แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้พูด (ผู้ชาย) : สวัสดีครับ ท่านผู้ชมที่เคารพทุกท่าน รายการเพื่อสุขภาพอนามัย ก็ได้มาพบกับท่านผู้ชมอีกเช่นเคยนะครับ ดังเราได้กล่าวกันมาอยู่เสมอและท่านผู้ชมทั้งหลายก็คงจะเคยได้ฟังกันบ่อยๆว่า คำขวัญหรือเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของกระทรวงการปกครอง ต้องการให้สุขภาพดีทั่วหน้าปี ๒๕๔๓ เราวางเป้าหมายไว้ว่า ให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยดีถ้วนหน้าทุกคนในปี ๒๕๔๓ แต่เราจะทำได้อย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติกันดู ถึงแม้ว่าเราพยายามที่จะสร้างโรงพยาบาลให้หมดทุกอำเภอ เพื่อทำการรักษาผู้เจ็บไข้ได้ป่วยก็คงจะถึงเป้าหมายได้ยาก เพราะว่าคนที่จะมีสุขภาพอนามัยดีถ้วนหน้านั้น มันต้อง หมายถึง มิใช่การรักษาโรคแต่ละโรคที่เป็นอยู่ เราจะต้องรักษาคนทั้งคน หรือว่าจะทำอย่างไรให้คนหายตั้งแต่ยังไม่ทันเป็นโรค ก็หมายความว่าเราจะต้องทำอย่างไร ให้เขาได้มีการปฏิบัติตัว มีความเป็นอยู่เพื่อที่จะได้มีร่างกายอยู่ตัว ไม่เป็นโรค ซึ่งเรื่องทั้งหลายนี้ก็ได้เสนอท่านผู้ชมมาก็ถึงระยะเวลาแล้ว ส่วนมากก็จะพูดถึง การบริหารกาย คือทำอย่างไรให้มีการกิน การอยู่ การออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อต่อสู้กับโรคได้ แต่นั้นแหล่ะครับ เรามีทั้งกายและจิต เพราะฉะนั้นเราจะบริหารกายอย่างเดียว จะให้ร่างกายสมบูรณ์นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นเราจะต้องมีวิธีการเกี่ยวกับการบริหารจิตด้วยเพื่อจะได้ควบคู่กันไปกับการบริหารกาย แต่การบริหารจิตนั้น เราไม่ค่อยได้นำมาเสนอท่านผู้ชมมากนัก
ฉะนั้นในโอกาสวันนี้ ก็อยาก กระผมอยากจะนำท่านผู้ชมเข้ามาพบ ได้มาพบกับ พระเดชพระคุณท่านอาจารย์พุทธทาส แห่งสวนโมกขพลาราม เพื่อจะได้ทราบว่า การบริหารจิตนั้นคืออะไร เป็นเรื่องที่เราจะทำกันได้หรือไม่ ขอเชิญท่านผู้ชมทุกท่านได้พบกับพระเดชพระคุณท่านอาจารย์ครับ
พุทธทาส : ปัญหาเกิดขึ้นมาว่า การบริหารจิตเป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่ เราแน่ใจว่าจะบริหารกันแต่กายนั้นนะไม่พอ เพราะคนเราไม่ได้มีแต่กาย มันมีจิตด้วย ถ้าบริหารกันแต่กายมันก็เป็น ครึ่งคน หรือไม่ถึงครึ่ง ต้องบริหารจิตด้วย จึงจะเป็นคนที่มีสมรรถนะเต็มคน แล้วปฏิบัติหน้าที่ของคน ในฐานะเป็นพลเมืองคนหนึ่งได้ดี
ในขั้นแรกนี้ จะพิจารณากันแต่ปัญหาที่ว่า การบริหารจิตนั้นเป็น สิ่งที่ทำได้ และควรทำด้วย ต้องทำ และทำให้สำเร็จด้วย มันทำได้ ก็โดยเหตุที่ว่า ธรรมชาติมันสร้างมาสำหรับให้ทำได้ เราแต่ละคนนี้ มันก็คือธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ มันเป็นสิ่งที่ทำได้โดยที่ธรรมชาติกำหนดให้ว่าจิตเป็นอย่างไร บริหารอย่างไร แล้วมันจะเกิดผลอย่างไร โดยที่ธรรมชาติควบคุมอยู่อย่างนี้ ก็ทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ทั้งเนื้อ ทั้งตัว ทั้งกาย ทั้งใจของเรา คือธรรมชาติ เราไม่รู้เรื่องนี้ เราไม่สนใจเรื่องนี้กันเสียเลย เราจึงไม่สนใจในการบริหารจิต เราไม่นึกถึงสุขภาพทางจิตและไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่มีได้ เรามัวแต่บำรุงบำเรอกายกันอย่างเดียว จนเฟ้อ แล้วจิตมันก็ฟุบ ถ้าทางกายเฟ้อ ทางจิตมันก็ฟุบ นี่คือการบริหารกาย เกินขอบเขต ไม่มีการบริหารจิต จะมาสนใจกันเสียใหม่ ให้รู้เรื่องจิต รู้เรื่องการบริหารจิต
คนแต่ละคนก็จะมีสมรรถนะที่จะทำหน้าที่ของคนทุกอย่างทุกประการ รัฐบาลก็ต้องการให้คนสามารถในการพัฒนาและป้องกันประเทศชาติ ให้แต่ละคนเป็นอยู่อย่างมีความพัฒนา และก็สามารถป้องกันประเทศชาติ แต่แล้วก็ส่งเสริมกันแต่ในเรื่องวัตถุมาก ไม่สนใจในเรื่องทางจิตใจ ผลก็คาราคาซังอยู่อย่างนี้เราไม่มีบุคคลที่มีสมรรถนะทางจิต ที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างครบถ้วน
จิตนี่เป็นสิ่งที่บริหารได้ ควรบริหาร และต้องบริหาร และต้องบริหารให้สำเร็จ ศึกษาว่าจิตนี่ ตกอยู่ใต้อำนาจของอะไรในบัดนี้ จึงสูญเสียความทรงตัวหรือสุขภาพ หมายความว่าบุคคลผู้เป็นเจ้าของนั้นมันไม่รู้เรื่องอะไร ก็ไปหลงในเรื่องหรือสิ่งที่เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กลายเป็นสร้างกิเลสขึ้นมาในจิตใจ จิตใจก็ไปเป็นทาสของกิเลส จิตใจก็ไม่มาสนองความต้องการของการปฏิบัติหน้าที่ของมนุษย์โดยธรรมะ ตามธรรมะ
บริหารจิต ก็คือ บริหารอย่าให้มันไปเป็นทาสของกิเลส มันจะเกิดโรคทางจิต และมันก็จะสูญเสียสมรรถภาพทางจิต เมื่อสูญเสียสมรรถภาพทางจิตแล้วก็ไม่ต้องสงสัย มันต้องสูญเสียสมรรถภาพทางกาย
ขอให้ศึกษาเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เข้าใจความลับของสิ่งเหล่านี้ว่า ทำอย่างไร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะไม่ตกไปเป็นทาสของสิ่งที่เข้ามาแวดล้อม
บริหารจิต ในที่นี้หมายถึง บริหารให้ตั้งอยู่ในคลองของธรรมะ คือความถูกต้อง ความถูกต้องทางกาย นับตั้งแต่ความถูกต้องทางวัตถุขึ้นมาทีเดียว ความถูกต้องทางกาย ความถูกต้องทางจิต ความถูกต้องทางสติปัญญา ความคิด ความนึก ความเชื่ออะไรต่างๆ บริหารให้มันอยู่ในคลอง ของความถูกต้อง จิตชนิดนี้จะรู้อะไรได้มากด้วยตนเอง ไม่ต้องชี้แนะชักชวนกันไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง และถ้ามีคนชี้แนะชักชวนก็เข้าใจได้ดี เข้าใจได้ทันที เข้าใจได้ถูกต้อง สามารถประพฤติปฏิบัติ ได้ผลตามความมุ่งหมายของหลักการใหญ่ ซึ่งเราจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน จะต้องกระทำร่วมกัน
ฉะนั้น ขอให้ศึกษาธรรมะในส่วนที่ว่าจะควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างไร อย่าให้ตกไปเป็นทาสของกิเลส ให้มาอยู่ในทำนองครองธรรมของธรรมะแล้ว จิตนั้นก็เป็นจิตที่พร้อมแล้วที่จะทำหน้าที่ของมนุษย์ที่เป็นประโยชน์ที่สุดแก่มนุษย์ทั้งตนเองและผู้อื่น
สรุปความสั้นๆว่า การบริหารจิตเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะว่า ธรรมชาติมันกำหนดมาให้อย่างนั้น ธรรมชาติมันสร้างจิตใจของมนุษย์มาในลักษณะที่ฝึกได้ ควบคุมได้ บริหารได้ ทุกอย่างธรรมชาติกำหนดมาให้ ให้สัมพันธ์กันได้ การบริหารจึงเป็นไปได้ ขอให้ท่านผู้ฟังทุกคนจงมีความแน่ใจอย่างนี้ว่า จิตเป็นสิ่งที่บริหารได้ อย่าได้เข้าใจไปว่าเป็นสิ่งที่เหลือวิสัย เราทำกับมันไม่ได้ แล้วก็ยอมแพ้ แล้วก็ปล่อยไปตามบุญตามกรรม หมายความว่าตามกิเลสนะ คำพูดที่พูดว่า ปล่อยตามบุญตามกรรมนั้น มันคือว่าตามกิเลสเสียมากกว่า มันจะเอาบุญไหนมาเป็นเครื่องชักนำเล่า แม้แต่จิตเอง ของตัวเองก็ยังชักนำไปไม่ถูก ขอให้ทุกคนมีความแน่ใจเสียใหม่ว่า การบริหารจิต เป็นสิ่งที่ทำได้ดังที่ว่ามานี้
ผู้พูด (ผู้ชาย) : ครับ ท่านผู้ชมก็คงได้ฟังท่านพระเดชพระคุณท่านอาจารย์ ให้กำลังใจแก่พวกเราทุกคนแล้วนะครับ ว่าจิตของมนุษย์เรานี้ เป็นเรื่องที่สามารถจะบริหาร หรือสามารถจะฝึกได้ครับ ครั้นเมื่อเราทุกคนยอมรับดังนี้แล้วนะครับ เราคงจะไม่ปิดประตูขังตัวเองไว้ข้างใน ไม่ให้ออกมาเห็นแสงเดือน แสงตะวันนะครับ ฉะนั้นถ้าหากว่า เราจะตั้งใจทีนี่ว่าจะบริหารจิตนะครับ เราจะใช้หลักการหรือมีหลักการอย่างไรนั้น กระผมใคร่ขอกราบเรียนพระเดชพระคุณได้ช่วยเพิ่มเติมให้อีกสักครั้งหนึ่ง ถึงหลักการของการบริหารจิตอีกสักครั้งครับ
พุทธทาส : ทีนี้ เราก็จะพูดกันถึง หลักการบริการจิต หรือวิธีการของการบริหารจิต มุ่งไปที่จุดหมายปลายทางก่อนว่า บริหารจิตเพื่ออะไร เราจะได้บริหารให้มันถูกตามความประสงค์นั้น บริหารจิตเพื่อให้มีสุขภาพทางจิต มีสมรรถนะทางจิต ครั้นจิตมีสุขภาพ และมีสมรรถนะดีแล้ว ร่างกายก็จะมีสุขภาพและมีสมรรถนะดีไปตาม ทีนี้ก็ดูว่ามันเนื่องกันอยู่อย่างไร สำหรับกายกับจิต
มองดูก็จะเห็นได้ว่า กายมันเหมือนกับเปลือกของจิต หรือดีกว่านั้น ก็เป็นเหมือนกับว่าสำนักงานของจิต จิตต้องมีที่ทำงานหรือเป็น, มีสำนักงานที่จะทำงาน จิตมันถึงจะแสดงบทบาทของจิตได้ ดูเห็นได้ง่ายๆ ลองไม่มีกาย จิตมันก็พลอยไม่มีไปด้วย ไม่ปรากฏไปด้วย จิตจะแสดงตัว แสดงบทบาทอะไรได้ ก็เพราะว่ามีร่างกาย เป็นสำนักงาน เป็นที่ตั้ง เป็นอะไรก็แล้วแต่จะเรียกแหล่ะว่า มันจะต้องมีไอ้สิ่งที่เรียกว่า กาย และก็มีจิตเข้ามา สัมพันธ์กันอยู่ จิตก็บังคับให้กายทำไปตามที่จิตรู้สึกคิดนึกและต้องการ
ทีนี้ฝ่ายร่างกายนี้ มันก็อยู่ตามลำพังไม่ได้ มันต้องมีเหตุปัจจัยของกายที่จะคอยช่วยเหลือให้กายตั้งอยู่ได้ เหตุปัจจัยของกาย ก็คือ วัตถุนอกกายหรือวัตถุที่เนื่องกันอยู่กับกาย มันก็จะต้องถูกต้องด้วย วัตถุที่เป็นปัจจัยของกาย ต้องถูกต้อง กายถึงจะถูกต้อง จึงจะถูกต้องในส่วนกาย ทุกคนจะต้องชำระสะสางปัญหาแห่งความผิดพลาดทางวัตถุ คือวัตถุที่เป็นอุปกรณ์ เป็นปัจจัยของกาย แล้วก็ชำระความถูกต้องของกายที่สัมพันธ์กันอยู่กับวัตถุ จนกระทั่งว่า ไอ้กายนี้มันพร้อมที่จะทำหน้าที่ของกาย เพื่อเป็นเครื่องรองรับจิต นี้ฝ่ายกาย มีอยู่ สองอย่างคือ วัตถุกับกาย
ทีนี้มาดูฝ่ายจิต มันก็จะพบว่า มันมี ตัวจิต กับ ทรัพย์สมบัติของจิต พูดว่าทรัพย์สมบัติของจิตนี้มันเป็นภาษาสมมุติ เป็นภาพพจน์ว่าจิตนั้นมันก็เป็นจิตเท่านั้น แล้วมันต้องมีอะไร อะไรของจิต ซึ่งเขามักจะเรียกกันว่า เจตสิก เจตสิกธรรม เป็นทรัพย์สมบัติของจิต จิตจะต้องอยู่ในสภาพที่ถูกต้อง และทรัพย์สมบัติของจิตก็ต้องอยู่ในสภาพที่เหมาะสมแก่กันและกัน มันจึงจะช่วยส่งเสริมจิตให้อยู่ในสภาพที่ถูกต้อง
ดังนั้น เราจะต้องมีพลานามัยทางจิต บริหารจิต ให้จิตปกติ ตามสภาพของจิตเสียก่อน
ทีนี้ส่วนที่สอง ก็คือว่า ไอ้ความรู้ ความคิด ความนึก ความเชื่อ ความเข้าใจ อะไรต่างๆ ที่จะมีแก่จิตนั้นน่ะ ก็ต้องถูกต้องด้วย นี้จะต้องศึกษาเรื่องเกี่ยวกับวิชาความรู้ส่วนนี้ ให้มีความเข้าใจถูกต้อง ให้มีความเชื่อถูกต้อง ให้มีการคิด การเห็น การมอง การพิจารณา อย่างถูกต้อง ส่วนที่เป็นสมบัติของจิต สมบัติของจิตก็ถูกต้อง และจิตก็ถูกต้อง รวมกันทั้งสองถูกต้อง คือ จิตถูกต้อง สมบัติของจิตก็ถูกต้อง จิตนั้นก็สามารถอย่างยิ่ง ที่จะรู้ สิ่งที่ควรรู้ และก็รู้อย่างถูกต้อง แล้วก็ควบคุมร่างกาย ให้ดำเนินไปอย่างถูกต้อง มันก็เลยถูกต้องทั้งทางกายและทางจิต
คำว่า ถูกต้อง มันก็เลยเกิดเป็นสี่หัวข้อขึ้นมา
ถูกต้องทางร่างกาย สองหัวข้อ
ถูกต้องทางจิต สองหัวข้อ
ถูกต้องทางร่างกายสองหัวข้อ ก็คือว่า กายก็ถูกต้อง อุปกรณ์ วัตถุของกายก็ถูกต้อง
ถูกต้องทางจิต ก็คือว่า ตัวจิตเองก็อยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง แล้วคุณสมบัติของจิต วิชาความรู้ของจิตมันก็ถูกต้อง
ทางจิตก็ถูกต้องสองหัวข้อ ทางกายก็ถูกต้องสองหัวข้อ รวมกันเป็นสี่หัวข้อ ท่านทั้งหลายต้องหาโอกาสศึกษาสี่หัวข้อนี้แหละ อย่างละเอียดละออจากแหล่งที่มาของวิชาความรู้ เขาสั่งสอนอบรมกันที่ไหนก็ติดตามไป ให้ได้ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้เกิดความถูกต้องสี่สถานนี้ เป็นการบริหารจิตที่ดี อย่าลืมเหมือนที่กล่าวมาแล้วว่า มันต้องมีสุขภาพดี มันต้องมีสมรรถนะดี มันไม่ใช่อย่างเดียว กายก็ตาม จิตก็ตาม ต้องมีสุขภาพดี ใช้คำว่า มีอนามัยดี ก็ได้ คือ ความไม่มีข้อบกพร่องผิดพลาด โรคภัยไข้เจ็บทั้งทางกายและทางจิต อย่างนี้เราเรียกว่า มันมีสุขภาพดีทั้งทางกายและทางจิต
ทีนี้มันมีสมรรถนะ มันสามารถ มันเข้มแข็ง ไปตามแบบของตน ของตน กายก็เข้มแข็ง สามารถไปตามแบบของกาย จิตก็เข้มแข็ง สามารถไปตามแบบของกาย เพราะได้อบรมมาดีแล้ว โดยวิธีสมถะหรือสมาธิ จิตก็เข้มแข็ง ด้วยวิธีของวิปัสสนา จิตนี้ก็รอบรู้ รอบรู้ที่ควรจะรู้ จิตก็มีสมรรถนะดี ด้วยเหตุอย่างนี้ มีสุขภาพดี มี อนามัยดี มีสมรรถนะดี ธรรมะทั้งนั้นเลย ที่จะทำให้จิตมีลักษณะอย่างนี้ นี่คือหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา
ดังนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายมองดูให้ดีๆว่า หลักธรรมะ วิธีปฏิบัติ ในพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่ของครึคระล้าสมัย น่ารังเกียจ บางคนเข้าใจผิดไปว่า ธรรมะเป็นอุปสรรคแก่การก้าวหน้าในโลก นี้อย่างนี้ก็เรียกว่าเตลิดเปิดเปิง กู่ไม่ได้ยินแล้ว หลักธรรมะอย่างที่กล่าวมานี้ มันทำให้ จิตและกาย กายและจิต มีสุขภาพอนามัยดี มีสมรรถนะดี สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ ทุกอย่าง ทุกประการในโลกนี้ ถ้าเป็นหัวข้อใหญ่ก็ว่า มีศีลที่ถูกต้องทางกาย ทางวาจา มีสมาธิที่ถูกต้องทางจิต มีปัญญาที่ถูกต้องทางทิฐิ ความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความพอใจ
หรือว่า เราจะถือหลักที่เราชอบพูดกันอีกคำหนึ่งว่า สะอาด สว่าง สงบ ต้องบริหารกาย คนหนึ่ง คนหนึ่ง และหลายๆคน คือครอบครัว หลายๆคน คือบ้านเมือง
ให้มีความสะอาด คือ ไม่มีความผิด ไม่มีความชั่ว
ให้มีความสว่าง คือ ฉลาด และไม่โง่
ให้มีความสงบภายในร่างกาย มีความสงบนอกกาย มีความสงบของสังคม
ให้มันเกิดความ สะอาด สว่าง สงบ ขึ้นในบุคลคล ในครอบครัว ในบ้านเมือง ก็เรียกว่ามันเป็นจิตใหญ่ออกไปทุกที ไม่ใช่จิตของคนๆเดียว เพราะว่าคนๆเดียวทำอะไรสำเร็จไม่ได้ เราต้องนึกถึงจิตทั้งหมด เรียกว่าจิตใหญ่ จิตของโลกไปเลย
ถ้าทุกคนบริหารได้อย่างนี้ มันก็เท่ากับบริหารจิตทั้งโลก จิตหมดทั้งโลก ให้มีการบริหารที่ดี ที่ถูกต้อง ไอ้จิตของโลกทั้งโลก ก็เป็นจิตที่ถูก สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ของโลกเลย ให้โลกมีสันติสุข มีสันติภาพได้ตามความปรารถนา
สรุปความว่า ท่านจงทำให้ เกิดความถูกต้องทางกาย สองหัวข้อ คือว่าอุปกรณ์แห่งกายเช่นวัตถุ กับกายเอง ให้เกิดความถูกต้องทางจิตสองหัวข้อ คือ จิต และ คุณสมบัติของจิต
นี้เป็นคำพูดสรุปรวมสั้นๆที่สุดว่า เป็นการบริหารจิต หรือหลักการบริการจิตมีอยู่อย่างนี้แล
ผู้พูด (ผู้ชาย) : ครับ ท่านผู้ชมก็ได้ฟังหลักการ การบริหารจิตที่พระเดชพระคุณท่านอาจารย์ ก็ได้บรรยายให้ฟังแล้วนะครับ ก็ใช้หลักย่อๆโดยจดย่อๆ ใช้ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อทำความถูกต้องของกายและให้จิตมีกำลัง แล้วใช้พลังของจิตนั้น เพื่อศึกษาให้ได้มีความรอบรู้ เพื่อเอาชนะกิเลสให้ได้ โดยจดย่อๆเป็นอย่างนั้น เป็นหลักการ แต่ว่าท่านผู้ชมทั้งหลายก็คงจะนึกว่าเรา ในฐานะที่เราใช้ชีวิตอยู่ตามบ้านเรือน เรานึกว่าเรื่องอย่างนี้ อาจจะต้องเป็นเรื่องใหญ่ จะต้องมีวิธีการสำหรับปฏิบัติ ของพระภิกษุหรือนักบวชทั้งหลาย อาจจะมองอย่างนั้นไปก็ได้
แต่นี้ผมคิดว่าการบริหารจิตนี้ สำหรับปุถุชนเรานะครับที่กำลังทำงาน ชีวิตที่กำลังดำเนินงานอยู่นี้ก็ต้องมีทาง มีวิธีการที่เป็นไปได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นในการแก้ข้อข้องใจเรื่องนี้ กระผมขอใคร่เรียนถาม พระเดชพระคุณท่านอาจารย์ ได้แนะแนว ลองอธิบาย สำหรับการบริหารจิตในขณะการทำงานหรือสำหรับปุถุชนที่ครองเรือนทั้งหลายที่กำลังทำงานอยู่นี้ เราจะมีการฝึกบริหารจิตควบคู่กันไปได้หรือไม่อย่างไร กระผมใคร่ขอกราบเรียน
พุทธทาส : เดี๋ยวนี้เราก็มาถึงปัญหาว่า จะมีการบริหารจิต ในขณะที่กำลังทำงานได้อย่างไร ปัญหานี้ไม่ใช่เล็กเลย และไม่ใช่ปัญหาที่ง่าย จะบริหารจิตให้ถูกต้องอยู่ตลอดเวลาที่ทำการงานได้อย่างไร
เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปแล้วว่า มนุษย์ต้องทำงาน ต้องทำงานนี้ มันเว้นไม่ได้ แล้วเมื่อทำการงานอยู่นั้นจะบริหารจิต ฝึกจิต อบรมจิตได้หรือไม่ อาตมาขอยืนยันว่า นั่นแหละเป็นเวลาที่สำคัญที่สุด ที่จะต้องบริหารจิต เพราะว่าชีวิตมันต้องทำงาน มันหลีกไม่ได้ มันต้องทำงาน ทีนี้เมื่อทำงานนะ มันก็จะมีโอกาสที่จะผิดพลาด หรือมีโอกาสที่จะเขว หรือมีโอกาสที่จะทำผิด เขาก็เลยถือเอาโอกาสทำงานนั้นแหล่ะเป็นโอกาสที่จะฝึกจิต ควบคุมจิต หรือจะเรียกว่าบริหารจิตรวมๆกันก็ได้
เลยจะมีหัวข้อว่า การบริหารจิตมีได้ทุกอิริยาบถ เมื่อทำการงาน พูดถึงหลักการ ก็คือว่า เราต้องทำการงานด้วยจิตที่ฉลาด ด้วยจิตที่ว่องไว ด้วยจิตที่สงบเย็น เราจะรักษาความฉลาด ความว่องไว ความสงบเย็นของจิตไว้ ให้ได้ตลอดเวลาที่เราทำงาน นี้เป็นหลักเบื้องต้น มุ่งหมายเบื้องต้น หลักใหญ่ มิฉะนั้นมันก็จะเกิดความเครียด มันจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บทางจิต มันเป็นเหมือนกับทรมานจิตเสีย ในขณะทำการงาน จงจัดการอย่าให้เกิดการทรมานจิตในขณะที่ทำการงาน เราจะทำจนว่า มันมีความสนุก เป็นสุขเมื่อทำการงาน
ยกตัวอย่างว่า เมื่อกวาดบ้าน ก็กวาดด้วยจิตที่อยู่กับไม้กวาด อยู่กับบ้าน ลานบ้านนั้นแหล่ะ หรือบนนอกชานหรือบนเรือนก็ตาม จิตมันมากำหนดสิ่งนี้ เป็นอารมณ์แห่งสมาธิเสีย ไม่เอาจิตไปคิดเรื่องที่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลส หรือไปคิดเรื่องน้อยเนื้อต่ำใจว่า เรามันโชคไม่ดี ต้องกวาดบ้านเอง ต้องทำงานหนักเองอย่างนี้เป็นต้น อย่าได้มี นี่เรียกว่าแม้แต่กวาดบ้านก็ดำรงจิตไว้ถูกต้องเป็นสมาธิ
แม้จะล้างจาน แม่ครัวจะล้างจาน แม่บ้านจะล้างจาน พ่อบ้านจะช่วยแม่บ้านล้างจาน เรียกว่ามันจะต้องล้างจาน ก็ต้องทำด้วยจิตที่สนุกและเป็นสุข เอาการกระทำนั่นแหละเป็นอารมณ์ของสมาธิ หรือเอาจานนั่นแหละเป็นอารมณ์ของสมาธิ เอาการล้างอะไรก็ได้ ที่กำลังปรากฏอยู่เฉพาะหน้านั้น เป็นอารมณ์ของสมาธิ มีจิตจดจ่ออยู่แต่ที่นั่น มันก็จะไม่ไปเกิดไอ้ความรู้สึกที่เป็นกิเลส เช่น ความน้อยอกน้อยใจ ความคิดผิดๆ เป็นต้น
หรือว่า เมื่อผ่าฟืน แม้แต่ผ่าฟืน ถ้าเราอยู่ในฐานะที่ต้องผ่าฟืน หรือว่าเราสมัครใจจะผ่าฟืน ก็ผ่าด้วยจิตที่เป็นสมาธิ มันอยู่ที่ขวาน อยู่ที่ไม้ฟืน อยู่ที่การผ่า นี่ก็เป็นการฝึกสมาธิที่ไม้ฟืน ที่การผ่าฟืน บริหารจิตให้สนุกอยู่ในการผ่าฟืน
ถ้าเลี้ยงหมู ก็ทำด้วยจิตทั้งหมด พอใจ มีอารมณ์อยู่ที่หมู อยู่ที่อาหารหมู อยู่ที่การเลี้ยง ให้สนุก พอใจ เพลิดเพลินไปด้วยจิตที่เป็นสุข
ถ้าจะเลี้ยงควายตัวโตหน่อยกลางทุ่งนา ก็ด้วยจิตที่ มีสิ่งนั้นเป็นอารมณ์จดจ่ออยู่ที่นั่น หยุดอยู่ที่นั่น ทำการงานให้สนุกสนาน
ถ้าจะพูดแจกโดยอิริยาบถ ก็ว่า เมื่อทำงานก็ดี มีงานเป็นสมาธิ เมื่อกินอาหารก็มีจิตเป็นสมาธิ มีสติสัมปชัญญะกินอาหาร เมื่อจะอาบน้ำก็มีจิตเป็นสมาธิ อาบน้ำด้วยสติสัมปชัญญะ ถ้าเป็นชั้นสูงทุกข้อนะ ถ้าเป็นชั้นสูงก็เป็น สักว่า นี่เป็นกิริยาอาการตามธรรมชาติเท่านั้น ไม่ได้มีตัวกู ผู้ทำอาการอย่างนั้นเลย แม้จะถ่ายอุจาระ จะถ่ายปัสสาวะ ก็มีจิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน กำหนดการกระทำนั้นเป็นอารมณ์ของจิต ทำให้ดีที่สุด ให้พอใจที่สุด จนกระทั่งว่ามันมีความพอใจ แล้วมันก็มีความสุขได้ แม้ในการถ่ายอุจาระ ถ่ายปัสสาวะ มันจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน แต่ละอย่าง ละอย่าง ก็จิตมันกำหนดอยู่ที่อิริยาบถนั้นๆ แต่ไม่ใช่กำหนดไปในความหมายว่า ตัวกู ตัวกูเดิน ตัวกูยืน ตัวกูนั่ง ตัวกูนอน ถ้าอย่างนี้มันส่งเสริมให้การปรุงแต่ง ให้เกิดกิเลส
ถ้าเดิน มันก็อิริยาบถเดินตามธรรมชาติของสังขารกลุ่มหนึ่ง และไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ตัวกูเดิน
ถ้านั่ง ก็มันอิริยาบถนี้ของสังขารกลุ่มหนึ่ง
ถ้ายืน ก็อิริยาบถนี้ของสังขารกลุ่มหนึ่ง
ถ้านอน ก็อิริยาบถนี้ของสังขารกลุ่มหนึ่ง
ไม่มีตัวกู เดิน ยืน นั่ง นอน นี้เป็นการบริหารจิตชั้นสูงโน่น ชั้นสูง ชั้นปัญญา ชั้นที่จะทำลายกิเลส บรรลุมรรคผลไปเลย แต่มันก็มีประโยชน์ แก่ชั้นต่ำสุด ชั้นปุถุชนคนธรรมดาที่จะทำอะไร ที่จะต้องทำอยู่ทุกวัน ทุกคืน ทุกอิริยาบถนี้ อย่างเป็นสุข อย่างเย็น เรียกว่า ชีวิตเย็น ขอให้จำคำนี้ไว้ว่า อย่างชีวิตเย็น จะทำการงาน จะกิน จะอาบ จะถ่าย จะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน
โดยรายละเอียด ว่าจะกวาดบ้านถูบ้าน จะล้างจาน จะผ่าฟืน จะเลี้ยงหมู จะเลี้ยงควาย มันทำด้วยจิตที่ถูกต้อง คือเป็นจิตที่อยู่ในความควบคุมที่ดี ที่ถูกต้อง และก็ด้วยความรู้ ด้วยสติ ด้วยสัมปชัญญะ ด้วยปัญญา ส่วนนี้มันทำได้ดีไม่ผิดพลาด มีผลดีที่สุด ส่วนอื่นก็เป็นความสุขอยู่ที่นั่น เวลานั้น แปลว่า เรามีความสุขเป็นที่พอใจอยู่ทุกๆ อิริยาบถ และที่ต้องการ ที่เราต้องการโดยเฉพาะ ก็คือว่า ให้มันเป็นการบริหารจิต ให้อยู่ในสภาพที่ควรจะเป็นที่ดีที่สุดอยู่ทุกๆอิริยาบถ
รวมความว่า บริหารจิต ได้ทุกอิริยาบถแห่งการทำงาน ไม่ว่างานอะไรไม่ว่าตอนไหน ขั้นไหน แห่งการงาน บริหารได้โดยการมีสติสัมปชัญญะ มีสมาธิ มีปัญญา ทำงานนั้นๆ ตามขั้นตอนแห่งการงานนั้นๆ ได้ผลงานมหาศาล
แต่ที่เราต้องการ คือ การบริหารจิต การฝึกฝนอบรมจิต ให้อยู่ในภาวะที่พึงปรารถนาที่ดีที่สุด ที่มีประโยชน์ที่สุด เพื่อว่าจิตนี้มันจะพัฒนาในตัวมันเองสูงขึ้นไปในทางของโลกุตระ คือ อยู่พ้นปัญหาโดยประการทั้งปวง ขอให้สนใจบริหารจิตอยู่ทุกๆ อิริยาบถ เมื่อทำการงาน มีสุขภาพดี มีสมรรถนะดี ทั้งทางกายและทั้งทางจิต ให้เรียกว่าประสบความสำเร็จในการบริหารจิตอยู่ทุกอิริยาบถของการทำงาน ดังนี้แล
ผู้พูด (ผู้ชาย) : ครับ ขอขอบคุณพระเดชพระคุณท่านอาจารย์มากครับ ที่ได้ให้ความกระจ่างหลายแง่หลายมุมนะครับ เกี่ยวกับเรื่องของการบริหารจิต พร้อมกันนี้ก็ การบริหารจิตที่กระผมได้นำมาเสนอท่านผู้ชมทั้งหลาย ในรายการเพื่อสุขภาพอนามัยวันนี้ ก็คงเห็นแล้วว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ ที่เราต้องทำควบคู่กันไปกับการบริหารร่างกายนะครับ ถ้าเราจะไปยึดหลักว่า ถ้ากายดีแล้วจิตจะดีเองนั้น มันย่อมเป็นไปไม่ได้ มันจะกลายเป็นพวกวัตถุนิยมจัดไป ซึ่งเรื่องนี้ก็ พระเดชพระคุณท่านอาจารย์ หรือท่านผู้มี ท่านทั้งหลายก็คงได้ฟังมาหลายแง่หลายมุมบ้างมาแล้วนะครับ ว่าไอ้เรื่องของกายดีแล้ว จิตจะดีเองนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ และมีตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ก็เป็นต้นว่า พวกนักโทษทั้งหลายล้วนแต่มีอนามัยทางกายดีกันส่วนมากทั้งนั้น แต่เสร็จแล้วก็ต้องไปอยู่ในคุก ในเรือนจำก็เพราะเกี่ยวกับอนามัยทางจิตนั้นคงไม่ดีแน่
กระผมใคร่เรียนให้ ท่านผู้ชมทั้งหลายได้ทราบว่าการบริหารจิตนั้น แทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรเลยครับ เป็นการลงทุนน้อย แต่ได้ผลมาก ก็อย่างพระเดชพระคุณท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวแล้วเมื่อสักครู่ว่า ถ้าเราทำดี ทำถูกต้อง นับตั้งแต่เราทำงานจุกจิกให้ดีไปแล้ว จิตมันจะพัฒนาตัวเอง ไปถึงขั้นบรรลุพระนิพพานก็ได้ ซึ่งได้ผลเกินความคาดหมายนะครับ ฉะนั้นเวลาก็จวนจะหมดเวลาแล้วนะครับ สำหรับรายการเพื่อสุขภาพอนามัย
ท้ายนี้ กระผมขอฝากท่านผู้ชมทั้งหลายไว้ด้วยว่า จิตที่ฝึกดีแล้วเท่านั้นแหล่ะครับ จึงจะเป็นประโยชน์ แล้วยังจะช่วยบังคับควบคุมร่างกายเรานี้ ให้มีความเป็นอยู่ถูกต้อง เพื่อได้พ้นจากโรคภัยเบียดเบียน และขอฝากคำขวัญเล็กๆน้อยๆไว้ว่า ถ้าหากว่าเราได้บริหารจิต วันละนิด ชีวิตก็จะแจ่มใส แล้วก็โรคภัยก็จะไม่เบียดเบียนครับ รายการเพื่อสุขภาพอนามัยของสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดสุราษฎ์ธานี ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้ ไว้พบกันโอกาสต่อไป สวัสดีครับ