แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนและท่านที่มีหน้าที่ อ่า, เป็นครูบาอาจารย์ทั้งหลาย อาตมาได้รับคำขอร้องให้บรรยายเรื่องวิธีการสอนศีลธรรมระดับมัธยมศึกษาอย่างถูกต้อง อาตมารู้สึกว่าเรื่องนี้ เอ่อ, มันไม่ใช่เรื่องเฉพาะครูบาอาจารย์ แต่มันเป็นเรื่องสำหรับคนทั่วไป โดยเฉพาะบิดามารดาที่จะต้องรู้จักสั่งสอนอบรมศีลธรรมแก่บุตรหลานของตน ดังนั้นจึงรับจะ อ่า, จะบรรยาย ถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นครูหรือว่าไม่ค่อยจะถนัดในเรื่องวิชาครู แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่วิชาเฉพาะครู มันเป็นเรื่องสำหรับพ่อแม่ทั่วไป เวลากำหนดไว้ ๑๕ นาที ๒๐ นาทีนี้ไม่พอสำหรับจะพูดเรื่องอย่างนี้ได้โดยละเอียด มันก็พูดได้แต่หัวข้อ ถ้าพูดเรื่องอย่างนี้ได้ในเวลา ๑๕ นาที มันก็เก่งกว่าใครๆ ในโลก นั้นขอให้ทราบว่าเราจะพูดกันแต่หัวข้อ
ทีนี้คำว่าอย่างถูกต้อง คล้ายๆ กับว่าที่ทำกันอยู่นั้นมันไม่ถูกต้อง อันที่จริงไม่ต้องคิดอย่างนั้น เพราะว่าไอ้ถูกต้องนี่มันมีหลายความหมาย ตามที่เล่าเรียนมาอย่างถูกต้อง มันก็ถูกต้อง ตามที่นักจิตวิทยาถือว่าถูกต้อง นักตรรกวิทยาถือว่าถูกต้อง นักปรัชญาถือว่าถูกต้อง มันก็ถูกต้องเหมือนกัน ถูกต้องตามแบบของคนที่ไปศึกษาเล่าเรียนมาจากเมืองนอกก็ได้ แต่ไม่ถูกต้องอย่างพวกเรา เดี๋ยวนี้ในธรรมะนี้ถ้าว่าถูกต้อง ก็หมายความว่ามันพิสูจน์ความมีประโยชน์ ถ้าที่ทำมาแล้วมันไม่พิสูจน์ความมีประโยชน์ มันก็ไม่ถูกต้อง คือมันยังไม่ได้รับประโยชน์ ก็จะถือว่ายังไม่ถูกต้อง ก็ต้องแก้ไขกันเรื่อยๆ ไปจนกว่าจะได้รับประโยชน์ จึงจะเรียกว่าถูกต้อง
ทีนี้ก็ว่าสำหรับเด็กหรือสำหรับระดับมัธยมศึกษา ก็คือเด็กชั้นมัธยม คำว่าเด็กระดับมัธยมนี้อยู่ที่บ้านก็ได้ คือหมายถึงเด็กในระดับหนึ่ง อายุ เอ่อ, ระยะหนึ่ง จะอยู่ที่โรงเรียนก็ได้ อยู่ที่บ้านก็ได้ เรียกว่าระดับมัธยมศึกษา แม้ไม่เข้าโรงเรียน เรียนอยู่ที่บ้านหรือเป็นอยู่ตามประสาชาวบ้าน ถ้าอายุอานามของเขาอยู่ในระดับนั้น ก็จะรวมเรียกว่ามัธยมศึกษา แต่ความสำคัญมันอยู่ที่ตรงไหนนี่ ไม่ใช่อยู่ที่ปีของอายุ หรือว่าอยู่ที่ปีของชั้นที่เรียน แต่มันอยู่ที่ระดับจิตใจมากกว่า จนเดี๋ยวนี้เราพูดได้ว่าจิตใจ อ่า, ของเด็กเปลี่ยนไปตามระดับเป็นระดับระดับ
ลูกเด็กๆ เล็กๆ ได้รับคำสั่งสอนใหม่ๆ นี้เชื่อฟังที่สุด เคารพกลัวเกรงบิดามารดาครูบาอาจารย์ที่สุด กลัวบาปที่สุด ต้องการบุญที่สุด นี่กลับมาอยู่ที่เด็กเล็กๆ ระดับเด็กอนุบาล ท่านสังเกตเถิด เด็กเล็กๆ ระดับอนุบาลนั่นแหละพูด อ่า, สอนง่าย ว่าง่าย กลัวบาป เชื่อฟัง เคารพนบนอบ อ่า, เดินก้มหลัง
ทีนี้เด็กอนุบาลโตขึ้นไปเรียนชั้นประถม ไอ้ความสุภาพเรียบร้อยเชื่อฟังครูบาอาจารย์นั้น เหลือครึ่งเดียวแหละ พอไปถึงเด็กระดับประถมแล้วก็ ไอ้ความเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตัวเป็นต้นนั้น เหลือครึ่งเดียว เรื่องกลัวบาปรักบุญก็เหลือครึ่งเดียวแล้ว
เรียนชั้นประถมเรื่อยๆ ไป พอถึงชั้นมัธยม จะไม่มีอะไรเหลือแล้ว เป็นลิงเป็นค่างไปแล้ว ไม่มีคำว่าบาปว่าบุญ ไม่ค่อยอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ค่อยเคารพ อ่า,กลัวเกรงบิดามารดาครูบาอาจารย์นั่น นั่นเด็กระดับมัธยมคือสภาพอย่างนั้น
ทีพอถึงระดับอุดม เป็นนักศึกษาแล้ว หมดเลย ไม่มีอะไรเหลือ ยิ่งที่อุดมศึกษามาแต่เมืองนอกเมืองนาด้วยแล้ว จะยิ่งหนักขึ้นไปอีก ไม่มีอะไรเหลือ
นี่คำว่าเด็กอนุบาล ประถม มัธยม อุดมน่ะ เอากันที่จิตใจนั่น อย่าไปเอากันที่ปีที่มันเล่าเรียน หรือโรงเรียนที่มันนั่งเรียนอยู่ เอาที่จิตใจ เด็กมัธยมคือเด็กที่กำลังหมด อะไรๆ ที่ได้อบรมศึกษากันมาแต่อ้อนแต่ออกระดับอนุบาล นั้นเด็กระดับมัธยมคือเด็กที่กำลังหมด หรือเกือบจะหมดความอ่อนน้อมถ่อมตน ขนบธรรมเนียมประเพณี เชื่อฟัง อ่า, รักบุญกลัวบาป นี่มันกำลังจะหมดหรือหมดนั่น นั่นน่ะคือเด็กมัธยม ที่ระดับมัธยมอย่างนี้จะสอนให้เขามีศีลธรรมอย่างไร นี่เป็นปัญหา
สอนศีลธรรม ทีนี้ก็มาถึงคำว่าสอนศีลธรรม ขอแยกว่าเป็นศีลธรรมกับเป็นจริยธรรม ศีลธรรม สอนศีลธรรมให้รู้ จริยธรรมนี่ สอนให้ประพฤติ เรียกรวมๆ กันว่า จริยศาสตร์ คือเรื่องของสิ่งที่ต้องประพฤติ แล้วก็สอนส่วนที่ควรประพฤติ นี่เป็นศีลธรรม ที่สอนให้รู้เหตุผลว่าทำไมจึงๆๆๆต้องประพฤติ นี้เป็นปรัชญาของศีลธรรม ซึ่งมักจะเรียกกันว่า อ่า, จริยศึกษา แต่ขอให้สังเกตดูให้ดีว่ามันมีอยู่ ๒ ชนิดนะ อ่า, สอนให้รู้ให้จำได้ชนิดหนึ่ง อ่า, สอนให้เข้าใจ รู้สึกประทับใจ เปลี่ยนจิตใจอยากจะปฏิบัติ อันนี้มันอีกๆๆชัดอีกชนิดหนึ่ง เราจะเรียกแยกกันเสียก็ได้ว่าพุทธิศึกษา สอนให้รู้ให้จำได้ จริยศึกษาสอนให้รู้สึกด้วยจิตใจจนต้องปฏิบัติ ทนอยู่ไม่ได้ มันต่างกันมากทีเดียว
เอ่อ, พุทธิศึกษาเล่าให้ฟัง บอกให้ฟัง ให้จำได้ ให้ท่อง แต่มันก็ไม่อยากปฏิบัติน่ะ มันจดไว้ในสมุด หรือไม่เท่าไหร่มันก็ลืม ถ้าจู้จี้นักมันก็ไม่เอาแล้ว สอนให้รู้เรื่องศีล ๕ มันก็ชักจะสั่นหัวอยู่แล้ว พอไปแจกองค์ศีลให้ฟังโดยละเอียดมันหลับเลย นี่พุทธิศึกษา อ่า, มันจึงไม่สำเร็จประโยชน์ รวมความว่าไปฝืนให้เขาเรียนให้เขาจำ ยังไม่เกิดความอยากที่จะปฏิบัติ
ทีนี้พอมาถึงจริยศึกษา เราจะไม่อัดด้วยวิชาอย่างวิธีนั้น เราจะปลุกความรู้สึกในจิตใจขึ้นมาขึ้นมา ด้วยการถาม ถามจนเขาเข้าใจ ไม่ต้องท่อง ไม่ต้องท่องก็ได้ ให้เข้าใจรู้สึกอยากจะปฏิบัติขึ้นมาเอง
พุทธิศึกษาสอนให้รู้เรื่องพระสิทธัตถะ แต่จริยศึกษาสอนให้อยากปฏิบัติตามพระสิทธัตถะ มันคนละเรื่อง นี่ยกตัวอย่าง ไม่ใช่ว่า อ่า, ถามน่ะหมายความว่าจูงใจด้วยคำถาม ถ้าเราไปบอกเขาว่าแม่มีคุณอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนั้นอย่างนี้ บอกเรื่อยบอกเรื่อย มันก็พอจะจำได้ แล้วมันก็ลืม แล้วมันก็ไม่ซึ้งลงไปในหัวใจ นี่พุทธิศึกษามันด้านอยู่เพียงเท่านี้ ทีนี้จริยศึกษา ถามชนิดที่ปลุกความรู้สึก เช่นถามว่า นี่แกมาจากไหน เกิดมาจากโพรงไม้ไหม เด็กก็ต้องรู้สึกว่าเกิดมาจากพ่อแม่ มันก็รู้สึกในใจว่าเกิดมาจากพ่อแม่ ชีวิตของแกนี่แบ่งมาจากใคร เด็กก็ค่อยนึกได้ว่าแบ่งมาจากพ่อแม่ แล้วมันรู้สึก เลือดเนื้อของแกแบ่งมาจากใคร เด็กก็รู้สึกว่าแบ่งมาจากพ่อแม่ นี่มันรู้สึกในจิตใจแล้ว จิตใจมันเปลี่ยน กินนมของแม่ แม่เอานมมาจากไหน เด็กตัวเล็กๆที่นี่ เคยถาม มันตอบถูกว่ามาจากเลือดของแม่ เด็กรู้สึกขึ้นมาในใจว่าเรากินเลือดของแม่
ถามอย่างเดียวไม่บอก ออมสินไหนเบิกเงินได้เรื่อยโดยไม่ต้องฝาก นึกอยู่เดี๋ยว เอ้า แม่ แม่ ในโลกนี้ ใครรักเรามากที่สุด ใครรักเรามากยิ่งกว่าเรารักเราเสียอีกนะ เขาก็รู้ว่าแม่พ่อ แม่พ่อรักเรายิ่งกว่าที่เรารักเราเสียอีก แม่พ่อเป็นผู้ที่รักเรายิ่งกว่าใครๆ ในโลก นี่ถามอย่างเดียวไม่เคยบอกกัน ยกตัวอย่างชั้นอนุบาล ถามอย่างนี้ เด็กเขาจะรู้สึก มีความรู้สึกที่ถูกปลุกขึ้นมา แล้วให้รู้ว่าพ่อแม่คืออะไร บางทียังนั่งน้ำตาไหลอยู่ตรงนั้นเลย แล้วก็ยินดีที่จะรัก จะเคารพนับถือ เชื่อฟังพ่อแม่อย่างสุดชีวิตจิตใจ ทำอย่างนี้เรียกว่าจริยศึกษา คือปลุกความรู้สึกด้วยคำถาม ถ้าไปบอกๆๆ มัน เดี๋ยวมันก็ลืม มันสวดบทสวดมนต์ มาตาปิตุปัตตานัง ก็ตามใจเถอะ เดี๋ยวมันก็ลืม เพราะมันไม่ได้ปลุกความรู้สึก
นั้นจริยศึกษาหมายถึงปลุกความรู้สึกขึ้นมา รู้สึกรุนแรง รุนแรง รุนแรง จนทนกันไม่ได้ ต้องทำ พุทธิศึกษา นั่นก็อัดเข้าไปด้วยการบอกและการให้จด ไม่ปลุกความรู้สึก มันจึงไม่สำเร็จประโยชน์ ถ้าเราไม่ทำให้ถึงระดับจริยศึกษาโดยแท้จริง นี่เราสอนศีลธรรมอย่างพุทธิศึกษา นี่อย่างที่สอนกันอยู่ มันก็ตายด้านอยู่นั่นแหละ ถ้าสอนอย่างจริยศึกษา ปลุกความรู้สึกแล้วจะได้ผลมหาศาล แต่มันขึ้นอยู่กับครูหายาก ครูนกขุนแก้วนกขุนทองนี้มันหาง่าย แต่ครูที่จะปลุก เอ่อ, ความรู้สึกนี้มันหายาก เพราะครูเองก็ยังไม่รู้สึก แล้วจะปลุกได้อย่างไร
ทีนี้ก็จะดูแนวหัวข้อของศีลธรรม จริยธรรมที่เราจะปลุก แนวของศีลธรรมที่จะปลุกด้วยคำถามตะพึด ไม่บอก ไม่บอก ไม่บอกให้ท่อง ไม่บอกให้จดน่ะ ถามตะพึด ถาม อ่า, ทุกอย่างแวดล้อมเข้าไป แวดล้อมเข้าไปจนเด็กรู้จักตัวเอง เด็กรู้จักตัวเอง ต้อนไปต้อนมาจนเด็กรู้จักตัวเอง ว่าเขาคือใคร มนุษย์นี่คืออะไร เกิดมาทำไม มนุษย์ อ่า, ควรจะได้อะไร กระทั่งรู้สึกว่าเขาไม่ควรประทุษร้ายใครเมื่อเขาเป็นมนุษย์ เด็กจะรู้สึกเองว่าเขาไม่ควรประทุษร้ายใครโดยหลักศีล ๕ นี่ ไม่ประพฤติไม่ประทุษร้ายชีวิตร่างกายของใคร ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของใคร ไม่ประทุษร้าย เอ่อ, ของรักของใคร ไม่ประทุษร้ายสิทธิอันชอบธรรมของใคร ไม่ประทุษสติปัญญาของตัวเองด้วยการดื่มน้ำเมา เป็นต้น เขาจะรู้สึกขึ้นในใจ จนรู้จักตัวเองว่าเขาไม่ควรทำอย่างนี้ ถ้าเด็กระดับมัธยมศึกษาสามารถที่จะคิดนึกได้ รู้สึกได้ตามการปลุกของครูผู้ปลุก เขาจะรู้จักตัวเองน่ะ ความเป็นมนุษย์ของเขาเองดี จนเขาสามารถใช้รู้จักผู้อื่นได้ด้วย ว่าตัวเราเป็นอย่างไร ผู้อื่นมันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น ดังนั้นในชั้นแรก เด็กคนนั้นจะต้องรู้จักตัวเองเสียก่อน แล้วจะได้รู้จักผู้อื่นว่าเขาก็ควรจะเป็นอย่างนั้น นี่เราเรียกว่ารู้จักตัวเองเป็นข้อที่ ๑ ด้วยการปลุกความรู้สึกตามวิธีถามอย่างเดียว
ทีนี้ข้อที่ ๒ ให้เขาเคารพตัวเอง ถ้าเขารู้จักตัวเองโดยนัยยะอย่างที่ว่ามา ไม่ต้องวุ่นวายน่ะ เขาจะนึกนึกเคารพตัวเองขึ้นมา เคารพตัวเองว่าเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราก็ไม่ด้อยกว่าใคร เอ่อ, ใครเขาทำอะไรได้ เราก็ต้องทำได้อย่างนั้น นี้เรียกว่าความเคารพตัวเอง เด็กคนนั้นมันเคารพตัวเองได้อย่างนี้แล้ว มันก็จะเคารพผู้อื่นได้แน่นอน โดยที่รู้ว่าคนอื่นก็เหมือนกับเราแหละ เขาก็ต้องทำเหมือนเรา แล้วเขาก็พยายามอยู่อย่างเรา เพราะนั้นเราก็ควรจะรพเคารพเขา ในฐานะเป็นมนุษย์คนหนึ่งด้วยเหมือนกัน จึงไม่ดูหมิ่นดูถูกผู้อื่น เพราะว่าเขาเคารพตัวเองอย่างไร แล้วก็จะนึกเคารพผู้อื่นอย่างนั้น นี่เป็นแนวของศีลธรรม จริยธรรม
ข้อที่ ๒ เรียกว่า เคารพตัวเอง ทุกคนนับถือตัวเอง ไม่ปล่อยให้ตัวเองเลว ด้วยการปลุกความรู้สึกโดยถามอย่างเดียว อาจจะเป็นคำถาม ๒๐ ข้อ ๓๐ ข้อ หรือ ๕๐ ข้อก็ได้จนกว่ามันจะพอ แต่ว่าคนโง่ไม่สามารถจะตั้งคำถามเหล่านี้ได้ ต้องเป็นบิดามารดาครูบาอาจารย์ที่ฉลาด จึงจะตั้งคำถามแวดล้อมจนเด็กมันรู้สึกขึ้นมาในจิตใจ แล้วเคารพตัวเอง เป็นเหตุให้เลยไปถึงเคารพผู้อื่น
ทีนี้ก็ ต่อไปเป็นข้อที่ ๓ ของจริยธรรมก็ว่า เชื่อตัวเอง เชื่อตัวเอง ในเมื่อผู้อื่นทำได้ เราต้องทำได้ เราต้องอบรมตัวเองได้ เชื่อว่าเราสร้างสมรรถภาพให้แก่ตัวเราได้ เชื่อตัวเอง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลยว่าเราต้องทำได้ เด็กๆ มักจะไม่ค่อยเชื่อตัวเอง ต้องๆการให้ยุ ให้ๆกำลังใจ ให้อะไรอยู่มาก เมื่อขาดสิ่งเหล่านั้น มันก็ล้มเหลวหมด เหมือนกับเด็กที่ไม่ได้เจริญขึ้นมาในครอบครัว ที่มีการส่งเสริมดูแลเลี้ยงดูอย่างดี เดี๋ยวนี้เราจะมีหลักว่า เราจะปลุกด้วยคำถาม จนให้เขารู้สึกเชื่อตัวเอง ถ้าไม่ถูกปลุกอย่างนี้ ก็ยากนักที่ว่าเด็กเขาจะเชื่อมั่นในตัวเอง ความคิดที่จะพึ่งผู้อื่นนั้นมันเป็นสัญชาติญาณ มันเป็นง่าย ที่เชื่อตัวเอง ยืนอยู่บนขาของตัวเอง นี้มันไม่ใช่สัญชาติญาณ มันต้องปลุก เราจะต้องถามๆๆ จนเขารู้สึกเชื่อตัวเอง เป็นไอ้หัวข้อที่ ๓
หัวข้อที่ ๔ เราจะถามๆ เอ่อ, เขารู้จักบังคับตัวเอง บังคับตัวเอง ถ้าไม่บังคับตัวเองจะเป็นอย่างไรถามเขาดูเถอะ ให้เขานึก เขาก็ต้องจะพอมองเห็นว่า ถ้าลองบังคับตัวเองแล้ว จะทำชนิดที่ใช้ไม่ได้ กระทำที่เลว ถ้าเราไม่บังคับตัวเอง มันดีหรือไม่ดี ถ้าเราไม่บังคับจิตกิริยาวาจาของเราแล้ว มันจะกระทบกระเทือนถึงใคร ให้เขาดูรูปเด็กอันธพาลทั้งหลายในหน้าหนังสือพิมพ์แต่ละวันละวันนั้นน่ะ ทำไมมันจึงทำอย่างนั้น เพราะมันไม่บังคับตัวเอง อ่า, ใช่ไหม บังคับตัวเองคือบังคับอะไร ก็คือบังคับจิตในข้อแรก เมื่อบังคับจิตได้ก็บังคับกายวาจาได้ และในที่สุดเมื่อเขาสามารถบังคับตัวเองได้ เขาก็จะสามารถบังคับผู้อื่นได้ โตขึ้นเขาก็เป็นผู้บังคับบัญชาผู้อื่นที่ดี แต่เขาจะต้องบังคับตัวเองได้เสียก่อน เขาจึงจะบังคับผู้อื่นได้ นั่นแหละขอให้กำหนดไว้ให้ๆแน่นอน นั้นก็เป็นอันว่า อ่า, มีการบังคับตัวเองเป็นหัวข้อศีลธรรมข้อที่ ๔
นี้มาถึงข้อที่ ๕ พอใจตัวเอง รักตัวเอง พอใจตัวเอง ขอให้รู้กันเป็นหลักโดยกฎของธรรมชาติว่าไอ้ความสุขนี้น่ะ มันเกิดมาจากความพอใจ ถ้ามีอะไรพอใจ คนเราจะรู้สึกเป็นสุข ถ้าสิ่งนั้นเป็นของดี พอใจในสิ่งดี ความสุขก็ดีและถูกต้อง ถ้าสิ่งไม่พอใจนั้นเป็นเรื่องเลวอันธพาล มันก็พอใจอันธพาล เป็นความสุขของอันธพาล แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ทิ้งกฎที่ว่า เอ่อ, ความสุขต้องมาจากความพอใจ ทุกคนอยู่ด้วยความพอใจมิฉะนั้นจะเหี่ยวแห้ง ไม่ใช่ว่าเรามีข้าวกิน มีเครื่องนุ่งห่ม มีบ้านอยู่อาศัย มียารักษาโรคแล้วจะเป็นสุข ไม่ๆๆพอ นั้นมันส่วนร่างกาย ส่วนจิตใจ เขาต้องมีความพอใจ มีสิ่งอะไรที่ประเล้าประโลมใจ รู้สึกพอใจ เป็นเรื่องที่ ๕ ปัจจัย ๔ น่ะมันเรื่องทางกาย ปัจจัยที่ ๕ นั้นเป็นเรื่องทางจิต ต้องมีด้วย คนเราจึงจะมีความสุข ท่านทั้งหลายไปสังเกตดูตัวเองก็แล้วกัน ว่าเรามีข้าวกิน มีเครื่องนุ่งห่ม มีที่อยู่ มียารักษาโรค แล้วมันมีความสุขทางใจไหม มันยัง มันยังต้องมีจิตที่พอใจอยู่ด้วยชีวิตของตน จึงจะมีความ อ่า, ปกติสุขอยู่ได้ คือจิตต้องมีสิ่งประเล้าประโลมใจ ให้เป็นที่พอใจอยู่เสมอ ถ้าสิ่งประเล้าประโลมใจผิด ก็เป็นความพอใจผิด เป็นสุขที่ผิด ถ้าสิ่งที่มาประเล้าประโลมใจเป็นของดี ของถูก ความพอใจก็ถูก ความสุขก็ถูก เราจึงมีความสุขอยู่ได้ด้วยความพอใจที่ถูกต้อง ดังนั้นเขาจึงต้องทำให้มันถูกต้องมาตามลำดับ
เมื่อเด็กคนไหนก็ตามน่ะ มันมีสิ่งพอใจชนิดนี้อยู่แล้ว มันอิ่มด้วยความพอใจ เป็นสุขอยู่แล้ว มันก็ไม่ต้องไปหาสิ่งเสพติดเช่นเฮโรอีนเพื่อหาความสุข เป็นต้น เดี๋ยวนี้มันหาความสุขไม่ได้เสียเลยในครอบครัวนั้น มันต้องไปแสวงหาความสุขอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่จะหาได้ จึงไปแสวงหาความสุขจากการเสพเฮโรอีนเป็นต้น ขอให้ท่านคิดดูว่ามันจะเป็นอย่างไร มันทนอยู่ไม่ได้ ต้องหาสิ่งประเล้าประโลมใจที่รู้สึกเป็นสุข เมื่อหาอย่างดีไม่ได้ ก็ต้องไปหาตามที่มันจะมีได้ นั้นเด็กนักเรียนทั้งหลายจึงเฮไปหาสิ่งเสพติด เป็นปัญหากันทั้งโลก เพราะว่าบิดามารดาครูบาอาจารย์ไม่รู้จักแสวงหาสิ่งที่เป็นสุขแก่จิตใจ เป็นเครื่องประเล้าประโลมใจให้แก่เด็กๆ เหล่านั้นเอง ดังนั้นจึงถือเอา เอ่อ, ความพอใจตัวเอง รักตัวเอง เป็นความสุขอยู่ได้ในตัวเองนี้เป็นศีลธรรมข้อสุดท้าย คือข้อที่ ๕
เรา เอ่อ, จะมีหลักอบรมศีลธรรมและจริยธรรมด้วยการปลุกความรู้สึก ๕ ข้ออย่างที่ว่ามานี้ รู้จักตัวเอง แล้วก็เคารพตัวเอง แล้วก็เชื่อตัวเอง แล้วก็บังคับตัวเอง แล้วก็พอใจตัวเอง ความรู้สึกเหล่านี้ เอ่อ, ต้องปลุกขึ้นมาด้วยวิธีที่ฉลาด ไม่ใช่บอกๆๆๆ แล้วมันจะมีได้ ไม่ใช่มันจดๆๆ ไว้ในสมุดแล้ว มันจะมีได้ มันมีไม่ได้ ต้องปลุกด้วยวิธีที่ถูกต้อง แล้ววิธีที่ถูกต้องคือคำถามที่ฉลาดถามให้เกิดความรู้สึกเหล่านี้ ใน อ่า, เรื่องจริยธรรมสากลมันก็มีถ้อยคำเหล่านี้ รู้จักตัวเองเป็น self knowledge เคารพตัวเองเป็น self respect เชื่อตัวเองเป็น self confidence บังคับตัวเองเป็น self control พอใจตัวเองเป็น self contentment เขาก็มีอยู่ในหลักจริยธรรมสากล มันออกมาจากกฎของธรรมชาติ อ่า, ที่มีอยู่จริง ต้องเป็นอย่างนี้จริง จึงจะถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา แล้วเราก็จะได้สิ่งที่เราต้องการ
และเวลาที่กำหนดน่าจะหมดแล้ว จะพูดต่อไปสักนิดว่า พ่อแม่ก็คือครู พ่อแม่ก็คือครู ครูก็คือพ่อแม่ ในบาลีเขาจัดพ่อแม่ไว้เป็นครูคนแรกเรียกว่าบุพพาจารย์ บุพจริยา อ่า, พ่อแม่ก็ดี ครูก็ดีต้องรับผิดชอบในการที่จะนำบุตรหลานไป พ่อแม่ก็ต้องอบรมลูกทำนองเดียวกับครู ให้ลูกมีหลักเกณฑ์ ๕ ข้อที่ว่ามาแล้วนี่ตั้งแต่ต้นมาทีเดียว ตั้งแต่ต้น ตั้งยังเป็นเด็กเล็กๆ นี่ก็รู้จักตัวเอง เคารพตัวเอง เชื่อตัวเอง บังคับตัวเอง พอใจตัวเองไปตามภาษาเด็กชั้นอนุบาล พอถึงชั้นประถมก็ขยายไอ้ ๕ ข้อนี้สูงขึ้นมา พอถึงชั้นมัธยมก็ขยายไอ้ ๕ ข้อนี้ขึ้นมา ถึงชั้นอุดมก็ทำให้มันเต็มที่ อย่าให้หายไปหมด เหมือนที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน เราทำให้เขารู้จักตัวเอง เคารพตัวเอง เชื่อตัวเอง บังคับตัวเอง พอใจตัวเองอยู่อย่างคงเส้นคงวา สม่ำเสมอตั้งแต่ชั้นอนุบาล ชั้นประถม ชั้นมัธยม และชั้นอุดม คือตลอดเวลาที่ยังเป็นยุวชนน่ะ ตั้งแต่แรกเกิดมาจนถึงกว่าจะเป็นหนุ่มสาวเต็มที่ นับเป็นบทเรียนที่ใช้ได้ตรงกันทั้งที่บ้าน อ่า, ทั้งที่โรงเรียนน่ะ ที่โรงเรียนก็ใช้หลักนี้ ที่บ้านก็ใช้หลักนี้ เพราะว่าบ้านก็คือโรงเรียน เมื่อทำกันตรงดีทั้งที่บ้านทั้งที่โรงเรียน เด็กก็ไม่ไปไหนเสียล่ะ นี่ครูโยนไปบ้าน บ้านโยนมาหาครู บ้านโยนไปโรงเรียน โรงเรียนโยนไปบ้าน อ้างกันว่าอยู่ที่บ้านมากอยู่ที่โรงเรียนน้อยอย่างนี้ไม่ถูก เพราะว่าถ้าเราทำตรงกันหมดทั้งที่บ้านและทั้งที่โรงเรียนแล้วเด็กมันจะไปไหนล่ะ มันก็ต้องได้รับการอบรมดี อ่า, เต็มที่
เอาละ เวลาหมดแล้ว ขอสรุปความว่า พุทธิศึกษาคือการบอก การสอน การทำให้รู้ แล้วก็ท่องจำ จริยศึกษานั้นปลุกความรู้สึกให้เกิดขึ้นด้วยคำถามที่ดี ให้เขาเกิดความเข้าใจ ให้เขาเกิดความรู้สึกขึ้นมาเองว่า นี่เป็นสิ่งที่เราต้องทำ เขาก็ทำ เรื่องมันจึงต่างกันมาก อันหนึ่งเก็บไว้ในความจำหรือในสมุด อันหนึ่งอยู่ที่การปฏิบัติ อยู่ที่เนื้อที่ตัวที่กายที่วาจา ใช้พร้อมๆ กันไปทั้ง ๒ อย่าง แต่ประโยชน์ที่สำเร็จนั้นอยู่ที่จริยศึกษา คือการปลุกความรู้สึกให้รู้สึกขึ้นมาในใจ เข้าใจ พอใจ ยินดีจะปฏิบัติตาม จนอยากปฏิบัติตาม ทนอยู่ไม่ได้ก็เลยปฏิบัติตาม เช่นเราสอนพุทธประวัติอย่างนี้ เราสอนกันแต่เพียงให้รู้เรื่องของพระสิทธัตถะ แต่ถ้าเรามีวิธีกระทำอย่างอื่นน่ะ วิธีจริยศึกษานี่ เราจะปลุกความรู้สึก จนเขารักพระสิทธัตถะ จนเขาอยากจะทำตามพระสิทธัตถะ นั้นแหละคือสำเร็จประโยชน์ เพียงแต่ให้รู้เรื่องพระสิทธัตถะนี้ ยังไม่สำเร็จประโยชน์ตามที่เรียกว่าถูกต้องหรือเต็มที่ เราต้องปลุกความรู้สึกจนเขารักพระสิทธัตถะเป็นชีวิตจิตใจ และอยากจะทำตามพระสิทธัตถะเป็นชีวิตจิตใจ เรียกว่าเราสำเร็จในความประสงค์ข้อที่ว่าจะอบรมเด็กให้มีจริยธรรม มีศีลธรรมได้เต็มที่
เวลาหมดแล้ว ขอยุติการบรรยายไว้เพียงเท่านี้ หวังว่าท่านทั้งหลายจะนำไปคิดนึก ศึกษาพิจารณาดูให้ดีๆ แล้วใช้สำเร็จประโยชน์ตามนี้ได้ด้วยกันทุกคน