แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านมีผู้มีใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายธรรมะในวันนี้ อาตมาได้ตั้งหัวข้อว่า ธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือสร้างคน สร้างชาติ หรือสร้างโลกในที่สุด การบรรยายในวันนี้ขอให้ถือว่าเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะมองกันในแง่ที่ว่าเป็นธรรมสากัจฉา (นาทีที่ 0.55) ก็ได้ หรือจะเป็นปุจฉา วิสัชนาก็ได้แล้วแต่จะเรียก ข้อนั้นไม่สำคัญ ข้อสำคัญก็คือ ให้สำเร็จประโยชน์ในการที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวอันนี้ ดังนั้นจะเป็นธรรมสากัจฉาหรือจะเป็นปุจฉา วิสัชนาก็ย่อมจะเป็นอย่างที่เรียกว่า เอตามังคลตมัง คือ เป็นมงคลสูงสุดแก่โดยเท่ากัน แล้วอาตมาอยากจะซ้อมความเข้าใจหรือตระเตรียมจิตใจของท่านทั้งหลายว่า ขอให้รับฟังการบรรยายนี้ในลักษณะที่เรียกว่าเป็น ขออภัยที่ต้องใช้คำธรรมดาที่เรียกว่า คุยกันในระหว่างพุทธบริษัทกับพุทธบริษัท ระหว่างพุทธบริษัทกับพุทธบริษัท ก็หมายความว่า ทุกคนเป็นพุทธบริษัท ทั้งผู้ฟัง ทั้งผู้บรรยายและผู้ซักถาม ที่นี้ตรงนี้อยากจะขอแทรก ขอโอกาสแทรกอะไรสักนิดหน่อยว่า คำว่า พุทธบริษัท นี่ คนส่วนมากอาจจะไม่ถือเอาความหมายแบบเต็มได้เต็ม งั้นถ้าจะพูดกันตรง ๆ ขออภัยที่ต้องใช้คำชาวบ้านว่า แฟนของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับเรื่องนี้ อยากจะขอเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ที่สวนโมกข์มีเด็กๆ ชั้นประถม หลายโรงเรียนผลัดกันไปรับการอบรมโดยเฉพาะเมื่อทำพิธีพุทธมามะกะ เมื่อถามเด็กเหล่านี้ว่า อยากเป็นพุทธบริษัทไหม เค้างง พอถามว่า อยากเป็นพุทธมามะกะไหม ใครอยากเป็นพุทธมามะกะยกมือ บางคนหน้าซีดๆ รู้สึกว่ากลัว พอถามว่า ใครอยากเป็นแฟนพุทธเจ้าไหม ยกมือสลอน ผมครับๆ เต็มไปหมด นี่ขอให้เข้าใจว่า คำพูดนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อยเลย แต่เป็นเครื่องวัดว่าในประเทศไทยเรานี้ยังรู้จักความหมายของคำว่าพุทธบริษัทหรือพุทธมามะกะอยู่น้อยมาก จะน่าภูมิใจหรือจะน่าสลดใจก็ลองคิดดูก็แล้วกัน งั้นในที่นี่เราเรียกกันว่า เราพูดกันอย่างแฟนของพระพุทธเจ้า เหมือนที่เรียกใช้เรียกกับเด็กๆจะเหมาะที่สุด เพราะว่า เรามีความรับผิดชอบร่วมกันในกรณีเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธศาสนา ขอกล่าวไว้เป็นข้อสังเกตุเกี่ยวกับคำๆ นี้ด้วย
ที่นี้ถ้าจะมองกันในอีกแง่หนึ่ง จะเรียกว่าเป็นการถามตอบเพื่อความเข้าใจแก่ท่านทั้งหลาย อย่างที่เรียกกันว่า แบบสัตะราวาที (นาทีที่ 4.42) นี้ก็ได้ ก็ยังได้ เพราะบรรดาท่านผู้ซักถามเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอาจารย์ของคนทั้งบ้านทั้งเมืองด้วยกันทั้งนั้น คือ เป็นการสนทนาระหว่างบุคคลที่ทั่วไปเรียกว่า อาจารย์ มากกว่า ที่นี้ก็เป็นสักกะวาทีหรืออุประวาที 5.06 ซึ่งมีความมุ่งหมายตรงกันในข้อที่จะมาช่วยด้วยกัน ซักไซร้ข้อความที่ลึกซึ้งให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้ง กลายเป็นของง่ายตามแบบที่เรียกที่วัดว่า สักกะวาทีปะราวาที 5.20 แต่แล้วทั้งหมดนี้ก็ไม่พ้นจากการช่วยกันทำความเข้าใจให้แก่กันและกันในระหว่างพุทธบริษัท ที่ต้องเอาข้อนี้มากล่าวก็เพื่อว่าเราจะได้คิดถึงข้อนี้แล้วปรับปรุงการบรรยายธรรมด้วยการอบรมสั่งสอนธรรมะนี้ให้เป็นในรูปที่ได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น เรายึดหลักเกณฑ์อันนี้ เพราะว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าใช้หลักเกณฑ์อันนี้ เพราะว่า หลักเกณฑ์อันนี้จะไม่เป็นช่องทางให้เกิดบันดาลโทสะ หรือถ้าสมมติว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเกิดบันดาลโทสะขึ้นมา อีกฝ่ายหนึ่งก็จำต้องเห็นเป็นของขัน หรือว่าจะช่วยกันแก้ไขให้การบันดาลโทสะนั้นหายไป หรือถ้าสมมติว่าเป็นไปได้ถึงกับว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีอาการเหมือนกับที่เรียกว่า ปาดตะไกรได้เลือดขึ้นมา 6.35 ฝ่ายหนึ่งก็พยายามที่จะเป็นเหมือนกับหนัง หนังที่หนาหรือแห้งที่สุด เช่น หนังแรดหรือหนังช้างที่หนาหรือที่แห้งที่สุด คือว่า การหั่นนั้นจะได้เป็นไปอย่างละเอียดถี่ถ้วนและได้ผล ต่างกันกับที่ว่าจะเป็นตะไกรต่อตะไกรแล้วตัดกัน อานิสงส์ของการที่จะคุยกันอย่างแฟนของพุทธบริษัท หรืออย่างปะระวาทีสักกะวาที 7.12 ย่อมเป็นอย่างนี้ ที่เราจะควรคิดดูต่อไปว่าในที่ประชุม เช่น ประชุมสภาเค้ามีอาการอย่างนี้หรือเปล่า ทำไมเราจึงได้ยินได้ฟังว่า เค้าทะเลาะวิวาทกัน เค้าขว้างปากัน และมีการปะทะกันด้วยกำลังแม้ในที่ประชุมที่เรียกว่า รัฐสภาของประเทศบางประเทศ นี่เราจะต้องนึกถึงข้อที่ว่า พระพุทธท่านตรัสว่า ในที่ประชุมที่ไม่มีสัตบุรุษนั้น ไม่เรียกว่า สภา ถ้าเรายังยึดหลักของพระพุทธศาสนาในฐานะที่ว่าเราเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกัน ประชุมกันเพื่อแก้ปัญหาของหมู่ของคณะแล้ว ย่อมจะไม่มีอาการอย่างนั้น ไม่มีอาการที่น่ารังเกียจอย่างงั้น มีแต่ความสำเร็จประโยชน์อย่างเดียว งั้นจึงขอร้องในข้อที่ว่า เราพุทธบริษัทไม่ว่าที่นี่หรือที่ไหน คราวนี้หรือคราวไหน ตลอดกาลเป็นนิจนั้น จะต้องมีการประชุมเพื่อช่วยกันทำประโยชน์แก่พระศาสนาจนสำเร็จ
ที่นี่ข้อที่อยากจะปรับความเข้าใจต่อไป ก็คือว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้กลัวหรืออย่ารู้สึกกลัว อย่าเป็นการกลัวอย่างอื่นๆ เพราะอาตมาจะมาชวนให้ทิ้งโลกหรือให้ทิ้งโลกไปหรือชักชวนกันสร้างโลกพระอรหันต์ขึ้นมาหรืออะไรทำนองนี้ เป็นต้น ถ้ากล่าวถึงธรรมะที่ถูกต้องแล้วจะไม่มีคำว่า ทิ้งโลกหรือหนีโลก เพราะว่าธรรมะที่ถูกต้องนั้นมุ่งหมายจะให้คนอยู่ในโลกด้วยชัยชนะต่อโลก คือ ไม่มีความทุกข์อยู่ในโลกนั่นเอง งั้นอย่าได้นึกเป็นห่วงกันไปว่า จะมีการช่วยให้สละละทิ้งอะไรบางอย่างที่ยังรักใคร่หวงแหนอยู่ ดังนั้นจึงไม่มีอาการเหมือนกันที่ว่าชวนท่านทั้งหลายไปสู่ที่ๆ ไม่พึงปรารถนาหรือสภาพที่ไม่น่าปรารถนา ไม่มีอาการอย่างที่พระเยซูเรียกว่า ตัวถูกรอดรูเข็ม 10.10 คือ กลืนคนอย่างพวกยิวทั่วไปมาสู่ศาสนานี้มันเหมือนกับถูกรอดรูเข็ม หรือเราจะพูดอย่างไทยๆ ว่าไสช้างมารอดรูเข็ม ขออย่าได้คิดนึกไปในรูปนี้เลย อาตมาได้ประสบมาแล้วเป็นอย่างมากว่า พอพูดถึงธรรมะแล้วก็นึกหวาดหวั่น ว่ามีแต่จะเป็นไปในทางที่ขัดขวางความประสงค์ของตัวหรือความชอบใจของตัว เป็นต้น เป็นอันว่าไม่มี แต่ที่จริงนั้นก็จะต้องเข้าใจซะด้วยว่า ต้องไม่เป็นการค้ากำไรแก่เกินควรด้วย ด้วยเรื่องทำบุญนิดหนึ่งแล้วไปสวรรค์ได้วิมานมากมายอย่างนี้เป็นการค้ากำไรเกินควรอย่างนี้ก็ต้องไม่มีด้วย จึงจะเรียกว่า เป็นธรรมะที่ เป็นธรรมะที่เป็นธรรมะ หรือธรรมะของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นจึงสรุปในขั้นนี้การปุจฉา วิสัชนาธรรมะหรือการบรรยายธรรมะนี้จะต้องเป็นไปเพื่อตระเตรียมให้เราพร้อมที่จะเข้าถึงสภาพหรือสถานะที่เหมาะสมมี่มนุษย์ควรจะได้รับ ไม่มีอย่างอื่นมากไปกว่านั้น นี่เป็นข้อปรารภข้อแรกที่จะทำความเข้าใจ เพราะว่า ถ้ามีสิ่งใดบกพร่องอยู่ก็จะได้ช่วยกันนึกแก้ไขให้ดีที่สุด ในฐานะที่มีความรับผิดชอบร่วมกัน
ที่นี้ก็มาถึงคำว่า อาสาฬหะ หรืออาสาฬหบูชา ซึ่งได้แก่ วันวันนี้ อาตมาขอเอาคำนี้มากล่าวก็ ด้วยเหตุที่ว่า มันมีความสำคัญเกี่ยวข้องกันอยู่บ้าง เพราะว่ามีวันสำคัญอยู่ 3 วัน คือ วันมาฆะบูชา วิสาขะบูชา และวันอาสาฬหบูชา วันวิสาขะบูชานั้นอย่างไรเสียก็ต้องถือว่าเป็นวันที่ระลึกแก่พระพุทธเจ้า คือ เป็นวันพระพุทธเจ้าหรือวันของพระพุทธเจ้า ส่วนวันมาฆะบูชานั้นมีปัญหา แต่ถ้าดูโดยเหตุการณ์ส่วนใหญ่แล้วเป็นวันพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายท่านประชุมกันในวันนั้นเป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์ น่าจะเรียกว่า เป็นวันพระอรหันต์ ส่วนวันเช่นวันนี้ คือ วันอาสาฬหบูชานี้มีเหตุการณ์สำคัญก็คือ การแสดงปฐมเทศนา คือ การแสดงหลักพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดเป็นครั้งแรกในโลกที่เรียกกันว่า ปฐมเทศนา และยิ่งกว่านั้นก็มีความหมายเป็นไปในทำนองเหมือนกับว่า ประกาศอาณาจักรอันใหม่อันใดอันหนึ่งออกมา ก็มี 13.49 อาจารย์จึงได้ขนานนามเทศนา ว่า ธรรมจักรกัปสูตร ราวกับว่า พระพุทธเจ้าท่านได้ประกาศอาณาจักรธรรมะของท่านขึ้น เราน่าจะถือเอาเหตุการณ์อันนี้เป็นความหมายสำคัญ เพราะฉะนั้นวันนี้จึงเป็นวันที่ระลึกถึงธรรม เป็นวันของธรรมหรือเป็นวันธรรม เมื่อวันนี้เป็นวันธรรมะหรือเป็นวันธรรม เราประชุมกันในวันนี้ก็จะต้องสนใจในวันนี้ให้มากแต่เป็นพิเศษจึงจะสมกับที่เรานับถือพุทธศาสนา เราจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับธรรมะกันในวันนี้ให้มากเป็นพิเศษกว่าวันอื่นๆ ในปีหนึ่งๆ ดังนั้นเราจึงจะต้องปรารภธรรมะกันในวันนี้ ในที่นี้ หมายความว่า จะต้องทำความเข้าใจกันจนถึงกับสามารถนำเอาธรรมะมาประกอบหรือใช้อยู่ในชีวิตประจำวันทีเดียว ขอร้องว่า อย่าให้เป็นเหมือนกับที่เป็นอยู่โดยมาก คือว่า เอาธรรมะไว้ที่วัด เอาโลกไว้ที่บ้าน เอาโลกหรือเอาตัวเองนี้ไว้ที่บ้าน แล้วธรรมะนั้นเก็บไว้ที่วัด การทำอย่างนี้ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งเป็นการลบหลู่ธรรมะไปในตัวด้วย เพราะว่าธรรมะจะต้องอยู่ที่เนื้อที่ตัวของคน คนนั้นจึงจะเรียกว่า รับรู้ในธรรมะหรือว่าพอใจ สนใจในธรรมะและปฏิบัติธรรมะ อาตมาอยากจะขอใช้คำธรรมดาๆ ว่า ธรรมะต้องอยู่กับตัว แม้ว่ากำลังอยู่ในครัว ในห้องน้ำหรือในที่ทุกหนทุกแห่ง ขอฝากไว้ให้ช่วยกันวิฉัยในข้อนี้มากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงขอวิงวอนให้เราทุกคนต้อนรับธรรมะในวันนี้เป็นพิเศษ ด้วยการคิดถึงธรรมและการคิดที่จะทำให้ธรรมะนั้นเป็นประโยชน์ เป็นผลดีแก่มนุษย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นี่คือ คำปรารภทั่วไปของอาตมา
มีข้อชวนให้คิดเห็นเป็นประการหรือจะทำความเข้าใจให้ละเอียดออกไปอีกอย่างไร ขอเชิญท่านอาจารย์ คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ และท่านอาจารย์อื่นๆ ช่วยอภิปราย หรือช่วยทำความเข้าใจตามสมควร
ถาม : ผมขอกราบเรียนถามพระเดชพระคุณ เมื่อได้ฟังท่านบรรยายว่า คนเราไม่ควรจะทิ้งธรรมะในที่วัด แปลว่า ควรจะให้ธรรมะอยู่กับตัวหรือใช้ธรรมะในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะอยู่ในบ้าน อยู่ในครัว ก็ควรจะมีธรรมะอยู่ ข้อนี้กระผมฟังแล้วก็อยากจะขอความรู้เพิ่มเติม เพราะเหตุว่า คำว่า ธรรมะนั้น ทั่วๆ ไปก็ไม่ทราบว่าจะเอาธรรมะข้อไหน เพราะเหตุว่าในศาสนาพุทธธรรมะนั้นมีมาก ธรรมะของบรรพชิตก็มี ธรรมะของฆราวาสก็มี แล้วก็มีอยู่มากมายหลายอย่าง จะเป็นธรรมะอย่างไรบ้าง ความจริงคำกล่าวเหล่านี้ที่ว่า เอาธรรมะไว้กับตัวนี่ ในศาสนาอื่นเค้าก็มี เป็นต้นในศาสนาที่เค้านับถือพระเจ้า เค้าก็มักจะสอนว่าให้เอาพระเจ้าไว้กับตัว ถ้าอย่างนั้นก็พอจะทำได้ง่าย เพราะว่าพระเจ้าก็เป็นพระเจ้า ไม่สู่จะยากเย็นอะไรหนัก พอจะเก็บไว้กับตัวได้ แต่พอบอกว่า ให้เอาธรรมะไว้กับตัว กระผมก็อยากจะทราบว่า ธรรมะที่ท่านกรุณากล่าวถึงว่าให้เอาไว้กับตัวนั้น ธรรมะอย่างไร และธรรมะข้อไหน
ตอบ : ปัญหาข้อนี้ดีมาก เป็นปัญหาที่ควรถามอย่างยิ่ง อาตมาก็ตั้งใจจะตอบคำถามข้อนี้อย่างยิ่ง เพื่อประหยัดเวลา จะไว้ตอบเมื่อบรรยายถึงตอนนั้น เป็นตอนของการบรรยายในวันนี้ ที่เรียกว่างานคือการปฏิบัติธรรมะนี้ จะได้บรรยายคำว่า ธรรมะและธรรมะที่ควรมีอยู่กับเนื้อกับตัวโดยละเอียดตอนนั้น นี่เป็นตอนธรรมกฐา 18.47 ขอตอบแต่เพียงว่า มันเป็นสิ่งที่ควรเอาไว้กับเนื้อกับตัวโดยแท้จริงและตลอดเวลา เอาไว้เท่านั้น
ถาม : กระผมขอเรียนถามอีกข้อ เมื่อกี้ก็เกิดสะกิดใจ ท่านกล่าวว่า สัตบุรุษหรือในพุทธวจนะ ว่า ที่ประชุมที่ไม่มีสัตบุรุษก็ไม่ใช่สภา ในขณะนี้ก็กำลังร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในประเทศไทย กระผมก็เป็นสมาชิกร่าง สภาร่างรัฐธรรมนูญอยู่ด้วย ปัญหาที่จะพิจารณาก็มีความวิตกอยู่มากว่า สภาของประเทศไทยต่อๆไปนั้นจะมีลักษณะอย่างไร จะมีความเรียบร้อย หรือจะมีความวุ่นวายอลเวงหรือไม่ ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญรู้สึกระมัดระวังและกำลังพิจารณากันอยู่โดยรอบคอบ กระผมเข้าใจว่าคำตอบ ก็คือว่า จะให้สภาของเราเป็นหลักฐานของแผ่นดินและเรียบร้อยต่อไปข้างหน้า ก็ควรจะมีวิธีการอย่างไรที่จะให้คนทั่วไปได้เลือกสัตบุรุษเข้ามานั่งในสภา สัตบุรุษเข้ามาแล้วถึงแม้ไม่เป็นส่วนมาก แต่ว่ามีจำนวนพอสมควรก็ดีที่สภาของเราก็จะเป็นสภาจริงๆ ขึ้นมาในทัศนะของศาสนาพุทธได้ ก็อยากจะขอกราบเรียนถามสั้นๆ ว่า ลักษณะของสัตบุรุษนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
ตอบ : ลักษณะของสัตบุรุษ หรือสันตบุคคล ในที่นี่ บางคน แปลว่า ผู้สงบ ขยายความไปว่า มีกาย มีวาจา มีจิต อันสงบ เมื่อเพ่งเล็งถึงข้อที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสประโยคๆ นี้ในฐานะเป็นหลักทั่วไป ไม่เฉพาะที่ประชุมของสงฆ์ ก็ย่อมจะกล่าวได้ว่า ท่านต้องการให้ที่ประชุมจะทำหน้าที่ประชุมสำเร็จ จนเรียกว่า สภา นั้น ประกอบไปด้วยบุคคลที่มีการบังคับตัวเอง มีความซื่อตรงต่อตัวเอง หรือต่ออุดมคติของที่ประชุมนั้น แล้วก็สำรวมกาย วาจา ใจ ให้สงบ ระงับ ไม่ลุอำนาจแก่โทสะหรือแก่อคติทั้ง 4 ประการ เราก็รู้สึกว่า ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาของประเทศชาติทีเดียว เป็นคำถามที่ดีมาก ที่ขอให้ ขอวิงวอนให้ท่านทุกคนช่วยสนใจและช่วยกันศึกษาเรื่องนี้จนเข้าใจ เพื่อเราจะมีสภาที่เป็นสภา เล็งถึงว่า เราจะต้องได้รับ จะต้องได้บุคคลที่ประกอบด้วยธรรม ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้าว่าประกอบด้วยธรรมอย่างไรจึงจะเรียกว่าสัตบุรุษ ที่นี่สำคัญที่ผู้เลือก ถ้าผู้เลือกไม่เป็นธรรมเสียเอง ผู้ที่มีสิทธิเลือกไม่ประกอบด้วยธรรมเสียเอง ก็ย่อมสุดวิสัยที่จะเลือกผู้ที่ประกอบไปด้วยธรรม มาประชุม เป็นที่ประชุม หรือเป็นสภาได้ และความสำเร็จอยู่ที่ผู้เลือกเป็นส่วนใหญ่ งั้นจึงขอวิงวอนให้ท่านทั้งหลาย ผู้ที่มีหน้าที่เลือกสนใจในคำว่า สัตบุรุษ คือ บุคคลผู้ประกอบไปด้วยธรรม สงบระงับได้ เป็นสัตบุรุษได้ ก็เพราะหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า ธรรม อยู่กับเนื้อกับตัว อย่างที่จะเรียกว่า แม้ในห้องครัวก็มีเนื้อมีตัวเป็นธรรมเหมือนกัน ให้คนทุกคนที่เป็นผู้เลือกก็เป็นผู้มีเนื้อมีตัวเป็นธรรม แล้วก็จะสามารถเลือกผู้ที่มีเนื้อมีตัวเป็นธรรม เป็นตัวแทนและประชุมกัน รายละเอียดเกี่ยวกับว่า มีธรรมอย่างไรแล้วจะเป็นผู้สงบหรือสัตบุรุษนั้น เราจะวินิจฉัยพร้อมกันไปทีเดียวพร้อมกับคำว่าธรรมอีก
ถาม : กระผมขอกราบเรียนถามพระคุณเจ้า พระคุณเจ้าแนะนำให้ เลือกคนซึ่งมีธรรมะเข้ามาในสภา และก็ได้บรรยายองค์ของสัตบุรุษเอาไว้ด้วย ปัญหามีอยู่ว่า บางคนมีความรู้ตามหลักเกณฑ์ของสภาที่ต้องการแต่ว่าเป็นผู้ซึ่งไม่มีธรรมะ บุคคลผู้มีความรู้ตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศไว้ที่สภาต้องการ ตามพระราชกำหนดตามข้อกำหนดกฎหมายเข้าไปนั่งในสภา จะแก้ไขอย่างไรในเมื่อบุคคลมีความรู้แต่ว่าไม่มีธรรมะที่เรียกว่า สัตบุรุษ ขอพระคุณเจ้าได้โปรดแนะนำทางแก้ไข ซึ่งจะไม่เลือกบุคคลเหล่านั้นเข้าไปนั่งในสภา
ตอบ : ตอนนี้หมายความว่า ถ้าส่วนมากของคนไทยเราประกอบไปด้วยธรรม กฎหมายก็ย่อมจะประกอบไปด้วยธรรม เพราะประกอบขึ้นโดยบุคคล คือ บุคคลส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยธรรม กฎหมายที่ออกขึ้นก็จะต้องออกเข้ารูปกันกับธรรมหรือประกอบไปด้วยธรรม งั้นเราไม่ต้องกลัวหรือไม่สงสัยว่า จะไม่มีกฎหมายที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีธรรมเข้ามานั่งในสภา งั้นเราช่วย แล้วก็มีกฎหมายที่ประกอบไปด้วยธรรม เมื่อไม่เป็นธรรมก็ควรจะถือว่า ผู้ที่ประกอบไปด้วยธรรมมีสิทธิที่จะทวงติงสิ่งต่างๆให้เป็นไปตามทางของธรรม งั้นจึงเป็นการที่จะเห็นยิ่งเข้าไปอีกว่า ความสำคัญที่สุดที่มนุษย์เราจะรอดไปได้ก็เพราะประกอบทำตนให้ประกอบไปด้วยธรรมให้ยิ่งขึ้นไปเท่านั้นเอง ขอให้ถือเป็นหลักทั่วไปอย่างกว้างๆ เท่าที่เราจะบันดาลให้ไปได้แต่เพียงเท่านี้
ถาม : ขอให้พระคุณเจ้าวิสัชนาวันนี้ เพราะปัญหา แต่กระผมก็ยังอยากถามอีกนิดว่า ธรรมไหนเหล่าจะรู้ว่า บุคคลคนนั้นมีธรรมะ เมื่อธรรมะไม่มี คนไทยจะแสดง (นาทีที่ 25.27) ธรรมะของบุคคลนั้นมีอะไรปรากฏการณ์มาให้เห็น สำคัญแต่ว่าเมื่อมีความรู้ถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมายคุณสมบัติผู้เลือกตั้ง เราก็เลือกเข้าไป ปัญหาที่เราจะต้องประสบ ก็คือว่า ความชุกชุม เมื่อเราเลือกบุคคลนั้นเข้าไปในสภา เป็นผู้ที่ไม่ใช่สัตบุรุษ ข้อนี้ขอพระพุทธเจ้าวิสัชนาให้กว้างขวางอีกสักครั้ง
ตอบ : อาตมามองเห็นในข้อนี้ว่า มีอยู่ทางเดียว คือว่า เราช่วยกัน ทุกอย่างทุกวิถีทางให้พวกเราทุกคนนิยมธรรมะ ประกอบตนอยู่ในธรรมะแล้วขยายออกไปจนกระทั่งทั่วโลก ไม่มีทางอื่นที่จะช่วยได้หรือช่วยแก้ไขได้ ขอให้ใช้ความอดทนและเป็นระยะยาว ช่วยกันๆ ทำพยายามทุกอย่างทุกทางให้พลเมืองของเรา ของประเทศเรานี้ยึดธรรมะเป็นหลัก ยิ่งขึ้นทุกทีๆ แล้วสิ่งต่างๆ จะเป็นไปในทางดีเอง แล้วมันมีทางออกอยู่อีกทางหนึ่งว่า ผู้ที่ประกอบด้วยธรรมะแท้จริงนั้นจะไม่มีวันเดือดร้อนแม้ว่าสิ่งต่างๆ จะเป็นไปในสภาพที่ไม่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง แม้ว่าโลกนี้ทั้งโลกจะลุกเป็นไฟไปหมด ก็ไม่ทำจิตใจของผู้ที่ประกอบไปด้วยธรรมให้เดือดร้อน จนกระทั่งเค้าดับไปด้วยเป็นวาระสุดท้าย นี่เราจึงไม่กลัวในข้อนั้น และเมื่อสิ่งใดไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะควบคุมได้ เราก็ต้องอดทน เพื่อสร้างเพื่อแก้ไขไปเรื่อยๆ แต่มันก็ต้องประสบความสำเร็จเข้าวันหนึ่งโดยไม่ต้องสงสัย ปาฐกถาธรรมบรรยายในวันนี้คงมุ่งหมายที่จะชี้ชวนในเรื่องให้หันหน้าเข้าหาธรรมยิ่งขึ้นกว่าที่แล้วมาเท่านั้นเอง เมื่อนั่นแหละจะเป็นการแก้ปัญหาหมดทุกแง่ ทุกมุม ทุกชั้น ทุกระดับทีเดียว
ถาม : กระผมขออนุโมทนาถามปัญหา เพราะที่พระคุณเจ้าอธิบายมานี้ก็เป็นที่ซาบซึ้ง ในฐานะที่เป็นผู้ปฎิบัติธรรมคนหนึ่งก็จะพยายามปฏิบัติตามที่พระคุณเจ้าแนะนำ กระผมขอกราบเรียนถามที่พระคุณเจ้ากล่าวว่า ธรรมะที่ถูกต้องและไม่ทิ้งโลก ไม่หนีโลกไปนั้นเป็นอย่างไร อยากจะขอประทานวิสัชนาให้กว้างขวาง ก็จะรู้สึกว่า เคยอ่านธรรมของพระคุณเจ้ามาหลายเล่มก็รู้สึกว่าพยายามให้ตัวเองนั่นว่าง ให้ว่างจากกิเลสตัณหาต่างๆ ก็รู้สึกว่าจะเหมือนกับว่ามีอาการคล้ายๆ จะทิ้งโลกออกไปทุกที ออกไปอยู่ต่างหาก แม้พระคุณเจ้าก็อยู่ไกลเหลือเกิน รู้สึกว่าจะทอดทิ้งพุทธบริษัทอยู่บ้าง ก็อยากจะกราบเรียนถามว่า ธรรมะที่ถูกต้องที่ไม่ทิ้งโลกไม่หนีโลกนั้นเป็นอย่างไร
ตอบ : ที่ว่าธรรมจะต้องอยู่กับโลกไม่แยกจากโลกนี้ก็เป็นความมุ่งหมายที่จะบรรยายในครั้งหน้าอยู่แล้ว ขอตอบว่า ขอยืนยันโดยใจความอีกครั้งหนึ่งว่า ธรรมะกับโลกนั้น ถ้ามองกันไปในส่วนลึกแล้วเป็นสิ่งๆ เดียวกัน เพราะว่า ปราศจากธรรมะแล้ว โลกก็ไม่เป็นโลกไปได้ จะสลายไปก่อนหน้านี้ จนไม่มีพวกเรามานั่งอยู่ที่นี่ เราจะได้วินิจฉัยกันตอนที่ว่าธรรมะคืออะไร
ถาม : กระผมขอประทานถามเรื่องที่มีความข้องใจมาเป็นเวลานานพอสมควร คือ เวลานี้พระพุทธศาสนาได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนอกประเทศ เพราะเล็งเห็นกันว่าเป็น ศาสนาที่จะทำให้ผู้คนมีความสุขได้จริง แต่ว่ายังมีข้อข้องใจในบางเรื่อง เช่น ในเรื่องกรรม เรื่องตายแล้วเกิด เราเชื่อกันว่า ถ้าผู้ใดทำกรรมดีก็จะต้องได้รับผลของความดีนั้นตอบสนอง ถ้าทำกรรมชั่วก็ได้รับผลชั่วตอบสนองเหมือนกัน แต่การกระทำกรรมดีนั้นบางทีผลดีก็ยังไม่ตอบสนองได้ทันตาเห็น เพราะเข้าใจกันว่ามีกรรมชั่วมาคอยขัดขวางกรรม กรรมชั่วเก่ามาคอยขัดขวางอยู่ ในทำนองเดียวกัน การทำชั่วก็ไม่เห็นผลกรรมทันตาเห็น ก็จะมีผลกรรมดีในอดีตคอยช่วยอยู่ ในวันหนึ่งข้างหน้าผลของกรรมชั่วจะมาต้องมาตอบสนองถึงว่าไม่ใช่ชาตินี้ก็ต้องเป็นในชาติหน้า แต่เรื่องนี้บางคนยังสงสัย เค้าเห็นกันว่าเป็นเรื่องของความคาดหมาย ปัญหาก็มีว่า ชาติหน้ามีจริงหรือไม่และผลของกรรมยังตามไปสนองในชาติหน้าได้หรือไม่ ถ้าหากว่าชาติหน้าไม่มีก็ไม่ต้องกลัวการทำชั่วเพราะว่ากรรมตามไปไม่ทัน ถ้าทำดีก็ไม่มีประโยชน์เพราะการทำความดีนั้นทำได้ยาก แต่ว่าพระคุณเจ้าได้เคยแสดงธรรมกถา เรื่องใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ที่หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2504 ว่า หลักพระพุทธศาสนามูลฐานนั้น ว่าเฉพาะการดับทุกข์ ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปด้วยเพื่อความดับทุกข์แล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงปฎิเสธ ไม่ยอมเกี่ยวข้องด้วย ไม่ยอมพยากรณ์ ยกตัวอย่าง ปัญหาที่ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ อะไรไปเกิด เกิดอย่างไร ได้รับผลอย่างไร อย่างนี้พระคุณเจ้าฝากว่า ไม่ใช่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องดับทุกข์และยิ่งไปกว่านั้นยังไม่เป็นพระพุทธศาสนาอีกด้วย ไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ไม่อยู่ในขอบองค์พระพุทธศาสนา เพราะไม่ได้มุ่งหมายที่จะดับทุกข์ ผู้ถามก็ได้แต่เชื่อตามผู้ที่ตายไป เพราะผู้ตอบก็ไม่อาจจะเอาอะไรมาแฉให้เห็นได้ และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีนักปราชญ์ฝรั่งคนหนึ่งมาเยือนประเทศไทย คือ นายฟรานซิส กรอรี่ มีความสนใจที่จะสนใจค้นคว้าในเรื่องกรรมและในเรื่องตายแล้วเกิด เหมือนกัน เมื่อพระคุณเจ้ามีความเห็นว่า ตายแล้วเกิดเป็นอีกอย่างที่ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ไม่เป็นพุทธศาสนา กระผมจึงสงสัยและใคร่จะขอให้พระคุณเจ้าได้ชี้แจ้งเรื่องนี้ และขอเรียนถามว่า พระคุณเจ้าไม่เคยสอนไม่เคยพูดเรื่องตายแล้วเกิดหรืออย่างไร แต่ในธรรมกถาเรื่องเดียวกัน พระคุณเจ้ากล่าวว่า ถ้ารู้จัก ถ้ารู้ว่าตัวกูหรือของกูไม่ดีแล้ว ก็ไม่มีใครเกิด ไม่ใครตายแล้วไปเกิดใหม่ ปัญหาที่ถามว่า ตายแล้วเกิดจึงเป็นปัญหาที่เขลาที่สุด เพราะไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเลย พระพุทธศาสนานั้นมุ่งที่จะบอกให้รู้ว่าไม่มีคนที่ว่าเป็นของเราหรือตัวเรานั้นก็ไม่มี มีแต่ตัวเรา ความเข้าใจผิดของผู้ที่ไม่รู้ ผู้ที่อ่านธรรมกถานี้หลายคนได้ปรารภว่า ไม่รู้เรื่อง เกิดเราก็รู้ว่าเกิด ใครๆ ก็เกิด แล้วเมื่อมีเกิดก็มีตาย เกิด แก่ เจ็บ ตาย นั่นก็เป็นเรื่องของธรรมดา จะว่าไม่มีคนเกิด ไม่มีคนตายนั้นได้อย่างไร นอกจากนั้นในขณะนี้ ก็ยังมีการพูดถึงเรื่องการคุมกำเนิดอีกด้วย เพราะว่ามีคนเกิดมากเหลือเกิน ถ้าเชื่อตามพระคุณเจ้าที่ว่า คนไม่เกิด ปัญหาเรื่องคุมกำเนิดก็ไม่มี และความเห็นของพระคุณเจ้าก็รู้สึกว่าจะขัดกับความรู้สึกของคนธรรมดาทั่วๆไป ก็จะกลายเป็นว่า ถ้าหากว่าคนทั้งหลายเชื่อตามที่พระคุณเจ้าว่า ก็จะเชื่อตามที่พระคุณเจ้าว่า ตายไปเหมือนกัน เพราะไม่อาจจะพิสูจน์หรือเห็นจริงได้ เป็นอันว่าก็อาจทำให้ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาก็อาจจะคลอนแคลนไปได้บ้าง นี้ก็เป็นเรื่องลึกซึ้งอยู่ อยากจะขอให้พระคุณเจ้าได้กรุณาวิสัชนา
ตอบ : ปัญหาเรื่องเกิดใหม่หรือไม่ เรื่องกรรมนี้เป็นปัญหาที่ต้องการคำตอบยืดยาวมาก ถ้าจะอภิปรายเรื่องนี้เต็มที่แล้วก็คงจะหมดเวลา อาตมาจะขอตอบเท่าที่เห็นว่าจำเป็นหรือโดยสรุป นี่มันก็เกี่ยวกันกับคำว่า ธรรม อยู่เหมือนกัน ในเรื่องเราจะถือว่าธรรมนี้เป็นหลักของพระพุทธศาสนา คือ หลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับเรื่องกรรมนี้ยังเข้าใจผิดกันบางประการว่า พระพุทธศาสนาสอนแต่เพียงว่า ทำดีได้ดี ทั่วชั่วได้ชั่ว เพียงเท่านี้ ถ้าเพียงเท่านี้อาตมาไม่ถือว่าเป็นหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นที่รับรองต้องกันว่า คำสอนอย่างนี้มีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า ทำดีๆ ทำชั่วๆ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นี่พระพุทธเจ้าท่านเกิดอุบัติ กำเนิดขึ้นมาในโลกนี้ เพื่อจะตอบสอนลัทธิกรรม ชนิดที่จะชนะทุกข์ได้และดับทุกข์ได้ ตรงที่ว่าคนทำชั่วก็ทนทุกข์ไปตามแบบคนทำชั่ว คนทำดีก็ทนทุกข์ไปตามแบบของคนทำดี ขอให้เข้าใจคำๆ เดียวนี้ให้ดี ว่าคนมีบาปก็ทนทุกข์ไปตามแบบคนมีบาป คนมีบุญทนทุกข์ไปตามแบบคนมีบุญ งั้นจะต้องมีกรรมอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งท่านเรียกว่า กรรมที่ 3 ก็ได้ ท่าน เรียกว่า กรรมไม่ดีไม่ชั่วไม่บุญไม่บาป ได้แก่ อริยะมรรค นั่นเอง ตัวปฏิบัติในอริยะมรรคเป็นกรรมที่3 ซึ่งจะระงับอำนาจปรุงแต่งของกรรมดีและกรรมชั่วเสียโดยสิ้นเชิง นั่นแหละคือ ดับทุกข์ ในพุทธศาสนาจึงมีเรื่องดับทุกข์สิ้นเชิงที่อยู่เหนืออำนาจของกรรมโดยประการทั้งปวง ถ้าถือหลักธรรมอย่างนี้และปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะเรียกว่า ปฏิบัติในเรื่องกรรมตามหลักพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์ ถ้าดูตามแต่เพียงว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั้น มันเป็นเรื่องทั่วไปแม้ในศาสนาอื่น และไม่สามารถดับทุกข์สิ้นเชิงได้ด้วยการกระทำความดี เพราะว่าถ้ายึดมั่นแล้วทั้งดีและชั่ว มันเป็นทุกข์ทั้งนั้น เราจึงสอนธรรมะที่ถือในความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง นี่คือหัวใจของพระพุทธศาสนา แล้วจึงมีเรื่องกรรมที่ 3 ขึ้นมา คือ ทำความไม่ยึดมั่นถือมั่นในกรรมนั่นเอง ซึ่งจะทำให้คนเรามีความสุขหรือดับทุกข์ได้จริง ที่นี้เรื่องเกิดใหม่หรือไม่ เกิดด้วยอะไรนั้น ก็อย่างเดียวกันอีก ที่สอนว่าตายแล้วเกิดใหม่ก็สอนกันอยู่ตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าจนคนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เวียนว่ายตายเกิดอย่างนั้นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านก็ยอมรับในความเชื่อความรู้สึกอย่างนั้นว่าเป็นของธรรมดาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าอธิบายให้ดีซะหน่อยว่าไอ้ที่น่ากลัวกว่านั้น คือ เกิด ตายของความรู้สึกว่า ตัวเรา ว่าของเรา ทุกคราวที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส เนี้ยน่ากลัวกว่าและเป็นทุกข์ทรมานกว่า เป็นวัฎสงสารอยู่ที่นี่ ครั้นได้ศึกษาจนรู้และเห็นชัดทีเดียวว่า โดยที่แท้ ที่ถูกนั้น ไม่มีคนมีแต่สังขารปรุงแต่งกันไปตามเรื่องตามราวให้มองเห็นจนไม่มีคนเดี๋ยวนี้ มันหมดเกิด หมดเกิด กำลังเกิดก็ไม่มี จะเกิดต่อไปก็ไม่มี กระทั่งว่าแม้ย้อนหลังไปทางหลัง เมื่อเห็นจริงอย่างนี้แล้วก็ไม่รู้สึกว่ามีเกิด เรียกว่า สิ้นชาติหรือพ้นจากการเกิด เป็นการดับทุกข์สิ้นเชิง มีความหมายอย่างเดียวกันกับเรื่องบุญเรื่องกรรมเหมือนกัน อาตมามุ่งหมายว่า ถ้าจะเข้าถึงของตัวแท้ของพุทธศาสนากันให้ได้แล้วจะต้องศึกษาและปฏิบัติกันมาจนถึงขั้นนี้ อย่าให้หยุดอยู่แม้เพียงขั้นเสียว่า ตายแล้วเกิด ทำชั่วเกิดชั่ว ทำดีเกิดดี ทำนองนี้ มันเป็นส่วนของศีลธรรมในชั้นต้นทั่วไป สำหรับบุคคลทั่วไปประเภทหนึ่งซึ่งจะยังทำอะไรให้มากกว่านี้ไปได้ แต่พุทธบริษัทเราควรจะมุ่งหวังถึงกับดับทุกข์ให้ได้ดีกว่านั้น ให้น่าดูกว่านั้น คือ กล้าคิด กล้านึกจนเข้าใจในเรื่องการเกิดอย่างถูกต้อง และกล้าประพฤติกรรมที่ 3 เพื่อจะมองเห็นกรรม ทั้งกรรมชั่วและกรรมดีเนี้ยเป็นของเด็กเล่น เป็นของเด็กอมมือไปหมด ไม่ประสงค์จะอยู่ใต้อำนาจกรรมชนิดไหนหมดโดยประการทั้งปวง จึงได้กล่าวอย่างนั้น แต่คำอธิบายอันนี้จะมีต่อไปอีก ในตอนที่เราจะบรรยายกันถึงคำว่า จิตว่าง เพื่อประหยัดเวลาขอตอบแต่เพียงเท่านี้ก่อน
นี่ถ้าไม่มีอะไรต่อไปอาตมาก็อยากจะขอชักชวนท่านทั้งหลายให้นึกต่อไปถึงข้อที่เราควรจะนึกอย่างยิ่งเกี่ยวกับธรรมะ โดยหัวข้อที่ว่า ธรรมะเป็นเครื่องมือสร้างคน สร้างชาติ สร้างโลก อาตมาจะมีหัวข้อย่อยออกไปว่า งานคือการปฏิบัติธรรมและการทำงานด้วยจิตว่าง และมัวทำที่เป็นเครื่องมือสำหรับจะสร้างหรือจะทำงานด้วยจิตว่างหรือจะสร้างโลก สร้างชาติให้สำเร็จ ปรารภแบบนี้มีอยู่ตรงที่ว่า เรากำลังหันหลังให้แก่ธรรมแล้วเราได้รับบาปกรรมและรับโทษทันอันนี้แล้วไม่รู้สึกตัว งั้นขอวิงวอนว่า ช่วยเหลียวดูธรรมะให้เป็นอย่างยิ่ง ช่วยสนใจในธรรมะให้เป็นอย่างยิ่ง ธรรมะกำลังถูกเข้าใจผิด ธรรมะกำลังได้รับความไม่เป็นธรรม หรือว่าธรรมะกำลังถูกปรักปรำในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่โดยแท้จริงนั้นธรรมะเป็นสิ่งที่จะสร้างคน สร้างชาติ สร้างโลก เราจะวินิจฉัยกันข้างหน้าว่าสร้างอย่างไร มองไปอีกหน่อยต่อไปอีกจะเห็นว่า เมื่อเราอยู่ในลักษณะที่ต้องการจะพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ก้าวหน้าก็ควรจะทราบซะด้วยว่า ไม่มีเครื่องอื่นนอกจากธรรมะ สติปัญญาและมันสมองที่ขาดธรรมะแล้ว ไม่สามารถจะทำการพัฒนา แม้ว่าจะมีโครงการดี มีหลักการดี แต่ถ้าเจ้าหน้าที่หรือผู้ปฎิบัติขาดธรรมะแล้วไปไม่รอดทั้งโครงการทั้งเจ้าหน้าที่ ทว่ามีธรรมะเป็นผู้มีธรรมะแล้ว เค้าสามารถสร้างโครงการได้ดี เพราะว่าจิตใจที่ประกอบไปด้วยธรรมะนั้นย่อมจะแจ่มใสอย่างยิ่ง เป็นโครงการที่จะปฏิบัติได้ดีและคนก็ปฏิบัติได้จริง เพราะว่าประกอบไปด้วยธรรมะ แต่นี่เรามีแต่คนที่ทำงานแต่เพื่อตัว ไม่มีคนทำงานเพื่อธรรมะ ไม่มีคนทำงานเพื่องาน หรือแม้แต่ว่าเพื่อประเทศชาติโดยแท้จริงนี่ก็ยังหายาก อย่าว่าแต่เพื่อธรรมหรือเพื่องานล้วนๆ นี่เป็นโทษของการที่ไม่ประกอบไปด้วยธรรมะ โครงการนั้นก็เป็นเรื่องวิมานในอากาศหรืออะไรทำนองนั้น ยิ่งงานที่ทำก็ได้แต่อย่างที่เป็นผักชีโรยหน้า ทำเพียงเพื่อได้อ่านรายงาน หรือเสนอผู้บังคับบัญชาอะไรทำนองนี้ นี่คือโทษของการที่ไม่สนใจธรรมะ ไม่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ งั้นขอให้ ขอวิงวอนให้ผู้ที่หวังจะพัฒนาสิ่งต่างๆ นี่ จงหันหน้ามาหาธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนา
อย่างต่อไปอาตมาจะขอวิงวอนให้เหลียวดูอีกว่า การพยายามดิ้นรนของโลกในปัจจุบัน ของสังคมที่รวมกันเป็นสหประชาชาติหรือเป็นอะไรก็ตามแต่จะเรียก มีการต่อต้านที่เรียกว่า ระดม หรืออะไรต่างๆ นี้ เพื่อจะบำบัดนั่นนี่ เช่น บำบัดความอดอยาก บำบัดความเจ็บไข้ บำบัดความไม่รู้หนังสือในโลกอย่างนี้ แล้วก็ถือกันว่า เป็นงานชิ้นเอก เป็นงานสูงสุดอย่างนี้ อาตมารู้สึกว่า มันเป็นแต่เพียงปลายเหตุ ต้นตนหรือต้นเหตุของมันนั้น มันเนื่องมาจากการไม่มีธรรม ถ้าเราจะบำบัดหรือทำการรณรงค์สิ่งเหล่านี้จะต้องแก้ไขที่ต้นตอ คือ การทำให้มีธรรม ก่อนที่จะไปนึกที่ว่า จะเอาอะไรให้เค้ากิน เอายาอะไรให้เค้ากิน หรือว่ารีบสอนหนังสืออย่างนี้ อาตมาขอยืนยันความคิดเห็นว่า ให้ธรรมะก่อนการให้อาหารกินหรือก่อนการเจ็บไข้ การไม่รู้หนังสือ เพราะว่าการมีธรรมะนั้นจะทำให้เค้าแก้ไขความอดอยากหรือความเจ็บไข้หรือการไม่รู้หนังสือได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ว่าเค้าจะตายเร็วจนเราทำไม่ทัน เดี๋ยวนี้เค้าก็ยังอิ่มพอที่จะมีเวลาพอที่จะสนใจกับธรรมะ แต่แล้วเค้าก็ไม่สนใจธรรมะ มองอีกหน่อยหนึ่งก็จะเห็นว่า ถ้ามองเห็นแต่เรื่องปากเรื่องท้อง เรื่องเนื้อเรื่องหนัง เรื่องเจ็บเรื่องไข้ทางร่างกายมันเป็นเรื่องที่มองแต่ในทางวัตถุเกินไป คือ ไม่มองกันในทางจิต หรือทางมโนธรรม จึงไม่ถึงต้นตอ โดยที่เราถือว่า จิตเป็นต้นตอของวัตถุ ความเจริญในทางจิตนี้เป็นต้นเหตุสำคัญเจริญในทางวัตถุ นี่เรากลับหลังจะเอาวัตถุเป็นรากฐานหรือเป็นต้นตอของจิตใจ ขอให้คิดนึกในเรื่องนี้ให้เป็นอย่างยิ่งว่า ถ้าเราทำผิดพลาดแล้วเราจะเหนื่อยเปล่า แล้วเราจะอยู่ในสภาพที่น่าสมเพชที่สุด แต่ถ้าเราจะทำกันจริงๆ ให้สิ่งเหล่านี้สำเร็จ ไม่ใช่เป็นเพียงผักชีโรยหน้าหรือเพื่อผลทางการเมืองชั่วครั้งชั่วคราวแล้ว เราจะต้องหันหน้าเข้าหาธรรมะให้เต็มที่ ให้อย่างยิ่งในการที่จะต่อต้านหรือรณรงค์สภาพที่ไม่น่าปรารถนาที่มีอยู่ในโลก นี่คือข้อที่อาตมารู้สึกว่า ธรรมะกำลังไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้อาตมาจะถูกกล่าวว่า ออกหน้ารับแทนธรรมะก็ยอมด้วยความยินดีอย่างยิ่งและสมัครที่จะเป็นอย่างนั้น จะถือว่าอาตมาต่อว่าแทนธรรมะก็ยินดีที่จะยอมรับเป็นผู้ที่ทำหน้าที่อย่างนี้
ที่นี่จะยกตัวอย่างให้เห็นละเอียดต่อไปอีกว่า ชาวโลกกำลังไม่สนใจในธรรมหรือไม่ความเป็นธรรมแก่ธรรม อยากจะยกตัวอย่างเหมือนอย่างคำว่า กิจการของลูกเสือ เราดูอุดมคติของลูกเสือหรือกฎของลูกเสือเราจะเห็นว่า แต่ละข้อนั้นไม่พ้นไปจากธรรมะในพระพุทธศาสนา แต่ทำไมไปเรียกกฎเกณฑ์เหล่านี้ ระบบนี้ว่าเป็นเรื่องลูกเสือ คิดดูให้ดีเถอะว่า คำว่าลูกเสือนี้มีความหมายอย่างไร ถ้าจะไปเรียกว่า ลูกของธรรมะ หรือว่าลูกธรรม ธรรมบุตร อย่างนี้จะดีไหม เรียกว่า ลูกเสือ ไม่ได้รับการสนับสนุกจากพ่อแม่ที่เป็นธายก ธายิกา อุปาสก อุปาสิกา ถ้าเรียกว่าเป็นลูกของธรรมหรือคล้ายๆ กันนี้จะได้รับความสนับสนุนทันที นี่เป็นความยุติธรรมที่ว่า เนื้อแท้นั้นเป็นธรรม แต่ไปเรียกว่า เป็นลูกเสือ ลูกหมี ลูกสิงโตอะไรทำนองนี้ นี่เรียกว่า ไม่เป็นธรรมแก่ธรรม เราจะไม่ยึดถือในคำนี้ คำนี้จะเรียกว่าอะไรก็ได้จะสอนประกอบอยู่ด้วยธรรมแล้ว ถ้าเราเห็นแก่ธรรม เราจะต้องนึกถึงธรรม นึกถึงพระพุทธศาสนาก่อนอื่น เมื่อเรามองๆ อย่างนี้แล้วเราจะเห็นได้ว่า ชาวโลกทั้งโลกนี้ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ธรรมอย่างเพียงพอ คล้ายๆ กับว่า เอาเปรียบธรรม คือ ชิงเอาหน้าของธรรมอยู่มาก นี่ไม่ใช่กระแหนะกระแหน เบียดเบียนกิจการของลูกเสือ เพียงแต่ว่ายกมาเป็นตัวอย่างว่า ในเรื่องหลายสิบเรื่องหลายร้อยเรื่องนั้นมีลักษณะเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น
ที่นี่ต่อไปก็อยากจะขอวิงวอนให้มองต่อไปว่า คนในโลกนี้ช่างชอบความหลอกลวงเสียเกินไป ตัวอย่างที่ง่ายที่สุด เช่น ว่าจะเราจะดูแคตตาล็อกขายของตามแมกกาซีนต่างๆนี้ จะเห็นราคาที่ว่าของของ 2 เหรียญ 95 เซ็น หรือ 2 บาท 95 สตางค์ 3 บาท 95 สตางค์ นี่มากที่สุด แล้วก็ทำเป็นแฟชั่น อันนี้เป็นแฟชั่น หมายความว่า ชาวโลกชอบหลอกลวงทั้งผู้ขายทั้งผู้ซื้อ คือ คนทั้งโลกนั่นเอง นี่ไม่ใช่จะกระแหนะกระแหนการกระทำนี้โดยเฉพาะ ยกตัวอย่างมาเพียงว่า มันแสดงอยู่ชัดว่า ในโลกนี้ชอบความหลอกลวง มันจึงยากอย่างยิ่งที่จะเกิดความสนใจในธรรม งั้นเราต้องหยุดการชอบความหลอกลวงนี้กันทุกวิถีทาง คิดดูต่อไปอีก เราจะเห็นว่า ชาวโลกลุ่มหลงจนไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ธรรมะหรือธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่นว่า การที่มนุษย์จะต้องมีการสืบพันธุ์ อย่าให้สูญพันธุ์อย่างนี้ เราไม่ได้ยอมรับแต่ความมุ่งหมายของธรรมชาติอันนี้ แต่ไปยึดเป็นเรื่องของความสนุกสนานในทางกิจกรรมระหว่างเพศหรือเป็นของเลยเถิดนั้นไปอีก ไม่ได้เคารพในที่จะต้องสืบพันธุ์ คือ การรักษาพันธุ์ของมนุษย์ไว้ อย่าให้สูญไปจากโลก หรือว่าให้มีการประพฤติธรรมะอยู่ในโลก เพราะมนุษย์ไม่สูญพันธุ์ไปจากโลก ที่นี่การกิน การกินอาหารหรือการอยู่อาศัยที่เป็นปัจจัยสำคัญนี่ แทนที่จะเคารพในความมุ่งหมายว่า กินเพื่ออยู่ เพื่อประพฤติธรรม กลับเป็นว่า หมุนสิ่งเหล่านี้ให้เป็นความเอร็ดอร่อยหรือเป็นอุปกรณ์ของกิจกรรมระหว่างเพศไปหมด แม้ที่สุดแต่เรื่องบำบัดโรคหรือยารักษาโรค ก็เห็นเป็นเครื่องสำอางหรือเป็นอุปกรณ์แต่กิจกรรมระหว่างเพศยิ่งขึ้นไปอีก ไม่มีความมุ่งหมายที่จะกำจัดโรคโดยบริสุทธิ์ ตัวอย่างทั้งหมดนี้ เรียกว่าเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ธรรมะกำลังไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากมนุษย์ เพราะฉะนั้นธรรมะจึงตอบแทนอย่างสาสม โดยหลักที่ว่า ผู้ใดเหยียบย่ำธรรมะ ธรรมะจะเหยียบย่ำผู้นั้น งั้นมนุษย์เราจึงตกอยู่ในสภาพที่ทนทุกข์ทรมาน คล้ายๆ กับว่าเป็นนรกอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่เห็นข้อเท็จจริงอันแรกที่สุดนี้เสียก่อนแล้ว อาตมาคิดว่า ไม่มีทางที่จะสำเร็จแม้ว่าเราจะมาอภิปรายเรื่องธรรมะกันให้มากมายสักเท่าไร งั้นจึงขอยกขึ้นว่า อันนี้เป็นปรารภเหตุว่า ที่จะต้องมาวินิจฉัยกันเป็นข้อแรกว่า เรากำลังเหยียบย้ำธรรมะ ไม่สนใจแก่ธรรมะให้สมกับค่าของธรรมะหรือเปล่า เนี้ยขอเชิญท่านอาจารย์คึกฤทธิ์และอาจารย์อื่นๆ ช่วยซักซ้อมความเข้าใจข้อนี้
ถาม : กระผมก็ไม่มีอะไรที่อยากจะกราบเรียนถามคือว่า ที่พระคุณเจ้าบรรยายมาก็แสดงให้เห็นแจ่มแจ้งแล้วก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่ว่าธรรมะในที่นี่ที่ท่านกล่าวถึง ผมเข้าใจว่ามี 2 อย่าง คือ ธรรมะในทางที่ควรปฏิบัติเพื่อหรือธรรมะที่เป็นเครื่องกำหนดปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นอย่างหนึ่ง ธรรมซึ่งเป็นธรรมชาติที่เป็นสภาพธรรมดานั้น ดูเหมือนก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ ที่ท่านกล่าวว่า มนุษย์เราเหยียบย่ำธรรมะ ธรรมะก็เลยตอบแทนเรานั้น รู้สึกว่ามีเกี่ยวพันกันอยู่ทั้ง 2 อย่าง ก็เพราะว่ามนุษย์ขาดความสำรวมในเรื่องการครองชีพ หรือไม่ว่าจะทำกิจกรรมใดก็ถือว่าเป็นกิจกรรมทางเพศไปหมด ผลที่เกิดก็คือมนุษย์ล้นโลกจนกระทั่งเกิดความลำบาก อย่างนี้มันก็มีทั้ง 2 ทาง ธรรมะ 2 อย่างเข้ามาประกอบกัน คือ เรื่องธรรมดาอย่างหนึ่งและเรื่องศีลธรรมอย่างหนึ่งที่มาลงโทษมนุษย์ที่กระผมเข้าใจอย่างนี้จะถูกหรือไม่
ตอบ : เจริญพร เป็นอย่างนั้น อาตมากำลังจะวินิจฉัยคำว่า ธรรมะ นี้ในเวลาต่อไปนี้ ที่นี่มีปัญหาอะไรอีก
ถาม : ก็มีกระผมอยากจะกราบเรียนถาม คือ กระผมฟังท่านแล้วก็เห็นด้วยเหลือเกิน ที่นี่ข้ออยู่ในโลกที่ออกจะหย่อนการประพฤติธรรมหรือหย่อนธรรมะเช่นนี้ เราก็อยู่ในโลกซึ่งกำลังพยายามจะพัฒนาทั้งนี้ก็ไม่ใช่แต่ประเทศไทยเท่านั้น ทุกๆ ประเทศก็กำลังจะพัฒนากันหมด แต่ว่าไม่ว่าจะภายในประเทศกำลังพัฒนาที่ไหนก็รู้สึกว่า แต่ละประเทศก็กำลังจับแต่ปลายเหตุอย่างที่ท่านว่า คือ มีการรณรงค์เพื่อแก้ความอดอยาก มีการรณรงค์เพื่อถนนหนทาง หรืออื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปลายเหตุ แต่เรื่องธรรมะนั้นไม่มีผู้ใดสนใจหยิบยกขึ้นมาเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งความจริงเป็นต้นเหตุ แล้วก็เมื่อบุคคลที่มีความเห็นอย่างกระผมนี้ อยู่ๆ ไปก็ต้องเกิดความท้อใจ คือ เห็นว่าจะทำอะไรไปก็ไม่มีประโยชน์ พูดกันไปก็แค่นั้น การปฏิบัติงานต่างๆ ก็ไม่ได้ทำเพื่อธรรมะ ถึงแม้ว่าเราจะคิดว่าจะทำงานต่อไปเพื่อธรรมะ เปิดวิทยุฟัง เปิดโทรทัศน์ฟัง เค้าก็บอกว่างานนั้นเป็นของที่ทำเพื่อเงิน มันคนละตรงกันข้าม มันไม่ใช่เรื่องธรรมะทั้งสิ้น กระผมรับว่า กระผมอยู่ไปก็เหนื่อยหน่ายใจ อยากจะกราบเรียนถามว่า มีทางไหนจะหนีโลกอย่างนี้ได้มั้ง ผมไม่อยากอยู่แล้ว
ตอบ : นี่เป็นปัญหาที่ควรจะเป็นปัญหาอย่างยิ่ง ขอวิงวอนท่านผู้ฟังให้ช่วยเอาไปคิดไปนึกอย่างยิ่งว่าจะเราจะร่วมมือกันได้ ถ้าเราไม่เข้าใจกันได้ในเรื่องนี้แล้วไม่มีหวังเลยที่เราจะใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศได้หรือมนุษย์ในโลกได้ อาตมาจะอธิบายธรรมะ คำว่าธรรมะในลำดับต่อไปนี้ ให้เป็นที่เข้าใจให้จนได้ ถ้างั้นขอโอกาสอีกนิดหนึ่งว่า จะทำความเข้าใจกันต่อไปอีกหน่อยถึง ความสำคัญอย่างยิ่งระหว่างธรรมะกับการสร้างชาตินี้ เพราะว่า ยังมีอีกหลายท่าน โดยเฉพาะนักเรียนอย่างนี้คงจะยังไม่เคยได้ยินได้ฟังว่า เช่น คำว่าประหยัดซึ่งเป็นหลักธรรมเก่าแก่ในพระพุทธศาสนา เด็กๆอาจจะคิดว่า นี่เพิ่งจะเป็นคำขอร้องของรัฐบาล ถ้าหากว่า เกิดประชาชนไทยเรา เป็นพุทธบริษัทโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว คำว่าประหยัดนี้ไม่ต้องขอร้อง ขอให้อ่านดูในพระไตรปิฎก ตอนที่พระอานนท์สนทนากับพระเจ้าอุเทนถึงเรื่องการใช้จีวร พระอานนท์ถูกถามว่า เมื่อจีวรเก่าแล้วทำอย่างไร พระอานนท์ตอบว่า ตอบพระเจ้าอุเทนว่า ก็พยายามที่จะปะ ถ้าปะไม่ไหวจะทำอย่างไร ก็เอามาซ้อนกันๆ หลายชั้น เป็นจีวรที่หลายชั้นซ้อนกันเข้า ถ้าดามก็ยังไม่ไหว มันเปื่อยแล้วจะทำอย่างไร พระอานนท์ว่า ท่านก็ทำให้มันเป็นผ้าปูที่นอน หุ้มผ้าบางๆ ปูนอน แล้วใช้ไปจนยุ่ยเก่าแล้วจะทำอย่างไรอีก พระอานนท์ท่านว่า เอามาทับกันทบกันเป็นผ้ารองนั่ง เป็นผ้าปูนั่ง แล้วผ้าปูนั่งใช้จนเก่าจนขาดแล้วจะทำอย่างไร ก็บอกว่า เอาไปเผาไฟ เอาขี้เถ้าขยำกับมูลโคแล้วก็ไปฉาบกับฝากุฏิซึ่งทำด้วยดินให้มันเป็นของสะอาดขึ้นมาใหม่ พระเจ้าอุเทนเลยนับถือพระพุทธศาสนาเพราะคำตอบข้อนี้ ลองคิดดูว่า มันประหยัดกี่มากน้อยเมื่อเทียบกับพวกเราเดี๋ยวนี้ ต้องขออภัยที่ใช้คำว่า พระเณรสมัยนี้ใช้จีวรประหยัดเท่าไร วินัยมีบัญญัติว่า จะต้องประหยัด สงวนบริขารเครื่องใช้สอย โดยเฉพาะอย่างว่าบาตรอย่างนี้ จะเก็บต้องระวัง เก็บอย่างนั้นอย่างนี้ จะเก็บเข้าไปใต้เตียง ใต้ถังก็ต้องควานดูก่อนว่ามีอะไรอยู่ จะกระทบแตก เพราะเป็นบาตรดินอย่างนี้มีละเอียดปรับอาบัติทั้งนั้น ทั้งโดยธรรมะก็ดีโดยวินัยก็ดี มีการประหยัดอย่างยิ่ง โดยเฉพาะทางร่างกายให้ประหยัดในการบริหารกาย งั้นก็มีวินัยบัญญัติว่า การถ่ายอุจจาระห้ามเบ่งแรงๆ ประหยัดไม่ประหยัดลองดู เพราะว่าเป็นที่ตั้งของโรค พวกที่ถ่ายอุจจาระแรงนี้ถูกปรับอาบัติทุกคน อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเป็นไปในลักษณะนี้ คำว่า ประหยัด นี้ไม่ต้องขอร้องกันอีก มันพอแล้วสำหรับพุทธบริษัท
ที่นี่ถึงคำว่า พัฒนา พุทธศาสนาก็มีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาแต่ระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะให้เป็นการพัฒนาจริงๆ ภาษาบาลี คำนี้สับสน พัฒนาแท้หรือเจริญจริงๆ นั้น ท่านใช้คำว่า ภวังค์ เช่น วิชาโตภวังค์โคติ (นาทีที่ 57.30) ผู้เรียนเป็นผู้เจริญ ส่วนคำว่า วัฒน์ วัฒนา ที่นี่มาเป็นไทย เราใช้กันอยู่นี้ กลับเป็นความเจริญที่ไม่พึ่งปรารถนา คือว่า หมายถึง รก รุงรัง เช่น นติยาโลกะวัฒ (นาทีที่ 57.47) อย่าทำโลกให้เจริญ ก็หมายความว่า อย่าเป็นคนรกโลก คำว่า วัฒนา จะพบว่า มันหมายถึง รก รุงรัง ไม่ใช่เจริญในสภาพที่น่าปรารถนา แต่ว่าภาษาไทยเราเอาคำว่า พัฒนามาใช้เสียแล้ว ไม่รู้จักคำว่า ภวังค์ งั้นเราระมัดระวังให้ดีว่า จะต้องพัฒนาชนิดที่ว่าเป็นภวังค์ มีความเจริญ ไม่ใช่พัฒนาให้รกรุงรังมากขึ้นๆ เหมือนหญ้ารก เค้าก็เรียกว่ามันเจริญเหมือนกัน ที่นี่ที่ยังสำคัญไปกว่านั้น ก็คือว่าพัฒนา พุทธศาสนาไม่ได้มุ่งหมายให้พัฒนาทางวัตถุ แต่ให้มุ่งหมายพัฒนาในทางจิต มีคำว่า ภาวนา ซึ่งคำเดียวกับคำว่า ภวังค์ ซึ่งแปลว่า ทำให้มันเจริญขึ้น คำว่า ภาวนา ตรงกับคำว่า ทำให้เจริญขึ้น ตรงกับคำว่า ภาวนา แต่ถ้าเราทำอันนี้แล้วก็เป็นไปในทางเจริญอีก น่าปรารถนา ถ้าเป็นไปในทางวัตถุ มุ่งแต่พัฒนาทางวัตถุ อาตมายืนยันว่าจะนำไปสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์โดยไม่ต้องสงสัย เว้นไว้แต่ว่า มีความรู้ที่ถูกต้องในทางจิต เข้าควบคุมไว้เท่านั้น นี่อย่าเข้าใจว่า พุทธศาสนาไม่นิยมการพัฒนา นิยมการถอยหลัง หนีเข้าป่า ไปอยู่เป็นฤๅษี ตามถ้ำตามเขาคนเดียว นี่ไม่ใช่ แต่ว่าให้พัฒนาด้วยความรู้สึกที่ถูกต้องในทางจิตใจและควบคุมวัตถุได้และวัตถุก็ไม่ต้องรก รุงรัง เหมือนหญ้ารก แต่ก็มีความเป็นอยู่ที่สบายที่เหมาะสมที่สุดสำหรับมนุษย์เรา
ที่นี่มนุษย์เรานี้มีอวิชชาในข้อที่ว่า ไม่รู้ว่า เกิดมาทำไม นี่ขอฝากไว้กับทุกๆ ท่านว่า อวิชชาของมนุษย์เรานี้คือ ไม่รู้ว่า เกิดมาทำไม มนุษย์มีอวิชชากันทั้งโลก ในข้อที่ว่า ไม่รู้ว่า เกิดมาทำไม พอเข้าใจผิดเรื่องนี้แล้ว ผลหรือปฏิกิริยาจะเกิดขึ้นกันอย่างขัดกันไปหมด ยุ่งไปหมดจนหันหน้าเข้าหากันไม่ได้ ทำความเข้าใจกันไม่ได้ เพราะต่างคนต่างไม่รู้ว่า เกิดมาทำไม ที่นี่ก็เดาเอาเอง ตามความรู้สึกสามัญสำนึก ตามอารมณ์ที่กระทบมา นี่กลายเป็นว่า คนหนึ่งก็ว่าเกิดมาเพื่อความเอร็ดอร่อยทางอยาตนะ อยาตนะในที่นี้หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เนื้อหนัง เพื่อความเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนัง อย่างที่เรียกว่า กิน ดื่ม ร่าเริงเต็มที่ พรุ่งนี้อาจจะตายเสียก็ได้อย่างนี้ เป็นต้น หรือว่าดีกว่านี้เกิดมาก็เพื่อกิน เพื่อกาม เพื่อเกียรติ 3 ก. นี้กิน กาม เกียรติ กิน กาม เกียรติ ไม่มีวันเพียงพอ เกิดมาเพื่อเท่านี้เอง ไม่ยอมรับรู้เป็นอย่างอื่น พวกหนึ่งจะไปได้สูงกว่านิดหน่อยก็ว่า ชั้นเกิดมาเพื่อจะสร้างโลกนี้ให้งดงาม เมื่อโลกนี้ไม่มีมนุษย์แล้วไม่น่าดู มนุษย์จะมีอยู่ในโลกเพื่อทำโลกนี้ให้งดงาม หรือบางคนจะคิดว่า เราเกิดมาเพียงเพื่ออย่าให้มนุษย์สูญพันธุ์ อย่างนี้ก็ลองคิดดูเถอะว่า มันยังต่างกันเสียแล้ว ปฎิกิริยาแสดงออกขอคนเหล่านี้ย่อมต่างกันมาก ที่นี่ยังมีความคิดที่สูงไปกว่านั้นอีกก็ว่า ข้าพเจ้าเกิดมาเพื่อความจริง เพื่อให้ลุความดีสูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ อย่างนี้ก็น่าชื่นใจอยู่ ว่าเกิดมาเพื่อให้ลุถึงความดีสูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ พระพุทธศาสนามีหลักที่ว่า เกิดมาเพื่อจะเอาชนะความทุกข์ เกิดมาเพื่อเอาชนะโลก และช่วยกันและกันให้เอาชนะความทุกข์และช่วยเอาชนะโลก ท่านอยู่ในพวกไหน หรือพูดสั้นๆ พุทธศาสนาจะพูดว่า เกิดมาเพื่อจะได้หยุดเกิดกันเสียที อย่างนี้ก็ยังได้ ที่นี่เรามองดูเพื่อนมนุษย์ของเราทั้งโลกว่า เค้ากำลังเกิดมาเพื่ออะไร โดยแท้จริงนั้นจะเห็นว่ายังไกลเกิดมาเพียงเพื่ออยากให้มนุษย์สูญพันธุ์นี่ก็ไม่มีซะแล้ว จึงไม่มีแม้เพียงว่าเกิดมาเพื่อโลกนี้ให้งดงาม สร้างโลกนี้ให้งดงาม งั้นจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง งั้นจึงน่าระอา น่าเบื่อหน่ายอย่างยิ่งในการจะพูดกันให้รู้เรื่องในข้อนี้ จนหาเพื่อนร่วมยากอย่างอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า แต่แล้วในที่สุดในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทนี้ เราต้องไม่ท้อถอย เพราะเวลากำลังของเรามีอยู่เท่าไร เราจะต้องทำให้ถูกต้องตามอุดมคติของการที่เกิดอยู่ในโลกนี้ คือ ว่าเอาชนะสิ่งที่ควรเอาชนะให้ได้ นั่นก็คือ โลกนั่นเอง จนเราไม่มีความทุกข์และคนอื่นๆที่เป็นเพื่อนของเราในโลกนี้ก็ไม่มีความทุกข์ โดยการรู้ธรรมะหรือเข้าถึงธรรมะที่เป็นหยุดเสียได้ซึ่งความทุกข์หรือความหมายของคำว่าการเกิด นี่ขอให้ระลึกกันว่า พูดกันไม่รู้เรื่องเพราะเหตุนี้ เพราะว่าอวิชชาขอมนุษย์ในโลกนี้อยู่ตรงที่ว่า ไม่รู้ว่า เกิดมาทำไม จึงไม่สนใจธรรมะซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้การเกิดนี้ เป็นเหมือนกับการได้ที่สุด คือ เอาชนะความทุกข์ได้
ที่นี่อันสุดท้ายที่จะปรารภในฐานะที่เป็นอรัมถพระกถา (นาทีที่ 1.04.10) นี้ก็คือว่า แม้ในหมู่พุทธบริษัทเราก็ยังเข้าใจกันไม่ได้ ในเรื่องของภาษา เรื่องคำพูด เช่นว่า ความอยากหรือความต้องการ พอว่าความอยากแล้วก็ถูกปรับ ถูกประณามหมดว่าเป็นกิเลส เป็นตัณหา เป็นอกุศลจิต ถ้ามันเป็นตัณหา ตามความหมายของบาลี ย่อมจะมีมูลมาจากอวิชชา เพราะฉะนั้นเป็นอกุศลจิตจริง เป็นสิ่งที่น่าขยะแขยงจริง แต่ว่าความอยากหรือความต้องการที่มีมูลมาจากวิชชาหรือปัญญาอันนี้จะประณามว่า เป็นอกุศลจิตไม่ได้ เพราะว่า มีมูลมาจากวิชชา ไม่ใช่จากอวิชชา ถ้ามีความคิดนึกที่เต็มไปด้วยธรรมะ ประกอบไปด้วยธรรมะ ต้องการจะสร้างความเจริญหรือการพัฒนาหรืออะไรก็ตาม ไม่ถูกจัดว่าเป็นอกุศลจิต ไม่ถูกจัดว่าเป็นตัณหาที่จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จะต้องปรับความเข้าใจจนถึงกับว่า แม้แต่ว่าความอยากเพื่อจะไปนิพพาน อยากจะนิพพาน อยากจะพ้นโลก อยากจะออกจากโลกก็ตาม ถ้าความอยากนั้นประกอบด้วยความงมงาม เช่น เกิดตามเค้าไป ความงมงายอย่างนี้ ถูกแล้วที่จัดความอยากจะไปนิพพานนั้นว่า เป็นตัณหา เป็นอกุศลจิตก็ได้ เป็นโมหะก็ได้ แต่ถ้าความอยากหรือความต้องการที่จะไปนิพพานนั้น ประกอบอยู่ไปด้วยวิชชา ความรู้ ความเข้าใจถูกต้อง ประกอบด้วยสัมมาทิฐิอย่างนี้แล้วไม่ถูกเรียกว่า เป็นตัณหา เพราะไม่ได้มีมูลจากอวิชชา แต่ว่ามีมูลมาจากวิชชา ที่นี่เรามาเหมากันเสียหมดในเมืองไทยเองตามศาลาวัดนี้เอง ความอยากทุกชนิดเป็นอกุศลจิต เป็นสิ่งที่ควรขยะแขยง สอนไม่ให้อยาก อะไรอย่างนี้ ถ้าจำเป็นจะต้องอยากก็ให้ฝืนทนความรู้สึกอย่างนี้ใช้ไม่ได้ พุทธบริษัทไม่มีหน้าที่ต้องอะไร ต้องฝืนความรู้สึกว่ามันไม่ดีแล้วจะต้องทำอย่างนี้
อีกคำหนึ่ง ที่พอจะเป็นตัวอย่างได้ เช่นคำว่า สันโดษ ในพุทธศาสนามีคำว่า สันโดษ มีไว้ในฐานะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงกำลังใจ ให้ยินดีพอใจในสิ่งที่กำลังได้รับอยู่ ไม่ใช่เพื่อให้มีอยู่ แต่ทำความเจริญหรือความก้าวหน้า ตัวอย่างว่า กรรมกรก็ทำงานอยู่ เค้าต้องมีความพอใจ อิ่มใจอยู่ตลอดเวลา งั้นเค้าจึงไม่คลั่ง ไม่คลุ้ม ไม่คลั่งในจิตในใจ ที่เกิดเป็นอกุศลจิตขึ้นมา อย่างชาวนาขุดดินลงไปทีหนึ่งก็พอใจ ว่าขุดไปทีหนึ่ง สองทีก็พอใจว่าขุดไปสองที พอใจ สรวนเสเฮฮาอยู่เรื่อยก็เลยไม่เกิดความกลัดกลุ้มว่า ช้าเหลือเกินไม่ได้ผล ไปขโมยดีกว่าอย่างนี้เป็นต้น สันโดษจึงเป็นเครื่องมือจำเป็นที่จะหล่อเลี้ยงอยู่ทุกๆวินาทีให้คนพอใจในการปฏิบัติธรรม สันโดษที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ ท่านเรียกว่า สันโดษนี้เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความสุข แต่เราไม่เข้าใจอย่างนั้น เราเข้าใจว่า มันช่วยให้คนเราไม่ทำอะไร หยุดแล้วถอยหลัง นี่เป็นการให้ความไม่ยุติธรรมแก่พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง โดยที่ว่าไม่ใช่ความผิดของธรรม ไม่ใช่ความผิดของพุทธศาสนา แต่เป็นความผิดของคนๆนั้นเองหรือคนที่เรียนกันมาผิดๆ หรือสอนกันมาผิดๆ หรือเข้าใจเอาเองผิดๆ งั้นขอวิงวอนว่า ขอได้เลิกล้างความไม่ยุติธรรมเหล่านี้กันเสียที ได้กรุณาช่วยปรับความเข้าใจ เข้าใจให้ถูกต้องในเรื่องที่เกี่ยวกับคำต่างๆ ที่ใช้อยู่ในพระพุทธศาสนานี้ให้ถูกต้องกันเสียที แล้วเราก็จะ จะรักพระพุทธศาสนา และรักธรรมะ และหันหน้าเข้ามาหาธรรมะได้โดยง่ายได้ แล้วเป็นไปได้โดยง่ายดาย คือ ก้าวหน้าในธรรมโดยง่ายดาย ขอโอกาสยุติข้อเท็จจริงที่ว่า มันมีอะไรอยู่หลายอย่างที่ทำให้เราเกลียดธรรมะ หันหลังให้ธรรมะ หรือว่าไม่สามารถจะสัมพันธ์กันกับธรรมะได้
ที่นี่อาตมาจะได้เริ่มการบรรยายซึ่งเป็นเนื้อแท้ของการบรรยายครั้งนี้ โดยหัวข้อข้อแรกที่ว่า งานคือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมนี้จะเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจคำว่า ธรรม เสียก่อน อย่างที่อาจารย์คึกฤทธิ์ว่าเมื่อตะกี้นี้ เพราะว่าคำว่า ธรรม เป็นคำที่ยังเข้าใจกันไม่ถูกต้องและสมบูรณ์ บางทีก็เข้าใจสับสนเพราะว่า คำนี้มันกว้างมากนั้นเอง เพราะฉะนั้นเราทำความเข้าใจข้อแรกถึงคำว่า ธรรม
คำว่า ธรรมนี้ โดยภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤตก็ตาม ถ้าพูดถึงเฉพาะตัวภาษาหรือตัวคำพูด ตัวอักษร ตัวพยัญชนะนั้น มันหมายถึง ทุกสิ่งทั้งปวงไม่ยกเว้นสิ่งใดหมดและถือว่าทุกสิ่งเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าสิ่งที่จะธรรมดาหรือไม่ธรรมดา ใช้คำอย่างนี้ ที่นี่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งหรือไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งก็ตาม ที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงหรือไม่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงก็ตาม หมายความว่า ทั้งหมดนับตั้งแต่ สิ่งไม่มีค่าไปถึงสิ่งมีค่า จนกระทั่งความคิดความนึก จนกระทั่งการกระทำจนกระทั่งผลของการกระทำ มีมรรคผลนิพพานเป็นที่สุด เหล่านี้เรียกว่า ธรรม คำเดียวเท่านั้นและเสมอกันหมด โดยธรรมชาติแท้เค้าเรียกว่า ธรรม ในชั้นแรกที่สุด ขอให้หลับตานึกคิดมองเห็นชัดลงไปว่า ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมหรือว่าไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ธรรมชาติส่วนที่เปลี่ยนแปลงก็พวกหนึ่ง ส่วนที่ไม่เปลี่ยนแปลงหรือคงที่ก็พวกหนึ่ง ทั้งสองพวกนี้เป็นเพียงธรรมชาติ และเป็นธรรม
ที่นี่ทำไมเรียกว่า ธรรม เพราะว่ามันมีความเป็นตัวมันเอง มีกฎเกณฑ์ของตัวมันเอง พวกที่เปลี่ยนก็เปลี่ยน พวกที่ไม่เปลี่ยนก็ไม่เปลี่ยน อย่างนี้เราเรียกว่า กฎเกณฑ์ตายตัวของมันเอง ความที่มันทรงลักษณะอันนี้ไว้แหละ เรียกว่าธรรม เพราะคำว่า ธรรม แปลว่า ทรง ทรงตัวเองไว้ ทรงตัวเองไว้ในลักษณะโดยเฉพาะของมันเอง นี่เรียกว่า ธรรม นี้ธรรม ก็คือสิ่งทั้งปวง เป็นข้อแรก เป็นพวกแรก นี่เราเขยิบมานิดหนึ่งว่า สิ่งทั้งปวงนั้นมีกฎเกณฑ์ นี่มองดูที่กฎเกณฑ์ของสิ่งทั้งปวงก็พบว่า ทุกๆ อย่าง ทุกๆ ชนิด ทุกๆ ระดับ มีกฎเกณฑ์ ไอ้กฎเกณฑ์ของสิ่งทั้งปวงนั้นก็เรียกว่า ธรรม อีกเหมือนกัน ไม่เรียกว่าอย่างอื่น เป็นความจริงหรือเป็นสัจธรรมขึ้นมา โดยมีกฎเกณฑ์อย่างนั้นจริง เรียกว่าธรรมแท้ๆเป็นอย่างนี้ มันเป็นสภาพธรรมชาติอย่างนั้นและมีกฎเกณฑ์อย่างนั้น ที่นี่มนุษย์นี้ มนุษย์ทำยุ่ง คือ มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องสิ่งเหล่านี้ ชอบแยกนี้เป็นกุศลธรรม นี้เป็นอกุศลธรรม นี้เป็นอปยาสิท (นาทีที่ 1.12.20) ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล นี่ก็เพราะว่าเอาตามใจมนุษย์ชอบนั่นเอง มนุษย์มองเห็นว่าอย่างไรดี น่าปรารถนาก็ว่าเป็นกุศลธรรม อย่างไรไม่น่าปรารถนาเป็นอกุศลธรรม อย่างที่บอกไม่ถูกก็เรียกว่า อปยาสิท (1.12.40) นี่มันเป็นความคิดความนึก ความรู้สึกของมนุษย์ทั้งนั้นที่ไปบัญญัติ ว่าดี ว่าชั่ว ว่าไม่รู้ว่าดีหรือชั่วขึ้นมา แล้วก็เลยติด ติดที่ตนถูกใจหรือพอใจ เพราะฉะนั้นความหมายของคำว่า ธรรมจึงเกิดเป็นว่ามีกุศลธรรม อกุศลธรรม อปยาสัทธรรม อะไรขึ้นมา แต่ในที่สุดก็ไม่พ้นจากสิ่งทั้งปวง งั้นจึงว่าสิ่งทั้งปวงก็ดี กฎเกณฑ์ของสิ่งทั้งปวงก็ดี หรือประเภทของสิ่งทั้งปวงที่จำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ ก็ดี เรียกว่า ธรรม นี่คือความหมายพื้นฐาน ระดับพื้นฐานอันที่สุด อันนี้ยังไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติโดยตรง แต่ว่าเป็นรากฐานของวิชาหรือของทฤษฎีที่จะเกิดการปฏิบัติ
ที่นี่ก็มาถึง คำว่า ธรรม ที่ใช้กันอยู่ยุคที่มนุษย์มีความก้าวหน้าในทางจิตหรือทางวัฒนธรรมพอสมควรแล้ว คำว่า ธรรม มีความหมายพิเศษออกมา แยกออกมาว่า หน้าที่ Duty หรือหน้าที่ ถ้าเราไปเปิดดูหนังสือพวก Dictionary สันสกฤตหรือภาษาโบราณในอินเดียนี่ โดยเฉพาะที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ คือว่า เป็นคำธรรมดาสามัญ คล้ายๆ กับว่าเป็นจริยธรรมสากล ใช้ได้กับคนทุกคน แล้วเค้าแปลคำ ธรรมะ นี้ว่า หน้าที่ Duty หรือ หน้าที่ และมีก่อนพุทธกาล ที่นี่ในสมัยพุทธกาล ก็ยังมีการใช้คำว่า ธรรมะ ซึ่งแปลว่า หน้าที่ เพราะฉะนั้นคำว่า ธรรมะ เกิดมีความหมายที่แคบเข้ามาแล้วเป็นไปในรูปการปฏิบัติยิ่งขึ้น คำว่า หน้าที่ หมายความว่า หน้าที่ที่ทุกสิ่งจะต้องประพฤติหรือว่ากระทำหรือว่าหน้าที่ที่เราจะต้องประพฤติกระทำต่อทุกสิ่ง เมื่อคำว่า ธรรมะ หมายถึง สิ่งทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไรแล้ว ก็หมายความว่า เราต้องรู้ว่า เรามีหน้าที่อย่างไรบ้างที่จะประพฤติต่อสิ่งทุกสิ่งนั้น งั้นหน้าที่นั่นเอง เรียกว่า ธรรม ในที่นี่ งั้นคำว่า ธรรม ในกรณีทั่วไปที่ใช้ได้ทั้งในทางศาสนา ทางปรัชญา ทางจริยธรรมอะไรก็ตาม มีคำแปลว่า หน้าที่ แม้สุดแต่ว่าเราจะเปิดหนังสือสันสกฤต ชนิดที่ว่าน่าขยะแขยงอย่างหนังสือชื่อกามาสูตรอย่างนี้ บรรทัดแรกจะพบว่า การประกอบกรรมระหว่างเพศเป็นการประพฤติธรรม เพราะว่านั้นเป็นหน้าที่ จะต้องทำให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นสูตรนี้จึงถูกเขียนขึ้นว่าอย่างนี้ หมายความว่า ธรรมนั้นคือหน้าที่ งั้นหน้าที่ไม่ยกเว้นอะไรหมด งั้นขอให้ให้ความเป็นธรรมว่า ทุกอย่างที่มีความรู้สึก มี sense มีความรู้สึกแล้วจะต้องสำนึกในหน้าที่ จะต้องประพฤติหน้าที่ เช่นว่า สัตว์เดรัจฉานก็มีคำสำหรับเดรัจฉาน แม้เป็นสุนัขก็จะต้องรู้หน้าที่แล้วประพฤติหน้าที่แล้วเจ้าของก็รักอย่างนี้ เป็นต้น หรือแม้สุดแต่ว่ามันจะประพฤติหน้าที่ ไปเที่ยวหาอาหารกิน รู้จักระมัดระวังตัว นี่ก็เรียกว่าหน้าที่ ที่นี่ต่ำลงไปถึงต้นไม้ ต้องรู้จักหาแสงแดด หาอาหาร ต่อสู้อันตรายเป็นหน้าที่ของมัน ก็เรียกว่า เป็นหน้าที่ของต้นไม้
งั้นจึงเห็นว่า คำว่า ธรรม ในความหมายที่เรียกว่าหน้าที่ เป็นของธรรมชาติโดยแท้ ไม่ใช่คนบัญญัติ เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติโดยแท้ว่า สิ่งมีชีวิตหรือมีความรู้สึกนี้จะต้องมีหน้าที่และจะต้องรับรู้ต่อความมีหน้าที่ งั้นทุกคนจะต้องทำหน้าที่ คือ ประพฤติธรรมหรือทำหน้าที่ เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่ของตัวคือการประพฤติธรรม เป็นหลักทั่วไป ไม่ยกเว้นในจริยธรรมระบบไหน ปรัชญาระบบไหน ศาสนาระบบไหน
นี่พอมาถึงคำว่าหน้าที่ เมื่อมนุษย์เราเจริญมากขึ้นๆ ในทางจิตใจ ในทางศาสนาจึงยอมรับเอาแต่เพียงหน้าที่ประเภทที่กำจัดความทุกข์ที่ละเอียด ที่ลึกซึ้งเท่านั้น เช่น พระพุทธศาสนา หน้าที่ที่จะทำลายโลภะ โทสะ โมหะ นี่เป็นหน้าที่แล้วก็บรรลุนิพพาน คือ ผลของหน้าที่ที่สุดของหน้าที่ หน้าที่ต้องบรรลุนิพพาน งั้นกล่าวได้ว่า มนุษย์ทุกคนจะรู้สึกตัว ไม่รู้สึกตัวก็ตาม มีหน้าที่ที่จะต้องทำให้พระนิพพานให้แจ้ง ถ้าเค้าไม่รู้สึกก็เป็นความผิดของเค้าเอง ถ้าเค้าโดยธรรมชาติกำหนดไว้จะต้องทำหน้าที่จะต้องประพฤติหน้าที่อันนี้ งั้นเราจึงมีคำว่า ธรรม ในความหมายที่สูงขึ้นมา ไม่ใช่กฎเกณฑ์ธรรมชาติธรรมดาทั่วๆ ไป ซึ่งมากมายมหาศาล เรียนไม่ไหวแล้ว เอาแต่เพียงว่า กฎเกณฑ์ที่ว่ามีหน้าที่อย่างไรแล้วก็ปฏิบัติ เพราะฉะนั้นย่อมกล่าวได้ว่า แม้ชาวนาจะทำนา ก็เรียกว่า ทำหน้าที่และเป็นการปฏิบัติธรรม ที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า แม้แต่ต้นไม้ แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน แม้แต่การประกอบระหว่างเพศนี้มั นก็เป็นหน้าที่ไปหมด งั้นคนค้าขายทำหน้าที่ของคนค้าขายถูกต้องบริสุทธิ์ ก็เรียกว่า ประพฤติธรรม งั้นขอให้เข้าใจว่า นี้เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติและเป็นหลักธรรม
อาตมาจึงถือโอกาสขอร้องว่า ช่วยกันทำความเข้าใจในข้อนี้ว่า ถ้าชาวนาเค้ารู้ว่าการทำนา เป็นการปฏิบัติธรรมแล้ว เค้าจะสนุกสนานจะอิ่มอกอิ่มใจ จะพอใจในการทำนา ไม่ใช่ทำด้วยความจำเป็น เดี๋ยวนี้เราบอกเค้าว่า บุญอยู่ที่วัด ธรรมะอยู่ที่วัด ต้องไปที่วัด ทำนาก็ทำเพื่อเอาไปแลกบุญที่วัดหรือไปแลกธรรมะที่วัด อย่างนี้เค้าก็มีเรื่องหลายฝักหลายฝ่าย แล้วก็ต้องทนมากเกินกว่าเหตุ แล้วไม่ใช่ความจริงด้วย หน้าที่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ งั้นชาวนาก็ตาม ชาวสวนก็ตาม ข้าราชการก็ตาม ผู้ปกครองก็ตาม ผู้ถูกปกครองก็ตาม แม้สุดแต่อะไร ยาจกเข็ญใจก็ตาม ทำหน้าที่ของตัวนั้นคือการประพฤติธรรม เนี้ยคำว่า ธรรม ในยุคก่อนพุทธกาลกระทั่งถึงยุคพุทธกาลมีความหมายว่าหน้าที่อย่างนี้ แล้วก็เขยิบขึ้นมาให้เข้ากับหน้าที่อีกของพุทธบริษัทที่มุ่งหมายนิพพานโดยเฉพาะนั่นเป็นอย่างไร
ที่นี่คำว่า ธรรม ในความหมายนี้แหละเกิดแยกออกมาจากที่เป็นอกุศล พวกอกุศลที่เคยเรียกว่าธรรมหรือกฎเกณฑ์ของอกุศลว่าอย่างไรนั้น เราไม่แตะต้องเราไม่เกี่ยวข้อง เรารู้ไว้สำหรับหลีกเลี่ยง แล้วเราก็แยกมาแต่ฝ่ายกุศล คือ ความถูกต้องหรือความดี งั้นคำว่า ธรรม จึงมีความหมายรัดกุมเข้ามาว่า ปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะที่ถูกต้อง เพราะว่า คำๆ นี้ถ้าเอาความหมายแล้วหลายสิบคำ มีคำแปลหลายสิบคำ ไม่ใช่เพียงหลายคำ ที่เป็นภาษาอังกฤษลองนับดูตั้ง 30 40 คำ หมายเป็นพวกๆ ไป หมายถึง ธรรมชาติก็มี หมายถึงคำสอนหรือศาสนาก็มี หมายถึงความดีความถูกต้องก็มี หมายถึงธรรมชาติเฉยๆ ก็มี แต่ว่าพวก Philosophy ที่เค้าสนใจจะรวมศาสนาทุกศาสนาให้เข้าเป็นศาสนาเดียวกันนี้ได้บัญญัติคำว่าธรรมขึ้นมาตรงกับหลักที่เราต้องการที่สุด ที่มีใช้อยู่แต่ในพุทธศาสนาหรือว่าก่อนพุทธศาสนาก็ตาม คือ ความหมายคำว่าหน้าที่นั่นเอง ที่เค้าบัญญัติว่า ธรรมะคือการปฏิบัติ บอกถึงการปฏิบัติที่ตรงกับมนุษย์และเหมาะสมกับมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเค้า Because of conduct right for the man as if particular is each evolution (นาทีที่ 1.22.01) ระบอบการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเค้า ขอให้พวกเราโดยเฉพาะยุวชนเข้าใจความหมายของคำว่า ธรรม ในลักษณะนี้ แล้วจะชอบธรรมจะรักธรรม จะหันหน้าเข้าธรรม มันแสดงความเป็นหน้าที่อยู่ในตัว การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องสำหรับมนุษย์ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัตนาการของเค้า ตั้งแต่เกิดมานอนอ้อแอ้อยู่ในเบาะเนี้ยมันก็มีวิวัตนาการขั้นหนึ่ง เด็กนั้นจะต้องมีระบบประพฤติปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง รู้สึกตัวก็ตาม ไม่รู้สึกตัวก็ตามหรือว่าธรรมชาติสอนให้ก็ตาม จะต้องรู้จักหน้าที่ ที่ว่าจะกินอย่างไร จะถ่ายอย่างไร จะร้องไห้อย่างไร หรือว่าจะพูดจาอย่างไร จะดิ้นรนอย่างไรต่อไป จะเป็นเด็กที่คลานได้ เดินได้ เป็นทุกๆ ขั้นทุกๆ ตอน เค้าจะต้องประพฤติธรรม ในความหมายนี้ กระทั่งเค้าเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็มีธรรมะของหนุ่มสาว เป็นพ่อบ้านแม่เรือนก็มีธรรมะของพ่อบ้านแม่เรือน แล้วก็เป็นคนเฒ่าคนแก่หรือเป็นวรรณะบวชเป็นบรรพชิตต่อไป ที่นี่เด็กก็ตาม คนหนุ่มคนสาวก็ตาม พ่อบ้านแม่เรือนก็ตาม ชีวิตประจำวันอย่างไร ที่ Office ทำงานอย่างไร กลางถนนอย่างไร ห้องน้ำอย่างไร ห้องส้วมอย่างไร เค้าจะต้องประพฤติให้ถูกต้องตามระบบของสิ่งที่เรียกว่า เป็นความถูกต้อง งั้นธรรมะในลักษณะนี้จึงหมายถึง ความถูกต้อง มันแคบเข้ามาเหลือเท่านี้แล้วไม่ได้กว้างขวางทั้งโลกทั้งจักรวาลอย่างที่แรกแล้ว เหลือแต่ว่าฝ่ายที่เป็นกุศล เหลือแต่ที่เป็นความถูกต้องแล้วก็เหลือไว้อยู่แต่เฉพาะวิวัตนาการขั้นนั้นๆ ของเด็ก ของคนหนุ่มสาว ของผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ มันไม่มากมายอะไร งั้นจึงไม่เหลือวิสัยที่เราจะประพฤติธรรม ให้เราปฏิบัติธรรมนั่นแหละคือการทำหน้าที่ หรือการทำหน้าที่นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม เป็นสิ่งที่สากลใช้ได้แก่ทุกศาสนา แก่ทุกลัทธิปรัชญา ผู้ใดทำหน้าที่ของตนผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติธรรม ถ้าเค้าทำได้ถูกต้องและสมบูรณ์ก็เรียกว่าประพฤติธรรมถูกต้องและสมบูรณ์ อย่าได้รังเกียจว่า เป็นครอบครัว สามีภรรยาอย่างฆราวาสแล้วไม่มีการปฏิบัติธรรมหรือไม่มีการประพฤติธรรม ขอร้องว่า ให้ประพฤติหน้าที่ระหว่างสามีภรรยาให้ถูกต้อง ให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ให้สมบูรณ์ นั่นแหละคือการประพฤติธรรม แล้วเราจะกระโดดข้ามชั้นไปไม่ได้ เนี้ยขอยืนยันงั้นจึงเป็นไปอย่างที่ได้เขียนไว้ในคำนำของกามาสูตรนั้นว่า การประกอบกรรมระหว่างเพศเป็นการปฏิบัติธรรม กระโดดข้ามไปไม่ได้ ต้องทำให้ถูกต้อง สอบไล่ขึ้นๆ ไป แล้วเราจึงทำหน้าที่ของเรานี้ให้ถูกต้อง ให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ให้สมบูรณ์ เป็นการประพฤติธรรม คำว่า ธรรมะในลักษณะนี้จะเอามาใช้ได้กับการที่เราจะสร้างตัวเราเองหรือกับการที่เราจะสร้างประเทศชาติหรือว่าที่เราจะสร้างโลก ช่วยกันสร้างโลกทั้งโลก งั้นเราช่วยบอกกันเสียใหม่ว่า เราปฏิบัติธรรมที่แท้จริงในการทำงาน เพราะงั้นในงานนี้จึงเป็นการปฏิบัติธรรม เป็นงานเพื่องานจึงจะว่าเป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ในงานนั้น ข้อนี้เราต้องอาศัยการเปรียบเทียบว่า การทำงานเพื่องานนั้นเป็นอย่างไร แล้วการทำงานเพื่ออย่างอื่นงั้นเป็นอย่างไร เช่น เพื่อเงิน นั้นเป็นอย่างไร การทำงานเพื่องานนี้มันเป็นการปฏิบัติธรรมบริสุทธิ์ผุดผ่อง 100 % แม้จริยธรรมสากลเค้าก็มีหลักอย่างนั้น เช่นว่า Duty for the duty state (นาทีที่ 1.26.40) หน้าที่เพื่อประโยชน์แก่หน้าที่ ของจริยธรรมสากล Volume (นาทีที่ 1.26.43)ข้อหนึ่งของจริยธรรมสากล นี่ก็หมายความว่า งานเพื่องาน ถูกกับหลักของธรรมชาติ และของพุทธศาสนาว่า การปฏิบัติธรรมคือการทำงานหรือทำงานเพื่อธรรม นี่ผลมันเกิดขึ้นว่า ทำงานเพื่องานเนี้ยได้บุญด้วย ได้เงินด้วย เพราะว่าการทำงานแล้วมันไม่มีหนีไปไหน เงินต้องได้ด้วย แต่ว่าได้บุญด้วยเพราะเป็นการปฏิบัติธรรม แต่ว่าถ้าทำงานเพื่อเงินแล้วมันได้แต่เงิน มันไม่เป็นการปฏิบัติธรรมที่ได้เงินด้วย งั้นถ้าเราจะยึดธรรมะเป็นหลัก เราจะต้องถือหลักว่า ทำงานเพื่องานหรือเพื่อการปฏิบัติธรรมแล้วได้เงินด้วย ได้บุญด้วย ถ้าเราจะพูดว่า งานคือเงิน เงินคืองาน นี้ เราต้องอธิบายกันให้ดีๆ เพราะว่า ถ้าเผลอนิดเดียว ก็เป็นงานเพื่อเงิน งานกับเงินเป็นอันเดียวกัน จะต้องว่า จะต้องเป็นว่า งานนี้เพื่องานแล้ว ถ้าว่างานเพื่อเงินแล้วจะกระเดียดไปทางหลงเงินและบูชาเงิน เงินเป็นอุดมคติที่ว่า กรรมกรก็จะยื้อแย่ง นายทุนก็ไม่เผื่อแผ่ และลัทธิคอมมิวนิสต์ก็เกิดขึ้น ที่ถ้าว่างานเพื่องาน ได้บุญด้วย เงินก็ได้ แล้วนายทุนก็เผื่อแผ่ แล้วกรรมกรก็สันโดษ ก็พอใจในการปฏิบัติธรรมของตัว คือการงานและไม่ยื้อแย่ง ลัทธิอย่างลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นในโลก
คำว่า ทำงานเพื่องานกับทำงานเพื่ออย่างอื่นนั้น มันต่างกันอย่างตรงกันข้าม เป็นไปตามหลักของคำว่าธรรมะ คือ หน้าที่แล้ว หลักก็จะเกิดขึ้นว่า ทำงานเพื่องาน ทำงานเพื่องานนั้น คือ การปฏิบัติธรรม งั้นที่อาตมาว่า ขอร้องให้มีธรรมะ แม้กระทั่งในห้องน้ำ ในห้องส้วมนี้ก็คือ ให้สำนึกถึงหน้าที่ที่ว่า ตัวเกิดมาทำไม จะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไร จะต้องกระทำต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหลายอย่างไร หรือแม้สุดแต่ว่า จะทำงานนี้ทำเพื่ออะไร และเมื่อสุดแต่งานที่ต้องทำในห้องน้ำห้องส้วมนั้นจะต้องทำให้ผุดผ่องบริสุทธิ์ สมบูรณ์ เพื่อจะได้เป็นมนุษย์ที่ทำหน้าที่ของมนุษย์อย่างสมบูรณ์อย่างนี้เรียกว่ามีธรรมะอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว ที่เนื้อที่ตัว ไปไหนอยู่ที่ไหน มันก็มีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัว แม้กระทั่งในห้องน้ำหรือห้องส้วม ก็ไม่ลืมอุดมคติที่ว่า มนุษย์นี้เกิดมาทำไม งั้นก็เลยอยากจะขอฝากไว้อีกนิดหนึ่งว่า ถ้าเราจะเปลี่ยน พูดเสียว่า ทำงานเพื่องาน ทำงานเพื่องานบันดาลสุข เราจะประหยัดเวลาพูดได้สองสามวินาที ไม่ต้องวนไปวนมาว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข เพราะว่า งานเพื่องานบันดาลสุข แล้วก็ได้ผล เป็นความหมายที่เป็นพุทธบริษัทด้วย แล้วประหยัดคำพูดได้ 2 ประโยค เนี้ยประหยัดเวลาวันหนึ่งๆ ได้แยะเหมือนกัน งั้นจึงว่า ระวังให้ดี เพราะว่าเราจะถูกโหวตกันด้วยมติสากลว่า ทำงานเพื่ออะไร ในโลกนี้มาประชุมกันทั้งโลก แล้วโหวตกันเป็นมติสากลว่าทำงานเพื่ออะไร แล้วใครจะยกมือความหมาย ทำงานเพื่องาน หรือว่า ทำงานเพื่ออะไรกันแน่ นี่เราเตรียมตัวไว้ตอบ ไว้รับหน้าการโหวตของจริยธรรมสากลบ้าง อย่าให้ประเทศไทยที่เป็นประเทศพุทธบริษัทนี้ต้องได้รับการเย้ยหยันว่า ไม่ถึงขนาดหรืออะไรทำนองนั้นเลย อาตมาขอให้สนใจในคำว่า ธรรมะกันในลักษณะอย่างนี้ คือการปฏิบัติหน้าที่ คือ การทำงานที่บริสุทธิ์นั่นเอง คือ การปฏิบัติธรรม แม้สุดแต่ว่า แจวเรือจ้าง แม้สุดแต่ว่า ถีบสามล้อ ก็ขอให้เข้าใจอย่างถูกต้องว่า นั้นก็เป็นการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่คำนี้จะหลอกหลวงหรือจะโฆษณาให้พระพุทธเจ้าหรือจะโฆษณาให้ใครก็ไม่ได้ แต่ว่าเป็นความจริง ขอยืนยันว่าเป็นความจริง ขอร้องว่า ให้ช่วยเอาไปคิดไปวิจารณ์ให้ถึงที่สุด ว่ามันจริงหรือไม่ และถ้าเราถืออุดมคตินี้แล้ว หัวใจจะเย็นเป็นสุข แม้กระทั่งกรรมกรหรือไม่ เต็มไปด้วยบุญด้วยกุศลแพร่ทั้งโลกหรือไม่ ที่นี้พุทธบริษัทเรา อาตมาใช้คำว่า พุทธบริษัทเรา ขออภัยด้วย เพราะว่ามีที่ไม่ใช่พุทธบริษัทเราว่า ถ้าพุทธบริษัทเรามาคำนึงถึงข้อที่ว่า พุทธบริษัทนี้มีอะไรเป็นเครื่องหมายของพุทธบริษัท ไม่ใช่คนทั่วไป อาตมาคิดว่า เปลี่ยนอุดมคติ ว่างานเพื่อเงิน มาเป็นงานเพื่องานซะเถิด จะได้เป็นการเดินตามพระพุทธเจ้าและพระสาวก อรหันต์สาวก อาตมายืนยันว่า พระพุทธเจ้าท่านทำงานมากกว่าพวกเราทุกคนทั้งกลางวันและกลางคืน ท่านทำด้วยอะไร ท่านทำด้วยความสำนึกในหน้าที่ ท่านไม่ได้หวังเงินเดือนที่ไหน ท่านไม่ได้หวังคำยกย่องสรรเสริญที่ไหน แล้วท่านยังประณามด้วยซ้ำไป แปลว่า ท่านสำนึกในหน้าที่ของท่าน ท่านทำงานทั้งวันทั้งคืน แล้วพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ทำงานด้วยอุดมคติอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า คือ สำนึกในหน้าที่ แล้วท่านก็เลยช่วยพวกเราได้ ที่นี่พวกเราเป็นสาวกของท่าน เป็นพุทธบริษัทก็ควรจะมีอุดมคติเหมือนท่าน แล้วเราก็จะได้มีอะไรที่เข้ารอย เข้าร่องเข้ารอยกัน และที่สำคัญที่สุด เราจะได้มีสุขภาพในทางที่ดี อาตมาอยากจะขอร้องให้ช่วยดูให้ละเอียดสักหน่อยว่า ถ้าคนเรามีความกระหาย กระวนกระวาย วิตกกังวล กระสับกระส่ายอยู่เสมอแล้ว เราไม่เรียกว่ามีสุขภาพทางจิตที่ดี เราต้องอยู่ด้วยจิตว่าง ไม่มีตัวเรา ที่เป็นความเห็นแก่ตัวเรา มีแต่สติปัญญารู้ว่ามันจะควรเคลื่อนไหวอย่างไร เรียกว่าถ้าทำงานก็ทำสติปัญญา สำนึกในหน้าที่ เรียกว่าทำงานด้วยจิตที่ปราศจากความรู้สึกว่า ตัวกู อย่างนี้สุขภาพทางจิตดี มีสุขภาพทางจิตดีกับมีสุขภาพทางจิตไม่ดี นี่มันเป็นอย่างไรบ้าง ขอให้ลองเทียบเคียงกันดูให้ดี โรงพยาบาลทางจิตเนี้ยเกิดขึ้นเพราะว่า คนขาดสุขภาพทางจิต ถ้าเรามีสุขภาพทางจิตแล้วกันดีแล้ว ก็ปิดโรงพยาบาลประเภทนั้นได้ นี่ขอให้คำนึงถึงส่วนนี้เป็นส่วนใหญ่ ว่าเราเป็นพุทธบริษัทมีอุดมคติของพุทธบริษัทอย่างไร อย่าได้เข้าใจว่าเราจะประณามอุดมคติว่า งานคือเงิน เงินคืองาน อะไรทำนองนั้น นั้นก็เหมาะสมสำหรับผู้ที่จะทำความเข้าใจในขั้นแรก แต่เราต้องยอมรับกันว่า เราไม่ได้หมายความว่า อุดมคตินั้นทำงานเพื่อเงิน เพียงแต่บอกให้รู้ว่า เงินคืองาน งานคือเงินเป็นสิ่งเดียวกัน ขอให้แปลความหมายให้ถูกต้องเสียใหม่ว่า ทำงานเพื่องานนั่นเอง อย่าได้ไปหลงผิดว่า เป็นทำงานเพื่อเงินเข้า แล้วจะเสื่อมสุขภาพทางจิต แล้วจะเพิ่มโรงพยาบาลประเภทนั้นและลำบากมาก มันมีผลต่างกันอย่างนี้ ที่นี้ก็มีมาถึงว่า เราจะคิดดูให้ดีว่า ก่อนนี้ชาวนาเป็นพุทธบริษัทมากกว่านี้เดี๋ยวนี้ ชาวสวน กรรมกร อะไรต่าง ๆ ประชาชน พลเมืองในประเทศไทยก็เป็นพุทธบริษัทมากกว่าเดี๋ยวนี้ ทำไมอาตมากล้าประณามกันอย่างนี้ ก็เพราะอาตมารู้สึกด้วยใจจริงว่า คนทุกคนยุคก่อนเค้าเยือกเย็นกว่านี้ ด้วยข้อที่ว่า ทำงานเพื่องาน เราเห็นชาวนาขุดดินร้องเพลงสรวลเสเฮฮากัน ด้วยความพอใจในงานมากกว่าสมัยนี้ เมื่อก่อนกระดูกสันหลังของเรายิ้มมากกว่าร้องไห้ เดี๋ยวนี้ชักจะร้องไห้มากขึ้น หน้าดำคร่ำเครียดมากขึ้น เพราะอุดมคติที่ว่า ไปหลงวัตถุนิยมอย่างวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เป็นของต่างประเทศมากขึ้น ลืมพระพุทธเจ้า ลืมพระธรรม ลืมพระสงฆ์ เหมือนแต่ปางก่อนที่ว่า ทำความดีคือทำหน้าที่ เมื่อกระดูกสันหลังของเราชักจะเสื่อมสุขภาพทางจิตอย่างนี้ คือ พวกชาวนาที่มากที่สุดนี้ ก็เกิดความระส่ำระส่ายขึ้นในประเทศชาติของเรา สรุปว่า มีอุดมคติอย่างนี้นำไปสู่ผลอย่างนี้ ที่นี่ส่วนใหญ่เราเห็นว่าไม่ไหวแล้ว อย่างท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า เค้าไม่เลื่อน เค้าไม่สมัครเลื่อน อาตมาชวนให้เลื่อนว่า เลื่อนกันเถอะ เลื่อนมาเป็นงานเพื่องาน อย่างานเพื่อวัตถุเลย อย่างานเพื่ออื่นเลย ส่วนใหญ่เค้าไม่เลื่อนจะทำอย่างไร ก็ยังขอร้องยืนยันว่า เราไม่ยอม เราต้องเลื่อนให้จนได้ ใครจะไม่เลื่อนก็ตามใจ แต่ว่าใครจะสนใจหรือไม่สนใจกระทำ แม้ว่าคนอื่นจะไม่สนใจกระทำกับพระธรรม เราจะสนใจ เราจะยึดเอาพระธรรมซึ่งเป็นที่พึ่งอย่างเดียว และเป็นของสูงสุดอย่างเดียว เป็นที่พึ่ง เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าท่านก็เคารพธรรม ท่านประกาศเอง ท่านยืนยันเองว่า ท่านเคารพธรรม สิ่งที่พระพุทธเจ้าเคารพแล้วเราจะไม่เคารพอย่างไร ลองคิดดู งั้นเรายึดธรรมเป็นสรณะขึ้นพร้อมกันนั้น ยึดพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์เป็นสรณะ ติดเนื่องกันอยู่ในตัวเอง งั้นเรายินดีที่จะเป็นหรืออยู่หรือตายกับพระธรรม กับธรรม เราจะยึดตามกฎเกณฑ์ของธรรมที่ว่ามีอยู่อย่างไร เราทำอย่างนั้น จนตลอดชีวิตแม้ว่าคนอื่นเค้าจะไม่เอาด้วย เพราะว่าเราไม่มีอะไรอื่นที่ดีกว่านี้ ที่ควรทำ เราจะต้องอยู่กับพระธรรมเสมอไป งั้นเราจึงทำเนื้อทำตัวเป็นพระธรรม เหมือนกับเครื่องจักรที่ว่ากลั่นกรองรัศมีของพระธรรมออกมาเรื่อยไม่มีหยุด มันจะมีประโยชน์แก่ใครก็ตามใจเค้าเถอะ เค้าจะเอาหรือไม่เอาด้วยก็ตามใจเค้าเถอะ แต่เราจะต้องยึดมั่นในอุดมคติของธรรมอย่างนี้เสมอไป ธรรมะคือการทำ ธรรมะคือหน้าที่ การปฏิบัติธรรมะคือการปฏิบัติหน้าที่ การปฏิบัติหน้าที่ก็เพื่อประโยชน์แก่หน้าที่ นี่เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์แล้ว เป็นจิตที่ว่างจากความรู้สึกยึดถือว่าตัวตนแล้ว นี่ประเด็นที่หนึ่งของการบรรยายในวันนี้ว่า งานคือการปฏิบัติธรรม การทำงานนั่นแหละคือการปฏิบัติธรรมไม่ต้องแสวงหาที่อื่น ที่วัดก็ต้องทำงาน การถือศีล ให้ทาน ทำสมาธิ ทำวิปัสสนาก็คือการทำงาน แต่ว่าการทำไร่ทำนา ค้าขายอยู่ที่บ้าน ที่ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยการไม่ให้มีความรู้สึกที่ว่าไม่มีตัวกู ว่าของกู ว่าเห็นแก่เงิน แก่วัตถุเข้ามาเกี่ยวข้องนั่นคือการปฏิบัติธรรม และนั่นก็คือการทำงาน งั้นมันมีความหมายเหมือนกันหมดว่า จงทำงานตรงที่เพื่องาน เพื่อไม่มีตัวกู เพื่อไม่มีของกู แล้วก็กลายเป็นธรรมะเสมอกัน ทั้งชีวิตที่ไปนั่งวิปัสสนาอยู่ตามถ้ำตามเขา และที่กำลังเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ขุดดินทำไร่อยู่ที่บ้าน ขอให้มีอยู่ เป็นอยู่ ทำอยู่ด้วยจิตใจที่ว่างจากตัวกู ไม่หวังวัตถุ ไม่หวังอะไร ด้วยการทำงานเพื่องาน ทำงานคือการปฏิบัติธรรมอย่างนี้ เนี้ยเป็นประเด็นที่หนึ่งที่อาตมาขอร้อง ขอวิงวอนให้รับไปพินิจพิจารณาและวิพากษ์วิจารณ์ มีข้อเคลือบแคลงอย่างไร ขอได้ช่วยกันซักไซ้ ขอเชิญท่านอาจารย์คึกฤทธิ์หรือใคร ช่วยทำความกระจ่างให้ถึงที่สุดในข้อนี้ด้วย
ถาม : พระคุณเจ้าที่เคารพ พระคุณเจ้าได้พูดมายืดยาว พวกเราเข้าใจดีมาก รู้สึกว่า ช่างเป็นข้อธรรมะชั้นสูงของพระสมณะ ของบรรพชิตเพศ ที่พระคุณเจ้า ทุกวันนี้เราขาดความสนใจธรรมะ ระหว่างคนนั้นต้องให้ธรรมะก่อนอาหาร ผมก็รู้สึกว่า ค่อนข้างจะลำบาก เพราะว่า คนเราเมื่อมีความหิวแล้วธรรมะไม่เกิด ศีลธรรมไม่เกิด ความรับรู้ผิดชอบชั่วไม่มี แม้แต่พระบรมศาสดาของเราเอง ก็ต้องหันบริโภคอาหารธรรมะอันบริสุทธิ์จึงได้เกิดขึ้นกับพระองค์ท่าน แต่ที่ว่าหน้าที่คือธรรมะนั้น ถูกต้องแล้วครับ กระผมไม่สงสัย แต่ว่าหน้าที่ปฏิบัติธรรมทุกอย่างที่พระคุณเจ้าวิสัชนามา กระผมเข้าใจเหมาะสำหรับบรรพชิต เพราะทุกวันนี้แต่ละคนก็ทำหน้าที่ปฏิบัติธรรมด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่บรรพชิตเองก็พยายามที่จะเป็นนักการเมือง ชาวนาพยายามที่จะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เด็กก็พยายามทำงานอย่างเป็นผู้ใหญ่ กรรมกรก็พยายามอยากเป็นนายทุน ทุกคนไม่รู้จักหน้าที่กันเช่นนี้แล้ว จะทำอย่างไรเล่าจะให้ทุกคนหันมารู้จักหน้าที่ของตน อย่าว่าเพียงแต่ว่าให้ปฏิบัติธรรมเพื่อธรรมะ ปฎิบัติธรรมเพื่อหน้าที่ กระผมออกจะลำบากซะหน่อยครับ เพราะว่าเหตุว่าทุกคนในบัดนี้ มุ่งหมายที่ทำงานเพื่อจะได้เงินทั้งสิ้นตามสามัญวิสัย และถ้อยคำที่ว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุขนั้น กระผมเข้าใจว่า เป็นคำที่ถูกต้องในสมัย เพราะว่าถ้าทุกคนไม่ทำงานแล้ว ไฉนจะได้เงิน มาเลี้ยงชีพ นี่เป็นความเข้าใจธรรมดาของฆราวาสและของผู้ที่ท่องอยู่ในโลกไม่ใช่อย่างบรรพชิต เพราะบรรพชิตนั้น ท่านไม่ได้ปฎิบัติงานอย่างฆราวาส กระผมอยากจะให้คุณเจ้าวิสัชนาโดยกว้างขวางว่า ทำฉไนจึงแนะนำให้แต่ละบุคคล แม้แต่คนในห้องโถงนี้ได้รู้จักหน้าที่ปฏิบัติธรรมของตนเพื่อหน้าที่ที่ว่าเหมาะแก่ฐานะ ทุกคนไม่แก่งแย่งหน้าที่ ทุกคนไม่มุ่งทำงานแห่งเดียว อันนี้เป็นความประสงค์ที่เราต้องการอย่างยิ่ง ถ้าทุกคนทำงานปฏิบัติหน้าที่เพื่อหน้าที่แล้ว เป็นปรมัติเกินไป กระผมอยากได้คำที่สละสลวยและชัดเจน พวกเราทุกคนที่อยู่ที่แห่งนี้จะได้ซาบซึ้งยิ่งขึ้นไปอีกครับผม
ตอบ : อันนี้ก็เป็นปัญหาที่เคยถูกถามมากที่สุดเหมือนกันว่า ถ้าหิวก็จะปฏิบัติธรรมะไม่ได้ จะสนใจในธรรมะไม่ได้ แม้กระทั่งเมื่อสองสามวันนี้ก็มีพูดกันถึงเรื่องนี้ อาตมาเห็นว่า ยังเข้าใจผิดกันอยู่มาก เราไม่ตายก่อนเสียจะทำความเข้าใจในข้อธรรมะ คือว่า ไม่เป็นผู้ที่ถ้าหิวก็หิวด้วยความหิวประกอบด้วยธรรมะดีกว่า คือ ว่าถ้าหิวก็ขอให้หิวด้วยความหิวที่ประกอบด้วยธรรมะ ต้องสอนให้เค้ารู้จักหิว ถ้าไม่งั้นแล้วจะตกเป็นเหยื่อของวัตถุ ในคัมภีร์ของชาวคริสต์มีว่า พระเยซูถูกทดลองว่า ให้เสกก้อนหินเหล่านี้ที่มีเยอะแยะให้เป็นขนมปัง จึงจะยอมรับว่า เป็นลูกพระเจ้า พระเยซูตอบว่า คนเราไม่ได้เป็นคนอยู่ได้ เพราะขนมปัง แต่ว่าเป็นคนอยู่ได้ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งของพระบิดา ไม่ใช่ว่าคนเราจะมีชีวิตเป็นคนอยู่ได้ด้วยอาหาร แต่ว่าคนเรามีความเป็นคนอยู่ได้ด้วยการปฏิบัติธรรมตามคำสั่งของพระเจ้า ขอให้เข้าใจดีๆ ว่าพระเยซูได้ปฎิเสธวัตถุหรือรูปธรรมหรือวัตถุนิยมนี้อย่างยิ่ง โดยไม่ถือว่า แม้จะมีอาหารกินและมีชีวิตอยู่นี้ คือ ความเป็นคน ถ้าว่าไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของพระเป็นเจ้าแล้ว ไม่มีความเป็นคน ย่อมไม่มีความเป็นคน งั้นไม่สนใจที่จะมาสร้างขนมปัง สนใจแต่ว่าพระบิดาได้สั่งว่าอย่างไร จะลงมือทำทันทีและเดี๋ยวนี้ แม้แต่ศาสนาคริสต์ก็ยังมีหลักว่า ธรรมะก่อนขนมปัง ที่นี้พุทธบริษัทเราจะเป็นอย่างไร จะเอาขนมปังก่อนธรรมะหรือว่าธรรมะก่อนขนมปัง มันเป็นเรื่องที่ว่า กลัวเกินไปก็ได้ หวาดระแวงในความตายเนี้ย ความกลัวตายมากเกินไปก็ได้ อาตมาจึงว่า ถ้าหิวก็ขอให้หิวด้วยความหิวที่ประกอบด้วยธรรมะ ถ้าเรารู้จักหิวในลักษณะเช่นนี้ ก็หมายความว่าเรามีธรรมะที่จะขจัดความอดอยากได้ ธรรมะต่างหากที่จะช่วยให้รีบขมีขมัน ขยันช่วยตัวเอง ไม่นอนรอความช่วยเหลือของผู้อื่น ไม่ทำตนให้เป็นภาระของผู้อื่น เนี้ยความหมายที่ถูกต้องนั้นมุ่งหมายอย่างนี้ ไม่ใช่มุ่งหมายว่า ให้หยุดการทำไร่ทำนาหรือว่าการให้อาหารกันเสีย แล้วไปฟังเทศน์ทั้งวันทั้งคืน ไม่มีความจำเป็นที่ว่าจะต้องฟังเทศน์ทั้งวันทั้งคืน อาจจะใช้เวลานิดเดียวก็ได้ เข้าใจแล้วใช้ได้ตลอดชีวิตไม่ต้องไปอยู่ที่วัดอีกก็ได้ คือมีธรรมะได้โดยลักษณะอย่างนั้น เราช่วยให้เพื่อนมนุษย์ไทย ชาวไทยของเราเนี้ยรู้จักว่า การได้บุญที่ถูกอยู่ที่การทำหน้าที่แล้วเค้าก็ขยันทำหน้าที่แล้วเค้าจะอดได้อย่างไร จะอดตายได้อย่างไร ที่นี้แม้ว่า เกิดอุบัติเหตุแทรกแซง ฝนฟ้าแล้งทำนองนี้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ เค้าก็ยังไม่เดือดร้อน เค้าก็ยังหัวเราะได้ จนกระทั่งตายไป มันป้องกันได้หมดอย่างนี้ เรียกว่า เอาธรรมะก่อนขนมปัง คือ อาหาร แล้วข้อที่ว่าเค้าไม่สำนึกว่าหน้าที่ของเค้าเป็นอย่างไรนั้น อาตมาก็ได้กล่าวแล้วว่ามนุษย์ในโลกนี้มีอวิชชาอยู่ตรงที่ว่า ไม่รู้ว่าเกิดมาเพื่ออะไร จึงได้เกิดมาเพื่อเป็นทาสของกิเลส ตัณหา ของอวิชชานั่นเอง แล้วก็ยื้อแย่งกันด้วยกิเลสตัณหานั้น นั่นคือ การเบียดเบียน นี่ถ้าว่าเราสอนให้เค้ารู้ว่า เกิดมาเพื่ออะไร มีหน้าที่อย่างไร แล้วการทำหน้าที่นั้นดีที่สุด ก็เป็นความดีสูงสุดของมนุษย์ คือ ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ มันก็พ้นไปจากวิกฤตการณ์อันนี้ แล้วที่ว่า ทำงานเพื่องานนั้นอาตมา ยืนยันแล้วยืนยันอีก ได้เงินด้วย ได้บุญด้วย ไม่เสื่อมสุขภาพทางจิตด้วย ขอให้กำหนดจดจำแม่นยำ ทำงานเพื่องานนี้ได้เงินด้วย ได้บุญด้วย ไม่เสื่อมสุขภาพทางจิตด้วย แต่ว่าทำงานเพื่อเงินแล้วจะได้แต่เงินอย่างเดียว จะเพิ่มความเสื่อมทางสุขภาพทางจิต คือ กิเลส ตัณหาที่เผาสุม ไม่รู้จักดับ ไม่รู้จักระงับด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันว่า เราสอนเค้าให้รู้จักหน้าที่ที่พอเหมาะแก่ขั้นแก่ตอนแก่วิวัฒนาการของเค้า สมรรถภาพของเค้าแล้วก็ทุกระดับทุกขั้นเป็นการปฏิบัติธรรมเสมอกันหมด แล้วก็ไม่ยากที่จะเข้าใจแล้วก็ไม่ขัดต่อการที่ว่า เค้าจะไม่มีเงินใช้ เค้าจะมีเงินใช้ด้วย เค้าจะได้บุญด้วย คือ มีจิตใจดีด้วย ไม่เสื่อมสุขภาพทางจิตด้วย อาตมาต้องขอตอบแต่เพียงเท่านี้ เพราะว่าหมดเวลาเสียแล้ว ยังเหลืออีก 2 หัวข้อไม่ได้บรรยาย ต้องขออภัยที่ว่า ทำงานด้วยจิตว่าง หมดทางจะใช้ด้วยจิตว่างอย่างไร เวลาหมดอย่างพอดีแล้ว ขอท่านอาจารย์คึกฤทธิ์สรุปข้อความเหล่านี้
ถาม : ถ้ามีเวลาผมก็อยากจะขอประทานสรุป ผมจับใจได้บรรยายมาแล้วก็ได้รับความรู้เพิ่มเติมอีกมากมาย ข้อที่เคยสงสัยก็หมดสิ้นสงสัยไปที่กระผมรู้สึกประทับใจและได้รับความแจ่มแจ้งเป็นอย่างยิ่งก็คือ มาตรฐานของความดีในศาสนาพุทธ อะไรเป็น Criteria อะไรเป็น Summary (นาทีที่ 1.51.21) ความดีที่สูงสุด ผมเคยนึกอยู่เสมอและเห็นจริงเมื่อท่านได้กล่าวว่า สิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่เป็นอกุศล และสิ่งที่เป็นอปยาสิท (นาทีที่ 1.51.35) คือ ในที่สุดแล้วก็อยู่ที่ใจมนุษย์ สิ่งใดที่ดีที่ชอบก็เรียกว่าเป็นกุศล สิ่งใดที่ไม่ดีแล้วก็ไม่ชอบก็เรียกว่าเป็นอกุศล สิ่งใดที่ยังไม่รู้ก็เรียกว่าเป็นอปยาสิท (นาทีที่ 1.51.47) ไปก่อน ต่อไปอาจจะไปรู้เข้าเกิดเป็นกุศลหรืออกุศลขึ้นมาก็ได้ เพราะฉะนั้น ปัญหาเรื่องการหาสิ่งที่จะวัดว่าอะไรเป็นความดีจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและยุ่งยากอยู่เสมอ กระผมเองพึ่งได้มาทราบในวันนี้และก็ได้เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่พระเดชพระคุณได้แสดงมาว่า ในศาสนาพุทธเรานั้น สิ่งที่เป็นความดีที่พุทธบริษัทเพิ่งจะกระทำ คือ กระทำตามหน้าที่ สำหรับในทางทั่วไป สำหรับคนทุกคนที่นับถือพระพุทธศาสนา ไม่จำเป็นจะต้องเป็นบรรพชิต จะเป็นชาวไร่ ชาวนา จะเป็นข้าราชการ จะเป็นทหาร หรือในอาชีพใดๆ ก็ตามตลอดจนถึงบรรพชิต สิ่งที่เรียกว่าเป็นการกระทำความดีนั้น คือ เป็นกระทำหน้าที่โดยสมบูรณ์และหน้าที่ขั้นสุดท้ายของพุทธบริษัท ซึ่งอาจจะเป็นอีกเมื่อไร หรือจะในชีวิตเราจะมีได้ทำหรือไม่ก็สุดแล้วแต่ก็คือมีหน้าที่ที่สุด คือ ทำพระนิพพานให้แจ้ง แล้วก็การกระทำหน้าที่ทุกคนเป็น ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ของชาวนา ของนักปกครอง ของข้าราชการหรือทหาร ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำพระนิพพานให้แจ้งเท่านั้น เพราะเหตุว่าการกระทำหน้าที่ตามฐานะ ตามอาชีพของเรานั้น ย่อมทำให้เราเกิดความรู้ และความรู้ที่สำคัญที่สุดก็เกิดความรู้ว่าเราเกิดมาทำไม แล้วถ้าหากความรู้เช่นนั้นเกิดขึ้นแล้ว พระนิพพานย่อมแจ้ง นี่เป็นสิ่งที่ผมสามารถจะสรุปได้จากที่พระเดชพระคุณได้กรุณาบรรยายมาในเวลาอันสั้น ส่วนเรื่องจะทำงานเพื่อเงินหรือเพื่องานเพื่อหน้าที่นั้น กระผมได้เห็นมีความเห็นกว้างขวางอีกมาก คือ ขอรับตรงๆ เสียก่อนว่า ไม่เห็นด้วยกับสุภาษิต หรือไม่เห็นด้วยกับภาษิตที่ว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข ประกาศให้ทราบซะเลยในที่นี้ คือ ว่าไม่จำเป็นจะต้องเป็นบรรพชิตหรือเป็นฆราวาสหรือถ้าหากว่า งานคือเงิน อาจจะใช้หน้าที่การงานเพื่อหาเงินในทางที่ผิด หรือทำงานเพื่อเงินแล้วไม่ได้เงินพอเกิดทุกข์ก็ได้ หรือถ้าหากว่าถือกันตรงๆ ว่า งานคือเงินนั้น อาจจะเที่ยวหาหน้าที่หลายตำแหน่งแห่งหน แล้วก็เลยทำหน้าที่ไม่ถูกเลยซะก็ได้ เป็นเรื่องผิดถนัดนี่ก็เป็นที่กระผมสรุปได้ แล้วก็เรื่องอื่นก็มีข้อสรุปบ้าง ก็อยากจะขอสรุปไว้แค่นี้ เพราะเวลาหมดลงแล้ว ขอขอบพระเดชพระคุณ
ตอบ : อาตมาก็ถือโอกาสลาท่านผู้ฟังไปขึ้นรถไฟกลับ