แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านผู้ฟังทั้งหลาย อาตมาขอสรุปใจความของคำถามให้แน่นอนเสียก่อนว่า คุณหมอเขาปรารภว่า วิชาการแพทย์และกิจกรรมบริการการแพทย์ก็เจริญมาก แต่คนป่วยก็เพิ่มมาก ไม่ลด คล้ายๆกับว่าความเจริญทางการแพทย์นั้นมันสูญเปล่า ฉะนั้นเราจึงหยิบขึ้นมาเป็นปัญหา ว่ามันเนื่องมาจากอะไร ทำไมการเจ็บป่วยมันยังมากหรือมันยังเพิ่มขึ้นทั้งที่การแพทย์เจริญ อาตมาอยากจะขอท่านทั้งหลายสนใจในสิ่งซึ่งเป็นต้นเหตุ หรือเป็นบ่อเกิดของการเจ็บป่วยว่ามันได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมายพร้อมๆ กับความเจริญทางการแพทย์
ดังนั้นเรามาดูปัญหานี้กันให้ชัดว่ามันมีกี่ทาง ความเจ็บป่วยนั้นเราถือว่ามีทั้งทางกายและทางจิต เรามีโรงพยาบาลทางกาย โรงพยาบาลทางจิตมากเท่าไร โรคก็มากเท่านั้น และความเจ็บป่วย หรือว่าความไม่ถูกต้องทางจิตนั้น เป็นเหตุให้เกิดโรคทางร่างกายมันเนื่องกันอยู่ ขอให้ท่านทั้งหลายรู้จักระวังให้มากเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ อยากจะชี้ต้นเหตุความเจ็บป่วยออกเป็น ๓ สถาน
หนึ่ง คนเราอยู่ด้วยการทรมานจิตใจโดยอำนาจของกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ เรียกว่าเรื่องทางจิต มันเพิ่มขึ้น เพราะคนเราไม่มีความรอบรู้ในทางจิต นี้อย่างหนึ่ง เห็นได้ชัดว่า พอจิตวิปริตแล้วมันก็เกิดโรคทางประสาท กับโรคทางจิต กระทั่งเป็นบ้าตายไป หรือจิตวิปริตแล้วเป็นเหตุให้ทำผิดอย่างอื่นๆ จนเป็นโรคทางกาย
ทีนี้ประการที่ ๒ ต้นเหตุมาจากสังคมวิปริต สังคมแวดล้อมเราล้วนแต่เป็นสังคมวิปริต คือสังคมของอันธพาล ความเป็นอันธพาลนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเที่ยวเกะกะระราน แม้พวกที่เป็นสังคมยั่วกิเลสมันก็เป็นสังคมที่วิปริต สังคมยั่วกิเลส เต็มไปด้วยสิ่งยั่วกิเลส เราก็มีความวิปริตทางจิต แล้วเราก็เป็นผู้ที่เข้าไปในขอบเขตที่ทำให้เกิดการเจ็บปวด นี่เรียกว่าสังคมวิปริต เป็นเหตุให้เราเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางจิต
ทีนี้ประการที่ ๓ ต้นเหตุก็คือ ความประมาทเลินเล่อ แม้ว่าจะมีความรู้อยู่ หรือว่าจัดการอะไรก้าวหน้า แต่เราก็ประมาท เมื่อประมาทก็เกิดอุบัติเหตุได้แม้ในท้องถนน แม้บนบ้านบนเรือน ที่ไหนก็เกิดอุบัติเหตุได้ ท่านจงสังเกตดูให้ดี ให้รู้จักสิ่งเหล่านี้ อย่างน้อยที่สุดก็มีอยู่ถึง ๓ อย่างว่า เป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วยทั้งทางกาย และทางจิต
ประการที่ ๑ ที่ว่า อยู่ด้วยโรคกิเลสนั่นแหละ เสื่อมหมดทั้งสุขภาพทางกาย สุขภาพทางจิต สุขภาพทางสติปัญญา ซึ่งอยากจะเรียกว่าทางวิญญาณ เป็นโรคทางกายเสื่อมสุขภาพทางกายก็ไปหาโรงพยาบาลธรรมดา ส่วนสุขภาพทางจิตก็ไปหาโรงพยาบาลทางจิต ถ้าเสื่อมสุขภาพทางสติปัญญาต้องไปหาโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า เช่น วัดวาอาราม สถานที่ที่สั่งสอนธรรมะ ให้มีสติปัญญาถูกต้อง เพื่อจะได้ดำรงจิตให้มันถูกต้อง
นี่อย่างน้อยเราก็จะต้องมีความถูกต้องถึง ๓ โรงพยาบาล โรงพยาบาลทางกาย โรงพยาบาลทางจิต โรงพยาบาลทางวิญญาณ จะเรียกว่าทางวิญญาณหรือทางสติปัญญา เมื่อท่านทั้งหลายไม่สนใจที่จะศึกษาเรื่องเกี่ยวกับจิต ก็ต้องอยู่ด้วยความประพฤติผิดทางจิต ก็เกิดกิเลสแล้วก็ทรมานอยู่ด้วยกิเลส นี่ขอให้ศึกษาเข้าใจ ระมัดระวังเต็มที่
นี่ข้อถัดไปที่ว่าสังคมวิปริต นี่มันก็ยากที่เราคนเดียวจะทำได้ มันเนื่องกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบเรื่องสังคมวิปริต ไม่ให้ท้องถนนเต็มไปด้วยอันธพาล อาชญากร เดี๋ยวนี้อาชญากร อันธพาลลุกลามไปถึงในห้องนอน นี่เรียกว่าสังคมมันวิปริต คนก็หวั่นไหวทางจิต ทางประสาท จนเกิดโรคภัยทางกาย
ทีนี้อันสุดท้ายที่เรียกว่าอุบัติเหตุนี่กลายเป็นเรื่องที่โทษใครไม่ได้ มันก็มีมูลเหตุมาจากความประมาทของทุกฝ่าย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นๆมีหลายฝ่าย และทุกฝ่ายมันก็ประมาท ผู้ควบคุมจราจรประมาท คนเดินถนนประมาท ผู้ขับรถยนต์ประมาท มันก็เกิดอุบัติเหตุ แต่ลักษณะอย่างนี้มันเป็นปัญหาโดยมากแก่ทางร่างกาย ทางจิตไม่ได้มีโดยตรงแต่มีโดยอ้อม คือว่าไอ้คนประมาทนั้นบางคนเสื่อมสุขภาพทางสติสัมปชัญญะหรือทางจิต ถ้าเรามีความถูกต้องในทางภายในของเรา คือสติปัญญา หรือมีธรรมะ ไม่เกิดกิเลส ก็ไม่เกิดโรคจิตซึ่งเป็นโรคข้างในแล้วก็ออกมาถึงโรคกาย เช่นว่านอนไม่หลับแล้วก็เป็นโรคประสาท แล้วก็เป็นบ้า
ถ้าว่าเรามีสติสัมปชัญญะดี ระวังได้ ระวังไว้ได้ และอันตรายที่จะมาจากสังคมวิปริต เราก็รู้จักที่จะไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรา หรือเราไม่เข้าไปหามันนั่นแหละ มันก็จะลดลง
ส่วนความประมาท เผอเรอเลินเล่อจนเกิดอุบัติเหตุนั้น มันก็เป็นธรรมชาติอยู่มาก ให้คนเรารู้จักสังเกตศึกษา เกลียดกลัว แล้วเป็นผู้ไม่ประมาท คนประมาทแม้เดินอยู่บนเรือนก็ตกร่องที่นอกชาน เจ็บป่วยไป นี่แหละคนประมาทเลินเล่อ เกิดอุบัติเหตุเมื่อไรก็ได้ เพราะว่าเขาอาจจะนอนตกเตียงลงไปก็ได้ เราจะต้องช่วยกัน เกลียดกลัวความประมาทหรือความเลินเล่อ
นี่อาตมาเห็นว่า ต้นเหตุแห่งความเจ็บป่วยทั้งทางกาย ทางจิต และทางวิญญาณนั้น มันมาจากการผิดพลาดในภายในจนมีกิเลสนี้อย่างหนึ่ง และความผิดพลาดทางสังคม สังคมวิปริตยิ่งขึ้นทุกที นี่ก็อย่างหนึ่ง แล้วก็ความประมาทเลินเล่อของบุคคลผู้อวดดีมากยิ่งขึ้นในสมัยปรมาณู ทำไมต้องใช้คำอย่างนี้ เพราะว่าแต่ก่อนเขาไม่ประมาท ไม่อวดดี ไม่เลินเล่อกันอย่างคนเดี๋ยวนี้ นี่ก็อย่างหนึ่ง การที่จะให้โรคภัยไข้เจ็บลดลงก็ต้องแก้ไขปัญหา ๓ ประการนี้ นี่คือประเด็นแรก ปัญหาข้อแรกที่จะต้องทำความเข้าใจกันกับท่านทั้งหลาย
คุณหมอ : ท่านผู้ชมก็คงจะได้ฟังและทราบสาเหตุของการเกิดโรคจากพระเดชพระคุณท่านอาจารย์แล้วนะครับ ทีนี้ก็มันไม่ได้เกี่ยวกับตัวเชื้อโรคอะไรในทางที่เราทราบในทางการแพทย์มากมายนักนะครับ เรื่องใหญ่มันมาจากสาเหตุที่พระเดชพระคุณได้พูดมาแล้ว ๓ สาเหตุ ทีนี้ท่านผู้ชมรวมทั้งตัวผมเองนี่แหละครับที่ถามด้วย ก็อยากจะใคร่รบกวนท่านพระเดชพระคุณอาจารย์สักครั้งหนึ่ง ถึงตัวการปฏิบัติจริงๆ เพราะเมื่อกี้เราก็ทราบกันแล้วครับว่า ธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้ถูกต้อง ทีนี้อยากจะกราบเรียนพระเดชพระคุณท่านอาจารย์ให้ช่วยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิบัติจริงๆ ให้ถูกต้องตามธรรม ในชีวิตประจำวันของเรานี่ครับท่านอาจารย์ ตื่นเช้าจนถึงเย็นก่อนนอนอย่างไร กระผมของกราบเรียนอาจารย์เพิ่มเติมอีกสักหน่อยครับ
ท่านพุทธทาส : ท่านผู้ฟังทั้งหลาย เดี๋ยวนี้เราจะพูดกันถึงเรื่องวิธีปฏิบัติธรรมะ ที่จะป้องกันสาเหตุแห่งความเจ็บป่วยที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เท่าที่มองเห็นๆ กันอยู่ คำว่าธรรมะ ธรรมะนี้ โดยใจความสำคัญก็คือสิ่งที่จะป้องกันและแก้ไขความทุกข์ ป้องกันก็ได้ แก้ไขก็ได้ เมื่อมองอย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องทำ เมื่อจำเป็นจะต้องทำก็ต้องถือว่าหน้าที่ ธรรมะจึงคือหน้าที่ ที่มนุษย์จะต้องประพฤติปฏิบัติ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยและความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์นั่นเอง
แต่เดี๋ยวนี้เรามาพิจารณากันปัญหาฝ่ายลบ คือโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่พึงปรารถนา จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมะ ธรรมะคือเรื่องธรรมชาติ ธรรมะคือเรื่องกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือเรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ เดี๋ยวนี้มันก็เกิดหน้าที่ขึ้นมาแล้ว คือจะต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฎของธรรมชาติที่จะไม่ให้อันตราย ๓ อย่าง ๓ ประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นเกิดขึ้นมา อาตมาไม่อาจจะพูดโดยรายละเอียดทั้งหมดทั้งสิ้นได้ ได้แต่สรุปให้เป็นหัวข้อ เพราะมีเวลาน้อยมาก ก็พูดได้แต่หัวข้อ แล้วก็จะให้ไว้เพียง ๔ หัวข้อ เพื่อความง่ายแก่การจำว่า ๔ หัวข้อ จะต้องมีการถูกต้อง คำว่าธรรมะก็ดูที่ตัวที่เนื้อของตัวธรรมะก็คือความถูกต้อง อย่างไรเรียกว่าความถูกต้องคือได้รับผลตามที่เราต้องการ เรียกว่าความถูกต้อง ไม่ต้องมีใครมาตัดสินว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ไอ้ผลที่เกิดขึ้นดับทุกข์ได้ คือความถูกต้อง
ข้อ ๑ มีความถูกต้องในการหา การมี การใช้ ปัจจัย ๔ เรียกว่าการถูกต้องเกี่ยวกับปัจจัย ๔ ปัจจัย คือ อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไม้สอย ตลอดถึงที่อยู่อาศัย และการบำบัดโรค กินอาหาร หาอาหารให้ถูกต้อง กินอาหารให้ถูกต้องมันก็ไม่เกิดโรคทางกายเพราะอาหารผิดพลาด มันก็ไม่เกิดโรคทางจิตเพราะว่าหลงใหลในการกินดีเกินไปจนเป็นการกินเพื่อกิเลส เป็นการกินเพื่อกิเลส ท่านอย่ากินเพื่อกิเลส กินเพื่ออร่อยนั่นมันกินเพื่อกิเลส ถ้ากินเพื่อสุขภาพมันก็ไม่ต้องอร่อยก็ได้ นี่เรียกว่าเรื่องอาหารต้องถูกต้อง
เรื่องเครื่องนุ่งห่มต้องถูกต้อง อย่าให้มีเครื่องนุ่งห่มที่จะทำไปเพี่อส่งเสริมกิเลส มันแพง มันเปลือง เงินเดือนไม่พอใช้ แล้วก็ล่อลวงกันให้หลงใหลในความสวยความงาม ก็เกิดกิเลสตัณหา มันก็มีผลไปทางจิตใจด้วย เพราะมีเครื่องนุ่งห่มที่ไม่ถูกต้อง เช่น เดี๋ยวนี้เขามีเครื่องนุ่งห่มที่ยั่วยวนกิเลสกันมากเกินไป อย่าไปหลงกับเขา บ้านเรือน เครื่องใช้ไม้สอย ที่อยู่ที่อาศัยนี้ ให้พอดี ให้เท่าที่จำเป็น อย่าคิดว่าจะอยู่วิมานแข่งกับเทวดาเลย มันเป็นบ้าตั้งแต่เมื่อแรกคิดแล้ว ทำไปๆ มันก็มีแต่ปัญหา
คนธรรมดามันจะมีเงินเดือนไม่พอใช้ มีรายได้ไม่พอใช้ แม้คนร่ำรวยมันก็เกิดโรคเพราะกินอยู่ที่ดีเกินไป เครื่องใช้ไม้สอยที่ดีเกินไป อะไรๆ ที่ล้วนแต่ทำให้ผิดธรรมชาติ ส่วนเรื่องโรคภัยไข้เจ็บนี้ก็ให้มันเป็นเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บโดยแท้จริง เดี๋ยวนี้การแพทย์เอาไปใช้เพื่อสำอาง ของคนมีกิเลสเสียก็มาก เอาแล้วเป็นอันว่าท่านทั้งหลายต้องระวังให้มีความถูกต้องในปัจจัย ๔ ของท่าน คือ อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไม้สอยอยู่อาศัย และการบำบัดโรค
ทีนี้ข้อที่ ๒ เรียกว่า ความถูกต้องในการบริหารกาย มันคล้ายๆกับจะเป็นที่สรุปรวมของข้อที่ ๑ เราต้องบริหารกาย ทีนี้ก็มาถึงความถูกต้องข้อที่ ๒ คือความถูกต้องของการบริหารกาย ใครๆ ก็ทราบว่ากายมันจะต้องบริหาร แต่คำว่าบริหารนั้นน่ะมันกำกวม เดี๋ยวนี้คนเรามันอยู่ดีกินดีเกินความจำเป็นที่ร่างกายต้องการ มันก็ไม่ใช่กายบริหารเสียแล้ว มันจะเป็นวินาศนาการ ความวินาศให้แก่ร่างกายเสียมากกว่า เพราะว่าเราบริหารกายเพื่อกิเลสเสียมากกว่า ไม่ใช่บริหารกายเพื่อความถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่จะมีร่างกายที่ถูกต้อง
ท่านจะต้องศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพทางกาย ซึ่งมีรายละเอียดมากให้ดี แล้วก็บริหารกายให้ถูกต้อง นับตั้งแต่ว่าตื่นนอนขึ้นมาจะต้องทำอย่างไร จนกระทั่งกินอาหาร จะต้องทำการงาน ต้องพักผ่อน ต้องอาบ ต้องถ่าย ต้องทำทุกอย่างที่ให้เป็นการบริหารกายที่ถูกต้อง คำว่าถูกต้องหมายความว่าไม่ขาดไม่เกิน ถ้าขาดก็เป็นกายที่ใช้ไม่ได้ ถ้าเกินก็เป็นร่างกายที่เป็นธาตุของกิเลส เราจะต้องบริหารกาย ให้สมกับที่ว่ากายนี้เหมือนกับสัตว์พาหนะที่จะต้องรับใช้ ไม่อ้วนเกินไป ไม่ผอมเกินไป
ความถูกต้องข้อที่ ๓ คือความถูกต้องของการบริหารจิต บริหารจิต เรื่องนี้ละเอียดมาก คือมันเป็นตัวพุทธศาสนาทั้งหมดก็ได้ จิตนี่มันก็คล้ายๆ กับกายแหละ ถ้าบริหารเกินไปมันก็เป็นเรื่องกิเลสหมด บริหารเป็นวัตถุก็เป็นเรื่องของกิเลสหมด บริหารในทางธรรมก็ให้เป็นจิตที่พอดีที่พอเหมาะที่จะทำหน้าที่ทางจิต จิตมันมีความถูกต้องอันละเอียดอ่อนที่สุดของมันเอง ต้องศึกษา ถ้าใครสนใจก็จะดี แต่โดยมากก็ไม่สนใจ เห็นว่าเป็นเรื่องง่ายๆ เดาเอาก็ได้บางคนถึงกับว่าปล่อยไปตามบุญตามกรรมก็ได้
เราไม่รู้เรื่องการบริหารจิต มันก็เกิดการไม่ถูกต้องทางจิตวิปริตทางจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเรื่องที่ให้รักมา ก็รัก มีเรื่องที่เกลียดมาให้เกลียด ก็เกลียด มีเรื่องที่มาให้กลัวก็กลัว ให้วิตกกังวลก็วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวง นี่ล้วนแต่เรื่องผิดพลาดในทางจิต แล้วเราก็นอนไม่หลับกันเป็นส่วนมาก อย่างน่าละอายแมว แมวหรือสุนัขยังนอนหลับดีอยู่ คนกินยานอนหลับกันมากมายก็ยังนอนไม่หลับ เรียกว่ามันนอนไม่หลับ ให้ละอายแมว ไม่เท่าไรมันก็ต้องเป็นโรคประสาทให้ละอายแมว ไม่เท่าไรมันก็ต้องเป็นบ้า ให้ละอายแมว คนเป็นโรคประสาทเป็นจำนวนแสนแล้ว ซึ่งเราไม่เห็นสัตว์เป็น คนเป็นบ้ากันเป็นจำนวนหมื่นแล้ว ซึ่งเราก็ไม่เห็นสัตว์เป็น นี่คือความผิดพลาดในการบริหารจิต
ท่านจงมีธรรมะพอ คือว่ามีความรู้พอ เพราะอะไรๆ ตามธรรมชาตินั้นมันเป็นอย่างนั้นเอง อย่าไปหมายมั่นไปตามที่เราต้องการ เมื่อไม่ได้แล้วก็นอนไม่หลับ เรารู้จักว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง ไม่ต้องไปรัก ไม่ต้องไปโกรธ คืออย่าไปยินดียินร้าย รักษาจิตให้ปกติไว้เสมอ แล้วก็แก้ไขมันไปตามที่ควรจะแก้ไขอย่างไร ไม่ใช่ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว เราจะไม่แก้ไขอะไร เราต้องแก้ไขสิ่งที่ควรแก้ไขให้ถูกเรื่อง ตามที่ควรจะต้องการ แต่ต้องด้วยจิตที่ปกติ ถ้าจิตไปหลงรัก หรือไปหลงโกรธเสียแล้วมันไม่ปกติแล้ว มันโง่เสียแล้ว มันแก้ไขอะไรไม่ได้ นี่เราจะต้องมีวิธีการที่จะดำรงจิตไว้ให้มันถูกต้อง โดยจิตชนิดนี้จะแก้ปัญหาต่างๆทางจิตได้
ข้อนี้ยังเนื่องไปถึงว่าเมื่อเราบริหารจิตดีแล้ว การดำรงจิตก็จะดี การบริหารจิตเกี่ยวกับการป้องกัน แก้ไข บำรุงรักษา ดูแล เสร็จแล้วจิตก็ดำรงอยู่ในสภาพที่ดี ที่ถูกต้อง เป็นผลออกมา จิตชนิดนี้มั่นคง สามารถที่จะดำรงอยู่ในโลกอันปั่นป่วน ไม่รวนเรไปตามโลก จึงไม่เกิดโรคทางจิต ไม่เกิดโรคทางสังคม ไม่เกิดโรคทางประมาทเลินเล่อ และอุบัติเหตุ
ดำรงจิตไว้ดีนี้พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญว่า ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าจิตที่ดำรงไว้ดี ประโยชน์สุขจะเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ดำรงจิตไว้ดียิ่งกว่าที่ว่าคนทั้งโลกจะมาช่วยทำให้เรา คนทั้งโลกจะมาช่วยทำให้เราก็ไม่มีความสุขสวัสดีเท่ากับที่ว่าเราคนเดียวดำรงจิตของเราไว้อย่างดีอย่างถูกต้อง ถ้าเราดำรงจิตไว้ไม่ดี ผิดพลาดก็จะมีความเสียหายมาก ยิ่งไปกว่าที่คนทั้งโลกจะมาระดมกำลังกันทำความเสียหายให้แก่เรา นี่เรียกว่าเราดำรงจิตถูกต้อง
สรุปความว่าเราจะต้องมีความถูกต้องของปัจจัย ๔ ซึ่งจำเป็นแก่ร่างกาย แล้วจะมีความถูกต้องในทางการบริหารกาย ซึ่งเป็นการประพฤติเป็นการกระทำให้ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บทางกาย มีร่างกายพร้อมที่จะรับใช้จิตใจ แล้วเราจะต้องมีความถูกต้องของการบริหารจิต ซึ่งขาดไม่ได้จะต้องมีการบริหารตามรายการที่ธรรมชาติกำหนดไว้ว่ามนุษย์เราจะต้องบริหารจิตอย่างไร ครั้นแล้วเราก็มีความถูกต้องในการดำรงอยู่แห่งจิต รวมทั้งหมดนี้เรียกว่า ความถูกต้องแห่งชีวิต
ชีวิตคือสิ่งที่มีมาสำหรับใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย เป็นประโยชน์แก่ทุกคน
ถ้าเราดำรงชีวิตไม่ถูกต้องมันก็ไม่เป็นไปตามนั้น มันจะกลายเป็นโรคภัยไข้เจ็บเสียเอง แล้วมันจะกลายเป็นภาระหนักให้แก่ผู้อื่น ถ้าเกินไปกว่านั้นแล้ว ก็จะกลายเป็นอันธพาล ทำให้ผู้อื่นเดือนร้อนกันทั้งบ้านทั้งเมือง ขอให้ท่านทั้งหลายจงรู้จักโรคทางกาย โรคทางจิต โรคทางวิญญาณ ประพฤติธรรมะให้ถูกต้องครบทั้ง ๓ ประการ แล้วเราก็จะหมดปัญหา นี่คือหลักปฏิบัติสำหรับป้องกันโรคภัยไข้เจ็บในทุกๆ สถาน แล้วโรคภัยไข้เจ็บก็จะลดน้อยลง มีผลสมกับที่ว่าความก้าวหน้าทางการแพทย์ได้เกิดขึ้นแล้ว เราก็มีความเจ็บไข้ลดน้อยถอยลงสมกันทีเดียว
คุณหมอ : กระผมขอขอบคุณพระเดชพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างมาก ท่านผู้ชมที่เคารพ ท่านก็ได้ฟังเหตุของการที่จะไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างนี้ส่วนมากแล้ว …… (นาทีที่ 34.59 ฟังไม่ชัด) พร้อมกันนั้นเรายังได้แนวปฏิบัติ ๔ ประการสำหรับถือเป็นแนวปฏิบัติต่อไป ผมเสียดายอย่างยิ่ง เพราะเวลาเรามีน้อย เพราะฉะนั้นพระเดชพระคุณท่านอาจารย์ก็ได้แต่ให้ข้อหัวสำหรับการปฏิบัติ แนวการปฏิบัติ ๔ ข้อนี้ เข้าใจว่าท่านผู้ชมทั้งหลายคงจะได้รับฟังทั่วกัน ในโอกาสนี้ผมก็ต้องขอกราบลาพระเดชพระคุณท่านอาจารย์