แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ถาม : นมัสการพระคุณเจ้า และบรรดาเพื่อนสหายที่รักทุกท่าน คือมาสวนโมกข์ ผมมาหลายครั้งแล้ว ก็ไม่ได้ขึ้นมาพูด เพราะเจอหน้าอาจารย์ทีไร ก็รู้สึกประหม่าทุกที พูดกับอาจารย์เฉลียวพูดได้ พูดกับอาจารย์ ท่านอาจารย์พุทธทาส ประหม่าทุกที ก็ได้แต่นั่งฟัง วันนี้เจาะจงพูด ก็เลยต้องพูด ครับก็มาสวนโมกข์นี่ รู้สึกว่าเป็นวัดแรกที่ว่าเปิดโอกาสให้พวกเราได้อภิปราย อภิปรายกันเรื่องปัญหาธรรมะกว้างขวางมาก และเป็นวัดที่เป็นประชาธิปไตยพอสมควร เปิดโอกาสกว้างมาก ท่านอาจารย์ก็เป็น จะเรียกว่าเป็นไดเรคเตอร์ คือคอยกำกับแนะนำพวกเรา ให้เราดำเนินในทางธรรมะที่ถูกต้อง ก็ว่าได้ครับ
ครับท่านอาจารย์ครับ คือผมมีปัญหาสงสัยปัญหาหนึ่ง ซึ่งก็เก็บกดมานานอยู่แล้วพอสมควร ว่าทำไมนะพวกเราทุกวันนี้เมาอาจารย์กันเหลือเกิน ทำไม สายโน้นก็ว่าอภิธรรมดี สายนี้ก็ว่าท่านอาจารย์พุทธทาสดี สายนั้นก็ว่า โอ้, ไม่ได้ พวกกินเจดี ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ พุทธศาสนาทำไมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ได้หรือ ทำไมต้องแยกเป็นอภิธรรม ทำไมต้องแยกเป็นสายของท่านอาจารย์พุทธทาส ผมไม่เข้าใจว่าในเมื่อผู้ที่จะสั่งสอนให้ประชาชนพ้นทุกข์ได้ ยังแตกแยกกันเสียแล้ว ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ผมไม่เข้าใจ ผมใคร่ขอเรียนถามท่านอาจารย์ให้ช่วยอธิบาย หรือว่าพระอาจารย์รูปใดช่วยอธิบายปัญหา ผมขอบคุณมากครับ
พุทธทาสภิกขุ : ถ้าจะเปลี่ยนรูปเป็นการถามปัญหา ก็ให้มันเปลี่ยนรูปเป็นการถามปัญหาไปเลย ไม่มีการพูดเป็นบุคคล เปลี่ยนเป็นรูปถามปัญหา ก็ขอให้ถามปัญหาไปเลย
ถือเอาปัญหานี้เป็นปัญหาแรก ว่าทำไมจึงต้องมีแบ่งแยกต่างๆ กัน ข้อนี้เป็นธรรมดาที่สุด เป็นธรรมชาติ ธรรมดาสามัญที่สุด เพราะคนมันมีความคิดนึกต่างกัน มันก็มีความพอใจต่างกัน มีการเข้าใจ ตัดสินใจต่างกัน เมื่อได้รับฟังอะไรชนิดที่มันตรงกับไอ้เรื่องของตัว มันก็รับเอาทันที นี่มันจึงเกิดหลายพวก ไม่ใช่เพียงแต่ ๓ พวกหรอก ๑๐ พวก ๒๐ พวก ๓๐ พวกก็ได้ ก็ตอบว่ามันอย่างนั้นเอง มันเป็นอย่างนั้นเอง ตามธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้นเอง มีอิทัปปัจจยตาซ่อนอยู่เบื้องหลัง คือมันปรุงแต่งบุคคลนั้นขึ้นในลักษณะอย่างนั้น แล้วบุคคลนั้นก็จะต้องชอบใจอย่างนั้น มีทิฏฐิอย่างนั้น มีความคิดอย่างนั้น มันก็เลยเกิดเป็นแบบหนึ่งขึ้นมา นี่มันมีพร้อมๆ กันได้หลายๆ แบบ ล้วนแต่ไม่เข้าถึงหัวใจของเรื่อง ถ้าเข้าใจถึงหัวใจของเรื่องจะกลายเป็นเรื่องดับทุกข์อย่างเดียวเหมือนกันหมด เดี๋ยวนี้มันยังไม่เข้าถึงตัวความดับทุกข์ มันเพียงแต่คาดคะเนสันนิษฐานว่าอย่างนั้นมันจะดับทุกข์ ก็เลยชอบ มันไม่มีอะไรมาพิสูจน์ นี่จึงเกิดเป็นหลายลัทธิหรือหลายสำนัก หรือหลายแง่หลายสาย ไม่ต้องไปสนใจ สนใจแต่ว่าเรานี่จะดับทุกข์ของเราได้อย่างไร แล้วก็ทำไปจนดับทุกข์ได้ ก็ควรจะพอใจ เมื่อมีเหตุผลก็ลองดู คนไหนพูด คณะไหนพูดอย่างไร สอนอย่างไร เมื่อมีเหตุผลอยู่ ก็ลองดู ลองดูมันก็รู้ ว่าดับทุกข์ได้หรือดับทุกข์ไม่ได้ มันก็รู้ ถ้าดับทุกข์ได้ก็เอาต่อไปๆ จนถึงกับดับทุกข์หมดสิ้นเชิง ไม่ควรจะเป็นปัญหาของเรา มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นธรรมดาของคนเป็นอันมากในโลกนี้ เขาก็จะไปตามแนวความคิดความเห็นของเขาเป็นพวกๆ ไป เอ้า, ก็เปลี่ยนรูปเป็นถามปัญหาแล้ว ฉะนั้นใครมีปัญหาอย่างไรก็ถาม
พิธีกร : มีปัญหาอีก ๒ ข้อครับผม ขอเชิญเจ้าของปัญหาเป็นผู้ถาม
พุทธทาสภิกขุ : ขอเชิญเจ้าของปัญหาเป็นผู้ถาม เป็นผู้ซัก
ผู้ถาม : ข้อ ๑ ทำไมพระจึงมีอายุยืนยาวกว่าคนธรรมดา ข้อ ๒ พระเป็นผู้ส่งเสริมให้ประชาชนติดการพนันหรือไม่ เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร
พุทธทาสภิกขุ : เอาข้อ ๑ เดี๋ยวอย่าเพิ่งไป อย่าเพิ่งไป
ผู้ถาม : ข้อ ๑ ทำไมพระจึงมีอายุยืนยาวกว่าคนธรรมดา
พุทธทาสภิกขุ : เห็นได้อย่างไร พิสูจน์ได้อย่างไร ว่าพระนี่ยืนยาวกว่าคนธรรมดา
ผู้ถาม (คนเดิม) : พระส่วนมากมีอายุมากกว่า ๖๐ ปีขึ้นไป คนธรรมดาประสบอุบัติเหตุและตายก่อน ๖๐ ปีครับ
พุทธทาสภิกขุ : มีใครเห็นด้วย ที่ว่าพระอายุยืนยาวกว่าคนธรรมดา ต้องหาข้อเท็จจริงของปัญหากันเสียก่อน ว่าพระนี่อายุยืนกว่าฆราวาสจริงหรือไม่ ลองอ้างเหตุผลมาสิ เจ้าของปัญหาบอกมาทีว่า เห็นตรงไหน เห็นอย่างไร มีเหตุผลอย่างไรที่ว่า พระอายุยืนกว่าฆราวาส เอ้า, ว่าเลย
ผู้ถาม (คนเดิม) : เพราะว่าคนธรรมดาส่วนมากจิตใจจะไม่ค่อยสงบ แต่พระจิตใจสงบ จึงทำให้อายุยืนกว่าคนธรรมดาได้
พุทธทาสภิกขุ : ก็ดีมีเหตุผล ข้อนี้มีเหตุผล ถ้าพระมีจิตใจสงบ อายุก็ยืนกว่า นี่ก็เลยมีปัญหาเกิดขึ้นมาใหม่ว่า พระมีจิตใจสงบกว่าฆราวาสจริงหรือไม่ เอาอะไรมาพูด เอาอะไรมาอ้างว่าพระมีจิตใจสงบกว่าฆราวาส
ผู้ถาม (คนเดิม) : เพราะว่าคนธรรมดาทุกคนในปัจจุบัน มีแต่งานหมกมุ่นและทำให้คิดมาก เป็นเรื่องหนี้และเรื่องการเสียภาษีต่างๆ บางคนก็หลบหนีการเสียภาษี จึงทำให้วุ่นวาย บางคนถึงกับฆ่าตัวตายได้ ส่วนพระอยู่แต่ในวัด ก็ไม่ได้ทำอะไร
พุทธทาสภิกขุ : ดี ดี ก็มีเหตุผล
ผู้ถาม (คนเดิม) : พระส่วนมากสอนแต่ธรรม ก็ไม่ได้หมกมุ่นเท่าไรนัก ก็ทำให้พระจิตใจแจ่มใสและอายุยืนกว่าคนธรรมดาได้
พุทธทาสภิกขุ : เอ้า, สรุปความได้ว่า พระมีเรื่องน้อย มีเรื่องรบกวนจิตใจน้อย ฉะนั้นจึงมีใจสงบกว่าคนธรรมดา ดังนั้นจึงมีอายุยืนกว่าธรรมดาใช่ไหม
ผู้ถาม (คนเดิม) : ใช่ครับ
พุทธทาสภิกขุ : ก็ตอบแล้วไง ตอบแล้ว ตอบเองแล้ว, ตอบเองแล้ว เพราะว่ามีเรื่องน้อย มีธุระน้อย มีกิจน้อย มีอะไรรบกวนจิตใจน้อย จึงมีจิตใจสงบและอายุก็เลยยืนกว่าคนที่ไม่ ไม่เป็นอย่างนั้น ตอบแล้วยังล่ะ
ผู้ถาม (คนเดิม) : ตอบแล้วครับผม แต่อยากได้ความคิดเห็นอื่นๆ ของคนอื่นครับ บุคคลอื่น
พุทธทาสภิกขุ : เอ้า, ก็ถามว่ายังไงเล่า ความเห็นของคนอื่น เราจะถามเขาว่าอย่างไร ก็ถามดูสิ
ผู้ถาม (คนเดิม) : ถามว่าข้อ ๑ ทำไมพระจึงมีอายุยืนยาวกว่าคนธรรมดา
พุทธทาสภิกขุ : ใครเห็นด้วยว่าพระอายุยืนยาวกว่าธรรมดา ขอเสียงดูสิ ขอยกมือ ใครว่ายืนกว่าชาวบ้าน ใครว่าไม่ยืนกว่าชาวบ้าน ไม่มีใครให้ร่วมมือ ก็ตัวเองก็ตอบแล้ว ตอบเสร็จแล้วว่า พระมีเรื่องน้อย มีความสงบมาก อายุก็เลยยืน นี่มันก็ชัดเจนที่สุดอยู่แล้ว
ผู้ถาม (คนเดิม) : ข้อ ๒ พระเป็นผู้ส่งเสริมให้ประชาชนติดการพนันหรือไม่ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
พุทธทาสภิกขุ : ติดอะไรนะ
ผู้ถาม (คนเดิม) : การพนันครับ
พุทธทาสภิกขุ : ติดการพนัน ไหนว่า ว่าใหม่สิ ยังฟังไม่ถูก พระอะไรนะ
ผู้ถาม (คนเดิม) : พระเป็นผู้ส่งเสริมให้ประชาชนติดการพนันหรือไม่ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
พุทธทาสภิกขุ : เอ้า, ก็ตัวเองล่ะ ตัวเองว่าใช่หรือไม่ พระส่งเสริมให้เกิดติดการพนันใช่หรือไม่
ผู้ถาม (คนเดิม) : ไม่ทราบครับ
พุทธทาสภิกขุ : เช่น อะไร เช่นอะไร เช่นยังไง จึงว่าพระส่งเสริมให้ติดการพนัน
ผู้ถาม (คนเดิม) : ใบ้หวยครับ
พุทธทาสภิกขุ : ก็ต้องตอบอยู่ในตัวแหละ ว่าพระที่ใบ้หวย เป็นการส่งเสริมประชาชนให้ติดการพนัน ชัดอยู่แล้ว แล้วมีอะไรอีก
ผู้ถาม (คนเดิม) : แล้วก็ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นครับ
พุทธทาสภิกขุ : พระทุกองค์เป็นเช่นนั้นหรือ พระทุกองค์บอกหวยเหรอ ใช้คำว่าพระนี่ หมายถึงพระอะไร กี่องค์
ผู้ถาม (คนเดิม) : ส่วนบุคคลครับ
พุทธทาสภิกขุ : พระทั้งหมดเหรอ พระทั้งหมดใบ้หวยเหรอ เอ้า, ลองประมาณดูว่าทั้งบ้านทั้งเมืองนี่ จะมีพระบอกหวยสักกี่องค์ ไม่บอกสักกี่องค์
ผู้ถาม (คนเดิม) : มีพระที่ใบ้หวยน้อยกว่าพระที่ไม่ใบ้หวย
พุทธทาสภิกขุ : ก็ตอบชัดอยู่แล้ว พระที่ใบ้หวยส่งเสริมคนให้ติดการพนัน ทีนี้พระที่ไม่ได้ใบ้หวย ก็ไม่ ไม่เป็นเช่นนั้น นี่ก็ถามว่าพระใบ้หวยมาก หรือพระไม่ใบ้หวยมาก พระไหนมีมาก
ผู้ถาม (คนเดิม) : พระที่ใบ้หวยมีน้อยกว่าครับ
พุทธทาสภิกขุ : นั่นก็เข้าใจดีอยู่แล้ว ฉะนั้นก็ต้องว่าพระทั่วไปไม่ได้ส่งเสริมให้ประชาชนติดการพนัน
ผู้ถาม (คนเดิม) : ขอบคุณครับ
พุทธทาสภิกขุ : เอ้า, ไปแล้ว เดี๋ยวก่อนสิ ดี ดีมาก เขามีแต่ปฏิภาณ มีความคิด มีปัญญา มีปฏิภาณ ต้องพูดให้แน่กันเสียก่อนว่า พระ พระ พระ พระชนิดไหน พระอะไร ถ้ามันมีอะไรที่บกพร่อง ก็ไม่ใช่พระหรอก ถ้ามีอะไรที่มัน มันผิดพลาดเสียหาย ทำให้เกิดความเสียหาย มันก็ไม่ใช่พระ พระก็ไม่ควรจะมีอะไรที่เป็นการทำให้เกิดความเสียหายแก่สังคม เอ้า, เปลี่ยนเป็นถามปัญหาแล้ว ทีนี้ขอเชิญถามปัญหา ปัญหาอะไรก็ได้ที่มีประโยชน์แล้วก็ใช้ได้ ปัญหาส่วนตัวก็ได้ ปัญหาส่วนรวมก็ได้
พิธีกร : มีไหมครับ ตอนนี้ดูชักเงียบแล้ว คงไม่เท่าไรนะครับ เหลือเวลาอีกนิดเดียวแหละครับ จะสิ้นปีกันแล้ว ยังไงเสียก็เชิญครับ
พุทธทาสภิกขุ : เอ้า, มีปัญหาอะไร อย่าให้ค้างปี, อย่าให้ค้างปี มาตอบมาถามเสียให้หมด อย่าให้ค้างปี
พิธีกร : เอาเลยครับ ได้โอกาสอันเหมาะแล้วนะครับ นี่เหมาะที่สุดแล้ว คืนนี้ วันนี้ ที่นี่ หมายความว่าได้เปิดระบายกันในใจ พูดอะไรในสวนโมกข์นี่สบายครับในทางธรรม คุณธีรวัฒน์จะถามเองเลยใช่ไหม
ผู้ถาม (คุณธีรวัฒน์) : ไม่มีใครถาม ผมถามเอง
พุทธทาสภิกขุ : นาฬิกาเท่าไร
ผู้แสดงความคิดเห็น (คุณธีรวัฒน์) : ยังอีกชั่วโมงกับ ๒๐ นาทีจะ ๒๔.๐๐ น. กราบนมัสการท่านอาจารย์และท่านผู้สนใจธรรมทั้งหลาย ยังอีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะสิ้นปีเก่าและขึ้นปีใหม่โดยการสมมติ ท่านอาจารย์ให้โอกาสพวกเราได้แสดงความคิดเห็นในลักษณะสร้างชีวิตใหม่ เรื่องของชีวิตใหม่ในปีใหม่ ไปๆ มาๆ ก็กลายเป็นเรื่องถามปัญหา เพราะว่าไม่มีใครค่อยจะแสดง ก็สลับกันไป ในช่วงนี้ก็มีผู้ถามปัญหา ท่านอาจารย์ก็เปิดโอกาสให้ถามปัญหา สิ่งที่กระผมขึ้นมากราบเรียนนี้ ไม่เชิงปัญหาทีเดียว แต่เป็นข้อปรารภและเป็นการปรารภให้พวกเราที่มีความเคารพในท่านอาจารย์ได้รับทราบกันทั่วกัน
สิ่งหนึ่งที่ควรจะทราบนั้นก็เพราะว่า อีกไม่กี่ปี ว่าโดยภาษาชาวบ้านนะครับ ก็คืออีก ๑ ปี อาจารย์ก็จะมีชนมายุครบ๘๐ ถ้าโดยภาษา หลักการของวิชาการจริงๆ ก็อีก ๒ ปี อาจารย์จะมีชนมายุครบ ๘๐ ปี บรรดาผู้ที่มีความเคารพนับถือในท่านอาจารย์หลายท่านที่กระผมนำมาฝากนี้ ก็คือในที่ประชุมของคณะกรรมการมูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐ และชมรมครูศีลธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ก่อกำเนิดเกิดขึ้นเพื่อสืบสายการเผยแพร่อุดมการณ์ของท่านอาจารย์ ๓ ประการ ที่ท่านตั้งไว้นั้น ให้แผ่กระจายออกไปในหมู่ประชาชนชาวพุทธและประชาชนชาวโลกด้วย ได้กระทำการอันนั้นมาตั้งแต่ พ.ศ. เรียกว่าเป็นนิติบุคคล โดยลักษณะเป็นนิติบุคคลมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๑ สำหรับกิจกรรมที่เป็นไปโดยความร่วมมือกับทางราชการ คือการเผยแพร่อบรมศีลธรรมแก่ครูอาจารย์ตามสถานศึกษาต่างๆ และข้าราชการ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏเป็นทางราชการนั้น มูลนิธิฯ ได้เผยแพร่ทำมาแล้วทั้งหมด ๒,๐๐๐ กว่าแห่ง โดยเฉพาะสำหรับปีที่แล้ว จำตัวเลขได้แน่นอนคือ ๘๙๕ ครั้ง หรือ ๘๙๕ แห่ง ผู้ที่ได้ดำเนินการเป็นวิทยากรนั้น มีทั้งคฤหัสถ์และทั้งพระสงฆ์ ขอประทานกราบเรียนเพื่อความเจริญศรัทธาของญาติโยมพุทธบริษัทที่ประชุมอยู่นี้ว่า ท่านที่มีความเมตตากรุณาต่อมูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐและชมรมครูศีลธรรมแห่งประเทศไทย ผู้มีความตั้งใจปรารถนาที่จะนำมโนปณิธานของท่านอาจารย์ไปเผยแพร่ให้กว้างไกลออกไปนั้น ฝ่ายบรรพชิตที่กรุณาเป็นองค์วิทยากรให้ มีท่านอาจารย์ปัญญานันทะ วัดชลประทานรังสฤษฏ์ อาจารย์วรศักดิ์ วรธัมโม และอาจารย์วิรัตน์ วิรัตตโนที่สวนโมกข์นี้ แล้วก็อาจารย์พยอม กัลยาโณ อาจารย์จรัญ สุญญกาโม อาจารย์ถวิล สุญญธาตุ อาจารย์เฉลียว อัคคธัมโม นี่ก็เป็นพระระดับที่เรียกว่า บรรดาผู้ที่จัดการสัมมนาอบรมหรือให้โอกาสไปอบรมนั้นระบุชื่อมา เพื่อให้อาราธนา เพราะว่าการบรรยายของท่านแต่ละหนแต่ละแห่ง เป็นที่ประทับใจ ได้ประโยชน์ มีคุณค่าสมกับหลักสูตร สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาของทางราชการ ฝ่ายคฤหัสถ์นั้นก็มี คุณวิโรจน์ ศิริอัฐ คุณไสว แก้วสม อาจารย์สมทรง ปุญญฤทธิ์ นี้ที่เป็นหลักอยู่ในการเผยแพร่ธรรม
งานนี้เราได้ทำกันมาอย่างชนิดที่มีความภาคภูมิใจ เพราะว่าสังคมให้การรับรองสนับสนุนว่า พวกเราได้นำวิทยากรไปเผยแพร่ในแนวทางที่ถูกต้อง ตามหลักสูตรหรือตามความต้องการของทางราชการ งานนี้ที่ทำมาแล้วๆ นั้น ถือว่าเป็นเรื่องเก่า สำหรับในปีใหม่ก็ได้ตั้งมโนปณิธานว่าจะทำต่อไป โดยเฉพาะในครูอาจารย์ เพราะว่ามูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐได้มีโอกาสร่วมกับทางราชการในการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาพระพุทธศาสนา หลายครั้งที่มาประชุมทำกันที่นี่ ซึ่งมีพระคุณเจ้าพระอาจารย์วิรัตน์ อาจารย์วรศักดิ์ อาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง เป็นต้น ได้เป็นกำลัง โดยมีท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นหลัก ทางราชการได้มาประชุมกันที่นี่ เมื่อหลักสูตรเสร็จแล้ว งานของมูลนิธิฯ และชมรมครูศีลธรรมจะต้องทำต่อไปอย่างไม่มีการหยุดยั้ง แต่สิ่งที่นำความปรารถนาใหม่มาฝาก หรือให้รับทราบกันในบรรดาท่านทั้งหลายนั้น กระผมยังไม่ได้ขออนุญาตท่านอาจารย์หรอก แต่ว่าเมื่อมาถึงที่นี่ ได้มีโอกาสกับท่านอาจารย์โพธิ์ไปดูสถานที่ตรงกันข้ามกับสวนโมกข์นี้ ที่บริเวณน้ำร้อนนะครับ มีธารน้ำร้อน ที่ได้มีโอกาสไปดู ก็เพราะได้มีโอกาสร่วมดำเนินการสนองความปรารถนาของท่านอาจารย์ในการให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยทางราชการ เมื่อมาถึงแล้วก็ขอไปดู อาจารย์โพธิ์ก็พาไปดู กลับมากราบเรียนท่านอาจารย์ด้วยความชื่นใจว่า เป็นสถานที่สวยงามเหมาะสมมาก ท่านอาจารย์ได้ตั้งชื่อไว้แล้วในใจของท่านว่า อาศรมนานาชาติ เพื่อเป็นสถานที่ที่ชาวโลกทั้งหลายที่ไม่ใช่ชาวไทยนะครับ นานาชาติ ชาวโลกทั้งหลายได้มาพักอาศัยศึกษาและปฏิบัติธรรม เพราะเป็นที่ประจักษ์อยู่ในปัจจุบันว่า ชาวต่างประเทศได้สนใจใส่ใจต่อธรรมปฏิบัติที่เผยแพร่ไปเข้าหูเข้าตาของเขา ชาวต่างประเทศนั้นมากขึ้นๆ จนปัจจุบันชาวต่างประเทศมา สังคุลี (นาทีที่ 0:22:45) อยู่กับพระสงฆ์ในสวนโมกข์นี้มาก เพราะไม่มีที่ให้อยู่เป็นเอกเทศ ต้องมาอาศัยกุฏิของพระ ต้องมาอาศัยสถานที่ภายในอาณาเขตของพระสงฆ์มากขึ้นๆ จะปฏิเสธก็ใช่ที เพราะความปรารถนาดีของเขา ต้องการจะศึกษาพระพุทธศาสนา แต่ว่ามากขึ้นๆ ก็เป็นความจำเป็นที่ว่า รูปแบบหรือการอยู่ร่วมกันของบุคคลที่ไม่เสมอกันนั้น ไม่มีศีลเสมอกันนั้น เป็นเรื่องก่อให้เกิดความไม่สะดวกหลายประการ ดังนั้นมโนปณิธานของท่านอาจารย์ที่จะสร้างอาศรมนานาชาติ ในบริเวณที่มีธารน้ำร้อนข้างหน้าสวนโมกข์นี้เป็นสิ่งใหม่ ที่กระผมขอกราบเรียนเป็นของขวัญปีใหม่ สำหรับพวกเราที่มีความเคารพในท่านอาจารย์ทุกท่าน ประมาณ ๑๙ ไร่ ที่ท่านอาจารย์ได้เป็นกรรมสิทธิ์แล้ว กระผมคิดว่าน้อยไปสำหรับที่จะขยายงาน และสถานที่เช่นนั้น ในลักษณะเช่นนั้น น่าจะต้องขยายให้กว้างอย่างน้อยที่สุดก็ควรจะครึ่ง ๑๐๐ ไร่ขึ้นไป มีที่กว้างมากและก็ราคาไม่แพง ถ้าเราจะได้ร่วมกันส่งเสริมความปรารถนาของท่านอาจารย์โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เพื่อให้อาศรมนานาชาติที่ท่านอาจารย์ได้ตั้งใจขึ้นในช่วงอายุวัยของท่าน ๗๘ ปีแล้วนี่นะครับ ได้สำเร็จเห็นผลลงในเวลาอันรวดเร็ว ก็นับว่าพวกเราช่วยกัน ช่วยกันสนับสนุนส่งเสริมความปรารถนาที่มีต่อเพื่อนชาวโลกของท่านอาจารย์ ให้มีประสิทธิผลโดยรวดเร็วยิ่งขึ้น อาจจะเป็นเรื่องที่ทำให้ได้เห็นทันตาเห็น กระผมเห็นแล้ว ไปเที่ยวเดินดู ก็มากราบเรียนท่านอาจารย์ อาจารย์บอกว่ามันเป็นเรื่องดี เราไม่ใช่ เราไม่ต้องการเอาผลหมากรากไม้ เราต้องการที่ดิน แต่ว่าถ้าจะสะดวกมันต้องมีเงินซื้อ เมื่อไม่มีเงินซื้อ มันก็ยังมีไม่ได้ นี่ที่พูดอย่างนี้ ขอประทานโทษ เพราะที่นี่จะไม่พูดถึงการเรี่ยไร และนี่ก็ไม่ใช่การเรี่ยไร แต่สิ่งที่เรายังขยายไปไม่ได้นั้น ที่ซื้อไปได้เพียงเท่านั้นก็เพราะมีเงินเท่านั้น ถ้ามีเงินมากกว่านี้ก็ขยายได้มากกว่านั้น กว้างกว่านั้น และที่อาศรมนานาชาติไม่ควรจะเป็นที่เพียง ๑๙ ไร่ จะต้องมากกว่านี้ อันนี้กระผมปรึกษาท่านอาจารย์โพธิ์ด้วยแล้ว ว่าจะเข้าไปหาผู้ที่เราคุ้นเคยและเคารพนับถือท่านอาจารย์ รู้จักท่านอาจารย์ แต่จะไม่ทำในลักษณะที่ออกประกาศกันโครมครามในลักษณะที่เป็นการเรี่ยไร เพราะที่นี่ไม่เป็น ไม่เป็นนโยบายที่จะพึงทำสำหรับสวนโมกข์ แต่ว่าจะบอกให้รู้สำหรับคนที่มีหัวใจอันเดียวกัน คือมีความปรารถนาที่จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายกัน ให้รู้จักทางดับทุกข์ ชาวต่างประเทศเขารู้จักมาพบหนทางดับทุกข์แล้วที่ประเทศไทยนี้ ผมได้ยินจากอาจารย์โพธิ์ เมื่ออาจารย์โพธิ์ไปสอนการเจริญสติหรือสมาธิกรรมฐาน มีฝรั่งที่เขาวิ่งแสวงหาความทุกข์มาแล้วรอบโลก เขามีเงินมาก เขามาหาจนถึงเกาะสมุย แล้วก็มาพบพระอาจารย์โพธิ์ พบพระอาจารย์โพธิ์แล้ว เขาดีใจที่เขาพบความสุขที่จะพึงหาได้ในตัวของตัวเอง ไม่ต้องหาที่ไหน เขาดีใจ เขาถึงขนาดบินกลับไปหาพ่อหาแม่ เอาไปฝากพ่อฝากแม่ นำพ่อนำแม่มารับความสุขอันนี้ด้วย กระผมคิดว่าอาศรมนานาชาติ หากได้มีการรู้จักหรือประกาศกระซิบกระซาบ แม้เพียงกระซิบกระซาบกันในหมู่พวกเราที่มีความเคารพนับถือจงรักภักดีต่อท่านอาจารย์ หรือกตัญญูกตเวทีต่อท่านอาจารย์นี่ กันคนละปากสองปาก ก็จะเอื้ออำนวยให้เกิดประโยชน์อันนี้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
กระผมจึงขอถือโอกาสนี้กราบเรียนเรื่องอาศรมนานาชาติ ที่ผมได้ยินชื่อท่านอาจารย์พูดเมื่อเช้านี้ เรียกว่าวันสุดท้ายของปีแล้ว ของปีเก่าโดยสมมติ มาฝากเพื่อเป็นของขวัญให้เรานำไปคิดสำหรับปีใหม่ หวังว่าทุกท่านคงจะรับฟังกัน และนำไปคิดนะครับว่าเราจะพึงมีส่วนส่งเสริมอาศรมนานาชาตินี้ได้โดยประการใดบ้าง สำหรับกระผมเอง แน่นอนจะต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้ความสำเร็จเกิดขึ้นโดยรวดเร็ว นี่เป็นความปรารถนาที่จะทำงานหรือปฏิบัติงานในปีใหม่ของกระผม ถ้าจะพูดกันถึงเรื่องปีใหม่ ชีวิตใหม่ จะทำอะไรบ้างในชีวิตของผมนี่ ผมก็มีเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สะดุดใจและมีความตั้งใจ เรื่องอื่นที่ทำมานั้นก็จะทำต่อไปเป็นธรรมดา เพราะถือว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม ทำเรื่อยไป แต่ว่าเรื่องนี้จะขอถือเป็นมโนปณิธานอันใหม่ และกราบเรียนไว้ต่อท่านอาจารย์ในวันสิ้นปีเก่านี้ พร้อมกับขอฝากฝังไว้กับเพื่อนทั้งหลายที่มาร่วมกันในวันนี้ด้วย ขอกราบขอบพระคุณครับ เท่านี้
พุทธทาสภิกขุ : ไม่ใช่ปัญหาเว้ย
คุณธีรวัฒน์ : เป็นข้อเสนอ
พุทธทาสภิกขุ : แล้วจะทำให้เขาขายแพงขึ้นด้วย ทำให้อื้อฉาวขึ้นมานี่ จะทำให้เขาขายแพงขึ้นด้วย
ผู้ถาม : กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ จำได้คราวก่อน ผมเคยมาที่นี่แล้วก็เรียนถามท่านอาจารย์ว่า ถ้าเกิดว่าเรามีความทุกข์แล้วเราแก้ความทุกข์ไม่ได้ จะให้ทำอย่างไร ท่านอาจารย์ตอบว่า ก็ทนอยู่กับมัน ผมอยากเรียนถามว่า การที่ทนอยู่กับมันนี้ เราจะทนอยู่อย่างไร และมันจะมีประโยชน์อย่างไรที่ทนอยู่กับมันครับ
พุทธทาสภิกขุ : คำตอบนั้นคงเป็นไปไม่ได้ที่จะตอบว่า ทนอยู่กับมัน ต้องพยายามที่จะดับมัน พยายามที่จะแก้ปัญหาเกี่ยวกับความทุกข์นั้นๆ นี่เป็นหลักทั่วไปที่ควรจะรู้กันแล้ว ว่าความทุกข์เกิดขึ้นนี่ มีมูลเหตุมาจากอะไร ค้นหาให้พบมูลเหตุ แล้วก็ทำลายมูลเหตุนั้นเสีย พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะหาให้พบมูลเหตุ แล้วก็ทำลายมูลเหตุนั้นเสีย ไอ้คำว่าทนอยู่กับมันนั้น มันเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าในความหมายธรรมดา พูดตามธรรมดา มันทนไม่ไหว แต่ว่าถ้าทน ก็ทนสู้, ทนสู้ สู้ทน หรือทนสู้ จนกว่าจะชนะไอ้ความทุกข์นั้นได้ คำตอบจะมีนิดเดียวว่า พยายามแก้ปัญหาหรือดับทุกข์นั้นด้วยการค้นให้พบมูลเหตุ รากฐาน สาเหตุ แล้วก็ทำลายเสีย ความทุกข์ก็จะดับไป ไม่ใช่ว่าให้ทนแล้วจะเป็นโรคประสาทแล้วก็ตายเลย ทนก็คือทนสู้ สู้เรื่อยไป, สู้เรื่อยไป จนกว่าจะชนะ ไม่มีคำตอบมากกว่านี้ เว้นไว้แต่จะซักถามต่อไป เอ้า, จะมีปัญหาอะไร ก็ขอให้ถาม แล้วก็ถามให้สิ้นเรื่อง ให้มันสิ้นเรื่อง ไม่ใช่ว่าถามแล้วหันหลัง ไม่ใช่ มันต้องซักไซ้จนกว่าจะสิ้นเรื่องโดยละเอียด
ผู้ถาม : ที่ว่าธรรมะเป็นกฎของธรรมชาติ และจิตเดิมนั้นประภัสสร กระผมใคร่เรียนถามว่า ทำไมผู้ที่ทำอนันตริยกรรม ๕ ปาราชิก ๔ จึงไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานละครับ
พุทธทาสภิกขุ : ก็จิตเศร้าหมองอยู่เรื่อย ไม่แจ่มใส ไม่มีสมาธิ ไม่มีวิปัสสนา มันก็เลยดับทุกข์ไม่ได้ ผู้ที่ทำอนันตริยกรรม มันจะมีจิตเศร้าหมองอยู่ตลอดเวลา ไม่มีจิตแจ่มใสที่จะเป็นสมาธิวิปัสสนา ก็เลยดับทุกข์ไม่ได้ มีเท่านั้น
ผู้ถาม : นมัสการกราบเรียนท่านอาจารย์นะครับ คือผมอยากจะถามคำถามซึ่งรู้สึกว่าวันนี้เปิดให้ถามได้กว้างขวาง ก็คงจะไม่เกี่ยวกับธรรมะเท่าไร แต่เกี่ยวกับสภาพรอบๆ ของสำนักวัดสวนโมกข์นี่ คือผมสังเกตตั้งแต่เข้ามานี่ ลักษณะการก่อสร้างอาคาร ลักษณะแปลกออกไป ไม่ทราบว่าเป็นศิลปะแบบไหนครับ ช่วยอธิบายหน่อยครับ
พุทธทาสภิกขุ : เป็นแบบศิลปะประหยัด ศิลปะประหยัด ที่นี่มีศิลปะประหยัด ทนทาน แข็งแรง และประหยัด
ผู้ถาม (คนเดิม) : ครับ แล้วทำไมมีเสา ๕ เสาครับ
พุทธทาสภิกขุ : เสา ๕ เสานี้เป็นความชอบส่วนตัว, เป็นความชอบส่วนตัว และก็เปิดโอกาสให้ทุกคนอธิบายความหมายเอาเองตามพอใจ, ตามพอใจ เพราะไอ้ ๕ ๕ นี่มีความหมายมาก อาจจะเป็นเครื่องเตือนใจได้ในความหมายไหน ก็ขอให้คิดเอาเอง จะเป็นเรื่องฝ่ายดี ก็มีเป็นเรื่องธรรมขันธ์ ๕ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ มรรคผลนิพพาน ๕ จะเป็นเรื่องฝ่ายร้าย เช่น นิวรณ์ ๕ จะเป็นเรื่องกลางๆ เช่นว่านิ้วมือมันมี ๕ มันจะใช้ทำอะไรได้ทั้งนั้นเลย ดังนั้นใครชอบอธิบายข้อไหนอย่างไร ก็อธิบายเอาเอง ส่วนเจ้าตัวนั้นไม่ ไม่บอก เป็นความพอใจส่วนตัว
ผู้ถาม (คนเดิม) : ครับอย่างนั้น เหลือคำถามอีก คำถามสุดท้าย คือสังเกตแล้วว่า ที่นี่โบสถ์มีลักษณะแปลกกว่าที่อื่นที่เคยผ่านมา เห็นว่าใช้ท้องฟ้าอันกว้างใหญ่เป็นหลังคา ผมอยากจะทราบว่า ปกติตามระเบียบการก่อสร้างโบสถ์หรืออะไรนี้ คือจะต้องมีใบสีมา มีการฝังลูกนิมิตอะไร ไม่ทราบว่า ความเข้าใจของผมผิดหรือเปล่า แล้วที่นี่ทำอย่างนั้นหรือเปล่า
พุทธทาสภิกขุ : อ๋อ ถ้าเป็นครั้งพุทธกาลนี่คือธรรมดาสามัญที่สุด ในประเทศอินเดียครั้งพุทธกาล ครั้งพระพุทธเจ้า โบสถ์กลางดินนี่คือธรรมดาสามัญที่สุด น้อยนักน้อยหนาที่จะมีโบสถ์ที่มีหลังคา มีฝา ส่วนเรื่องนิมิตหรือสีมานั้นมันเกี่ยวกับกฎหมาย เราก็ขออนุญาตเป็นวิสุงคามสีมา มีสุงคาม วิสุงคามสีมาครบถ้วนแล้ว มีปักนิมิตหมายไว้ทั้ง ๘ ทิศแล้ว แต่ไม่ได้ทำอย่างฝังพัทธ ไม่ได้ทำอย่างผูกพัทธหรือฝังพัทธ แต่ว่าสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว เป็นวิสุงคามสีมาแล้ว เป็นโบสถ์ธรรมดาที่สุด ถ้าเอาครั้งพุทธกาลเป็นหลัก แต่ถ้าเอาสมัยปัจจุบันเป็นหลัก มันก็แปลกเพื่อน
ผู้ถาม : กราบขอโอกาสครับ คือมักจะมีปัญหาเกิดขึ้นเสมอ คือมีคนถามว่าการทำบุญอุทิศให้ผู้ตายนั้น ผู้ตายจะได้รับหรือเปล่า ถ้าได้รับ อะไรเป็นตัวที่รับผลนั้น พระพุทธศาสนาปฏิเสธเรื่องเกี่ยวกับอัตตาของคนคนเดียวกัน ตายไปแล้วไปเกิด และตามที่มีปรากฏในคัมภีร์ทางศาสนาก็ยืนยันถึงเรื่องการทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับไป แล้วผู้นั้นก็ได้รับผลบุญกุศลที่อุทิศให้ ดังเช่นเรื่องเปรต ญาติของพระเจ้าพิมพิสารเป็นต้น เมื่อเป็นอย่างนี้จะให้เข้าใจอย่างไร ก็ขอพระเดชพระคุณท่านพระอาจารย์โปรดช่วยชี้แจงด้วยครับ
พุทธทาสภิกขุ : การทำบุญอุทิศให้คนที่ตายไปแล้ว ไม่ใช่พุทธศาสนา เพราะว่ามีอยู่ก่อนพุทธศาสนา เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของประชาชน เอ้า, ทีนี้คนนับถือพุทธศาสนาแล้ว เมื่อคิดถึงคนที่ตายไปแล้ว เขาก็หาวิธีที่จะทำบุญทำกุศล ถ้าตามหลักพระบาลี พุทธภาษิต มีแต่ว่า ให้บริจาคทานในพระสงฆ์ เพิ่มกำลังให้แก่พระสงฆ์ผู้สืบอายุพระศาสนาแล้วตั้งใจอุทิศผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ไม่ได้ยืนยันว่าจะถึงหรือจะถึงอย่างไร จะถึงได้โดยวิธีใด ไม่ได้ยืนยัน ยืนยันแต่เพียงว่า ถ้ามีความรักมีความระลึกถึง รบกวนจิตใจเกี่ยวกับผู้ตายไปแล้ว ก็ให้ทำอย่างนี้เท่านั้น ส่วนเรื่องเปรตพระเจ้าพิมพิสารนั้นไม่มีในพระไตรปิฎก เป็นของเถื่อน
ผู้ถาม : อยากขอโอกาสเรียนถามอาจารย์ถึงปัญหาที่ถกกันในเมื่อวานนี้ คือปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจกันระหว่างศาสนา ซึ่งก็เป็นปณิธานอันหนึ่งของท่านอาจารย์ และเข้าใจว่าขณะนี้ท่านอาจารย์ก็กำลังเร่งพยายามปรับปณิธานข้อนี้ให้บรรลุผลขึ้นมา สำหรับกระผมเองเมื่อเป็นฆราวาสนั้น อยู่ในบ้าน ก็จะมีอยู่ทั้ง ๓ ศาสนาอยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็น ๓ ศาสนาใหญ่ โยมฝ่ายหนึ่งเป็นพุทธมามกะที่เรียกว่า คนหนึ่งที่บำรุงศาสนาตามแบบศีลธรรมของจังหวัด โยมอีกฝ่ายหนึ่งก็เป็นหัวหน้าของคริสเตียนของจังหวัด แล้วก็คนที่อยู่ในบ้านก็มีมุสลิมอยู่ด้วยกัน เราก็อยู่กันได้อย่างสงบสุขร่มเย็นมานมนานกาเลเป็น ๕๐-๖๐ ปีแล้ว ทั้งนี้โดยอยู่อย่างพยายามไม่กระทบกัน ไม่วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาของศาสนา แต่ถ้าหากว่ามีพิธีการหรือว่าประเพณีของศาสนาใดเราก็ช่วยกัน สนับสนุนกัน ก็อยู่กันได้
ทีนี้ในปัญหาที่อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ก็คือว่า เมื่อโดยวิวัฒนาการ คือการปรับปรุงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น มีหลักและมีเหตุผลขึ้นเรื่อยๆ โดยนัยแล้วอาจจะยอมรับกันว่า พุทธศาสนาเป็นหลัก มีหลัก มีเหตุมีผล มีวิทยาศาสตร์ เป็นศาสนาที่ใช้ปัญญา ในขณะที่อีก ๒ ศาสนา เป็นศาสนาที่ใช้ศรัทธาความเชื่อถือ เพราะฉะนั้นถ้าพูดกันให้ถึงที่สุด ทั้ง ๓ ศาสนามีความขัดแย้ง ไม่เหมือนกันอยู่ แต่จริงอยู่ เราต้องพยายามมอง มองความสำเร็จผลอย่างที่อาจารย์พยายามเน้น ว่าให้มองความสำเร็จผลไว้ อาจารย์เคยพูดแม้กระทั่งว่าในหนังสือพุทธ-คริสต์ หรือว่าที่อาจารย์เคยพูด ก็เช่นว่าคนคริสต์ที่เปลี่ยนมาถือพุทธ อาจารย์ก็เคยถึงกับด่าว่า คุณน่ะโง่ ศาสนามีอยู่แล้วไม่นับถือ ปัญหามันมีอยู่ว่า ถ้าเช่นนั้นก็หมายความว่า ถ้าหากคุณมาศึกษาพุทธ หรือว่าคุณเกิดมีปัญญา มีเหตุและมีผลขึ้น เป็นวิทยาศาสตร์ขึ้น คุณควรจะกลับไปวิเคราะห์ศาสนาคริสต์ แล้วก็น่าจะทำการเผยแผ่ ค่อยๆ ปรับปรุงคริสต์ เอาหน้าต้นๆ ของพระคัมภีร์ไบเบิลมากล่าวกัน ให้มันเป็นจริงเป็นจังเหมือนอย่างที่อาจารย์เคยปฏิวัติพุทธศาสนา โดยเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับพระอภิธรรมอันนั้นหรือไม่ อาจารย์คิดว่ามันจะเป็นจริงได้หรือไม่ จากที่อาจารย์ได้พยายามทำมานานเท่านี้แล้ว หรือว่าขณะนี้นี่ต้องเป็นอย่างนั้น ก็ให้เขาเชื่ออย่างศรัทธาไปก่อน มันเป็นไปได้ไหมครับ หรือว่าอาจารย์จะมีข้อแนะนำประการใด เพราะว่าเมื่อกลับออกไป ผมก็ตั้งใจว่าจะพยายามปรับสิ่งเหล่านี้ให้ดีขึ้นด้วย ขอกราบเรียนถามเท่านี้ครับ
พุทธทาสภิกขุ : ก็อย่างที่พูดแล้วเมื่อวาน ศาสนาเปรียบเทียบน่ะ ในแต่ละศาสนามีสิ่งสิ่งหนึ่งซึ่งตรงกัน เหมือนกัน คือการดับทุกข์ได้ตามขั้น ตามชนิด ตามลักษณะแห่งบุคคลนั้นๆ ก็เท่ากับว่าเราจะหาไอ้สิ่งที่มีอยู่ในศาสนาต่างๆ ได้ อย่างที่ว่าตรงกัน เหมือนกัน เหมือนกับน้ำมีในของเหลวทุกชนิด ถ้าเราอยากจะหาวิธีหรือของดีๆ ที่มีอยู่ในพุทธศาสนานั้น พบได้ในศาสนาอื่นด้วยเหมือนกัน คือการทำลายความเห็นแก่ตัว ทุกศาสนาถ้าเป็นศาสนาที่แท้จริงแล้ว จะต้องสอนทำลายความเห็นแก่ตัว สอนการทำลายความเห็นแก่ตัว ถ้าผิดจากนั้นแล้วก็ไม่ใช่พุทธ ไม่ใช่ศาสนา ถ้าเป็นศาสนาแล้วก็ต้องทำลายความเห็นแก่ตัว ฉะนั้นก็มุ่งหมายทำลายความเห็นแก่ตัว มันก็เลยไม่ต้องขัด ไม่ต้องขัดขวางกัน แม้ว่าจะอยู่ร่วมกันโดยต่างศาสนากัน ต่างคนต่างทำหน้าที่, ทำหน้าที่, ทำหน้าที่ของตน, ของตน, ของตนไป ก็ไม่มีอะไรขัดกัน ก็เลยเป็นศาสนารวม
ผู้ถาม (คนเดิม) : ผมอยากจะเรียนถามต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า เรามุ่งที่ประโยชน์ เล็งที่ผลประโยชน์ คือที่เนื้อของมัน ไม่ใช่รูปแบบ
พุทธทาสภิกขุ : ที่จะดับทุกข์ มุ่งที่ เล็ง มุ่งไปยังที่มันจะดับทุกข์ ก็ความทุกข์ของมนุษย์นี่ ความทุกข์ของมนุษย์นี่มันเหมือนกันทั้งนั้นเลย ไม่ใช่ว่าไอ้ความทุกข์ของแขก ของจีน ของไทย จะเป็นคนละอย่าง มีมูลเหตุต่างๆ กัน ไม่เหมือนกัน ก็ไม่ใช่ มันมาจากการกระทำผิดเพราะไม่รู้ความจริงในสิ่งทั้งปวง ค้นหาถึงข้อนี้พบ แล้วก็ทำลายความโง่ ความหลง ความไม่รู้เหล่านี้เสียได้ มันก็ดับทุกข์ได้ ก็เป็นอันว่าไม่ต้องนึกว่าจะใช้ศาสนาอะไร นึกแต่ว่าจะดับทุกข์อย่างไรพอ เราจะดับทุกข์ที่มีอยู่นี้อย่างไร โดยจะไม่ต้องนึกว่ามันเป็นเรื่องของศาสนาไหน คุ้ยเขี่ยให้พบมูลเหตุแห่งความทุกข์ แล้วก็ดับไอ้มูลเหตุอันนั้นเสีย นี่ก็คือวิธีดับทุกข์ซึ่งใช้ได้แก่ทุกศาสนา หรือมีอยู่ในทุกๆ ศาสนา จนเป็นศาสนาเดียวคือเป็นศาสนาวิทยาศาสตร์
ผู้ถาม (คนเดิม) : ถ้าอย่างนั้น ก็หมายความว่า โดยการที่เราจะให้เป็นไปได้และควรจะเป็นจริงก็คือ ศาสนาทุกศาสนาต้องเป็นศาสนาที่ใช้ปัญญา
พุทธทาสภิกขุ : ถ้า ถ้าว่าสามารถจะใช้ปัญญาได้ ก็ดีสิ ในบุคคลที่ไม่สามารถจะใช้ปัญญา ก็ต้องให้ความเชื่อสำหรับสำเร็จรูปไปยึดถือเป็นหลัก
ผู้ถาม (คนเดิม) : ครับ
พุทธทาสภิกขุ : มันก็มาจากปัญญาของคนที่บัญญัติกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความเชื่อ แต่ก็ไม่ต้องบอกให้รู้ คณะ มอ. ไปไหนหมด วันก่อนมีปัญหา คุยกันยังไม่ทันจะจบแล้วก็หมดเวลาเสียก่อน วันนี้ไม่มีแล้วเหรอปัญหา หรือไปนอนหมดแล้ว
พิธีกร : มีไหมครับ ดูเหมือนจะเป็นเมื่อวานที่เราคุยกันถึงเรื่องศาสนาเปรียบเทียบ เป็นสากล แล้วก็พูดกันถึงพระเจ้าแล้วก็หมดเวลา เชิญครับ จะเป็นปัญหาเมื่อวานกันอีกก็ได้นะครับ ขุดเอาปัญหาเมื่อวานขึ้นมาถามกันใหม่ก็ได้นะครับ
พุทธทาสภิกขุ : ปัญหาที่มีอยู่จริงนะ ที่เป็นปัญหาจริงและมีอยู่จริง ถามได้
พิธีกร : ครับ เพราะว่าเรื่องจริงที่มีอยู่จริง เดี๋ยวนี้นี่เราเป็นโลกประสาทกันเรื่องขัดแย้ง เชิญครับ
ผู้ถาม : นมัสการพระคุณเจ้า คือผมได้ศึกษาบรมธรรมของท่านอาจารย์ครับ ท่านอาจารย์ได้สอนบรมธรรมผม แต่ผมแปลกใจอยู่อย่างหนึ่ง กลับมีธรรมะที่ซ้อนบรมธรรมของท่านอาจารย์ขึ้นมา คืออภิธรรม ไม่ทราบว่าอภิธรรมซึ่งท่านอาจารย์ไม่เคยกล่าวเลย อยากทราบว่าอภิธรรมกับบรมธรรมมันต่างกันอย่างไร
พุทธทาสภิกขุ : ก็เราไม่มีหน้าที่ที่จะไปกล่าวอภิธรรมนี่ เราก็กล่าวบรมธรรม
ผู้ถาม (คนเดิม) : ครับ
พุทธทาสภิกขุ : และไอ้ความหมายที่ถูกต้องของบรมธรรมนั่นแหละ คืออภิธรรมอย่างของเรา
ผู้ถาม (คนเดิม) : ก็ในเมื่อบรมคือใหญ่ อภิก็ใหญ่ มันใหญ่ ใหญ่ทับใหญ่ครับ
พุทธทาสภิกขุ : ไม่ใช่ละ อภิแปลว่าอย่างยิ่ง หรือเฉพาะ หรือเกินก็ได้ แปลว่าเกินก็ได้
ผู้ถาม (คนเดิม) : ครับผม
พุทธทาสภิกขุ : ที่มันดับทุกข์ได้น่ะคืออภิธรรมที่แท้ อภิธรรมคือธรรมะยิ่ง ธรรมะอย่างยิ่ง ไอ้ดับทุกข์ได้ที่กล่าวไว้ในบรมธรรมนั่นแหละคืออภิธรรมอย่างของเรา ส่วนอภิธรรมเฟ้อ อภิธรรมเกิน อภิธรรมไม่รู้จบนั้นเราไม่ ไม่ยอมรับ มันก็มีอยู่ก่อน มันพูดกันอยู่ก่อน สอนกันอยู่ก่อน เดี๋ยวนี้จะตะล่อมให้มันเหลือแต่ที่ใช้ประโยชน์ได้ แล้วก็ไม่มากมาย
ผู้ถาม (คนเดิม) : ก็หมายความว่า ตัวเนื้อแท้ที่แท้จริงของธรรมะที่เรากำลังศึกษาอยู่คือบรมธรรม แต่อภิธรรมนี่เป็นคำที่ซ้อน ซ้อนบรมธรรมขึ้นมาใช่ไหมครับ
พุทธทาสภิกขุ : ซ้อนไม่ได้
ผู้ถาม (คนเดิม) : อภิธรรมนี่มันมีในพุทธศาสนาหรือเปล่าครับ
พุทธทาสภิกขุ : มีสิ แต่ไม่ใช่อย่างแบบที่มานั่งนับเม็ดมะขาม
ผู้ถาม (คนเดิม) : ผมไม่ทราบว่าอภิธรรม คำว่าอภิธรรม อภิธรรม นี่คืออะไรครับ
พุทธทาสภิกขุ : คือธรรมะอย่างยิ่ง ที่ดับทุกข์ได้อย่างยิ่ง มันก็ได้ แต่ว่าในครั้งพุทธกาล คำว่า อภิธรรม แปลว่า คำอธิบายส่วนที่เกินจำเป็น อภิธรรม อธิบายธรรมะในส่วนที่เกินจำเป็น อภิวินัย อธิบายวินัยในส่วนที่เกินจำเป็น คำว่า อภิธรรม อภิวินัยนี่พูดกัน พูดกันทั่วไปในพุทธกาล ในครั้งพุทธกาล แต่ไม่ได้หมายถึงอภิธรรม ๗ คัมภีร์นี้ คือธรรมะข้อไหนก็ได้ แล้วอธิบายแต่เพียงที่ประชาชนได้รับประโยชน์ก็เรียกว่าธรรม ธรรมเฉยๆ แต่ถ้าอธิบายเกินนั้นขึ้นไปเขาเรียกว่า อภิธรรม เรียกว่าอภิธรรมเหมือนกัน มีพระพุทธภาษิตว่า รู้อริยสัจได้โดยไม่ต้องรู้อภิธรรม คือไม่ต้องถึงกับส่วนเกิน
ผู้ถาม (คนเดิม) : จะกล่าวได้ว่า อภิธรรม คือธรรมะส่วนเกินได้ไหมครับ
พุทธทาสภิกขุ : ก็มี อภิธรรมที่เป็นธรรมะส่วนเกินก็มี