แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธทาส : อาจารย์ระวี ภาวิไล พาคณะมา เพิ่งกลับไปเมื่อ ๒-๓ วันนี้ เขาคิดจะดำเนินงานให้ธรรมสถาน จะมีรูปภาพ มีอะไรอย่างนี้
ผู้ฟัง(หญิง): ดีเจ้าค่ะ ก็เป็นประโยชน์ นิสิตนักศึกษาที่สนใจธรรมะก็มีมากทีเดียวนะคะ
พุทธทาส : ก็ยังจับกลุ่มกันไม่ได้ ถ้าจับกลุ่มกันได้ คงจะทำอะไรได้บ้าง
ผู้ฟัง(หญิง): ก็คงจะได้อาจารย์ระวี เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญ ณ ตอนนี้
พุทธทาส : มันจะต้องขยายออกไปถึงศาสนาอื่นด้วย
ผู้ฟัง(หญิง): เจ้าค่ะ
พุทธทาส : เพราะนิสิตนักศึกษาก็มีต่างศาสนา
ผู้ฟัง(หญิง): แต่พระพุทธศาสนาก็ไม่เคยกีดกันศาสนาอื่น
พุทธทาส : ต้องมาหาหนทาง ทำความเข้าใจกันระหว่างศาสนา มาบอกกัน พูดบรรยายกัน ถึงว่ามันมีอะไร ที่มันไม่ ไม่ ไม่ขัดกัน มีวิธีพูดอย่างไร อธิบายอย่างไร ที่มันไม่ขัดกันกับศาสนาอื่น
ผู้ฟัง(หญิง): วิทยานิพนธ์ของอาจารย์ที่เชียงใหม่ ที่เขียนถึงพระเดชพระคุณ รู้สึกว่าเป็นหนังสือที่มีค่ามากทีเดียวนะคะ
พุทธทาส : มีค่าอย่างไร ทางระหว่างศาสนาหรืออย่างไร
ผู้ฟัง(หญิง): หมายความว่า ทำให้คนที่อ่านนี่ ได้เห็น หรือได้รู้จักบุคคลที่จะเป็นแบบอย่าง ที่จะเป็นตัวอย่างอันดี และที่จะเป็นผู้นำของศาสนาพุทธในประเทศไทยได้เจ้าค่ะ
พุทธทาส : มันจะเกิน (หัวเราะ) มันจะเกินความจริง ขอเพียงว่า ทำความเข้าใจระหว่างศาสนา โดยที่, ที่ทุกคน พยายามเข้าใจศาสนาของตัวเองให้ถึงที่สุด แล้วมันก็เข้าใจกันได้ ระหว่างศาสนา เพราะโลกนี้ก็มีโอกาสที่จะทำความเข้าใจกันได้ เป็นไปเพื่อสันติภาพ เราต้องการให้มันได้ยินไปถึงไอ้พวกฝรั่งที่มันมีอำนาจ มีอิทธิพล มันต้องช่วยกันทำให้ศาสนากลับมา เดี๋ยวนี้การศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งโลก มันไม่ให้ความสำคัญแก่ศาสนาหรือศีลธรรม สอนแต่เรื่องเทคโนโลยีให้ชนะคนอื่น แล้วโลกมันก็เป็นอย่างนี้กันมา นี่, ถ้าว่าคนเหล่านั้น อาจารย์ ครูบาอาจารย์เหล่านั้น มาเห็นความสำคัญของศาสนา เริ่มสร้างความสนใจทางศาสนากันขึ้นมา ให้ประชาชนชอบศาสนา ประชาชนเหล่านี้มันจะบีบบังคับรัฐบาลให้หมุนไปตามทางศาสนา แล้วรัฐบาลต่างๆ ในโลก มันก็จะไม่ต้องคิดไปในทางลบล้างฆ่าฟันกัน
หนังสือของเราเกือบทุกเล่มแหละ มุ่ง, มุ่งจะช่วยแก้ปัญหาข้อนี้ คือให้ทุกคนเข้าใจศาสนาของตนให้ลึก ให้ถูกต้อง ไม่ให้ทุกคนทำการเปรียบเทียบระหว่างศาสนา จนไม่มีอะไรที่ว่ามันเป็นข้าศึกแก่กัน ให้ความรู้นี้แพร่หลาย แพร่หลาย แพร่หลาย ไปถึงครูบาอาจารย์ชั้นสูง ซึ่งมีอยู่มากมาย ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก แล้วก็สอนคนหนุ่ม คนสาว เหล่านั้นให้เข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับศาสนา พอโตขึ้น เขาก็จะเป็นประชาชนที่ จะบีบบังคับรัฐบาลให้ทำอะไรไปในทางของธรรมะหรือศาสนาได้ เรียกว่าปลุกระดมชั้นลึก ด้านลึกเลย ในอนาคตข้างหน้า
ผู้ฟัง(หญิง): พวกกล้าอนันต์ เขาเอาอะไรมากล่าวจ้วงจาบพระเดชพระคุณไหมคะ
พุทธทาส : (หัวเราะ) ไม่ได้ทำขนาดนั้น ที่นี่ไม่มีใครรู้หรอก เพราะว่า ไอ้ที่แกว่า เราไม่ได้ว่า ที่แกว่าเรา ว่าอย่างไร เราไม่ได้ว่าอะไร
ผู้ฟัง(หญิง): แล้วเขาทำไมกล้าเขียนขึ้นมาอย่างนั้น
พุทธทาส : ไม่ทราบเหมือนกัน เป็นเรื่องนายปุ่นว่า เท่านั้นเอง
ผู้ฟัง(หญิง): มันไม่ถูกต้องเลย
พุทธทาส : เป็นหนังสือของนายปุ่น
ผู้ฟัง(หญิง): ใครนะคะ
พุทธทาส : นายปุ่น จงประเสริฐ ที่ว่าอย่างนั้นนะ ที่ว่าอย่างเขาว่า เป็นเรื่องของ หนังสือของนายปุ่น จงประเสริฐ เราไม่ได้ว่าอย่างนั้น เราก็เลยไม่รู้ไม่ชี้ เพราะเราไม่ได้ว่าอย่างนั้น ว่าตายแล้วเกิด ตายแล้วไม่เกิด นั่นแหละ เป็นเรื่องของนายปุ่นเขา แล้วนอกนั้นก็ไม่เห็นมีเรื่องอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน พุทธศาสนาแท้ๆ จะไม่พูดว่า ตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิดนะ ต้องจำไว้ได้ ต้องว่า แล้วแต่เหตุปัจจัย จะพูดว่าเกิดโดยส่วนเดียวก็ไม่ถูก ไม่เกิดโดยส่วนเดียวก็ไม่ถูก ต้องพูดว่าแล้วแต่เหตุ แล้วแต่ปัจจัย นี่, ระดับทั่วไปควรจะพูดอย่างนั้น ไอ้ชาวบ้านทั้งหลายนี่ ถ้าเขาถามว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ก็บอกแล้วแต่ปัจจัย อย่าไปตอบว่า เกิดหรือไม่เกิด นี่ถ้าเก่งกว่านั้น ดีกว่านั้นอีก โอ๊ย, ไม่มีคนโว้ย ไม่มีคน ไม่มีคน ไม่มีใครตาย ไม่มีใครเกิด ดังนั้นเราไม่, ไม่อาจจะตอบกัน ไม่ ไม่ ไม่มี ไม่มีทางจะต้องตอบปัญหาว่า ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด เพราะว่ามันไม่มีคน
ผู้ฟัง(หญิง): มีคนๆ หนึ่งใช้นามปากกาว่า อริยะ ที่เขียนในหนังสือเล่มหนึ่ง หนังสือเขาออกไปในแง่ที่ว่าศีลไม่มี ธรรมไม่มี อะไรไม่มี ไม่มีอะไรสักอย่างนี่ เขาหมายความว่าอย่างไรเจ้าคะ
พุทธทาส : ไม่ทราบ เพราะเราไม่ได้เขียน เราก็ไม่ทราบ
ผู้ฟัง(หญิง): เขาเป็นคนที่เขาต้องการทำลายพุทธศาสนาหรือเปล่า หรือเขาเข้าใจผิด
พุทธทาส : มันก็เป็นได้ เขาเข้าใจผิดก็ได้ เขามีเจตนาอย่างไร ก็ไม่ทราบ หรือว่าเขามันเข้าใจผิด เรื่องไม่มีตัวตน นั่นน่ะ คงจะเข้าใจผิดกระมัง
ในทางสมมติ ในทางธรรมดาสามัญ เราก็มีตัวตน มีบุคคลที่จะต้องปฏิบัติต่อกันอย่างนี้ ต่อเมื่อถึงเรื่องที่เราจะหลุดพ้นจากความทุกข์ เราจึงจะรู้ความจริงที่ว่ามันไม่มีตัวคน ไม่มีตัวตน เราก็ไม่ยึดถืออะไร จิตจะได้หลุด, หลุดพ้น เรียกว่าปล่อยวาง หรือเป็นนิพพานได้
แต่ถ้าพูดกับคนธรรมดา ก็ยังต้องพูดว่ามีตัวตน คนธรรมดาเขามีตัวตน ต้องพูดเป็นภาษามีตัวตน ไอ้ไม่มีตัวตนนี่ พูดกันได้แต่ภาษาผู้รู้ เรื่องไม่มีตัวตน หรือเอาไว้พูดกับความรู้สึกภายในของตนแต่ผู้เดียว ไม่มีอะไรเป็นตัวตน จึงไม่เกิดความรู้สึกนั่นนี่ ขึ้นมา
ช่วยกันพยายามให้เด็กๆ รู้จักธรรมะ รู้จักศีลธรรม ดีที่สุด เพราะต่อไปเด็กนั้นมันโตขึ้นมา เป็นประชาชน จะได้เป็นประชาชนที่มีธรรมะรู้ถึง บ้านเมืองจะดีขึ้น ให้เด็กกลัวบาปก็ได้ ทำอย่างไรก็สุดแท้ แต่ทำให้เด็กมันรู้จักกลัวบาป ให้เด็กรักผู้อื่น ให้เด็กบังคับความรู้สึกของกิเลส สองสามอย่างนี้พอแล้ว
ผู้ฟัง(หญิง): ทำยังไงถึงจะให้เขากลัวบาปล่ะคะ
พุทธทาส : ก็บอกให้คุณไปทำ จะไปทำยังไงก็ตาม แต่ให้เด็กมันกลัวบาป
ผู้ฟัง(หญิง): ลูกชายดิฉันก็ไม่เอาเลยเจ้าค่ะ บอกไม่เชื่อ
พุทธทาส : ไม่เชื่อ ไม่มีบาป ไม่มีบุญ ไม่มีบาป
ผู้ฟัง(หญิง): ไม่เชื่อว่ามีบาป
พุทธทาส : ไปทำให้เขารู้สึกว่ามีบาป บาปเป็นสิ่งน่ากลัวที่สุด ไปทำให้จนเกิดมีผลอย่างนั้น น่ากลัวยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ในโลก กลัวผี กลัวเสือ กลัวอะไรก็ตาม ก็ไม่น่ากลัวเท่ากลัวบาป ก็ไม่ทำบาป มันก็หมดเรื่อง ให้รักผู้อื่น กระทั่งสุนัข แมว หมา สัตว์เดรัจฉาน ก็รักด้วย เป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เด็กเดี๋ยวนี้ เขาก็ไม่รักผู้อื่น จึงมีความอิจฉาริษยา แล้วก็เบียดเบียนกัน ในโรงเรียนก็ทะเลาะกัน ตีกัน ฆ่ากัน ในโรงเรียนนั้นเอง ดังนั้น เด็กต้องบังคับความรู้สึกที่มันเกิดพลุ่งขึ้นมา เป็นความรักก็ดี เป็นความโกรธก็ดี เป็นความโง่ไปก็ดี สะเพร่าอะไรก็ดี ต้องบังคับ อย่าให้มันแสดงบทบาทได้ ๒ - ๓ ข้อนี้ก็พอแล้ว สำหรับเด็กๆ นะ รอดตัว ให้ทำอะไร ด้วยความควบคุมของสติปัญญา อย่าลุอำนาจแก่กิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่าให้มันมีอำนาจ ให้สติปัญญามีอำนาจควบคุมสิ่งเหล่านี้ มันก็ทำถูก พูดถูก คิดถูกกันอยู่ทุกเวลา
เดี๋ยวนี้น่าเห็นใจ ไอ้สิ่งยั่วยวนมันมากเกินไป โดยเฉพาะในกรุงเทพ สิ่งยั่วยวน จูงใจเด็ก ไปลุ่มหลง สิ่งเหล่านั้นมันมากเกินไป เขาเอาไว้ไม่อยู่ ก็น่าเห็นใจเขาเหมือนกัน พ่อแม่ก็ควรจะเอาใจใส่ข้อนี้ ถ้ามีลูกมาเป็นอันธพาลแล้ว จะมีไปทำไม ก็ต้องควบคุมไว้ให้ได้ อย่าให้มันไปเป็นอันธพาล แม่ยิ่งควรจะมาอยู่กับลูก เสียสละประโยชน์อย่างอื่น มาควบคุมลูกให้ปลอดภัย ดีกว่าทิ้งลูกไว้ให้คนอื่นควบคุม ให้พ่อไปทำมาหากินเต็มที่ แม่อย่าต้องไปทำมาหากินเต็มที่ โดยทิ้งลูกไว้ตามบุญตามกรรม แม่ยอมเสียสละเพื่อจะมาควบคุมลูกให้มันถูกต้อง
เคยพูดอย่างนี้ออกไปทางวิทยุวันอาทิตย์ สองสามวันก็มีคนเอามาล้อทางวิทยุนะ ทำอย่างนี้ไม่พอกิน ฐานะเศรษฐกิจ เวลานี้ทำอย่างนี้ ไม่ได้ ไม่พอกิน แม่ออกไปช่วยหาอย่างเต็มที่ คนมันก็ยังไม่พอกิน เขาว่าอย่างนั้น แล้วบอกว่าที่ลูกมันเสียไปนะ มันเสียหายยิ่งกว่าไม่พอกิน หรือยิ่งกว่าขาด, ขาดรายได้ ในส่วนที่มันไม่ได้นั่นซะอีก ต่อไปลูกมันก็จะเป็นข้าศึกพ่อแม่ เพราะคิดบัญชีไม่เป็น ไม่รู้เรื่องได้ เรื่องเสีย ที่แท้จริง แบบโบราณ ไอ้เรื่องทำมาหากินนี่ก็หนักไปที่พ่อ แม่ก็ต้องรับผิดชอบเรื่องลูก เรื่องในบ้าน ในเรือน มันจึง เด็กๆมันจึง รู้จักกลัวบาป อยู่ในธรรมะได้
เดี๋ยวนี้รัฐบาลก็ยังไม่เข้าใจ ยังไม่เห็นความจำเป็นข้อนี้ ไม่ได้จัดระบบการศึกษาให้มันมีธรรมะ คือศีลธรรมอย่างเต็มที่ในการศึกษา เด็กๆ ก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องธรรมะ เรื่องศีลธรรม
ผู้ฟัง(หญิง): ทั้งครูสอนศีลธรรมก็เป็นตัวอย่างที่ดีไม่ได้เจ้าค่ะ มีการกินเหล้าเมายา
พุทธทาส : นั่นแหละ มันมีปัญหา เรื่องหาครูสอนศีลธรรมไม่ได้ ก็น่าเห็นใจ มันก็ต้องค่อยทำ ค่อยไป ค่อยสร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมา ระยะยาวในโอกาสหน้าก็จะมีครู พอสอนศีลธรรม ยุคต่อไปก็เด็กๆ ก็จะมีศีลธรรม นี่คอยดูเถอะ คงจะร้ายกว่านี้อีกหลายสิบ หลายร้อยเท่า
ผู้ฟัง(หญิง): ต่อไปหรือคะ
พุทธทาส : ต่อไป ไอ้เด็ก ม.ศ. ๕ ที่จบออกมาปีละ ๒๐๐,๐๐๐ คน นี่ จะมาเป็นอันธพาล มาเป็นอันธพาลนะ คอยดู
ผู้ฟัง(หญิง): ไม่มีที่จะไปค่ะ
พุทธทาส : นั่นน่ะ ไม่มีที่จะไปด้วย แล้วมันไม่มีศีลธรรมมาแต่ในโรงเรียน พอออกมาจากโรงเรียน มันก็ไม่มีที่จะทำงาน มันก็เป็นอันธพาลใช่ไหม ปีละ ๒๐๐,๐๐๐ คน ไม่ใช่เล่น โดยประมาณนะ ทั้งประเทศเด็กจบ ม.ศ. ๕ ปีหนึ่งสักสองแสนคนเศษ ไอ้นี่แหละจะมาเป็นอันธพาลทั้งบ้านทั้งเมือง จะรอดตัวไปได้ ไปเข้ามหาวิทยาลัยเป็นคนดีไปได้ เป็นส่วนน้อย มันคงจะเศษของสองแสน แล้วสองแสนนี่ต้องมาเป็นอันธพาลกวนเมืองอย่างนั้น ไอ้เด็ก ม.ศ. ๕ นั่นแหละ แล้วก็เป็นอันธพาลที่ปราดเปรียว ที่ฉลาดกว่าที่ไม่ได้เล่าเรียน ดูเดี๋ยวนี้กลอุบายต่างๆ ที่มันจะ, ถ้ามันจะทำลายผู้อื่นนะ มันฉลาด มันแนบเนียน พลิกแพลง จนตามไม่ค่อยทัน จนตำรวจตามไม่ค่อยทัน ปีละสองแสนคน สองแสนคน ถ้า ๑๐ ปี สองล้านคน มีอันธพาลสองล้านคนในประเทศ
ก่อนนี้ แม้แต่แต่งตัวมันก็ยังมีระเบียบนี่ นักเรียนมันแต่งตัวมีระเบียบ เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย มันก็แต่งตัวมีระเบียบ มันติดแผงคอ มันสวมยูนิฟอร์ม หรือที่จะเป็นนักเรียน นักศึกษาแท้ มันก็, มันก็คุมกันอยู่ในตัว ที่มันไม่กล้าทำอะไรผิดๆ เดี๋ยวนี้นักเรียนมันแต่งตัวฮิปปี้ทั้งนั้น ไม่รู้ว่าเป็นนักเรียนหรือไม่ใช่นักเรียน มันก็ทำอะไรอย่างไม่มีความหมายมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน แล้วไม่รู้ว่านี่เป็นนักเรียนหรือเป็นฮิปปี้ มันแต่งตัวเหมือนกัน ผมเผ้าเหมือนกัน กริยาท่าทางเหมือนกันกับนักศึกษา
ผู้ฟัง(หญิง): เห็นว่าเครื่องแบบเป็นเครื่องจำกัดเสรีภาพ
พุทธทาส : นั่นแหละมันก็ให้ผลอย่างนั้น แม้แต่ครู ดูไม่ออกว่า นี่มันเป็นครูหรือมันเป็นฮิปปี้ ดูผมเผ้าหน้าตา แต่งเนื้อแต่งตัว กิริยาท่าทาง ดูเป็นฮิปปี้ อันธพาล แล้วเขาบอก เขาเป็นครู สอนนั่น นั่นนี่ มีดีกรี มีอะไร สอนโรงเรียนที่มีเกียรติ นี่, แม้แต่ไอ้เครื่องแต่งตัวสัญลักษณ์นี่มันก็ไม่มีซะแล้ว อย่างนี้มันก็ไม่มีซะแล้ว จิตใจมันก็ยิ่งไม่มี ก่อนนี้เราเห็นนักเรียนแต่งตัวเป็นระเบียบ ตั้งแต่นักเรียนประถม มัธยม มหาวิทยาลัย ก็แต่งตัวเป็นแบบเฉพาะของมหาวิทยาลัยนั่นนี่ไปเลย
เดี๋ยวนี้ทำ, ทำให้คน ให้เด็กๆ มีศีลธรรมนั่นแหละ คือสิ่งที่ดีที่สุด ได้บุญที่สุด บุญกุศลสูงสุด ทำให้คนมีศีลธรรม
มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ยัง, ยังเข้าใจกันไม่ได้ ในการที่จะร่วมมือกัน ให้มีศีลธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังชอบเล่นโขนอยู่ ไม่รู้ว่าจะไป จะส่งเสริมศีลธรรมกันตรงไหน อย่างไร
ผู้ฟัง(หญิง): สมัยนี้ ส่วนใหญ่ของนิสิตนักศึกษา แล้วก็หลายเปอร์เซ็นต์ของจำนวนอาจารย์ไม่ได้มีความภาคภูมิใจในสถาบัน และไม่ได้มีความรู้สึกว่าตัว มีหน้าที่ที่จะต้องรักษาชื่อเสียงหรือศักดิ์ศรีของสถาบัน
พุทธทาส : นั่นแหละมันมีแต่ ตัวกู ของกู ของคนอื่นเราไม่รู้
เมื่อ น.ม.ส. ที่ตายไปแล้ว กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ น.ม.ส. เขากลับมาจากประเทศอังกฤษ พอเสร็จการเรียน มาแสดงปาฐกถาที่สามัคยาจารย์ โรงเรียนสวนกุหลาบ รุ่นโน้นนะมี มี เขาเรียกสามัคยาจารย์ มีห้องโถงแสดงปาฐกถา อาตมาไปฟัง อุตส่าห์ไปฟัง แรกๆ บวช ยังไม่มีสวนโมกข์ ยังเรียนอยู่ที่กรุงเทพก็ไปฟัง แล้วก็ประหลาด จำได้ติดใจมันไม่มีลืมว่า แกบอกว่า มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หรืออ๊อกซฟอร์ด ก็ดี เขามุ่งหมายแต่เพียงให้คนมันเป็น Gentleman ไอ้เรียนจบมาไม่ใช่อะไร ให้คนมันเป็น gentleman มันจะมีปริญญาอะไรไม่สำคัญ ไม่สำคัญ ขอให้ทุกคนมันเป็น gentleman เดี๋ยวนี้มันถึงเห็น เออ อันนี้มันถูกแล้ว แต่นี้เขาก็เปลี่ยนหมดแล้ว อ๊อกซฟอร์ด เคมบริดจ์ มันไม่ได้มุ่งหมายให้คนเป็น gentleman แล้ว มันให้คนเก่งในเทคโนโลยี มีปริญญาเป็นที่ยึดถือทั้งนั้น คำว่า gentleman ก็หายไปแล้วจากมหาวิทยาลัยสูงสุดนี้ เพราะคนจะเป็น gentleman นั้น หมาย หมดปัญหา มันหมดปัญหา มันหมดความเห็นแก่ตัว มันเป็นสัตตบุรุษ ในพระพุทธศาสนาเลย ไอ้ gentleman สมัยนั้น ที่ฝรั่งมันนับถือกันนัก เดี๋ยวนี้มันก็ไม่มีในหมู่ฝรั่ง ที่จะมี ทนงเกียรติเป็น gentleman นี่มันไม่มีแล้วเหมือนกัน นั่นเขาเรียนจบสูงสุดเพียงเพื่อเป็น gentleman ถ้านักศึกษาทั้งหมดนั้นเป็น gentleman ประเทศอังกฤษไม่ล่มจมขนาดนี้ เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนเป็นอะไรไปแล้วก็ไม่รู้
ผู้ฟัง(หญิง): ก็แค่ศีล ๔ ข้อเดียว (นาทีที่ 24.25) ประพฤติเป็น gentleman……………นั้น ยิ่งไม่ต้องเขียนไม่ต้องอะไรเลย พูดกันด้วยปากแค่นั้นเอง
พุทธทาส : เป็นมนุษย์ที่ไว้ใจได้ มนุษย์ที่ไม่มีอันตราย มนุษย์ที่เป็นมนุษย์ ที่มันเห็นแก่ผู้อื่นน่ะ gentleman เดี๋ยวนี้มันไม่มีในโลก มันหาทำยาหยอดตาก็ไม่ได้ gentleman ไม่ว่าจะอ๊อกซฟอร์ด เคมบริดจ์ ที่ไหนก็ตาม ก่อนนี้ฝรั่งถ้าเขามาเมืองไทย นี่เขามาอวดความเป็น gentleman นี่แหล่ะ ที่ทำให้เรานับถือเขา เดี๋ยวนี้ไม่มี เราจะหาฝรั่งชนิดนั้นไม่มี
Gentleman เขาต้อง อะไร เขาต้องรู้จักตัวเอง เชื่อตัวเอง เคารพตัวเอง นับถือตัวเอง บังคับตัวเอง น่ะ gentleman เดี๋ยวนี้มันไม่มี ไม่มีคนอย่างนี้ ไม่มีฝรั่งที่ว่า บังคับตัวเอง เชื่อ, เคารพตัวเอง เชื่อถือตัวเอง นับถือตัวเอง ไม่มี พร้อมที่จะเอาเปรียบ
ผู้ฟัง(หญิง): มีพระภิกษุชาย รู้สึกจะอิตาเลี่ยนองค์หนึ่ง ท่านชื่อพระโลกนารถ พระเดชพระคุณเคยรู้จักหรือไม่เจ้าคะ
พุทธทาส : เคยพบ เป็นอะไร
ผู้ฟัง(หญิง): เป็นใคร แล้วท่านทำอะไร
พุทธทาส : ในที่สุด มันก็ มันก็เริ่มจะวุ่นวาย เป็นเรื่องที่คล้ายๆ กับตบตา แกจะหาเกียรติยศให้แกเอง แล้วก็สร้างโครงการอันนี้ขึ้น แกจะไปแผ่พุทธศาสนาให้ทั่วโลก เดินเท้า จากประเทศไทยเข้าไปอินเดีย จะไปทำพิธีอะไรกันตรงแม่น้ำยูเครติส ไทกรีส นั่นแหละ ให้เป็นการใหญ่ แล้วจะเข้าไปกรุงโรม แล้วจะไปเข้าไปยุโรป จะไปแผ่พุทธศาสนา แล้วก็หาพวกไง ในที่สุดมันก็ ก็หายาก หาไม่ได้ มันก็ไปบ่อนแตกที่พม่านี่เอง แล้วพวกที่ไปด้วย เพื่อนอาตมาก็มี ที่เขาไปด้วย เขาว่ามันไม่ไหว มันไม่ได้จริงเหมือนกับปากพูด มันเป็นเรื่องตบตา หาเกียรติ หาอะไร ในที่สุดมันก็ล้มเหลว
ผู้ฟัง(หญิง): แล้วเขาบวชมาจากไหนคะ
พุทธทาส : ครั้งแรกจะบวชที่ไหนก็ไม่ทราบ จะที่อินเดียหรือที่ไหน หรือที่พม่า ที่พม่า เดี๋ยวสึกเป็นเณร เดี๋ยวเป็นฆราวาส เดี๋ยวสึกเป็นเณร ผลสุดท้าย มันก็ได้กินอยู่ที่พม่า ที่พม่ายังมีคนเชื่อถือ พอจะอยู่อาศัยได้ แล้วก็ หรือจะตายอยู่นั่น ตายที่พม่า เขามาชวนพระลังกา พระพม่า พระไทย ให้ไป มีคนยุอาตมาให้ไป แต่ไม่ไป อาตมาไม่ไป ไม่ใช่มันมีแต่เพียงเท่านั้น งานในประเทศไทยก็มี ใครไปก็ไป เราอยู่ทำงานในประเทศไทย พอดู คนโตๆ สนับสนุนกันหลายคน ที่เขา เขาเชื่อ เขาเชื่อคำชักชวน พระก็ไปกันบ้าง ท่านปัญญาฯ นี่ก็ไปด้วย ก็ไปแตกกันที่พม่า เพื่อนของท่านปัญญาฯ เขมาภีรัตน์ (นาทีที่ ๒๙.๐๖) เดี๋ยวนี้เป็นเจ้าคณะจังหวัดชุมพร นี่ก็ไปด้วย แล้วก็มาเล่าให้ฟัง มันเหลือทน ก็ไปแตก แยกกันที่พม่า ไม่ทันจะเข้าไปในอินเดีย อาตมาไม่ไป แกมาชวน พบกันที่วัดบวรฯ แกพักอยู่วัดบวรฯ เราไปดู ไปเยี่ยม คุณสัญญา ธรรมศักดิ์ นี่ก็ยังพูดทำนองยุให้อาตมาไป ไปกับโลกนารถ เขาว่า อาตมาไม่ไป ไม่ไปเด็ดขาด เจ้าคุณนัตตรี (นาทีที่ ๒๙.๔๕) คนนี้ก็ยังสนับสนุนโลกนารถ แต่ไม่มากเท่ากับบางคน เช่น พระราชธรรมนิเทศ เป็นต้น นี่ก็สนับสนุนลงทุนด้วยวาจา ด้วยอะไร หมดเนื้อหมดตัว
ผู้ฟัง(หญิง): เป็นฆราวาสหรือคะ
พุทธทาส : พระราชธรรมนิเทศ ก็ที่เป็น อธิบดีกรมการศาสนา เป็นอะไร เป็นผู้ก่อตั้งพุทธสมาคม พอดีเขาก่อตั้งพุทธสมาคมกันใหม่ๆ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกำลังมีอำนาจ ก็สนับสนุนเรื่อง เรื่องพระโลกนารถ จัดเป็นพิธีใหญ่โต ออกเดินด้วย ก็ออกเดินจากวัดบวรนิเวศ ขึ้นไปทางเหนืออยู่เรื่อยๆ ไป ทำครึกโครมตลอดทาง ไปที่ไหนมีคนมาฟัง
ผู้ฟัง(หญิง): ฟังอะไรคะ
พุทธทาส : ก็เรื่องที่หนึ่ง ก็คือ เรื่องไม่กินเนื้อ แล้วก็เรื่อง ไปสอนธรรมะ พุทธศาสนา ในความคิดมันก็ดี จะไปสอนพุทธศาสนาทั่วโลก แนวคิดมันก็ดี แต่ใหญ่เกินฐานะของตัว จะไปให้รอบโลก ไปยุโรป แล้วทะลุไปอเมริกา ไปรอบโลก พระที่ไม่ไปกับแกน่ะ เหมือนกับน้ำเน่า อยู่นิ่ง พระที่ไปกับแกเหมือนน้ำไหล สะอาด เขาพูดกันอย่างนี้ เราก็ยังไม่เชื่อ
ผู้ฟัง(หญิง): พูดภาษาไทยเหรอคะ
พุทธทาส : พูดภาษาอังกฤษ มันก็ ไม่เคยเรียน ไม่เคยมาเมืองไทย ยังพูดไทยไม่ได้ โดยทั่วไปก็ใช้ล่าม พระอภัยวงศ์ อยู่ถนนสาทร พวกนามสกุลอภัยวงศ์ พระอภัยวงศ์เป็นคนที่ หัวหน้าสกุลอภัยวงศ์ นั่นแหละ สนับสนุนพระโลกนารถให้มาเมืองไทย เป็นเอเย่นต์แทนพระโลกนารถ ใครจะติดต่อพระโลกนารถให้ไปติดต่อได้ที่พระอภัยวงศ์
ผู้ฟัง(หญิง): พ่อคุณควง หรือคะ
พุทธทาส : จะเป็นพ่อหรืออย่างไรไม่ทราบ นามสกุลอภัยวงศ์ ถนนสาทร อาตมาก็ผ่านถนนสาทรไป ผ่านหน้าบ้านไป เห็นบ้านปิดเงียบเหมือนกับบ้านร้าง เลยไม่กล้าเข้าไป เป็นประวัติศาสตร์แห่งความล้มเหลว จำกันไม่ลืม
ผู้ฟัง(หญิง): เขาทำงานใหญ่เกินตัว ไม่แน่นพอ
พุทธทาส : ก็ไม่เก่งพอด้วย แล้วมันใหญ่เกินตัวด้วย แล้วก็ไม่รู้ว่า ข้อเท็จจริงมันจะเป็นอย่างไร เน้นแต่เรื่องเสียสละ เน้นอย่างเดียว เรื่องความรู้ เรื่องธรรมะ เรื่องปัญญามันยังไม่มี ไม่รู้อยู่ที่ไหน เน้นแต่ความเคร่งเครียด เข้มแข็ง บึกบึน ด่าคนกินเนื้อตลอดเวลา มันก็ยิ่งยุ่งกันใหญ่ เดี๋ยวนี้ ยังไม่มีใครคิดทำอย่างโลกนารถ ยังว่างอยู่ เราคิดทำแต่เพียงทางหนังสือ ติดต่อทางหนังสือ ทางไปรษณีย์ ก็คือโฆษณาธรรม ที่จะถึงกับยกขบวนเดินเท้าออกไปนี่ ยังไม่กล้าทำ และคิดว่าทำในเมืองไทยให้มันสำเร็จเสียก่อน ถึงจะคิดไปเมืองนอก เดี๋ยวนี้เมืองไทยก็ยังแย่ เมืองนอกนั้นเราก็ทำให้พวกฝรั่งเขารู้สึกขึ้นมาเอง แล้วเขาทำของเขาเองนั่นแหละมีทางสำเร็จ ที่เราจะไปช่วยทำ ดูไม่มีทาง ยุให้ฝรั่งเขาเรียนพุทธศาสนาเก่งๆ แล้วมาช่วยสอนเรายังจะดีกว่า ยังจะมีทางทำได้ง่ายกว่า สอนพุทธศาสนาแบบปริยัตินะ ไม่ใช่ว่าแบบปฏิบัติ เดี๋ยวนี้ก็ยังต้องอาศัยไอ้ดิกชั่นนารีของฝรั่งอะไรอยู่ ที่จะศึกษาบาลี พระไตรปิฎก นี่ ก็ยังต้องอาศัยดิกชั่นนารีฝรั่ง ดิกชั่นนารีที่จะแปลคำบาลี มาเป็นภาษานี่ ในเมืองไทยไม่มี ดิกชั่นนารีที่ดี เท่าดิกชั่นนารีของ ริค เดวิด (นาทีที่ ๓๖.๒๖) ที่แปลบาลี แปลเป็นอังกฤษ เขาทำบัญชี สารบาญพระไตรปิฎกได้ดี ได้สะดวก คนคว้าสะดวก
ผู้ฟัง(หญิง): พระไตรปิฎกนี่เหมือนกันหมดทุกประเทศไหมคะ
พุทธทาส : พระไตรปิฎกพุทธศาสนาก็เหมือนกันทุกประเทศ
ผู้ฟัง(หญิง): เขามี บาลีเพรสโซไซตี้ ที่เขาเขียนเรื่องอะไรต่างๆ ออกมานี่เขาเอามาจากไหนคะ
พุทธทาส : เขาก็ถอดเก็บมาจากพระไตรปิฎก หรือความเห็นของเขา ก็ใส่ลงไป
ผู้ฟัง(หญิง): อ๋อ, เขาใส่ความเห็นของเขาด้วย
พุทธทาส : ก็มี ก็ต้องมี เขาตีความ แล้วเขาก็บอกไว้
ผู้ฟัง(หญิง): แล้วเขานี่เป็นพวกกลุ่มไหน หมายความว่า เขารู้อะไร มาจากไหนมากกมาย ถึงจะมาตีความ
พุทธทาส : เขาก็เรียน ทั้งหมดที่มันมี ไอ้เรานี่ มันขี้เกียจ ไม่เรียนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ฝรั่งมันเรียนบาลี เรียนตัวพระไตรปิฎก แล้วก็เรียนอรรถคาถาของพระไตรปิฎก แล้วอธิบายอรรถคาถาของพระไตรปิฎกมันก็เรียน แล้วมันก็มี การค้นคว้ากว้างขวางจากประเทศอินเดีย อะไรๆ ที่มันแวดล้อมพุทธศาสนาอยู่ในอินเดียมันก็เรียน มันก็เรียนไปมากกว่าเรา รู้อะไรมากกว่า การวินิจฉัยธรรม วินิจฉัยธรรมได้ดีกว่า เพราะเรามันขี้เกียจ หยุด ตามสบาย แต่ถ้าช่วยกันก็ยิ่งดีใหญ่ คนไทยกับฝรั่ง ช่วยกันศึกษาพระคัมภีร์ แล้วก็ช่วยกันตีความ ช่วยกันอะไรทุกอย่าง กระทั่งเผยแผ่ มันจะดีมาก คนไทยด้วย พม่าด้วย ลังกาด้วย ฝรั่งด้วย ช่วยด้วย ไม่รู้นะ
แต่ว่า ที่จริงเรื่องธรรมะสำหรับปฏิบัตินั้น มันก็ไม่ค่อยมีอะไร จะเป็นปัญหายุ่งยากมากมาย พอจะสรุปใจความได้ ปฏิบัติกันได้ ทำให้เกิดความปล่อยวางได้ แต่ถ้าปัญหาทางหนังสือ ทางปริยัติ ทางวรรณคดี ทางอักษรศาสตร์แล้ว ยังมีอีกมาก ในพระไตรปิฎกน่ะ ยังมีอีกมาก แล้วพระไตรปิฎกชนิดที่งอกใหม่ พุทธศาสนาที่งอกใหม่ก็มาก มีมากเหมือนกัน หมายถึง สูตรฝ่ายมหายาน ที่เขาเรียกว่า มหายาน คัมภีร์มหายาน นะเขาก็แต่งขึ้นมา ก็มีสนุกๆ น่าสนใจมากเหมือนกัน
ผู้ฟัง(หญิง): เขาแต่งกันได้ยังไงเจ้าคะ
พุทธทาส : ก็คนฉลาด ปราดเปรื่อง ยุคสมัยนาลันทา การศึกษาพุทธศาสนาเจริญที่สุด ที่นาลันทา ที่อินเดียนั่นน่ะ
ผู้ฟัง(หญิง): เป็นชื่อเมืองหรือชื่ออะไรเจ้าคะ
พุทธทาส : นาลันทา ก็เป็นชื่อเมือง หรือเป็นชื่อมหาวิทยาลัย ในยุคนั้นน่ะ แต่งขึ้นมาก คัมภีร์มหายาน เขาทำ เขาก็ทำด้วยเจตนาดี ทำด้วยความหวังดี แล้วก็จะอธิบายให้มันชัด ให้มันชัดกว่าพวกเถรวาท แล้วทุกสูตรที่สำคัญ สำคัญ เขาจะอธิบายเรื่องอนัตตา สุญญตา ทั้งนั้น ไอ้เรื่องแวดล้อมทั้งหลาย เขาก็ใส่เขาตามชอบใจ เขาประดิษฐ์ขึ้นให้มันน่าสนใจ
ผู้ฟัง(หญิง): แต่มหายาน เขาเน้นว่าต้องกลับมาเกิดอีกใช่ไหมคะ
พุทธทาส : ไอ้อย่างนี้มันเหมือนกันแหละ สำหรับพูด สำหรับชาวบ้าน สำหรับคนทั่วไป ก็ต้องพูดอย่างนั้น เวียนว่ายตายเกิด มีตัว มีตน ไอ้พวกที่เขาอยากจะให้ยึดสวรรค์กัน เขาก็พูดเรื่องสวรรค์ ให้ดีที่สุด กว่าที่มันมีอยู่แล้วในคัมภีร์ พรรณนาสวรรค์ให้มันน่า ให้มันน่าเอา น่ายึดถือ ยิ่งกว่าที่มันมีอยู่ในคัมภีร์ก่อนๆ นี่เขาก็แต่งขึ้น เรื่องกินเนื้อ เรื่องไม่กินเนื้อ แต่ก่อนนี่ก็ไม่ค่อยเน้น ยุค, ยุคมหายานนี่ เขาเน้นกันมาก จนมันแพร่หลายไปในอินเดีย เอ่อ, ในจีน ในธิเบต ลัทธิไม่กินเนื้อ มันก็มั่นคง ด้วยสูตรที่พวกนี้แต่ง เขาแต่งให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปลังกา ที่นักประวัติศาสตร์เขาไม่ยอมรับว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปลังกา ไปตามลำดับ ลงไปตามแหลมเลกกัล (นาทีที่ ๔๓.๓๘) ก่อนจะข้ามไปลังกา สูตร สูตรพระพุทธเจ้าเสด็จไปลังกาสอนพวกราพวรรณะ พวกรามวรรณะ(นาทีที่ ๔๓.๕๓) คือ พวก พวกชาวลังกา พวกทศกัณฑ์ นั่นน่ะ สอนเรื่องไม่กินเนื้อ แสดงโทษแห่งเนื้อ ละเอียดละออมาก เป็นต้นตอของเรื่องนี้ เรียกว่า ลังกาวตารสูตร ไปสอนพวกยักษ์ไม่ให้กินเนื้อ เป็นเรื่องที่น่าหัว
ผู้ฟัง(หญิง): ที่พระเดชพระคุณแปลใช่ไหมคะ
พุทธทาส : นั่นแหละตอนนั้นแหละ ตอนบทสั้นๆ ไม่กินเนื้อ แต่ว่ามันไม่ใช่เท่านั้น มันเป็นสูตรยาวมาก สอนเรื่องสุญญตา เรื่องอนัตตา ดีที่สุด ไปสอนพวกยักษ์ไม่ให้กินเนื้อ แล้วก็ไปสอนพวกยักษ์ไม่มีตัวตน มันต้องเขียนดีมาก มันถึงจะเป็นที่ยอมรับ เขาจะมีเรื่องที่ปรุงขึ้นมาให้มันน่าสนใจ ถ้าจะศึกษาพวกนี้ด้วยละก็ มันก็อีกมาก มันเพิ่มความมากไป ศึกษาแต่พระไตรปิฎกเถรวาท นี่ก็ไม่ใช่น้อยแล้ว มันมากทีเดียว ที่ศึกษาฝ่ายมหายานที่มันงอกออกไปอย่างนี้ ก็ยิ่งมากใหญ่ พอมันตกไปถึงธิเบต เขาก็แต่งขึ้นอีกมาก มันก็ยิ่งมากใหญ่ คัมภีร์มหายานอย่างที่ว่านี้ ตกค้างอยู่ที่ธิเบตมาก ต้นฉบับเดิม ที่เป็นสันสกฤตมันสูญหาย มันเหลืออยู่แต่ฉบับที่แปลเป็นธิเบตอย่างนี้ก็มาก เขากำลังจะแปลกลับกันมา ดังนั้น ไอ้เรื่องทาง ทางวรรณคดีนี่ เราไม่ค่อยหวังกันมาก มันมากเกินไปกว่าที่จะทำได้ เอาเท่าที่มันมีอยู่ในพระไตรปิฏกเถรวาทนี่ก็ ก็มากอยู่แล้ว สนใจเรื่องปฏิบัติ ปฏิบัติจิตใจมันไม่มาก เอ่อ, ดีกว่า แล้วมันไม่มาก
อ้าว ปิดประชุม ไปหุงข้าวกินกันสิ ควรจะกินข้าว เดี๋ยวจะค่ำ จะลำบากนะ
ผู้ฟัง(หญิง): ไปไม่ได้ค่ะ
พุทธทาส : ทะลุตรงนี้ ไม่ทันเปียก ตัดตรงๆ มีคนอียิปต์คนหนึ่ง เขาไม่ลำบากเรื่องกินอาหาร เขาไม่ลำบาก มันเป็นมังสวิรัตเกิน เกินมังสวิรัต กินผลไม้ กินผลไม้ ข้าวก็ไม่กิน เพราะเขาถือว่า การกินข้าวนี่ก็ทำลายชีวิต เพราะข้าวสารหรือถั่วแต่ละเม็ดมันมีชีวิต ไปกินก็คือทำลายชีวิต เขาจะกินผลไม้ที่มีเนื้อมากๆ แล้วระมัดระวังที่สุด ไม่ให้แตะต้องเม็ดของผลไม้เหล่านั้น แม้แต่เม็ดของสัปปะรดนี่ แกต้องไม่ทำลายเลย กินแต่เนื้อ มันก็ทำได้สำหรับฆราวาส หิวเมื่อไหร่กินได้ แต่พระหรือว่าผู้ถือศีลทำไม่ได้หรอก เดี๋ยวๆ มันก็หิว เดี๋ยวๆ มันก็หิว ไอ้กินแต่เนื้อของผลไม้ แต่มันไม่ลำบากนี่ อย่างนี้ มันไม่ต้องไปหุงข้าว มันไม่มีเรื่องก่อไฟ ไม่มีเรื่องติดไฟ ก็ซื้อมะละกอ สัปปะรด กล้วย มาสต๊อก มันไม่มีขาดมือ หิวเมื่อไหร่ ก็กินเมื่อนั้น แล้วก็ตักกินแต่เนื้อ ระวังไม่ให้ถูกเม็ด เมื่อไหร่ก็ได้ คือหิวเมื่อไหร่ก็กินได้ ผักเผิกก็ไม่กิน แต่ว่ากินนม มันง่าย ไม่รู้เรื่องติดไฟ หม้อข้าว หม้อแกง ถ้วยชาม ไม่ต้อง ไม่ต้องมี ไม่ต้องหุง ไม่ต้องต้ม ไม่ต้องแกง ไม่อะไรหมด ควักเนื้อผลไม้กิน กินกล้วย กินสัปปะรด กินผลไม้ทุกอย่าง แต่ระมัดระวัง ไม่ต้องทำให้เม็ดนั้นบอบช้ำไปจน จนสิ้นชีวิต ข้าวสารกินไม่ได้ ถั่วกินไม่ได้ อะไรกินไม่ได้ เพราะมันมีชีวิตอยู่ในเม็ดแต่ละเม็ด เขาเป็นคนอียิปต์
ผู้ฟัง(หญิง): อย่างนี้เรียกว่า เป็นไปทางสุดโต่งไหมคะ
พุทธทาส : ก็ไม่ ก็ไม่ถูก ก็จะเรียกว่าสุดโต่ง มันก็ไม่ถูก เพราะว่าก็เขาสะดวก มันสะดวกกว่า มาพักอยู่ที่นี่นานกว่าจะกลับบ้าน มันอยู่ที่ไหนก็ได้ ไปที่ไหนก็ได้ มันกินผลไม้ ไม่กินแป้งข้าว ไม่กินพวกที่ว่าเป็นเมล็ดพืชพันธุ์ที่มีชีวิต แล้วไม่ต้อง ไม่ต้องติดไฟ ไม่ต้องมีหม้อ มีอะไร มีผลไม้อยู่ตะกร้า หิวก็กิน หิวเมื่อไหร่ก็กินเมื่อนั้น แบบฤาษี แบบฤาษีครั้งโบราณโน้น เขากินผลไม้ หรือว่าจะ จะบัญญัติให้บังคับใช้ ตัวเองนะรู้
ผู้ฟัง(หญิง): คือไม่ได้หมายความว่าจะให้บังคับใช้ แต่ว่าในทัศนะของท่านเจ้าคุณ จะง่ายขึ้นเหมือนตอน..
พุทธทาส : ก็รู้อยู่แก่ใจเองแล้ว ตั้งแต่เราเริ่มเปลี่ยนแปลงมันดีอย่างไร
ผู้ฟัง(หญิง): เรารู้สึกเองได้ทันที
พุทธทาส : มันดี ศีล ๘ นั้นดี ไม่มีส่วนเกิน มันดีที่ว่า มันไม่มีโอกาสที่จะใช้ส่วนเกิน มังสวิรัตมันก็สบายแก่ร่างกาย และดีทางเศรษฐกิจ มันก็ดี ก็รู้อยู่แล้ว
ผู้ฟัง(หญิง): ก็มีคนเขาต่อต้านมาก แล้วจะมีผู้ปกครองไม่เข้าใจ
พุทธทาส : มันไม่รู้ มันไม่รู้ มันไม่รู้ อย่าไปว่า เขาไม่รู้ เขาคิดเดา
ผู้ฟัง(หญิง): เราเองก็บรรยายไม่ครอบ จะอธิบายเขาก็ไม่เข้าใจ อยากจะ..
พุทธทาส : มังสวิรัต ยิ่งสมัยนี้ยิ่งดี ดีด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไม่มีหมู ไม่มีไก่ ไม่มีวัวซะ มันก็ เราไม่มีปัญหา มันดีแก่อนามัย
ผู้ฟัง(หญิง): อยากเรียนถาม
พุทธทาส : ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหาอะไร มันรู้อยู่แก่ใจ มันรู้อยู่แก่ใจ มันเป็นสันทิฏฐิโก อยู่แก่ใจ
ผู้ฟัง(หญิง): กราบเรียนถามท่านเจ้าคุณค่ะ ก็มีเหตุการณ์ ท่านโกวิทออกไปสอนธรรมะ โดยมาก ท่านก็ไม่ได้บอกว่าเป็นลูกศิษย์ คือไม่เข้าใจว่า ทำไม ไม่ได้กล่าว บอกกล่าว เราก็รู้สึก
พุทธทาส : ก็ไม่ต้อง ธรรมะมันไม่ใช่ของใครนี่ ธรรมะไม่เป็นของใคร
ผู้ฟัง(หญิง): ไม่เป็นไร แล้วในแง่ของความกตัญญูละคะ กตัญญูกตเวทีละคะ
พุทธทาส : ไม่เป็นไร เรื่องนี้ถือว่ามันเป็น เป็นเราก็รู้ของธรรมชาติ รู้ของธรรมชาติ
ผู้ฟัง(หญิง): แล้วหลายๆ คนเขาถาม
พุทธทาส : อาตมาก็บอก อาตมาไม่มีลูกศิษย์ ไม่มี ไม่มีลูกศิษย์ ไม่มีลูกศิษย์ มีแต่เพื่อน
ผู้ฟัง(หญิง): ???????? (นาทีที่ ๕๕.๑๓ )
พุทธทาส : ตอนเย็นน่ะ กินแต่ผลไม้ ไม่ต้องกินข้าว อ๋อ ก็ดี ก็บางคนยังต้องทานอะไรอยู่ ตอนเย็น ก็ถือเป็นกินผลไม้ ก็หมดปัญหา
ไม่ได้ยิน ฟังไม่ถูก
ผู้ฟัง(หญิง): บอกว่าไปหาหลวงพ่อขอม หลวงพ่อขอมก็บอกปัญหาสั้นๆ บอกว่า ถ้าเกิดไม่อยากจะร้องไห้ ด้วยการเอาหัวใจนี่ไปรัก ไปถามอาจารย์ชา ก็บอกว่าหาสิ เปิด ปิดให้เจอ สั้นๆ บอกว่าอะไรสั้นๆ
พุทธทาส : ก็พูดอย่างพระพุทธเจ้าพูดดีกว่า ไม่อยากร้องไห้ ก็อย่าไปอยากอะไร พระพุทธเจ้าท่านสอนมีหลักอย่างนี้ อย่าไปอยาก คืออย่าไปหวังอะไร ไม่ต้องร้องไห้
ผู้ฟัง(หญิง): แล้วเราจะทำอะไร
พุทธทาส : ก็ทำไปตามที่มันจะต้องทำ ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องหวัง รู้ว่าจะทำอะไร ก็ทำไป
ผู้ฟัง(หญิง): แล้วเราจะรู้ได้ยังไง ว่าเราจะต้องทำอะไร
พุทธทาส : อ้าว ก็ทำไมจะไม่รู้ ตามธรรมชาติ มันก็รู้ว่าควรจะต้องทำอะไร แต่ก็ไม่ต้องทำด้วยความอยาก ไม่ทำด้วยความหวัง ทำด้วยความรู้ แล้วกัน อย่าทำด้วยความหวัง
ผู้ฟัง(หญิง): แต่อารมณ์ของคนเราก็ต้องมีความหวังระยะไกล
พุทธทาส : ก็ได้นั่งร้องไห้ เราหวัง พอหวังมันก็ผิดหวังทันที เพราะเราหวังมันไม่มีการเป็นไปตามความหวัง
ผู้ฟัง(หญิง): แต่ต้องมีจุดมุ่งหมาย
พุทธทาส : จุดมุ่งหมาย ก็ทำด้วยความรู้ มีความรู้ มีจุดมุ่งหมาย ถ้ามีหวังมันก็ผิดหวังทันที มันไม่มีอะไรจะเป็นไปตามความหวัง
ผู้ฟัง(หญิง): แล้วความพลัดพรากล่ะคะ
พุทธทาส : ก็เราไม่หวังว่าจะอยู่ตลอดไป ก็ไม่มีความพลัดพราก เพราะว่าไม่ได้หวังว่าจะอยู่ตลอดไป
ผู้ฟัง(หญิง): ไม่หวังว่าจะอยู่
พุทธทาส : พลัดพราก เพราะ เราหวังไม่ให้พลัดพรากไง นี่เราก็ไม่หวัง เขาสรุปมาว่า ทำ ทำด้วยปัญญา อย่าทำด้วยอวิชชา ที่ไปหวัง ไปอยาก นั้นมันเป็นอวิชชา
ผู้ฟัง(หญิง): ปัญญาของเราจำเป็นที่ เราจะต้องรู้เวลาคิดของเราเอง หรือว่าจำเป็นต้องอาศัยผู้อื่น
พุทธทาส : เราค่อยๆ รู้ เราค่อยๆ รู้ไปเอง มันค่อยๆ รู้เอง
ผู้ฟัง(หญิง): รู้ไปเองแล้วแน่ใจว่าจะรู้ว่ามันถูกหรือผิด
พุทธทาส : มันสอนไปเอง มันผิด มันก็แสดงผลออกมาผิด ก็ไม่เอา ก็เลิกเสีย ก็เปลี่ยนเสีย ถ้าจะหวัง จะอยากหวัง อยากจะใช้คำว่า หวัง ก็ต้องหวังด้วยปัญญา ด้วยความรู้ อย่าไปหวังด้วยความโง่ เป็นอวิชชา เรียกว่าไม่หวังดีกว่า ความหวังเป็นผลของความโง่
ผู้ฟัง(หญิง): ดังนั้น เราก็ปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ ใช่ไหมคะ
พุทธทาส : เรารู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เราก็ทำไป ไม่ต้องหวัง เช่นว่า ปลูกดอกไม้ ปลูกต้นไม้ลงไป ก็ไม่ต้องหวังว่ามันจะออกดอก ออกอะไร ก็ปลูกก็แล้วกัน แล้วก็ดูแลมันดีก็แล้วกัน
ผู้ฟัง(หญิง): แต่เราก็มีจุดมุ่งหมายของการปลูก
พุทธทาส : ก็ได้ มันก็รู้ว่า มันจะต้องมีออกมา มีผลออกมา
ผู้ฟัง(หญิง): นี่ถือว่าเป็นความหวังไหม
พุทธทาส : อย่าไปหวังว่ามันจะอย่างนั้น มันจะต้องอย่างนั้น มันต้องอย่างนี้ นี่เรียกว่าหวัง มีความอยากที่ยืดเยื้อ มันก็ทำให้ทรมานใจ เมื่อไรจะออกมา ทำงานไปก็แล้วกัน ด้วยปัญญาให้มันถูกต้อง แล้วผลมันก็ออกมา โดยที่ไม่ต้องหวัง
ผู้ฟัง(หญิง): ผลของกรรมนี่จะแสดงออกมาได้อย่างไร บางครั้งไม่ทำให้คนเชื่อได้เพราะว่ามันแสดงผลช้า
พุทธทาส : อันนี้มันเกี่ยวกับเราทำ เราทำให้ถูก ก็ไม่ต้องหวัง
ผู้ฟัง(หญิง): ความชั่ว ความชั่วที่แสดงผลช้า ทำให้เราหลงระเริง
พุทธทาส : มันก็ต้องรู้สิ ก็ต้องรู้ ให้มันถูกต้อง ไม่รู้ หรือรู้ผิด มันเป็นอวิชชา รู้ว่าทำอย่างมันจะได้ผลอย่างไร ก็ทำอย่างนั้น โดยไม่ต้องหวัง
ผู้ฟัง(หญิง): แล้วความลังเลสงสัยล่ะคะ
พุทธทาส : ก็แก้ด้วยความรู้ มีความรู้ ก็รู้จนหมดลังเล หมดสงสัย เอามาลังเล เอามาสงสัยมันก็รบกวนอีกเหมือนกัน แต่มันคอยดูอยู่ได้ คอยดูอยู่ได้ ถ้าเห็นว่าจะผิดก็แก้ แก้ไปเลย แก้ไปในระยะนั้นได้ อะไรที่เห็นว่ามันจะผิด ก็แก้ได้
ผู้ฟัง(หญิง): ท่านปฏิบัติธรรมมานี่รู้สึกว่ายากลำบากไหม หรือว่าไม่รู้สึกอะไรเลย หรือว่ามันมาได้เรื่อยๆ
พุทธทาส : มันทำตามที่มันรู้ มันก็ไม่ค่อยมีปัญหา
ผู้ฟัง(หญิง): ผ่านขั้นตอนของการฝึกใจได้ หรือว่ามันเป็นไปด้วยความ
พุทธทาส : เราก็ไม่ทำ ถ้าเห็นว่ามันไม่ถูก ไม่แน่ ไม่อะไร เราก็ไม่ทำ เราทำแต่ที่มันมองเห็นอยู่ว่ามันถูก
ผู้ฟัง(หญิง): ท่านอาศัยปัญญานำด้วยไหมคะ
พุทธทาส : มันก็ตลอดเวลา ปัญญาก็แล้วกัน ให้มันมีปัญญาก็แล้วกัน มีความรู้ที่ถูกต้อง มีความรู้ที่ถูกต้องก็แล้วกัน เราทำไอ้ที่ควรทำ มันก็มีน้อยมาก เรื่องที่ควรทำ มันมีน้อย เราไม่ต้องไปทำให้มันมากเรื่อง
ผู้ฟัง(หญิง): มากเรื่อง ในด้านไหนคะ
พุทธทาส : ที่มันเกิน ที่มันเกินจำเป็นน่ะ มันมากเรื่อง มันก็ยุ่ง ที่มันควรจะทำ เท่าที่จะทำได้ เห็นๆ อยู่นี่มันก็เยอะ ก็มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา อยู่ด้วยปัญญาเรื่อย ปัญญาที่ถูกต้อง ปัญญาที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่ปัญญาคดโกง นี่เป็นอันว่า ไม่มีใครไปกินข้าวนะ
ผู้ฟัง(หญิง): ไม่มีแล้วค่ะ เตรียมตัวจะนอน ฝนที่นี่มันตกบ่อยไหมคะ
พุทธทาส : นี่มันถึงฤดูแล้ว ถึงฤดู ปักษ์ใต้นี่ คือฤดูฝน มันหลังจากกรุงเทพ ดูรูปภาพนั่น ดูรูปภาพนั้นเล่นๆ ไป ติดฝน ให้พระเขาเปิดเทปบางเรื่องให้ฟังก็ได้ คนฉายไม่อยู่ เขาไปธุระเสียหมด เขาไม่อยู่ ไปเกาะสมุย
ผู้ฟัง(หญิง): ท่านรู้จักอาจารย์..(นาทีที่ ๐๑.๐๕.๓๐ )
พุทธทาส : มาที่นี่บ้างเหมือนกัน วินัย เขาชื่อ วินัย
ผู้ฟัง(หญิง): ที่เป็นพระนะคะ
พุทธทาส : เป็นพระนั่นแหละ ชื่อวินัย เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน อยู่ปากพนัง
ผู้ฟัง(หญิง): ท่านเคยธุดงค์ไหมคะ
พุทธทาส : ไม่เคย
ผู้ฟัง(หญิง): ท่านไม่ธุดงค์หรือ
พุทธทาส : ไม่มีเวลา
ผู้ฟัง(หญิง): แปลว่าเป็นพระ ไม่จำเป็นต้องธุดงค์ใช่ไหมคะ
พุทธทาส : ไม่มีวินัยบังคับว่า ต้องธุดงค์ หมายถึงเที่ยวเดินนะ หมายถึงเที่ยวเดิน ธุดงค์ไม่ต้องเดินก็มีเยอะ
ผู้ฟัง(หญิง): ตอนนี้ท่านบิณฑบาตไหมคะ
พุทธทาส : ไม่ได้ไปนานแล้ว กลัวหกล้ม
ผู้ฟัง(หญิง): ท่านคะ ทำไมท่านอ๊วนอ้วน ท่านอ้วนมานานหรือยัง
พุทธทาส : มันไม่, มันใช้อาหารไม่หมด มันอ้วน ใช้อาหารที่กินเข้าไปไม่หมด มันก็เลยอ้วน
ผู้ฟัง(หญิง): ตอนนี้สุขภาพท่านเป็นยังไงบ้างคะ ได้ข่าวว่าท่านไม่สบาย
พุทธทาส : ไม่ค่อยสบาย
ผู้ฟัง(หญิง): ตอนนี้สบายอยู่
พุทธทาส : ไม่ค่อยสบาย
ผู้ฟัง(หญิง): ตัวท่านบวมๆ
พุทธทาส : ดูคล้ายๆ จะบวมนะ แต่ยังไม่เห็นบวม นี่เขาว่า เขาเห็นว่านี่มันบวม แต่เขาก็มากดดู เขาบอกว่านี่ มันไม่บวม เส้นโลหิตฝอยซีกนี้ เขาบอกว่ามันตีบหมด เส้นโลหิตฝอยในสมองด้านซ้ายมันตีบ มันก็ยุ่งไปหมด
ผู้ฟัง(หญิง): ตอนนี้ในร่างกายมีความเจ็บปวดไหม
พุทธทาส : ไม่ค่อยมี แต่มีความร้อน ร้อน รู้สึกร้อน เพราะเส้นโลหิตฝอยไม่ดีนี่ มีเรื่องหลายเรื่อง ให้พระเขาเปิดเทปฟังเรื่องไหม ดีกว่ากระมัง ให้พระเขาช่วยเปิดเทปบางเรื่องพิเศษฟังดูดีกว่า ถ้าติดฝนก็ไปไม่ได้
ผู้ฟัง(หญิง): ไม่เป็นไรคะ
พุทธทาส : คุณมานะ คุณมีเทปอะไรบ้างที่เอาลงมา
คุณมานะ : ที่บรรยายกับ ดร.ระวีครับ
พุทธทาส : ที่บรรยายกับ ดร.ระวี ครั้งไหน
คุณมานะ : ครั้งที่ ๔๕ ครับ
พุทธทาส : ไม่ใช่คราวนี้เหรอ
คุณมานะ: คราวนี้แหละครับ ครั้งที่ ๔๕
พุทธทาส : เอ้า, เอาสิ เปิดให้เขาฟังสิคงจะมีประโยชน์ บรรยายกับ ดร.ระวี เมื่อสองสามวันนี้ ลองฟังดู เอ้า, ช่วยเปิดให้เขาฟัง เขาติดฝน ช่วยแก้ติดฝน
คุณมานะ: ฝนกำลังหายพอดีครับ
พุทธทาส : อ้าว ก็ยังอยู่นี่ ช่วยหาอะไรมาเปิด