แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
(ผู้ถาม) ผมอยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ถึงเรื่องศาสนาพุทธกับสังคมไทย อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายถึงอิทธิพลของศาสนาพุทธที่มีต่อสังคมไทยทั้งในอดีตและก็ปัจจุบัน
(ท่านอาจารย์) อยากถามว่าอย่างไร ปัญหาว่าอย่างไร
(ผู้ถาม) คืออยากให้พูดถึงว่า ศาสนาพุทธนี้นะครับ มีอิทธิพลอย่างไรกับชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมไทยนี้ทั้งในอดีตและก็ปัจจุบันนี้ครับ
(ท่านอาจารย์) ไอ้ศาสนาพุทธ มันต้องพูดกันให้ชัดเสียก่อนว่า ศาสนาเปลือกหรือว่าศาสนาเนื้อ ธรรมะเป็นศาสนาเนื้อ พิธีกรรมต่างๆ เป็นศาสนาเปลือก เราดูแล้วรู้สึกว่า ไอ้ธรรมะมันก็ได้เข้าไปในจิตใจของประชาชนไทยนี้นะมาก เป็นคล้ายๆ กับว่าสร้างความคิดใหม่ที่ทำให้คนไทยยิ้มเสมอ ได้มีธรรมะชนิดหนึ่งเข้าไปในจิตใจ ทำให้ยิ้มเสมอได้ นั่นคือเขาทำมากกินแต่พอดี เหลือช่วยผู้อื่น ไอ้ความคิดชนิดนี้นะมันทำให้ยิ้มเสมอ แล้วก็ชั้นแรกๆ เข้าใจว่ามี ส่วนไอ้เปลือกของมันคือพิธีรีตองนั้น มันก็คงจะไม่ค่อยมีตอนแรกๆ พอมาตอนหลังนี้ที่มันเป็นเนื้อมันลดลง ธรรมะมันลดลง แล้วก็เพิ่มเปลือกหรือพิธีกรรม พิธีรีตองอะไรมาก ผลมันจึงเป็นคนละอย่าง ความเป็นพุทธแท้จะสู้สมัยก่อนไม่ได้ ที่ทำให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขรักใคร่กันดีอย่างชนิดที่เรียกว่าเกือบจะไม่ต้องปิดประตูเรือนนะ คนสมัยก่อนจะไม่รู้จักใช้กุญแจด้วยซ้ำไป ก็วัฒนธรรมมันดี เพราะว่าคนมีศาสนา พอมาถึงยุคนี้ ธรรมะชนิดเนื้อแท้มันก็ลดไป ทำเป็นพิธีรีตอง จึงไม่ตรงวัตถุประสงค์ของพุทธศาสนามากขึ้น อีกทีหนึ่งมันก็กลายเป็นเรื่องประกวดอวดกันในเรื่องเปลือกของศาสนา ทีนี้เราเห็นว่าต่างกันอยู่อย่างนี้ คือกลับกันอยู่ คนไทยในยุคนี้จึงมีธรรมะน้อย ความผาสุก สันติสุข มันก็มีน้อย ไม่เหมือนยุคโน้น มีความผาสุกมาก ก็เพราะว่าเนื้อของศาสนามันเข้าไปอยู่ในคนไทย นี่เท่าที่นึกได้ก็มีอย่างนี้
(ผู้ถาม) พูดถึงศาสนาพุทธในสังคมไทยนี้นะครับ เป็นอย่างเดียวกับศาสนาแท้ๆ ในพระไตรปิฎกหรือไม่อย่างไรครับ
(ท่านอาจารย์) พระพุทธศาสนาเนื้อแท้ก็เรียกว่ามันถอดออกมาจากพระไตรปิฎก ไปเอามาถือกันไม่หมดละ จึงเอามาถือกันเท่าที่มันจะมาอยู่ในรูปขนบธรรมเนียมประเพณีหรือวัฒนธรรมได้ เป็นส่วนใหญ่ ธรรมะชั้นลึกนั้นมันมีอยู่ในบุคคลบางคนในเอกชนมากกว่า แต่เราก็เชื่อว่า ไม่น้อยเหมือนกัน ธรรมะชั้นลึก มีคนรู้มีคนเข้าใจถึงกับพูดเป็นว่า สวรรค์ในอก นรกในใจ นิพพานอยู่ที่ตายก่อนตายนี้มันก็ลึกถึงที่สุดแล้ว ส่วนไอ้พุทธศาสนาเปลือกนั้นนะ ไม่มีหรอก ไม่มีนะ ไม่มีเรื่องที่จะแสดงให้เห็นว่าประชาชนเขามีขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาแบบที่เรามีๆ อยู่นี้ เช่น งานวัดอย่างนี้มีไม่ได้ หรือว่าอะไรที่มันเป็นเรื่องเนื้องอก เกี่ยวกับการกฐิน การบวชนาค การอะไรนี้มันเป็นเนื้องอก มันมีมากขึ้นๆ ที่จริงในพระบาลีมันไม่มีนะ อย่างว่าทอดกฐินอย่างนี้ เกือบจะไม่ต้องมีชาวบ้านมาสักคนหนึ่งก็ทำได้ การบวชนาคนี้ พ่อ แม่ ไม่ได้มาเลยก็ได้ เดี๋ยวนี้ดูสิ ไอ้เรื่องทอดกฐิน เรื่องบวชนาคเป็นต้นนี้มัน มันกลายเป็นไอ้เรื่องทำลายเศรษฐกิจ ถ้าว่าประพฤติตามพระไตรปิฎกกันอยู่ หรือว่าทำตามร่องรอยที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกนี้ก็ พุทธศาสนาจะไม่ทำลายเศรษฐกิจมากเหมือนเดี๋ยวนี้ แม้เรื่องการก่อสร้างศิลปะ สถาปัตย์ฯ อะไรก็จะไม่ ไม่มากเหมือนอย่างที่มีเดี๋ยวนี้ เพราะมันไม่ใช่เป็นที่รวมอยู่ที่นั่น มันเพิ่งเกิดเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีขึ้นในชั้นหลัง และในประเทศต่างๆ ในชั้นหลัง ที่เอาศิลปะไปรวมกับศาสนานั้นไม่ มันไม่มีในครั้งพุทธกาลแท้ๆ แล้วมันก็ค่อยๆ มี ค่อยๆ มี แล้วมากขึ้น จนเหลือ จนเฟ้อ จนเข้าใจผิดไปแล้ว ทีนี้ถ้าเรามีธรรมะพอ คนจะมีความสุขมากกว่านี้ ทีนี้ถ้าเราเอาอย่างครั้งพุทธกาล เท่าที่เห็นอยู่ในพระไตรปิฎก ก็ไม่ทำลายเศรษฐกิจของประเทศชาติมากเหมือนเดี๋ยวนี้ เรื่องราวมี เช่นว่า ทำปาฏิโมกข์กลางดินน่ะ ไม่ได้มีหลังคา กลางสนามหญ้าท่านว่าอย่างนั้น ถ้าคนมาต้องเลิก พายุมาก็ต้องเลิกนะ มันไม่ต้องสร้างไอ้อาคารสถานที่ ที่หมดเปลือง ที่ว่ามากมายเหมือนเดี๋ยวนี้ ทีนี้เราจะไม่วิจารณ์กันว่าเป็นผลดีหรือผลเสีย เราจะพูดกันก็แต่ความแตกต่างมันมีอยู่อย่างนี้ เป็นผลดีหรือผลเสียไปคิดเอาเองก็แล้วกัน นี้คือไอ้ความเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันระหว่างพุทธศาสนาครั้งพุทธกาล แล้วก็พุทธศาสนายุคปัจจุบันนี้ ถ้ามันทำลายเศรษฐกิจมากนัก ต่อไปคงทนไม่ได้ละ คงมีการแก้ไขหรือมีการปฏิวัติกันเป็นแน่นอน
(ผู้ถาม) ท่านอาจารย์ครับ อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายโดยละเอียดถึงพุทธศาสนาเนื้อแท้ แล้วก็ศัพท์อย่างที่อาจารย์กล่าวไว้ตอนต้นนี้ครับว่า พุทธศาสนาเนื้องอก
(ท่านอาจารย์) พุทธศาสนาเนื้อแท้คือวิธีดับทุกข์ลงไปที่จิตใจโดยการประพฤติกระทำต่อจิตใจอย่างถูกต้อง สรุปความว่าเมื่อมีผัสสะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เข้ามาถึงจิตใจแล้วมันฉลาดทันควัน มันควบคุมได้ มันไม่เกิดกิเลส และมันไม่เป็นทุกข์ นี้เรียกว่าหลักแท้ๆ มันมีเพียงเท่านี้ ทีนี้ถ้าเราเป็นเนื้องอก เนื้องอกทางธรรม ทางเนื้อในมันก็อธิบายผิดๆ แปลกๆ ออกไปจากของเดิม เช่น คัมภีร์เก่ามันไม่มีละ ตัวตนนะ ครั้งหลัง คัมภีร์ครั้งหลังมันก็กลายเป็นมีตัวตน ตัวสัตว์ ตัวบุคคล คัมภีร์ชั้นหลัง อย่าออกชื่อดีกว่านะ เอาจิตนั้นละเป็นตัวตนอย่างนี้เป็นต้น นี้ก็จะถือว่าเป็นเนื้องอกเหมือนกัน ราว พ.ศ. ๖๐๐ ต่อมาถึง พ.ศ. ๑๐๐๐ ถึงกว่านี้ มันก็มีเนื้องอก ยิ่งยุคที่เป็นมหายานนะ ก็ต้องขออภัยที่ไปเรียกว่ามันเนื้องอกเหมือนกัน แต่คำว่า “เนื้องอก” นั้นจะไม่ประณาม เสียว่าเป็นผลร้าย โดยส่วนเดียว มันงอกออกไปดี ก็พอจะมีบ้าง ส่วนเนื้อธรรมะมันก็มีเนื้องอกเหมือนกัน ทีนี้ไอ้ทางฝ่ายพิธีรีตองนี้ ซึ่งไม่เคยมีมาแต่ก่อนนี้เป็นเนื้องอกที่มากหรือที่ร้าย จนเรารู้สึกว่า น่าเศร้า พิธีเกี่ยวกับพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาก จนทำลายเศรษฐกิจของชาติอย่างที่ว่าแล้ว ได้งอกออกไปเป็นลัทธิ ส่งเสริมกามารมณ์ ส่งเสริมไอ้ทำนองนั้นก็มี นี้เรียกว่ามันมีเนื้องอกทั้งส่วนที่เป็นเนื้อธรรมะ แต่ถูกเพิ่มออกไป ส่วนที่เป็นเปลือก เป็นวัตถุ เป็นพิธีกรรมอะไรต่างๆ มันก็งอกออกไป งอกมากออกไป ถ้ามันเป็นเพียงเท่าที่มันจำเป็นแก่พระวินัย เป็นต้น มันก็เรียกว่าพิธีกรรม แต่มันไม่มีส่วนที่เป็นเนื้องอก เดี๋ยวนี้มันมีส่วนที่ไม่จำเป็นแก่พิธีกรรม ยกตัวอย่างว่า เรื่องกฐินก็ดี เรื่องบวชนาคก็ดี เรื่องอะไรก็ดีที่มันไม่ คือวินัยกรรมไม่ต้องการเลย แต่มันมางอกมากขึ้นในส่วนไอ้พิธีรีตองนี้จนเรียกว่า เกิน หรือจะเรียกว่า ผิด มันก็พอจะเรียกได้ เพราะทำให้สูญเสียมากเกินไป ไม่คุ้มค่า แล้วไม่ได้รับผลตามที่ต้องการ เป็นเหตุให้ศาสนาอื่นเขาดูถูกดูหมิ่น มันก็ได้เหมือนกัน สรุปความว่าไอ้เรื่องงอกนี้ไม่มีส่วนดีนะ แล้วถ้ามันจะดีเพราะว่าเอาไปปรับปรุง มันก็ต้อง ต้องไม่ผิดหลักของเดิม ใจความต้องไม่ผิดหลักของเดิม ถ้าไม่ผิดหลักของเดิมเราจะไม่เรียกว่างอก ถ้ามันไปปรับปรุงผิดหลักของเดิมมันก็ต้องเรียกว่างอก ถ้าว่ามันใช้คำว่า “งอก” ได้ละก็เรียกว่าเป็นผลร้าย มันควรจะขูดออกไปแล้ว ที่เรียกว่าทำสังคายนานั้นเขาเคยทำ คัดของผิดๆ ออกก็เคยทำ แต่มาถึงยุคนี้ทำไม่ได้แน่ เพราะไม่มีอำนาจพอ เพราะว่าไอ้วงของสังฆมณฑลนั้น หรือพุทธมณฑลนะมันแผ่กว้าง จนมันจะเต็มโลกก็ได้ แล้วจะไปควบคุมไหวหรือ ในอินเดียเพียงแต่อยู่ในบางส่วนบางถิ่นยังควบคุมกันไม่ค่อยจะได้ พอทำสังคายนาเสร็จก็มีพวกหนึ่งประกาศตัวออกมาทันทีว่าไม่รับรอง อย่างนี้ก็มี มันคงจะยากนะที่จะขูดไอ้เนื้องอกออกไปจากธรรมะก็ดี จากวินัยก็ดี จากพิธีรีตองไอ้ของภายนอกก็ดี มันเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท เลือกเอาเองเถอะ เลือกเอาเองเฉพาะตนๆ เพราะเราหวังจะได้ประโยชน์ที่แท้จริงเราก็รู้จักเลือก สอนให้รู้เรื่องจริงกันให้มากขึ้นคนมันก็รู้จักเลือก นี้สภาพเกี่ยวกับงอก เนื้องอกหรือไม่เนื้องอกมันมีอยู่อย่างนี้ คือมันได้งอกออกไปทั้งโดยธรรมะและวินัยที่อธิบายแปลกๆ ออกไป นี้ละงอกทั้งทางภายนอกคือพิธีรีตอง เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่
(ผู้ถาม) ท่านอาจารย์ครับ อย่างพูดถึงว่าวิธีที่จะขูดเนื้องอกนี้นะครับ หรือว่าจะพยายามกำจัดหรือว่าควบคุมพิธีรีตองหรือว่าไอ้การบวชนาค การทอดผ้ากฐินนี้นะครับ พูดถึงว่าในแง่ของชาวบ้านเองนี้นะครับ จะมีวิธีอย่างไรบ้างครับ จากทางฝ่ายชาวบ้านนี้นะครับ
(ท่านอาจารย์) ถ้าชาวบ้านทั้งหลายเขาเข้าใจเรื่องนี้ถูกต้อง เขาก็เลิก เลิกไอ้สิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่เดี๋ยวนี้มันไม่มีทางที่จะ ยังไม่มีทางที่จะให้ชาวบ้านมีความรู้เรื่องนี้โดยถูกต้อง ไอ้เนื้องอกเรื่องพิธีรีตองมันก็ยังคงมีอยู่ ส่วนไอ้เรื่องทางธรรมะทางวินัยนั้นมันก็ดูจะยังไม่มีอำนาจอะไรพอที่จะควบคุมได้ เพราะว่ามันประชาธิปไตย ยิ่งเปิดโอกาสว่าใครจะถือลัทธิอะไรศาสนาอะไรได้ละก็ยิ่งไม่มีหวังนะ ใครจะมีความคิดเห็นอย่างไรก็ได้นี้ก็ยิ่งไม่มีหวัง ในประวัติศาสตร์ที่แล้วมาก็ ทราบกันมาว่า บางทีทางบ้านเมืองเข้าไปจัดการให้นะ เช่น ยุคพระเจ้าอโศก พระเจ้าอโศกเข้าไปจัดการให้เลย อย่างนี้มันก็ง่ายดี เดี๋ยวนี้เราจะหาพระเจ้าอโศกทำยาหยอดตาก็ไม่ได้ นี้ก็ไม่มีหวังละ จะให้เป็นไปได้ก็คือว่ามันมีอะไรก็ตามใจนะ ทำให้ประชาชนมีความรู้ถูกต้อง เข้าใจถูกต้องในหลักของพระศาสนาทั้งโดยธรรมะและโดยวินัย ก็จะรู้ได้เองว่าที่ทำแล้วผิดแล้วก็เลิก เลิกเถิด ทำแต่ที่มันถูกต้อง ก็มีทางเดียว เพราะฉะนั้นพวกเรานี้ช่วยกันเปิดเผยธรรมวินัยที่มันถูกต้อง ให้มันรู้กันทั่วไปในหมู่ประชาชน เชื่อว่าประชาชนคงจะเลือกเอาสิ่งที่ถูกต้อง เนื้องอกก็จะหดหายไป ค่อยๆหดหายไป
(ผู้ถาม) คือผมเข้าใจว่า พูดถึงว่าถ้าทางชาวบ้านนี้นะครับ รู้จริงมากขึ้นนะครับ แล้วในขณะเดียวกันทางพระสงฆ์เองนี้นะครับ ก็มีส่วนเข้ามาเพื่อที่จะเอา ขูดเนื้องอกนี้ออกนี้นะครับ จะเป็นการช่วยกันทั้งสองทาง แล้วอีกอย่างหนึ่งผมเห็นว่าในเมื่อชาวบ้านนี้นะครับ เมื่อไปบวชเป็นพระนี้นะครับ ก็จะถูก ก็จะต้องผ่านพิธีรีตองนี้นะ ซึ่งเป็นการครอบกันตั้งแต่ต้นนะครับ ก็เพิ่มจำนวนคน เพิ่มจำนวนพระสงฆ์ซึ่งไปติดยึดอยู่กับพุทธศาสนาเปลือกนอกนี้ครับ ผมไม่ทราบว่าจะเป็นไปได้ไหมที่ทั้งสองฝ่ายนี้นะครับ จะช่วยกันเพื่อจะขูดเนื้องอกนี้ออก หรือว่าลดน้อยลงไปนี้นะครับ
(ท่านอาจารย์) เราเชื่อหลักตรงกันที่ว่า ทุกอย่างมันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มีเหตุปัจจัยมันจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนนี้มันยังพูดลำบาก บางทีมันก็เปลี่ยนได้แม้แต่ฟลุค ที่เรียกว่าฟลุคมันก็เปลี่ยนได้ แล้วมันเปลี่ยนอะไร ฟลุคทำให้เปลี่ยนมันก็เปลี่ยนได้ จะเปลี่ยนโดยเจตนานี้ มันยังหวังยาก เพราะเดี๋ยวนี้มันมีกำลังด้วยกันทั้งนั้นละ ฝ่ายที่จะดึงไปเพื่อประโยชน์แก่ตัว คือเรื่องผิดนะมันก็มีกำลัง ฝ่ายที่จะรักษาไว้ให้ถูกต้องก็มีกำลัง แล้วไอ้ที่ว่าไอ้ประชาธิปไตยนี้ทำอะไรกันไม่ได้นี้ มันก็ต่างฝ่ายต่างมีกำลัง ถ่วงกันอยู่อย่างนี้ ถ้าโชคดีเรียกว่าฟลุคหรือบังเอิญมันเปลี่ยนได้ด้วยวิธีใดก็ดีมากละ ก็เรียกว่าดีมากแล้ว หันมานิยมความถูกต้องกันเสียใหม่ คณะสงฆ์สามารถยึดถือหลักธรรมวินัยให้ถูกต้องเสียใหม่จะเป็นโชคดี ก็จะอาศัยบารมีของอะไรนี่ยังงงๆ อยู่ มันจนปัญญา อาตมานี้หวังพึ่งทางเดียวเท่านั้นคือว่าช่วยกันเผยแผ่ธรรมะให้เป็นที่เข้าใจ ชัดเจน ถูกต้องมากออกไป มันจะเกิดกำลังเรียกร้องขึ้นมาได้เหมือนกัน อย่างอื่นยังมองไม่เห็น
(ผู้ถาม) ท่านอาจารย์ครับ เมื่อตอนต้นนะครับท่านอาจารย์กล่าวว่า นิพพานอยู่ที่ตายก่อนตายนี้นะครับ ผมอยากให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความ ภาวะของการนิพพานอยู่ที่ว่าตายก่อนตายนี้ครับ
(ท่านอาจารย์) นี้มันเป็นธรรมะชั้นลึก เป็นเรื่องธรรมะล้วนๆ อาตมาก็ลืมเสียแล้วนะว่าได้ยินมาจากใคร แต่ว่ามันมีคนพูด คนแก่ๆ รุ่นก่อนเขาพูด นิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย คือหัวใจพุทธศาสนาทีเดียว กิเลส ว่าตัว ว่าตนนั้นนะคือกิเลส คือทำให้ไม่นิพพาน ให้ร้อนเป็นไฟ ถ้ากิเลสที่ว่าตัวตนดับ มันก็หมดร้อน มันก็เย็นเป็นนิพพาน ทีนี้อย่ารอต่อตายแล้ว จงทำให้กิเลสคือตัวตนนะหมดไปเสียจากจิตใจก่อนแต่คนนั้นตาย คนนั้นก็จะได้รับนิพพาน คือความเยือกเย็นแห่งจิตใจ ได้รับก่อนแต่ตาย ถ้าเอาตามที่เขาพูดๆ กันว่ารออีกกี่หมื่นชาติแสนชาติตายแล้วตายเล่า ตายแล้วตายเล่าจึงจะได้นิพพาน อย่างนั้นมันไม่มีประโยชน์อะไร แล้วมันก็นานเกินไป เดี๋ยวนี้ที่นี่ ทำให้กิเลสประเภทตัวกู ของกูนั้นตายลงไปก่อนตายนั้นนะคือนิพพาน นี้แสดงว่าผู้กล่าวนะคนไทยก็ได้ในประเทศไทยนี้ คนรุ่นก่อนเขากล่าวว่านิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย ถูกต้องที่สุดตรงตามหลักพระพุทธศาสนาที่สุด ทำให้กิเลสประเภทตัวกู ของกู ที่ยึดถือว่าตัวตนนั้นนะหมดไปเสียก่อนร่างกายตาย ทีนี้เขาก็ได้รับนิพพานคือความเยือกเย็นตลอดเวลานานทั้งนั้นละ คือว่ากิเลสตัวกูตาย ครั้นอยู่ไปอีก ๒๐ ปีร่างกายจึงตาย เขาก็เสวยสุขจากพระนิพพานนั้นตั้ง ๒๐ ปี ขอให้เราหวังอย่างนี้ แล้วก็มีผู้เข้าใจอย่างนี้แล้วด้วย ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่จะเข้าใจไม่ได้ คำพูดนั้นแม้เป็นคำพูดของชาวบ้าน งามอยู่ที่ผ้าสี ดีอยู่ที่พระ พระอยู่ที่จริง นิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย เขาพูด เฉพาะไอ้นิพพานให้ตายเสียก่อนตายนี้ถูกตรงตามหลักหัวใจพุทธศาสนาในพระบาลี ให้ความยึดถือว่าตัวตนๆ ของตนนี้หมดไปเสียก่อนแต่ร่างกายตายแล้วนิพพานจะอยู่ที่นั่น ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว หรือว่าชาติอื่นๆ หลังจากตาย อีกหลายๆ หมื่นชาติหลายแสนชาติไม่มีประโยชน์อะไร พระพุทธเจ้าตรัสว่าที่มันไม่มีกิเลสนั้นละคือนิพพาน ไม่มีราคะ โทสะ โมหะนั้นก็คือนิพพาน มันสิ้นไปเมื่อใดก็มีนิพพานเมื่อนั้น พระอรหันต์ท่านทำให้กิเลสสิ้นไปเมื่อใดท่านก็มีนิพพานเมื่อนั้น แล้วก็อยู่ไปจนกว่าร่างกายจะตาย อย่างนี้เรียกว่านิพพาน คือตาย ตัวกู ความยึดถือว่าตัวกูตายเสียก่อนแต่ร่างกายตาย ทุกคนควรจะมองเห็นควรจะเข้าใจได้และควรจะพยายามทำให้กิเลสประเภทตัวกู ของกู หมดเสียก่อนแต่ร่างกายตาย แล้วก็มีความสุขสูงสุดเป็นกำไรตลอดระยะนั้นนะ ระยะที่ว่าตัวกูตายก็เป็นสุขเรื่อยไปจนกว่าร่างกายจะตาย ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ความหมายมีอย่างนี้ เท่านี้ละ
(ผู้ถาม) ท่านอาจารย์ครับ อย่างการประพฤติธรรม แบบคนทำงาน แบบชาวบ้านนี้นะครับ จะถือปฏิบัติอย่างไรบ้างครับในชีวิตประจำวันนี้
(ท่านอาจารย์) ที่มันจะเป็นประโยชน์ก็ขอให้รู้ความจริงที่ว่า ไอ้หน้าที่การงานนั้นแหละคือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่การงาน ถ้าเขารู้สึกอย่างนี้เขาก็ชอบการงาน เพราะมันเป็นการประพฤติธรรมที่สูงที่มีค่า เดี๋ยวนี้ในเมืองไทยเราไม่ค่อยจะพูดกันว่าธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ไปพูดกันอย่างอื่น อย่างเช่นว่า ไปทำอะไร ประพฤติอะไรอยู่ที่วัดจึงจะเป็นธรรมะ แต่ความจริงแล้วทำหน้าที่ของมนุษย์เมื่อไรมันก็มีธรรมะอยู่ที่นั่น เมื่อนั้น เพราะว่าธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ภาษาอินเดียคำนี้แปลว่าหน้าที่ ปทานุกรมธรรมดาๆในอินเดียคำว่า “ธรรมะ” แปลว่าหน้าที่ ทีนี้เราก็มองเห็นได้โดยความรู้สึกที่มีเหตุผล ธรรมะในความหมายที่สำคัญที่สุดคือหน้าที่ ธรรมะคือตัวธรรมชาติทั้งหลาย ธรรมะคือตัวกฎของธรรมชาติ และธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลจากหน้าที่นั้น ใน ๔ ความหมายนี้ ความหมายที่สามนะสำคัญที่สุด ธรรมะคือหน้าที่ เพราะว่ามันทำให้รอด ธรรมะคือหน้าที่ทำให้รอด รอดอันดับหนึ่งคือรอดจากความตาย มีชีวิตอยู่ได้ รอดอันดับที่สองคือรอดจากความทุกข์โดยประการทั้งปวง ฉะนั้นหน้าที่แห่งความรอดนั้นละคือธรรมะนั้น ชาวนาที่มันไถนาอยู่อย่างนั้นก็คือทำหน้าที่ในความหมายว่าธรรมะเหมือนกัน ก็รอดในทางร่างกาย เขามีกินมีใช้สบายแล้วเขาก็หาความรอดในทางจิต ทางวิญญาณ ประพฤติธรรมะ ทำลายตัวกูเสียก่อนแต่ตัวกูตาย เขาก็ได้นิพพานก่อนแต่ตาย นี้รอด รอดทางจิต รอดทางวิญญาณ รอดจากกิเลส รอดจากความทุกข์ สิ่งใดทำให้รอดสิ่งนั้นต้องถือว่าเป็นหน้าที่ ถ้าไม่ทำหน้าที่มันก็ไม่รอด ชั้นแรกมันก็คือตาย อันดับสองก็มันอยู่อย่างทุเรศที่สุดนะถ้ามันไม่มีธรรมะ จิตใจมันไม่รอด มันก็ตกนรกทั้งเป็นอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นธรรมะคือหน้าที่ พอคนทำงานก็รู้ว่าทำหน้าที่ เขาก็พอใจ สนุกสนานในการทำงาน ยินดีว่าได้ปฏิบัติธรรมะ กวาดถนนอยู่ก็ดี แจวเรือจ้างอยู่ก็ดี ล้างท่อสกปรกอยู่ก็ดี อะไรก็ดี มันพอใจว่าได้ประพฤติธรรมะ มันก็มีความสุขเสร็จแล้วอยู่ในหน้าที่ในการงานนั้น ไม่ต้องไปหาความสุขจากอบายมุข ก็ไม่มีใครเล่นอบายมุข เพราะมันมีสิ่งที่ทำให้พอใจอย่างยิ่งเสียแล้ว อยู่ที่ตัวการงานนั้นเอง ลองคิดดูว่าแล้วบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ถ้าทุกคนมันสนุกอย่างยิ่งอยู่กับการทำหน้าที่ แล้วบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร หรือว่าโลกนี้จะเป็นอย่างไร คำว่าหน้าที่ก็หมายถึงหน้าที่ที่ถูกต้องนะ ไม่ใช่หน้าที่อันธพาล เช่นว่า โจรมีหน้าที่ขโมย ก็ทำหน้าที่โจรแล้วเป็นธรรมะอย่างนี้มันไม่ถูก ถ้าจะให้เป็นธรรมะก็ได้แต่ต้องเรียกว่าธรรมะของโจร ไม่ใช่ธรรมะของพระพุทธเจ้า หรือธรรมะที่ถูกต้องของธรรมชาติ ฉะนั้นเราจะต้องหมายถึงหน้าที่ที่ถูกต้องของธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ที่ทำให้มนุษย์รอดจากชีวิต รอดจากความตาย รอดชีวิต รอดจากความตายอันดับแรก อันดับที่สองที่ทำให้มนุษย์รอดจากความทุกข์โดยประการทั้งปวง สองรอดพอแล้ว ช่วยกันทำให้มนุษย์ทุกคนรู้อยู่ว่าไอ้ทำหน้าที่ของตน ของมนุษย์นี้แหละคือธรรมะ แล้วพอใจทำให้สนุกสนานไปเลย เช่น ชาวนาก็สนุกในการทำนา ชาวสวนก็สนุกในการทำสวน ทุกคนสนุกในหน้าที่ของตน พอใจว่าได้ปฏิบัติธรรมะ พอใจตัวว่าเต็มไปด้วยธรรมะ ยกมือไหว้ตัวเองได้เมื่อนั้นนะสูงสุดของการทำหน้าที่ตามความหมายของคำว่า “ธรรมะ” ฉะนั้นขอให้ทุกคนเมื่อทำงานนะ ให้รู้สึกว่าปฏิบัติธรรม ใครก็ตามทำหน้าที่ทำงานทำการโดยสุจริตแล้วก็ขอให้ชื่อว่านั้นละคือปฏิบัติธรรม ธรรมะก็จะเต็มไปทั้งบ้านทั้งเมืองทั้งโลกละ สันติสุขสันติภาพก็เป็นของง่ายนิดเดียว เดี๋ยวนี้มันไม่คิดจะทำงาน มันคิดจะเอาเปรียบ จะรวยโดยไม่ต้องทำงาน แล้วก็ยังเป็นการทำให้ผู้อื่นยุ่งยากลำบากไปด้วย ถ้าว่าทุกคนพอใจทำงานมันก็จะไม่เกิดปัญหายุ่งยากอย่างเดี๋ยวนี้ ถ้าว่าชนกรรมาชีพทั้งหลายสนุกในการทำงานเหมือนกับที่ชอบอบายมุข แล้วปัญหาชนกรรมาชีพก็จะไม่มี ไอ้เรื่องของนายทุนที่จะเอาเปรียบนั้นมันก็เรื่องหนึ่ง ถ้าเขาพอใจในการทำงานร่ำรวยเสียแล้วจะมามัวเอาเปรียบชนกรรมาชีพอยู่ทำไม แล้วก็จะอยู่กันได้ ร่วมมือกันทำงานให้ดีที่สุดได้ระหว่างนายทุนกับชนกรรมาชีพ ธรรมะในความหมายนี้ เข้ามาสู่โลกนี้แล้วโลกนี้ก็จะเปลี่ยนเป็นโลกของผู้ประพฤติธรรมะ นายทุนขูดรีดก็ตายไปหมด เป็นเศรษฐีใจบุญหมด ชนกรรมาชีพผู้อาฆาตเครียดแค้นก็จะกลายเป็นสัตบุรุษไปหมด โลกนี้ก็จะเป็นอย่างไร คุณไปคิดดูให้ดี ในชั้นนี้ขอให้ทุกคนมองเห็นชัดว่า หน้าที่คือธรรมะ การงานคือธรรมะแล้ว ทำให้สนุกไปเลย จนติดเฮโรอีนธรรมะละ ติดเฮโรอีนธรรมะ ปัญหาก็หมด นี่มองเห็นอย่างนี้
(ผู้ถาม) ท่านอาจารย์ครับ อย่างชีวิตของคน ชีวิตประจำวันนี้นะครับ ของคนในเมืองใหญ่นี้นะครับ อย่างกรุงเทพก็ดี หรือว่าเชียงใหม่ หรือว่าหาดใหญ่ ในเมืองใหญ่ๆ นี้นะครับ ที่จะรักษาศีล แล้วก็มีสมาธิ มีปัญญานี้ครับ จะต้องทำอย่างไรบ้าง
(ท่านอาจารย์) คุณหมายความว่าในเมืองใหญ่ที่มีการเป็นอยู่ยาก ลำบากนี่ จะรักษาศีลหรือประพฤติธรรมะกันได้อย่างไร อย่างนั้นใช่ไหม
(ผู้ถาม) ครับ
(ท่านอาจารย์) มันก็ถูกละ ที่ว่าในเมืองที่มีความยากลำบากเต็มไปด้วยการแข่งขัน มันก็มีธรรมะยากกว่าไอ้ชนบท ที่อยู่กันอย่างสงบเงียบตามธรรมชาติ มันก็อยู่ที่ว่ามันมีความรู้ไม่พอ มันเข้าใจผิด ไม่ชอบทำงาน แต่ชอบเอาเปรียบการงาน และเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่เข้าใจว่าถ้าทุกคนมันทำงานสนุก เป็นการงานที่สนุกแล้ว ไอ้ความตึงเครียดหรือความแข่งขัน แล้วมันก็จะลดลงไปเอง ที่ว่าไอ้งานมันไม่พอกับ คนนี่มันอีกปัญหาหนึ่ง เดี๋ยวนี้แม้งานมีให้ทำอย่างเพียงพอ คนก็ไม่ค่อยทำ คนก็ไม่ชอบทำ คนจนนี้ก็ไม่ได้ชอบทำงาน โดยแท้จริงนะ ทำโดยความจำเป็นบังคับมันก็ทนทุกข์มาก เขาทำงานไม่สนุก คนรวยทำงานสนุกเพราะงานมันเบา คนรวยก็ทำงานหามรุ่งหามค่ำสนุกไปได้ คนจนมันทำอย่างนั้นไม่ได้ มันก็ต้องรู้จักทำให้สุดความสามารถที่มันจะทำไปได้ ไม่ต้องตาย แต่ขอให้รู้สึกว่างานนั้นแหละคือธรรมะ ไอ้การออกเหงื่อนั้นแหละคือความมีธรรมะ ถ้าไม่มีเหงื่อคือไม่มีธรรมะกันดีกว่า ฉะนั้นอย่ามีคนที่เกลียดเหงื่อเลย เป็นคนจนก็บูชาเหงื่อ ไม่เท่าไรก็จะหายจนละ มันจะแก้ปัญหาได้ อย่างเขาทำงานได้ แล้วมันไม่มีอบายมุขเลย ไม่เท่าไรมันก็หายจน เดี๋ยวนี้มันทำงานเท่าที่จำเป็น แต่ทีอบายมุขมันโกยเอาๆๆ มันก็ยิ่งจนลงไป ฉะนั้นขอให้คนในเมืองหลวงหรือในเมืองที่มันอยู่กันอย่างแข่งขันที่สุดนั้น ให้มามองดูว่าธรรมะนี้จะช่วยได้ ดีกว่าที่เราจะไปแข่งขัน แย่งชิง ฆ่าฟันกัน เพราะประโยชน์มันขัดกัน มามีความคิดนึก รู้สึกและยึดถือหลักกันเสียใหม่ ธรรมะนี้ประเสริฐ แล้วก็อยู่ที่การงานนั้นเอง ก้มหน้าก้มตาทำการงาน ถ้ามันจำเป็นที่จะต้องอยู่ในเมืองชนิดนั้น ถ้าหากหนีไปอยู่ชนบท เงียบสงบได้ก็หนีไปก็ดีเหมือนกัน แล้วก็ถูกเหมือนกัน แต่ถ้ายังจะต้องอยู่ในเมืองชนิดนั้น แล้วมันก็ต้องทนลำบากหน่อย ต้องทำงานให้มากนะเพราะมันเป็นการแข่งขัน แล้วก็รอด จะรอดตัวได้ เมื่อเราสมัครอาบเหงื่อต่างน้ำนะ แล้วปิดอบายมุขเสีย คือมีแต่สตางค์หาเข้ามา ไอ้รูรั่วที่จะจ่ายมันอุดเสีย มีแต่เข้ามาไม่มีจ่ายออกนะ มันก็อยู่ได้ เดี๋ยวนี้ไอ้เมืองชนิดนะนั้นมันหมายความว่าเป็นที่อบายมุข ไอ้เมืองใหญ่ๆ อย่างนั้นนะมันคือเป็นที่รวมแห่งอบายมุข นี้ไอ้คนเหล่านี้มันสู้ไม่ไหว มันทนบังคับจิตไม่ได้ มันก็ออกไปบูชาอบายมุข รายได้ไม่พอกับรายจ่ายของอบายมุข แล้วก็ไปทำอาชญากรรม ใครจะช่วยได้ ก็บอกไม่ถูกละ แต่ถ้าธรรมะกลับมา ธรรมะนี้แหละจะช่วยได้ ธรรมะกลับมาสิงสถิตในจิตใจของคน ให้รู้สึกว่าธรรมะนั้นละคือสิ่งสูงสุด ธรรมะจะทำหน้าที่ แล้วก็ทำหน้าที่เป็นความสุขไปเลย การทำงานทำหน้าที่เป็นความสนุก เป็นความสุข มันอยู่ได้ เรียกว่าอยู่ได้ ถ้าทำกันอย่างนี้ทุกคน อยู่ได้ เพราะสถานที่อบายมุขมันปิดตัวเอง หมดเองละ ไม่ต้องสงสัย ที่จะมีธรรมะมันช่วยได้อย่างนี้ มีหูตาสว่าง มีสัมมาทิฏฐิขนาดนี้ ไปช่วยมนุษย์ได้ ธรรมะช่วยมนุษย์ได้ หรือมนุษย์ช่วยตัวเองได้โดยธรรมะนั้นเอง อบายมุขที่จะเป็นสิ่งที่รังเกียจ ที่ใครๆ มันเกลียด ไม่มีใครไปอุดหนุน มันก็ต้องปิดตัวเอง ปัญหาที่ว่าอยู่ในเมืองชนิดนั้น อยู่ด้วยความยากลำบากมันก็หายไปทันที อยู่ในเมืองชนิดนั้นก็จะสบายเหมือนกัน เป็นสุขสบาย สะดวกเหมือนกัน อาตมามีความเห็นอย่างนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้
(ผู้ถาม) ท่านอาจารย์ครับ อย่างศีล สมาธิ ปัญญานี้นะครับ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วก็ชาวบ้านนี้นะครับจะมีวิธีที่จะรักษาศีล สมาธิ แล้วก็ปัญญาไว้นี้นะครับ อย่างไรบ้าง
(ท่านอาจารย์) มันก็ทำให้มันรู้สิ ทำให้มันรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เดี๋ยวนี้ไม่รู้ ไม่เรียน ไม่รู้ ไม่นิยมจะรู้ แม้พวกฝรั่งที่ว่าฉลาดที่สุด แต่มันก็ไม่รู้ คนไทยก็ไปโง่ตามก้นฝรั่ง พวกที่ไม่รู้เรื่องศีล สมาธิ ปัญญา คนที่ไปเรียนมาจากฝรั่งมันก็พลอยเกลียด ศีล สมาธิ ปัญญา คุณจำไว้นิดเดียวพอ ไอ้ศีลนะคือความถูกต้อง ไม่มีความผิดพลาดเกี่ยวกับกาย วาจา การประพฤติกระทำทางกาย วาจา ไม่มีความผิดพลาดเลยนั้นคือศีล ที่ไม่มีความผิดพลาดเลยในทางจิต ตัวจิต ตัวใจนั้นคือสมาธิ แล้วไม่มีความผิดพลาดเลยในทางสติ ปัญญา ความรู้ ความเชื่อ ความเห็น นั้นละคือปัญญา มีคำยืนอยู่คำเดียวคือว่าไม่ผิดพลาด คือถูกต้อง ถูกต้อง ไม่ผิดพลาด ถ้าเป็นไปในทางกาย ทางวาจา เรียกว่าศีล ถ้าเป็นไปในทางจิตเรียกว่าเป็นสมาธิ เป็นไปในทางสติปัญญานั้นก็เรียกว่าปัญญา เราไม่ทำผิดทางกาย วาจา สังคมก็จะเป็นสุข นี้เป็นพื้นฐาน บุคคลแต่ละคนมันก็มีความสุขส่วนตน สังคมก็มีความสุขส่วนสังคม ถ้ามันมีศีล มันไม่ทำผิดไอ้ทางกาย ทางวาจา ที่เรียกว่าศีล ๕ ศีลอะไรก็สุดแท้ ไม่เกิดการประทุษร้ายตัวเองหรือผู้อื่นโดยทางกาย วาจา ทีนี้ความถูกต้องทางจิต มันก็มีจิตดี จิตที่จะคิดไปในทางที่ถูกต้อง มีกำลังจิตเข้มแข็ง บังคับตัวเองให้ละความชั่วเสียได้ เอาแต่ความดีเท่านั้น อย่างนี้ก็เรียกว่าจิตมันเข้มแข็ง จิตมีความถูกต้อง ใช้ประโยชน์ได้ดีที่สุด และเข้มแข็งที่สุดด้วยในการทำการงาน ทำหน้าที่ นี่ถูกต้องทางความรู้ ทางความคิด ความเชื่อนั้นละเรียกว่าปัญญา จะช่วยให้ทำถูกต้องไปหมดไม่มีอะไรผิดพลาด ถูกต้องในที่นี้หมายถึงมีประโยชน์ ไม่หย่อน ไม่ตึง นี้พอดี นี้นะถูกต้องแล้วก็สำเร็จประโยชน์ ทีนี้ไปคิดดู มองไปทั่วโลกเลยก็ได้ หลักเกณฑ์อันนี้ ที่ไหนบ้างไม่ต้องการ หรือที่ไหนบ้างไม่ควรจะต้องการ พวกฝรั่งเขาก็ไม่รู้ว่า ไอ้ศีล สมาธิ ปัญญา ของชาวพุทธนี้เป็นอย่างไร กลับไปถือเอาตัวหนังสือผิวๆ เผินๆ ไม่แสดงเนื้อความที่ถูกต้อง เราจะท้าทายทั้งโลกละ มันควรจะต้องการความถูกต้อง ๓ อย่างนี้ ถูกต้องทางกาย วาจา คือศีล ถูกต้องทางจิตใจคือสมาธิ ถูกต้องทางความคิด ความเชื่อ ความรู้นั้นคือปัญญา มันควรจะเป็นของที่รู้จักกันดีทั่วโลกและทั้งโลก แต่มันก็ไม่มีโอกาส มันก็ยังมีความผิดพลาดทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทางไอ้สติปัญญา มันก็เป็นช่องให้กิเลสเกิดขึ้นครองโลก โลกไม่มีความถูกต้อง กิเลส ความทุกข์ ความชั่วร้ายก็ครองโลก ถ้ามีศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีโอกาสหรอกที่กิเลสหรือความชั่วร้ายอันไหนจะมาครองโลกได้ เมื่อมันมีความถูกต้องไปเสียทั้ง ๓ สถานนี้ ทางกาย วาจา นี้เราเรียกว่าพื้นฐาน แล้วจิตสูงขึ้นมา แล้วปัญญาสูงสุด ถูกต้องเสียทั้งสามชั้น ทั้งสามชั้นนะ มองให้เห็นว่านี้คือสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ แต่ก็ไม่มีใครสนใจ บางคนเอาไปล้อเสียอีก ว่าเป็นเรื่องครึคระอยู่ในวัด ที่จริงมันควรจะไปอยู่แก่ทุกคน ตั้งแต่คนยากจนที่สุด ขึ้นไปถึงไอ้คนธรรมดาสามัญ เป็นราชา มหากษัตริย์ จักรพรรดิ เทวดา อะไรก็ตาม มันจะต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา มันก็จะอยู่อย่างดี อย่างถูกต้อง ขอให้มองสิ่งที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ในลักษณะอย่างนี้ จำเป็นแก่ทุกคน ทุกสถานที่ ทุกเวลา ทุกแห่ง แต่ก็น่าเศร้าใจที่ไม่มีใครรู้จัก แล้วก็ไม่สนใจที่จะมี ไม่สนใจที่จะรู้ แล้วก็ไม่สนใจที่จะมี นี่ตัว ตัว เนื้อตัวของพุทธศาสนาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา มีความถูกต้องอย่างนี้ ยังถูกหาว่าศาสนาเป็นยาเสพติด คนพวกหนึ่งมันหลับตาหาว่าศาสนาเป็นยาเสพติด แล้วคุณก็ดูเอาเองว่า ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างนี้จะเป็นยาเสพติดได้อย่างไรล่ะ มันทำลายยาเสพติดมากกว่า
(ผู้ถาม) ท่านอาจารย์ครับ เคยมีทั้งคนเขียนไว้ แล้วก็พูดกันนะครับว่า ศาสนาพุทธนี้นะครับ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองนี้ ทั้งในอดีตแล้วก็ในปัจจุบันนี้นะครับ ผมอยากให้ท่านอาจารย์ให้ความเห็นกับประเด็นนี้โดยละเอียดหน่อยครับ
(ท่านอาจารย์) เอ้า, ถ้าคุณมองเห็นชัดว่าศาสนาพุทธไม่ใช่ยาเสพติด ศาสนาอื่นทั้งหลายมากมายเป็นยาเสพติดก็ตามใจมัน ศาสนาพุทธไม่ใช่ยาเสพติด แล้วก็ไม่มีทางละ ที่ชนชั้นปกครองจะเอาศาสนาพุทธไปเป็นเครื่องมือกดขี่ขูดรีดใครได้ ความผิดมันอยู่ตรงที่ไม่รู้จักศาสนาพุทธ ไม่เป็นศาสนาพุทธ ไม่มีไว้อย่างศาสนาพุทธ ไม่ใช้มันอย่างศาสนาพุทธ มันก็กลายเป็นยาเสพติดได้เหมือนกัน เขาก็เอาไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับกดขี่ ขูดรีด ทำนาบนหลังคนจนได้เหมือนกัน คำว่า “ชนชั้นปกครอง” นี้มันคล้ายๆ กับว่าเลวไปทั้งหมด อย่างนั้นนะมันเป็นไปไม่ได้ ไอ้ชนชั้นปกครองมันก็ มันก็ต้องมีบางคน บางที่ บางเวลา บางยุค บางสมัย ต่อเมื่อมันไม่มีธรรมะน่ะมันจึงจะเป็นคนปกครองที่เลว ถ้ามันมีธรรมะมันก็มีชนชั้นปกครองที่ดี ฉะนั้นควรจะมองไปในแง่ว่าธรรมะหรือศาสนามันช่วยสร้างผู้ปกครองที่ดีกันบ้างไม่ได้เลยหรือ ทำไมไปมองอย่างนั้นละ มันสวมแว่นตาอะไรกันไปแล้วนะ ถ้ามันเป็นธรรมะจริง มันเป็นศาสนาจริง เอาไปใช้อย่างนั้นไม่ได้หรอก มันเอาไปใช้อย่างนั้นไม่ได้นะ มันตรงกันข้ามนี่ จะเอาไปใช้อย่างไรได้ เพราะว่าไอ้ธรรมะหรือศาสนานั้นมันกำจัดความเลวร้าย ความคิดผิด เห็นผิด ความเอาเปรียบ ความเห็นแก่ตัว มันกำจัดอยู่อย่างนี้ จะเอาไปใช้อย่างนั้นไม่ได้ เพราะมันเป็นข้าศึกกันอยู่นี่ แล้วมันเป็นเรื่องที่จะมองกันไม่ทั่วถึง หรือยิ่งกว่านั้นก็เป็นเรื่องแกล้งว่า แกล้งใส่ความ สำหรับไอ้ชนชั้นหนึ่งที่มันเมา อะไรของมันก็ไม่รู้ มองคนบางพวกเป็นเรื่องผิดพลาดไปเสียหมด ชนชั้นปกครองนั้นอย่าเข้าใจว่ามันจะเป็นเรื่องอย่างเลวร้ายอย่างนั้น มันก็มีที่ดีที่สุด หรือเลวที่สุดนะ ได้ทั้งสองทาง ถ้าชนชั้นปกครองมีธรรมะปัญหาก็ไม่มี ถ้าชนชั้นปกครองไม่มีธรรมะ มันก็มีปัญหาเต็มไปหมด เดี๋ยวนี้คุณอย่าไปมองที่ชนชั้นปกครอง เพราะว่าเราโอนอำนาจการปกครองมาให้ประชาชนเรียกว่าประชาธิปไตย มาดูที่ประชาชนกันดีกว่า ถ้าประชาชนเลวไม่มีธรรมะ นั้นแหละคือวินาศละ วินาศยิ่งกว่าชนผู้ปกครองไม่มีธรรมะ ถ้าประชาชนทุกคนไม่มีธรรมะนะมันวินาศแน่ มันก็จะเลือกผู้แทนอย่างคดโกง รับจ้างเลือกมันก็ได้ผู้แทนโกง ผู้แทนโกงมันก็ไปเป็นรัฐสภา ก็เป็นรัฐสภาโกง รัฐสภาโกงก็ตั้งรัฐบาลโกง แล้วมันจะอยู่กันได้อย่างไรล่ะ เพราะอำนาจมันไปอยู่ที่ประชาชน อำนาจปกครองไปอยู่ที่ประชาชน ฉะนั้นรีบทำประชาชนที่จะเป็นผู้ปกครองนั่นแหละให้มีธรรมะเสียสิ แล้วใครจะมาเป็นผู้ปกครองที่โกงได้ละ ไอ้ชนชั้นปกครองเมื่อมันอยู่ที่คนมีอำนาจเอกชนเป็นคนๆ นั้นมันก็อย่างหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ก็โอนให้ประชาชนทุกคนเป็นผู้มีอำนาจแหละปกครอง แต่แล้วมันก็ทำไม่ได้ตามความมุ่งหมาย คือยังไปปกครองไม่ได้ ยังต้องทำกันอย่างชนิดที่ว่าให้มีโอกาสที่จะโกง ทีนี้เรามาตั้งหน้าหวังว่าประชาชนทุกคนจะไม่เป็นคนพาล จะเป็นคนมีธรรมะ แล้วเราก็จะได้การปกครองที่เป็นธรรมะแต่ไม่โกง แล้วก็อยู่กันเป็นสุข เป็นผาสุก เรื่องที่ว่าจะมีผู้มีอำนาจการปกครอง ใช้ธรรมะในการขูดขีดขูดรีดประชาชนมันก็ยกเลิกไปเอง มันมีไม่ได้ ถ้าประชาชนมันมีธรรมะเสียอย่างเดียวเท่านั้น ช่วยกันทำให้ประชาชนหรือมวลชนนะมีธรรมะ บูชาธรรมะ แล้วมันก็จะปกครองประชาชนนั้นนะให้เป็นสุข ผาสุก เป็นโลกพระศรีอริยเมตไตรยไปเลย เรื่องนี้อาตมามีความเห็นอย่างนี้
(ผู้ถาม) ท่านอาจารย์ครับ คนที่จะสนใจในพุทธศาสนาในทุกวันนี้นะครับ เป็นกลุ่มคนอาชีพไหนครับ ถ้าจะดูจากกลุ่มคนที่มาที่สวนโมกข์นี้ครับ เป็นชาวนา ชาวไร่ หรือว่าเป็นกรรมกร หรือว่าเป็นคนชั้นกลาง หรือว่ากลุ่มคนประเภทไหนครับ
(ท่านอาจารย์) คุณจะให้ถือว่าถ้ามาสวนโมกข์แล้วก็สนใจธรรมะ
(ผู้ถาม) ไม่ครับ ไม่อย่างนั้นครับ
(ท่านอาจารย์) หมายถึงอย่างไรละ
(ผู้ถาม) อย่าง โดยส่วนรวมนะครับ แล้วก็ส่วนหนึ่งที่มาสวนโมกข์นี้นะครับ
(ท่านอาจารย์) มันไม่แน่นอน ถ้าเอาถือคำว่า “มาสวนโมกข์” นี้ไม่แน่นอน ไม่แน่นอน มาสวนโมกข์ด้วยเหตุหลายอย่าง แต่มาสวนโมกข์ด้วยอยากจะรู้ธรรมะสนใจธรรมะก็มีอยู่มากเหมือนกัน แต่ถ้าจะเอาข้อเท็จจริงที่มันมีอยู่จริงนี้ เราจะถือว่าเอาผู้ที่สนใจธรรมะนี้เป็นพวกที่มีการศึกษา เรียกว่าผู้มีการศึกษาที่ตั้งใจจะมาสวนโมกข์โดยแท้จริง นอกจากนั้นก็มาเที่ยว หรือว่ามาอย่างแตกตื่นว่าคงจะเป็นที่ให้เกิดบุญ เกิดกุศล ไอ้ทำนองสถานที่บุญ เกิดบุญ อย่างนี้ก็พอจะมีบ้าง แต่ไม่ใช่ความประสงค์ของสวนโมกข์ แล้วอีกทีหนึ่งมันก็เป็นเรื่องผู้เป็นหัวหน้าเขาพามา หัวหน้าพามา อาจารย์พามา อย่างนี้มันก็มีมากเหมือนกัน ยังแยกไม่ได้นะที่จะว่า จะดูจากคนมาที่นี่แล้วไปจัดว่าพวกไหนสนใจธรรมะมาก อาตมาก็ยังอยากจะรู้อยู่เหมือนกัน กำลังตั้งข้อสังเกต ทำสถิติอะไรอยู่เหมือนกัน เดี๋ยวนี้คนที่โรคประสาทกัดเอางอมแงมแล้วมามากขึ้นเหมือนกัน คนที่ไม่ค่อยดี เดี๋ยวนี้คนที่โรคประสาทกัดกินเอางอมแงมก็มา บางทีมาขอพักกันสองสามวัน ว่าผมจะตายแล้ว ผมจะตายแล้ว พอมาอยู่ที่นี่ได้สองสามวันมันก็กลับไป มันค่อยยังชั่วแล้ว มันจะกลายเป็นโรงพยาบาลประสาทไปก็ได้ต่อไป โดยไม่ต้องมีหมอละ ธรรมชาติมันรักษาของมันเอง เป็นความเชื่อของเขา ที่ได้ยินเขาเล่าลือกันว่าสวนโมกข์สอนธรรมะ หรือดูจากสิ่งที่เผยแผ่โฆษณาออกไป คนเขาก็ถือว่าที่สวนโมกข์นี้มีการแจกจ่ายธรรมะ น่าจะถือว่าพวกนักศึกษาจะมาอย่างที่เรียกว่าน่าพอใจ มาศึกษาธรรมะ ที่มาเที่ยวนะมากกว่า มาเที่ยวดูมาเที่ยวตามสถานที่ที่เขาสำหรับมีไว้เที่ยวมีมากกว่า จนเราต้องทำภาพแจกรูปตา มีคนรับไม่กี่คน มีคนมาเที่ยวเป็นฝูงๆ ถ้าถามว่าไอ้คนพวกไหนที่สนใจธรรมะมากโดยแท้จริงนะ จะขอพูดว่าพวกนักศึกษาสนใจธรรมะมาก พวกมาเพื่อเอาแต่บุญ แสวงบุญ นี้ก็มากไปอีกแบบหนึ่ง แต่มากชนิดที่เราไม่ค่อยประสงค์นะ หรือว่าไม่ใช่เป็นที่ปรารถนา มันจะทำให้เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์อะไรไปเสีย ไม่ต้องทำอะไรมาแล้วก็พอแล้ว นี้มันไม่ถูกตามความประสงค์หรือวัตถุประสงค์ของไอ้การมีสวนโมกข์ เราต้องการให้เขามีความรู้ มีจิตใจสว่างไสว แล้วมีจิตใจเกลี้ยง คำว่า “โมกข์” แปลว่าเกลี้ยง เกลี้ยงจากของสกปรก หรือว่าเกลี้ยงจากไอ้สิ่งที่มันรบกวนนะ มันจะต้องเป็นเรื่องของนักศึกษา ที่จะช่วยให้ไอ้ความประสงค์ข้อนี้สำเร็จได้ ขอตอบไว้ทีก่อนว่า ไอ้นักศึกษาสนใจธรรมะมาก แม้ชาวต่างประเทศ ถ้ามาก็หมายความว่าเป็นนักศึกษา อย่างน้อยมันก็อยากรู้ไอ้สิ่งที่แปลกๆ ออกไป ถือว่าธรรมะเป็นวิชาความรู้ที่แปลกออกไป ขอให้ได้ความรู้ที่แปลกๆนี้ก็อุตส่าห์มา ไอ้พวกที่น้อยที่สุด น่าจะพูดว่าผู้ที่รู้จักความทุกข์แล้วอยากจะดับทุกข์นั้นแหละมีน้อยที่สุดเลยที่มาที่สวนโมกข์ รู้จักความทุกข์แล้วอยากจะดับทุกข์ แม้ที่เป็นนักศึกษามันก็ไม่ถึงกับว่ามันรู้ความทุกข์ กลัวความทุกข์ แล้วอยากจะมาหาความดับทุกข์ ก็ไม่ค่อยมี แต่ว่าความสนใจนะมันมีมาก หรือน่าดูกว่าพวกอื่นๆ ฝรั่งส่วนมากมา เขาสนใจธรรมะในฐานะเป็นสิ่งที่แปลก แปลกสำหรับเขา อยากจะรู้ของแปลก เป็นความรู้รอบตัว ฝรั่งไม่เคยรู้มาก่อนว่าพุทธศาสนานี้สำหรับดับทุกข์ เขามา เขาก็รู้แต่เพียงมันเป็นของแปลก ยิ่งไปพูดถึงเรื่องดับทุกข์แล้วเขาไม่ค่อยสนใจ เพราะพวกฝรั่งเขามีการศึกษาหรือมีวัฒนธรรมมาในรูปที่ว่าเขาไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ เขาไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ ก็พอใจ ทีนี้เขาต้องการจะพอใจให้แปลกๆๆๆ ออกไป เขาจึงเที่ยวแสวงหา ที่มาบ้านเรานี้มาหาอะไรแปลกๆ ไม่ใช่มาหาความดับทุกข์ แล้วเขาจะถือว่าเขาไม่มีความทุกข์ แล้วบางคนนะ ฝรั่งบางคนที่น่าประหลาดที่สุดนะ เขาพูดว่าไอ้คนที่ไม่มีความทุกข์นะเป็น abnormal เขาไม่อยากจะเป็นนะ เขาไม่อยากจะเป็นคนที่ไม่มีความทุกข์ เขาอยากจะมีทุกข์ๆ สุขๆ ขึ้นๆ ลงๆ ยินดียินร้ายนะเขาว่าคนปกติ ฉะนั้นถ้าเราจะบอกเขาว่าพุทธศาสนาจะดับทุกข์แล้วเขาก็ไม่ต้องการละ เขาไม่ต้องการที่จะดับทุกข์เพราะเขาไม่มีความทุกข์ แต่เมื่อถ้าไม่มีความทุกข์มันไม่ใช่คนปกติ ต้องมีความทุกข์ขึ้นๆ ลงๆ อยู่เสมอปกติ ก็ลองคำนวณดูเองเถิด มันหลายพวก หลายแบบ หลายชนิดของปัญหา ผู้ที่รู้สึกว่าชีวิตเป็นปัญหาแล้วจะมาหาธรรมะสำหรับแก้ปัญหานี้น้อยมาก น้อยมาก มาเผื่อๆ ไว้มีมาก มาศึกษาเผื่อๆ ไว้
(ผู้ถาม) ท่านอาจารย์ครับ อย่างสวนโมกข์นี้นะครับ ถือได้ว่าเป็นพุทธสถานสำคัญแห่งหนึ่งของสุราษฎร์ธานีนี้นะครับ แต่เพราะอะไรที่ในทุกวันนี้นะครับ เมืองสุราษฎร์เองนี้นะครับ ก็ไม่ได้เป็นเมืองที่ร่มเย็นเหมือนในสมัยเก่า แล้วก็คนสุราษฎร์เองนี้นะครับ มีมากน้อยที่มาสวนโมกข์นี้ด้วยความเข้าใจแล้วก็ถือปฏิบัติหลักธรรมนะครับ
(ท่าอาจารย์) สุราษฎร์แปลว่าเมืองคนดี แต่มีอาชญากรรม
(ผู้ถาม) ครับ
(ท่าอาจารย์) เต็มไปหมดใช่ไหม
(ผู้ถาม) ครับ
(ท่านอาจารย์) ในวัดพระพุทธเจ้าก็มีอาชญากรรม คุณไปอ่านในพระไตรปิฎก ในวัดพระพุทธเจ้าเองก็มีอาชญากรรมหลายเรื่องหลายราวฆ่ากันตายก็มี อะไรก็มี แล้วจะเอาอะไรกันนักกับที่ว่า ไอ้บ้านนอก ปลายแดนอย่างนี้ เพราะว่าเขาไม่ถือ มันเป็นยุคเป็นสมัยที่มันเปลี่ยนแปลง ยุคหนึ่ง ดินแดนรอบอ่าวบ้านดอนนี้คงที่จะถือธรรมะกันเคร่งครัดมาก มันเต็มไปด้วยโบราณสถาน ให้เห็นอยู่เลยว่ามันมีธรรมะมาก แล้วถือศาสนาสองศาสนาพร้อมกัน ช่วยคนมีศีลธรรมด้วยอำนาจของศาสนาพร้อมกัน คือทั้งศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพราหมณ์ถึงแม้ไม่ใช่พุทธ แม้ไม่ลึกอย่างพุทธมันก็มุ่งหมายที่จะให้คนเป็นคนดีกัน กลัวบาปกัน ถือพระเจ้ากลัวบาป วัดที่เกินพันปีขึ้นไปคือวัดถึงสมัยศรีวิชัยแล้วจะมีโบสถ์พราหมณ์คู่กับโบสถ์พุทธในแต่ก่อน เพราะฉะนั้นประชาชนถือสองศาสนาพร้อมกัน ในพระเจดีย์พุทธแท้ๆ ที่วัดแก้วนี้มีศิวลึงค์และคเณศร์รวมอยู่ด้วยในที่ประธาน หน้าประธานของพุทธ นี้ทำให้เราคิดว่านี่เขายอม เขายอมให้รวมอยู่ร่วมกันนะ แต่เชื่อได้ว่าเขายอมให้ถือศาสนาสองศาสนาพร้อมกัน ฉะนั้นความมีศีลธรรมของศาสนาดุลขึ้นมาพร้อมๆ กันก็มาก นี้เป็นเหตุให้คนอยู่กันอย่างสงบสุข สมัยนั้นอยู่กันอย่างสงบสุข มีอะไรแสดงให้เห็นอยู่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ไม่เบียดเบียน แม้แต่บทกล่อมลูกมันก็เป็นเรื่องธรรมะสูงถึงนิพพาน คุณช่วยถ่ายไอ้ภาพต้นมะพร้าวกลางสระนั้นไปด้วย นั้นเราสร้างขึ้นนะ มันไม่ได้เป็นเอง เขารู้ธรรมะเรื่องนิพพานมากพอที่จะมาทำเป็นบทกล่อมลูกให้นอนนะ เราเล่าให้ฝรั่งฟังแล้วฝรั่งสั่นหัวงึกงักๆ อย่างนั้นละ มันไม่มีที่ไหนละที่ว่าจะไอ้บทกล่อมลูกนั้นนะ มันเรียก lullaby นะ บทกล่อมลูกให้นอนนะ ของใครก็ไม่มีถึงขนาดนิพพาน มะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ จะร้องกันได้ในชุมพร ไชยา นครฯ พัทลุง เท่านั้นละ นอกจากนั้นไม่มีนะ ที่รู้เรื่องนิพพานว่ามันอยู่กลางวัฏสงสาร ความทุกข์นั้นนะไปหาดูเถิด ความดับทุกข์มันอยู่ในนั้น ความดับทุกข์มีอยู่ในความทุกข์ เพราะว่ามันจะดับทุกข์มันต้องดับที่ความทุกข์นี่ ฉะนั้นความดับทุกข์มันก็อยู่ในความทุกข์ อย่างจะดับไฟมันก็ดับที่ไฟ ไอ้ความดับไฟมันก็อยู่ที่ไฟ ฉะนั้นในวัฏสงสารมันเป็นทุกข์แล้วมีนิพพานอยู่ หาให้ดี ดูให้ดี นี่เป็นความเห็นที่ลึกมาก ฉะนั้นเราจึงถือว่าไอ้เมืองนี้มันก็จะต้องขึ้นไปสูงสุดในธรรมะละ การศึกษาด้วยวิธีการปฏิบัติก็ดี ทีนี้ตามกฎที่ว่ามันไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นไปตามปัจจัย มันก็เปลี่ยนไป เปลี่ยนไปนะ เปลี่ยนไปสู่ไอ้ที่มันเหลือน้อยลงๆ จนพูดได้ว่าพอไอ้วัตถุนิยมเข้ามานี้ ความนิยมในวัตถุนิยม ความสุขทางวัตถุเข้ามาแล้วก็ มันก็เปลี่ยน ทีนี้คนก็ใช้ไอ้ความฉลาดเพื่อกิเลส ไอ้ธรรมะหรือการศึกษาช่วยให้คนฉลาด แต่ว่าพอธรรมะออกไป คนก็ใช้ความฉลาดเพื่อกิเลส ฉะนั้นคนรุ่นหลังของบ้านเมืองที่เคยเจริญด้วยธรรมะหรือศาสนานี้มันจึงเป็นคนที่ฉลาดในการที่จะใช้กิเลส มีคำพูดอยู่คำหนึ่งว่า “หัวหมอ” คุณจำไว้เถิด แล้วถ้าโผล่ไปที่อื่นจะได้ยินว่าคำว่า “หัวหมอ” ไหม ถ้าภาคใต้ตลอดที่ว่านี้จะมีคำว่า “หัวหมอ” หมายความว่าคนนั้นมันฉลาด ที่เคยเจริญสูงสุดในทางพุทธศาสนา เช่น ไชยา นครฯ พัทลุงนี้ หัวหมอทั้งนั้นละ มันเหลือซากอยู่ ในทางที่ใช้ความฉลาดเพื่อกิเลส มันเลยเป็นคนหัวหมอนะ พูดจากับมันยากละไอ้พวกหัวหมอ นี่บ้านเมืองที่มันเคยเจริญด้วยธรรมะสูงสุด มันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ มันก็ต้องหมด ไอ้ส่วนที่เป็นธรรมะ เหลืออยู่แต่ซากเดนอะไรบ้าง หรือว่าการศึกษาในสมัยนั้นนะมันทำให้คนฉลาด ก็ได้รับวัฒนธรรมก่อน หมดแล้วก็เหลือแต่ซากเดนที่ว่าใช้ความฉลาดในเรื่องทางกิเลส ฉะนั้นเมืองเก่าๆ อย่างนี้ เหลือประชาชนที่เป็นหัวหมออยู่มากที่สุด จึงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เรียกว่ามันยุคที่เหลืออยู่แต่หัวหมอ เมื่อไรมันหมด มันก็จะดี ต่อไปมันอาจจะดีเพราะมันเปลี่ยนไป
(ผู้ถาม) ท่านอาจารย์มีวิธีอย่างไรครับ ในทางรูปธรรมนะครับ ที่จะทำให้ศีลธรรมกลับมา แล้วก็ในสุราษฎร์ธานีเองนี้นะครับ ศีลธรรมนี้จะกลับมาได้อย่างไร
(ท่านอาจารย์) ที่ไหนก็เหมือนกันละ คือว่ามันเป็นเรื่องของโลก โลกทั้งโลกถูกมอมเมาด้วยรสอร่อยของวัตถุนิยม คุณอาจจะคิดเหมือนหลายๆ คนว่า อาตมานี้ใช้คำว่า “วัตถุนิยม” ผิด พูดถึงวัตถุนิยมก็หมายถึงรสอร่อยของวัตถุ เราหมายอย่างนั้น เราก็รู้เหมือนกันละว่าวัตถุนิยมนะคือ เอาวัตถุเป็นหลัก ในการจะศึกษา ในการจะค้นคว้า ในการจะบันทึก ในการจะพิสูจน์ ในการจะทดลองเอาวัตถุเป็นหลัก อย่างนี้เรียกว่าพวกวัตถุนิยม ดังนั้นมันไม่มีอิทธิพลอะไรกับมนุษย์นักนะ ไอ้รส รสชาตินั้นนะมันมีอิทธิพลมาก มีรสชาติของวัตถุนะคือเนื้อหนัง อร่อยทางเนื้อหนัง เพราะมันไปนิยมวัตถุ ไปนิยมรสอร่อยทางเนื้อหนัง อันนี้ครอบงำจิตใจของคนทั้งโลก จนโลกมันเปลี่ยนเหมือนกับหน้ามือเป็นหลังมือ ไอ้โลกสมัยวัตถุนิยมกับสมัยที่ยังไม่เป็นวัตถุนิยม มันจะต่างกันเหมือนกับหน้ามือเป็นหลังมือ ถ้าเป็นครั้งพุทธกาลมันนิยมไอ้ความสุขทางจิตใจ ทางนามธรรม มันก็ขวนขวายกันแต่ไอ้ความสุขชนิดนั้น มันก็เป็นมาระยะยาวมากนะ ว่าที่จริงมันก็ระยะยาวมาก ไอ้วัตถุนิยมนี้เราจะให้อายุมันสักร้อยปีก็ได้ หรือไม่เกินสองร้อยปี ก็เรียกว่าพอวัตถุนิยมมันเกิดขึ้นในโลก คือคนหันมาหาความอร่อยทางวัตถุเกี่ยวกับเนื้อหนังขึ้น มันก็นิยมขึ้น นิยมขึ้นจนตั้งโรงอุตสาหกรรมนะ เพื่อผลิตวัตถุส่งเสริมกิเลส นายทุนนี้เพิ่งเกิด อย่าเอาวัตถุนิยมไปให้เป็นบาปของนายทุนนัก มันเป็นบาปของมนุษย์เอง เมื่อมนุษย์มันเริ่มนิยมวัตถุมากขึ้น มันก็พอจะตั้งอุตสาหกรรม ทีนี้ผู้ที่ฉวยโอกาสอันนี้ได้ก็กลายเป็นนายทุนไป มันไม่ใช่คนริเริ่มต้นคิด มันกิเลสของมนุษย์ต่างหากมันเปลี่ยนไป มันเป็นจุดตั้งต้นที่กิเลสของมนุษย์นะมันเริ่มครองโลก จิตใจของมนุษย์เริ่มเปลี่ยนไป บูชาอร่อยทางวัตถุ ถ้าเป็นสมัยโน้นสมัยโบราณนั้นเขาถือว่าบาปนะ ไอ้การที่ไปชอบกิเลส ตัณหา ราคะนี้เขาถือว่าบาปนะ ไม่มีใครกล้าทำอย่างนั้นนะ เพียงแต่แต่งตัวชะเวิบชะวาบเขาก็ว่าบาปเสียแล้วนะ ผู้หญิงคนไหนทำท่าทางยั่วยวนเขาว่าแช่งให้ฉิบหายเลยนะ มันบาปอย่างนั้นนะ ทีนี้ต่อมาเดี๋ยวนี้มันไม่เป็น มันกลับชอบ มันส่งเสริมกันใหญ่ อย่างโอกาสที่จะผลิตวัตถุซึ่งเป็นของยั่วยวนมันก็มีมาก แล้วอุตสาหกรรมก็เกิดขึ้น มันโลกนี้มันก็เปลี่ยนเร็ว พอเราใช้วัตถุปัจจัยที่ผลิตกันอย่างอุตสาหกรรม โลกนี้มันก็เปลี่ยนเร็ว มันเป็นโลกที่บูชาวัตถุ พูดตรงๆ ก็ว่าบูชากิเลส ตรงกว่านั้นก็คือบูชาความเอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนัง ซึ่งเมื่อก่อนเขาเกลียดกันมากนะ เกลียดเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดเลยนะ เดี๋ยวนี้กลายเป็นของบูชาอยู่เหนือหัว ของคนปัจจุบันนี้ แล้วจะไม่ให้โลกเปลี่ยนอย่างไรละ มันก็เปลี่ยนเป็นหน้ามือหลังมือ มันจะมาโทษใครละ โทษนายทุนก็ไม่ได้ อันนี้ผู้ฉวยโอกาสทีหลัง กิเลสของมนุษย์ต่างหากที่มันเปลี่ยนคนให้เป็นบูชาวัตถุจนเกิดโอกาสแก่นายทุน แล้วเมื่อคนจนมันไม่ได้ไอ้ความเอร็ดอร่อยอย่างนั้น มันก็คิดว่าเพราะนายทุน มันก็เลยทำลายล้างนายทุน หารู้ไม่ว่ากิเลสของคนนะมันสร้างไอ้สิ่งปัญหานี้ขึ้นมา ฉะนั้นเราอย่าไปบูชามันสิ ยิ่งเรายากจนแล้วจะไม่บูชาวัตถุเป็นอันขาด จะไม่มัวบูชาความอร่อยทางวัตถุเป็นอันขาด เราก็รวมหัวกันตั้งตัวต่อสู้ไอ้สิ่งเลวร้ายนั้นได้ เหมือนกับคนแต่ก่อนเขาอยู่กันได้ เป็นสุข แม้จะมีคนจน คนมั่งมี เขาก็ทำความเข้าใจกันได้ เพราะว่าทั้งสองฝ่ายไม่บูชาวัตถุ พอเดี๋ยวนี้ทั้งสองฝ่ายแต่ละฝ่ายเกิดบูชาวัตถุ อย่างกิเลสมันก็หนาขึ้น จนจัดการไม่ทัน จนต้องฆ่ากัน เพราะแย่งวัตถุ ขอให้ศึกษาให้รู้ข้อนี้ที่ว่าโลกมันเปลี่ยน มันกลายเป็นทาสของวัตถุ พร้อมๆ กับที่ว่าไอ้กลิ่นอายของธรรมะของศาสนามันก็จางไป มาถึงยุคสมัยที่วัตถุขึ้นมาแทน เข้ามาครองแทน เป็นกันทั้งโลก ไม่เป็นแต่จังหวัดสุราษฎร์ฯ คุณอย่ามามองแต่จังหวัดสุราษฎร์ฯ ไม่ถูกหรอก มันเป็นกันทั้งโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยนะ แล้วปัญหามันก็เนื่องถึงกันหมด เดี๋ยวนี้มนุษย์ก็ไม่รู้ว่าไอ้ศัตรูตัวร้ายของเราคือวัตถุนิยม กลับไปเห็นมนุษย์กันเองเป็นศัตรู เข่นฆ่ากันเพื่อแย่งวัตถุ เพื่อแย่งวัตถุ วัตถุนิยมคือสิ่งที่เราไม่รู้จักมัน แล้วไปบูชามัน แล้วมันก็ตลบมาฆ่าเรา ทำให้เราฆ่ากันเอง เรื่องนี้เคยนึกแล้วมันก็เกิดเป็นอุปมาปรากฏออกมาในใจ เลยเขียนว่า
หน้าไก่อูลูกหนูว่าน่ากลัวนัก
หน้าแมวนวลน่ารักน่าเลื่อมใส
แม่หนูว่าลูกเอ๋ยอย่าโง่ไป
ไอ้ที่น่ากลัวนั้นหน้าไก่ภัยไม่มี
ที่หน้ามลขาวนวลนั่นละร้าย
เป็นความตายของพวกหนูรู้ไว้สิ
ไอ้ลูกหนูมันเห็นมันหน้าแมวน่ารัก ไอ้หน้าไก่ ไอ้อูตัวนั้นละ มันน่าเกลียดน่ากลัว มันมาบอกแม่มัน แม่มันบอกนั่นละไอ้หน้าขาวหน้านวลนั้นนะ มันคือความตายของพวกแก เหมือนกับมนุษย์ในโลกเดี๋ยวนี้มันเห็นไอ้วัตถุนิยมน่ารัก เหมือนแมวนั้นละ ที่มันจะทำลายโลกมันเห็นเป็นน่ารัก แล้วธรรมะศาสนาเหมือนกับหน้าไก่ มันว่าน่าเกลียดน่ากลัวมันไม่เข้าไปหา มนุษย์ในโลกทั้งโลกนี้มันเหมือนกับลูกหนู โง่ เห็นหน้าแมวว่าน่ารัก เห็นวัตถุนิยมว่าเป็นของน่ารัก บูชาวัตถุนิยม ส่งเสริมวัตถุนิยม มันยิ่งส่งเสริมกันจนไม่รู้ว่าจะไปถึงไหนละ มัวแต่จะยิ่งส่งเสริมรสอร่อยทางวัตถุ แล้วมันจะได้ฆ่ากันมากขึ้นไปกว่านี้อีก แล้วมันทำลายโลกเหลือประมาณ ทำลายทรัพยากรในโลกเหลือประมาณ เพราะมันบูชาวัตถุนิยม นี่โลกมันเพิ่งเปลี่ยน เมื่อเกิดไปพบความอร่อยทางวัตถุแล้วเอามาเชิดชู ทั้งที่ศาสนาทุกศาสนาประณามเป็นสิ่งเลวร้าย ไม่มีใครเชื่อฟัง ศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์อะไรมันก็มีอย่างนี้ทั้งนั้นละ ก็ไม่มีใครเชื่อฟัง สมัครมาเป็นทาสบูชาวัตถุนิยม ยอมทิ้งศาสนาไป ไม่ใช่เป็นแต่จังหวัดสุราษฎรฯ นะ คุณดูให้ดี มันเป็นทั่วโลก คุณอย่าถามปัญหาอย่างนี้อีก
(ผู้ถาม) คือที่ผมเอ่ยถึงสุราษฎร์ธานีนี้นะครับ ก็คิดว่าในแง่ที่ว่า สวนโมกข์นี้เป็นพุทธสถานซึ่งอยู่ในเขตของสุราษฎร์ฯ ครับ แต่ว่าก็เข้าใจตามที่ท่านอาจารย์ว่า
(ท่านอาจารย์) อย่างในวัดพระพุทธเจ้าก็มีอาชญากรรม มันอยู่ที่คนมันไม่เอานี่ คนมันไม่เอาดี แม้แต่คนในวัดนี้บางคนก็ไม่ใช่ว่าจะสนใจธรรมะอย่างเพียงพอ พระเณรบางคนไม่ได้สนใจธรรมะอย่างเพียงพอ เพราะมันไม่รู้ดี หรือว่าที่บวชที่เรียนกันนั้นละ เรียนบาลี เรียนธรรมะกันทั่วไปหมด แล้วก็ แต่ก็ยังไม่วายที่จะไปทำความพินาศให้แก่ตัวเอง แล้วเรียนธรรมะ เรียนศาสนาเพื่อเป็นเครื่องมือหากิน ไม่ใช่เพื่อความมีศีลธรรมหรือปฏิบัติศีลธรรมเพื่อจะดับทุกข์ เรียนธรรมะ เรียนบาลีเพื่อรับจ้างสอน เป็นครูสอนเอาเงินเดือน อย่างนี้ไม่มีความหมาย ฉะนั้นเราอย่าไปมองแต่เพียงว่า มันมีกิจกรรมทางศาสนา มีวัตถุ ปูชนียวัตถุมากมายแล้วมันจะไม่มีอาชญากรรม คนร้ายมันแทงฝรั่งเพื่อแย่งเอากล้องถ่ายรูปกลางวัดโพธิ์นั่นเองก็มี ที่เที่ยวที่ฝรั่งไปเที่ยวแล้วคนร้ายมันก็แย่งกล้องถ่ายรูป ไม่ให้มันก็แทง ในกลางวัดโพธิ์นั้นเอง นี้เมื่ออิทธิพลของกิเลสมันเข้าไปนั่นแล้วมันก็หมดความหมาย มันแล้วแต่คน มันจะถืออะไรเป็นสรณะ ไอ้เราก็พยายามนะ พยายามที่สุด ที่จะปลุกขึ้นมาใหม่ ที่จะเรียกร้องศีลธรรมกลับมาใหม่ แต่ยังไม่ได้ตามที่เราต้องการ เราก็คิดว่าจะทำไปเรื่อยๆ ให้โลกนะ คือว่าให้โลก ไม่ใช่ว่าที่ไหน ที่จุดไหน ให้โลกรู้คุณค่าของธรรมะ แล้วมันเปลี่ยน มันคล้ายๆ กับต้องรอให้มันวินาศจวนจะถึงที่สุด นึกได้แล้วมันเปลี่ยน ในบาลีก็มีเรื่องอย่างนี้ ที่ว่ายุคมิคสัญญี ฆ่าฟันกันเหมือนกับฆ่าเนื้อฆ่าปลา จนเหลืออยู่ไม่กี่คนที่หนีเข้าไปอยู่ในป่า นอกนั้นตายหมด พวกที่เหลืออยู่บ้างออกมาดูแล้วสังเวช แล้วกลับใจแล้วตั้งต้นกันใหม่ ไอ้โลกนี้มันจะถึงขนาดนั้นหรือไม่ก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน ถ้ามันจะใช้อาวุธทรมานผู้อื่น อะไรกันให้ถึงที่สุดกันเสียสักที ที่เหลือนั้นละมันจะเปลี่ยนใหม่ มันจะได้เปลี่ยนใหม่ มันจะรู้รสจนถึงกับเปลี่ยนใหม่ อย่างถ้าเป็นอย่างนี้มันก็แย่ แย่ ถ้ามีทางที่จะช่วยให้เข้าใจถูกกันเสียเร็วๆ ก่อนหน้านั้นก็จะดี ฉะนั้นช่วยกันใช้เครื่องมือวิเศษ วิเศษอย่างนี้เผยแผ่ธรรมะ อย่าใช้เครื่องมือวิเศษ วิเศษ เช่น ทีวี เช่น วิทยุนี้ส่งเสริมกิเลสกันเสียอีก เดี๋ยวนี้วิทยุส่งเสริมกิเลสกันเยอะนะ แม้แต่ทีวีก็เยอะนะ ได้เครื่องมือวิเศษมาส่งเสริมกิเลส เลยไม่ถูกเรื่อง ทีนี้เครื่องมือวิเศษนี้ขอให้อยู่ในฝ่ายทำลายกิเลส ส่งเสริมธรรมะดีกว่า
เอาละเป็นอันว่า ที่สวนโมกข์นี้เรามีความปรารถนาที่เด็ดขาดนะที่จะต่อต้านกิเลส ต่อต้านวัตถุนิยม ต่อต้านไอ้ข้าศึกศัตรูของมนุษย์ เดี๋ยวนี้ก็อยากจะเรียกว่าวัตถุนิยม เป็นข้าศึกศัตรูของมนุษย์อย่างยิ่ง แต่มนุษย์กลับเห็นเป็นของน่ารัก เหมือนกับลูกหนูตัวนั้นมันเห็นแมวน่ารัก เพราะหน้ามันนวล
(ท่านอาจารย์) มีปัญหาอะไรอีก
(ผู้ถาม) ท่านอาจารย์ครับ ผมคิดว่าจะจบคำถามไว้แค่นี้ก่อนนะครับ แล้วก็จะกราบเรียนขอพูดคุยกับท่านอีกครั้งวันพรุ่งนี้ครับ จะเป็นช่วงไหนก็ได้ที่ท่านอาจารย์สะดวกนะครับ
(ท่านอาจารย์) ได้ พรุ่งนี้ว่าง ตอนเช้าก่อนเที่ยงก็ได้ ตอนบ่ายก็ได้
(ผู้ถาม) ท่านอาจารย์ครับ มีนักเขียนท่านหนึ่งสงสัยว่าการตัดอดีตและอนาคตทิ้งไป ให้คงเหลือแต่ปัจจุบันนั้น จะทำให้มนุษย์เกิดศรัทธาเลิกเชื่อกรรมเชื่อวิบาก การตัดทั้งอดีตและอนาคตทิ้งไปแล้วนี่นะครับ จะทำให้มนุษย์ดีขึ้นได้อย่างไร
(ท่านอาจารย์) ข้อนี้มันเกี่ยวกับฟังไม่ถูก ตัดอดีต ตัดอนาคตนั้น เป็นธรรมะชั้นสูง เพื่อไม่อาลัยอาวรณ์ ไอ้คนธรรมดาในโลกนี้มันก็ต้องเอาอดีตมาเปรียบเทียบปัจจุบัน เอาปัจจุบันสำหรับไปพาดไปในอนาคต เขาไม่ได้ห้ามละ ไม่เสียหายอะไร แต่ที่จะให้จิตไม่เกี่ยวข้องอยู่ในโลก หมายถึงว่าอดีตก็แล้วไป ส่วนอนาคตก็ยังไม่มา ทีนี้ที่เราจะปฏิบัตินั้นนะ เราไม่ไปเสียเวลากังวลเรื่องที่แล้วไปหรือเรื่องที่ยังไม่มา แล้วจะแก้ปัญหาเรื่องเดี๋ยวนี้เรื่องเฉพาะหน้าให้ดีที่สุด ถ้าไปมัวกังวลอดีตอยู่หรืออนาคตอยู่มันฟุ้งซ่าน มันจะแก้ปัญหาอนาคตได้ไม่เต็มที่ เรื่องเป็นอย่างนี้ ไม่ได้ห้ามว่าเราจะไม่ใช้ไอ้อดีตเป็นเหตุผลของปัจจุบัน แล้วปัจจุบันก็เป็นเหตุผลของอนาคต นั้นมันเข้าใจผิด คำสองคำนี้
(ผู้ถาม) อย่างคนที่หมดอดีตนะครับ มีแต่ปัจจุบันแต่ไม่ถึงอนาคตนี้นะครับ จะมีสิ่งใดนี้นะครับที่ควบคุมกรรมในปัจจุบันให้เป็นไปในทางที่ชอบที่ควร
(ท่านอาจารย์) คุณยกตัวอย่างคนหมดอดีตดูสิว่าอย่างไร ไอ้เรื่องกรรมนั้นแหละ เขามีความหมายอย่างหนึ่ง นั่นคือเมื่อถอนความยึดถือว่าตัวตนเสียได้แล้ว มันไม่มีทั้งอดีต ทั้งอนาคต ทั้งปัจจุบัน ถอนความยึดถือว่าตัวตน ตัวกูของกูอะไรเสียได้แล้วมันจะไม่มีทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน เพราะว่าอดีต อนาคต ปัจจุบันนั้นมันต้องตั้งอยู่ที่ตัวกู มันมีตัวกูเป็นเจ้าของเรื่องทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน ถ้าไม่มีตัวกูอย่างเดียวนั้นทั้งอดีต ทั้งอนาคต ทั้งปัจจุบันละมันเลิกไปหมด ทีนี้กรรมในอดีต ถ้าสมมุติว่ามีผลกรรมจะมีผลกรรมในอดีต เดี๋ยวนี้ตัวกูไม่มี จะให้กับใคร จะให้ผลกับใครละ ฉะนั้นเรื่องสูงสุด ปลายทางนั้นคือถอนตัวตนเสียได้ อดีต อนาคตก็จะสิ้นสุดไปเอง สิ้นสูญไปเอง ถ้าปัจจุบันจะเหลืออยู่ก็คือความรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้กำลังเป็นอย่างไร ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติอยู่ก็ปฏิบัติไม่ให้ตัวตนเกิดมาอีก ถ้าปฏิบัติเสร็จแล้วไม่มีตัวตนแล้ว ก็เสวยความสุขจากการที่ไม่มีตัวตน นั้นละคือความรู้สึกปัจจุบัน ไม่มีอะไรขัดขวางกัน ไอ้พวกที่ยึดถือกรรมเป็นตัวเป็นตนนั้นนะมันมีปัญหามาก ไอ้พวกที่เพิกถอนตัวตนเสียได้ กรรมก็หมดไป หมดสิ้นเลย ไม่มีปัญหาเรื่องกรรม อดีต หรือว่าจะมีในอนาคต ฉะนั้นการถอนตัวตนเสียได้นะเป็นอันยกเลิกหมด เหมือนยกเลิกความทุกข์โดยประการทั้งปวง ในความหมายของเวลา หรือในความหมายของไอ้เรื่องตัวเรื่องที่เป็นปัจจุบันนี้เป็นอันยกได้ ไม่มีปัญหาอดีต ไม่มีปัญหาอนาคต เรียกว่าพ้น ปัจจุบันก็เหลืออยู่ แต่เดี๋ยวนี้มีความรู้สึกอย่างไร รู้สึกอย่างไรอยู่ มันก็รู้สึกว่าไม่มีความทุกข์นะ ถ้ายังต้องปฏิบัติอยู่ก็ปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดตัวกู มีเท่านี้ อย่างนี้ปัญหานี้ลึกก็ต้องการคำอธิบายที่ยืดยาวนี้
(ผู้ถาม) อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความของคำว่า “ธรรมะ ๔ ความหมาย”
(ท่านอาจารย์) ธรรมะ ๔ ความหมายนี้เกือบจะไม่ต้องขยายความ มันคือว่าทุกอย่างมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ คือสิ่งที่เป็นอยู่เองตามธรรมชาติ มีอยู่เองตามธรรมชาติ ก็เรียกว่าธรรมชาติ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าธรรมชาตินี้จะแบ่งแยกความหมายของมันออกเป็น ๔ ความหมาย จะพูดว่าธรรมชาติ ความหมายที่หนึ่งก็คือ ตัว ตัวธรรมชาตินั่นเอง ตัวธรรมชาติที่มีอยู่ จะเห็นได้หรือเห็นไม่ได้ หรืออะไรก็ตามเถิด มันเป็นตัวธรรมชาติที่มีอยู่ นั้นเรียกว่าธรรมะในความหมายที่หนึ่ง มีตัวกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่มีอยู่ในธรรมชาติทั่วไป ในตัวธรรมชาติจะมีตัวกฎของธรรมชาติสิงอยู่ด้วย ดังนั้น เรียกว่าธรรมะในความหมายที่สองคือ กฎของธรรมชาติ ทีนี้ธรรมชาติมีกฎ ไอ้สิ่งที่มีชีวิตจะต้องประพฤติตามกฎ ประพฤติให้ถูกกฎ อย่างนี้เรียกว่าหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ไอ้หน้าที่ก็ต้องถือเป็นธรรมชาติละ ธรรมชาติคือหน้าที่ที่ต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะในความหมายนี้เล็งไปยังหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ ครั้นปฏิบัติแล้วผลมันก็เกิดขึ้น ผลมันก็เกิดขึ้น แล้วผลนั้นมันก็เรียกว่าธรรมชาติ เป็นธรรมะในความหมายที่สี่ ส่วนใหญ่ต้องการให้มองในภายใน ในตัวเรา ตัวตน เนื้อหนัง ร่างกาย ชีวิต จิตใจอะไรทั้งหมดนี้เรียกว่าตัวธรรมชาติ ทีนี้ในตัวร่างกายนี้มันมีกฎของธรรมชาติกำกับอยู่ อย่างเช่น มันจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หรือเปลี่ยนแปลง หรือต้องการเหตุปัจจัยอย่างนั้น อย่างนี้ ต้องหามาให้ อย่างนี้เรียกกฎของธรรมชาติ เช่น ทำให้เราต้องกินอาหาร ต้องถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ต้องบริหารใดๆ ก็ดี นี้เรียกว่ากฎของธรรมชาติมันมีอยู่อย่างนี้ อยู่ในตัวเรา ทีนี้เราก็ทำหน้าที่ การทำหน้าที่เลี้ยงชีวิต หาเลี้ยงชีวิต กิน ถ่าย อาบ บริหาร ที่เรียกว่าหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ที่ร่างกายนี้มันทำอยู่ ทีนี้ผลมันก็เกิดขึ้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ แล้วแต่ทำหน้าที่ผิดหรือถูก นี้มองดูในภายใน ธรรมะ ๔ ความหมาย นี่ตัวคนอย่างนี้ คือมองมุมกว้างออกไปทั้งโลกมันก็เป็นอย่างนี้ ทุกสิ่งเป็นธรรมชาติ ในธรรมชาติทุกสิ่งมีกฎของธรรมชาติสิงสถิตอยู่ ทีนี้เราต้องเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี้เรียกว่ากฎของธรรมชาติบังคับให้เป็นไป ทีนี้สิ่งที่มีชีวิตมันจึงจะมีปัญหา ทีนี้ถ้ามันจะมีชีวิตอยู่ได้มันต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ พวกผลไม้ก็ดี สัตว์เดรัจฉานก็ดี มนุษย์ทั้งปวงก็ดี ในโลกนี้ ปฏิบัติให้ถูกตามกฎของธรรมชาติจะรอดชีวิต หรือว่าจะเจริญก้าวหน้าไปตามที่ควรจะได้ เมื่อทำหน้าที่แล้วมันก็มีผล ไอ้สิ่งที่มีชีวิตจะอยู่เป็นสุขหรือว่าจะตายไปหรือว่าจะอะไรก็สุดแท้ ทีนี้เราดูไอ้ธรรมะใน ๔ ความหมายได้ทุกหนทุกแห่ง อย่างหยาบ อย่างละเอียด ภายนอก ภายใน ที่ควรดูอย่างยิ่งก็ควรดูที่เป็นภายใน เพราะปัญหามันอยู่ที่จิตใจในภายใน แล้วเราดูที่ภายใน ให้เห็นธรรมะ ๔ ความหมาย ถ้าเราเห็นชัดแจ้งพอ เราก็สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างยิ่ง ทีนี้เราก็หมดปัญหา คือไม่มีความทุกข์ นี่ธรรมะ ๔ ความหมาย ธรรมะแปลว่าธรรมชาติ ในกรณีอย่างนี้ธรรมะแปลว่าธรรมชาติ หรือเรื่องธรรมชาติ คือตัวธรรมชาตินั่นเอง ตัวกฎธรรมชาตินั่นเอง ตัวหน้าที่ตามกฎธรรมชาตินั่นเอง ตัวผลที่เกิดจากหน้าที่นั้นเอง เราเรียกว่าธรรมชาติก็ได้ จะเรียกธรรมะก็ได้ แล้วธรรมะอย่างนี้ คำนี้จะหมายถึงธรรมชาติ ไม่หมายแค่เพียงว่าหน้าที่ แต่ถ้าเกี่ยวกับมนุษย์ทั่วไปเราให้ธรรมะนี้มีความหมายเพียงหน้าที่ก็พอ เรารู้ธรรมะก็คือเรารู้หน้าที่ที่เราจะต้องปฏิบัติ จะต้องทำ มันก็พอ ทีนี้รู้ไอ้ธรรมชาติรู้กฎของธรรมชาติตามสมควรเท่านั้นนะ แต่ต้องรู้เต็มที่ในเรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ดังนั้น เราจึงจะได้ผลตามที่เราพอใจ นี่คือธรรมะ ๔ ความหมาย เข้าใจไว้สำหรับจะเข้าใจเรื่องทุกเรื่องในพระพุทธศาสนา ทุกเรื่องในพุทธศาสนามันอธิบายธรรมะ ๔ ความหมายนี้ ทั้งพระไตรปิฎกละมันจะสรุปเหลือเพียง ๔ ความหมายนี้
(ผู้ถาม) ท่านอาจารย์ครับ เมื่อคืนท่านอาจารย์บอกว่า อย่างคนบางคนหรือว่าคนส่วนใหญ่นี้นะครับถูกประสาทกัดกิน แล้วก็สวนโมกข์นี้นะครับ อาจจะเป็นโรงพยาบาลประสาทไปก็ได้นี้นะครับ อยากจะถามท่านอาจารย์ว่า ทำอย่างไรครับถึงจะไม่ให้ประสาทกัดกิน
(ท่านอาจารย์) มันก็รู้ ตอบให้มันรวบรัดที่สุดก็รู้ความจริงของธรรมชาติ อย่าให้เกิดปัญหาขึ้นในจิตใจ เป็นความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว วิตก กังวล อาลัย อาวรณ์อย่างยิ่ง หรือว่าเรื้อรังอยู่ในใจ ถ้าเรารู้จักสิ่งทั้งปวงดี โดยสรุปว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง ถ้าเห็นไอ้ความจริงข้อนี้นะ ความจริงสูงสุดข้อนี้แล้วมันจะไม่รักอะไร ไม่เกลียดอะไร ไม่กลัวอะไร ไม่วิตกกังวลอะไร ไม่อาลัยอาวรณ์อะไร ไม่ทุกอย่างละ ฉะนั้นคนมันก็ไม่ถูกทรมานด้วยความรู้สึกชนิดนี้ แล้วคนก็นอนหลับ ไม่เป็นโรคประสาท ไม่เป็นบ้า ถ้ามันทำผิดในเรื่องนี้มันจะทนทรมานอยู่ด้วยความรัก โกรธ เกลียด กลัว วิตก กังวล อาลัย อาวรณ์อย่างยืดเยื้อเรื้อรัง ถึงเวลาหนึ่งก็ได้เป็นโรคประสาท ที่นี่เราก็เป็นที่ปรึกษาหารือในการที่จะขจัดไอ้ความรู้สึกเหล่านี้ออกไปได้อย่างไร เขาก็คงจะเกลี้ยงไปจากความรู้สึกเหล่านี้ เขาก็นอนหลับมากขึ้น ไม่เป็นโรคประสาท ไม่เป็นโรคกระเพาะ ไม่เป็นโรคความดันสูง ทีนี้ก็ถ้าว่าจะให้เป็น เรียกเป็น รวมเรียกว่าโรงพยาบาลประสาท ก็คือทำได้เพียงเท่านี้ แต่เดี๋ยวนี้เราอยากจะเป็นโรงละครทางวิญญาณมากกว่าสวนโมกข์ คือรู้ธรรมะ แล้วก็เพลิดเพลินอยู่ด้วยธรรมะ แล้วมันก็ป้องกัน ไม่ทำผิดในเรื่องรัก โกรธ เกลียด กลัว วิตก เรียกว่าโรงละครทางวิญญาณ น่าดูกว่า น่าชื่นใจกว่า ก็ทำงานด้วยกันพร้อมกันไปในตัว ถ้าธรรมะเป็นความเพลิดเพลิน ประเล้าประโลมใจได้ ธรรมะยึดครองจิตใจเสียแล้ว ก็จะไม่มีส่วนที่เป็นกิเลสอันตราย คือความหลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว หลงวิตก กังวล อาลัย อาวรณ์ หึงหวง อิจฉา ริษยา มันไม่มี มันก็ไม่เป็นโรคประสาท นี่เราหวังอยู่ เข้าใจว่าเป็นโรงพยาบาลประสาท มันก็คือปัดเป่าไอ้เหตุปัจจัยที่จะทำให้เป็นโรคประสาทนั้นออกไปเสียก็คือธรรมะนั่นเอง ธรรมะเข้ามามันก็ปัดเป่าปัจจัยแห่งโรคประสาทออกไป เขารู้ว่า โอ้, มันอย่างนี้เอง