แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายธรรมะในวันนี้
เป็นการบรรยายที่คาบเกี่ยวกันกับการบรรยายที่อาตมาได้เคยบรรยายที่นี่ 2 ครั้งที่แล้วมา
ขอทบทวนความจำแด่ท่านทั้งหลายที่เคยมาฟังในคราวก่อนอีกครั้งหนึ่งว่า
ในการบรรยายครั้งที่ 1 นั้น ซึ่งเป็นการอภิปรายธรรมะด้วยกัน ได้ให้หัวข้อที่จะบรรยายไว้ 3 หัวข้อ
หัวข้อที่ 1 งาน คือการปฏิบัติธรรม
หัวข้อที่ 2 การทำงานด้วยจิตว่าง
และหัวข้อที่ 3 หมวดธรรมที่จะพึงใช้ในการทำงานด้วยจิตว่าง
แต่แล้วในที่สุดการบรรยายครั้งที่ 1 นั้น ก็บรรยายได้หรืออภิปรายกันได้เพียงหัวข้อเดียว คือ งานคือการปฏิบัติธรรม
แม้ในการบรรยายครั้งที่ 2 อภิปรายครั้งที่ 2 ซึ่งตั้งใจไว้ว่าจะกล่าวให้จบอีกทั้ง 2 หัวข้อที่เหลือ ก็เป็นไปไม่ได้
การบรรยายครั้งที่ 2 ก็ได้แต่กล่าวถึง การทำงานด้วยจิตว่าง แต่ภายใต้หัวเรื่องว่า เราจะถือพุทธศาสนากันอย่างไร
โดยใจความก็คือ การที่เป็นอยู่หรือทำการงานด้วยจิตว่าง นั่นแหละคือวิธีที่เราจะถือพุทธศาสนาให้ลัดให้ตรงให้ได้ประโยชน์เต็มที่
หัวข้อที่ 3 ก็ยังคงเหลืออยู่จนกระทั่งบัดนี้ คือหัวข้อที่ว่า หมวดธรรมอันจะพึงใช้ในการทำงานด้วยจิตว่าง
ดังนั้น จะต้องทบทวนความจำและความเข้าใจอีกซักเล็กน้อย ที่ว่าการงานคือการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นหลักที่สำคัญที่สุด
ให้ถือว่าการประพฤติถูกต้องในหน้าที่การงานนั้นคือการปฏิบัติธรรม และก็งานนั้นก็เพื่อการปฏิบัติธรรม และงานนั้นก็เพื่องานนั้นเอง ไม่ใช่เพื่อตัวเราหรือเพื่อของเรา ถ้าทำความเข้าใจได้อย่างนี้ การงานนั้นจะกลายเป็นการปฏิบัติธรรมพร้อมกันไปในตัวกับการได้รับประโยชน์จากงาน เป็นการก้าวหน้าในทางธรรมพร้อมกันไปกับการก้าวหน้าในการประกอบอาชีพหรือการดำรงชีพการเป็นอยู่ทุกๆ อย่าง นี่แหละคือใจความสำคัญของการบรรยายในครั้งแรก
ที่ในครั้งที่ 2 ที่ว่า ทำงานด้วยจิตว่าง นี้หมายความว่า ธรรมะมีไว้สำหรับให้คนเราประกอบการงานได้สำเร็จเต็มที่และไม่ต้องเป็นทุกข์ ดังนั้นจึงมีระเบียบวิธีปฏิบัติชนิดที่จะทำให้การงานนั้นไม่เป็นทุกข์ ถ้าเราทำด้วยจิตวุ่นตามปกติชาวโลกตามธรรมดาสามัญแล้ว งานนั้นจะเป็นทุกข์ จะไม่รู้สึกสนุก และเพราะจิตใจวุ่นนั้นเองงานนั้นจะไม่ได้ผลดีเต็มที่ เพราะฉะนั้นเราจึงมีอุบายวิธี ที่จะเรียกว่าเคล็ดหรืออะไรก็สุดแท้สำหรับทำงานให้ไม่เป็นทุกข์ ให้ได้ผลเต็มที่ และอันนี้เองเป็นความมุ่งหมายของสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ หรือพระธรรม หรือพระพุทธประสงค์ พระพุทธองค์ตรัสรู้ขึ้นมาในโลกเพื่อช่วยสัตว์โลก แล้วก็จะช่วยตรงไหน ก็ช่วยตรงที่ไม่ให้มีความทุกข์ ให้มีความทุกข์น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ และมีความมุ่งหมายที่จะช่วยไม่ให้มีความทุกข์เลย เพราะฉะนั้นพุทธบริษัทจึงมีการศึกษาและการปฏิบัติต่างจากพวกที่ไม่เป็นพุทธบริษัทเป็นธรรมดา แม้แต่การงานก็ยังทำด้วยจิต จิตชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิตของคนธรรมดาสามัญที่ไม่ได้รับการอบรมในทางธรรม
เนี่ยอาตมาได้ให้หัวข้อว่าทำงานด้วยจิตว่าง ทีนี้ปัญหาเรื่องจิตว่างนี่ยังมีค้างคาอยู่มาก จะเป็นเพราะว่าพูดไม่ละเอียดชัดเจน หรือว่าเพราะผู้ฟังไม่อาจจะเข้าใจก็สุดแท้ มีความเห็นที่ขัดแย้งเพราะความเข้าใจกันไม่ได้อยู่หลายอย่าง ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยกันถึงความหมายของคำว่าจิตว่าง อีกบ้างตามสมควรในการบรรยายในครั้งนี้ จึงจะสามารถบรรยายหัวข้อที่ 3 ได้ อาตมาจึงขอโอกาสในเบื้องต้นนี้ทบทวนความเข้าใจที่เกี่ยวกับคำว่า จิตว่าง
อันแรกที่สุด ขอให้ระลึกว่า คำว่าความว่างหรือจิตว่างนี้ เป็นเรื่องของบุคคลที่มีสติปัญญา พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องนี้โดยการตรัสรู้ของพระองค์ ตรัสรู้ถึงที่สุด และก็สอนสัตว์ที่มีอุปนิสัยพอสมควร ที่เรียกว่านัยบุคคล คือคนที่พอจะเข้าใจได้ ดังนั้นทำให้เรานึกเลยไปถึงว่า สิ่งที่เรียกว่าศาสนา ศาสนาในโลกนี้ อย่างน้อยก็มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบที่ตรงกันข้าม
ศาสนาแบบหนึ่งอิงศรัทธา คือความเชื่อ ฟังจากผู้อื่น และเชื่อตามผู้อื่น และอาศัยผู้อื่นเป็นที่พึ่ง อย่างนี้ก็มีอยู่ในโลกหลายศาสนา หลายๆ แบบ
ส่วนศาสนาอีกแบบหนึ่งนั้น อิงปัญญา เชื่อตัวเอง เห็นด้วยตนเอง และพึ่งตนเอง พุทธศาสนาอยู่ในพวกหลังนี้ ดังนั้นเรื่องความว่างในพระพุทธศาสนานี้ เป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องของความเชื่อ
เมื่อพูดมาถึงเรื่องของศาสนา 2 แบบ คือ ศาสนาที่อิงความเชื่อ กับศาสนาที่อิงปัญญาอย่างนี้แล้ว อาตมาก็จะถือโอกาสเลยไปถึง พูดถึงอาการที่เชื่อตนเอง เห็นของตนเอง ทำของตนเอง และพึ่งตนเองนี้อีกสักหน่อย เพื่อจะช่วยให้เข้าใจเรื่องความว่างดีขึ้น และยังเนื่องถึงข้อ 1 ซึ่งในการอภิปราย 2 ครั้งที่แล้วมาไม่ได้ทำความเข้าใจกันกับอาจารย์คึกฤกธิ์ คือข้อที่อาจารย์คึกฤกธิ์เสนอว่า ในพุทธศาสนานี้ควรจะมี Docma กันขึ้นเสียที เรื่อง Docma นี้ อาตมารู้สึกว่ามีความเห็นตรงกันข้ามด้วยประการทั้งปวงกับอาจารย์คึกฤกธิ์ เพราะฉะนั้นจึงไม่เอ่ยถึง จึงไม่ได้แสดงความคิดเห็นเป็นการอภิปราย เพราะเห็นอยู่ว่าเข้าใจผิดอย่างตรงกันข้าม ไม่เหมือนกับเรื่องบางเรื่อง หรือเรื่องอื่นๆ ซึ่งเข้าใจตรงกันบ้างหรือผิดกันบ้างก็เล็กๆ น้อยๆ สำหรับเรื่อง Docma นี้ จะพูดถึงพอเป็นเครื่องช่วยทำความเข้าใจสำหรับท่านทั้งหลาย ให้ทราบว่่าในพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาอิงปัญญานั้น สิ่งที่เรียกว่า Docma หรือ Docmatic System นี้ มีไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของศาสนาที่อิงความเชื่อ
เกี่ยวกับคำๆ นี้เข้าใจได้ง่ายเมื่ออาตมาจะยกตัวอย่างว่า เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว อาตมาได้อ่านหนังสือข่าวที่มีผู้สัมภาษณ์ฝรั่งชาวต่างประเทศที่เข้ามาถือพุทธศาสนา เค้าถามฝรั่งนั้นว่า ทำไมจึงเปลี่ยนจากศาสนาเดิมมาถือพุทธศาสนา ฝรั่งคนนั้นตอบว่า เพราะเบื่อ Docma เสียเต็มที จึงได้ละจากศาสนาเดิมมาสู่พุทธศาสนา สิ่งที่เรียกว่า Docma นั้น ก็คือมติที่องค์การที่ทรงอำนาจของศาสนานั้นบัญญัติขึ้นให้ถือกันอย่างที่ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์แต่ประการใด ให้เชื่อ ให้ยอมรับ ด้วยอำนาจหรือ Authority ของศาสนานั้น เขาเรียกว่า Settled Opinion แปลว่า มติอันนี้ตายตัวและตั้งไว้อย่างที่เรียกว่าผูกขาด ถ้านึกถึงคำ Docma, Docmatic ในภาษาพูดของคนธรรมดาก็แล้วกัน คือการพูดอย่างปิดปากคนอื่น อย่างที่เรียกว่า โอหัง Arrogantly คือว่าพูดได้มีอำนาจพูดได้ข้างเดียว คนอื่นพูดด้วยไม่ได้ เนี่ย Docmatic ที่ว่าเป็น Docma ทางศาสนาก็คืออำนาจของโบสถ์นั้น บัญญัติอะไรไว้ตายตัวแล้ว ไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ เพราะฉะนั้นลัทธิมี Docma นี้ มีได้แต่ในศาสนาที่อิงความเชื่อเป็นหลัก เชื่อผู้อื่น จะเป็นพระเป็นเจ้าหรืออะไรก็ตาม และก็ต้องพึ่งผู้อื่น ซึ่งจะเป็นพระเป็นเจ้าหรืออะไรก็ตาม มีความเห็นของตัวไม่ได้ ต้องเห็นตามที่ได้สอนไว้ และได้วางไว้เป็นหลัก ให้เชื่อ
ทีนี้พุทธศาสนาเป็นเรื่องของศาสนาที่อิงปัญญา อิงสติปัญญาของตัวเอง อย่างหลักเรื่องกาลามสูตรเป็นต้นนั้นแหละ เป็นเครื่องห้ามกันไม่ให้มีสิ่งที่เรียกว่า Docma ขึ้นมาได้ในศาสนาประเภทที่เป็นศาสนาปัญญา แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ยังตรัสว่า อย่าเชื่อฉัน ต้องฟังดูว่า พูดอย่างไร มีเหตุผลอย่างไร เข้าใจ มองเห็นแล้ว จึงเชื่อ กลายเป็นเชื่อผู้นั้นเอง สาวกของพระองค์ เช่นพระสารีบุตร ก็ยืนยันกับพระพุทธเจ้าอย่างนั้นในที่เฉพาะพระพักตร์ พระพุทธเจ้าก็สาธุอย่างยิ่งว่าเป็นการกระทำที่ถูก ศาสนาที่อิงความเชื่อกับที่อิงปัญญาต่างกันอยู่อย่างนี้
เพราะฉะนั้นเรื่องจิตว่างนี่เป็นใจความแท้ของพุทธศาสนา จะทำไว้ในรูปของ Docma ไม่ได้ ท่านจะต้องไปคิดจนเห็น จนเข้าใจ จนใช้ประโยชน์ได้ด้วยตนเอง เราต้องเตรียมตัวที่จะเป็นพุทธบริษัทด้วยการใช้ปัญญา ไม่ใช่ด้วยการใช้ความเชื่อ แม้ว่าในพุทธศาสนานี้จะมีคำว่า ศรัทธา คือความเชื่อ แต่คำว่าความเชื่อนั้นผิดกัน มีความหมายผิดกัน ความเชื่ออย่างหนึ่ง เชื่อตามที่ผู้อื่นบัญญัติไว้ กล่าวไว้ อย่างที่กล่าวมาแล้วในศาสนาที่มี Docma ส่วนในพุทธศาสนานี้ ต้องเชื่อหลังจากปัญญา เมื่อได้ปัญญาของตนพิจารณาไปโดยทั่วถึง เข้าใจแล้วจึงเชื่อ เมื่อยังไม่เข้าใจไม่ต้องเชื่อ ปัดทิ้งไว้ก่อน ทำความเข้าใจกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าใจแล้วจึงเชื่อ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าศรัทธานี้ จึงต่างกันกับความเชื่อชนิดที่เชื่อทันที หรือเชื่อตามผู้อื่น
ส่วนข้อที่พุทธบริษัท อุบาสก อุบาสิกาบางพวก เชื่อพระพุทธ เชื่อพระธรรม เชื่อพระสงฆ์ เชื่อกรรม เชื่ออะไร ดายไปก่อนโดยไม่มีปัญญานั้น นั่นมันเป็นความจำเป็นของบุคคลนั้น ไม่ใช่เป็นหลักของพุทธศาสนาเลยแม้แต่ประการใด เขาไม่เข้าใจแต่เขารักที่จะเชื่อ เขารักที่จะเกี่ยวข้องด้วย เขาก็เชื่อ แต่ความเชื่อนั้นไม่สำเร็จประโยชน์อันใด บางทีกลับกลายเป็นกรงขังวิญญาณของบุคคลประเภทนั้นให้ตายด้านอยู่เพียงเท่านั้น เพราะเขาไม่สามารถจะทำให้เป็นไปในรูปของปัญญา นั้นจึงเรียกว่า ความเชื่อในพุทธศาสนานั้นไม่เหมือนกับความเชื่อในลัทธิฝ่ายที่เรียกกันว่าศาสนาที่อิงความเชื่อ ความเชื่อของพุทธบริษัทอยู่ในศาสนาที่อิงปัญญาเป็นหลัก ทีนี้เราก็จะต้องใช้ปัญญา อย่าได้เชื่ออาตมา หรืออย่าได้เชื่อใครๆ หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าเอง อาตมากล้าพูดอย่างนี้ ก็พูดตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ว่าท่านจงเป็นอิสระในการที่จะคิด จะนึก จะพิจารณา จะเข้าใจ ในข้อปฏิบัตินั้นๆ และมีหลักในการที่จะพึ่งตัวเองเสมอ ที่เรียกว่าพึ่งตัวเองนี่ก็เหมือนกัน ยังฟังเข้าใจผิดกันอยู่มาก ส่วนมากก็ได้ยินได้ฟังกันประโยคที่ว่า
อัตตาหิ อัตโน นาโถ
ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน
ซึ่งเป็นพุทธภาษิต แต่คนก็ไม่เข้าใจ ยังร้องว่าพึ่งพระพุทธเจ้า พึ่งพระธรรม พึ่งพระสงฆ์อยู่นั่น นั่นก็เพราะไม่เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริงๆ นั่นเอง ถ้าเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริง หมายความว่า ตนเองได้ทำตนเองให้มีจิตใจเหมือนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีจิตใจที่เป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จิตใจนั้นก็เป็นที่พึ่งให้แก่ตน นี่คือการที่เรียกว่า พึ่งตน พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ชี้ทางให้เราพึ่งตน หนทางที่ท่านชี้ประเสริฐ ไม่มีใครเสมอเหมือน และท่านก็ทรงตรัสออกไปว่า ไม่ใช่ให้พึ่งท่าน แต่ให้พึ่งตน เนี่ยเราจะมองเห็นความประเสริฐที่สุดของพระพุทธเจ้า ที่ท่านไม่ต้องการอะไร ที่จะเอาบุญเอาคุณอะไรแก่พวกเรา ปล่อยให้เป็นอิสระ ที่จะคิด จะวินิจฉัย จะวิพากษ์วิจารณ์ แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง แล้วก็มองเห็นจริงได้เท่าไหร่ก็เชื่อตนเอง แล้วก็ทำเอง แล้วก็ได้ผลเอง แล้วก็เป็นที่พึ่งแก่ตนเอง
ทีนี้เรื่องจิตว่าง เป็นอันว่าตัดศรัทธาทิ้งออกไปได้เลย ไม่ต้องเชื่อ ท่านจงมีอิสระที่จะไม่เชื่อเป็นอันขาด แต่ขอร้องที่จะให้วินิจฉัยด้วยสติปัญญาให้ดีที่สุด ให้สุดความสามารถของท่าน ซึ่งอาตมาจะได้ซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับคำๆ นี้ ต่อไปตามสมควร ก่อนแต่ที่จะกล่าวถึงหมวดธรรมที่จะพึงใช้ในการทำงานด้วยจิตว่าง ถ้าเรารู้เรื่องจิตว่างดี เราก็ทำงานด้วยจิตว่างได้ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับจิตว่างหรือคำๆ นี้มีอยู่หลายๆ แง่ หลายๆ มุม อาตมาประมวลออกมาเท่าที่เห็นว่าจำเป็น
ข้อแรกก็คือความหมายของคำว่า จิตว่าง จิตว่างในที่นี้ หมายถึงว่างจากกิเลส ว่างจากความรู้สึกว่าตัวเราหรือตัวกู ถ้ามันเดือดจัดก็เป็นตัวกู ถ้ามันเนือยๆ ก็เป็นตัวเรา คำว่าว่างไม่ได้หมายความว่าไม่มีจิต และไม่ได้หมายความว่าจิตไม่ได้มีความรู้สึกอะไร ขึ้นชื่อว่าจิตแล้วต้องมีความรู้ ต้องมีความรู้สึก เพราะธรรมชาติของจิตเป็นอย่างนั้นเอง ทีนี้ก็มีอยู่แต่ว่าจิตเนี่ยจะรู้สึกว่างหรือรู้สึกวุ่น ถ้าจิตนี้รู้สึกว่างเราก็เรียกว่าจิตว่าง ถ้าจิตนี้รู้สึกวุ่นเราก็เรียกว่าวุ่นว่าจิตวุ่น ถ้าว่าง หมายความว่าว่างจากกิเลส คือว่างจากความรู้สึกที่เป็นอุปาทาน ว่าตัวเราหรือว่าของเรา ลองคิดดูว่า เมื่อจิตนี้ว่างจากความรู้สึกว่าตัวเรา ตัวเราก็ไม่มี มีแต่จิตล้วน จริงหรือไม่จริง ก็ลองคิดดูเอง เมื่อจิตว่างจากความรู้สึกที่เป็นคอนเซ็ปท์ว่าตัวเรา สิ่งที่เรียกว่าตัวเราซึ่งเป็นมายานั้นก็ไม่มี ก็เหลืออยู่แต่จิต นั้นจึงเรียกว่าจิตว่าง คือว่างจากตัวเรา เมื่อใดเรามีตัวเราขึ้นมา มีความรู้สึกว่าตัวเราขึ้นมา เมื่อนั้นเรียกว่าจิตบวกอยู่กับความรู้สึกว่าตัวเรา คือมีตัวเรา งั้นจิตนั้นไม่ว่างและวุ่นด้วย
ในข้อนี้ก็ขอให้จำเพียงสั้นๆ ไว้ก่อนว่าที่ว่าว่างนี้ ว่างจากกิเลส ที่เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกอันเป็นมายา ว่าตัวเรา ว่าของเรา ในขณะใดเราไม่มีความรู้สึกเป็นตัวเรา เป็นของเรา ก็อย่างเช่นขณะที่ท่านกำลังนั่งอยู่ที่นี่ แม้จะมีความคิดไปในทางไหน เกิดปัญญาอย่างไร ก็ไม่ได้เกิดเป็นความรู้สึกไปในทางตัวเรา อย่างนี้เรียกว่าท่านทั้งหลายกำลังมีจิตว่างจากตัวเรา ต่อเมื่อไรได้มีอะไรมากระทบ เกิดความรู้สึกไปในทางกิเลส ตัณหา อุปาทาน เป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นเรื่องได้ เป็นเรื่องเสีย เป็นเรื่องรัก โกรธ เกลียด กลัว อะไรทำนองนี้ แล้วจึงจะเรียกว่าจิตประกอบอยู่ด้วยอุปาทานที่เรียกว่าตัวเรา อย่างนี้เรียกว่าจิตไม่ว่าง เพราะจิตมีตัวเรา ในขณะที่จิตว่าง แม้ว่างตามธรรมชาติ ปราศจากความรู้สึกว่าตัวเรา อาตมาเรียกว่าจิตว่าง เนี่ยเมื่อจิตว่างจากความรู้สึกว่าตัวเรา สิ่งที่เรียกว่าตัวเราก็ไม่มี มีแต่จิตล้วนๆ ประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกอะไรก็ได้ตามประสาของจิต ขอแต่อย่ามีตัวเราก็แล้วกัน
ทีนี้ปัญหาถัดไปก็ว่า ทำไมจึงได้ใช้คำว่าจิตว่าง ซึ่งฟังดูก็แปลกประหลาด ที่จริงคำน้ีไม่แปลกประหลาด มีหลักมีเกณฑ์อยู่ในพระคัมภีร์ หรือในคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงสอนเรื่องความว่างนี้มากมายในพระไตรปิฎกไปเปิดดูเองก็แล้วกัน และในเมื่อใดจิตมีความว่างเป็นอารมณ์ หรือมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งจิตไม่ได้ยึดถือสิ่งนั้นว่าเป็นตัวตนของตนแล้ว ก็เรียกว่าจิตมีสิ่งซึ่งว่างจากตัวตนเป็นอารมณ์ จิตอย่างนี้ไม่สะดวกที่จะเรียกเป็นอย่างอื่น นอกจากจะเรียกว่าจิตว่าง ไม่มีคำไหนดีกว่าจะเรียกสั้นๆ ง่ายๆ ว่าจิตว่าง เพื่อฟังกันสะดวกๆ ไม่มีเหตุผลอื่นดีกว่าที่จะไปเรียกอย่างอื่น ท่านลองคิดดูว่าคำไหนที่จะเหมาะสำหรับเรียกจิตที่กำลังไม่มีตัว ไม่มีของตัว จิตที่กำลังไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัว ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นของๆ ตัว จะเอาคำไหนคำพูดคำไหนมาเรียกจิตชนิดนี้ ให้ดีไปกว่าคำว่าจิตว่าง เนี่ยอาตมาให้ความคิด ให้ความเป็นอิสระทางความคิดแก่ท่านทั้งหลายที่จะไปคิดดูเอาเอง พอจะมีคำไหนที่เหมาะกว่าคำว่าจิตว่าง ที่จะเอามาใช้เรียกจิตในขณะที่ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัว หรืว่าอะไรเป็นของๆ ตัว เพราะฉะนั้นอาตมาจึงได้ใช้คำๆ นี้ เพื่อประหยัดเวลาของพวกเราในการที่จะเข้าใจ คือเข้าใจได้ง่าย เข้าใจได้เร็ว แต่อาจจะเนื่องจากเป็นคำใหม่ สร้างความตื่นเต้นให้แก่ท่านทั้งหลายเกินไป ก็เลยยังเข้าใจไม่ได้ นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เท่าที่อาตมาได้พยายามใคร่ครวญอย่างยิ่งแล้ว เห็นว่าเรียกอย่างนี้ ถูก ตรง ทั้งโดยคำพูดคือพยัญชนะ และทั้งโดยความหมายคืออรรถะ โดยตัวหนังสือก็ตรงตามเรื่อง โดยความหมายก็ตรงตามเรื่อง เพราะฉะนั้นจึงได้เรียกว่าจิตว่าง หรือใช้คำๆ นี้เรียกจิตชนิดนี้
ที่เรื่องถัดไป เรื่องที่มาของเรื่องความว่างหรือจิตว่างนี้ นี่แทบจะไม่มีปัญหาอะไร อาตมาก็ได้เคยบอกกล่าวหลายครั้งหลายหนแล้ว แต่บางท่านอาจจะไม่สนใจ ดังนั้นจึงต้องนำมากล่าวใหม่ คือข้อที่มีบุคคลเป็นฆราวาสกลุ่มหนึ่งไปเฝ้าพระพุทธองค์ แล้วทูลแก่พระพุทธองค์ว่า ขอพระองค์จงทรงแสดงธรรมซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนาน พวกข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นฆราวาสครองเรือน แออัดอยู่ด้วยบุตร ภรรยา รูปร้าย กระแจะ*ของหอม ขอจงทรงแสดงสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนาน พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องสุญญตา โดยหัวข้อที่สรุปเป็นใจความว่า
(*กระแจะ (เครื่องหอม) ผงเครื่องหอมต่างๆ ที่ประสมกัน สำหรับทาหรือเจิม /ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki/กระแจะ)
เย เต สุตตันตา สูตรทั้งหลายเหล่าใด
ตถาคตภาสิตา อันเป็นคำที่ตถาคตได้ภาษิตไว้
คัมภีรา ลึกซึ้ง
คัมภีรัตถา มีอรรถอันลึกซึ้ง
โลกุตตรา อยู่เหนือโลก
สุญญตปฏิสังยุตตา ประกอบอยู่ด้วยความว่าง
เนี่ยตามตัวบาลีเป็นอย่างนี้ โดยใจความก็คือว่าให้ฆราวาสเหล่านั้นสนใจในคำสอนที่พระองค์ได้บัญญัติไว้เอง ที่กล่าวถึงเรื่องเหนือโลกหรือสูงไปกว่าโลก อันเป็นเรื่องลึกซึ้ง และมีเนื้อความมีอรรถอันลึกซึ้ง แต่ประกอบเฉพาะอยู่ด้วยเรื่องความว่าง และขยายความออกไปอีกว่า พระองค์ทรงขยายความว่า ข้อความที่กล่าว ที่จะกล่าวกันต่อไปในโอกาสหลัง วิจิตรไพเราะด้วยตัวอักษร ยวน ชวนให้ฟังนั้น ล้วนแต่ไม่ประกอบด้วยสุญญตา คือความว่าง แต่ว่าคนจะชอบเรื่องชนิดนั้นกันมากขึ้นทุกที และเรื่องชนิดนั้นไม่ใช่เรื่องที่ตถาคตกล่าว ทรงได้ตรัสไว้ว่า ถ้าเป็นคำกล่าวของพระองค์ จะต้องกล่าวถึงเรื่องสุญญตา คือความว่าง ถ้าเป็นเรื่องคนอื่นกล่าว เขากล่าวกันอย่างตามใจชอบ ตามที่จะรู้สึกว่าไพเราะสนุกสนาน หรือว่ามีรสมีชาติ ในทางใช้ความคิดเป็นนักปราชญ์หรืออะไรก็ตาม แล้วเขาก็ไม่กล่าวเรื่องสุญญตา ว่าอันนี้แหละเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ท่านทั้งหลายตลอดกาลนาน คือเรื่องสุญญตาเนี่ยเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ฆราวาสทั้งหลายตลอดกาลนาน นี้ไม่ควรจะเป็นปัญหาอีกแล้ว เพราะคำถามก็ได้ถามตรงๆ คำตรัสของพระพุทธองค์ก็ได้ตรัสตรงๆ แก่คนที่เป็นฆราวาส เพราะฉะนั้นไม่ควรจะเข้าใจไปว่าเรื่องสุญญตานั้นไม่ใช่เรื่องของฆราวาส เป็นเรื่องของนักบวชชั้นสูง หรืออะไรทำนองนั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด
เรื่องสุญญตา ความว่างนี้มีใจความหรือมีเนื้อความ มีความหมายกว้าง ใช้ได้แก่คนทุกพวก ทุกระดับ แม้ที่เป็นฆราวาส เพราะเหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น คำตอบง่ายนิดเดียว เพราะว่าเรื่องอื่นไม่ดับทุกข์ นอกจากเรื่องสุญญตาแล้ว ไม่เป็นเรื่องดับทุกข์ และไม่ใช่เป็นเรื่องที่พระตถาคตกล่าว และไม่ใช่เป็นเรื่องที่ชวนให้ขึ้นเหนือโลก แต่เป็นเรื่องที่ชวนให้จมอยู่ในโลก ฆราวาสก็จมอยู่ในโลกพอแล้ว งั้นเมื่อฆราวาสต้องการอะไรที่ดี ก็ควรจะเป็นเรื่องที่ถอนตนขึ้นมาจากการจมอยู่ในโลก เพราะเหตุฉะนี้เองพระองค์จึงได้ตรัสเรื่องสุญญตาแม้แก่ฆราวาส ว่าเหมาะแม้แก่ฆราวาสที่ครองเรือน แออัดอยู่ด้วยบุตร ภรรยา รูปร้าย ของหอม อย่างนี้เป็นต้น
นี้เรียกว่าเป็นที่มาของเรื่องความว่างโดยตรง ทีนี้ก็คือหลักทั่วๆ ไป จะเป็นหลักข้อไหนก็ได้ที่แสดงถึง ความที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่างจากตัวตน ว่างจากความเป็นของของตนหรือของใคร เช่นประโยคว่า
"ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา" หรือประโยคว่า
"ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวตนของตน"
นี้คือการแสดงให้ทราบว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าอะไรหมด เป็นสิ่งที่ไม่ควรไปยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตนหรือเป็นของๆ ตน เพราะมันว่างนั่นเอง แม้แต่ตัวความว่างนั้นเอง ก็ไม่ควรถูกยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตนของใครหรือของความว่างเอง เป็นอันว่า สิ่งที่เรียกว่าความว่างนี้ คือธรรมชาติที่แท้จริง หรือสภาวะที่แท้จริงของสิ่งทั้งปวง เราควรจะสนใจจนรู้จักสิ่งทั้งปวงให้ถูก ตรง ตามที่เป็นจริง เราจึงจะทำอะไรถูกต้องกับสิ่งทั้งปวง ถ้าเราเข้าใจสิ่งทั้งปวงผิด เราจะไปจัดไปทำเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งปวงให้ถูกได้อย่างไร นี้ใจความสำคัญของสิ่งทั้งปวงที่พาดพิงถึงมนุษย์ พาดพิงถึงความสุขความทุกข์ของมนุษย์ ก็คือสภาพที่สิ่งทั้งปวงเป็นของว่างจากตัวตนที่ควรยึดถือ ควรยึดมั่นถือมั่น หรือควรสำคัญมั่นหมายว่าตัวเราหรือว่าของเรา พูดให้ชัดลงไปว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงทุกสิ่งไม่ว่าอะไรหมด ว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน หรือเป็นของๆ ตน เดี๋ยวนี้คนธรรมดาสามัญทั่วไปคอยเพ่งเล็ง หรือจ้องจับสิ่งใดสิ่งหนึ่งส่วนหนึ่งอยู่เสมอที่จะเอาเป็นตัวตน เป็นของๆ ตน ดังนั้นจึงถือว่ายังไม่เข้าใจสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง และด้วยเหตุนั้นแหละจึงมีความทุกข์อยู่บ่อยๆ ถ้าเราจะเข้าใจสิ่งทั้งปวงได้ เราต้องศึกษากันในส่วนนี้ก่อน ส่วนที่ว่าสิ่งทั้งปวงว่างจากตัวตน ว่างจากของๆ ตน ไม่ควรไปทำความสำคัญมั่นหมายในสิ่งใดว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของตน แต่แล้วเราก็เข้าไปเกี่ยวข้อง ไปกระทำ ไปจัดไปทำต่อสิ่งนั้นๆ โดยเหมาะสมกับที่สิ่งนั้นๆ ที่เป็นสิ่งที่ว่างจากตัวตน เราจึงชนะ เราจึงชนะหมายความว่าเราไม่มีความทุกข์ เพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นๆ นี้เรียกว่าเราชนะสิ่งทั้งปวงด้วยวิชาความรู้เรื่องความว่างหรือสุญญตา
นี่เรียกว่าเรื่องความว่างนี้เป็นเรื่องที่มีหลักฐานที่มาซึ่งเป็นพระพุทธภาษิตโดยตรง ทรงระบุไว้ว่าเหมาะสำหรับฆราวาสอย่างนี้ อยากรู้เรื่องนี้ด้วยตนเองก็ไปเปิดดูได้ในสังยุตนิกาย คือพระไตรปิฎกส่วนที่เป็นสุตตันตปิฎกและภาคที่เรียกว่าสังยุตนิกาย มหาวาฬวัก
นี้ข้อต่อไปที่เราเข้าใจผิดกันจนเข้าใจเรื่องนี้ไม่ได้ ก็คือว่า พุทธบริษัทในประเทศไทยเรา ซึ่งเป็นประเทศที่ถือกันว่าเจริญรุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนา แต่พุทธบริษัทส่วนมากเข้าใจอะไรบางอย่างไม่ตรงตามความจริงของพระพุทธวจน หรือของหลักธรรมก็มี เช่นเข้าใจไปว่า จิตนี้มีกิเลสอยู่เป็นพื้นฐาน จิตนี้มีความรู้สึกเป็นกิเลส เป็นตัวกู เป็นของกู อยู่เป็นพื้นฐานตลอดทุกลมหายใจเข้าออก มีกิเลสอยู่เป็นพื้นฐานแล้วเราค่อยไปแกะมัน ไปเขี่ยมัน ไปคุ้ยมัน ไปเปลื้องมันทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็ว่างจากกิเลสนั้นเป็นครั้งๆ คราวๆ นิดๆ หน่อยๆ ความเข้าใจอย่างนี้ถูกหรือผิด ท่านลองคิดดู เช่นอาตมาบอกว่าจิตของคนเรานี้มีความว่างปราศจากกิเลสอยู่เป็นพื้นฐาน กิเลสนั้นเพิ่งมาเป็นคราวๆ และเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นคราวๆ นี่เราลองคิดดูว่า พิจารณาดู สังเกตดู โดยเอาตัวเองเป็นประมาณ ว่าจิตของเราว่างอยู่เป็นพื้นฐานหรือว่าวุ่นด้วยกิเลสอยู่เป็นพื้นฐาน ถ้าเอาพระพุทธภาษิตเป็นหลักมันก็ง่ายนิดเดียว แต่เดี๋ยวจะหาว่าเกณฑ์ให้เชื่อบังคับให้เชื่อ หรือจะเกิดเป็น Docma อะไรขึ้นมานี้ ไม่จำเป็น แต่ว่าพระพุทธภาษิตก็มีอยู่ว่า
ประภัสสระมิทัง ภิกขเว จิตตัง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสร
อาคันตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิตถัง
แปลว่า จิตนี้เศร้าหมองแล้วเพราะอุปกิเลส ที่เป็นอาคันตุกะเข้ามา
นี่ตามตัวหนังสือว่าอย่างนี้ ว่าจิตนี้มีธรรมชาติเป็นประภัสสร แต่ว่าเศร้าหมองเพราะกิเลสเป็นแขกเข้ามาเป็นครั้งคราว คำว่าอาคันตุกะนั้นก็คือแขกที่มาบ้านเราเป็นคราวๆ ไม่ใช่มาอยู่ประจำ นี้พื้นฐานของจิตคือลักษณะประจำของจิตนี้เป็นประภัสสร ประภัสสระมิทัง ภิกขเว จิตตัง ภิกษุทั้งหลายจิตนี้ประภัสสร คำว่าประภัสสรคือใสกระจ่าง มีรัศมีรอบตัว ไม่มีเศร้าหมอง ไม่มีกิเลส แต่เมื่อใดกิเลสจรเข้ามาเป็นแขก เป็นอาคันตุกะเข้ามา เมื่อนั้นก็เศร้าหมองไปขณะหนึ่ง อย่างนี้จริงหรือไม่ น่ะ เป็นจริงตามพระพุทธภาษิตนี้หรือไม่ ท่านลองไปเฝ้าสังเกตจิตใจของท่านดูเอง แล้วก็ท่านตัดสินเอาเอง อาตมาเห็นว่านี้เป็นหลักพื้นฐานที่จะทำให้เข้าใจเรื่องต่างๆ ได้ หรือไม่ได้ เพราะว่าถ้าเราถือเสียว่า จิตมีกิเลสมีความวุ่นเป็นพื้นฐานแล้ว เรื่องมันก็ต้องแปลกกันกับที่จะถือว่า จิตนี้มีความว่างอยู่เป็นพื้นฐาน เพราะว่าเมื่อจิตมีความว่างอยู่เป็นพื้นฐานแล้ว เราไม่ต้องทำอะไรมาก เราเพียงแต่มีสติระวังอย่าให้แขกขึ้นมาบนเรือนของเรา หรือว่าถ้าแขกมาเราก็ต้องต้อนรับอย่างที่ไม่ใช่ให้มาทำความเศร้าหมองให้แก่เรา แต่ถ้าถือเสียว่าจิตนี้เป็นกิเลสอยู่เป็นพื้นฐาน เป็นตัวกิเลสอยู่เป็นพื้นฐาน ต้องไปแกะ ต้องไปกด ต้องไปกวาด ต้องไปล้าง อะไรกันเป็นการใหญ่ จึงจะสะอาดขึ้นมาสักนิดหนึ่ง วันหนึ่งก็ทำให้สะอาดไปสักครั้งหนึ่งได้โดยยาก อย่างนี้แล้วเรื่องก็กลายเป็นว่า มีเรื่องมาก มีภาระมาก มีหน้าที่มาก มีความยากลำบากมาก เหมือนกับที่ท้อถอยกันอยู่ทั่วๆ ไป
เนี่ยเพียงแต่หลักพื้นฐานมันก็มีความสำคัญอย่างนี้เสียแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องชำระสะสางความเข้าใจพื้นฐานหรือหลักพื้นฐานอย่างนี้กันเสียก่อน ลองคิดดูให้ดีว่า ถ้าจิตนี้วุ่น คือเศร้าหมองอยู่ด้วยกิเลส เป็นความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอะไรต่างๆ อยู่เป็นประจำ เป็นความวุ่นเป็นพื้นฐานแล้ว พวกเราคงไม่ได้มีชีวิตรอดมาจนถึงวันนี้ หรือมานั่งอยู่ในที่นี่ได้ เราจะต้องเป็นโรคเส้นประสาท เราจะต้องวิกลจริต เราจะต้องตาย เพราะฉะนั้นจึงขอบใจความว่าง ขอบใจความว่างอย่างยิ่งซึ่งมีอยู่เป็นพื้นฐาน ซึ่งทำให้มีระยะเวลายาวพอ ที่เป็นความพักผ่อน ที่เป็นความดำรงอยู่ได้ของจิต ที่ทำให้เราไม่ต้องเป็นโรคเส้นประสาท ไม่ต้องเป็นโรควิกลจริตหรือตาย เนี่ย นั้นจึงขอบใจความว่างที่ทำให้เรารอดชีวิตอยู่ได้ และมานั่งฟังกันอยู่ได้ ท่านทั้งหลายลองไปคิดดู
ทีนี้ที่จะต้องทราบต่อไปที่เป็นหลักพื้นฐานก็คือว่า เมื่อจิตนี้มีธรรมชาติประภัสสรอย่างนี้แล้วมันหมายความว่าอย่างไร ประภัสสรหมายความว่ามีรัศมีรอบตัว ใสกระจ่าง อย่างนี้ก็แปลว่าจิตที่ยังไม่ถูกกิเลสเป็นอาคันตุกะเข้ามาครอบงำนั้น จิตนั้นเป็นประภัสสร จิตนั้นสมบูรณ์อยู่ด้วยความหมายของคำว่าจิต หรือของคำว่ามโน มโนธาตุ จิตธาตุ วิญญาณธาตุ ธา-ตุ ที่แปลว่าธาตุ ความหมายของคำว่า จิต ว่ามโน ว่าวิญญาณ อะไรเหล่านี้ ในฐานะที่เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ก็คือมีคุณสมบัติรู้ รู้ รู้ได้อยู่ในตัวเอง ต่อเมื่อใดมันเสียคุณสมบัติแท้ของมัน มันจึงไม่รู้ เช่นอวิชชาครอบงำ กิเลสครอบงำ มันก็สูญเสียคุณสมบัติเป็นรู้ผิด หรือไม่รู้ ถ้ามันมีความเป็นอิสระ เป็นประภัสสร มันมีส่วนที่จะรู้ และวิวัฒนาการขึ้นไปตามลำดับ จนรู้ถึงที่สุด เพราะฉะนั้นเราจึงมองเห็นได้โดยไม่ต้องเชื่อคนอื่นว่า ในขณะที่จิตเราว่าง โปร่ง แจ่มใส ไม่มีกิเลสรบกวนนั้น เป็นจิตที่สมบูรณ์อยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นจิตที่สมบูรณ์เต็มเปี่ยมอยู่ด้วยปัญญา สมบูรณ์อยู่ด้วยปกติภาวะ หรือปรกติภาพของมันเอง เมื่อจิตมีอยู่ในปกติภาพของมันเองแล้ว สมบูรณ์อยู่ด้วยสติปัญญา สมบูรณ์อยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ
ท่านลองไปเปรียบเทียบดูว่า เวลาที่เรามีจิตว่างโปร่ง มีปัญญาอย่างไร มีสัมปชัญญะอย่างไร พอจิตเราวุ่นวาย เราสูญเสียสติสัมปชัญญะ สูญเสียปัญญาอย่างไร นั้นจิตว่างกับจิตวุ่นนี้มันจะเหมือนกันได้อย่างไร มันจะต้องต่างกันอย่างตรงกันข้ามเสมอ จิตที่แท้จริงที่ควรแก่นามว่าจิตนั้นต้องว่าง คือจิตที่เป็นประภัสสร แต่พออาคันตุกะคือกิเลสเข้ามาครอบงำเสียแล้ว สูญเสียความเป็นจิตแล้ว เราก็ไม่ควรจะเรียกว่าจิต มันเป็นเพียงของที่กำลังปรุงแต่ง กระวนกระวาย กระสับกระส่าย อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ถ้าเรียกว่าจิตก็ต้องเรียกว่าจิตวุ่น ผิดไปจากสภาพเดิม เหมือนน้ำที่ถูกลมเป่าให้เป็นคลื่น อยู่ในรูปของคลื่นเสียแล้ว ไม่ใช่น้ำที่สงบเงียบ งั้นจิตว่าง ก็คืออยู่ในปกติเดิม ว่าง สงบ เงียบ ไม่ทุกข์ มีสติปัญญาเต็มที่
พวกที่เขาถือหลักอย่างนี้อย่างรุนแรง เขาก็พูดเสียง่ายๆ ว่า จิตคือความว่าง ความว่างคือจิต ความว่างคือพุทธะ พุทธะคือความว่าง เหล่านี้เป็นอันเดียวกันหมด หมายความว่าเมื่อจิตมีความว่างเป็นอารมณ์นี้ ย่อมมีความเป็นพุทธะ คือรู้อะไรได้อยู่ที่นั่น ดังนั้นความว่างกับพุทธะจึงเป็นอันเดียวกัน และเมื่อจิตแท้คือขณะที่มันว่าง เพราะฉะนั้นความว่างก็คือจิต จิตก็คือความว่าง และในขณะที่จิตว่างนั้น อยู่ในธรรมชาติเดิมของมัน ประกอบอยู่ด้วยธรรม ตรง ตามความหมาย เพราะฉะนั้นจึงว่า ความว่างก็คือธรรมะ ธรรมะก็คือความว่าง ความว่างก็คือจิต จิตก็คือความว่าง นี้เป็นเรื่องเดียวกันหมด แต่อาตมาไม่ได้แนะนำให้เชื่อ หรือให้ยึดถือหลักเกณฑ์เหล่านั้น โดยที่ไม่ได้พิจารณาดูให้ดีเสียก่อน
และทั้งเป็นกฎเกณฑ์หรือหลักที่มีอยู่ในฝ่ายมหายาน คือพุทธศาสนาอย่างมหายาน เราไม่จำเป็นต้องรับเอามาทันที แต่เราจะพิจารณาดูว่ามันเกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างไร และเกี่ยวข้องกับหลักพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทอย่างไร เมื่อเอามารวมๆ กันแล้ว เป็น 3 ฝ่าย คือเราด้วย พุทธศาสนาอย่างเถรวาทด้วย พุทธศาสนาอย่างมหายานด้วยแล้ว เราควรจะได้หลักเกณฑ์อย่างไร จึงจะช่วยตัวเองได้ในการที่จะไม่ต้องเป็นทุกข์ เฉพาะในที่นี้ อาตมาอยากจะขอให้พิจารณาส่วนสำคัญในข้อที่ว่า ขณะที่จิตว่างนั้น จิตสมบูรณ์อยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ สมบูรณ์อยู่ด้วยปัญญา และอยู่ในปกติภาวะของมัน ในขณะที่จิตวุ่นนั้น สูญเสียสติสัมปชัญญะ สูญเสียปัญญา ไม่อยู่ในปกติภาพของมัน ดังนั้นจิตว่างก็คือจิตที่กำลังไม่ถูกกิเลสครอบงำ แต่อยู่ด้วยปกติภาพเดิมของมันคือสติปัญญา ส่วนจิตวุ่นนั้น คือจิตที่ถูกกิเลสครอบงำ สูญเสียปกติภาพเดิมแล้ว ปราศจากสติปัญญา ปราศจากสติสัมปชัญญะโดยสิ้นเชิง
เมื่อท่านเปรียบเทียบกันดู รู้จักจิตว่างเป็นอย่างไรในลักษณะเช่นนี้แล้ว เข้าใจว่า ท่านทั้งหลายคงจะไม่มีความขลาด ความกลัว ต่อจิตว่างเหมือนคนบางคน ซึ่งกลัวคำว่าจิตว่างนี้อย่างกลัวผี กลัวเสือ กลัวอะไรทำนองนั้น เพราะเขาไม่เข้าใจจึงมองเห็นเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะว่าเขามีตัวตนหรือความคิดเห็นไปในทางตัวตนมากเกินไป จนได้ยินคำว่าว่างแล้วก็สะดุ้ง ข้อนี้เปรียบกันได้กับพวกพรหมที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า พวกพรหมเมื่อได้ยินคำว่า ละเสียซึ่งสักกายะ แล้วก็สะดุ้ง กลัว เหมือนกับความตายมาถึง เพราะว่าพวกพรหมมีสักกายะจัด มีตัวตนจัด เพราะทะนงว่าเป็นตัวตนที่บริสุทธิ์ มีความสุขที่สุด พอได้ยินคำว่า จะละเสียซึ่งสักกายะเท่านั้น ก็รู้สึกเหมือนจะถูกฆ่าให้ตาย คนบางคนพอได้ยินคำว่าจิตว่างหรือความว่าง ก็รู้สึกว่าเหมือนจะถูกฆ่าให้ตาย ไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวตน หรือเป็นของๆ ตน แต่ถ้าได้ทำความเข้าใจกันให้เห็นชัดว่าจิตว่างมีลักษณะอย่างไรแล้ว เค้าจะไม่กลัว แล้วเค้าจะรู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าจิตว่างนี้จำเป็นเสียแล้ว จำเป็นที่เราจะต้องรักษาให้คงอยู่ในสภาพว่างอยู่ตลอดเวลาอย่าให้วุ่นขึ้นมาได้ และเราก็จะสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ตามที่เป็นหน้าที่ของเรา และเราจะไม่มีความทุกข์เลย จะมีชีวิตเป็นอยู่โดยไม่ต้องมีความทุกข์เลย และมีกำลังสติปัญญาอย่างยิ่งที่จะทำความก้าวหน้าต่อไป ดังนั้นจึงไม่กลัวความว่าง และไม่เห็นว่าความว่างเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ เพราะว่าความว่างเป็นเรื่องความจริงอย่างยิ่ง
ทีนี้ลองคิดดูกันถึงข้อแย้ง มีคนเอามาให้ดูหรือบอกให้ทราบว่ามีการแย้ง เช่นแย้งว่าจิตว่างนี่เป็นสิ่งที่มีไม่ได้ เพราะว่าจิตต้องมีอารมณ์เสมอ จะว่างจากอารมณ์ไม่ได้ ข้อแย้งนี้เป็นข้อแย้งของคนที่ทำข้าวตาฟืนไฟจนตาฟาง เราไม่ได้บอกว่าจิตว่างนี้ไม่มีอารมณ์ จิตนี้ จิตว่างนี้ก็ยังมีอารมณ์ อย่างน้อยที่สุดก็มีภาวะแห่งความว่างนั้นเองเป็นอารมณ์ เช่นพระอรหันต์ก็มีภาวะแห่งความว่างเป็นอารมณ์ หรือว่าคนเราตามธรรมดาเรามีอะไรเป็นอารมณ์อยู่ในขณะไหน ถ้าจิตไม่ได้ยึดถืออารมณ์นั้นโดยความเป็นตัวตน หรือเป็นของๆ ตนแล้ว ก็เรียกว่ามีความว่างเป็นอารมณ์ได้เหมือนกัน แต่ถ้าไปยึดถือในอารมณ์นั้นว่าเป็นตัวตนหรือของตนโดยอุปาทานอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว อย่างนี้เรียกว่ามีอารมณ์ชนิดที่เป็นความวุ่น เราตามปกติถ้าไม่ยึดถือในอารมณ์ใด แม้จะกำหนดอารมณ์นั้นอยู่ ก็เรียกว่ายังเป็นอารมณ์ที่ว่างจากความยึดถึือ จิตนั้นก็ยังว่างจากตัวตน จากของๆ ตน จิตมีสิ่งที่ไม่ถูกยึดมั่นด้วยอุปาทานเป็นอารมณ์แล้วเป็นใช้ได้ จะมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อะไรเป็นอารมณ์ก็ตาม แต่ถ้าไม่ยึดถือสิ่งนั้นโดยความเป็นตัวตนแล้ว ก็เรียกว่ายังมีสิ่งที่ว่างจากความยึดถือเป็นอารมณ์ เรียกสั้นๆ ว่ามีความว่างนั้นเองเป็นอารมณ์ นี้ก็เป็นอันว่าทำความเข้าใจกันเสียใหม่ว่า ไม่ได้กล่าวว่าจิตว่างนั้นไม่มีอารมณ์ จิตจะต้องมีอารมณ์นั้นเป็นธรรมดา ถ้าเป็นจิตว่างก็มีความว่าง หรืออารมณ์ที่ว่างจากความยึดถึือนั่นแหละเป็นอารมณ์
ที่บางคนแย้งว่าจิตว่าง หรือว่าทฤษฎี หรือการปฏิบัติเรื่องจิตว่างนี้ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของชาวเมือง ชาวบ้านชาวเมือง ชาวบ้านร้านตลาด อย่างนี้ขอตอบว่าทฤษฎีหรือการปฏิบัติเรื่องจิตว่างนี้ ยิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับชาวบ้านร้านตลาด เพราะว่าชาวบ้านร้านตลาดนี้ร้อน ร้อนกว่าพวกนักบวช ร้อนกว่าพวกที่อยู่ในป่าในดง ใครที่ร้อนมากคนนั้นควรจะได้รับของเย็นมาแก้โดยเร็ว ดังนั้นแหละพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสถึงสุญญตาแก่ฆราวาสกลุ่มหนึ่งซึ่งไปทูลถาม ว่าให้ใช้สุญญตาเป็นหลักปฏิบัติสำหรับเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ท่านทั้งหลายตลอดกาลนาน เมื่อชาวบ้านชาวเมืองเป็นผู้ที่ร้อนมาก กรรมกรทั้งหลายเป็นผู้ที่มีความทุกข์ร้อนมาก เขาก็ต้องศึกษาสิ่งที่จะช่วยขจัดความร้อนนั้นออกไป เนี่ยคือความมุ่งหมายของคำว่าจิตว่างโดยแท้จริง คือมุ่งหมายจะใช้เป็นเครื่องดับร้อนของคนที่กำลังร้อน
ทีนี้ที่ว่าแย้งว่า ความว่างหรือจิตว่างนี้เป็นเรื่องของพระอรหันต์ จะเป็นเรื่องของปุถุชนมีกิเลสไม่ได้ เพราะว่าพระอรหันต์เป็นผู้ที่ว่างจากอุปาทาน ส่วนปุถุชนต้องมีอุปาทาน ว่างไม่ได้ นี้ก็เป็นความเข้าใจผิดอย่างเดียวกับที่กล่าวมาแล้วมา
ที่กล่าวมาแล้ว คือต้องเข้าใจเสียให้ถูกว่า สิ่งที่เรียกว่าอุปาทาน ความสำคัญมั่นหมายว่าตัวเรา ว่าของเรานั้น ไม่ได้เกิดอยู่ตลอดกาล ท่านไปคิดดูให้ดี ความรู้สึกสำคัญมั่นหมายว่า ตัวกู ว่าของกูนี้ คือกิเลส สิ่งนี้ไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา มีความว่างจากอุปาทานอยู่มากกว่าที่วุ่นอยู่จากอุปาทาน ถ้าเราวุ่นอยู่ด้วยอุปาทานทุกลมหายใจเข้าออกแล้วเราก็เป็นโรคเส้นประสาท เป็นโรควิลกลจริต และตายแล้วอย่างเดียวกัน
หากแต่ว่าความว่างจากอุปาทานตามธรรมชาติอย่างนี้ ไม่เหมือนกับของพระอรหันต์ตรงที่ว่าของพระอรหันต์นั้นเป็นการว่างที่ถาวร เพราะท่านมีสติสมบูรณ์ ผู้ที่เป็นนักธรรมะตัวจัดตัวยงคงจะยอมรับเป็นอันเดียวกันว่า พระอรหันต์นั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าความเป็นผู้มีสติสมบูรณ์ นี้เป็นหลักเกณฑ์ในพระไตรปิฏก สติสมบูรณ์คือไม่ขาดระยะ ไม่ขาดระยะก็แปลว่ากิเลสหรือความทุกข์หมดโอกาสท่ีจะเกิด กิเลสหรือความทุกข์หมดโอกาสที่จะเกิดโดยสิ้นเชิง สติสมบูรณ์อย่างนั้น คือความว่างสมบูรณ์ ติดต่อกันโดยสมบูรณ์
ส่วนปุถุชนนี้ก็ว่างอยู่เป็นพื้นฐานแต่อุปาทานมาแทรกแซงเป็นครั้งคราว เราก็มีหน้าที่ที่ขจัดออกไป ด้วยวิธีคุมให้มันว่างอยู่เสมอ นั้นจึงมีคำสอนหรือข้อปฏิบัติเรื่องความว่าง คำว่าความว่างหรือจิตว่างนี้ไม่ได้เล็งถึงธรรมะข้ออื่นๆ เช่น คำว่าความอดกลั้น หรือความข่มจิต อะไรทำนองนั้น มีความหมายตรงตามตัวของมันเอง ว่าจิตที่ว่างอยู่ด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน ในขณะที่มีสติสัมปชัญญะอยู่ ไม่ปล่อยให้กิเลสตัณหาอุปาทานเกิดขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจโดยตรง
ที่ที่ว่าเราจะทำงานด้วยจิตว่าง หรือจะเอาประโยชน์อะไรจากการทำงานด้วยจิตว่าง เราควรจะนึกดูต่อไปถึงข้อที่ว่า เราทำอะไรในขณะที่จิตวุ่นนั้นมันเป็นอย่างไร เราทำอะไรในขณะที่จิตว่างนี้มันแปลกกันอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นการพูดจา ถ้าพูดด้วยจิตว่างมันเป็นอย่างไร พูดด้วยจิตวุ่นมันเป็นอย่างไร จิตวุ่นมีตัวกู มีของกูแฝงอยู่บ้าง ออกหน้ามาเลยบ้าง แล้วก็พูดภาษาที่ไม่ใช่มนุษย์ จิตที่ว่าง ไม่มีตัวกูของกูเนี่ย พูดออกมาเป็นภาษาที่ไพเราะ เป็นภาษามนุษย์ นี้เรียกว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีจิตว่างในการพูด
ทีนี้ถ้าพูดถึงความหวัง คนก็คิดว่าชีวิตนี้อยู่ด้วยความหวัง ถูกแล้ว แต่ว่าความหวังนั้นควรจะเป็นความหวังของจิตว่าง ไม่ใช่ความหวังของจิตวุ่น จิตว่างประกอบอยู่ด้วยสติปัญญา สติสัมปชัญญะ อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วมากมาย งั้นถ้ามีความหวังด้วยจิตว่างก็คือ หวังด้วยสติปัญญา ด้วยวิชชา ด้วยญาณ ด้วยปัญญา จิตว่างนี่หวังอยู่ด้วยอำนาจของสติปัญญา ส่วนจิตวุ่นนั้นหวังอยู่ด้วยกิเลสตัณหา นี้คนโดยมากรู้จักแต่เรื่องความหวังด้วยกิเลสตัณหา จึงเข้าใจผิดไปเสียว่าความหวังมีแต่อย่างเดียวที่เป็นกิเลสตัณหาเท่านั้น ไม่รู้ว่าความหวังของจิตที่ประกอบอยู่ด้วยสติปัญญานั้นก็มี มีอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจงเข้าใจกันเสียใหม่ว่า หวังด้วยวิชชา ไม่ใช่หวังด้วยอวิชชา หวังด้วยวิชชาย่อมต่่างจากหวังด้วยอวิชชา วิชชากับอวิชชาย่อมต่างตรงกันข้ามเสมอ เราจะมีความหวังก็ให้หวังด้วยวิชชา ปัญญา แสงสว่าง ความรู้ สติปัญญา นี้ก็คือความเข้าใจผิดที่เต็มไปในเมืองไทยทั่วทุกหัวระแหงก็ว่าได้ คือไปเข้าใจหรือถือกันเสียว่า ถ้าลองอยากหรือลองหวังแล้วเป็นกิเลสตัณหาทั้งนั้น จนพูดว่าถ้าอยากแล้วก็เป็นกิเลสตัณหาทั้งนั้น เป็นความโลภทั้งนั้น นี้ผิดอย่างยิ่ง มันต้องมีข้อเท็จจริงกันเสียก่อนว่า ความอยากนั้นอยากด้วยอำนาจของวิชชาหรืออยากด้วยอำนาจของอวิชชา ถ้าอยากด้วยอำนาจของอวิชชา ความอยากนั้นเรียกว่าตัณหา และเป็นมูลเหตุให้เกิดทุกข์ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในอริยสัจว่า ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่เรียกว่าตัณหาในที่นั้นคือความอยากที่มีรากฐานอยู่ที่อวิชชา จงไปท่องปฏิจสมุปบาทดู เริ่มต้นด้วยอวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ทุกข์ ตัณหานี้มีรากฐานอยู่ที่อวิชชา แต่ถ้าว่าความประสงค์หรือความต้องการที่ไม่ได้มีรากฐานอยู่ที่อวิชชา แต่มีรากฐานอยู่ที่ปัญญาหรือวิชชา เช่นความประสงค์หรือความต้องการที่จะดับกิเลส ดับตัณหา ดับทุกข์แล้ว ความอยากอย่างนี้ไม่ควรจะเรียกว่าตัณหา ถ้าจะมีใครไปเรียกว่าตัณหาบ้างก็เรียกเพียงว่าพูดตามภาษาชาวบ้าน ไม่ใช่ความจริง ตัณหาจะมาจากวิชชาไม่ได้ จะต้องมาจากอวิชชา นั้นความอยากหรือความโลภอะไรเหล่านี้จงวินิจฉัยกันดูให้ดีๆ จะได้มีความเข้าใจถูกต้อง คือกล้าหวัง หรือกล้าอยากให้ถูกวิธี ที่ไม่เป็นกิเลส ไม่เป็นตัณหา เช่นความหวังด้วยจิตว่าง ความอยากด้วยจิตว่าง ความต้องการด้วยจิตว่าง ในการที่จะทำการงาน ในการที่จะกินอาหาร ในการที่จะแสวงหาอาหาร ในการที่จะทำอะไรก็ตาม ถ้าหวังหรือทำไปด้วยจิตว่างนี้ไม่เป็นกิเลส ไม่เป็นตัณหา ไม่เป็นความโลภ เพราะว่ามีมูลมาจากวิชชา ต่อเมื่อมีมูลมาจากอวิชชาจึงจะเป็น โลภะ ตัณหา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้นจงเป็นผู้ที่มีจิตว่างสำหรับหวัง สำหรับต้องการ สำหรับดำเนินงาน นี่อานิสงค์ของความว่างเป็นอย่างนี้
อาตมาอยากจะพูดถึงอานิสงค์ที่น่านึกอีกสักอย่างหนึ่งว่า เราลองนึกดูถึงคำว่าเปรต ซึ่งเป็นคำที่น่ากลัว คำว่าเปรตเนี่ยมีความหมายตรงที่ว่า มีความอยากมีความต้องการมาก และต้องการด้วยกิเลสตัณหา และก็ได้สิ่งสนองความอยากทีละนิดๆ เทียบในอัตราว่าเขามีท้องเท่าภูเขาแล้วมีปากเท่ารูเข็ม แล้วเขาจะกินอาหารให้อิ่มทันใจได้อย่างไร เนี่ย คนสมัยนี้เป็นอย่างนี้กันหรือไม่ ตัวคนสมัยนี้เปรียบเหมือนกับคนมีท้องเท่าภูเขาและมีปากเท่ารูเข็มหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็แปลว่าคนสมัยนี้เป็นเปรตกันมากยิ่งขึ้น แล้วคงจะเป็นโรคประสาทกันมากยิ่งขึ้น เป็นโรควิกลจริตกันมากยิ่งขึ้น ฆ่าตัวตายกันมากยิ่งขึ้น เนี่ยเพราะว่าเขาไม่ได้ทำงานด้วยจิตว่าง ไม่ได้เป็นอยู่ด้วยจิตว่าง จึงมีอาการที่ว่าท้องเท่าภูเขาปากเท่ารูเข็มเนี่ยมากขึ้นๆๆ เนี่ย ถ้าว่ารู้จักเรื่องของจิตว่างและทำงานด้วยจิตว่าง และอาการที่ว่าท้องเท่าภูเขาปากเท่ารูเข็มนั้นจะหายไป เนี่ย ช่วยได้มากถึงอย่างนี้
แม้สิ่งที่น่ากลัวอื่นๆ ที่เรียกว่าอบายภูมิ เช่น นรก นรกหมายถึงการถูกลงโทษหรือว่าร้อนอยู่ด้วยความอยาก เดรัจฉานหมายความว่าความโง่เง่า เปรตหมายความว่าอยากมาก หิวและไม่พอ อสุรกายหมายถึงความกลัว ศัตรูของมนุษย์ เช่น ความกลัว ความอยาก ความหิว ความโง่เง่า การถูกลงโทษอันนี้ จิตว่างจะป้องกันได้แก้ได้โดยสิ้นเชิง คือจิตว่างมีอาณุภาพที่จะทั้งป้องกันและทั้งแก้ไข ไม่ให้สิ่งที่เรียกว่าอบายภูมิหรือนรกในความหมายอย่างนี้เกิดขึ้นได้ ถ้าเราทำงานด้วยจิตว่างเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง เราจะไม่มีความร้อน ไม่มีการถูกลงโทษ ไม่มีความโง่เง่า ไม่มีความหิวชนิดที่อยากไม่พอ ไม่มีความกลัวอะไรหมด นี่เรียกว่าขึ้นจากอบายภูมิ ด้วยอำนาจของการเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง
แม้ว่าจะเป็นเรื่องการทำการงานเพื่อส่วนรวม เช่นเพื่อประเทศชาติ ก็ต้องนึกถึงข้อที่ทำงานเพื่องาน ทำงานด้วยจิตว่างนั้นคือทำงานเพื่องาน ประเทศที่จะเจริญทางเศรษฐกิจ คนของเขาจะต้องมุ่งมั่นในการงานจนลืมตัวเอง ถ้าไม่ลืมตัวเองยังเห็นแก่ตัวอยู่แล้ว จะมีแต่การคดโกง มีแต่การทำการงานที่ไม่ประณีตสุขุม เขามีความหวังมีความต้องการด้วยจิตที่ประกอบด้วยสติปัญญาที่จะทำการงาน และในขณะที่ทำการงานน้ันลืมตัวหมด มีอยู่แต่งาน มีอยู่เฉพาะหน้าแต่งานกับสติปัญญา คือจิตว่าง และจิตว่างก็ทำการงานไปอย่างน่าประหลาด น่ามหัศจรรย์ ในการค้นคว้าสิ่งที่ยากเย็น เช่นค้นคว้าเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ เรื่องปรมาณู เรื่องออกไปสู่นอกโลก อะไรก็ตาม นักค้นคว้าเหล่านั้นจะต้องลืม ลืมตัวเองลืมกระทั่งแม้แต่การกินอาหาร การอะไรต่างๆ มีสมาธิอยู่แต่ในงานด้วยสติปัญญานั้นๆ ลืมตัว ลืมสิ่งที่เป็นของตัว ลืมอะไรหมดในขณะนั้น ต้องมีจิตอย่างนี้จึงจะทำงานอย่างนั้นได้ นอกจากเวลานั้นเขาจะมีความเห็นแก่ตัว เกิดความเห็นแก่ตัวบ้างก็ตามใจเขา แต่ว่าในวินาทีหรือในนาทีแห่งการทำงานนั้น จะต้องทำงานด้วยจิตว่าง คือไม่มีตัว เขาจึงพบอะไรใหม่ๆ ชนิดที่มนุษย์ธรรมดาสามัญไม่อาจจะค้นพบได้ ฤาษีมุนีอะไรต่างๆ ที่อยู่ในป่าในดงที่จะค้นหลักปรัชญา ค้นความคิดนึกเรื่องธรรมะก็เหมือนกัน ค้นจนลืมตัว ค้นจนลืมกินอาหาร จนลืมว่ากลางวันหรือกลางคืน จนลืมว่ากี่อาทิตย์แล้ว กี่เดือนแล้ว อย่างนี้เป็นต้น เพราะทำไปด้วยจิตที่มุ่งมั่นด้วยสมาธิในงานนั้น เพื่องานอย่างเดียว ไม่ใช่เพื่อตัวกู ไม่ใช่ของกู เนี่ยคือผู้ที่รู้จักเอาจิตว่างไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างชาติ สร้างประเทศ สร้างบ้าน สร้างเมือง ค้นคว้าสิ่งต่างๆ แม้สุดแต่การพัฒนาที่เราต้องการกันนัก ว่าชาติไทยต้องการพัฒนา ก็อย่าลืมว่า การพัฒนาทางวัตถุ หรือพัฒนาแต่คนนั้นไปไม่รอด ต้องพัฒนาจิตใจ และการพัฒนาจิตใจนั้นถ้าจะให้สำเร็จประโยชน์ได้จริงต้องเรียนรู้เรื่องจิตว่างว่าเป็นอย่างไรเสียก่อน เพื่อเขาจะได้เป็นคนที่บริสุทธิ์ เป็นคนที่ไม่มีตัวกู ของกู อยู่ได้มากกว่าที่จะมีตัวกู ของกู เนี่ย เขาจะทำงานเพื่องานอย่างที่เป็นอุดมคติ หรือเป็น Summum bonum** ของศีลธรรม ศีลธรรมสากลทั่วโลกและแม้ของพุทธศาสนา
(**Summum bonum is a Latin expression meaning "the highest good" and is used in philosophy, particularly in medieval philosophy and in Kantianism, to describe the ultimate importance, the singular and most ultimate end which human beings ought to pursue.
ที่มา : http://en.wikipedia.org/wiki/Summum_bonum)
ทำงานเพื่องานนี่ไม่มีตัวกูของกูเข้ามาแทรกแซง มีแต่สติสัมปชัญญะทำไป งานสำเร็จ ผลงานนั้นไม่ไปไหนเสีย เมื่อต้องการก็ได้เมื่อไม่ต้องการก็ได้ แต่เพราะความที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นและไม่เป็นทุกข์ ทั้งในขณะที่ทำงานหรือว่าทำงานสำเร็จแล้ว เนี่ยเราต้องพัฒนาที่จิตใจ ไม่ได้พัฒนาที่ตัวคนหรือที่วัตถุ ขืนพัฒนาตัวคนหรือวัตถุแล้วมันก็เป็นไม่ได้ มันเป็นไปอย่างที่เรียกว่าเหมือนกับหลับตากินผึ้ง เนี่ยเป็นภาษาสำนวนปักษ์ใต้ มันต้องทนมากเกินไปให้ผึ้งต่อย หรือว่าต้องบังคับอย่างทำนองข่มเขาวัวให้กินหญ้า คนเขาไม่อยากจะทำโดยสุจริต บังคับกันอย่างไรๆ มันก็ไม่สุจริตได้เพราะว่าไม่ได้พัฒนาจิตใจ มัวไปพัฒนาวัตถุและพัฒนาเพียงแค่เปลือกนอกของคน ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยจิตว่างทั้งนั้น อาศัยหลักเกณฑ์หรือความรู้เรื่องจิตว่างทั้งนั้น จึงจะสำเร็จประโยชน์ได้
อาตมาอยากจะกล่าวเป็นสำนวนโวหารอีกสักอย่างหนึ่งว่า จิตว่างเนี่ย หรือความว่างเนี่ยเป็นดนตรีอันไพเราะอยู่ในตัวมันเอง ชีวิตจะมีสภาพเหมือนดนตรีอันไพเราะต่อเมื่อเรามีจิตว่าง ในขณะใดเรามีจิตว่าง ชีวิตเป็นดนตรี มันเป็นสิ่งที่น่าชื่นใจสักเท่าไหร่ พอมีจิตวุ่น ชีวิตนี้ก็หมดความเป็นดนตรี คือมีแต่ความมืดมัวเศร้าหมองเร่าร้อน ไม่สงบ สะอาด สว่าง เยือกเย็น ไม่ไพเราะเหมือนกับดนตรี จิตที่เป็นประภัสสร จิตที่เป็นประภัสสร ไม่ถูกกิเลสครอบงำ เป็นดนตรีอยู่ในตัวมันเอง คือให้ความชุ่มชื่นไพเราะอยู่ในตัวมันเอง เราเรียกว่าเป็นดนตรีทางวิญญาณหรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียก ไม่ใช่ดนตรีดีดสีตีเป่าอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ แต่ความหมายมันอย่างเดียวกัน คือ ความไพเราะเหลือที่จะกล่าวได้ งั้นดนตรีที่แท้ ก็คือความไพเราะ ความสวยงาม ความเยือกเย็น อะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งได้รับ ได้ยิน ได้ฟัง ได้สัมผัส ในขณะที่มีจิตว่าง ทีนี้พอมานึกถึงดนตรีที่เราใช้กันอยู่ในเวลานี้ เราก็ควรจะอ่านออกแล้วว่า ดนตรีหรือบทเพลงหรือทำนองเพลงก็ตาม มันมีอยู่สองชนิด คือ เร้าให้จิตวุ่นวายก็มี ดนตรีหรือบทเพลงที่ตะล่อมจิตให้สงบเย็นลงไปให้ว่างก็มี งั้นดนตรีที่แท้จริงที่ถูกต้องตามความต้องการของธรรมชาตินั้น จะต้องเป็นดนตรีที่ทำให้จิตว่างลงๆ สงบเย็นลง สงบเย็นลง แต่เดี๋ยวนี้เราไม่ชอบ เราไปชอบดนตรีของภูตผีปีศาจ ที่ยุ ที่กระตุ้นให้จิตเต้นเร่าๆๆ เหมือนภูติผีปีศาจ นี่เรียกว่าส่งเสริมให้จิตวุ่น แล้วเมื่อเรานิยมกันอย่างนี้เสียเป็นทั่วๆ ไปแล้วก็แปลว่าเรานิยมความมีจิตวุ่นเป็นพื้นฐานของสังคม ไม่นิยมความว่าง ไม่นิยมความเป็นอยู่ด้วยจิตว่างงั้นจึงเข้าใจกันยาก พูดกันเท่าไหร่ก็ยากที่จะเข้าใจกันได้ นึกดูถึงดนตรีของปู่ย่าตายายในสมัยโบราณ ล้วนแต่มีทำนองเป็นไปในทางช่วยตะล่อมกล่อมเกลาให้จิตว่าง แต่ลูกหลานอุตริสร้างดนตรีชนิดที่ทำให้จิตวุ่น และไปนิยมคนต่างประเทศที่เขาไม่ประสีประสาในเรื่องนี้ เตลิดเปิดเปิงในทางความวุ่นนั้นน่ะ เอามาเป็นครู
แม้แต่ละคร แม้แต่ละคร เราก็ยังเคยได้ยินได้ฟังว่าการใช้ผู้ชายล้วนๆ แสดงละคร เหมือนสมัยเชคเสปียร์ในประเทศอังกฤษ ละครใช้ผู้ชายล้วน มันน่าเอ็นดู มันตะล่อมให้เกิดความรู้ สติปัญญา ไม่ทำให้จิตวุ่น ส่งเสริมไปในทางจิตว่าง ทีนี้กิเลสของคนสมัยหลัง แก้ไข เอาผู้หญิงเป็นผู้หญิง เอาผู้ชายเป็นผู้ชาย แสดงบทบาทที่ยั่วมากขึ้นทุกที ละครก็เป็นเครื่องมือส่งเสริมจิตวุ่นไป แม้ที่สุดแต่มโนห์ราก็เล่นด้วยผู้ชายล้วน หรือละครปราโมทัยสมัยหนึ่งเล่นด้วยผู้หญิงล้วน บทอย่างนี้มันน่าเอ็นดู และมันส่งเสริมไปในทางว่าง ทีนี้เราไม่เอา เราเปลี่ยนแปลงให้มันตรงตามกิเลสตัณหาไปทุกสิ่งทุกอย่าง นี่เรียกว่าเราเอียงน้อมมาในทางที่จะมีจิตวุ่น มันก็ต้องได้วุ่นโดยแน่นอน
ในที่สุดเราจะพิจารณากันถึงสิ่งที่เราต้องการ สิ่งนั้นก็คือฤทธิ์หรือกำลังในการทำการงาน พลังของจิตที่มาจากจิตว่างนั้นเป็นพลังอีกอย่างหนึ่ง พลังของจิตที่มาจากจิตวุ่นนั้นมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง อย่าไปเข้าใจว่าพลังของจิต พลังของจิต แล้วมันจะเหมือนกัน พลังของจิตที่มาจากจิตที่เป็นประภัสสรนั้นอย่างหนึ่ง พลังของจิตที่มาจากจิตที่เศร้าหมองแล้วนั้นมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง พลังที่มาจากจิตที่ว่างก็คือพลังของธรรมะ พลังที่แบ่งมาจากธรรม แบ่งมาจากพระพุทธเจ้า เนี่ย ขอย้ำหน่อยว่า พลังของจิตที่มาจากจิตว่างนั้นคือพลังของธรรมะ พลังที่แบ่งมาจากธรรมะ พลังที่แบ่งมาจากพระพุทธเจ้า ส่วนพลังของจิตที่มาจากจิตวุ่นนั้น แบ่งมาจากภูติผีปีศาจ แล้วมันจะเหมือนกันได้อย่างไร พลังของจิตที่ประภัสสรนั้นมีสติปัญญาสมบูรณ์ เฉลียวฉลาด ว่องไว ทำงานได้ดีกว่า และสนุกกว่า ส่วนพลังที่มาจากจิตวุ่นนั้นตรงกันข้าม
ทีนี้ถ้าเราจะพูดสิ่งที่เรียกว่าพลังนี้ เรียกสิ่งนี้ว่าฤทธิ์ เพื่อให้มันขลัง ให้มันมากขึ้นไปอีกสักหน่อย เราก็ยังจะต้องพูดว่า ฤทธิ์นั้นต้องแสดงด้วยจิตว่างไม่ใช่แสดงด้วยจิตวุ่น ฤทธิ์นั้นต้องแสดงด้วยจิตว่างไม่ใช่แสดงด้วยจิตวุ่น ถ้าแสดงด้วยจิตวุ่นก็เป็นเพียงความมุทะลุของภูต ผี ปีศาจ อะไรชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ฤทธิ์ แต่ถ้าเป็นฤทธิ์ที่จะสำเร็จในประโยชน์ของฤทธิ์ต้องแสดงด้วยจิตว่าง พระอรหันต์แสดงฤทธิ์ได้ ไม่มีใครเหมือน ก็แสดงด้วยจิตว่าง แสดงได้ดีกว่า สูงกว่า ทีนี้ปุถุชนที่เป็นยักษ์เป็นมาร ในเรื่องราวต่างๆ ที่เราได้ยินได้ฟัง แม้ว่าเขาจะแสดงฤทธิ์ก็ต้องแสดงฤทธิ์ด้วยจิตว่าง ไม่ใช่จิตวุ่น แม้ว่าเขาเป็นยักษ์เป็นมาร แต่ถ้าเมื่อถึงคราวที่ต้องแสดงฤทธิ์ เขาต้องทำจิตให้ว่างให้เป็นสมาธิจึงจะแสดงฤทธิ์ได้ ถ้าเราจะเชื่อข้อความบางประโยคในหนังสือ เช่นหนังสือรามเกียรติ์ว่า เมื่อยักษ์เช่นกุมภกัณฑ์ถูกบาดเจ็บสาหัส ลุกแทบจะไม่ได้ แล้วเขาก็ร่ายมนตร์ ลูบตัวทีเดียวหายหมด ลุกขึ้นต่อสู้ได้ ท่านคงจะคิดว่านี้ทำไปด้วยจิตวุ่น เป็นตัวกู ของกู อย่าได้คิดอย่างนั้น เมื่อเขารู้ว่าเขาเจ็บป่วย เขาจะตาย จะสู้ไม่ได้ นั้นก็เป็นเรื่องตัวกู ของกู แต่ถ้าเขาคิดด้วยสติปัญญาก็ยังไม่มายมาย แต่เมื่อเขาจะแสดงฤทธิ์ของจิต เขาต้องมีจิตว่าง ต้องลืมความเป็นตัวกูนั้น ต้องบริกรรม ต้องกระทำพิธีตามเรื่องของการรวบรวมกำลังจิต ซึ่งเป็นจิตว่างแล้วจึงจะแสดงฤทธิ์ได้ แล้วจึงจะลูบตัวให้หายกระดูกหักหายอะไรต่างๆ แล้วก็ลุกขึ้นรบได้ต่อไป อาตมาจึงยืนยันว่าแม้แต่ฤทธิ์ก็ต้องแสดงด้วยจิตว่าง ฤทธิ์ของพระอรหันต์ไม่ต้องพูดถึง ฤทธิ์ของพระพุทธเจ้าไม่ต้องพูดถึง แม้แต่ฤทธิ์ของยักษ์ของมารนี้ก็ยังต้องแสดงด้วยจิตว่าง เป็นอันว่าไม่มีอะไรที่จะไม่ทำด้วยจิตว่าง ถ้าเราต้องการประโยชน์อันแท้จริง ประกอบไปด้วยธรรม สมควรแก่มนุษย์ที่มีปัญญาเอาตัวรอดได้
เนี่ยคือข้อปลีกย่อยเกี่ยวกับเรื่องของความว่าง ทุกแง่ทุกมุมที่จะทำความเข้าใจกันเสียใหม่ ในฐานะที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา อย่าลืมว่าความว่างอย่างยิ่งนั้นคือนิพพาน เราได้ยินได้ฟังว่า
นิพพานัง ปรมัง สุญญัง
ว่างถึงที่สุดนั้นคือนิพพาน
เดี๋ยวนี้เราไม่ได้พูดถึงว่างถึงที่สุด เรากำลังพูดถึงความว่างชนิดที่จะเอาเป็นเครื่องมือในการทำการงาน ในการที่จะเป็นอยู่ในโลกนี้โดยไม่เป็นทุกข์ งั้นขอให้กำหนดกฎเกณฑ์เหล่านี้ไว้ให้ดีๆ จะได้เข้าใจถูกต้อง อาตมาจึงขอยืนยันต่อไปตามเดิมว่า ให้ชาวนาทุกคนทำงานด้วยจิตว่าง ให้กรรมกรทุกคนทำงานด้วยจิตว่าง แม้ท่านจะตีลูกตีหลานก็จงตีด้วยจิตว่าง แม้ท่านจะสู้คดีเป็นความกันที่ศาลก็จงทำไปด้วยจิตว่าง จะได้เปรียบโดยทุกประการ แม้จำเป็นจะต้องด่าใครสักคำ ถ้าจำเป็นมีสติปัญญาที่ถูกต้องก็จงด่าด้วยจิตว่าง อย่าทำไปด้วยจิตที่วุ่น ประกอบไปด้วยกิเลสดังที่ได้กล่าวแล้ว นี่ยังคงยืนยันอยู่อย่างนี้ตามเดิมว่า เรื่องจิตว่างเป็นอย่างนี้ เป็นของขวัญที่พระพุทธเจ้าท่านได้ประทานไว้สำหรับคนที่วุ่น สำหรับคนที่ร้อน ขอให้สนใจกันในรูปนี้ ความเข้าใจผิดอย่างนี้มีมากเป็นพื้นฐานจึงยังเข้าใจไม่ได้ แต่อาตมาเชื่อว่าสักวันหนึ่งจะต้องเข้าใจได้
นี้เวลาที่เหลือต่อไปนี้ก็จะได้กล่าวถึงหมวดธรรมะที่จะช่วยเราในการทำงานด้วยจิตว่าง ปัญหาอันแรกเกิดขึ้นปะทะเราอยู่ข้อหนึ่งคือว่า พุทธบริษัทในเมืองไทยแทบทั้งหมด มีความเข้าใจอยู่ว่า หลักธรรมะชั้นสูงคือเรื่องโลกุตตรธรรมนั้นต้องแยกออกไปเด็ดขาดจากเรื่องของชาวบ้านจากเรื่องของโลก เนี่ย เขาถือกันอย่างนั้น เขาเชื่อกันอย่างนั้น คือแยกโลกุตตรธรรม หรือข้อปฏิบัติธรรมะชั้นสูงนี้ออกไปจากชาวบ้านเลย ไม่ใช่เรื่องของชาวบ้าน ไม่ใช่เรื่องของชาวโลก นี้มันผิด เดี๋ยวจะพิสูจน์ให้เห็นว่าผิดอย่างไร โดยที่แท้นั้นจะต้องเป็นสิ่งเดียวกันเสมอ จะผิดกันบ้างก็แต่เพียงปริมาณ จะผิดกันบ้างก็แต่เพียงระดับ หลักธรรมอันใดที่ใช้ปฏิบัติเพื่อไปนิพพาน เพื่ออยู่เหนือโลก หลักธรรมอันนั้นก็ยังจะต้องใช้ แม้สำหรับคนที่อยู่ในโลก เพราะว่าความทุกข์มันเหมือนกัน กิเลสมันเหมือนกัน ปัญหามันเหมือนกัน อย่างว่าพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราไม่อาจจะแยกว่าพระรัตนตรัยชนิดนี้เป็นของชาวบ้าน พระรัตนตรัยชนิดนี้เป็นของภิกษุที่อยู่ป่า หรือที่จะปฏิบัติเพื่อออกไปจากโลก มันก็ต้องเป็นพระรัตนตรัยเดียวกันนั่นแหละ ขอแต่ให้ถูก ให้ตรง ให้จริงเท่านั้น พระรัตนตรัยสำหรับชาวบ้านก็อย่างนั้น พระรัตนตรัยสำหรับภิกษุอยู่ป่าก็อย่างนั้น พระรัตนตรัยสำหรับพระอริยเจ้าในขั้นต้นๆ ก็อย่างนั้น ทำไมจะต้องไปแยก
อิทธิบาท 4 ซึ่งรู้จักกันดีว่าเป็นธรรมะสำหรับทำความสำเร็จ ทีนี้อิทธิบาท 4 นี้ ชาวบ้านต้องใช้ และท่านก็รู้กันอยู่แล้ว และยอมรับกันอยู่แล้วว่า ชาวบ้านนี้ใช้อิทธิบาท 4 ได้ในการทำหน้าที่การงานให้สำเร็จ และอิทธิบาท 4 นั้นมันก็อย่างเดียวกันที่จะใช้ปฏิบัติเพื่อไปนิพพาน อิทธิบาทเพื่อไปนิพพานมีความหมายอย่างไร มีอะไรอย่างไร มันก็ยังคงเอามาใช้กันกับชาวบ้านหรือกิจการของชาวบ้านได้ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา 4 อย่างนี้ หากแต่่ว่ามันจะมีปริมาณมากน้อยกว่ากันหรือคนละระดับ แต่เนื้อแท้เหมือนกัน ลองอ่านถึงลักษณะของอิทธิบาทที่เป็นในขั้นสูงสุด พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นๆ ย่อมเจริญอิทธิบาท ประกอบพร้อมโดยธรรม เครื่องปรุง มีสมาธิอันสัมปยุตด้วยฉันทะเป็นประธาน ด้วยวิริยะเป็นประธาน ด้วยจิตตะเป็นประธาน ด้วยวิมังสาเป็นประธาน แยกไปทีละข้ออย่างนี้ ว่า ด้วยอาการอย่างนี้ฉันทะของเราจักมี ความหดเหี่ยวจักไม่มี ความหยุดนิ่งจักไม่มี ความหยุดอยู่ในภายในจักไม่มี ความฟุ้งออกไปภายนอกจักไม่มี เราเป็นผู้มีสัญญาในกาลก่อนและเบื้องหน้าอยู่เสมอ จนจัดให้เป็นไปได้ว่าก่อนนี้ฉันใดต่อไปก็ฉันนั้น ต่อไปฉันใดก่อนหน้านี้ก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใดเบื้องบนเช่นนั้น เบื้องบนฉันใดเบื้องล่างเช่นนั้น กลางคืนฉันใดกลางวันฉันนั้น กลางวันฉันใดกลางคืนฉันนั้น เธอย่อมอบรมจิตอันมีแสงสว่างด้วยจิตอันเปิดแล้ว ไม่มีอะไรพัวพันให้เจริญอยู่ในอาการอย่างนี้ นี่เรียกว่าบรรยายคุณสมบัติของอิทธิบาทขั้นสูงสุดที่สุดแล้ว ที่จะบำเพ็ญในขณะที่จะบรรลุมรรคผล แต่แล้วท่านลองพิจารณาดูว่าทุกๆ ประโยค หรือทุกวลีนี่มีความหมายเหมือนกับที่จะเอามาใช้กับเรื่องของฆราวาส เขาต้องบำเพ็ญอิทธิบาทในลักษณะที่เป็นสมาธิ มีความรู้สึกที่เป็นฉันทะ หรือวิริยะ หรือจิตตะเป็นต้นนั้นน่ะ เป็นประธานของสมาธินั้น จนว่าความหดเหี่ยวท้อแท้ก็ไม่มี ความหยุดนิ่งก็ไม่มี ความหยุดอยู่ในภายใน สยบอยู่ในภายในก็ไม่มี ความฟุ้งซ่านออกไปภายนอกก็ไม่มี แต่ก่อนอย่างไรเดี๋ยวนี้อย่างนั้น ก็หมายความว่าความสม่ำเสมอ เราไม่ให้เป็นบุคคลที่ว่าที่แล้วมากล้าหาญทีหลังอ่อนแอที่นี้ไม่มี ก่อนเป็นอย่างไรเดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้น เบื้องบนอย่างไรเบื้องล่างก็ฉันนั้น กลางวันอย่างไรกลางคืนก็ฉันนั้น หมายความว่าเหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืนสำหรับความมีอิทธิบาท มีจิตที่มีแสงสว่าง มีจิตที่เปิดแล้ว คือไม่มีกิเลสมาปิด ไม่มีอะไรพัวพัน นี่ แม้ว่าจะเป็นสำนวนที่สูงถึงขนาดว่ามีจิตอันเปิดแล้วไม่มีอะไรมาพัวพัน ก็ยังเอามาใช้ได้กับว่าเมื่อเราทำการงานทำไร่ทำนานี้เราก็ต้องมีจิตอย่างนี้ งั้นท่านจงเชื่อตามที่ท่านมองเห็นอยู่บ้างแล้วว่า ธรรมะชั้นสูงที่ไปนิพพานเช่นอิทธิบาท 4 นี้ก็เอามาใช้เป็นเรื่องของชาวบ้านได้
ทีนี้ธรรมะ เช่น มรรคมีองค์ 8 มรรคมีองค์ 8 ความถูกต้อง 8 ประการนั้น แม้แต่คนเพิ่งจะเริ่มศึกษาก็รู้ได้ว่านี่ชาวบ้านปฏิบัติได้ ทั้งๆ ที่มัชฌิมาปฏิปทานี้ พระพุทธองค์ตรัสไว้ในฐานะเป็นข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน นี่แสดงว่าข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานโดยตรงนั้นน่ะใช้กับชาวบ้านชั้นต้น ชั้นต่ำที่สุดก็ได้ เช่นมรรคมีองค์ 8 ทีนี้เรื่องที่สูงสุดเช่นเรื่องสุญญตา พระพุทธเจ้าก็ตรัสแก่ฆราวาสกลุ่มนั้นในฐานะที่ยืนยันว่าเหมาะสำหรับฆราวาส เพราะฉะนั้นเลิกเข้าใจว่ามีธรรมะที่ต้องแบ่งแยกเป็นของพระอย่างหนึ่งของชาวบ้านอย่างหนึ่ง ของผู้ที่จะไปนิพพานอย่างหนึ่ง ของผู้ที่จะต้องทำการงานในโลกอย่างหนึ่งนี้ เลิกความคิดอย่างนี้กันเสียที มันเป็นความคิดที่เขลา มันผิดกันแต่เพียงผิวภายนอกที่เปลือก เนื้อแท้มันเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นอาตมาจึงยกเอาหมวดธรรม ซึ่งหลีกไม่พ้นจะต้องเป็นหมวดธรรมสำหรับปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานนี่แหละ มาเป็นหลักวางไว้สำหรับการปฏิบัติของฆราวาสที่จะทำมาหากิน ที่จะต้องทำงานด้วยจิตว่างดังที่กล่าวแล้ว จึงพูดเป็นหัวข้อว่า เมื่อต้องการจะทำงานด้วยจิตว่าง ก็จงใช้หลักของโพชฌงค์ 7 ประการ เป็นหลักปฏิบัติในการที่จะทำงานด้วยจิตว่าง บางคนจะสะดุ้งเพราะว่าโพชฌงค์ 7 ประการนั้น เป็นองค์สำหรับการตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ เสร็จแล้วทำไมมาว่าเป็นเรื่องสำหรับทำมาหากินของชาวบ้าน เนี่ย ขอให้ฟังกันต่อไป แต่อย่าลืมว่า หมวดธรรมทั้งหลายที่ได้ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นแล้วนั้นเป็นหมวดธรรมในขั้นบรรลุนิพพาน แล้วก็เอามาเป็นเรื่องของชาวบ้านได้ นี่โพชฌงค์ 7 ประการนี้ก็เหมือนกัน ขอแต่เพียงว่าให้เข้าใจความหมายของธรรมะนั้นๆ ให้กว้างขวาง ให้ถูกต้องและให้สมบูรณ์ จนรู้ว่าเราจะจัดเอามาปรับให้เหมาะกันกับการงานของชาวบ้านได้อย่างไร ฉะนั้นอิทธิบาท 4 ก็ยกตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าใช้กันได้ดีทั้งผู้ที่จะไปนิพพาน และผู้ที่จะทำการงานที่บ้าน ทีนี้สำหรับเรื่องโพชฌงค์ 7 ประการนั้น เราต้องถือว่าสิ่งที่เรียกว่าโพชฌงค์นี้ แปลว่า องค์แห่งการตรัสรู้ คือเครื่องมือสำหรับทำงานให้สำเร็จเป็นมรรคเป็นผลในทุกชนิดและทุกกรณี ท่านจงถือว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสธรรมมะนี้ไว้ในฐานะที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จเป็นมรรคเป็นผลในทุกชนิดและทุกกรณี ทุกชนิดและทุกกรณีนี้หมายความว่าทั้งทางโลกทั้งทางธรรมทั้งอย่างต่ำทั้งอย่างสูง เราถอดเอาใจความมาใช้ให้เหมาะสมแก่เรื่องอย่างที่เรียกว่าประยุกต์ให้ถูกกันกับระดับเท่านั้นเอง
ทีนี้เราจะดูตัวสิ่งที่เรียกว่าโพชฌงค์ไปตามลำดับ
ข้อที่ 1 เรียกว่าสติ สติโพชฌงค์ หรือสติสัมโพชฌงค์ ตัวแท้ก็คือสติ สตินี้คือการระลึกอย่างทั่วถึง รอบคอบ ในทุกสิ่งที่เกี่ยวกับตน เกี่ยวข้องกับตน หรือว่าทุกสิ่งที่อาจจะระลึกออกมาได้ เนี่ยคือความหมายแท้จริงของสิ่งที่เรียกว่าสติ ระลึกอย่างทั่วถึงรอบคอบที่สุดว่าอะไร เป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร คืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด เหล่านี้ ในทุกสิ่งที่มันจะเกี่ยวข้องกับตน หรือว่าที่ตนอาจจะระลึกออกมาได้ นี้เป็นอันแรกที่เราจะต้องทำ
นี้อันถัดไปเรียกว่า ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ นี้ก็แปลว่าวิจัยสิ่งนั้นๆ วิจัยธรรมหรือวิจัยสิ่งนั้นๆ นี่หมายความว่าเราเลือก เราวิจัยนี้คือเราศึกษาให้รู้ เพื่อจะเลือกได้สิ่งที่เหมาะกับปัญหาของเรา เหมาะกับสมรรถภาพของเรา เหมาะกับอุปนิสัยของเรา เหมาะกับโรคหรือเหมาะกับทุกข์ของเรา และเราเอามาวิจัยโดยแยบคายอีกทีหนึ่งว่าจะใช้ หรือจะปฏิบัติ หรือจะกระทำให้ถึงที่สุดได้อย่างไร อย่างนี้เรียวกว่า ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
ที่ถัดไปก็คือ วิริยะสัมโพชฌงค์ หมายความว่าหลังจากนั้นก็ใช้ความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง ความอดทน ความพากเพียร ความบากบั่น กระทำสิ่งนั้นหรือสิ่งที่เลือกแล้วนั้นในความควบคุมของสติสัมปชัญญะ และธรรมวิจัยที่กล่าวมาแล้วที่ข้อสอง ไม่มีทางที่จะจิตวุ่นวายขึ้นมาได้ เพราะอำนาจสิ่งนี้
ทีนี้ก็มาถึงข้อที่สี่ที่เรียกว่า ปีติสัมโพชฌงค์ จะต้องมีความพอใจ มีความอิ่มใจ มีความสนุกสนานในการกระทำ หล่อเลี้ยงความพากเพียรนั้นไว้เสมอ มีความพอใจ มีความอิ่มใจ มีความสนุกสนานในการกระทำ ที่ทำงานเพื่องานประกอบไปด้วยคำนี้อยู่เสมอ ให้เป็นกำลังสำหรับการหล่อเลี้ยงความพากเพียรอยู่เสมอ อย่าได้ไปอาศัยกำลังแห่งตัวกู ของกู คือเรื่องของจิตวุ่นหรือกิเลสนั้นเป็นอันขาด อย่าไปเอากำลังของตัวกู ของกู ที่พลุ่งพล่านด้วยความกระหาย ความทะเยอทะยานอย่างนั้นมาเป็นเครื่องหล่อเล้ียงเป็นอันขาด แต่ให้หล่อเลี้ยงไว้ด้วยความพอใจที่เป็นธรรม ความอิ่มใจที่เป็นธรรม ความสนุกสนานที่เป็นธรรม ที่เกิดจากการกระทำนั้นๆ มาหล่อเลี้ยงไว้เสมอ นี้วิริยะพากเพียรนี้ก็เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เพราะปีติหล่อเลี้ยงไว้
ทีนี้อันที่ถัดไป เรียกว่าปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ นี้ปรับปรุงทุกๆ อย่างที่แล้วมาให้มันเข้ารูป ให้มันลงรูป ให้มันกลมกลืนกันเป็นอันดี ที่ภาษาธรรมะเราเรียกว่า สมังคี หรือธรรมะสมังคี เพราะมีธรรมะหลายข้อ ธรรมะเหล่านั้นจะต้องถูกปรับปรุงกันให้ดีจนกระทั่งกลมเกลียวเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่แยกกันอยู่เป็นสิ่งๆ อย่างนี้เรียกว่าการเข้ารูปหรือการลงรูปของธรรมะนั้นๆ ซึ่งเราปฏิบัติอยู่ หรือของการงานการทำมาหากินอะไรก็ตามที่เรากำลังกระทำอยู่ ไม่มีการกระทบกระทั่งภายใน ไม่มีการกระทบกระทั่งภายนอก ไม่มีการถอยกลับเพราะความที่มันลงรูปเป็นอันดี
ทีนี้โพชฌงค์ข้อที่ 6 ก็คือ สมาธิสัมโพชฌงค์ นี้ถึงระยะการที่จะต้องทุ่มเทกำลังจิตทั้งหมดทั้งปวงลงไปในงานนั้น หรือในการกระทำนั้น เป็นสมาธิที่เต็มเปี่ยมที่มีกำลังกล้าแข็ง มีคุณสมบัติ 3 ประการคือว่า บริสุทธิ์ เรียกว่า ปริสุทโธ บริสุทธิ์ ไม่มีความรู้สึกสงสัย ระแวง ลังเล รังเกียจ อะไรนี้ แล้วก็สมาหิโต คือ ความมั่นคงไม่วอกแวก มีพลังที่แท้จริง คือพลังจากจิตว่าง เป็นเครื่องสร้างความมั่นคง และก็มีกัมมนีโย คืออ่อนโยน นิ่มนวล ควรแก่การงานไปทั้งหมด ที่เรียกว่า Active ที่สุด นี่คือความหมายของคำว่าสมาธิสัมโพชฌงค์
อันสุดท้ายเรียกว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันนี้แปลว่า เฉย ก็จริง แต่มีความหมายพิเศษ คือ ปล่อยให้สิ่งที่ลงรูปได้ที่แล้ว ทุ่มเทสมาธิเต็มที่แล้วนั้น เป็นไปตามเรื่องของมัน คือปล่อยให้สิ่งที่ได้ที่ ได้ที่ดีแล้วนั้น แล่นฉิวไปตามกฎเกณฑ์ของมัน อาการของผู้นั้นมีอาการเหมือนกับเฉย มันเหมือนกับว่าเราตระเตรียมรถของเราหรืออะไรต่างๆ ที่เกี่ยวกับรถของเราได้ที่แล้ว ก็ขับเฉย เพียงแต่ถือพวงมาลัยเฉย รถก็แล่นเฉย ฉิว ไปเรื่อยจนกว่าจะถึงที่สุด ใจความสำคัญอยู่ตรงที่รอได้ คอยได้ ด้วยความสงบจนกว่าจะถึงที่สุด คนสมัยนี้รออะไรไม่ได้ คอยอะไรไม่ได้ มีจิตใจเร่าร้อนเดือดพล่านอยู่เสมอ ไม่มีอุเบกขาในทุกกรณี นี่มันขัดกันอย่างยิ่ง
ท่านลองคิดดูว่าธรรมมะ 7 ประการนี้ สำหรับการตรัสรู้เป็นพระอรหันต์นั้นน่ะ เอามาใช้ในการทำมาหากิน หรือทำงานด้วยจิตว่างของชาวนาของกรรมกรได้อย่างไร ของลูกเด็กๆ ที่จะเล่าเรียนเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างไร ของคนหนุ่มคนสาวที่จะตั้งตัวตั้งตนได้อย่างไร เขามีโพชฌงค์ที่ 1 คือ ความรำลึกรอบคอบไปทุกสิ่งทุกด้านทุกแง่ทุกมุม เขามีโพชฌงค์ข้อที่ 2 คือเลือกเอาด้วยสติปัญญาที่เหมาะแก่อุปนิสัยเป็นต้นของเขา แล้วเขาเป็นคนจริงระดมทุ่มเทกำลังความพากเพียรอะไรลงไปจริงๆ แล้วเขาฉลาดที่จะรักษากำลังของความเพียรนี้ไว้ได้ด้วยสร้างความพอใจหรือปีติที่เป็นธรรมหล่อเลี้ยงไว้เรื่อย ความพากเพียรก็มีแต่จะยิ่งมีกำลังมากขึ้น แล้วเขาก็จัดให้มันลงรูป เพราะว่าถึงระยะที่จะต้องจัดให้มันเข้ารูปลงรูป ด้วยความเฉลียวฉลาดให้ทุกสิ่งที่มันเกี่ยวข้องกัน ทำทุกสิ่งที่มันเกี่ยวข้องกันเนี่ยให้เข้ารูปหรือลงรูป เป็นธรรมสมังคี คือธรรมทั้งหลายเข้ารูปลงรูปกัน นี่ก็คือว่าสิ่งต่างๆ ที่เขาทำนั้นมันเข้ารูปลงรูปกัน แล้วเขาจึงระดมทุ่มเทกำลังหรือพลังทางจิตลงไปทั้งหมดจนถึงที่สุด แล้วเขาก็อดทนอยู่ด้วยความสงบเสงี่ยมจนกว่าจะถึงนาทีที่เกิดผลโดยสมบูรณ์ นี่หลักของโพชฌงค์เป็นอย่างนี้
ขอยืนยันว่านี่เป็นหลักที่จำเป็นแก่คนทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ จะเป็นคนชนิดไหน ประเภทไหน ระดับไหนก็ตาม ยังเป็นฆราวาสครองเรือนอย่างยิ่งก็ตาม ต้องใช้หลักเกณฑ์อันนี้ทำการงานจึงจะเรียกว่า ทำการงานอยู่ด้วยจิตว่าง ไม่มีกิเลสเข้ามาแทรกแซงในการงานนั้น จะทำไร่ทำนาค้าขาย หรือว่าเด็กๆ จะตั้งต้นเรียนหนังสือตั้งตัวก็พยายามชี้แจงให้เขารู้จักใช้หลักเกณฑ์ 7 ประการนี้
ทีนี้คนที่จะปฏิบัติธรรมะวิปัสสนากรรมฐานไปเพื่อบรรลุมรรคผลก็ต้องใช้หลักเกณฑ์ 7 ประการนี้ ที่แม้แต่เป็นพระพุทธเจ้าแล้วท่านก็ยังพอพระทัยของท่าน จนเมื่อท่านเจ็บป่วยประชวรขึ้นมายังต้องเรียกภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งมาออกชื่อธรรมะ 7 ประการนี้ให้ท่านได้ยิน แล้วก็ท่านก็หายป่วยเป็นปลิดทิ้งในขณะนั้น ซึ่งท่านทั้งหลายที่เคยอ่านเรื่องในพระคัมภีร์มาแล้วย่อมได้ยินได้ฟังมากมาย จนถึงกับเกิดพิธีธรรมเนียมว่า คนเจ็บหนักเอาพระมาสวดโพชฌงค์ 7 ประการให้ฟังอย่างนี้เป็นต้น มันดีมากตั้งแต่ต้นจนปลายอย่างนี้ งั้นขอให้พยายามศึกษากันให้ละเอียดลออ ที่จริงก็เป็นหมวดธรรมะที่ได้ยินได้ฟังได้ศึกษาเล่าเรียนกันอยู่ในโรงเรียนนักธรรมตามวัดตามวาทั่วไปแล้ว แต่เชื่อว่ายังจับเอาใจความ หรือว่าสาระที่แท้จริงไม่ได้ จึงเอามาใช้เป็นประโยชน์ไม่ได้ ประยุกต์ไม่ได้ Apply ไม่ได้ อะไรทำนองนี้ อาตมาจึงเอามายืนยันนักหนาอย่างนี้ก็เพราะว่ามีวิธีเดียวนี้ที่ดีที่สุดที่ลัดสั้นที่สุด และทำได้ง่ายๆ ที่สุดที่จะทำงานด้วยจิตว่าง ในเมื่อได้ใช้หมวดธรรมะ 7 ประการนี้ เพราะว่าหมวดธรรมะ 7 ประการนี้ ก็คือ การกระทำไปด้วยความว่างหรือจิตว่างนั่นเอง หรือว่าในขณะที่มีจิตว่างแล้วจะประกอบอยู่ด้วยธรรมะ 7 ประการนี้ได้ง่ายที่สุด
เหมือนกับที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เมื่อจิตว่าง เมื่อนั้นสมบูรณ์อยู่ด้วยสติสัมปชัญญะเป็นต้น สมบูรณ์อยู่ด้วยปัญญาเป็นต้น และเป็นสมาธิอยู่ตามธรรมชาติในตัวมันเอง คือ ในจิตว่างนั้น งั้นทีนี้เรามาทำให้เป็นระบบที่ดีที่รัดกุม ให้สบหลักวิชา ให้เห็นชัด โดยไม่ต้องเชื่อคนอื่น ไม่ต้องอาศัยศรัทธางมงาย อาศัยปัญญา ตามแบบของพุทธศาสนาอยู่เสมอแล้ว ก็จงใช้หลักธรรมะเหล่านี้ คือ 7 ประการนี้ที่เรียกว่าโพชฌงค์ ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำงานโดยจิตว่าง มีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่าง
ในที่สุดนี้ซึ่งเวลาจะหมดลงนี้ก็ขอทบทวนความจำเพียงข้อเดียวว่า อย่าลืมว่าหลักโลกุตตรธรรมนั้นใช้ได้อย่างเดียวกันแม้กับการทำการงานของคนที่อยู่ในโลก เพราะว่าคนที่อยู่ในโลกก็คือคนที่ต้องการจะข้ามขึ้นจากโลก เพราะว่าถ้าไม่ต้องการข้ามขึ้นจากโลก ก็คือ จมอยู่ในกองทุกข์ เมื่อต้องการจะข้ามขึ้นจากโลกก็คือมุ่งหมายโลกุตตระ เพราะฉะนั้นหลักของโลกุตตระจึงเป็นหลักสำหรับความดับทุกข์ ดับทุกข์ทั้งปวง ดับทุกข์ในทุกกรณี มีความหมายครอบคลุมเป็นอันเดียวกันหมดตั้งแต่เบื้องสูงที่สุดลงมาจนถึงเบื้องต่ำที่สุด อย่าได้แยกเป็นธรรมะ 2 ฝ่ายว่า ธรรมะชาวบ้าน ธรรมะที่วัด ธรรมะสำหรับไปนิพพาน ธรรมะสำหรับจมอยู่ในโลก ไม่มีธรรมะข้อไหนที่พระพุทธเจ้าได้วางไว้สำหรับให้คนจมอยู่ในโลก มีแต่ธรรมะที่จะถอนคนขึ้นเหนือโลกทั้งนั้น แม้ว่าให้ทำมาหากิน นี่ก็เพื่อให้ฉลาดจนถอนตนขึ้นออกไปจากโลก แล้วเมื่อการทำมาหากินผิดวิธีนำมาซึ่งความทุกข์แล้ว ก็จงใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือสำหรับทำให้ถูกวิธี อย่าให้การทำมาหากินนั้นเป็นทุกข์ขึ้นมาได้
เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษาเรื่องจิตชนิดหนึ่งซึ่งธรรมชาติมีไว้ให้เราเป็นพื้นฐาน เราควบคุมให้ดี รักษาให้ดี จัดแจงให้ดี พัฒนามันให้ดี มันก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่เรา ไม่มีสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ยิ่งไปกว่านี้แล้ว และจิตว่างนี้จะเป็นเหมือนกับสารพัดนึก คือใช้อะไรก็ได้ในกรณีใดที่เป็นปัญหาแล้วจะแก้ได้หมด ฉะนั้นอาตมาจึงขอยืนยันไปตามเดิมว่า ทำงานด้วยจิตว่าง
และในฐานะที่ว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่มาหยกๆ อยากจะขอส่งความสุขปีใหม่นี้ด้วยจิตว่าง โดยคำที่เคยยืนยันแล้วผูกขึ้นเป็นคำกลอนว่า
จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง
ยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น
กินอาหารของความว่างอย่างพระกิน
ตายเสร็จสิ้นแล้วในตัวแต่หัวที
ข้อความนี้ก็ได้กล่าวอภิปรายกันแล้วในการบรรยายครั้งที่แล้วมา นี่เอามากล่าวอีก แต่ว่าฝากไว้ จำง่ายในรูปของบทกลอน ว่าทำงานทุกอย่างทุกชนิดจงทำด้วยจิตว่าง แล้วได้ผลงานมาเท่าไหร่อย่างไรอย่ากล้าสำคัญมั่นหมายว่าเป็นของตน หรือของกู จงยกไว้ให้แก่ความว่างของธรรมชาติ นั่นแหละจะปลอดภัย นั่นแหละมันจะไม่ขบไม่กัดไม่อะไรเรา ที่เราจะกินผลงานนั้น ใช้ผลงานนั้น ก็เรียกว่ากินของความว่าง เมื่อมีจิตว่าง ก็กินของความว่างได้ ไม่มีอะไรที่จะมาขัดขวางได้ เหมือนพระกินอาหารของความว่างนั้นหมายความว่า ภิกษุที่แท้จริงย่อมสำนึกในความไม่มีตัวตนหรือของตนอยู่เสมอ โดยบทปัจจเวกที่มีความหมายอย่างนั้น
นิสสัตโต นิสชีโว สุญโญ
ไม่ใช่ชีวะ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ว่างเปล่าจากตัวตน
กำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนื่องนิจ
ทั้งอาหารที่กินและทั้งตัวผู้กินอาหารนั้นด้วย
อย่างนี้เรียกว่ากินอาหารของความว่าง เพราะกินได้ด้วยจิตว่าง ไม่มีความทุกข์เลย
ส่วนความตายนั้นหมดสิ้นกันไปแล้วตั้งแต่ทีแรก ตั้งแต่ที่มีจิตว่างมาแต่เดิม เพียงแต่เราหลงไปทำให้จิตวุ่นให้โง่ขึ้นมา ก็มีตัวตนขึ้นมาอีก พอจิตวุ่นระงับไป กิเลสระงับไป อุปาทานระงับไป มันก็ว่างไปตามเดิม ไม่มีตัวตนอีก เมื่อไม่มีตัวตนมันก็ไม่ตาย ไม่มีความตาย เนี่ยจึงบอกให้ทราบว่าที่แท้ ที่ถูก ที่จริงนั้น ความตายนั้นเป็นสิ่งที่มิได้มีมาเลย มิได้มีมาแล้วแต่หัวที ทีแรกโน้น แต่เพราะความหลงความโง่ของคน เข้าไปยึดมั่นในสิ่งเหล่านี้ ความตายจึงมีขึ้นมาบ่อยๆ คือกลัวตาย เป็นปัญหาเพราะความเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ขึ้นมาบ่อยๆ แต่ถ้าเราเป็นอยู่ด้วยจิตว่างทำงานด้วยจิตว่าง กินอาหารของความว่างอย่างที่ว่าแล้ว สิ่งที่เรียกว่าความตายจะสิ้นสุดมาแล้วตั้งแต่ทีแรก ไม่มารบกวนอีกต่อไป ไม่มีตัวเราที่จะต้องตาย ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าอะไรเป็นตัวเรา
เนี่ยคือคำบรรยายตอนสุดท้ายที่เรียกว่าหลักธรรมะที่จะช่วยให้เราสามารถทำงานด้วยจิตว่าง มีอยู่ดังที่กล่าวมานี้ นับว่าอาตมาได้กล่าวสิ่งที่ได้ตั้งใจไว้ว่าจะกล่าวทั้ง 3 ขั้น 3 ตอน จบไปแล้วโดยบริบูรณ์ในวันนี้ ถึงหวังอยู่ว่าท่านทั้งหลายที่หวังจะได้ประโยชน์จากการบรรยายนี้จะได้นำไปพินิจพิจารณาดู โดยไม่ต้องเชื่ออาตมาแม้แต่ประการใด คงเชื่อตัวเองได้ตามหลักของพุทธศาสนา จึงจะขอให้พิจารณาอย่างละเอียดแยบคาย และนั่นแหละก็จะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า รู้เอง เห็นเอง ปฏิบัติเอง ช่วยตัวเองได้ เป็นหลักเกณฑ์ของพุทธศาสนาโดยแท้จริง อาตมาขอยุติการบรรยายในวันนี้ เพราะความสมควรแก่เวลาเพียงเท่านี้