แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย โอกาสแห่งอาสาฬหบูชาเราถือเป็นโอกาสอันสำคัญยิ่งที่จะต้องพูดกันถึงเรื่องชัยชนะให้สมตามพระพุทธประสงค์ ซึ่งพระองค์ทรงประกาศธรรมในโอกาสนี้ เป็นธรรมานาจักรของพระองค์ ให้ชัยชนะให้มีชัยชนะต่ออาณาจักรแห่งมาร ซึ่งอาตมาก็ได้พูดไปแล้ว ๒ ประการ คือชนะความเกิน และชนะความผิดพลาด ในวันนี้จะได้กล่าวถึงชัยชนะเหนือความทุกข์ ในชัยชนะเหนือความทุกข์นั้นแหละเป็นวัตถุประสงค์อย่างยิ่งของการแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เราจะต้องรู้ตามนัยยะแห่งอริยสัจทั้ง ๔ จึงจะสมบูรณ์
ครั้นรู้ ๔ อย่าง ๔ ประการนี้แล้ว เราก็จะเอาชนะความทุกข์ได้ ไม่ว่าความทุกข์ชนิดไหนหมด เป็นความทุกข์ของเด็กๆ ของคนวัยรุ่น คนหนุ่มสาว คนแก่ คนเฒ่า คนชรา ก็ต้องอาศัยหลักอันนี้ ท่านจะมีอาชีพอะไร จะเป็นกรรมกร เป็นคนทำขนมขาย เป็นคนถีบสามล้อ เป็นคนอะไรก็สุดแท้ มันก็อยู่ในหลักเกณฑ์เดียวกัน ต่อให้เป็นคนขอทาน หรือเป็นเศรษฐี มันก็ตกอยู่ในหลักเกณฑ์อันนี้ด้วยเหมือนกัน เขาจะต้องมีความรู้ ๔ อย่างนี้จึงจะดับทุกข์ได้ คือรู้ว่าความทุกข์นั้นเป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์นั้นเป็นอย่างไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไร ทางถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไร เราจะได้พูดไปตามลำดับ
ความทุกข์ที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวันนี้มันเป็นความทุกข์ที่เกิดมาจากกิเลส เราโง่เมื่อมีผัสสะ มันก็เกิดกิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ ๓ อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็ต้องเป็นทุกข์เพราะกิเลสนั้น เกิดราคะ ราคะ ก็ทุกข์เพราะราคะ เกิดโทสะก็เป็นทุกข์เพราะโทสะ เกิดโมหะก็เป็นทุกข์เพราะโมหะ นี้เรียกว่ากิเลสเป็นตัวทุกข์ เพราะว่าพอราคะเกิดขึ้นก็ร้อน โทสะเกิดขึ้นก็ร้อน มันเป็นไฟของกิเลสเผาให้ทุกข์
ทีนี้ยังมีไฟทุกข์ตามธรรมชาติ คือ ปัญหาทุกชนิดที่เกิดมาจากการที่เราต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย อันที่จริงมันมีมากกว่า ๔ อย่างนี้ เอาแต่ ๔ อย่างนี้พอแล้ว มันเป็นแม่บท อะไรๆ มันจะมารวมอยู่ที่ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย นี้เป็นสภาวะที่เป็นไปได้เองตามธรรมชาติ มันเป็นความทุกข์อยู่ในตัว เพราะว่าความเกิดนั้นเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ นั่นก็เพราะว่ามันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ถ้ายังไม่มีความยึดถือแม้เกิดมาจากท้องแม่แล้วก็ไม่เรียกว่ามีความเกิด แม้จะแก่ลงทุกวันแต่ถ้าไม่ทำไม่มีความยึดถือว่าความแก่ของกู มันก็ยังไม่มีความแก่ มันจะมีความแก่ต่อเมื่อไปยึดถือเอาความแก่เป็นของกู ความเจ็บก็เหมือนกัน มันเจ็บก็เจ็บไป แต่ถ้าไม่ยึดถือเอาความเจ็บเป็นของกู มันก็ไม่มีความเจ็บ
ฉะนั้น เมื่อพูดว่าความเจ็บเท่านั้นแหละ มันก็หมายถึงความยึดถือในความเจ็บนั้นรวมอยู่ด้วย ความตายก็มีความยึดถือเอาความตายของกู กลัวตายล่วงหน้ากันเป็นสิบปี สิบๆ ปี มีความทุกข์อันเนื่องมาจากความกลัวตายกันอยู่เป็นประจำ มันยังไม่มาถึงก็นึกให้กลัวได้ คือ กลัวตายกันอยู่ได้ตลอดเวลาเมื่อไรมันไปนึกถึงด้วยความยึดถือ
สรุปแล้วก็เรียกว่าความยึดถือนั้นแหละเป็นเหตุให้เกิดหรือเป็นตัวทุกข์อยู่ในตัวความยึดถือ อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเรา ว่าเป็นของเรา เป็นความทุกข์อยู่ในตัวอุปาทานนั้นเอง มองเห็นง่ายๆ ว่า ถ้าเราถืออะไรสักอย่างหนึ่งมันก็หนักที่มือ ไม่ถือไว้มันก็ไม่หนักที่มือ เมื่อถือไว้มันก็หนักที่มือ ฉะนั้น จึงถือว่าไอ้ความถือนั่นแหละเป็นความทุกข์
เดี๋ยวนี้เรามีความโง่พอที่จะถือทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรา ปัจจุบันนี้ก็ถือ ล่วงหน้าก็คิดจะถือ ที่เคยถือมาแต่ในอดีตก็ยังเอามาคิดให้เป็นการถือ อย่างนี้มันก็เป็นหนักๆ ๆ ได้รอบด้าน อดีต อนาคต ปัจจุบัน เอามาถือมันก็เป็นของหนัก นี่เราว่าเราเป็นทุกข์นี่เพราะว่าเราถือ คือ หนัก ไม่ถือก็ไม่หนัก โยนทิ้งเสียก็ไม่หนัก แต่เดี๋ยวนี้เราไม่โยน หรือว่ามันโยน หรือว่ามันหลุดไปเอง แต่ก็เอาของอื่นมาถือแทนอีกอย่างนี้เสมอไปจนตลอดชีวิต เรียกว่าชีวิตแห่งการถือ มันก็ต้องเป็นทุกข์
เหตุให้เกิดทุกข์มันก็คือ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา เอาอวิชชาเป็นหลัก เพราะมีอวิชชาคือ โง่ มันก็มีตัณหาคือ อยาก ตามอำนาจของความโง่ เพราะมีอวิชชาเป็นเหตุมันก็ยึดถือด้วยอำนาจของอวิชชา จึงเรียกว่าอวิชชาเป็นตัวการให้เกิดความทุกข์ เพราะมันโง่ แล้วมันก็ทำไปในทางที่ให้เกิดทุกข์ เรียกว่ามันทำไปผิดหลักของธรรมชาติ ผิดกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตาในฝ่ายดับทุกข์ มันไปถูกในฝ่ายเกิดทุกข์ อิทัปปัจจยตาฝ่ายเกิดทุกข์มันก็ต้องให้เกิดทุกข์ มันไม่ใช่อำนาจของกรรมเก่าอะไรที่ไหน มันเป็นอำนาจของการทำผิดที่นี่และเดี๋ยวนี้ แม้ว่าถ้าเรามีกรรมเก่า สมมุติว่าถ้ามีกรรมเก่าที่ต้องเป็นทุกข์ แต่ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา กรรมเก่านั้นก็เป็นหมันไป ไม่มาสร้างความทุกข์ได้ เพราะเราฉลาดในเวลาแห่งผัสสะ กรรมเก่าก็ไม่มีโอกาสจะให้ผล มันยกเลิกไป และมันก็มิใช่อำนาจของพระเจ้าหรือเทวาอารักษ์อะไรที่ไหน มันเป็นการทำผิดของเราเอง ถ้าสมมุติว่าพระเจ้าจะลงโทษเรา เราไม่ทำให้ผิดในทางผัสสะ มันก็ไม่มีความทุกข์อะไร มันไม่ใช่เด็ดขาดอยู่ที่พระเจ้า มันเด็ดขาดอยู่ที่เราทำผิดหรือทำถูกตามกฎของอิทัปปัจจยตา และก็ไม่ได้ถือว่ามันเกิดได้เอง ความทุกข์ไม่ได้เกิดได้เอง มันต้องมีเหตุปัจจัยของความทุกข์นั้น และรู้จักเห็นความทุกข์ได้ถูกต้อง
ทีนี้ก็รู้ต่อไปถึงความดับทุกข์ ก็คือดับเหตุเหล่านั้นเสีย ทีนี้ก็ทางให้ถึงความดับทุกข์ ก็คือดำรงอยู่ในความถูกต้อง ๘ ประการ ที่เรียกว่าอัฏฐังคิกมรรค ความเห็นถูกต้อง ความต้องการก็ถูกต้อง พูดจาก็ถูกต้อง การทำการงานก็ถูกต้อง อาชีวะก็ถูกต้อง ความเพียรก็ถูกต้อง สติก็ถูกต้อง สมาธิก็ถูกต้อง เรียกว่าความถูกต้องทุกอย่างที่มันควรจะถูกต้อง นี้ท่านเรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ คือหนทางอันประเสริฐมีองค์ ๘ หรือเรียกอีกอย่างว่ามัณชิมาปฎิปทา การปฏิบัติสายกลาง ไม่เบี่ยงซ้ายเบี่ยงขวา ไม่สุดโต่งไปในทางใด สรุปแล้วมันไปรวมอยู่ที่คำว่าไม่ทำผิดเมื่อมีผัสสะ ไม่ทำผิดเมื่อมีผัสสะ มีอะไรมากระทบใจ ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกว่าผัสสะ ๕ ทางนี้ ผัสสะแล้วไม่ทำผิด ไม่โง่ ไม่หลง ไม่ทำผิด นั่นนะคือให้ความถูกต้อง ๘ ประการมันเกิดขึ้น ทางดับทุกข์มันอยู่ที่คำๆ เดียวว่า อย่าทำผิดเมื่อมีผัสสะ
ทีนี้ท่านก็สอนเป็นให้ง่ายขึ้นมาว่า ถูกต้องทางกายวาจานี้พวกหนึ่ง ถูกต้องทางระบบจิตนี้อย่างหนึ่ง ถูกต้องทางทิฐิสติปัญญานี้ทางหนึ่ง
นี่กล้าท้าว่าทั้งโลกเลยใครจะคัดค้านข้อนี้ ขอเชิญ มันไม่มีทางจะคัดค้าน หรือแม้ศาสนาไหนก็ตามที่จะคัดค้านพุทธศาสนา พุทธศาสนากล่าวว่าต้องมีความถูกต้องทางระบบกาย ระบบจิต ระบบสติปัญญา แล้วจะไม่มีทุกข์ ใครจะค้านก็เชิญ เรามีเหตุผลอยู่ในตัวมันเอง เหตุผลอยู่ที่ตัวธรรมชาติ และมองเห็นได้ด้วยตนเองว่า มันเป็นอย่างนี้จริง ถ้ามันถูกต้องทั้ง ๓ ประการนี้แล้ว มันไม่มีความทุกข์ได้ และนี้เรียกว่าทางดับทุกข์ ในชื่อว่า ไตรสิกขา ไตรสิกขา การประพฤติกระทำที่ถูกต้อง ๓ ประการ ช่วยจำกันไว้ดีๆ เดี๋ยวนี้มันท่องกันแต่ปาก พูดกันแต่ปาก มันไม่มีประโยชน์อะไร
เอ้า, ทีนี้มาดูกันเป็นสิ่งสุดท้ายว่า จะดับกันที่ไหนโว้ย นี่คนยังทำผิด มีความทุกข์ที่บ้าน เอามาดับที่วัด นี่มันน่าสงสาร มีความทุกข์อยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ จะดับทุกข์ต่ออีกหมื่นชาติ แสนชาติ ตอนนิพพาน แล้วจะได้ประโยชน์อะไร ก็ความทุกข์มันอยู่ในชาตินี้ แล้วจะไปดับกันชาติหน้าหรือชาติต่อๆ ไปน่ะ มันจะไปมีประโยชน์อะไร จะพูดว่าเป็นคนบ้า เดี๋ยวจะโกรธเอา มันมีความทุกข์ที่ไหน มันก็ต้องดับที่ตรงนั้น ดูให้เห็นเหมือนกับว่าเราดับไฟ ดับไฟ ไฟมันลุกที่ตรงไหน เราต้องดับไฟลงไปที่ตรงนั้นสิ ถ้าไฟมันไหม้ที่เรือนแล้วไปดับไฟที่ทุ่งนา มันก็เสียเวลา ไม่มีประโยชน์อะไร
ไฟมันลุกขึ้นที่ตรงไหน มันก็ต้องดับลงไปที่ตรงนั้น หมายความว่า ความทุกข์มันเกิดขึ้นที่ตรงไหนก็ต้องดับที่ตรงนั้น ถ้าว่าความทุกข์มันเกิดในชีวิตประจำวันก็ต้องดับในชีวิตประจำวันที่ทำอยู่ทุกวันๆ ถ้าความทุกข์มันเกิดอยู่ที่ความยากจน ก็ดับที่ความยากจน ถ้าความทุกข์มันเกิดที่ความเห็นแก่ตัว ก็ต้องดับลงไปที่ความเห็นแก่ตัว ถ้าความทุกข์มันเกิดขึ้นที่ความไม่รักผู้อื่น ก็ต้องดับลงไปที่ความไม่รักผู้อื่น ถ้าความทุกข์มันเกิดที่อบายมุขทั้ง ๖ ก็ดับลงไปที่อบายมุข ถ้าความทุกข์มันเกิดมาจากความยึดถือว่าตัวกู ว่าของกู มันก็ต้องดับลงไปที่ความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกู อย่างนี้มันจึงจะถูกความทุกข์ และดับลงไปได้ที่ความทุกข์ เรามีความหลงใหลเคยชินยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกู มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก พอคลอดออกมาจากท้องแม่ก็เริ่มมีความรู้สึกเป็นตัวกูของกูเจริญงอกงามหนาแน่นขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ ไอ้นั่นแหละมันเป็นตัวการที่ทำให้เกิดทุกข์ หรือเป็นตัวความทุกข์อยู่ในตัวมันเองด้วย มันต้องดับลงไปที่นั่น ที่ความเคยชิน แทนที่จะยึดถือว่าตัวกู ว่าของกู นี้เรียกว่าความดับทุกข์ เป็นอุปมาก็ว่าดับไฟ ไฟกิเลส หรือไฟทุกข์ ต้องดับไฟลงไปตรงๆ ที่ไฟกิเลสหรือไฟทุกข์ แล้วท่านทั้งหลายก็จะชนะความทุกข์ทั้งปวง
โอกาสแห่งอาสาฬหบูชานี้เป็นโอกาสแห่งการทรงแสดงเรื่องธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แสดงความทุกข์และความดับทุกข์ไว้อย่างครบถ้วน เราจึงเอามาพูดกันในโอกาสเช่นนี้ในรายการพุทธธรรมนำสุข หวังว่าท่านทั้งหลายจะมีความรู้อย่างแจ่มแจ้งเข้าใจในการที่จะดับทุกข์นี้ได้ตามสมควรแล้วมีความสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกันเทอญ