แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ปาฐกถาที่พุทธสมาคมเป็นเวลาตั้ง ๑๐ กว่าปีมาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าพูดนานไปบ้างก็คงจะได้รับอภัย สำหรับเรื่องที่จะพูดในวันนี้ ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ด ไม่ค่อยจะเป็นเรื่องสำหลัก สำคัญอะไร หากแต่ว่าเป็นเรื่องที่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นอุปสรรคแก่การเข้าใจธรรมะให้ตรงกัน หรือว่าจะทำความเจริญให้แก่วงการพระพุทธศาสนาในประเทศไทยของเรา ให้ก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป
หัวข้อเรื่องในวันนี้มีว่า สิ่งที่รู้สึกว่ายังเข้าใจผิดต่อกันและกันอยู่ หัวเรื่องนี้ท่านทั้งหลายก็คง คงจะสันนิษฐานได้ว่า หมายถึงเรื่องที่เรามีความเห็นยังไม่ลงรอยกันอยู่บางเรื่องและอีกอย่างหนึ่งขอให้เข้าใจว่า การแสดงปาฐกถานี้ ไม่ได้เป็นการชี้ว่าอะไรผิด ว่าใครผิดหรือใครถูก ซึ่งเป็นของไม่จำเป็นที่จะต้องทำ และไม่ควรทำ แต่เป็นเรื่องที่ควรบอกว่าอะไร ว่าอย่างไรหรือแม้แต่จะบอกว่าอะไรผิดอะไรถูก ก็ยังดีกว่าที่จะบอกว่าใครผิดหรือใครถูก ดังนั้นอาตมาจึงให้หัวข้อว่า สิ่งที่รู้สึกว่ายังเข้าใจผิดกันอยู่ หรือสิ่งที่ยังไม่อาจจะเข้าใจกันได้ในเวลานี้ และทุกคนควรจะถือว่าเป็นสิทธิหรือหน้าที่ ที่จะคุ้ยเขี่ยสิ่งเหล่านี้ให้เป็นที่กระจ่างออกไป เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม อาตมาก็อยู่ในฐานะที่เป็นเพียงคนหนึ่งในหลายๆคน ที่จะช่วยกันทำหน้าที่อันนี้เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม นี้คือสิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจกันในเบื้องต้น ทีนี้อาตมาก็จะได้กล่าวถึงสิ่งที่ว่านั้นเป็นหัวข้อ ๆไปตามลำดับ
ข้อแรกมีอยู่ว่า หลักธรรมะ ขั้นโลกุตระนั้น ใช้เป็นข้อปฏิบัติแก่ฆราวาสในชีวิตประจำวันได้หรือไม่ มีคนส่วนมากทีเดียว คิดว่ามันคนละเรื่องกัน ข้อปฏิบัติสำหรับไปนิพพานนั้น คนละเรื่องกันกับข้อปฏิบัติที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ส่วนอาตมาเองอยู่ในพวกที่เห็นว่า ไม่ใช่อย่างนั้น ข้อปฏิบัติที่เป็นโลกุตระก็มีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันกับข้อปฏิบัติที่จะดับทุกข์อยู่ในบ้าน ในเรือน ในชีวิตของฆราวาส จะต่างกันก็เพียงระดับหรือปริมาณ แต่หลักเกณฑ์นั้นต้องเป็นอันเดียวกันแท้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องรัตน ๓ หรือพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผู้ที่จะไปนิพพานก็มีหลักเกณฑ์ เรื่องพระรัตนตรัย อย่างเดียวกันกับผู้ที่จะอยู่ตามบ้านเรือนเป็นฆราวาส หรือว่าเรื่องที่สูงไปกว่าระดับของฆราวาส เช่น เรื่องอิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อันเป็นเครื่องทำความสำเร็จในสิ่งที่ต้องการจะทำ นี้ก็เป็นหลักเกณฑ์อันเดียวกันแม้สำหรับผู้ที่ปฏิบัติเพื่อไปนิพพาน และผู้ปฏิบัติเพื่อมีชีวิตอยู่ในโลกตามประสาชาวบ้าน ไม่ต้องแก้ไข ผิดกันแต่ระดับหรือปริมาณ แต่ความหมายนั้น ตรงเป็นอันเดียวกัน หรือเรื่อง เช่น มรรคมีองค์ ๘ อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่รู้จักกันดี นี้เกือบจะไม่ต้องอธิบาย ใครๆก็ต้องยอมรับว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นหนทางที่ตรัสไว้สำหรับบรรลุนิพพานโดยตรง แต่ว่ามรรคมีองค์ ๘ นั้น ชาวบ้าน เอามาใช้ปฏิบัติได้เต็มที่โดยไม่ต้องอั้น ทีนี้แม้แต่เรื่องที่ค่อนข้างจะแปลก เช่น เรื่องโพชฌงค์ ๗ ประการ ซึ่งเป็นองค์แห่งการตรัสรู้โดยตรง อาตมาก็ยังถือว่า นำมาใช้แก่ชีวิตประจำวันของชาวบ้านได้ เช่นเดียวกับเรื่องมรรคมี องค์ ๘ เช่น สติหมายถึงระลึกให้ทั่วถึง ธรรมวิจยะหมายถึงเลือกเอาแต่ที่เหมาะที่สม วิริยะหมายถึงการระดมกำลังในการปฏิบัติ ปีติหมายถึงการหล่อเลี้ยงกำลังของความเพียรนั้นไว้ด้วยอำนาจของปีติหรือความพอใจ ปัสสัทธิหมายถึงทุกอย่างสงบ ลงรูป เข้ารูป เป็นธรรมะสมังคี สมาธิคือระดมกำลังจิตในครั้งสุดท้ายเต็มที่ อุเบกขาคือรอได้ คอยได้ จนกว่าสิ่งนั้นจะลุถึงจุดหมายปลายทาง เพราะฉะนั้นย่อมใช้ได้แม้แก่การทำไร่ทำนา ด้วยหลักเกณฑ์อันเดียวกัน
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องสูงสุดคือ เรื่องสุญญตา เรื่องความว่างจากตัวตน ซึ่งเป็นเรื่องสำหรับการบรรลุสู่ การบรรลุธรรมในขั้นเหนือโลก หรือที่เรียกว่าโลกุตระโดยตรง นี้ก็ยังเป็นเรื่องสำหรับฆราวาสตามบ้านเรือน เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เองอย่างนั้น ซึ่งเราจะได้วินิจฉัยกัน คือมีฆราวาสไปทูลถามถึงสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนาน พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เรื่องสุญญตา เรื่องที่เกี่ยวกับสุญญตา นั่นเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสทั้งหลายตลอดกาลนาน ไปหารายละเอียดอ่านเอาเองจากสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค นี่ ขอให้คิดถึงข้อนี้ แล้วไปคิดดูว่า การที่พูดว่าหลักธรรมะในขั้นโลกุตระ เอามาใช้กับชาวบ้านไม่ได้นั้น มีเหตุผลอย่างไร อาตมายืนยันว่าใช้ได้เต็มที่โดยใจความ โดยความหมาย โดยหลักการแล้วตรงกัน ไม่มีอะไรที่จะต้องแก้ไข ผิดกันแต่ระดับและปริมาณ ท่านลองคิดดูว่า ถ้าเรื่องธรรมะชั้นสูงนี้ ไม่เหมาะแก่ชาวบ้านแล้ว ท่านจะสอนอภิธรรมแก่ชาวบ้านทำไม ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมะในขั้นสูงเหมือนกัน แต่เหตุผลมันไม่ใช่อย่างนั้น เหตุผลมันมีว่า ชาวบ้านเป็นผู้ที่ตกจมอยู่ในกองเพลิง มีความเร่าร้อนหรือความทุกข์ เพราะฉะนั้นชาวบ้านยิ่งต้องการสิ่งที่ดับไฟ ดับทุกข์ ยิ่งกว่าใครๆหมด พวกที่อยู่ในป่าในดง ไม่มีความร้อนมากอย่างนั้น ชาวบ้านมีความร้อนมากเหลือประมาณ ดังนั้นจึงต้องการสิ่งที่ดับร้อนได้ สิ่งที่ดับร้อนได้ ไม่มีธรรมะพวกไหน นอกจากพวกที่ดับกิเลสตัณหาเพื่อไปนิพพาน โดยเฉพาะ เช่นเรื่องสุญญตาที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกท่านทั้งหลาย ที่เป็นฆราวาส ครองเรือน แออัดอยู่ด้วยบุตร ภรรยา ลูบไล้กระแจะจันทน์ของหอม อย่างนี้เป็นต้น นี้คือข้อที่ ๑ หรือข้อที่แรก ที่ว่าสิ่งที่รู้สึกว่ายังเข้าใจผิดกันอยู่หรือยังอาจเข้าใจไม่ได้สำหรับคนบางคน
ทีนี้ข้อที่ ๒ เรื่องมีว่า จิตของคนเราโดยพื้นฐานนั้นว่างจากกิเลสหรือเต็มอัดอยู่ด้วยกิเลส หมายความว่าตามปกติจิตมนุษย์นี้ ว่างอยู่จากกิเลสหรือว่าเต็มอัดอยู่ด้วยกิเลส ซึ่งพูดสั้นๆว่าจิตนี้มีกิเลสเป็นพื้นฐานหรือว่ามีความว่างจากกิเลสเป็นพื้นฐาน อาตมาอยู่ในพวกที่ว่าจิตนี้ว่างอยู่เป็นพื้นฐาน สิ่งที่เรียกว่ากิเลสนั้น เพิ่งเกิดเป็นคราวๆ และเกิดเป็นส่วนน้อย ข้อนี้อาศัยพระพุทธภาษิตที่ว่า “ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ”(ประภัสสระมิทัง ภิกขเวจิตตัง) ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสร “อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ” (อาคันตุเกหิ อุปะกิเลเสหิ อุปะกิลิฏฐัง) แปลว่าเศร้าหมองแล้ว เพราะอุปกิเลสที่เป็นอาคันตุกะเข้ามา คำว่าอาคันตุกะ ใครๆก็ทราบดีว่าแขกมาเป็นครั้งคราวที่บ้านเรือนเรา อุปกิเลสเป็นสิ่งที่เข้ามาในจิตเป็นครั้งคราว เหมือนอาคันตุกะ เมื่ออาคันตุกะไม่มา ก็หมายความว่าไม่เศร้าหมองคือไม่มีกิเลส และอยู่ในฐานะที่ว่างจากกิเลส ถ้าถามว่ามีอะไร ก็มีสิ่งที่ไม่ใช่กิเลส คือโพธิ หรือสติปัญญา หรือสติสัมปชัญญะก็แล้วแต่จะเรียก
ขอให้พิจารณดูว่า วันหนึ่ง คืนหนึ่งนั้น กิเลสเกิดขึ้นแก่เรา ทำให้เรามีตัณหาอุปาทานนั่นกี่ครั้งและครั้งหนึ่งนานเท่าไร อย่าได้เดา อย่าได้เชื่อตามคนที่พูดตามๆกันมา จงพิจารณาดูด้วยตนเอง ของตนว่า วันหนึ่ง คืนหนึ่ง มีกิเลสเกิดขึ้นครอบงำจิตให้เร่าร้อนด้วยตัณหา อุปาทานนั่น เป็นเวลากี่ครั้ง ครั้งละกี่นาที ท่านจะต้องพบว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว ไม่ได้มีตัณหาอุปาทานเกิดขึ้น เผารนเร่าร้อนอะไร เพราะอุปกิเลส จะเกิดได้ต่อเมื่อมีอารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่ว่ามีตลอดไป และอารมณ์เกิดแล้วไม่ได้หมายความว่าทำให้เกิดกิเลสตลอดไป เมื่อไม่ได้ยึดถืออารมณ์โดยความเป็นตัวกู ของกู อารมณ์นั้นก็ไม่ได้ทำให้เกิดกิเลส จึงมีการเสวยอารมณ์อยู่ได้ โดยไม่ต้องมีกิเลส เพราะมีสติสัมปชัญญะอยู่แทน จึงเป็นอันว่าวันหนึ่ง คืนหนึ่ง นั้นเราสบายมากกว่าที่เราร้อนเพราะกิเลส เมื่อจิตว่างจากตัณหา อุปาทานที่มีความหมายว่าตัวเราว่าของเราอย่างนี้ อาตมาเห็นว่า ควรจะเรียกจิตชนิดนี้ว่าจิตว่าง คือว่างจากกิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกู เมื่อตัวกูของกู หรือตัวตนของตนไม่มี อย่างนี้ จะเรียกว่ามี จะเรียกว่ามีตัวตนได้อย่างไร จิตนั้นไม่ได้มีตัวตน ที่ยึดมั่นว่าเป็นตัวตน ฉะนั้นจิตนั้นจึงว่างจากตัวตน เป็นคำที่เหมาะแล้วที่จะเรียกว่า เรียกจิตชนิดนี้ว่าจิตที่ว่างจากความรู้สึกว่าตัวตน แต่จะพูดว่าจิตที่ว่างจากความรู้สึกว่าตัวตน มันยืดยาด เพราะฉะนั้นจึงเรียกสั้นๆว่าจิตว่าง คือว่างจากสิ่งที่มันวุ่น สิ่งที่มันวุ่นคือความรู้สึกว่าตัวตน
ดังนั้นเราควรจะขอบใจจิตว่าง เพราะว่าด้วยจิตว่างนี้เอง เราอยู่สบาย เราไม่เป็นโรคเส้นประสาทเพราะนอนไม่ค่อยจะหลับ เราไม่เป็นโรควิกลจริต หรือว่าเราไม่ต้องฆ่าตัวตายเพราะมันวุ่นวายมากเกินไป ฉะนั้นควรจะขอบใจจิตว่างซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณแก่เรา ทำให้เราอยู่ได้โดยเป็นปกติสุข ให้เรามีกำลังสามารถจะต่อสู้กับกิเลสที่จะเป็นอาคันตุกะ เข้ามาเป็นครั้งคราว นี้เรียกว่าเป็นปัญหาที่สำคัญอยู่มาก เพราะว่ามันเป็นหลักพื้นฐาน เป็นหลักพื้นฐานว่าจิตนี้ว่างอยู่ หรือว่าจิตนี้วุ่นอยู่ ถ้าคนหนึ่งถือว่าจิตนี้โดยพื้นฐานว่างอยู่ กับอีกคนหนึ่งถือว่า จิตนี้โดยพื้นฐานวุ่นอยู่ แล้วหลักเกณฑ์มันต้องต่างกัน ในการศึกษาและการปฏิบัติธรรมะนั้น นั้นเราจะต้องเข้าใจกันให้ถูกต้อง เราจึงจะใช้หลักธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ถูกต้อง โดยเราจะต้องค้นให้พบว่าระบบของธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นมีไว้สำหรับข้อเท็จจริงที่ว่า จิตนี้ว่างอยู่เป็นพื้นฐานหรือว่าจิตนี้วุ่นอยู่เป็นพื้นฐาน คือว่าจิตนี้มีกิเลสอยู่เป็นพื้นฐานหรือว่าว่างจากกิเลสอยู่เป็นพื้นฐานนั่นเอง สำหรับคำว่าจิตว่างในที่นี้ สำหรับปุถุชนทั่วไปนั้น เราหมายถึงว่างจากกิเลสที่ไม่เกิดตามธรรมดา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในขณะที่จิตว่างจากกิเลสแล้วย่อมผ่องใส ย่อมเป็นประภัสสร ย่อมรุ่งเรืองอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะหรือปัญญาโดยแน่นอน สำหรับจิตว่างของพระอรหันต์นั้น ต่างกันเพียงว่าเด็ดขาด เพราะพระอรหันต์มีสติสมบูรณ์ ไม่มีช่องว่าง ส่วนเราปุถุชน มีสติไม่สมบูณ์มีช่องว่างให้กิเลสเป็นอาคันตุกะเข้ามา ต่างกันเพียงเท่านี้ ข้อปฏิบัติทั้งหลาย ที่ปฏิบัติก็ปฏิบัติเพียงเพื่อให้สติสมบูรณ์ แล้วก็ไม่มีช่องว่างให้กิเลสเกิดขึ้นมา นี้นับว่าเป็นข้อที่ ๒
ข้อที่ ๓ เรื่องมีว่า ความอยากหรือความต้องการหรือความปรารถนานั้น ไม่เป็นกิเลสไปเสียหมดเหมือนที่เข้าใจกันอยู่โดยมาก เข้าใจกันอยู่โดยมากว่า ขึ้นชื่อว่าความอยาก ความต้องการแล้ว เป็นกิเลสตัณหา เป็นความโลภทั้งนั้น อาตมาไม่อยู่ในพวกนั้น แต่อยู่ในพวกที่เห็นว่า ความอยาก หรือความต้องการนั้นมีอยู่ ๒ ประเภทด้วยกัน ถ้าความอยากหรือความต้องการนั้นมีมูลมาจากวิชชาหรือปัญญาแล้ว ไม่ควรจะจัดเป็นกิเลส เป็นตัณหา เป็นโลภะหรืออะไรทำนองนั้น ต่อเมื่อความอยากหรือความต้องการนั้น มีมูลมาจากอวิชชา เมื่อนั้น จึงจะจัดความอยากหรือความต้องการนั้นว่าเป็นโลภะ เป็นตัณหา เป็นกิเลส หรืออะไรทำนองนั้น แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าความหวัง อาสาหรือความหวัง ฟังดูก็เป็นกิเลสแต่อย่าลืมว่า ความหวังที่หวังด้วยวิชชา ไม่ได้หวังด้วยอวิชชานั้นก็มีอยู่ ฉะนั้นความหวังอันนี้ไม่ควรจะเป็นกิเลส มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ด้วยความหวังนี้ ใครๆก็ไม่ค้าน แต่มันมีอยู่ว่าความหวังนั้น เป็นความหวังที่มีมูลมาจากวิชชาหรืออวิชชา แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าวิจิกิจฉา ความสงสัยก็อย่าได้เข้าใจไปว่ามันจะเป็นกิเลสไปเสียหมด ถ้าสงสัยด้วยสติสัมปชัญญะ สงสัยด้วยวิชชาคือด้วยความต้องการที่จะรู้ อย่างนี้ไม่ควรจะจัดเป็นวิจิกิจฉาชนิดที่เป็นกิเลส วิจิกิจฉาที่เป็นกิเลสนั้นต้องมีมูลมาจากอวิชชา คนเราจะไม่ให้สงสัยในสิ่งที่ควรสงสัยนั้นไม่ได้ คนที่ได้รับการศึกษาดี มีสติปัญญา ก็จะต้องสงสัย อยากรู้ด้วยสติปัญญานั้นเอง ว่าบางอย่างนั้นเป็นอย่างไร ไม่ควรจะปรับกันถึงว่าเป็นกิเลสไปเสียหมด จำกัดความอยู่ที่ว่าถ้ามีมูลมาจากอวิชชาแล้ว ความอยาก ความต้องการ ความหวัง ความสงสัยเหล่านั้นเป็นเป็นกิเลส แต่ถ้ามีมูลมาจากวิชชาแล้ว ไม่ควรจัดเป็นกิเลส ควรจะเรียกไปตามชื่อนั้น ขืนจัด อาตมามีความเห็นว่าเป็นการตู่พระพุทธวัจนะ พระพุทธวัจนะจะจัดความอยากว่าเป็นตัณหาก็ต่อเมื่อความอยากนั้นมีมูลมาจากอวิชชา ขืนจัดเป็นการตู่พระพุทธวัจนะ และจะเป็นการด่าเพื่อนมนุษย์กันโดยไม่มีเหตุผลว่าเขาเป็นคนมีกิเลสเสียเรื่อย อยากอะไรนิดหนึ่งก็ไม่ได้ อยากทำมาหากินก็ไม่ได้ อะไรทำนองนี้ ถ้าความอยากของเขามีมูลมาจากวิชชาแล้ว อาตมาเห็นว่า ไม่ควรว่าเขามีกิเลสหรือเป็นกิเลสที่ตรงนั้น
ข้อนี้ยืนยันได้จากพระพุทธภาษิต เรื่องปฏิจจสมุปบาท เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ นั่นมีมูลมาจากอวิชชา ซึ่งเป็นรากเหง้า อยู่ที่นัมเบอร์ ๑ ต้นตอที่สุด อวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูป นามรูปให้เกิดอายตนะ อายตนะให้เกิดผัสสะ ผัสสะให้เกิดเวทนา เวทนาของผู้ปราศจากสติย่อมให้เกิดตัณหา ตัณหาให้เกิดอุปาทาน อุปาทานให้เกิดภพ ภพให้เกิดชาติอย่างนี้ ท่านจงดูว่าที่ต้นตอของสายของปฏิจจสมุปบาทนี้มีอะไร ท่านจะต้องพบว่ามีอวิชชา ดังนั้น ตัณหานี้ อุปาทานนี้ต้องมีมูลมาจากอวิชชา ถ้าเริ่มขึ้นด้วยวิชชาแล้ว สิ่งที่เรียกว่าตัณหาหรืออุปาทานนี้ จะไม่มี ฉะนั้นขอให้ถือว่าพระพุทธภาษิต เรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นหลัก ว่าความอยากที่ไม่มีรากฐานเป็นอวิชชานั้น ไม่ควรจัดว่าเป็นตัณหาหรือเป็นกิเลส แม้จะมีประโยค ประโยคหนึ่งว่า จงละตัณหาด้วยตัณหา นี้ก็ไม่ใช่พุทธภาษิต เป็นคำกล่าวของพระอานนท์ มีเพียงประโยคเดียวในพระไตรปิฎกและเป็นการเล่นสำนวน ไม่ใช่กล่าวตามที่เป็นจริง ด้วยภาษาธรรมดา เป็นการเล่นสำนวนเพื่อเร้าใจ พระพุทธภาษิตไม่มีว่าละตัณหาด้วยตัณหา คนที่ได้ยินประโยคนี้แล้วเอาไป ยึดมั่นถือมั่นก็เข้าใจว่าตัณหานี้เป็นของดี เอามาเป็นเครื่องมือละตัณหาได้ อย่างนี้เป็นการเข้าใจผิด ขอยืนยันตามหลักเดิมว่า ถ้าความอยากนั้นมีมูลมาจากอวิชชาจึงจะเป็นตัณหา ถ้าไม่มีมูลมาจากอวิชชาแล้วไม่เป็นตัณหา เป็นความอยาก เป็นความต้องการด้วยสติปัญญา ควรจะมีเพราะถ้าไม่มีแล้ว คนเราก็ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเรียนอะไร ไม่อยากจะพ้นทุกข์ด้วยซ้ำไป
แต่ทีนี้ขอเตือนว่า ความอยาก แม้อยากจะดับทุกข์ แม้อยากจะไปนิพพานนั่นแหละก็ยังมีอยู่เป็น ๒ ประเภท คืออยากไปนิพพานนั้นอยากด้วยความโง่ อยากด้วยอวิชชาเพราะเห่อๆตามๆ เขาไป อยากนี้ก็มี อยากไปนิพพานอย่างนี้เป็นตัณหาแน่นอน แต่ถ้าอยากไปนิพพานด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง ที่ครบถ้วน ต้องการจะดับกิเลส ต้องการจะดับทุกข์ ความอยากอย่างนี้ไม่เป็นตัณหา ท่านลองพิจารณาดูว่าเป็นเรื่องเดียวกันแท้ อยากไปนิพพานด้วยกันทั้งนั้นแต่ความอยากของคนพวกหนึ่งเป็นตัณหา คนพวกหนึ่งไม่เป็นตัณหา เพราะว่ามีมูลมาจากอวิชชา หรือมีมูลมาจากวิชชานี่เอง เช่นอยากเรียนอภิธรรมอย่างนี้ ถ้าอยากเรียนตามเห่อๆ เขาไปก็เป็นตัณหา แต่ถ้าอยากเรียนด้วยความรู้ ความเข้าใจที่แจ่มแจ้ง มีเหตุมีผลอย่างนี้ ไม่เป็นตัณหา แม้ว่าจะอยากเรียนอย่างใจจะขาด ขอให้คิดดูถึงข้อนี้ให้มากว่า ถ้าหลักพื้นฐานในข้อนี้ผิดเสียแล้วจะทำความยุ่งยากลำบากให้แก่พวกเราสักเท่าไร พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเรื่องตัณหา เรื่องความดับทุกข์นี้ไว้มากมายและเป็นหลักเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เรามาเข้าใจผิดกันเสียเองถึงความหมายของคำว่าตัณหา เอาเป็นว่าถ้าอยากแล้วเรียกว่าโลภ เรียกว่าตัณหาไปเสียหมด
ในอริยสัจ ๔ ประการนั้น ตัณหาที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์หรือที่เรียกว่า ทุกขสมุทัยนั้น ต้องมีมูลมาจากอวิชชาเสมอไป ถ้าไม่มีมูลมาจากอวิชชาแล้ว ไม่เป็นตัณหา ไม่เป็นทุกขสมุทัยในที่นั้น เมื่อเรื่องอริยสัจหรือหลักเกณฑ์เรื่องอริยสัจเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งดังนี้แล้ว เราก็ควรจะระมัดระวังให้มากในการที่จะพูดอะไรถึงเรื่องตัณหา หรือจะสั่งสอนกัน แนะนำกันถึงเรื่องคำว่าตัณหา ถ้าวางหลักลงไปผิดจนเป็นตัณหาไปหมด แล้วจะทำอย่างไรกัน คนทั้งหลายหรือลูกเล็กเด็กแดงนี่ จะทำอย่างไรกัน มันก็จะเน่าเหม็นไปด้วยกิเลสไม่มีวันสร่าง ทั้งวันทั้งคืน ไม่มีว่างจากกิเลสนั่น เพราะว่ามันต้องอยาก ต้อง ต้องการอะไรอยู่เสมอ เดี๋ยวนี้ยืนยันอยู่ว่าจิตโดยพื้นฐานว่างจากกิเลส สะอาด สงบ สบายดีอยู่ เพราะว่าเราไม่ได้มีกิเลสตลอดเวลา เราอยาก เราต้องการอะไรอย่างนี้ ที่ไม่ได้อยากด้วยอวิชชาก็มีอยู่มาก ฉะนั้นเราจึงอยู่ได้ เป็นมนุษย์ที่น่าดูอยู่ได้ ความเข้าใจผิดถูกในเรื่องนี้สำคัญอย่างนี้ จะเป็นการปรักปรำเพื่อนมนุษย์กันมากเกินไป ถ้าจะถือเสียว่า ขึ้นชื่อว่าความอยากแล้วเป็นกิเลสทั้งนั้น ทุกคนจะมอมแมมไปด้วยกิเลสจนดูไม่ได้
แล้วเรื่องนี้จริงหรือเปล่า พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้จริงหรือเปล่า และความจริงของธรรมชาติ แท้ๆเป็นอย่างนี้หรือเปล่า กิเลสตัณหาต้องมีมูลมาจากอวิชชาคือความโง่ ความหลงเสมอไป เมื่อเกิดเรื่องขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายคราวหนึ่งนั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นอวิชชาไปเสียทุกครั้ง ในบางครั้งก็ยังมีสติสัมปชัญญะเป็นไปในฝ่ายของวิชชา ปัญญาของญาณได้อยู่ อารมณ์ที่มากระทบนั้น อย่าได้เข้าใจว่ามากระทบเพื่อให้กิเลส ให้เกิดกิเลสโดยเสมอไป อารมณ์ที่มากระทบนั้นไม่ได้มุ่งหมายจะให้เกิดกิเลสเสมอไป มันแล้วแต่คนต้อนรับ ถ้าว่าต้อนรับด้วยสติสัมปชัญญะ อารมณ์ที่มากระทบก็กลายเป็นบทเรียน เป็นความรู้ เป็นการศึกษา เป็นการเพิ่มพูนปัญญา เป็นของดีอย่างยิ่ง ไม่ควรรังเกียจ แต่ถ้าอารมณ์มากระทบแล้ว ไม่มีสติสัมปชัญญะก็มีสิ่งที่เรียกว่าอวิชชาครอบงำ เกิดขึ้นผสมโรง มันจึงเผลอสติ แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้นหรือผลที่เกิดมาจากอารมณ์นั้น อย่างนี้จึงจะเป็นตัณหา เป็นการเสียหาย ส่วนอีกทางนั้นเป็นการได้ประโยชน์ อารมณ์แท้ๆมากระทบเรานี้ มาเพื่อให้ประโยชน์มากกว่า แต่ว่าเป็นความโง่ ความหลงของเราเอง จึงต้องเป็นทุกข์ต้องเดือดร้อนแต่ถึงอย่างนั้น หลังจากนั้นเราก็คงจะฉลาดขึ้นบ้าง เพราะได้รับความทุกข์ ความร้อนหลายๆหนเข้า ก็คงจะฉลาดขึ้นบ้าง เพราะการกระทบของอารมณ์นั่นเอง ฉะนั้นจึงเป็นอันว่ามันเป็นไปในทางดี อย่ามองกันไปในแง่ร้ายเสียหมด นี้เรียกว่าเป็นข้อที่ ๓ ของสิ่งที่เรายังเข้าใจผิดกันอยู่ จนเราสนทนาธรรมกันไม่ได้
ทีนี้ข้อที่ ๔ เรื่องปฏิจจสมุปบาท ไม่ได้เป็นเรื่องข้ามภพข้ามชาติหรือคร่อมภพคร่อมชาติตั้ง ๓ ชาติดังที่เข้าใจกันอยู่โดยมากหรือแทบทั้งหมด ที่เราสอนๆ เรียนๆกันอยู่นั้นมีว่า ปฏิจจสมุปบาทส่วนแรกส่วนหนึ่งเป็นอดีตในอดีตชาติ ถัดมาเป็นปัจจุบันผลในปัจจุบันชาติ ถัดไปเป็นเหตุในปัจจุบันเป็นปัจจุบันชาติแล้วอีกส่วนสุดท้ายเป็นอนาคตผลในชาติเป็นอนาคต ซึ่งทำให้เข้าใจไปว่าปฏิจจสมุปบาทสายหนึ่งหรือ ๑๒ ปัจจยาการนั้น กินเนื้อที่ตั้ง ๓ ชาติ กินเวลานานถึง ๓ ชาติ ส่วนอาตมาอยู่ในพวกที่มีความเห็นว่า ปฏิจจสมุปบาทวงหนึ่งนั้น กินเวลาชั่วที่ได้เสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เผลอสติ ไม่มีสติ ยึดถืออารมณ์นั้นเป็นของตนแล้วเกิดทุกข์ขึ้นมา นี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทครบบริบูรณ์ทั้งสายทั้ง ๑๒ ปัจจยาการ ในกรณีเดียวเท่านั้น ดังนั้นในวันหนึ่งๆ ปฏิจจสมุปบาทมีได้หลายสายหรือหลายวง เพียงวันเดียวเท่านั้นก็ยังมีได้หลายสาย หลายวง ไม่ใช่สายเดียววงเดียวต้องกินเวลาทั้ง ๓ ชาติ
ข้อนี้เราจะรู้ได้จากพระพุทธภาษิตที่มีอยู่มากมาย ที่เป็นพระบาลีที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ขอให้ตรวจดูกันด้วยความสงบตั้งใจ พระพุทธภาษิตทั้งหมดนั้น ไม่ได้ส่อให้เห็นที่ตรงไหนว่า ปฏิจจยาการ ๑๒ นี้ต้องข้าม ข้ามภพข้ามชาติ คร่อม คร่อมภพคร่อมชาติ ตั้ง ๓ ชาติ มันเป็นเรื่องเข้าใจผิดของอาจารย์เอง ในอาจารย์ในรุ่นหลังเอง ไปเข้าใจอย่างนั้น แล้วก็พูดไว้อย่างนั้น จนเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้แทบจะไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใคร มีหลักสูตรอยู่ในการเรียนของภิกษุเป็นนักธรรมตรี โท เอก แล้วก็เข้าใจไม่ได้ เอาไปใช้ประโยชน์อะไรนิดเดียวก็ไม่ได้ ตีกันยุ่งไปหมด ถามเข้าก็จนและงง เรื่องที่วิเศษที่สุดของพระ พุทธศาสนา จึงกลายเป็นหมัน เพราะความงมงายของคนเหล่านั้น ถ้าเราไม่งมงายกันในลักษณะนี้แล้ว เรื่องที่ประเสริฐที่สุดของพุทธศาสนาคือปฏิจจสมุปบาทนี้ จะมีประโยชน์แก่เราอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่ใช้ได้ในชีวิต ประจำวัน รู้และปฏิบัติและได้ผลในชีวิตประจำวันทีเดียว เดี๋ยวนี้เป็นหมัน เหมือนกับสิ่งที่เก็บไว้ดูเล่นในพิพิธภัณฑ์ สอนก็สอนกันอย่างนกแก้ว นกขุนทอง ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใคร เพราะความที่ไปเข้าใจว่าปฏิจจสมุปบาทสายหนึ่งกินเวลาถึง ๓ ภพ ๓ ชาติดังที่กล่าวแล้ว
สำหรับเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ขอให้เข้าใจกันไปในทางที่ว่าเป็นเรื่องอริยสัจ ขอให้ไปค้นดูในบาลี พวกอังคุตตรนิกายเช่น ติกนิบาต จะพบว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสอริยสัจอย่างสมบูรณ์เป็นปฏิจจสมุปบาท จนทำให้เรามองเห็นชัดว่าอริยสัจอย่างสมบูรณ์แบบนั้น ทรงแสดงด้วยปฏิจจสมุปบาท อริยสัจอย่างย่อคือตามธรรมดาสามัญ พูดกันสั้นๆ เร็วๆ นั้น แสดงอย่างที่เราได้ยินได้ฟังกันโดยมากทั่วไป อย่างสามัญโดยย่อก็ว่า ทุกข์ คืออาการที่ทรมาน เหตุให้เกิดทุกข์คือตัณหา ทุกขนิโรธ ดับทุกข์คือดับตัณหา หนทางดับตัณหาคือมรรคมีองค์ ๘ และในอริยสัจสมบูรณ์แบบ แสดงทุกข์อย่างเดียวกัน พอถึงแสดงทุกขสมุทัยแล้ว ทรงจำแนกปฏิจจสมุปบาทเต็มทั้งสายฝ่ายสมุทยวาร ฉะนั้นทรงแสดง ทุกขนิโรธ ก็ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทเต็มทั้งสายในฝ่ายนิโรธวาร ฉะนั้นเมื่อทรงแสดงมรรคก็ต้องแสดงมรรคมีองค์ ๘ เหมือนกันและทรงเรียกนี้ว่าอริยสัจโดยตรงเหมือนกัน ฉะนั้นขอให้เข้าใจว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นเรื่องอริยสัจแท้ๆไม่มีทางเป็นอย่างอื่น เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้คือเรื่องเดียวกันกับอริยสัจแท้ๆ ไม่มีเป็นอย่างอื่น
ทีนี้เรื่องอริยสัจนี้ เป็นเรื่องที่ต้องใช้โดยตรง ต้องปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ให้ได้โดยตรง ไม่ใช่รอไว้ชาติหน้า ความทุกข์เป็นสิ่งที่เราต้องรู้จักมันเดี๋ยวนี้ แล้วกำจัดมันเดี๋ยวนี้ อย่างน้อยก็ในชาตินี้ ในฐานะที่มันเป็นศัตรูปัจจุบัน ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต ไม่ใช่ศัตรูในอดีต ไม่ใช่ศัตรูในอนาคต มันเป็นศัตรูปัจจุบัน ดังนั้นเราต้องจัดการกันในปัจจุบัน ดังนั้นเรื่องอริยสัจ ๔ นี้เป็นเรื่องในปัจจุบันชาติ ต้องจัดการกันให้เสร็จ อย่าแบ่ง แยกปฏิจจสมุปบาท ออกเป็นตอนๆ แล้วเอาตอนนี้ไปไว้ชาติอดีต เอาตอนนี้ไว้ชาติปัจจุบัน ตอนหนึ่งไว้ในชาติอนาคต อย่างนั้นเป็นเรื่องเขลา เรื่องงมงายอย่างยิ่ง เพราะมันทำไม่ได้ เมื่อตัวผลคือความทุกข์มันอยู่ที่ชาตินี้ แล้วเหตุมันอยู่ที่ชาติอดีต อย่างนี้เราจะดับมันได้อย่างไร ลองถามใครดูก็ได้แม้กระทั่งเด็กๆ ว่าถ้าตัวผลคือความทุกข์มันอยู่ชาตินี้ แล้วเหตุมันอยู่ในอดีตชาติ อย่างนี้จะไปดับเหตุหรือว่าดับทุกข์ได้อย่างไร หรือถ้าว่าเหตุของความทุกข์อยู่ในชาตินี้แล้วจะไปให้ผลต่อชาติหน้าอย่างนี้ มันจะมีประโยชน์แก่ใคร มันขัดกันหมดกับข้อที่ว่าธรรมะ เป็นอกาลิโก สันทิฏฐิโก ปัจจัตตังเวทิตัพโพ อะไรทำนองนี้
ดังนั้นการดับทุกข์ซึ่งมีเหตุนั่น จะต้องดับได้โดยการที่ติดต่อเนื่องกันโดยทีเดียว ไม่ต้องเอาไปไว้ให้แยกกันคนละชาติ คนละภพ มันเป็นเรื่องที่น่าหัว ไม่มีอะไรน่าหัวเท่า เมื่อผลอยู่ในชาติปัจจุบัน แต่เหตุไปอยู่ในอดีตชาติแล้วก็จัดการอะไรกันไม่ได้ นี่คือความเป็นหมันของความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทที่เข้าใจผิดกันอยู่ ไปดูพระพุทธภาษิตแล้วจะเห็นได้ว่าเนื่องกันเป็นสาย และแป๊บเดียวหมดไปทั้งสาย เป็นความทุกข์ เต็มครบทั้งสายของปฏิจจสมุปบาท วันหนึ่งเกิดได้หลายสายหรือหลายวงของปฏิจจสมุปบาท
รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้มันยาวเกินไป เหลือที่จะมากล่าวในวันเดียวอย่างนี้ได้ อาตมาเชื่อว่าคงจะได้กล่าวกันสักวันหนึ่งให้สมบูรณ์ อาตมากำลังอธิบายเรื่องนี้และบันทึกไว้เป็นประจำวัน สักวันหนึ่งก็คงจะได้พิมพ์ออกมาให้อ่านกันได้ ฉะนั้นจึงขอฝากไว้แต่เพียงเท่านี้ เป็นข้อที่ ๔ ของสิ่งที่เรายังเข้าใจผิดกันอยู่
สำหรับเรื่องที่ ๕ มีว่า อย่าได้ฝากตัวไว้กับหนังสือรุ่นหลัง รุ่นหลังๆ อย่าได้ฝากตัวไว้กับคัมภีร์รุ่นหลังๆ อย่างมอบกายถวายชีวิต โดยเชื่อดายเกินไป พระคัมภีร์รุ่นหลังๆนั่น เราอย่าได้ไปฝากเนื้อฝากตัวมอบกายถวายชีวิตโดยเชื่อดายไปอย่างเดียว อาตมาอยู่ในพวกที่ไม่ยอมเชื่อดายไปอย่างนั้น และแต่ก็มีเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจำนวนมากตรงกันข้าม ถึงกลับไปเชื่อคัมภีร์รุ่นหลังดายไปหมดแล้วไม่สนใจกับพระคัมภีร์เดิมหรือ ทีแรก เช่น ตัวพระไตรปิฏกโดยตรง ที่ว่าไม่ให้ฝากเนื้อฝากตัวไว้กับคัมภีร์รุ่นหลังโดยเชื่อดายไปนี้ก็เพราะว่า แม้แต่ตัวพระไตรปิฎกเองซึ่งเป็นคัมภีร์รุ่นแรกที่สุดก็ยังต้องระวัง ระวังให้ดี มีสิ่งที่ปลอมที่ปน ที่เพิ่มเติมเข้าไปไม่น้อยเหมือนกัน นี่ไม่ต้องพูดถึงคัมภีร์รุ่นหลัง และยิ่งกว่านั้น แม้แต่คำที่เขียนอยู่ในพระไตรปิฎกของเราว่าออกจากพระโอษฐ์เอง ก็ยังต้องระวังให้ดี เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่าเชื่อทันที อย่างหลักเรื่องกาลามสูตร ทีนี้ถ้าเผอิญเป็นได้ถึงกับว่าเรา เกิดในสมัยพุทธกาล ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์แล้วพระองค์ตรัสอะไรออกมา พระองค์ก็ยังตรัสว่า อย่าเชื่อทันที ต้องพิจารณาให้เห็นว่าเป็นอย่างไร เป็นอย่างนั้นจริงก่อนแล้วจึงเชื่อ พระพุทธเจ้าทรงย้ำอย่างนี้มาก และพระสาวก เช่นพระสาลีบุตรก็ยังย้ำอย่างนี้ และยังทรงย้ำต่อกันและกันในที่เฉพาะพระพักตร์ ว่าคำที่ออกพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าโดยตรงแล้วมาเข้าหูคนฟังโดยตรงนั่งอยู่ด้วยกันตรงนั้นก็ว่าอย่าเพิ่งเชื่อทันที ต้องดูว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง มันมีเหตุผลอย่างนั้นจริงหรือ หรือเปล่า นี่คำตรัสที่เป็นเสียงออกมาโดยตรงก็ยังเป็นอย่างนี้ แล้วพระไตรปิฏกจะเป็นอย่างไร แล้วคัมภีร์รุ่นหลังๆต่อมาอีก จากอรรถกถาฎีกานี้จะเป็นอย่างไร
ยังหนังสือวิสุทธิมรรค คัมภีร์วิสุทธิมรรค พ.ศ.ตั้ง ๑๐๐๐ ร่วม ๑๐๐๐ จึงได้เขียนขึ้น เถลไถลไปหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธภาษิตที่ว่าสมาธิภาวนามีอยู่ ๔ อย่าง คือสมาธิภาวนาที่ทำให้ได้รับสุขในทิฏฐธรรม นี้ก็คือการเจริญให้เกิดฌาณ ๔ ขึ้นมา สมาธิภาวนาอย่างที่ ๒ คือการทำให้ได้ทิพพจักขุ นี้ต้องเจริญอาโลกสัญญา ชีวาสัญญา เป็นต้น สมาธิภาวนาอย่างที่ ๓ เพื่อความสมบูรณ์แห่งสติสัมปชัญญะ นี้ต้องคอยกำหนดอิริยาบท เป็นต้น หรือกำหนดการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของสังขาร และสมาธิภาวนาอย่างสุดท้ายที่ ๔ นั้นคือสมาธิภาวนาเพื่อสิ้นอาสวะ นี้ต้องพิจารณา เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน โดยแยกอุปาทานออกไปเสียให้ได้ คัมภีร์วิสุทธิมรรคไถลไปถึงว่าเจริญภาวนาจะได้อานิสงค์ ๔ ประการนี้ พระพุทธ เจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้น ตรัสแยกกันเป็นอย่างๆ ๔ อย่าง หนังสือวิสุทธิมรรคว่า เจริญภาวนา สมาธิเสร็จจะได้อานิสงค์ ๔ อย่างนี้ ท่านฟังดูว่ามันเรื่องเดียวกันหรือเปล่า นี้อาตมาถือว่าเป็นเรื่องเถลไถลของหนังสือวิสุทธิมรรค เรื่องของฝ่ายพราหมณ์ ฝ่ายฮินดู ติดเข้าไปอยู่เป็นอันมาก เช่นในเรื่องที่กล่าวถึงโลกวิทู หนังสือชั้นหลังอย่างวิสุทธิมรรคมีส่วนดีอยู่มาก แต่มีส่วนเถลไถลอย่างนี้ก็มีอยู่ แล้วจะไปฝากเนื้อฝากตัวได้อย่างไร
แม้คัมภีร์ชั้นหลัง เช่น คัมภีร์อภิธรรม ก็ได้เกิดในรุ่นหลังซึ่งจะได้กล่าวกันต่อไป ทีนี้ยิ่งคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะแล้ว ยิ่งหลังมาจากนั้นอีก มีมติของผู้แต่งเจืออยู่อย่างเห็นได้ชัด ยิ่งฎีกาของคัมภีร์นี้ก็ยิ่งมีมติของผู้แต่งฎีกาเจืออยู่ และยิ่งความรู้ของผู้อธิบายเอาเองในชั้นนี้แล้วก็ยิ่งมีอะไรเพิ่มเติม เจือเข้าไปมาก นี่จึงว่าอย่าได้ฝากเนื้อฝากตัวไว้กับคัมภีร์ชั้นหลัง โดยเชื่อดายเป็นอย่างนี้ ลองกล้ากันบ้างสักนิดก็ยังดี เพียงเป็นลูกศิษย์ของสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่ท่านกล้าใช้ความคิด ความเห็นที่จะวิพากย์วิจารณ์ข้อความในคัมภีร์ทุกอันดับกระทั่งพระบาลี พระไตรปิฎก นี่เราไม่เอามากไปถึงไหน เอาเพียงเป็นลูกศิษย์ของท่านก็พอแล้ว เพราะว่าถ้าเราจะเอาเต็มที่จะเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าแล้ว ต้องถึงขนาดที่ว่าออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า มาเข้าหูเราก็ยังไม่เชื่อ ยังต้องคิดเอาจนถึงกับว่ามันเห็นจริง เป็นจริงอย่างนั้น เป็นความรู้ของเราเองแล้วเราจึงจะเชื่อ นี่อาตมายังขอชวนว่า ลองมีความกล้าหาญกันดูสักนิดกันนะคือไม่เชื่อหนังสือคัมภีร์ชั้นหลังให้มันดายไปอย่างนี้ นี้เป็นข้อที่ ๕ ที่ว่าขอให้นำไปคิดไปนึกกันดู ว่ายังเป็นสิ่งที่ยังเข้าใจผิดกันอยู่ เมื่อพวกหนึ่งมอบกายถวายชีวิตแก่คัมภีร์รุ่นหลัง และอีกพวกหนึ่งไม่ยอมมอบหรือจะคุยกันได้อย่างไร จะสนทนาธรรมกันได้อย่างไร นับว่าเป็นข้อที่ ๕ ที่อยากจะฝากไว้ให้เพื่อนสหธรรมิกทั้งหลายนำไปคิดดู
สำหรับข้อที่ ๖ นี้จะขอยกเรื่องพระอภิธรรมปิฎกโดยตรงมาวินิจฉัย พระอภิธรรมปิฎกบาลี ที่ปิฎก ที่ ๓ ของพระไตรปิฎกนั่น ไม่ได้อยู่ในรูปของพระพุทธวจนะ เป็นพระพุทธวจนะแต่โดยอรรถะ คือโดยเนื้อ ความและเพียงบางส่วน เพราะฉะนั้นเราต้องระวังเลือกให้ดีๆว่าอรรถของอภิธรรมปิฎกบาลีนั้นส่วนไหนตรง เป็นพุทธวจนะและเมื่อว่าโดยพยัญชนะคือโดยตัวหนังสือ โดยคำพูดแล้วอภิธรรมปิฎกไม่ได้เป็นพระพุทธวจนะเลย ไม่ใช่รูปของการตรัสของพระพุทธเจ้าในรูปภาษา หรือในรูปสำนวนอย่างนั้น พระอภิธรรมปิฎกนี้ เป็นของที่ร้อยกรองขึ้นในเวลาต่อมา เรื่องขึ้นไปเทศน์บนดาวดึงส์นั้นไม่มีในอภิธรรมปิฎกและไม่มีแม้ในอรรถกถาของอภิธรรมปิฎกโดยตรง อาตมากำลังบอกว่าไม่มีแม้แต่ในอรรถกถาของพระอภิธรรมปิฎกโดยตรง เรื่องขึ้นเทศน์บนดาวดึงส์นั้น แต่มีในหนังสือชั้นหลังๆต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เช่น อรรถกถาธรรมบท ทีนี้ก็จะกล่าวได้ว่าพระอภิธรรมปิฎก บาลีปิฎกที่ ๓ ของพระไตรปิฎกนั้นเป็นของใหม่ เกิดขึ้นในรุ่นหลัง รุ่นๆเดียวกับที่มีพระพุทธรูป
ฉะนั้นขอพูดเรื่องพระพุทธรูปสักนิด ว่าพระพุทธรูปนั้น ไม่เคยมีในครั้งพุทธกาล ประเทศอินเดียในสมัยพุทธกาลนั้น ฉลาดถึงขนาดไม่ยอมไหว้รูปเคารพ การไหว้รูปเคารพรู้ได้ด้วยการสำรวจทางโบราณคดี มีมาตั้งแต่สมัย ๓๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล การขุดค้นวัฒนธรรมลุ่มน้ำสินธู ที่แคว้นโมเฮนโจดาโร แฮแรปปา พวกนี้ พบรูปเคารพเยอะแยะไปหมด แสดงว่าสมัยนั้นประเทศอินเดียไหว้รูปเคารพ ฉะนั้นตกมาถึงยุค อุปนิษัท คือร่วมยุคพุทธกาลนี้เขาฉลาดมาก จนไม่ยอมไหว้รูปเคารพกันเสียแล้ว จึงไม่มีรูปเคารพแม้ในศาสนาไหนหมด กระทั่งพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว พ.ศ. ๓๐๐ เศษ มีการสลักหินเป็นพุทธประวัติแล้ว ก็ยังไม่มีรูปเคารพเลย ต่อเมื่อพ.ศ. ร่วมไปถึง ๗๐๐-๘๐๐ จึงเริ่มมีพระพุทธรูป ในพุทธศาสนา ฉะนั้นจากการสำรวจหินสลักทั่วทั้งประเทศอินเดียเราไม่พบว่ามีพระพุทธรูปอยู่ในหินสลักยุคที่ก่อนพ.ศ. ๖๐๐ ขึ้นไปทางบน มีอยู่แต่ทางล่าง แต่ว่าหินสลัก เรื่องพระพุทธประวัตินั้นมีมากมาย ตรงที่เป็นพระพุทธองค์นั้น จะทิ้งว่างๆไว้เฉยๆ เช่น ถ้าติดภาพขี่ม้านี้ก็ทิ้งหลังม้าว่างๆไว้เฉยๆ พระแท่นใต้ต้นโพธิ์ก็มีพระแท่นเฉยๆ ถ้าไม่เฉยๆก็มีเครื่องหมาย เช่น เครื่องหมายตรีรัตนะแทน หรือธรรมจักรแทน หรือพระพุทธบาทแทนไม่ยอมทำรูปเคารพ เป็นอันว่าจากหินสลักยุคแรกๆที่มีพุทธประวัตินั้นไม่มีพระพุทธรูป ก่อนพ.ศ. ๓๐๐ ขึ้นไปทางบนก็ไม่มีหินสลักเรื่องพุทธประวัติ
ดังนั้นเราจะหาเศษหินสลักที่เป็นส่วนของพระพุทธรูป แม้สักว่าจะทำยาหยอดตา ก็ไม่ได้ เพราะมันไม่มี หลังจากนั้นมาเป็นลำดับคนจึงกล้าทำ และทำกันขึ้นโดยสมบูรณ์ในพ.ศ. ๖-๗๐๐ แล้วก็มากขึ้นๆ จนได้รับความนิยมแพร่หลายและมากจนเฟ้อ จนถึงกับต้องตวงทะนานขาย หรืออะไรทำนองนี้ นี่แหละแสดงให้เห็นว่าของใหม่ ของเกิดใหม่นั้น ไม่ใช่ไม่จะไม่ได้รับความนิยม กลับจะได้รับความนิยม ชมชื่น ได้รับการต้อนรับของประชาชนยิ่งกว่าของเก่าเสียอีก เช่นเดี๋ยวนี้ไม่มีใครชอบหินสลักพุทธประวัติชนิดที่ไม่มีพระพุทธรูป มีแต่จะสร้างพระพุทธรูปให้มากขึ้นๆ เพราะชอบพระพุทธรูปซึ่งเป็นของเกิดใหม่หลังพ.ศ. ๖๐๐-๗๐๐ คัมภีร์อภิธรรมนี้ก็เหมือนกัน เพิ่งจะร้อยกรองขึ้นไม่ก่อนพ.ศ. ๖-๗๐๐ อาตมาจึงถือว่าเป็นของสมัยเดียวกันกับพระพุทธรูปเป็นของใหม่หรือเกิดใหม่อย่างเดียวกับพระพุทธรูป แล้วก็ต้อง ต้องได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งเป็นธรรมดา เพราะว่าของที่ทำขึ้นใหม่นั้นจะต้องสมบูรณ์ จะต้องมีเสน่ห์ คือมีรสชาดที่ยั่วยวนเป็นอาหารของปัญญา ของการศึกษา เป็นที่ลุ่มหลงของนักปราชญ์ นี้ไม่ต้องสงสัย เช่นเดียวกับพระพุทธรูปตั้งอยู่ในฐานะเป็นที่ตั้งของศิลปะ นักศิลปะก็ต้องยึดมั่นถือมั่น เอาเป็นที่ตั้งของศิลปะ พวกที่ไม่ถึงธรรมะแท้จริง สะดวกแก่การที่จะถือรูปเคารพก็ยิ่งชอบใจใหญ่ จึงเลยเป็นของเฟ้อจนถึงกับว่าพระพุทธรูป นี้เป็นเครื่องปิดบังพระธรรมในที่สุด นี่เพื่อจะพิสูจน์ว่าของใหม่นั้นจะได้รับการต้อนรับจากประชาชนยิ่งกว่าของเก่าของเดิมแท้ก็ได้ อย่าให้ไปมีเหตุผลเพียงว่าเป็นที่สนใจของนักปราชญ์
ขอให้คิดดูให้ดีว่าเนื้อความของคัมภีร์อภิธรรมปิฎกนั้น ถ้าผิดไปจากเรื่องหลักเกณฑ์ใหญ่ๆที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์แล้ว ก็ถือว่าเป็นของใหม่เพิ่มเติมขึ้นเข้ามา ที่เป็นเรื่องดับทุกข์โดยตรง เช่น เรื่องอริยสัจนั่นก็ไม่มีอะไรแปลกออกไปกว่าที่มีอยู่ในคัมภีร์เก่าคือพวกสุตตันตปิฎก แปลว่าไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาใหม่นอกจากขยายความทางตัวหนังสือ ทางลอจิกและเพิ่มเติมความคิด ความเห็น ความรู้สึกที่ใหม่ๆที่น่าศึกษาเข้าไปให้เป็นเสน่ห์เพื่อจะแข่งขันกันกับลัทธิอื่นศาสนาอื่น นี้เป็นความมุ่งหมายของการรจนาร้อยกรองพระคัมภีร์ในรุ่นหลัง ตัวอย่างเช่น คัมภีร์กถาวัตถุของอภิธรรมปิฎกเอง ก็เป็นเพียงคัมภีร์ที่รวบรวมเรื่องมิจฉา ทิฏฐิต่างๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ๆในประเทศอินเดีย ตั้งแต่พุทธกาลมาจนถึงพ.ศ.หลายร้อยรวมเข้าไว้ในนั้นหมด กระทั่งออกชื่อลัทธิที่เกิดใหม่ๆในแคว้นอินเดียใต้ ในอินเดียภาคใต้อย่างนี้ก็ยังมี นี้จึงเห็นว่าเป็นที่รวบรวมให้สมบูรณ์ไปในทางที่จะเป็นนักปราชญ์ ไม่ได้เพิ่มอะไรให้มากขึ้น ในเรื่องความดับทุกข์ ดังนั้นจึงถือว่าไม่จำเป็นแม้แต่อย่างใด สำหรับเรื่องการดับทุกข์ เรื่องอริยสัจ เรื่องปฏิจจสมุปบาทเท่าที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์รุ่นเก่ารุ่นแรกนั้นเหลือเฟือแล้ว นี้เราไม่ควรจะเข้าใจผิดจนถึงกับไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านี้
มีความเข้าใจผิด เกิดขึ้นได้จากคำเพียง ๒ คำ คือคำว่าอภิวินัยกับอภิธรรม อภิวินัย อภิธรรม ๒ คำนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสจริง ได้กล่าวจริงและได้กล่าวอยู่บ่อยๆ แต่คำว่าอภิวินัยและอภิธรรมนี้ คำว่าอภิธรรมไม่ได้หมายถึงคัมภีร์อภิธรรมปิฎกซึ่งร้อยกรองขึ้นในรุ่นหลัง แต่หมายถึงธรรมส่วนที่อธิบายให้ลึกซึ้ง แจกออกไปอย่างลึกซึ้งกว้างขวางมากกว่าลึกซึ้ง ครบถ้วนมากกว่าลึกซึ้ง รู้ได้ตรงที่เรียกอภิวินัย เล็งถึงวินัยที่ขยายความออกไปให้ละเอียดทุกแง่ทุกมุม เช่นคัมภีร์วินีตวัตถุ ทำนองคำพิพากษาศาลฎีกาที่รวบรวมไว้มากๆๆๆ อย่างนี้กลายเป็นอภิวินัย ตัวปาติ ตัวปาติโมกข์เองยังไม่เรียกว่าอภิวินัย เพราะว่าชัด เพราะว่าง่ายแก่ความเข้าใจ กระทัดรัด ส่วนที่หยุมหยิม ปัญหาปลีกย่อยต้องใช้ปัญญาสอดส่อง หยุมหยิมนั้นจึงเรียกว่าอภิวินัย สิ่งที่เรียกว่าอภิธรรมก็เหมือนกัน สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายส่วนที่จะต้องอธิบายอย่างละเอียด แจกแจงออกไปอย่างหยุมหยิม แล้วก็ไม่ได้ถือว่าอภิวินัยหรืออภิธรรมนี้เป็นเรื่องจำเป็น เอ่ยถึงในฐานะเป็นเครื่องเรืองปัญญามากกว่า เพราะฉะนั้นคำว่าอภิธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสบ่อยๆนั้น ไม่ได้เล็งถึงอภิธรรมปิฎก เพราะท่านตรัสก่อนเกิดอภิธรรมปิฎกและตรัสก่อนเกิดพระไตรปิฎก และตรัสก่อนเกิดปิฎกไหนๆหมด ท่านพูดถึงแต่เพียงธรรมกับวินัย ดังที่เราเห็นได้จากการทำสังคายนา มีทำสังคายนาแต่เพียงธรรมกับวินัย ในตัวพระไตรปิฎกเองพวกปัญจสติกขันธกะ คล้ายวินัยนั้นก็มีเล่าเรื่องทำสังคายนา อย่างเป็นหลักฐานที่สุด เป็นปกรณ์ชั้นบาลี ชั้นพระไตรปิฎกก็ไม่มีพูดถึงอภิธรรมปิฎกเลย มีพูดถึงแต่เรื่องธรรม อธรรมกับวินัย อภิธรรมปิฎกเกิดขึ้นในรุ่นถัดมาแล้วก็รวมเข้าเป็นปิฎก ๓ การเขียนครั้งหลังก็ผนวกเข้าไปเป็นว่าทำสังคายนาพระไตรปิฎก นี้ความเข้าใจผิดคำ ๒ คำ คืออภิวินัยกับอภิธรรมเป็นมูลเหตุให้เกิดความเข้าใจที่ขยายกว้างออกไป พึงเข้าใจว่าสิ่งที่เรียกว่าอภิวินัย หรืออภิธรรมนั้นไม่ได้ตั้งหลักเกณฑ์อะไรให้ใหม่ ให้มากออกไป เพียงแต่ขยายความ ไม่ใช่อีกเรื่องหนึ่งซึ่งมากออกไป
ทีนี้เรามาลองคิดกันดูใหม่ ว่าอภิธรรมควรจะเป็นอย่างไร อภิธรรม ธรรมะอย่างยิ่ง ธรรมะอย่างลึกซึ้ง ธรรมะอย่างสูงสุดนั้นควรจะเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “เย เต สุตตันตา” สุตตันตะทั้งหลายเหล่าใด “ตถาคตภาสิตา” เป็นคำตรัสของตถาคต “คัมภีรา” ลึกซึ้ง “คัมภีรัตถา” มีอรรถอันลึกซึ้ง “โลกุตตรา” เหนือโลก “สุญญตัปปฏิสังยุตตา” ประกอบพร้อมเฉพาะอยู่ด้วยเรื่องสุญญตา นี่คือบาลีสังยุตตนิกายมากแห่งที่แสดงว่าพระพุทธเจ้าท่านจำกัดชัดลงไปว่า คำที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นมีแต่เรื่องสุญญตา เรื่องใดไม่ใช่ สุญญตา ไม่ใช่เกี่ยวกับสุญญตาเรื่องนั้นไม่ใช่ตถาคตภาษิต ขอฝากให้เพื่อนนักศึกษาไปค้นดูเอาเอง จัดกลุ่มสูตร กลุ่มในสังยุตตนิกาย ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ และยังตรัสไว้ได้ชัดอีกว่า คำพูดที่คนชั้นหลังร้อยกรองขึ้น ไพเราะสละสลวยมากมายออกไป ไม่พาดพิงถึงสุญญตานั้นไม่ใช่ตถาคตภาษิต ไม่ควรถือเอา อาตมาจะไม่บอกที่มากระทั่งเลขหน้า เลขอะไรอย่างนี้เพราะเอาเปรียบกันนัก ขอให้ลองไปค้นเอาเองดูบ้าง แต่ขอยืนยันว่าข้อความนี้มีอยู่ ว่าข้อความที่ไม่พาดพิงถึงสุญญตาแล้วไม่ใช่ตถาคตภาษิต ไม่คัมภีรา ไม่คัมภีรัตถา ไม่ใช่โลกุตระ ต่อเมื่อข้อความนั้นพาดพิงถึงสุญญตาจึงจะเป็นตถาคตภาษิตลึกซึ้ง มีอรรถอันลึกซึ้งและเหนือโลก
ทีนี้เราลองคิดดูว่า เรื่องที่ว่าง ว่างไม่เอาอะไรเลย กับเรื่องที่จะเอาบุญ เอากุศล เอาสวรรค์ เอามหากุศลจิตหรือเอาอะไรตรงนี้ ๒ เรื่องนี้ เรื่องไหนจะเป็นอภิธรรมกว่ากัน เรื่องว่างไม่เอาอะไรเลยเรื่องหนึ่งกับเรื่องที่จะเอาสวรรค์ จะเอาบุญ จะเอากุศล จะเอาอะไรต่างๆมากมายนี้ อีกเรื่องหนึ่ง ๒ เรื่องนี้ เรื่องไหนเป็นอภิธรรมกว่ากัน อาตมาอยู่ในพวกที่เห็นว่า ไม่เอาอะไรเลยนั่นเป็นอภิธรรมกว่า กว่าที่จะเอานั่น เอานี่ เอาโน่นมากมายไปหมด กระทั่งจะเอาแม้แต่ชื่อเสียงว่าเป็นนักปราชญ์ ดังนั้นจึงเป็นการถูกต้องแล้วที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเรื่องที่พาดพิงสุญญตาทั้งนั้น เรื่องสุญญตาโดยตรงเท่านั้นถึงจะเป็นตถาคตภาษิต ลึกซึ้งและเหนือโลก นี่ที่พูดนี้ ขออภัยอย่าได้ถือว่าเป็นเรื่องรุกรานก้าวร้าวแต่เป็นเรื่องพูดกันอย่างเพื่อนพุทธบริษัท เพื่อว่าจะได้ไปค้นดูเอาเองโดยไม่ต้องเชื่ออาตมาว่าอะไรเป็นอย่างไร นับว่าเป็นเรื่องที่ ๗ ของเรื่องที่รู้สึกว่ายังเข้าใจผิดกันอยู่ ทีนี้เมื่อเรื่องสุญญตาคือหัวใจของตถาคตภาษิตแล้ว อาตมาอยากจะขอโอกาสพูดถึงเรื่องสุญญตาหรือความว่างนี้ ให้มากออกไปสักหน่อย พอทำความเข้าใจกันได้
เรื่องความว่างนี่ เราเรียกกันว่าสุญญตา สุญญะแปลว่าว่าง ตาแปลว่าความ เมื่อถามว่าว่างจากอะไร ก็ต้องตอบว่าว่างจากตัวตนหรือของของตน บาลีระบุชัดว่าว่างจากอัตตา ว่างจากอัตตนียา ว่างจากอัตตาคือว่างจากตัวตน ว่างจากอัตตนียาคือว่างจากสิ่งที่เนื่องด้วยตนคือของตนนั่นเอง แล้วสิ่งที่เรียกว่าตนหรือว่าของตนนี้มันคืออะไร มันไม่ใช่คืออะไรมันคือมายาเท่านั้น คือความสำคัญมั่นหมายเอาด้วยมิจจฉาทิฏฐิหรือด้วยอวิชชา มันจึงเกิดความรู้สึกที่เต็ม เต็มเปี่ยมขึ้นมา จนเราไม่รู้สึกว่าเป็นมายา เราเห็นเป็นรื่องจริงไป เช่นเรารู้สึกว่าตัวเราหรือของเรา ตัวกูหรือของกูนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงเสียเรื่อยไป เพราะรู้สึกว่ามันคิดนึกได้ มันทำอะไรได้ มันมีอะไรอีกมากอย่าง จึงถือเป็นตัวเป็นตนเสมอไป แต่หลักธรรมะนั้นต้องการให้ว่างจากความรู้สึกชนิดนั้น อย่างนั้นแหละเรียกว่าว่างจากอัตตา และส่วนความรู้สึกที่ขยายออกไปว่าของตนนั้น เมื่อมีตัวตนแล้วมันก็ต้องการจะมีอะไรเป็นของตนมันเลยเนื่องกัน เลยต้องว่างจากความรู้สึก อันนั้นด้วย แต่ทีนี้เนื่องจากว่า อ้ายความว่างจากของตนนั้น มันมีได้ง่ายจากความว่างจากตัวตน ถึงต้องเอามาพ่วงกันไว้ทั้ง ๒ อย่าง ถ้าใครทำให้ว่างจากตัวตนได้ อ้ายของตนมันก็ว่างไปเอง เพราะมันขึ้นอยู่กับตัวตน ทีนี้ถ้าจิตในขณะที่ไม่มีความรู้สึกเป็นตัวตนหรือเป็นของตนนี้ เราเรียกว่าจิตว่าง ถ้าถามว่าจิตว่างนี้มีอะไรเป็นอารมณ์ อาตมาตอบว่าก็มีโดยส่วนใหญ่ก็มีความว่างนั่นแหละเป็นอารมณ์ เพราะจิตไม่อาจจะมีจิตโดยปราศจากอารมณ์หรือจะไม่กล่าวว่ามีความว่างเป็นอารมณ์ก็ต้องถือว่าอารมณ์ในขณะนั้น ไม่ถูกยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน จิตมีอารมณ์ชนิดนั้นในขณะนั้นเป็นอารมณ์ ฉะนั้นยัง ยัง ก็ยังต้องกล่าวว่าจิตมีของที่ว่างนั่นแหละเป็นอารมณ์ มีอารมณ์ที่ว่างจากความยึด ยึดถือนั่นแหละเป็นอารมณ์ จึงถือว่าแม้จะว่างอย่างไรก็ยังมีอารมณ์ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ นี้เขาเรียกว่ามีความเป็นอารมณ์ เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าพระนิพพานนั้นคือปรมสุญญตา บรมสุญญตานั้นคือนิพพาน ถ้ามีนิพพานเป็นอารมณ์ก็แปลว่ามีบรมสุญญตาเป็นอารมณ์ จิตมีอะไรเป็นอารมณ์ได้มากมายเหลือที่จะกล่าว แต่ถ้าพวกจิตว่างแล้วต้องมีสิ่งที่ไม่ถูกยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูหรือว่าของกูนั่นแหละเป็นอารมณ์ ในขณะที่เรามีจิตว่างอย่างนี้เป็นเวลาที่เรามีความสุขเหมือนกับเราอยู่กับนิพพานหรือเป็นการบรรลุนิพพานน้อยๆ เป็นการบรรลุนิพพานชิมลอง เป็นการอยู่กับนิพพานชั่วคราว แล้วก็หายไป เพราะเราทำไม่ดีเองคือเผลอสติ ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าความว่างนั่น เป็นสิ่งที่ควรศึกษาควรทำความเข้าใจอย่างยิ่ง ทีนี้ถ้าจิตมีความรู้ในเรื่องความว่างอยู่แล้ว ไปจับฉวยอะไรไม่ได้ ไม่ยึดมั่นอะไรเลยจึงเป็นจิตที่ว่างเหมือนกับมือของเรา ถ้าไม่ไปกุมอะไรเข้าไว้เราก็เรียกว่ามือว่าง เดี๋ยวนี้จิตก็เหมือนกัน ไม่ได้ไปกุมอะไรเข้าไว้ ไม่ได้ไปมีอุปาทานในอะไรเข้าไว้ ว่าตัวกู ว่าของกู ขณะนั้นเราจะต้องถือว่า จิตว่างเพราะมันไม่ได้ถืออะไรเอาไว้ และเป็นสิ่งที่มีคุณ มีประโยชน์มีอานิสงส์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
จึงขอย้ำเตือนอีกครั้งหนึ่งว่า เราอยู่กันได้เป็นผาสุข จนได้มานั่งกันอยู่ที่นี่นี่ เพราะบุญคุณของจิตว่าง ถ้าจิตวุ่นอยู่เสมอแล้วไม่เท่าไรเป็นโรคเส้นประสาท นอนไม่หลับ ปวดหัว แล้วก็เป็นโรควิกลจริตแล้วก็ตายหรือฆ่าตัวตาย นี้คือบุญคุณของจิตว่าง และมีมากที่สุดในเวลาวันหนึ่งคืนหนึ่งของเรานี่ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตเราโดยตรง ขอให้ทราบสิ่งที่เรียกว่าจิตว่างคือจิตที่ประกอบอยู่ด้วยสุญญตา ในลักษณะเช่นนี้ พระอรหันต์มีจิตประกอบไปด้วยสุญญตาเด็ดขาด ส่วนพวกเราปุถุชนนั้นไม่เด็ดขาด ฉะนั้นเราจะต้องพยายามทำเรื่อยไปจนกว่ามันจะเด็ดขาด เมื่อเป็นอย่างนี้ก็จะต้องค้นให้พบข้อเท็จจริงต่อไปอีกอย่างหนึ่งว่า จิตยิ่งว่างเท่าไร จิตยิ่งมีสมรรถภาพเท่านั้น ยิ่งไม่มีความทุกข์เท่านั้น ยิ่งสนุกในการงานเท่านั้น
อาตมาขอให้ตัวอย่างเพียง ๓ ข้อ คือว่าจิตยิ่งว่างเท่าไร ยิ่งมีสมรรถภาพของมันมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งไม่มีความทุกข์มากขึ้นเท่านั้น และยิ่งสนุกในการทำงานมากขึ้นเท่านั้น จิตว่าง ไม่มีอะไรยึดถือเป็นตัวตนของตนคือจิตที่ไม่มีกิเลส อย่างน้อยก็คือจิตที่ประภัสสร ฉะนั้นมันจึงเต็มอยู่ด้วยความรู้สึกสติสัมปชัญญะ สุขุมรอบคอบเป็นอย่างน้อย แล้วธรรมดาของจิตนี้ใครๆก็รู้อยู่แล้วว่ามันมีลักษณะรู้ มีธาตุรู้ จะเรียกว่ามโนหรือวิญญาณ หรือจิตหรืออะไรก็สุดแท้ ล้วนแต่มีรากของคำนี่ ว่ารู้ทั้งนั้น เพราะธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้น ถ้าเราทำให้มันอยู่ในสภาพเดิมของมัน มันก็ต้องรู้ เดี๋ยวนี้มันไม่ได้อยู่ในสภาพเดิมของมัน เพราะถูกปรุงแต่ง ให้เป็นจิตเศร้าหมอง ครอบคลุมอยู่ด้วยกิเลสมันจึงเศร้าหมอง มันจึงมืด มันไม่ได้อยู่ในสภาพเดิมของมัน มันจึงไม่รู้ ฉะนั้นจงเปลื้องสิ่งครอบคลุมเหล่านี้ออกไป อย่าให้มีอะไรปรุงแต่ง พอตกไปอยู่ในสภาพเดิมของมันอย่างน้อยก็ต้องรู้ รู้ตามธรรมชาติของมัน ว่าอะไรเป็นอะไร เหมือนกับที่สัตว์ทั้งหลายก็ต้องรู้จักเกลียดทุกข์ รู้จักรักสุข แม้แต่สัตว์เดียรัจฉาน แม้แต่ต้นไม้ ก็ยังรู้จักแสวงหาอาหาร รู้จักหลีกความทุกข์ เพราะว่าในนั้นมันมีธาตุรู้อยู่เหมือนกัน ฉะนั้นเรายึดหลักง่ายๆ ไม่ต้องลงทุนมากในการปฎิบัติว่า จิตตามสภาพเดิมนั้นว่างและมีสมรรถภาพในการรู้ เราพยายามให้ว่างจากสิ่งที่มารบกวนมัน มันก็มีสมรรถภาพในการรู้ ฉะนั้นการปฎิบัติของเราก็คือการขจัดสิ่งที่จะมารบกวนจิตเท่านั้น ให้ออกไป จิตก็เจริญ รุ่งเรืองได้ในตัวมันเองเหมือนต้นไม้ที่มันงอกงามเอง มันก็รู้ยิ่งๆขึ้นไป จึงมีสมรรถภาพมากขึ้น นี้เรียกว่าจิตยิ่งว่างเท่าไหร่ ยิ่งมีสมรรถภาพมากขึ้นเท่านั้น และว่ายิ่งว่างเท่าไรก็ยิ่งมีความไม่ทุกข์มากขึ้นเท่านั้น เพราะว่าความทุกข์นี้มาจากความไม่ว่าง มาจากความวุ่น คือมาจากตัณหา มาจากอุปาทาน ยิ่งว่างก็คือยิ่งไม่มี ตัณหา อุปาทาน มันจึงยิ่งไม่ทุกข์
ส่วนที่ว่ายิ่งสนุกในการงานนั้นหมายความว่า คนที่มีตัวกู ของกู อุปาทานในเรื่องตัวตนของตนนั้นไม่อยากทำการงานเพราะความเห็นแก่ตัว อยากจะเอาเปรียบคนอื่นด้วยซ้ำไป มันจึงจำใจทำงาน ฝืนใจทำงาน อย่างรับราชการเพื่อเอาเงินเดือนนี้ ฝืนใจทำ ไม่สนุก เพราะจิตไม่ว่าง เพราะจิตไปวุ่นเป็นตัวตน เป็นของตน จดจ่ออยู่แต่เรื่องเงินเดือนอย่างนี้ ถ้าข้าราชการคนไหนมีจิตว่าง ทำงานเพื่องาน ไม่ได้จดจ่ออยู่ที่ตัวตนของตน ตัณหา อุปาทานแล้ว ทำงานสนุก ลืมเวลา ค่ำรุ่งก็ไม่รู้ งานนั้นสนุกมาก นี้จึงว่า ยิ่งจิตว่างเท่าไรยิ่งทำงานสนุกมาก ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทำงานมากกว่าพวกเรา ไปอ่านดูพระพุทธประวัติว่าวันหนึ่งคืนหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านทำอะไรบ้าง เกินที่จะรู้กันอยู่แล้ว เพราะบางคนท่องจำได้ก็มี เรื่องปุพพัณเหปิณฑปาตัญจะ หรืออะไรทำนองนี้ แม้กระทั่งอรหันต์สาวกทั้งหลายก็ยังทำงานมากกว่าพวกเรา การเคลื่อนไหวของท่านมันไม่มีความทุกข์ มันไม่มีความเบื่อหน่าย ท้อถอยรำคาญอะไร สติปัญญาของท่านมีพอ บอกว่าควรจะทำอะไรก็ทำไปตามนั้น เพราะฉะนั้นความอยากและความต้องของท่านนั้นเป็นความอยากความต้องการของจิตว่าง อย่าไปบัญญัติความต้องการเหล่านั้นว่าเป็นโลภ เป็นตัณหา เป็นกิเลสเป็นอันขาด เป็นความอยากเป็นความต้องการที่มีมูลมาจากวิชชา ปัญญา ญาณ สติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ ท่านจึงทำงานสนุกไม่เหมือนพวกเราที่เกลียดงาน ไม่สนุกในการทำงาน เว้นไว้แต่บางครั้งบางคราว ลืมความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนทำงานสนุก สรวลเสเฮฮากันไปพักหนึ่งก็ยังมีได้ ขณะนั้นก็เรียกว่าจิตว่าง ทำงานสนุก หัวเราะร่าสรวลเสในขณะทำ ฉะนั้นอย่าได้เข้าใจผิดไปว่าจิตว่างหัวเราะไม่ได้ จิตว่างร้องเพลงก็ได้ แต่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในอะไรเลย ดังนั้นมันจึงทำอะไรได้ทุกอย่างทั่วไปหมดเป็นสติสัมปะชัญญะ จึงควรจะมีหลักกันว่าแม้แต่ในขณะที่บริโภคอารมณ์ทางกาม เรื่องระหว่างเพศก็ขอให้ทำด้วยจิตที่ประกอบไปด้วยสติสัมปชัญญะ อย่าได้ทำไปด้วยจิตที่กำลังมึนเมาด้วยกิเลสตัณหาอุปาทาน ก็จะเป็นการกระทำที่แตกต่างกันมาก
พระอริยเจ้าเกี่ยวข้องกับอารมณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ แม้อารมณ์ในทางกาม อารมณ์ระหว่างเพศ แต่ปุถุชนคนพาลไม่รู้เรื่องจิตว่างนั้น จะต้องเกี่ยวข้องกับอารมณ์ด้วยจิตที่มึนเมาด้วยกิเลสตัณหาเป็นแน่นอน จึงควรจะนึกกันให้มากว่า ชนิดไหนจะเป็นการเพิ่มความทุกข์ ชนิดไหนจะเป็นการบรรเทาความทุกข์ และเรื่องจิตว่างนั้นช่วยได้หรือไม่ได้ ขอให้เอาไปคิดกันตอนนี้ นี้เรียกว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทุกคน ไม่ใช่เรื่องสำหรับที่จะเอาไปพูดกันที่นอกฟ้าหิมพานต์ แต่ว่าเป็นเรื่องที่ต้องพูดกันที่บ้าน ที่เรือน ที่บุตร ภรรยา สามีที่ยังครองเรือน มีบุตร ภรรยานอนแออัดอยู่ด้วยบุตร ภรรยา ลูบไล้กระแจะจันทน์กันของหอม ว่าขอให้ทำอย่างนั้นด้วยจิตที่ประกอบอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ อย่าเจือด้วยตัณหาอุปาทาน อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สุญญตานี้คือเรื่องเป็นประโยชน์ เกื้อกูลแก่พวกเธอทั้งหลายตลอดกาลนาน ตรัสแก่ฆราวาส
อาตมาอยากจะบอกถึงประโยชน์ ประโยชน์อีกอันหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงนั้นมันมีอยู่ว่า เรายิ่งไม่เอานั่นแหละยิ่งได้ แต่คนเรามีตัณหาอุปาทานที่จะเอาเสียเรื่อย จึงไม่ได้ ไม่ได้อะไร คือไม่ได้นิพพาน เรามีตัณหาอุปาทานจะเอานิพพาน เราเลยยิ่งไม่ได้ เพราะว่าเราอยากนิพพานก็เห่อๆตามๆ เขาไปด้วยอวิชชา ดังนั้นยิ่งอยากจะเอาจะยิ่งไม่ได้ ยิ่งจะเอาให้ได้มันยิ่งไม่ได้เพราะมันอยากด้วยอวิชชา ความอยากนั้นเป็นกิเลส ตัณหา มันจึงถอยหลังออกไปจากนิพพาน ทีนี้เรายิ่งไม่เอานั่นแหละจะยิ่งได้ คือไม่มีกิเลสตัณหา อุปาทานที่จะเอามันเลยกลับได้อยู่ในตัวมันเอง คือการไม่มีตัณหาอุปาทานนั้นมันเป็นการได้ ได้นิพพานในขณะนั้น บริโภครสของนิพพานในขณะนั้น ในขณะที่ไม่เอา ดังนั้นจึงเรียกว่า ยิ่งไม่เอามันยิ่งได้ ทีนี้ยิ่งไม่เอาเลยนี่ก็ยิ่งได้หมด ยิ่งไม่เอาเลยนี่หมายความว่าจิตว่าง ในขณะที่ไม่เอาอะไรเลยนั้นยิ่งได้หมด ขณะนั้นเป็นนิพพานชนิดหนึ่งไม่มีความทุกข์เลยเหมือนกัน นี่ยิ่งเรียกว่ายิ่งได้หมด ทีนี้ถ้าพูดให้ตรงกว่านี้ก็หมายความพระอรหันต์หมดตัณหาอุปาทานนี้คือผู้ที่ไม่เอาเลย ท่านกลับได้หมด คือได้นิพพานหมดโดยสมบูรณ์ นี่ทั้งที่พูดอย่างนี้ มันฟังยากสำหรับคนที่ไม่เคยฟัง แต่เป็นความจริงที่สุด จึงขอฝากให้เอาไปลองคิดดูว่า ยิ่งไม่เอานั่นล่ะจะยิ่งได้ และยิ่งไม่เอาเลยคือว่างนั่นแหละจะได้หมด นี้คือประโยชน์ของความว่าง ทีนี้ถ้าขืนวุ่นมากนักแล้ว มันกลายตรงกันข้ามไปหมด เป็นว่าอวิชชานั่นแหละคือพระพุทธเจ้า หรืออวิชชานั่นแหละคือพระศากยมุนี เพราะว่าคนนั้นมีอวิชชาจึงต้องการพระศากยมุนีคือพระพุทธเจ้า พอเราไม่มีอวิชชาก็ไม่ต้องการอะไร พอหมดอวิชชาก็หมดศากยมุนี ความรู้สึกคิดนึกที่อยากหรือที่หวังหรือที่อะไรต่อพระพุทธเจ้านั้นจะไม่มี เพราะไม่ต้องการอะไร เพราะฉะนั้นอวิชชาจึงอยู่คู่กันกับสิ่งที่เราอยาก เราต้องการเสมอ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าของบุคคลประเภทนั้นจึงได้แก่อวิชชา อวิชชาของบุคคลประเภทนั้น นั่นแหละคือพระศากยมุนีของเขา นี่เป็นคำล้อหรือเป็นคำด่าหรือเป็นคำอะไรก็อย่าได้ถือกันเลย แต่ว่าเป็นความจริงว่าผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นอย่างยิ่งแล้วอวิชชานั่นแหละคือพระพุทธเจ้า ต่อเมื่อมีจิตว่างมองเห็นตามที่เป็นจริงไม่ต้องการอะไร พระพุทธเจ้าก็หายไป พระศากยมุนีก็หายไป แต่กลับเป็นตัวแท้ของพระพุทธเจ้า แต่เราไปเรียกเสียว่าความว่าง ฉะนั้นที่ว่างจริงๆนั่นแหละคือพระพุทธเจ้าจริงๆ ภาวะที่ว่างจากกิเลสตัณหา ความทุกข์ อะไรทุกอย่างทุกประการนั่นแหละคือพระพุทธเจ้าจริง แต่เราไม่เรียกว่าพระพุทธเจ้า เราเรียกว่าว่าง ถ้าฟังไม่ถูกก็เป็นเรื่องที่ต้องไปคิดดู แต่ถ้ามองเห็นก็นับว่า ประหยัดเวลามาก เป็นเรื่องที่ลัดมาก เพราะว่าเราได้ติดอยู่ในสิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นหลายอย่างหลายประการโดยเฉพาะ อย่างยิ่งคือพระพุทธเจ้า เราไม่กล้าคิดกล้านึกไปทำนองที่ว่าจะสละพระพุทธเจ้า ทั้งที่พระพุทธเจ้านั้นเป็นเพียงอุปาทานของเรา เพราะเรา เรายิ่งมีอุปาทานหนาแน่นขึ้นทุกที เราก็มีพระพุทธเจ้าอย่างของอุปาทานนั้นหนาแน่นขึ้นทุกที จนอาตมาบอกว่าอวิชชานั่นแหละคือศากยมุนี สำหรับบุคคลประเภทนั้น
ทีนี้คนที่ยึดถือมากก็จะเห็นแต่ว่ากิเลสนี้ต่างจากโพธิ โพธิคือความรู้คือการตรัสรู้ กิเลสคือความโง่ ความหลง คืออวิชชา ถ้ากล้าคิดก็จะมองเห็นได้ว่ามันเป็นเพียงความรู้ด้วยกันเป็นความรู้ของธรรมชาติ เป็นความรู้ของจิตตามธรรมชาติด้วยกัน แต่แนวหนึ่งมันเป็นไปเพื่อทุกข์ อีกแนวหนึ่งมันเป็นไปเพื่อดับทุกข์ แต่มันเป็นความรู้ความคิด ความนึกของจิตด้วยกันทั้งนั้น ทีนี้มันเผอิญว่ามนุษย์เรานี่ต้องการแต่ฝ่ายที่ดับทุกข์ ต้องการแต่ฝ่ายที่ไม่ทุกข์ จึงไปยึดเอาความรู้ฝ่ายที่เป็นโพธิกันอย่างหมดเนื้อหมดตัว แล้วก็ไปประกาศความเกลียดชังในฝ่ายที่เป็นกิเลสกันอย่างไม่มีอะไรเท่า นี้ก็เป็นการสร้างอุปาทานขึ้นมาใหม่ ทั้งๆที่แต่ก่อนไม่เคยมี ก็มาสร้างอุปาทานเป็นความเกลียดอย่างหนึ่งแล้วความรักอีกอย่างหนึ่งขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นสำหรับบุคคลนั้นกิเลสของเขาคือโพธิ โพธิก็คือกิเลส ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น และเนื้อแท้ก็เป็นอย่างนั้นอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เราหลงแม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่นว่าเรื่องกลางวันกับกลางคืนอย่างนี้ เราไม่เห็นว่าเหมือนกันเราเห็นว่าตรงกันข้าม แต่ถ้าเราดูกันในอีกแง่หนึ่งแล้วเราจะเห็นว่ามันเป็นเวลาเหมือนกัน ถ้าเราไปอยู่เหนือโลกให้มากๆ มอง ดูมาที่โลกจะเห็นว่าเรื่องกลางวันกลางคืนนี้เป็นเรื่องเด็กเล่น เรื่องหลอกลวง ไปดูโลกนี้มาจากดวงอาทิตย์จะเห็นว่าเรื่องกลางวันกลางคืนนี้เป็นเรื่องหลอกลวงมายา แต่พอเราอยู่ในโลกนี้เราเห็นว่าเรื่องกลางคืน กลางวันนี้เป็นเรื่องจริงอย่างยิ่งและตรงกันข้าม นี่เพราะว่าสติปัญญาของเราถูกกักขัง ฉะนั้นเราต้องกล้า กล้าถอยออกมา กล้าถอยออกมาจนถึงกระทั่งแนวหรือแดนที่เห็นว่ากิเลสกับโพธิเป็นสิ่งเดียวกัน คือเป็นความรู้ของจิตตามธรรมชาติ จิตธรรมชาติเดิมธรรมดาของธาตุที่มีความรู้ด้วยกัน แต่มันรู้ไปทางหนึ่งอีกทางมันรู้ไปทางหนึ่ง มันเป็นเพียงธรรมชาติของการรู้ด้วยกันแต่เผอิญความรู้ทางหนึ่งมันตรงกับความต้องการของมนุษย์ มันจึงได้รับการบัญญัติว่าดี ว่ากุศล ว่าฝ่ายดี ฝ่ายที่ควรต้องการ นี้เรียกว่า เลือกที่รัก มักที่ชัง ถ้ายังเลือกที่รักมักที่ชังก็หมายความว่ามีอุปาทานอยู่ ถ้าหมดอุปาทานแล้ว กิเลสกับโพธิก็คือของที่เราไม่เอาด้วยกันทั้ง ๒ อย่าง เราสลัดทิ้งออกไปเสียทั้ง ๒ อย่าง มีจิตว่างนั่นแหละจึงจะเป็นโพธิแท้ขึ้นมาและอยู่เหนือความทุกข์ได้ มีใครบ้างที่จะกล้าออกมาถึงแนวนี้คือถึงแนวที่จะร้องประกาศว่า กิเลสกับโพธิเป็นสิ่งเดียวกัน หรือว่าอวิชชากับพระศากยมุนีคือของสิ่งเดียวกัน นี้หมายถึงบุคคลที่รู้จักอุปาทาน ยึดมั่น ถือมั่นอย่างดียิ่งจนไม่ให้อุปาทานนั้นหลอกลวงตนเองได้อีกต่อไป นี้นับว่าเป็นเรื่องที่ ๘ ที่อาตมาอยากจะฝากไว้ในฐานะเป็นเรื่องที่เรายังเข้าใจกันไม่ได้ แต่อาตมาประสงค์อย่างยิ่งที่ว่าอยากจะเอาไปพินิจพิจารณาดูเพื่อให้เข้าใจ
สำหรับเรื่องที่ ๙ นี้ไม่มีอะไรมากนักมีแต่อยากจะย้ำอยากจะขอร้องขอวิงวอน ขอย้ำว่า ความเชื่ออย่างงมงายนั้น มีไม่ได้ในพุทธศาสนา ความเชื่ออย่างงมงายนั้นมีไม่ได้ในพุทธศาสนา ขออย่าได้มีความเชื่ออย่างงมงายในวงของพุทธบริษัทเรา การเชื่อผู้อื่นอย่างดายไปมอบ มอบให้เลยว่าเขาว่าอย่างไรเราก็เชื่ออย่างนั้น นั่นไม่มีในพุทธศาสนา ถ้าขืนมีก็ไม่ใช่พุทธศาสนา ไม่ใช่อยู่ในวงของพุทธศาสนา เราจะต้องเชื่อเองเห็นเอง ปฏิบัติเอง ได้ผลเอง พึ่งตัวเอง ไม่พึ่งผู้อื่น ฉะนั้นการเชื่อผู้อื่นจึงไม่มีอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า แม้พระพุทธเจ้าก็ยังไม่เชื่อจนกว่าจะได้เข้าใจเป็นความเห็นเอง แจ่มแจ้งเอง เหตุผลของเราเองก่อนแล้วเราจึงเชื่อ อย่างนี้เรียกว่าเชื่อเอง เห็นเอง แล้วปฏิบัติเอง ได้ผลเองแล้วพึ่งตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าลัทธินั้นมีไม่ได้ในพุทธศาสนา เพราะว่าลัทธิในที่นี้หมายความว่าสิ่งที่บัญญัติขึ้นให้เชื่อให้ถือเอาไปอย่างงมงาย ดายๆไปเท่านั้นเอง ในศาสนาที่เขามีความเชื่อเป็นหลัก นั่นเขาอาจจะมีสิ่งเหล่านั้นที่เรียกว่า Dogma Settle Opinion คือมติที่เขาได้ตั้งไว้อย่างเด็ดขาดตายตัว ไม่ให้วิพากย์ วิจารณ์ ไม่ให้แย้ง อย่างนี้พุทธศาสนามีไม่ได้ แม้ว่าเราจะมาประชุมกัน เอาหลักพระไตรปิฎกทั้งหมดมาคัดเลือกเป็นแล้วร้อยกรองแล้วบัญญัติเป็นประโยค เป็นคำสำหรับให้ไปท่องจำและไปเชื่อ ให้ถือเป็นของเด็ดขาด เป็น Dogma ขึ้นมาอย่างนี้ไม่ได้ ไม่มีในพุทธศาสนา ขืนทำอย่างนี้ไม่เป็นพุทธศานาขึ้นมาทันที นี่จึงกล่าวว่า แม้ว่าจะจัดเรียง กลับลัทธิให้ถูกต้องให้มีเหตุผลอย่างไรแล้วเอามาบังคับให้เชื่อให้ถืออย่างนี้ไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านได้ห้ามไว้แล้วโดยกาลามสูตรว่า อย่าเชื่อว่าผู้พูดเป็นครูของเรา อย่าเชื่อว่าเพราะมีในปิฎก นี่เห็นอยู่ชัดอย่างนี้ กระทั่งที่ว่าออกมาจากพระโอษฐ์เอง ก็ยังไม่เชื่อ ขืนเอาวิธี Dogmatic system มาใช้ก็ไม่เป็นพุทธศาสนา ไม่เป็นพุทธศาสนาที่แท้จริง กลายเป็นพุทธศาสนาใหม่ เป็นพุทธศาสนาเนื้องอกที่ไกลออกไปอีก ดังนั้นเราไม่ต้องพูดว่า ไม่เรียนอภิธรรมจะตกนรก หรือว่าผู้ที่จะรอดตัวได้จะต้องเรียนอภิธรรม ขืนพูดอย่างนี้เป็น Dogma เราจะต้องให้เขามองเห็นเอง และรู้จักเองและรู้จักเ...ราะๆ(นาทีที่ 1.22.55.1) ตรงไปยังสิ่งที่เป็นความดับทุกข์ได้ แล้วก็ทำการศึกษาเล่าเรียน อย่าไปเรียกว่าอภิธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วไปบังคับเขาว่าไม่เรียนจะตกนรก ไม่ควรจะสร้าง Dogma อย่างนี้ขึ้นมาโดยปริยาย เพราะจะทำให้ไม่เป็นพุทธศาสนา ประโยคอย่างอื่นๆยังมีอีกที่ชอบพูดกันอยู่และก็บังคับให้เชื่ออย่างนี้ ไม่ควรจะมีในพุทธศาสนา ในวงของพุทธบริษัท อาตมามีความเห็นอย่างนี้ นี้เป็นเรื่องที่ ๙
ทีนี้เรื่องสุดท้ายขอให้อภัยอย่าถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว อาตมาขอบอกกล่าวว่าบุคคลที่เรียกตนเองว่าพุทธทาสนั้นเป็นเพียงฝุ่นธุลีเม็ดหนึ่งในบรรดาฝุ่นธุลีทั้งหลายใต้พระบาทของพระพุทธเจ้ามาเกิด หรือจะไม่ให้ใช้คำว่ามาเกิด เพราะดูเป็นยึดมั่นถือมั่นก็ว่า มันมีวิวัฒนาการของมันเองมาโดยไม่มีเจตนาของใคร ดังนั้นขอให้ถือว่าอย่าได้เพ่งเล็งในตัวอาตมาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จะเป็นตัวดีตัวเด่นจะเป็นผู้ที่ควรเพ่งเล็ง ควรถือว่าเป็นเพียงฝุ่นธุลีเม็ดหนึ่งในบรรดาฝุ่นธุลีมากมายใต้พระบาทของพระพุทธเจ้า มาเกิดเพื่อทำหน้าที่ตามความสามารถของตน ดังนั้นไม่ต้องถือว่าอาตมาพูดเพราะว่าพระพุทธเจ้าพูดจึงขอร้องไม่ให้เชื่อ เมื่ออาตมาพูดก็ยิ่งขอร้องไม่ให้เชื่อ ให้ถือเสียว่าใครพูดก็ได้ เพียงแต่ให้ ขอให้เอาไปคิดดูว่าเผื่อมันจะมีประโยชน์บ้างเท่านั้นเอง มีเพียงเท่านั้นเอง ฉะนั้นจึงไม่มีอะไรที่จะต้องเกี่ยวข้องกับอาตมาในบรรดาเรื่องที่พูดไปแล้วทั้งหมดนี้ เพราะอาตมาได้กล่าวว่าสิ่งซึ่งเรายังเข้าใจกันไม่ได้ คำว่าเราหมายถึงพวกเราพุทธบริษัททุกคนทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาหรือข้ามี ฉะนั้นเราไม่ต้องถือว่าเป็นเรื่องของใคร เป็นเรื่องที่พวกเราจะต้องนึกในข้อที่ว่าความขัดแย้งต่างๆนั้นเป็นอุปสรรคแห่งการตั้งอยู่หรือความเจริญรุ่งเรืองของการปฏิบัติธรรมะ หรือการตั้งอยู่ของพระศาสนา เราจะเห็นได้ว่าข้อขัดแย้งนี้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง การวิวาทนี้ เป็นสิ่งเลวร้ายอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เอวัง สังวัฑฒา หิ ตัสสะ ภะคะวะโต ปะริสา” บริษัทของพระผู้มีพระภาคเจ้าเจริญได้ด้วยอาการอย่างนี้ “ยะทิทัง อัญญะมัญญะวะจะเนนะ อัญญะ มัญญะวุฎฐาปะเนนะ” คือการว่ากล่าวตักเตือนกันได้ และยังกันและกันให้ออกจากโทษหรืออาบัติได้ สิ่งใดเป็นความชั่วต้องช่วยกันดึงกันออกมาให้ได้และว่ากล่าวชี้แจงพูดจากันได้ เดี๋ยวนี้เราพูดจาชี้แจงกันไม่ได้ พวกมหายานมีมติไปอย่างหนึ่ง พวกเถรวาทมีมติไปอย่างหนึ่งล้วนแต่เป็นอุปาทานทั้งนั้น พุทธศาสนาแท้จริงนั้นไม่เป็นเถรวาทไม่เป็นอุปา.. ไม่เป็นมหายาน ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งฝากไว้อย่างมั่นคงว่า พุทธศาสนาแท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่เถรวาท ไม่ใช่มหายาน เถรวาทก็เพิ่งเกิด และเพิ่มเติมอะไรมากขึ้นๆตามแบบของเถรวาท มหายานก็เพิ่งเกิดและเกิดหลังมาอีกและก็แก้ไขเพิ่มเติมอะไร ตามแบบของมหายาน แต่ว่าด้วยเจตนาดีด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย
ทีนี้ข้อขัดแย้งมันมีเพราะอุปาทานเป็นตัวกู เป็นของกู เป็นตัวเขาเป็นตัวเราขึ้นมาเลยไม่สามัคคีกัน พระพุทธศาสนาก็ไม่เจริญรุ่งเรืองเท่าที่ควรจะเจริญรุ่งเรือง ทีนี้ลัทธิต่างๆ เกิดขึ้นมาก็เพราะความเห็นขัดแย้งกัน ในบรรดามหายานก็แตกแยกออกไปเป็นหลายสิบลัทธิ ในฝ่ายเถรวาทก็ยังมีแตกแยกจนกระทั่งเปลี่ยนแปลงเป็นนั่นเป็นนี่ไป ไม่สมัครสมาน สามัคคีกันได้เพราะสิ่งที่ยังเข้าใจผิดอยู่ เรียกว่าสิ่งที่ยังเข้าใจผิดกันอยู่ นี้ก็ดูพอจะทำเนา แต่ทีนี้เรื่องจะไม่เป็นอย่างนั้น เรื่องจะเป็นถึงว่า สิ่งที่รู้สึกว่ายังเข้าใจกันไม่ได้ ในเวลานี้อย่างไรๆ เสียเราก็ยังอาจจะเข้าใจกันไม่ได้ ทีนี้มันจะเลยไปอีกว่า เรายังไม่อาจจะไม่เข้าใจกันได้ไปอีกนานจนกระทั่งตายไปจากกัน จนกระทั่งศาสนาล่มจมไปด้วยกัน เราก็ยังเข้าใจกันไม่ได้
นี่แหละทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อาตมาเรียกว่า สิ่งที่รู้สึกว่าเรายังไม่อาจจะเข้าใจกันได้ หรือเรายังเข้าใจผิดกันอยู่ ทั้งหมดนี้อาตมามิได้หมายความว่าฝ่ายไหนถูก ฝ่ายไหนผิด ใครถูกใครผิด อาตมาถูกหรือผิด หรือคนอื่นคนใด ถูกหรือผิดอย่างที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ขออย่าได้นึกว่าใครถูกใครผิด เป็นอันขาด นั้นเป็นเรื่องกิเลสตัณหา อุปทานโดยตรง ขอให้นึกแต่ว่าสิ่งใดถูกหรือสิ่งใดผิด หรือว่าอย่าไปนึกว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ก็ให้นึกแต่เพียงที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการคือให้นึกว่าสิ่งใดดับทุกข์ สิ่งใดไม่ดับทุกข์ ความรู้ ความคิด การประพฤติ การปฏิบัติอย่างไรดับทุกข์ อย่างไรไม่ดับทุกข์ ทีนี้ในบรรดาสิ่งที่ตรงกันข้ามเป็นคู่ๆๆๆ เท่าที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ มีความคิดในแง่ไหน มีการกระทำอย่างไร จึงจะเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ นั่นแหละจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากการที่เราได้พบกัน ดังนั้นการกล่าวทั้งหมดนี้ เป็นเพียงเรื่องที่ขอร้องให้เอาไปพิจารณาดูเอง เลือกเองว่าอย่างไหนจะเป็นประโยชน์กว่ากัน เลิกล้างการตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน โดยไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง อาตมารู้สึกว่าการบรรยายนี้พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยายลงเพียงเท่านี้