แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายเรื่อง พุทธธรรมนำสุข ในครั้งนี้ อาตมาจะกล่าวโดยหัวข้อว่า “ถ้ากินเก็บพอประมาณ ก็มีเหลือช่วยเพื่อนมนุษย์” มีใจความว่า ถ้าเรากินผลงาน เก็บผลงานไว้แต่พอประมาณ ก็จะต้องมีเหลือช่วยเพื่อนมนุษย์เป็นแน่นอน ข้อนี้ต้องขอเท้าความไปยังการบรรยายครั้งก่อนที่ว่า ทำงานสนุกแล้วเป็นสุขเมื่อกำลังทำงาน ทำงานสนุก เพราะรู้จักค่าของงาน รู้จักความหมายของงาน รู้จักเกียรติอันสูงสุดของงาน มันก็จะทำงานสนุก ทั้งที่ว่าจะเหน็ดเหนื่อย ยุ่งยาก ลำบาก เดือดร้อน อยู่ในที่อันไม่ได้สะอาด เป็นต้น ทำงานสนุกนั่น อาจจะทำงานได้ถึงวันละ ๑๘ ชั่วโมง คนอื่นเขาทำงานกันวันละ ๘ ชั่วโมง เราทำงานได้วันละ ๑๘ ชั่วโมง ข้อนี้อาตมาเคยทำมาแล้ว มีหลักฐาน พยาน ปรากฎชัดอยู่ คือ หนังสือจำนวนมาก มากจนคนเขาไม่เชื่อว่า นี้คนเดียวทำ แต่ยืนยันว่านี้คนเดียวทำ ทำไมทำได้มากอย่างนี้ ก็เพราะว่าครั้งหนึ่งเคยทำงานวันละ ๑๘ ชั่วโมง แม้ว่าเดี๋ยวนี้ทำไม่ได้ ก็หมายความว่าเคยทำได้ และเคยทำเป็นผลดีมาแล้ว ด้วยเหตุที่ว่าทำงานสนุกนั่นเอง ทำงานสนุกเหมือนผีเสื้อ เที่ยวดูดน้ำหวาน ดอกไม้ดอกนั้นที ดอกนี้ที ตลอดทั้งวัน ไม่รู้จักเหน็ด ไม่รู้จักเหนื่อย เพื่อรวบรวมเอาน้ำหวานในดอกไม้ เป็นงานที่สนุก จึงไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แล้วก็ทำได้เกือบตลอดวัน ความเหน็ดเหนื่อยนั้น ได้กลายเป็นความสนุกไปเสีย ฟังดูก็ไม่น่าเชื่อ ว่าความเหน็ดเหนื่อยนั้น มันกลายเป็นความสนุกไปได้ นี้หมายความว่า มีการปรับปรุงจิตใจเป็นพิเศษ มีจิตเป็นพิเศษ เข้ารูปกับธรรมชาติแห่งข้อเท็จจริงอันนี้แล้ว ก็ไม่เหน็ดเหนื่อย ความเหน็ดเหนื่อยกลายเป็นความสนุก การเก็บเล็กผสมน้อย ก็ยังกลายเป็นความสนุก จึงไม่เบื่อในการที่จะต้องทนเก็บเล็กผสมน้อย การงานก็เลยกลายเป็นความสุข ความสนุกก็เลยกลายเป็นความสุข มีความสุขอยู่ในตัวการงาน ไม่ต้องเอาเงินไปซื้อหาเหยื่อของกิเลสเพื่อทำความสุข เพราะว่าการงานมันได้กลายเป็นความสุขไปเสียดังนี้ และเป็นเหตุให้ทำงานได้มากกว่าธรรมดา ขอท่านทั้งหลายจงได้สนใจในข้อแรกที่ว่า ทำงานให้สนุกแล้วเป็นสุขเมื่อทำการงาน แล้วจะทำงานได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างที่คนเขาไม่เชื่อว่า คน ๆ เดียวทำงานได้มากถึงอย่างนี้
ทีนี้ก็ดูต่อไป ก็จะเห็นได้ง่าย ๆ ว่า ทำงานสนุก ได้ผลงานอย่างนี้เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็เลยทำให้กลายเป็นการปฏิบัติธรรมไป การทำการงานอันเหน็ดเหนื่อยนั้น กลายเป็นการปฏิบัติธรรมะไป มันก็ยิ่งไม่เหน็ดเหนื่อย จะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็ว่า ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ นี้ก็ยิ่งดีมาก ถ้าทำหน้าที่เพื่อตัวกู หมายความว่ามันมีอะไรมาบังคับให้ทำ ทำด้วยความจำเป็น มันทำงานเพื่อตัวกู เพื่อสนองกิเลสตัณหาของตัวกู อย่างนี้มันร้อน แต่บางคนอาจจะคิดว่าสนุก แต่มันเป็นสนุกอย่างร้อน เป็นการทนทุกข์อยู่อย่างไม่รู้สึกตัว ถ้ารู้ว่าหน้าที่ตามธรรมชาติ คือ การทำงาน ทำเพื่อรอดอยู่ ทำเพื่อก้าวสูงขึ้นไป ดังนี้แล้ว เรียกว่า เราทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ แล้วมันเป็นสุขอยู่ในตัวมันเอง โดยไม่ต้องมีตัวกูเข้าไปเป็นผู้ทำ หรือเป็นผู้รับในความสุขนั้น ให้เป็นว่า จิตมันรู้สึกไม่มีทุกข์ เป็นสุขอยู่ตลอดชีวิตเลย
ที่ว่ามีความรอดแห่งชีวิตสูงขึ้นไปนั้น คือรอดจากปัญหา รอดจากความทุกข์ ทั้งของตนเองและของผู้อื่น เรารอดคนเดียวไม่ดีเท่าไหร่หรอก เพื่อนมนุษย์ทุกคนพลอยรอดได้ด้วยนั่นแหละคือดีที่สุด ดังนั้นจึงถือว่าประโยชน์ของผู้อื่นก็เป็นหน้าที่ของเราด้วย คือเรามีหน้าที่ที่จะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นด้วย เมื่อรู้สึกตัวอยู่อย่างนี้ ก็นึกถึงการทำประโยชน์ผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา นี้จะเป็นการช่วยให้ง่ายเข้า ที่จะไม่กินอย่างสุรุ่ยสุหร่าย จะไม่เก็บไว้อย่างไม่มีขอบเขต ไม่ได้กินเพื่อกิเลส ไม่ได้เก็บไว้เพื่อตัวกู กินแต่พอสมควร เก็บไว้แต่พอสมควร เพราะจิตใจมันระลึกนึกถึงเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่เสมอ ความรู้สึกอย่างนี้ เป็นความสุขที่ขยายตัว กว้างขวางออกไป ในข้อที่ว่า เราได้ทำเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ทั้งโลกด้วย ท่านทั้งหลายจะต้องใช้สติปัญญาพินิจพิจารณาให้มากสักหน่อย จึงจะเข้าใจได้ว่า การบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นนั้น มันเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ตนอยู่ในตัว บำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นจนไม่เห็นแก่ตัว ความไม่เห็นแก่ตัวนั้น จะเป็นความสุขอย่างยิ่ง จะเป็นจิตใจที่หลุดพ้นจากกิเลสอย่างยิ่ง หรือจะพูดกันง่าย ๆ ว่า การช่วยผู้อื่นนั่น คือการฝากไว้กับผู้อื่น เป็นการเก็บอย่างยิ่ง ดีกว่าเก็บไว้กับตัว ให้ง่ายขึ้นไปอีก ก็ให้ดูตรงข้อที่ว่า เรากินเอง กับ ให้เพื่อนกินนี้ อันไหนมันจะอยู่นาน ยกตัวอย่างว่า ได้ของที่เอร็ดอร่อยมาอย่างหนึ่ง แล้วก็กินเสียเอง หรือว่าให้ผู้อื่นกิน ถ้าว่าเรากินเอง รุ่งขึ้นก็ถ่ายอุจจาระปัสสาวะไปหมด แต่ถ้าให้เพื่อนกิน มันไปอยู่ในจิตใจของเพื่อนตลอดกาลนาน และมาอยู่ในจิตใจของเราเองตลอดกาลนาน นึกถึงทีไรก็อิ่มอกอิ่มใจปีติปราโมทย์ อาจจะรู้สึกเช่นนี้ทุกครั้งตลอดชีวิตเลย นี่ลองคิดดูว่า กินเอง กับ ให้เพื่อนกิน อันไหนมันอยู่นาน อันไหนมันอิ่มนาน อันไหนมันมีรสเลิศกว่ากัน ดังนั้นควรจะมองให้เห็นชัดตามที่เป็นจริงว่า ที่ช่วยผู้อื่นหรือให้ประโยชน์แก่ผู้อื่นนั้น มันกลายเป็นช่วยตัวเอง หรือให้ประโยชน์แก่ตัวเองยิ่งขึ้นไปกว่าที่เราจะกินเองแต่ฝ่ายเดียว อันไหนให้ความสุขนาน ก็เห็นอยู่แล้วว่า กินเองมันเกิดชั่วประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วมันก็ไปถ่ายเป็นอุจจาระปัสสาวะไปหมด ให้เพื่อนกิน จะมีความพออกพอใจ สมัครสมานรักใคร่ เมตตาสามัคคี จนตลอดชีวิต อันไหนมันจะสุขนาน ความพอใจก็เหมือนกัน พอใจในความเอร็ดอร่อย พักเดียวก็เสร็จไป แต่ให้ผู้อื่นไป มันสร้างความพอใจทุกคราวที่ระลึกนึกถึง จึงควรจะมองดูให้เห็นว่าอันไหนเป็นการเก็บไว้ที่แท้จริง การกินเองเป็นการเก็บไว้ที่แท้จริง หรือว่าการให้ผู้อื่นกินเป็นการเก็บไว้ที่แท้จริง
มีความสุขมีความพอใจในชีวิตแล้ว ก็เรียกว่า เป็นผู้มีความดี มีความงาม มีความประเสริฐ เราจะตั้งข้อสำหรับคิด หรือแง่สำหรับคิดขึ้นมาว่า ขอทานนะ คนขอทานจะกลายเป็นเศรษฐีได้อย่างไร ต้องรู้ความหมายคำว่าเศรษฐีเสียก่อน คำว่าเศรษฐีแปลว่า ผู้มีความประเสริฐ ประเสริฐไปเสียทุกอย่าง เมื่อทำ เมื่อรับผล เมื่อกิน เมื่อเก็บ เมื่อใช้ เมื่อช่วยผู้อื่น มันก็ประเสริฐไปเสียทุกอย่าง เศรษฐีเขารวมพวกการทำงาน เป็นสุขในการทำงาน เพราะว่าเป็นคนมีธรรมะ เป็นสัมมาทิฐิ แล้วเก็บไว้เพื่อโรงทาน สงเคราะห์ผู้อื่น เก็บทรัพย์ไว้ก็เพื่อหล่อเลี้ยงโรงทาน ไว้สงเคราะห์ผู้อื่น มันกลายเป็นความอิ่มอกอิ่มใจตลอดเวลา นี้เรียกว่าเขาเป็นเศรษฐี คำว่าเศรษฐีแปลผู้มีความประเสริฐที่สุด ทีนี้มีคนขอทานสักคนหนึ่ง ทำงานในหน้าที่ของตน คือขอทานนั่นแหละ อย่างดีที่สุด ก็เรียกว่าเขาประพฤติธรรมะด้วยการงาน คือการขอทาน เขาก็เป็นคนขอทานที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะยิ่งกว่าคนบางคนที่เรียกตัวเองว่าปฏิบัติธรรมด้วยซ้ำไป คนขอทานคนนี้ ทำงานสนุก พอใจในหน้าที่ของตน มันก็ได้เงินมาจากการขอทาน ไม่น้อยหรอก เพราะมันทำงานสนุก มันไม่ขี้เกียจขอทาน ได้มาแล้วมันก็กินแต่พอดี เก็บไว้แต่พอดี ขอทานคนนี้ก็มีเงินเหลือไว้ช่วยผู้อื่นได้ เขาชักชวนหรือไม่ชักชวนก็ตามใจ เขาก็บริจาคเงินเพื่อประโยชน์แก่สาธารณประโยชน์ได้ ดูเถิดว่าแม้แต่คนขอทาน ก็มีความประเสริฐขนาดที่เป็นเศรษฐีได้ ประเสริฐตรงที่ว่าเมื่อทำงานขอทานก็สนุก ได้มาแล้วก็เป็นสุข กินเก็บแต่พอดี ก็เป็นสุข แล้วเหลือก็เอาไปทำบุญสุนทานตามประสาคนขอทาน มันก็เป็นสุข นี่ขอทานอย่างนี้เรียกว่า เศรษฐีที่แท้จริง คนที่มีเงินร้อยล้านพันล้าน แต่ขี้เหนียวที่สุด ตลอดเวลาไม่มีความพอใจ เบิกบานใจในการบำเพ็ญทาน ยิ่งมีมากยิ่งขี้เหนียว ยิ่งหวงแหน ยิ่งขูดรีด ด้วยจิตใจที่เร่าร้อนเป็นกิเลส มันก็เป็นหิวเหมือนเปรต หิวเหมือนเปรต เป็นเปรตอยู่ตลอดเวลา สู้ขอทานคนนั้นก็ไม่ได้ มีจิตใจเยือกเย็นอยู่ตลอดเวลา คนหนึ่งมีเงินร้อยล้านพันล้าน แต่หิวเหมือนกับเปรตอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ นี่แหละท่านทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัทพิจารณาดูให้ดี ๆ จะเห็นได้ว่า ใคร ๆ ก็เป็นเศรษฐีได้ ถ้าเขาถือหลักอย่างนี้ ถ้าเขาปฏิบัติธรรมะอย่างนี้ ใคร ๆ ก็เป็นเศรษฐีได้ เพราะว่าแม้แต่คนขอทานก็ยังเป็นเศรษฐีได้ เขาก็เลิกเป็นคนขอทานได้ในเวลาอันสั้น ไปทำงานอะไรที่ดีกว่าคนขอทาน ก็เรียกว่าเขารอดได้ รอดชีวิตอยู่ได้ รอดจากปัญหาทั้งปวงได้ รอดจากความทุกข์ทั้งปวงได้
ขอให้ท่านทั้งหลายมีอุดมคติในข้อที่ว่า ถ้ากินเก็บแต่พอประมาณก็จะมีส่วนเหลือสำหรับช่วยเพื่อนมนุษย์ แล้วเราก็จะชวนกันเป็นสุขอยู่ในโลกนี้ ทุกทิพาราตรีกาลเป็นแน่นอน