แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : ....อาจารย์สัญญาฯ.... (เสียงเบามากค่ะ) มานานเป็นศตวรรษแล้ว อะไรทำนองนี้ ท่านอาจจะเล่าไปเรื่อยๆ และในระหว่างที่ท่านเล่านั้น ถ้าผมเห็นว่ามีประเด็นอะไรที่น่าจะซักเพิ่มขึ้น ผมจะกราบเรียนถามเพิ่มขึ้นในภายหลัง เป็นช่วงๆไป เค้าโครงอีกส่วนหนึ่งก็คือว่า กระผมจะเก็บๆกล่าวนำนำว่า เคยเห็นท่านเจ้าคุณอาจารย์พูดถึงอย่างเจ้าคุณลัดพลีนะครับ อันที่จริงกระผมเห็นในหนังสืองานศพเจ้าคุณลัดพลีเอง ที่ท่านได้เขียนถึงว่า เจ้าคุณลัดพลีท่านเป็นคนที่ร่าเริงอยู่ในธรรม คะนองอยู่ในธรรม รู้สึกลูกชายท่าน ท่านอาจารย์ท่านได้เป็นผู้ตั้งชื่อให้หมดนะครับ ทั้งรุ่งธรรม เริงธรรม
ท่านพุทธทาส : ไม่ใช่หมด บางๆๆคน
ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าหากว่าท่านเจ้าคุณอาจารย์จะพูดถึงอาจารย์สัญญาฯนี่ ท่านๆจะพูดถึงในส่วนใด เพราะฉะนั้นตรงนี้มันก็จะเข้าสู่ธรรมะ ถ้าจะยกธรรมะใดก็ตามครับขึ้นเป็นข้อตั้งแต่ นิมนต์ท่านว่าไป แล้วกระผมจะๆเรียนถามเป็นจุดๆไป เค้าโครงมันก็อยู่ ๒ เรื่องใหญ่
ท่านพุทธทาส : ประโยชน์นี่ส่วนใหญ่มีอยู่ที่ตรงไหนล่ะคุณว่า
ผู้ดำเนินรายการ : ส่วนใหญ่อยู่ที่ธรรมะครับ ธรรมะครับ แต่ว่าขอให้เปิดฉากตรงที่อาจารย์สัญญาฯสักนิดหนึ่งครับ แล้วก็ไปที่ตัวธรรมะ
ท่านพุทธทาส : เพราะว่าธรรมะในคุณสัญญาฯ ธรรมะจากคุณสัญญาฯ ธรรมะที่
ผู้ดำเนินรายการ : ครับผม
ท่านพุทธทาส : หาได้จากคุณสัญญาฯ
ผู้ดำเนินรายการ : ครับผม หรือธรรมะอันที่ๆๆอาจารย์สัญญาฯท่านปฏิบัติ ท่านเชื่อ หรือแม้แต่เป็นธรรมะแล้วแต่ และช่วงหนึ่งตอนท้ายท่านอาจจะกล่าวถึงธรรมะอื่นๆทั่วๆไปก็ได้
ท่านพุทธทาส : เวลาทั้งหมดเท่าไหร่ ประมาณ
ผู้ดำเนินรายการ : ประมาณอีกไม่น้อยกว่า ๔๐ นาที ครับผม มันจะมีทีนี้เผอิญเทปมีม้วนละ ๒๐ นาที มันไปถึงช่วงละ ๒๐ นาทีแรก ก็ต้องหยุดเพื่อเปลี่ยนเทป กระผมจะกราบเรียน
ท่านพุทธทาส : แล้วนี่ๆ ขอพัก ขอพัก
ผู้ดำเนินรายการ : ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ฯพณฯประธานองคมนตรี จะเจริญอายุได้ ๗ รอบนักษัตรในปีนี้บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย รวมทั้งผู้ที่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้พิพากษาตุลาการน้อยใหญ่ทั้งหลาย ต่างก็เกิดความปีติโสมนัส และคิดจะทำการอะไรสักอย่างหนึ่งที่เป็นการแสดงกตเวทิตาคุณต่อท่านอาจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ขณะเดียวกันก็ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทั่วๆไปด้วย ซึ่งในการนี้ก็มารำลึกขึ้นได้ว่า การที่ท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เจริญอายุได้ถึงปูนนี้นั้น ท่านเป็นทั้งรัตตัญญู และเป็นทั้งผู้ที่เรียกกันว่าสัพบุรุษโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็เป็นที่ทราบกันว่าเป็นสหายในทางธรรมะของท่านเจ้าคุณอาจารย์ ก็มาถกความคิดกันอยู่ในบรรดาหมู่ศิษย์ทั้งหลายครับผมว่า ถ้าหากว่าจะได้นำเอาเรื่องของท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมะที่ท่านอาจารย์สัญญาฯ ปฏิบัติหรือนับถือเลื่อมใสอยู่มาพูดคุยกันก็จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนโดยทั่วๆไปเป็นอย่างยิ่ง ปัญหาอาจจะเกิดขึ้นในตรงนี้ว่า ถ้าอย่างนั้นเหตุใดจึงต้องมากราบเรียนขอความรู้จากพระเดชพระคุณ ที่เป็นเช่นนี้กระผมเข้าใจว่ามีสุภาษิตฝรั่ง ซึ่งคนไทยก็ออกจะเลื่อมใสอยู่ข้อหนึ่งว่า ถ้าหากอยากจะรู้ว่าใครเป็นคนอย่างไรนั้นให้ดูว่าเขาชอบอ่านหนังสืออะไร ถ้าอยากจะรู้ว่าเขาคิดอะไร ก็ให้ลองดูว่าเขาชอบพูดถึงเรื่องอะไร ถ้าหากอยากจะรู้ว่าเขาเป็นคนนิสัยใจคออย่างไร ก็ให้ดูว่าเขาคบคนชนิดไหน ในส่วนของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์นั้น ท่านอาจจะอ่านหนังสือมากเล่ม อาจจะเคยพูดคุยหรือสอนอะไรเอาไว้มาก และอาจจะคบคนมากหน้าหลายตา แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นที่ทราบกันอยู่ก็คือว่าเมื่อมีโอกาสใดที่ท่านจะต้องสอนหรืออธิบายสิ่งใดก็ตามท่านจะกล่าวถึงคำว่าอาจารย์ของผมอยู่เสมอ และเมื่อกราบเรียนซักไซ้ท่านอาจารย์สัญญาฯต่อไปว่า ใครคืออาจารย์ของท่านก็จะได้คำตอบว่า คือพระเดชพระคุณนี่เองครับ กระผมยังจำได้ว่าเมื่อ ๑๘ ปีที่แล้วขณะที่ท่านยังอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดกล้าโปรดกระหม่อมให้ท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนั้น ในระยะเวลาไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมงต่อมา เมื่อหนังสือพิมพ์ไปถามท่านอาจารย์สัญญาฯว่าท่านอยากทำอะไรเป็นสิ่งแรก ท่านตอบว่าท่านอยากไปกราบอาจารย์ของท่านที่สวนโมกข์ ซึ่งผลสุดท้ายท่านจะได้มาหรือไม่ก็ตามที แต่นั่นก็แสดงความผูกพันอะไรกันอยู่บางอย่าง จากจุดเหล่านี้เองทางกระทรวงยุติธรรมจึงคิดว่า น่าจะได้นำเอาปัญหาเรื่องธรรมะต่างๆที่ท่านอาจารย์สัญญาฯปฏิบัตินั้นมาพูดคุยกันเสียในโอกาสอย่างนี้ และผู้ที่เหมาะที่สุดที่จะวิสัชนาหรือขยายความในธรรมะข้อนั้นก็คือท่านเจ้าคุณอาจารย์ ในลำดับแรกกระผมขอกราบเรียนถามถึงความสัมพันธ์หรือความคุ้นเคยที่ท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ มีต่อสำนักสวนโมกข์นี้ ดังที่ได้ทราบว่าต่อเนื่องยาวนานกันมากว่ากึ่งศตวรรษว่าเป็นอย่างไร และจุดเริ่มต้นนั้นอยู่ตรงไหนประการใดครับผม
ท่านพุทธทาส : นี่ก็กล่าวได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าธรรม ไอ้ธรรมะนั่นเองที่ได้ทำให้เกิดการเกี่ยวข้องผูกพันสัมพันธ์อะไรกันมา สิ่งที่เรียกว่าธรรมนั่นแหละ ถ้าจะพูดถึงอาจารย์สัญญาฯ มันก็ต้องเอาชื่อของท่าน เอานามสกุลของท่านน่ะออก สัญญาและธรรมศักดิ์ ท่านมีธรรมะเป็นศักดิ์ อ่า, ท่านมีธรรมะเป็นสัญญา มีสัญญาอยู่ในธรรม ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกับธรรมไปรวมอยู่ที่คำว่าธรรม จึงลงสันนิฐานว่าเมื่อท่านได้ยินคำว่าสวนโมกข์มีขึ้นมาเพื่อจะ อ่า,เผยแผ่ธรรมะ ฟื้นฟูธรรมะ สะสางธรรมะ ท่านก็ชอบใจ ท่านก็พอใจท่านก็เขียนมาติดต่อ แล้วท่านก็ได้ติดต่อเรื่อยมาตลอดมาด้วยอำนาจของสิ่งๆเดียวคือสิ่งที่เรียกว่า ธรรม มันมีเท่านี้ อะไรๆก็สำเร็จอยู่ที่คำว่าธรรม คำเดียวที่เกิดความผูกพันและเกิดการดำเนินงาน เพื่อความเจริญ เพื่อความ อ่า, สันติสุขของโลก ของเพื่อนมนุษย์ มาโดยลำดับ ด้วยอำนาจของสิ่งที่เรียกว่าธรรม เพียงคำเดียว
ผู้ดำเนินรายการ : ครับผม ถ้าหากว่าธรรมะเป็นเครื่องชักนำ อย่างนั้นกระผมเข้าใจว่ามีเรื่องหนึ่งซึ่งเห็นจะไม่ใช่ความลับ เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไป ท่านอาจารย์สัญญาฯเองด้วยซ้ำไปที่เป็นผู้เขียนความข้อนี้ว่า ตัวท่านอาจารย์สัญญาฯนั้น ได้พบกับพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์ จะเป็นครั้งแรกหรือครั้งที่ ๒ แต่เป็นครั้งต้นๆนี่ล่ะเมื่อ ๕๐ กว่าปีมาแล้วที่วัดบวรนิเวศ เมื่อครั้งที่พระโลกนารถ เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ท่านเจ้าคุณอาจารย์จะยังกรุณาจำความข้อนั้น และจะกรุณาเล่าตรงนี้ได้ไหมครับ ถึงเหตุการณ์ที่พระโลกนารถมาที่วัดบวรนิเวศ แล้วท่านอาจารย์สัญญาฯบอกว่า ท่านเจ้าคุณอาจารย์ตอนนั้นนี่ยังเป็นพระผู้น้อย และไปฟังคำอธิบายธรรมะแล้วอาจารย์สัญญาฯเป็นๆล่ามในครั้งกระนั้น
ท่านพุทธทาส : มันก็มันก็เกี่ยวกับพระโลกนารถเสียมากกว่า ครั้งนั้นอาจารย์สัญญาฯคงจะคิดหรือสงสัยแต่เพียงว่า เราควรจะร่วมมือกับพระโลกนารถนั้นสักเท่าไหร่ ทีนี้มันก็มีไม่มีอะไรที่จะตอบคำถามแน่นอนได้ นอกจากว่าไปพูดกันดูสิ ก็ไปหาพระโลกนารถ ท่านก็ไปพูดกันดู พระโลกนารถมีเหตุผลอย่างไรที่จะให้เราไปกับท่าน เราก็มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่ไปกับท่าน มันก็ได้พูดกัน จนในที่สุดว่าเราจะพยายามเผยแผ่ธรรมะที่นี่ มีเหตุผลกว่า ถูกต้องกว่าและจะมีประโยชน์กว่า แล้วเราก็ไม่ได้ไป อ่า, กับพระโลกนารถ อาจารย์สัญญาฯก็ไม่ได้เคี่ยวเข็ญอะไร ก็เป็นอันว่าเสร็จเรื่องกันเกี่ยวกับพระโลกนารถ เพราะการที่ไปบรรยายปาฐกถาธรรมนั้น อ่า, มันก็ต้องมีผู้ที่จะช่วยจัดช่วยอะไรไปตามเรื่อง อาจารย์สัญญาฯช่วยจัดทุกอย่าง ทุกแห่ง ทุกที่ให้มันเกิดความสะดวก เกิดความมีผลดี ก็เป็นผู้จัด ช่วยจัดในเรื่องเกี่ยวการบรรยาย
ผู้ดำเนินรายการ : กระผม มาชั้นรุ่นผมนี่ เห็นจะขาดความรู้ไปแล้วว่าพระโลกนารถนี่เป็นใคร ผมขอความรู้สั้นๆตรงนี้ซักนิดเถอะครับว่า พระโลกนารถที่ว่ากันนั้นในหนังสือก็ดี และที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงบัดนี้ก็ดี เป็นใคร มาจากไหน และมาทำอะไรในประเทศไทยเมื่อ ๕๐ กว่าปีมาแล้วนั้น
ท่านพุทธทาส : เรารู้ได้จากข้อเขียนของท่านน่ะ เพราะเราไม่ได้ไปดู ก็ได้ความว่าท่านเป็นชาวอิตาเลียน ทำงานอยู่ในอเมริกา มีความรู้มีอะไรแล้วก็เกิดความคิดขึ้นมา แล้วมาศึกษาพุทธศาสนา แล้วก็ชอบใจ ชอบใจท่านก็อยากจะเผยแผ่ให้มันทั่วโลก นี่ท่านๆๆใช้คำอย่างนั้น ท่านจึงได้ใช้คำตั้งชื่อตัวเองว่าโลกนารถ มันๆใหญ่โตที่สุด ก็มีแผนการที่ว่าจะชักชวนผู้มีความรู้ทางธรรมะน่ะรวมคณะ ร่วมคณะกับท่าน แล้วก็จะไปเผยแผ่ให้ทั่วโลก โดยตั้งจุดแรกที่ว่าจะไปจากเมืองไทย ผ่านพม่าไปอินเดียไปจนถึงไอ้ศูนย์กลางโบราญแถวแม่น้ำไทกรีส-ยูเฟรตีสอะไรนั่น อิรักอิหร่านเดี๋ยวนี้น่ะ มีแผนการอย่างนั้นน่ะ ว่าจะไปแสดงบทบาทกันให้ใหญ่โตที่นั่น แล้วก็จะไปถึงวาติกันอะไรก็แล้วแต่ ท่านมีความคิดว่าจะเผยแผ่พุทธศาสนาให้ทั่วโลก ก็เลยตั้งตัวเองเป็นโลกนารถซะเลย
ผู้ดำเนินรายการ : ครับผม ขอบพระเดชพระคุณครับ กระผมมาสังเกตจุดหนึ่งครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้อ่านประวัติสวนโมกข์ ที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์เองได้เคยเขียนเอาไว้ในระยะ ๕๐-๖๐ปีเมื่อตอนตั้งครั้งแรก ซึ่งมีความยากลำบากมหาศาลตั้งแต่ยังอยู่ที่ พุมเรียงที่เก่า ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่นี่นั้น มีผู้ที่เป็นสหายธรรมหรือเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในขบวนการครั้งนั้นของท่านเจ้าคุณอาจารย์อยู่พอสมควร แม้ว่าไม่มากนัก แต่กระผมมาแปลกใจตรงที่ว่า มีอยู่จำนวนไม่น้อยในจำนวนที่ไม่มากนักนั้นน่ะนะครับ เป็นผู้พิพากษาตุลาการ อย่างเช่นว่าเป็นพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์และพระคุณดุลยพากย์สุวมัณฑ์ แล้วก็อาจารย์สัญญาฯอาจจะเป็นคนหนึ่งในจำนวนเหล่านั้น มีเหตุอะไรครับที่ทำให้ผู้พิพากษาตุลาการซึ่งปกติก็จะรู้สึกว่าอยู่ในวงการแคบๆวงการหนึ่ง กระโดดออกมาสนใจธรรมะ และสนับสนุนกิจกรรมสวนโมกข์ของพระเดชพระคุณเมื่อ ๕๐-๖๐ปีมาแล้วนั้น
ท่านพุทธทาส : โอ้, ต้องๆถ้าๆๆอยากจะถามอย่างนี้ต้องพูดว่า ๓ ท่านนี้ สนใจธรรมะอยู่ก่อนแล้ว มีความ เอ่อ, ขวนขวายพยายามที่จะรู้ธรรมะ แล้วก็จะปฏิบัติธรรมะ แล้วก็จะเผยแผ่ธรรมะไปตามที่จะทำได้เป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว พอได้ยินว่าสวนโมกข์ทำตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์อันนี้ ท่านก็สนใจ ท่านก็มาติดต่อ ท่านก็มาเยี่ยมเยียน จนมีความสัมพันธ์กันจนตลอดเวลา เรื่องมันมีอย่างนั้นน่ะ คือท่านมีความสนใจธรรมะอยู่ก่อนแล้ว
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ แล้วนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ ความสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่และงอกงามขึ้นมากนั้น นี่ไม่ทราบว่าในระยะหลังนั้นได้พัฒนาไปในลักษณะใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์สัญญาฯ ซึ่งเรากำลังพูดถึงอยู่นี้ ท่านมาสนับสนุนกิจกรรมของสวนโมกข์ หรือเดินทางไปมาหาสู่ หรือมีจดหมายหนังสือมากราบนมัสการ หรือท่านเจ้าคุณอาจารย์มีลิขิตไปถึง กระผมจะไม่ล้วงลงไปในรายละเอียด แต่ว่าความสัมพันธ์อย่างนั้นได้พัฒนาไปในลักษณะใดครับผม
ท่านพุทธทาส : ก็เรียกว่ามีอยู่เรื่อยๆน่ะ ถ้ามีธุระอะไรมีปัญหาอะไร มีคำถามอะไร ท่านก็เขียนถึงกันอยู่เรื่อยๆ บางทีอาตมาก็เข้าไปกรุงเทพน่ะเป็นประจำ ปีหนึ่งครั้งสองครั้งก็พบปะโดยส่วนตัว นี้ก็ได้คุยกัน อ่า,โดยตรงมากกว่าจดหมายซะอีก นี่คือความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุให้ได้ร่วมมือกันแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกัน มันตรงกันในข้อที่ว่าเราจะเผยแผ่หรือส่งเสริมหรือทำความเจริญให้แก่พระพุทธศาสนาในส่วนวิชา คือวิชาการไม่เกี่ยวกับวัตถุ ไม่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ทางวัตถุที่ๆทำกันมาได้มาก เพราะว่ามันมุ่งแต่วิชาการทั้งนั้นแหละ ไม่เคยคิดเรื่องก่อสร้างเรื่องอะไรทำนองนั้น
ผู้ดำเนินรายการ : กระผมเคยเห็นท่านเจ้าคุณอาจารย์พูดและเขียนถึงบุคคลบางท่านที่สนับสนุนกิจกรรมสวนโมกข์มาตั้งแต่เริ่มต้น อย่างเช่นท่านได้พูดและเขียนถึงพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์อดีตประธานศาลฎีกาซึ่งถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว ว่าเป็นผู้รื่นเริงธรรมและคะนองอยู่ในธรรม ถ้าหากว่าท่านอาจารย์จะพูดถึงอาจารย์สัญญาหรือเขียนถึงโดยเอาธรรมะเป็นตัวตั้ง ท่านอาจารย์จะกล่าวอย่างไรครับผม
ท่านพุทธทาส :นี่จะพูดถึงอาจารย์สัญญาฯกันแล้วนะ
ผู้ดำเนินรายการ : ครับผม
ท่านพุทธทาส : อาตมาก็อยากจะพูดเป็นการๆสรุปความให้มันสั้นที่สุด อย่างที่ได้พูดมานิดหนึ่งแล้วว่า ถ้าจะพูดถึงอาจารย์สัญญาฯก็ให้เอาชื่อของท่านกับนามสกุลของท่านมาธรรมศักติ (16.30) เป็นหลักท่านมีธรรมะเป็นศักติ หรือเป็นศักติของธรรมะได้ทั้งสองอย่างนั้น
ผู้ดำเนินรายการ : ครับผม
ท่านพุทธทาส : ท่านก็มีคำว่าสัญญา สำคัญมั่นหมายเป็นหลักยึดก็คือธรรมะ สัญญา ธรรมศักดิ์ มันธรรมสัญญา มันก็ธรรมศักติ ขอให้เข้าใจคำว่าสัญญาให้ดีๆ คำว่าศักติดีๆ ก็หมดๆๆเรื่องเกี่ยวกับอาจารย์สัญญาฯ
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ ถ้าอย่างนั้นกระผมขอคำขยายความในส่วนธรรมะและศักติ ที่พระเดชพระคุณได้พูดถึงนี่น่ะครับ เพื่อความกระจ่างโดยทั่วไป เพราะตรงนี้เราๆคงจะเปลี่ยนจากเรื่องอาจารย์สัญญาฯ ซึ่งเป็นบุคลาธิษฐานมาเป็นธรรมาธิษฐานล่ะ ว่าธรรมะที่คนควรจะต้องปฏิบัติ ซึ่งอาจารย์สัญญาฯอาจจะเป็นคนหนึ่งในจำนวนล้านๆคนที่ปฏิบัติอยู่แล้วและใครๆก็ควรจะต้องปฏิบัติตามอย่างต่อไป ธรรมะที่พระเดชพระคุณเห็นว่ามีอยู่เป็นเรื่องสำคัญและค้ำจุนโลก และเราขาดกันมากในเวลานี้ แต่มีอยู่ในตัวท่านอาจารย์สัญญาฯ ใครทำตามได้อาจจะเป็นสัญญาสองสามกันต่อไปได้นั้น มีประการใดครับผม
ท่านพุทธทาส : นี่ต้องพูดถึงคำว่าศักติ อ่า, กันก่อนไอ้คำว่า ศักติ คำนี้แปลยากนะ เพราะมันมีความหมายกว้าง มันหมายถึงกำลัง พลัง กำลังที่ให้เกิดความสำเร็จ สิ่งที่จะเป็นกำลังให้เกิดความสำเร็จนั้น ในที่นี้ก็คือตัวธรรมะ ธรรมะเป็นศักติ อ่า, ที่ทำให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งอาจารย์สัญญาฯได้ใช้มันตลอดเวลา ใช้เป็นชีวิตจิตใจ ท่านก็มีธรรมะเป็น พละ เป็นกำลังให้ได้เกิดความสำเร็จ แต่พร้อมกันนั้นนะท่านก็เป็นศักติของธรรมะ มี เอ่อ, เป็นศักติของธรรมะซะเอง ธรรมะผ่านทางอาจารย์สัญญาฯให้เกิดความสำเร็จประโยชน์แก่มนุษย์ อ่า, เป็นอันมาก ไอ้ศักติคำนี้มันๆๆก็มีความหมายพิเศษน่ะในทางศาสนาโดยเฉพาะทางฝ่ายมหายานต้องมีศักติ ศักติ บางทีจะเป็นเพศหญิงซะมากกว่าด้วย สำหรับให้เกิดความสำเร็จประโยชน์ แก่มนุษย์ เอ่อ, ทั้งหลาย ศักติ มันๆบอกว่าแปลอย่างนั้นแปลยาก แต่มันมีอำนาจรอบด้านที่จะให้เกิด อ่า, ความสำเร็จ เมื่อต้องการความแข็ง มันก็เป็นความแข็งให้สำเร็จ เมื่อต้องการความอ่อน มันก็มีความอ่อนเป็นเครื่องให้ๆสำเร็จ จะต้องการกันในแง่ไหนกี่แง่กี่มุม มันให้เกิดความสำเร็จซะแล้ว อ่า, สิ่งใดให้เกิดความสำเร็จอย่างนี้ก็เรียกว่า ศักติโพธิสัตว์ก็ดี ตาราก็ดี เป็นศักติของพระพุทธเจ้าสูงสุด อมิตาภะหรืออมิตาภพุทธะ (20.12) ท่านก็มีศักติแผ่มาทางบุคคลให้เกิดความสำเร็จเป็นลำดับๆ ไปมีโพธิสัตว์มากมาย มีตาราผู้หญิงอีกมากมายทำงานคู่กันกับโพธิสัตว์รวมความว่า มันก็พ่วง
ผู้ดำเนินรายการ : ประทานโทษครับ เทปหมด ครับๆเดี๋ยวๆพอเปลี่ยนเทปมา ท่านจะกล่าวต่อไป หรือจะให้ผมกราบถามใหม่ต่อในเรื่องอื่นๆ ท่านจะตอบ
ท่านพุทธทาส : ตอบให้มันจบเป็นเรื่องๆไป
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ ดีครับ
ท่านพุทธทาส : มันต้องพูดถึงคำว่าธรรมน่ะ
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ
ท่านพุทธทาส : ให้สำเร็จประโยชน์
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ เดี๋ยวๆนิมนต์ท่านขยายความต่อไปเลย นิมนต์ครับ
ท่านพุทธทาส : อาจารย์สัญญาฯ มีธรรมะเป็นศักติ เครื่องให้เกิดความสำเร็จประโยชน์เกื้อกูลแก่โลก และท่านเองก็ เอ่อ, กลายเป็นศักติของธรรมะ เพื่อให้ธรรมะมีอิทธิพลมีอะไรไป เอ้อ, ทั่วโลกน่ะ การที่จะไม่มีๆธรรมะเป็นศักติน่ะ แล้วก็กลายเป็นศักติของธรรมะในที่สุด ได้อาศัยบุคคลชนิดนี้ ประเภทนี้ ธรรมะจึงได้เป็นประโยชน์ เอ่อ, แก่คนหรือสัตว์ที่มีชีวิตทั้งโลกน่ะ มันเป็นคำที่มีเกียตินะ ศักติ ศักติเป็นคำที่มีเกียรติ เป็นคุณธรรมชั้นสูงสุด ชั้นมีเกียรติ เป็นธรรมศักติ เป็นศักติของธรรมะ แต่อาตมาสมัครเอาคำต่ำต้อยซึ่งไม่มีเกียรติ ใช้คำว่าทาส เป็นทาสของพระพุทธเจ้า เป็นทาสของพระธรรม แต่เราก็มุ่งหมายประโยชน์อันเดียวกันแหละ จะเป็นทาสหรือเป็นศักติ ก็คือมุ่งหมายจะให้เกิดประโยชน์ เกิดความสำเร็จเป็นสันติสุข เป็นสันติภาพแก่มนุษย์ทั้งปวง คล้ายๆว่าท่านทั้งหลายผู้ใดมีความเคารพนับถือในอาจารย์สัญญาฯ ก็ขอให้ทำตามอาจารย์สัญญาฯในฐานะที่ว่ามีธรรมะเป็นศักติ แล้วก็สำเร็จประโยชน์ แล้วก็กลายเป็นศักติของธรรมะ รับใช้ธรมะต่อไปต่อไป ชีวิตสั้นนิดเดียวไม่พอ การงานมันมีมากมายมหาศาลที่จะทำให้เกิดสันติสุขสันติภาพแก่โลก แต่เราก็ต้องพยายามทำไปตามที่จะทำได้ มีธรรมะเป็นศักติ สำเร็จประโยชน์แล้ว ก็กลายเป็นศักติของธรรมะ สรุปความสั้นๆก็ว่า ขอให้ท่านทั้งหลายยึดธรรมะเป็นหลักปฏิบัติ แล้วก็รับใช้ธรรมะ เผยแผ่ธรรมะ ให้ธรรมะให้เป็นประโยชน์แก่คน หรือสัตว์ที่มีชีวิตทั่วไปทั้งโลก นี่ใจความสำคัญที่เราควรจะปรารภอาจารย์สัญญาฯ แล้วก็ทำให้สำเร็จประโยชน์ในโอกาสพิเศษซึ่งตั้งใจจะกระทำกันสุดสติปัญญาสามารถในตั้งแต่นี้
ผู้ดำเนินรายการ : ขอบพระเดชพระคุณมากครับ เมื่อในตอนท้ายท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้กล่าวถึงการที่ร่วมมือกันเผยแผ่ธรรมะ กระทำธรรมะให้ปรากฏนั้น ขอทักออกไปถึงเรื่องอาจารย์สัญญาฯอีกนึกนิดหนึ่ง เพิ่งนึกขึ้นได้เมื่อสักครู่นี้เองว่า ในระหว่างที่ท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมนั้น ได้กราบอาราธนาพระเดชพระคุณเข้าไปกรุงเทพ แสดงธรรมะในการอบรมผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษาตุลาการ บางครั้งว่ากันหลายวันหลายคืนทีเดียว และต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๗ ๙๘ ๙๙ และเนื่องกันมาอีกหลายปี จนกระทั่งผู้ช่วยผู้พิพากษาที่รับการอบรมธรรมะจากท่านเจ้าคุณอาจารย์ในรุ่นแรกๆ นั้น หลายท่านก็ได้ไต่เต้าขึ้นมาจนกระทั่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาก็มี เป็นประธานศาลฎีกาก็มี เหตุการณ์ในครั้งกระนั้นมีความเป็นมาอย่างไรครับ ที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้เข้าไปเป็นผู้อบรมธรรมะแก่ผู้พิพากษาตุลาการ ซึ่งเห็นจะไม่เคยปรากฏมาในกาลก่อนในประเทศไทย แต่มาปรากฏในบัดนั้น
ท่านพุทธทาส : ถ้าพูดให้มันยุติธรรมแก่อาจารย์สัญญาฯ ก็ต้องพูดว่าหลักการที่จะอบรมธรรมะให้แก่ผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษานี่ มันไม่เคยมีมาก่อนน่ะ มันเพิ่งเคยมีมาเมื่ออาจารย์สัญญาฯเขาเป็นไอ้อะไรล่ะปลัดกระทรวง
ผู้ดำเนินรายการ : ปลัดกระทรวงครับ
ท่านพุทธทาส : ซึ่งวางระเบียบเฉียบขาดขึ้นมาว่า สอบผู้พิพากษาได้แล้ว ก่อนจะรับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษานั้น ต้องได้รับการอบรมธรรมะเสียก่อน กำหนดไว้ ๑๐ ชั่วโมง ๑๐ ครั้ง ๑๐ ชั่วโมง อาจารย์สัญญาฯ เป็นคนแรกที่วางกฎเกณฑ์อันนี้ แล้วอาตมาก็เป็นคนหนึ่งที่สนองไอ้เจตนารมณ์อันนี้ ก็คือช่วยเป็นผู้อบรมธรรมะให้แก่ผู้พิพากษาใหม่จะเป็นผู้พิพากษา เป็นคนแรกยุคแรก ตั้งต้นเมื่อปี ๙๙แล้วก็เรื่อยมาไปเข้าไปช่วยอบรมทุกปีเรื่อยมาถึงราว๑๐ หรือ ๑๑ ปี จนไปไม่ไหว มาตามมาอบรมที่นี่กันบ้าง ๒ - ๓ ปี แล้วก็เลิก พอเลิกเพราะไม่มีแรงแล้ว นี่เรียกว่าอบรมธรรมะแก่ผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษามาประมาณ ๑๓ ปีหรือ ๑๔ ปีจะได้ผลอย่างไร ก็ดูเอาเองว่าผู้พิพากษารู้ธรรมะในการจะรักษาไอ้เกียรติ หรือรักษาไอ้คุณค่าคุณสมบัติของความเป็นผู้พิพากษามา ก็ปรากฏว่าได้ผลดี แล้วยิ่งกว่านั้นมันไม่มันไม่ได้มีผลเฉพาะผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษา เพราะคำพูดที่อบรมนี้ มันเอามาเผยแผ่ แล้วประโยชน์นี้แก่คนทั่วไป ไม่ๆมีขอบเขต นี่โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอ้คำอบรมปีแรกปี๙๙ นั้น มันไปทั่วโลก มันแปลไปหลายภาษาแม้กระทั่งภาษาจีนน่ะ เรียกว่าหนังสือคู่มือมนุษย์มันไม่ใช่เพียงแต่อบรมผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษา กลายเป็นหนังสือคู่มือธรรมะสำหรับศึกษากันทั่วโลก นี่ก็ถือว่ามันเป็นเรื่องที่มันเกิดขึ้นน่ะ ในสมัยที่อาจารย์สัญญาฯเป็นผู้มีอำนาจ แล้วมีกำลังในการที่จะรับใช้ธรรมะด้วยเหมือนกัน เป็นศักติของธรรมะ โดยมี เอ่อ, ธรรมะเป็นศักติ แล้วก็เป็นศักติของธรรมะ เรียกว่าสำเร็จ อ่า,สำเร็จประโยชน์ไม่น้อยทีเดียว
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านเจ้าคุณอาจารย์กล่าวถึงหนังสือเรื่องคู่มือมนุษย์ ผมกำลังอยากจะกราบเรียนถามต่อไปพอดีว่า เมื่อในชนรุ่นหลังๆนี่นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่ได้เป็นผู้พิพากษาตุลาการ อย่างเช่นตัวกระผมนี่ ไปซื้อหาหนังสือมาอ่านก็พบว่า ในการเลือกเฟ้นหัวข้อธรรมะมาอบรมนั้น ไม่ยักกะ (จะ?) เป็นเรื่องของจริยธรรม จรรยาบรรณ ความยุติธรรมของผู้พิพากษาอย่างที่เรานึกสำหรับการไปอบรมผู้พิพากษา แต่เป็นการเลือกเฟ้นหัวข้อคู่มือมนุษย์ที่ใครก็ตาม อาชีพใดก็ตาม อ่านแล้วก็เกิดประโยชน์ อันดับแรกผมกราบเรียนถามว่าการเลือกเฟ้นหัวข้อมาอบรมนั้น เป็นภาระของท่านเจ้าคุณอาจารย์กระทำเองหรือกระทรวงยุติธรรมกำหนดครับผม
ท่านพุทธทาส : อ้าว กระทรวงยุติธรรมเขากำหนดให้อบรมธรรมะ ไอ้วิชาเทคนิคทางกฎหมายทางพิจารณาอรรถคดีนั้น เราไม่มีความรู้เลย ไม่รู้เลย พูดไม่เป็น พูดไม่ได้หรอก ถ้าเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายเกี่ยงกับไอ้พิพากษาตุลาการ แต่ว่าเราถือว่าผู้พิพากษาจะต้องรู้ธรรมะ จะต้องมีธรรมะ จะควบคุมไม่ให้เห ออกไปเป็นอคติเป็นนอกทาง นอกทางที่ควรจะเป็นเรียกว่าอคติ ถ้ามีธรรมะแล้วจะควบคุมป้องกันผู้พิพากษาเหล่านั้นให้คงอยู่ในคติๆ อย่าให้เป็นอคติ นั้นจึงเลือกเอาธรรมะๆๆๆน่ะมาชี้แจง ให้มันมีธรรมะตลอดชีวิตจิตใจ อ่า, ให้มีธรรมะแล้วก็ไม่อคติ เพียงเท่านี้ก็ๆๆๆเต็มๆตามความประสงค์แล้ว ความประสงค์ก็มีอยู่เท่านี้ แล้วมันจึงเลือกเป็นหนังสือธรรมะโดยตรงแล้วก็ใช้ประโยชน์ได้แก่คนทุกคน แม้แต่ชาวนาหลายๆคนก็อ่านหนังสือคู่มือมนุษย์
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ เพราะฉะนั้นผู้พิพากษาซึ่งเป็นมนุษย์ เมื่อได้รู้คู่มือมนุษย์ ก็ได้ธรรมะสำหรับประคับประคองตัวไปได้อย่างสมบูรณ์ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์ครับ มีคำถามที่ๆคนอยากรู้อยู่เหมือนกัน ถ้าได้คำยืนยันตรงนี้ก็จะเกิดความมั่นใจขึ้น การที่ผู้พิพากษาตุลาการตัดสินคดีไปตามพยานหลักฐานและตัวบทกฎหมาย แต่ผลสุดท้ายจำเป็นจะต้องพิพากษาให้จำคุก หรือในที่สุดอาจจะต้องประหารชีวิตจำเลยนั้น จะเกิดบาปเกิดกรรมเกิดเวรขึ้นประการใดหรือไม่แก่ผู้นั้นครับผม
ท่านพุทธทาส : ข้อนี้มันเป็นปัญหาที่เคยมีมาแล้วแต่โบราญ หรือว่ามีในที่หลายๆแห่งแล้ว ในที่สุดมันยุติว่าผู้พิพากษาไม่มีอำนาจสั่งให้ประหารชีวิต แต่มีอำนาจระบุข้อกฎหมายว่า ถ้ามันต้องกันกับตัวบทกฎหมายข้อนั้นข้อนั้นซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิตนั่นน่ะ ถ้าอย่างนี้มันก็ไม่มีบาปกรรมอะไร ผู้พิพากษาเป็นผู้ระบุข้อกฎหมายว่าตรงกับตัวบทที่ว่าต้องประหารชีวิต มันไม่มีเรื่องอะไรที่ทะเลาะวิวาท ขัดใจโกรธแค้นกันกับผู้พิพากษา มันเป็นผู้ระบุความถูกต้องความยุติธรรมตามกฎหมาย ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ยุติธรรม มันจึงไม่มีบาปไม่มีอะไรแก่ผู้พิพากษา ไม่เป็นปาณาติบาตแก่ผู้พิพากษา เพราะไม่มีเจตนาที่จะฆ่าใคร เพียงระบุตัวบทกฎหมายว่ามันต้องกับบทนั้นบทนั้น ข้อนี้ก็ได้ทำความเข้าใจกันดีตอนแรกๆว่าไม่ต้อง อ่า, ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นบาปติดตัว ในการระบุตัวบทกฎหมายที่จะทำให้คนมันตาย นี่คนตายโดยไม่ต้องรอดโดยเราไม่ได้เจตนาจะฆ่าเขา นี่ถือกันเป็นหลักทั่วไปแล้ว
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ กระผมได้แวะมาที่สวนโมกข์หนนี้ ก็ยังเห็นผู้คนมากันอยู่ไม่ขาดสาย ปีหนึ่งๆมีแขกมาเยือนสวนโมกประมาณซักเท่าไหร่ครับผม
ท่านพุทธทาส : ไม่ๆๆๆทราบข้อนี้ เพราะไม่ๆได้ไม่ได้จดไว้ หรือไม่ได้
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ
ท่านพุทธทาส : ก็ว่าประมาณหลายหมื่นคนนะปีๆหนึ่งที่มาตามธรรมดา
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ
ท่านพุทธทาส : ถ้างานพิเศษมันก็มีมากกว่านั้น
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ กระผมพอจะอยู่ในแวดวงอย่างนี้ ก็เคยสังเกตเห็นว่าผู้พิพากษาตุลาการหลายท่านก็ยังนิยมแวะเวียนมา ผู้พิพากษาผู้ใหญ่จะไปราชการที่ไหนผ่านมาทางสวนโมกข์ก็ต้องยังมากราบ ท่านเจ้าคุณอาจารย์อยู่ ท่านอาจารย์องคมนตรีจิตติ ติงศภัทย์ ท่านประธานศาลฎีกาโสภณ รัตนากร ท่านก็ยังแวะเวียนมาอันนี้เป็นตัวอย่าง สิ่งเหล่านี้บางทีอาจจะเป็นผลมาจากการที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเผยแผ่ธรรมะในกระทรวงยุติธรรมในครั้งกระนั้นด้วยรึไม่ประการใด หรือมีความสัมพันธ์กันอยู่ก่อนอย่างไรครับผม
ท่านพุทธทาส : อ้าว มันก็เนื่องกันนี่ เพราะว่าเขาอยากจะรู้ว่าใครสนใจธรรมมะ พูดจาธรรมะ เผยแผ่ธรรมะ พอเขารู้เขาก็มาติดต่อ ส่วนผู้พิพากษาใหม่ที่จะเป็นนั้น เพราะว่าได้เคยทำมาแล้ว เมื่อเช้านี้ก็มาอีกคณะผู้พิพากษาของปีนี้ ผู้พิพากษาใหม่ของปีนี้ เมื่อเช้าก็มาที่นี่ ๔๐ กว่าคนมาขอรับธรรมะอย่างเดียวกัน อาตมาก็ได้คุยด้วยแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งตามธรรมดาพูด ๑๐ ครั้ง นี่ก็เพราะว่ามันยังมีการเกี่ยวพันกันอยู่ หรือว่ามันเป็นที่รู้กันอยู่ว่าที่ไหนพูดธรรมะ สอนธรรมะก็มากัน มาเพิ่มเติมหรือมาขัดเกลาหรือมาแล้ว แต่มีๆอยู่ตลอดเวลาตลอดเวลา
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านอาจารย์ครับในวงการนักกฎหมายนั้นมีคำอยู่คำหนึ่ง ซึ่งยึดถือกันเป็นหัวใจเป็นชีวิตและเป็นวิญญาณ คือคำว่าบริสุทธิ์และยุติธรรม จะทำอะไรก็ตามให้บริสุทธิ์และยุติธรรมไว้ก่อน ตรงนี้ในส่วนของฝ่ายธรรมะนั้น มีข้อที่จะอธิบาย หรือสนับสนุน หรือขยายความคำว่าบริสุทธิ์ยุติธรรมเพื่อให้บังเกิดความฮึกเหิมเชื่อมั่นในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้องประการใดบ้างครับผม
ท่านพุทธทาส : ถ้าใช้คำว่าบริสุทธิ์ยุติธรรมมันต้องแยกเป็น ๒ ซีกนะ บริสุทธิ์ยุติธรรมตามตัวบทกฎหมายนั้นอย่างหนึ่ง บริสุทธิ์ยุติธรรมโดยธรรมชาติ โดยตัวธรรมะแท้ของธรรมชาตินั่นก็อีกความหมายหนึ่ง แต่มันก็เป็นที่เชื่อถือได้ว่า บริสุทธิ์ยุติธรรมตามตัวบทกฎหมาย สำหรับโลกนี้เขาก็อาศัยบริสุทธิ์ยุติธรรมตามธรรมะตามธรรมชาติ นั้นนะเป็นหลัก เอามาเป็นหลักหยิบมาเป็นหลักจึง มันจึงไม่ขัดกันน่ะ คือมีเจตนาบริสุทธิ์ ที่จะหาความบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่เรื่องทางโลกมันจำเป็นที่จะต้องอาศัยพยานหลักฐาน อาศัยตัวบทกฎหมายวางไว้ให้เป็นหลักเป็นเกณฑ์สำหรับจะยึดถือน่ะ ความบริสุทธิ์ยุติธรรมมันจึงอิงอาศัยอยู่กับพยานหลักฐานอยู่มากเหมือนกัน เมื่อผู้พิพากษาเจตนาบริสุทธิ์ผุดผ่องก็ถือว่าแล้ว (35.30)ใช้ได้ บริสุทธิ์ยุติธรรมมันจะผิดความจริงไปบ้าง โดยที่ไม่มีใครรู้นั้น ก็เจตนามันยังบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ถ้าว่าเป็นเรื่องของธรรมะ ธรรมะทำตามธรรมชาติแล้วมันๆยุติธรรมของตัวเองในตัวเอง เอ่อ, ถ้าผิด มันก็ลงโทษ อ่า, ยุ อย่างยุติธรรม คือมีความทุกข์ ถ้าถูกต้องบริสุทธิ์ยุติธรรม มันก็ไม่ต้องถูกลงโทษ มันก็ไม่ต้องมีความทุกข์ ไม่ต้องอาศัยพยานหลักฐานอะไรที่ไหน นี่ก็เรียกว่าเฉียบขาด สำคัญกว่าลึกซึ้งกว่าหรือว่าเหมือนกับพระเจ้าประกาศิตน่ะ ความยุติธรรมในโลกอาศัยกฎเกณฑ์ในความเรื่องของความยุติธรรมของธรรมชาติ อ่า, ของธรรมะ เรื่องเป็นอย่างนี้กันทั้งโลก มันเป็นธรรมะ (36.23) ความจำเป็นที่จะต้องเป็นอย่างนี้
ผู้ดำเนินรายการ : ครับขอบพระเดชพระคุณมากครับ กระผมลงมากราบนมัสการพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์ที่สวนโมกข์ครั้งนี้ ตั้งใจมาแต่แรกว่าจะมาปุจฉาท่านเจ้าคุณอาจารย์เรื่องท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ แต่ได้คำตอบวิเศษยิ่งกว่านั้นขึ้นไป คือได้ธรรมะ เห็นจะตั้งชื่อว่าธรรมศักติกถาก็คงจะได้ เป็นคำตอบกลับมา ผมว่าข้อนี้จะเป็นทั้งของขวัญวันเกิดและพรอันวิเศษแก่ท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และขณะเดียวกันก็จะเป็นประโยชน์แก่บรรดามหาชนโดยทั่วไปที่ได้มีโอกาสชมรายการนี้ หรือสดับตรับฟังธรรมศักติกถาในครั้งนี้ กระผมเชื่อว่าในส่วนตัวของท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์เองนั้นท่านคงไม่ยินดียินร้ายอะไรกับวันเกิด ถ้าหากให้ท่านเลือกทำได้ ท่านคงจะอยากทำบุญล้ออายุเหมือนอย่างที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้เคยทำไว้เป็นตัวอย่างเมื่อ ๔ - ๕ ปีมาแล้วด้วยซ้ำไป แต่บัดนี้เราก็ได้ธรรมศักติกถาที่จะออกไปเผยแผ่ให้บรรดาประชาชนทั้งหลาย โดยเฉพาะศิษยานุศิษย์ ผู้พิพากษาตุลาการ ของท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์เอง นำไปยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ ไม่ว่าในส่วนของความบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ว่าในส่วนของการกระทำการตามหน้าที่ ไม่ว่าในส่วนของการรักษาธรรมะ และเผยแผ่ธรรมะก็ตามที ในท้ายที่สุดนี้กระผมขอกราบขอบพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์อย่างยิ่งครับ ผมเชื่อว่าๆได้ประโยชน์มาก ถ้าไปถอดเทปแล้วขัดเกลาบางส่วนออกมานี่ จะๆๆเป็นประโยชน์
ท่านพุทธทาส : ขอให้เขาใช้คำว่าธรรมศักติ
ผู้ดำเนินรายการ : ครับผม
ท่านพุทธทาส : กับคำว่าธรรมสัญญา
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ
ท่านพุทธทาส : หมายมั่นอยู่ในธรรม มีความสำคัญอยู่ที่ธรรม เหมือนกับธรรมศักติ อาศัยธรรมะเป็นศักติ แล้วก็กลายเป็นศักติของธรรมะไปเสียเลย
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ
ท่านพุทธทาส : ถ้าจะถามความหมายนี้แล้วก็ประโยชน์มหาศาลจะเกิดขึ้นในหมู่มนุษย์
ผู้ดำเนินรายการ : ครอบคลุมหมดทุกอย่าง เรียบร้อยแล้วครับ ทั้งหมดเบ็ดเสร็จ ๒ ม้วน แล้วต่อกันได้ซักกี่นาทีครับ ๓๕-๔๐ ดีครับ ผมๆขออนุญาตไว้ ๒ จุด คือ ๑. อยากเผยแพร่ทางรายการโทรทัศน์นะครับ
ท่านพุทธทาส : มันได้ผล
ผู้ดำเนินรายการ : และประการที่ ๒ ไปถอดเป็นเทป แล้วก็โรเนียว หรือพิมพ์แจกบรรดาผู้พิพากษาทั้งหลาย อะไรนะครับ พิมพ์เป็นหนังสือครับ แต่เป็นเรื่องที่ประสงค์จะทำเป็นเจ้าภาพเอง ไม่เกี่ยวกับท่านอาจารย์สัญญาฯ คือกระทรวงเขาคิดจะทำอะไรสนองคุณท่านที่อาจารย์สัญญาฯรู้เข้า รู้นะครับท่านจะต้องพอใจ ซึ่งก็คือว่าได้ธรรมะส่วนนี้ไป แล้วกระผมก็ถือว่านี่คือพรวันเกิดท่านด้วย
ท่านพุทธทาส : เครื่องๆอันนี้เอามาจากกรุงเทพหรือ
ผู้ดำเนินรายการ : เป็นของช่อง ๑๒ ที่สุราษฎร์ครับผม แต่คราวที่แล้วที่กระผมลงมานั้น เอาลงมาจากกรุงเทพ แล้ว ๒ กล้องก็คุณภาพค่อนข้างดีกว่าเครื่องนี้มาก ๒ กล้องนี่จับได้หลายมุม หลังๆนี่เห็นท่านคงไม่มีโอกาสได้ขึ้นไปกรุงเทพเลย
ท่านพุทธทาส : ไม่มีแรงจะเดินทางไปไหน เดี๋ยวนี้ไม่มีแรงจะเดินทาง
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ
ท่านพุทธทาส : จะออกจากห้องนอนมานั่งตรงนี้ ก็แทบจะไม่มีแรง ไปตามอายุ ตามอายุ
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านยังคงอ่านหนังสือได้อยู่ครับ
ท่านพุทธทาส : มันไม่ได้ อ่านหนังสือก็ต้องใช้แว่นขยาย
ผู้ดำเนินรายการ : ผมเข้าใจว่าคงมีคนอยากจะเข้ามากราบท่านเยอะ
ท่านพุทธทาส : เดี๋ยวปลีกตัวออกมา