แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านประธานและท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย อาตมาจะได้บรรยายตามหัวข้อที่กำหนดให้คือเรื่องจริยธรรม แต่จะขอขยายความออกไปให้ชัดหรือแค่เท่าก็ตามหัวข้อใหญ่ที่เป็นความมุ่งหมายของการประชุมคราวนี้คือเรื่องการสร้างเสริมจริยธรรมแก่เด็กวัยรุ่น อาตมาอยากจะขอทำความเข้าใจว่าข้อความที่จะบรรยายต่อไปนี้ ขอให้ถือเป็นเพียงความคิดเห็นในฐานะที่อาตมาก็สนใจเรื่องนี้มากเป็นพิเศษและนานมาแล้ว ทั้งนี้เพราะว่ารู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่ของอาตมาหรือของภิกษุสงฆ์ทั่วๆไปด้วย เพราะฉะนั้นอย่าได้หวังที่จะฟังสิ่งที่เป็นหลักวิชชาอะไรมากมายนัก ขอได้โปรดฟังในฐานะเป็นความคิดเห็น แต่เป็นความคิดเห็นที่อาตมาได้พยายามนึกคิดศึกษา สังเกตมาเป็นเวลานาน พอที่จะนำมาแสดงให้เป็นประโยชน์ได้บ้างและอีกอย่างหนึ่งก็อยากจะขอบอกกล่าวเสียด้วยเลยว่า ขอให้ยกเว้นให้อาตมากล่าวได้ในฐานะเป็นการกล่าวอย่างอิสระหรือถ้าจะเรียกว่าเป็นฝ่ายแย้งหรือเป็นฝ่ายค้านกับที่เขากล่าวๆกันอยู่บ้างก็ได้ ก็จะถูกกว่าหรือยิ่งกว่านั้นก็ควรจะให้เป็นว่าให้อำนาจให้อาตมามีหน้าที่กล่าวในฐานะที่มองกันในแง่ที่คนอื่นไม่มอง หรือจะเลยไปถึงว่ามองกันในแง่ร้ายคือในแง่ Pessimistic ได้ก็ยิ่งดี อาตมาจะได้กล่าวได้อย่างเป็นอิสระ เพื่อให้ที่ประชุมของเราได้ฟังครบถ้วน ถ้าจะกล่าวเหมือนๆกันหรือกล่าวโดยมุ่งหมายไปในทางแง่ดีแง่สนับสนุนกันไปหมด ก็เชื่อว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นไม่สมบูรณ์แน่ นี้คือข้อที่อยากขอให้ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายกำหนดไว้เป็นข้อแรก
ต่อไปอาตมาจะได้กล่าวถึงคำที่ใช้เป็นหัวข้อ คำนี้ก็คือคำว่าจริยธรรมนั่นเอง อาตมารู้สึกว่าเรายังมีความลำบากกันมากในการใช้คำๆนี้ คือเอาไปปะปนกับคำว่าศีลธรรม บางคราวถ้าเราเล็งถึงศีลธรรมเราไปเรียกจริยธรรม บางคราวเราเล็งถึงจริยธรรมแต่เราไปเรียกศีลธรรมอย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นอยากจะขอซ้อมทำความเข้าใจหรือทำความเข้าใจกันใหม่ พวกเราที่เป็นผู้สนใจเรื่องนี้ด้วยกันว่า ถ้าอย่างไรเราจะให้คำว่าศีลธรรมนี่ตรงกับคำว่า Moral หรือ Morality และให้คำว่าจริยธรรมนั้นตรงกับคำว่า Ethic เพราะว่าถ้าไปดูตำรับตำราทั่วๆไป เขาระบุไว้ชัดว่า Ethic นั้นคือ Philosophy ของ Morality ส่วน Morality กับ Philosophy ของ morality นั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เราเอาคำว่า Ethic นี่มาเป็นคำที่เราเล็งถึงจริยธรรม และคำว่า Morality นี่มาเป็นศีลธรรมจะง่ายขึ้นและจะแยกกันได้ดี คำว่า Ethic หรือจริยธรรมนี้ตรงกันก็หมายความว่า คิดดูให้ดีถ้าเรารู้ภาษาบาลีเท่าที่เราเรียนกันมาแล้วก็พอเห็นกันได้ว่า “จริยะ” แปลว่าควรประพฤติ จริยะนั้นหมายความว่าควรประพฤติหรือพึงประพฤติ ซึ่งมิได้หมายความว่าประพฤติแล้ว ที่นี้มันต้องตรงกับพวก Philosophy ซึ่งเป็นเรื่องคิดเรื่องฝัน ส่วนคำว่าศีลธรรมนั้นต้องหมายถึงเรื่องที่กำลังประพฤติอยู่หรือประพฤติแล้ว เผอิญไปตรงกับคำว่า “ศีละ” ศีลธรรม
“ศีละ” นี้ทางภาษาบาลีแปลว่าอยู่ตามปรกติ เป็นอยู่ตามปรกติ หรือที่เป็นอยู่ตามปรกติ ก็หมายความว่าประพฤติอยู่หรือประพฤติแล้ว เท่ากับคำศัพท์คำเดียวกันก็ควรจะเป็น “จาริกธรรม”หรือจารีตหรือจาริกธรรมที่แปลว่าสิ่งที่ประพฤติแล้ว เพราะฉะนั้น “จริยธรรม” แปลว่าที่จะประพฤติ ที่พึงจะประพฤติ ที่จะต้องถกต้องเถียงต้องคิดกันอีกมาก ส่วนศีลธรรมนี้เอาที่กำลังประพฤติอยู่ ซึ่งโดยตัวหนังสือก็อำนวยให้อย่างนี้อยู่แล้ว แต่โดยความหมายนั้นก็หมายความว่า จริยธรรมหรือ Ethic นั้นอยู่ในรูปของปรัชญา คือต้องคิดต้องนึก บางทีก็เลยเตลิดเปิดเปิงไปในเรื่องที่ไม่เคยปฏิบัติเลยก็มี เป็นเรื่องทฤษฎีล้วนไปเลย ส่วนเรื่องศีลธรรมหรือ Morality นี้ต้องทำอยู่จริงๆด้วยปัญหาเฉพาะหน้า ทีนี้ถ้าเราจะถามว่าพระพุทธเจ้าเป็นนักจริยธรรมหรือนักศีลธรรม ตามหลักเกณฑ์อันนี้จะต้องถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นนักศีลธรรมไม่ใช่นักจริยธรรม พูดกันตรงๆก็น่าจะพูดว่าพระพุทธเจ้าท่านเกลียด Philosophy อย่างยิ่ง คือเรื่องพูดทางหลักทฤษฎี หลักวิชชานี่ท่านหัวเราะเยาะ เพราะเป็นเรื่องรุ่มร่ามไม่รู้สิ้นสุด ท่านจึงเป็นนักศีลธรรมคือกล่าวถึงแต่ที่อาจจะปฏิบัติได้ทันทีรีบด่วนด้วยปัญหาเฉพาะหน้า และความจริงมันก็เป็นอย่างนั้น เพราะเราเล็งเห็นกันอยู่ว่าเรื่องที่จะประพฤติเพื่อละความชั่วทำความดีนี้มันไม่ยาก แต่อยู่ตรงที่เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรมากมายนัก แต่มันยากอยู่ตรงที่เราจะบังคับตัวเราให้ประพฤติอย่างนั้นไม่ค่อยจะได้ นี่คือข้อยาก ฉะนั้นจะถามว่าพระพุทธเจ้าเป็นอะไรจะต้องตรัสว่าเป็น Moralist มากกว่า Ethicist คือท่านเป็นนักศีลธรรมมากกว่านักจริยธรรม ในประเทศไทยเรายังใช้คำสองคำนี้กำกวมกันอยู่ในบทที่เขียนที่พูด ถ้าอย่างไรลองช่วยเอาไปคิดไปนึกดูว่าเราควรจะยึดกันอย่างนี้ดีจะดีหรือไม่ คือว่าจริยธรรมคำนึงถึง Ethic ศีลธรรมก็เล็งถึง Morality
เรามาถึงข้อที่ว่าเราจะพูดกันวันนี้ด้วยหัวข้อว่าสร้างเสริมจริยธรรมแก่เด็กวัยรุ่น คำว่าจริยธรรมคำนี้กำกวมหรือไม่ เล็งถึง Ethic หรือว่าเล็งถึง Morality อาตมาอยากจะถือว่าวันนี้เราเล็งกันถึงศีลธรรมหรือ Morality มากกว่า Ethic เพราะว่า Ethic นั้นเป็นปรัชญาไม่รู้จบ อาจจะช้าเกินไปถึงขนาดที่เรียกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้หรืออะไรทำนองนี้ เราจะพูดกันในแง่ทฤษฎี แง่ปรัชญา หรือแม้แต่ตรรกวิทยาอะไรทำนองนี้ ฉะนั้นเมื่ออาตมากล่าวว่าจริยธรรมในหัวข้อนี้ อาตมาหมายถึงศีลธรรมมากกว่า คือหมายถึง Morality มากกว่า Ethic ปัญหาก็มีต่อไปว่าคำว่าศีลธรรมนี้ก็กว้างมาก ทีนี้เราจำกัดความแคบเข้ามาถึงศีลธรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็กวัยรุ่นโดยเฉพาะ เด็กวัยรุ่นโดยเฉพาะคือปัญหาเฉพาะหน้าเสียก่อน ปัญหารีบด่วนของเรา ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมในที่นี้เราก็จะเล็งเฉพาะที่เกี่ยวกับเด็กวัยรุ่น สำหรับหัวข้อบรรยายนี้อาตมาจะกล่าวไปตามที่สะดวก สำหรับการกล่าวซึ่งจะให้หัวข้อว่า ข้อที่หนึ่งโรคของเด็กวัยรุ่น คำว่าโรคนี้หมายถึงสิ่งที่เราไม่พึงปรารถนา หัวข้อที่สองว่าสมุฏฐานของโรคนั้น หัวข้อที่สามว่าหมอหรือผู้วิจัยรักษาโรคนั้น หัวข้อที่สี่ว่าอำนาจการใช้ยา หรือว่า Motive ต่างๆ ที่จะให้เด็กกินยา และหัวข้อที่ห้าว่ายาที่จะใช้รักษาโรคนั้น และหัวข้อที่หกว่าภาวะที่เรียกว่าไม่มีโรคนั้นเราจะเอาอย่างไรกันแน่ และหัวข้อที่เจ็ดคือสรุปเค้าโครงเหล่านี้พอเป็นเครื่องกำหนดจดจำง่ายๆ แม้จากหัวข้อเหล่านี้ก็เห็นได้ว่า อาตมาเอาตามชอบใจ คือว่าไม่ค่อยถือตามหลักทั่วๆไปที่เขาถือกันนัก ซึ่งจะกล่าวถึงภาวะที่ไม่มีโรคที่จะเอาอย่างไรกันแน่นี้ไว้กล่าวในตอนสุดท้ายเป็นต้น และขอให้ลองติดตามฟังไปดูจะรู้สึกว่าฟังยากหรือฟังง่ายอย่างไรได้ด้วยตนเอง
สำหรับปัญหาที่หนึ่งคือโรคของเด็กวัยรุ่น อาตมาใช้คำว่าโรคเพราะว่าเป็นคำที่เคยใช้ในพระคัมภีร์ในภาษาบาลีในเมื่อเล็งถึงอาการหรือภาวะอย่างนี้ โดยเรียกว่าโรคทางจิตหรือโรคทางกิเลสหรือโรคทางวิญญาณแล้วแต่จะเรียก ภาวะที่คนถูกกิเลสครอบงำและกระทำไปในลักษณะที่ไม่น่าดู ไม่น่าปรารถนา เรียกว่าโรค มีใช้อยู่ในภาษาบาลี เพราะฉะนั้นเราจึงได้คำว่าโรคมีความหมายเป็น ๓ ชนิดเป็นอย่างน้อย คือโรคทางร่างกายโดยตรงนี่ไม่ต้องพูดถึง โรคทางจิตส่วนที่เนื่องกันอยู่กับกายนับตั้งแต่ประสาทเป็นต้นไป นี่เราก็ไม่ต้องพูดถึง เรื่องโรคประสาท เรื่องโรคทางจิตที่เนื่องไปอยู่กับกาย แต่ยังมีโรคที่สามคือโรคทางวิญญาณล้วนๆ ทางจิตส่วนที่ไม่เกี่ยวกับกายล้วนๆคือทางสติปัญญาอะไรทำนองนี้ สำหรับโรคทางกายกับโรคทางจิตโดยตรงนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งมีโรงพยาบาลมีอะไรเป็นเจ้าหน้าที่พร้อมแล้ว ส่วนโรคทางวิญญาณก็คือโรคทางศีลธรรมหรือโรคทางจริยธรรมนี่เองแล้วแต่จะเรียก ถ้าจะนิยามความหมายของคำๆนี้ก็คือว่า “ภาวะที่กิเลสครอบงำจิตจนตั้งจิตไว้ผิด แล้วมีการกระทำไปตามใจตัวเอง”เช่นนี้ทั้งนั้น ไม่ว่ากิเลสชนิดไหนก็มีลักษณะเช่นนี้ทั้งนั้น แม้โรคที่เกิดแก่เด็กวัยรุ่นของเราก็กำลังเป็นเช่นนี้ทั้งนั้นคือมีกิเลสครอบงำจิตจนตั้งจิตไว้ผิดและมีการกระทำไปตามใจตัวเอง ฉะนั้นเราถือได้ว่าเรากำลังถือว่าเด็กวัยรุ่นของเรากำลังเป็นโรคทางจริยธรรมหรือทางศีลธรรม
ยังมีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับอาการของโรค เราอาจจะใช้คำกำกวมหรือกว้างเกินไปก็ได้ในเมื่อพูดว่าเด็กวัยรุ่นเฉยๆ เพราะคำว่าเด็กวัยรุ่นนี้มีหลายระดับ หลายประเภทหรือหลายเกรด ขอให้นึกถึงเรื่องนี้ให้มากอย่าได้วิจัยอย่างคลุมเครือ กว้างๆเป็นเรื่องเดียวกัน ขอให้แยกเด็กๆที่เป็นโรค เด็กวัยรุ่นที่กำลังเป็นโรคนี้ อย่างน้อยก็มีอยู่สัก ๓ ระดับ ฉะนั้นเป็นการต่างอย่างมากในส่วนข้อเท็จจริงปลีกย่อย แม้ว่าจะเหมือนกันทั้งหมดในส่วนใหญ่ ในส่วนใหญ่นั้นเราไปเล็งกันว่าศีลธรรมของเด็กวัยรุ่นไม่ดีขึ้นตามที่การศึกษาของโลกก้าวหน้าไป ทีนี้เหมือนกันหมดไม่ว่าเด็กวัยไหนเด็กประเภทไหน ระดับไหน คือว่าศีลธรรมของเด็กวัยรุ่นยิ่งเลวลงไปกว่าระดับของการศึกษาของโลกที่ก้าวหน้า ขอให้มองในข้อเท็จจริงที่รวมๆเป็นอย่างเดียวกันเสียก่อนอย่างนี้ คือในปัจจุบันนี้เรายอมรับว่าในทางฟิสิกส์เรารู้สึกว่าเด็กๆของเราเกิดมาสวยมาก รูปร่างหน้าตาแฉล้มแช่มช้อย งดงามมากกว่าเมื่อยี่สิบ สามสิบ สี่สิบปีมาแล้ว เป็นข้อเท็จจริงที่ใครๆก็จะสังเกตเห็น เป็นปัญหาอีกทางหนึ่งทางจิตวิทยาหรือทางชีววิทยาอะไรก็ตาม แต่เราดูแล้วก็จะเห็นว่า การที่เด็กๆของเราเกิดมาสวยขึ้นมาตั้งแต่ในท้องมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าทางจิตใจของแกดีขึ้นด้วย เรากลับไปพบว่าเมื่อเด็กๆของเราโตขึ้นมาๆ ทางวิชาหรือทางปัญญานั้นสูงขึ้น แต่ทางจริยธรรมนั้นไม่เป็นอย่างนั้นแต่กลับจะลดลง ลองเขียนเป็นกราฟดูว่าจะเป็นอย่างไรตามอายุที่เพิ่มขึ้น เด็กอายุมากขึ้นเลขดัชนีทางวิชาทางปัญญาพุ่งขึ้นไปในทางสูง แต่เลขดัชนีในทางศีลธรรมกลับพุ่งกลับมาในทางตรงกันข้ามไปในทางต่ำ
นี่เป็นข้อเท็จจริงรวมๆทั่วไป แต่การที่เราจะใช้ข้อเท็จจริงอย่างเดียวนี้แก้ปัญหาแก่เด็กทุกระดับนี้ดูจะไม่ได้ เราจะต้องแยกเด็กๆที่กำลังเป็นปัญหา คือความเป็นโรคของเด็กนี้อย่างน้อยสัก ๓ ระดับดังที่กล่าวแล้ว เช่นว่าระดับแรกเราเล็งถึงฝ่ายต่ำสุดถึงขนาดเป็นอันธพาล ขนาดที่เรามีศัพท์เรียกกันในปัจจุบันว่าอันธพาล ที่รองลงไปลำดับที่สองก็เรียกว่าขนาดที่ว่าจะเป็น อาจจะหรืออาจจะเป็นคนไม่ตรง คนอันธพาลในอนาคต คือมีเค้าเงื่อนว่าจะเบนทิศทาง ส่วนในเกรดที่สามนั้นเราเอาแต่เพียงว่าเขายังไม่ปลอดภัยในทางจิต ในทางวิญญาณ ไม่ถึงขนาดเป็นอันธพาลหรือจะเป็นอันธพาล แต่ว่าจะเป็นผู้ที่มีทุกข์ทรมานในทางจิตในทางวิญญาณโดยส่วนตัวเขาเอง เช่น เขาร้องไห้เก่ง เขาเอาแต่ใจตัวเองเก่งกระทั่งเป็นโรคประสาทได้ง่าย กระทั่งฆ่าตัวตายได้ง่ายๆในที่สุด อย่างนี้เรียกว่าโรคทางวิญญาณด้วยเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ขนาดที่เป็นอันธพาล ขนาดที่เป็นอันธพาลนั้น ครูบาอาจารย์ควรจะตั้งข้อสังเกตว่ามีอยู่มากไม่น้อย แต่ไม่ค่อยมาเกี่ยวข้องกับวงการของครูบาอาจารย์
ส่วนอาตมากลับเห็นว่าประเภทนี้น่าวิตกอย่างยิ่ง อันตรายอย่างยิ่ง อาตมายกตัวอย่างขอเวลาสักเล็กน้อยว่า เด็กขนาดวัยรุ่นนี้เป็นลูกจ้างคนจีนไปทาสีที่วัด เขาทำงานอย่างที่เรียกว่าใช้ไม่ได้ คือมีจิตใจที่ไม่เป็นคนปรกติ พอเราทักทวงเข้าเรื่องทาสีไม่ทำตามวิธีของสีชนิดนั้น เขาก็โกรธ เขาไม่ได้โกรธอย่างเดียว เขาประชดหรือเขาแกล้งทำให้ผิดวิธียิ่งขึ้นไปอีก แล้วเขาพูดอะไรไม่ให้ได้ยิน งึมงำๆ อยู่ในคอซึ่งเรารู้ได้ว่าเป็นคำหยาบ แล้วการพูดจาของเขาในระหว่างทำงานอยู่กับเพื่อนของเขาล้วนแต่ตะโกนกันด้วยคำหยาบ จนเรารู้สึกเศร้าว่าสิ่งสวยงามของเรานี่เพราะเหตุใดจึงถูกสร้างด้วยคนที่พูดคำหยาบ เขามีความประพฤติที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เช่นในวัดของเราไม่เคยมีใครขว้างปาผลหมากรากไม้ก็เพิ่งมี ผลที่สุดวัยรุ่นสองคนนี้ก็ถูกนายจ้างของเขาส่งกลับ ลองพิจารณาดูเถิดว่าเขาเองไม่ได้รับประโยชน์อะไร เราก็พลอยเสียประโยชน์ นายจ้างของเขาก็พลอยเสียประโยชน์เพราะว่าแทนที่นายจ้างเขาจะได้ทำงานมากเข้าไปอีก เรากลับตัดงานลงไปอีกมากไม่ให้เขาทำ เมื่อนายจ้างเขาเสียประโยชน์ เราก็เสียประโยชน์ เจ้าตัวเองก็เสียประโยชน์ เรียกว่าเป็นปัญหาด่วน เป็นปัญหาเฉพาะหน้า ฉะนั้นคงจะมีทั่วๆไปไม่เฉพาะแต่รายนี้ที่เอามาเป็นตัวอย่าง ขอได้โปรดคิดดูว่าวัยรุ่นของเรามีเกรดอย่างนี้อยู่เกรดหนึ่ง ส่วนเกรดที่จะคดโกงในอนาคตนั้นก็ยังเสี่ยงอยู่ ยังไม่แน่ แต่ถึงแม้ว่าเกรดที่สามคือว่าจะร้องไห้เก่ง จะเป็นโรคเส้นประสาทในที่สุด จะฆ่าตัวตายได้ง่ายๆนี้เราก็เป็นห่วงเหมือนกัน ฉะนั้นขอให้ครูบาอาจารย์นึกถึงเด็กวัยรุ่นอย่างน้อยเป็น ๓ เกรดดังที่กล่าวแล้ว อย่าได้ใช้อะไรเหมือนๆกันไปหมดนั้นดูน่าเขลาและมันดูน่าขันแต่เป็นความเขลา เราลองคิดดูว่าโลกเราทั้งโลกในปัจจุบันนี้ มีหลักน่าหัวเราะอยู่หลายอย่าง เช่นกฎหมายออกไว้อย่างไรสำหรับประเทศไหนก็ตาม ก็ใช้แก่คนทุกๆเกรดทุกๆระดับอย่างนี้มันถูกหรือไม่ถูกลองคิดดู กฎหมายที่ดีเกินไปนั้นกลับจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง คือเยิ่นเย้อในการใช้กฎหมายกว่าจะพิจารณาอะไรไป แม้แต่คนที่คนทั้งบ้านทั้งเมืองก็เห็นว่าไม่ไหวแล้ว นี่คือกฎหมายดีเกินไป กฎหมายฉบับเดียวใช้กับคนทุกเกรดอย่างนี้ อาตมาถือและเชื่อว่ามันผิดกับหลักของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านใช้อุบายหยาบ ท่านตรัสยืนยันเองว่าท่านใช้อุบายหยาบแก่คนหยาบ ท่านใช้อุบายประณีตแก่คนประณีต แล้วท่านก็ฆ่าคนที่ควรฆ่าเสียเลยอย่างนี้เป็นต้น สรุปว่ามนุษย์เราในโลกนี้เวลานี้มีอะไรประหลาดๆ ซึ่งเข้าใจไม่ได้และก็ทำให้ปัญหาในโลกนี้มันมาก มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้นจนมนุษย์แก้ไม่ไหวเพราะว่ามีความเขลาในอะไรหลายๆอย่างอยู่เป็นธรรมดา ทีนี้มาถึงเด็กของเราก็พลอยมีอาการอย่างเดียวกันที่ว่ากฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่ได้จัดให้ถูกกับระดับหรือเกรดนี่ก็เป็นผลร้ายอยู่แล้ว นอกจากนั้นเด็กๆของเราก็กำลังเดินไปในทางที่จะเป็นปัญหายุ่งยากมากขึ้นเพราะสิ่งแวดล้อม คิดดูว่าเด็กๆของเราในปัจจุบันนั้นจะแกงใบมะขามอ่อนกินก็ไม่เป็นเพราะไม่มีในตำรากับข้าวชั้นดีของคนสมัยนี้ ทำนองนี้เป็นต้น เพราะทะเยอทะยานไปในทางอื่น ฉะนั้นอย่าลืมว่าการที่ทะเยอทะยานในเรื่องกินเรื่องอยู่นี้แหละเป็นปัญหาอันร้ายกาจอันหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสื่อมทรามในทางจิตใจ ฉะนั้นควรจะนึกถึงปัญหาเรื่องเด็กทะเยอทะยานในเรื่องการกินอยู่นี้ให้มากด้วย อาตมาจะยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งว่าเมื่อคราวหนึ่งไปติดต่อหาเครื่องพิมพ์ที่ใช้พิมพ์หนังสือ ไปพบที่ร้านเอเย่นเครื่องพิมพ์จากประเทศจีนซึ่งมีราคาถูกมาก ทั้งๆที่คุณสมบัติก็ไม่ต่างกันนักก็เลยถามเป็นทำนองเย้าๆเอเย่นที่ขายว่า เหตุใดจึงขายถูกนัก คงจะใช้อะไรไม่ได้ แต่เขาก็รู้ว่าเรารู้ เขาจึงตอบอย่างที่น่าหัวว่าคนจีนนั้นนอนกับพื้นแล้วกินหัวผักกาด ส่วนฝรั่งนอนเตียงแล้วกินหมูกินไก่วัฒนธรรมอย่างนั้น ฉะนั้นจะทำแท่นพิมพ์ขายเท่ากันย่อมไม่ได้ในเมื่อคุณสมบัติไม่เท่ากัน ลองคิดดูเรื่องเช่นนี้ว่าเป็นปัญหาสำคัญมากน้อยอย่างไรที่เกี่ยวกับการกินอยู่ และเคยได้ยินได้ฟังเพื่อนคนญี่ปุ่นเล่าให้ฟังถึงขนาดว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นบางคนมาจากเด็กที่ขายเต้าฮวย เป็นเด็กหนังสือพิมพ์กระทั่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ เพราะว่าเขาผ่านการกินอยู่ต่ำๆ ขณะที่คนชั้นอธิบดีในครอบครัวนั้นก็ยังกินอาหารจากหัวผักกาดอย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นจึงมีความคิดนึกคนละอย่างกับคนที่เป็นอยู่ตรงกันข้าม บางทีจะเป็นเพราะเหตุนี้ก็ได้ที่ว่าเราเห็นประชาธิปไตยของญี่ปุ่นนั้นไม่ลุ่มๆดอนๆ ไม่ต้องใช้กำลังทหารไม่ต้องอะไรทำนองนี้ก็ได้เพราะว่ายึดหลักที่ใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่า เดี๋ยวนี้เรามองเห็นว่าเด็กๆของเรากำลังทะเยอทะยานมุ่งมาดเร็วเกินไปในเรื่องเหล่านี้ซึ่งเป็นปัญหาหรือเป็นปัจจัยอันหนึ่งด้วยเหมือนกันที่ทำให้เขาไม่สำรวมระวังในเรื่องทางศีลธรรม ถ้าว่ายิ่งมีความทะเยอทะยานมากในทางนี้ก็ยิ่งเห็นแก่ได้ เห็นแต่เงิน เห็นแต่ผลความสนุกสนานที่จะได้จากเงิน ไม่ค่อยคำนึงถึงศีลธรรม ในขณะนี้มีพูดกันว่าเด็กๆจะเข้าเรียนจะต้องเสียค่าอะไรๆที่ไม่ใช่ถูกต้องตามระเบียบมาก เด็กๆบางคนถึงกับน้ำตาไหล พ่อแม่ก็น้ำตาไหล นี่ก็เป็นมูลเหตุอันหนึ่งเหมือนกันที่ว่าจะทำให้เด็กของเรายุบยับไปหมดในทางจิตใจ เขาคงจะคิดขนาดที่ว่าล้างแค้นก็ได้ เมื่อเขาเรียนสำเร็จเขาโตเมื่อไรเขาจะแก้ตัวในทางนี้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะเขาต้องเสียเงินอย่างน้ำตาไหลจึงจะเข้าเรียนในที่แห่งใดแห่งหนึ่งได้อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นเราจะต้องช่วยกันสอดส่องให้กว้างขวางที่เกี่ยวกับโรคของเด็กหรือสมุฏฐานแห่งโรคของเด็กกันให้ทั่วถึงในข้อเท็จจริงต่างๆ
ที่เรียกว่าอาการโรคของเด็กวัยรุ่นเท่าที่เป็นอยู่จริงๆนี่เป็นอาการโรค อาตมาอยากจะกล่าวถึงข้อที่สองที่เรียกว่าสมุฏฐานของโรค สมุฏฐานของโรคเด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่อาตมาเล็งไปถึงข้อที่เขาลืมตาขึ้นมาในโลกนี้ในท่ามกลางสิ่งยั่วยวนให้เขาเหยียบย่ำศีลธรรม เขาลืมตาขึ้นมาในโลกนี้ในท่ามกลางสิ่งยั่วยวนมากมายให้เขาเหยียบย่ำศีลธรรม เช่นว่าในโลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งหรือวัตถุที่เป็นเสน่ห์ของวัตถุนิยม คือความสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีทางที่จะสิ้นสุด มองๆไม่เห็นที่สิ้นสุด มีแต่มากยิ่งขึ้นๆ เรียกว่าเสน่ห์ของวัตถุนิยมในโลกเต็มทั่วไปหมด เด็กลืมตาขึ้นมาก็ถูกมอมให้มึนเมาด้วยเสน่ห์เหล่านี้เสียแล้ว เสียงที่สมัยก่อนเขาพูดกระซิบกันแต่ในที่ลับ เดี๋ยวนี้เสียงกระซิบนั้นมาดังก้องอยู่ในวิทยุกระจายเสียงทั้งวันทั้งคืน นี่เป็นข้อเท็จจริงอย่างไรก็ขอให้ลองตั้งใจฟัง สังเกตฟังอุตส่าห์ทนฟัง เพราะคำที่โปกกระโดกไม่ควรจะพูดในที่สาธารณะนั้นมีอยู่ในบทเพลงสมัยใหม่ เพลงเกี่ยวกับเพศ เพลงเกี่ยวกับอะไรต่างๆ ซึ่งคำพูดทำนองนั้นจะพูดในที่แจ้งได้ก็แต่หญิงโสเภณีหรือว่าหญิงที่ชั้นเลวที่สุด คนธรรมดาถือเป็นเรื่องที่ไม่พูดหรือพูดในที่ลับที่กระซิบ แต่ในปัจจุบันกลายเป็นว่าทุกหนทุกแห่งทุกเวลาจะมีเสียงเหล่านี้ ขอให้สังเกตเอาเอง อาตมาจะไม่กล่าวโดยรายละเอียด หรือว่าภาพ ภาพต่างๆที่เห็นได้แต่ในที่รโหฐานตอนนี้ได้ปรากฏทั่วไปหมด ปัจจุบันอยากจะได้เงินมากเกินไปโดยไม่ต้องคำนึง ซึ่งก็มีเรื่อง มีกลอุบายกลโกงที่จะเอาเรื่องลามกอนาจารมาเคลือบหุ้มด้วยศิลปะมาให้กลายเป็นไม่ใช่ลามกอนาจาร แต่ว่าผลที่เกิดขึ้นแก่เด็กวัยรุ่นนั้นไม่เป็นอย่างนั้น มันคงมีผลอย่างเดียวกับเรื่องลามกอนาจาร จะย้อมจิตใจของเด็กให้หันเหให้เอียงไปในทางต่ำอยู่เสมอไป ยิ่งเมื่อผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งเป็นตัวอย่างในทางบูชาความสุขทางวัตถุ ทางเนื้อหนังกันอย่างรุนแรงเต็มไปหมด เด็กๆก็เหลือที่จะเป็นอย่างอื่นได้ เด็กๆก็กลายเป็นผู้ที่บูชาเรื่องทางเพศหรือบูชาความรู้สึกในทางเพศนี่ยิ่งกว่าจะบูชาความเป็นสุภาพบุรุษหรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีหรือแม้แต่สิ่งที่เรียกว่าพระพุทธเจ้า เด็กๆของเราหมุนไปอย่างไรด้วยสมุฏฐานของโรคเหล่านี้ สื่อมวลชนต่างๆ วิทยุ หรือว่าหนังสือพิมพ์หรือการโฆษณาอย่างใดๆ ล้วนแต่มุ่งจะหาเงินและเมื่อจับจุดได้ว่าเรื่องทางเพศเป็นเรื่องทำเงินได้ง่าย ก็เอาเรื่องลามกอนาจารเหล่านั้นมากลบเกลื่อนด้วยศิลปะต่างๆ เพื่อจะให้ไม่ผิดกฎหมายเพื่อจะให้ขายได้ อาตมาอยากจะยืนยันว่าแม้แต่ในหนังสือพิมพ์ที่เรียกกันว่าหนังสือพิมพ์ชั้นดีในความควบคุมของครูบาอาจารย์นี่ก็ยังมี ฉะนั้นขอให้สังเกตดูอย่างละเอียดด้วยจิตใจที่ปรกติเสียก่อน สำหรับคำว่าอนาจารนี้ ทางภาษาธรรมะมีความหมายจำกัดว่า ทำลายหิริโอตัปปะ หรือว่าแม้แต่เขย่าความมั่นคงของหิริโอตัปปะ ในปัจจุบันเขาจะมีความหมายเขาจะให้ความหมายของคำๆนี้กันอย่างไรหรือต่างประเทศเขาให้ความหมายคำๆนี้กันอย่างไรอาตมาไม่ทราบ แต่ถ้าถือตามทางธรรมะแล้วเราถือว่าสิ่งที่ทำลายความรู้สึกที่เป็นหิริโอตัปปะหรือว่าเขย่าความมั่นคงของหิริโอตัปปะแล้วก็ชื่อว่า อนาจาร ครั้นในหนังสือพิมพ์ชั้นดีบางฉบับมีเรื่องอ่านเล่นที่ถือว่าชั้นดีโดยนักประพันธ์ชั้นดีก็มีอาการอย่างนี้คือมีเรื่องอนาจารที่เคลือบหุ้มด้วยอะไรบางอย่างไว้ล่อคนซื้อ ดูต่อไปถึงเพลงและดนตรี ก็ขอให้สังเกตดูให้ดีๆว่ากำลังเปลี่ยนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ สิ่งที่เรียกว่าดนตรีหรือเพลง หรือศิลปะของการร่ายรำรวมๆกันหมดนี้ ในครั้งแรกที่สุดที่มนุษย์ได้ยอมรับคุณค่าของสิ่งเหล่านี้นั้น ก็เพื่อระงับความวุ่นวายของจิตใจ ระงับความหม่นหมองของจิตใจ ระงับความพลุ่งพล่านดิ้นรนกระเสือกกระสนของจิตใจที่พลุ่งพล่านหรือเครียดให้กลับไปสู่ภาวะปกติ เพราะฉะนั้นดนตรีหรือบทรำ ท่ารำ หรือบทเพลงต่างๆ จึงมีความนุ่มนวล ความเยือกเย็นนุ่มนวล โดยเฉพาะบทเพลง ดนตรี หรือท่ารำของชาวตะวันออกเราและโดยเฉพาะคนไทย ปัจจุบันเราเปลี่ยนไปตามพวกตะวันตกหรือพวกที่ตรงกันข้าม ดนตรี เพลง ท่ารำ ระบำต่างๆเหล่านี้กลายเป็นหวังผลเพื่อการยั่วยุให้แรงขึ้น ไม่ใช่เพื่อหยุด เพื่อพัก เพื่อความลดลงไปสู่ปรกติ คือ ไม่เป็น Relaxation แต่เป็นเรื่องกระตุ้นให้แรงไปกว่าธรรมดา ผิดความมุ่งหมายอันแท้จริงของดนตรีหรือของสิ่งเหล่านี้ที่พระเป็นเจ้าได้สร้างมาให้หรือได้กำหนดไว้ให้ เรียกว่าเราฝ่าฝืนความประสงค์ของพระเป็นเจ้าหรือของธรรมชาติกันโดยตรงในเรื่องนี้ ฉะนั้นในปัจจุบันเราจึงแต่มีบทเพลง หรือท่ารำ หรืออะไรที่ถ้าเราตามก้นพวกตะวันตกก็มีแต่เรื่องยุ เร้า ให้เร่าร้อน แทนที่จะหยุดให้สงบลงมาเป็นความเยือกเย็น เมื่อเด็กๆของเรา วัยรุ่นของเราไปนิยมดนตรี บทเพลง ท่ารำอะไรทำนองนี้เข้า มันจะเป็นอย่างไร เด็กก็ทิ้งความเป็นไทยหมด ละทิ้งและไม่ได้รับผลที่ถูกต้องของสิ่งเหล่านี้ จึงขอให้คิดดูว่าเรากำลังทำผิดต่อเรื่องนี้ แม้จะผิดแต่ว่าละครสมัยโบราณในอินเดีย หรือแม้แต่ในยุโรปเช่นในสมัยเช็คสเปียร์ เราก็พบว่าละครใช้ผู้ชายล้วน จะแสดงตัวไหนก็ใช้ผู้ชายล้วนทั้งชุด กับสมัยนี้ซึ่งเราใช้ผู้หญิงเป็นผู้หญิง ผู้ชายเป็นผู้ชายและก็ใช้กิริยาท่าทางที่รุนแรงยิ่งไปกว่าธรรมดา ฉะนั้นจะมีผลเหมือนกันได้อย่างไร นี้แปลว่าสมุฏฐานแห่งโรคของเด็กวัยรุ่นนั้นมีมาก รุนแรงและกว้างขวางออกไปอย่างนี้ เรียกว่าเขาเกิดมาในท่ามกลางสิ่งยั่วยุให้เป็นไปในทางที่จะเหยียบย่ำศีลธรรมอย่างนี้ ต่อไปมองดูให้แคบเข้ามาอีกในเรื่องใกล้ๆตัวเรา ตัวอย่างที่เราทำกันอยู่ที่จะย้อมนิสัยเด็กๆของเรานั้น มีอยู่หลายอย่างซึ่งน่าสงสัย อาตมาใช้คำว่าน่าสงสัยว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกเป็นเรื่องน่าละอาย ตัวอย่างอันแรกเช่น เกิดระเบียบให้หยุดราชการ ชดเชยวันบางวันที่เป็นวันหยุดแต่เผอิญไปตรงกับวันอาทิตย์อย่างนี้ อย่างนี้หมายความว่าอย่างไรกันแน่ หมายความว่าความเห็นแก่ตัวจัดไม่เห็นแก่ส่วนรวมใช่หรือไม่ใช่ เช่นว่าปีนี้จะต้องหยุดในวันจันทร์ที่ ๓ เพื่อชดเชยวันแรงงานของชาติ หรือว่าจะต้องหยุดวันจันทร์ที่ ๑๗ เพื่อชดเชยวันวิสาขบูชาที่ตรงกับวันอาทิตย์ หรือจะต้องหยุดวันจันทร์ที่ ๒๕ ชดเชยวันปิยมหาราช หรือว่าต้องหยุดวันจันทร์ที่ ๖ ธันวาคมชดเชยวันเฉลิมพระชนมพรรษา ลองคิดดูกันสิว่าวันหนึ่งก็เป็นวันของชาติ แปลว่าเราไม่ยอมเสียเปรียบให้แก่ชาติ ตึงเครียดต่อชาติ แล้ววันหยุดวันวิสาขบูชาต้องชดเชย ก็แปลว่าเราไม่ยอมเสียเปรียบให้แก่ศาสนา ยังจะเรียกร้องเอาวันหนึ่งวันมาหยุดชดเชยอีก วันหนึ่งเราก็ไม่ยอมเสียเปรียบให้แก่พระเจ้าอยู่หัวที่ว่าเราจะต้องหยุดอีกวันหนึ่ง ทั้งๆที่ว่าเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา ความมุ่งหมายนี้จะอย่างไรก็ไม่ทราบแต่ว่าผลหรือปฏิกิริยานั้นคงจะย้อมนิสัยเด็กๆให้เป็นคนไม่ยอมเสียเปรียบแม้แต่นิดเดียว แม้แต่ชาติ แม้แต่แก่ชาติ แก่ศาสนา แก่พระมหากษัตริย์ อาตมารู้สึกว่าอาจไม่มีใครเจตนาก็ได้ ไม่มีใครนึกก็ได้ แต่ว่าโดยแท้จริงเป็นเครื่องย้อมเด็กๆของเราให้มีนิสัยตึงเครียด เอาเปรียบ ไม่ยอมเสียเปรียบ หรือขออภัยถ้าว่าจะเป็นเรื่องใช้คำว่าเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอกไปก็ได้ เช่นว่าเห็นแก่ชาติ เห็นแก่ศาสนา เห็นแก่พระมหากษัตริย์ แต่ว่าหยุดต้องหยุด ไม่ยอมชดเชย ไม่ยอมเสียสละ ต้องเรียกการชดเชยแบบนี้ เราจะเอาอย่างฝรั่งหรืออย่างไทยก็สุดแท้นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าผลมันไม่อยู่ในลักษณะที่จะกล่อมเกลานิสัยเด็กๆ ซึ่งเป็นพุทธบริษัทที่นิยมการเสียสละเลย ทั้งฝืนต่อหลักเกณฑ์ของพระพุทธเจ้าไปหมด อาตมาเพียงแต่ขอร้องให้เอาไปคิด จะถูกหรือไม่ถูกก็ต้องช่วยเอาไปคิด แต่เป็นห่วงว่าปู่ย่าตายายของเราไม่เคยตึงเครียดอย่างนี้ บรรพบุรุษของเราไม่เคยตึงเครียดอย่างนี้ ทีนี้เด็กๆของเราต่อไปจะเป็นคนตึงเครียด แม้ต่อสิ่งที่เรียกว่าชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงรู้สึกว่าเป็นห่วง เพราะว่าเด็กๆเขาเกิดมาในโลกนี้มาพบอย่างนี้และก็เป็นนิสัยไป โดยไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์
ลองมองดูต่อไปว่า เด็กๆสมัยนี้เติบโตขึ้นมาในท่ามกลางสิ่งบำเรอ บำรุงบำเรอที่ไม่สมดุล คือเกินพอดี เด็กๆเกิดมาได้รับความทนุถนอม บำรุงบำเรอเกินพอดี ไม่เหมือนเด็กๆ สมัยเราอายุห้าสิบหรือหกสิบ ฉะนั้นเด็กจะมีนิสัยอย่างไร เด็กๆเหล่านี้จะมีนิสัยอย่างไรพร้อมที่จะเป็นอย่างไร ขอให้ช่วยเอาไปวิจัยดูด้วย เด็กๆ เกิดมาก็มีของเล่น ของกิน ของดู เช่นทีวีอะไรทำนองนี้ เป็นของธรรมดาไปหมดไม่มีความหมายว่าจะต้องหามาด้วยความเหนื่อยยากลำบาก คล้ายๆกับว่าเด็กๆสมัยนี้เขาจะเรียกร้องสิทธิที่ว่า เพราะว่าเขาเกิดมาเขาต้องมีทีวีดูละ เพราะว่าเขาเกิดมาไม่ต้องอะไร ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วก็แปลว่าเด็กนั้นมีจิตใจอยู่ในสภาพที่น่าวิตกอย่างยิ่งจะต้องมีอะไรมาถ่วงให้สมดุล มิฉะนั้นจะเกิดปัญหายุ่งยากลำบากแก่ครูบาอาจารย์มากยิ่งขึ้นไปทุกที
สำหรับสมุฏฐานอันสุดท้ายของโรคของเด็กๆนี้อาตมาจะเรียกว่า เพราะเด็กๆขาดสิ่งกระตุ้นที่ให้ประพฤติศีลธรรม ขาดความกระตุ้นหรือสิ่งกระตุ้นที่ให้เกิดความนิยมชมชอบในศีลธรรม ข้อนี้หมายความว่าระบบปฏิบัติอะไรก็ตามต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Motive คือสิ่งที่จะกระตุ้นใจ จรรโลงใจให้เขารนิยม ยินดี เสียสละเพื่อประพฤติ เพื่อกระทำในระบบนั้นๆ โดยเฉพาะสำหรับสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมด้วยแล้ว สิ่งที่เรียกว่า Motive นี้จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นเขาจึงจัดไว้ในฐานะเป็นปัญหาหนึ่งที่จะต้องพิจารณาอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องของศีลธรรม เด็กๆสมัยนี้ขาด Motive ทางศีลธรรม เรียกว่าหมดทั้ง ๓ ประการก็ได้ Motiveทางศีลธรรมนี้เราเอาตามนักศีลธรรมทั่วไปเขาลงมติกันว่า“Religious motive” motiveตามทางศาสนานี้หมายความว่าอยากจะไปสวรรค์ อยากจะได้ดี และก็กลัวนรก กลัวสิ่งเหล่านั้น เช่นที่ปู่ย่าตายายของเราเคยมีมากมาย ปู่ย่าตายายของเรากลัวตกนรกและอยากได้ไปสวรรค์ ความรู้สึกอันนี้เป็น Motive ทางศาสนาที่ให้ประพฤติศีลธรรม ในปัจจุบันเด็กๆของเราก็ขาดไปหมดเพราะเขาไม่กลัวนรกหรือเขาไม่อยากได้สวรรค์ “Social motive” คือ Motive ทางสังคม ก็คือความรู้ รู้จักละอาย รู้จักละอายต่อสังคม ไม่อยากให้ใครหัวเราะเยาะ ไม่อยากให้ใครดูหมิ่นหรืออยากให้สังคมนิยมยกย่องนับถือ เรากำลังไม่ละอาย เราถือลัทธิตัวใครตัวมัน ใครดีใครได้ใครมีเงินก็เป็นใช้ได้ สังคมจะว่าอย่างไรเราไม่รู้ เราขาด Motiveทางสังคม เด็กๆก็กำลังเป็นเช่นนี้ “Political motive” คืออำนาจกระตุ้นเนื่องในการเรื่องนี้ ถ้าเรายังรักชาติ รักศาสนา รักพระมหากษัตริย์ รักชาติไทยกันจริงๆมันก็ทำได้ง่าย แต่ถ้าเดี๋ยวนี้เกิดแต่รักชาติกันแต่เพียงปากหรือว่าเด็กๆรู้จักชาติเพียงแผ่นธงชาติอย่างนี้ มันก็หมดเหมือนกัน ไม่มีชาติที่แท้จริงที่จะเห็นแก่ชาติ ทีนี้ความเสียสละแก่ชาติ หรือเพื่อการเมืองนี้ก็ไม่เป็นไปถูกทาง ที่เรียกว่า Motive ทั้งสามประการ ในทางที่ผิดนั้นเรากำลังสูญเสียไปและแม้แต่เด็กๆก็กำลังเป็นแบบนี้ รวมความทั้งหมดนี้แล้วก็จะเพียงพอแล้วที่จะถือว่านี่คือสมุฏฐานอันแท้จริงของโรคของเด็กวัยรุ่น เราจะต้องแก้ไขกันที่สมุฏฐาน เช่นสร้าง Motive ให้ถูกต้องขึ้นมาใหม่ซึ่งจะได้พิจารณากันต่อไป เรียกว่าเป็นข้อที่สองคือสมุฏฐานของโรคของเด็กวัยรุ่น
สำหรับหัวข้อที่สาม อาตมาเรียกว่าหมอผู้วิจัยหรือรักษาโรค คำว่าหมอนั้นจะหมายถึง ครูบาอาจารย์หรือจะหมายถึงคณะกรรมการวิจัยของชาติที่มีหน้าที่วิจัยในเรื่องนี้ หรือจะหมายถึงพระเจ้า พระสงฆ์ ทางศาสนา วัดวาอาราม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในเรื่องนี้อยู่ตามธรรมชาติก็ได้ทั้งนั้น จึงต้องรวมเรียกสั้นๆว่าหมอ ผู้จะวิจัยและรักษาโรค สำหรับเรื่องเกี่ยวกับผู้ที่จะวิจัยโรคและรักษาโรคนี้ อาตมาอยากจะขอร้องให้ยอมรับในสมมติฐานขั้นแรกเสียก่อนบางประการดังต่อไปนี้ว่า ถ้าหมอก็เป็นโรคอย่างเดียวกันเสียเอง ก็ย่อมเป็นการยากที่หมอจะวิจัยและค้นพบสมุฏฐานของโรคนั้นๆ ทั้งที่โรคนั้นมีอยู่จริง หรือว่าผู้วิจัยในก็จะเห็นสิ่งที่เป็นสมุฏฐานนั้นไม่ถูกไม่ตรงต่อสิ่งที่เป็นสมุฏฐาน ไปมองเห็นสิ่งอื่นซึ่งไม่ใช่สมุฏฐานเป็นสมุฏฐานเสียก็ได้ ก็หมายความว่าคณะกรรมการ หรือบุคคลที่จะวิจัยโรคเด็กวัยรุ่นจะต้องระวังตัวเองให้ดีๆ ว่าตัวเองกำลังเป็นโรคอย่างเดียวกันกับเด็กนั้นหรือไม่ อาการโรคของเด็กที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อที่หนึ่งนั้นเป็นอย่างไร ตัวผู้วิจัยเอามาตรวจสอบตัวเองดูเสียก่อนว่าเรากำลังเป็นโรคอย่างเดียวกันนั้นหรือไม่ ถ้าเป็นโรคอย่างเดียวกันแล้วเหลือวิสัยที่จะค้นพบว่าเด็กนั้นเป็นโรคอะไร อาจจะยิ่งไปกว่านั้นว่าผู้วิจัยหรือหมอนั้นจะไม่เห็นว่าเป็นโรคอะไร ตัวเองก็ไม่เป็นโรคอะไร เด็กๆก็ไม่เป็นโรคอะไร เพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นโรค ภาวะเช่นไรเรียกว่าโรค นี้ก็เป็นได้ ควรจะระวังให้มากถึงอย่างนี้ ถัดไปก็คือว่าผู้วิจัยนั้นทำการวิจัยกว้างเกินขอบเขต เป็นหลักวิชชามากเกินไปจนเป็น Impractical คือว่าทฤษฎีค้นพบหรือวิจัยได้นั้นใช้อะไรไม่ได้ ใช้ปฏิบัติไม่ได้แม้ว่าเป็นความถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะมันกว้างเกินไปนอกขอบเขตของการปฏิบัติอย่างนี้ก็มี หรือว่าอาจจะได้ผลในทางปฏิบัติน้อยเกินไปไม่คุ้มกัน เหมือนกับขี่ช้างจับตั๊กแตนอย่างนี้ก็มี นี่ก็เพราะว่าจะเนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่กล่าวแล้วข้างต้นว่าเป็นนัก Ethic หรือนักจริยธรรมมากเกินไปกว่าที่จะเป็นนักศีลธรรม เพราะถ้าไปเป็นนักจริยธรรมหรือ Ethicist มากไปแล้ว ก็เป็นเรื่องทฤษฎีเตลิดเปิดเปิงไปไม่มีที่สิ้นสุดไม่รู้ว่าจะลงเอยสำหรับปฏิบัติเมื่อไรนี่เรียกว่ามากเกินไป ทั้งนี้ก็เพราะว่าเรานิยมหรือหันไปนิยมในเรื่องทฤษฎีทางวิชามากเกินไป คือว่าจะเป็นครูบาอาจารย์มากเกินไปกว่าที่จะเป็นผู้ลงมือทำเสียเอง ฉะนั้นเราจะเป็นแต่ครูสอนเรื่องกสิกรรม เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอะไรมากเกินไปจนไม่มีการปฏิบัติของตนเองเลยและผู้ที่จะเอาไปปฏิบัติก็ยังไม่มี
คิดดูเถิดว่าเมื่อผู้วิจัยเองก็อยู่ในสภาพเดียวกับคนป่วยแล้วเขาก็รู้สึกเป็นไม่มีโรค หรือตัวผู้วิจัยเองก็พอใจในภาวะของความมีโรคเสียด้วยซ้ำไป หรือบางทีมากไปจนถึงกับว่าหมอนั้นเป็นโรคนั้นให้เด็กๆให้คนไข้เห็นเสียเอง หมอหรือผู้วิจัยเป็นโรคดังกล่าวให้เด็กๆหรือคนไข้เห็นเองเสียด้วยไป คนก็ไม่ศรัทธาไม่เชื่อหรือไม่ยอมให้เขาวิจัยหรือรักษา เรียกว่าเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณากันในขั้นต้น สำหรับผู้ที่จะทำการวิจัยโรคของเด็กวัยรุ่น
ทีนี้ให้แคบเข้ามาถึงครูบาอาจารย์ของเรา อาตมาขอยืนยันพร้อมทั้งต้องขออภัยที่จะกล่าวว่าครู ครูบาอาจารย์ของเรานั้น ในฝ่ายตะวันออกเรากำลังเกลียดอุดมคติโบรมโบราณที่ว่าครูคือผู้นำทางวิญญาณมากขึ้นทุกที ก็ขอให้ไปเปิดดูปทานุกรมเก่าๆ ปทานุกรมสันสกฤต คำว่าครู แปลว่า Spiritual Guide คือมัคคุเทศก์ทางวิญญาณ แต่เดิมมาเขามีความหมายอย่างนี้และคนที่เรียกว่าครูทำหน้าที่อย่างนี้ แม้แต่จะสอนเด็กก็สอนในลักษณะที่ให้วิญญาณสูงขึ้นจนได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในทางวิญญาณเสมอ เราสมัยนี้มีความเปลี่ยนแปลงไปมากในทางการเป็นอยู่ กระดากหรือขยะแขยงด้วยซ้ำไปที่จะเป็นผู้นำในทางวิญญาณ หันไปในทางที่จะเรียกว่าเป็นผู้รับจ้างสอนวิชาหนังสือ วิชาอาชีพหรือวิชาอะไรที่โลกต้องการอย่างเดียว ไม่ต้องคำนึงว่าวิญญาณจะสูงหรือจะต่ำ ขออย่าได้เข้าใจไปว่าถ้าเรารู้หนังสือหรือว่ามีวิชาอะไรต่างๆหลายอย่างแล้ว วิญญาณจะสูงเสมอไป นี่ไม่แน่ วิญญาณอาจจะดิ่งไปในทางต่ำก็ได้ ขอให้ตั้งกราฟด้วยคอยสังเกตขีดเขียนไว้ดู ผู้นำทางวิญญาณนั้นมีความหมายลึกซึ้งมาก สอนให้รู้หนังสือก็เรียกว่าวิญญาณสูงเหมือนกันแต่ก็คงมีวิธีสอนคนละอย่าง แต่ที่ว่าไม่คำนึงถึงว่าจะยกวิญญาณของเด็กๆเสียเลย ดังนั้นครูที่แท้จะสอนหนังสือหรือสอนวิชาศิลปศาสตร์อะไรก็ตาม ต้องมีการยกวิญญาณของผู้เรียนให้สูงขึ้นด้วยอยู่เสมอพร้อมกันไปในตัว ถ้าทำหน้าที่อย่างนี้มาก มากเต็มที่ก็กลายเป็นพระ เป็นพระบรรพชิตในศาสนาไป ถ้าทำตามธรรมดาที่ชาวบ้านเขาประสงค์ก็เรียกว่าเป็น ครูบาอาจารย์ก็ได้ อย่างพระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ยกสถานะทางวิญญาณอย่างยิ่งเพราะทำเต็มที่ทำสูงสุด แต่ครูบาอาจารย์ก็ควรจะมีอุดมคติอย่างเดียวกันตามความหมายเดิมเพียงแต่ว่าไม่ถึงระดับนั้น ฉะนั้นไม่น่าจะรังเกียจคำที่เรียกว่า “ผู้นำทางวิญญาณ” ฉะนั้นเราอย่าให้ความรู้สึกอย่างตะวันตกมาครอบงำจนถึงกับรู้สึกเกลียดคำว่าครูคือผู้ยกสถานะทางวิญญาณหรือผู้นำทางวิญญาณ อาตมาเชื่อว่าครูบาอาจารย์อย่างตะวันตกนั้นไม่ประสีประสาต่อคำว่าครูคือผู้นำทางวิญญาณ เพราะว่าอุดมคตินี้เป็นของตะวันออกเป็นของอินเดียโดยเฉพาะ เพราะคำว่าครูนี้เป็นภาษาอินเดีย และภาษาและวัฒนธรรมอินเดียนี้เป็นต้นตอของวัฒนธรรมไทย ฉะนั้นคำว่าครูอย่างความหมายในภาษาอินเดียนั้นน่าจะใช้ได้ในประเทศไทยเรา ซึ่งเรายอมรับวัฒนธรรมทุกอย่างของอินเดีย รวมทั้งพุทธศาสนาด้วยนี่ก็เป็นวัฒนธรรมอินเดีย ถ้าครูรังเกียจคำว่าผู้นำทางวิญญาณแล้ว ครูก็จะค่อยๆกลายลงมาเป็นผู้สอนเรื่องทำมาหากิน เรื่องความก้าวหน้า ความเจริญทางวัตถุ ทางเศรษฐกิจ อะไรอย่างนี้ยิ่งขึ้นไปทุกที ไม่สอนมุ่งหมายให้ยกวิญญาณให้สูงซึ่งเป็นไปในทางธรรม อย่างเช่นว่าการศึกษาของโลกในสมัยนี้ไม่ได้สอนในเรื่องทางวิญญาณโดยเฉพาะเรื่องที่ว่าสัตว์ทั้งหลายจะต้องเป็นไปตามกรรมของตัว การที่ไม่สอนเรื่องนี้มีโทษร้ายแรงมากคือทำให้คนบางประเภททะเยอทะยานที่จะแย่งชิงความดีหรือผลความดีของคนที่ดีกว่า สูงกว่า อย่างจะยื้อแย่งเอามาให้เสมอภาพด้วยเหตุที่ว่าเป็นประชาชนพลเมืองของชาติคนหนึ่งเหมือนกันอย่างนี้ อย่างนี้ก็เพราะว่าไม่ได้ศึกษาเรื่องธรรมะที่ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตัวคือทำความดีความชั่วไว้อย่างไรจะต้องเป็นไปตามกรรมนั้น มันเป็นตรงที่เขามีบุญ เขาเกิดมาฉลาด เขามีอะไรได้มาก มีความสุขได้มาก ก็ควรเป็นความยุติธรรมแล้ว ในการที่คนหนึ่งไม่ค่อยจะมี อย่างนี้เรียกว่ามีความเข้าใจถูกต้อง มีวิญญาณสูง ถ้ามีวิญญาณต่ำก็ว่าต้องไปแบ่งเอามา อย่างนี้ก็ต้องเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในโลกนี้อย่างยิ่งจนแก้กันไม่ตก เพราะว่าวิญญาณไม่สูงไปตามความก้าวหน้าของการศึกษา ของเวลา เราเกือบจะกล่าวได้ว่ายังไม่มีกระทรวงศึกษาธิการไหนในโลก หรือนอกจากประเทศไทยที่จะมีคติว่าครูคือผู้นำทางวิญญาณ เราก็ทิ้งอุดมคติโบราณดั้งเดิมของคำว่าครู แล้วก็ยิ่งขยะแขยงต่อคำๆนี้ ในที่สุดก็มีวิญญาณที่ตกต่ำไม่เป็นป้อมปราการ ไม่เป็นที่มั่นหรือไม่เป็นป้อมปราการที่จะต่อต้านลัทธิที่เป็นภัยแก่สังคม ลัทธิที่เป็นภัยแก่สังคมก็ฟักตัวขึ้นมาใหม่ได้โดยไม่ต้องมีเชื้อมาจากที่ไหน แต่ฟักตัวขึ้นมาใหม่ได้ในจิตใจของคนที่มีวิญญาณตกต่ำๆๆ ลงไปอย่างนี้ในสภาพอย่างนี้ ฉะนั้นเราจะต้องระวังเด็กๆวัยรุ่น กระทั่งเด็กเล็กๆของเรา เด็กที่ยังพูดอ้อแอ้นี่ให้เป็นผู้ที่มีสภาพทางวิญญาณถูกต้องและสูงขึ้นเสมอ ฉะนั้นถ้าครูบาอาจารย์จะวิจัยโรคของเด็กวัยรุ่น ก็น่าจะนึกถึงสิ่งเหล่านี้ให้มากด้วยเหมือนกัน เรียกว่าเป็นข้อที่สามที่เราจะต้องนึก
หัวข้อที่สี่นี้ อาตมาอยากจะพูดถึงอำนาจในการให้กินยาหรือว่า Motive ที่จะใช้ในการให้เด็กกินยา อำนาจนั้นหมายความว่าบังคับ Motive นี้หมายถึงกระตุ้นโดยไม่บังคับคือให้ทำโดยความสมัครใจ แต่ว่าดูเหมือนเราต้องใช้ทั้งสองอย่าง แต่ความหมายของคำว่าประชาธิปไตย ถ้าถือว่าผิดและเป็นภัยกับเรื่องนี้อย่างยิ่งคือการไม่ใช้อำนาจในกรณีที่ควรใช้อำนาจ ฉะนั้นให้ไปศึกษาความหมายของคำว่าประชาธิปไตยให้ดีๆ โดยเฉพาะให้ถือตามหลักศีลธรรมที่เขาได้วางไว้น่าฟังมาก ซึ่งเราจะพิจารณากันดูต่อไปก็ได้ แต่ในที่นี้อยากจะพูดแต่เรื่องอำนาจการวางยา เหมือนกับว่าเราใช้อำนาจบังคับให้คนทำในสิ่งที่ควรทำ แล้วจะถือว่าผิดหรือถูกอย่างไรลองไปคิดกันดูให้ดียิ่งขึ้น อำนาจจากวงการที่ทรงอำนาจเฉียบขาด เช่น อำนาจเผด็จการ อำนาจกฎอัยการศึก อำนาจปฏิวัติ เราก็นิยมใช้กันอยู่ในบางโอกาสบางเวลาและเราก็ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกที่ควร แล้วเหตุใดเราไม่ใช้อำนาจชนิดนั้นกับการแก้ไขทางศีลธรรมบ้าง เรียกว่าอำนาจของวงการที่ทรงอำนาจนี้เป็นข้อที่หนึ่งที่จะต้องนึกถึง ข้อที่สองคือความต้องการของสังคมที่แท้จริง ความต้องการของประเทศชาติที่แม้ไม่เกี่ยวกับการเมืองของสังคมบริสุทธิ์ก็ล้วนแต่ต้องการอยู่ เหตุใดเราจึงไม่ทำให้มีอำนาจขึ้นมาเป็นความต้องการหรือเป็นมติสังคม ที่รองลงไปแคบเข้ามาก็เช่นบิดามารดาก็มีอำนาจที่จะจัดจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เหตุใดจึงไปอ่อนแอด้วยความรักลูก ตามใจลูกผิดมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก แล้วถัดมาก็คือครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ถ้าทำหน้าที่ถูกต้องซื่อตรงตามหน้าที่แล้ว อาตมาเชื่อว่าต้องใช้อำนาจ ไม่ใช่จะมาตามใจประเล้าประโลมกันเสียเรื่อยไป แบบนั้นคงจะดีเกินไปก็ได้คือดีมากเกินไปจนใช้ไม่ได้ก็ได้ จะต้องใช้อำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งในกรณีที่ควรใช้อำนาจ นี่เรียกว่าล้วนแต่เป็นการใช้อำนาจโดยตรงโดยอ้อม
การใช้อำนาจนี้ยังแบ่งแยกออกไปว่า อำนาจที่ใช้ในการสร้างจริยธรรม ศีลธรรมขึ้นมาใหม่ หรือว่าที่จะใช้เสริมศีลธรรมบางอย่างที่มีอยู่ก่อนแล้ว เราจะต้องนึกถึงให้เหมาะสม ทั้งหมดนี้อยู่ในเรื่องที่ว่าจะต้องใช้อำนาจเป็นข้อแรก ทีนี้อีกอันหนึ่งก็คือ Motive เกี่ยวกับการกระตุ้นเตือนให้เกิดความสมัครใจ เหมือนกับที่ได้กล่าวแล้วว่าเด็กสมัยก่อนกลัวบาปอยากได้บุญไปตามบิดามารดาปู่ย่าตายายที่สอนมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เขาจะหนักแน่นในศีลธรรม เด็กสมัยนี้เขาขาดในส่วนนี้เพราะว่ามีอะไรมายั่วมาล่อ ถ้าพูดอย่างภาษาศาสนาก็เรียกว่ามีซาตาน มีพญามารเข้ามาจูง เข้ามายั่ว เข้ามาล่อให้หันเหจากแนวทางอันนี้ จนเป็นว่าสมัยนี้นรกก็ไม่น่ากลัว สิ่งที่เรียกว่าบุญนั้นสู้วัตถุวัตถุแท้ๆนี้ไม่ได้ เงินทองข้าวของอะไรเหล่านี้ดีกว่าบุญ บิดามารดาก็ดึงเด็กไม่อยู่เพราะเหตุว่าตัวเองก็ดึงตัวเองไม่อยู่หรือแทบจะไม่อยู่อยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่เรียกกันว่า unum bonum คือสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับในชาตินี้นั้นเปลี่ยนไปหมด มันเปลี่ยนไปหมดเป็นตรงกันข้ามจากที่เราเคยมีกันแต่ก่อน นี่เรียกว่า Motive ที่จะทำให้เด็กอยู่ในศีลธรรมนั้นเปลี่ยนไปอย่างนี้ ที่นี้เราจะต้องคิด หาทาง สั่งสอนพิสูจน์กันในข้อที่ให้เห็นข้อเท็จจริงเรื่องนี้ โดยตั้งปัญหาให้เด็กๆคิดอย่างอิสระว่าเขาเกิดมาทั้งทีเขาควรจะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ก็แล้วกัน แต่ว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นั้นคืออะไร ขอให้เขาคิดดูอย่างที่ว่าเขาเป็นนักศึกษา เราจะต้องยุให้เขานิยม เคารพ นับถือความเป็นตัวเอง ความเป็นนักศึกษาเขาเองให้เขาคิดอย่างอิสระ พร้อมกันนั้นก็สอนให้เขารู้ไปตามลำดับตามลักษณะที่เรียกว่าครูคือผู้ยกวิญญาณของคนให้สูงขึ้น
ฉะนั้นข้อแรกก็จะต้องสอน พิสูจน์ หรือทำทุกอย่างด้วยความพยายามอย่างยิ่งให้เด็กๆรู้ว่าความต้องการของอายตนะของคนเรานั้น ไม่ใช่ของจริงไม่ใช่ความจริง คือความต้องการของตาที่จะเห็นรูปยั่วยวน ความต้องการของหูที่จะได้ฟังเสียงไพเราะ ความต้องการของลิ้นที่จะลิ้มรสอร่อย ทั้งหกอายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เพ่งเล็งไปยังรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์นี้ เรียกว่าความต้องการของอายตนะ ความต้องการของอายตนะนี้ไม่ใช่ความจริง พิสูจน์ได้แม้แต่ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆสดๆ สมัยปัจจุบันนี้ คือเรานี้มีทางที่จะสอนได้มาก วิทยาศาสตร์สมัยปัจจุบันก็พิสูจน์ได้จริงว่าไม่ใช่ความจริง มีความหลอกลวงในทางคลื่นแสง คลื่นเสียง คลื่นประสาท มิติของประสาทอะไรต่างๆมากมาย จนกระทั่งรู้ได้ว่าเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้นไม่ใช่ความจริง ฉะนั้นควรจะมองหาสิ่งที่จริงกว่า เอาเรื่องนี้ไว้เป็นเรื่องเล่นๆ ทีนี้จะค่อยๆสูงขึ้นไปจนถึงกับว่าเราควบคุมอายตนะ ควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้อยู่ในร่องในรอยของความเป็นมนุษย์ นั่นแหละจะดีกว่า จะปลอดภัยกว่าและยังสนุกกว่าด้วยและประเสริฐกว่าด้วย เรื่องสนุกกว่านี้ฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่จะขอฝากไว้ให้ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายเอาไปคิดว่าความสนุกมันเกิดอยู่ตรงที่ความพอใจหรือกระทำสำเร็จ เป็นรูปเป็นรอย เป็นเรื่องเป็นราวแล้วก็มีความสนุก ฉะนั้นเราอย่าได้ไปถือได้ว่ารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสมัวเมาถึงจะสนุก มันสนุกได้ทุกอย่างไม่ว่าอะไรหมดแม้แต่เรื่องเข้าฌาน เข้าสมาบัติก็ยังสนุก เรื่องการศึกษาธรรมะก็ยังสนุก ดังนั้นการบังคับตัวเองให้อยู่ในระเบียบวินัยควรจะกระทำกันอย่างสนุกสนาน เหมือนอย่างอุดมคติของลูกเสือต้องมีความสนุกในการบังคับตัวเอง ทีนี้การไม่ทำอย่างนั้นจะกลับเป็นทุกข์อย่างยิ่ง แล้วก็จะทำให้สังคมมีปัญหาแก้ไม่ได้ จะเต็มไปด้วยปัญหาที่เสื่อมทรามลงไปทุกที กระทั่งพิสูจน์กันให้เห็นเรื่อยๆไปว่าถ้าตกเป็นทาสของอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส นี้แล้ว คนเหล่านั้นไม่มีวันหรือไม่มีหนทางที่จะรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์หรือจะซื่อตรงต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เหมือนกับที่เราต้องการกันได้ ที่เราปฏิญาณกันอยู่ทุกวันๆ ทั้งลูกเสือ ทั้งนักเรียน ทั้งชาวบ้านนั้น ถ้าว่าตกเป็นทาสของวัตถุเสียแล้วไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ เราควรจะให้เด็กๆของเราได้ฟังเรื่องราว ประวัติของบุคคลที่น่าเคารพนับถือน่าสนใจนี้ให้มากกว่าที่จะให้ได้ฟังเรื่องราวประวัติของคนที่ได้รับตุ๊กตาทอง อย่างทางวิทยุนี่ลองฟังดูเถิดประวัติของคนที่ได้รับตุ๊กตาทองนั้นเอามาส่งมากกว่าประวัติบุคคลสำคัญของชาติ หรือว่าแม้แต่บุคคลที่ควร ที่เขาคิดว่าควรจะได้รับตุ๊กตาทองแล้วไม่ได้รับนั้น ก็ยังเอาประวัติของคนเหล่านี้มาพูดเสียมากกว่าประวัติของบุคคลสำคัญของชาติ นี่ถึงจะต้องทำความเข้าใจกันเสียใหม่ในเรื่องคำว่าธรรมะหรือศีลธรรมหรือศาสนา ซึ่งในขณะนี้เด็กกำลังจะไม่เข้าใจเสียเลย ขอให้ ครูบาอาจารย์ทำการวิจัยเรื่องนี้ให้มากว่าทำอย่างไรจะให้เด็กเข้าใจคำว่าศาสนาอย่างถูกต้องหรือเป็นธรรมแก่สิ่งที่เรียกว่าศาสนา
อาตมาอยากจะเล่าสักนิดหนึ่งเกี่ยวกับเด็กวัยรุ่นในอินเดีย เมื่ออาตมาไปอินเดียประมาณ ๙๐ วันนี้ ก็สังเกตเรื่องนี้ตลอดเวลา แล้วเห็นได้ทีเดียวว่าแม้ประเทศอินเดียจะล้าหลังในการศึกษาเป็นส่วนมากแต่ว่าศีลธรรมนั้นยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงคือยังดีอยู่ เด็กวัยรุ่นมาตอม ช่วยรับใช้ ช่วยอะไรในการที่จะพาไปเที่ยวหรือเดินถ่ายรูป ถ่ายหนัง เขาช่วยถือกล้องถ่ายรูปอะไรต่างๆเหล่านี้ อาตมานึกสะดุ้งว่าเพราะเหตุใดพวกเราถึงสะเพร่ามากถึงเช่นนี้ คนที่ไปด้วยกันเลยหัวเราะ ในป่าในดงแท้ๆ ที่ๆเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในป่ารกร้างไม่มีตำรวจไม่มีอะไร เด็กๆเหล่านี้มาช่วยเหลือมาช่วยถือกระทั่งทิ้งไว้ไกลๆ เราไปไกลๆก็ยังถือเดินอยู่ข้างหลังนี่ ของคนอื่นไม่ใช่ของอาตมา รู้สึกกลัวแทนเขา เขาก็หัวเราะเยาะเพราะว่าไม่เคยมีที่เด็กๆเหล่านี้จะพาของเหล่านี้วิ่งหนีไป ส่วนในเมืองไทยเรามีข่าวตรงกันข้าม ขนาดเพชรบุรี ที่เพชรบุรีที่เขาบันไดหินในเขตเทศบาล ยังมีคนมาแย่งกล้องถ่ายรูปของผู้หญิงฝรั่งภรรยา และยังทำร้ายฝรั่งสามีที่เข้าไปช่วย หรือแม้แต่จะไปถ่ายรูปที่วัดพระเชตุพนนี้ยังต้องระวังกล้องถ่ายรูปจะหายในพริบตาเดียวโดยไม่รู้สึกตัว พอไปเทียบในอินเดียแล้วมันตรงกันข้าม ทุกหนทุกแห่ง จะไปโทษว่าการศึกษาต่ำเป็นเหตุให้เป็นอย่างนี้ก็คงจะไม่ถูกนัก ก็ดูจะเป็นคนละเรื่องมากกว่า ชาวอินเดียยังมีอะไรในเรื่องศีลธรรมประหลาดๆอยู่มากมาย เช่นฟังดูแล้วจะรู้สึกว่าเขาเหล่านั้นถือว่าขอทานดีกว่าขโมย เป็นขอทานดีกว่าเป็นขโมย ฉะนั้นจึงเห็นขอทานเต็มไปหมดและหาขโมยทำยาแทบไม่ได้ เป็นหลักทางศีลธรรมที่ฝังจิตใจแน่วแน่ ฉะนั้นการตีรันฟันแทงจึงหายาก แม้เขาจะทะเลาะด้วยปากอย่างน่ากลัวแต่ว่าการใช้ไม้ใช้มือไม่มีและไม่มีอาวุธ ไม่ถึงอาวุธ ชาวนาเกี่ยวข้าวอยู่ในนาพลางและลิงฝูงใหญ่ๆก็กินแข่งกันอยู่กับเจ้าของ เจ้าของนาที่เกี่ยวข้าวพลาง ไม่มีใครไล่ไม่มีใครตะเพิดเพราะว่าได้อุทิศให้ด้วยความเสียสละด้วยความเมตตาสัตว์ ฉะนั้นสัตว์กินได้เท่าไรก็กินเข้าไป เราก็มีส่วนหนึ่ง เช่นนี้ก็ไม่มีในเมืองไทย ฉะนั้นการที่ไม่ทำอันตรายสัตว์หรือคุ้มครองสัตว์เป็นอย่างยิ่งนี้มีอยู่ทั่วไปทุกหัวระแหง จนน่าประหลาด นึกแล้วก็น่าประหลาด
เรียกว่าเรื่องศีลธรรมกับเรื่องการศึกษานั้นดูจะเป็นปัญหาที่ยังคนละอย่างและเข้าใจผิดกันอยู่มาก เราจะต้องนึกและจะต้องไม่ดูหมิ่นระเบียบปฏิบัติในทางของศาสนาที่จะช่วยในทางศีลธรรมและจะช่วยให้การศึกษาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ถ้ามิฉะนั้นแล้วสิ่งที่เรียกว่าการศึกษาจะกลับเป็นโทษหรือเป็นภัยก็ได้
ทีนี้สำหรับข้อที่ห้าเรื่องยาที่จะใช้รักษาโรค อาตมาอยากจะขอกล่าวเพียงคร่าวๆเพราะเวลาเหลือน้อยเต็มที เพราะเราจะต้องนึกถึงยาที่จะใช้รักษาโรคของเด็กวัยรุ่นโดยกว้างๆเป็น ๓ ทางด้วยกัน ทางแรกก็คือพระธรรมหรือพระพุทธศาสนา ทางที่สองก็คือว่าหลักธรรมหรือหลักจริยธรรมสากล ทางที่สามก็คือว่าหลักการลูกเสือโดยเฉพาะ เรื่องหลักทางศาสนานี้ก็ยังเข้าใจผิดกันอยู่มากว่าเป็นสิ่งที่เหลือวิสัยไปบ้าง เหลือวิสัยพ้นสมัยขัดต่อความต้องการของเราอย่างนี้ ก็ขอไปพิจารณาดูให้มาก อาตมามีเวลาเหลือน้อยไม่พอที่จะกล่าวในรายละเอียด สำหรับหลักทางพุทธศาสนานั้นอย่าได้มองกันไปแคบๆตามตัวหนังสือ จะกลายเป็นยิ่งครึคระน่าหัวเราะที่สุดและต้องถือหลักว่าตัวหนังสือไม่สำเร็จประโยชน์ ความหมายต่างหากสำเร็จประโยชน์ ตัวอักษรนั้นบางทีเข้าใจผิด เมื่อพูดถึงหลักพระพุทธศาสนาแล้วก็ควรจะนึกถึงหลักสำคัญๆ เช่น หลักปาติโมกข์ โอวาทปาติโมกข์ ๖ ประการ ที่พระพุทธเจ้าตรัสยืนยันนี้เป็นหลักพุทธศาสนาเป็นการประทับลงไปท่ามกลางคณะสงฆ์ที่ประชุมกัน ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งหลักนั้นก็มีอยู่ว่า “อะนูปะวาโท – ไม่พูดร้าย” “อะนูปะฆาโต – ไม่ทำร้าย” “ปาติโมกเข จะ สังวะโร – มีระเบียบวินัยดี” “มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง – กินอยู่พอดี” “ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง – ชอบเป็นอยู่ในที่สงบ” และ “อะธิจิตเต จะ อาโยโค – อบรมจิตให้ยิ่งๆๆขึ้นไปทุกที” ฟังดูแล้วไม่มีอะไรที่จะขัดกันเลย ไม่พูดร้าย ไม่ทำร้าย มีระเบียบวินัยดี กินอยู่พอดี พอใจอยู่ในที่สงบเพื่อให้คิดอะไรได้ดี ทำอะไรได้ดี และก็บ่มจิตให้เป็นจิตที่สูงขึ้นไปทุกที ๖ ประการนี้ ไม่ใช่เรื่องครึคระสำหรับแม้คนสมัยนี้ หลักเรื่องมรรคมีองค์ ๘ เรื่องโพชฌงค์ เรื่องอะไรต่างๆเอามาใช้ได้ทั้งนั้น แต่คนเข้าใจผิดเห็นเป็นคนละอย่าง เป็นเรื่องนอกฟ้าหิมพานต์ เป็นเรื่องของพระ เป็นเรื่องไม่ใช่ของชาวบ้าน แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามมีคำที่น่าสนใจอยู่คำหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในบรรดาลูก ลูก บุตรทั้งหลายแล้ว บุตรที่เชื่อฟังเป็นบุตรที่ประเสริฐที่สุด คือเขาจำแนกบุตรว่าเป็นบุตรที่ทำอะไรได้ดีกว่าบิดามารดา ทำอะไรได้เสมอกับบิดามารดา ทำอะไรได้ต่ำกว่าบิดามารดาเป็น ๓ พวก พระพุทธเจ้าท่านยังไม่รับรอง ๓ อันนี้เพราะว่ายังไม่แม่น แต่เอาเด็กที่เชื่อ บุตรที่เชื่อฟังประเสริฐที่สุด บุตรที่ทำอะไรได้ดีได้เก่งกว่าบิดามารดาแต่อาจจะไม่เชื่อฟังบิดามารดาไม่มีธรรมะที่จะประพฤติต่อบิดามารดาก็ได้ ทีนี้เด็กวัยรุ่นของเรานั้นน่าจะเล็งหลักนี้เป็นใหญ่คือเป็นเด็กที่เชื่อฟัง ไม่ใช่เล็งถึงว่าเด็กที่ฉลาดเปรื่องปราดแต่เป็นนักปราชญ์ เป็นอะไรเด่นไปกว่าครูบาอาจารย์อะไรทำนองนี้ เป็นเด็กที่ห้ามล้อไม่อยู่นี่ไม่ว่าจะฉลาดอย่างไรก็เป็นอันตรายเป็นภัย ฉะนั้นหลักพุทธศาสนาถือว่าบุตรที่เชื่อฟังเป็นบุตรที่ประเสริฐที่สุด ถ้าเด็กวัยรุ่นของเราเป็นเด็กที่เชื่อฟังแค่นั้นก็แก้ปัญหาได้หมดไม่มีอะไรเหลือ ให้ถือว่านี่คือพระพุทธภาษิต คือเด็กที่เชื่อฟัง ลูกที่เชื่อฟัง สรุปความแล้วคือเราจะใช้หลักพระพุทธศาสนาเป็นยาแก้โรคกันหรือไม่
สำหรับหลักทางจริยธรรมนั้น หลักจริยธรรมสากลไปยึดติดกันไว้ว่าบรรดาสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับมีอยู่ ๔ อย่าง คือความสงบสุขและความเต็มของความเป็นมนุษย์ และก็หน้าที่บริสุทธิ์ และก็เมตตาสากล ความสงบสุขนี้ก็หมายถึงความสุข สงบสุขจริงๆ เราสอนเด็กให้รู้เรื่องว่าสุขปลอมสุขจริงนั้นเป็นอย่างไร ความสนุกไม่ใช่ความสุข ความเต็มของความเป็นมนุษย์คือความเต็มของความรู้ ของสติปัญญานี้ไม่ใช่ง่าย จะต้องตั้งใจทำกันอย่างชนิดพิเศษพิถีพิถันหน้าที่บริสุทธิ์คือหน้าที่เพื่อหน้าที่ "Duty for Duty's sake" นี่เราคงจะไม่เข้าใจกันเลยเพราะเราถือว่าหน้าที่ละก็เพื่อเงินทอง เพื่อเกียรติยศชื่อเสียง ฉะนั้นจึงมีความเข้าใจผิดจนเกิดความเสื่อมทรามทางศีลธรรมเข้าไปด้วย กับทำหน้าที่เพื่อหน้าที่นี่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนเงินหรือเกียรติยศชื่อเสียงถ้าได้มาก็เป็นผลพลอยได้ กินใช้ไปได้ตามเรื่องไม่ใช่สิ่งที่เรามุ่งหมายโดยตรง มุ่งหมายโดยตรงคือความดีที่สุดของมนุษย์ซึ่งทำหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่หน้าที่และอันที่สี่ก็เรียกว่าเมตตาสากล คือรักคนทุกคนทั่วๆไป และบางพวกก็เติมข้อที่ห้าเข้ามาว่าความต้องการที่เป็นอิสระหรือ Free Will อันนี้ก็เหมือนกันกับประชาธิปไตย ถ้าทำถูกทางก็ใช้ได้ ที่อิสระผิดทางก็ไปไม่ไหว เรียกว่าถ้าจะเล็งเอาหลักจริยธรรมสากลมาเป็นหลักสำหรับให้ยึดถือในการแก้ไขจริยธรรมของเด็กก็ยังได้ ไม่ขัดกันกับหลักพระพุทธศาสนา อาตมาอยากจะยืนยันอีกอย่างหนึ่งว่าแม้แต่เรื่องหลักการของลูกเสือเพียงอย่างเดียวเท่านั้นก็สามารถจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ หลักการของลูกเสือโดยละเอียดอย่างไรอาตมาไม่จำเป็นจะต้องกล่าว มันเป็นเรื่องเอามะพร้าวมาขายสวนที่นี่ แต่ว่าเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงอยู่บางอย่าง เราจะต้องแก้ไขกันอีกมากในเรื่องกิจการลูกเสือนี้ เช่นว่าเราจะต้องแก้ไขให้ลูกเสือของเรานั้นรู้จักความไม่เห็นแก่ตน ความไม่เห็นแก่ตนซึ่งเป็นหลักธรรมะสูงสุดในพระพุทธศาสนา ให้รู้จักความไม่เห็นแก่ตนให้มากเท่าๆกับการเล่นรอบกองไฟหรืออะไรทำนองนั้นและเราต้องไม่หยุดอยู่แค่เพียงความฉลาด ความไหวพริบ ความกล้าหาญ ความอดทนเหล่านี้เป็นต้น เพราะว่ามันยังเอาไปใช้ในทางที่ผิดได้ ฉะนั้นเราจะต้องสร้างกันในเรื่องความมีคุณธรรมที่กำกับสิ่งเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง เช่น ความสัตย์ ความกตัญญู ความเสียสละ ความรับผิดชอบเต็มที่ เหล่านี้เป็นหลักธรรมในพระพุทธศาสนาหรือหลักจริยธรรมสากลอะไรตรงกันหมด ให้เป็นผู้ประกอบไปด้วยธรรม ถ้าให้การลูกเสือนั้นเป็นที่นิยมออกไปยิ่งกว่าในปัจจุบัน นี่ยังแคบเกินไป ให้เป็นที่นิยมแก่ชาวบ้านร้านตลาด ชาวไร่ชาวนา เหมือนกับเขาว่าเด็กๆของเขา เขาอยากจะให้บวชเณรสักคราวหนึ่งออกมาจะเป็นคนที่พอจะไว้ใจได้ ในปัจจุบันนี้การบวชเณรได้เสื่อม เสื่อมทรามลงมาก เพราะว่าผิดวัตถุประสงค์เดิมลงมาก ไม่ค่อยจะได้ผล อยู่ในภาวะที่แก้ไขยาก และเนื่องจากไม่มีอำนาจไม่มีทุนรอนอะไรด้วยทางวัด เราอาจจะใช้กิจการลูกเสือให้ได้รับความนิยมมากเหมือนกับว่าให้ทุกคนเป็นลูกเสือเหมือนกับว่าอยากให้เด็กทุกคนบวชเณร แปลว่าสร้างสรรค์ความนิยมความเป็นลูกเสือแก่ชาวบ้านร้านตลาด ชาวไร่ชาวนาให้เพียงพอแก่สถานการณ์ อย่าให้แคบอยู่เหมือนเดิม
หลักการทั่วไปแม้หลักการลูกเสือนี้ก็ต้องให้เป็นไปในรูปหลักการทางศีลธรรม คือปฏิบัติกันจริงๆอย่างเป็นแต่เพียงจริยธรรมเป็นทฤษฎีหรือปรัชญา เหมือนกับกิจการทุกอย่างที่มันล้มเหลวเพราะเหตุนี้ ถ้าเรามีแต่หลักวิชชามีแต่หลักทฤษฎีมากไปไม่ท่วมท้นเรื่องการปฏิบัติแล้ว มันก็คงจะประสบกับความล้มเหลวเช่นเดียวกันอีก
สำหรับข้อที่หกที่เรียกว่าภาวะไม่มีโรค จะเอาอย่างไรกันแน่นั้น ขอให้ย้อนไปพิจารณาดูผลที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาก็ดี ตามหลักจริยธรรมสากลก็ดี ตามหลักลูกเสือ กิจการลูกเสือก็ดี ว่าเราจะมีของเราเองได้อย่างไร ผลนั้นคือภาวะไม่มีโรคนั้นจะมีขึ้นมาได้อย่างไร เราอย่าได้ถือเอาตามหลักจริยะวัฒนธรรมอะไรใหม่ๆ ซึ่งอาตมามองไม่เห็นว่าจะเป็นภาวะที่ไม่มีโรค มันกลับเป็นภาวะที่มีโรคเรื้อรัง ลึกซึ้ง เร้นลับอะไรอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราอย่าได้ ขอพูดตรงๆว่าอย่าได้เอาอย่างชาวตะวันตกมากมายในเรื่องนี้ในสภาวะไม่มีโรคของจิตใจนี้ คิดดูตามธรรมชาติสักหน่อยก็จะดีกว่าว่า ชาวตะวันตกหรือฝรั่งนั้นมีผิวหนังหยาบกระด้าง มีขนทั่วๆตัว คนไทย คนไทยเรานั้นผิวหนังละเอียด มีขนที่มองไม่เห็นชัด แม้แต่หนวดก็หาทำยายาก โดยธรรมชาติเช่นนี้เราจะตามอย่างกันได้อย่างไร หรือว่าฝรั่งกินอาหารรสอ่อนๆและก็ชอบดนตรีนาฏศิลป์ที่เผ็ดร้อน แต่ไทยเรากินอาหารรสจัดและชอบดนตรีที่นิ่มนวลตรงกันข้าม อย่างนี้จะเอาอย่างกันได้อย่างไรโดยธรรมชาติ ถ้าเรานึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านเป็นชาวมองโกเลีย ผิวเหลือง ผิวละเอียด เราจะเดินตามท่านได้อย่างไรหรือสักเท่าไร เรื่องนี้ยิ่งพูดไปก็ยิ่งเป็นเรื่องชาตินิยม ดูจะน่าเกลียด แต่ที่เอามาพูดไว้บ้างก็เพื่อจะให้ป้องกันไว้บ้าง ว่าบางสิ่งบางอย่างนั้นอย่าให้มันมากเกินไป อย่าให้มันมีความมากเกินไปเกิดขึ้นในเรื่องนี้ สำหรับไทยเราจะต้องถือว่าจะเป็นความอับอายที่สุดถ้าจะต้องเดินตามหลังใครในเรื่องจริยธรรม สำหรับพระพุทธเจ้านั้นไม่น่าละอายเพราะว่าท่านมีหลักว่าทุกคนอย่าเชื่อฉัน เชื่อความคิดเห็นของตัวเองคือได้ฟังแล้วก็เอาไปคิด ไปนึกเห็นด้วยแล้วจึงเชื่อ อย่างนี้เรียกว่าไม่น่าละอายและไม่เป็นการเดินตามอย่างงมงาย พุทธบริษัทเราก็มีศีลธรรม มีวัฒนธรรมของเราเองโดยเฉพาะเช่นนี้ ฉะนั้นเราควรจะทำตัวเป็นผู้นำหรือว่าเป็นผู้ท้าทายดูบ้าง อย่าได้เป็นผู้ตามหลังในเรื่องนี้ ขอให้เราเป็นพุทธบริษัท เป็นไทยที่เป็นพุทธบริษัทและมีอะไรเป็นของตัวในเรื่องจริยธรรม ในเรื่องศีลธรรม อย่าได้หวังที่จะไปพึ่งพาใครหรือเดินตามใครในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องทางวัตถุนั้นอีกเรื่องหนึ่งอาตมาไม่พูดถึงเลย ฉะนั้นเราจะต้องคิดวิจัยไปในทางที่จะเอาหลักธรรมะในพระพุทธศาสนามาประยุกต์กันเข้าให้ได้กับการสร้างภาพแม้ในเรื่องทางวัตถุ เรื่องสร้างภาพก็เป็นเรื่องทางวัตถุอยู่มากแต่ถ้าเราประยุกต์หลักธรรมะในพระพุทธศาสนาได้สำเร็จ การกระทำทางวัตถุนี้ก็จะพลอยสำเร็จและไม่เป็นภัยแม้แก่เด็กวัยรุ่น ตามหลักพุทธศาสนานั้น อย่าได้ไปถือตามตัวหนังสือขอให้ถือตามความหมายจะใช้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าถือตามตัวหนังสือตีความหมายผิดนิดเดียวแล้วขัดขวางกันอย่างยิ่ง จนพระไม่มีโอกาสทำอะไรให้แก่บ้านเมืองได้
หลักการลูกเสือที่เอามาประยุกต์เข้ากับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและก็ยิ่งวิเศษใหญ่สำหรับเด็กวัยรุ่น โดยเฉพาะที่อาจจะแก้ปัญหาได้หมด ไม่มีอะไรเหลือ ฉะนั้นเราจะเรียกว่าลูกเสือหรือไม่ใช่ลูกเสืออะไรนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เป็นคำเรียกเป็นชื่อ แต่ว่าหลักปฏิบัตินั้นสำคัญ ในที่สุดก็จะมาเป็นบุตรที่เชื่อฟัง เป็นเด็กที่ประเสริฐที่สุดคือเป็นบุตรที่เชื่อฟังของพระพุทธเจ้า ตามที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการ
ขอเวลาอีกนิดหนึ่งก็เพื่อว่าสรุปข้อความทั้งหมดนี้ ว่าเราจะต้อง (โครงงานทั้งหมดในการสร้างเสริมศีลธรรมหรือจริยธรรมของเด็กวัยรุ่นนี้) เราจะต้องเลิกล้างหรือทำลายอะไรกันเสียบ้าง ก็ควรจะเป็นหลักกว้างๆอย่างกำปั้นทุบดินว่า ที่เป็นประโยชน์แก่เด็กๆเราส่งเสริม ที่ทำลายจิตใจของเด็กๆ แม้จะเป็นผลได้ทางวัตถุเราจะต้องยอมเลิกล้างหรือทำลาย เช่นว่าภาษีรายได้จากกิจการภาพยนตร์ได้ปีหนึ่งหลายสิบล้าน สี่สิบ ห้าสิบล้านเช่นนี้ แต่ไปคำนวณดูว่าเรื่องเหล่านี้ทำลายวิญญาณของเด็กวัยรุ่นทำความเสียหายทางวิญญาณแก่เด็กวัยรุ่นถ้าคิดเป็นเงินแล้วปีหนึ่งสักกี่ล้าน อาตมาคิดว่าต้องเสียหายหลายแสนโกฏิล้านไม่มีตัวเลขเขียน แล้วรายได้สี่สิบล้านจะมีความหมายอะไรที่รัฐบาลจะพึงได้ ถ้าเรามีอำนาจที่จะจัดจะทำในเรื่องนี้ ก็ต้องทำอย่างที่เรียกว่าตรงไปตรงมาแบบการผ่าตัด หรือว่าวัดจัดงานวัดได้กำไรคราวหนึ่งเป็นหมื่นหรือหลายหมื่น แต่ว่าอบายมุขที่จัดขึ้นในวัดทำลายเด็ก จิตใจของเด็ก วิญญาณของเด็ก ถ้าคิดเป็นเงินแล้วตัวเลขนับไม่ไหวเพราะวัดควรประหยัดหรือเสียสละ ควรจะเห็นแก่เด็กๆอย่างนี้เป็นต้น ไปดูงานวัดมีอบายมุขทั้งนั้นไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง มาถึงเรื่องใหญ่ๆเช่นเรื่องภาษีสุรายาเมานี้ ซึ่งเป็นร้อยล้าน พันล้าน ก็ควรจะนึกในลักษณะอย่างเดียวกัน เรียกว่าเราจะต้องเลิกล้าง ส่วนตรงกันข้ามที่เราจะต้องสร้างต้องส่งเสริมนั้น ก็คือว่าเราจะต้องกระทำสิ่งซึ่งเป็นศีลธรรม เกื้อกูลแก่ศีลธรรมให้สนุกหรือน่าเสพติดเหมือนกับสิ่งเหล่านั้น อันนี้อาจจะไม่มีใครเชื่ออาตมานัก แต่อาตมาก็ยังจำเป็นหรือยืนยันที่จะกล่าวอย่างนี้อยู่เสมอว่าธรรมะนั้น พระธรรมหรือธรรมะนี้เป็นมหรสพอยู่ในตัวมันเอง ขอให้จัดให้ถูกจัดให้เป็นแค่นั้น ธรรมะจะเป็นมหรสพอยู่ในธรรมะเอง จะมีความสนุก มีความพออกพอใจเหมือนดูหนังดูละครเหมือนกัน ฉะนั้นจึงอยากจะแยกเรียกออกไปอีกพวกหนึ่งว่ามหรสพในฝ่ายทางวิญญาณเป็น Spiritual Theatre เป็นโรงละครในทางวิญญาณอะไรทำนองนี้ โดยการหาวิธีที่ใหม่ที่สุดที่ทำให้เกิดความสนุกสนานในการประพฤติธรรมะ จริยธรรม ศีลธรรม หรือเรื่องของลูกเสือทุกอย่างทุกประการจะต้องจัดถึงขนาดที่เป็นมหรสพให้ได้ ถ้าสูงขึ้นไปเด็กๆจะต้องรู้ว่าการทำความดีสนุกอย่างยิ่งและความสนุกก็เป็นมหรสพอยู่ในตัวมันเอง อย่างการกีฬาที่ว่าจะทำลายความเห็นแก่ตัวนั้น ในปัจจุบันดูจะไม่เป็นอย่างนั้นเสียแล้ว ท่านลองไปสังเกตดูแม้ในวงการกีฬาใหญ่ๆของโลกชั้นสูงสุดนั้น ก็เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ความจ้องที่จะเอารัดเอาเปรียบ ใช้กติกาบังหน้าเอารัดเอาเปรียบ ฉะนั้นกีฬานี้ไม่ใช่ทำลายความเห็นแก่ตัว เป็นการพอกพูนความเห็นแก้ตัวโดยอ้อม เราจะไปถือหลักเกณฑ์อย่างนี้ไม่ได้ จะจัดเพียงสักว่ากีฬา แล้วก็สนุกแล้วก็เหมาหรือสันนิษฐานว่าทำลายความเห็นแก่ตัวอย่างนี้เห็นจะไม่ไหว มันต้องจัดไปในทางที่มองเห็นชัดว่าทำลายความเห็นแก่ตัว จนกระทั่งเด็กมองเห็นความสนุกสนานในการทำลายความเห็นแก่ตัว การบังคับตัวเองทุกอย่างทุกประการนั้น การบังคับตัวเองให้อยู่ในระเบียบวินัย คนเห็นเป็นความทนทุกข์ทรมานยากลำบากทั้งนั้น แต่เรื่องนี้ไม่จริง ขอยืนยันว่าขอให้ไปเกี่ยวข้องให้ถูกวิธีทำไปให้ถูกวิธี การประพฤติธรรมะนี้จะสนุกสนานจะมีรสดูดดื่มและจะเป็นยาเสพติดได้เหมือนกัน เสพติดไปในทางของความดี รวมความแล้วเราจะต้องสร้างความเป็นมหรสพขึ้นในศีลธรรม ฟังดูก็น่าขันนะ จะสร้างความเป็นมหรสพขึ้นในตัวศีลธรรมเราจะคิดค้นในเรื่องจริยธรรมให้มากจนถึงกับว่าทำให้มหรสพเกิดขึ้นในศีลธรรม
สำหรับวัฒนธรรมไทยแท้ ของโบราณ ของปู่ย่าตายายเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว คนชั้นปู่ย่าตายายเมื่อเด็กๆเขาสนุกสนานกันด้วยอะไรขอให้ลองย้อนไปนึกดูใหม่ สนุกสนานอยู่ด้วยอะไร บางทีก็สนุกสนานอยู่ด้วยการขนทรายมาก่อพระเจดีย์ทรายในวัดอย่างนี้ มันต่างกันกับคนในปัจจุบันอย่างไร แล้วเพราะเหตุใดเขาจึงสนุกสนานได้ เพราะว่ามันมีอะไรบางอย่างที่มันไขว้กันอยู่ ขณะนี้เราไม่รู้จักรับผิดชอบ เราไม่รู้จักว่าเราจะต้องรับผิดชอบอย่างไร เราจะเกิดมาเพื่ออะไร เป็นมนุษย์เพราะอะไรนี่เราก็ไม่รู้หมด เราจะต้องย้อนไปหาหลักธรรมะที่ให้รู้ว่าเป็นมนุษย์ทำไม ความดีสูงสุดของมนุษย์อยู่ที่ตรงไหน ความพักผ่อนอันแท้จริงของวิญญาณของจิตอยู่ที่ตรงไหนและอย่างไร การศึกษาและการงานทั้งหมดในโลกนี้ก็เพื่อผลคือความสงบสุขหรือความพักผ่อนของวิญญาณทั้งนั้น แต่แล้วเพราะเหตุใดจึงไม่เคยได้รับความพักผ่อนกลับมีแต่ความยุ่งยากลำบากโกลาหลวุ่นวายขยายกว้างออกไปทั้งโลกและก็ยังไม่หยุดจนจะระบาดไปยังโลกอื่นๆอย่างนี้เป็นต้น
ผลสุดท้ายเราจะเห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นเรื่องกรรมของครูบาอาจารย์ เป็นกรรมของครูบาอาจารย์ที่ว่าได้ประสบเข้ากับปัญหาที่ใหญ่มากไม่ใช่น้อย ถ้าจะเปรียบก็ขนาดเท่าๆ กับการทำสงครามอย่างใหญ่หลวงเป็นมหาสงคราม เป็นการทำสงครามกับเด็กวัยรุ่นและเป็นการทำสงครามที่เอาชนะยากที่สุด ฉะนั้นจึงถือว่าเป็นกรรมของพวกเรา พวกครูบาอาจารย์ อาตมาก็จัดตัวเองเป็นพวก ครูบาอาจารย์เหมือนกัน รวมอยู่ในพวกที่เรียกว่ากรรมของเราเหมือนกัน และยิ่งมองเห็นและยิ่งรู้สึกว่าเป็นกรรมของเราที่มาประสบปัญหาหนัก ที่ว่าเป็นกรรมนี้เพราะว่าเราสละไม่ได้เราปฏิเสธไม่ได้ เราจะต้องทำมันให้ได้หรือว่าทำสุดความสามารถของเรา ฉะนั้นเราจะต้องยื้อแย่งเอาเด็กๆมาให้ได้จาก พญามารจากซาตานที่เอาเด็กๆไปอยู่ในอำนาจ เราจะต้องยื้อแย่งเอากลับมาให้ได้ จนแม้ว่าในปัจจุบันนี้ทั้งๆโลก ตลอดทั้งโลกหรือทั้งสากลจักรวาลก็มีปัญหาอย่างเดียวกันหมด เพราะว่ามนุษย์เผลอตัว ผลิตสิ่งยั่วยวนซึ่งเป็นเหยื่อของพญามารนั้นออกมายั่วยวนโลกอย่างขนานใหญ่โดยไม่รู้สึกตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ขอร้องท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายอย่าได้ละอายที่ว่าจะเป็นผู้นำในทางวิญญาณเพราะว่าโดยเนื้อแท้นั้นครูผู้ชายคือพ่อพระของเด็ก ครูผู้หญิงคือแม่พระของเด็ก ไม่ใช่ลูกจ้างสอนหนังสือเอาเงินเดือน ถ้าเรามองเห็นอย่างนี้อยู่เสมอว่าครูไม่ใช่ลูกจ้างของสังคมที่จะสอนวิชาให้แก่เด็กเอาเงินเดือนมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่ให้ถือว่าครูผู้ชายเป็นพ่อพระของเด็กครูผู้หญิงเป็นแม่พระของเด็ก แล้วปัญหาเหล่านี้จะแก้ได้ สงครามอันใหญ่หลวงนี้เราจะชนะได้โดยไม่ยากเลย อาตมาอยากจะขอร้องให้มองดูลึกถึงธรรมชาติส่วนลึกว่าธรรมชาติต้องการให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายมีสังกัดขึ้นอยู่กับพระอรหันต์ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการหรือรัฐบาล คือโดยทางจิตทางวิญญาณ เนื้อแท้ส่วนลึกนั้นธรรมชาติต้องการให้เราขึ้นอยู่กับพระอรหันต์หรือความเป็นพระอรหันต์ของพระพุทธเจ้า คือครูจะต้องทำหน้าที่ปราบปรามสิ่งซึ่งเป็นเสนียดจัญไรของโลก คือซาตานพญามารนี้ให้หมดไปและก็ยกสถานะทางวิญญาณของโลกให้ขึ้นมาจนได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของพระอรหันต์โดยตรง ฉะนั้นโดยทางจิตใจหรือโดยทางวิญญาณคือธรรมชาติส่วนลึกนั้น ครูบาอาจารย์ซึ่งสังกัดอยู่กับพระอรหันต์จึงจัดเป็นปูชนียบุคคลไม่ใช่ลูกจ้าง นี่เป็นหนทางรอดทางเดียวที่ว่ามนุษย์ในโลกนี้จะรอด โลกนี้จะรอดได้ด้วยหลักการอันนี้ เป็นวิธีที่สรุปแล้วเป็นการแก้ไขสร้างเสริมจริยธรรมของเด็กวัยรุ่นตามความรู้สึกที่อาตมามองเห็น ทั้งหมดนี้โปรดได้ถือว่าเป็นการยืนยันอย่างยิ่งของอาตมาหรือจะถือว่าเป็นการท้าทายก็ได้ อาตมาก็ยอมเหมือนกัน เป็นการท้าทายหรือยืนยันที่ครูบาอาจารย์จำนวนหนึ่งจะเห็นว่าเป็นคำพูดที่ครึคระหรือบ้านนอกที่สุด พ้นสมัยที่สุดก็ได้ แต่ว่าไม่มีทางที่จะช่วยได้ อาตมายิ่งมองยิ่งไม่เห็นทางอื่น ยิ่งเห็นแต่ทางนี้ ยิ่งมองยิ่งเห็นแต่ทางนี้ ฉะนั้นจึงระบายความรู้สึกคิดนึกอะไรต่างๆออกมาในรูปนี้เท่าที่เวลาอำนวย ไม่อาจจะกล่าวได้ละเอียดลออนักเพราะเวลาจำกัดและก็เลยเวลาไปเล็กน้อยแล้ว ฉะนั้นขอโอกาสยุติการแถลงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างเสริมจริยธรรมของเด็กวัยรุ่นคราวนี้ไว้เพียงเท่านี้