการปรารถนาถูกต้อง แล้วก็ใช้สัมมาทิฏฐิก่อนอีกนั่นเอง สัมมาทิฏฐิมา รู้ว่าอย่างไรเป็นมิจฉาสังกัปปะ อย่างไรเป็นสัมมาสังกัปปะ รู้ชัดเจนแล้ว ก็ใช้สัมมาวายามะพยายามละมิจฉาสังกัปปะเสียด้วยอำนาจของสติหรือสัมมาสติ ในเรื่องหนึ่งจะมี ๓ องค์เสมอ คือต้องมีสัมมาทิฏฐินำหน้า สัมมาวายามะกระทำตามสัมมาทิฏฐิด้วยอำนาจของสติที่ระลึกอยู่อย่างครบถ้วน จะแก้ไขอย่างนี้ทุกข้อไป
ขอข้ามไปยังสัมมาอาชีโว รู้ดีว่าอะไรเป็นมิจฉาอาชีวะ อะไรเป็นสัมมาอาชีวะ มีสัมมาทิฏฐิรู้อย่างนี้แล้วใช้สัมมาวายามะพากเพียรละมิจฉาอาชีวะเสียด้วยอำนาจของสัมมาสตินี่เราไม่พูดถึงสัมมาวายามะสัมมาสติเพราะใช้อยู่ ใช้อยู่กับทุกข้อที่ต้องละ เมื่อทำไปอย่างนี้ก็จะครบ หมายความว่าสัมมาทิฏฐิก็ถูกทำให้มีขึ้นแล้ว สัมมาสังกัปปะมีแล้ว สัมมาวาจา สัมมากัมมันโตนั้นท่านถือว่าเรามีกันอยู่ตามปกตินะ พระพุทธเจ้าท่านถือว่าสัมมาวาจาการพูดจาชอบ สัมมากัมมันตะทำการงานชอบ แม้กระทั่งสัมมาอาชีวะ นี้เราทำกันอยู่เป็นปกติแล้วไม่ลึกซึ้งอะไร เป็นอันว่ามีแล้ว สัมมาวายามะเพียรชอบ สัมมาสติระลึกชอบ มีอยู่แล้วในการกระทำทุกองค์ของมรรค
ทั้งหมดนี้มารวมกันแล้วก็เป็นสัมมาสมาธิ คือสัมมาสมาธิถึงขนาดชนิดที่จะตัดกิเลสได้ เรียกชื่อใหม่ว่า อริยสัมมาสมาธิ คือ ทำองค์ ๘ ของมรรครวมกันทำหน้าที่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวกัน แล้วท่านเรียกชื่อเสียใหม่เป็น อริยสัมมาสมาธิ ก็ตัดกิเลสตัณหาอุปาทานได้ เราประพฤติอยู่เป็นประจำ ขอร้องว่าทุกคนประพฤติอยู่เป็นประจำในองค์ทั้ง ๘ นี้ ประเสริฐวิเศษที่สุด ที่จะทำให้อยู่เหนือความเกิดแก่เจ็บตาย อย่าคิดว่ายาก อย่าคิดว่าเหลือวิสัย กระทำไปอย่างพอดีๆ ไม่ต้องเคร่งเครียด อย่าไปเครียดจนหวังว่าจงได้ผลอย่างนั้นจงได้ผลอย่างนี้ กระทำอย่างปกติเป็นปกติ รู้ว่าปฏิบัติอย่างนี้ก็ปฏิบัติไปอย่างปกติ อย่าไปหวังเข้า จะเกิดกิเลสตัณหาเพราะความหวัง อุปมาว่าอย่าเป็นแม่ไก่บ้า ธรรมดาแม่ไก่ฟักไข่ไปก็แล้วกัน ฟักไปก็แล้วกัน อย่าหวังว่าลูกไก่จงออกมา อย่าไปคิดว่าลูกไก่จงออกมา ลูกไก่จงออกมา ถ้าคิดอย่างนั้นเป็นแม่ไก่บ้า อุปมานี้มีในพระบาลี ตรัสไว้โดยพระองค์เอง อาตมาเอามาสรุปให้ฟังง่ายๆ ว่าอย่าเป็นแม่ไก่บ้า หวังกระหายอยู่ตลอดเวลาว่าลูกไก่จงออกมา ลูกไก่จงออกมาอย่างนี้เป็นต้น ขอให้มีจิตใจที่ตั้งไว้พอดีประพฤติปฏิบัติดำเนินไป
จะขอกล่าวในขั้นสุดท้ายนี้ครั้งหนึ่งว่า นี้ไม่ใช่พูดเล่น ไม่ใช่เรื่องพูดเล่น เป็นเรื่องจริงที่สุดในฐานะเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ผู้ใดดำรงตนอยู่ในอัฏฐังคิกมรรคมีองค์ ๘ นี้แล้ว ก็จะมีจิตใจชนิดที่อยู่เหนือตัณหา เหนือความเกิดความแก่ความเจ็บความตาย เรียกได้ว่าพุทธรรมนำสุขได้จริงๆ ตัวพุทธธรรมนั้น คือตัวอัฏฐังคิกมรรคนี้เอง นำมาซึ่งความสุขได้จริง เพราะเป็นเหมือนกับยาถ่ายโรคออกหมด สำรอกอาเจียนโรคออก หมดล้างสะอาดทั้งเนื้อทั้งตัว ไม่มีความผิดในข้อใดเหลืออยู่ กลายเป็นความถูกต้องหมดทั้ง ๘ ประการ
ขอให้มองเห็นว่าอัฏฐังคิกมรรคนี้นำมาซึ่งผลอย่างนี้ ไม่ว่าจะดำรงตนอยู่อย่างชาวบ้านธรรมดา หรือว่าดำรงตนอยู่อย่างบรรพชิตในวัดวาอาราม ก็ยังต้องปฏิบัติตนอยู่ตามหลักแห่งอัฏฐังคิกมรรคนี้ด้วยกันทั้งนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายสนใจให้ดีๆ รีบศึกษา ถ้ายังไม่รู้ก็รีบศึกษาเพิ่ม ถ้ารู้แล้วพยายามปฏิบัติให้เป็นไปอย่างมัชฌิมาปฏิปทาหรือพอดี ก็จะมีจิตใจเปลี่ยนไปอยู่เหนือมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีมิจฉาทิฏฐิ เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงว่าไม่มีตัวกู ไม่มีของกู คือไม่มีสัตว์บุคคลที่จะเกิดแก่เจ็บตายอีกต่อไป ก็จะมีผล มีอานิสงส์ได้เต็มตามความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา คืออยู่เหนือปัญหาของความตายดังที่กล่าวมาแล้ว
ขอท่านทั้งหลายจงประสบความสำเร็จในการจะมีความรู้เรื่องอมตะธรรมมาเป็นเครื่องนำชีวิตแล้วอยู่เป็นสุขทุกทิพาราตรีกันเทอญ