แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย รายการพุทธรรมนำสุขในโอกาสแห่งอาสาฬหบูชานี้ เราก็จะมีอะไรมาพูดจาปราศรัยกันตามสมควร อาตมาจะพูดถึงเรื่องที่เรียกกันว่าชัยชนะ หรือความชนะ เพราะว่าในวันนี้ ในวันอาสาฬหบูชานั้น พระพุทธองค์ทรงประกาศธรรมจักร อาณาจักรแห่งธรรม ช่วยให้เกิดชัยชนะแก่มาร ถ้าท่านทั้งหลายรู้จักความหมายของธรรมจักร ก็หมายความว่ารู้จักความหมายของชัยชนะที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้ไว้สำหรับมีชัยชนะแก่หมู่มาร ดังนั้น เรามาพูดกันถึงเรื่องชนะ คือไม่แพ้ กันดีกว่า
ชัยชนะอย่างแรก จะเรียกว่าชัยชนะต่ออวิชชาซึ่งทำให้เกิดความเกินอันสุดโต่ง ความเกินอันสุดโต่งเรียกว่า อันตะ เป็นไปด้วยอวิชชา คือ ความโง่ เรามาทำความชนะต่ออวิชชาส่วนนี้กันเถิด ความสุดโต่งของมนุษย์ที่มีอยู่ในพระบาลีธรรมจักรนั้นก็คือ สุดโต่งไปในทางเปียกแฉะ และสุดโต่งไปในทางไหม้เกรียม
สุดโต่งไปทางเปียกแฉะเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค บ้าง อาคาฬหปฏิปทา บ้าง สมมุติว่ากามทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งเปียกแฉะเหมือนกับเผือกต้มจมอยู่ในนั้น ก็เรียกว่า อาคาฬหปฏิปทา ปฏิปทาเปียกแฉะ หรือคลุกคลีอยู่แต่กับกามสุข
อีกอย่างหนึ่งเป็นการทรมานกาย ถ้าจะเรียกให้ถูกว่าเป็นการประชดกาม บางคนมันเกิดรู้สึกขึ้นมาว่ากามนี่เป็นมาร มันก็มีการประชดกามด้วยการทรมานกายอันเป็นที่ตั้งแห่งกาม อย่างนี้ก็มี เรียกในบาลีว่า อัตตกิลมถานุโยค คือทำตนให้ลำบาก ให้หมดกำลัง ให้ทุกขพลภาพ จนบริโภคกามไม่ได้ ถ้าอย่างนี้เรียกว่า ปฏิปทาไหม้เกรียม คือ นิชฌามปฏิปทา ตรงกันข้ามกับปฏิปทาที่เปียกแฉะ
ทีนี้มาดูกันโดยรายละเอียดว่า การประกอบตนพัวพันอยู่ในกาม เป็นความเปียกแฉะนั้น มันมีลักษณะอย่างไร ดูกันง่ายๆ ก็คือการตามใจตัวเองสุดเหวี่ยงในทางกาม สิ่งที่เรียกว่ากามนั้น คือ สังกัปปราคะ แปลว่าความกำหนัด ย้อมใจไปตามความ…. (นาทีที่ 3.39) มีความ……อยู่ในจิตใจ ซึ่งกำหนัดอยู่ในสิ่งที่เรียกว่ากาม นี่เรียกว่า กาม สังเกตให้ดีๆ ว่าเรียกว่า กาม ส่วนกามคุณนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง กามไม่ใช่กามคุณ กามคุณไม่ใช่กาม กามคุณคืออารมณ์ของกาม อารมณ์ของกิเลส คือสิ่งที่จะมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือจะเลยไปถึงใจด้วยก็ได้ เป็นอารมณ์ที่ทำให้เกิดความรัก ความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ถ้าไม่ได้ตามนั้นมันก็เกิดความโกรธ นี้เรียกว่า กามคุณ คือรูปที่สวยงาม เสียงที่ไพเราะ กลิ่นที่หอมหวน รสที่อร่อย สัมผัสที่นิ่มนวลแก่ผิวหนังหรือแก่ความรู้สึก นี่เรียกว่า กามคุณ ๕ ถ้า ๖ ก็เพิ่มความครึ้มใจรู้สึกเอร็ดอร่อยในใจเข้าไปด้วยก็เป็น ๖ แต่ท่านนิยมเรียกกันแต่เพียง ๕ คือ ที่อยู่ภายนอก เรียกว่า รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ นี้เรียกว่า กามคุณ
กาม คือ ความรู้สึกในใจ กามคุณ คือ เหยื่อที่จะมาก่อให้เกิดความรู้สึกในใจ ทีนี้มันเป็นอย่างไร รู้จักอุปมาที่ท่านตรัสไว้ดีกว่า คือ กามอุปมา อุปมาแห่งกาม ของกาม ว่าเป็นเหมือนหัวฝีที่กำลังกลัดหนอง คนเคยเป็นฝีกลัดหนองมาแล้วก็รู้ดีว่ามันเป็นอย่างไร หรือเป็นเหมือนลูกศรที่แหลมที่เสียบเข้าไปในเนื้อนั่นน่ะ มันรู้สึกอย่างไร หรือเหมือนกับหัวงูที่มันเต็มไปด้วยอันตราย หรือยาพิษที่กินเข้าไปแล้วตาย หรือเหมือนกับเขียงรองสับเนื้อที่ถูกสับ และหัวใจจะถูกสับเหมือนเขียงรองสับเนื้อเพราะกามนั่นเอง หรือเหมือนหลุมถ่านเพลิง เข้าไปใกล้เถิด มันก็ร้อน หรือว่าเหมือนกับคบเพลิงที่ถือทวนลม เป็นต้น นี่มันเป็นสมัยโบราณ เขาเอาหญ้าแห้งเป็นต้นมามัดเข้าเป็นคบ แล้วก็จุดที่ปลายถือ แล้วก็ถือทวนลม ไฟมันลามมาถูกมือ นั่นล่ะ กามมันเป็นอย่างนั้น สิ่งที่เรียกว่ากามนี้มีอุปมาเหมือนกับคบเพลิงที่ถือทวนลม มันก็ลามมาร้อนที่มือ
ทีนี้ก็ดูว่าคนเรานี่พอเริ่มเกิดมาจากท้องแม่ มันก็เริ่มเป็นทาสแห่งกาม เมื่อยังอยู่ในท้องแม่ไม่รู้จักเป็นทาสแห่งกาม พอคลอดมาจากท้องแม่ไม่เท่าไร มันก็รู้สึกทางอายตนะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นับตั้งแต่ว่าถ้าได้กินนมแล้วรู้สึกอร่อย มันก็มีความอร่อยในรสของน้ำนม ก็มีความพอใจ ผูกพันอยู่ด้วยความพอใจ เป็นทาสแห่งความพอใจ ไม่ได้ก็โกรธ นี้เรียกว่าไอ้ทางรสนั้นมันเกิดขึ้นแล้ว หรือว่าทารกได้รับการบำรุงบำเรอด้วยรูปที่สวยงามมาแขวนให้ดู ด้วยเสียงขับกล่อมที่ไพเราะ ด้วยกลิ่นหอมที่เอามาประคบลูบไล้ เป็นต้น มันก็ค่อยๆ เป็นทาสแห่งกาม ทีนี้พอเกิดมาก็เริ่มเป็นทาสแห่งกามมากขึ้นตามลำดับๆ จนในที่สุดก็พัวพันอยู่ในกาม พัวพันอยู่ในความรู้สึกที่เป็นกาม ตลอดชีวิตมันเป็นอย่างนี้ ดูตลอดชีวิต เป็นคนบูชากาม มีกามเป็นพระเป็นเจ้า จนเขาบางคนก็เรียกว่ากามเทพไปก็มี ให้กามเป็นเทพเจ้าหรือเป็นพระเจ้าไปเสียก็มี อย่างนี้ก็เรียกว่า คนธรรมดา คนปุถุชน ตลอดชีวิตก็อยู่ใต้อำนาจของกาม นี่คือความหมายของคำว่า กาม หรือ กามสุขัลลิกานุโยค
ทีนี้จะเอาชนะได้อย่างไร ไอ้เรื่องมันมาก พูดแต่หัวข้อตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า เขาจะต้องหายโง่ เขาจะต้องสัมมาทิฏฐิ รู้เข้าใจถูกต้อง รู้ว่าอะไรเป็นอะไร คือรู้ลักษณะของกามว่าเป็นอย่างไร เช่น มีอุปมาอย่างไร เป็นต้น และรู้สมุทัยที่เกิดของมันว่ากามมันเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจอะไร เช่น เกิดด้วยอำนาจของความโง่ในขณะแห่งผัสสะ ในขณะแห่งผัสสะมันโง่ มันก็เกิดกามกิเลสขึ้นมา แล้วยังจะต้องรู้ต่อไปว่าไอ้กามนี้มันจะดับไปได้อย่างไร ก็ดับไปด้วยความฉลาดทันแก่เวลาที่มีผัสสะ แล้วก็รู้ต่อไปถึง อัสสาทะ คือ รสอันเป็นเสน่ห์หลอกลวงของกาม ว่ามันมีอย่างไร มันหลอกลวงได้มากน้อยเท่าไร หรือว่าเป็นการหลอกลวงที่สุดเหวี่ยงเอาเสียทีเดียว อย่างนี้เรียกว่ารู้จักอัสสาทะของกาม
แล้วก็ยังรู้ต่อไปถึง อาทีนวะ คือโทษอันเลวร้ายของกามว่ามันอร่อยมากน้อยเท่าไร คุ้มค่ากันไหมกับความทนทรมาน จนเห็นว่ามันมีความทุกข์เหลือประมาณ มีความสุขนิดเดียว ไม่คุ้มค่ากัน มันมีโทษทำให้เกิดความเลวร้ายอย่างอื่น ทำให้คนทะเลาะวิวาทกัน ลูกกับพ่อก็ทะเลาะวิวาทกันด้วยกามก็ได้ พี่น้องทะเลาะกัน ทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องกามก็ได้ เพื่อนที่รักใคร่กันต้องทะเลาะวิวาทกันเพราะอำนาจของกามก็ได้ นี้เรียกว่าโทษของมัน
แล้วก็รู้ นิสสรณะ เป็นเครื่องออกว่าทำอย่างไรจึงจะออกจากกามได้ และก็รู้ว่ามีการกระทำอย่างถูกต้องที่เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ ถูกต้องทั้งทางความรู้ ความคิดความเห็น ถูกต้องของความต้องการ ความประสงค์ ถูกต้องของวาจา ถูกต้องของกาย การกระทำทางกาย ถูกต้องของการเลี้ยงชีวิต ถูกต้องของความพากเพียร ถูกต้องของสติที่ระลึกอยู่เป็นประจำตัว ถูกต้องของสมาธิ คือความตั้งใจมั่นที่ตั้งไว้ตลอดเวลา มีความถูกต้องเหล่านี้แล้วก็ไม่มีทางที่จะทำผิดชนิดที่ทำให้กามเกิดขึ้นมา หรือกามที่เคยหลงใหลอยู่ก็จะต้องสลายไป นี่เรียกว่าออกจากอำนาจของกาม
ทีนี้ยังเหลืออีกสิ่งหนึ่ง สุดโต่งคือ อัตตกิลมถานุโยค การทรมานกายให้ลำบาก เป็นการประชดกาม ด้วยการคิดว่ามันจะหมดกิเลสได้ด้วยเหตุนั้น ข้อนี้ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมองดูโลกสมัยนี้แล้วไม่มีชาวโลกคนไหนใช้วิธีนี้ หรือตั้งใจจะทำอย่างนี้ มีแต่จะสนับสนุนกาม ไม่ต้องการจะบรรเทาหรือเลิกล้างทำลายสิ่งที่เรียกว่ากาม แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสไว้ในฐานะที่มันเป็นสุดโต่งข้างหนึ่งด้วยเหมือนกัน มันโง่สุดโต่งด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย โง่อย่างหลังที่จะไปหลงทรมานกายประชดกามนี่มันหมดไปเสียแล้ว ไม่มีเหมือนยุคก่อน ยุคโบราณ ยุคหนึ่งคือยุคโบราณนู้นน่ะ เคยเป็นธรรมมะสูงสุดนะ การทำทรมานตนให้ลำบากไปเป็นธรรมะสูงสุด บูชากันว่าเป็นธรรมะสูงสุด เช่นที่พวกปัญจวัคคีย์ถือปฏิบัติกันอยู่ และมาปฏิบัติพระพุทธองค์เมื่อกำลังทรงทรมานกาย แต่ครั้นพระพุทธองค์เลิกทรงทรมานกาย เขาก็หนีไปหมด เพราะเขาไม่ชอบ เพราะเขาชอบการทรมานกาย นี้แสดงว่าแม้ในครั้งพุทธกาลก็มีการบูชาการทรมานกายเพื่อประชดกาม
เอ้า, ทีนี้ก็ดูว่าไอ้ความโง่อันนี้มันจะละไปได้อย่างไร ถ้ามันเป็นความโง่ มันก็ต้องชนะได้ด้วยความฉลาด ดังนั้น เราจึงต้องมีความฉลาด คือ รู้ตามที่เป็นจริงในเรื่องเหล่านี้ มีดวงตาเปิด ลืมขึ้นมาอย่างสว่างว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำอย่างนี้ และรู้ความถูกต้อง ความพอดี ที่ไม่เกินไป หรือไม่หย่อนไป ก็จะทำให้ชีวิตนี้ดำรงอยู่ในความถูกต้อง
หวังว่าท่านทั้งหลาย ในโอกาสแห่งอาสาฬหบูชานี้ จะได้ถือเอาประโยชน์อันสูงสุดสักอย่างหนึ่ง คือ อย่างนี้ ได้แก่ การชนะความโง่ อย่ามีความโง่ อย่าไปหลงความสุดโต่งอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างใดก็ตาม อย่าให้เป็นความสุดโต่ง แต่ให้อยู่ในความพอดีที่ตรงกลาง เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ชนะความสุดโต่งเสียได้ แล้วก็มาอยู่ในความพอดี ความสมดุล ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ชีวิตนี้ก็จะไม่มีปัญหา
ขอให้ท่านทั้งหลายสามารถจะกระทำได้อย่างนี้แล้ว มีความสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ