แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพุทธทาสฯ :
ได้ยินว่าวันนี้มีความประสงค์จะพูดกันถึงเรื่องการกลับมาของศีลธรรม ได้ยินว่าพวกคุณอยากจะถามอะไรบางอย่าง แล้วอาตมาก็จะตอบไปตามที่มีความคิดความเห็น เพราะฉะนั้น ข้อแรกนี้ก็อยากจะถามก่อนว่าพวกคุณมาจากไหน พวกคุณมาจากไหนกัน
นักศึกษา :
มาจากคณะครุศาสตร์ แล้วก็คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่ะ
ท่านพุทธทาสฯ :
ก็พอเหมาะคิดว่าคงจะพูดกันได้เพราะว่าเป็นนักศึกษาอยู่ งั้นขอให้พูดกันในลักษณะของคนที่เป็นนักศึกษาอย่าพาโล เถลไถลไม่ได้เรื่อง ถ้าเรามีเหตุผลก็ควรจะพูดไปตามเหตุผล ไม่งั้นมันก็จะโยกโย้
เดี๋ยวนี้เราก็จะพูดกันถึงการกลับมาแห่งศีลธรรม นี่หมายความว่าเดี๋ยวนี้โลกกำลังมีวิกฤตการณ์ คือความเดือดร้อนนานาประการ เพราะเหตุว่ามันไม่มีศีลธรรมยิ่งขึ้นทุกที ใช่ไหม? ถ้าใช่ในข้อนี้ก็ตรงกัน เมื่อมันกำลังไม่มีศีลธรรมยิ่งขึ้นทุกที เพราะฉะนั้นเราจึงต้องการการกลับมาแห่งศีลธรรม ใช่ไหม? งั้นประเด็นนี้ก็คือว่า ศีลธรรมจะกลับมาได้อย่างไร ข้อแรกก็อยากจะให้คิดกันดูว่า ศีลธรรมนี่มันตั้งรากฐานอยู่บนการศึกษาใช่ไหม?
ศีลธรรมในโลกนี้มันเกิดเจริญหรือว่าจะเสื่อมลงไปมันขึ้นอยู่กับการศึกษาที่มนุษย์มันจัดขึ้นในโลก ซึ่งมันอาจจะจัดชนิดที่มีศีลธรรมก็ได้ ทำลายศีลธรรมที่มีอยู่แล้วก็ได้ ถ้าเราจัดการศึกษาผิด มันยิ่งทำลายศีลธรรมที่มีอยู่แล้ว ใช่ไหม?
เดี๋ยวนี้โลกเราอยู่ในสภาพอย่างไรเราก็ควรจะคิดดู คือว่าเมื่อก่อนนี้เค้าเคยมีศีลธรรมกันอยู่ เมื่อสัก 50-60 ปีมานี้ เรายังเห็นร่องรอยของความมีศีลธรรมอยู่ที่เนื้อ ที่ตัว ที่บ้าน ที่เมืองทั่วๆไป เดี๋ยวนี้เราเห็นร่องรอยของความไม่มีศีลธรรมมากยิ่งขึ้นทุกที ตามสถานที่ต่างๆ กระทั่งที่เนื้อที่ตัวของคน เราจึงถือว่าคนกำลังเสื่อมในทางศีลธรรม แล้วอันนี้เองเป็นต้นเหตุของวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่ทำให้คนเรามีความทุกข์
ที่นี้เราจะถือกันว่าอย่างไรเมื่อกล่าวโดยเหตุผล ว่าการศึกษามันก็มีอยู่ตลอดเวลาไม่เคยหยุดเลย แล้วทำไมศีลธรรมมันจึงเสื่อมลงไป ทำไมศีลธรรมมันจึงเสื่อมลงไป จะไม่ยอมรับหรือยังไงว่า เพราะว่าการศึกษานี้มันจัดไปผิดๆ ยิ่งขึ้นทุกที ข้อนี้พวกคุณมีความเห็นอย่างไร ว่าการศึกษาที่กำลังจัดอยู่นี่ มันกำลังจัดผิดๆ ยิ่งขึ้นไปทุกที ในทางที่จะไม่ก่อให้เกิดศีลธรรม มีความเห็นอย่างไร ลองว่าไปก่อน อยากจะฟัง จะยอมรับความคิดอันนี้ไหม ว่าเดี๋ยวนี้เรากำลังจัดการศึกษามันผิด แล้วโลกก็ยิ่งไม่มีศีลธรรม
นักศึกษา :
อันนี้รู้สึกว่าจะยอมรับกันนะคะในวงการนักศึกษาทั่วไปว่า ระบบการศึกษาของเรานี่มันไม่ได้มุ่งที่จะให้นักศึกษานี่ เข้าใจในเรื่องของศีลธรรมหรือว่าเรื่องของชีวิตเลยแม้แต่นิดเดียว ซึ่งศีลธรรมที่สอนนี่ เราก็ยอมรับว่าเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ อันนี้นี่ ตามความเห็นของหนูนะคะว่า สอนในสิ่งที่อาจจะเรียกว่ามัน มันทำได้ยากนะคะ มันทำได้ยากในแง่ไหนที่ว่า สังคมนี่เดี๋ยวนี้ยิ่งเจริญขึ้น การคาดกับชีวิตอะไรต่างๆ นี่ ถ้าเราจะมา เอามาอธิบายกันในแง่เก่าๆ นี่มันไม่สามารถจะอธิบายในแง่นั้นได้ต่อไป
ฉะนั้นหนูถึงว่าถ้าระบบการศึกษาสมัยนี้นี่เราจะมุ่งสู่เน้นแต่การเอาศีลธรรมอันนี้กลับมาอย่างเดียวมันก็เป็นไปไม่ได้อีก คราวนี้จะต้องมุ่งการสอนอย่างที่ให้เหนือระดับอันนั้นขึ้นไปอีกสักนิดหนึ่งนะคะ เพื่อจะให้เห็นจุดมุ่งหมายของชีวิตว่า เรานี่อยู่ไปเพื่ออะไร แล้วทีนี้ศีลธรรมนี่เราอาจจะเห็น พอได้เห็นทางว่า ถ้าเรามีชีวิตแล้วจุดมุ่งหมายของชีวิตนี่อย่างนี้ ฉะนั้นศีลธรรมนี่ก็ต้องมาอย่างนี้ ฉะนั้นไอ้จุดมุ่งหมายนี่กับไอ้วิถีทางเนี่ยที่จะดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมายอันนั้นมันก็ผสม คล้อยกันได้
แต่โดยที่ท่านอาจารย์ถามว่าระบบการศึกษาของเราเดี๋ยวนี้เนี่ยมันเป็นอย่างไร อันนี้หนูอยากจะพูดถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าเอาเป็นว่าผู้ใหญ่นะคะ ผู้ใหญ่ของเรานี่ เราอาจจะไม่มีผู้ที่รับผิดชอบทางการศึกษาทางด้านนี้เนี่ย ที่เป็นคนที่เรียกว่าเป็นคนที่มีสัมมาทิฐิ อย่างเพียงพอ แล้วก็ไม่สามารถจะเข้าไปบริหารระบบการศึกษาได้
ฉะนั้นระบบการศึกษาของเรามันจึงตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่า เพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อที่ว่าเค้าจะผลิต ผลิตนักศึกษานี่ออกมาให้ตามรูปแบบของเค้าอย่างที่เค้าใช้ศัพท์กันว่า ถูกครอบงำ ครอบงำทางการศึกษา ฉะนั้นสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี่ ในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะที่ตามประสบการณ์ของหนู ตามธรรมศาสตร์นี่ อย่าว่า อย่าพูดเรื่องแค่ศีลธรรมเลยนะคะ เอาเป็นว่าพูดถึงศาสนาขึ้นมาทันทีเนี่ย ทุกคนก็จะเมินหน้าหนีแล้วเพราะเค้าจะนึกภาพไปทางด้านต่างๆ นานาเกี่ยวกับ ความเฉื่อยชาของศาสนา ซึ่งจะไม่ทำให้สังคมนี่เจริญก้าวหน้าได้
แต่ในขณะเดียวกันนี่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยนี่ เค้าก็ไม่ได้พยายาม ไม่ได้พยายามที่จะว่าเอาปัญหาอันนี้นี่มาถกกันว่าทำไม ศาสนาของเรานี่จึงดำรงอยู่ไม่ได้ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า อาจารย์ก็มีผลประโยชน์ในด้านนี้ด้วยเหมือนกันนะคะ
ท่านพุทธทาสฯ :
ว่าต่อ
นักศึกษา :
จะพูดต่อว่าอาจารย์ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยนี่ก็เรียกว่าจะต้องมีผลประโยชน์ที่เรียกว่าจะต้องมุ่งที่จะได้ประโยชน์นี่กับเขา ะฉะนั้นสิ่งที่เขาจะป้อนให้กับเด็ก ป้อนให้กับเด็กนักศึกษานี่ เค้าถึงไม่เอาสิ่งที่เป็นความจริง อันนี้แง่หนึ่งว่าไม่ยอมเอาสิ่งที่เป็นความจริงมาให้กับเด็ก หรืออีกแง่หนึ่งว่าเค้าไม่รู้จริงๆ เค้าไม่รู้ว่าไอ้สิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับชีวิตนี่มันอะไรกันแน่ ซึ่งอันนี้หนูเห็นว่าประการหลังนี่มันอาจจะเป็นส่วนที่สำคัญมากกว่าว่า อาจารย์นี่เขาไม่รู้
ทีนี้อาจารย์นี่เค้าไม่รู้นี่ก็ว่ายังไม่เป็นไร แต่สำหรับคนรู้มันก็ต้องมี ก็ต้องมี แต่ว่าสภาพแวดล้อมของสังคมเรานี่ มันได้ดึงให้ทุกสิ่งทุกอย่างนี่กดเข้าไป กดเข้าไป เลยคล้ายๆกับว่ามันเป็นเครื่องจักรอย่างหนึ่ง ซึ่งเด็กนักศึกษานี่เค้าเรียนก็เรียนไป แต่เรียนโดยปราศจากความมุ่งหมายว่าจบออกไปแล้วทำอะไร นักศึกษาจบแต่ละปี นิสิตจบแต่ละปีนี่ หางานกันไม่ได้ หรือหาได้มันก็ไม่ตรงกับ ไม่ตรงกับสิ่งที่เค้าเรียนมา
ฉะนั้นไอ้คุณค่าของการศึกษานี่ในสังคมของเราปัจจุบันนี่ เรียกว่ามันสูญเปล่า สูญเปล่าอย่างแทบไม่น่าเทียบ อย่างนักศึกษาคนหนึ่งเนี่ยรัฐบาลลงทุนไปมาทีเดียวต่อหัว โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์เนี่ย คือจะต้องลงทุนไปแพงๆมาก แต่ขณะที่เค้าลงทุนไปอย่างนั้นเค้าก็ไม่ได้สร้างคุณค่าอย่างหนึ่งให้นักศึกษาว่า เรียนออกไปนะ เราจะต้องทำงานเพื่อสังคม เค้าไม่สร้างอันนี้ขึ้นมา มันไปตกอยู่ในค่านิยมอันหนึ่งของสังคมว่า เราออกไปแล้ว เราจะต้องหาเงินของเราให้ได้มาก
โดยเฉพาะนักศึกษาแพทย์นี่ เราก็ทราบกันดีแล้วว่า คนจนในเมืองไทย ซึ่งอยู่ตามชนบทเนี่ย ตายกันไปเป็นจำนวนมากเพราะโรคภัยไข้เจ็บโดยไม่มีใครไปเหลียวแล ในขณะเดียวกันก็จะต้อง นักศึกษาแพทย์นี่ออกไป เรียนจบแล้วก็ไม่ยอมอยู่ในเมืองไทย ไปออก ออกไปต่างประเทศกันมากเพื่อว่าจะได้เงินนี่มาก ในแง่นี้
ฉะนั้น ระบบการศึกษาของเรานี่มันเลยมีจุดผิดพลาดมาตั้งแต่ฝ่ายบริหาร ซึ่งอันนี้ก็ต้องมาพูดกลับมาในแง่ที่ว่าเค้านี่ไม่ยอมรับรู้ความจริงของชีวิต หรือว่าเค้านี่ทำไปตามผลประโยชน์ของเค้า จึงไม่ยอมทำให้เค้าเนี่ยหันมาปฏิรูปการศึกษาของเมืองไทยเรา ให้มันมีคุณค่าขึ้นมาอย่างแท้จริง ทั้งๆที่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ประเทศไทยเรานี่ เป็นเมืองของพุทธ ซึ่งพุทธศาสนานี่สืบทอดลงมา แล้วก็นับว่าเรานี่ได้กำเพชร หรือว่าได้กำยาขนานวิเศษนี่ไว้ในมือ แต่เราก็ไม่ได้ใช้ยาขนานนี้ให้มันเป็นประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
ฉะนั้นหนูก็เลยขอตอบปัญหาของท่านอาจารย์ว่า ระบบการศึกษาของเราในขณะนี้นี่มันเป็นระบบการศึกษาที่เหลวคว้าง หาคุณค่าอะไรไม่ได้ ถ้าเราไม่ได้ ถ้าเราไม่พยายามที่จะช่วยกันปรับปรุงขึ้นมา มันก็จะต้อง อาจจะต้องถึงวาระสุดท้ายเข้าสักวัน แต่ว่าอันนี้มันก็แล้วแต่เหตุปัจจัยว่ามันจะช้าหรือเร็ว
ท่านพุทธทาส :
เท่าที่พูดมาก็ฟังได้ ฟังออก ก็มีเหตุผลหลายทิศทาง ก็พอจะสรุปได้ว่า การศึกษายังไม่ได้ผลคุ้มค่า แต่ความประสงค์ในข้อแรกนี่เราอยากจะพิจารณากันโดยเหตุผล ให้มันเป็นที่ยุติเสียทีหนึ่งก่อนว่า การศึกษาที่กำลังจัดอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ส่งเสริมต่อศีลธรรม ยิ่งกว่านั้นยังจะทำลายศีลธรรมเสียด้วยซ้ำไป คือไม่สนใจกับศีลธรรมแล้วขจัดสิ่งอื่นซึ่งเป็นข้าศึกแต่ศีลธรรมขึ้นมา คือศีลธรรมนี้มีรากฐานอยู่ที่การศึกษา ขอให้ยุติข้อนี้กันก่อน
ถ้าการศึกษามันผิด ศีลธรรมมันก็ผิด หรือว่ามีไม่ได้ นั้นสรุปความว่าในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ มันเหมือนกับเอาโคลน น้ำโคลนที่เหนียวกว่ามาล้างโคลนธรรมดาที่ติดอยู่ คือว่าเราเปื้อนอยู่ในน้ำโคลนแล้วเราจะล้างน้ำโคลนนั้นออกไป แต่เราไปเอาน้ำโคลนชนิดที่เหนียวกว่า ติดแน่นกว่ามาล้างน้ำโคลน อย่างนี้มันจะออกไปได้ไหม ตามความคิดของคุณ มันจะล้างโคลนออกไปได้ไหม
นักศึกษา : ไม่ได้ค่ะ
ท่านพุทธทาสฯ :
ไม่ได้เนี่ยก็สอบถามดูเท่านั้นเอง ใครๆก็ต้องคิดอย่างนั้น ว่าเอาน้ำโคลนที่เหนียวกว่ามาล้างน้ำโคลนธรรมดานี่มันก็ออกไปไม่ได้ เดี๋ยวนี้เราเอาการศึกษาที่ผิดมาก มาแก้การศึกษาที่ผิดน้อย ที่เคยมีอยู่แต่ก่อน เพราะการศึกษาที่เคยมีอยู่แต่ก่อนนั้นยังผิดน้อย คือว่าไม่ค่อยทำลายศีลธรรมอะไรนัก แล้วการศึกษาที่จัดขึ้นใหม่ ระบบใหม่เร็วๆนี้ มันจัดเป็นการศึกษาที่ทำลายศีลธรรมเลวยิ่งขึ้นไปอีก จึงได้เรียกว่าเราได้เอาน้ำโคลนไอ้ที่มันล้างยากนี่มาล้างน้ำโคลนธรรมดา มันก็น่าหัวใช่ไหม น่าสังเวช น่าสลดใจใช่ไหม
ถ้าเราตกลงกันได้อย่างนี้แล้วก็พูดกันต่อไปได้ ว่าเดี๋ยวนี้เราได้ทำผิดถึงขนาดที่เรียกว่าเอาน้ำโคลนที่เลวร้ายหรือเหนียวกว่า มาล้างน้ำโคลนธรรมดา ที่มันล้างออกง่ายกว่า มันก็มียิ่งแต่จะติดโคลนมากยิ่งขึ้น นี่คือความเสื่อมแห่งศีลธรรมที่ได้เพิ่มมากขึ้น มากขึ้น เพราะว่าเรามาจัดการศึกษาผิด
ทีนี้เราจะต้องทำอย่างไร เราก็จะต้องเอาน้ำที่สะอาด น้ำที่ดีน่ะมาล้างขี้โคลน ถึงจะล้างออกไปให้สะอาดได้ ก็เป็นอันว่าเราต้องมีการศึกษาชนิดใหม่ที่ไม่ใช่เป็นน้ำโคลนที่ยิ่งกว่านี่มาล้างโคลน คือความผิดพลาดที่มีอยู่ในโลกเวลานี้ มันจึงจะแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เป็นความทุกข์ยากลำบากต่างๆ นานาออกไปได้
เป็นอันว่าเราจะต้องมีการศึกษาระบบอื่น ที่แปลกออกไปจากระบบที่กำลังมีอยู่ในเวลานี้ เพื่อว่าจะเป็นการแก้ไขปรับปรุงหรือว่าอะไรก็ตามให้ศีลธรรมมันถูกต้องขึ้นมา เท่าที่ว่าเราจะต้องมีระบบการศึกษากันใหม่ จนแทบจะกล่าวได้ว่าเกือบจะตรงกันข้ามกับระบบที่กำลังมีอยู่นี้ คุณเห็นด้วยไหม (นักศึกษาตอบ : เห็นด้วย) เห็นด้วยอ้อมแอ้ม
ถ้ามันมีเหตุผลก็ขอให้พูดอย่างเหตุผล โผงผางออกไปเลย เมื่อตะกี้ก็ได้ยินว่า ยอมรับว่าการศึกษามันผิด ไม่เป็นประโยชน์แม้ในแง่ของการศึกษาด้วยซ้ำไป อย่าว่าแต่ในแง่ของศีลธรรมเลย มันเป็นความผิดที่มันเนื่องเกี่ยวพันกันอยู่หลายทอด ซึ่งครูก็ไม่ค่อยจะรู้ว่า จัดทำไม จัดเพื่ออะไร แล้วผู้มีอำนาจ เช่น รัฐบาลนี้ก็ไม่รู้ว่า การศึกษาคืออะไร เพื่ออะไร เพื่อศีลธรรมอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น
นั่นแหละมันป็นต้นเหตุซับซ้อนกันอยู่อย่างนั้น แล้วก็ล้วนแล้วแต่แสดงว่าไม่ใช่ของง่าย เราไม่มีอิทธิพลพอที่จะไปจัดการได้ตามที่เราต้องการ เพราะมันขึ้นอยู่กับครูบาอาจารย์ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาล ผู้จัดประเทศนี่อีกต่อหนึ่ง นี่หมายความว่ามันเป็นอย่างนี้กันทุกประเทศในโลกนะ เดี๋ยวจะไปหาว่าเรามันก็ด่าคนไทยกันเอง เราพูดอย่างในฐานะเป็นเรื่องของโลก ตามความรู้สึกของอาตมานี้เห็นว่า ทั้งโลกกำลังเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย
นั้นเราจะไม่ยกตัวอย่างเฉพาะในประเทศไทย หรือมหาวิทยาลัยบางแห่งในประเทศไทย ขอให้พูดรวมๆ กันไปทั้งโลก ว่าจะต้องจัดการศึกษากันเสียใหม่ให้มันเป็นอุปกรณ์ที่ดีแก่การมีศีลธรรม ถ้าการศึกษาไม่ได้เป็นไปเพื่อศีลธรรมแล้ว ไม่มีความหมายแห่งการศึกษาเลย ข้อนี้พวกคุณยอมรับไหม (นักศึกษาตอบ : ยอมรับค่ะ) เพราะว่าการศึกษาใดมันไม่เป็นไปเพื่อความมีแห่งศีลธรรมนั้น ไม่ควรจะเรียกว่าเป็นการศึกษาเลย
เดี๋ยวนี้เรากำลังมีการศึกษาที่มิใช่การศึกษาใช่ไหม (นักศึกษาตอบ : ใช่ค่ะ) อ้อมแอ้มอีกแล้ว ไม่ต้องไปแก้ตัวแทนใคร ก็พูดกันให้ตรงไปตรงมาในฐานะที่เป็นมนุษย์ พูดเพื่อมนุษย์ ไม่ใช่คนไทยพูดหรือฝรั่งพูด หรือว่าฝ่ายหนึ่งไปช่วยแก้ตัวให้อีกฝ่ายหนึ่ง เราพูดอย่างว่าเป็นปัญหาของมนุษย์ทั้งโลก เรามีการศึกษาชนิดที่มิใช่การศึกษาเลย
การศึกษาที่แท้จริงสมแก่คำว่า การศึกษานั่น จะต้องเป็นไปโดยศีลธรรมโดยตรง โดยเจตนารมณ์ นอกนั้นเป็นเรื่องแฝงทั้งนั้น เพราะว่าเราเกิดมานี่เพื่อมีความถูกต้อง มีความสุข มีความเจริญ และศีลธรรมคือสิ่งที่ทำให้เป็นอย่างนั้น หัวใจของการศึกษาต้องเป็นอย่างนั้น ส่วนที่ให้รู้หนังสือ ที่ช่วยให้รู้จักประกอบอาชีพนั้นมันเป็นเพียงอุปกรณ์เพื่อให้มีชีวิตอยู่
ครั้นเมื่อเรามีชีวิตอยู่แล้ว เราจะต้องทำอะไรต่อไปอีก จะต้องทำความเจริญที่เป็นส่วนจิตใจทั้งหมดของมนุษย์ เพื่อเป็นอยู่ด้วยความผาสุก การศึกษาที่แท้จริงต้องมีเจตนาในส่วนนี้ เรียกว่าตั้ง 80-90% ที่เหลือนอกนั้นก็เป็นเรื่องของอาชีพ หรือเรื่องของอะไรที่ล้วนเป็นอุปกรณ์ผิวเผินออกไป
สรุปความก็ว่าเราจะต้องมีการศึกษาที่ถูกต้อง ไม่ใช่มีการศึกษาอย่างผิดเป้าหมาย โดยธรรมสัจจะของธรรมชาติ อย่างที่กำลังเป็นกันอยู่ทั่วๆ โลกในเวลานี้ อย่างกับว่าโรคระบาดทีเดียว สรุปความนี้ว่า เราต้องมีการศึกษาใหม่ เป็นระบบที่ส่งเสริมการมีอยู่แห่งศีลธรรม ใช่ไหม (นักศึกษา : ใช่ค่ะ) ถ้าอย่างนั้นก็แปลว่าเราก็มีปัญหาเหลือต่อไป ปัญหาที่แล้วมานี้เราไม่มีแล้ว เข้าใจตรงกันหมดแล้ว
ต่อไปก็ว่าจะมีการศึกษารูปไหน ที่มันจะส่งเสริมศีลธรรมเพื่อความอยู่เป็นสุขของมนุษยชาติโดยตรง อาตมาอยากจะเน้นว่า เราจะยืมเอาคำว่าศึกษามาจากคำที่ใช้อยู่ในพระศาสนาคือคำว่า ไตรสิกขา เราเอามาแต่คำพูด ส่วนความหมายที่แท้จริงของคำนี้เราไม่ได้เอามา อยากจะเสนอเป็นข้อแรกว่า ขอให้ไปเอาความหมายของคำว่า ศึกษาตามหลักแห่งพระศาสนานี่มาพิจารณา แล้วทำให้มันดีขึ้น สิกขา หรือศึกษา ตามหลักพระศาสนามีอยู่ 3 อย่างคือ ศีล สมาธิ ปัญญา
อันแรกเรียกว่าศีลสิกขา คือศึกษาเพื่อให้มีศีล เพื่อให้มีศีลก็คือ เพื่อให้มีกาย และวาจาที่ถูกต้อง ตามธรรมสัจจะของธรรมชาติที่ว่า มนุษย์เราควรจะมีความถูกต้องที่กายและวาจาอย่างไร นี่มันเป็นระบบใหญ่ระบบหนึ่งซึ่งจะต้องทำกันทีแรก ให้มีความถูกต้องที่กาย ที่วาจา ทั้งต่อตัวเองและสังคม นี้เรียกว่า ส่วนศีล
ในการศึกษาที่สอง เรียกว่า สมาธิ หรือจิตสิกขาก็เรียก นี้คือการศึกษาที่ทำไปเพื่อให้เกิดความถูกต้องในทางฝ่ายจิต นับตั้งแต่ให้จิตปราศจากสิ่งปกติของจิต เป็นโรคประสาท โรคจิตอะไรก็ตาม ก็ไม่ต้องมี แล้วก็มีจิตที่ได้รับอบรมจนมีสมรรถภาพเต็มที่ตามที่ธรรมชาตินั้นมีให้อย่างไร แล้วเราจะอบรมจิตอย่างไรเท่าไร แล้วจิตมันจะมีสมรรถภาพถึงเพียงไหน ถ้าตามธรรมชาติแล้วมันเป็นไปได้มากถึงขนาดว่า จิตมีกำลังพอที่จะรู้ที่ว่าคนธรรมดาคิดว่าจะรู้ไม่ได้ จะเห็นแจ้งแทงตลอด ลึกเหนือประมาณ นั้นจิตนี้จึงมีประโยชน์ทุกแง่ทุกมุมสำหรับมนุษย์ นี้เป็นการศึกษาระบบที่สอง
ที่ระบบที่สาม เรียกว่าปัญญา หรือปัญญาสิกขา คือการประพฤติกระทำ บ่มให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ จนเราเกิดความถูกต้องในทางความคิดเห็น เรื่องความคิดเห็นกับเรื่องจิตนี้เป็นคนละเรื่อง จิตนี้เป็นตัวคิดเห็น ตัวผู้คิดเห็น เรียกกันอย่างนี้ก็แล้วกัน นี้ความคิดเห็นที่จิตจะเป็นผู้รู้ผู้เห็นนี้มันต้องถูกต้องด้วย จึงมีการอบรมกันอีกระบบหนึ่งเป็นความรู้ ให้รู้ไปในทางที่ถูกต้องตามธรรมสัจจะของธรรมชาติในส่วนนี้ บางทีเราก็เรียกง่ายๆ ว่า สัมมาทิฐิ แปลว่า ความเห็นที่ชอบ หรือที่ถูกต้อง
ถ้าเห็นชอบเห็นถูกต้องนั้นก็ต้องหมายความว่า เห็นในลักษณะที่จะไม่ทำให้ปัญหามันเกิดขึ้น เห็นในลักษณะที่จะไม่ทำให้กิเลสเกิดขึ้น ไม่ทำให้ความทุกข์เกิดขึ้น เราก็อยู่อย่างไม่มีความทุกข์เลย แล้วคนจะพอใจกันดีแล้ว ไม่มีความทุกข์ไม่มีปัญหาแล้วก็มันก็ควรจะพอใจ
นี่ สิกขา หรือศึกษา มีความหมายอย่างนี้ ตามหลักแห่งพระศาสนา คือศีลสิกขา มีกายวาจาถูกต้อง จิตสิกขา มีจิตถูกต้อง ปัญญาสิกขา มีเรื่องความคิดความเห็นที่ถูกต้อง การศึกษาในพระศาสนามีอยู่อย่างนี้
พวกคุณเห็นว่ามันครึคร่าบ้าบอไหม (นักศึกษา : ไม่ค่ะ) นี่ ตะกี้คุณก็ว่าในมหาวิทยาลัยนี้เค้าเกลียดศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนา แล้วเราจะเอากันยังไง เมื่อตัวพระศาสนา ตัวหลักวิชาพระศาสนาซึ่งมีไตรสิกขานี้เป็นหัวใจ
นักศึกษา :
คือว่านี้ค่ะพระอาจารย์ ปัญหาของเรานี้ที่พระอาจารย์บอกว่า ศึกษาในความหมายปัจจุบันนี้เอามาจากพุทธศาสนา คือศีล สมาธิ ปัญญา แต่ปัญหาที่มันเกิดขึ้นมา คำว่าศึกษาในสังคมไทยเค้าไม่ได้เจาะจงไปที่สามตัวนี้เลยค่ะอาจารย์ เค้ายังไม่ทราบว่าจุดมุ่งหมายของการศึกษานี้จะต้องมุ่งไปทางด้าน ศีล สมาธิ ปัญญา แต่เค้ามุ่งไปอีกอย่างหนึ่งคือว่า ทำให้คนรู้แค่นั้นเอง แต่รู้อะไรนี่อีกอย่างหนึ่งจะไม่ค่อยรู้เรื่องชีวิต เค้าไม่เคยสอนว่าเกิดมาทำไม
ฉะนั้น ไอ้ระบบการศึกษาอันนี้คงต้องว่า จะต้องหาคนรู้ หาคนรู้มาอธิบาย มาอธิบายให้เค้าฟังว่า ความหมายของการศึกษาที่แท้จริงนี้มันควรที่จะไปศึกษาในแง่ไหนบ้าง แล้วที่ท่านอาจารย์พูดว่า เห็นสามอันนี้เป็นสิ่งที่คร่ำครึไหม ในความเห็นของพวกหนูในขณะนี้ก็ ไม่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่คร่ำครึ แต่กลับเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ทันสมัยที่สุดในโลกก็ว่าได้
แต่ปัญหาที่ว่าเราจะทำให้คนอื่นนี่เห็นว่าศึกษาที่จะต้องเน้นถึง ศีล สมาธิ ปัญญานี่ จะให้คนอื่นเค้าเห็นตามว่า อันนี้มันเป็นสิ่งที่ทันสมัยนี่ มันเป็นปัญหาอยู่ว่าเราจะทำให้เค้ารู้ได้อย่างไร
ท่านพุทธทาส :
อันนี้มันเป็นข้อเท็จจริง ถ้าพวกคุณยืนยันว่ามันมีข้อเท็จจริงอย่างนั้น มันก็พูดเรื่องอื่นต่อไปได้ แต่นี้โดยข้อเท็จจริงแล้ว การศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้ ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญาเลย ถ้าเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้อย่างนี้ ก็เอา เราก็จะพูดถึงข้อเท็จจริงอันนี้ แล้วพวกคุณต้องรับผิดชอบว่ามันมีข้อเท็จจริงอย่างนี้
เมื่อตะกี้พูดว่า ในมหาวิทยาลัย พอพูดถึงคำว่า ศาสนา แล้วก็เมินหน้ากันหมด หรือทำจมูกย่นถึงขนาดนั้น มันก็ควรจะบอกว่า ควรจะพูดออกไปได้แล้วว่า เค้าเกลียด เกลียดสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา ทีนี้พวกคุณก็เห็นว่าไอ้ระบบของศาสนาที่เป็นหัวใจ ศีล สมาธิ ปัญญา เค้าก็เกลียดสิ่งนี้ ซึ่งเราก็ยอมรับ เห็นชัดลงไปว่ามันมีประโยชน์ ปัญหามันก็มีอยู่ตรงนี้ มันแคบเข้ามา ว่าการจัดการศึกษานั้น ทำให้นักศึกษาเกลียดในสิ่งที่เป็นวิญญาณของการศึกษา ไปพิจารณาดูเถิดว่ามันกำลังเล่นตลกกันสักเท่าไร
จึงขออภัยถ้าพูดกันอย่างตรงๆ ว่ามันกำลังบ้าบอกันสักกี่มากน้อย นักศึกษาเกลียดเจตนารมณ์ของการศึกษาที่แท้จริง ควรจะไปปักคอตายซะที่ไหน มันถึงจะสมกัน เอาเป็นว่าข้อเท็จจริงอันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ถือเป็นหลักแล้วว่า เรามีการศึกษาผิด สรุปในข้อที่ว่า เอาน้ำโคลนที่เหนียวกว่ามาล้างน้ำโคลนที่ไม่ค่อยเหนียวเท่าไร ยุติได้ในตอนนี้ เป็นอันว่าจะต้องหาน้ำสะอาดมาล้างน้ำโคลน อย่าไปเอาน้ำโคลนที่ยิ่งไปกว่ามาล้างน้ำโคลน
น้ำสะอาดในที่นี้ก็คือการศึกษาที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของคำว่า การศึกษา อย่างที่กล่าวมาแล้วนั้น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ดังนั้นก็เป็นอันว่าเราก็มีหน้าที่ที่จะทำให้นักศึกษาเข้าใจข้อนี้ มันได้เกี่ยวไปถึงผู้จัดการศึกษา หรือผู้ทรงอำนาจในการที่จะจัดการศึกษานั่นละเข้าใจว่าโลกนี้กำลังจะวินาศ หรือวินาศลงไปทุกทีๆ ตามที่เราจัดการศึกษาผิด ฉะนั้นเรามาปรับปรุงการศึกษาให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของการศึกษาเถิด
นับตั้งแต่จะต้องสะสางให้ได้ความจริงที่ว่า ศึกษานี้เพื่ออะไร ก็ว่าเพื่อมนุษย์อยู่กันอย่างผาสุก อย่างนี้มันก็ไม่มีทางจะผิด มันจะผาสุกอยู่ได้ด้วยอะไร เพราะว่ามันมีความถูกต้องในทางกายวาจาใจ และทิฐิ คือความคิดเห็น แล้วก็หันมาสู่การศึกษาอย่างนี้ ช่วยกันให้สุดความสามารถที่จะเข้าใจระบบการศึกษาชนิดนี้
นอกนั้นเป็นเพียงอุปกรณ์ เช่นการศึกษาเพื่อรู้หนังสือนี้เป็นอุปกรณ์เบื้องต้นที่สุดเลย แล้วการศึกษาเพื่อให้รู้อาชีพนี้ก็เป็นอุปกรณ์ที่สูงขึ้นมา มีอาชีพแล้ว มีรอดชีวิตอยู่ได้แล้ว จะทำอะไรต่อไป อย่างนั้นล่ะ คือตัวการศึกษา ไอ้ตัวเจตนารมณ์ของการศึกษาในขั้นที่สมบูรณ์
เราอยู่กันโดยสันติสุข ส่วนเอกชนโดยสันติภาพ สำหรับสังคมทั้งสิ้น แล้วเป็นอันว่า ปัญหาต่างๆ ในเบื้องต้นก็หมดไปด้วยยุติลงไปได้ชั้นหนึ่งก่อนว่า เราจะต้องจัดระบบการศึกษาเสียใหม่ดังนี้ นี้ก็จบตอนที่หนึ่ง เป็นตอนทดลองของคุณทวีศักดิ์
อาจารย์ระวีมาพอดี เราได้พูดกันถึงว่าเราต้องเปลี่ยนระบบการศึกษา เพราะว่าที่เราจัดมาแล้วนั้นเด็กๆ เค้าว่าผิด โดยอาตมาก็เห็นด้วยว่าทำให้คนเกลียดศาสนา จัดการศึกษากันอย่างไรก็ไม่ทราบ พอเอ่ยคำว่าศาสนาขึ้นมาในมหาวิทยาลัยแล้วก็เมินหน้าหนี แล้วก็ยังค้านกันอีกน่ะ ว่าไปสิ
นักศึกษา :
เกี่ยวกับเรื่องการศึกษานั้น การศึกษาศาสนาที่ว่าในมหาวิทยาลัยนี่ นักศึกษาไม่พอใจที่จะเรียนหรือเมินหน้าหนีที่จะเรียน คือที่หลักสูตรของคณะครุศาสตร์-จุฬาฯ นะคะ มีอาจารย์ได้บรรจุวิชาศีลธรรมลงไปด้วยค่ะ คือเกี่ยวกับศีลธรรมประยุกต์ค่ะ มีอาจารย์แปลก สนธิรัตน์เป็นผู้สอนนะคะ
ท่านพุทธทาสฯ : คุณอย่าเอาชื่อครูผู้สอน เอ้า ว่าไป ผู้สอนน่ะ
นักศึกษา :
แล้วก็ทำให้นิสิต นักศึกษาสนใจเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมมากขึ้น คือเหตุผลของที่ใส่ศีลธรรมลงในหลักสูตรนี่ อาจารย์ท่านหนึ่งท่านได้บอกว่า เมื่อนักเรียนนี่เรียนเกี่ยวกับ ได้ศึกษาเกี่ยวกับชีวิตที่เราจะต้องจบไปแล้ว เ ราจะต้องทำงานออกไปประกอบอาชีพอะไรนะคะ แต่เราไม่รู้ว่า หลักที่จะช่วยในการครองชีพอย่างเป็นสุขคือให้หลักธรรมะช่วยนี่ เราไม่ทราบเลย ท่านถึงบอกว่า ท่านจึงบรรจุวิชาศีลธรรมนี่ลงในหลักสูตร
ในคณะอักษรศาสตร์ และคณะครุศาสตร์นี่มีนะคะ แต่ว่าที่มหาวิทยาลัยอื่นหนูไม่ทราบ ก็เลยอยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า ความคิดที่ว่าควรจะบรรจุศีลธรรมลงในหลักสูตรนี่ อาจารย์คิดว่าเห็นด้วยไหมคะ
ท่านพุทธทาสฯ :
เมื่อสักสิบกว่าปีมาแล้วเราไปประชุมกันที่ห้องประชุมแห่งหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ด้วยเรื่องที่ว่านี้ ว่าควรจะมีหลักสูตรพุทธศาสนาในฐานะเป็นวิชาบังคับอยู่ในมหาวิทยาลัย มันก็พูดกันโอ้เอ้ไม่รู้เรื่อง แล้วก็ถูกตัดบท ถูกตัดบทว่า เดี๋ยวนี้ก็สอนกันอยู่แล้ว นี่มันเป็นการตอบที่ดีว่า นี่มันเป็นการสอนอยู่แล้วจะจัดอะไรลงไปอีก ก็ได้ยินว่าสอนศาสนาสอนศีลธรรมสำหรับจดลงไปในกระดาษบ้างเท่านั้นเอง
ไม่มีการศึกษาทางศีลธรรมที่มันจะใส่ลงไปได้ในจิตใจของผู้เรียน ก็เดี๋ยวนี้มันก็พิสูจน์อยู่แล้วว่า มันเสื่อมศีลธรรมลงไปทุกที ดังนั้นก็ต้องถือว่า การศึกษานั้นมันผิดแล้ว มันต้องถือว่าการศึกษาที่มีอยู่แล้วในมหาวิทยาลัยนั้นไม่ถูกต้อง ไม่เพียงพอ หรือถึงกับผิด เพราะมันผลิตความเกลียดศาสนาออกมา ถ้าหากว่าศัตรู ก็จะต้องเกิดความรักในศาสนาขึ้นมาในการที่พูดว่าควรใช้เป็นหลักสูตรบังคับนั้นมันก็ถูกแน่ แต่มันยังไม่พอตรงที่ว่าจะใช้ในสูตรบังคับให้มันถูกต้องได้อย่างไร
เดี๋ยวมันจะเป็นเหมือนที่แล้วมา ตั้งสิบกว่าปีมาแล้วที่เค้าก็ว่ามีอยู่แล้ว โดยคนนั้น โดยคนนี้ ไม่ต้องออกชื่อ แล้วคนคนหนึ่งที่มาประชุมในวันนั้นก็บอก เค้านี่ละเป็นผู้ที่จัดการศึกษาทางศีลธรรม ทางศาสนาอยู่ แต่ก็ไม่ได้ผลอะไรในการประชุม แต่ว่าจะวินิจฉัยกันต่อไป ต่อมาก็ค้างเติ่งอยู่นั่นไม่ได้วินิจฉัย จนบัดนี้
เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ว่าจะต้องมีการศึกษาทางศีลธรรมโดยเฉพาะลงไปในหลักสูตรบังคับ แล้วก็มีว่าจะสอนให้มันถูกต้องได้อย่างไร ให้มันได้ผลในเรื่องของศีลธรรม คือให้มีมนุษย์ที่ดีที่ถูกต้องสำหรับที่จะทำให้โลกนี้ให้มีความผาสุก แล้วเราก็ต้องไปคิดถึงในส่วนที่ว่าจะปรับปรุงอย่างไร แก้ไขอย่างไรให้มีการศึกษาทางศีลธรรมที่ถูกต้องขึ้นมาในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ
ในชั้นอุดมมันสูงสุด ก็จำเป็นจะต้องให้มันถูกต้อง แต่ถ้าให้ดีมันต้องถูกต้องมาตั้งแต่เตรียม และระดับอนุบาล และระดับประถมฯ , มัธยมฯ ด้วย มันจึงจะเป็นไปได้ ขอให้ไปคิดเอาเองเถอะนี่มันเป็นปัญหาที่กว้างออกไปจนเหลือวิสัยที่ว่าเราในวัดนี้จะอาจเอื้อมไปพูดถึงได้
ถ้าผู้ใดมีความคิดที่จะคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าจะมีทางทำอย่างไรที่จะให้มีการศึกษา หรือการสอนศีลธรรมในศาสนาอย่างถูกต้องและอย่างเพียงพอขึ้นในมหาวิทยาลัยแล้ว อาตมาก็อยากจะฟังความคิดเห็นอันนั้นนะ ขอเชิญอาจารย์ระวีช่วยพูด
อาจารย์ระวี :
ท่านอาจารย์ครับ กระผมอยากแสดงความคิดเห็นโดยทั่วๆ ไปซะก่อนว่า ในหลักสูตรของการศึกษาขั้นอุดมศึกษาในตะวันตกซึ่งการศึกษาขั้นอุดมฯ ของไทยเราได้ลอกเลียนแบบเขามานั้นน่ะ ที่จริงเค้าก็เคยมีสิ่งที่เค้าเรียกว่าศาสนศึกษา หรือ Theology อยู่ เป็นรากฐานในมหาวิทยาลัยในยุโรป แม้แต่ในสมัยที่เริ่มต้น
แต่ว่าหากว่าการเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยไทยนั้นแตกต่างไปจากหลักการของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยไทยนั้นเริ่มต้นขึ้นมาในลักษณะที่ว่า ตั้งใจจะให้เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ซึ่งหมายความว่า เป็นที่ฝึกอบรมผู้ที่ทางราชการประสงค์ให้เป็นข้าราชการ ความคิดของทางราชการในสมัยนั้น ซึ่งก็เป็นสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น กระผมก็เข้าใจว่าเป็นด้านที่ประสงค์จะลอกเลียนแบบอย่างตะวันตกในด้านวัตถุ โดยที่ได้ละเลยความสำคัญของทางด้านจิตใจ หรืออาจจะเป็นด้วยว่า ทางราชการได้เห็นว่า ทางด้านจิตใจนั้นก็ได้มีสถาบันสงฆ์และวัดวาอารามเป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ก็เข้าใจว่าคงพอเพียง
และก็การที่จะลอกแบบตะวันตกมานั้นก็หมายความว่า ทางตะวันตกนั้นศาสนศึกษาของเขา ก็เป็นการสอนศาสนาที่เขานับถือกันอยู่ สอนให้คนไปเป็นนักบวช สอนให้คนไปเป็นผู้เผยแพร่ศาสนา อะไรเหล่านั้น เพราะฉะนั้นทางเมื่อของไทยเรานั้น เดิมเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เสร็จแล้วต่อมาอีกตั้งนานก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัย พ.ศ. 2475 จึงได้เริ่มมีคณะผู้ที่บริหารการศึกษาในระดับสูง
ทั้งนี้กระผมจำได้ว่า มีสมเด็จพระบิดากรมหลวงสงขลา นครินทร์ อยู่ด้วย ที่ได้ปรับปรุงการศึกษาไทยใหม่ จากการไม่มีปริญญาอะไร คือสอนกันอย่างที่จะให้ออกมามีประกาศนียบัตร มารับราชการได้ ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ในระยะนั้นก็ไม่ได้มีความสนใจที่จะนำเอาหลักการเกี่ยวกับปรัชญา หรือศาสนาเข้ามาให้สมบูรณ์เหมือนอย่างในมหาวิทยาลัยตะวันตก
แต่ในระยะที่หลังจากนั้นมา ผู้ที่เค้ามาบริหารมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่ได้ถูกส่ง ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงออกไปเรียน ก็เป็นคนที่เรียน อาจจะเป็นผู้เรียนดีเหมือนอย่างใน เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง หรือ King's scholarship ผมได้สังเกตคนเหล่านี้ว่าไม่ได้มีความสนใจ แม้แต่ในปรัชญา อย่าว่าแต่ในศาสนา หรือศีลธรรมอะไรก็มองเห็นว่า กระผมเห็นว่า ยุคนั้นเป็นยุคของการที่เริ่มต้นของการตามแบบฝรั่งอย่างเริ่มต้นมา แล้วกลายเป็นการตามแบบอย่าง อย่างรุนแรงตลอดมา
ได้เคยมีคนบางคนซึ่งพยายามที่จะผลักดันให้มีการศึกษาทางด้าน แม้แต่ทางด้านปรัชญา แม้แต่คุณแสน ธรรมยก ขออภัยที่เอ่ยออกชื่อ ผมจำได้ผมยังเป็นเด็กอยู่ ทางการมหาวิทยาลัยก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับ ทั้งนี้ถ้าจะพิจารณาไปก็ต้องกล่าวให้ชัดเจนว่าเป็นจิตใจความเอนเอียงของผู้บริหารมหาวิทยาลัยตลอดมาเอง ซึ่งไม่สนใจอะไรในด้านนามธรรม ในด้านความคิดนึก สนใจในด้านวัตถุ เข้าใจว่าสิ่งที่จะทำให้บ้านเมืองนี้เจริญขึ้นก็คือความชำนาญทางวัตถุ
เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าโรงเรียนวิศวกรรม โรงเรียนแพทย์ซึ่งเป็นการรักษาทางด้านกายอะไรนั้น ก็เป็นด้านที่เจริญ รวมทั้งทางวิทยาศาสตร์ด้วย และแม้ต่อมาในสมัยหลังจากสงคราม บวกกับความช่วยเหลือของต่างประเทศ ก็ทุ่มเทมาทางด้านวัตถุทั้งนั้น ไม่ได้ละเลยทางด้านอักษรศาสตร์ ทางด้านวรรณคดี ซึ่งตามปกติแล้วถ้าไม่มีคณะวิชาที่ว่าด้วยศาสนศาสตร์และปรัชญาโดยตรงก็ควรจะอยู่ในด้านอักษรศาสตร์ ทางด้านนั้นก็ไม่ได้รับความดูแลอะไร
ข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมขอกราบเรียนเพื่อให้ที่ประชุมได้มองเห็นว่า ไอ้ความเป็นมามันเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุว่า ผู้ใหญ่ของเราไม่ใช่แต่ในปัจจุบัน ในระยะที่ผ่านมาแล้ว ตั้ง 50 ถึง 100 ปี ก็ได้จะเป็นยุคของการที่ถูกอิทธิพลทางความคิด ทางวัตถุของตะวันตกครอบคลุม แล้วก็ไปเข้าใจเอาว่า สถาบันสงฆ์ สถาบันศาสนาที่มีอยู่แล้วจะเพียงพอในด้านที่พยุงหรือว่าค้ำจุนทางด้านจิตใจได้
แต่ก็ปรากฏว่าทั้งทางสถาบันทางด้านศาสนาก็ไม่ได้มามีอิทธิพลอะไรทางด้านนึกคิด ทางด้านอุดมศึกษา มีแต่จะถอยลงไปทุกที ในข้อที่ว่าควรจะให้กลับย้อนเข้ามีการศึกษาทางศาสนาหรือทางศีลธรรมในมหาวิทยาลัยนั้นน่ะ กระผมเห็นว่า ในด้านที่คงจะเป็นไปได้โดยง่าย แต่อาจจะไม่มีผลมากมายนัก คือการตั้งแผนกวิชาศาสนาขึ้น จากในปัจจุบันซึ่งมีการสอนภาษาบาลี-สันสกฤต ในด้านอักษรศาสตร์อยู่แล้ว เช่นใน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการอันนั้นก็จะเป็นในด้านที่เราเรียกว่า ....................(นาทีที่ 48.08).... หมายความถึงว่าเรียนเพื่อจะให้รู้เหมือนอย่างในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง แม้แต่ในยุโรปเค้าก็มีสาขาวิชาพุทธศาสนาหรือศาสนาฮินดู ดังที่ได้มีศาสตราจารย์ฯ ที่ได้ค้นคว้าทางพระไตรปิฎกแปลเป็นภาษาอังกฤษ อะไรๆ เหล่านั้นเราอาจจะมีในด้านนั้นได้
แต่ว่าการมีการศึกษาในด้านนั้นไม่ได้หมายความว่า ศีลธรรมจะดีขึ้น มันก็เป็นเพียงการศึกษานำเอาศาสนามาศึกษา เหมือนศึกษาโบราณคดี หรือเหมือนกับการศึกษาอะไรอย่างนั้น อาจจะดีที่ว่าเราก็จะได้มีนักค้นคว้า ศึกษาค้นคว้าเข้าไปในเรื่องของคัมภีร์โบราณ การวิวัฒนาการทางศาสนาอะไรต่ออะไรเหล่านั้น มันเป็นด้านของการค้นคว้าซึ่งอาจจะมีผลก็ในวงจำกัด ในวงนักวิชาการชั้นสูงเท่านั้น
สำหรับการที่จะให้มีการศึกษาเข้าแทรกซึมเข้าไปในทุกสาขาวิชานั้น ก็ยังเป็นสิ่งที่อาจจะทำได้เหมือนกับที่เค้าเรียกว่าการศึกษาวิชาทั่วไป ในคณะต่างๆในปัจจุบันก็บอกว่า เราเรียนวิชาเฉพาะมันไม่พอ จำเป็นต้องมีวิชาซึ่งเป็นวัฒนธรรมเป็นรากฐาน หรือว่าเป็นวิชาทางด้านมนุษยศาสตร์ เช่น นักเรียนวิทยาศาสตร์ก็อาจจะเรียนวิชาดนตรีอะไรอย่างนั้น
วิชาการศาสนาก็อาจจะเข้าไป แล้วก็มีคะแนนให้ อย่างนั้นก็อาจจะช่วยเข้ามาได้ขั้นหนึ่ง ถ้าเราได้ครูที่มีความสามารถ แต่กระผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้เสมอว่าวิชาอะไรก็ตาม ทันทีที่ถูกได้นำไปเข้าหลักสูตร แล้วก็คิดคะแนนให้ บังคับว่าจะต้องมา มันได้สูญเสียวิญญาณของมันไป คือนักเรียนเค้ามาเรียนท่องเอา แล้วก็หาลูกไม้หรือว่าวิธีการที่จะให้ตอบครูให้ได้คะแนนสูง แต่คนที่ได้คะแนนสูงนั้นไม่จำเป็นจะต้องได้รับน้ำใจ,วิญญาณของวิชาการอันนั้น นี่สังเกตได้เสมอ วิชาที่ควรจะสนุกสนาน และเป็นเครื่องที่ประโลมจิตวิญญาณ พอได้เข้ามาเป็นวิชาเอาคะแนน มันเสียไป เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาอยู่เสมอในมหาวิทยาลัย
กระผมยังรู้สึกขอกราบเรียนต่อไปว่า ในการศึกษาแม้กระผมอาจจะผิด และถ้าเป็นการล่วงเกินไปในพระศาสนาก็ต้องกราบขออภัยว่า การศึกษาแม้แต่ในด้านพระศาสนาที่มีการศึกษาวิชาภาษาบาลีให้เป็นเปรียญเท่านั้นเท่านี้ประโยค ก็เข้าใจว่าผู้ที่ได้เรียนเป็นเปรียญสูงๆ นั้นและได้ผ่านการสอบนั้น ก็มิได้หมายความว่า ได้ถึงภูมิธรรมในพระศาสนา ก็รู้สึกว่าจะเป็นข้อลำบากยิ่งขึ้นไปอีก ที่ว่าถ้าเรานำเอาวิชาการศาสนาเข้ามาในมหาวิทยาลัยแล้ว จะมีวิธีการอย่างไรว่า ผลที่แท้จริงซึ่งเราประสงค์ คือทำให้ภูมิธรรมทางจิตใจของผู้เรียนสูงขึ้นนั้นจะวัดกันได้อย่างไร จะให้คะแนนสอบได้-ไม่ได้ กันอย่างไร ตรงนี้กลายเป็นการท่องบ่น นำเอาความรู้ที่จำ หรือคิด เพียงแต่คิด แต่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมา ข้อนี้เป็นข้อที่กระผมยังข้องใจอยู่
อย่างไรก็ตาม กระผมยังคิดอยู่ว่าวิธีการที่จะนำเอาธรรมะเข้าไปสู่การอุดมศึกษานั้น เห็นจะมีความ หรือว่าการศึกษาโดยทั่วไปอย่าว่าแต่อุดมศึกษาเลย กระผมคิดถึงการจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดทั้งหมดในเรื่องการศึกษา คือถ้าหลักยังไม่ยอมรับกันอยู่แล้ว หลักยังคิดว่าสังคมนี้ต้องการความรู้ที่จะให้ประกอบการอาชีพได้เป็นใหญ่ที่สุด แล้วก็ผู้ที่ประกอบอาชีพได้ย่อมจะมีใช้มีกินร่ำรวย เอาเปรียบผู้อื่นได้ที่สุด
ถ้าเรายังถืออุดมคติอย่างนี้ในสังคม และยังยอมรับอยู่อย่างนี้ การศึกษาเขาก็คิดว่าเป็นเครื่องมือรับใช้สังคม ที่จะต้องให้สมประสงค์เช่นนั้น ถ้าหากว่าเราจะเปลี่ยนก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแนวคิดในสังคม ซึ่งผู้ที่มีภาวะนำบริหารสังคมควรจะเป็นผู้ที่ขวนขวาย และก็พยายามเปลี่ยนแปลง และถ้ามีความ กำลังความคิดร่วมกันเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงแนวคิดใหญ่ เมื่อแนวความคิดใหญ่เปลี่ยนไปได้ กระผมจึงจะคิดว่า การส่วนเล็ก ส่วนย่อย โครงการทั้งหลายที่จะเขียนขึ้นมานั้นก็ย่อมจะเป็นไปได้ กระผมในขณะนี้ก็มีความคิดแต่เพียงแค่นี้
ท่านพุทธทาส :
ข้อนี้น่ะดีมาก ขอให้ทุกคนที่ฟังอยู่นี้กำหนดจดจำให้ดี มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างยิ่ง เป็นข้อเท็จจริงจำเป็นที่สุดที่เราจะต้องรู้และเห็นอยู่ อย่างที่อาจารย์ระวีได้เล่าให้ฟัง ขอให้ย่นย่อแต่ใจความเพื่อซ้อมความเข้าใจหรือความจำอีกครั้งหนึ่งว่า การศึกษาของเราที่จัดในชั้นอุดมศึกษานั้นก็ไปมองเห็นความดีความงามของการศึกษามหาวิทยาลัยแบบตะวันตก จึงรับเอาวิธีการมา และก็ไม่ได้รับเอาส่วนที่เรียกว่าเป็นการศึกษาทางศาสนา ซึ่งเค้ามีอยู่นั้นมาด้วย เรามาแยกเอาเป็นวิชาล้วนๆ
ข้อนี้มีแง่ที่ซ่อนเร้นอยู่อันหนึ่ง ซึ่งจะต้องนึกถึงด้วยเหมือนกัน ว่าลูกเด็กๆ ของเรามันมีสายเลือดเป็นพุทธบริษัท วัฒนธรรม ทางธรรมทางศาสนาติดมาทางสายเลือดของบิดามารดา โตขึ้นมาในลักษณะที่เป็นพุทธบริษัท ครั้นเมื่อมาเรียนในชั้นอุดมศึกษาที่จัดขึ้นตามแบบฝรั่ง แม้ว่ายังไม่สอน Theology ลงไปในนั้น มันก็ไม่เป็นไรเพราะมันมีอยู่ในสายเลือด ทีนี้ก็เรียนวิชาล้วนๆไป
ที่พร้อมกว่านั้นมันทำลายความมีศีลธรรมทางสายเลือด จางไป จางไป จางไปตามลำดับ ด้วยการที่เพิ่มความรู้ความสามารถในวิชาการล้วนๆ นี้ยิ่งๆ ขึ้นทุกที ภายในไม่กี่ปี หรือไม่ถึงชั่วอายุคนเราก็สูญเสียเรื่องความมีศีลธรรมในสายเลือดไป ก็เหลือแต่วิชาการล้วนๆ มันจึงเกิดเป็นพิษขึ้นมาในปัจจุบันนี้
แม้การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยก็ไม่ทำให้คนมีศีลธรรม ขอให้มองดูอีกนิดหนึ่งว่าถ้าธรรมเนียมไทยเราต้องบวชต้องเรียน บวชพระบวชเณรกันทุกคน นั้นมันเพิ่มความมีเจตนารมณ์ของความมีศีลธรรมในสายเลือดนั้น เพิ่มมากขึ้น มากขึ้นอยู่แล้ว แต่นี้เราก็ยกเลิกระบบการบวชพระบวชเณร เหินห่างวัด เอาการศึกษาออกไปจากวัด หรือว่าจากศาสนานั่นละ นี่ผลจึงมีอยู่ ปรากฏอยู่ในลักษณะที่ว่า การศึกษาชั้นอุดมศึกษาเป็นวิชาชีพล้วนๆ เพราะว่าสังคมเค้าต้องการเพียงเท่านั้น หรือความจำเป็นเฉพาะหน้ามันมีอยู่แต่เพียงเท่านั้น
นี่มันเป็นความไม่รอบคอบของผู้จัดการศึกษานั้นเอง ทีนี้เรามองเห็นข้อเท็จจริงอันนี้แล้ว เราก็มีแผนการที่จะแก้ไขมัน คือก็ต้องจัดให้มีการศึกษาด้านจิตด้านวิญญาณนี่ควบคู่กันไป การศึกษาพื้นฐานเพื่ออาชีพ เป็นต้น เราจะต้องนึกถึงว่าที่เป็นเจตนารมณ์ของการศึกษาที่แท้จริงแล้วก็เพื่อทำมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ ตัวนี้ขาดไม่ได้ ความเป็นมนุษย์นี้มันมีความหมายแห่งศีลธรรมเสมอ การศึกษาที่ทำคนให้เป็นมนุษย์นี้ต้องมีอยู่ อย่างขาดไม่ได้
ส่วนการศึกษาให้รู้อะไรของอาชีพนี้เป็นของผนวก เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ แล้วก็จะเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องตามอุดมคติเพื่อการศึกษาของการเป็นมนุษย์ งั้นธรรมชาติมันต้องการอย่างนี้
อาตมาใช้คำขึ้นมาคำหนึ่ง เรียกว่า ธรรมสัจจะ คือตัวแท้แห่งธรรมะ ตามธรรมชาตินั้นๆ มันต้องการอย่างนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นพวกแกไม่เป็นมนุษย์ พวกแกเป็นแต่คน และเป็นคนที่เลวลง เลวลง อย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ว่ามันไร้ศีลธรรม
นั้นการศึกษาที่ถูกต้องตามธรรมสัจจะของธรรมชาตินั้นจะต้อง เพื่อการเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องก่อน ที่เรามีอย่างนี้มามากในชั้นปู่ย่าตายาย มันมีความเป็นมนุษย์อยู่ในสายเลือด ถ่ายทอดกันมาโดยไม่ต้องพูดจากันกี่มากน้อย ไม่ต้องเรียน ไม่ต้องจดสมุด มันก็เลยรอดมาพักหนึ่ง พอมากระทบไอ้คลื่นการศึกษายุคใหม่ ทำให้สายเลือดนี้จางไปมันก็เหลือแต่วิชาการเพื่อปาก เพื่อท้อง เพื่อความเห็นแก่ตัวเท่านั้น ยิ่งเรียนยิ่งเห็นแก่ตัว มีวิกฤตการณ์ถาวรเกิดขึ้นทั่วไปทั้งโลกก็เพราะมีการศึกษาผิด จัดการศึกษาผิด แม้พวกฝรั่งเค้าก็ได้แยกไอ้การศึกษาออกไปจากมหาวิทยาลัย..........(นาทีที่ 59.26)............ นี้ด้วยเหมือนกัน
ทีนี้ก็มาถึงข้อสำคัญหรือข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่อาจารย์ระวีว่า ว่าการเรียนศาสนาหรือศีลธรรมนั้นมันไม่ใช่เรื่องปริยัติ คือท่องได้ พูดบาลีได้ จดไว้ได้มาก จำไว้ได้มาก เทศน์เก่ง นั้นมันเป็นส่วนปริยัติ ไม่ใช่ตัวแท้เนื้อแท้ของศีลธรรมหรือตัวศาสนาด้วยซ้ำไป มันเป็นเปลือกนอกที่สุด
แต่ตรงนี้ต้องขอเตือนไว้หน่อยว่า เปลือกนอกมันก็สำคัญ ถ้ามันไม่มีเปลือกนอกเนื้อในก็อยู่ไม่ได้ นั้นเราจะต้องมีทั้งเปลือกนอกและเนื้อใน แต่ถ้าเรามีแต่เปลือกนอก ไม่มีเนื้อในใครจะเอาบ้าง ใครจะเลือกเข้ามากินเปลือกผลไม้โดยไม่กินเนื้อในบ้าง การเรียนแปดประโยค สิบประโยค ยี่สิบประโยคก็ตาม มันเป็นเรื่องปริยัติล้วน ไม่มีเจตนารมณ์ของตัวศาสนา หรือธรรมสัจจะศาสนาอยู่ในนั้น เพราะมันทำไปเพื่ออาชีพ อย่างดีที่สุดก็เพื่อเกียรติยศชื่อเสียง นั้นการที่เรียนพระไตรปิฎกนี่ยังไม่ช่วยให้มีศาสนา
อาตมาไปพูดที่คุรุสภาว่า ยิ่งเรียนพุทธศาสนา ยิ่งไม่รู้พุทธศาสนา คนหลายคนไม่เข้าใจ เค้าก็นึกโกรธอยู่ในใจ เป็นยิ่งเรียนพุทธศาสนา ยิ่งไม่รู้พุทธศาสนา คือไปเรียนพระไตรปิฎก ไปเรียนประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา เรียนอะไรที่มันมีอยู่ในพระไตรปิฎกนั่นน่ะ มันไม่เข้าถึงตัวแท้ของศาสนา คือการประพฤติ กระทำที่ทำให้เกิดความถูกต้องทางกาย ทางวาจา ทางจิต ทางความคิดเห็น คือศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา อย่างที่กล่าวแล้ว
เรียนจบพระไตรปิฎกมันก็ไม่มีไตรสิกขาเลย ทั้งที่เรียกว่าศึกษาเหมือนกัน ทีนี้คนที่ไม่เคยเรียนพระไตรปิฎกกลับมีตัวแท้ของศีลธรรมและศาสนาโดยสมบูรณ์ นี่ก็มีอยู่มาก เขาเป็นพระอรหันต์ เป็นสกิทาคา โดยไม่ได้เรียนพระไตรปิฎกกันทั้งนั้น นี่อาตมาขอยืนยันได้ แต่เขาเรียนตัวจริงของเรื่องที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกนั่นเอง
เดี๋ยวนี้ที่น่าเป็นห่วงก็เหมือนที่อาจารย์ระวีว่า ที่เราจะบังคับหลักสูตรศาสนาลงไปในของประเทศเรานี้มันจะเป็นเรื่องปริยัติไปหมด ตอบเอาคะแนนหมด เดี๋ยวก็ยกหูชูหางขึ้นมาด้วยประกาศนียบัตรทางศาสนานั่นเอง อย่างนี้ยิ่งทับถมไอ้ตัวแท้ของศาสนาให้ศีลสูญสิ้นไปเสียอีก หรือว่าทำลายเนื้อในให้เน่าไปซะหมด เหลือแต่เปลือกอีก ก็ไม่พอ ก็ต้องรู้ไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องจัดการศึกษาทางศีลธรรมหรือทางศาสนา ทีนี้ที่ว่าศาสนานี้เป็นตัวศีลธรรมที่แท้จริง
นี้เป็นปัญหาหรือว่าเป็นความคิดที่ลึกซึ้งอันหนึ่งก็ต้องไปจัด ไปปรึกษาหารือกันในหมู่ผู้ที่รับผิดชอบ เรามาพูดที่นี่ไม่ไหว พูดได้แต่หัวข้อสรุปว่า ต้องจัดการศึกษาทางศาสนา ทางศีลธรรมให้คนได้เข้าถึงตัวแท้ของสิ่งนั้นๆ ก็คือไม่ใช่เรียนอย่างปริยัตินั่นเอง แม้ว่าในขั้นต้นมันต้องเรียนอย่างปริยัติ เรียนแบบลูกเด็กๆ ท่องจำ แต่ก็ต้องให้มันงอกงามออกไปจนถึงกับว่าถึงตัวแท้ของศาสนา
ปริยัตินี้มันก็มีความจำเป็นในแง่ที่ว่า มันเป็นเหมือนกับเปลือก จะคุ้มครองเนื้อในอย่าให้เน่า หรือถ้าดีกว่านั้นมันก็เหมือนกับเมล็ดพืชที่ยังไม่ได้เพาะ ถ้าไม่เพาะ ไม่มีการเพาะ มันก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะมันไม่งอกเป็นต้น เป็นดอก เป็นลูก นั้นปริยัติที่เหมือนกับเมล็ดพืชนี้ต้องเพาะมันด้วยการปฏิบัติ มันก็ออกมาเป็นต้น เป็นดอก เป็นลูก แล้วก็กินได้ ถ้าเรารู้ตัวอยู่อย่างนี้ ในการจัดการศึกษาคงจะไม่มีการเล่นตลกอีกต่อไปได้
ขอให้ผู้สนใจในเรื่องนี้นึกไว้เสียแต่เดี๋ยวนี้ สำหรับจะได้ช่วยกันจัดการศึกษาชนิดที่ถูกต้อง เพื่อการกลับมาแห่งศีลธรรม นี่เราภาวนาอยู่แต่อย่างเดียวว่า การกลับมาแห่งศีลธรรม การกลับมาแห่งศีลธรรม ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อการกลับมาแห่งศีลธรรม นี่เรามาพูดเห็นจะพันครั้งกว่าแล้วล่ะ ใครจะฟังไม่ฟังก็ตามใจ ยังจะพูดต่อไปอีกหลายพันครั้ง ให้ช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อการกลับมาแห่งศีลธรรม
นี่จะกลับมาได้อย่างไร ก็อย่างที่ว่า จัดการศึกษาที่ถูกต้อง ให้รู้เรื่องจริง แล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้มันเกิดเป็นผลขึ้นมาจริงๆ อย่าได้ติดอยู่เพียงแค่การศึกษาแต่ในส่วนปริยัติเลย เอาไว้ศึกษากันที่อื่น คราวอื่น โดยหมู่คณะที่ทรงอำนาจในที่อื่นว่า จัดการศึกษาว่าอย่างไรให้มันมีการศึกษาแท้จริงขึ้นมา ในระบบการศึกษาทั้งหลาย นับตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมฯ มัธยมฯ จนกระทั่งถึงอุดมศึกษา
อาตมาคิดว่าจัดในอุดมศึกษามันคงจะง่าย เพราะมันโตแล้วมันจะพูดกันรู้เรื่อง ถ้าครูอาจารย์เก่งพอก็พูดกันไม่กี่คำมันก็อาจจะรู้เรื่อง เพราะว่าคนมันโตแล้ว มันเรียนมาฉลาดมาก แต่ทีนี้ยังไม่รู้จักใช้ความฉลาด มันจึงไม่มุ่งตรงลงไปยังเจตนารมณ์ของศีลธรรมหรือศาสนาที่แท้จริงได้
ถ้าหากว่ามีการปรับปรุงบ้างจากที่ไม่ยากลำบากมากมายนัก ในระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยนี้ การศึกษาทางศาสนาหรือทางศีลธรรมอาจจะกลับมาในลักษณะที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ได้จริง ขอให้ช่วยเอาไปคิดไปนึก ส่วนในระดับอนุบาล ประถมฯ นี่ ลูกเด็กๆเล็กๆ มันลำบาก เพราะว่าในสายเลือดของเค้านั้นมันได้ถูกกรอกเอาสายเลือดแห่งความมีศีลธรรมออกไปเสียหมดสิ้นแล้ว ตั้งสี่สิบ ห้าสิบปี หรือหกสิบปีมาแล้ว
เดี๋ยวนี้เด็กเกิดมาไม่มีสายเลือดแห่งการกลัวบาป รักบุญ เหมือนกับเด็กๆ รุ่นก่อน เพราะเค้าได้รับการอบรมในทางที่ให้ตามใจตัวเอง สรวลเสเฮฮาไปด้วยการเล่นและการเรียน มันนิสัยตามใจตัวเอง เห็นแก่เนื้อหนังมันมาก คงจะยากเหมือนกัน แต่มันก็ไม่เกินวิสัย ตั้งระบบหรือเทคนิคหรือsystem อะไรที่ดีกันเสียใหม่ ใหม่ นี่ต้องใช้คำว่า ใหม่ ให้ลูกเด็กๆ เค้าถูกแวดล้อมมาด้วยการศึกษาที่ถูกต้องตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่ที่ลืมตาขึ้นมาดูโลก มีความถูกต้องอยู่ที่เนื้อที่ตัวของพ่อแม่ ของพี่เลี้ยงนางนมอะไรก็สุดแท้ ซึ่งเป็นการสอนศีลธรรมสอนศาสนาอยู่ที่เนื้อที่ตัวนั้น เด็กๆ ก็จะกลับมีสายเลือดของความมีศีลธรรม เค้าก็ดีขึ้น
พอมาโรงเรียนชั้นอนุบาลมันก็มีวิธีการที่ถูกต้องอีก มันก็ดีขึ้นอีก ชั้นประถมฯ มัธยมฯ ก็อย่างเดียวกัน พอถึงชั้นอุดมศึกษาก็จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้จริง ไม่ต้องเที่ยวแห่ไปแห่มา เพื่อประท้วงนั่นประท้วงนี้ ซึ่งไม่มีใครรับผิดชอบ มันไม่ความรู้จนกระทั่งว่า มันไม่มีใครรับผิดชอบ แล้วตัวเองก็ทำด้วยความมุทะลุดุดัน เพราะว่าจิตใจนั้นปราศจากศีลธรรม
จึงขอแค่นิดหน่อยตรงนี้ว่า ถ้ามันมีศีลธรรมแล้ว มันไม่เกิดเหตุการณ์ชนิดที่ทำให้วุ่นวายเหมือนเดี๋ยวนี้ ถ้ามันมีศีลธรรม มีการศึกษาที่ถูกต้องคือศาสนาอยู่ในคนแล้ว โลกนี้ไม่เกิดระบบชนสมาชีพ(นาทีที่ 1.07.50) และระบบนายทุน แล้วก็ไม่มีปัญหาเรื่องชนสมาชีพ (นาทีที่ 1.07.55) และนายทุน เพราะมีการศึกษาที่ถูกต้อง การศึกษาที่ถูกต้องตามหลักศาสนานั้น จะมีมนุษย์ที่เป็นมนุษย์ที่แท้จริง ไม่มีวิญญาณแห่งนายทุน ไม่มีวิญญาณแห่งชนคนมาชีพ (นาทีที่ 1.08.05) ผู้โง่เขลาหรือเกียจคร้าน ไม่มีวิญญาณแห่งนายทุนผู้เอาเปรียบ
ถึงแม้ว่าคนหนึ่งจะรวยมาก คนหนึ่งจะจนมาก ก็ไม่มีลักษณะแห่งนายทุน หรือชนสมาชีพ (นาทีที่ 1.08.19) มีแต่ผู้ที่เป็นไปตามกรรม ตามกฎแห่งกรรมที่เค้าได้กระทำไว้อย่างน่าเวทนาสงสาร เมื่อเป็นอย่างนี้ใครๆก็สงสาร ผู้ร่ำรวยก็สงสารคนจน คนจนก็ทำตัวดีน่ารักน่าสงสาร อย่างนี้จะไม่เกิดนายทุน ไม่เกินชนสมาชีพ (นาทีที่ 1.08.40) การศึกษาผิดทำให้คนโง่ เห็นแก่ตัวจัด
เกิดระบบที่มีช่องว่างไกลกันจนต้องเรียกว่านำใหม่ว่า นายทุน หรือ ชนกมาชีพ(นาทีที่ 1.08.51) อีกนะ มีความหมายต่างกันว่า คนรวย หรือคนมั่งมี บัญญัตินี้บัญญัติเฉพาะว่า คนมั่งมีก็ไม่จำเป็นต้องเป็นนายทุนที่เห็นแก่ตัว คนจนก็ต้องไม่เป็นชนกมาชีพ ที่มุ่งทำร้ายนายทุน เหมือนสมัยนี้
นี่ยกตัวอย่างของผลแห่งการจัดการศึกษาที่ถูกต้อง คือมีศีลธรรมและศาสนาเข้ามา นั้นเราเลิกพูดถึงประท้วง เพื่อความเป็นธรรมนั่นนี่ โดยไม่คำนึงถึงความจริงหรือกฎอันแท้จริง ที่เนื่องอยู่กับศีลธรรมและศาสนา ขอให้หันหน้ามาจัดการกันให้ถูกต้องกับสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม หรือศาสนา แล้วปัญหานองเลือดทั้งหลายก็จะไม่มี
ถ้าเห็นประโยชน์อันนี้ ว่าเป็นไปได้อย่างนี้แล้ว เราก็คงจะมีกำลังใจ มีศรัทธา มีความกล้าหาญ เชื่อมั่นในตัวเอง จัดการศึกษากันเสียใหม่ให้ถูกต้อง มันก็คงจะเป็นไปได้เป็นแน่นอน นี่อาตมาก็มีความเห็นอย่างนี้ซึ่งสรุปได้ว่า เราต้องเปลี่ยนระบบการศึกษาให้ถูกตรงตามธรรมสัจจะของธรรมชาติ เพื่อมนุษย์มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง ประกอบอยู่ด้วยคุณธรรมสำหรับความเป็นมนุษย์คือ ศีลธรรม เป็นความปกติในทางการประพฤติหรือเหตุที่จะสร้างความปกติ
แล้วก็มีความปกติซึ่งเป็นผลของการประพฤตินั้น มันก็สมคล้ายกันกับความปกติของธรรมชาติ ซึ่งชื่อว่าธรรมชาติแล้วต้องมีความสงบเสมอ
นี่สรุปความแล้ว ก็จัดการศึกษาเสียใหม่ให้ถูกต้อง ตามความประสงค์ของพระเป็นเจ้า คือกฎของธรรมชาติที่ตายตัวเด็ดขาด ไม่มีใครขัดแย้งได้ โต้แย้งได้ ปัญหาก็คงจะหมดไปเป็นแน่นอน
นี่ผลก็บังคับให้ปิดประชุมแล้ว เวลามันก็มากพอแล้ว ก็ขอยุติในการประชุมครั้งนี้ไว้แต่แค่นี้ก่อน