แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ภาพเหล่านี้เป็นภาพของศิลปินคนหนึ่งที่มีชื่อว่าเชอร์แมน เอ็มมานูเอล เชอร์แมน (Emanuel Sherman) เป็นอเมริกันบอร์น (American-born) เป็นยิวที่เกิดในอเมริกา ศึกษาพุทธศาสนาแล้ว เขาอยากจะเผยแผ่ธรรมะที่เขาศึกษาโดยวิธีที่เขาชอบ คือเผยแผ่ด้วยรูปภาพ เพราะเขาเป็นศิลปิน เขาจึงเขียนภาพเหล่านี้ขึ้น แล้วก็นำลงแกะในไม้เป็นแม่พิมพ์ไม้ อัดออกมาเป็นรูปภาพแจกกันไปทั่วๆ ภาพเหล่านี้เป็นตัวอย่างแห่งภาพที่กล่าวนั้น เราไม่ได้รับมาทั้งหมด แต่ที่เราได้รับมานี้มีอยู่ ๑๔ ภาพ ดังที่จะได้แสดงไปทีละภาพตามลำดับ
ภาพแรกเรียกว่า ภาพพระองค์อยู่หลังม่าน เป็นภาพล้อคนโง่ มีม่านคืออวิชชาปิดบังหนาแน่นหมด จนมองไม่เห็นพระพุทธองค์ ทีนี้คำด่านี้ก็มีว่า เพียงแต่ท่านแหวกม่านออกไปข้างๆ เสียสักศอกหนึ่งเท่านั้น ก็จะพบว่า อ้าว, พระองค์อยู่ที่นี่ ข้อนี้ก็ได้แก่พวกเราตามธรรมดาสามัญทั่วไปทุกคนที่ยังเป็นปุถุชน มีม่านคืออวิชชาบังอยู่ข้างหน้า ถ้าสามารถแหวกม่านนั้นไปเสียข้างใดข้างหนึ่งสักศอกเดียวก็จะพบว่า อ้าว,พระองค์นั่งอยู่ที่ตรงนี้ หมายความว่า พอเราละอวิชชาได้บ้างเท่านั้นแหละ จะเริ่มรู้จักพระพุทธศาสนา หลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ว่าจะดับทุกข์ได้อย่างไร แล้วเขาก็ค่อยๆ รู้ต่อไปปฏิบัติต่อไปจนกระทั่งจบ เดี๋ยวนี้เป็นการเริ่มต้น เป็นการเห็นในขั้นต้น ซึ่งจะเปรียบเทียบกันได้กับการเห็นธรรมในขั้นต้นที่เรียกว่าธรรมจักษุ ก็ได้เหมือนกัน ขอให้ท่านทั้งหลายเตรียมตัวกระทำแก่ตนเองให้เข้ารูปเข้ารอยกับรูปภาพรูปนี้ว่า เพียงแต่ท่านแหวกม่านแห่งความโง่ของท่านไปข้างๆ เสียสักศอกหนึ่งเท่านั้น ก็จะพบว่า อ้าว,พระพุทธองค์ทรงอยู่ที่ตรงนี้เอง ความหมายพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า อย่าไปเที่ยวหาพระพุทธองค์ข้างนอก เมืองนั้น เมืองนี้ ที่นั่น ที่นี่ วัดนั้น วัดนี้ โบสถ์นั้น โบสถ์นี้เลย จงหันเข้าไปข้างใน จัดการกับความไม่รู้ ให้พอเริ่มรู้ เริ่มมาถึงขนาดที่เรียกว่ามีธรรมจักษุ เห็นลู่ทางแห่งความดับทุกข์ว่าจะดับทุกข์ได้อย่างไร นี่ชื่อว่าเห็นพระพุทธองค์เป็นครั้งแรก ด้วยการแหวกม่านแห่งความโง่ของตัวเองไปข้างๆ เสียสักศอกหนึ่งเท่านั้น
ภาพนี้เรียกว่า ภาพอาบน้ำ ได้ยินมาว่าผู้เขียน เขียนเลียนแบบหรืออะไรก็พูดยาก คล้ายๆ จะล้อเลียนก็ไม่เชิง เอาอย่างก็ไม่ใช่ ต่อภาพเขียนภาพหนึ่งของนักเขียนเอกในโลก คือปิกัสโซ่ ซึ่งว่ากันว่าภาพอาบน้ำของปิกัสโซ่นั้นขายได้ถึง ๗๐๐,๐๐๐ เหรียญ ปิกัสโซ่ก็เขียนรูปอาบน้ำในความหมายของการอาบน้ำ ในแง่ของศิลปะตามแบบตะวันตก แต่ศิลปินที่เป็นพุทธบริษัทคนนี้จำลองมาในฐานะจะให้มีความหมายเป็นการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาเพื่อชำระชะล้างกิเลส ใจความสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่า การอาบน้ำ การถูขี้ไคล การอะไรนี้ มันไม่น่าดู ถ้าดูในภาพนี้ จะเห็นว่ามันไม่น่าดู แต่ครั้นอาบเสร็จแล้ว เสร็จการอาบน้ำแล้ว มันน่าดู มันสวยงามและมันสบายด้วย เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการที่จะต้องทำสิ่งที่ดูแล้วไม่น่าดู ซึ่งเป็นการกระทำด้วยเจตนาดี เพื่อจะชำระชะล้างสิ่งสกปรก
น้ำในที่นี้ก็เหมือนธรรมะ อาบแล้วก็ชะล้างกิเลส ได้ความสะอาดและได้ความสุข ตอนอาบนั้นไม่น่าดู จนต้องอาบในห้องน้ำมิดชิด แต่ครั้นอาบเสร็จแล้ว เป็นผลออกมาแล้ว ก็แสดงแก่ใครๆ ก็ได้ อาบน้ำธรรมดาก็ชำระเหงื่อไคลที่เนื้อที่ตัว อาบน้ำธรรมะก็เพื่อชำระกิเลส ชำระกิเลส ซึ่งเป็นของสกปรกแก่จิตใจ เราจะต้องอาบทั้งสองอย่าง ตามธรรมดาคนทั่วไปก็อาบน้ำทางร่างกายนี้อาบกันอยู่ แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ยังอาบ แต่ส่วนการอาบในทางจิตใจนั้น จะทำได้แต่มนุษย์ผู้มีสติปัญญา ขอให้ได้ทำการอาบทั้งสองความหมายโดยทั่วๆ กันทุกคนเถิด ข้อความเหล่านี้สรุปได้เป็นคำกลอน ซึ่งจะอ่านให้ท่านทั้งหลายฟังว่า
อาบอะไร ล้างกันใหญ่ ดูให้ดี ดูอาบกัน เต็มที่ ไม่มีเฉย
ไม่น่าดู นั่นแหละดู ให้ดีเอย ขอเฉลย อรรถอ้าง ล้างตัวกู
อาบที่หนึ่ง นั้นล้าง ส่วนร่างกาย ย่อมทำได้ โดยขยัน หมั่นเช็ดถู
ภาพพวกเซน อาบเป็น ตัวอย่างดู ล้างตัวกู กันอย่างหนัก ด้วยรักทำ
อาบที่สอง จองล้าง ไล่กิเลส ที่เป็นเหตุ เผลอไพล่ ไถลถลำ
เที่ยวยึดนั่น ยึดนี่ ที่กอบกำ เอามาทำ เป็นตัวกู และของกู
เอาน้ำ คือธรรมะ เข้าชะล้าง ให้สว่าง สะอาดสิ้น สงบอยู่
อะไรมา ไม่ยึดมั่น ไม่ขันคู สิ้นตัวกู เป็นวิมุตติ ดีสุดดี
ยามอาบล้าง ท่าทาง ไม่น่าดู อาบเสร็จแล้ว สวยหรู ชูศักดิ์ศรี
ยามชะล้าง แสนยาก ลำบากมี ลุถึงที่ สุขล้วน ชวนชมเอย ฯ
คำสำคัญมีอยู่บางคำ เช่น คำว่าล้างตัวกู นี่ภาษาธรรมดาก็ล้างร่างกายให้สะอาด แต่ภาษาธรรมะนั้น หมายถึงล้างกิเลสที่เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู คือล้างอวิชชาอุปาทานออกไปเสีย มันก็จะเป็นการอาบชั้นสูง,ลึก ซึ่งเป็นเรื่องภายใน น้ำในที่นี้ในความหมายทางธรรมนี้ก็คือตัวธรรมะนั่นเอง เอาธรรมะมาเป็นเครื่องอาบแล้วก็จะสะอาด สว่าง สงบ คำที่ว่าไม่ขันคูนั้น อะไรมาไม่ยึดมั่น ไม่ขันคู ในที่นี้มีความจำเป็นจึงใช้คำว่าขันหรือคู เป็นกิริยาของนกเขา ขันคือเรียกหา คูก็คือขู่ตะคอก นกเขามีอาการขันและคู ผู้ที่หมดความยึดมั่นแล้วไม่มีอาการขันหรือคู ไม่เรียกหาและไม่ขู่ตะคอกสิ่งใดๆ โปรดเข้าใจตามนี้ด้วย
ภาพนี้เรียกว่า ภาพอยู่ในปากงู หรืออยู่ให้เหมือนลิ้นงูอยู่ในปากงู ท่านจงดูให้ทั่วก่อน จงดูเป็นพิเศษ จ้องดูที่ภาพลูกตา ภาพลูกตา,ในลูกตามีคนพนมมืออยู่ หมายความว่าคนนี้มันรู้จักใช้ประโยชน์แก่ลูกตา แล้วก็ดูให้ดีเป็นพิเศษตรงที่คนที่นั่งอยู่ในปากงูบนดอกบัวแล้วก็ไม่ถูกเขี้ยวงู แล้วที่มุมขวาข้างล่างนั่นมีภาพคนนั้น เป็นภาพศิลปินผู้นี้ที่เรียกกันว่าเชอร์แมน อ้าว,ทีนี้ก็ดูเรื่องราวต่อไปว่า ถ้ามีลูกตาก็ควรจะมองเห็น มีลูกตาชนิดที่มองเห็นความเป็นจริงในโลกจนสามารถอยู่ในโลกอย่างไม่ถูกต้องกับพิษของโลกหรือเขี้ยวของโลก โลกเต็มไปด้วยเขี้ยวที่มีพิษร้าย คือสิ่งที่จะทำให้เกิดความทุกข์นั้นมีได้มากมายหลายอย่างและเพิ่มขึ้นๆ จนแทบว่าจะกระดิกตัวไม่ได้ ถ้ากระดิกตัวไม่เป็นแล้วก็จะถูกกับเขี้ยวงูทันทีในโลกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันที่เจริญด้วยวัตถุซึ่งเป็นเหยื่อของกิเลส
ขอให้นึกถึงการที่นั่งอยู่ในปากงูเหมือนลิ้นงูไม่ถูกกับเขี้ยวงู ลิ้นงูก็อยู่ในระหว่างเขี้ยวงูนั่นเอง ไม่เคยถูกกับเขี้ยวงู ทำตนเหมือนกับว่าลิ้นงูอยู่ในปากงู คือมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างไม่กระทบกระทั่งกับอันตรายใดๆ ในสมัยนี้โดยเฉพาะแล้วมันก็มีมากเหลือเกิน เพราะว่าการผลิตหรือความก้าวหน้าแห่งการผลิต ผลิตแต่สิ่งที่จะเอามายึดมั่นถือมั่นให้เป็นตัวกูของกู แล้วมันก็กัดเอา เกิดความรู้สึกว่าตัวกูของกูที่ไหนมันก็กัดที่นั่น เกิดเมื่อใดมันก็กัดเมื่อนั้น มากน้อยเท่าไหร่มันก็มากน้อยเท่านั้น ดังนั้นคนในโลกนี้จึงเป็นโรคประสาทกันมากยิ่งขึ้นทุกที และเป็นบ้ากันมากยิ่งขึ้นทุกที แล้วก็ตายหรือต้องตายกันมากยิ่งขึ้นทุกที เพราะว่านั่งไม่ดี ไม่เหมือนกับว่าลิ้นงูอยู่ในปากงู
ขอให้ทุกท่านที่เผอิญมาเกิดขึ้นในโลกนี้ในยุคนี้ซึ่งเต็มไปด้วยเขี้ยวของโลกอย่างที่กล่าวมาแล้ว นั่นคือว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ใดๆ ในโลก ที่ไปแตะต้อง ไปหลงรักหลงเกลียดเข้า มันก็กัดเอาทันที มีพิษร้ายตรงที่มันกัดหัวใจ งูมันกัดที่แข้ง ที่ขา ที่นิ้วมือ นิ้วเท้า มันก็ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเขี้ยวของโลก งูยักษ์ตัวนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสหรือความทุกข์นี้มันกัดเหลือประมาณ ขอให้ทุกคนรู้จักป้องกันตนให้ยิ่งขึ้นๆ ในโลกแห่งยุคที่เจริญไปด้วยเขี้ยวของโลก ข้อความทั้งหมดนี้สรุปเป็นคำกลอนได้ดังนี้
นั่นลูกตา มองเห็น ไม่เป็นหมัน เขาใช้มัน เล็งแล แก้ปัญหา
อยู่ในโลก อย่างไร ไม่ทรมาน์ พิจารณา ตรองไป ให้จงดี
อยู่ให้เหมือน ลิ้นงู ในปากงู ไม่เคยถูก เขี้ยวงู อยู่สุขศรี
อยู่ในโลก ไม่เคยถูก เขี้ยวโลกีย์ เป็นเช่นนี้ อุปมา อย่าฟั่นเฟือน
คิดดูบ้าง นั่งได้ ในปากงู ไม่เคยถูก เขี้ยวงู อยู่เสมือน
นั่งในห้อง แสนสบาย ภายในเรือน มีเค้าเงื่อน เหมือนพระ ภควันต์
อยู่ในโลก ไม่กระทบ โลกธรรม อยู่เหนือกรรม เหนือทุกข์ เป็นสุขสันต์
ใครมีตา รีบเคารพ อภิวันท์ รีบพากัน ทำตาม ยามนี้เอย ฯ
คำสำคัญ คือเขี้ยวของโลก,เขี้ยวของโลก ได้แก่โลกธรรม ๘ ประการ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นี้พวกหนึ่ง ไม่มีลาภ ไม่มียศ นินทาและทุกข์ นี้พวกหนึ่ง นี่คือจะเป็นเขี้ยวงูทั้งขึ้นทั้งล่อง ที่เป็นฝ่ายยั่วให้ดีใจ มันก็ทำให้โง่ ให้หลง ให้บ้า ให้ติดพัน ให้ร้องไห้ เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ ส่วนที่มันไม่น่ายินดีน่าพอใจ มันก็กัดเอาเจ็บปวดอยู่เป็นธรรมดา โลกธรรมทั้งแปดนั่นแหละกระจายอยู่ไปทั่วทั้งโลก จึงได้เรียกว่าโลกธรรม เป็นเขี้ยวโลก เป็นเขี้ยวของโลก พยายามที่จะมองเห็นเขี้ยวของโลกคือโลกธรรมทั้งปวง ก็จะไม่ต้องถูกกัด อย่างน้อยก็ไม่ต้องเป็นโรคประสาท เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้เหมือนคนบ้า และก็จะไม่ต้องตาย คือทำความชั่วอย่างเลวร้ายจนหมดหวังที่จะมีความสุขในชีวิตนี้ หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้ระมัดระวังสิ่งที่มีอยู่รอบตัวเราในสมัยนี้คือเขี้ยวของโลก ด้วยกันจงทุกคน
ภาพต่อไปเรียกว่า ผู้ดับไม่เหลือ คำว่าดับไม่เหลือ เป็นคำที่เข้าใจยาก จะเรียกว่ายากที่สุดก็ได้ ในภาษาธรรมะด้วยกัน คำว่าดับไม่เหลือไม่ได้หมายความว่าตายแล้วเผาฝัง คำว่าดับไม่เหลือหมายถึงดับไม่เหลือแห่งกิเลสตัณหา อุปาทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความรู้สึกว่าตัวกู-ว่าของกู ว่าตัวกู-ว่าของกูนั้นเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ มันก็มีตนเมื่อนั้น มีความรู้สึกว่าตน แล้วก็มีตนเมื่อนั้น ถ้าว่าดับสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงเสีย ไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าตัวตนว่าของตน นั่นแหละจึงจะเรียกว่าดับไม่เหลือ
ในภาพนี้มีอะไรลุกขึ้นมาจากสะดือของบุคคลในภาพนั้น เวียนออกไปเป็นคนนานาชนิด นั่นแหละเป็นการปรุงแต่งออกไปจากจิตใจ มีมากมาย เป็นความเกิดอันมากมายอันไม่รู้จักสิ้นสุดตลอดเวลาที่ยังมีอวิชชา ทีนี้ก็มาถึงตอนที่จะเปลี่ยนฉากใหม่ ได้ผ่านโลกผ่านทุกข์ความทุกข์มามากพอแล้ว เกิดความเข้าใจเห็นได้ว่าอย่างนั้นเป็นความโง่เขลา เป็นการปรุงแต่งให้เกิดตัวตนของตน แล้วก็ขบกัดตนอย่างเหลือประมาณ จึงน้อมจิตไปในทางที่จะไม่ให้เกิดตัวตนหรือดับตัวตนเสีย ได้ศึกษาเล่าเรียนเรื่องเกี่ยวกับการปรุงแต่งมาอย่างครบถ้วน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ถึงกันเข้าแล้วก็ปรุงแต่งเกิดเป็นตัวตน เกิดตัวกู-ของกูขึ้นมาในความรู้สึก ถ้ามีสติปัญญาพอ แม้จะถึงกันเข้า มันก็มีสติปัญญาพอที่จะควบคุมไม่ให้ปรุงแต่งเป็นตัวตนขึ้นมา นี้เรียกว่าดับตัวตน ป้องกันการเกิดแห่งตัวตน แล้วก็ดับไปแห่งตัวตน จนกระทั่งไม่มีเหลือ ความทุกข์ก็ไม่มี ความทุกข์เกิดมาจากความรู้สึกว่ามีตัวตนหรือของตนเสมอไป เป็นใจความสั้นๆ ว่า การยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนนั่นแหละเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ สำคัญอยู่ที่เบญจขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พอยึดมั่นส่วนใดส่วนหนึ่งเข้ามันก็เกิดเป็นตัวตนขึ้นมา ไม่ยึดมั่นถือมั่นเลยโดยประการทั้งปวงตลอดเวลาทั้งปวง มันก็ไม่เกิดตัวตนขึ้นมา เรียกว่าดับไม่เหลือ เป็นการดับทุกข์ในทุกแง่ทุกมุม ทีนี้เราก็ไม่ต้องเรียนเรื่องทุกเรื่องให้มันมากเรื่อง จะเรียนเรื่องดับไม่เหลืออย่างเดียวก็พอ แล้วก็พยายามให้ความรู้เรื่องดับไม่เหลือนี้เป็นเครื่องกำกับอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจะดับจิตคือดับกายหรือตายนั่นแหละ ให้มีความรู้เรื่องดับไม่เหลือเข้ามาเกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด จะได้ดับไปอย่างไม่มีเชื้อเหลือสำหรับจะเกิดอีก ข้อความเหล่านี้สรุปเป็นคำกลอนได้ว่า
อย่าเข้าใจ ไปว่า ต้องเรียนมาก ต้องปฏิบัติ ลำบาก จึงพ้นได้
ถ้ารู้จริง สิ่งเดียว ก็ง่ายดาย รู้ดับให้ ไม่มีเหลือ เชื่อก็ลอง
เมื่อเจ็บไข้ ความตาย จะมาถึง อย่าพรั่นพรึง หวาดไหว ให้หม่นหมอง
ระวังให้ ดีดี นาทีทอง คอยจดจ้อง ให้ตรงจุด หลุดได้ทัน
ถึงนาที สุดท้าย อย่าให้พลาด ตั้งสติ ไม่ประมาท เพื่อดับขันธ์
ด้วยจิตว่าง ปล่อยวาง ทุกสิ่งอัน สารพัน ไม่ยึดครอง เป็นของเรา
ตกกระได พลอยกระโจน ให้ดีดี จะถึงที่ มุ่งหมาย ได้ง่ายเข้า
สมัครใจ ดับไม่เหลือ เมื่อไม่เอา ก็ดับเรา ดับตน ดลนิพพาน ฯ
ข้อนี้มีใจความสรุปว่า ไม่ต้องเรียนให้มันมากเรื่องนอกจากเรื่องดับไม่เหลือ และเมื่อจะดับจิต ดับขันธ์ ดับกายนี้ ให้มีความรู้เรื่องดับไม่เหลือเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เรียกว่าตกกระไดแล้วก็กระโจนให้ดีๆ จะถึงที่หมายได้เร็วเข้า ถ้ามีความเจ็บไข้แน่นอนว่าจะต้องตาย อย่างนี้ก็เรียกว่ามันตกกระไดแล้ว ก็พลอยกระโจนให้ดีๆ สมัครดับไม่เหลือไปด้วยกัน นี่มันง่ายเข้า
หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนจะได้มีความเข้าใจถูกต้องว่า เครื่องดับทุกข์นั้นคือความรู้เรื่องดับไม่เหลือแห่งตัวตน ความรู้เรื่องดับไม่เหลือแห่งตัวตน ปฏิบัติแล้วมันไม่เกิดตัวตน ตัวตนที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ทีนี้มันก็เลยไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นขอให้พิจารณาดูให้ดี มีอะไรพลุ่งออกมาจากใจกลางแห่งบุคคลนั้น และก็ถ้าว่าปฏิบัติถูก เรื่องดับไม่เหลือมันก็จะหยุดออกมา มันก็จะหายไปหมด ไม่มีสำหรับเป็นปัญหาอีกต่อไปดังนี้ ดูหน้า จ้องดูหน้าของคนดับไม่เหลือให้ดีๆ ว่ามันมีความรู้สึกที่มีความหมายแห่งความสะอาด ความสว่าง ความสงบสักเท่าไหร่ กระทำไว้ในใจสำหรับเป็นเครื่องจูงใจให้เดินไปโดยทำนองนั้นด้วยกันจงทุกๆ คนเถิด
ภาพนี้เป็นภาพ จิตว่างได้ยินหญ้าพูด ท่านต้องเข้าใจเสียก่อนว่า เป็นภาพของใบไม้แห้ง เหลือแต่ใยเส้นใยใบหนึ่ง ไม่มีเนื้อหนังอะไร มีแต่เส้นใยโปร่ง และที่มุมขวาล่างดำๆ นั้นเป็นกอหญ้า ในภาพนี้ก็มีแต่ใบไม้ใบหนึ่งกับกอหญ้ากอหนึ่งเท่านั้น เรียกภาพนี้ว่า จิตว่างได้ยินหญ้าพูด ดังนั้นใบไม้นั่นแหละเป็นสัญลักษณ์ของจิตว่างหรือมีความหมายเป็นจิตว่าง ส่วนกอหญ้านั้น พลิ้วอยู่ตามลม ก็เสมือนกับว่ามันพูด ถ้าจิตว่าง จะรู้ความหมายแห่งสิ่งทั้งปวงว่ามันพูดกันว่าอย่างไร คือมันพูดกันด้วยเรื่องการปรุงแต่งและการดับไป พูดกันด้วยเรื่องตัวกูและของกู อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
จิตว่าง ไม่ได้หมายถึงจิตไม่มีหรือจิตไม่คิดนึกอะไร หรือเหมือนกับสลบหรือหลับ อย่างนั้นไม่ใช่ว่าง คำว่า ว่างนั้น จิตยังทำหน้าที่ตามปรกติ แต่ไม่มีความหมายหรือความรู้สึกใดๆ ว่าเป็นตัวกูหรือของกู ดังนั้นคำว่าว่าง ก็คือว่างจากตัวกูหรือของกูนั่นเอง ถ้ามีตัวกูหรือมีตัวตนเข้ามา มันก็ไม่ว่าง คือมันไม่ว่างจากตัวตนนั่นแหละ พอความคิดว่าตัวตนมันไม่มี ตัวตนก็ไม่มี มันก็ว่างจากตัวตน อย่างนี้เรียกว่าจิตว่างจากความรู้สึกแห่งตัวตน ว่างจากความหมายแห่งตัวตน ว่างจากสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นตัวตน เรียกว่าจิตว่าง
คนเขาฟังไม่เข้าใจ เขาทึกทักเอาเองว่า จิตว่างคือจิตไม่คิดนึกอะไร เหมือนกับหลับหรือสลบ อย่างนี้มันไม่ถูก บางคนก็ตีความหมายไปอีกทางหนึ่งว่า จิตว่างคือคนที่ไม่รู้จักรับผิดชอบอะไร เป็นคนครึ่งบ้าครึ่งดี ไม่รู้จักรักชาติ ไม่รู้จักรักบ้านเมือง ไม่รู้จักเกียรติยศชื่อเสียง ไม่รู้จักรักความดี อย่างนี้ก็เรียกว่าจิตว่าง อย่างนี้มันก็ไม่ถูก มันเอาแต่เพียงว่าไม่มีความคิดนึกน้อมไปในทางที่จะมีอะไรเป็นตัวตน แม้จะรู้สึกอยู่ว่าสิ่งนี้ดีๆ ก็ดี ดีแต่ก็ไม่ต้องเอามาเป็นตัวตนของตน ชั่วก็ไม่เอามาเป็นตัวตนของตน ไม่ดีไม่ชั่วก็ไม่เอามาเป็นตัวตนของตน ไม่มีความรู้สึกอะไรหรือในสิ่งใดเมื่อไหร่ ว่าเป็นตัวตนหรือของตน จิตนั้นเรียกว่าว่าง ถ้าจิตว่างอย่างนี้แล้วมันจะเกิดความรู้แจ้งแทงตลอดไปทุกทิศทุกทางทุกหนทุกแห่งยิ่งกว่าในสากลจักรวาล คือนอกสากลจักรวาลก็ยังรู้ รู้ว่าสังขารปรุงแต่งเป็นอย่างนั้นๆ เต็มไปทั่วทั้งจักรวาล วิสังขารไม่ปรุงแต่ง มีลักษณะตรงกันข้ามอย่างนั้นๆ มันก็มีอยู่
ทีนี้ที่เรียกว่าได้ยินหญ้าพูดนี้ มันพูดด่าคนโง่ คนโง่จะไม่ได้ยินอะไรเลย ถ้าคนที่จิตว่างหรือคนฉลาดอย่างยิ่งนั้นจะได้ยินแม้แต่ว่าหญ้ามันพูดกัน หญ้ามันพูดกันเรื่องอะไร หญ้ามันก็ด่าคนอยู่ทุกเวลาว่ามีแต่ความทุกข์ เมื่อไหร่นะ,คนโง่ๆ เหล่านั้น จะได้มีจิตว่าง หยุดเป็นทุกข์ หยุดวุ่นวาย แล้วมาเป็นสุขในลักษณะที่เรียกว่าร่ายรำอยู่ เหมือนที่ยอดหญ้าถูกลมพัดร่ายรำอยู่ ฉันใดก็ฉันนั้น เราธรรมดาไม่รู้เรื่องนี้ ก็มีแต่จิตวุ่น คือปรุงแต่งกันเรื่อยไป อะไรมาน่ารักก็รัก อะไรมาน่าเกลียดก็เกลียด อะไรมาน่าโกรธก็โกรธ อะไรมาน่ากลัวก็กลัว เต็มไปด้วยความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงหึง ถึงขนาดฆ่ากันตาย ขนาดฆ่าพ่อแม่ของตัวตายก็มี เพราะความหลงใหลในเรื่องนี้ ขอให้นึกละอายแก่ต้นหญ้าบ้างว่ามันบอกสอนอยู่ทุกวันว่า อย่าบ้าไปนักเลย หยุดกันเสียบ้างเถิด ดูเราสิ เราไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรก็เป็นสุขพอใจร่ายรำอยู่ในสายลม นี่ก็แสดงว่าไม่มีทุกข์เท่านั้นแหละ ไม่ใช่บ้าสวย บ้ารวย บ้าเอร็ดอร่อย บ้าหลงใหลอะไรก็หาไม่ ข้อความเหล่านี้สรุปได้เป็นคำกลอน ดังนี้ว่า พระพุทธะ ตรัสรู้ จิตอยู่ว่าง ได้ยินสิ่ง ทุกอย่าง แถลงไข เหมือนมันฟ้อง ตัวเอง เซ็งแซ่ไป ว่าไม่มี สิ่งไหน น่ายึดเอา มาเพื่อเป็น ตัวกู และของกู อย่าหลงตู่ มันเข้า เพราะความเขลา เอาของเป็น อนัตตา มาเป็นเรา จะต้องเศร้า โศกระบม ตรมใจแรง แม้กรวดดิน หินไม้ และใบหญ้า ล้วนแต่ส่ง เสียงจ้า ทุกหัวระแหง คนจิตวุ่น ไม่เข้าใจ ไม่ระแวง ว่าทุกสิ่ง ร้องแสดง บทพระธรรม ครั้นจิตว่าง จะได้ยิน แม้ใบหญ้า มันปรึกษา ข้อความ ที่งามขำ ว่าทำไฉน สัตว์ทั้งหลาย จะร่ายรำ ด้วยจิตว่าง เพราะวางธรรม ทั้งปวงเอย ฯ
ใจความของคำบางคำที่จะต้องพิจารณา ก็คือคำว่า ธรรมชาติทุกอย่างมันร้องบอกตะโกนฟ้องตัวมันเองว่า เราเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ควรที่จะมาหลงใหลยึดเอายึดถือเอาด้วยความยินดีหรือยินร้าย สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในจักรวาลนี้มันร้องฟ้องตัวเองว่า มันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คนจิตวุ่นไม่ได้ยิน ก็หลงเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นตัวเราของเรา จนได้มีความทุกข์ร้อนอย่างยิ่ง นี่เขาพูดถึงกับว่าจะเป็นก้อนกรวด ก้อนหิน ก้อนดิน ใบไม้ ใบหญ้า ล้วนแต่ส่งเสียงอย่างเดียวกันหมดว่า ฉันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คนจิตวุ่นไม่เข้าใจ ก็เอาเป็นตัวตน เป็นของตน เป็นของเที่ยง เป็นของสุข สำหรับยึดมั่นถือมั่นอย่างหลงใหล มันก็น่าละอายแก่ใบหญ้า ก้อนหิน ก้อนดิน เหล่านั้น ซึ่งมันรู้และมันร้องบอกความจริง ฟ้องตัวเองว่าเป็นสิ่งไม่เที่ยงอย่างนั้น แต่คนก็ยังไปหลงรักหลงยึดถือ หวังว่าทุกท่านจะมองดูกันเสียใหม่ให้ดีๆ มีจิตว่างปราศจากความรู้สึกแห่งตัวตนแล้ว ก็จะพบกันกับสิ่งใหม่ สิ่งหนึ่ง คือความเยือกเย็นหรือมีชีวิตเย็นตามความหมายของคำว่านิพพาน ซึ่งแปลว่าดับไปแห่งความร้อน แล้วก็จะได้อยู่เป็นสุขทุกทิพาราตรีกาล
ภาพนี้เป็น ภาพอริยมรรคมีองค์ ๘ ท่านต้องดูให้เห็นภาพทุกภาพที่ซับซ้อนกันอยู่ ซึ่งค่อนข้างเล็ก ในชั้นแรกก็จะเห็นว่าเป็นนาคตัวใหญ่ มี ๖ เศียร ๖ หัว แล้วก็มีพญาครุฑจับอยู่บนนาค มีท่าทางคล้ายกับว่าจะโยนอะไรลงมาช่วยคนที่ตกน้ำ ในน้ำนั้นมีเรือผูกติดต่อกัน ๘ ลำ แล้วก็มีคนคนหนึ่งกำลังว่ายน้ำเหมือนจะจมน้ำ แล้วมีคนคนหนึ่งยืนอยู่บนบก ยื่นมือออกเรียกให้เข้ามาหาฝั่ง อริยมรรคมีองค์ ๘ ในที่นี้หมายถึงเรือ ๘ ลำ เป็นคำอุปมาที่อธิบายยาก เพราะว่าเขาไม่อาจจะเขียนให้เป็นเรือลำเดียว ๘ ลำรวมกันเป็นลำเดียว ก็เลยต้องเขียนทั้งแปด แล้วก็เลยผูกติดกันเป็นพวงเดียว เป็นยานพาหนะ
ดูมาตั้งแต่ภาพพญานาค ๖ เศียร หมายความว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีความสำคัญ จนบางทีก็เรียกว่าอินทรีย์สำหรับจะรับหรือจับอารมณ์ซึ่งเป็นของคู่กัน ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์ พญานาค ๖ เศียรเขียนไว้ในที่นี้ในลักษณะที่ว่ามีอำนาจอานุภาพอย่างยิ่ง ถ้าใครปราบมันไม่ได้ คนนั้นก็จะต้องทนทุกข์ทรมาน เหมือนกับมนุษย์ที่กำลังไปลอยคออยู่ในน้ำ พญานาคในที่นี้หมายถึงผู้รู้ผู้ที่มีปัญญาสามารถจะควบคุมพญานาค ๖เศียรได้ ในทำนองโยนของบางอย่างลงมาสำหรับจะช่วยให้ได้เกาะได้ยึด แต่ความหมายก็คือเรือทั้งแปดลำนั่นเอง ผู้ที่ยืนอยู่บนฝั่งก็มีอาการร้องบอกให้คนที่จมน้ำนั้นคอยจับเอาเรือสำหรับจะได้เอาตัวรอด รวมความได้เป็นใจความว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะทำให้เรามีอาการตกอยู่ในกองทุกข์เหมือนกับจมน้ำ แล้วก็อาศัยอริยมรรคคือความถูกต้องแปดประการ ได้แก่ ความเห็นชอบ ความปรารถนาชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การดำรงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ เนื่องเป็นอันเดียวกันแล้วก็สามารถช่วยให้พ้นจากอำนาจอันดุร้ายแห่งพญานาค ๖เศียรนั้นได้ โดยมีพญาครุฑเป็นอุปมาของสติปัญญาซึ่งจะช่วยให้รอด ถ้าจะพูดให้เป็นเรื่องในชีวิตประจำวันก็หมายความว่า เราจะต้องมีความถูกต้องแปดประการอยู่ที่เนื้อที่ตัว คอยป้องกันโทษร้ายอันจะเกิดขึ้นมาจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ข้อความทั้งหมดนี้สรุปได้เป็นคำกลอนดังต่อไปนี้
พญานาค หกเศียร เฉวียนฉวัด เที่ยวขบกัด อารมณ์หก อยู่ผกผัน ตาหูจมูก ลิ้นกายใจ ไล่พัลวัน รูปเสียงกลิ่นรส ฉวิกระสัน ธรรมารมณ์ พญาครุฑ ยุทธ์ขยำ กำนาคไว้ มนุษย์ผ่าน ไปได้ โดยเหมาะสม ด้วยเรือฝูง แปดลำ ทวนน้ำลม ในธารธรรม งามอุดม สะดวกดี มีมนุษย์ ถึงก่อน วอนเรียกขาน ให้ทุกท่าน ตามมา อย่าผันหนี จงช่วยกัน และกัน ให้ทันที ถึงบุรี นิรวาน ก่อนการตาย ฯ
คำบางคำที่จะต้องเข้าใจ ก็คือคำว่า ก่อนการตาย ถึงนิพพานได้ก่อนการตาย หมายความว่ามีจิตปราศจากกิเลสและปราศจากทุกข์ได้ถึงที่สุดก่อนแต่จะมีการตายทางร่างกาย
ภาพนี้มีชื่อว่า พ้นแล้วโว้ย มีลักษณะเป็นภาพล้อคนที่ติดอยู่ในโลก ท่านจงมองดูให้เห็นเป็นจุดๆ ไป ดูที่มุมซ้ายบนมีตุ๊กแกตัวหนึ่ง ถัดลงมาก็มีก้อนเมฆรวมตัวกันเข้าเป็นรูปคนมีหน้าตาลักษณะหัวเราะเยาะ แล้วถัดลงมาอีกข้างใต้มีเป็นรูป โบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ เป็นต้น ส่วนที่มุมขวาล่างสุด เป็นรูปศิลปินผู้เขียนภาพนี้ ซึ่งมีชื่อว่า เอ็มมานูเอล เชอร์แมน ภาพนี้ปรากฏว่าทำในเมืองไทย แล้วก็แจกไปหยกๆ ก่อนแต่ที่จะถึงแก่กรรมไม่นานนัก
ใจความของเรื่องก็มีว่า มีเสียงล้อมาจากเบื้องบนว่าเราพ้นแล้วโว้ย ส่วนท่านยังติดตันอยู่ คือมนุษย์ทั้งหลายตามปรกติติดอยู่ในโลก ติดอยู่ในโลกกระทั่งสูงขึ้นมาถึงติดศาสนา โบสถ์วิหารพระเจดีย์นี้เป็นความหมายแห่งพระศาสนา ต้องลอยพ้นจากนั้นขึ้นไปอีกจนอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง จึงจะสามารถร้องท้าทายออกมาได้ว่า พ้นแล้วโว้ย เขียนเป็นรูปตุ๊กแก ก็เป็นเรื่องเจตนาที่จะให้ล้อเลียน ล้อเลียนคนที่คลานงุ่มง่ามอยู่ตามพื้นดินหรือตามพื้นโบสถ์ ข้อที่ว่าเขียนเป็นเมฆรวมตัวกันเป็นคนนี้ ก็แสดงความหมายอย่างหนึ่งอยู่ในตัวว่า ที่เรียกว่าคนๆ นั้นมันก็เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน เป็นส่วนประกอบของสังขารหลายๆ อย่างรวมกันเข้า พอจะให้เป็นคนคิดนึกรู้สึกหรือทำอะไรได้ แต่ก็ยังคงเป็นสังขารที่เป็นอนัตตาอยู่นั่นเอง จึงได้เขียนเป็นรูปเมฆลอยขึ้นไป
ดูหน้าคนนี้อีกทีหนึ่ง ศิลปินตั้งใจเขียนไว้อย่างมีความหมาย คือว่าเป็นผู้ที่ล้อผู้ที่ยังไม่พ้น เป็นผู้พ้นที่ล้อผู้ที่ยังไม่พ้น เราทั้งหลายควรจะนึกถึงการที่จะลอยขึ้นไปจากโลก คือจากอำนาจ หรืออิทธิพล หรือความหมาย หรือคุณค่าอะไรต่างๆ ในโลกที่บีบคั้นจิตใจ เมื่อพ้นจากอิทธิพลของสิ่งต่างๆ ในโลกอย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่าพ้นโลกอยู่เหนือโลก เป็นโลกุตตระหรือเป็นโลกอุดร เป็นความมุ่งหมายปลายทางของพระพุทธศาสนา หวังว่าทุกคนก็คงจะสนใจเรื่องพ้นแล้วโว้ย คือมีความพ้นให้จนได้ ข้อความทั้งหมดนี้ สรุปได้เป็นคำกลอนว่า
บัดนี้เมฆ ลอยพ้น ยอดเจดีย์ ทั้งโรงโบสถ์ มากมี และวิหาร
เมฆรวมตัว เป็นภาพ พิสดาร บอกอาการ พ้นแล้วโว้ย โปรยยิ้มมา ตะโกนร้อง บอกสหาย สิ้นทั้งผอง ว่าไม่ต้อง เสียเที่ยว เที่ยวค้นหา
อนันตสุข ในโลกนี้ ที่หวังมา เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าแล สุขแท้จริง ไม่วิ่ง ไปตามโลก อยู่เหนือความ ทุกข์โศก ทุกกระแส มือเท้าเหนียว เหนี่ยวขึ้นไป คล้ายตุ๊กแก ไม่อยู่แค่ พื้นโบสถ์ โปรดคิดดู ลอยเหนือยอด โบสถ์ไป ในเวหา ลอยพ้นไป เหนือฟ้า ที่เทพอยู่ ถึงความว่าง ห่างพ้น จากตัวกู ไม่มีอยู่ ไม่มีตาย สบายเอย ฯ
คนรักสุข ขยะแขยงทุกข์ จึงแสวงหาสุขยิ่งขึ้นไป จึงยึดติดสุขทุกระดับเป็นลำดับ โดยเฉพาะผู้ที่เมาสุขในสวรรค์ที่ฝันเอาเอง ส่วนธรรมะแท้เป็นเรื่องปล่อยวางทั้งสุขและทุกข์ เพื่อเข้าสู่ความดับทุกข์อันมีเหตุอยู่ที่ความยึดมั่นในความสุข ในที่สุดเมื่อค้นพบว่า ที่แท้สุขนั้นเป็นเพียงลมๆ แล้งๆ เป็นมายาที่ไม่มีอยู่จริง จำเป็นจะต้องไปให้พ้นนั้นขึ้นไปอีก ให้เหนือนั้นขึ้นไปอีก จึงจะพบความหรรษาร่าเริงอย่างเยือกเย็น เหมือนเมฆที่ลอยพ้นโบสถ์พ้นเจดีย์ ตลอดถึงพ้นสวรรค์ พ้นกระทั่งสวรรค์ พ้นสวรรค์แล้วพุ่งขึ้นสู่ความว่างอันปราศจากขอบเขตของขนาดและเวลา หวังว่าพวกเราคงจะมีหลุดพ้น มีความหลุดพ้น เอาพ้นแล้วโว้ยนี่แหละเป็นอารมณ์
ภาพนี้เรียกว่า ภาพตัวกูกับของกู หรือจะเรียกว่าตัวกูกับตัวกู ก็ได้ ถ้าเรียกว่าตัวกูกับตัวกู ก็หมายความว่า ความไม่ยอมแก่กัน ถ้าเรียกว่าตัวกูกับของกู ก็คือมีความยึดมั่นสิ่งใดๆ ไว้เป็นสมบัติของกู ปัญหาที่มีอยู่ในโลกตลอดเวลา เป็นปัญหาของบุคคล ของสังคม ของประเทศชาติ อยู่ที่ไม่ยอมกัน ท่านจงมองไปให้ชัดเจนที่ภาพจิ้งจกสองตัว หรือจะเป็นตุ๊กแกก็ได้สองตัว มันไม่ยอมกัน มันจะกัดกัน มันจะต่อสู้กัน อหังการแปลว่าตัวกู มมังการแปลว่า ของกู ต่างตัวต่างไม่ยอมแพ้ ต่างตัวต่างหวงประโยชน์ของตน มันจึงต้องกัดกันไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่จะกวาดล้างพฤติกรรมอันนี้ไปเสียได้จากจิตใจก็คือธรรมะ เปรียบเหมือนกับไม้กวาด กวาดความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นนี้ให้พ้นออกไปเสียจากจิตใจ ปัดให้ตัวสัตว์ตกไปเสียจากจิตใจ สัญชาตญาณเดิมแท้ที่เรียกว่าสัญชาตญาณแห่งความมีตัวตนนั้นถูกกำจัดไปเสียได้ด้วยสติปัญญา มาถึงภาวะอันใหม่คือความไม่มีความยึดมั่นหมายมั่นว่าเป็นตัวตนที่เคยมีอยู่หนาแน่นในสันดาน เดี๋ยวนี้ก็หลุดพ้นไปจากสันดาน ถ้าได้อย่างนี้ โลกทั้งโลกจะสิ้นปัญหา ประเทศชาติทุกชาติจะผาสุก บุคคลแต่ละคนก็จะได้ชีวิตแท้ เป็นชีวิตที่เต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์และเป็นนิรันดร
หวังว่าทุกคน ก็จะยอมหยุดความมีอหังการมมังการกันเสียที ยอมคือให้รู้จักยอมอย่างที่เรียกว่าไม่ต้องเป็นคู่ต่อสู้ แต่กลายเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของกันและกัน จึงยอมกันได้ในฐานะเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันก็หยุดความคิดนึกที่เป็นตัวกูหรือเป็นของกูกันเสีย อยู่ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ปราศจากความรู้สึกชนิดนั้น ไม่ยึดมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวกูของกู ความทุกข์ก็สูญสิ้นไปโดยไม่มีเหลือ ข้อความทั้งหมดนี้เป็นคำกลอนที่รวมขึ้นได้ดังนี้ ท่านฟังไปพลาง ท่านดูภาพนั้นไปพลาง ให้ตรงกับเสียงในคำกลอนเป็นลำดับไป
อันตัวกู ตัวสู มิได้มี แต่พอโง่ มันเป็นผี โผล่มาได้
พอหายโง่ กูสู ก็หายไป พอโง่ใหม่ โผล่มาใหม่ ดูให้ดี
แต่ละข้าง ต่างยึด ว่าตัวกู จึงเกิดการ ต่อสู้ กันอย่างผี
ต่างหมายมั่น แก่กัน ฉันท์ไพรี ทั้งเปิดเผย ลับลี้ มีทั่วไป
ที่ด้อยกว่า สู้ว่ากู ก็มีดี ที่เด่นกว่า ข่มขี่ เขาเข้าไว้
ที่พอกัน ก็กันท่า ไม่ว่าใคร ล้วนแต่ใคร่ โด่งเด่น เป็นธรรมดา
เอาพระธรรม กวาดล้าง อย่างไม้กวาด สำหรับฟาด หัวสัตว์ ที่ข้างฝา
ตกกระเด็น เป็นเหยื่อ แก่ไก่กา ที่เก่งกว่า คืออย่าโง่ ให้โผล่เอย ฯ
คำที่จะต้องเข้าใจให้ชัดเจนเป็นพิเศษ ก็คือคำว่าตัวกู-ตัวสู นี่หมายความว่าความรู้สึกเลวร้ายที่เพิ่งเกิดหลังจากมีความอยากและยึดมั่นในสิ่งใดแล้ว ความรู้สึกว่าตัวกู-ตัวสูก็มี ถ้าอยู่คนเดียวก็เป็นตัวกู ถ้ามีบุคคลที่สองเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องอันเกี่ยวกับประโยชน์นั้นๆ ก็เรียกว่ามีตัวสู กู-สูนี้สู้รบกันอยู่หรือกัดกันอยู่ในภายในตลอดเวลา เราจะต้องเอาธรรมะมากวาดล้างความรู้สึกเลวร้ายอันนี้ออกไป เหมือนใช้ไม้กวาดปัดจิ้งจกให้กระเด็นไปจากข้างฝา ให้ตกกระเด็นเป็นเหยื่อแก่ไก่กา ก็หมายความว่าให้มันสูญสิ้นไปเลย ไม่กลับมาอีก และที่เก่งก็คืออย่าเผลอ อย่าเผลอ อย่าเผลอจนโง่ โง่จนตัวกูหรือตัวสูโผล่ขึ้นมา ขอให้ท่องจำประโยคสุดท้ายไว้ให้ดีๆ ว่า ที่เก่งกว่า คืออย่าโง่ ให้โผล่เอย ไม่โง่ไม่โผล่ ก็ไม่ต้องมาเสียเวลาเรี่ยวแรงมาคอยปัด คอยกวาด คอยเหน็ดเหนื่อยลำบากอยู่
ภาพนี้เรียกว่า ภาพทะเลไฟ ท่านต้องดูให้ออกเสียก่อนว่า มันเป็นภาพทะเลอยู่ข้างภูเขาไฟ ล้อมรอบภูเขาไฟ มีเรือเล็กๆ แล่นอยู่เป็นอันมาก ทำไมจะไม่สงสัยบ้างเลยหรือว่า น้ำไฟ,เรือจะแล่นไปได้อย่างไร ไฟก็เผาไหม้เรือ ไหม้ไปหมดไม่มีเหลือ นี่เป็นคำท้าทายว่า เรามีเรืออีกชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถแล่นฝ่าเข้าไปในกองไฟคือเพลิงทุกข์ได้อย่างสบาย ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล่นฝ่าไปในน้ำไฟทะเลไฟเหมือนกับแล่นฝ่าไปในน้ำเย็น ทะเลไฟนี้คือสังสารวัฏที่ประกอบอยู่ด้วยกุศลอกุศล หรือของเป็นคู่อื่นๆ เช่นบุญ เช่นบาป เช่นสุข เช่นทุกข์ เปรียบเหมือนทะเลขี้ผึ้งก็ได้ เมื่อร้อนก็เหลวเป็นของเหลว เมื่อเย็นก็เป็นของแข็ง นี่หมายถึงไฟพ่นของเหลวที่ร้อนจนละลายออกมา แล้วก็กลายเป็นเย็นเป็นของแข็ง จะแล่นไปได้อย่างไรในทะเลอย่างนี้
เรือที่จะแล่นไปได้ในทะเลอย่างนี้ ก็ต้องเป็นเรือพิเศษ คือธรรมะที่รู้จักขจัดความโง่ความหลงที่ไปยึดถือในของเป็นคู่ๆ คือว่าเย็นหรือร้อน ดีหรือชั่ว บุญหรือบาป อย่างนั้นได้โดยสิ้นเชิง มันไม่มีความหมายอย่างนั้นแล้ว มันก็ไม่มีอะไรที่จะทำอะไรให้เป็นอะไร เรือธรรมะลอยอยู่ในทะเลไฟ มันเข้าไปถึงจุดเย็นสูงสุดที่มีอยู่ในความร้อนอันสูงสุด หมายถึงความดับเสียซึ่งความร้อนอันสูงสุดนั้นก็มีความเย็นอันสูงสุด ความเย็นอันสูงสุดมันอยู่ท่ามกลางสิ่งที่ร้อนที่สุดโดยที่ดับเสียได้ เปรียบเหมือนว่ากลางเตาหลอมเหล็กอันร้อนจนโลหะละลายนั่นแหละ จะหาพบความเย็นได้ที่นั่นโดยเมื่อดับหรือหยุดความร้อนเหล่านั้นเสีย จึงกล่าวไว้เป็นคำที่ฟังยากสำหรับคนทั่วไปว่า นิพพานหาพบได้ท่ามกลางวัฏสงสาร ตามปรกติเขาแยกไว้เป็นคนละเรื่อง แล้วไม่มีทางที่จะมาพบกันได้เลย นี้พูดอย่างประหลาดอัศจรรย์ที่สุดว่า นิพพานหาพบได้ในท่ามกลางแห่งวัฏสงสาร ทำนองเดียวกับที่พูดว่าจุดเย็นที่สุดหาพบได้ที่กลางเตาหลอมเหล็กดังนั้น ข้อความทั้งหมดนี้สรุปเป็นคำกลอนได้ดังต่อไปนี้ จงฟังไปพลางและเหลือบดูภาพนั้นๆ ไปพลาง
เรือของธรรม แล่นฝ่า ทะเลไฟ เรือของคน เป็นอย่างไร ยังไม่แน่
เห็นทีจะ ขี้ขลาด และอ่อนแอ จึงต้องแพ้ แก่เนื้อหนัง นั่งเฝ้าดู
จะออกไป นอกโลก ต้องฝ่าไฟ จะหมดทุกข์ ต้องไป เหนือสิ่งคู่
จะพ้นตาย ต้องพราก จากตัวกู เผากิเลส ต้องอยู่ ใจกลางไฟ
คนเขลาเขลา เหมาเหมา ไปตามเขลา ไม่อยากเข้า ใกล้ไฟ เพราะกลัวไหม้
ไฟของธรรม มีไว้ เพื่อดับไฟ ที่ไหม้ใจ ของสัตว์ ในบัดดล
ตบะไฟ คือกรรมฐาน เปรียบปานไฟ เผากิเลส สิ้นไป เหลือมรรคผล
อันไฟธรรม มีไว้ ดับไฟคน ดับแล้วพ้น ทะเลไฟ ฝ่าไปเอยฯ
คำที่จะต้องสนใจเป็นพิเศษก็คือว่า คือคำที่ว่าจะหมดทุกข์ต้องไปเหนือสิ่งคู่ สิ่งคู่ๆ ในโลกนี้จะมีอยู่กี่สิบคู่ กี่ร้อยคู่ ก็ให้อยู่เหนือความหมายของความเป็นคู่ เรียกอีกทีหนึ่งก็ว่าอยู่ตรงกลาง ไม่เอียงไปฝ่ายโน้น ไม่เอียงไปฝ่ายนี้ อยู่ตรงกลางของสิ่งที่เป็นคู่ คือตรงนั้นเป็นที่ว่าง ว่างคุณค่า ว่างความรู้สึกหรือการกระทำหรือความยึดมั่นถือมั่น ฟังดูให้ดีว่าจะออกไปนอกโลกนั้น ต้องฝ่าไฟนี้ไปให้ได้ เพราะว่าไฟก็คือโลก โลกมีไฟ ไฟอยู่ในโลก จะออกไปนอกโลก ต้องฝ่าไฟออกไป จะพ้นตายต้องหมดตัวกู ต้องหยุดตัวกู ถ้ายังมีตัวกูมันก็ยังมีความตาย มันเอาความเกิดแก่เจ็บตายมาเป็นของกูเพราะความโง่ จะเผากิเลสก็ต้องเผากันที่กลางไฟ เพราะว่ากิเลสนั้นมันก็คือไฟ จะเผากิเลสก็ต้องอยู่ที่กลางไฟ เผากิเลสไปพลาง
ฉะนั้นการที่กลัว ไม่อยากเข้าใกล้ ไม่อยากจะแตะต้องกับปัญหาอันร้ายกาจนี้ ก็เพราะว่ามันไม่รู้ มันกลัว ก็ต้องฝ่าไฟเข้าไปแล้วก็ขจัดปัญหานั้นเสีย ไฟธรรมะมีไว้เพื่อดับไฟของคน ไฟคนคือไฟกิเลสไฟร้อนไฟที่แผดเผา ไฟธรรมะคือความเย็นของนิพพาน ไฟธรรมะดับไฟของคน ฉะนั้นจึงจะต้องเผชิญหน้าฝ่าฟันกับไฟ พูดอย่างอุปมาก็ว่าให้ไฟกับไฟสองอย่างซึ่งมันตรงกันข้ามนี้รบกัน ในที่สุดไฟธรรมะชนะไฟคน ดับไฟคนเสียได้แล้ว ก็พ้นทะเลไฟที่กลัวกันนัก ถึงทะเลแห่งความว่าง พ้นจากความทุกข์และไฟโดยประการทั้งปวง
ภาพนี้เรียกว่า ภาพจากอนันตะสู่อนันตะ จากอนันต์สู่อนันต์ หรือจากความไม่มีที่สิ้นสุดไปสู่ความไม่มีที่สิ้นสุด ท่านจะต้องดูให้ออกเสียก่อนว่าเป็นภาพอะไร เป็นภาพคนตีระฆัง ตีระฆังแบบนี้ คือการชักเชือกให้ท่อนไม้ที่แขวนอยู่ เข้ามากระทุ้งเอาระฆังเป็นระยะๆ ตามจังหวะแห่งการดึง ระฆังใหญ่มากก็ต้องตีด้วยท่อนซุงที่แขวนไว้แล้วดึงให้มากระแทกระฆัง นี่เป็นภาพการตีระฆัง ในเมืองจีนหรือในเมืองญี่ปุ่น มีระฆังแบบนี้ใช้มาก
จากอนันตะสู่อนันตะ หมายถึงว่า จากความไม่สิ้นสุดฝ่ายสังขตะ ก็ไม่ทำให้ฝ่ายอสังขตะถึงที่สุด ฟังไม่ออกก็ฟังต่อไป การเกิดขึ้นคือการปรุงแต่งของสังขารทั้งปวง มันปรุงแต่งไม่มีที่สิ้นสุด มีผลของการปรุงแต่งออกมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นี้คือจากอนันตะ จากอนันตะ,ออกจากอนันตะของฝ่ายสังขารที่ปรุงแต่งได้ไม่มีที่สิ้นสุด ทีนี้การดับลง ดับลง ดับลงของสิ่งที่เป็นสังขารเหล่านี้ก็มีมาเรื่อย ไม่มีที่สิ้นสุด แต่แล้วก็ไม่รู้จักเต็มในแดนอันเป็นที่ดับของมัน แดนอันเป็นที่ดับของมันก็คือพระนิพพานหรือความว่าง ความว่างในบทที่ว่าพระนิพพานคือความว่างอย่างยิ่ง ว่างจากทุกอย่าง ว่างจากสิ่งที่เป็นเหตุ ว่างจากสิ่งที่เป็นผล ว่างจากการที่ปรุงแต่ง ว่างโดยประการทั้งปวง อสังขตะดับลง ดับลง ดับลงสู่ความว่าง สังขตะสิ่งปรุงแต่งดับลง ดับลงสู่ความว่างหรืออสังขตะ แต่ก็ไม่รู้จักเต็ม ความไม่สิ้นสุดแห่งสังขตะก็คือความไม่สิ้นสุดแห่งการปรุงแต่ง ความไม่สิ้นสุดแห่งอสังขตะก็คือว่าความไม่รู้จักเต็มของการที่สังขตะมันจะดับลงไปสู่อสังขตะ
ทำไมจะเปรียบด้วยระฆัง ก็ขอให้สังเกตดูก็พอจะเข้าใจได้ว่า เสียงระฆังนี้ดังออกมาจากตัวระฆังไม่รู้จักสิ้นสุด ตัวระฆังมีเสียงให้เสมอไป ตีไปเท่าไหร่มันก็มีเสียงออกมาให้ เสียงระฆังดังออกมาได้จากตัวระฆังอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทีนี้เสียงนั้นก็เข้าไปสู่อวกาศ ก็ไม่เต็มอวกาศ ไม่รู้จักเต็มอวกาศ อวกาศสามารถจะบรรจุเสียงที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่รู้จักเต็ม การเกิดขึ้นแห่งสังขตะก็ไม่สิ้นสุด การดับลงแห่งสังขตะก็ไม่รู้จักเต็มในแดนอันเป็นอสังขตะ มันเป็นธรรมะชั้นที่ไม่คุ้นหู ก็ฟังยากเป็นธรรมดา แต่ถ้าเอามาใส่ใจอยู่ ไม่เท่าไหร่มันก็อาจจะเป็นของธรรมดาขึ้นทีละเล็กละน้อยจนเข้าใจได้ ข้อความทั้งหมดนี้สรุปได้เป็นคำกลอนดังต่อไปนี้
จากอนันต์ สู่อนันต์ นั้นเห็นยาก คนโดยมาก งันงง ตรงความหมาย
ไม่สิ้นสุด ทั้งฝ่ายเกิด และฝ่ายตาย ภาษาคน ไม่ขวนขวาย มาฟังยิน
จึงต้องเทียบ เปรียบกับ เสียงระฆัง คือมันดัง ออกมาได้ ไม่รู้สิ้น
และออกมา เรื่อยเรื่อยไป ได้อาจิณ คือไม่รู้ เต็มถิ่น อากาศกาล
เหมือนสังขตะ ธรรมธาตุ ปรุงแต่งกัน เนืองอนันต์ มิรู้สิ้น สายสังขาร
ปรุงออกมา นานนับ กี่กัปป์วาร อวสาน นั้นไม่มี ที่เหตุมูล
แม้ธรรมธาตุ อสังขตะ สุญญตา เป็นอนันต์ เสมอมา ไม่ขาดสูญ
เป็นที่ดับ แห่งสังขาร แต่กาลบูรพ์ ไม่เต็มนูน เพราะอนันต์ นั่นแหละเอย ฯ
คำที่ฟังยาก ก็คือเรื่องอนันต์สู่อนันต์นี้คนเขาไม่ค่อยพูดกัน ไม่ได้ยินใครเขาพูดกันว่าจากอนันต์สู่อนันต์ เราจึงต้องเอามาใคร่ครวญดูเป็นพิเศษโดยวิธีของเรา จึงต้องเปรียบกับเสียงระฆังที่ดังออกมาไม่รู้จักสิ้นสุด ดังออกมาได้ไม่มีที่สิ้นสุด และดังออกไปในอวกาศ อวกาศก็ไม่รู้จักเต็ม นี่จากอนันต์สู่อนันต์ อนันต์ฝ่ายสังขตะหรือสังขารนั้นเป็นอนันต์หลอกๆ คือปรุงแต่งเสียนั่นเอง ปรุงแต่งได้ไม่มีที่สิ้นสุด อนันต์ฝ่ายอสังขตะเป็นของมีอยู่จริงตลอดอนันตกาล คือไม่รู้จักเต็มเพราะการปรุงแต่งแห่งสังขาร ที่ดับเป็นที่ดับแห่งสังขาร ไม่เต็มเพราะมันเป็นอนันต์นั่นเอง อุปมานี้อาจจะช่วยได้มากหรือช่วยให้เข้าใจได้ง่าย จึงขอร้องให้ท่านทั้งหลายพยายามที่จะสังเกต ศึกษา กำหนด พินิจ พิจารณา อยู่เป็นประจำทุกคราวที่ได้ยินเสียงระฆังเมื่อไหร่ ก็ขอให้ระลึกนึกได้ถึงเรื่องนี้ด้วยกันจงทุกๆ คน
ภาพที่ปรากฏอยู่นี้เรียกว่า ภาพของเสียงตบมือข้างเดียว เสียงของมือที่ตบข้างเดียว เสียงของมือที่ตบข้างเดียว ฟังดูก็ชวนให้งงเต็มที่ ตบข้างเดียวจะตบได้อย่างไร จะดังได้อย่างไร ก็คอยดูต่อไป มือโง่มันมัวตบอยู่ข้างเดียว หรือจะเป็นมือฉลาดที่รู้จักตบได้โดยไม่ต้องมีมืออีกข้างหนึ่ง ขอให้ดูรายละเอียดในภาพนี้ด้วยว่า มือข้างหนึ่งมีลักษณะตบ มืออีกข้างหนึ่งไปกำเอาธูปไว้ พระพุทธรูปอยู่ตรงกลาง มีเครื่องบูชาพระพุทธรูปครบถ้วน ทำไมเรียกว่ามือตบข้างเดียว เพราะว่ามืออีกข้างหนึ่งมันไม่ยอมตบด้วย
ภาพนี้เป็นภาพของความที่จิตไม่รับเอาอารมณ์มาปรุงแต่งให้เป็นเรื่องเป็นราวอย่างนั้นอย่างนี้ ผู้ที่เรียนรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทมาแล้ว ก็จะรู้ได้เองว่าใจความสำคัญมันมีอยู่ที่ว่า เมื่ออายตนะภายในกับอายตนะภายนอกซึ่งเป็นของคู่กัน มาถึงกันเข้า จนเกิดวิญญาณรู้แจ้งขึ้นที่นั่นอยู่อย่างนั้น เรียกว่าเป็นการสัมผัส คือการกระทบกันระหว่างอายตนะภายในและอายตนะภายนอก แล้วรู้สึกอยู่ รู้สึกอยู่ อย่างนี้เรียกว่ากระทบกันของทั้งสองข้าง เป็นผัสสะแล้ว ก็ปรุงเป็นเวทนา ยินดียินร้าย แล้วก็ปรุงเป็นตัณหาไปตามยินดียินร้าย แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นความหมายนั้นไปตามความยินดียินร้าย ความยึดมั่นนั่นเองปรุงให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวกูผู้ยึดมั่น และยึดมั่นเอามาเป็นของกู ความยึดมั่นจึงมีทั้งตัวกูและของกู ผลก็คือมีความทุกข์เพราะความยึดมั่น นี่เรียกว่ามือมันตบสองข้างตามธรรมดาสามัญ ไปจบลงที่ผลคือความทุกข์ อันเป็นผลของการปรุงแต่งไปตามลำดับ
ทีนี้ถ้าว่ามือข้างหนึ่งมันไม่ตบด้วย เช่นว่า มีตาถึงกันเข้ากับรูป ก็ไม่รับเอารูปมาเป็นที่ตั้งของการปรุงแต่งไปตามลำดับเหมือนกรณีธรรมดาสามัญทั่วๆ ไป หูได้ยินเสียงก็ไม่เอาเสียงมาปรุงแต่งให้เกิดเป็นเรื่องเป็นราวไปตามธรรมชาติฝ่ายกิเลส จมูกได้กลิ่นก็ไม่เอามาปรุงแต่ง ลิ้นได้รสก็ไม่เอามาปรุงแต่ง ร่างกายได้สัมผัสผิวหนังก็ไม่เอามาปรุงแต่ง จิตได้ความรู้สึกคิดนึกอารมณ์อะไรๆ ก็ไม่เอามาปรุงแต่ง มันกลายเป็นมีอยู่ข้างเดียวอย่างนี้ มันก็เลยไม่มีเรื่องไม่มีการปรุงแต่งไปตามลำดับจนเกิดความทุกข์ มือข้างหนึ่งไปถือธูปเสีย คือไปถือธรรมะเสีย ไปเป็นธรรมะเสีย มีความรู้ความฉลาดอย่างพอตัว ในอีกข้างฝ่ายหนึ่งมีพระพุทธรูปหรือพระพุทธเจ้าอยู่ตรงกลาง เป็นเครื่องทำให้เกิดความรู้สำหรับการที่จะไม่กระทบกันหรือจะไม่ปรุงแต่งกัน
คำสอนในพระพุทธศาสนา มีใจความหัวใจสั้นๆ ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นของตน ถ้าธรรมะนี้เข้ามา ธรรมะข้อนี้เข้ามา การปรุงแต่งก็จะไม่มี เพราะจะรู้สึกเกลียดหรือกลัวการปรุงแต่งที่จะทำให้เกิดความทุกข์ ในที่สุดก็ไม่มีความทุกข์ ไม่ทำการปรุงแต่งให้เกิดความทุกข์
ทีนี้ที่เอามาอุปมาให้น่าตกใจ คืออุปมาเป็นเสียงของมือที่ตบข้างเดียว ก็สำหรับผู้ที่มีปัญญาลึกซึ้งเพียงพอ จะคิดได้จะมองเห็นได้ว่า เสียงที่ตบด้วยมือข้างเดียวนั้น เสียงที่ตบของมือข้างเดียวนั้น มันเป็นเสียงของการไม่ปรุงแต่ง เป็นเสียงของพระนิพพาน ดังก้องอยู่ทั่วจักรวาลตลอดอนันตกาลทั้งปวง ไม่จำกัดสถานที่และเวลา นี่เอากับเสียงของมือที่ตบข้างเดียว ถ้าเสียงของตบมือสองข้างของคนโง่ๆ อะไรมาก็รับ อะไรมาก็รับ อะไรมาก็รับ มันตบมือสองข้างก็ดังเปาะแปะๆ อยู่ที่ตรงนี้ ไม่อาจจะดังไปทั่วจักรวาลได้ รู้จักเปรียบเทียบกันในลักษณะนี้ก่อนว่าเสียงที่ตบมือข้างเดียวนั้นดังทั่วจักรวาล ดังอยู่ตลอดเวลาอนันตกาลในที่ทุกหนทุกแห่ง ส่วนเสียงของการตบมือสองข้างเปาะๆ แปะๆ นั้นเดี๋ยวมันก็หยุดตบ เดี๋ยวก็ตบ เดี๋ยวก็หยุดตบ เหมือนกับเด็กทำเล่น เราจงรู้จักเสียงของความไม่มีเสียงชนิดนี้กันไว้ให้ดีๆ เสียงของความไม่มีเสียงนั้นดังกว่า กลบเสียงที่มีเสียงตามธรรมดานั้นเสียหมดสิ้น พระนิพพานมีเสียงซึ่งไม่มีเสียง มีเสียงซึ่งไม่เป็นเสียง แล้วกลบความทุกข์ซึ่งมีเสียงรกหูรำคาญหูเสียได้ด้วยเหตุนี้ รู้จักเสียงของมือที่ตบข้างเดียวกันดังนี้เถิดว่ามันดังไกลกว้างไกลสักเท่าไหร่ ข้อความทั้งหมดนี้สรุปได้เป็นคำกลอนซึ่งจะต้องขอร้องให้ท่านตั้งใจฟังอย่างดีเป็นพิเศษ จึงจะฟังออก ดังต่อไปนี้
มือฉันตบ ข้างเดียว ส่งเสียงลั่น มือของท่าน ตบสองข้าง จึงดังได้
เสียงมือฉัน ดังก้อง ทั้งโลกัย เสียงมือท่าน ดังไกล ไม่กี่วา
เสียงความว่าง ดังกลบ เสียงความวุ่น ทั้งมีคุณ กว่ากัน ทางหรรษา
เสียงสงบ กลบเสียง ทั้งโลกา หูของข้า ได้ยิน แต่เสียงนั้น
เสียงของโลก ดังเท่าไหร่ ไม่ได้ยิน เพราะเหตุวิญ- ญาณรับ แต่เสียงนั่น
เป็นเสียงซึ่ง ผิดเสียง อย่างสามัญ เป็นเสียงอัน ดังสุด จะพรรณนา
มือข้างเดียว ตบดัง ฟังดูเถิด แสนประเสริฐ คือจิต ไม่ใฝ่หา
ไม่ยึดมั่น อารมณ์ใด ไม่นำพา มันร้องท้า เย้ยทุกข์ ทุกเมื่อเอย ฯ
คำสำคัญบางคำที่ควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษ ก็มือตบสองข้างดังเปาะแปะ ได้ยินไม่กี่วา มือที่ตบข้างเดียวของจิตใจที่ประกอบไปด้วยธรรมะสูงสุดนั้นได้ยินทั่วโลกและได้ยินตลอดอนันตกาล คือทุกหนทุกแห่งและทุกเวลา เสียงความว่างดังกลบเสียงความวุ่น หมายความว่าการปรุงแต่งของสังขารนั้นเป็นความวุ่น มีเสียงอย่างความวุ่น เสียงความว่างคือเสียงของนิพพานของการไม่ปรุงแต่ง เสียงความว่างที่ไม่มีเสียงนั้นสามารถจะกลบดับเสียงแห่งความวุ่นซึ่งหนวกหูเอะอะๆ เต็มไปหมด มีคุณมากกว่ากัน เสียงความว่างนั้นให้เกิดหรรษาคือความเป็นสุขชนิดแท้จริง ชนิดเยือกเย็นแท้จริง เสียงความวุ่นนั้นล้วนแต่เป็นเสียงที่ออกมาจากความวุ่นวาย ความเร่าร้อน ความโกลาหลวุ่นวายแห่งการปรุงแต่ง คนๆ หนึ่งได้ยินแต่เสียงสงบ เสียงที่ไม่มีเสียง เพราะว่าหูของเขามีสำหรับเสียงนั้น วิญญาณของเขาไม่รับเสียงซึ่งปรุงแต่งของอวิชชาของกิเลสตัณหาหรือของอายตนะที่อยู่ใต้อำนาจของอวิชชา วิญญาณของเขาไม่รับเสียงนั่น แต่เสียงแห่งความไม่มีเสียงนั้น วิญญาณของเขารับได้ดีที่สุด
เสียงที่ไม่มีเสียงหรือเสียงแห่งพระนิพพานนั่น เป็นสิ่งที่อาจจะรู้สึกได้หรือสัมผัสได้ ดังนั้นท่านจึงเรียกว่าเป็นอายตนะอันหนึ่งด้วยเหมือนกัน คือเรียกว่าพระนิพพานนั้นก็เป็นอายตนะอันหนึ่ง จะจัดไว้ในอายตนะทั้งหกก็ได้ เป็นธรรมารมณ์ที่จะรู้สึกได้ด้วยใจ ในเมื่อมีการปฏิบัติถึงที่สุด ดับกิเลสสิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงแล้ว มีธรรมารมณ์ปรากฏแก่จิต คือรสแห่งพระนิพพาน นี้จะเรียกว่าอายตนะก็ได้ ในที่บางแห่งเรียกว่าวิญญาณด้วยซ้ำไป เรียกพระนิพพานว่าวิญญาณในความหมายว่าเป็นสิ่งที่อาจจะรู้แจ้งได้หรือเป็นสิ่งที่ควรจะรู้แจ้งอย่างยิ่ง หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจคำว่าเสียงของมือที่ตบข้างเดียว อันตรงกันข้ามจากเสียงการตบมือสองข้างของเด็กๆ
คำกลอนที่จะอ่านต่อไปนี้ เป็นคำกลอนต่อท้ายเรื่องที่หนึ่งหรือภาพที่หนึ่ง คือภาพที่เรียกว่าพระองค์อยู่หลังม่าน ตอนนั้นไม่ได้ใส่คำกลอนไว้ เพิ่งหาพบ จึงเอามาอ่านไว้สำหรับต่อท้ายคำบรรยายของภาพที่หนึ่งดังต่อไปนี้
ดูให้ดี พระองค์มี อยู่หลังม่าน อยู่ตลอด อนันตกาล ท่านไม่เห็น
เฝ้าเรียกหา ดุจจะเห่าหอน ห่อนหาเป็น ไม่รู้เช่น เชิงหา ยิ่งหาไกล
เพียงแต่แหวก ม่านออก สักศอกหนึ่ง จะตกตะลึง ใจสั่น อยู่หวั่นไหว
จะรู้จัก หรือไม่ ไม่แน่ใจ รู้จักได้ จักปรีดี อยู่นี่เอง
เชิญพวกเรา เอาภาร การแหวกม่าน งดงมงาย ตายด้าน หยุดโฉงเฉง
ทำลายล้าง อวิชชา อย่ามัวเกรง ว่าไม่เก่ง ไม่สวย ไม่รวยบุญ ฯ
คำเข้าใจยากบางคำ มันก็คือว่าแหวกม่านออกสักศอกหนึ่ง หมายความว่าแม้จะยังไม่หมดอวิชชา ไม่สิ้นกิเลสโดยประการทั้งปวง เพียงแต่สิ้นไปบางส่วนเป็นเอกเทศ ก็จะสามารถพบธรรมะหรือพระองค์ในความหมายที่เรียกว่าเป็นธรรมกายได้ นี่จึงเรียกว่าแหวกม่านออกไปเสียสักศอกหนึ่งจะพบว่าพระองค์นั่งอยู่ที่ตรงนั้น คนไปเที่ยวหาเป็นบ้า เที่ยวหาเสียทุกหนทุกแห่งที่นั่นที่นี่ ตลอดจักรวาลก็ไม่พบ เพราะว่ามันอยู่หลังม่านอวิชชาของตัวเอง ฉะนั้นขอให้เราสนใจในภายใน ก็จะพบว่าพระองค์อยู่หลังม่านอวิชชาของเราเอง พระองค์มีได้เองตามลำพังเป็นอิสระ แต่เดี๋ยวนี้ม่านอวิชชาของเราเองมันไปบังเสีย ก็เที่ยวหาที่อื่นอย่างนี้ หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ ที่ว่าเฝ้าเรียกหาดุจจะเห่าหอน ห่อนหาเป็น นี้ นึกดูเองเถิดว่ามันเป็นคำมีความหมายอย่างไร เห่าหอนนั้นเป็นเรื่องของสุนัข สุนัขมันก็เห่าและหอนเรียกหากัน จนกว่าจะพบ เดี๋ยวนี้คนก็เฝ้าเรียกหา เรียกหาพระองค์ มีผลเหมือนกับสุนัขที่เห่าหอน หาไม่เป็น เพราะว่ามันมีอวิชชามาบังเสีย เข้าใจคำว่าแหวกม่านสักศอกหนึ่งให้ดีๆ แล้วจะพบว่าอยู่นี่เอง อยู่นี่เอง อยู่ตรงนี้เอง ก็จะตะครุบเอาได้ หยุดงมงายเที่ยวหาที่นั่นที่นี่ หาทั่วจักรวาล หยุดโฉงเฉงคือหยุดขี้เกียจหยุดเหลวไหล โดยมุ่งทำลายอวิชชาท่าเดียว อวิชชาหมดไปเท่าไหร่ พระพุทธองค์ก็จะปรากฏออกมาเท่านั้น ขอให้เข้าใจคำว่าพระองค์อยู่ที่หลังม่านในลักษณะอย่างนี้
ภาพต่อไปนี้ เป็นภาพแสดงความหมายอันตื้นลึกของเสียงที่เรียกว่าการเผยแผ่ เผยแผ่ธรรม เผยแผ่ศาสนา หรือจะเผยแผ่เรื่องอะไรก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องการเผยแผ่ วิธีธรรมดาสามัญที่สุดก็คือภาพนี้ เป็นภาพที่การพูดให้ฟัง พูดให้ฟัง ให้ได้ยินให้ได้เข้าใจ นี้ประหลาดหน่อยว่า ให้ผู้พูดแสดงท่าได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าจะมีการด่าผู้ฟังบ้าง ก็ยังทำได้ การบรรยายที่เป็นการด่าหรือเป็นการกระทบกันบ้างนั้น มีผลดีกว่าที่จะพูดกันตามธรรมดาอย่างไพเราะ วิธีเผยแผ่อย่างพูดให้ฟังอยู่นี้ ก็เปิดโอกาสให้ผู้พูดแสดงกิริยาท่าทางน้ำเสียงหรือบทบาทอะไรได้ตามพอใจ ขอแต่ให้ผู้ฟัง ฟังให้ดีที่สุดทุกรูปแบบ
ทีนี้แบบต่อไป ก็เป็นภาพการเผยแผ่ด้วยดนตรีประกอบ ภาพนี้เป็นภาพความหมายของการเผยแผ่ด้วยการใช้ดนตรีประกอบ ภาพนี้เป็นภาพความหมายของการเผยแผ่ที่ใช้ดนตรีประกอบ ไม่เฉพาะแต่ดนตรี จะเป็นบทเพลงหรือบทร่ายรำก็ใช้เป็นอุปกรณ์ของการเผยแผ่ได้ทั้งนั้น เป็นเครื่องช่วยกระตุ้นบางสิ่งบางอย่างให้เข้าใจความหมายลึก ท่านผู้ดูจะต้องสังเกตให้เห็นเสียก่อนว่า ภาพนี้มันเป็นภาพอะไร คือเป็นภาพหีบเพลงชัก สองคนหรือสองเครื่อง และมีตีกลองอยู่อีกใบหนึ่ง รวมกันแล้วก็เป็นดนตรีตามแบบของความมุ่งหมายอันนี้ ธรรมะอันลึกซึ้งมีความไพเราะอย่างดนตรีซ่อนอยู่ในนั้นด้วยเสมอไป ไม่ใช่ดนตรีอย่างเป็นบทเพลงเสียงโน้ตสูงต่ำ เป็นดนตรีที่จะต้องเรียกว่าทางนามธรรมหรือทางวิญญาณ คือความไพเราะแห่งความหมายอันลึกซึ้งของบทพระธรรมนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเช่นเรื่องพระนิพพาน ถ้ามีการบรรยายความหมายได้ลึกซึ้งถึงที่สุด จะมีความไพเราะอย่างยิ่งรวมอยู่ในนั้นด้วย เหมือนกับความไพเราะแห่งดนตรี เหนือดนตรี ยิ่งกว่าดนตรี เพราะฉะนั้นเรื่องของดนตรีจึงเอามาผนวกกันเข้าได้กับเรื่องของการเผยแผ่ธรรมะ แต่คงจะเป็นการลำบากบ้าง เพราะว่าคนก็ฟังดนตรีอย่างดนตรี ไม่สามารถจะเข้าถึงดนตรีของธรรมะพร้อมกันไปกับการฟังเสียงดนตรีของดนตรีธรรมดา
ผู้มีปัญญาพยายามศึกษาให้เข้าใจธรรมะลึกซึ้ง จนได้พบดนตรีแห่งความหมายของธรรมะแต่ละข้อๆ ซึ่งจะมีอยู่ทุกข้อไป สูงต่ำเป็นลำดับกันไป อย่างง่ายๆ ก็เป็นดนตรีต่ำๆ สูงขึ้นไปก็เป็นดนตรีที่สูงขึ้นไป ในปัจจุบันนี้เขาใช้ดนตรีเป็นเครื่องช่วยในขณะที่เผยแผ่ธรรมะอยู่ทั่วๆ ไปในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะในโบสถ์ของกฤษณะ เมื่อเขาสวดคัมภีร์ภควัทคีตาหน้ารูปกฤษณะก็มีดนตรีตุ๊งตั๊งๆ ช่วยประกอบด้วย ดนตรีนั้นฟังดูแล้วรู้สึกว่าช่วยทางสมาธิเป็นข้อแรก คือเป็นจังหวะที่ทำให้จิตกำหนดเป็นสมาธิได้ แล้วก็มีความหมายในขั้นต่อไปก็เป็นเรื่องของความรู้หรือสติปัญญา หวังว่าผู้มีความสามารถจะได้ลองใช้ดนตรีเป็นอุปกรณ์ในการเผยแผ่ธรรมะ หรือจะเรียกว่าเป็นการระบายความรู้สึกชั้นสูงชั้นลึกโดยอาศัยดนตรีเป็นเครื่องมือประกอบ
ต่อไปนี้ก็เป็นการเผยแผ่โดยสัญลักษณ์ของการหุบปาก ภาพนี้เป็นภาพการเผยแผ่ด้วยการหุบปาก ท่านต้องดูโดยเฉพาะในภาพนี้ที่ตรงปาก ที่ตรงปากที่หุบ หุบจนแก้มจะปริ คนพูดนั้นหุบปาก ดูเหมือนจะเรียกกันว่าไซเลนท์ ธันเดอร์ หรือธันเดอร์ ไซเลนท์ (Silent Thunder) การหุบปากที่มีเสียงดังเท่ากับฟ้าผ่า ธรรมะชั้นลึกนั้นไม่สามารถจะบรรยายได้ด้วยเสียงหรือด้วยอย่างอื่นใด เพราะว่ามันมีลักษณะชนิดที่บรรยายไม่ได้ คนที่ได้เคยฟังเรื่องเต๋าเต๋จิง บทแรกที่มีว่า เต๋าที่เอามาบรรยายได้ ไม่ใช่เต๋า นี่ก็มีความหมายอย่างเดียวกันว่าต้องบรรยายด้วยการหุบปาก หุบปากมากเข้าๆ ก็แสดงว่ามันบรรยายออกเป็นเสียงเป็นคำเป็นความหมายของถ้อยคำไม่ได้ ทีนี้คนฟังก็คิดดู มันคงจะเป็นการลำบากสำหรับคนธรรมดาสามัญที่จะฟังเสียงของการหุบปาก
นิทานสั้นๆ เรื่องเกี่ยวกับอาจารย์เซนให้ลูกศิษย์มาแสดงความรู้ที่ได้รับจากอาจารย์โดยสรุป สรุปว่าอย่างไร ก็มีคนมาแสดงว่าอย่างนั้น แสดงว่าอย่างนี้ แสดงว่าอย่างโน้น อาจารย์ว่าไม่ใช่ๆ ลูกศิษย์คนสุดท้ายมายืนตรงหน้าแล้วก็หุบปากสนิท อาจารย์บอกว่าถูกแล้วๆ แกเข้าใจแล้ว ซึ่งหมายความว่ามันบรรยายเป็นคำพูดไม่ได้ มันต้องแสดงความหมายด้วยการหุบปาก ความหมายที่แสดงด้วยการหุบปากนั้น มันมหาศาลๆ ถ้าจะถือว่าเป็นเสียง ก็เป็นเสียงเหมือนกับฟ้าฝ่าฟ้าร้องเลย นี่เดี๋ยวนี้เราพูดมันมากเกินไป ก็พูดกันจ้อเป็นนกแก้วนกขุนทอง มันก็ได้แต่ตัวหนังสือ หรือคำพูดท่องจำ จำแล้วก็ลืม ลืมแล้วก็จำ จำแล้วก็ลืม ท่องๆ จำๆ กันอยู่อย่างนั้น เป็นธรรมะตื้นๆ ทั้งนั้น ธรรมะประเภทอสังขตะ ที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้นั่นแหละ มันแสดงไม่ได้ด้วยคำพูด ไม่รู้จะพูดว่าอย่างไร ในที่สุดปากมันก็นิ่ง มันก็หุบของมันเอง ในใจของผู้แสดงนั้นเขารู้ เขามีใจความมีเนื้อความอยู่ในใจ แต่พูดออกมาเป็นเสียงไม่ได้ ส่วนคนฟังนั้นดูจะเหลว เพราะเดาไปไม่ถูก เว้นเสียแต่จะมีการศึกษาหรือมีความรู้ชนิดที่ทัดเทียมกัน รู้ได้โดยใจถึงใจว่าเขาจะพูดว่าอะไร ยุคนี้สมัยนี้ไม่มีใครที่จะใช้การเผยแผ่โดยการหุบปาก ขอให้นึกดูว่ามันมีการเผยแผ่ด้วยเสียงด้วยตัวหนังสือ สิ้นกระดาษแต่ละวันๆ ในโลกนี้ วันหนึ่งๆ มหาศาลทีเดียว แล้วมันก็ยังสื่อสารไม่ได้ถึงส่วนลึกที่สุดของธรรมะ รวมความว่าธรรมะชั้นสูงสุดนั้นมันบรรยายเป็นคำพูดหรือเป็นตัวอักษรไม่ได้ จึงใช้บรรยายด้วยการหุบปาก
ขอให้สนใจธรรมะที่ต้องบรรยายด้วยการหุบปากนี้ให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป จนกว่าจะถึงขนาด เอ้า,ดูปากกันอีกที ดูปากที่หุบนั้นอีกที มันหุบกี่มากน้อย มันหุบสนิทกี่มากน้อย บางทีเราน่าจะเขียนเป็นรูปปากของอึ่งหรือคางคกบ้าง เพราะปากของอึ่งนั้นหุบสนิทจนเกือบจะไม่เห็นรอยต่อ และก็จำไว้ว่าการเผยแผ่ที่ลึกซึ้งนั้นไม่ต้องใช้เสียง เพราะมันไม่อาจจะใช้เสียง เพราะมันไม่มีเสียงที่จะใช้ได้ ไม่มีตัวหนังสือที่จะใช้ได้ จึงต้องกระทำด้วยการหุบปากอันสนิท และอย่าลืมว่าเขาเรียกกันว่าเงียบอย่างฟ้าร้อง เสียงที่เงียบอย่างเสียงฟ้าร้อง นั่นแหละคือเสียงที่เผยแผ่ด้วยการหุบปาก
ภาพต่อไปก็เป็นภาพการเผยแผ่เหมือนกัน เป็นการเผยแผ่ในอีกความหมายหนึ่ง ท่านต้องดูภาพนั้นให้ออกเสียก่อนว่ามันเป็นภาพอะไร คือคนสองคนจ้องดูกระดาษเปล่า กระดาษยาวเหมือนกับผ้าขาวที่เป็นชิ้นยาว เป็นกระดาษเปล่า แล้วเขาก็ดูๆ ดูกันที่กระดาษเปล่า ถ่ายทอดกันทางกระดาษเปล่า นี้เป็นการเผยแผ่ในอันดับสุดท้าย คือเผยแผ่เรื่องสุญญตาหรือความว่าง แผ่นผ้าหรือกระดาษเปล่านี้มันก็แสดงความหมายว่าว่าง,ว่าง,ว่าง มันไม่มีตัวหนังสือ แล้วมันก็ไม่ทำเสียงอะไรด้วย ถ้าดูเข้าไปที่ความว่างแล้วเห็นความว่าง นั่นแหละเห็นธรรมะที่เขาต้องการจะเผยแผ่
กระดาษเปล่านั่นแหละบรรยายความจริงอันลึกซึ้งสูงสุดคือเรื่องสุญญตา แผ่นกระดาษที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือทั้งเขียนทั้งพิมพ์อะไรเลอะเทอะไปหมด นั่นมันก็ไม่แสดงอะไรมากไปกว่าสิ่งซึ่งยังไม่ว่าง เพราะกระดาษมันยังไม่ว่างอย่างไรล่ะ ถ้ากระดาษมันว่าง ก็หมายความว่ามันไปกันจนถึงระดับว่างแล้ว ถ่ายทอดความรู้โดยใช้กระดาษว่าง แล้วก็ให้คนที่รับการถ่ายทอดดูกระดาษที่ว่าง แล้วก็ทำในใจอย่างแยบคายด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ่ายความว่างให้แก่กันและกัน อย่างนี้ยิ่งกว่าจิตว่างเสียอีก คือมันเป็นตัวความว่างทั้งหมดทั้งสิ้น แต่มันก็ไม่แคล้วที่ว่าจะต้องเป็นจิตว่างด้วยเหมือนกัน มันจึงจะเห็นความหมายในกระดาษเปล่า เห็นความหมายมหาศาลในความว่าง ถ้าจิตมันไม่ว่าง มันก็ไม่สามารถจะเห็นความหมายอะไรๆ ในกระดาษที่ว่าง ขอให้พยายามเข้าใจความหมายของวิธีการอย่างนี้ ซึ่งพูดไปแล้วบางคนก็จะเห็นว่าบ้าๆ บอๆ พูดอะไรบ้าๆ บอๆ แต่ความจริงมันเป็นเรื่องสุดท้ายสูงขึ้นไปกว่าธรรมดา มันก็ดูเหมือนกับว่าบ้าๆ บอๆ มันช่วยไม่ได้ นี่ขอชักชวนอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าจะทำการเผยแผ่กันในระดับสูงสุดแล้ว จงเผยแผ่เรื่องความว่าง