แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ถาม : กราบเรียนท่านอาจารย์ ในวันสัปดาห์พุทธธรรมพุทธทาสที่เราจัดในระหว่างวันที่ ๒๒-๒๘ พฤษภาคมนี้ อันเนื่องด้วยวันล้ออายุคือในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม โดยปกติคนทั่วไปก็จะเรียกว่าวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ก็เป็นเสมือนหนึ่งวันเกิด แต่ทว่าท่านอาจารย์ได้ใช้วันนี้โดยเรียกชื่อว่าเป็นวันล้ออายุ จึงทำให้ผู้ที่ได้มีโอกาสมาในงานนี้ก็มีความสงสัยและก็อยากจะกราบเรียนถามเพื่อทราบว่า ในเรื่องของการใช้คำว่า "ล้ออายุ" แทนคำว่า "วันเกิด" นั้น มีความหมายอะไรที่เป็นพิเศษหรือเปล่า จึงขอความกรุณาท่านอาจารย์ได้โปรดอธิบายให้เข้าใจในเรื่องของการล้ออายุนี้ด้วยเจ้าค่ะ
ท่านพุทธทาส (ตอบ) : พูดกันทีละข้อดังต่อไปนี้ เมื่อถามว่าอายุคืออะไร ก็ตอบว่าเป็นเวลาที่ธรรมชาติกำหนดไว้ให้สำหรับคนๆหนึ่ง ใช้ให้เต็มที่ ให้เป็นประโยชน์แก่เขาตามที่จะทำได้ ทีนี้เรามีการกระทำเกี่ยวกับอายุกันอยู่โดยทั่วๆไป มีถึง ๔ อย่างคือ เด็กยังเยาว์วัยหรือคนเยาว์วัย คนอ่อน อ่อนปัญญา มันก็ทำการลวงอายุ คือลวงตัวเองให้ลุ่มหลงในอายุ เล่นหัวสนุกสนานเป็นเรื่องกิเลสทั้งนั้น นี่มันลวงอายุ มันเล่นตลกกับอายุ ต่อมาโตขึ้นมาหน่อยเป็นผู้ใหญ่แล้ว เกิดกลัวตายขึ้นมาแล้วก็ทำบุญประเภทที่เรียกกันว่าต่ออายุนิมนต์พระ เชิญแขกอะไรตามประเพณีมาทำบุญต่ออายุ นี้เรียกว่าต่ออายุ ทีนี้ต่อมารู้จักอายุดีขึ้นว่าเป็นอะไร ก็มีการกระทำดังที่เรากำลังจะกระทำกันอยู่นี้เรียกว่าล้ออายุ ล้ออายุจริงๆก็คือสอบไล่ตัวเอง ด่าตัวเอง วิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง นั่นแหละ ประกาศตัวเองว่าจะไม่โง่อีกต่อไป ทีนี้ก็ยังมีอันสุดท้ายจะทำหรือไม่ทำก็แล้วแต่ เรียกว่าเลิกอายุ จิตใจสูงถึงกับเลิกมีสัตว์มีบุคคลมีอะไร ไม่มีตัวไม่มีตนมันก็ไม่มีอายุ การกระทำเนื่องด้วยอายุ เกี่ยวกับอายุจึงมีได้เป็น ๔ อย่างคือ เด็กๆก็คิดว่าจะลวงอายุ ต่อมาก็กลัวตายก็ต่ออายุ ต่อมารู้จักอายุดีขึ้นก็ล้ออายุเล่น ต่อมาเอาชนะอายุได้ก็เลิกๆ เลิกมีอายุกันเสียที ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคลกันเสียที ทีนี้กล่าวเฉพาะการล้ออายุก็คือวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง ทำผิดทำถูกอย่างไรหรือว่าไม่น่าจะทำเช่นนั้นอีกต่อไป อย่างไร เคยโง่มากี่อย่างก็เอามาล้อเล่น ล้อเพื่อประโยชน์อะไร ก็ตอบได้ว่าเพื่อมีสติ ตอบง่ายๆก็ว่าล้ออายุก็เพื่อความมีสติ แล้วก็จะได้เกิดการกระทำที่ถูกต้อง เมื่อมีสติปัญญาแล้วมันก็มีการกระทำที่ถูกต้องนี่เรียกว่าล้ออายุ คือเรียกว่าเอามาหั่นแหลก สับดูให้ละเอียดว่ามันมีอะไรบ้าง ทีนี้ก็มาถึงข้อที่ว่าชาวบ้านหรือชาวโลกจะพูดการล้ออายุควรพูดอย่างไร ก็คือจัดให้มีเวลาสำหรับนึกถึงตัวเอง นึกถึงการงาน นึกถึงชีวิต นึกถึงทุกอย่างที่มันเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ของตน แล้วก็ชำระสะสาง พิจารณาดูว่าผิดถูกอย่างไร ชั่วดีอย่างไร ถ้าว่าเห็นความผิดพลาดก็ทำอาการเหมือนกับว่าโจทก์ฟ้องอายุว่ามีความผิดอย่างนั้นๆใช้ไม่ได้ ตัวเองโจทก์ตัวเองแล้ว ตัวเองก็เป็นผู้พิพากษาวินิจฉัยให้แก่ตัวเองว่าต่อไปนี้ควรจะทำอย่างไร ก็ทำอย่างนั้น เป็นการดีหรือถูกยิ่งๆขึ้นไป หรือจนกว่าจะเห็นว่ามันถูกถึงที่สุดในความเป็นมนุษย์ เรื่องเกี่ยวกับการล้ออายุนี้ก็มีเรื่องราวพอที่จะสรุปมาพูดจากันให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังก็ได้อย่างที่ว่ามานี้ ใครยังโง่ก็หลงอายุ ก็เล่นตลกกับอายุ คล้ายๆกับว่าอายุทำอะไรไม่ได้ ก็เล่นหัวกันต่อไป ที่จริงมันเป็นการลวงตัวเองมากกว่าที่จะลวงอายุ อายุเป็นสิ่งที่ลวงมันไม่ได้แล้วหรอก มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นกฎที่ตายตัว คนไม่รู้เรื่องของอายุมันก็ลวงตัวเอง ทำอะไรอย่างโง่เขลาบ้าหลัง ก็เป็นตอนต้นหรือเป็นวัยแรกๆของไอ้คน ของคนเรา มีใครบ้างที่ไม่กลัวตาย ก็มีคนคิดดีบอกว่ามีการต่ออายุได้ ก็เลยจัดพิธีรูปแบบที่น่า น่าเลื่อมใส ให้มีการทำพิธีต่ออายุกันขึ้นมา มีหลายลัทธิหลายศาสนาด้วยซ้ำไป แล้วแต่จะใช้วิธีไหนเพื่ออ้อนวอนหรือเพื่อทำให้มันถูกต้อง แต่ในที่สุดก็ต้องการอย่างเดียวกันคือว่าให้อายุมันยืนยาวออกไป ต่อมาอีกได้ผ่านมาถึงวาระสุดท้ายแล้วว่าอายุนี้มันเป็นเรื่องไม่มีความวิเศษศักดิ์สิทธิ์อะไร โดยเฉพาะที่ตัวเองได้ผ่านมามีแต่ความโง่ มีแต่ความหลง เคยลวงอายุ เคยล้อ เอ่อ เคยต่ออายุอะไรมาแล้ว ก็มาล้อกันเสียบ้างเพื่อจะหย่าขาดจากความยึดมั่นถือมั่นในอายุ เอามาล้อให้ครบทุกอย่างแล้วก็บอกเลิก เลิกกัน ต่อไปนี้จะไม่ง้อ จะไม่สนใจหรือจะไม่ประจบประแจงเพื่ออย่างนั้น เพื่ออย่างนี้อีกต่อไป เลิกมีอายุ ฉันจะตายเสียก่อนร่างกายตาย ฉันก็ไม่มีปัญหาภาระอะไรเกี่ยวกับอายุต่อไปอย่างนี้ นี่เป็นวิธีที่ว่าใครๆก็ควรจะทำได้ ฉะนั้นขอให้ลองพิจารณาดู ใครกำลังลวงอายุ ใครกำลังต่ออายุ ใครกำลังล้ออายุ แล้วใครได้เลิกอายุได้หมด ผู้ที่เลิกอายุได้นั้นคือผู้ที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น จะมีก็แต่พวกเดียวคือที่เป็นพระอรหันต์ เมื่อยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ได้แต่พยายามทำตามอย่างพระอรหันต์ เลิกโง่ เลิกหลง เลิกยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่าอายุ สำหรับจะหลุดพ้นจากความผูกพันของอายุ เป็นผู้อยู่เหนือความหมายหรืออิทธิพลของสิ่งที่เรียกว่าอายุ แล้วก็จะเป็นสุขทุกทิพพาราตรีกาลเป็นแน่นอน
ถาม : ดิฉันขอกราบเรียนถามตามความรู้สึกนะเจ้าคะ คือพอพูดถึงเรื่องของการทำบุญอายุ จะเป็นการต่ออายุหรือล้ออายุก็ตามที ดิฉันมีความสงสัยว่าคำว่า "อายุ" นี่เจ้าค่ะมันมาอย่างไร มันมีความหมายอย่างไร ท่านอาจารย์โปรดอธิบายอายุสักนิดสิเจ้าคะ
ท่านพุทธทาส (ตอบ) : คำว่า "อายุ" มีความหมายหลายอย่างหลายชนิดหลายลำดับ ตามแต่ว่าไอ้คนมันจะรู้จักกันอย่างไร เด็กๆมันก็รู้ในความหมายหนึ่ง คนหนุ่มสาวหรือวัยรุ่นก็รู้ไปอย่างหนึ่ง พ่อบ้านแม่เรือนก็รู้ไปอย่าง คนแก่ก็รู้ไปอย่าง เท่าที่มันผ่านอายุมามากน้อยอย่างไร ถ้าถามว่าอายุคืออะไรแล้วก็จะต้องตอบกันทั้งวันก็ได้ ในแง่ของตัวหนังสือหรือภาษามันก็ตอบอย่างหนึ่ง ในแง่ของกิจการงานหน้าที่มันก็ตอบอีกอย่างหนึ่ง ในแง่ของไอ้ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านของเมืองของโลกมันก็ตอบกันได้อีกอย่างหนึ่ง ถ้าจะตอบให้มันใช้ได้ทุกอย่างก็คือว่าเวลาที่จำกัดไว้สำหรับคนๆหนึ่ง ให้ทำให้ถูกต้องที่สุด ให้ดีที่สุด ให้ได้รับประโยชน์มากที่สุดในการที่มีอายุครั้งหนึ่ง อายุคือเวลาที่จำกัดไว้สำหรับให้คนเราปฏิบัติให้ได้ผลเต็มที่ ตามความสามารถของตนๆอย่างนี้ นี่เป็นคำตอบรวมๆ
ถาม : อายุคือเวลาที่จำกัดไว้ รู้สึกว่าคนคงจะเข้าใจยากนะเจ้าคะ แต่ว่าอย่างไรเสียก็คงจะมีบางคนเข้าใจว่าอายุเป็นเวลาที่จำกัดไว้ เพราะฉะนั้นก็เลยพากันขวนขวายที่จะทำอะไรๆเกี่ยวกับอายุ เป็นต้นว่าการทำบุญอายุมาก การทำบุญอายุกันมาก มันมีสาเหตุอะไรเจ้าคะที่ทำให้คนทั่วไปนี่ชอบที่จะทำบุญอายุ หรือว่าจูงใจให้เขาอยากจะทำบุญอายุ
ท่านพุทธทาส (ตอบ) : มันก็โง่ โง่จนตัวตาย มันก็เกิดความอยากชนิดนั้นขึ้นมา อายุเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน แต่คนโง่มันคิดว่าต่อได้ มันก็ทำพิธีให้ผีหัวเราะเล่น มันก็จะต่อให้มากไปกว่าเหตุปัจจัย หรืออิทัปปัจจยตาของมันไม่ได้ เราก็ไม่ต้องไปสนใจอะไรกับมันนักเลย ไว้ให้คนที่เขาขี้ขลาดต่ออายุกันไปก็แล้วกัน
ถาม : เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดอย่างคนโลกๆว่า การทำบุญอายุ หรือการต่ออายุนี้ถือเป็นการได้กำไรหรือขาดทุนเจ้าคะ
ท่านพุทธทาส (ตอบ) : ตอบไม่ได้ ถ้ามันได้ความพอใจเขาก็ได้ เขาก็ได้กำไร ถ้ามันถูกมองในแง่ของคนโง่มันก็ขาดทุน กำไรหรือขาดทุนมันอยู่ที่คนผู้ทำนั่นเขาให้ความหมายมันอย่างไร
ถาม : ถ้าเราพูดถึงกำไรก็ต้องหมายถึงว่าสิ่งที่เราได้มามันทำให้เกิดประโยชน์ต่อไป ขาดทุนก็คือว่ามันเสียประโยชน์
ท่านพุทธทาส (ตอบ) : นั่นแหละคือแสดงความโง่ว่ามันไม่ได้ต่ออายุให้ได้มากไปกว่าเดิม ก็แสดงความโง่ในการต่ออายุกันมาแล้ว แล้วประโยชน์ก็ไม่ได้มากกว่าเดิม ไม่ได้มากกว่าที่อายุมันกำจัด กำหนดไว้ให้เท่าไร แต่เรียกว่ามีกำไรไม่ได้ เว้นไว้แต่จะหลับตาว่ามันได้กำไรคือต่ออายุได้ ได้ต่ออายุออกไปได้ตามที่ตัวต้องการ เอาคนโง่กับคนมีปัญญามาพูดคราวเดียวกันนี้มันคงจะพูดกันไม่รู้เรื่อง
ถาม : ถ้าท่านอาจารย์จะโปรดแยกได้ไหมเจ้าคะว่าคนโง่ทำบุญต่ออายุอย่างนั้น แล้วก็ถ้าคนมีปัญญาจะไม่ทำอย่างนั้นนี่มันเป็นเพราะอะไร
ท่านพุทธทาส (ตอบ) : คนมีปัญญาไม่ๆ ไม่ต่ออายุอย่างไรล่ะ จะทำก็ไปทำไปในทางล้ออายุหรือเลิกอายุ คนโง่ก็ทำไปในทางต่ออายุ เด็กๆก็มาลวงอายุ คล้ายๆกับว่ากูไม่ตาย กูเล่นหัวสนุกสนานกันไป เป็นคนเมาอายุ เรียกว่าเมาอายุกัน
ถาม : ดิฉันได้เคย ได้เคยอ่านในหนังสือเจ้าคะ ที่ท่านอาจารย์เคยพูดบอกว่าถ้าคนเราไม่รู้ว่าเกิดมาทำไมแล้วล่ะก็จะไม่มีทางล้ออายุได้ จริงเหรอเจ้าคะ
ท่านพุทธทาส (ตอบ) : ก็เห็นอยู่ในตัวแล้วเมื่อมันไม่รู้ว่าเกิดมาทำอะไร มันก็ไม่ได้ทำอะไรให้สมกัน มันก็ไม่ได้สนใจว่ามีอะไรที่ต้องทำ ไม่ ไม่ได้ ไม่รู้ว่ามีอะไรบกพร่องที่ไม่ได้ทำ มันก็ไม่มีโอกาสที่จะวิพากษ์วิจารณ์อายุของตัวเอง เอาปัญญาไหนมาล้ออายุ เพราะมันไม่รู้จักอายุ มันไม่รู้จักอายุ
ถาม : แล้วถ้าหากว่าจะขอ คือไม่ใช่ ไม่ใช่จะขอนะเจ้าคะ กราบเรียนขอท่านอาจารย์ได้โปรดช่วยบอกสักนิดสิเจ้าคะว่าถ้าอย่างนั้นเราจะบอกให้คนทั้งหลายได้รู้ว่าเกิดมาทำไมนี่ คือเกิดมาทำไมเจ้าคะ
ท่านพุทธทาส (ตอบ) : ตอบได้แต่อย่างกำปั้นทุบดินว่าให้มันได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ทุกคนผู้เกิด ผู้เกิดมาแล้วควรจะได้ มันควรจะได้อะไรก็ให้ได้สิ่งนั้นโดยครบถ้วนถึงที่สุด
ถาม : ทีนี้สิ่งที่ดีที่สุดถ้าพูดโดยทั่วๆไป แต่ละคนก็อาจจะมีมาตรฐานหลักเกณฑ์ของตนเอง ท่านอาจารย์จะโปรดอธิบายให้ชัดยิ่งขึ้นได้ไหมเจ้าคะว่าไอ้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นั้นคืออะไร
ท่านพุทธทาส (ตอบ) : คือชีวิตที่เยือกเย็นเป็นสุข ไม่มีความทุกข์เลย ไม่มีความทุกข์โดยประการใดๆเลย
ผู้ฟัง (ถาม) : คือชีวิตที่เยือกเย็นเป็นสุข ไม่มีหนทางเป็นทุกข์เลย
ท่านพุทธทาส (ตอบ) : ไม่มีทุกข์ ไม่มีปัญหา ไม่มีไอ้ความยุ่งยากลำบากอะไร เยือกเย็นเป็นนิพพาน นิพพานเรียกว่าเย็น
ถาม : อะไรเป็น อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเราเย็นไม่ได้ เยือกเย็นเป็นสุขอย่างแท้จริงไม่ได้คะ
ท่านพุทธทาส (ตอบ) : ความโง่ เห็นแก่ตัวทำให้เกิดกิเลส พอเกิดกิเลสแล้วอย่างไรก็ได้ร้อนทั้งนั้นแหละ กิเลสทั้งหลายก็ร้อนทั้งนั้น กิเลสที่เขาโง่ทำให้มันเกิดขึ้นมานี่เป็นทำให้เย็นไม่ได้
ถาม : แล้วที่ได้ยินท่านอาจารย์เคยพูดว่าเวลากินเรา หรือเรากินเวลา หรือว่าคนกินเวลา เวลากินคน คนกินเวลา มีความหมายอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องของอายุบ้างไหมเจ้าคะ
ท่านพุทธทาส (ตอบ) : อ๋อ, มี มี ถ้าว่าคนมันมีความอยาก เวลามันก็กินคน ถ้าคนไม่มีความอยาก ไม่อยากอะไร คนก็กินเวลา เวลากินคนหมายความว่ามันทำให้คนลำบากยุ่งยาก หนักอกหนักใจ เวลาในที่นี้มันเกิดขึ้นเพราะคนมันอยาก ถ้าไม่อยากมันก็ไม่มีเวลา ไม่ใช่ว่านาฬิกาเดินแล้วจะเป็นเวลา เวลาในที่นี้หมายถึงไอ้ความที่ยังไม่ได้สมอยาก นับตั้งแต่อยากแล้วยังไม่ได้สมอยาก มีความกระวนกระวายใจอยู่นี่เรียกว่าเวลาในความหมายทาง ทางธรรมะชั้นสูงหรือในทางภาษาธรรม ถ้าคนมีเวลาคือมีความอยากเผาผลาญตัวเองอยู่ ก็เรียกว่าเวลากินคน ถ้าไม่มีความอยากอะไรโดยเฉพาะเช่นพระอรหันต์เป็นต้น คนกลับกินเวลา ถ้าเวลาไม่หือขึ้นมาได้ไม่ทำให้เป็นทุกข์ได้ เวลาเงียบหายไป มีความอยาก เวลาก็กินคน ไม่มีความอยาก คนก็กินเวลาใจความพิสดาร ไปดูเอาเอง
ถาม : ถ้าเช่นนั้นในเรื่องของการต่ออายุก็ดี ในเรื่องของการล้ออายุก็ดีนี่เจ้าคะ ถ้าเราจะมองดูในแง่ของเศรษฐกิจ ในแง่ของสังคม มันจะมีแง่คิดที่ควรพิจารณาอย่างไรบ้างไหมเจ้าคะ
ท่านพุทธทาส (ตอบ) : ถ้าว่าเศรษฐกิจหรือสังคมที่บริสุทธิ์ มันจะมีแต่ช่วยกันสร้างให้เกิดความสงบสุข สงบเย็น ไม่มีปัญหาแม้แต่ด้าน ในด้านจิตใจ ด้านวัตถุก็ไม่มีแล้วด้านจิตใจก็ไม่มี นี่เรียกว่าได้ปฏิบัติต่ออายุอย่างถูกต้องทั้งในแง่ของวัตถุและทั้งในแง่ของจิตใจ แต่เขาจะต้องการกันหรือไม่นั้นมันก็รู้ไม่ค่อยได้ แต่ที่เห็นๆอยู่มันต้องการแต่ในแง่วัตถุ เศรษฐกิจก็เศรษฐกิจทางวัตถุ ทางการเมืองทางสังคมก็เป็นเรื่องของวัตถุ มันไม่ได้เป็นเรื่องของจิตของวิญญาณที่เล็งเอาพระนิพพานเป็นผลกำไรที่สุด มันก็เลยเดินกันคนละแนว หรือพูดกันไม่รู้เรื่อง ต้องแยกออกเป็นเรื่องของโลกๆ เรื่องทางวัตถุ กลับเป็นเรื่องทางธรรมคือเรื่องทางจิตใจ ใครจะต่ออายุ หรือจะเพิ่มอายุ หรือจะล้ออายุก็ควรจะเป็นพวกๆไปจึงจะทำได้สำเร็จตามนั้น
ถาม : ถ้าอย่างนั้น ถ้าเราเห็นแล้วว่าการต่ออายุนี่นะเจ้าคะมันมักจะเป็นการเสียเวลา เสียเงิน แล้วก็เสียความรู้สึกความเป็นไปที่ถูกต้องหลายๆอย่าง ถ้าหากว่าอยากจะให้มีการศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงเรื่องของการใช้อายุให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริง เราควรจะมีวิธีการให้การศึกษาแล้วก็จุดมุ่งหมายในการให้การศึกษาอย่างไรเจ้าคะ
ท่านพุทธทาส (ตอบ) : มันเป็นเรื่องการศึกษาไปแล้ว
ถาม : แต่การศึกษาในเรื่องของการใช้อายุให้เกิดประโยชน์เจ้าค่ะ
ท่านพุทธทาส (ตอบ) : ก็ตามเดิมนั่นแหล่ะ การศึกษาทำให้คนฉลาดสามารถในหน้าที่ แล้วก็ต้องสอนให้รู้จักควบคุมความฉลาดนั้นให้เดินถูกทาง ขอให้มีการศึกษาชนิดนี้ คือให้ฉลาดและให้ควบคุมความฉลาดได้ด้วย อย่าให้มีแต่ความฉลาดและมีเสรีภาพในการใช้ความฉลาดตามกิเลสของตน นั่นแหละคือมันทำให้อายุสกปรกหรือเน่าไปในที่สุด ขอให้มีการศึกษาที่ถูกต้องที่ฉลาด แล้วควบคุมไว้ให้เดินไปแต่ในทางที่ถูกที่ควร เราควรจะมีการศึกษาอย่างนี้ นี่เป็นเรื่องการศึกษาโดยทั่วไป มันใช้กับเรื่องนี้ก็ได้ สืบค้นขวนขวายให้ตัวเองได้มีการศึกษาที่ฉลาด แล้วก็สามารถควบคุมความฉลาดได้ แล้วคนนั้นก็ปลอดภัย ได้มีโอกาสล้ออายุจนกระทั่งเลิกอายุ ไม่มีปัญหาใดๆเรื่องอายุ หรือเกี่ยวกับอายุอีกต่อไป
ถาม : ถ้าจะสรุปนะเจ้าคะถึงอานิสงส์ของการล้ออายุ ท่านอาจารย์โปรดสรุปโดยย่ออีกสักครั้งสิเจ้าคะ ที่จะให้เป็นข้อสะกิดใจ เตือนใจแก่ผู้ที่ได้มีโอกาสมารับฟังเรื่องการล้ออายุในวันนี้
ท่านพุทธทาส (ตอบ) : มันต้องรู้จักอายุ โดยเฉพาะของตัวเองให้ดีถึงที่สุด จนเห็นข้อบกพร่อง เห็นข้อน่าล้อมันจึงจะเอามาล้อได้ ของคนอื่นนั้นไม่รู้ของเขาไม่ต้องไปสนใจเขาก็ได้ ของตัวเองมันรู้อยู่ว่าบกพร่องอย่างไร ผิดถูกอย่างไร จะได้เอามาแก้ไขเสียด้วยสติปัญญาหรือการศึกษาที่ถูกต้องที่กล่าวมาแล้ว ให้การศึกษานั้นสามารถใช้ได้ในการที่จะซักฟอกอายุ หรือว่าตำหนิติเตียนอายุที่มันเดินไปผิดทาง การศึกษาที่สมบูรณ์อย่างนี้แล้วก็ปลอดภัย ทั้งในแง่ที่จะปฏิบัติ ในแง่ที่จะได้รับผลของการปฏิบัติ ไม่มีปัญหาอะไรเหลืออยู่
ถาม : กราบขอบพระคุณท่านเจ้าค่ะ