แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “ทั้งหลายย่อมมีเหตุ ถ้าเราพิจารณาให้ดีเราก็หมดความยึดถือได้ เพราะเหตุว่าตัวเรา สมมติว่าตัวเรานี้ ทีแรกเราอาจจะยึดถือว่าเป็นตัวของเรา เป็นเช่นนั้นเช่นนี้ มีรูป มีนาม มีอะไรต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในโลก แต่ถ้าพิจารณาเหตุจะเห็นได้ว่าตัวเราทุกวันนี้มาจากเหตุอื่น เป็นผลเท่านั้น ไม่ใช่เหตุ เป็นผลของกรรมต่างๆในอดีต เป็นผลที่มาจากการกระทำของบิดามารดาและบรรพชนของเรา ทีนี้ไปดูว่าอะไรเป็นเหตุของตัวเรา สมมติว่าจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาว่าตัวเราเกิดจากพ่อแม่เรา ไปดูพ่อแม่เรา พ่อแม่เราก็ไม่ใช่เหตุอีก เป็นผลของตาของยายของปู่ของย่า ก็ว่ากันเรื่อยขึ้นไปแต่ละอย่างล้วนเป็นผลทั้งนั้น จนในที่สุดเราก็จะจับได้ว่า ของที่เป็นเหตุแท้ก็ไม่มี ของที่เป็นผลแท้ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นจะยึดอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น แค่จะเป็นเหตุหรือเป็นผลก็ยังไม่แน่เสียแล้ว จะไปถือว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นของเขาของเราได้อย่างไร ที่จับธรรมะเช่นนี้ข้อเดียวคิดดู พิจารณาดูให้ดีแล้ว ผมว่าก็ถึงที่จุดประสงค์ คือการหมดสิ้นอุปาทานได้ แต่ว่าในที่นี้ไม่ชั่วแต่ธรรมะข้อนี้ข้อเดียวเท่านั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้าทุกข้อ ถ้ามีปัญญาจะพิจารณาไปในทางตัดอุปาทาน ก็ได้ทั้งนั้น ก็ได้ทุกข้อ นอกจากว่าถ้าพูดเอาความง่ายความสะดวกจะยึดแต่ธรรมะข้อเดียวหัวใจของศาสนาเพื่อให้หมดสิ้น ให้ถึงการหมดสิ้นอุปาทานมันก็พอจะทำได้ แต่ทีนี้กระผมก็ยังติดใจอยู่ว่าทีนี้ว่าเราพิจารณาโลกอย่างไรก็ตามที โลกและความทุกข์ รู้จักโลก รู้จักทุกข์ ถ้าใจไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ไม่รู้จักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วไปไม่รอด หรืออย่างน้อยก็ต้องนั่งท่อง เย ธัมมา เหตุ ปัพพวา เอาหลักศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกใส่ไว้ในหัวใจก่อนแล้วก็ดูโลกอีกทีอย่างนั้นเข้าใจ อย่างนั้นหมดอุปาทานได้ แต่ว่าถ้าจะเพ่งแต่โลก เพ่งแต่ความทุกข์ โดยไม่คำนึงถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่คำนึงถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่คำนึงถึงทฤษฎีที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้ ไม่คำนึงถึงอริยสัจนะครับ ที่พระพุทธเจ้าได้ ตรัสรู้และได้รู้จักโลกจริงๆ นั้นไม่มีทางจะรู้จัก ผมพบคนมามากแล้วที่เขาเกิดในศาสนาอื่นเขาไม่รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นคนที่มีสรณะอย่างอื่น พูดกันอย่างไรก็ไม่มีรู้เรื่อง จนกระทั่งเขามาศึกษาพระพุทธศาสนา แต่ว่าสรณะเก่าเขายังแฝงอยู่ อุปาทานเก่าเขายังแฝงอยู่ ถ้ามาอย่างดีที่สุดเขาก็มานับถือพระพุทธเจ้าเป็นพระผู้เป็นเจ้า เขาก็มาเห็นพระสงฆ์เป็นผู้ที่ติดต่อระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับมนุษย์ไม่ใช่ผู้ที่พยายามจะหลีกจากโลก เรื่องของความยากเพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่า ขึ้นต้นผมเป็นคนที่เห็นจะต้องยอมรับตรงๆว่าถ้าชาตินี้จะตรัสรู้ ไม่ว่าชาตินี้ชาติไหนก็ตามที อย่างดีที่สุด ก็เห็นจะเป็นแค่อนุพุทธ หรือสาวกพระพุทธ ที่จะเป็นสัมมาสัมพุทธ หรือปัจเจกพุทธนี่ไม่ถึงแน่ คือถ้าไม่มีใครมาสอนก่อนมองอะไรไม่ออก เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ที่มองเห็นโลก เข้าใจโลก รู้ความทุกข์ ก็โดยเหตุที่มีศรัทธาเป็นเบื้องต้นว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ดี ตรัสรู้ชอบหรือตรัสรู้ความจริง และในประการที่สองก็พยายามศึกษาว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร แล้วก็พยายามมองโลกในทรรศนะนั้น ไม่เคยถามว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผิดหรือถูก ไม่เคยถามตัวเองว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริงหรือปล่าว เชื่อเสียก่อนเป็นเบื้องต้น มีศรัทธาเช่นนี้ อย่างที่ท่านสอนให้มีศรัทธา แล้วต่อไปก็ศึกษาศาสนาพุทธ แล้วพยายามทำความเข้าใจในศาสนาพุทธ คือไม่พยายามคิดอะไรให้วกวนนอกศาสนา ขี้นต้นมีสติ รู้ว่าคิดเช่นนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ นอกอริยสัจหรือไม่ ถ้าไม่นอกแล้วคิด ยึดเช่นนี้จะไปผิดอย่างไรบ้าง ผมคิดแต่เพียงแค่นั้น ผมก็บอกตรงๆว่าผมก็ศึกษาด้วยวิธีใช้ศรัทธาอย่างยิ่งเหมือนกัน เพียงแค่นี้ ไม่ใช่ว่าจะไปคิดว่า อะไรให้มันกว้างขวางเกินไปแล้วไม่ลืม หรือก็จะต้องไม่นึกถึงพระพุทธศาสนาเสียเลย จะว่าเป็นอุปาทานก็เป็น แต่อุปาทานก็เป็นธรรมะที่พอจะพูดกันได้ คือถ้าหมดอุปาทานแล้วก็คงพูดกันไม่ได้ อย่างมานั่งพูดอยู่นี้ได้ก็ยังมีการยึด ยังเป็นอุปาทานอยู่ อุปาทานในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เอาแค่นั้นก่อน ซึ่งก็คงไม่บาปไม่กรรมอะไรนัก แล้วอย่างในพระไตรปิฏกเช่นเดียวกัน ถ้าจะพูดไปแล้วมันก็มีวิธีศึกษาหลายทาง แล้วแต่เราจะศึกษาพระไตรปิฏกในฐานะอะไร ถ้าจะศึกษาในฐานะเป็นวรรณคดี ก็ติดได้ เพราะเหตุว่าพระไตรปิฏกเป็นหนังสือไพเราะจริงๆ ในทางอรรถรสก็มีสูง ถ้าจะศึกษาในทางเหตุผล พระไตรปิฏกก็ไพเราะจริงๆอีกในสาระ มีเนื้อความมีเหตุผลมากมายเหลือเกิน ถ้าจะถัดศึกษาในทางอักขระในทางอักษรศาสตร์ ก็เป็นสิ่งที่น่าศึกษาอีก เป็นภาษาโบราณที่น่าสนใจมาก นี่ก็เป็นเรื่องที่ทิ้งไม่ได้อีกละครับพระไตรปิฏก คือจะไปลืมเสียเลยก็ไม่ได้ แล้วธรรมะของพระพุทธเจ้าที่เรารู้กันอยู่ทุกวันนี้ ที่เราเอามาพูดกันได้ทุกวันนี้ก็มาจากพระไตรปิฏก ก็ไม่ได้มาจากไหน จริงอยู่ถ้าการศึกษาพระไตรปิฏกลุ่มหลงไปก็มี อาจจะมีสิ่งฟุ่มเฟือยมาก แต่ของที่เราเห็นว่าถูกก็ยังอยู่ในพระไตรปิฏกนั่นเอง รวมทั้งของที่เราไม่เชื่อที่เราเห็นว่าผิดด้วย เพราะฉะนั้นใครจะเป็นคนชี้ว่าพระไตรปิฏกหน้าไหนฉบับไหนถูก หน้าไหนผิด ถ้ารับก็ต้องรับทั้งเล่ม ไม่รับก็ไม่รับเลย แต่ถ้าไม่รับเลยแล้วของดีที่อยู่ในนั้นเราก็ไม่มี ผมถือว่าเช่นนี้ เพราะฉะนั้นอย่างที่ใต้เท้ากรุณาว่ามานั้นถูกทุกประการผมไม่ได้เถียงเลย แต่ว่าขึ้นต้นก็เห็นจะต้องขอถ้าจะให้คนเข้าใจธรรมะ ขั้นแรกก็เห็นจะต้องขอให้มีศรัทธาก่อน คือเชื่อ คือต้องยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะก่อน เชื่อก่อนว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ดีตรัสรู้ชอบ แล้วก็เชื่อด้วยว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เหล่านั้น เป็นความจริงของชีวิต เป็นความจริงที่เชื่อถือได้ทุกประการ ถ้าไม่เชื่ออย่างนั้นแล้วผมไม่คิดว่าจะมีทางไปรอด และไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรมะได้ถ้าไม่รู้ในสิ่งเหล่านี้ไม่มีความเชื่อในสิ่งเหล่านี้เป็นปฐมเป็นเบื้องต้นอยู่ในใจเป็นเบื้องแรกแล้ว ผมว่าศึกษาโลกให้ตาย ศึกษาทุกข์ให้ตายก็มีแต่จะทุกข์ มีแต่จะยึด มีแต่จะเกิดนิวรณ์ มีแต่จะดิ้นรนขวนขวายต่อไปไม่มีทางสิ้นทางสุดได้ ผมเชื่อว่าคนที่จะตรัสรู้ได้โดยไม่คำนึงเรื่องพระพุทธศาสนา คือคนที่จะรู้โลก รู้ทุกข์ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่รู้จักพระพุทธศาสนามาก่อนเลยนั้น มีคนคนเดียวเท่านั้นคือพระพุทธเจ้าเอง คนอื่นทำไม่ได้ คนอื่นต้องไปแนวต้องไปตามมรรคที่ได้ทรงวางไว้ ที่ผมเชื่อเช่นนี้จะผิดถูก หรืออย่างไรก็ไม่ทราบขอกราบเรียนถามท่าน”
ท่านพุทธทาส : “อาตมาเข้าใจแล้ว อาตมามองเห็นแล้วว่าที่เรายังเข้าใจไขว้กันอยู่นั้นคืออย่างไร ที่ว่าหัวใจของพุทธศาสนาคือหลักพระพุทธภาษิตข้อนี้นั้น อาตมาทราบว่าจะเลือกเอาหลักที่มีประโยชน์ที่สุด หรือว่าครอบคลุมความหมายทั้งหมดไว้ มาถือเป็นหลัก แม้แต่สำหรับจะเชื่อ การคิดกล่าวจดจ้องที่ว่าเราจดจ้องอาศัยความเชื่อเป็นข้อแรกเป็นพื้นฐาน อาตมาก็บอกว่าเพื่อจะประหยัดเวลา เพื่อช่วยประหยัดเวลาแก่ผู้ศึกษาและผู้ปฏิบัตินั้น ความเชื่อนั้นเอามาระดมทุ่มเทลงไปอีก หัวใจของพระพุทธศาสนาและจะเป็นความเชื่อที่ถูกต้องที่สุดกว้างขวางที่สุด สมบูรณ์ที่สุดเพราะว่าได้รวมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศีล สมาธิ ปัญญา หรืออะไรหมดสิ้นทั้งพระพุทธศาสนาไว้ในประโยคๆนี้ ข้อนี้หมายความว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงนั้นก็คือ ผู้...หรือภาวะ หรือบุคคลที่ปราศจากความยึดมั่นถือมั่น หัวใจของพระพุทธเจ้าคือ ภาวะที่ปราศจากความยึดมั่นถือมั่น เพราะท่านตรัสรู้แล้วท่านทำลายความยึดมั่นถือมั่นหมดไป อันพระพุทธเจ้าองค์แท้ องค์แท้ องค์ภายใน องค์แท้ องค์เนื้อแท้นั่นคือ ภาวะแห่งความไม่ยึดมั่นถือมั่น ส่วนร่างกายนั้นเหมือนกับบุคคลทั่วไป ทีนี้พระธรรม หัวใจของพระธรรมก็คือ ภาวะของความไม่ยึดมั่นถือมั่น พระธรรมส่วนที่เป็นปริยัติสำหรับศึกษาเล่าเรียนก็ให้เรียนเฉพาะเรื่องที่จะทำลายความยึดมั่นถือมั่น พระธรรมในส่วนปฏิบัติ คือพระปฏิบัติธรรม ก็ให้ปฏิบัติในลักษณะที่ทำลายความยึดมั่นถือมั่น แล้วพระธรรมในส่วนที่เป็นปฏิเวธ คือผลที่ได้รับก็ขอให้เป็นมรรคผลนิพพาน คือทำลายความยึดมั่นถือมั่นได้ตามส่วนจนกระทั่งหมดจดสิ้นเชิง อันพระธรรมในรูปของปริยัติก็ดี ในรูปของปฏิบัติก็ดี ในรูปของปฏิเวธก็ดี คือพระธรรมทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น มีหัวใจอยู่ตรงที่ทำลายความยึดมั่นถือมั่น อันเมื่อเรามุ่งจุดลงไปยังการทำลายความยึดมั่นถือมั่น นั่นแหละคือเราได้น้อมเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แท้จริงมาฝังไว้ในจิตใจของเราอย่างถูกต้องอย่างเต็มที่อย่างสุดความสามารถของเรา เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงโดยความเชื่อก็ตาม โดยการกระทำคือการปฏิบัติก็ตามได้ด้วยลักษณะเช่นนี้ เป็นอันว่าเราไม่ต้องถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่เป็นเพียงวัตถุหรือเป็นเพียงเสียงหรือเป็นเพียงสิ่งของซึ่งเป็นการเนิ่นนานไป ทำลายเวลาให้เปลืองไป แม้ว่าเราจะต้องผ่านทางวัตถุเหล่านั้น เราก็ผ่านมาโดยเร็วมายังจุดที่เป็นองค์จริง เป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริง คือภาวะที่ทำลายความยึดมั่นถือมั่นและหมดความยึดมั่นถือมั่นนี้ และก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ในเราจริง แล้วเราก็เชื่อได้จริง และเชื่อด้วยตนเองโดยไม่ต้องเชื่อตามผู้อื่น เห็นความยึดมั่นถือมั่นนี้ว่าเป็นภาวะที่เป็นทุกข์ เห็นการทำลายความยึดมั่นถือมั่นนี้ว่าเป็นการทำความดับทุกข์ และเมื่อหมดความยึดมั่นถือมั่นแล้วนี่คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือแล้วแต่จะเรียก นี่เรียกว่าโดยหลักอันนี้อันเดียวเท่านั้น เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในเนื้อในตัว ทีนี้เพิ่มขึ้นมาถึงว่า มีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่หมดปัญหาไปแล้ว เลื่อนขึ้นมาถึงว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อทำอยู่เช่นนี้ ศีล สมาธิ ปัญญา ครบถ้วนอยู่ในตัวเอง เพราะว่าขาดศีลก็เพราะมีความยึดมั่นถือมั่นในของรัก ในของไม่รัก แล้วก็ทำไปตามความลุอำนาจแก่ความรักหรือความไม่รักและก็ขาดศีลเช่นนี้ สมาธินี่ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยเป็นนิวรณ์ต่างๆนานาก็เพราะว่าไปยึดมั่นถือมั่นอะไรเข้า พอมองเห็นสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเท่านั้น จิตก็สงบระงับลงไปเอง เป็นสมาธิเอง หรือว่าการเพ่งพิจารณาอยู่เสมอในหลักที่ว่า ไม่มีสิ่งใดที่ควรจะยึดมั่นถือมั่นนี้ คือตัวปัญญาสูงสุด เป็นปัญญาที่สูงสุดที่พระพุทธเจ้าท่านประสงค์จะให้พวกเรามี ฉะนั้นเราจึงมีศีล สมาธิ ปัญญา ทีนี้ถ้าจะพูดถึงวัตถุ ตัวพระไตรปิฏก เราก็เห็นได้ชัดว่า พระไตรปิฏกทุกคำพูด มุ่งไปยังการทำลายความยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้น ถ้าเรารวบเอามาทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ที่เรียกว่าอริยสัจสี่ประการ จะเห็นได้ชัดว่าความทุกข์นี่คือผลของความยึดมั่นถือมั่น ที่ทุกข์เร่าร้อนอยู่ในใจคือผลของการยึดมั่นถือมั่น ขอให้ดูให้ดี พอดูให้ดีเห็นว่าทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่นนี่เราได้อริยสัจสองข้อเต็ม ๆ แล้ว คือเรื่อง ทุกข์ ข้อหนึ่ง สมุทัย ข้อหนึ่ง ทีนี้ก็มองเห็นชัดต่อไปว่า เมื่อไม่มีความยึดมั่นถือมั่นนั้นคือไม่มีตัณหา ไม่มีตัณหานั่นคือนิโรธ คือความดับทุกข์ ซึ่งก็มองเห็นชัดว่าธรรมทุกอย่างทุกประการ การกระทำทุกอย่างทุกประการที่เป็นไปเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ คือ ตัวมรรค แม้ท่านจะจำแนกไว้เป็นแปดองค์ว่า เป็นความถูกต้องแปดประการ คือมีความเข้าใจถูกต้อง มุ่งหมายถูกต้อง พูดจาถูกต้อง กระทำถูกต้อง เลี้ยงชีวิตถูกต้อง พากเพียรถูกต้อง มีสติถูกต้อง มีสมาธิถูกต้อง เหล่านี้แม้จะจำแนกออกไปตั้งแปดองค์ มันก็ล้วนแต่มุ่งหมายที่จะทำลายความยึดมั่นถือมั่น คือความสำคัญผิดอย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นตัวเราของเราเสมอ เรายกเอาข้อแรกคือ สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ เข้าใจถูกต้องนั่นแหละเป็นหลักใหญ่ มันต้องเห็นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเสียก่อน จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิที่สมบูรณ์ หลังจากนั้นก็ใฝ่ฝันถูกต้องเอง คือมีสัมมาสังกัปโปถูกต้องเอง แล้วก็พูดจาถูกต้องเอง กัมมันโตถูกต้องเอง อาชีโว วายาโม สติ สมาธิ ถูกต้องเป็นหางตามกันไปเอง อันสัมมาทิฏฐิต้องมาก่อนเสมอ พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนั้น และสัมมาทิฏฐินั้นก็คือเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ว่าเรา ว่าของเรา เราจึงมีอริยสัจอีกสองเข้ามาครบเป็นสี่ และเป็นอริยสัจรวมอยู่ในคำๆเดียวว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น อันศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ดี การปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาก็ดี การปฏิบัติอื่นๆทั้งหมดในเรื่องเกี่ยวกับมรรคมีองค์แปด หรือปฏิจจสมุปบาท หรือโพชฌงค์ หรืออะไรก็ตาม ล้วนแต่มีหัวใจอยู่ที่ตรงนี้หรือขยายออกไปจากส่วนนี้ และปริยัติคือพระไตรปิฏก ก็เป็นเรื่องนี้ เป็นคำบรรยายในลักษณะที่ไพเราะกว้างขวางที่สุดของเรื่องนี้ จึงยืนยันว่าขอให้พวกเราที่ประสงค์จะเข้าใจธรรมะอย่างไร ควรเข้าใจธรรมะอย่างไรและโดยเร็วโดยรวบรัดนี่ เล็งถึงหลักอันนี้ไว้ ในฐานะเป็นหัวใจของธรรมะหรือของพระพุทธศาสนา แล้วมีวิธีปฏิบัติอย่างง่ายให้อีกชุดหนึ่ง อาตมายอมเห็นด้วย ยอมรับที่อาจารย์คึกฤทธิ์ว่ามันยากหรือมันลึกสำหรับคนทั่วไป แต่ถ้าเราไม่ยอมแพ้ เราหาหนทาง...สุดความสามารถของเรา เราจะพบว่ามีหนทางที่จะแบ่งแยกเอามาเป็นระบบหนึ่ง สะดวกและเหมาะสำหรับคนทั่วไปที่จะประพฤติปฏิบัติตรงจุดๆนี้ โดยหลักที่ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนี้ แล้วเขาก็จะได้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้ศีล สมาธิ ปัญญา ได้อริยสัจ ได้อะไรพร้อมกันไปในคราวเดียวกัน โดยไม่รู้สึกตัวด้วยก็ได้ ดังนั้นขอให้ตั้งใจเป็นพิเศษที่ว่า ถ้าอาตมาจะพูดว่า...สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี่ยาวไปแล้ว ก็พูดได้สั้นๆที่สุดว่า จิตว่างนั่นแหละคือหัวใจของธรรมะ หรือหัวใจของพระพุทธศาสนา เพราะว่าเราได้กล่าวแล้วว่า การหมดความยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นจุดหมายปลายทางของพุทธศาสนา ถ้าเราเดินทางอยู่กลางทางเราก็ต้องทำลายความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ตามสัดตามส่วนตามความสามารถของเรา ทีนี้ที่อาตมาได้กล่าวไว้แล้วว่าเรามีระบบปฏิบัติอันหนึ่งซึ่งเตรียมขึ้นสำหรับคนทั่วๆไปจะเข้าใจได้และปฏิบัติได้ ระบบนั้นก็คือคำว่า จิตว่าง อย่างที่กล่าวมาแล้ว อาตมาได้เผชิญกับปัญหายากเรื่องการอธิบายคำว่าจิตว่างนี้มามากมายและก็หลายปีแล้ว แล้วก็ได้พบลู่ทางที่จะอธิบายเพิ่มขึ้นเสมอๆ จึงมีมานะพยายามที่จะอธิบายให้ลุล่วงไปให้จงได้ เพื่อประหยัดเวลาของเพื่อนมนุษย์ให้เข้าใจพุทธศาสนาได้อย่างรวบรัดโดยเร็วถูกต้องและสมบูรณ์เท่าที่เห็นว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไหนๆก็ได้กล่าวว่าจิตว่าง และถูกหาว่ากล่าวคำที่เขาเข้าใจไม่ได้มามากแล้ว ก็จะขอประกาศย้ำลงไปอีกว่าอาตมายังกล่าวอย่างนั้นและยังจะแถมกล่าวให้มากกว่านั้น และขอให้ระวัง ฟังให้ดี คืออาตมาจะกล่าวว่า ระบบนี้มีหัวข้อปฏิบัติก็คือว่า ให้ทำงานด้วยจิตว่าง ให้ทำงานให้ความว่างและก็กินอาหารของความว่าง และก็อยู่ด้วยความว่าง ส่วนความตายนั้นไม่มีไปเสียตั้งแต่ทีแรกแล้ว ขอให้ฟังอีกครั้งหนึ่งว่า ทำงานด้วยจิตว่าง ทำงานให้ความว่าง กินอาหารของความว่าง อยู่ด้วยความว่าง ส่วนความตายนั้นไม่มีไปเสียตั้งแต่ต้นเสียแต่ทีแรกแล้ว อาตมากำลังจะเป็นจำอวดทำให้คนนอนหลับ คงจะมีการคำพูดคิดเช่นนี้ อาตมาจะเป็นจำอวดทำให้คนนอนหลับ มีแต่จำอวดที่ทำให้คนหัวเราะหรือตื่น แต่อาตมาจะเป็นจำอวดในทำนองที่อาจจะทำให้คนหลับลง นี่ขออาจารย์คึกฤทธิ์ช่วยกำหนดหลักสี่ห้าข้อนี้แล้วช่วยอภิปรายด้วย แต่ละอาตมาจะกล่าวให้สิ้นกระแสความ ที่เรียกว่าทำงานด้วยจิตว่าง ข้อที่หนึ่งนั่น คือเราจะทำงานที่เป็นหน้าที่ของเราทุกอย่างทุกประการด้วยจิตที่ไม่มี Egoism ไม่มีความรู้สึกที่น้อมไปในทางมีตัวกูหรือมีของกู ไม่มีความรู้สึกที่ได้ยึดมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ในลักษณะที่จะเอาเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา เช่นนี้เรียกว่าจิตว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากตัวกู หรือตัวเรา หรือตัวตนนั่นเอง แล้วตัวกูหรือตัวเราหรือตัวตนนั่นไม่ใช่ตนจริงหรือมีตัวตนจริง เป็นเพียงมายา แต่อย่า...อย่าดูถูกสิ่งที่เป็นเพียงมายานั้น สิ่งที่เป็นมายานั้นจะเป็นสิ่งที่รู้สึกว่า เหมือนกับมีตัวตนเป็นภูเขาเลากา เป็นตัวตน เป็นก้อน เป็นอะไรจริงๆ แต่ที่จริงเป็นเพียงมายา คือเป็นเพียงความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดด้วยอวิชชา มีลักษณะเป็นอุปาทานเรียกว่าความยึดมั่นถือมั่น เราต้องทำงานด้วยจิตที่ปราศจากความรู้สึกเช่นนี้จึงจะเรียกว่าทำงานด้วยจิตว่าง แต่ในขณะเดียวกันนั้นจิตที่ว่างนี้เต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะและสติปัญญา ขอให้แยกออกเป็นสองคำว่า สติสัมปชัญญะคำหนึ่ง สติปัญญาคำหนึ่ง มีคู่เป็นเกลอกัน โดยที่ว่าสติสัมปชัญญะนี้ทำให้รอบคอบในการกระทำ สติปัญญานั้นทำให้ฉลาดในการกระทำ สติปัญญาทำให้เราฉลาด รู้ รอบรู้ในการกระทำ สติสัมปชัญญะทำให้เรารอบคอบสุขุมในการทำ คือตัวสำคัญของหลักปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สติเท่านั้น สติเท่านั้นที่จะช่วยให้รอดได้ แต่เราต้องขยายความเป็นสติปัญญา ฉลาดทำ สติสัมปชัญญะ แล้วก็รอบคอบทำ สติปัญญากับสติสัมปชัญญะนี้ส่วนหนึ่ง แล้วอีกส่วนหนึ่งก็คืออุปาทานว่าตัวเรา ว่าของเรา สองอย่างนี้รวมกันไม่ได้ มีในขณะเดียวกันไม่ได้ แม้ว่าจิตของเราจะเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวเป็นเช่นนั้นเดี๋ยวเป็นเช่นนี้นั้นจริง บางทีก็มีอุปาทาน กิเลสตัณหา แต่บางทีก็มีสติสัมปชัญญะและมีปัญญา แต่ข้อเท็จจริงนั้นรวมกันไม่ได้ มีอยู่ในขณะเดียวกันไม่ได้ ถ้ามีอุปาทานก็ไม่มีสติปัญญา ไม่มีสติสัมปชัญญะ ถ้ามีสติสัมปชัญญะ สติปัญญาก็ไม่มีอุปาทาน ในขณะในจิตว่างจากอุปาทาน เราเรียกว่าจิตว่าง ในขณะนั้นเต็มไปด้วยสติปัญญาและสติสัมปชัญญะ อันเราทำหน้าที่การงาน ในหน้าที่อย่างใดที่บ้านที่ออฟฟิศ ที่ไหนก็ตามเถิด โดยปราศจากความรู้สึกที่เป็นอุปาทานว่าเพื่อเรา เพื่อตัวเรา เพื่อของเราแล้ว แจ่มแจ้งอยู่แต่ด้วยสติปัญญาสติและสัมปชัญญะแล้วเช่นนี้เรียกว่าจิตว่าง ทีนี้คนเขาไม่เข้าใจอย่างนั้น เขาเข้าใจว่า ที่ว่าจิตว่างแล้วคือจิตไม่มีอะไร เลยคิดว่านอนเป็นท่อนไม้บ้าง หรือว่าจิตไม่มีความรู้สึกคิดนึกอะไรมันก็ละเมอทำไปเหมือนกับคนละเมอแบบนี้ จิตว่าง เช่นนี้นั้นไม่ใช่ คำว่าว่างมีหลายความหมาย คำว่าว่างหรือสุญญังนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิก็มี เป็นสัมมาทิฏฐิก็มี แต่ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิคือตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ต้องมีความหมายว่า มันเพียงแต่ว่างจากตัวเรา ซึ่งเป็นเพียงความสำคัญผิด ความยึดมั่นด้วยอุปาทานเท่านั้น ถ้าไม่มีตัวเราก็จะเรียกว่าอะไร ก็ต้องเรียกว่าว่างจากตัวเรา แต่ในขณะที่ว่างจากตัวเรานั้นก็คือสติปัญญา คือพุทธะ คือธรรมะ คืออะไรทุกอย่าง อย่างที่พวกนิกายเซนเขารวบรัดเอานั้น ว่าพุทธะคือความว่าง ธรรมะคือความว่าง อันนี้เขา เขาหมายถึงว่างเช่นนี้ เมื่อใดว่างจากอุปาทานแล้วเมื่อนั้นก็คือ เป็นธรรมะ เป็นพุทธะ เป็นอะไรทุกอย่างที่พึงประสงค์ นี่เป็นหลักพุทธศาสนาที่ใช้ได้ แม้ที่มีอยู่ในฝ่ายเซนก็อย่างเดียวกันกับที่มีอยู่ในฝ่ายเถรวาท ว่างนี่หมายความว่าว่างจาก Egoism ความรู้สึกที่เป็น Egoism ทุกชนิด ก็เรียกว่าว่าง เพราะไม่มีความรู้สึกว่าตัวเราแล้ว จะให้เรียกว่าไม่ว่างได้อย่างไร ก็ต้องยอมรับว่าว่าง แต่ว่าในตัวความว่างนั้นเป็นตัวสติปัญญา เป็นตัวสติสัมปชัญญะเสียเองฉะนี้ทำเถิด ทำการงานอะไรจะดีทั้งนั้น เพื่อเข้าใจเรื่องนี้ละก็ขอให้เล็งถึงตัวอย่างง่ายๆ ที่ทุกคนอาจจะเข้าใจได้ว่าทำงานด้วยจิตว่างนี่หมายถึงอะไร อาตมาขอโอกาสยกตัวอย่าง อย่างว่าชาวนาทำนาทำด้วยจิตว่างนั้น หมายความว่าขุดนาอยู่กลางแดด เหงื่อไหลไคลย้อยแต่จิตว่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวตนในสิ่งใดหมด นั้นเขาร้องเพลงพลาง ขุดนาไปพลาง ก็เรียกว่าทำนาหรือขุดนาด้วยจิตว่าง มันเลยสนุกสนานในการขุดนั่นเอง แต่รู้สึกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมะไปในตัวด้วยมันยิ่งสนุกใหญ่ จิตก็ยิ่งว่างใหญ่ จึงทำนาได้โดยสนุกสนานไม่มีความคิดนึกน้อมไปในทางว่าไปขโมยดีกว่าเพราะไม่เหนื่อยขนาดนี้ เป็นต้น หรือว่าคนแจวเรือจ้างกลางแดดกลางลมกลางฝนทวนน้ำด้วย ถ้าจิตว่าง หมายความว่าไม่มีความคิดนึกคิดน้อมไปในทางเป็นตัวเรา เป็นของเรา เราเป็นคนจน เขาเป็นคนรวย ไปทำนองนั้นไม่มีเลย มีแต่ความสำนึกว่านี่คือหน้าที่ของเรา หรือแม้แต่จะนึกว่าเป็นผลกรรมของเราก็ยังได้ แต่อย่าให้เลยไปถึงว่าน้อยเนื้อต่ำใจ มีว่านี้เป็นหน้าที่ของเรา เราต้องทำเช่นนี้โดยแน่นอน และการทำเช่นนี้เป็นการปฏิบัติธรรมะอยู่ในตัว และก็มีสติปัญญาทำ มีสติสัมปชัญญะทำ แจวเรือจ้างนั้นก็ไม่ทุกข์ทรมานถึงกับว่าเป็นนรกหมกไหม้อยู่ในใจ กลับสนุกสนานชื่นบาน ร้องเพลงไปพลางแจวเรือไปพลางก็ได้เหมือนกัน จะคนถีบสามล้อหรือว่ากรรมกรอย่างอื่นก็เหมือนกัน จะต้องมีหลักเช่นนี้จึงจะเรียกว่าขณะนั้นเขาทำงานอยู่ด้วยจิตว่าง
ทีนี้ที่ละเอียดออกไปอาตมาอยากจะยกตัวอย่างว่า เหมือนกับการที่จะยิงปืนหรือขว้างแม่นทำนองนี้ เขาต้องเตรียมจิตให้ว่างจึงจะยิงแม่นหรือขว้างแม่น ถ้าจิตเต็มไปด้วย Egoism ว่าเราจะยิงให้ถูก ได้รับเกียรติได้รับรางวัล ถ้ายิงผิดเขาจะหัวเราะเยาะกัน เช่นนี้แล้วไม่มีทางที่จะยิงได้แม่นยำ ฉะนั้นเขาต้องสำรวมจิตขจัด Egoism เหล่านี้ออกไปให้หมด เหลือแต่สติสัมปชัญญะกับสติปัญญาอย่างที่ว่ามาแล้วนั้น เพียงเท่านั้น แล้วทำไปด้วยสติปัญญาหรือสติสัมปชัญญะหรือสมาธินั้น โดยลืมหมดว่าไม่มีตัวเราอยู่ที่ไหนเลย แล้วมือนี้ก็จะทำไปได้ด้วยอำนาจของสติสัมปชัญญะหรือสติปัญญาหรือสมาธินั้น ซึ่งมันเป็นใต้สำนึก เป็นอัตโนมัติอยู่ในตัวก็เลยขว้างแม่นหรือยิงแม่นเหมือนกับปาฏิหาริย์ นี่เรียกว่าทำไปด้วยจิตว่างจากความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกู ถ้าความรู้สึกว่าตัวกูของกูมี มันสั่นในใจ แล้วมันสั่นมาถึงกายแล้วมือมันก็สั่น เรียกว่ายิงปืนก็ต้องยิงด้วยจิตว่าง เมื่อจะสอบไล่ นักเรียนจะสอบไล่ เขาต้องเตรียมจิตให้ว่างเหมือนกัน คือรู้ว่าการสอบไล่นั้นเป็นอย่างไร เพื่ออะไรนั้น รู้หมดแล้ว พอถึงลงมือสอบ คำตอบคือการสอบจริงๆนั้นต้องลืมหมด ลืมตัวตนหมด ให้เหลืออยู่แต่สติสัมปชัญญะกับสติปัญญาเท่านั้น และก็ทำข้อสอบนั้นได้อย่างดีที่สุด ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป คือไม่ประมาทเกินไป ไม่ขลาดเกินไป มันพอดีไปหมด เพราะทำด้วยสติปัญญาและสติสัมปชัญญะบริสุทธิ์ นี้ก็เรียกว่าสอบไล่ด้วยจิตว่าง ว่างจากความรู้สึกว่าตัวกูของกู ถูกแล้วเด็ก ๆ จะต้องมีความรู้สึกเห็นแก่ตัวหวังสอบไล่เอาผลนั้นถูกแล้ว แต่ขอให้มีอยู่ในขณะหนึ่ง ในขณะที่ลงมือสอบนั้นอย่าได้มีเป็นอันขาด ในขณะที่ทำข้อสอบ คำตอบนั้นอย่าได้มี ให้เตรียมอยู่แต่ด้วยสติสัมปชัญญะกับสติปัญญาที่เรียกว่าความว่างจากตัวตนอันกระนั้น แล้วเขาก็จะสอบไล่ได้ดีเป็นพิเศษ จำได้เก่ง เรียนเก่ง จำเก่ง คิดนึกเก่ง ตัดสินใจเก่ง ทีนี้แม้ที่สุดแต่...เรื่องที่จะทะเลาะวิวาทกัน นี่อาตมา ถ้าทำเช่นนี้ เราจะทะเลาะวิวาท ชกต่อยกัน หรือจะเป็นความกันที่ศาล ที่โรงที่ศาลนี่ก็ให้ทำไปเถิดถ้าต้องทำ หมายความว่าคนทั้งหลายจะต้องทำนั้น ขอให้ทำไปด้วยจิตว่าง เพราะถ้าทำไปด้วยจิตวุ่นแล้วจะมืดมัว จะเสียเปรียบเค้าโดยไม่รู้สึกตัว แต่ถ้าทำไปด้วยจิตว่างแล้วจะพบลู่ทางที่ดี จะสุขุมรอบคอบ จะเฉลียวฉลาด ฉะนั้นการวิวาทหรือการเป็นความกันที่โรงที่ศาลนั้นจะเป็นฝ่ายได้เปรียบสำหรับผู้ที่มีจิตว่าง แม้แต่จะชก..ชกต่อยกันก็ตามที ก็ขอให้มีการกระทำไปด้วยจิตว่าง คือลืมตัวเสีย ไม่ขลาด ไม่เหลิง ไม่อะไรหมด แต่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์รวดเร็วว่องไว ตามอานุภาพของจิตว่าง ทะเลาะวิวาทกันชกต่อยกันก็ต้องทำด้วยจิตว่าง ทีนี้เพื่อความเข้าใจมากไปอีกอาตมาอยากจะให้ตัวอย่างไปอีกทางหนึ่งว่า การร้องเพลงหรือดนตรีนี้ ประเภทหนึ่งเป็นไปโดยจิตว่าง ประเภทหนึ่งเป็นไปโดยจิตวุ่น อันดนตรีบริสุทธิ์ไม่เล็งถึงความหมาย ไม่มีความหมายอะไร หรือผิวปากเล่นอย่างนี้ เช่นนี้เรียกว่าจิตยังว่างอยู่ แม้ว่าเราจะร้องเพลง เพลงไทยหรือเพลงอะไรก็สุดแท้ ถ้าทำไปโดยปราศจากความยึดมั่นถือมั่น นี่ก็ยังเรียกว่าร้องเพลงด้วยจิตที่ว่าง ยิ่งกว่านั้นดนตรีบางชนิดที่บริสุทธิ์เสียอีกจะช่วยให้จิตว่าง คือ คลายความหมกมุ่นโกรธเคืองอะไรมาที่เป็นจิตวุ่นเป็นตัวตนนั่น ให้มาเป็นจิตที่ค่อยๆจางออก จางออก แล้วเป็นจิตว่างได้ในที่สุด ฉะนั้นการร้องเพลงหรือการผิวปากชนิดหนึ่งนั้น อย่าได้เข้าใจว่าเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาไปเสียหมด แต่จะกลับเป็นเรื่องอุบายอันหนึ่งซึ่งทำให้จิตว่าง และเราก็จะตั้งตัวได้ แต่แน่แล้วถ้าร้องเพลงด้วยกิเลสตัณหานั้น อันนั้นมันก็เป็นเรื่องจิตวุ่น มีความมุ่งหมายทางเพศ ทางอะไรก็ด้วยแล้วมันยิ่งไปกันใหญ่ แต่อย่าเหมาว่าขึ้นชื่อว่าร้องเพลงหรือดนตรีแล้วจะเป็นเรื่องจิตวุ่นไปหมด ขอให้นึกถึงหลักทั่วๆไป ศิลปะบริสุทธิ์นั้นมีคุณโดยสนับสนุนความมีจิตว่าง ส่วนศิลปะไม่บริสุทธิ์นั้นย่อมจะสนับสนุนกิเลสตัณหาเป็นธรรมดา ดังนั้นเราอย่าได้ปรับศิลปะให้มากไปโดยส่วนเดียว หรือว่ายกย่องไปโดยส่วนเดียว ต้องแยกออกไปว่าเป็นศิลปะที่ช่วยให้จิตว่างหรือว่าช่วยให้จิตวุ่น ฉะนั้นเราอย่าไปว่าเด็กๆเค้าร้องเพลงแล้วจะเกิดกิเลสตัณหา หรือว่าใครร้องเพลงเล่น ผิวปากเล่นจะเป็นกิเลสตัณหาไปเสียหมด ต้องดูถึงภายในจิตใจของเขาว่ากำลังเป็นอย่างไร ดังนั้นถ้าผู้ใดมีจิตใจวุ่น กำลังโกรธใครจะผิวปากให้หายอารมณ์ตึงเครียดนั้น ก็ยังเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามหลักอันนี้ ทีนี้ที่ละเอียดขึ้นมาเหมือนกับว่าศิลปะฝีมือที่เราจะแสดงออกเป็นความงดงามอย่างจัดแจกันดอกไม้หรืออะไรทำนองนี้ ลองดูเถิด มีจิตวุ่นแล้วจัดแจกัน และมีจิตว่างอย่างว่าแล้วจัด จัดอีกแจกันนึง อันไหนจะสวยกว่า ขอให้ลองดู แล้วเปรียบเทียบดู แต่ถ้าเมื่อจิตว่างนี้อย่าลืม จะต้องเป็นอย่างที่อาตมาว่า สมบูรณ์สติสัมปชัญญะ ปัญญา ปราศจากอุปาทาน ความครุ่นเครียดอยู่ด้วย Egoism แจกันไหนจะสวยกว่า เวลาก็มีน้อย เพราะฉะนั้นยกตัวอย่างเพียงเท่านี้ก็ควรจะพอแล้วสำหรับคำว่า ทำงานด้วยจิตว่างนั้นได้ผลดีที่สุด ทีนี้ที่ว่าทำงานให้ความว่าง นี่คนจะฉงนแน่นอน ไม่ใช่ทำงานเอาเอง ไม่ใช่ทำงานให้ครอบครัว ไม่ใช่ทำงานให้ประเทศชาติ ศาสนา อะไรหมด แต่ทำงานให้ความว่าง นี้เป็นการกล่าวทีเดียว...กระโดดไปสู่จุดปลายทาง แต่ว่ายังอาจจะมีความหมายที่ลดต่ำลงมาถึง โดยข้อ โดยหลักเดียวกันว่า ทำงานด้วยจิตว่างนั้นมันต้องทำให้ความว่าง หรือเพื่อความว่าง เพราะได้กล่าวมาแล้วว่าธรรมะคือความว่าง ธรรมะคือพุทธะ ธรรมะคือสิ่งสุด.. ความว่างนี้คือสิ่งสูงสุด แต่ได้เป็นหลักที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่ควร...คือมันไม่มีตัวตน มันเป็นว่างไปหมด โลกนี้ทั้งโลก ซึ่งรวมทั้งตัวเรา ครอบครัวของเรา ประเทศชาติของเรา ก็เป็นเพียงสังขาร เป็นธรรมชาติ เป็นรูปธรรม นามธรรมที่เป็นธรรมชาติ โดยเนื้อแท้แล้ว ไม่ใช่ตัวตน อันการที่เราทำงานให้ประเทศชาติ หรือให้ครอบครัว หรือให้ตัวเองก็ตาม ก็เพื่อให้แก่ความว่างอยู่ในตัวแล้ว เพียงเท่านี้ก็พอจะนึกได้หรือพอจะทำได้แต่ว่าความจริงมันมากไปกว่านั้น คือว่าถ้าเราสามารถ... เราไม่บูชาอะไรหมด เราบูชาความว่าง ถึงได้กล่าวมาแล้วว่าคือพระพุทธ คือพระธรรม คือพระสงฆ์ คืออะไรทั้งหมดอยู่ในความว่างนั้น ทำงานให้ความว่างก็คือทำงานให้ธรรมะนั้นเอง ทำงานให้ธรรมะคือให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้สิ่งสูงสุดที่มนุษย์ควรจะยึดถือ ควรจะได้รับนั่นเอง ถ้าเราทำงานเพื่อสิ่งนั้นเพื่อสิ่งนี้เพื่อแล้วมันยังต่ำอยู่ในระดับใดระดับหนึ่ง ทำงานเพื่อเงินนี้ไม่ไหว นี่ยอม..ยอมรับกัน ทำงานเพื่องาน เพื่อหน้าที่ นี้ก็นับว่าสูงสุดพออยู่แล้ว แต่ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่หรืองานนั้นอีกต่อหนึ่ง เมื่องานนั้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน สิ่งที่เรียกว่างาน งานเพื่องาน งานหลังก็คือไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นก็ต้องเพื่อไม่ใช่ตัวตน อันว่าทำงานเพื่องานนั่นแหละคือว่าทำงานให้ความว่าง อันความว่างคำนี้เป็นคำพิเศษมีความหมายเฉพาะในตัวมันเองอย่าได้พลาดออกไปจนเป็นมิจฉาทิฐฐิ เมื่อทำงานด้วยจิตว่างแล้ว ไอ้งานที่ทำนั้นก็ทำให้ความว่าง แต่นี้มันไม่ไปไหนเสีย มันอยู่ที่ผู้ทำ...มันได้ มันมีปฏิกิริยาให้แก่ผู้ทำนั้น ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีอะไรกิน ไม่มีอะไรใช้ หรือไม่ได้ผลอะไร แม้ว่าจะได้ผลมาเป็นมากมายอย่างไรก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นของเรา ดังนั้นมันจึงกลายเป็นทำงานให้ความว่าง ทีนี้จะถามว่าเอาอะไรกิน ก็ตอบว่ากินอาหารของความว่าง มันก็กินอาหารของธรรมะ กินอาหารของพระธรรม กินอาหารของพระพุทธเจ้า กินอาหารของพระสงฆ์ แต่เรามารวบรัดเรียกว่ากินอาหารของความว่างซึ่งมีความหมายเฉพาะเป็นพิเศษ ฉะนั้นเราจึงมีอาหารกินทั้งที่เราทำงานด้วยจิตว่าง ทำงานให้ความว่าง เราก็มีอาหารกินจากความว่าง และยังเป็นอาหารที่บริสุทธิ์ อาหารที่ไม่ประกอบด้วยโทษทำความเจริญโดยแท้จริง แล้วข้อถัดไปที่ว่า อยู่หรือมีชีวิตอยู่ด้วยความว่างนี้ ก็คืออันแรก ก็มีชีวิต มีลมหายใจอยู่ทุกวันๆนี้โดยไม่มีอะไรเป็นตัวเรา โดยไม่มีอะไรเป็นของเรา นี้เรียกว่าอยู่ด้วยความว่างตลอดเวลา ข้อที่ว่าส่วนความตายนั้นไม่มีไปเสียตั้งแต่แรกแล้ว คือเมื่อยึดหลักเป็น เป็นหลักที่ว่ามีความว่างเป็นสิ่งสูงสุด เป็นอยู่ด้วยความว่าง ทำงานด้วยจิตว่าง ทำงานให้ความว่าง กินอาหารความว่างแล้ว มันไม่มีตัวเราเสียตั้งแต่ทีแรกแล้ว เมื่อไม่มีตัวเราเสียตั้งแต่ทีแรกแล้ว ความตายมันก็ไม่มีมาตั้งแต่ทีแรกแล้ว ฉะนั้นปัญหาเรื่องความตายจึงไม่มีหรือจะมีก็ต้องเรียกว่าความตายคือความว่างตลอดกาลนั่นเอง เช่นนี้ย่อมดีกว่าความตายที่สกปรก เน่าเหม็น น่าเกลียด น่าสังเวช แต่ที่แท้นั้นควรจะพูดว่า ส่วนความตายนั้น หรือความเป็นนั้น ก็คือเป็นความว่างอยู่ตลอดกาลแล้ว จึงเรียกว่าความตายนั้นไม่มีไปเสียตั้งแต่แรกแล้ว อาตมาไม่อาจจะวินิจฉัยได้ด้วยตนเองว่าคำกล่าวเช่นนี้ คำอธิบายเช่นนี้ เขาจะเข้าใจได้หรือไม่ เขาจะพอรับเอาได้หรือไม่ แต่อาตมาก็ยังไม่ท้อถอย ยังพยายามจะทำให้เข้าใจให้จนได้ จึงได้แนะว่าทำงานด้วยจิตว่างแก่ท่านทุกคนไม่ว่าคนชนิดไหน ไม่ว่ากรรมกรชนิดไหนไม่ว่าบุคคลชั้นไหน แล้วก็ค่อยถือหลักเป็นทำงานให้ความว่าง กินอาหารของความว่าง อยู่ด้วยความว่างนี้ยิ่งขึ้น ถูกแล้วข้อนี้ มีชีวิตอยู่อย่างนักบวชนี่เข้าใจได้ง่ายและทำได้ง่าย แต่อาตมาก็พร่ำสอนภิกษุที่อยู่ด้วยกันว่ากินอาหารของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่กินอาหารของเราหรือของชาวบ้าน ที่มีกินอยู่ทุกวันนี้ ในที่สุดก็ขยาย...ก็เขยิบออกไปว่าพระพุทธเจ้าตัวจริงนั้นคือธรรมะ ธรรมะตัวจริงก็คือความว่าง ก็ค่อยๆเลื่อนขึ้นไปเป็นลำดับจนกินอาหารของความว่าง ก็พอจะเข้าใจกันได้ ส่วนฆราวาสทั่วไปนั้นอาตมาก็ไม่แน่ใจจึงขอฝากไว้ก่อน ทีนี้...สรุปแล้วก็เป็นหัวข้อว่า ทำงานด้วยจิตว่าง ทำงานให้ความว่าง กินอาหารของความว่าง อยู่ด้วยความว่าง ส่วนความตายนั้นไม่มีไปเสียตั้งแต่ทีแรกแล้ว หลักที่มีความหมายหรือมีใจความเช่นนี้เราพอที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจและรับเอาไปเป็นหลักปฏิบัติตามสมควรแก่อัตภาพของเขาได้หรือไม่ ขออาจารย์คึกฤทธิ์ช่วยอภิปรายอีกครั้งหนึ่ง”
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “ถ้าอยู่ในภิกขุภาวะก็ได้ อย่างใต้เท้าว่า ไม่...ไม่ขัดข้องอะไร คือผมเห็นนั่งฟังมา คือขึ้นต้นใต้เท้าแสดงธรรมที่เป็นความสัจธรรมที่กว้างขวางเหมือนกับพระมหาสมุทร แล้วเสร็จแล้วพอถึง คือในเรื่องที่ว่า ความมุ่งหมายของการพ้นทุกข์ คือการไม่ยึดถือ ไม่ยึดมั่น การตัดอุปาทานให้พ้น นั่นเป็นความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ ทีนี้พอมาเข้ากรอบที่ว่า ทำงานด้วยจิตว่าง ทำให้เกิด..ทำงานให้เกิดความว่าง กินอาหารจากความว่างนี่ กระผมขอประทานโทษเถิด ขอเปรียบตรงๆ คือฟังดูแล้วเหมือนอย่างกับว่าใต้เท้าพยายามจะเทพระมหาสมุทรลงไปใส่ขันใบเล็กๆ มันใส่ไม่ลง มันล้นหมด คือ สัจธรรมที่ใต้เท้าประกาศเป็นเรื่องกว้างขวางใหญ่โตเหลือเกิน เป็น..สภาพของจิตของพระอรหันต์ ทีนี้ชาวบ้านธรรมดาสามัญ ฆราวาสเค้าทำมาหากินกันตามปรกติ จะเอาธรรมอันใหญ่โตนั้นเอามาใส่ไปในแค่แก้วใบเท่านี้ เท่าไหร่ก็ไม่ลง ไปไม่รอด คือถ้ายังทำงานอยู่แล้วจิตมันว่างไม่ได้ ผมยังถือว่าอย่างนี้ ที่ใต้เท้ากล่าวในตอนท้ายนั่นใต้เท้าเองก็ยอมรับว่าถ้าบวชเป็นพระด้วยกันล่ะพูดได้ง่ายในเรื่องเหล่านี้ เรื่องทำงานด้วยจิตว่าง เรื่องทำงานเพื่อให้เกิดความว่าง เรื่องกินอาหารจากความว่าง จนในที่สุดอยู่ด้วยความว่าง เพราะฉะนั้นอย่างที่คนโบราณพูด ก็จากพระไตรปิฏกอีกล่ะครับ ที่ว่าฆราวาสสำเร็จพระอรหันต์แล้วตายภายในเจ็ดวันนั้นผมเชื่อ แต่ถ้าพระสำเร็จอรหันต์ไม่เป็นไร อยู่ไปได้จนกว่าจะแก่ แล้วบางทีก็ไม่ตาย อยู่ไปอายุยืนๆ ตั้งหลายร้อยปี เพราะเหตุด้วยภิกขุภาวะนั้นสะดวกสำหรับการปฏิบัติธรรมอย่างนี้ ถ้าว่าจะเอามาปฏิบัติในทางฆราวาส กระผมเห็น.. ยังขัดข้องเหลือเกิน ทั้งนี้ไม่ใช่แปลว่าธรรมนั้นผิดเชื่อถือไม่ได้ มิใช่เลย ตรงกันข้ามเห็นว่าถูกที่สุด ปัญหาอยู่ที่ว่าคนซึ่งยังอยู่ในฆราวาสวิสัยจะพึงปฏิบัติแค่ไหน ที่ใต้เท้ากล่าวมานั่นเป็น..เป็น..กัฎฐกรรม (นาทีที่ 41.47) เป็นกิจกรรมของพระอรหันต์ ของพระพุทธเจ้า ทีนี้ของที่ฆราวาสควรจะทำนั้นถ้าจะให้เหมือนกันผมนึกว่าไปไม่ไหว ไปไม่ได้ คือประการแรก การที่จะให้ทำงานด้วยจิตว่างนั้นผมยังนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร คือถ้าทำงานแล้วไม่ถือว่างานนั้นเป็นงานไม่ถือว่าตัวเราเป็นผู้รับประโยชน์ของงานหรือไม่ถือว่าคนอื่นเป็นผู้รับประโยชน์ของงาน หรือไม่ถือว่าชาติบ้านเมืองเป็นผู้รับประโยชน์ของงานแล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะทำไปเพราะเหตุใดเหมือนกัน ทำเพื่อให้เกิดอะไร และงานนั่นเองก็ไม่ควรจะยึดถือด้วยถ้าจะทำด้วยจิตว่างอย่างนั้นจริง งานที่ทำก็เป็นของไร้สาระ ก็เป็นสังขารอย่างหนึ่ง เราก็คิดปรุงแต่งมันขึ้นมาเองว่าเป็นงาน ควรจะทำลายเสียด้วยซ้ำ จะไปทำมันเพื่ออะไร? นี่ถ้าจะคิดกันอย่างปรมัตถ์กันจริงๆแล้ว ถ้าจิตว่างแล้วมันก็ไม่ทำงาน ถ้าผมทำตัวให้ปราศจากอุปาทานให้ได้จริงๆแล้วผมก็จะไปขอบรรพชากับใต้เท้า ผมไม่นั่งทำงานให้เสียเวลาหรอก ทีนี้เพราะว่ายังไปไม่ไหวถึงได้นั่งเป็นฆราวาสอยู่ ยังตัดอุปาทานไม่หมด การทำงานเป็นสภาพของการยึดมั่น ถ้าใครยังไม่ถึงขนาด ก็ต้องทำงานก็ต่อไป เป็นส่วนหนึ่งของทุกข์ ถ้าจะบอกว่าให้ทำงานด้วยจิตว่างผมยังมองไม่เห็นทางว่าจะทำได้อย่างไร นี่ผมอาจจะใจคอคับแคบหรือก็ดวงตายังไม่เห็นธรรมจริงๆ ยังนึกไม่ออกจริงๆ ส่วนเรื่องสติสัมปชัญญะก็ดี สติปัญญาก็ดี ผมนึกว่าสตินั้นก็หมายความว่าสติในการระลึกได้ว่าของทุกอย่างไม่ใช่ตัวใช่ตนเท่านั้น ความหมายของสติ ตั้งอยู่ในสติปัฏฐาน ก็นึกอยู่อย่างนั้น จับเป็นปลาขึ้นมานี่ก็เป็น อันนั้นก็เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จับไอ้นี่ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ของผมทั้งนั้น ถ้ามีสติอย่างนั้นแล้วก็ทำงานไม่ได้อีก นึกจะออกไปค้าไปขายอะไรขึ้น ก็ไม่เชื่อว่าได้เงินมามีประโยชน์ อย่าเลย นอนดีกว่า”
ท่านพุทธทาส : “อาตมาเข้าใจ แต่.......”
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “นี่ครับ...เป็นเช่นนี้ ผมไม่ได้.... กราบเรียนด้วยความเคารพจริงๆ คือ ผมยังไม่เข้าใจและก็อยากจะเข้าใจ แต่นึกอยู่อย่างนี้ แต่ถ้าเผื่อใต้เท้าบอกว่าทั้งหมดนี้ถ้าว่าต้องคือว่า ถ้าสอนสรุปไปว่าต้องการจะพ้นทุกข์ ต้องการจะทำให้จิตว่างไม่ยึดไม่มั่นอะไรแล้ว แล้วก็ใต้เท้าก็มาจบลงหันมากวักมือกระผมบอก เอหิภิกขุ ผมไปเลย...ตาม...บวช ผมเชื่อ แต่ถ้าใต้เท้าสอนเช่นนี้แล้วบอกว่า เดี๋ยวเอ็งกลับบ้านไปทำงานไป แล้วก็จิตว่างๆนะลูกนะ ผมทำไม่ได้ นี่ครับ นี่พูดกันอย่างฆราวาสพูดกับพระ คือว่ามันคนละโลกกันครับ แล้วก็..นี่ผมก็อยากจะขอประทานกราบเรียนถามความรู้ต่อไปว่าจะให้ทำอย่างไรกันแน่”
ท่านพุทธทาส : “อาตมายังสงสัยอยู่เล็กน้อย ขอถามว่า ถ้าสมมติว่าเราเทน้ำทั้งมหาสมุทรลงไปในถังใบเล็กๆนี้ ถ้ามันล้นมาก แล้วที่เหลืออยู่ในถังนั้นน่ะ เป็นน้ำอย่างเดียวกับที่ล้นไปหรือไม่”
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “ถูก เป็นน้ำอย่างเดียวครับ แต่ผลไม่เหมือนกัน ปริมาณไม่เหมือนกัน อย่างดีก็ ถ้าเผื่อว่าใครฟังนี่ไปแล้ว อย่างดีจริงๆ จิตว่างที่ใต้เท้าพูดนั้นก็มิใช่จิตว่าง แต่เป็นอุปาทานนั่นเอง แต่มันว่างจากกิเลสนิดๆหน่อยๆเท่านั้น นี่พูดในทาง Logic ว่าไม่เท่า ส่วนผลน่ะมี ทาง Practical ผมรับ แต่ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องเทศน์เรื่องนี้ก็ได้ ก็เทศน์เรื่องทำบุญสุนทานอะไรจนในที่สุด...สอนให้ สอนกันตรงๆว่าทำบุญแล้วตายไปจะขึ้นสวรรค์ก็ได้ ก็ทำดีเหมือนกัน มานั่งพูดให้มันวกวนไปนอกลู่นอกทางเพราะเหตุใด นี่ไม่ได้หมายความว่าใต้เท้านอกลู่นอกทางหรอก คือว่าก็....มีทางเทศน์ให้คนทำดี ก็อย่างธรรมดาสามัญเค้าก็มี”
ท่านพุทธทาส : “เข้าใจแล้ว คือว่า ที่ว่าให้ทำงานด้วยจิตว่างอย่าให้เจือด้วยความรู้สึกว่าเราหรือของเรานั้น หมายความว่าในขณะที่ทำนั้นน่ะ ในขณะที่ลงมือทำนี่ต้องมีจิตว่าง ส่วนสติปัญญาความรู้สึกผิดชอบชั่วดีว่าเรามีประเทศชาติ ศาสนา มีหน้าที่ที่จะต้องทำต่อประเทศชาติ ศาสนา ทำงานเพื่อหน้าที่นี้มีแล้ว มีก่อนแต่ลงมือทำ นั่นน่ะมีความเข้าใจที่ถูกต้องได้ จะเรียกว่าเป็นอุปาทานที่เป็นไปในฝ่ายดีก็ได้ แล้วอุปาทานที่เป็นไปในฝ่ายดีนี้ไม่ได้ถูกตำหนิติเตียนโดยส่วนเดียว แต่ยอมให้ทุกคนมีอุปาทานในฝ่ายดีเป็นทุนสำรองไปเรื่อยๆ แต่ให้พยายามสูงขึ้น สูงขึ้น สูงขึ้น พอถึงที่สุดของฝ่ายดี มันก็เข้ามาเรื่องเนื้อดี หรือว่างนี้เอง แต่ว่าวิธีปฏิบัติเฉพาะหน้านี้ก็มีอยู่ว่า ในขณะที่ลงมือทำแท้ๆ นั้น อย่าได้มีจิตวุ่น มีความรู้สึกตั้งแต่ทีแรกว่าอะไรควรจะทำและทำอย่างไร เท่าไร เพียงไหน นี่มีได้ คิดนึกได้ แต่ก็ด้วยสติปัญญาอีกนั่นเอง อย่าได้คิดด้วยจิตที่หมกมุ่นอยู่ด้วย...ตัวกูของกู เพราะว่าจะมากไปบ้าง น้อยไปบ้าง ผิดความจริงไปหมด ที่ทำด้วยสติปัญญาบริสุทธิ์ว่างจากตัวกูของกูก็คิดได้ว่าเรามีฐานะเช่นนี้ มีสภาวะเช่นนี้ จะต้องทำอะไรเป็นประจำวัน มีอาชีพอย่างไร มีประโยชน์ส่วนรวมอย่างไรนี่คิดไปได้ แต่ก็ยังกล่าวได้ว่าด้วยจิตว่างอยู่เหมือนกัน มีสติปัญญาสูงสุด คิดไปว่าควรจะทำอะไร และมีความสำคัญอย่างยิ่งตรงที่ว่าขณะลงมือทำแล้วก็ให้เหลืออยู่แต่สติกับปัญญา กับสติสัมปชัญญะอย่างที่กล่าว แล้วสตินั้นแน่นอน สติในพระพุทธศาสนาหมายถึง สติปัฏฐาน คุมความรู้สึกไว้เสมอ อย่าเผลอตัว มีสติอยู่เสมอว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนหรือเป็นของตน แล้วทำงานด้วยสตินั้นในขณะนั้นจิตเฉลียวฉลาดที่สุด ว่องไวที่สุด เป็น Active เป็นกัมมนิโยอะไรที่สุด ฉะนั้นจึงว่า...น่าจะลองเอาไปคิดพิจารณาดูแล้วลองพยายามทำดู ให้การพยายามนั้นแหละเป็นเครื่องวัด เป็นเครื่องตัดสินว่าจะได้หรือไม่ได้เพียงไร เพราะว่าบางทีอาจจะได้ของวิเศษที่สุดจากปริมาณที่มากที่สุดเหมือนกับน้ำที่ขังอยู่ในถังใบเล็กๆ ที่เราเทให้ทั้งมหาสมุทรก็ได้ อาตมามีความหมาย มุ่งหมายเช่นนี้ ขอฝากไว้ให้คิดต่อไปด้วย อาจจะเข้าใจไม่ได้ในวันนี้ ก็อาจจะเข้าใจได้ในวันหน้า หลักธรรมะส่วนลึกนี้เราต้องมี..มีความมุ่งหมายว่า ผู้ศึกษาค้นคว้ากันวันนี้เพื่อความเข้าใจในห้าปีหรือสิบปีข้างหน้า จะได้โดยแน่นอน แต่ถ้าเรายังรอว่ายังไม่เอามาพูดกัน มันก็ต้องรอไปอีกสิบปีจึงจะลงมือ แล้วมันก็ต้องเลื่อนออกไปสิบปีจึงจะเข้าใจได้ ดังนั้นขอให้กล้าเอาธรรมะที่เข้าใจไม่ได้เวลานี้ ไปขบไปคิด ใช้มันลองดู เพื่อประโยชน์แก่ความเข้าใจต่อห้าปีหรือสิบปีข้างหน้า แล้วเรื่องจิตว่างหรือทำงานด้วยความว่างนี้ก็รวมอยู่ในพวกนี้ด้วย นี่เรียกว่าอาตมาพยายามที่จะบอกกล่าวท่านทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายควรจะเข้าใจธรรมะในลักษณะนี้ เพื่อประหยัดเวลาหรือเพื่อให้ได้ผลทันตาเห็น ถ้าเรามีหัวข้อว่า ควรเข้าใจธรรมะอย่างไร? อาตมาเสนอว่าควรเข้าใจธรรมะอย่างนี้ ที่อาจารย์คึกฤทธิ์พูดนี่ก็ถูกต้องและมีเหตุผลควรที่จะเอาไปคิด ไปนึก แล้วปรับปรุง และสะสางให้เข้ารูปจนพอที่จะได้รับประโยชน์แม้ในปริมาตรเทียบเท่ากับส่วนน้ำปี๊บเดียวจากมหาสมุทร ก็ขออย่าได้ท้อถอย ทุกๆท่านอย่าได้ท้อถอย จงพยายามศึกษาคำว่าว่าง หรือจิตว่าง ซึ่งเป็นหลักของพระพุทธศาสนานี้ให้เข้าใจกันให้จนได้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านได้ถือว่านิพพานคือว่างอย่างยิ่ง ว่างอย่างยิ่งคือนิพพาน หมดความรู้สึกว่าตัวตนถึงที่สุดเมื่อไหร่นั้นคือนิพพาน เขามาผูกเป็นคำกลอนในภายหลังว่า “นิพพานัง ปรมัง สุญญัง” นี้ก็ผูกจากหลักคำกล่าวที่กล่าวไว้เป็นร้อยแก้ว แต่ความหมายอย่างเดียวกันว่านิพพานคือว่างอย่างยิ่ง และว่างอย่างยิ่งคือนิพพาน อัน Summum Bonum ก็อยู่ที่ตรงนี้ ที่เรามุ่งหมายไว้ในฐานะเป็น...ของข้างหน้าที่จะถึงในวันหนึ่ง และขอร้องว่าเราเข้าใจธรรมะกันในลักษณะนี้เถิด แล้วอย่าได้เข้าใจว่าเป็นเพื่อจะเป็นพระอรหันต์ เพื่อจะดีจะเด่นอย่างนั้นอย่างนี้ ด้วยการศึกษาหรือปฏิบัติธรรมะ ถ้าอย่างนั้นเป็นการเพิ่มอุปาทาน แต่ถ้าเราเข้าใจว่า เพื่อจะให้ว่างไป หมดไป เบาไป บางไปจาก Egoism จากความรู้สึกยึดมั่น ถือมั่น สำคัญผิดว่าตัวตนนี้แล้วเป็นถูกต้อง ขอให้เจริญงอกงามไปในลักษณะเช่นนี้ คำว่าความว่างนี่มีความหมายเฉพาะ ขอย้ำแล้วย้ำอีกว่าคำว่าว่างนิพพาน ว่างอย่างยิ่งนี่ความหมายเฉพาะ หรือพระพุทธภาษิตที่สำคัญอีกข้อหนึ่งว่า “สุญญะโต โลกัง อะเวกขัสสุ” นี่ ที่บอกว่าให้ดูโลก..คือทั้งหมดนี่โดยความเป็นของว่างอยู่เสมอเถิด นี่ก็หมายความอย่างนี้ ว่าโลกที่จริงน่ะมันว่าง แต่เราไม่เห็นเป็นว่าง แต่ขอให้พยายาม พยายาม พยายามให้เห็นจริงให้จนได้ว่ามันว่างอยู่ นี่จะนำไปสู่ภาวะสูงสุดที่พึงปรารถนา คำกล่าวที่ใช้เป็นคำบัญญัติเฉพาะพูดกันนี้มีความหมายพิเศษเฉพาะของตัวเองแล้วผิดยุคผิดสมัยกันแล้วเข้าใจยาก อาตมาจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะใช้ภาษาไทยปัจจุบัน ภาษาไทยง่ายๆ มีของมาฝากอาจารย์คึกฤทธิ์เล็กน้อยตอนนี้ว่า ในสมัยสองพันปีเศษมาแล้ว มีจารึกที่ผอบอัฐิของพระอรหันต์ที่ขุดพบที่สาญจี (Sanchi) กลุ่มวัตถุเหล่านั้น ผอบจารึกข้างในมีพระอัฐิ ข้างขอบผอบมีจารึกว่ากระดูกของใคร เขาใช้คำว่า สัปปุริสะ สัปปุริสัสสะ โมคคัลลีปุตตัสสะ พระโมคคัลลีบุตรผู้นี้ก็คือเรา...ผู้ที่เราเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์แล้วก็...โดยความช่วยเหลือของพระเจ้าอโศก ได้ส่งภิกษุออกไปประกาศพระพุทธศาสนาในทิศทางต่างๆ เมื่อท่านตายแล้วเก็บกระดูกไว้ที่นี่ ผอบนี้จารึกว่า สัปปุริสัสสะ โมคคัลลีปุตตัสสะ แล้วออกชื่อมัชฌิมะกะสะ ออกชื่ออีกหลายๆองค์ที่เป็นผู้ร่วมงานของท่าน ข้างหน้าใช้คำว่า “สัปปุริสะ” นั้น แปลว่าสัตบุรุษเท่านั้น ผู้ที่เราเชื่อกันว่าเป็นพระอรหันต์ นี้หมายความว่าคราวก่อนเราเคยพูดกันถึงคำว่าสัตบุรุษ ยิ่งกว่านั้นก็คือว่า อีกพระสถูปหนึ่งพบผอบหินอย่างเดียวกัน บรรจุกระดูกของพระอรหันต์ที่สำคัญคือพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ ผอบใบนี้กลับเขียนหนังสือสั้นๆว่า สารีปุตตัสสะนั้น มหาโมคคัลลานะสะนั้น ไม่มีคำว่าอะไรข้างหน้า ไม่มีคำว่าอรหันต์หรือ “สัปปุริสะ” ลองคิดดูเถิด พระอรหันต์ที่เด่น ที่ยกย่องแต่กลับไม่มีสมัญญาอะไรอยู่ข้างหน้า พระอรหันต์ที่ย่อยลงมามีคำว่า “สัปปุริสะ-สัตบุรุษ” วิธีใช้คำหรือวิธีไหนจึงผิดมากมายขนาดนี้ ถ้าเป็นสมัยนี้แล้วเราคงเขียนบรรทัดยาวๆว่า พระบรมอย่างนั้นอย่างนี้แก่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ก็เพื่อจะได้รู้กันว่า คำว่าสัตบุรุษนี้ก็มีความหมายยืดหยุ่นกว้างขวางตามยุคตามสมัยจนยากที่เราจะเข้าใจ นี่เป็นคำที่ใช้อยู่ในพระพุทธศาสนา เป็นอันว่าอย่าได้ยึดมั่นติดมั่นในคำนัก ในคำนี้นัก คือถ้ายึดก็ยึดไปในทางถูก ในทางที่เป็นผลดีดีกว่า เช่นเป็นพระอรหันต์ชั้นเอกนี่ว่างเลย ไม่ต้องเติมคำข้างหน้าว่าพระอรหันต์หรือพระอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ ส่วนโมคคัลลีปุตตัสสะนั้น มีสัตบุรุษอยู่ข้างหน้า มีสองคำเท่านั้น สรุปความว่าควรเข้าใจธรรมะในลักษณะอย่างที่ว่ามานี้ อาจารย์คึกฤทธิ์เห็นว่าควรมีข้อแม้อย่างไรหรือจะอภิปรายอย่างไรจะให้เพียงเท่าไร ก็ขอได้กรุณาอีกครั้งเถิดแล้วจะได้จบการสากัจฉา”
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “กระผมเข้าใจที่ท่านอธิบายมา คือ ไม่ได้ยึดพระอรหันต์หรอก พระอรหันต์ก็คนนั่นเอง แต่ว่าเป็นคนที่ไม่ยึดมั่นอะไรแล้ว คนส่วนมากยังยึดมั่นอยู่ก็ไม่ใช่พระอรหันต์ เราจะเรียกว่าสัตบุรุษหรือเรียกว่าพระอรหันต์ก็เท่ากัน ซึ่งแล้วแต่กาลแต่สมัย การใช้คำอยู่ที่กาลสมัยอยู่มาก แต่อย่างไรก็ตามหนีความจริงไปไม่พ้นว่าคนอย่างพระโมคคัลลา พระสารีบุตร สาวกพระพุทธเจ้านั้น เมื่อว่างแล้วไม่ได้ใช้ชีวิต ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างคนอย่างกระผม ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างคนส่วนมากที่นั่งอยู่ที่นี่ ใช้ชีวิตอย่างท่าน นุ่งห่มด้วยผ้าสามผืน สละหมู่ สละคณะออกไปอยู่ต่างหาก แล้วก็ถือศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ดข้อเป็นปกติ ไม่เดือดร้อนในการถือนั้น ไม่ใช่ว่าใครบังคับให้ถือ แต่ถือไปเอง เช่นนี้เรียกว่าว่าง คนอย่างกระผมไปทำงานด้วยจิตว่าง ผมยังมองไม่เห็น เพราะลักษณะของงานมันขัดต่อการจิตว่าง ภาวะของผมสภาพของผมมันว่างไม่ได้ ถ้าว่างเสียแล้วก็ไม่เป็นกระผม ถ้าท่านบอกให้ผมไปบวชแล้วจะว่างผมเชื่อ ไม่ใช่ว่ายึดอะไรทั้งนั้น ผมก็ไม่ยึด ทีนี้การทำงานด้วยจิตว่างนั้น ผมก็อยากจะเรียนถามเหมือนกันท่านหมายความว่าอย่างไร ถ้าท่านบอกว่าทำงานด้วยจิตว่างแล้วงานทางโลกนั้นจะดี ผมไม่เชื่อ คือบอกว่าทำเป็นทหารไปรบเขารบด้วยจิตว่าง ยิงปืนด้วยจิตว่าง แล้วมันจะเป็นทหารที่ดี เป็นอย่างไร พูดอย่างไร ผมก็ไม่เชื่อ แต่ถ้าท่านบอกว่าทำงานอยู่ในโลกก็อยู่ในโลกเถิด แต่ถ้าทำงานด้วยจิตว่างอย่ายึดอย่ามั่นอะไรแล้ว งานจะดีไม่ดี ถึงจะเกิดผลร้ายเราก็ไม่ทุกข์ ถ้าเช่นนั้นผมเชื่อ ที่ท่านพูดมาท่านหมายความว่าอย่างไร ท่านว่าจิตว่างแล้วงานประเสริฐอย่างนั้นหรือ งานการจะรุ่งเรืองหรือขอรับ ถ้าเช่นนั้นกระผมไม่เชื่อ เพราะงานการของโลกขัดกันกับเรื่องของการจิตว่าง เรื่องของการพ้นทุกข์ ความสุขของโลกก็เป็นความทุกข์ในธรรม คนที่เขาทำงานกันเขาก็ทำเพื่อหาความทุกข์ เขาไม่ได้ไปหาความสุข ที่ผมหมายความสำเร็จของงานผมหมายถึงความในทางโลก ถ้าทำงานเพื่อให้จิตว่างในความสำเร็จทางธรรม จิตว่างเป็นความสำเร็จทางธรรมถูก แต่ว่าจะเอาพร้อมกันทั้งสองอย่างไม่ได้ สำเร็จทางธรรมจิตว่างต้องเสียทางโลก ไม่เช่นนั้นคนจะไปบวชกันเพื่ออะไร ก็นั่งกันอยู่จิตว่างกันอยู่แล้วผูกเนคไทเช่นนี้ก็ได้ แต่นี่ว่างไม่ได้ มันผูกมัดอยู่อย่างนี้”
ท่านพุทธทาส : “ที่หมายความว่าฆราวาสจะไม่พยายามทำให้จิตว่าง?”
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “ผมว่าทำได้สิครับ คือ ว่างกิเลสผมเชื่อ”
ท่านพุทธทาส : “ฆราวาสควรจะพยายามทำ..... (มีเสียงแทรก).....ให้ว่างที่”
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “แล้วควรจะ.... (เสียงแทรก)..รู้ด้วยทุกอย่างไม่ควรจะยึดจะถือผมเชื่อ ผมเชื่อ คือฆราวาสควรจะศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า ควรจะรู้ว่าธรรมะนั้นคืออะไร แต่ขณะเดียวกันก็ควรจะรู้ด้วย แม้แต่ในขณะที่ทำไปนั้น ถ้าจำเป็นต้องยึดก็ต้องยึด เพราะเรายังเป็นฆราวาส ถ้าปล่อยหมดก็อย่าเป็นฆราวาส”
ท่านพุทธทาส : “ที่ต้องการให้ฆราวาสทำงานได้ด้วยการที่มีความทุกข์น้อยแล้วมีผลสำเร็จเต็มนั้น จะมีวิธีอย่างไร ด้วยจิตว่างหรือด้วยจิตวุ่น”
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “นี่ผม ผมเห็นว่าทุกอย่างครับ คือ ถ้าจะเอาผลสำเร็จทางโลกแล้วก็ต้องซื้อผลสำเร็จนั้นด้วยความทุกข์ จะเอาทั้งสองอย่างไม่ได้หรอก เอาเนยทาขนมปังสองหน้าไม่ได้หรอก ไม่มีใครเขาใส่บาตรอย่างนั้น”
ท่านพุทธทาส : “หึๆๆ”
ท่านพุทธทาส : “เป็นฆราวาส....” (มีเสียงแทรก)
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “จะสำเร็จทางโลกใต้เท้าต้องซิ้อเขาด้วยความทุกข์ ผมขอสอนพระซักวันเถิดครับ ผมอยู่ในโลก ผมรู้มากกว่าพระ ไม่มีทาง ไม่มีทางทำได้ แต่ถ้าเผื่อว่าจะให้สิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงแล้ว จะให้ว่างจริงไม่มีทุกข์แล้ว สละความสำเร็จทางโลก เลิกกัน อย่างนั้นผมเชื่อ”
ท่านพุทธทาส : “แล้วในขณะที่ยัง.....” (มีเสียงแทรก)
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “เอาอย่างไร เลือกเอา”
ท่านพุทธทาส : “ในขณะที่ยังไม่อาจสละไปได้ ยังจะต้องอยู่ในโลก?”
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “ก็สุขบ้างทุกข์บ้าง แต่ไม่ว่าง”
ท่านพุทธทาส : “แล้วมีวิธีที่จะให้ทุกข์น้อยลงอย่างไร?”
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “ก็อย่างนี้ครับ ก็อย่างที่พูด อย่างที่พูด คือว่าก็รู้ ว่าทุกอย่างไม่ใช่ตัวใช่ตน แต่ขณะที่ทำงานต้องนึกถึงงาน ไม่ว่างหรอก ต้องนึกว่าทำเพื่อตัวอยู่นั่นเอง แต่ถ้ามันเกิดผิดพลาดเสียหายขึ้นมาแล้ว ตอนนั้นแหละธรรมะของใต้เท้าเข้ามาช่วยได้ ว่าก็ไม่เกี่ยวอะไร ไม่ใช่ตัวใช่ตนของเรา ก็เสียไปแล้ว ก็นึกได้ ก็พอปลอบใจได้เหมือนกัน”
ท่านพุทธทาส : “ตอนนี้เราจะต้องวิวาทกันแล้ว คือความวิวาทของเรามีวาทะต่างกันอยู่ที่ตรงนี้ อาตมายืนยันว่าแม้เป็นฆราวาส ทำงานอย่างฆราวาส ก็ต้องพยายามเอาชนะ ทำให้เกิดชัยชนะต่อความทุกข์คือการงานนั้น ให้ได้มากยิ่งขึ้น มากยิ่งขึ้น โดยอุบายวิธีที่เอาหลักของพระพุทธศาสนาที่ว่าทำจิตให้ว่างจากอุปาทานนี้ไปใช้ให้ถูกตามสัดตามส่วนและให้ลืมความเป็นฆราวาสหรือความเป็นบรรพชิตเสียชั่วคราว มีปัญหาเฉพาะหน้าแต่ว่าในจิตใจกำลังเป็นอย่างไร ถ้าเป็นทุกข์ก็จะแก้ให้ตรงจุดโดยหลักที่ว่าสิ่งทั้งปวงเกิดมาแต่เหตุ แล้วก็จะค่อยเป็นพระอยู่ในบ้านในเรือนนั่นเอง มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น จนถึงขนาดที่ทนไม่ไหว ต้องออกไป..เป็นผู้ไม่ยึด...” (มีเสียงแทรก)
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “อย่างนั้นผมเชื่อครับ อย่างนั้นผมเชื่อ เอาแค่นั้นผมเชื่อ แต่ว่าผมไม่เข้าใจ ฟังแต่แรกคล้ายๆใต้เท้าจะให้...จะให้เป็นพระอยู่ในเรือนแล้วไม่ต้องไปบวชทีหลัง ถ้าค่อยๆอบรมขัดเกลาไปทำให้ความว่างเกิดมากขึ้น มากขึ้น กระผมเชื่อ”
ท่านพุทธทาส : “อาตมาจึงบอกไปเลยว่าให้พยายามทุกอย่าง ให้เข้าใกล้ความว่างนี้มากขึ้น แม้แต่ในการทำงาน ในการกินอาหาร ในการมีลมหายใจอยู่ ให้ใช้อุบายที่เป็นนี่แยบคายที่ให้เราเข้าใกล้ความว่างนี่มากขึ้น มากขึ้น แม้ในเพศที่สมมติกันว่าเป็นฆราวาส นี่ความเห็นของเราคงแตกต่างกันนิดเดียวเท่านั้นในข้อปลีกย่อย”
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “คือไม่ใช่เลย แตกต่างกันมากครับ คือ...ถ้ายิ่งว่างมากขึ้นความสำเร็จทางโลกมันต้องน้อยลงทุกที”
ท่านพุทธทาส : “ถ้าอย่างนั้นยังไม่ใช่ความว่างที่อาตมามุ่งหมาย....” (มีเสียงแทรก)
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “คือที่ใต้เท้าบอกว่าจะให้ได้ความสำเร็จมากที่สุดแล้วว่างด้วยเป็นไปไม่ได้ ว่างก็เอา สำเร็จก็....คือว่าจะว่างก็ต้อง...ต้องว่ากันทางว่าง จะสำเร็จก็ต้องสำเร็จ ถ้ายิ่งสำเร็จมากเท่าไหร่ก็ยิ่งว่างน้อย ถ้ายิ่งว่างมากเท่าไหร่ยิ่งสำเร็จน้อย”
ท่านพุทธทาส : “นี่คือข้อแตกต่างกัน.....อาตมาจะว่ามานี่คือข้อแตกต่าง....(เสียงแทรก)”
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “คือว่า...เป็นมหาเศรษฐีด้วย เป็นสัตบุรุษด้วย ไม่สำเร็จหรอกครับ มหาเศรษฐีนี่ทุกข์มาก ไม่ว่าง ยิ่งมีเงินมากยิ่งทุกข์มาก”
ท่านพุทธทาส : “เป็นมหาเศรษฐี....เป็นมหาเศรษฐีที่เป็นอริยบุคคลจะมีได้หรือไม่?”
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “อย่างไรครับ?”
ท่านพุทธทาส : “เป็นมหาเศรษฐีที่เป็นที่เป็นอริยบุคคลมีได้หรือไม่?”
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “ถ้าได้มรดกมา...ได้ แต่หาเอาเอง....ไม่ได้”
-- (เสียงผู้ฟังหัวเราะ) --
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “แล้วถ้าเป็นพระอริยบุคคลก็ไม่คิดเป็นเศรษฐีเสียแล้ว”
ท่านพุทธทาส : “เป็นพระอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งด้วย เป็นเศรษฐีด้วย?”
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “ผมไม่เชื่อครับ ถ้าคน...ไม่ต้องพระอริยบุคคลหรอกครับ คนขนาดว่างนิดๆหน่อยๆอย่างผม เห็นว่าสมบัติไม่เที่ยง เงินก็ไม่เที่ยง อะไรก็ไม่ค่อยจะเที่ยง ไม่ใช่ตัวใช่ตนนี่ ผมก็ยังไม่เป็นเศรษฐี ทุกวันนี้ผมก็หาพอกินพอใช้ ความจริงแล้วกระผมมีหลักของผมด้วย คือผมยอมรับว่าชีวิตคนนี้ต้องการอะไร ผมไม่หาเงินล่วงหน้าไว้หรอกครับ ผมอยากได้อะไรผมไปหาเงินมาซื้อ ซื้อแล้วเลิกกัน ผมไม่หาต่อ ถึงมีเวลาว่างมานั่งสนทนากับท่านได้....”
-- (เสียงผู้ฟังหัวเราะ) –
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “ถ้าผมตั้งใจจะตั้งหน้าหาเงินอย่างเดียวเพราะอยากเป็นเศรษฐีวันนี้ผมไม่มา ผมไม่ว่าง”
-- (เสียงผู้ฟังหัวเราะ) --
ท่านพุทธทาส : “แล้วคนที่เป็นเศรษฐีแล้ว..เมื่อรู้สึกพอ...แล้วจะไปสนใจเรื่องของธรรมะ ความว่างนี่ได้หรือไม่ ?”
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “อ้างว่าสนใจก็ได้ แต่ใครลองไปแตะเงินเข้าสิครับ เกิดไม่ว่างขึ้นมาทีเดียว”
-- (เสียงผู้ฟังหัวเราะ) –
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “ผมไม่เชื่อหรอกครับ”
ท่านพุทธทาส : “ข้อขัดแย้งข้อนี้ต้องฝากเอาไว้กับท่านทั้งหลายให้ช่วยไปพิจารณาดูด้วยความคิดที่เป็นอิสระ อาตมายังขอยืนยันอยู่ว่าหลักเกี่ยวกับดำรงสติให้มีความรู้สึกเป็นจิตว่างอยู่เสมอนี้ ขอให้นำไปใช้ในทุกกรณี และทุกชั้น ทุกวัย ทุกเพศ ให้เท่าที่สามารถจะทำได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ลงมือทำงานรายใดแล้วความทุกข์เกิดขึ้นและก็ขอให้ใช้ในกรณีนั้นเป็นอย่างยิ่งหรือเป็นอย่างเฉพาะ ส่วนข้อที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับความคิดเห็น เกี่ยวกับกาลเวลานี้ไม่สำคัญ โดยเนื้อหาอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ยอมรับว่า อุปาทานนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำลาย ต้องละในที่สุด อันนั้นเป็นหลักของพระพุทธศาสนาและอาตมาก็ย้ำยืนยันว่าเราควรเข้าใจธรรมะในลักษณะนี้ คือเข้าใจธรรมะลักษณะว่า จะต้องพยายามทำลายอุปาทาน ตัวกูของกูนี้เรื่อยไป เรื่อยไป เรื่อยไป แล้วถ้าทำถูกวิธีแล้วจะสบาย เย็นอกเย็นใจ ทำการงานก็สนุกสนาน ไม่รู้สึกว่าเป็นการทนทรมานแล้วก็เป็นการก้าวหน้าในทางธรรมะพร้อมกันไปในตัว ในการทำงานนั้นอาตมาขอร้อง ขอยืนยันและขอร้องให้เข้าใจธรรมะในลักษณะนี้ และขอยุติ และขอท่านอาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวสรุปทัศนะส่วนตัวอีกครั้งหนึ่ง”
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “คือกระผมก็อยากจะสรุปเพียงเล็กน้อยว่า ความจริงที่ท่านพุทธทาส ท่านเจ้าคุณท่านได้กรุณากล่าวธรรมะมานั้น ผมเห็นด้วยทุกประการ ไม่ได้มีความเห็นขัดแย้งเลย ท่านได้พูดความจริงที่สุด ในเรื่องตัณหาอุปาทานเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นความจริงซึ่งไม่มีผู้ใดจะปฏิเสธได้ และเป็นความจริงซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้ แล้วยิ่งตัดตัณหาอุปาทานลงไปได้มากเท่าไร เราก็เท่ากับตัดความทุกข์ออกจากตัวไปมากเท่านั้น นี่เป็นหลักธรรมะบริสุทธิ์ซึ่งเป็นความจริง เป็นความจริงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง และเป็นความจริงที่ควรส่งเสริม ควรเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง ควรเผยแพร่เป็นอย่างยิ่ง ที่กระผมกราบเรียนท่านไปก็อยากจะให้ท่านเข้าใจอยากให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายเข้าใจว่าในการปฏิบัติธรรมะนั้นมีปัญหา เป็นเรื่องของการเสียสละ คือว่าโลกกับที่พูดกันอย่างชาวบ้าน นี่ธรรมในที่นี้ขออย่าได้เข้าใจว่าหมายถึงธรรมตามที่ความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างที่เจ้าท่านได้อธิบายมาแล้วตามสามความหมายของธรรม ไม่ใช่อย่างนั้น ผมพูดถึงโลกกับธรรมอย่างที่เราพูดๆกันทุกวันนี้ คือโลกหมายความว่าความวุ่นวาย ..อลเวงต่างๆ ธรรมหมายถึงความบริสุทธิ์ สะอาด ความสงบต่าง ๆ ซึ่งเป็นของขัดกันอยู่ในตัว เราอยู่ในโลกเราก็ได้แต่ยึดธรรมเป็นที่พึ่ง ความบริสุทธิ์สะอาดเป็นที่พึ่ง ความรู้ว่าตัณหาอุปาทานเป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น เป็นเรื่องที่เราจะต้องนึกไว้เป็นประจำใจ แต่ขณะเดียวกันถ้าหากว่าเราปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไปเรื่อยๆจนถึงที่สุดแล้ว โลกนั้นก็จะหมดความสำคัญสำหรับเราไปเอง ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่เราอยากหรือไม่อยาก ถ้าตั้งหน้าปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าให้ถูกต้องแท้จริงแล้ว ถ้าหากว่าจะถึงพระนิพพานก็ถึงเอง ไม่ใช่เพราะว่าเราอยากไปพระนิพพานหรือเราไม่อยากไปพระนิพพาน แต่ในขณะที่เราเป็นฆราวาสนั้น ความยากลำบากมีอยู่ ที่ผมพูดผมอยากให้เข้าใจเท่านั้น คือเป็นเรื่องที่จะต้องเลือกเอาระหว่างความสำเร็จในทางโลก ความมีตำแหน่งแห่งหน มีวาสนา มีความสะดวกสบายต่าง ๆ คนทุกวันนี้ยังเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นคือความดี สิ่งเหล่านั้นคือผลของการปฏิบัติธรรม ผมยืนยันว่าไม่ใช่ การปฏิบัติธรรมการทำให้ใจว่างนั้นเกิดผลดี คือ ความพ้นจากทุกข์ ส่วนฐานะทางโลกเป็นเครื่องนำมาซึ่งทุกข์ทั้งนั้นไม่ได้นำมาซึ่งความผาสุกอันแท้จริง นี่เป็นเรื่องที่เราควรจะต้องรู้ เพราะฉะนั้นถ้าเรียนธรรมะ รู้ธรรมะ เข้าใจอย่างที่เจ้าคุณท่านกล่าว นึกว่าถ้าทำใจให้ว่างแล้วทำงานจะเป็นเศรษฐี ข้อนี้ผมไม่ขอยืนยัน แต่ว่าถ้าจะเป็นเศรษฐีในทางธรรม คือเป็นเศรษฐีเพราะเหตุว่าความลำบาก ผิดพลาด ยากจนข้นแค้นของตัวเรามันไม่มากระทบใจให้วุ่นวายได้แล้ว อย่างนั้นใจเป็นเศรษฐี อย่างนั้นผมยอมรับ ผมเชื่อ นี่เรื่องเป็นเช่นนี้ เราทุกวันนี้ผมอยากจะกราบเรียนให้ท่านทราบเพราะด้วยเหตุว่า การสอนธรรมะกับชาวบ้านทุกวันนี้ อย่าเผลอนะครับ เพราะแปลผิดเอาง่ายๆ อย่างใต้เท้าบอกว่าถ้าทำใจให้ว่างแล้วงานสำเร็จน่ะ เขาเข้าใจทันทีว่าถ้าทำใจให้ว่างแล้วเงินล้าน เงินแสนจะเข้ามา คนทุกวันนี้หายใจเป็นเงินอยู่ตลอด นี่เป็นอุปสรรคของการประกาศธรรมเผยแพร่ธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งผมอยากจะกราบเรียนไว้ เพราะฉะนั้นว่าโดยทั่วไปผมไม่ได้มีความเห็นแตกต่างเลย แล้วก็ได้ฟังพระธรรมที่ท่านได้..อธิบายมาด้วยความจับใจเป็นอย่างยิ่ง อย่างลึกซึ้ง และด้วยความเข้าใจ แม้ว่าได้ตั้งแง่ข้อสังเกตต่างๆ ก็ด้วยวัตถุประสงค์ประการที่หนึ่ง อยากจะให้ท่านอธิบายให้กว้างขวางออกไปอีก ให้กระจายความออกไปอีก หรือมิฉะนั้นก็อยากจะแสดงสภาพความเป็นจริงทางด้านฆราวาส ทางด้านกิเลสตัณหา ทางด้านจิตใจของคนที่มันเป็นอยู่ทุกวันนี้ให้ท่านได้ทราบ แล้วก็ให้ท่านผู้ฟังได้ทราบ แล้วถ้าหากว่าจะมีทางแก้ไขในทางธรรมต่อไปอย่างไรก็คงจะเป็นประโยชน์ต่อไปข้างหน้า ที่ผมพูดมาก็เพื่อวัตถุประสงค์เท่านี้ ไม่ใช่เพราะมีความเห็นขัดแย้งหรือไม่ใช่เพราะอยากจะมาขัดคอพระให้บาปกรรม อันที่จริงไม่ได้ขัดคอท่านเลย และประการสุดท้าย ผมเองขอกราบเรียนด้วยความสุจริตใจ ผมไม่เคยยึดถือพระอรหันต์เลย จะเรียกว่าอรหันต์เรียกสัตบุรุษ หรือเรียกสารีบุตรเฉยๆ ก็เท่ากัน เท่านั้น ไม่เคยนึกอยากเป็นพระอรหันต์ ไม่เคยคิดจะเป็น แล้วก็ไม่เคยนึกด้วยว่าการเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นของวิเศษวิโสพึงปรารถนาอะไรทั้งนั้น ไม่เคยยึดมีอุปาทานในข้อนี้เลย เห็นจะสรุปได้เท่านั้นครับ”
ท่านพุทธทาส : “ก็คิดแปลกๆ อาตมาจะไปคิดดู ถ้ามีโอกาสพูดกันใหม่”
อาจารย์คึกฤทธิ์ : “ครับ”
ท่านพุทธทาส : “นี่เลยเวลาไปเยอะแล้ว”