แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การพูดกันครั้งนี้ อาตมาจะกล่าวโดยหัวข้อว่า การเติม ธรรมะลงไปในชีวิต การเติมธรรมะ ลงไปในชีวิต อ่า, ฟังดูก็แปลก อาตมาต้องการจะพูดว่า ชีวิตนี้ เป็นสิ่งที่ เติมธรรมะลงไปได้ เหมือนกับเราเติมน้ำลงในตุ่ม เติมน้ำลงในโอ่ง หรือว่าเราไปเติมเงินฝาก ในธนาคารนี่ ให้มันมากขึ้นมา อย่างนั้นแหละ เติมธรรมะลงไปในชีวิต นี่ คงจะเป็นคำที่แปลก สำหรับท่านทั้งหลาย ก็ได้ อ่า, ขอให้ทวนฟังต่อไปสักหน่อย ก็คงจะเข้าใจได้
ชีวิตนี่ คือ ร่างกายกับจิตใจ รวมกัน กายกับใจก็ล้วนแต่เป็นธรรมชาติ ดังนั้นชีวิตนี้ก็เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะก็เป็นธรรมชาติ ดังนั้นเราอาจจะเติมธรรมะลงไป ในชีวิต ซึ่งก็เป็นธรรมชาติด้วยกันได้ อ่า, เป็นแน่นอน เติมให้มากขึ้นได้ ด้วยการปฏิบัติธรรมะ ธรรมะใน ความหมายนี้แปลว่า หน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต เขาจะต้องประพฤติกระทำ หน้าที่ให้ถูกต้องตามที่ชีวิตมันต้องการ ธรรมะนั่นแหละคือ หน้าที่ หน้าที่นั่นแหละคือ ธรรมะ เติมธรรมะก็คือ เติมหน้าที่ เติมหน้าที่ก็คือ ทำให้มัน ถูกต้องยิ่งขึ้น เราคิดดูถึงการเติมที่เรากำลังเติม อะไรกันบ้าง ถ้าเราเติมน้ำมันในตะเกียง ก็หมายความว่า ให้ตะเกียงมันติดอยู่ได้ต่อไปไม่ดับเสีย ถ้าเราเติมน้ำมันลงในถังของน้ำมัน ในถังน้ำมันของรถยนต์ นั้นก็ หมายความว่า จะให้รถยนต์ มันมี กำลังวิ่งต่อไปอีกได้ มันเป็นการเติม
เราเติมทุนสำรอง ในหุ้นส่วน ก็เติมเพื่อจะได้กำไรมากขึ้น หรือแม้ที่สุด ที่เรา หาทรัพย์สมบัติ เพิ่มเติม มันก็กระทำกันอยู่ ไม่เป็นของแปลกประหลาดอันใด แล้วทำไมพอได้ฟังคำว่า เติมธรรมะลงในชีวิต มันจะ กลายเป็นของแปลกประหลาดไปได้ เป็นสิ่งที่เราทำได้โดยไม่ยาก เติมธรรมะลงในชีวิตเป็นสิ่งที่ทำได้โดย ไม่ยาก เว้นไว้แต่คนมันจะโง่แปลว่า มีธรรมะพอแล้ว ฉันมีธรรมะพอแล้ว เกินแล้ว เติม ไม่เติมอีก อย่างนี้เขา เรียกว่า มันเติมไม่ลง เพราะว่ามันเป็นคนที่ว่า มีอาการล้น เหมือนกับน้ำในถังในโอ่ง มันเต็มแล้ว มันเติมไม่ลง แต่มันเต็มอยู่ด้วยน้ำ ที่ใช้ไม่ได้ มันเป็นน้ำที่ต้องเอาออก แล้วก็เติมน้ำที่ดี ที่ใช้ประโยชน์ได้ลงไป
ชีวิตนี้ก็เหมือนกัน มันมีเรื่องโง่มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก คือ หลงใหลในสิ่ง สวยงาม ไพเราะ หอมหวน เอร็ดอร่อย นิ่มนวล เป็นต้น มันเคยชินแต่อย่างนั้น มันมีจิตใจบูชาสิ่งอย่างนั้น ถ้ามันบูชาสิ่งชนิดนั้นเสียจน เต็มที่แล้ว มันก็เติมธรรมะไม่ลง จริงเหมือนกัน เติมยากเติมไม่ลง สำหรับชีวิตที่มันเต็มอยู่ด้วยกิเลส เพราะกิเลส มันมีความตรงกันข้าม ต่อธรรมะ ธรรมะฝ่ายที่จะดับทุกข์ได้ นะก็เรียกว่า ธรรมะฝ่ายบริสุทธิ์ เป็นโพธิ เป็นปัญญา ส่วนกิเลสตัณหานั้นมันตรงกันข้าม กิเลสตัณหามันเป็นเรื่องของความโง่ ความหลง ซึ่งเป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว จนเกิดกิเลส ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ต่อ อ่า, สืบต่อ ๆ กันไปไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่า มันมีกิเลสล้น หรือดันออกมา เติมธรรมะลงไปไม่ได้ จะต้องเอากิเลสออก มีการระบายกิเลสออกแล้วจึงจะเติมธรรมะลงไป ไม่ได้ อ่า, ลงไปได้
ดังนั้นเราจะต้องมีสติปัญญา ที่ถูกต้องและเพียงพอ คำว่า ถูกต้องและเพียงพอนี้มันเป็นคำคู่ แยกกัน ไม่ได้ ถูกต้องอย่างไม่เพียงพอนี้ใช้ไม่ได้ เพียงพอแต่ไม่ถูกต้อง มันก็ใช้ไม่ได้ มันต้องถูกต้องและเพียงพอ มีสติปัญญาถูกต้องและเพียงพอ จะเติมธรรมะลงในชีวิตได้ เดี๋ยวนี้ใครบ้างที่มีสติปัญญาถูกต้องและเพียงพอ มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ดูเหมือนจะมีกิเลส เป็นเจ้าเรือน มีความโลภ โกรธ หลงเป็นเจ้าเรือน แล้วสติปัญญา มันจะอยู่ที่ตรงไหน ถ้าจะพูดให้สั้นกว่านี้ก็ต้องพูดว่า เติมความถูกต้อง ลงไปในชีวิต
เมื่อก่อนหน้านี้พูดว่า เติมธรรมะลงไปในชีวิต พูดให้มันชัดกว่านั้นก็ว่า เติมความถูกต้องลงไปในชีวิต ทุกแง่ทุกมุม อ่า, ความถูกต้องนี้เรียกเป็นภาษาบาลีว่า สัมมาหรือสัม สัมมัตตา สัมมา แปลว่า ถูกต้อง สัมมัตตา แปลว่า ความถูกต้อง ในความถูกต้องนี้มีความหมายจำกัดเฉพาะ คือว่า ไม่เป็นพิษ ไม่เป็นโทษ ไม่เป็นภัย ไม่เป็นอันตรายแก่ผู้ใด มีแต่จะเป็นประโยชน์สืบ อ่า, ประโยชน์สุขเกื้อกูลแก่ คนทุกฝ่าย เราจะต้องเติม ความถูกต้อง อือ, ลงไปในชีวิต ทุกแง่ทุกมุม
เมื่อกล่าวถึงผลในทางโลก ๆ ก็คือ จะต้องมีความถูกต้อง ในการคิดค้น ความจริงของชีวิต คิดค้นได้ อย่างถูกต้อง ในทางโลกต้องการอะไร ก็คิดค้นได้อย่างถูกต้อง ว่าเราควรจะต้องการอะไร แล้วก็แสวงหา สิ่งนั้น ๆ อย่างถูกต้อง ไม่ต้องแสวงหาด้วยกิเลสตัณหาซึ่งเป็นการทรมานใจ แต่แสวงหาด้วยสติปัญญา ซึ่งไม่มีการทรมานใจ แล้วเราจะต้องมีการกระทำที่ถูกต้อง กระทำผิด มันก็ไม่ได้ผล กระทำถูกต้อง มันก็จะ ได้ผล แล้วก็มีการได้มาอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ได้มาอย่างคดโกง แล้วจะมีการเก็บไว้ รักษาไว้ สะสมไว้อย่างถูกต้อง แม้แต่จะใช้จ่ายออกไป จะกินเอง จะให้ใครกิน จะใช้ประโยชน์อะไร จะใช้ไปในทางใดก็ มีความถูกต้อง เรียกว่า การคิดก็ถูกต้อง การแสวงหาก็ถูกต้อง การกระทำก็ถูกต้อง การได้มาก็ถูกต้อง การเก็บรักษาก็ถูกต้อง การใช้จ่ายไปก็ถูกต้อง นี้เป็นการเติมความถูกต้อง ลงไปในชีวิต
หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนจะได้สำรวจตนเองว่า มีความถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างไรในข้อนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของทางโลก
ทีนี้ก็เป็นเรื่องทางธรรม ซึ่งสูงขึ้นไป คือ ละเอียดขึ้นไปเป็นเรื่องทางจิตใจ มากขึ้น ตามหลัก พุทธศาสนา ไอ้ความถูกต้องนั้น ท่านเรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค หนทางอันประเสริฐ อันประกอบไปด้วยองค์ ๘ สัมมาทิฐิ คือ ความคิด ความเห็น ความรู้ ความเข้าใจ เป็นต้น ถูกต้อง และสัมมาสังกัปปะ มีความปรารถนา หรือความต้องการชนิดที่ถูกต้อง สัมมาวาจา มีการพูดจาที่ถูกต้อง สัมมากัมมันตะ มีการงานที่ประพฤติ และทำอยู่อย่างถูกต้อง สัมมาอาชีวะ ดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง สัมมาวายามะ มีความพยายามอยู่อย่างถูกต้อง สัมมาสติ ความรู้สึก ควบคุมตนเอง มีอยู่อย่างถูกต้องสัมมาสมาธิ มีจิตตั้งมั่นอยู่ในความถูกต้อง
มันถูกต้องถึง ๘ ประการ ขอให้ใคร่ครวญดู ว่ามีความสำคัญสักเท่าไหร่ มีความถูกต้องในความรู้ ความคิดเห็น มีความถูกต้องในความปรารถนา มีความถูกต้องในการพูดจา มีความถูกต้องในการงาน มีความถูกต้องในการดำรงชีวิต มีความถูกต้องในความพากเพียร มีความถูกต้องในสติ มีความถูกต้องในสมาธิ ๘ อย่าง แต่ถ้าสรุปให้สั้นก็จะเหลือเพียง ๓ อย่าง คือ ถูกต้องทางศีล สมาธิ ปัญญา ๘ อย่างนั้นเราทำเอามาให้ เหลือน้อยเป็นเพียง ๓ อย่าง ก็ได้ คือ ความถูกต้องทางกาย ทางวาจา ซึ่งเป็นภายนอก และก็ถูกต้องทางสมาธิ คือ ทางจิต ทางกำลังของจิต ทางสุขภาพของจิต ทางสมรรถนะของจิต และก็ถูกต้องทางปัญญา คือ ความรู้ ที่ควรจะรู้ก็ถูกต้อง นี้ถูกต้องทางศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นอย่างนี้
ศีล สมาธิ ปัญญา ในความหมายที่ประยุกต์ได้ หรือใช้พูดได้ในทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นหมายความว่า ถูกต้องที่พื้นฐานภายนอก คือ กาย วาจา ถูกต้องที่จิต และถูกต้องที่ตัวความรู้ของจิต นี้เป็นเรื่องธรรมชาติ หรือว่าเป็นเรื่อง มีหลักทางวิทยาศาสตร์ เป็นหลักที่ผู้มีสติปัญญายอมรับได้ เรามีความถูกต้องอย่างนี้แล้ว ก็คือ ได้เติมธรรมะลงไปในชีวิต อย่างเพียงพอแล้ว ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เรา กำลังเดินสวนทางกันอยู่ เราเห็น ความเอร็ดอร่อย สนุกสนาน เป็นความถูกต้อง และเห็นความถูกต้องเป็นข้าศึกศัตรู คือ ไม่เปิดโอกาสให้เรา ได้สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ตามที่เราต้องการ เขาเลยเกลียดความถูกต้อง แล้วไปบูชาเรื่อง สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ของกิเลส เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว บูชาเหยื่อของกิเลส บูชาความเอร็ดอร่อย อันมา อันอันเนื่องด้วยกิเลส ไม่บูชาธรรมะ เกลียดธรรมะ เพราะว่าธรรมะไม่ให้ความเอร็ดอร่อย
ไปบูชากิเลส คือ บูชากงจักร ยกเข้ามามาใส่หัว ยกมาทูลไว้บนหัว ก็เกิดการบดขยี้ คือ ทำให้เกิด ความทุกข์ เหลือประมาณ ตามอาการของกงจักร สำหรับคน เออ, ที่มันเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เขาเรียกว่า เปรต ชนิดหนึ่ง คนที่เห็นกงจักรเป็นดอกบัวนั้นนะ มันหวังมันต้องการอะไรมาก เกินไป จนมันก็ตาบอด หรือไม่มีตา มันก็ไม่เห็นอะไร หรือมีตาที่เห็นผิด จนเห็นผิดเป็นถูกเห็นถูกเป็นผิด มันกลับกันเสีย นี่แหละชีวิต ที่เติมธรรมะลงไม่ได้ ถ้าเป็นผู้มี ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของธรรมะ ถูกต้อง ในเรื่องของชีวิตถูกต้อง เขาก็จะ เติมธรรมะลงไปในชีวิตได้ อ่า, เป็นแน่นอน เดี๋ยวนี้ชีวิตจิตใจของคนปัจจุบัน มันไม่ถูกเติมด้วยธรรมะ แต่มันถูกเติมด้วยยาพิษ คือ สิ่งล่อลวง ทางกาย ทางใจ ทั้งทางวัตถุ ทั้งทางจิตใจ หลงใหลเป็นสิ่งประเสริฐที่สุด ดีที่สุด ทั้งที่มันเป็นยาพิษ ในชีวิตของเขาจึงไม่มีธรรมะ มีแต่กิเลส มันก็เหมือนกงจักร ที่พัดผันให้เลือดไหล อยู่เสมอ คือ ทนทุกข์ทรมานอยู่เสมอ
สรุปความว่า ชีวิตนี้ เป็นสิ่งที่เติมธรรมะลงไปได้ เมื่อเรายังมีอะไรไม่เต็มเราเติมให้เต็มได้ ฉันใดก็ฉันนั้น เราจงรีบเป็นพุทธบริษัทกันโดยเร็วเถิด คือ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตามความหมายของคำว่า พุทธบริษัท เป็นผู้รู้อย่างถูกต้องว่าอะไร เป็นอย่างไร เป็นผู้ตื่น ตื่น คือ ตื่นจากความหลับแห่งความโง่ หลับด้วยความโง่นะตื่นเสียเถิด แล้วก็จะได้เป็นผู้เบิกบาน สดชื่น แจ่มใส มีชีวิตที่เยือกเย็น เพราะสามารถ ทำให้ชีวิตนี้เต็มอยู่ด้วยธรรมะ และมีการเติมธรรมะ อยู่เป็นประจำ ทุกปี เราเติมธรรมะลงไปในชีวิต ให้ยิ่งกว่าเดิม ให้เป็นของใหม่ เป็นชีวิตใหม่ ยิ่ง ๆ ขึ้นไปทุกปี กว่าจะถึงที่สุด ก็จะไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบกับพุทธศาสนา อาตมาขอยุติการบรรยาย ด้วยความสมควรแก่เวลา เอาไว้เพียงเท่านี้