แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ท่านอาจารย์[1] บางทีก็ใช้คำว่าธรรมราคะ คือไม่ใช่ราคะหรอก ราคะในธรรมะ พอใจในธรรมะก็มี เพื่อจะให้มันถูกใจคนที่มีราคะ ถ้าใครจะมีราคะก็จงมีธรรมราคะอย่าไปมีกามราคะเป็นต้น นี่เรียกว่ากามราคะเป็นต้นมันไม่มี เราได้รับความสบายใจอย่างธรรมะ เรากำลังมีนันทิในธรรมะ มีธรรมราคะ มีธรรมนันทิช่วยดึงเอาไว้ ช่วยยึดเอาไว้อย่าให้พลัดไปฝ่ายนู้น จริงไหม คุณก็คงมาสวนโมกข์บ่อยๆ ถ้ายังนั้น
ผู้ตอบ ผมก็เพิ่งมา ยังไม่ได้เดินดูรอบๆเลยครับ
ท่านอาจารย์ คนคนหนึ่งที่บ้านโป่งมาเป็นครั้งที่ ๑๙ แล้ว จะได้อะไรบ้างก็ไม่รู้ แต่มาเป็นครั้งที่ ๑๙ แล้ว เขียนไว้ในสมุดเยี่ยม มันก็มาแล้วควรจะได้อะไรบ้าง อย่าให้เป็นจวักตักแกงหรือว่าเป็นอะไรที่เขาไม่รู้รสแกง ในนั้นมันมีภาพที่จะให้ความรู้ทำนองนี้แต่ว่ามันมากนัก คุณอย่าไปดูทั้งหมด ดูแต่บางภาพ สักสองสามภาพแล้วให้เข้าใจจริงๆ ภาพที่ดีดูง่ายอยู่ภาพหนึ่ง ก็มีว่า “พ้นแล้วโว้ย” คุณไปดูให้เข้าใจ พ้น พ้น พ้น พ้นจน จนพ้นไปหมด พ้นแผ่นดิน พ้นนรก พ้นแผ่นดิน พ้นสวรรค์ พ้นพรหมโลก พ้นจนไม่มีอะไรจะพ้น จึงจะเรียกว่า “พ้นแล้วโว้ย” ไม่มีเยื่อใยของกิเลสแม้แต่ชนิดใดชนิดหนึ่ง
ผู้ถาม อาจารย์ครับที่ท่านพูดบอกว่า จิตว่างนี้คือนิพพาน หมายความว่าสิ่งที่คนเราควรจะทำก็คือวางจิตว่างตลอดเวลา แต่ว่าในอันนี้เป็นส่วนที่เกี่ยวกับตัวเราเอง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องกระทำต่อผู้อื่น จะต้องกระทำต่อสังคม ท่านอาจารย์ว่าควรจะทำอย่างไรบ้าง
ท่านอาจารย์ ทำให้จิตว่างก่อนเถอะแล้วมันรู้ว่าควรทำอะไรแก่เราหรือแก่ผู้อื่น จิตว่างนี้จะไม่มีความเห็นแก่ตัว ทีนี้มันอยู่นิ่งไม่ได้ตามธรรมชาติ นามรูปนี้อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องเคลื่อนไหว ทีนี้จิตว่างมันเต็มอยู่ด้วยปัญญาและมันก็บอกว่าควรทำอะไร ควรทำอย่างไร อะไรน่าทำกว่า ในที่สุดจะพบว่าทำประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคนมันน่าทำกว่าที่จะทำเพื่อเราคนเดียว เมื่อเราไม่จำเป็นจะต้องทำเพื่อเราก็ได้ เมื่อจิตว่างแล้วก็มันไม่ต้องการอะไรแล้ว แต่นี้ก็อย่างที่บอกแล้วมันอยู่นิ่งไม่ได้ อาตมาก็ตามใครก็ตามมันอยู่นิ่งไม่ได้หรอก มันต้องทำอะไรอย่างหนึ่ง ฉะนั้นไปเลือกเอาเถอะว่าจะทำอย่างไร นี้อยากจะทำให้มีประโยชน์มาก มันก็ทำให้มันกว้างออกไป คือทำประโยชน์แก่คนทั้งโลก จิตว่างนั้นจะรู้จักทำสิ่งที่ควรทำ ก็พูดได้อย่างนั้น จะรู้จักสิ่งที่ควรทำ ควรหยุดหรือควรทำ หรือควรทำอย่างไร มันรู้มันเองแหละ เราจะพูดให้ตายตัวลงไปโดยส่วนเดียวมันพูดไม่ได้ ขืนพูดแล้วก็ผิดแหละ มันต้องว่าแล้วแต่ควรจะทำอย่างไร เหตุผลมันมีอยู่เรื่อยว่าควรจะทำอย่างไร หรือไม่ควรทำเลยอยู่นิ่งๆ ดีกว่าก็มี
ผู้ถาม จิตว่างกับสตินี้เหมือนกันไหมครับ ท่านอาจารย์ครับ
ท่านอาจารย์ มันไม่ใช่สิ่งเดียวกันแต่มันแฝดกันอยู่ พอมีสติจิตก็ว่าง พอขาดสติจิตก็วุ่นได้ มีโอกาสวุ่นได้
ผู้ถาม จิตเกิดจากอะไร มาจากไหนครับ
ท่านอาจารย์ นี้เป็นปัญหาที่ไม่ต้องถาม เป็นปัญหาที่ควรจะถามแต่เพียงว่าเราจะจัดการกับจิตอย่างไร เพราะฉะนั้นคุณต้องถามว่าเราจะจัดการกับจิตอย่างไร อย่าถามว่าจิตมาจากไหน จิตคืออะไร มันไม่คุ้มกับเวลา แล้วขืนอธิบายประเดี๋ยวก็ง่วงนอน เพราะว่าจิตไม่ได้มีจริงไม่ได้มีสิ่งที่มีอยู่จริง แต่ขืนเอาไปพูดว่ามีอยู่จริงอย่างนั้นอย่างนี้มันก็ไม่ถูก จิตนี้เป็นของฟลุคในทางวิญญาณ ทางจิตนั่นแหละ เกิดขึ้นเป็นความรู้สึกหนึ่งๆ ก็เรียกว่าจิตหนึ่งๆ มิได้มีอยู่จริง เป็นของปรุงแต่งด้วยการฟลุคเองชั่วขณะ ชั่วขณะ ชั่วขณะ สั้นบ้าง ยาวบ้าง
ผู้ถาม หมายความว่าถ้ามีนามรูปมาเกิดขึ้นพอเหมาะพอสม จิตก็เกิดขึ้นใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ นามรูปนี้ก็ไปตามธรรมชาติพอมามีอะไรเข้ามาช่วย มาทำมันเข้า มันก็ปรุงเป็นความคิดขึ้นมา เรียกว่าจิตดวงหนึ่ง จิตดวงหนึ่ง โดยที่แท้ไม่มีอะไรมีแต่ธรรมชาติ มีแต่ธรรมชาติ
ผู้ถาม ถ้าอย่างนั้นไม่ขัดกับหลัก พุทธแท้หรือครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ อู้ย, นี้มันเรื่องพูดเป็นระบบการพูดที่ว่าจะสอนศีลธรรม ถ้าเราไม่ต้องการสอนศีลธรรมเราจะพูดความจริงทั้งหมด แล้วเราจะพูดว่าไม่มีอะไร จิตเจิดก็ไม่มี มีแต่ธรรมชาติ แต่นี้เรายังต้องการจะอยู่เป็นสุขเกี่ยวกับจิต เพราะฉะนั้นเราต้องจัดการฝึกฝนจิตตามแบบฉบับที่ดีที่พระพุทธเจ้าท่านได้วางไว้ให้แล้ว เราไม่ต้องเสียเวลาไปค้นเองเพราะว่าเราไปค้นเองก็คงจะตายก่อนคงจะไม่พบ ก็ใช้ระบบที่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้ให้แล้ว มาปฏิบัติดู พอปฏิบัติดูก็รู้ว่าดีแน่ คือจิตเดิมเริ่มเย็นลง เย็นลง สงบลง เอาแต่เพียงเท่านี้ อย่าถามว่าจิตคืออะไร มาจากไหนมันก็ไม่ค่อยมีประโยชน์ เพราะว่าคำถามที่จำเป็นกว่ามันมี คือถามว่าจะจัดการกับจิตอย่างไร จะควบคุมจิตอย่างไร จะจัดการกับจิตอย่างไร เรื่องอย่างนี้อาตมาชอบให้เปรียบว่าเหมือนกับไฟฟ้า อย่าไปรู้มันเลยว่ามันคืออะไรหรือมันมาจากไหน รู้แต่ว่าจะเอามันมาใช้ได้อย่างไรพอแล้ว จะทำให้เกิดกระแสขึ้นมาใช้ได้อย่างไร เท่านี้พอแล้ว
ผู้ถาม เหตุผลหนึ่งมาจากเหตุ แล้วก็อยากไปซักถามต้นเหตุ
ท่านอาจารย์ เราเอาแต่เหตุแค่ที่เราควรจะรู้ เหตุเท่าที่เราควรจะรู้ อย่าให้รู้เลยไปโดยไม่จำเป็น เรารู้แต่ว่าทำอะไร ให้กระแสไฟฟ้าเกิดขึ้น แล้วใช้มันไปเถอะ ใช้ทุกอย่างที่เราจะใช้ เท่านั้นพอแล้ว ถ้าจะไปรู้ว่ามันคืออะไรแน่แล้วมันจะไม่มีที่สิ้นสุด ถึงนักวิทยาศาสตร์เดี๋ยวนี้ เวลานี้มันก็ไม่รู้ว่าไฟฟ้านี้คืออะไรโดยแท้จริง หรือมาจากไหน มันมีส่วนที่ยังไม่รู้ นี้ไปขืนจะรู้อันนั้นอยู่มันก็ไม่ต้องทำไฟฟ้าใช้ มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้เกิดกระแสขึ้นมาใช้แสงสว่าง ใช้แรงงาน ใช้อะไรตามใจ พระพุทธเจ้าท่านก็ต้องการเพียงเท่านี้ ต้องการแต่ว่าความทุกข์เกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไร อย่าไปคิดให้มันไกลกว่านั้นเลย อย่างดีก็ว่าความทุกข์มาจากความโง่ ก็แก้ไขความโง่ อย่าต้องถามว่าความโง่เกิดมาจากอะไร มันมากเกินไป ที่จริงจะให้ตอบท่านก็ตอบได้ แต่ว่าเรื่องที่ด่วนกว่ามันมี พูดเรื่องจำเป็นกว่ากันก่อนดีกว่า
ผู้ถาม ทำให้คนอ่านหนังสือมากๆแล้ว ต้องการอยากจะรู้เพราะเป็นวิสัยของปุถุชนส่วนใหญ่
ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าก็บอกเอาไว้แล้วว่าฉันพูดเท่ากำมือเดียว ทั้งหมดมันมีเท่าทั้งป่านี้ เรื่องที่เราควรบอกกันนี่มีกำมือเดียว ถ้าพูดเป็นประโยคบาลีก็ว่า อิทัปปัจจยตา เรื่องอื่นไม่ต้องรู้ รู้แต่เรื่องอิทัปปัจจยตาเรื่องเดียว คำนี้แปลว่ามันเป็นกฎ กฎอันหนึ่งสำหรับรู้ สำหรับปฏิบัติ สำหรับบริโภคผลอะไรก็ได้ว่า เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น มีเท่านี้ เช่นทุกข์ มันก็เพราะมีเหตุอย่างนี้ ทุกข์มันจึงมีเกิดขึ้น ความดับทุกข์ต่างๆมันมีปัจจัยของมันอย่างนั้น ปัจจัยอย่างนั้นมีทุกข์มันก็ดับ นี้เรียกว่าเรื่องอริยสัจ ๔ แต่กฎที่จะพูดคำเดียวจบก็ว่าอิทัปปัจจยตา เพราะสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น นี่ใบไม้กำมือเดียวที่ท่านเอามาสอน ส่วนที่ท่านรู้รู้หมดเท่ากับใบไม้ทั้งโลก ทั้งป่า ใบไม้ทั้งป่า แล้วนำมาสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว อย่าถามว่าอวิชชามาจากอะไรอยู่เลย เพราะอวิชชามันก็ปรากฏแก่จิตอยู่แล้ว เกิดทีไรก็เป็นทุกข์ทุกที ทำให้ทำผิด เกิดโลภ เกิดโกรธ เกิดหลง แล้วก็เป็นทุกข์ทุกที แล้วก็เป็นอยู่โดยที่อวิชชามันจะเกิดขึ้นไม่ได้ คือทำความรู้สึก รู้สติ รู้สัมปชัญญะ สังเกตอยู่เสมอว่าถ้าปล่อยจิตให้คิดไปอย่างนั้นแล้วต้องเป็นทุกข์ ฉะนั้นอย่าให้มันไปอย่างนั้นให้มันอยู่อย่างนี้ก็พอแล้ว จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง พอแล้ว อย่าไปถามเหตุผลให้มันมากจนมันไม่มีเวลาจะปฏิบัติ
ความทุกข์เกิดเพราะจิตมันเกิดปรุงเป็นตัวกูของกู ขอให้สนใจอย่างนี้จะเร็ว ไอ้การศึกษาจะเร็ว เดี๋ยวนี้เราไม่สังเกตเสียเลย จนไม่รู้เลยว่าจิตชนิดไหนเป็นจิตตัวกูของกู จิตชนิดไหนว่างจากตัวกูของกู เหมือนกับเปรียบเทียบว่าเมื่อเดินเข้ามาตรงนั้นจิตว่างจากตัวกูของกู นั่งปวดหัวอยู่ที่ออฟฟิศนั่นน่ะคือจิตเต็มไปด้วยตัวกูของกู ก็เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง แล้วก็ค่อยแก้ไข แก้ไข ไม่ให้จิตมันเกิดแบบนั้น แต่ให้มันว่างอยู่แบบนี้อิสระอยู่แบบนี้ หลุดพ้นอยู่เรื่อย
เอาสิ, ถ้าไม่มีปัญหาอะไร ไปดูไอ้นั่นบ้าง ไปดูนรกหลายๆ ชนิดอยู่ใต้กระดานดำ ไปดูจิตว่างได้ยินหญ้าพูด ถ้าคุณเข้าใจก็วิเศษแล้ว จิตว่างได้ยินหญ้าพูด อ้าว, ให้คุณไสวพูดที นั่นไมโครโฟนเขาวางไว้แล้ว อาตมาเหนื่อยแล้ว ช่วยย่อใจความ ช่วยสรุปใจความ ช่วยทำให้ง่าย ทำของยืดยาวให้สั้น
คุณไสว ผมขอเพิ่มเติมเรื่องจิตว่างที่ท่านอาจารย์พูดนะครับ บางทีผมอาจจะช่วยทำให้ท่านเกิดความเข้าใจ ช่วยท่านอาจารย์อีกแรงหนึ่ง คือถ้าจะเปรียบแล้วท่านอาจารย์ก็เปรียบเหมือนกับว่าครูชั้นมหาวิทยาลัย ไอ้ผมมันครู ปป. บางทีสำหรับขั้นต้นนี่ บางทีครูชั้นประถมอาจจะพูดได้เข้าใจง่าย ปกติผมก็พูดอยู่ลานอโศกวัดมหาธาตุ คือเรื่องจิตว่างนี่ถ้าหากว่าเราไม่เข้าใจคำคำหนึ่งเสียก่อนแล้ว ผมคิดว่ายากที่จะเข้าใจจิตว่างที่ท่านอาจารย์สอนได้ คำนั้นคือคำว่า อุปาทาน เพราะว่าคำจิตว่างนี่ ถ้าเขียนจิตว่างแล้วต้องมีไปรยาลน้อยต่อท้าย คือมันไม่มีความหมายแค่นั้น มันว่างจากอะไร ว่างจากอุปาทาน ถ้าหากว่าจิตวุ่นก็คือจิตมีอุปาทาน เข้าใจไหมครับ อย่าจิตว่างเฉยๆ ถ้าจิตว่างเฉยๆ มันคล้ายๆกับว่าว่างไม่รู้อะไรเลยก็ได้ แต่ว่าจิตว่างจากอุปาทานมันรู้อะไรสารพัดในขณะนั้น แต่มันไม่มีอุปาทาน อุปาทานก็คือความยึดถือว่าตัวตนในขณะนั้น คนทุกคนขณะที่ลืมตาไม่มีใครจะจิตว่างจากอารมณ์ได้ ไม่รูปกระทบตา เสียงกระทบหู กลิ่นกระทบจมูก แม้นอนหลับก็ยังฝันมันก็ยังไม่ว่างจากอารมณ์ แต่ว่าคำว่าจิตว่างที่ท่านอาจารย์สอนไม่ใช่ว่าจิตว่างจากอารมณ์ ในที่นี้ขอให้เข้าใจนะครับว่าอารมณ์ในภาษาธรรมะเขาหมายถึงรูปกระทบตา นี่เรียกรูปารมณ์ เสียงกระทบหู นี่เรียกสัททารมณ์นะครับ ประเดี๋ยวไม่เข้าใจนึกว่าอารมณ์เป็นกิเลส ชาวบ้านมักจะเรียกกิเลสว่าอารมณ์ อันนี้ทำความเข้าใจเสียก่อน เมื่อกี้ที่ท่านผู้ถาม ถามแล้วรู้สึกว่าจะถามกิเลสแต่เรียกว่าอารมณ์ ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าอารมณ์ในที่นี้ได้แก่สิ่งภายนอกที่มากระทบจิตให้รู้ โดยต้องผ่านอายตนะรับรู้ทั้งห้าทางนะครับ
คำว่าจิตว่างไม่ใช่จิตว่างจากอารมณ์ จิตต้องรู้อารมณ์ ธรรมชาติของจิตต้องรู้อารมณ์ อารมณ์เป็นธรรมชาติมายืนให้จิตรู้ ไม่ว่าจิตปุถุชนหรือจิตพระอรหันต์ต้องกระทบอารมณ์เข้าใจไหมครับ แต่คำว่าจิตว่างในที่นี้คือว่างจากอุปาทาน ไอ้อุปาทานมันคนละอย่างกับอารมณ์ อุปาทานที่ท่านอาจารย์เน้นนักก็คือว่าอุปาทานในการยึดถือในกองสังขารในธรรมชาติของปรุงแต่งที่ธรรมะเขาเรียกว่ารูปนาม ขันธ์หรือธาตุ อันไม่ใช่เป็นสัตว์เป็นบุคคลจริง ตามที่เราสมมติว่านี่แหละเป็นตัวเรา ภาษาบาลีเรียกว่าอัตตา หรือของเราอัตตนิยา แต่ท่านอาจารย์ต้องการให้คำนี้มันหนักก็เรียกว่า ตัวกูของกู เอาภาษาพ่อขุนรามคำแหงมาใช้มันหนักดี มันไม่ต้องคิดอะไรมาก เข้าใจไหมครับ ว่างจากตัวกู ว่างจากของกู เมื่อเข้าใจว่าจิตว่างจากอุปาทานคือว่างจากตัวกูของกูแล้ว ท่านก็จะพิจารณาพบทีเดียวว่าวันหนึ่งๆ หรือชั่วขณะหนึ่งๆนะ เรากำลังทำงานก็แล้วแต่หรือขณะฟังธรรมก็แล้วแต่ ขณะนั้นน่ะความรู้สึกว่าตัวเราหรือตัวกูไม่ได้มีตลอดเวลา แต่ว่าจิตรู้อารมณ์ตลอดเวลา เข้าใจไหมครับ ที่นี้เมื่อมันไม่มีตัวเราคือไม่มีตัวกู ไม่มีอุปาทาน ทุกข์มันก็ไม่มี ท่านสังเกตดูเถอะครับ ท่านนั่งอยู่นี่สมมติว่ามีใครมาด่ากัน ด่ากันหยาบๆคายๆนี่ ท่านก็ยังมีจิตไม่วุ่นในขณะนั้นท่านยังไม่ทุกข์ แต่ถ้าเขาเอ่ยชื่อเรา ด่าเราเท่านั้นแหละพอมีเราขึ้นมา เข้าใจไหมครับ นี่อย่างอินเดีย ปากีสถาน รบกันตายเป็นหมื่นเป็นแสนเราอ่านหนังสือพิมพ์ก็เฉยๆ แต่ถ้าหากว่ามีลูกหลานเราไปเรียนที่อินเดียได้ข่าวว่าตาย เราไม่เฉยแล้ว เราวุ่น นี่แสดงว่าเมื่อไรมีตัวเรามีของเราเข้าไปตรงนี้เป็นอุปาทานแล้วมันก็วุ่น เข้าใจไหมครับ แต่มันไม่ได้มีอุปาทานตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการเข้าใจจิตว่างต้องเข้าใจอุปาทานเสียก่อน เข้าใจนะครับ ที่นี้ปุถุชนน่ะมันว่างบ้างวุ่นบ้าง บ้างครั้งมันก็มีอุปาทานว่าตัวเรา บางครั้งมันก็ไม่มี จึงเรียกว่าปุถุชนเวียนว่ายตายเกิด แต่เมื่อมันวุ่นที่มันตัวเรา ที่มันก็มีตัวเรา ที่เป็นสุขก็มี ก็เรียกว่าสวรรค์ ไอ้ตัวเราที่เป็นทุกข์ก็มี ก็เรียกว่านรก เขาชมเราเราชอบใจนี่ขึ้นสวรรค์แล้ว เขาด่าเรา เราโกรธนี่นรก และปุถุชนก็จะตกนรกขึ้นสวรรค์อยู่อย่างนี้ เวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้ ที่นี้ถ้าจะแบ่งสวรรค์เป็นเทวดาเป็นพรหมก็แล้วแต่ เป็นภพหลายภพก็มี ส่วนในนรกก็เป็นเปรตก็มี เป็นสัตว์นรกพวกที่โกรธโมโหจะทำร้ายก็เป็นเดรัจฉาน เที่ยวหลอกหลอนเขาก็มี เข้าใจไหมครับ นี่คือสวรรค์นรกในทางพุทธศาสนา เพราะอะไร เพราะพระพุทธเจ้าท่านบัญญัตินิพพานไว้ในกายยาววาหนาคืบอันมีพร้อมสัญญาและใจ เมื่อบัญญัตินิพพานไว้ในคนเป็นๆ สวรรค์ นรก ก็ต้องอยู่ในคนเป็นๆ คนโบราณจึงบอกว่าสวรรค์ในอก นรกในใจ นิพพานไม่ใกล้ไม่ไกล ก็อยู่ในใจนั่นเอง ที่นี้เมื่อไรเป็นสวรรค์ เมื่อมีตัวกูที่ดีใจพอใจเป็นสุข แต่นี่สวรรค์เป็นสุข ทำไมเราไม่พอใจสวรรค์ ทำไมต้องไปนิพพาน ก็เพราะสุขแบบสวรรค์มันสุขไม่เที่ยง มันสุขๆดิบๆคือมันพอใจขึ้นมาชั่วครู่แล้วมันก็ดับไปนะครับ เมื่อสวรรค์คือความสุขดับไป ไอ้ความทุกข์ นรกมันก็อาจจะครอบงำ แต่มันก็อยู่ไม่นานครับ แล้วมันก็ดับไปอีก แล้วเดี๋ยวไอ้ตัวกูที่เป็นความสุขแบบสวรรค์ก็เกิดอีก มันจะวุ่นวายอยู่อย่างนี้ครับ แต่ทีนี้เมื่อประสบการณ์นานเข้า นานเข้า ทำอย่างไรเราถึงจะพบกับความสุขที่เที่ยงแท้เสียที พระพุทธเจ้าก็บอกว่าต้องนิพพานหรือสุญญตา ก็คือทำจิตให้ว่างอย่าให้มันเกิดตัวกูขึ้นมาอีกเลย
ทีนี้ทำอย่างไรถึงจะไม่เกิดตัวกู ไม่เกิดจิตวุ่น ไม่เกิดอุปาทาน ตอนนี้แหละเราก็ต้องรู้ว่ามันมีเหตุอะไรที่มันทำให้เกิดอุปาทาน พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าผลทั้งหลายมาจากเหตุ “เยธัมมา เหตุปปะภะวา เตสัง เหตุง ตะถาคะโต พระตถาคตย่อมแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น เตสัญจะโยนิโรโธ พร้อมกับความดับไปของธรรมเหล่านั้นเพราะสิ้นเหตุ เอวัง วาที มะหาสะมะโณ พระมหาสมณะทรงแสดงเหตุ” ในที่นี้เราเอาตัวอุปาทาน ตัวกูเป็นผลเราต้องการจะดับมันเพื่อจะให้ถึงนิพพาน ให้ถึงสุญญตา ให้ถึงจิตว่างที่ถาวรเสียที ไม่ใช่ว่างๆวุ่นๆแบบปุถุชน อะไรเป็นเหตุ กลอนของท่านพุทธทาสก็ชัดขึ้นมาอีกว่า “อันความจริงตัวเรานั้นไม่มี” แต่มันก็มีขึ้นจนได้ ท่านฟังให้ดี โดยมากคนเราไม่ฟังธรรมมาก่อน ก็เข้าใจว่าขันธ์ห้าธรรมชาติหลบซ่อนนี้เป็นตัวเรา เป็นคนเป็นสัตว์ ถ้าสำคัญอย่างนั้นก็เรียกว่าโง่ โง่ในที่นี้ก็คืออวิชชาสำคัญผิดนะครับ ธรรมชาติมันไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ท่านเรียกว่าอนัตตา เราก็ไปสำคัญว่าเป็นอัตตา เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเราขึ้น ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือคุณลองจับตรงไหนสิว่า อ้าว, นี่ผมนะ นี่นายไสว ลองจับดูตรงไหนนายไสว จับหมับเลย นี่นายไสวนี่ ก็ตัดแขนมาวางไว้ นี่นายไสว นี่ไม่ใช่ นี่แขน แขนแน่นะ แยกออกมาไม่มีแขน มีเนื้อมีหนัง เอาเนื้อแน่นะ เอาเนื้อมาแยกเป็นอะไรก็ไม่ทราบ แยก แยก แล้วมันไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร ไม่รู้ว่าธรรมชาติที่มีเป็นอะไรกันแน่ได้แต่สมมติเรียกอย่างโน้นอย่างนี้ อย่างนี้เขาเรียกว่า อนัตตา อนัตตาหมายความว่าไม่ใช่ไม่มีอะไร อนัตตานี่มีแต่มีอย่างไม่เป็นอะไร ท่านฟังให้ดี ถ้าไปแปลอนัตตาว่าไม่มีอะไรมันจะเป็นอุจเฉททิฏฐิ ถ้าไปแปลอนัตตาว่าไม่มีอะไรมันจะเป็นอุจเฉททิฏฐิ อนัตตาไม่ได้แปลว่าไม่มีอะไร อนัตตาแปลว่าไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่อัตตาก็คือไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวเรา แต่สิ่งนั่นมีแน่ แต่มีอย่างไม่ใช่ตัวเรา นี่คืออนัตตา เข้าใจไหมครับ ธรรมชาติน่ะมีแน่ ไม่มีมันจะส่งเสียงมาได้อย่างไร แต่ว่าอย่าไปสำคัญว่านั่นเป็นตัวตนขึ้น
เพราะฉะนั้นหลักที่ท่านอาจารย์ได้ให้เมื่อวานว่าอิทัปปัจจยตา หลักอิทัปปัจจยตาคือทางสายกลางที่จะเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อดับอุปาทาน ดับอย่างไรเพราะว่าถ้าคนนั้นยังสำคัญว่านี่เป็นตัวตน เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา นี่เป็นสัสสตทิฏฐิ เพราะฉะนั้นหลักอิทัปปัจจยตาจึงสอดลงไปว่าอย่าไปสำคัญว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรขึ้นมา เพราะมันไม่เป็นจริงตามที่เราเรียก ไม่เป็นจริงตามที่สำคัญ สิ่งนั้นๆเกิดเพราะสิ่งนั้นๆเป็นปัจจัย สิ่งนั้นเกิดเพราะสิ่งนั้นเป็นปัจจัยและอย่าไปบอกว่าเป็นสิ่งอะไรขึ้นมา และไอ้สิ่งที่เกิดมันก็ไม่เกิดอยู่ตลอดไป มันก็ต้องเปลี่ยนต่อไปอีก สิ่งทั้งหลายมันอยู่ในสายของการเปลี่ยนแปลง บางครั้งมันเป็นสิ่งไม่มีชีวิตกระจายกันขึ้นไปเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ในบางครั้งไอ้สิ่งที่ไม่มีชีวิตก็มาเป็นมีชีวิต ท่านสังเกตดูสิเราสูดอากาศเข้าไปมันมีชีวิตที่ไหนกันล่ะ อากาศ น้ำ เราดื่มมันมีชีวิตที่ไหน อาหารที่ต้มสุกแล้วมันมีชีวิตที่ไหน พวกนี้ไม่มีชีวิตเลยครับ แต่ทำไมมันเข้าไปในนี้แล้วถึงเกิดมีชีวิตขึ้นมา มันเกิดเป็นเซลล์มีชีวิตขึ้นมา อันนี้แหละอิทัปปัจจยตาเข้ามาจับเลย มันเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุปัจจัยมันอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้น ที่นี้พอมีชีวิตขึ้นมาแล้วมันก็มีธรรมชาติอย่างหนึ่งเกิดขึ้นคือจิตและวิญญาณ แต่มันก็ต้องอาศัยอะไรเป็นปัจจัยมาด้วย ต้องมีตามันถึงจะคอยรู้รูปต่างๆ เป็นจักขุวิญญาณ มีหูไว้รับเสียงทางหูเป็นโสตวิญญาณ นี่เป็นเหตุปัจจัยทั้งนั้น ท่านดูให้ดีครับ ไม่ใช่เป็นคน เป็นสัตว์นะ เหตุปัจจัยทั้งนั้น เมื่อเหตุปัจจัยประชุมแต่งกันตรงนั้นมันก็จักขุวิญญาณเกิด มีรูปกระทบตา มีตาไปเห็นรูปนะครับ จักขุวิญญาณเกิด เมื่อเหตุปัจจัยมาประชุมกันที่หู มีเสียงกระทบหูและตั้งใจจะฟังเสียงนั้น โสตวิญญาณเกิด นี่ก็เป็นอิทัปปัจจยตาฝ่ายเกิด คือเกิดได้ยินเสียง เกิดเห็นรูป ที่นี้ถ้าเกิดตาบอดก็เป็นอิทัปปัจจยตาอีกนั่นแหละ ฝ่ายดับเลยทีนี้ เพราะเหตุมันขาดก็เลยตาบอด มองไม่เห็น หรือเข้าไปในที่มืด ก็เป็นอิทัปปัจจยตาฝ่ายดับคือดับจักขุวิญญาณอีก เพราะมันมองไม่เห็นเพราะเหตุปัจจัยมันขาด คือท่านต้องการแสดงให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มัน เราเรียกไม่ได้ว่ามันเป็นอะไร รู้แต่ว่าสิ่งนั้นๆเกิดขึ้นเพราะเหตุนั้นๆมาเป็นปัจจัย และสิ่งนั้นๆก็อยู่ไม่ได้อย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้นต่อไป เพราะฉะนั้นอิทัปปัจจยตาท่านแสดงก็คือแนวทางปฏิบัติเพื่อทำลายอุปาทาน นี่ตามที่ผมไปคิดไปกรองแล้วนะครับ เพื่อทำลายอัตตานุทิฏฐิ ความสำคัญว่านั่นเป็นตัวเป็นตนหรือเป็นอะไร ทำลายสัสสต แล้วก็ขณะเดียวก็ทำลายในอุจเฉททิฏฐิที่บอกว่าไม่มีอะไร เราจะบอกไม่ได้ว่ามันมีอะไร มันเป็นอะไรเพราะถ้าบอกอย่างนั้นมันผิด เพราะถ้าบอกว่ามันเป็นอะไรอย่างท่านยกวันนี้ก้อนหิน ก็ก่อนนี้มีก้อนหินที่ไหน ตอนโลกร้อนเท่าดวงอาทิตย์มีก้อนหินที่ไหน ก่อนนี้มีคนที่ไหนเมื่อ ๔,๐๐๐ ล้านปีโลกร้อนยังมีคนที่ไหน เพราะถ้าเราบอกนี่เป็นคน ต่อไปอีกล้านปีโลกมันอาจจะร้อนคนก็ไม่มี เราได้แต่สมมติเรียก แต่เราไม่เข้าใจตามหลักอิทัปปัจจยตา เราก็นึกว่าสมมติที่เราเรียกคนมันเป็นคนจริงๆ มันถึงได้เกิดอุปาทานขึ้น เข้าใจไหมครับ เพราะหลักอิทัปปัจจยตาก็คือหลักพิจารณาเพื่อทำลายอุปาทาน หรือพูดอีกนัยหนึ่งเพื่อให้เราหลุดจากทางสุดโต่ง ๒ ทางคือทางสัสสตทิฏฐิ ที่ไปสำคัญว่ามันเป็นอะไรจริงๆ แล้วก็หลักทำลายอุจเฉททิฏฐิที่ว่ามันไม่มีอะไรหรอก เข้าใจไหมครับ สิ่งที่มีนั่นมี แต่มันมีอย่างไม่เป็นอะไร ท่านฟังให้ดีนี่คือหลักอนัตตาเรา ได้แต่สมมติเรียกขานกันเท่านั้น
ตอนนี้เมื่อเรารู้ตามหลักอิทัปปัจจยตาอย่างนี้แล้ว เราก็ใช้สมมติได้โดยไม่เป็นอุปาทาน แม้พระพุทธเจ้าหมดอุปาทานแล้วยังต้องสมมติ เรียกสารีบุตร เรียกโมคคัลลา เรียกพระองค์เองว่าตถาคต แต่การเรียกของท่านไม่เป็นอุปาทานนะ เพราะท่านเรียกอย่างมีปัญญา อย่างมีสติ แต่คนธรรมดาเรียกเข้าแล้วมันเป็นจริงนะ เพราะคนก็คนจริงๆเพราะไม่เข้าใจหลักอิทัปปัจจยตา ถ้าเข้าใจหลักอิทัปปัจจยตาแล้วการเรียกก็เป็นการสมมติเพื่อประโยชน์ทางโลกเท่านั้น เพราะถ้าไม่เรียกกันอย่างนั้นก็ไม่เข้าใจหลักอิทัปปัจจยตาอีก นึกว่าเอ๊ะ, ถ้าเรียกก็เป็นอุปาทาน เพราะฉะนั้นอย่าไปเรียกมันเสียเลยเพราะพูดกันไม่รู้เรื่อง นี่มันเป็นสุดโต่ง ๒ ทาง แต่ถ้าท่านเข้าใจหลักอิทัปปัจจยตาแล้วเราเรียกสิ่งทั้งหลายได้ แต่เรามีสติรู้ทันว่านี่เรียกสมมติเพื่อประโยชน์ทางโลก แต่หลักอิทัปปัจจยตามันจะบอกเราว่ามันจะไม่เป็นจริงตามที่เราเรียก มันจะทำลายสัสสตและมันจะทำลายอุจเฉท ในที่สุดเราก็จะเดินตามทางสายกลางเป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อมันแก่กล้าเข้า แก่กล้าเข้า ในที่สุดก็ถึงจิตว่างหรือสุญญตาโดยสมบูรณ์ สามารถจะอยู่กับคนทั้งหลาย คุยกับคนทั้งหลายในสมมติบัญญัติได้โดยที่ไม่มีอุปาทาน เพราะว่าปัญญาหรือสติมันสมบูรณ์เสียแล้ว นี่เป็นหลักสำคัญ เพราะฉะนั้นผมขอสรุปว่า คำว่าจิตว่างนี่แหละครับ ผมได้พยายามอธิบายคนมามากนะครับ เพื่อช่วยท่านอาจารย์ และผมก็ยิ่งสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเมื่อได้มาฟังหัวข้อธรรมเมื่อวานอิทัปปัจจยตา เพราะผมเห็นว่าถ้าได้เอาหลัก อิทัปปัจจยตาไปอธิบายก็ยิ่งแสดงถึงทางปฏิบัติเพื่อถึงจิตว่างหรือสุญญตาได้ดียิ่งขึ้น เพราะว่าหลักอิทัปปัจจยตาก็คือหลักแสดงถึงว่าสิ่งทั้งหลายมันไม่ได้เป็นอะไรจริงตามที่เราเรียกขาน และสิ่งทั้งหลายมันจะไม่เป็นอะไรเที่ยงอยู่อย่างนั้นตลอดไป มันเป็นกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง ดังที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สุทธิธัมมา ปวัตตันติ สิ่งทั้งหลายไหลเรื่อย มันไม่มีอะไรคงที่ หรือพูดอีกนัยหนึ่งหลักที่ท่านอาจารย์แสดงมาคือหลักอิทัปปัจจยตา นั่นก็คือหลักพระไตรลักษณ์นั่นเอง สิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจังไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเป็นทุกขังมีการแปรปรวนตลอดเวลา เราดูกระจกนี่ เราก็นึกว่า เอ, เรามันก็เที่ยงเหมือนเดิม เหมือนเดิมนะครับ อนิจจังบางทีต้องรอกาลเวลามันถึงจะเห็น บางที ๕ ปีมันถึงจะเปลี่ยน หนังเหี่ยวไป ผมหงอก แต่ความจริงไอ้รูปแบบเดิมก็จริง แต่เนื้อหาข้างในเปลี่ยนอยู่เรื่อย ท่านสังเกตดูเล็บสิครับ เอ, นี่เล็บอันเดิมนี่นา อันเดิมที่ไหน ลองทำเครื่องหมาย ตัดไป อาทิตย์ตัดที ตัดที การที่เซลล์ใหม่เข้าแทนที่เซลล์เก่า แต่เรานึกว่ามันรูปแบบอันเดิม ไอ้ลักษณะอย่างนี้เขาเรียกว่าทุกขลักษณะ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบสันตติของใหม่เข้าแทนที่ของเก่า ผมก็เหมือนกัน เราอย่านึกว่าผมเดิมนะ แต่ถ้าดูรูปแบบแล้ว เอ,นี่ผมอันเดิม แต่ความจริงไม่ใช่เดิมนะครับ เซลล์ใหม่เข้าแทนที่เซลล์เก่า ถ้ามันเดิมจริงๆแล้วเราไม่ต้องตัดผม นี่มันตัดเรื่อย อย่างนี้เขาเรียกว่า ทุกขลักษณะนะครับ
อนัตตลักขณะก็หมายความว่าสิ่งนั้นๆมันไม่เป็นจริงอย่างที่เราเรียก เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์เคยกล่าวไว้ว่าระวังนะพูดนี่ปากกับใจอย่าให้ตรงกัน ท่านบอกว่าพระพุทธเจ้าพูดปากกับใจไม่ตรงกัน คนไม่เข้าใจก็ เอ๊ะ, ท่านพุทธทาสอย่างไรกันไปว่าพระพุทธเจ้า เขาเข้าใจว่าถ้าพูดปากกับใจไม่ตรงกันแล้วต้องเป็นคนโกหก เขาเข้าใจอย่างนั้นนี่ แต่ความจริงแล้วพระพุทธเจ้าท่านพูดอะไรปากกับใจท่านไม่ตรงกัน คือปากท่านต้องพูดอัตตา ต้องพูดสมมติ เรียกคนนั้นคนนี้ แต่ใจท่านรู้อิทัปปัจจยตา ท่านรู้ว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เรียกพระสารีบุตร แต่ท่านรู้ว่าไม่ใช่พระสารีบุตร แต่ท่านต้องเรียกสารีบุตรเพื่อต้องการจะเอาบุคคลนี้มาใช้อย่างนี้ ท่านต้องเรียกพระอานนท์ ถ้าไม่เรียกสารีบุตรเรียกอานนท์ บอกนี่ขันธ์ห้ามาหาฉันหน่อยสิ มากันหมดแหละขันธ์ห้า มันก็ยุ่งสิ เข้าใจไหมครับ เพราะฉะนั้นอนัตตาในความหมายหนึ่งก็หมายความว่าสิ่งนั้นๆมันไม่ได้เป็นจริง เป็นตัวตนจริงตามที่เราเรียกมันนะ เพราะฉะนั้นถ้าคนคอยมีสติรู้ทันว่าปากกับใจไม่ตรงกันนะคนนั้นสบาย เพราะฉะนั้นท่านถึงบอกว่าอทินนาในที่นี้นะครับ ไอ้เรื่องลักทรัพย์ เรื่องมุสานี่ ท่านฟังศีลแปลกๆสิครับ มุสานี่หมายความว่าอย่าพูดปด ใครก็ตามถ้าเรียกอะไรลงไปแล้วเข้าใจว่าสิ่งนั้นมันเป็นจริงคนนั้นมุสาแล้ว ถ้าเรียกอะไรใครแล้วคิดว่าสิ่งนั้นเป็นจริงอย่างที่เรียก คนนั้นพูดโกหกแล้ว มุสาแล้ว ก็สิ่งทั้งหลายมันเป็นจริงอย่างที่เราเรียกเมื่อไร เพราะฉะนั้นอย่ามุสานะ อย่าให้ปากกับใจตรงกันนะ อย่างนี้มุสา ผมพูดเสมอว่าถ้าเราเรียกอะไร มันไม่จริงอย่างที่เรียก แล้วถ้าใครมาเรียกเราที่เรียกว่าด่า เราจะรู้ว่าไม่จริง มันจะได้สบาย
อีกข้อหนึ่งท่านบอกว่าอทินนาอย่าลักทรัพย์ หลักอิทัปปัจจยตาบอกเราว่า ถ้าหากว่าเมื่อไหร่เราไม่รู้หลัก อิทัปปัจจยตา เราลักทรัพย์ทันที ไอ้ธรรมชาตินี้มันไม่ใช่เป็นตัวตนของใคร เพราะเราไม่ได้เห็นอิทัปปัจจยตา นี่เป็นตัวเราขึ้นมา ลักทรัพย์แล้ว ตัวใครของใครที่ไหน มีแต่มันตกอยู่ในกระแสเปลี่ยนแปลง เข้าใจไหมครับ กาเมก็เหมือนกัน ในที่นี้ก็เลยพูดเสียด้วย ไอ้คำว่ากาเมนี่ คนเข้าใจพื้นๆนึกว่าไปผิดลูกเมียกัน อันนั้นมันผิวเผินเกินไปครับ คำว่ากาเมกามะ แปลว่า รักใคร่ชอบใจ เพราะไม่รู้หลักอิทัปปัจจยตาอีกนั่นแหละ ไปเห็นอะไรก็เกิดสวยขึ้นมา นี่เป็นอิฏฐารมณ์แล้วเกิดกามุปาทาน พอสวยก็อยากได้ แต่ถ้าเห็นหลักอิทัปปัจจยตา มันไหลเรื่อย ทำไมถึงเป็นผู้หญิง เนื้อหนังถึงเต่งตึง เอ้า,ก็เหตุปัจจัยมันอย่างนั้น ก็ตึงน่ะสิ อิทัปปัจจยตาเข้าว่า แล้วต่อไปมันก็ไม่ตึง เพราะมันตกอยู่ในหลัก อิทัปปัจจยตา อีกหน่อยเหี่ยวอีก อีกหน่อยเป็นน้ำเหลืองอยู่ในโลง เข้าใจไหมครับ อิทัปปัจจยตานี่มันจะทำให้เราเห็นสิ่งทั้งหลายเป็นสายไปหมด ไม่ใช่ว่าสวย สวยที่ไหนกัน เนื้อหนังหุ้มกระดูก จะมองกันไปอย่างนั้น
แต่ระวังให้ดีนะอิทัปปัจจยตาต้องเนื่องด้วยสัมมาทิฏฐินะ เพราะว่าถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิแล้วเข้าใจว่า เอ,อย่างนั้นเราต้องไปดูศพแล้ว พอดูศพมันขึ้นอืดเฟะไม่น่าดู อันนั้นเป็นโมหะ ถ้าเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ชอบใจอย่างที่อาจารย์บอกว่าปฏิฆะ อันนั้นก็กิเลสชนิดหนึ่ง ไปเห็นแล้วชอบใจดูดเข้ากามราคะก็กิเลส อันนี้ไม่ใช่ตัวปัญญาไม่ใช่เห็น อิทัปปัจจยตานะ ถ้าตัวปัญญาตัวอิทัปปัจจยตาจริงๆ ท่านจะเห็นสิ่งใดในสภาวะใด จะเห็นวัยเด็ก วัยสาว วัยชรา หรือนอนเละอยู่ในโลง ท่านเห็นเป็นธรรมชาติธรรมดา ที่จิตของท่านไม่ดูดไม่ผลัก อย่างนี้ถึงจะเป็นหลักอิทัปปัจจยตาที่แท้ ไม่ใช่ว่าเห็นศพแล้วก็เกิดไม่ชอบใจขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่าไม่มีกิเลส นั่นกิเลสชนิดหนึ่งนะ กิเลสผลักออกเป็นตัวปฏิฆะ คือท่านจะต้องเห็นสิ่งทั้งหลายแล้วใช้ปัญญา ขอโทษเถอะครับไปส้วมได้กลิ่นขี้เหม็น อ้าว,เหม็นสิ สารอย่างนั้น หลักอิทัปปัจจยตามันบอก ถ้าสารมาเหตุปัจจัยมันต้องมีกลิ่นเหม็น ไปได้กลิ่นน้ำหอม หอม โดยมากเหม็นไม่ชอบ หอมชอบ ถ้าอย่างนี้ไม่เข้าใจหลักอิทัปปัจจยตา ถ้าอิทัปปัจจยตาหมายความว่าเหม็น ทำไมเหม็น เพราะเหตุปัจจัยอย่างนั้นมันถึงเหม็น ทำไมหอม เพราะเหตุปัจจัยอย่างนั้นมันถึงหอม เราก็ทำตามหน้าที่แต่เราไม่ติด เราไม่ผลักออกเมื่อเหม็นทำธุระเสร็จเราก็ออกมา แล้วเราก็ไม่ติดหอม เข้าใจไหมครับ คือไอ้ตัวสัมมาทิฏฐินั่นเอง หรือตัวสัมมาสตินั่นเองเพราะฉะนั้นไอ้คำว่าอย่าผิดกาเมในที่นี้ก็คืออย่าได้ไปหลงใหลในธรรมชาติว่ามันสวยหรือมันไม่สวย มันเพราะหรือมันไม่เพราะ สิ่งนั้นๆมันเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย พูดให้ชัดเจนลงไปนะครับ ธรรมชาติทั้งหลาย รูป เสียง กลิ่น รส เหล่านี้มันเป็นรูปธรรม โดยตัวของมันเองมันไม่รู้หรอกว่าเสียงที่มากระทบหูเรา มันไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเป็นเสียง แล้วมันก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเป็นเพลงลูกทุ่งหรือลูกกรุง แล้วมันก็ไม่รู้ว่าเพราะหรือไม่เพราะ เพราะมันเป็นเสียง มันเป็นรูป แต่พอเสียงนั้นไปกระทบหูคน ก็แน่ละครับ หูมันได้ยินไม่ได้ ก็มีจิตไปรู้เสียงที่หู แล้วถ้าจิตนั้นมีอวิชชาครอบงำ อืม,เพลงนี้เพราะ แต่อีกคนบอกเพลงนี้ไม่เพราะ เข้าใจไหมครับ เพราะไม่เพราะอยู่ที่ไหน ถ้าคนไม่ฟังธรรมไม่เข้าใจหลักอิทัปปัจจยตาก็ มันอยู่ที่เพลงสิ ถ้าเพราะอยู่ที่เพลง คุณต้องฟังเพลงเดียวตลอดเวลา เพลงอื่นไม่ฟังแล้ว เพราะมันเพราะ แล้วใครมาฟังมันต้องเพราะ ไม่ต้องตั้งกรรมการหลายคนครับแผ่นเสียงทองคำ ไม่ต้องมาทะเลาะกันเลย เอาเพลงนี้มาเปิด เพราะ นางสาวไทยเหมือนกัน ประกวด กรรมการไม่ต้องเถียงถึงจะชกจะต่อย คนนี้สวย สวยอยู่ที่คนสวย ไอ้นี่คนนี้ไม่สวย คนนี้สวย อยู่ที่ไหนแน่ สวยไม่สวย เพราะไม่เพราะ อยู่ที่ไหน มันอยู่ในใจคนนั่นแหละพูดให้ชัดก็อยู่ที่โง่นั่นเอง อยู่ที่ไม่รู้หลักอิทัปปัจจยตา ถ้าฉลาดเสียหน่อย สิ่งทั้งหลายมันเป็นของกลางๆมันไหลเรื่อย พอชอบใจเรา เราว่าเพราะ แต่คนอื่นไม่ชอบใจไม่เพราะ และที่ว่าเราเพราะมันเพราะชั่วขณะหนึ่งด้วยความโง่เท่านั้นนะ นานๆไปลองฟังเพลงที่ท่านว่าเพราะนานๆเดี๋ยวไม่เพราะอีกแล้ว อาหารที่กินใหม่ๆอร่อย นานๆไม่อร่อย อย่างไรกัน แต่เราไม่เคยสังเกตละครับ ไม่เคยสังเกตว่ามันอยู่ที่ไหน เราก็หลงง่วนติดอยู่ในกามะอย่างนี้ ในที่สุดมาฟังธรรมก็อ๋อ, มันอยู่ที่นี้เอง ดังนั้นพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านถึงบอกว่าสักแต่กิน สักแต่ได้ยิน สักแต่เห็น ถ้าหากว่าญาติโยมถามว่าเป็นอย่างไรท่าน อร่อยไหม แม้ท่านตอบว่าอร่อยโยม ก็ขอให้เข้าใจว่าไม่ใช่ท่านตอบด้วยความหลงนะ ท่านสักแต่ตอบไปอย่างนั่นเองแหละ เข้าใจไหมครับ ท่านสักแต่พูดไปอย่างนั่นเอง แต่ใจของท่านรู้ อร่อยไม่อร่อยไม่มีหรอกครับ ถ้ามีก็ยังเป็นความโง่ แต่ท่านกินไปเพื่อยังชีวิต เพื่อดับเวทนา เพราะฉะนั้นไอ้คำว่าผิดกามะในที่นี้ไม่ได้หมายแค่เฉพาะว่าผิดลูกเมียครับ
ท่านอาจารย์เคยบอกว่าเด็กแย่งตุ๊กตาก็ยังผิดกาเมเหมือนกัน เด็กคนหนึ่งมันมีตุ๊กตามันเป็นของรัก อีกคนหนึ่งมาถึงแย่งเอาไป แย่งของรักเขาผิดกาเม แต่ผมอยากให้ลึกไปว่า เมื่อไหร่คุณไปสำคัญในรูป รส กลิ่น เสียง ว่านี้รูปสวยบ้าง ไม่สวยบ้าง เสียงเพราะบ้างไม่เพราะบ้าง นี่ก็เป็นกาเมหรือกามะเรียกว่ากามุปาทานแล้ว กำลังสำคัญผิดแล้ว และเมื่อเกิดกามุปาทานอย่างนี้มันจะต้องต่อเจ้าตัวกามตัณหาแล้ว สวยก็อยากได้ เพราะก็อยากฟัง อร่อยก็อยากกิน ไอ้ตัวตัณหานี่เป็นตัวมโนกรรม ประเดี๋ยวเถอะสั่งกายกรรมวจีกรรมเข้าไป ถ้ามันรุนแรงมากไม่มีปัญญาเอาเงินไปแลก ประเดี๋ยวมันก็กระทำการแบบสัตว์นรกไปจับมาข่มขืนเลย นี่อำนาจของกามมันจับเขามาข่มขืน พอข่มขืนเสร็จกลัวเขาจะจำได้แจ้งความตำรวจ กลัวขึ้นมา อัตตาแล้ว กามกลายเป็นอัตตาแล้ว กลัวขึ้นมาฆ่าตายเลยอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นหลักคำสอนโลกกุตระธรรมจะทำให้เราเกิดมีปัญญามีสติเพราะรูปกระทบตา หลักปัญญาหรือหลัก อิทัปปัจจยตาเข้าจับปัง เห็นธรรมชาติตามความเป็นจริง ไม่เกิดกามุปาทาน ไม่เกิดกามตัณหา เข้าใจไหมครับ นี่มันเด็ดขาด นี่มันตัดไฟแต่ต้นลม แต่ถ้าเราไม่สอนหลักอย่างนี้ทุกคนก็ยังเห็นสวย เห็นเพราะ ก็เกิดความอยากได้ แต่อาศัยการขู่ อย่านะ ถ้าไปทำอย่างนั้นตายไปลงนรกนะ นี่เป็นคำสอนของศาสนาอื่นใช้การขู่ เอาผลข้างหน้าที่จะได้รับขึ้นมา ไอ้อย่างนี้ขู่ได้ก็ขู่ ถ้าขู่ไม่ได้มันอยากได้มากๆไม่สำเร็จ ยิ่งไปบอกว่าตายถึงจะได้รับผลตอบโอ้,สบายมากตอนนี้อายุ ๒๐ ปี คิดคำนวณแล้วอีก ๖๐ ปีตาย เมียคนนี้ให้ท่าเหลือเกินเหลือโอ้,นับต้นงิ้วอีกตั้ง ๔๐ ปีมันทิ้งช่วงห่าง ไอ้คนทำดีเหมือนกันนะ หนุ่มๆไม่ค่อยเข้าวัด ยังนานกว่าผมจะได้ความดีตอบแทน ไว้ทำเอาเวลาแก่ๆโน้น เหมือนเล่นฌาปนกิจ ใครมาเล่นหนุ่มๆ ยิ่งหามมาลง เซ็นชื่อแกรกแล้วตายหมับ รับเงิน นี่ไอ้คำสอนอย่างนี้ผมไม่เคยพบที่ไหนเลยว่าพระพุทธเจ้าสอนว่า ทำเมื่อเป็น ได้เมื่อตาย แต่ว่าเอาเถอะครับเขาเจตนาดีดีกว่า เขาต้องการให้คนเรากลัวนรกนะครับ จะได้ไม่เบียดเบียน แต่คำสอนอย่างนี้ผมกล้าพูดว่าสมัยนี้ไม่ได้ผล เพราะหนึ่งคนไม่เชื่อแล้ว แต่ก่อนนี้ไม่มีเครื่องบินมันเชื่อว่าข้างบนนี่ บนก้อนเมฆน่ะมีสวรรค์ เดี๋ยวนี้มันไปดวงจันทร์แล้ว เมื่อถามว่าเคยเจอไหมนางฟ้า ไม่มีเออ,ไม่มี โกหก คนใหญ่ๆโกหก มันว่าอย่างนี้ ประการที่สอง สิ่งแวดล้อมวัตถุมันล่อหูล่อตามากครับมันเกิดความอยากได้ สมัยก่อนไม่ค่อยมี อย่างคนชนบทนี่ไม่ค่อยเท่าไหร่ใช่ไหม ประการที่สาม ถ้ากิเลสมันน้อยๆเอานรกมาขู่ได้นะ แต่ถ้ากิเลสมากๆมันไม่กลัวนรกและมันไม่กลัวตาย ยกตัวอย่าง อย่างอาจารย์ยิงดร.สตางค์ อาจารย์ปริญญาโทนะนั่น แกไม่รู้หรือบาปกรรม แกไม่รู้หรือทำลงไป แกเรียนขั้นนั้น นี่ดูให้เห็นว่าคนที่มีความรู้ทางโลกขนาดชั้นปริญญาแต่ขาดความรู้ทางธรรมนิดเดียวกลายเป็นสัตว์นรก อย่างนี้ทางธรรมเรียกสัตว์นรกแล้ว ฆ่ากันตาย แกรู้ว่าถ้าทำไปนี่แกต้องตายลงนรกหรือติดคุก แต่ว่ามันโกรธเหลือเกินครับ ตัวตนมันเกิดจัด นรกขู่ไม่สำเร็จ ตายเป็นตาย ตกนรกเป็นตกนรก ขอฆ่ามันให้หายแค้น เพราะหลักคำสอนอย่างนี้ไม่ได้ผลเสียแล้วครับ นอกจากหลักโลกกุตระธรรม เอาสติเอาปัญญาให้รู้ทันเวลารูปกระทบตา เสียงกระทบหู หลักอันนั้นก็คือหลักอิทัปปัจจยตาที่ให้เห็นสิ่งทั้งหลายมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน สิ่งนั้นๆเกิดเพราะสิ่งนั้นๆเป็นปัจจัยไหลเรื่อย เข้าใจไหมครับ นี้เป็นหลักสำคัญ ผมพูดก็เพื่อสนับสนุนท่านอาจารย์ในเรื่องจิตว่างแล้วก็เอาหลักอิทัปปัจจยตามาประยุกต์ใช้ แต่ก่อนนี้ผมยังคิดว่ามันจะเข้าไม่ได้ เมื่อคืนก็ไปนอนคิดดูครับก็ปรากฏว่า อ้อ,ก็คือหลักอันนี้ทำให้เราหลุดจากสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิมาพิจารณาสิ่งทั้งหลาย เพราะว่าถ้าเรายึดว่าสิ่งทั้งหลายมันเป็นจริง มันก็เป็นอุปาทาน แต่พอเอาหลักอิทัปปัจจยตาเข้ามามันก็ไม่ใช่เป็นคนเป็นสัตว์จริงๆ สิ่งนั้นๆเกิดเพราะสิ่งนั้นๆเป็นปัจจัย มันก็เกิดไล่ไหลเรื่อยอย่างนี้เป็นต้น ในที่นี้อุปาทานมันก็ไม่มีครับ เมื่ออุปาทานไม่มีมันก็สบายสิครับ เข้าใจไหม ใครจะด่าเรา เราก็เฉยอย่างนี้เป็นต้น เพราะมันไม่มีตัวไม่มีตนนะครับ
นาทีที่ 40:38 -40:56 เป็นการสนทนาที่ไม่ใช่การบรรยายธรรม
อย่างนี้ครับในเรื่องจิตว่าง ความว่างนี่ ไหนๆพูดแล้ว ผมก็เลยจะพูดเสียด้วย การที่จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดี ผมคิดว่าควรจะเอาเรื่องจิตว่างความว่างทั้งหลายที่มีในพระไตรปิฎกนะครับมาพูดให้เขาฟังเสียว่า จิตว่างหรือความว่างแบบไหนที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ที่ท่านอาจารย์ท่านพุทธทาสท่านสอน ที่ผมรวมรวบด้วยนะครับอาจารย์ท่านคอยตรวจให้ผมด้วย ที่ผมพบมาแล้วนี่ก็มีพูดถึงเรื่องว่างนี่ก็ มีอยู่คำหนึ่งเขาเรียกว่าปริจเฉทากาส ในการทำสมาธินี่เอาสิ่งที่เป็นกสิณมาพิจารณานะครับ มีกสิณอยู่อย่างหนึ่ง นะครับที่มาพิจารณาในการทำสมถะให้จิตสงบ คือเอาช่องว่างของรูประตูหน้าต่างช่องว่างรูหลังคาโหว่ๆมาเป็นกสิณนะครับ เพื่อทำจิตให้สงบ ถ้าจิตมันอยู่กับช่องว่างอย่างนั้น จิตสงบ อันนี้ก็ว่างเหมือนกัน แต่นี้ไม่ใช่สุญญตา ให้รู้เสียด้วย ว่างอย่างนี้จิตไม่มีกิเลสก็จริงแต่จิตมันเป็นโมหะหินทับหญ้า ประเดี๋ยวมันออกจากช่องว่างเมื่อไรโดนเขาด่ามันเกิดอีก นี่ไม่ใช่จิตว่างหรือสุญญตา ก็ควรรู้เสียด้วย ประเดี๋ยวจะเอาปริจเฉทากาสมานะครับ อีกอย่างหนึ่งเป็นความว่างในองค์ฌาน เป็นอรูปฌานขั้นที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนฌาน เขาเรียกว่ากสิณุคฆาฏิมากาส ในการทำอรูปฌานถึงขั้นที่ ๕ แล้วนะครับ มันจะเป็นนิมิตดวงกลมใสนะครับ เสร็จแล้วก็เพิกเอาดวงนิมิตออกไปเสียในขณะนั้น ความว่างจากดวงนิมิตนั่นเขาเรียกว่าอากาสานัญจายะ เขาเรียกว่าความว่าง ทีนี้คนที่ทำฌานมาแล้ว พอได้ยินท่านอาจารย์สอนเรื่องความว่างก็นึกว่าให้อยู่กับความว่างอย่างนั้น เข้าใจไหมครับ ว่างอย่างนั้นก็เป็นโมหะอีกแล้ว หินทับหญ้าอีกแล้ว ไม่ใช่ว่างที่เกิดด้วยปัญญาอะไรครับ ขณะที่อยู่ในขณะนั้นมันไม่เกิดกิเลสนะ แต่พอออกมาจากสมาธิเมื่อไรโดนด่า เกิดอีกแล้ว อันนี้ก็ไม่ใช่ มันเป็นโมหะ
ทีนี้พูดถึงเรื่องนี้นะครับ ผมก็เลยขอนำเรื่องที่ท่านอาจารย์ได้เคยเขียนไว้ว่า ในครั้งพุทธกาล มีอยู่คนหนึ่งชื่อนายธรรมทินนะอุบาสกนะครับ เป็นฆราวาสครองเรือนก็ไปทูลขอธรรมจากพระผู้มีพระภาคเจ้าชนิดที่เป็นประโยชน์สุข อย่างยิ่ง ประโยชน์เกื้อกูลซึ่งกาลนาน เมื่อไปขอความสุขอย่างยิ่งจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะให้อะไร ลองคิดดู พระพุทธเจ้าสอนอะไรที่เป็นสุขอย่างยิ่ง ท่านก็บอกว่าต้องอยู่กับสุญญตาสิ เข้าใจไหมครับ ทีนี้นายธรรมทินนะแกไม่เคยได้ยินพระพุทธเจ้าสอน พระพุทธเจ้าพึ่งอุบัติขึ้นมาในโลก สมัยนั้นพวกแนวดาบสทั้งหลายก็สอนทำฌานมาก่อนนี่ครับ เขารู้จักความว่างแบบฌานที่ผมพูดเมื่อกี้นะครับ อากาสานัญจาย ที่นี้นายธรรมทินนะพอได้ยินว่าให้อยู่กับความว่าง แกนึกว่าว่างแบบในฌานอย่างนั้น แกบอกว่าผมไม่ไหวหรอกครับ เพราะว่าผมยังมีลูกมีเมีย ผมยังต้องใส่ของหอม คือถ้าไปนั่งทำความว่างอย่างนั้นแล้ว ต้องทิ้งลูกทิ้งเมียไปนั่งอยู่ในป่าเป็นเดือนๆกว่าจะได้อรูปฌานนะครับ แกก็ตกใจใช่ไหมครับ แกตกใจเพราะแกไม่รู้จักความว่างของพระพุทธเจ้า แล้วเหมือนกับคนทุกวันเดี๋ยวนี้ พอได้ยินหลักความว่างที่ท่านพุทธทาสสอนเข้า ตกใจ เพราะคนพวกนั้นไม่เคย เขาลืมกันแล้วสุญญตา ท่านอาจารย์เพิ่งขุดขึ้นมา เข้าใจไหมครับ เขาลืมกันหมดแล้ว มัวแต่ไปเอาของดาบสมานั่งทำชงทำฌาน เพราะฉะนั้นคนสมัยนี้ก็เหมือนนายธรรมทินนะสมัยก่อน ที่นี้เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ก็มีอาจารย์บางท่านฝ่ายอภิธรรมบอกว่าก็นายธรรมะอวดดีนี่นา เป็นฆราวาสนอนกอดลูกกอดเมีย หน็อย,ไปขอธรรมสูงสุดชนิดสูง พระพุทธเจ้าท่านก็เลยแกล้งให้ไปอย่างนั้น แล้วเสร็จแล้วรับไม่ได้จริงๆ ไปหาว่าพระพุทธเจ้าแกล้งนายธรรมะเสียอีก เสียไปเลย พระพุทธเจ้าแกล้งคนอีกแล้ว แกล้งให้ไป เข้าใจไหม ความจริงนะถ้ามาขอประโยชน์อย่างยิ่งจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าต้องให้สุญญตา แต่ถ้าไปขอจากคนอื่นเขาให้แค่สวรรค์ เขาไม่ให้นิพพาน เพราะคำสอนอื่นไม่มีนิพพาน สุขของเขาก็แค่สวรรค์ใช่ไหม อย่าทำชั่ว ทำดี ทำดีแล้วตายไปจะได้เกิดชาติหน้า จะได้รูปสวยรวยทรัพย์ นี่ศาสนาอื่นเขาให้แค่นั้น ผมยังเคยถามว่านี่หลวงพ่อไปบอกเขาว่าเกิดชาติหน้ารูปสวยรวยทรัพย์ หลวงพ่อยืนยันแน่นะว่าถ้าเกิดรูปสวยรวยทรัพย์แล้วไม่ทุกข์นะ หลวงพ่อก็อึกอักๆสิ ผมเคยเห็นคนรูปสวยฆ่าตัวตายก็มี คนรวยทรัพย์ทุกข์ก็มี แล้วหลวงพ่อว่าเกิดชาติหน้ารูปสวยรวยทรัพย์แล้วมีความสุข หลวงพ่อยืนยันแน่นะ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้แน่นะ ก็อึกอักๆ เพราะโดยมากฟังหลวงพ่อเทศน์นั่งบนธรรมาสน์ก็ไม่กล้าถาม ผมไม่ได้ ผมถามนี่ สอนผิด ผมบอกแล้วผมจะเอาพราหมณ์ออกไปให้หมด ผมถามแน่นะหลวงพ่อยืนยัน ท่านก็ไม่กล้า ผมบอกว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าความสุขอย่างยิ่งมันอยู่ที่ความสิ้นกิเลส ทำไมหลวงพ่อไม่สอนอย่างนี้ล่ะ ลูกศิษย์ตถาคตต้องสอนอย่างนี้ นี่มันไปอย่างนี้ครับ ทีนี้เมื่อมาขอความสุขอย่างยิ่งจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็บอกว่าสุญญตาหรือนิพพานสิ นี่ท่านไม่ได้แกล้งนายธรรมะ จะเป็นฆราวาสหรือไม่ใช่ฆราวาส ถ้าต้องการอยู่อย่างสงบเย็นตลอดกาลต้องอยู่กับสุญญตา ต้องอยู่กับจิตว่าง บวชเป็นพระก็ตามถ้าจิตวุ่น ฆราวาสสิก็เป็นฆราวาสจิตว่าง ฆราวาสดีกว่า เอ้า,นี่พูดกันตรงไปตรงมา เข้าใจนะครับ ความสุขอย่างยิ่งมันอยู่ที่จิตว่าง มันไม่ได้อยู่ที่สถานที่
เพราะฉะนั้นผมยังชอบใจคำของท่านอาจารย์ที่ว่า ให้อยู่ในโลกที่ร้อนๆอยู่ในท่ามกลางเตาหลอมเหล็กร้อนๆแต่เย็นอยู่ได้ ให้กินปลามีก้างแต่อย่าติดก้างปลานะครับ ระวังสถานที่ที่เงียบสงบอันนี้จะทำให้เราเกิดความสุขจากสิ่งแวดล้อม ความสุขอย่างนี้มันจะไม่ค่อยทำให้เราเกิดปัญญา แต่ถ้าเราอยู่ในโลกที่วุ่นวายมันมีความทุกข์คอยเสียดแทง อันนั้นแหละมันจะทำให้เราเกิดปัญญาที่จะออกได้ นะครับ ปัญญามันจะเกิดจากการที่มีปัญหา มีทุกข์ระดมกันมา เมื่อมีทุกข์ระดมกันมา ไอ้ตัวปัญญาจะต้องออกต้าน ถ้ามันไม่มีปัญญาออกต้านมันก็ถูกโลกทับแบน เพราะฉะนั้นการที่มันจะอยู่ในโลกได้อย่างสบาย มันต้องหาทางปีนขึ้นไปอยู่เหนือโลก มันก็ต้องหาทางปัญญาขึ้นไป เข้าใจไหมครับ นี้เป็นหลักวิวัฒนาการทั้งฝ่ายวัตถุและด้านจิตใจ ทีนี้ถ้าเราอยู่ในที่สบายเสียแล้วมันก็ไม่มีดิ้นรนจะคิดอะไร นี้เป็นหลักอันหนึ่งนะครับ
ที่นี้เมื่อพูดถึงความว่าง สองแล้วนะครับ ปริจเฉทากาส กสิณุคฆาฏิมากาส อย่างที่สามที่พระอภิธรรมเขาโจมตีนักหนาซึ่งผมได้เรียนมาแล้ว เขาบอกว่าจิตว่างมันคืออะไร มันก็คือภวังคจิต ก็ควรจะรู้เสียด้วย คืออภิธรรมเขาบอกว่าเวลาจิตไปรู้อารมณ์ครั้งหนึ่ง เช่นได้ยินเสียงครั้งหนึ่ง เห็นรูปทีหนึ่ง จิตของคนเกิดดับ ๑๗ ดวง นะครับ ๑๗ ดวง แล้วดวงยังแบ่งเป็น ๓ ขณะ บวกทั้งหมดก็ ๕๑ ขณะ แต่ใน ๑๗ ดวงนี่ ๓ ดวงแรกยังเป็นภวังคจิตอยู่ อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังค์คุปเฉทะ นี่ ๓ ดวงแรกนี่จิตยังไม่รู้อารมณ์เลย ภวังคจิตแปลว่าจิตยังไม่รู้อารมณ์ ดวงที่ ๔ เริ่มขึ้นมารู้อารมณ์บ้าง เข้าใจไหม เริ่มทำงาน เพราะฉะนั้นพอได้ยินคำว่าจิตว่างเขาก็นึกภวังคจิต ปัดโธ่,จิตว่างมันอะไรเล่า มันไม่มีรู้อะไร ท่านพุทธทาสเอาอะไรมาสอนจิตว่าง มันทำอะไรได้ คนนอนหลับนั่นแหละจิตว่าง ขอโทษนะครับ จิตว่างหรือสุญญตาไม่ใช่ภวังคจิต พระพุทธเจ้าให้หลักไว้อย่างไร ความว่างก็คือโลกว่าง หลักพระไตรปิฎก ท่านอาจารย์ให้ผมวันนั้นน่ะ ผมจะโต้อภิธรรมเมื่อหลายปีมาแล้ว ผมก็ไปหาท่านสิ พอดีท่านลงไปที่วัดชลประทาน บอกขอหลักฐานพระไตรปิฎกเรื่องสุญญตา ท่านให้มาสองหน้ากระดาษฟุลสแก๊ป ให้ผมพิมพ์ พิมพ์แล้วก็ให้อ่าน วันนั้นเขาให้ผมโต้กับอภิธรรม เขาบอกว่าผมมีจุดอ่อนอยู่อย่างหนึ่งก็คือว่าพูดเก่ง เหตุผลดีแต่หลักฐานไม่มี พอดีท่านอาจารย์ลงไปพอดี ไอ้ผมก็พอดีวันนั้นวันตรุษจีนผมไปกับคุณสำเนียง ผมไปกราบท่าน ผมบอกว่าผมขอหลักฐาน อย่างอื่นผมใสแล้ว ขอหลักฐาน ท่านยังแนะไว้ด้วยว่า นี่ลองถามเขาด้วยว่าเพราะหลักฐานที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า โลกุตฺตรา สุญฺญตปฏิสํยุตฺตา เท่านั้นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า คือโลกุตตระธรรมอันเนื่องด้วยสุญญตาที่เป็นตถาคตภาสิตา แล้วท่านบอกว่าลองถามเขาดูสิว่ามีที่ไหนในพระไตรปิฎกที่ว่า อภิธัมมา ปฏิสํยุตฺตา เป็นตถาคตภาสิตา นะครับ ผมก็เอาไป ไปโต้ โต้ เสร็จแล้วพิมพ์โรเนียว ถึงคราวก็แจกไป แจกไปเสร็จแล้ว พอได้ช่องผมก็ถามไหนคุณเอาหลักฐานพระไตรปิฎกมาสิ ของผมมีแล้วสุญญตาสองหน้านี่ จะเอามากกว่านี้ก็ได้นะครับ แต่แค่นี้ก็เหลือแหล่แล้ว ไหนอภิธรรมพระพุทธเจ้าตรัสที่ไหนว่าเป็นตถาคตภาสิตา ตั้งแต่นั้นมาไม่ให้ผมพูดอีกเลยครับเวทีวงใหญ่ลานอโศก เขาเลยย้ายที่ให้ผมไปพูดอีกแห่ง แล้วเดี๋ยวนี้สมาชิกผมอันดับหนึ่งแล้วครับ น่าภูมิใจว่าแนวจิตว่างเดี๋ยวนี้เป็นพัน ฝนตกยังไม่ถอยเลยครับ ถึงขนาดนั้น เอากระดาษมาปูนั่ง ไม่ต้อง เขาว่าจะเรี่ยไรซื้อเก้าอี้ ไม่ต้อง คนเราลองจิตว่างมันยืนตากแดด มันก็ยืนได้ จะได้พิสูจน์ไปในตัวว่าลองจิตว่างเสียอย่าง ร้อนมันก็ไม่ทุกข์ มีการปฏิเวธ บางทีกำลังพูดๆมาแล้ว คนบ้าคนเมาไม่รู้ เขาจ้างมาถึงด่าแล้วนะครับ พอเขาด่าก็พวกคนฟังชักรำคาญ ยัง ยังสติมาให้ทัน นี่แหละมารมาผจญจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตรงนี้ ด่าๆไป หายไป หายไปหมด บางทีฝนตกคนก็ชักจะฮึดฮัดๆ นี่ตอนนี้แหละท่านจะสำเร็จไม่สำเร็จอยู่ที่ฝนตกนี่เป็นอย่างไร ถ้าหากว่าจิตว่างอยู่ได้ตอนฝนตกนี่แหละได้ผลแล้ว ตอนนี้ให้ฝนแสดงธรรมแทน ผมไม่ต้องแสดงแล้ว อย่างนี้ครับอยู่กับธรรมชาติ นี่ก็ขอเล่าให้ฟัง
เพราะฉะนั้นจิตว่างในที่นี้เมื่อพูดตามหลักฐานที่ท่านอาจารย์ให้แล้วก็คือว่าโลกว่าง สุญญตาความว่างก็คือโลกว่าง โลกในที่นี้ ต้องเข้าใจด้วยว่าพระพุทธเจ้าท่านหมายถึงกาย ยาววาหนาคืบ คือคนเป็นๆ นี่โลก ประเดี๋ยวไปเข้าใจว่าดาวกลมๆเป็นโลก มันจะยุ่งอีก เข้าใจไหม ไอ้โลกของพระพุทธเจ้าก็คือกาย ยาววาหนาคืบ แล้วบัญญัติเรื่องโลกไว้ในกายยาววาหนาคืบ ทีนี้โลกว่างก็คือขันธ์ห้าว่าง ขันธ์ห้าว่าง อะไรว่างล่ะ ไอ้กายไม่ว่างไม่วุ่น มันว่างวุ่นอยู่ที่ใจ เพราะฉะนั้นโลกว่าง ขันธ์ห้าว่าง ก็คือจิตว่าง เข้าใจไหมครับ นี่ต้องไล่กันอย่างนั้น
พระอภิธรรม เอาอีกแล้ว จิตว่างไม่มี มีแต่สุญญตาความว่าง เฉโกอีกแล้วนี่ มีแต่ความว่างสุญญตาไม่มีสุญญจิต ผมก็เลยบอก แหม,เรียนอย่างนี้ไม่รู้เรื่องแล้วจะไปเรียนอะไร เด็กเล็กๆนี่ครูสอนบอกว่า นี่หนูรักษาความสะอาด เด็กยังไม่ถามว่าคุณครูคะ จะให้หนูรักษาความสะอาดอะไรคะ เด็กมันยังไม่ถาม ก็มันรู้ว่าเนื้อตัวให้สะอาด เสื้อผ้าให้สะอาด แหม,เกี่ยงอย่างนี้ครับ ก็ดีเหมือนกัน แหลมมา ผมก็แหลมไปเหมือนกัน กลับมาฟิต นี่มันแข็งขึ้นเพราะโต้พระอภิธรรม คิดว่าแข็งขึ้น เพราะฉะนั้นผมถึงว่า ถ้าจะให้ดีละก็ ท่านทั้งหลายลองไปสิครับ ผมอยู่หน้าประตูอภิธรรมเรียกว่าอาจารย์ทั้งหลายมาชุมนุมลานอโศก แหม,กว่าจะขึ้นมาครองแชมป์ได้ ผ่านกันมาโชกโชนละครับ แหม,อาจารย์อภิธรรมอีกท่านหนึ่ง บอกนี่ ผมบอกว่าอาจารย์ช่วยบอกผมหน่อย พระอภิธรรมก็เย็นครับนะครับ ผมถือว่าผมประเภทค้างคาว เขาว่าไม่ดี ผมว่าดี อยู่กับหนูก็ได้ อยู่กับนกก็ได้นะครับ แนวจิตว่างก็เรียน พระอภิธรรมก็เรียน อันไหนที่จะช่วยดับทุกข์ ผมเอา นี่เลยบอกเสียด้วยนะครับ ส่วนมากมักจะจิตว่างแล้วไม่เรียนอภิธรรม อภิธรรมไม่เรียน ของเขามีของดีเหมือนกัน แต่เราเอามาใช้ให้เป็น คือจะพูดง่ายๆว่าถ้าเข้าใจหลักอิทัปปัจจยตาแล้วไม่มีแนวจิตว่างไม่มีแนวอภิธรรมก็แล้วกัน มันเป็นอย่างนั้น สิ่งทั้งหลายไหลเรื่อย เข้าใจไหมครับ แล้วอภิธรรมในส่วนดีของเขา ยิ่งแสดงจิตออกไปละเอียดยิบๆถึง ๑๗ ดวง ยิ่งเห็นอนิจจัง อนัตตา ชัดเข้าไปอีก ยิ่งแบ่งรูปซอยยิบๆๆยิ่งเห็นอนัตตาชัดเข้าไปอีก แต่ว่านั่นแหละครับหัวใจมันอยู่ที่ว่าต้องจับตัวเกิดคือตัวกูที่ท่านพุทธทาสสอนไว้เสียก่อน พอจับตัวกูได้ ว่านี่คือตัวกู ที่เป็นทุกข์ก็คือยึด ที่นี่เราจะไปเรียนอภิธรรมแล้วจะใสเพราะอภิธรรมซอยจิตละเอียดเท่าไร ซอยกายออกไปละเอียดเท่าไร เราก็ยิ่งเห็นอนัตตา ยิ่งเห็นหลักที่ท่านสอนชัดขึ้นมา เข้าใจไหมครับ นี่ความเห็นของผมนะครับ เพราะฉะนั้นผมก็ขอแนะนำว่าถ้าท่านจับหัวใจตัวทุกข์ได้คือเกิดตัวกูของกู คือจิตที่มีอุปาทานแล้ว ต่อไปนี้การเรียนสิ่งทั้งหลาย หลักที่ท่านให้ไว้อิทัปปัจจยตามันจะชัดมาก เพราะสิ่งทั้งหลายอย่างก้อนหินก้อนไม้นี่ท่านบอกมันแสดงธรรม ก็คือแสดงอิทัปปัจจยตานั้นเอง นะครับ แต่ว่าอย่างไรก็ตามครับ ถ้าจับตัวทุกข์ตัวเกิดคือตัวกูไม่ชัดแล้วนะครับ หลักอย่างอื่นจะพร่า นี่ตามความเห็นของผมนะครับ มันคล้ายๆกับว่าเราให้คนไปตักน้ำแต่เราไม่ชี้กองไฟเสียก่อนว่านี่เอาน้ำมาดับไฟกองนี้ คนไปถึงก็ตักน้ำ ไปไหนนี่ตักไปไหน ก็ตักวิ่งเล่นกันอยู่อย่างนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น ต้องชี้ตัวทุกข์เสียก่อนว่าตัวทุกข์อยู่ตรงที่จิตมีอุปาทาน มีตัวกูใช่ไหมครับ พอที่นี่เรียนธรรมะทั้งหมดก็คือน้อมนำเข้ามาดับตัวกูทั้งนั้น ธรรมะทั้งหมดที่แสดงต่อไปล้วนแล้วแต่แสดงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อให้เห็นสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนหรืออิทัปปัจจยตา ทีนี้ถ้าไม่มีตัวตนซึ่งเป็นตัวทุกข์ยืนโรงแล้ว การเรียนของเรามีโอกาสจะเป็นปรัชญา เป็นปราชญ์ เรียนก็คุยกันถกเถียง แต่ถ้ามีตัวตนคือตัวทุกข์ยืนโรง เราคอยดูสิว่าฟังธรรมะอันนี้แล้วมาดับตัวนี้ได้ไหม ฟังธรรมะนี้ ถ้าดับไม่ได้เราก็ต้องดิ้นเรื่อยสิครับ เหมือนกับคนเจ็บไปหาหมอ ลองยา ยานี้กินเป็นอย่างไร ค่อยยังชั่วไหม ไม่ค่อยยังชั่วกินแล้วมีแต่ทรงกับทรุด เอ้า,ไปเปลี่ยนยาใหม่ ในที่สุดถ้าค่อยยังชั่วแล้วก็ขยันกิน คือต้องมีตัวทุกข์ขึ้นมายืนโรงครับ จับตัวกูให้ได้เสียก่อนนะครับ จับตัวทุกข์ แล้วที่นี้ธรรมะทั้งหลายก็อิทัปปัจจยตาทั้งหมดเลย มันจะ โอปนยิโกเข้ามาได้ ก็เป็นอันว่าเรื่องจิตว่าง ความว่าง ถูกแล้วมันมีกล่าวไว้มากนะครับ ปริจเฉทากาส การพิจารณาช่องว่าง กสิณุคฆาตฏิมากาส อรูปฌานขั้นที่ ๑ อากาสานัญจายตนฌาน แล้วก็ภวังคจิต แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่จิตว่างหรือความว่างที่พระพุทธเจ้าและท่านอาจารย์พุทธทาสสอนเพราะว่าจิตว่างเหล่านี้ว่างแบบโมหะ ว่างโดยที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ส่วนสุญญตาหรือความว่างนั้นเป็นความว่างที่ประกอบด้วยปัญญาประกอบด้วยสติ เพราะพิจารณาโลก เห็นว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงดังที่พระพุทธเจ้าได้บอกกับโมฆราช “สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต” โมฆราชเธอจงพิจารณาโลกคือขันธ์ห้าให้เห็นเป็นของว่าง ถอนอัตตานุทิฏฐิออกเสีย มีสติรู้อยู่เช่นนี้มัจจุราชจะเอาตัวไปไม่ได้ พูดง่ายๆว่าพิจารณาโลกคือขันธ์ห้าให้เห็นอนัตตาตามหลักที่ท่านวางไว้นะครับ ในที่สุดมันไม่มีตัวไม่มีตน เมื่อไม่มีตัวไม่มีตนแล้วมัจจุราชจะเอาใครไป
อย่างในหัวข้อที่ท่านอาจารย์ได้บรรยาย ธรรมถึงคน คนถึงธรรม ครั้งแรกก็มีคนไปศึกษาธรรม ศึกษาไป ศึกษาไป คนหายไปเหลือแต่ธรรม คือไม่มีคนครับ อันนี้คือหลักอิทัปปัจจยตาทั้งหมดนะครับ ผมได้ใช้เวลามาพอสมควร ประเดี๋ยวคุณเป็งฮั่วแกจะง่วงนอน ถีนมิทธะครอบงำหรือยังก็ไม่รู้นะครับ คุณเป็งฮั่วครับวันนี้มีอะไรแสดง เดี๋ยวเย็นนี้เราต้องกลับกันแล้วนะครับ ขอเชิญ อ้อ,เดี๋ยวๆขอถามคุณเป็งฮั่วเป็นปริศนาธรรมหน่อย เพราะแกถนัดนัก ฟังให้ดีนะ ตอบสั้นๆ ท่านอาจารย์ท่านพุทธทาสเคยจากสวนโมกขพลารามไปไหนไหม ฟังให้ดีอีกครั้งหนึ่ง ท่านอาจารย์ท่านพุทธทาสภิกขุเคยจากสวนโมกขพลารามไปไหนบ้างไหม ตอบ ตอบสั้นๆ เซนนี่
คุณเป็งฮั่ว ท่านอาจารย์ไม่เคยมาอยู่สวนโมกข์นี่เลยครับ คนละแนวครับ ขอนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีท่านที่เคารพวันนี้คุณไสวมีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนาก็ช่วยบรรยายธรรมะให้แจ่มแจ้งให้เพื่อนสหธรรมิกเราจะได้เข้าใจธรรมะแจ่มแจ้งขึ้นไปอีก ผมก็พยายามที่จะฟังนะครับ พยายามที่จะปรับคลื่น เหมือนปรับคลื่นวิทยุให้ตรงกับของคุณไสวแต่ไม่ยักเข้านะครับ คลื่นอันนี้ไม่รู้อย่างไร ปรับไม่เข้า นั่นสิครับ แต่คลื่นอื่นมันเข้า แสดงว่าวิทยุไม่เสีย
คุณไสวพูดเรื่องจิตว่าง ผมฟังแล้วมันสะท้านหมดคือหนาวๆร้อนๆ แต่ผมก็ไม่ละความพยายาม มันก็เป็นคนหัวรั้นคนหนึ่งอย่างที่คุณไสวบอกว่าคนดื้อนะครับ ก็พยายามที่จะพูดในแนวต่างๆ ผมก็ขอเสนอ ขอเสนอใช้วิธีการพิจารณาความว่างนี้อีกอย่างหนึ่ง ความว่างอันนี้อยู่ในมหายาน ที่จริงเรามาพูดมหายานที่นี้ไม่ได้นะ เพราะว่าในหลักของมหายานนั้น ห้ามแล้วห้ามเด็ดขาดว่าในสถานที่เป็นเถรวาทนั้นห้ามเข้าไปยุ่ง เพราะว่าการที่ฝ่ายเถรวาทเป็นผู้รักษาพรหมจรรย์เหมือนกับหญิงสาวที่รักษาพรหมจรรย์ ถ้าเราผู้ชายเข้าไปพูดจาอะไรต่ออะไรจะทำให้เสียพรหมจรรย์ แค่พูดคือทำลาย คือว่าฝ่ายเถรวาทพยายามรักษาพรหมจรรย์อยู่ ฉะนั้นเราจะต้องเคารพ เคารพในการรักษาพรหมจรรย์ ที่หาญขึ้นมาพูดนี้ก็เป็นการหมิ่นเหมือนกัน เป็นการหมิ่นหรือเป็นการเสียหายพรหมจรรย์นั่น แต่ก็ต้องขออภัยโทษ เอาละครับ เราก็คิดเสียว่าเวลานี้เรามาดูหนังอีกจอหนึ่ง นะครับอีกจอหนึ่ง คือความว่างที่ทางมหายานนั้นเขาพิจารณากันอย่างนี้ คือสิ่งที่ไม่ว่างนั้นคืออะไร ไม่ว่างนั้นคือโลกสมมติ เพราะว่าโลกสมมติไม่มีการว่างเลย โลกสมมตินี่ก็ ตัวเรานี่ก็โลกสมมติ มีขันธ์ ๕ เป็นต้น วุ่นวายหนอ โลกนี้วุ่นวายหนอ เพราะว่ามันเกิดแล้วต้องแก่ แก่แล้วมิหนำซ้ำยังเจ็บอีก เจ็บแล้วรักษาไม่ได้ก็ตาย ตายแล้วมิหนำซ้ำยังต้องเกิดอีกเพราะว่ามันตายไปโดยอวิชชา ตายไปโดยความงมงาย จากความงมงายนี้เลยต้องมาเกิดอีก เกิดแล้วก็แก่ แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตาย อย่างนี้เรียกว่าเป็นสังสารวัฏซึ่งเรียกว่าโอฆะ โอฆะก็เป็นทะเลแห่งความทุกข์ฉะนั้นโลกนี้ไม่ว่าง โลกนี้วุ่นวายหนอ ถ้าเราพิจารณาโลกนี้ได้ว่ามันวุ่นวายจริงๆแล้ว มันวุ่นวาย เรายอมรับแล้วว่ามันวุ่นวาย แต่ไอ้การยอมรับนี่มันยากเหลือที่จะยาก เพราะว่าเรามองดูตัวเรานี่ แหม,มันช่างสวยเหลือเกิน ทาลิปสติกเข้าไปแล้ว มิหนำซ้ำยังจะใส่ขนคิ้วใหม่ มิหนำซ้ำเรายังจะขนตาดึงเอาออกหมดใส่ขนตาใหม่ ในตัวของเรานี่พยายามที่จะปลอม ปลอมกันทั้งอะไรไม่รู้ ปลอมหมด ขออภัยโทษเพราะว่ามันเกินไป เพราะเราพยายามนำเอาสิ่งที่ปลอมๆมา แล้วเราก็บอกว่าไม่ได้ปลอม นั่นสิครับ ตรงที่เรานำไอ้สิ่งที่ปลอมๆมา แล้วเราว่าไม่ได้ปลอม ตัวเราจริงๆเราก็บอกว่าไม่ได้ปลอมเลย ตัวเราจริงๆนี่ มันเนื้อมันหนัง มันเนื้อหนังจริงๆ นี่ลูกนัยน์ตานะ นี่ขนนะ ที่จริงมันปลอมทั้งนั้น ไอ้เนื้อหนังเรานี่มันอยู่ไม่ได้เท่าไรมันก็จะเหี่ยวแห้ง ไอ้ความเต่งตึงมันจะหมด แต่เราหายอมไม่ พยายามจะหาอะไรมาทาให้มันเต่งตึงไปอีก ให้หมอผ่าตัดให้หน้ามันตึง คือความปลอมแปลงของโลกนี้เราไม่ยอมรับ ฉะนั้นเราจะให้ยอมรับในความปลอมแปลงของโลกนี้ เราต้องศึกษาค้นคว้าหรือเรียกว่ารับสารภาพ ต้องรับสารภาพโดยหมอบราบคาบแก้ว การที่เรารับสารภาพว่าโลกนี้วุ่นวายหนอ ได้เปล่งอุทานขึ้นมา ได้เปล่งอุทานว่าโลกนี้วุ่นวายหนอ ตอนนั้นแหละ ตอนนั้น ตอนนั้นแหละเราเรียกว่าเรายอมรับในสภาพโลกสมมติ สมมติขึ้นแล้ว เอาละ, ตอนนี้รับแล้ว ถ้าเรารับโลกสมมติแล้ว รับว่าที่เราปรากฏการณ์อยู่เดี๋ยวนี้มันเป็นโลกสมมติ แล้วสิ่งที่ตรงกันข้ามคืออะไร ก็มีสัจธรรมซึ่งตรงกันข้ามกับโลกสมมติ ฟังให้ดีดีนะ ถ้ามีปรากฏการณ์ว่าโลกสมมติแล้ว สิ่งที่ตรงกันข้ามกับโลกสมมติก็คือสัจธรรม เอาละ,ถ้าเราเพิกโลกสมมตินี้ออกแล้ว เราพบสัจธรรม พบสัจธรรมอันนี้เรียกว่าสุญญตะ คือโลกสมมติกับสุญญตะมันตรงกันข้ามนะครับ เพราะว่า เราเข้าใจว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร นี้มันเป็นจริง แต่ถ้าเรารู้ว่าไม่จริงเสียแล้ว เวลานี้รูปก็ไม่เที่ยง สัญญาก็ไม่เที่ยง อย่างที่เรากำลังท่องไปเมื่อเช้านี้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยงทั้งนั้น มันเป็นอนัตตาทั้งนั้น มันเป็นทุกข์ทั้งนั้น เราเห็นอย่างนี้แล้ว แล้วอะไร สัจธรรมคืออะไร ก็คือความสุญญตะคือมันไม่ใช่แล้ว มันไม่ใช่รูปแล้ว ถ้ามันไม่ใช่รูป เวทนา สัญญา สังขารอันนั้นแล้ว มันเป็นสุญญตะ เอาละ,ตอนนี้เราเข้าใจสุญญตะคือความว่างนี้ได้แล้ว เรากลับดีใจใหญ่ว่า แหม,เราพบสุญญตะเราดีใจแล้ว เราก็ใช้สุญญตะนั้นเอามาใช้ แต่ที่จริงใช้ไม่ได้ สุญญตะนี้มันใช้ไม่ได้เลย ถ้ามีใครเข้าใจว่าสุญญตะนี้ใช้ได้ละก็โง่บัดซบ โง่บัดซบ นั่นแหละครับ แหม,มันรุนแรงมาก เพราะว่าถ้ามหายานมาพูดกับฝ่ายเถรวาทละก็มันต้องขออภัยอย่างยิ่ง เพราะว่าสุญญตะทำไมใช้อะไรไม่ได้ ก็เพราะสุญญตะนั้นไม่เป็นการสร้างบารมีสำหรับปุถุชนเรานี่เลย คือว่าถ้าตกในสุญญตะแล้วคือเป็นธรรมของอริยเจ้า ถ้าเราเป็นปุถุชนอย่างนี้ไม่ได้ทำอะไรเลย
แต่ว่าเราจะกลับเอาใหม่ เอาใหม่ คือว่าทำอย่างไร โลกสมมติเราก็เพิกแล้ว สุญญตะเราก็เข้าใจแล้ว แต่ไม่ได้อะไรเลย แล้วจะทำอย่างไร จะทำให้มันได้ เอาละ,ทั้งสองอย่างนี้เพิกมันหมด คือว่าเรารู้โลกสมมติแล้ว เราก็รู้สัจจะแล้ว เราก็ทำลายโลกสมมติเข้าไปในสุญญตะ แต่เรารู้สุญญตะแล้ว เราก็รู้สัจจะ แล้วเราก็ทำลายสุญญตะ ก็เข้าไปอยู่ในโลกสมมติอีก คือมันกลับเข้าไปใหม่ กลับเข้าไปใหม่ เข้าไปในโลกสมมติอีก เพราะว่าหลังจากที่เราได้ทำลายสุญญตะแล้ว เราเข้าไปในโลกสมมติอีก (มีเสียงแย้งว่าทำแบบนี้ก็โง่อีก)ไม่ได้โง่ ตอนนี้โง่ชนิดที่เรียกว่ามีปัญญา โง่แบบมีปัญญาแล้ว คือทำเหมือนกับว่าผู้ใหญ่น่ะเขาเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ อย่าว่าผู้ใหญ่เขาโง่ ผู้ใหญ่ไม่ได้โง่นะ เขาเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่ใช่ผู้ใหญ่โง่นะ ผู้ใหญ่ฉลาด แต่นี่เราจะเป็นผู้ใหญ่เสียแล้วตอนนี้ ตอนนี้เราเป็นผู้ใหญ่นี่นะ เรายังใช้ไม่ได้นะ ใช้ไม่ได้ เพราะว่าเราเข้าไปในโลกสมมติแล้ว โลกสมมติสร้างบารมีซึ่งสามารถจะให้ตัวของเราหลุดจากโลกสมมติและก็หลุดจากสุญญตะทั้งสองอย่าง อันนั้นแหละเขาเรียกว่าธรรมเสมอภาค เป็นธรรมเสมอภาคไม่มีสมมติไม่มีสุญญตะนั่นแหละ ตอนนั้นแหละถึงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเรียกว่าปรมัตถ์ เรียกว่าปรมัตถ์ เอาละครับผมก็แสดงเพียงสั้นๆเพื่อจะเป็นหนังตัวอย่าง เพราะไอ้หนังจริงๆผมไม่ค่อยจะฉาย เพราะว่าหนังจริงๆฉายแล้วมันเบื่อเหลือแสนจะเบื่อ เอาละครับต้องขออภัยโทษ ครับหนังตัวอย่าง หนังจริงมันยาว ต้องไปฉายกันเอง ขอบพระคุณครับ
คุณชำนาญ ผมฟังแล้วขออภัยนะครับ คือว่าทั้งหมดเหมือนไม่ได้ฟัง ทำไมเหมือนไม่ได้ฟัง ทำไมถึงบอกว่าเหมือนไม่ได้ฟัง ผมมีคติคนไทยอย่างหนึ่ง คติของคนไทยเรานะครับ “ของจริงนี่นิ่งเป็นใบ้ ไอ้ของพูดได้ ไม่มีจริง” “ของจริงละครับนิ่งเป็นใบ้ ถ้าของพูดได้ แล้วก็ไม่มีจริง” อันนี้อย่าเข้าใจผิดนะครับ ขอให้ไปคิดดูนะครับ ของจริงนี่นิ่งเป็นใบ้ แต่ทั้งคุณไสวและคุณเป็งฮั่วก็อุตส่าห์เอาของจริงมาแต่เป็นชนิดที่พูดได้ ก็ขอให้ท่านกลับไปคิดดู และผมอยากจะพูดให้ซึ้งใจว่าทั้งคุณไสวและทั้งคุณเป็งฮั่วนี่แหม,ผมฟังแล้วชื่นใจ อยากจะว่าชื่นใจอย่างไรนะครับ คุณไสวพูดเสียหมดวันนี้เขาอัดเทปไว้ดีเหลือเกิน พูดเสียหมด พูดหมดทุกแง่ทุกด้าน น่าเสียดายนัก ไปไหนกันเสียหมด คือว่าควรจะฟังอย่างยิ่งเลยครับ คือว่าหาคนพูด ขออภัยนะครับ ที่นี่เราจะไม่กล่าวอย่างอะไร คือว่าเราพูดตามประสาสมมตินะ หาคนอย่างคุณไสวหาพูดได้ยาก คุณเป็งฮั่วด้วยหาได้ยากทั้งคู่ เพราะว่าฟังชนิดที่ว่าฟังตรงๆคุณไสวนี่ฟังสบาย ฟังตรงๆ อย่างคุณเป็งฮั่วฟังแล้วคิด ทั้งคู่มีประโยชน์ทั้งนั้นขออภัยเถิดครับ อย่างหนึ่งสำหรับใช้ปัญญาอีกอย่างหนึ่งใช้สัมมาทิฏฐินะครับ คือว่าอย่างคุณไสวพูดเป็นสัมมาทิฏฐิฟังแล้วกลมกลืน อย่างคุณเป็งฮั่วพูดนี่ถ้ามีปัญญาคิดลงไป คือว่าในคำของคุณเป็งฮั่วนี่มันเหมือนพริกขี้หนูมันมีเผ็ดแสบๆ คุณไสวนี่ว่ากลมกลืนเหมือนพริกชี้ฟ้าฟังว่าเรื่อยไป กินหลายดอกก็ได้ ทั้งพริกชี้ฟ้าและพริกขี้หนูก็มีประโยชน์เพราะว่าสิ่งทั้งสองนี่ก็อยู่ในตถตา
มล. มาโนช ชุมสาย คุณชำนาญ ลือประเสริฐ มาพูดแบ่งแยกสองคน ทำให้กระผมคิดขึ้นมาว่า คือว่าคุณไสว แก้วสม นี่สนับสนุนท่านอาจารย์พุทธทาสเรื่องจิตว่าง แต่ว่ากระผมก็มาเปรียบเทียบอีกคุณเป็งฮั่วเรื่องจิตที่มีตัวกูของกู เห็นได้ชัดเจนเลย ข้างหนึ่งมีตัวกูของกู อีกข้างหนึ่งไม่มีตัวกูของกู ก็ดีด้วยกันทั้งคู่ เป็นเรื่องที่น่าสนุกสนานที่สุดเลยครับ สำหรับความจริงตัวกูของกูนั่นน่ะไม่มี มันเป็นแต่ตัวธรรมชาติที่มันจุติขึ้นมา แล้วก็เป็นสมบัติของธรรมชาติ มันไหลเรื่อยเปื่อยไปนั่น ไอ้นี้เป็นของจริง เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์สาขาธรรมชาติ เราเกิดขึ้นมาก็เกิดขึ้นมาจากธรรมชาติแล้วก็เข้าสู่ธรรมชาติตามเดิม เมื่อมาสอนของจริงว่าไม่มีตัวของกู มีแต่จิตว่าง มีแต่สุญญตา ผมก็เลยมาถามคุณวิโรจน์ ศิริอาจ ว่าถ้ามาสอนอย่างนี้แล้วพระจะทำอย่างไร พระตามวัดต่างๆจะทำอย่างไร ก็อดสิ เวลานี้เดี๋ยวก็ว่างกันไปหมด เลยพระไม่ต้องฉันอาหารกัน ไม่มีคนมาถวายเลยว่างกันหมด วัดในกรุงเทพฯก็ว่างกันหมด คุณวิโรจน์ ศิริอาจ ก็บอกว่าก็ปล่อยให้พระตายให้หมดสิ จะได้ว่างให้หมด โลกจะได้ว่างให้หมด นี่ก็คือสมบัติของธรรมชาติ คือกระผมขอพูดสั้นๆไม่อยากพูดยาว พูดเป็นทำนองเพรซซี่(นาทีที่ 01:13:36)
คุณชำนาญ ขออภัยนะครับ ที่ท่านพูดนี่คุณ มล.มาโนช ชุมสาย นะครับท่านเอาใจใส่เรื่องนี้มานานแล้ว แล้วก็คิดว่ารู้จักว่า เราความจริงเหมือนกันหมดนะครับ ผมนึกขึ้นมาได้ว่าคุณไสวให้เราเคี้ยวข้าว เฮียเป็งฮั่วแกทำกับข้าววิทยาศาสตร์กลืนที่เดียวอิ่มเลยนะครับ เพราะฉะนั้นผมเห็นว่าทั้งสองท่านมีประโยชน์เหลือเกิน แต่พูดถึงอภิธรรมแล้ว แหม,ไปเขี่ยกิเลสผมมา ผมไม่ค่อยจะไปฟังอะไรๆใครนะครับ คือว่าที่ไม่เคยฟังนี่เพราะผมฟังมา ๒๐-๓๐ ปี ไปยุ่งอยู่กับเขานี่นะครับ แม้แต่ในพุทธสมาคมที่มีอภิธรรมขึ้น ก็ผมนี่แหละเป็นคนไปจุดขึ้น แล้วทีนี้ก็วันหนึ่ง ก็พูดถึงเรื่อง ขออภัยนะครับ ถ้ามีใครเป็นนักอภิธรรมอยู่ที่นี่ ผมต้องกราบขออภัย คือว่าเราพูดกันมานานแล้ว มันง่วงนอน ผมอยากจะพูดอะไรๆสักอันซึ่งว่าผมขำตัวผมนะครับ คือว่าอภิธรรมนี่ผมไปเรียน เขาแจกเม็ดมะขาม เรียนไปเรียนมาเขาบอกว่า วันหนึ่งก็ไปพบอาจารย์องค์หนึ่งก็บอกว่า นี่มองอย่างนี้ขึ้นไปไฟฟ้านี่ เขาบอกว่าจิตตั้ง ๑๐ กว่าดวง แหม,ผมก็อดใจอยู่นาน นี่มอง ผมบอกว่า “ขออภัยอาจารย์ครับ ให้ตายโหงตายห่า เห็นหรือ เห็นหรือ ว่าจิตขึ้นไปอย่างนี้เป็นกี่ดวง กี่ดวง เห็นไหม” ขออภัย ตั้งแต่นั้นเลยไม่ได้เรียนครับ หลังจากที่ผมพูดอย่างนี้แล้ว แหม,พวกอภิธรรมโกรธผมใหญ่ มันบอกใครเห็น ใครเห็นว่าจิตอย่างนี้กี่ดวง ใครตายโหงตายห่าเห็นไหมนี่ จิตนี้กี่ดวงขึ้นไป เขาว่าเหลือบอย่างนี้ทีกี่ดวง ผมบอกว่า “พูดทั้งวัน จิตดวงเดียว จิตมันพูดไม่ได้ มันเป็นอาการของจิตเท่านั้นเท่านี้” แหม,คุณอะไรต่ออะไรแกเกลียดผมตาย มีไม่เกลียดอยู่คนเดียวอาจารย์แนบเพราะผมไม่ได้เรียกอาจารย์เรียกพี่แนบ ถ้าเรียกพี่แนบแกไม่กล้าโกรธผม เพราะไม่ใช่อาจารย์ผม นี่อภิธรรมความจริงเขาก็ช่วยเผยแผ่ธรรมะเหมือนกันแต่เผยแผ่แล้วมันยิ่งจม เขาไม่ได้ช่วยพูดความจริง เขาเอาสิ่งที่ไม่จริงมาทับในพระพุทธศาสนา แล้วก็ไอ้พวกอภิธรรมนี่ต้องรู้เทคนิคด้วยนะครับ ใครเรียนได้ถึง ๙ ปริเฉทดีทุกคน ไอ้พวกเรียน ๔–๕ ปริเฉท นี่ยุ่งตายห่าเลย ยุ่งนะ มันเป็นเพราะว่าเราสู้เขาไม่ได้เขารู้หู เขารู้ตา ไอ้ดินนี่ไม่แข็งเสียแล้ว เขาว่าเขาเรียน เรียนหนักๆ ไอ้พวกภาค ๔ ภาค ๕ บอกดินไม่แข็ง มันจะไปแข็งเอาเล่ม ๙ ทีนี้ถ้าในขณะที่เรียนไม่รู้นี่มันจะมีปฏิกิริยาเรื่อย และไอ้คนเรียนนี่มันเกือบจะเหาะนะ บุญเบิญไม่ต้องทำนะ คล้ายๆมันผิดจากคนธรรมดา เช่น หูได้ยินเพราะอะไร นั่นแน่,เขาถามนะ ก็ได้ยินเพราะเสียงสิ หูกับเสียงก็คู่กัน เขาว่าไม่ใช่ เขาว่าอะไรของเขา ภาษาอะไรก็ไม่รู้ ผมบอกว่าคนฟังไม่ได้ เขามีอะไรของเขานะเป็นอะไรก็ไม่ทราบนะครับ เพราะฉะนั้นผมว่าอภิธรรมไม่ค่อยดี แต่ผมใจสปอร์ตนะ ผมเป็นกรรมการอยู่พุทธสมาคม ผมเชิญอภิธรรมเข้าไปสอนในพุทธสมาคม เขาจะได้ไม่ว่าเรา เพราะเราถือว่าพุทธสมาคมไม่ใช่ของเราคนเดียวผมก็เลยเชิญอาจารย์แนบไปสอน สอนแล้วเขาทะเลาะกันใหญ่อีกนั่นแหละอาจารย์แนบกับมหาพร เขาว่าไอ้ต้นไม้มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต มีวิญญาณหรือไม่มีวิญญาณ ตั้งแต่นั้นเลยเลิกกัน เถียงกันจะตาย นี่เรื่องเกิดขึ้นสักยี่สิบปีสิบกว่าปีนะครับ แล้วผมเดี๋ยวนี้ยังไม่รู้เลยว่าไอ้ต้นไม้มีวิญญาณหรือไม่มีวิญญาณ ก็เล่ากันเล่นสนุกๆ ขอบพระคุณครับ เอ้า,คุณไสวเชิญครับ
คุณไสว คุณชำนาญพูดนี่ คือว่าเราบอกว่าพระอภิธรรมเข้าตาเขาจนตาฟางไม่เข้าใจเรื่องจิตว่าง ระวังเขาจะว่าเราจิตว่างตาฟางเหมือนกัน เพราะว่าอภิธรรมจริงๆนั้นที่ท่านอาจารย์เคยบอกว่า ถ้าอภิธรรมจริงๆมันก็คือโลกกุตระธรรมนั่นแหละ เพราะอภิธรรมเป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่ ธรรมที่ยิ่งใหญ่ก็คือธรรมที่สอนให้เราหลุดพ้นทุกข์ได้คือธรรมที่ส่งเราไปถึงนิพพาน แต่ว่าที่ไม่ใช่อภิธรรมที่เป็นโลกุตระธรรมนั้นคืออภิธรรมในด้านที่ไปรู้มาก รู้กว้างขวาง รู้ละเอียด รู้ลึกซึ้ง รู้ชีวิตนี้ไม่พอ รู้ชีวิตอดีต รู้ชีวิตอนาคต รู้ชนิดที่รู้มากยากนานคือรู้แล้วดับทุกข์ไม่ได้ แต่ถ้าอภิธรรมจริงๆคือโลกุตระธรรมเพราะมันไม่ใช่โลกิยธรรมไม่ใช่ธรรมธรรมดา เพราะฉะนั้นผมเองได้อะไรดีๆจากอภิธรรมเหมือนกัน เพราะว่าอภิธรรมมีส่วนช่วยให้เราเข้าใจในสภาวธรรมได้ลึกซึ้งหลายอย่าง แต่ว่ามันอยู่ที่การตีความครับ เดี๋ยวนี้มีอีกอย่างหนึ่งที่เขาบอกว่า อย่างอาจารย์พรบอกว่าก้อนหินก็มีวิญญาณ แต่ว่าก้อนหิน ก้อนหินมีวิญญาณหรือ แกอาจจะไปเข้าใจผิดว่าเพราะว่าแนวจิตว่างเราถือว่าก้อนหินมันก็สอนธรรมให้แก่เรา แต่นี่แกคงนึกว่าก้อนหินสอนธรรมได้ก้อนหินก็มีวิญญาณสิ แกอาจจะไปอย่างนี้ก็ได้ เพราะคำว่าก้อนหินสอนธรรมเรานี่มันไม่ได้สอนด้วยการพูด แต่มันสอนโดยชนิดที่ว่ามันแสดงลักษณะอิทัปปัจจยตาแก่เรา ไตรลักษณ์แก่เรา นี่อย่างที่เอารูปนี่มาปั้น เขาถามผมว่า “นั่นอะไร” ผมบอกว่า “นั่นพระนะนั่น” “เอ๊ะ,อะไรพระ” อ้าว,พระไตรลักษณ์ไง” พระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา แล้วถ้าใครเห็นพระไตรลักษณ์แล้ว เห็นพระพุทธเจ้า เข้าใจไหมครับ เพราะฉะนั้นก้อนหินนี่พระไตรลักษณ์ ทีนี้คนติดรูปพระ ถ้าพวกโบราณคดีมา พวกเล่นพระเครื่องมาเจอนี่ต้องควักแว่นมาดูกันเลย ผมเคยยั่วเพื่อนผมว่า นี่ดูอะไรนะจนตาสั้นต้องใส่แว่นแล้ว เพื่อนผมคนหนึ่งดูจริงๆครับพอหยุดพัก “ดูอะไร” “ ดูพระ” “ไหนดูตรงไหนเป็นพระ ผมดูทั้งวันไม่เห็นเป็นพระ มีแต่อิฐ” นี่แหละครับในความหลงนี่เรียนกันสูงๆนะครับ มัวแต่ดูอย่างนั้น ก็ทำอย่างไรมันช่วยไม่ได้ มันติดกันไปนะครับ อันนี้เป็นหลักอันหนึ่ง
ที่นี้ก็มาพูดถึงเรื่องที่ว่าถ้าสอนเรื่องจิตว่าง สอนเรื่องความว่าง แล้วพระจะอด ผมอยากจะให้คิดวางว่า นี่ผมโต้กับเขาไปนะครับ ปัญหานี้โดยมากลานอโศกมีเยอะ ผมบอกว่าไม่ได้หรอก พระลองมาสอนจิตว่าง อดข้าวแน่ มันต้องสอนให้ทำบุญ เขาถึงมาทำบุญ เกิดชาติหน้าจะได้รับผลบุญ ผมบอกว่าที่ทุกวันที่คนไม่ค่อยใส่บาตรกันนะครับ ที่ใส่บ้างก็พวกสลัมเท่านั้นในกรุงเทพฯ ส่วนบ้าน ขอโทษนะครับ บ้านคนรวยสร้างกำแพง เลี้ยงหมาฝรั่งนี่ พระเผ่นจีวรปลิวเหมือนกัน โฮ้ง,นี่ ทำไมคนทุกวันจึงไม่ค่อยใส่บาตร คุณรู้ไหม ก็เพราะว่าคนทุกวันมันจิตวุ่น มันมีกิเลสมาก ใช่หรือไม่ แล้วถ้าเราเอาเรื่องจิตว่างไปสอน จนกระทั่งเขาดับกิเลส เหลือที่จะกิน แต่ขอให้สอนจิตว่างชนิดดับกิเลสนะ ไม่ใช่ว่างไม่เอาไหน ไอ้ว่างแบบ ๓ แบบ ปริจเฉทากาส ไปนั่งเพ่งช่องว่างของรูประตูหน้าต่าง ไม่ใช่กสิณุคฆาฏิมากาส ไปทำอากาสานัญจาญตนฌาน หรือไม่ใช่เอาภวังคจิต จิตว่างไม่รู้อะไรเลยอย่างนั้นนะ ถ้าอย่างนั้นละอดข้าวแน่ แต่ถ้าสอนจิตว่างคือสุญญตา รู้อารมณ์ทำงานทุกชนิด แต่จิตมีปัญญา ไม่มีตัวกูของกู ไม่มีกิเลส เหลือที่จะฉัน เหลือที่จะกิน ก็ดูคนสมัยก่อนเขามีเงินสร้างวัด สร้างวัด เพราะคนสมัยก่อนเขาถึงธรรม คนสมัยนี้มีเงินสร้างโรงหนังโรงแรม เพราะอะไรเพราะจิตมันวุ่น เพราะไม่เอาจิตว่างไปสอน เข้าใจไหมครับ ผมก็ได้ตอบโต้เขาไปอย่างนี้แหละครับ ผมพยายามที่จะช่วยด้านแนวจิตว่างอยู่เสมอ
ที่นี้เมื่อกี้ขอไขเสียเล็กน้อยนะครับ ว่าที่ผมถามคุณเป็งฮั่ว ไปไหนเสียแล้วคุณเป็งฮั่ว ถามคุณเป็งฮั่วเพราะแกชอบปริศนานี่ บ้างทีหม่อมฟังคุณเป็งฮั่วไม่ค่อยเข้าใจ เพราะคุณเป็งฮั่วชอบพูดแบบเซนครับ คือพูดอย่างนี้ เซนเขาต้องให้ปรับไปเสียอย่างโน้น มันยากหน่อย ถ้าอย่างผมพูดแบบหินยาน พูดกันง่ายๆนะครับ แต่ถ้าอย่างมหายานหรือเซน เขาพูดอย่างนี้ ต้องปรับไปอย่างโน้น ถ้าเขาว่าไม่ ต้องใช่ อะไรแบบนี้เป็นต้นนะครับ ผมก็เลยทดลองเซนว่าแกเซนแท้หรือเซนปลอม ปรากฏว่าผมถามว่า “ถามจริงๆ ท่านอาจารย์ท่านพุทธทาสเคยจากสวนโมกขพลารามไปไหม” แกบอกเคยไป เคยจาก นี่แกไม่เข้าใจภาษาธรรมะ คำว่าโมกษะแปลว่าบริสุทธิ์ ท่านอาจารย์บอกแล้ว โมกษธรรมแปลว่าธรรมที่ไม่ตาย พระพุทธเจ้าออกแสวงหาโมกษธรรม เพราะฉะนั้น โมกขพลารามอารามที่บริสุทธิ์ อารามที่ไม่ตาย ก็คือสุญญตา และผู้ที่อยู่ที่สุญญตา สุญญตาวิหารนะใครอยู่ พระพุทธเจ้าท่านบอกตถาคตมีวันคืนอยู่กับสุญญตาวิหาร แล้วอาจารย์ท่านพุทธทาสท่านเป็นทาสพุทธะ เมื่ออาจารย์อยู่ที่ไหนลูกศิษย์อยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์ท่านพุทธทาสจริงๆแล้วไม่เคยจากสวนโมกขพลารามเลย เมื่อท่านพบสวนโมกข์แล้วท่านไม่เคยจากสวนโมกข์ แต่นี่ก็พูดเรื่องนี้สักเล็กน้อยว่ามีคนชวนผมมาเสมอว่าให้มาหาท่านอาจารย์ท่านพุทธทาสที่สวนโมกข์ ความจริงผมพบท่านเสมอนะครับ ผมรู้ว่าสวนโมกข์จริงๆอยู่ที่ไหน ท่านพุทธทาสจริงๆอยู่ที่ไหน ไอ้ผมจะมาเสียก็นี่แฟนต้องรอ บางที ๓ วันนี่แฟน ก็ไม่อยากจะทิ้งทางโน้น แต่นี่ก็พรรคพวกอ้อนวอน ไม่ได้ก็มาสักที เผื่อมาพูดปัญหา ก็หลายปีแล้ว ๗ ปี ก็เลยมา แต่ความจริงผมรู้ว่าสวนโมกข์อยู่ที่ไหน จะเป็นสวนโมกขพลารามหรือลานอโศกมันก็อันเดียวกัน เมื่อท่านอาจารย์อยู่สวนโมกข์ นายไสวลูกศิษย์ก็อยู่ลานอโศกก็แห่งเดียวกัน แล้วก็ไม่รู้จะไปหากันที่ไหน ก็อยู่ที่เดียวกันเสียแล้ว ก็เลยขอไขปริศนาธรรมให้ฟัง ใครมีปัญหาอะไรหรือเปล่าครับ คุยกันไปเรื่อยๆ นาทีที่ 01:24:00 – 01:25:18 เป็นการโต้ตอบกันหลายท่าน จับความไม่ได้
ท่านอาจารย์ คนที่ ๑ พูดว่าท่านพุทธทาสอยู่ที่สวนโมกข์ แล้วอีกคนหนึ่ง คนที่ ๒ พูดว่าท่านพุทธทาสไม่เคยอยู่ที่สวนโมกข์เลย สองคนนี้คนไหนพูดถูก สองคนนี้คนไหนพูดถูก คนหนึ่งพูดว่าท่านพุทธทาสอยู่ที่สวนโมกข์ ว่าอย่างนั้นแหละ ว่าแค่นั้นพอ แล้วคนหนึ่งพูดว่าท่านพุทธทาสไม่เคยอยู่ที่สวนโมกข์เลย สองคนนี้คนไหนพูดถูก หรือถูกกว่า คนไหนถูกกว่า อ้าว,จะถูกทั้งสองคนได้อย่างไรเล่า คนหนึ่งว่าอยู่ คนหนึ่งพูดว่าท่านพุทธทาสอยู่ประจำที่สวนโมกข์ ทีนี้คนหนึ่งพูดว่า ท่านพุทธทาสไม่เคยอยู่ที่สวนโมกข์เลย พูดกันสองคนอย่างนี้ คนไหนพูดถูก หรือคนไหนพูดถูกกว่า หรือพูดถูก เอ้า,ยกมือ ใครว่าอยู่ที่สวนโมกข์ถูกกว่ายกมือ แล้วใครว่าไม่เคยอยู่ที่สวนโมกข์เลย อ้าว,ไม่ยกแล้ว นี่ตั้งสี่ ห้า หก นั่นทีแรกแพ้แล้ว อันแรกแพ้แล้ว ว่าท่านพุทธทาสอยู่ที่สวนโมกข์นี่แพ้แล้ว ถูกน้อยแล้วไม่เคยอยู่ที่สวนโมกข์เลยถูกที่สุดแล้ว
คุณไสว นิดเดียวครับ ท่านอาจารย์บอกว่าฝ่ายหนึ่งแพ้ อีกฝ่ายหนึ่งชนะ แต่ผมว่าไม่มีใครแพ้และไม่มีใครชนะ ขอต่ออีกสักนิดหนึ่ง
คุณชำนาญ ท่านเจ้าคุณอาจารย์ ขออภัยนะครับ นี่เราเป็น โถ,เราเหมือนคนเดียวกัน เราก็พูดกัน ตามโหวตเสียงนะครับ ท่านเจ้าคุณอาจารย์ว่า มีท่านเจ้าคุณอาจารย์อยู่สวนโมกข์นะครับ กับอีกท่านบอกว่าไม่มีท่านเจ้าคุณอาจารย์อยู่ที่สวนโมกข์ สองอย่างนี่หมายความว่า อย่าเอาเป็นตัวบุคคล ถ้าตัวบุคคลแล้วมัน มีคนบุรุษที่ ๑ บอกว่ามีท่านเจ้าคุณอาจารย์อยู่ที่สวนโมกข์ บุรุษที่ ๒ บอกว่าไม่มีท่านเจ้าคุณอาจารย์อยู่ที่สวนโมกข์ ทีนี้คุณไสวจะพูดอะไรก็ตาม คุณไสวได้รับรองไปแล้วว่าสิ่งต่างๆนี่ อย่าไปมีอุปาทาน ถ้ามีอยู่ ก็หมายความว่ามีอุปาทานว่ามีอยู่ แต่ทีนี้ไอ้อุปาทานลึกซึ้งนี่ อาจจะเข้าใจว่าไอ้ความมีอยู่นี่ ขออภัยนะครับ คือความไม่มีอยู่ก็ได้ ทีนี้ปากพูดนี่ ขออภัยนะครับ ไม่ใช่ว่าเล่นลิ้น หรือไม่ใช่อะไร มันมีคำอย่างหม่อมพูดไป ไอ้ลึกซึ้งอาจจะบอกว่าไม่มีอยู่ก็ได้ ทำไมไม่มีอยู่ มีอยู่แต่ความบริสุทธิ์ มีอยู่แต่ไอ้ตัวตนไม่มี ใช่ไหมครับ อาจจะมีความหมายอย่างนี้ก็ได้ เพราะว่าการพูดสั้นๆนี่ มันจะย่อมตีความได้มากนะครับ เอ้า,คุณไสวต่อ
คุณไสว อันนี้ก็เนื่องจากในหลักฐานพระไตรปิฎกที่ท่านอาจารย์ให้ผมมา มีอยู่ว่านะครับ ผมก็จำไม่ได้ว่าเล่มไหน บรรทัดไหน พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่าตถาคตมีวันคืนอยู่กับสุญญตวิหาร ตถาคตมีวันคืนอยู่กับสุญญตวิหาร ตถาคตในที่นี้ก็คือพุทธะ พุทธะในที่นี้ไม่ใช่รูปนามเพราะท่านบอกกับพระวักกลิว่า “วักกลิ รูปนามเน่าเปื่อยไม่ใช่เรา ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา” ก็ธรรมอะไรที่เห็น แล้วใครเป็นผู้เห็นธรรม ธรรมในที่นี้ก็คือสุญญตาหรือนิพพานหรืออนัตตา หรืออิทัปปัจจยตา ก็ใครเล่าเป็นผู้เห็นสุญญตา ใครเล่าเห็นอนัตตา ใครเล่าเห็นนิพพาน ก็คือวิชชานั่นเอง วิชชาเรียกเป็นบุคคลก็คือพุทธะ เพราะฉะนั้นพุทธะเท่านั้นที่จะอยู่กับสุญญตา พระองค์จึงบอกว่าตถาคตมีวันคืนอยู่กับสุญญตวิหาร ถ้าไม่ใช่พุทธะแล้วจะอยู่กับความว่างไม่ได้ อย่างปุถุชนธรรมดาไม่ใช่พุทธะก็ต้องอยู่กับความวุ่นเป็นวิหาร แต่ว่าพุทธะแล้วมันไม่มีวุ่นเลย ท่านจึงต้องมีวิหารเรียกว่าสุญญตา แต่เมื่ออาจารย์อยู่อย่างนั้น ลูกศิษย์ซึ่งเดินตามรอยพระบาทท่านก็ต้องอยู่กับวิหารที่เป็นสุญญตาเหมือนกัน ก็โมกษะคือความบริสุทธิ์ โมกษธรรมไม่ตายก็คืออมตธรรม คือนิพพาน คือสุญญตา นี่ถอดออกมาเป็นธรรม แต่นี่ท่านพุทธทาสซึ่งเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าเมื่อเดินตามรอยบาทของพระพุทธเจ้าท่านก็ต้องเป็นพุทธะคือมีวิชชา ก็แน่ละเมื่อมีวิชชาอยู่กับสุญญตาแล้ว จะกลับไปเป็นอวิชชาซึ่งไม่มีสุญญตาได้อย่างไร เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่าท่านพุทธทาสไม่เคยจากสวนโมกขพลารามไปเลยเมื่อท่านได้พบสวนโมกข์แล้ว
แต่สวนโมกข์ก็ไม่ต่างกับลานอโศก เมื่อท่านพุทธทาสเดินตามรอยบาทพระพุทธเจ้า ผมก็เดินตามรอยเท้าของท่านพุทธทาสนะครับ อโศกก็คือความไม่โศกความไม่มีทุกข์เพราะฉะนั้นผมก็อยู่ลานอโศกนะครับ อโศกในที่นี้ก็คือจิตที่ไม่โศกก็คือความว่างเพราะฉะนั้นลานอโศกกับสวนโมกข์ก็ไม่ต่างกัน ท่านทั้งหลายที่เป็นศิษย์ของท่านพุทธทาสเดินตามรอยเท้าท่านก็จะพบสวนโมกข์ สวนอโศก หรือสุญญตาได้เหมือนกันเพราะมีทางที่ท่านชี้ไว้ให้แล้วนี่ ก็ขอขยายความเพียงเท่านี้นะครับ
[1] ท่านอาจารย์ หมายถึง ท่านอาจารย์พุทธทาส