แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายในชุดพุทธธรรมนำสุขในวันนี้อาตมาก็จะได้กล่าวถึงชัยชนะของมนุษย์เป็นลำดับไปต่อจากการบรรยายในครั้งที่แล้วมา ซึ่งท่านทั้งหลายก็ได้ทราบดีอยู่แล้วว่าโอกาสแห่งอาสาฬหบูชานั้น เราต้องระลึกนึกถึงความสำคัญหรือความหมายอันถูกต้องของคำๆ นี้คือ พระพุทธองค์ทรงประกาศธรรมจักร อาณาจักรของพระองค์ที่ช่วยให้ชนะมาร เราก็ต้องพูดถึงชัยชนะกันต่อไปอีก ซึ่งในโอกาสนี้อาตมาจะได้กล่าวถึงชัยชนะต่อความเป็นผิด ชัยชนะต่อภาวะที่ผิด ภาวะที่ผิดนั้นในบาลีเรียกว่า มิจฉัตตะ แปลว่า ภาวะแห่งความผิด มีอยู่ในหมู่มนุษย์ เราจะต้องเอาชนะมิจฉัตตะหรือภาวะแห่งความผิดนี้เสียให้ได้
ภาวะแห่งความผิดก็คือการเดินทางผิด ผิดด้วยองค์ ๘ ภาวะผิดนี้คือความคิดเห็นก็ผิด ความต้องการก็ผิด การพูดจาก็ผิด การทำการงานก็ผิด การเลี้ยงชีวิตก็ผิด ความพากเพียรก็ผิด สติความระลึกก็ผิด สมาธิความตั้งจิตไว้ก็ผิด มันผิดไปหมดทั้ง ๘ อย่าง รวมกันทั้ง ๘ อย่างแล้วก็เรียกว่า สายทางแห่งความผิด เป็นทางเดียวเหมือนกัน แล้วก็ประกอบด้วยองค์ ๘ แล้วก็ดิ่งลงไปสู่ความทุกข์ ความเสียหาย หรืออบาย หรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียก องค์ ๘ ทางผิดนี้มันตรงกันข้ามกับองค์ ๘ ทางถูกที่เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ ประการ ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยกับท่านทั้งหลายแล้วตามสมควร
เดี๋ยวนี้เรามาพูดกันถึงองค์ผิด ๘ องค์ซึ่งตรงกันข้าม สังเกตดูให้ดีๆ จัดเป็นความผิดสัก ๓ หมวดก็ได้เพื่อฟังง่ายๆ ว่า ความผิดในหมวดปัญญา คือปัญญาผิด มีความเห็นผิด เข้าใจผิด รู้ผิด เชื่อผิด อย่างนี้เรียกว่าความเห็นผิด ครั้นมีความเห็นผิดแล้วก็ดำริตริไปต้องการปรารถนาอะไรไปในทางผิด เรียกว่ามิจฉาสังกัปปะ มิจฉาทิฏฐิ กับ มิจฉาสังกัปปะ สองอย่างนี้เรียกว่าเป็นความผิดในหมวดปัญญา
ทีนี้ก็มาถึงความผิดต่อไปจากหมวดปัญญาผิดมันก็ทำผิด ก็คือผิดในส่วนศีล กายวาจาก็ผิด เป็นมิจฉาไปหมด คือการทำการพูดจาก็ผิด การทำการงานก็ผิด การเลี้ยงหาชีวิตก็ผิด นี้เรียกว่าผิดในหมวดศีล ไม่มีศีลทางวาจา ไม่มีศีลทางกาย ไม่มีศีลทางอาชีวะ
ทีนี้ก็มาถึงผิดหมวดจิต คือ มีความพากเพียรมีจิตที่ตั้งอยู่เป็นความพากเพียรนั้นมันพากเพียรผิด มีจิตที่ตั้งไว้เป็นสติระลึกนั้นมันก็ระลึกผิด และมีสมาธิความตั้งจิตไว้มั่นคงนั้นก็ตั้งไว้อย่างผิด มันก็เลยเป็นความพยายามผิด มีความระลึกผิด มีสมาธิผิด เรียกว่ามิจฉาวายาโม มีความเพียรผิด เรียกว่ามิจฉาสติ คือระลึกผิด เรียกว่ามิจฉาสมาธิ คือตั้งใจไว้ผิด นี้เป็นความผิดหมวดจิต
เอามารวมกันเข้าก็ผิดหมด ผิดในหมวดปัญญาวิชาความรู้ แล้วก็ผิดในหมวดศีล คือ ผิดทางกายวาจา แล้วก็ผิดในหมวดจิต คือ จิตมันก็ผิด อย่างนี้มันก็เป็นความผิดตลอดทั้งหมดตลอดทั้งสาย การที่เราจะทำให้ถูก จะละมันได้อย่างไร จะทำให้ถูก ก็ต้องหันมาหาส่วนที่เป็นกลาง อย่างที่ว่าไม่เอียงซ้ายไม่เอียงขวา ถ้าเอียงไปทางซ้ายหรือเอียงไปทางขวา มันก็ต้องผิดไม่ลักษณะใดก็ลักษณะหนึ่ง มีการละการเอียงซ้ายเอียงขวากันเสียก่อน การเอียงซ้ายมันก็สุดโต่งไปในทางกาม เอียงขวาสุดโต่งไปในทางการกระทำที่ประชดกาม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามันสุดโต่งในทางการกระทำ หรือว่ามันสุดโต่งในทางทิฏฐิ ความคิดความเห็น นี่ล่ะ ความผิดมันเกิดอย่างนี้ มันเป็นความสุดโต่งอย่างนี้ เราจะต้องมาอยู่กันตรงกลาง
การที่จะมาอยู่กันตรงกลางหรือชนะมันให้ได้นี้ ชนะไอ้ภาวะผิดทั้ง ๘ นี้ได้นี้มันก็ต้องรู้อะไรหลายอย่างหรือทุกอย่างตามที่มีไว้เป็นหลักเช่นเดียวกัน เช่น จะต้องรู้ว่าไอ้ความผิดเหล่านั้นมันมีลักษณะอย่างไร มันผิดอย่างไร มันมีลักษณะอย่างไร มีชนิดอย่างไร มีประเภทอย่างไร ก็รู้มันให้หมดว่ามันเป็นความผิด ทีนี้ก็รู้สมุทัย คือเหตุให้เกิดของความผิด มันก็มาจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน หรือเรียกง่ายๆ ก็ว่า กิเลส มันก็มีความโง่โดยเฉพาะอวิชชา มันก็รู้ผิดมันก็ทำผิด ไม่ต้องสงสัย นี้เรียกว่าสมุทัยของความผิดเกิดขึ้น ทีนี้รู้อัฏฐังคิกมรรค (นาทีที่ 7:31) ว่าไอ้ความผิดนี้มันจะดับไปอย่างไร เห็นชัดว่ามันต้องกระทำในทางที่ตรงกันข้าม คือมันทำให้ถูก ทำให้ถูก อย่าทำให้ผิด ก็เป็นการดับแห่งความผิด
ทีนี้ก็ดูต่อไปถึงข้อที่เรียกว่า อัสสาทะ คือเสน่ห์ความเอร็ดอร่อยของความผิด นี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก อย่าลืมว่าแม้ความผิดมันก็มีความเอร็ดอร่อย เป็นความสุขไปตามแบบของคนโง่ เช่น ได้ด่าเขาตีเขาก็สบายใจของตนเอง หรือทำความผิดเลวร้ายใดๆ มันก็เป็นที่พอใจของคนที่ทำความผิดนั้น นี้เขาเรียกว่าเสน่ห์อัสสาทะ อัสสาทะหรือเสน่ห์ของความผิด ความชั่ว ความเลว มองไม่เห็นตามที่เป็นจริงว่านี้มันเป็นความหลอกหลวง มันเป็นความหลอกลวงก็มองเห็นเป็นความจริง จึงถูกผูกพันไว้ด้วยเสน่ห์ของความผิดหรือของความชั่ว
ทีนี้ก็ดูต่อไปถึง อาทีนวะ คือโทษต่ำทรามเลวร้ายของความผิดนั้น อย่างนี้ลืมตาแล้ว เห็นตามที่เป็นจริงแล้วว่าไอ้ความชั่วที่มีเสน่ห์หอมหวลนั้นน่ะ มันเป็นความเลวร้ายสกปรก เห็นชัดว่ามันมีโทษอย่างนี้ แล้วก็เห็นอุบายเป็นทางออกว่าเลิกเสียด้วยการกระทำให้ถูกต้องเป็นหนทางสายกลาง เรียกว่าออกมาเสียได้ด้วย อัฏฐังคิกมรรค อัฏฐังคิกมรรคมีลักษณะเป็นยาหม้อใหญ่แก้ปัญหาได้ทุกอย่างทุกประการ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สัมมัตตะ
สัมมัตตะแปลว่าความถูกต้อง มิจฉัตตะแปลว่าความผิด สัมมัตตะแปลว่าความถูกต้อง จำไว้ ๒ คำเป็นคู่ปรปักษ์ต่อกัน มิจฉัตตะความผิด สัมมัตตะความถูกต้อง ความถูกต้องก็มีองค์ ๘ ประการเหมือนกัน คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี่ สัมมาๆ นี่ ๘ ตรงกันข้ามกับมิจฉา ๘ คือ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปโป มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันโต มิจฉาอาชีโว มิจฉาวายาโม มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ มันเป็นคู่ปรับกันเป็นตรงข้ามกันอย่างละ ๘ ละ ๘
ใน ๘ อย่างฝ่ายสัมมานี้เขายกเอาสัมมาสมาธิเป็นตัวแกน เป็นแกนกลาง สัมมาสมาธิองค์สุดท้ายน่ะเป็นตัวแกนกลาง เหมือนกับว่าเป็นเจ้าของเรื่อง เป็นเจ้าของงาน เป็นทัพหลวง สัมมานอกนั้นเป็นทัพหน้า ทัพซ้าย ทัพขวา ทัพอุปกรณ์ทั้งนั้นน่ะ ไอ้ตัวการมันอยู่ที่สัมมาสมาธิ ถ้าเรามีสัมมาทิฏฐิแล้วก็แน่ว่าจะมีสัมมาสมาธิ มีสัมมาสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ มันก็จะช่วยประกอบให้สัมมาสมาธิตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง พูดเหมือนกองทัพ สัมมาทิฏฐิก็เป็นทัพหน้า สัมมาสมาธิก็เป็นทัพหลวง สัมมานอกนั้นเป็นอุปกรณ์ ทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่ามีหนทางอันถูกต้องที่จะเดินออกไปเสียจากความผิดมิจฉัตตะทั้งหลาย มนุษย์เป็นทาสของความผิดหรือมิจฉัตตะอยู่ตลอดเวลาที่ยังไม่ลืมหูลืมตาในทางของพระธรรม เดี๋ยวนี้จะลืมหูลืมตาออกมาเสียจากความผิดเหล่านั้นก็ต้องมีสัมมัตตะ ภาวะแห่งความถูกต้องด้วยองค์ ๘ ประการ
หวังว่าท่านทั้งหลายจะมารู้จักแยกออกจากกันว่า ผิดก็ผิดส่วนหนึ่ง ถูกก็ถูกส่วนหนึ่ง เราจะต้องทำให้มันถูก เพราะว่าเราทนต่อภาวะที่เป็นผิดนั้นไม่ไหว มันกัดเอาตลอดเวลา ไม่กัดแต่เราคนเดียว กัดเพื่อนฝูงด้วย เนื่องไปถึงไหนมันก็กัดไปถึงนั้น เราทนไม่ไหวต่อภาวะแห่งความผิด เราจึงมาตั้งตนอยู่ในภาวะแห่งความถูก ในโอกาสแห่งอาสาฬหบูชานี้ อย่าให้เวลาล่วงไปเปล่าเลย จงถือโอกาสที่จะชนะความผิดมาตั้งอยู่ในความถูก แล้วก็อาศัยอำนาจแห่งความถูกนั้นโดยกฎแห่งอิทัปปัจจยตา ให้มีความสุขความเจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ