แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เสียงคุณเป็งฮั้ว : อย่าคิดเสียว่ามันเป็นส่วนเกินนะ อย่าคิดเสียว่ามันเป็นส่วนเกิน เพราะว่าไม่มีส่วนเกินที่ไหนอีกแล้ว เพราะสิ่งที่เราทำมานั้น ที่เราเหลือจากกินจากใช้นั้นนะ ก็ยังมีหนทางซึ่งเราจะนำไปซึ่งเป็นการกุศล ส่วนที่เราทำเหลือกินเหลือใช้นั้นน่ะ เรายังมีหนทางซึ่งจะนำไปในทางกุศล เช่นอย่างเอาบำรุงวัดบ้าง หรือจะบำรุงสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ หรืออาจจะบำรุงคนข้าง ๆ บ้านที่ยากจนกว่าเรา หรืออาจบำรุงญาติมิตรสหายซึ่งไม่ ไม่พอกินไม่พอใช้ ฉะนั้นสรุปความว่าพระคุณเจ้าบอกให้เรามีมานะขยันขันแข็งในปีใหม่นี้ เราก็พยายามทำมาหากินอย่างเต็มเหนี่ยว สุดเหวี่ยงด้วยความสามารถ และการทำงานหรือทำมาหากินของเรานั้นทำไปอย่างบริสุทธิ์ใจโดยที่เราทั้งหลายได้เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เพราะว่าลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าสะอาดด้วยกาย วาจา ใจ ฉะนั้นการที่เราทำมาหากินนั้นทำไปด้วยความบริสุทธิ์จากกาย จากวาจา จากใจ ผลที่ได้รับการ การทำโดยการขยันขันแข็ง การมานะในอาชีพของเรานั้นน่ะ ผลที่เราจะได้มันมีส่วนเกินเยอะแยะ แต่ส่วนเกินนั้นไม่ใช่ส่วนเกินเสียแล้ว ส่วนเกินนั้นมันเป็นการตอบแทนบุญคุณของพระพุทธเจ้า เพราะว่าการที่เราได้จากการทำมาหากินนั้นจนมีส่วนที่เราเหลือใช้เหลือกินนั้นน่ะ มันเป็นผลอันหนึ่ง ซึ่งเรากระทำมาด้วยกาย วาจา ใจบริสุทธิ์ จากการที่เรากาย วาจา ใจบริสุทธิ์นั้น ผู้ที่มีบุญคุณต่อเรานั้นน่ะก็คือพระพุทธเจ้า ฉะนั้นเราก็ได้ตอบสนองพระพุทธเจ้าด้วยการนำเงินที่เราทำมาเหลือกินเหลือใช้นั้นกลับคืนไปให้พระพุทธเจ้าโดยที่เราได้มาสร้างวัด แล้วก็ได้สร้างพระสงฆ์พระธรรม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างที่พระคุณเจ้าบอกว่าปีใหม่นี้ เรามีพระพุทธ มีพระธรรม พระสงฆ์มากขึ้นกว่าปีเก่า หรือเราอาจจะมีสิ่งที่เห็นว่าขาดแคลนในสังคม เช่นอย่างว่าโรงเรียนหรือถนนหนทางที่มันไม่สะดวกต่อการสัญจรของพี่น้องเรา หรือเราเห็นว่าบ่อน้ำที่ไหนมันไม่มี หรือขาดแคลนน้ำ หรือหยูกยาโรงพยาบาลไม่มี อย่างนี้ก็เป็นการช่วยเหลือซึ่งเป็นการตอบแทนคุณของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นเราจะต้องเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าแล้วก็ย่อมไม่ลืมพระคุณของพระพุทธเจ้าเช่นนี้ เอาละครับก็ไม่มีอะไรจะมากกว่านี้ ทีนี้ก็
ท่านพุทธทาส : เอา ใครพูดอีก ใครพูดต่อคุณเป็งฮั้ว ว่าคุณเป็งฮั้วพูดนี่ถูกหรือผิด จริงหรือไม่จริง คุณเป็งฮั้วเป็นอาเสี่ย ทำบุญกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ เอา ใคร เอาใครพูดสิ พูดต่อคุณเป็งฮั้ว เอาสิ ไม่ต้องเกรงใจ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องอะไร คือว่าเรามีส่วนเกินเหลือไปทำบุญปีหนึ่งกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วการทำบุญนั้นเพื่อซื้อพรรคพวกหรือว่าทำบุญโดยบริสุทธิ์ใจ
ผู้ชายท่านหนึ่ง : ผู้ชายท่านหนึ่ง สวัสดีญาติทุก ๆ ท่าน วันนี้ก็เป็นวันสิ้นปีเก่า แล้วฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์ ท่านสรุปว่ามาตั้งแต่มนุษย์ยังไม่เป็นมนุษย์ แล้วก็รวมมาจนถึงปัจจุบันนี้หมด เพราะฉะนั้นทุกคนก็ขอให้ชำระบัญชีเมื่อปีที่แล้ววันนี้เป็นวันสุดท้าย ขอให้ชำระบัญชีให้เรียบร้อยแล้วว่าปีใหม่เราจะทำการค้าขายอะไรหรือกิจการอะไร จะทำอย่างเก่าดีหรือจะทำอย่างใหม่ดี ท่านอาจารย์บอกว่าให้นึกคิดตัดสินภายใน ๓ ชั่วโมงนี้ เกิน ๓ ชั่วโมงไปแล้วก็จะขึ้นปีใหม่ ถ้าผู้ที่ยังมีกิจการวุ่นวายอยู่ พอคิดบัญชีเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ขอให้จัดกิจการนั้น ๆ เสียใหม่ กิจการดังกล่าวมันมีทุกข์มาก เราก็ต้องจัดใหม่ ถ้าไม่จัดขืนอยู่อย่างเก่า เราก็ไม่ได้ขึ้นปีใหม่แล้ว กิจการนั้น ๆ มันก็เก่า ขึ้นปีใหม่กิจการนั้น ๆ มันก็เก่า เราไม่ได้ขึ้นแน่ เราต้องเปลี่ยนใหม่ เพราะฉะนั้นผมมาพูดเล็กน้อยเพื่อสรุปใจความที่ผมเข้าใจผิดถูกอะไรขอให้เอาไปคิดเอา สวัสดีครับ
ท่านพุทธทาส : ตบมือ ตบมือ เดี๋ยวจะง่วงนอนกันเสียหมด
ผู้ชายท่านหนึ่ง : ขอนมัสการพระคุณเจ้าทั้งหลายและเพื่อนร่วมทุกข์ทั้งหลายที่มาร่วมฟังในวันนี้ ซึ่งเป็นวาระดิถีจะส่งท้ายปีเก่า เราได้ฟังพระธรรมเทศนาจากท่านอาจารย์มาแล้ว แม้แต่ในการให้โอวาทกับนักศึกษา วันนี้อาจารย์ได้เทศน์ถึงเรื่องว่าเราจะส่งท้ายปีเก่า เราควรจะคิดว่าจะส่งด้วยวิธีใด และควรจะรับด้วยวิธีใด แต่เมื่อสรุปเป็นข้อปลีกย่อยน้อย ๆ ก็จะได้ความว่า อาจารย์ได้บรรยายถึงว่าคนเราตั้งแต่เกิดมานั้น เมื่อแรกเริ่มเดิมทีไม่ได้นึกมีการเห็นแก่ตัวเลย อยู่มา ๆ มนุษย์นี่มีความเห็นแก่ตัวมากยิ่งขึ้นยิ่งขึ้น ฉะนั้นทุกข์มันจึงมากขึ้น มากขึ้น ๆ ฉะนั้นในวาระซึ่งเราจะส่งท้ายปีเก่านี้นั้น เราจงพยายามลดละความเห็นแก่ตัวหรือส่วนเกินซึ่งได้จากการงานทุกอย่างทุกชนิดให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและพี่น้องร่วมชาติร่วมโลกทั้งหลาย และท่านยังบรรยายต่อท้ายอีกหน่อยด้วยว่าเราจะรับปีใหม่ เราจงควรได้สิ่งที่ดีไปกับปีใหม่คือให้เห็นผลจากการปีเก่านั้นเรามีอะไร ๆ บ้าง เราก็ควรจะอธิษฐานจิตว่า อ้อ, ปีนี้เรามีอะไรที่เผ็ดที่ร้อนที่ผิด เราควรจะละ เราควรจะเว้น และก็อีกสัก ๓ ชั่วโมงข้างหน้านี้ก็จะเป็นปีใหม่แล้ว เราจึงจะได้ประกอบการงานถูกในทางที่ถูกต้องที่ควร เมื่อทำแล้วเราต้องทำด้วยสติและปัญญาที่เฉลียวฉลาดประกอบด้วยความขยันหมั่นเพียรในโอกาสเป็นครั้งแรกที่ผมได้มาสวนโมกข์ หรือเป็นศิษย์ใหม่ของสวนโมกข์นี้ ผมก็รู้สึกซาบซึ้งในสถานที่นี้ซึ่งให้ความสงบเย็นแก่ผม ฉะนั้นผมก็รู้สึกจะพูดอะไรก็ยังไม่ค่อยจะคล่อง ต่อไปโอกาสหน้าก็จะได้พูดต่อ ๆ ไป ฉะนั้นในยกแรกนี้ก็จะพูดแต่เพียงเท่านี้ ขอขอบคุณพี่น้องและพระคุณเจ้าทั้งหลายในโอกาสนี้ด้วยครับ
ท่านพุทธทาส : ใครอีก ใครอีก เอ้า, ใคร ใคร ใคร คุณกัญญา สุภาพสตรีบ้าง
คุณกัญญา : ขอนมัสการพระคุณเจ้าและเพื่อนชาวพุทธทุกท่านนะคะ ซึ่งดิฉันก็สนใจในด้านพุทธศาสนามานี้ก็เป็นเวลาที่น้อย ไอ้การพูดนี่จะให้วาทะที่จะสละสลวยย่อมเป็นไปไม่ได้ค่ะ จะมาแสดงความคิดเห็นในที่นี้ที่ท่านได้ให้พระธรรมซึ่งว่าได้ฟังตั้งแต่เริ่มต้นที่ท่านเทศน์มาก็รู้สึกว่ามีคำพูดที่ลึกซึ้ง อันนี้ก็เป็นแง่คิดอันหนึ่งที่จะนำไปปฏิบัติ เช่นประเด็นที่ว่าเราจะต้อนรับปีใหม่กัน แล้วจะละซึ่งเสียปีเก่า หรือท่านจะเทศน์ไล่ปีเก่าอันนี้ก็ ก็อุปมาเหมือนว่าที่เราจะปฏิบัตินั้นไอ้สิ่งที่เรามีชีวิตเป็นอยู่ซึ่งปีเก่านั้นมีความประพฤติที่ไม่ดีก็ขอให้ผ่านไป แล้วก็ในเมื่อปีใหม่นี้ก็ขอให้ปฏิบัติให้ ให้ดีขึ้นกว่าปีเก่า อันนี้ก็ ซึ่งปกติแล้วปีใหม่นี่ตัวดิฉันเองไม่ค่อยมาสนใจในด้านพุทธศาสนา มา ๒ ปี ปีนี้เป็นปีที่ ๒ ที่ได้มาปีใหม่ที่สวนโมกข์ ก็รู้สึกก็ ปฏิบัติแล้วก็ได้ประโยชน์มาก อันนี้ก็ไม่ทราบว่าจะพูดว่าอะไรอีก ก็คิดว่าแห่งนี้ก็เป็นสถานที่จะเปลี่ยนชีวิตหรือจิตใจให้ใหม่ ๆ ขึ้น มีแนวทางที่จะเดินให้ถูกทางก็คือ ก็เป็นบารมีของท่านพุทธทาสที่ได้ชี้ทางให้ค่ะ
ท่านพุทธทาส : เอา คุณเชาว์ คุณเชาว์ นี้ นี้ก็มาจาก (เสียงตัดไป นาทีที่ 12:05)
(ขึ้นตอนใหม่)
ผู้ชายท่านหนึ่ง : ต้องชนะการให้ทานทั้งปวง อันนี้นักเลงซึ่งได้ยินข้อธรรมะก็มักจะอดอยู่ไม่ได้ ซึ่งผมเองก็มาร่วมในรายการของสวนโมกข์ถึงปีที่ ๗ ก็คิดว่าสวนโมกข์คงจะต้องมีอะไรดี ให้ได้ดึงดูดให้แก่ชาวพุทธทั้งหลายอยู่ในประเทศไทยนี่ได้เดินทางมาสู่ที่สวนโมกข์อารามนี้เป็นจำนวนปีละมาก ๆ ซึ่งถ้าเราทำบัญชี หรือจะจดจำกันลงบัญชีไว้ ก็คงจะ อาจารย์คงจะไม่มีกระดาษที่จะจด เพราะว่าตั้งแต่อาจารย์ได้ฝึกปฏิบัติธรรมถึง ๔๗ พรรษาก็มากมายพอที่คนจะมาเยี่ยม ตั้งแต่ที่ได้ดำเนินการที่พุมเรียง จนกระทั่งมาถึงอยู่ที่สวนโมกข์อารามนี้ ถ้าพูดถึงอย่างนั้นตามที่อาจารย์ว่า เดี๋ยวนี้ก็มีคนจังหวัดเลย จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดเชียงรายใด ๆ ที่เข้ามาอยู่ที่นี่ ความจริงเมื่อครั้งก่อนผมเองก็อยู่จนสุดแดนคืออยู่อำเภอสุไหงโกลก แต่บัดนี้ก็เลื่อนเข้ามาจนอยู่ถึงจังหวัดสงขลาก็ใกล้ขึ้น แต่วันนี้ที่อาจารย์เทศน์ว่าท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทนั้น ตามปกตินั้นเป็นปัจฉิมโอวาทที่พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวไว้ในครั้งสุดท้ายว่า วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ ท่านทั้งหลาย สังขารและร่างกายนี้ย่อมเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาท ที่นี้ถ้าหากว่าจะต่อไปนั้นก็จะคิดว่าท่านจงทำประโยชน์ตนให้สำเร็จ เมื่อเป็นประโยชน์ของตนแล้วก็จะเป็นประโยชน์ของผู้อื่น ซึ่งตามที่ท่านได้เทศนาไว้ว่าการที่จะทำประโยชน์ตนให้เกิดขึ้นนั้นแล้วก็จะเป็นประโยชน์ผู้อื่น ท่านประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีโดยที่มีศีลแล้ว ท่านจะทำให้สังคมเป็นสุข ท่านจะทำให้สังคมได้รับความรู้จากท่านอีกมากมาย ซึ่งถ้าทุกคนชาวพุทธได้ร่วมใจร่วมจิตกันปฏิบัติ แล้วข้อธรรมทั้งหลายจะรวมอยู่ในอันเดียวกัน แต่ถ้าหากว่าชาวพุทธทั้งหลายยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ เพียงแต่เริ่มปริยัติมันก็ย่อมมีข้อขัดและข้อที่จะพูดกันอยู่เสมอ ดูแต่ท่านพระภิกษุสงฆ์ที่ท่านรวมอยู่ได้เป็นคณะนั้นเพราะท่านลงมือปฏิบัติตามบทบัญญัติและพระวินัยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจึงอยู่ด้วยความสงบและเยือกเย็น นี่ก็เป็นข้อชี้ให้เห็นถึงเรื่องลักษณะของธรรม อันเป็นธรรมที่จะมองได้เห็นทุกลักษณะที่เราจะได้เดินไป ตั้งแต่ยืน เดิน นั่ง นอน ถ้าท่านจะได้เห็นพระแสดงธรรมแล้ว ท่านก็บอกว่าทุกอิริยาบถและทุกสิ่งย่อมเป็นธรรมให้เกิดขึ้น ถ้าเราจะพิสูจน์กันตั้งแต่กาย ตั้งแต่ลม ตั้งแต่น้ำ ตั้งแต่ที่เห็นอยู่นี้ ถ้าจะพูดกันถึงเรื่องอิทัปปัจจยตา มันก็ยิ่งเห็นได้ง่าย เพราะว่าก่อนที่มันจะมาเป็นหินโค้งและหินที่จะถูกมาประดับนี้ก็ต้องมาด้วยการที่จะเป็นขั้นเป็นตอนเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาเพราะว่าสิ่งนั้นคนขนขึ้นมา สิ่งนี้จึงมีคนมานั่ง คนนั้นปูเสื่อ คนนี้ช่วยกวาด คนนั้นช่วยเก็บใบไม้ คนนั้นช่วยนำอาหาร มันจึงเป็นสิ่งที่จะต้องสัมผัสกันด้วยตลอดเวลา จึงเป็นกฎแห่งธรรมชาติที่เราจะได้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ถ้าทุกคนปฏิบัติได้ตามหลักที่ได้ว่ากฎแห่งธรรมชาติโดยรู้ถึงสภาวธรรม สัจธรรม รู้จักหน้าที่ รู้จักผลของการปฏิบัติแล้ว ผมเชื่อว่าโลกทั้งโลกนี้จะพบแต่ความสันติสุขเท่านั้นถ้าทุกท่านได้ลงมือปฏิบัติธรรม ซึ่งเวลานี้ก็เป็นเวลาที่เราถือกันว่าเป็นวันสุดท้ายของการดำรงชีวิตมาครบรอบ ๑ ปี ก็ถ้าหากว่าผมใคร่ขอฝากถึงเรื่องคำว่าปฏิบัตินั้นไปสู่แต่ชาวพุทธทุกคนที่ได้มาร่วมกันใน ณ ที่นี้ ขอความสวัสดีจงมีแด่ท่าน สวัสดีครับ
ผู้หญิงท่านหนึ่ง : สวัสดีค่ะ ชาวพุทธทั้งหลาย ท่านฟังหลวงพ่อพูดแล้วรู้สึกเป็นอย่างไรคะ แต่สำหรับดิฉันรู้สึกว่าเหมือนกับได้ไล่ปีเก่าที่ไม่ดีไปแล้วก็ยังได้อาบน้ำทิพย์ต้อนรับปีใหม่ด้วย สวัสดีค่ะ
(เสียงเบาและตัดไป นาทีที่ 17:10-17:34)
ผู้ชายท่านหนึ่ง : จะดีขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะก็คือการละความเห็นแก่ตัว และทำให้มีจิตใจสะอาด สว่าง สงบขึ้น และอีกประการหนึ่งก็คือว่าให้ทำลายส่วนเกิน ทีนี้ไอ้เรื่องส่วนเกินนี้ ผมคิดว่าพวกเราก็คงจะมีกันอยู่บ้าง ซึ่งถ้าใครมีส่วนเกินอยู่ ถ้าเอามาทิ้งไว้ที่สวนโมกข์นี้เสียบ้างก็ดีเหมือนกัน อย่างเช่นว่าพวกอบายมุขทั้งหลาย ตั้งแต่ดื่มสุราก็ดี เล่นการพนันก็ดี หรือจนกระทั่งสูบบุหรี่ก็ดี สิ่งเหล่านี้ผมเห็นว่าเป็นส่วนเกิน ซึ่งว่าถ้าใครละเสียได้ ชีวิตมันก็จะมีความสุขขึ้นอีกตั้งเยอะ ไม่ต้องไปทุกข์ไปร้อนกับสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในโอกาสในวันขึ้นปีใหม่ และเรามาพร้อมกันที่สวนโมกข์นี้แล้ว หากว่าใครมีส่วนเกินและสิ่งที่ไม่จำเป็นกับชีวิตเหล่านี้ เราจะมาละมาทิ้งกันเสียที่นี่บ้างก็ขอท่านทั้งหลายโปรดระลึกดูและมาอธิษฐานใจกันบ้างเถิด สำหรับผมนั้นขอบอกว่าเวลานี้อบายมุขมันไม่ค่อยจะมีอะไรแล้วครับ บุหรี่ก็ไม่สูบ เหล้าก็ไม่ดื่ม การพนันก็ไม่เล่น ผู้หญิงก็ไม่เที่ยวนะครับ ฉะนั้นผมมานึกขึ้นได้ว่าเพื่อที่จะทำลายความเห็นแก่ตัวให้ยิ่ง ๆ ขึ้น ผมตั้งใจว่าเพราะว่าผมก็มีบุตรภรรยาครองเรือนครับ มีลูก ๔ คนแล้วก็คนเล็กนี่ก็ขึ้น มศ. ๑ แล้ว คิดว่าเพียงพอแล้วสำหรับที่จะสืบพันธุ์ต่อไป เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในโอกาสแห่งการขึ้นปีใหม่นี้ผมขออธิษฐานใจว่า จะถือพรหมจรรย์ตลอดทั้งปี คือว่าไม่ ไม่เสพกามครับ พูดกันตรงๆ อย่างนั้น แล้วก็อีกข้อหนึ่งที่คิดขึ้นมาได้ก็ว่า ผมคิดว่าในวันอาทิตย์นี่ ผมจะถือศีล ๘ ทุกวันอาทิตย์ คือว่าที่ถือว่าเลือกวันอาทิตย์ ไม่ถือวันพระนั้นก็ เพราะว่าเป็นวันที่สะดวก เนื่องจากว่าผมรับราชการ ถ้าวันพระบางทีมันอาจจะไม่สะดวกในการทำงาน ฉะนั้นวันอาทิตย์เป็นวันหยุดก็เป็นวันโอกาสที่เราจะถืออย่างไรก็ได้เพราะเป็นวันของเรา เท่าที่ผมนึกได้ก็มี ๒ ข้ออย่างนี้ครับสำหรับผมเอง แล้วก็มีอยู่ข้อหนึ่งที่กระผมอยากให้ท่านอาจารย์ได้แนะนำให้พวกเราทั้งหลายที่มีความข้องใจกันอยู่ คือว่าเรื่องการทำลายความเห็นแก่ตัวนั้น ในสังโยชน์ ๑๐ ก็มีข้อสักกายทิฏฐิ ซึ่งคำว่าสักกายทิฏฐินี้ มีพวกเราหลายคนที่ยังเข้าใจกันไม่ค่อยจะถูกต้อง แล้วก็ว่าพระโสดาบันนั้นน่ะจะละตัวตน ความยึดถือเป็นตัวตนละได้แค่ไหนเพียงไร ข้อนี้พวกเรายังข้องใจกันอยู่มากครับ ถ้าท่านอาจารย์จะได้กรุณาให้ความสว่างแก่พวกเราในเรื่องนี้ เพื่อที่จะเป็นบรรทัดฐานในการที่จะปฏิบัติเพื่อละความเห็นแก่ตัวให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ขอกรุณาท่านอาจารย์ให้ความสว่างแก่พวกเราในเรื่องนี้ด้วย
ท่านพุทธทาส : เอา ใคร ใครอีก ใครอีก
ผู้ชายท่านหนึ่ง : ขอเชิญเด็กหนุ่ม ๒ คน ใครก็ได้ ผมเป็นโฆษก สักคน ๒ คน ขอเชิญครับ
คุณบุญเลิศ แสงรัตน์ : ผมเป็นคนที่มาใหม่ในสวนโมกข์นี่เป็นครั้งแรก มาจากกรุงเทพฯ ทำงานอยู่ที่กรมโยธาเทศบาล ซึ่งเดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นกรมโยธาธิการแล้ว ชื่อ บุญเลิศ นามสกุล แสงรัตน์ วันนี้ผมก็ปีติอย่างยิ่งที่ได้มาครั้งนี้ ตอนแรกมาผมจะเล่าถึงว่าในเมื่อผมมาครั้งแรกนี่ ผมมีความคิดเห็นอย่างไรต่อสถานที่นี้ ที่ผมถึงมา ครั้งแรกที่ผมมานี่ผมได้รับข่าวจากเพื่อน ๆ ว่าสวนโมกข์นี่เป็นสถานที่ร่มเย็นนะฮะ ผมก็มาเพื่อจะหวังว่าจะดูสถานที่เท่านั้น ทั้งเมื่อวานนี้ที่ผมมาถึง ผมก็ไม่ได้ธรรมะอะไรขึ้นมาเลย ผมมาเพียงเท่านั้นเอง แต่ในเวลาที่ผ่านได้ไปเพียงวันเดียวเท่านั้น ผมได้พบท่านผู้รู้ซึ่งผมก็เชื่อท่านรู้แน่ รู้จริง รู้มั่นคงจริง ๆ ผมจึงได้ ปรากฏว่าได้ธรรมะขึ้นมามากขึ้นทีเดียว และในวันนี้หลังจากที่ท่านอาจารย์ได้แสดงพระธรรมแล้วผมก็มีข้อสงสัยอยู่อย่างหนึ่งจะเรียนถามท่านเหมือนกัน ที่ท่านว่าให้เห็นประโยชน์ส่วนเกินนั้นเราควรจะสละเสียบ้าง คือว่า อย่างว่าคุณเป็งฮั้วเขาบอกว่าถ้าส่วนเกินมากนักก็ให้ชาวบ้านเสีย ข้าง ๆ บ้านน่ะ อย่างว่าท่านก็อาจจะเข้าสภาสังคมสงเคราะห์ซึ่งมีอยู่มากเลยในกรุงเทพฯ ขณะนี้ ผมว่าสังคมนี่มาจากจำนวนผู้คนที่ว่าจะสงเคราะห์สังคมนี่ก็คือสงเคราะห์คนตามความคิดของผมนี่ซึ่งอาจจะผิดประการใดก็คิดว่าเป็นความรู้น้อยของผม การที่เรามีส่วนเกินมาก แต่ได้บริจาคหรือว่าช่วยให้ส่วนชุมชนนั้น มันก็เปรียบ ผมเห็นด้วยเหมือนกันว่าการเป็นเช่นนั้นเราควรจะทำแต่มีข้อแม้อยู่ว่าถ้าจะอุปมาก็แบบสัตว์ เราจับสัตว์มาเลี้ยง สัตว์ที่อดโซ ถ้าเผื่อเราป้อนอาหารให้ สัตว์นั้นก็จะรัก และครั้นปล่อยสัตว์นี่ไปไหน จะไม่มีทางที่ว่าตัวเองจะดิ้นรนหรือว่าจะหลบไปจัดการหาเองหรือไม่ ไม่มีทางเป็นเช่นนั้น คงจะเกาะเราไว้ ก็แบบถ้าเราแบ่งส่วนเกินของเรานี้ให้ผู้คนที่ต่ำต้อยกว่าเรา แล้วผมคิดว่าเขาจะมีความคิดที่จะพยายามพัฒนาตัวเขาขึ้นเองให้มาเทียบ เราช่วยเขา แต่เราต้องช่วยเขา แล้วก็ให้เขาช่วยตัวเขาเองขึ้นมาให้ได้ระดับเดียวนี่เป็นการเสมอภาคนี่ ก็ว่าข้อนี้มันจะติดขัดอยู่บางประการ ผมขอเรียนถามท่านไว้เท่านี้
ผู้ชายท่านหนึ่ง : ขอเชิญคุณวุฒิ
คุณวุฒิ : ไม่ใช่ผมจะพูดครับ พอดีผมมีชาวจังหวัดเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่มากับผมด้วย ๑ คน จะใคร่ขอเชิญคุณสมาน ชัยปัก (นาทีที่ 24:57) ซึ่งเป็นท่านผู้ใหญ่มาในนามของจังหวัดเลย ขอเชิญฮะ ลองดู ขอเชิญครับ และท่านเป็นผู้แทนจริง ๆ ครับ ท่านเป็นสมาชิกสภาจังหวัดนะฮะ
คุณสมาน ชัยปัก : สวัสดีครับพุทธศาสนิกชนที่เคารพรักทุก ๆ ท่าน กระผมมาจากไกลครับ มาจากจังหวัดเลย แล้วก็เป็นครั้งแรกที่ ที่ได้มาที่สวนโมกข์นี้ แต่ก่อนนี้เคยได้ยินเพียงแต่กิติศัพท์ว่าสวนโมกข์นี้ดี สวนโมกข์นี้ดีในทางที่เผยแพร่พุทธศาสนาได้เป็นอย่างดียิ่ง แล้วก็ผมอยากจะมานานแล้วละครับ แล้วก็มีปีหนึ่งที่ยังจำได้นานมาแล้วครับ ที่ได้ไปฟังปาฐกถาของพระคุณเจ้าที่คุรุสภาที่กรุงเทพมหานครครับ กระผมยังจับใจในคำปาฐกถาของท่านอยู่จนบัดนี้ไม่รู้ลืมนะฮะ เพราะฉะนั้นตั้งแต่นั้นมาผมก็ปรารถนาที่จะมากราบนมัสการท่านเพื่อจะได้อะไรดี ๆ จากท่านมาตั้งหลายปีครับ มาปีนี้ผมได้ลงไปเยี่ยมบุตรที่ปัตตานีก็เลยพบคุณหมอเชาวน์ครับ ก็ได้ชักชวนให้ผมมา ก็รู้สึกว่าเป็นโชคอย่างยิ่งครับผมจึงได้มาในคราวนี้ สำหรับผมก็รู้สึกว่ายังอ่อนอยู่ครับในทางหลักการของพระพุทธศาสนา รู้สึกว่าเพิ่งค้นคว้าก็ยังไม่ซาบซึ้งแตกฉานในหลักของพระธรรม พระพุทธศาสนา แต่ว่าเมื่อสักครู่นี้พระคุณเจ้าได้แสดงพระธรรมเทศนาไปก็รู้สึกว่าซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง ทีนี้สำหรับจุดประสงค์ที่กระผมมาคราวนี้ มีจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่อยู่ก็คือว่า กระผมอยากจะได้รับ ประสิทธิ์ประสาท หรือของดีจากท่านว่าทำอย่างไร หรือมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ปุถุชนโดยเฉพาะกระผมเองให้เกิดมีความสะอาด สว่าง และไสว มองเห็นพระธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นขั้นที่สุด มีวิธีการอย่างใด ปฏิบัติอย่างใด กระผมขอรับประสิทธิ์ประสาทจากท่านในข้อนี้ สวัสดีครับ
คุณวุฒิ กู้เกียรตินันท์ : ขอนมัสการพระคุณเจ้าทุกท่าน แล้วก็ท่านพุทธศาสนิกชนที่เคารพทุกท่านด้วยครับ กระผมในนามของคนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นเอง ชื่อวุฒิ กู้เกียรตินันท์ครับ (นาทีที่ 29:23) ก็มีความสนใจศึกษาในด้านพุทธศาสนานี่มาบ้างพอสมควรครับ หมายถึงศึกษาอย่างจะเอาจริงเอาจังด้วยนะฮะ หมายถึงจะเอาเนื้อหาให้ได้มาช่วงระยะเวลาหนึ่งก็ได้เกิดความรู้สึกความนึกคิดอะไรขึ้นมาบ้างพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมก็มีความคิดเห็นว่าชาวพุทธไทยทุกวันนี้ เกิดอยู่ในเมืองซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธศาสนา แต่รู้สึกว่าเราได้ประโยชน์จากพุทธศาสนาน้อยมากครับ เกือบจะเรียกว่าไม่ได้เลยก็ว่าได้ หมายถึงส่วนใหญ่ของเรานะฮะ จะเรียกว่าเราใกล้เกลือกินด่างเสียมากกว่าก็ได้ในความเห็นของผมนะฮะ อีกหน่อยบางทีเราอาจจะต้องไปศึกษาพุทธศาสนาจากต่างประเทศแล้วก็ได้ เพราะเวลานี้มีชาวต่างประเทศไม่น้อยเหมือนกันได้ทยอยกันมาศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง และบางประเทศเขาก็มีพุทธศาสนาของเขาแล้ว เขายังใส่ใจถึงกับหาโอกาสลงทุนลงแรงด้วยทุนส่วนตัวนี่ฮะ มาศึกษาถึงเมืองไทยนะฮะ ในขณะเดียวกันชาวไทยที่เรียกตัวเองว่าชาวพุทธนั้นน่ะ กระผมอยากจะบอกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ก็ได้ มัวหลงระเริง ไม่เอาใจใส่ ไม่สนใจกับของดีที่เรามีอยู่ทุกวันนี้ โดยพากัน ก็อ้างตัวกันทุกคนว่าชาวพุทธ แล้วก็ถึงเวลาทำบุญตามวัด ใส่บาตรก็ทำ ถึงเวลาอยากเที่ยว กินเหล้าเมายา เที่ยวผู้หญิงก็เที่ยว อะไรอย่างนี้ ผมเห็นว่ามันยังไงชอบกล มันเป็นทั้งนักเลงผู้หญิง นักเลงสุราก็เป็น เป็นชาวพุทธก็ยังอ้างว่าเป็นอีกเหมือนกัน อันนี้ผมเห็นว่ามันเป็น มันขัดแย้งกันเหลือเกิน คือจะเอายังไงก็เอาเสียอย่าง แล้วก็ถ้าเราเป็นชาวพุทธที่แท้จริงแล้ว ผมว่าไม่ต้องห่วงหรอกฮะว่าเมืองไทยเราจะไม่เจริญทั้งทางวัตถุและทางจิตใจด้วย ไม่ว่าญี่ปุ่น อเมริกา หรือที่ไหน ผมว่าเราคนไทยเราก็สู้ได้ ถ้าขอให้เราเป็นชาวพุทธและปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริงนะฮะตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า โดยการศึกษา โดยใช้สมอง ไม่ใช่โดยการประพฤติตามประเพณีหรือว่าตามสิ่งแวดล้อม ครับอันนี้ก็เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะฮะ อาจจะแรงไปหน่อยหรือผิดบ้างถูกบ้างก็เป็นความเห็นส่วนตัวนะฮะ ขอให้ท่านทั้งหลายก็ลองพิจารณาดูแล้วกันครับ ก็ผมก็ขอพูดเพียงเท่านี้ก่อนครับ
ผู้ชายท่านหนึ่ง : ขอเชิญมิสเตอร์สตีน (นาทีที่
คนต่างชาติ : Sawasdee (สวัสดี) I don’t understand the words, but behind the words, I feel the truth and I think it’s a very nice way to spend the last day of the year.
คุณวุฒิ : Excuse me, would you like me to interpret?
คนต่างชาติ : No, that’s ok.
ท่านพุทธทาส : อย่ายาวนัก อย่ายาวนัก แปลลำบาก
คุณวุฒิ : In order that I could interpret correct (นาทีที่ 33:43) what you said correctly, let me just translate one by one.
คนต่างชาติ : Yes.
คุณวุฒิ : เขาบอกว่า เขาไม่เข้าใจคำพูดโดยตลอดนะฮะ หมายถึงภาษาไทยนี่ฮะ แต่เบื้องหลังของภาษานั้นเขาพอเข้าใจครับ แล้วก็เรียกว่าก็พอซาบซึ้งอยู่บ้าง ครับที่เขากล่าวเมื่อกี้นี้ Go ahead, please.
คนต่างชาติ : Umm, this is very hard.
คุณวุฒิ : พูดลำบากเหมือนกันครับ
คนต่างชาติ : It’s very hard to speak to English people like this and so it is even harder to talk to Thai people like this.
คุณวุฒิ : I see. เขาบอกว่าเป็นการยากนะฮะที่จะพูด แม้แต่ให้กับคนอังกฤษด้วยกันในโอกาสอย่างนี้ฮะ เพราะฉะนั้นยิ่งยากไปอีกถ้าจะต้องมาพูดให้คนไทยเรานี่ฮะ
คนต่างชาติ : I listen to Chao Khun (เจ้าคุณ) and my friend beside me tells me what he has been saying. And what he has been saying is different from what I’ve been hearing, but it doesn’t matter.
คุณวุฒิ : เขาบอกว่าเขาได้มาฟังท่านเจ้าคุณเทศน์นะฮะ แล้วก็เพื่อนของเขาได้แปลให้เขาฟัง ก็รู้สึกว่าแตกต่างจากที่เขาได้เคยได้ยินมาก่อน Go ahead, please.
คนต่างชาติ : Go ahead, please. Discussing the dharma beneath the trees is very nice and I feel very humble. Khob-Khun (ขอบคุณ)
คุณวุฒิ : Wait a minute, please. เขาบอกว่าการได้มานั่งฟังธรรมะใต้ต้นไม้นี่นะฮะเป็นการดีมากเลยครับ เขารู้สึกว่าประทับใจ แล้วก็ซาบซึ้งหรืออะไร ผมชักจะลืมแล้วนะฮะ ผมอยากจะสัมภาษณ์เขานิดหน่อยครับว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน เพื่อให้ท่านพี่น้องส่วนมากเราได้ทราบนะฮะ May I ask you something? Where did you come from?
คนต่างชาติ : I came from London.
คุณวุฒิ : เขามาจากกรุงลอนดอนนะครับ ประเทศอังกฤษครับ
คนต่างชาติ : And I am traveling to Australia.
คุณวุฒิ : แล้วเขากำลังจะเดินทางไปประเทศออสเตรเลียครับ
คนต่างชาติ : And I’m visiting many wats (วัด) and ashrams (อาศรม) as I travel to see how they work, how they operate.
คุณวุฒิ : I see. เขาบอกว่าเขาได้เดินทางไปเยี่ยมวัดต่าง ๆ นะฮะหลายแห่งแล้ว และก็ได้ดูการปฏิบัติของแต่ละวัดที่เขาได้ไปเที่ยวมา ไปเยี่ยมมานะฮะ May we know what is your intention to… what’s your aim or intention to come here in Thailand or go to Australia?
คนต่างชาติ : I started to learn the passana meditation in London two years ago and it’s been a very rewarding experience.
คุณวุฒิ : เขาบอกเขาได้เรียนการทำสมาธินะฮะ เขาบอก A passion medition? การทำสมาธิอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์ หรืออะไรนี่ ผมอาจจะแปลไม่ถูกนักนะฮะ จากประเทศอังกฤษนะฮะครับเมื่อ 2 ปีมาแล้ว เขาว่ารู้สึกเป็นประสบการณ์ที่ดีมากฮะ เรียกว่าที่คุ้มค่ากันเลย Go on, please.
คนต่างชาติ : I learned the passana meditation...
คุณวุฒิ : Oh! Vipassana (วิปัสสนา)
คนต่างชาติ : Vipassana? From a Thai monk who came to London to interpret English for his master who could not speak English.
คุณวุฒิ : เขาบอกว่าเขาได้เรียนวิปัสสนากรรมฐานจากวัดที่ลอนดอน จากพระไทยนี่เองฮะ จากพระผู้ไปช่วยแปลนะฮะ แปลเป็นไทยอีกทีเพราะว่าอาจารย์ของท่านพูดอังกฤษไม่ได้ แต่ก็มีพระที่ไปช่วยแปลนี่เป็นผู้ช่วยสอนเขาอีกทีหนึ่งจากลอนดอน May I know? Do you remember the name of the priest?
คนต่างชาติ : The priest’s name was Chao Khun Sapana, I think it’s pronounced Sa-pa-na.
ท่านพุทธทาส : เจ้าคุณโสภณ
คุณวุฒิ : ท่านเจ้าคุณโสภณครับ Is he the master or the interpreter?
คนต่างชาติ : He was the interpreter for his master. And when his master went back to Bangkok, Chao Khun Sapana stayed in London
คุณวุฒิ : พระที่ช่วยสอนให้เขาคือเป็นผู้ช่วยแปลคือท่านเจ้าคุณโสภณนะฮะ ส่วนอาจารย์ของท่านก็อาจจะเป็นท่านเจ้าคุณเทพสิทธิมุนีนะฮะ วัดมหาธาตุครับ นี้เป็นเขาเรียกบรรดาศักดิ์หรืออะไรครั้งหลังสุด Would you like to say something? Say it. We have plenty of time.
คนต่างชาติ : Yes, we have plenty of time.
คุณวุฒิ : And there will be a preaching, huh, chanting, you know. Probably about 12 at noon, you know.
คนต่างชาติ : At midnight.
คุณวุฒิ : Yes, at midnight.
คนต่างชาติ : So I cannot talk for two and a half hours. That’s too long, huh? It’s very hard to talk for two and a half minutes. But, I’d just like to say thank you for the Thai hospitality and Buddhist hospitality, more too, it’s very nice.
คุณวุฒิ : Ok. Thank you very much
คนต่างชาติ : ขอบคุณ
คุณวุฒิ : เขาอยากจะพูดว่าขอขอบคุณชาวพุทธทุกๆ ท่านฮะที่ เกี่ยวกับการให้การต้อนรับอย่างดีนะฮะ เขาขอฝากขอบคุณด้วยครับ
ผู้ชายท่านหนึ่ง : ขอนมัสการนิมนต์มหาบรรจง สุดประเสริฐครับ
มหาบรรจง สุดประเสริฐ : ขอนมัสการท่านใต้เท้าที่เคารพ และเพื่อนพุทธบุตรทุกท่าน เจริญพรญาติโยมทั้งหลาย การที่อาตมาได้มาจากกรุงเทพฯ วันนี้ เมื่อ ๒ วันที่แล้วมานี้ อาตมาก็มีความมุ่งหมายก็ที่จะมาที่สวนโมกข์นี้หลายปีมาแล้วก็ไม่ได้มาสักที ครั้งนี้เป็นโอกาสแรกที่อาตมาได้มาที่สวนโมกข์นี้ อาตมาก็ไม่มีอะไรที่จะมากล่าวกันอีกแล้วเพราะท่านใต้เท้าก็ได้เทศนาไปแล้วเมื่อสักครู่นี้ หวังว่าท่านสาธุชนและพุทธบุตรทั้งหลายก็คงจะได้ยินถ้าฟังด้วยดีแล้ว การขึ้นปีใหม่นี้ การสิ้น การต้อนรับปีใหม่นี้ เป็นประเพณีที่ทำกันมา ที่ชาวโลกเขาทำกันมา แต่เราเป็นพุทธบุตร เป็นศากยวงศ์ เราจะทำอย่างไรกันดี การสิ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่เขาทำกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นลัทธิตะวันตกหรือลัทธิตะวันออกที่ทำกันอยู่ ประเทศไทยเราทำกันมาอย่างไร ต้อนรับปีเก่า คำว่าขึ้นปีใหม่สิ้นปีเก่านี้ เราต้องมาคิดกันดูว่าอะไรเก่าอะไรใหม่ คำว่าสิ้นปีเก่านั้นอะไรมันเก่าไป และที่ปีใหม่ที่จะขึ้นนี้อะไรมันใหม่ ขอให้พวกทั้งท่านหลายจงมาคิดให้ดี ขึ้นปีใหม่นี้ก็ต้องชำระจิตใจให้สะอาด สว่าง สงบเหมือนอย่างที่ท่านใต้เท้าได้เทศนาไปแล้วนั้น ทีนี้เราท่านทั้งหลายที่มากันที่สวนโมกข์นี้ มาที่สวนโมกข์นี้เพื่อจุดมุ่งหมายอะไร มาถึงสวนโมกข์แล้วถึงกันบ้างหรือยัง ถึงสวนโมกข์ในทีนี้ ถึงอะไรนั้น หวังว่าท่านทั้งหลายก็คงจะทราบกันดี มาสวนโมกข์ให้ถึงสวนโมกข์ เหมือนที่ท่านใต้เท้าได้เคยพูดหลายครั้งไว้ในหนังสือหลายเล่มเหมือนกันว่ามาถึงสวนโมกข์ บางคนก็ไม่ถึงสวนโมกข์ คำว่ามาถึงในทีนี้มันถึงอะไร หวังว่าท่านญาติโยมทั้งหลายก็คงจะรู้ คือท่านพูดเป็น ภาษาคน ภาษาธรรม มาถึงสวนโมกข์ บางคนมาถึงสวนโมกข์ก็มาถึงแต่ร่างกาย มาถึงเฉย ๆ แต่ไม่ได้มาถึงที่จิตใจหรอก สวนโมกข์คือความหลุดพ้น ความหลุดพ้นจากทุกข์ เรียกว่าสวนโมกข์ ให้มาถึงสวนโมกข์ ให้มาทำความสงบ สว่าง สงบ สะอาด ที่ท่านใต้เท้าได้เคยเทศนาไว้หลายครั้งแล้ว ทีนี้การจะขึ้นปีใหม่ที่ถึงอยู่นี้ ก็ให้เราคิดที่จะเอาอะไรมาสักอย่างหนึ่งที่เราจะต้องปฏิบัติ ดำเนินชีวิตไปในวันปีใหม่นี้ เราจะต้องต่อสู้กับความทุกข์ที่มีอยู่ประจำโลกนี้ ความทุกข์ เราต้องดับมันเสียอย่าให้มันมีไว้ แต่ความทุกข์นั้นอยู่ที่ไหน เราจะดับมันถูกไหม ต้องรู้ตัวทุกข์ก่อนที่จะดับทุกข์ แต่ที่ง่าย ๆนั้น เมื่อมีทุกข์แล้ว เราไม่ต้องไปทุกข์กับมัน เราต้องฉลาดอยู่กับทุกข์ มีทุกข์ก็ต้องอยู่กับทุกข์ ใช้ทุกข์ให้เป็น เมื่อใช้ทุกข์ให้เป็นมันก็จะไม่เป็นทุกข์ ผู้ที่เขารู้ทุกข์ดีแล้ว ทราบทุกข์ดีแล้วว่าความทุกข์เป็นอย่างไร เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้นเขาก็เล่นกับความทุกข์ด้วยความสนุก ไม่ต้องไปดับมันก็ได้ ขอให้ใช้ทุกข์ให้เป็นเพราะเราต้องเผชิญกันอยู่ การทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องมีความทุกข์ เราก็ต้องต่อสู้กับมันด้วยสติปัญญา สติสัมปชัญญะ ปัญญา และความประมาท เราก็อย่าได้ประมาทต่อสิ่งเหล่านี้ เมื่อมันมีทุกข์เราก็หันหน้าสู้มัน อย่าไปหลบหนีมันทุกข์ ถ้าเราหลบหนีมัน เดี๋ยวเราก็ไปเจอทุกข์อีก ขอให้เราต่อสู้กับมัน ต่อสู้ในที่นี้ก็หมายความว่าเราให้มีสติ มีปัญญา ให้กำหมดรู้มันว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นสุข เมื่อเรารู้ทุกข์ ว่าสิ่งนี้เป็นทุกข์อะไรแล้วอย่างนี้เราก็เล่น กับมัน
(นาทีที่ 46:39) อยู่กับมัน ใช้มันให้เป็นความสุข ให้เป็นของสนุกไป คืออย่างนี้ก็เรียกว่า จะเรียกว่าปฏิบัติ ทำงาน ทำการงานก็คือการปฏิบัติธรรมคิดอย่างนี้ก็ได้ การทำงานคือการปฏิบัติธรรม มันก็มีความทุกข์ไปด้วย เมื่อมีความทุกข์แล้วเราก็ปฏิบัติต่อมันว่ามันมา มาอย่างไร มาไม้ไหน เราก็ปฏิบัติอย่างนั้นไม่ต้องไปหลบหลีกมัน นี่คือการต่อสู้ความทุกข์ที่ฉลาด ที่มีสติปัญญา ไม่ใช่เจอทุกข์แล้วเที่ยวไปบ่นอย่างนู้นอย่างนี้ ไม่ต้องไปบ่น อยู่กับมัน ดูหน้าดูตามันว่าความทุกข์มันเป็นอย่างไร เราจะดับที่ตรงไหนเล่า เราก็ต้องใช้สติ ใช้ปัญญาให้ถูกให้ควร นี่คือปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ ความจริงปีใหม่ปีเก่านั้น ถ้าพูดอย่างปรมัตถ์แล้วที่ท่านไต้เท้าได้พูดแล้วว่า คำว่าปีใหม่ปีเก่านี้ความจริงน่ะมันไม่มี คนไปกำหนดขึ้นเอง ไปสมมุติขึ้นเอง ปีเก่าปีใหม่นี้เราไปสมมุติขึ้นเอง เมื่อเราสมมุติขึ้นเราก็ต้องอยู่ด้วยกันตามสมมุติ เราสมมุติขึ้นมาอย่างไรเราก็ต้องทำไปตามสมมุติ โลกเขาสมมุติไปอย่างไร เราก็ต้องสมมุติไปตามโลก แต่ให้เราพยายามจะอยู่เหนือสมมุติ เหนือสมมุติเสีย อย่าหลงสมมุติ อย่าไปติดสมมุติ เมื่อเราอยู่เหนือสมมุติแล้ว เราเหนือแล้วแต่เราก็ต้องใช้สมมุติ ต้องอยู่กับสมมุตินั้น เมื่อสมมุติเป็นอันเป็นไป แตกสลายไป เราก็อย่าไปเสียใจมัน เพราะมันเป็นของสมมุติ นี่ เราจะต้องต่อสู้ความทุกข์ด้วยลักษณะเช่นนี้ เพราะฉะนั้นปีใหม่นี้ที่ว่าใหม่นี้ก็คือใหม่ตามสมมุติที่ชาวโลกเขาสมมุติขึ้น แต่ความจริงปีใหม่มันใหม่อยู่เรื่อย ถ้าเราทำจิตใจให้สะอาด สว่าง สงบ มันใหม่อยู่เรื่อย ไม่มีคำว่าเก่า ที่เก่านั้นเรามาบัญญัติขึ้นต่างหาก เพราะฉะนั้นอาตมาก็ไม่มีอะไรจะต้องไปบอกอีกแล้วว่าเก่าอย่างไร ใหม่อย่างไร เก่าในที่นี้ ใหม่ในที่นี้ก็คุณโยมทั้งหลายและเพื่อนพุทธบุตรก็คงจะทราบดี ถ้าหากว่าเราอยู่เหนือสมมุติได้ เราไม่ติดในสมมุติ เราก็มีปีใหม่อยู่เรื่อย ไม่มีเก่า ใหม่อยู่เรื่อยคือ สว่าง สะอาด สงบอยู่อย่างนี้ คือปีใหม่ ฉะนั้นที่โลกเขาฉลองงานปีใหม่กันอะไรทุกวันนี่ มีการดื่มสุรา มีการไปเที่ยวตามนู่นตามนี่กัน นั่นคือปีเก่าของคนบ้า ๆ ที่เขาทำกัน ไปมีงานจัดเลี้ยง มีงานปาร์ตี้ กินเหล้าเมายากันอย่างนั้น เป็นของคนบ้าเขาทำกัน ปีใหม่ในที่นี้เราก็อย่าไปทำใหม่อย่างนั้น ใหม่ในทีนี้เราก็ให้ใหม่ในทางสว่าง สะอาด สงบ อย่างนี้มันใหม่อยู่เรื่อย นี่คือคำสอนของท่านใต้เท้าที่อาตมาได้ซาบซึ้งมากในลักษณะเช่นนี้ คือคำว่า สว่าง สะอาด สงบนี้ ที่อาตมาได้รับการศึกษา ได้สนใจคำสอนของท่านใต้เท้ามา อันนี้ทำให้อาตมารู้สึก มีความที่อยากจะเผยแผ่ธรรมะช่วยท่านต่อไปในอนาคต ถ้าหากว่าอาตมายังเรียนด้านปริยัติให้จบสิ้นดีแล้ว ก็จะทำงานเช่นนี้ และหวังว่าท่านญาติโยมและเพื่อนพุทธบุตรทั้งหลายที่มาชุมนุมกันอยู่นี้ ก็คงจะทราบดีแล้วว่าอะไรเป็นอะไร ฉะนั้นอาตมาก็ไม่มีอะไรจะฝากท่านทั้งหลายอีกแล้ว ไม่มีอะไรจะพูดต่อไปอีก นอกจากคำว่า สว่าง สะอาด สงบนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันและไปพินิจพิจารณาให้ดีว่าอะไรเก่า อะไรใหม่นี้ ขอจบแต่เพียงเท่านี้
คุณเป็งฮั้ว : สวัสดีท่านผู้เคารพ เราก็มีญาติมิตรสหายทั่วโลกนะฮะ ซึ่งเวลานี้ยังมีฝรั่งมาจากลอนดอนต้น ลองคิดดูสิว่าเวลานี้เราอบอุ่นแค่ไหน เรามีญาติมิตรสหายมาเดินทางมาทุกทิศ มารวมกันที่จะมาส่งท้ายปีเก่ากันที่นี่ ลองคิดดูซิว่าสวนโมกข์นี่น่ะมีความอบอุ่นแค่ไหน จากที่ได้มีผู้มีเกียรตินั้นทยอยกันขึ้นมากล่าวคำปรารภ ปรารภ ซึ่งคำปรารภเหล่านั้นก็มุ่งหวังให้พุทธมามกะหรือเรียกว่าเพื่อนร่วมทุกข์เราทั้งหลายนี้จะได้พบธรรมะของพระพุทธเจ้าในปีใหม่นี้อย่างสุกใส แต่ว่าซึ่งเวลานี้ยังไม่ถึงปีใหม่ ยังอยู่ในระหว่างปีเก่า ถ้าธรรมเนียมของพ่อค้าแล้ว พอถึงปีเก่าจะสิ้นไปเราจะต้องคิดบัญชีกันเสียที เพราะว่ามีหนี้สินรุงรัง เราก็ต้องชำระกันในปีเก่านี้ให้หมด จึงจะได้เริ่มค้าขายกันในปีใหม่ ฉะนั้นในปีเก่าที่ซึ่งระยะผ่านไปนี้มันมีหนี้สินอยู่หลายอย่าง เช่นอย่างหนึ่งจะมากราบเรียนพระคุณเจ้าถามถึงเรื่องว่าพระคุณเจ้าตั้งแต่ไม่ได้ไปเผยแพร่ธรรมในกรุงเทพฯ พระคุณเจ้าได้มีผู้แทนในกรุงเทพฯบ้างหรือเปล่า เพราะว่ามีคนถามหลายคนว่าเวลานี้พระคุณเจ้าได้ตั้งผู้แทนขึ้นแล้วที่วัดมหาธาตุ ใต้ต้นอโศก แล้วก็เป็นผู้แทนของพระคุณเจ้าซึ่งเรียกว่าผู้แทนของท่านพุทธทาส กล่าวธรรมะของท่านพุทธทาส เพราะว่าถ้ามีผู้แทนอย่างนี้ก็ พุทธมามกะก็พากันดีใจ เพราะว่าท่านพุทธทาส ท่านเจ้าคุณนี่ไม่สามารถที่จะไปบรรยายธรรม ก็มีผู้แทนบรรยายธรรมแทนท่านอยู่แล้ว ก็พากันดีใจ แต่ผมนี่น่ะหูมันจะล้างไม่ค่อยจะดี เพราะว่าฟัง ๆ ดูแล้วมันไม่ค่อยเหมือนท่านพุทธทาสพูด เหมือนว่า เปรียบเหมือนว่าถ้าท่านพุทธทาสน่ะเป็นผู้ขายทอง ถ้าผู้แทนของท่านก็เป็นผู้ขายทองเช่นกัน แต่เวลานี้ผู้แทนของท่านที่อ้างตัวว่าเป็นผู้แทนของท่านน่ะ ดูเหมือนจะขายตะกั่วมากกว่า ฉะนั้นสงสัยอย่างยิ่ง จึงได้มากราบเรียนถามพระคุณเจ้าท่าน ว่าท่านได้ตั้งผู้แทนขึ้นแล้วหรือเปล่า แล้วรับรองผู้แทนอันนั้นหรือเปล่าขอกราบเรียนครับ
ท่านพุทธทาส : ไม่มีผู้แทน ไม่ได้ตั้งผู้แทน ไม่มีผู้แทน ยิ่งพูดไม่เหมือนกันแล้วก็ยิ่งไม่ใช่ผู้ผู้แทน เอ้า, ว่าต่อไป
คุณเป็งฮั้ว : ท่านไม่ได้ตั้งผู้แทนนะฮะ แล้วถ้ามีคนเขาอ้างว่าเป็นผู้แทน แล้วพระคุณเจ้าจะรับรองรึเปล่า
ท่านพุทธทาส : ก็บอกว่าไม่ได้ตั้งผู้แทน
คุณเป็งฮั้ว : อ๋อ ตกลงว่าพระคุณเจ้าไม่ได้รับรอง ไม่ตั้งเลยครับ เอาล่ะครับอันนี้ก็ใช้หนี้สินกันไปข้อหนึ่ง แต่ว่ามีหนี้สินอีกอันหนึ่ง ซึ่งเวลานี้เราต้องมาขอชำระกันหน่อยเพราะมันสิ้นปีแล้ว เพราะว่ามีหนังสือฉบับหนึ่งเขาเรียกว่าจัดพิมพ์เผยแพร่องค์การฟื้นฟูพุทธศาสนา ผมก็ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน ไอ้องค์การนี้มันอยู่ที่ไหนไม่ทราบ พิมพ์ขึ้นมาว่า ความหลงผิดของสังคม ในเรื่องการทำบุญ อันนี้ผมก็ได้อ่านดูแล้ว ในนี้ก็มีคนสำคัญ ๆ เช่นอย่างคุณปุ่น แล้วก็คุณวิโรจน์ เป็นต้น ได้กล่าวถึงว่าหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แสดงปาฐกถาที่หอสมุดแห่งชาติในวัน ในงานสัปดาห์ห้องสมุดประจำปี ๒๕๑๕ มีใจความว่า หลักธรรมเรื่องสุญญตาและอนัตตา ซึ่งเป็นหลักธรรมนั้น โลกุตระ ซึ่งเป็นหลักธรรมโลกุตระในพระพุทธศาสนานั้นเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาชาติบ้านเมืองโดยตรง แหม, น่ากลัวมาก เพราะว่าหลักธรรมซึ่งเป็นสุญญตาและอนัตตานั้นเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาชาติ พัฒนาชาติและก็พัฒนาบ้านเมือง หลักธรรมนั้น โลกุตระนี่ของพระพุทธเจ้าเหมาะแก่ผู้ที่ประสงค์จะบรรลุมรรคผลนิพพานเท่านั้น แล้วก็ถ้านำมาสอนแก่ผู้ต้องการพัฒนาในประเทศชาติไม่ได้ เอามาสอนประเทศชาติที่กำลังพัฒนาไม่ได้ เพราะว่าศาสนาพุทธนี่ ซึ่งนำหลักทาง หลักธรรมของสุญญตาและอนัตตานี้มาสอนในสังคมซึ่งเป็นสังคมที่พัฒนานั้นไม่ได้ เพราะว่าในยุคพัฒนานี้ น่ะ ถ้าเอาหลักธรรมนี้มาสอน บ้านเมืองจะไม่พัฒนา เพราะว่าทำให้ชาติบ้านเมืองสูญจากความเป็นประเทศชาติ โอ้โฮ, ถึงกับสูญเป็นความประเทศชาติ เพราะว่าไอ้เรื่องนี้มันน่ากลัวมาก ทำให้ประเทศชาติสูญไปเลย คือหมดชาติ เหมือนกับชาติญวน (นาทีที่ 58:19) หมดประเทศ ควรสอนประชาชนแต่เพียงเรื่องของศีลธรรม จรรยา หรือโลกิยธรรมเท่านั้น ก็จากคำปราศรัยของท่านคึกฤทธิ์ ปราโมชนี่ ก็เลยมีผู้แสดงเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ก็ขึ้นมาต่อต้านถือว่าคำพูดเหล่านี้น่ะไม่ถูกต้อง แล้วก็ประณามอย่างร้ายแรง หาว่าผู้กล่าวนี้น่ะเป็นบุคคลทำลายสันติภาพ โอ้โฮ, ทำลายสันติภาพ ก็หมายความว่า มี ไม่ มันเป็นเรื่องโกลาหลถึงกับทำลายสันติภาพ คำว่าสันติภาพนี้น่ะมันเป็นระดับชาติ มันเป็นไปถึงระดับชาติ ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เพราะว่าเป็นการทำลายสันติภาพ ก็ทำให้มนุษย์นี่ปั่นป่วน อย่างท่าน คุณวิโรจน์ถึงกับประณามว่า การที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชกล่าวคำเช่นนี้น่ะเป็นคำกล่าวที่เห็นแก่ตัวจัดของมนุษย์ โอ้โฮ, ซึ่งเวลานี้เรากำลังพูดถึงด้วยว่าการทำลายเห็นแก่ตัว แต่ว่าหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์นี่เห็นแก่ตัวจัดเสียแล้ว นี่กลายเป็นอย่างนั้น และทำงาน การที่กล่าวอย่างนี้จะทำให้โลกนี้กลับไม่พัฒนาเสียด้วยซ้ำ คือคุณวิโรจน์เข้าใจว่าถ้าเรานำเรื่องสุญญตาและอนัตตานี้น่ะ มันเป็นการพัฒนาประเทศ เพราะว่าธรรมะซึ่งเป็นโลกุตรธรรมนั้นเป็นธรรมะที่สูงสุด เอาอีกแล้ว มันอาจจะเลยไปหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะถือว่าธรรมะโลกิยธรรมน่ะเป็นธรรมะที่ต่ำ เออ, เอาอย่างนี้อีก เพราะว่ายังมีธรรมะที่ ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีธรรมะที่สูงกับธรรมะที่ต่ำ ผมก็เลยงงใหญ่ ฉะนั้นในการที่เราจะชำระหนี้สินในสิ้นปีนี้ยังมีอีกหลายเรื่อง แต่เรื่องนี้ยังผ่านไปไม่ได้ ก็ขอให้พระคุณเจ้าได้เฉลยเสียหน่อย ว่าธรรมะน่ะซึ่งเป็นโลกุตรธรรม และธรรมะซึ่งเป็นโลกิยธรรมมันสูงต่ำกว่ากันหรืออย่างไร ผมก็ยังสงสัยมาก ขอพระคุณเจ้าโปรดได้กรุณาชี้แจงครับ
ท่านพุทธทาส : ถามใหม่สิ ถามว่ายังไง ถามสั้น ๆ
คุณเป็งฮั้ว : ถามว่า เวลานี้มันมีการถกเถียงกันว่า อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่า เอาไอ้ธรรมะโลกุตรธรรมเอามาสอนน่ะไม่ได้ เพราะว่าโลกนี่เราเป็นโลกิยธรรม แล้วก็อีกฝ่ายที่ตรงข้าม เช่นอย่างคุณวิโรจน์นี่เขาบอกว่าธรรมะซึ่งเป็นโลกุตรธรรมนั้น มันเป็นธรรมะที่สูงมากนะฮะ เป็นสูงมาก แล้วก็โลกิยธรรมมันต่ำมากอย่างนี้ แล้วพระคุณเจ้าจะเห็นว่าอย่างไร มีธรรมะของพระพุทธเจ้ามีสูง ๆ ต่ำ ๆ อย่างนี้หรือครับ
ท่านพุทธทาส : คือว่าไม่เกี่ยวกับคุณวิโรจน์นะ ไม่เกี่ยวกับคุณคึกฤทธิ์นะ คุณถามนะ
คุณเป็งฮั้ว : อ้อ! ไม่เกี่ยวนะครับ
ท่านพุทธทาส : ไม่เกี่ยว
คุณเป็งฮั้ว : เวลานี้เรามาหารือกันเรื่องว่าควรจะอย่างไร
ท่านพุทธทาส : คุณวิโรจน์กับคุณคึกฤทธิ์เขาคิดบัญชีจบไปแล้ว เราจะต้องพูดอะไรล่ะ
คุณเป็งฮั้ว : อ้อ, ท่านคิดบัญชีจบไปแล้ว แต่ผม ผมก็ยังกำลังคิดอยู่ แต่ทีนี้ผมจะ
ท่านพุทธทาส : ถามว่ายังไง
คุณเป็งฮั้ว : ผมจะลองกล่าวดูนิดหน่อยนะฮะว่า พระคุณเจ้าเห็นว่าอย่างนี้ถูกหรือผิด
ท่านพุทธทาส : ว่าไป
คุณเป็งฮั้ว : เพราะว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นที่ผมเข้าใจ ไม่มีธรรมะที่สูงเลิศ หรือไม่มีธรรมที่ต่ำลงไป หรือไม่มีธรรมะที่เราเปรียบเทียบว่ามันพอดี ๆ เพราะว่าธรรมทั้งหลาย มันก็มี ๒ อย่างก็คือโลกิยธรรมและโลกุตรธรรม เช่นอย่างว่าเวลานี้เรามีพัดอันหนึ่ง มีพัดอันหนึ่ง เราจะเขียนด้านนี้ว่าโลกิยธรรม แล้วก็อีกด้านหนึ่งเขียนว่าโลกุตรธรรม พัดอันนี้นะเวลาเราหันหน้ามาทางโลกิยธรรม เราก็รู้ว่า อ้อ, นี่โลกิยธรรม แล้วเราก็ศึกษาเรื่องโลกิยธรรม ให้เข้าใจว่ามันเป็นโลกิยธรรมอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามันเป็นสัจธรรม ถึงแม้ว่าโลกิยธรรมก็เป็นสัจธรรมอันหนึ่ง ถ้าเราศึกษาให้รู้ว่ามันเป็นโลกิยธรรมแล้ว เราสามารถที่จะทิ้งมันเสียซึ่งโลกิยธรรม เราก็จะไปพบโลกุตรธรรมซึ่งอยู่ทางด้านนี้ แล้วด้านที่เป็นโลกุตรธรรมนั้นก็เป็นสัจธรรมเช่นกัน ด้านโลกุตรธรรมก็ไม่ดีเด่นไปกว่าโลกิยธรรม หรือด้านโลกิยธรรมก็ไม่เลวไปกว่าโลกุตรธรรม ทั้ง ๒ คำนี้มันเสมอกัน มันเป็นพัดอันเดียวกัน แต่ว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงได้สอนโลกิยะ พร้อมทั้งโลกุตรธรรม ก็เพราะว่าธรรม ๒ อย่างนี้เป็นสัจธรรม เป็นความจริง แล้วเราจะต้องศึกษาสัจธรรมนี้ให้ถ่องแท้ทั้งโลกิยธรรมและโลกุตรธรรม แต่ว่าตอนที่จะหลุดพ้น เพราะพระองค์มีความตั้งใจว่าสัตว์ทั้งหลายมีความมุ่งหมายให้หลุดพ้นจากวัฏฏะ ให้หลุดพ้นจากวัฏฏะนี่น่ะ ก็ต้องศึกษาโลกิยธรมและโลกุตรธรรม แล้วในที่สุดทั้งโลกิยธรรมและโลกุตรธรรมมันต้องทิ้งไปเสียหมดที่เราศึกษาไว้ ก็เปรียบเหมือนว่าเวลานี้เรากำลังเข้าใจว่าเรานั่งเรือบินไปทางทิศตะวันออก เรานั่งเรือบินไปทิศตะวันออก แล้วก็บินไปวันแล้ววันเล่า บินไปทางทิศตะวันออกอยู่เรื่อย เรื่อย ๆ แล้วเราจะเข้าใจว่าเรากำลังห่างไกลไปจากทิศตะวันตก ถ้าเรานั่งเรือบินไปทางทิศตะวันตก เรามุ่งหน้าไปทิศตะวันตก เราก็บอกว่าเรากำลังห่างไกลไปจากทิศตะวันออก ท่านทั้งหลายลองไปคิดดูสิ เป็นเช่นนั้นหรือเปล่า ทั้ง ๆ ที่เรากำลังเข้าใจอย่างนี้แหละ ทิศตะวันออกก็ไม่ได้ห่างไกล เพราะว่าเราบินไปทิศตะวันตก ทิศตะวันออกมันก็ไม่ได้ห่าง ถ้าเราบินไปทางทิศตะวันตก ทิศตะวันออกมันก็ไม่ได้ห่าง เราจะบินไปถึงล้านปี อย่าว่าแต่หมื่นปี บินตั้งล้านปี บินไปเรื่อย ๆ ทางทิศตะวันออก เราก็ไม่ได้ห่างไกลไปจากทิศตะวันตกแม้แต่นิดเดียว กระเบียดเดียว เราบินไปทางทิศตะวันออก เราก็ไม่ได้ห่างไกลไปจากทิศตะวันตกแม้แต่กระเบียดเดียว ฉะนั้นธรรมซึ่งเป็นโลกิยธรรมหรือโลกุตรธรรมไม่ได้ไปไหนเลย ทั้ง ๒ ธรรมนี้มันอยู่อันเดียวกัน เหมือนกับพัดเล่มเดียวกัน ฉะนั้นเราจะรู้ว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ได้มีการที่จะเปรียบเทียบว่าธรรมะเป็นโลกิยธรรมนั้นเลวเหลือเกิน หรือโลกุตรธรรมเท่านั้นประเสริฐ พอใครบอกว่าเอาโลกุตรธรรมมาสอนโลกไม่ได้ เดือดเนื้อร้อนใจถึงกระโดดโลดเต้น ผมว่าอย่างนี้การศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ต้องมาเริ่มกันใหม่ด้วย ก.ไก่ ข.ไข่ เพราะว่าทางมันอาจจะเดินผิด เพราะว่ามีการเดือดร้อนกันอย่างนี้ เราต้องชำระบัญชีในสิ้นปีนี้ เอาละครับ ท่านมีอะไรก็ลองว่าดู
ผู้ชายท่านหนึ่ง : เพราะเห็นคุณเป็งฮั้ว อาจารย์เป็งฮั้วนี่ครับ
ท่านพุทธทาส : อือ ๕ นาทีนี้ แล้วบัญชีของคุณทำยุ่งคิดไม่ถูกแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าจะจับไอ้ตรงไหนก่อน คุณเป็งฮั้วนี่มีศิลปะแห่งการทำยุ่ง เอ้า, อยู่ก่อนสิ แล้วมี มีศิลปะแห่งการเอาเปรียบ ก็เลยคิดไม่ค่อยจะถูก เอาก็ไล่มาตั้งแต่ต้นใหม่ ปัญหาทีแรกจะสอนโลกิยะดีหรือว่าสอนโลกุตระดี หรือว่าอะไรโลกิยะไม่ควรสอน โลกุตระไม่ควรสอน ปัญหานี้จะเอากันอย่างไร ใครพูดอย่างไรก็ให้คนนั้นมันถูกของคนนั้นแหละ แต่อยากจะถามคุณเป็งฮั้วเองสักนิดหนึ่งว่าส่วนเกินน่ะมันเป็นอันตราย ทีนี้โลกิยะกับโลกุตระ โลกิยะกับโลกุตระ ๒ อย่างนี้อะไรเป็นส่วนเกิน
คุณเป็งฮั้ว : ก็ถามผมนะ โลกิยะกับโลกุตระอันไหนเป็นส่วนเกิน
ท่านพุทธทาส : ๒ อันนี้อันไหนเป็นส่วนเกิน อันไหนเป็นส่วนพอดี
คุณเป็งฮั้ว : ผมขอตอบว่าไม่มีส่วนเกินเลยครับ พอดีเลย ๆ พอดิบพอดี ทุกอย่างพอดิบพอดี
ท่านพุทธทาส : ทั้ง ๒ อย่างหรือ
คุณเป็งฮั้ว : ครับ โลกิยะก็พอดี เพราะว่าคนโลกิยะไปโลกุตระ คนโลกิยะก็ไม่น้อยลง คนโลกุตระก็ไม่มากขึ้น มันเป็นอย่างนี้ มันพอดีทุกทีนะฮะ
ท่านพุทธทาส : ก็เป็นอันว่าสอนได้ทั้งโลกิยะทั้งโลกุตระ
คุณเป็งฮั้ว : ครับ ครับ
ท่านพุทธทาส : แล้วในกรณีไหนที่จะสอนโลกิยะ
คุณเป็งฮั้ว : อ้อ, คือว่าคนในโลกิยะก็สอนโลกิยะ คือคนในโลกิยะนี่ต้องสอนโลกิยะ ก็เหมือนกับว่าเจอฝรั่งก็พูดฝรั่ง
ท่านพุทธทาส : เอาละพอแล้ว นี่ก็จะถามคุณเป็งฮั้วว่า ไอ้ความรู้ของคุณเอง ที่มันมีอยู่ว่าไอ้เงินนี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรเป็นสิ่งที่จะไปละโมบโลภมากกับมัน คุณก็มีความรู้อันนี้ ความรู้อันนี้เป็นโลกิยะหรือเป็นโลกุตระ
คุณเป็งฮั้ว : เอ่อ, อันนี้มันเป็น ๒ อย่าง ถ้าเรารู้ว่าไอ้เงินนี้ไม่ควรจะไปโลภมันมันทั้งโลกิยะโลกุตระ ๒ อย่าง เพราะว่าโลกิยะมันจะต้องหา แต่ว่าความไม่โลภนี่มันก็โลกุตระแล้ว
ท่านพุทธทาส : รู้ว่ามันมีมันไม่ควรจะไป ไม่ควรจะไปโลภมัน ความรู้ข้อนี้เป็นโลกิยะหรือเป็นโลกุตระ
คุณเป็งฮั้ว : ก็ทั้ง ๒ อย่างครับ
ท่านพุทธทาส : ใช้ศิลปะเอาเปรียบ ศิลปะที่พูดไม่ได้ความ พอถึงทีที่จะพูดให้ได้ความก็เลี่ยงเสีย นี่เขามีเงินมาก คุณเป็งฮั้ว เป็นผู้ค้าขายใหญ่โต มีเงินมาก ความรู้ที่ว่าเงินนี่อย่าไปควรหลงกับมัน ความรู้เฉพาะที่ว่าเงินนี้อย่าไปควรหลงกับมันนี่ เป็นความรู้โลกิยะหรือความรู้โลกุตระ
คุณเป็งฮั้ว : อ๋อ, เวลามีเงินมาก มีเงินมากมันเป็นโลกิยะ
ท่านพุทธทาส : เขาไม่ได้ถามว่ามีเงินมากนะ แต่ว่าความรู้ ความรู้ที่ว่า เงินเป็นสิ่งที่ไม่ควรไปหลงกับมัน
คุณเป็งฮั้ว : ความที่ไม่ไปหลงกับมันน่ะ มันเป็นโลกุตระ
ท่านพุทธทาส : แล้วมันจะเหมือนกันได้ยังไง
คุณเป็งฮั้ว : ก็ ก็เวลานี่มันทั้ง ๒ อย่างนั่นแหละครับ ที่มีเงินมากแล้วเราก็ไม่ไปหลงกับมัน นี่มันก็โลกิยะโลกุตระ
ท่านพุทธทาส : ไม่ถูกแล้ว พูดไม่เป็นภาษาแล้ว ไอ้เรื่องโลกิยะนี่ต้องสอนไหมกับคนในโลกนี้
คุณเป็งฮั้ว : ต้องสอนครับ เพราะว่าคนโลกิยะนี่ คนอยู่ในโลกนี่ มันหลงโลก เหมือนกับปลาอยู่ในน้ำ ไม่รู้ว่าน้ำอยู่ที่ไหน
ท่านพุทธทาส : นั้นความรู้นั้นมันเป็นโลกุตระเสียแล้ว ความรู้นั้นมันเป็นโลกุตระแล้ว
คุณเป็งฮั้ว : ครับ มันหลง มันหลงโลก เพราะว่าปลานี่
ท่านพุทธทาส : เป็นโลกุตระเสียแล้ว เรื่องโลกิยะเรื่องหลงมันรู้เองมาแล้วใช่ไหม
คุณเป็งฮั้ว : ไหนฮะ
ท่านพุทธทาส : ไอ้ความรู้โลกิยะที่มันหลงน่ะ มันรู้เองอยู่แล้ว
คุณเป็งฮั้ว : ขอประทานโทษครับเราอยู่ในโลกิยะ ไม่รู้ ไม่รู้ว่าเป็นโลกิยะ คือว่าเราอยู่ในโลกิยะนี่ เราไม่รู้ว่าเป็นโลกิยะ
ท่านพุทธทาส : ถ้าไปรู้เข้าก็เป็นโลกุตระเสียสิ
คุณเป็งฮั้ว : ครับ ครับ
ท่านพุทธทาส : ฉะนั้นโลกิยะมันไม่ต้องสอนใช่ไหม
คุณเป็งฮั้ว : ไหนฮะ
ท่านพุทธทาส : โลกิยะไม่ต้องสอนเพราะมันรู้อยู่แล้ว เพราะมันจมอยู่แล้ว มันรู้อยู่แล้ว ถ้าไปสอนเข้ามันเป็นโลกุตระ
คุณเป็งฮั้ว : เดี๋ยวก่อนพระคุณเจ้า คือว่าโลกิยะต้องรู้ว่าเป็นโลกิยะก่อน
ท่านพุทธทาส : ถ้ารู้อย่างนั้นมันเป็นความรู้โลกุตระเสียแล้ว ความรู้อย่างนั้นมันเป็นความรู้โลกุตระเสียแล้ว
คุณเป็งฮั้ว : แต่ว่าถ้าไม่มีโลกิยะจะรู้นะฮะ
ท่านพุทธทาส : เอ้า, มันก็จมอยู่ในโลกิยะ
คุณเป็งฮั้ว : ครับ ครับ
ท่านพุทธทาส : ฉะนั้นคนที่เป็นโลก เป็นชาวโลก เป็นคนโลกิยะมันมีความรู้เรื่องโลกิยะอยู่แล้ว พอแล้ว ถ้าไปสอนกันอีกก็เป็นสอนเรื่องโลกุตระเท่านั้นแหละ
คุณเป็งฮั้ว : อ๋อ, พระคุณเจ้าว่าโลกิยะเราเป็นอยู่แล้วนะฮะ
ท่านพุทธทาส : อือ, รู้อยู่แล้ว
คุณเป็งฮั้ว : แต่นี้ถ้าเราไปสอน ก็เป็นโลกุตระทันที
ท่านพุทธทาส : ไปสอนอะไรเข้า ก็ต้องเป็นการสอนที่ตรงกันข้าม มันก็เป็นโลกุตระไปหมด
คุณเป็งฮั้ว : แต่ผมว่าโลกิยะก็ไม่รู้ เพราะว่าเราอยู่ในโลกิยะ เราไม่รู้โลกิยะ เรายืนอยู่กับพื้นโลกเราก็ไม่รู้ว่านี่เป็นโลก จนกว่าเราจะออกจากนอกโลก
ท่านพุทธทาส : อันนั้นมันเป็นโลกุตระไปแล้ว
คุณเป็งฮั้ว : เราถึงจะรู้ว่านี่เป็นโลก
ท่านพุทธทาส : มันก็เป็นโลกุตระเสียแล้ว พอไปรู้เข้ามันก็เป็นโลกุตระเสียแล้ว
คุณเป็งฮั้ว : ฉะนั้นก่อนรู้ก็เป็นโลกิยะ พอรู้เข้าก็เป็นโลกุตระ ฉะนั้นโลกิยะ โลกุตระก็อันเดียวกัน
ท่านพุทธทาส : ก็พูดว่า ก็พูดว่าไอ้ความรู้โลกิยะน่ะไม่ต้องสอน ไม่ต้องสอนแก่ชาวโลก ความรู้เรื่องโลกิยะไม่ต้องสอนแก่ชาวโลก มันอิ่มแล้ว มันจมมิดอยู่แล้ว
คุณเป็งฮั้ว : พอพระคุณเจ้าว่าความรู้ของชาวโลกนะฮะ ก็ความรู้เรื่องโลกิยะ ว่า ว่าไอ้ความต้องการของโลกิยะนั้น มันเป็นชาวโลกที่เขาทำอยู่ แต่ว่าไม่รู้ตัว ไม่รู้ตัว นี่มันเป็นโลกิยะ พระคุณเจ้าบอกว่าที่รู้น่ะเป็นโลกุตระ เป็นการที่ ที่รู้น่ะเป็นโลกุตระ แต่ผมว่าต้องรู้โลกิยะก่อนฮะ พอโลกิยะจบสิ้นแล้ว พอรู้โลกิยะจบ มันก็เป็นโลกุตระ
ท่านพุทธทาส : คุณไม่ฟังให้ดี ไปรู้โลกิยะเข้ามันก็เป็นโลกุตระเท่านั้นแหละ
คุณเป็งฮั้ว : ครับ ครับ ครับ ครับ ก็ถูกของพระคุณเจ้า
ท่านพุทธทาส : เพราะว่าโลกิยะนี่ไม่ต้องสอน มันอิ่มอยู่แล้ว
คุณเป็งฮั้ว : แต่ว่าถ้าไม่ต้องสอนให้รู้ว่าเป็นโลกิยะ แล้วคนที่โลกิยะจะรู้อย่างไร เหมือนปลามันอยู่ในน้ำ
ท่านพุทธทาส : มันก็รู้ตามแบบของโลกิยะ ตามแบบของโลกิยะ มันรู้อยู่เต็มที่ มันอิ่มอยู่ด้วยความเป็นโลกิยะ มันไม่รู้กุตระ พอไปทำให้รู้เข้า มันก็กลายเป็นความรู้เรื่องโลกุตระ ถ้าอ้างบาลีแล้วคุณเป็งฮั้วไม่มีทางสู้
คุณเป็งฮั้ว : อ้อ, ท่านลองว่าสิ บาลีว่าไง
ท่านพุทธทาส : บาลีที่แพร่หลายที่สุด ที่พิมพ์ออกไปมากแล้วก็ว่า เยเต สุตตัญตา คัมภีรา คัมภีรัตถา โลกุตรา ตถากัตตัป ปฏิสังยุตตา ตถากัตตัป ปเวทิตา สุญญตัปปฏิสังยุตตา (นาทีที่ 01:16:02) เรื่องสุญญตะเท่านั้นซึ่งเป็นเรื่องลึกมีอรรถอันลึกอยู่เหนือโลกที่ตถาคตพูด เพราะฉะนั้นเรื่องที่ไม่ใช่โลกุตระก็ไม่พูด พระพุทธเจ้าพูดแต่เรื่องโลกุตระ เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสุญญตา เพราะว่าเรื่องโลกิยะ ชาวบ้านมันรู้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นอะไรอีกที่ต้องพูด พอไปพูดเข้าคำเดียว มันก็กลายเป็นความรู้โลกุตระไปหมด ฉะนั้นการที่เถียงกันว่าอย่าสอนโลกุตระนี่มันก็เท่ากับว่าไม่ได้สอนอะไร เพราะความรู้เรื่องโลกิยะมันก็รู้กันอยู่แล้ว นี่ถ้าพูดถึงพัฒนา มันก็ควรจะดีกว่าเก่า มันก็ต้องสอนโลกุตระจึงจะพัฒนา คือดี ดีกว่าเก่า เอ้า, ปัญหาอะไรอีก
คุณเป็งฮั้ว : ครับ คือว่าอย่างนี้นะฮะ คือว่าคนที่อยู่ในโลกิยะไม่รู้ว่าอยู่ในโลกิยะ ฉะนั้นเราจะต้องให้พระองค์ชี้แจงว่า นี่มันมีทุกข์ เพราะมีสมุทัย
ท่านพุทธทาส : เอ้า, พอไปพูดเข้าคำหนึ่งก็เป็นความรู้โลกุตระไปเสียอีก พอพระพุทธเจ้าไปพูดเข้าคำเดียว ก็เป็นโลกุตระ เป็นความรู้หรือเป็นคำพูดโลกุตระไปเสียอีก ไอ้โลกิยะมันเต็มเปี่ยม อิ่มเอิบอยู่ในจิตใจของปุถุชน มันหลงอย่างไร มันโง่อย่างไร มันทุกข์อย่างไร มันอิ่มอยู่ นี่พอไปพูดเข้าคำเดียวมันกลายเป็นความรู้ที่ตรงกันข้าม เป็นโลกุตระไปเสีย
คุณเป็งฮั้ว : แต่ว่าที่อิ่มอยู่นี่ อิ่มอยู่นี่ก็ต้องมีความกำหนัดยินดีตลอดเวลา
ท่านพุทธทาส : ก็มีกิเลส มีกิเลส มีความทุกข์ นี่เรียกว่าโลกิยะ โลกิยะก็แปลว่า อยู่ในโลก ประกอบอยู่ในโลก เป็นไปตามวิสัยโลก นี่เป็นอยู่แล้ว เป็นอยู่เองแล้ว รู้อยู่แล้ว หลงอยู่แล้ว ไปพูดคำแรกก็เป็นโลกุตระ ปัญหาอะไรเหลืออยู่อีก
คุณเป็งฮั้ว : ปัญหาอันนี้ยังไม่จบ
ท่านพุทธทาส : ปัญหาอันนี้มีเท่านี้ มีว่าโลกิยะไม่ต้องสอน เพราะมันมีอยู่ในเนื้อ ในตัว ในกระดูก ใน อยู่แล้ว พอไปพูดเรื่องนั้นเข้า มันก็เป็นความรู้โลกุตระไปหมด
คุณเป็งฮั้ว : อ้อ, พอไปพูดความรู้เข้าก็เป็นโลกุตระ
ท่านพุทธทาส : ไปพูดเรื่องนั้นก็เท่านั้นแหละ
คุณเป็งฮั้ว : แต่ไม่ได้บอกว่าเธอน่ะกำลังอยู่ในโลกิยะ
ท่านพุทธทาส : เอ้า, ก็เป็นโลกุตระเสียสิ อย่างนั้น ถ้าบอกอย่างนั้นก็เป็นโลกุตระไปเสีย เมื่อรู้สึกตัวก็เป็นโลกุตระไปหมด ไปพูดเข้ามันก็เป็นความรู้เรื่องโลกุตระไปหมด
(เสียงคุณเป็งฮั้ว) ก็เอาละครับ
ท่านพุทธทาส : เอามีปัญหาอะไรอีก ตะกี้มีปัญหาอะไรค้างอยู่อีก
คุณเป็งฮั้ว : อ๋อ, ปัญหามีเยอะ
ท่านพุทธทาส : เอ้า, ก็บอกไปสิ
คุณเป็งฮั้ว : ทีนี้ว่า ที่หนังสือเล่มนี้พิมพ์ไว้ ไอ้การที่เราไปว่าเขาว่า ไม่ควร ไม่ควรจะพูดเรื่องว่านำเรื่องสุญญตา อนัตตานี่ มาสอนนี่ จะทำให้โลกไม่พัฒนา พระคุณเจ้าจะเห็นว่าไอ้การสอนอย่างนี้โลกมันพัฒนาหรือไม่พัฒนา
ท่านพุทธทาส : เดี๋ยวก่อน ก็เหมือนเมื่อตะกี้ที่รู้ว่าไอ้เงินนี้ไม่ควรจะ ไม่ควรจะไปยึดถือ ไปหลงมันนัก นี่มันเป็นความรู้อะไร ความรู้เรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตาหรือเปล่า
คุณเป็งฮั้ว : อ้อ, ที่บอกว่าไม่ควรไปยึดถือ หรือไม่ควรจะไปหลงมันนะฮะ ไม่ควรจะไปหลงมัน พูดกับคนหลงมันยาก เพราะมันหลงอยู่แล้วไม่ควรไปหลงมัน พูดยากเหลือเกิน ทีนี้เรากำลังหลงผู้หญิงนี่ พ่อแม่มาบอกว่าอย่าไปหลงมันนะ พออย่าไปหลงมัน เราโกรธพ่อแม่ บางทีพาหนีเลย
ท่านพุทธทาส : นั้นแหละ ไอ้ที่พ่อแม่ไปบอกว่าอย่าไปหลงมันนะ มันเป็นความรู้โลกิยะหรือว่าโลกุตระเล่า
คุณเป็งฮั้ว : ลูกก็เลยพาหนีเลย มันลำบากตอนนี้ แทนที่จะบอกว่าเธอไปหลงรักคนอย่างนี้นะทั้ง ๆ ที่เธอยังไม่ได้สำเร็จวิชา ก็เหมือนกับว่าไปล้วงเอาลูกโคที่อยู่ในท้อง อย่างที่ท่าน ท่านไสวบรรยายอยู่ เธอไปล้วงเอาลูกโคในท้องมา อย่างนี้ลูกโคก็ตายแหง แต่นี้คนใน อยู่ในโลกิยะ พระคุณเจ้าบอกว่าเพียงแต่บอกเท่านั้นเองคำเดียวก็เป็นโลกุตระแล้ว แหมเร็วเหลือเกิน
ท่านพุทธทาส : เราก็จับความรู้นั้นไว้ในฝ่ายโลกุตระ ไม่ใช่ไปบอกเรื่องโลกิยะ เพราะมันจมอยู่ในโลกิยะเต็มที่อยู่แล้ว ทีนี้ไอ้คนที่มันมีโลกิยะมาก ๆ เราต้องไปบอกมันอย่าให้มันเป็นทุกข์ ความรู้นี้มันเป็นโลกุตระ เช่นอย่าไปยึดถือเงินทองนี้ ก็เพื่อไม่ให้ ไม่ให้เขาเป็นทุกข์ เพื่อไม่ให้เป็นทุกข์อยู่ในโลกิยะ ฉะนั้นคนที่มีความเจริญทางโลกมันก็ยังมีเหลืออยู่ ถ้ามันจะต้องศึกษาโลกุตระก็อย่าให้มันอยู่ในโลกนี้เป็นทุกข์ โลกุตระเขามีไว้สำหรับจะอยู่ในโลกนี้โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ มันพัฒนาก็ได้ พัฒนาไปพลางก็ได้ และที่ไม่เป็นทุกข์คือพัฒนาที่สุด จริงไหม ไอ้ที่จะไม่เป็นทุกข์ ทำให้ไม่เป็นทุกข์คือพัฒนาอย่างยิ่ง
คุณเป็งฮั้ว : เอ่อ, พระคุณเจ้าบอกว่า ถ้าเรามีความเข้าใจในโลกุตระ การพัฒนาประเทศก็ไม่เป็นทุกข์
ท่านพุทธทาส : พัฒนาได้โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าเราไม่มีความรู้เรื่องนี้ เราจะพัฒนาด้วยความเป็นทุกข์ หรือมีความทุกข์ ก็เลยไม่เรียกว่าการพัฒนา เพราะมันเป็นทุกข์นี่
คุณเป็งฮั้ว : เอ่อ, ขอประทานโทษนะ ผมมีจะแสดงนิดหน่อย แล้วให้พระคุณเจ้าชี้แจง
ท่านพุทธทาส : ว่าเร็ว ๆ เวลาจะหมด
คุณเป็งฮั้ว : พระพุทธเจ้าต้องการจะให้สัตว์ทั้งหลายไปพระนิพพาน ก็หมายความว่าไปโลกุตระ ความมุ่งหมายให้ไปสู่พระนิพพานคือให้หลุดพ้นจากโลกิยะ
ท่านพุทธทาส : อย่าใช้คำอย่างนั้นมัน มันไม่ค่อยจะถูกกับเรื่อง ไม่ต้องไปหรอกนิพพาน ไม่ต้องไป
คุณเป็งฮั้ว : อ้อ, ไม่ต้องไปนะฮะ
ท่านพุทธทาส : เพียงแต่อยู่เหนือโลก อยู่เหนือโลกนี่ เป็นนิพพาน
คุณเป็งฮั้ว : แต่ว่าการที่จะไปอยู่เหนือโลกนั้นต้องมีการพัฒนาการ มีการพัฒนา
ท่านพุทธทาส : พัฒนาสิ พัฒนาเป็นยอดพัฒนาอยู่แล้ว
คุณเป็งฮั้ว : หรือว่าเป็นการพัฒนาการนี้ คือว่าทุกคนเป็นโพธิสัตว์ การพัฒนาการนั้น ทุกคนบำเพ็ญตนเป็นโพธิสัตว์ ซึ่งการบำเพ็ญเป็นโพธิสัตว์นั้น ก็ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น คือทุกคนทำประโยชน์แก่ผู้อื่นนั้นก็เป็นการพัฒนาการประเทศชาติ และระหว่างที่การทุกคนได้มีการมุ่งหมายที่จะเป็นโพธิสัตว์อยู่ตลอดเวลานี้ ประเทศชาติก็มีการพัฒนาอย่างรุ่งเรืองอย่างยิ่ง เพราะว่ามันหมดจากการที่เห็นแก่ตัวซึ่งเป็นตัวปลอม ๆ นั้น เห็นแก่ตัวปลอม ๆ นั้น น้อยลง ๆ ในที่สุดทุกคนเป็นโพธิสัตว์แล้ว มุ่งที่จะพัฒนาประเทศชาติได้อย่างนั้นแล้ว ประเทศชาตินั้นต้องเจริญงอกงาม เพราะว่าไอ้การเห็นแก่ตัวนั้นมันหมดไป การพัฒนาประเทศด้วยการไม่มีเห็นแก่ตัวนั้น เห็นแต่ประเทศชาตินั้น ประเทศชาติต้องเจริญแน่ แน่นอน เพราะว่าการคอรัปชั่นก็ไม่มี อะไร ๆ ที่แก่งแย่งกันก็ไม่มี เพราะต่างคนต่างจะเอื้อเฟื้อกัน
ท่านพุทธทาส : เอ้า, แต่รวบรัดหน่อยว่าการเป็นอยู่อย่างโพธิสัตว์มันเป็นโลกิยะหรือเป็นโลกุตระ
คุณเป็งฮั้ว : ไหนฮะ
ท่านพุทธทาส : การเป็นอยู่อย่างโพธิสัตว์น่ะ มันเป็นโลกิยะหรือเป็นโลกุตระ
คุณเป็งฮั้ว : อ้อ, คือว่า ตัวเป็นโลกิยะ แต่ใจเป็นโลกุตระ คือโพธิสัตว์ก็บำเพ็ญอย่างนั้น ตัวเป็นโลกิยะ
ท่านพุทธทาส : อย่างนี้ไม่มีหลักละ ไม่มีหลักที่จะพูดได้ว่าใจเป็นอย่าง กายเป็นอย่าง คือว่าร่างกายมันทำไปตามจิตใจ ร่างกายต้องทำไปตามคำสั่งของจิตใจ
คุณเป็งฮั้ว : แต่ว่าหมกมุ่นอยู่กับโลกิยะ คือโพธิสัตว์นี่ คือว่ามีความมุ่งหมายที่พาสัตว์ทั้งหลายให้ไปโลกุตระ
ท่านพุทธทาส : อย่างนั้นเรียกว่าหมกมุ่นเหรอ เรียกว่าหมกมุ่นอยู่กับโลกิยะเหรอ
คุณเป็งฮั้ว : ครับ ครับ คือตัวของเรานี่ เป็นโพธิสัตว์นี่ยังจะต้องเข้ามาในสังคมซึ่งเป็นโลกิยะ มาขนสัตว์ มารื้อสัตว์ ขนสัตว์ ฉะนั้นถ้าทุกคนได้มาปฏิบัติเป็นโพธิสัตว์จนหมด ในที่สุดประเทศชาติก็เจริญ
ท่านพุทธทาส : เขาไม่ได้เอาตัวเอากายเป็นหลัก เขาเอาจิตใจ ถ้าจิตใจไปขลุกอยู่กับกิเลสก็ต้องเรียกว่าเป็นโลกิยะ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็เป็นโลกิยะด้วยสิ เพราะมายุ่งอยู่กับสอนสัตว์
คุณเป็งฮั้ว : ใจเป็นโลกิยะ
ท่านพุทธทาส : หา
คุณเป็งฮั้ว : เปล่าครับ
ท่านพุทธทาส : พระพุทธเจ้าเป็นโลกิยะด้วยเพราะว่าร่างกายท่านก็เที่ยวสอนสัตว์ เกี่ยวข้องกับการสอนสัตว์
คุณเป็งฮั้ว : ครับ เปล่าครับ พระพุทธเจ้าไม่เป็นโลกิยะ
ท่านพุทธทาส : พระพุทธเจ้าก็เป็นโลกิยะ
คุณเป็งฮั้ว : แต่ว่าพระโพธิสัตว์นั้นน่ะ ไม่ยอมที่จะหนีออกไปจากโลกิยะจนหมดสิ้น คือหมายความว่ามัวแต่มาขนสัตว์ แต่ว่าถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วก็ไม่เอา
ท่านพุทธทาส : ใจของท่านเป็นโลกิยะเหรอ ใจของพระโพธิสัตว์เป็นโลกิยะเหรอ
คุณเป็งฮั้ว : ไม่เป็นฮะ
ท่านพุทธทาส : ถ้าเป็นก็เป็นโพธิไม่ได้ อะไรเป็นล่ะ
คุณเป็งฮั้ว : คือว่า กายของท่าน
ท่านพุทธทาส : กายของท่าน กายของท่าน ไม่ทำไปตามจิตใจของท่านเหรอ
คุณเป็งฮั้ว : อ๋อ, เป็นไปครับ เป็นไป
ท่านพุทธทาส : อา มันก็ต้องเป็น
คุณเป็งฮั้ว : แต่ว่ามาหมกมุ่นอยู่ หมกมุ่นอยู่กับโลกิยะ
ท่านพุทธทาส : แยกไม่ออก เดี๋ยวก่อนถ้าอย่างนั้นถามก่อน ก้อนหินนี่เป็นโลกิยะหรือเป็นโลกุตระ ก้อนหินนี่เป็นโลกิยะหรือเป็นโลกุตระ
คุณเป็งฮั้ว : ก้อนหินนี่เหรอ ไม่เป็นฮะ
ท่านพุทธทาส : เอ้า ก็มันอยู่ในโลก
คุณเป็งฮั้ว : ครับ ครับ
ท่านพุทธทาส : ก็มันก็อยู่ในโลก
คุณเป็งฮั้ว : แต่ว่ามันไม่มี
ท่านพุทธทาส : ไม่มีอะไร
คุณเป็งฮั้ว : ไม่มีจิตใจ
ท่านพุทธทาส : ถ้ามีจิตใจมันก็ไปตามความรู้สึกของจิตใจสิ
คุณเป็งฮั้ว : มันไม่มีวิญญาณ ไม่เป็นโลกิยะ ไม่เป็นโลกุตระ
ท่านพุทธทาส : นี่ ร่ายกายของโพธิสัตว์จะเป็นโลกิยะไม่ได้ เพราะมันไปตามจิตใจของโพธิสัตว์ ถ้าไม่อย่างนั้นก้อนหินก็ต้องเป็นโลกิยะได้ เพราะมันอยู่คน มันอยู่กับโลก เพียงแต่ว่ามันวางอยู่ในโลก จะเรียกว่ามันเป็นโลกิยะไม่ได้ มันต้องมีจิตใจที่ประกอบไปด้วยกิเลส มันจึงจะเรียกว่าโลกิยะ
คุณเป็งฮั้ว : แต่ทีนี้ ถ้าพ้นโลกแล้ว ก็ไม่มายุ่งกับโลก ผู้ที่พ้นโลกนี่ ก็ไม่มายุ่งกับโลก เพราะว่าเป็นโลกุตระที่พ้นโลก
ท่านพุทธทาส : อ้าว, แล้วทำไมพระพุทธเจ้า นี่ๆ เดี๋ยวก่อน ทำไมพระพุทธเจ้าเที่ยวเดินเพ่นพ่านมาบิณฑบาต สอนคนอยู่เล่า
คุณเป็งฮั้ว : อ้อ, ไม่มีหรอกครับ ไม่มีพระพุทธเจ้ามาเดินเพ่นพ่าน
ท่านพุทธทาส : อ้าว, แล้วนี้คุณจะแยกอะไรออก ออกจาก
คุณเป็งฮั้ว : เพราะว่าถ้าเราอาศัยรูป อาศัยรูปมาพบพระพุทธเจ้า ก็ไม่ได้พบพระพุทธเจ้า
ท่านพุทธทาส : เดี๋ยวสิ เมื่อตะกี้คุณพูดว่า ร่างกายของโพธิสัตว์เป็นโลกิยะนี่ เมื่อตะกี้คุณพูดว่า ร่างกายของโพธิสัตว์เป็นโลกิยะใช่ไหม
คุณเป็งฮั้ว : ไม่ครับ
ท่านพุทธทาส : อ้าว, แล้วกัน เมื่อตะกี้พูดอย่าง ตอนนี้พูดอย่าง ศิลปะ
คุณเป็งฮั้ว : โพธิสัตว์ไม่ ไม่ ไม่เป็น ไม่มีร่างกายที่จะเป็นโลกิยะ
ท่านพุทธทาส : แล้วเอาอะไรไปทำประโยชน์ให้ผู้อื่น
คุณเป็งฮั้ว : คือหมายความว่าใช้ร่างกายนี่เป็นประโยชน์
ท่านพุทธทาส : อ้าว, เดี๋ยวไม่มีร่างกาย เดี๋ยวก็มีร่างกาย
คุณเป็งฮั้ว : คือนำมาใช้ครับ แต่ไอ้นำมาใช้กับสิ่งที่มันเป็นจริงของมัน มันผิดกัน คือสิ่งที่เรานำมาใช้นั้น มันไม่เป็นกับไอ้สิ่งที่มันเป็นจริง
ท่านพุทธทาส : เมื่อตะกี้พูดอยู่หยก ๆ ในเทปนี่ก็มี ว่าพระโพธิสัตว์นี่เขาใช้ร่างกายไปเที่ยวคลุกคลีกันอยู่กับโลก ร่างกายของโพธิสัตว์เป็นโลกิยะ คุณว่าอย่างนี้ มันได้ยินอย่างนี้
คุณเป็งฮั้ว : ไม่ได้เป็น ไปคลุกคลี แต่ไม่เป็น ก็เหมือนกับน้ำที่อยู่บนใบบอน มันกลิ้งไปกลิ้งมา มันไม่ได้ติดใบบอน
ท่านพุทธทาส : มันก็พูดใหม่เสียแล้ว เมื่อตะกี้พูดว่าร่างกายของท่านเป็นโลกิยะ จิตของท่านเป็นโลกุตระ เปิดเทปดู เมื้อกี้ว่าอย่างนี้นี่
คุณเป็งฮั้ว : ก็พูดไปมันเร็วไปหน่อย ก็ยังไม่ได้ด่วนตัดสินอีก เพราะว่ายังอยู่ในระหว่างพิพาท
ท่านพุทธทาส : อ้าว, ปัญหานี้หมดที ปัญหาเรื่องอะไร มิจฉาทิฏฐิเป็นสิ่งที่ยิ่งแก้ยิ่งมากอย่างนั้นหรือ มิจฉาทิฏฐิยิ่งแก้ยิ่งมาก
คุณเป็งฮั้ว : คือว่าถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ยอมที่จะถอนมิจฉาทิฏฐิ เราจะยิ่งแก้ยิ่งมากขึ้น
ท่านพุทธทาส : แล้วทำอย่างไรทีนี้
คุณเป็งฮั้ว : ก็ต้องถอนมิจฉาทิฏฐิจนออกได้ จะต้องรู้ตัวว่าสิ่งที่เข้าใจนั้น สิ่งที่เราเข้าใจไปนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ท่านพุทธทาส : ทำไมไม่พูดว่ายิ่งถอนยิ่งมากบ้างละ
คุณเป็งฮั้ว : เพราะว่ายิ่งถอนยิ่งมาก ก็ในลักษณะที่ว่าเรามันดื้อ เรามันดื้อ
ท่านพุทธทาส : ยิ่งแก้ยิ่งมาก ยิ่งถอนยิ่งมาก
คุณเป็งฮั้ว : ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ยิ่งว่ายิ่งยุ เป็นอย่างนี้
ท่านพุทธทาส : ต้องทำอย่างไร จะต้องทำอย่างไรจึงจะหมดไป ทำอย่างไรจึงจะหมดไปล่ะมิจฉาทิฏฐิ
คุณเป็งฮั้ว : ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิจริง ๆ มิจฉาทิฏฐิจริง ๆ ก็ปล่อยให้เป็นมิจฉาทิฏฐิไปเลย เพราะมันแก้ไม่ได้ ยิ่งแก้ยิ่งมาก
ท่านพุทธทาส : ถ้าอย่างนั้นพระพุทธเจ้าจะมีประโยชน์อะไร
คุณเป็งฮั้ว : ก็พระพุทธเจ้าก็สอนผู้ที่กำลังจะทิ้งมิจฉาทิฏฐิ ไม่ได้สอนคนเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ท่านพุทธทาส : ไม่มีมิจฉาทิฏฐิแล้วจะทิ้งมิจฉาทิฏฐิอย่างไรล่ะ
คุณเป็งฮั้ว : คือมิจฉาทิฏฐิจนเป็นตัวตน คือว่ามีบุคคลอีกพวกหนึ่งเป็นเดียรถีย์ พยายามที่จะนำมิจฉาทิฏฐินั้นมาประกาศ แล้วก็เป็นปรปักษ์ต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ไม่สอนพวกนี้ ขอให้เป็นมิจฉาทิฏฐิต่อไปเถิด
ท่านพุทธทาส : มันอย่างอื่นเสียแล้ว พระพุทธเจ้าได้แก้ไขพวกเดียรถีย์ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิให้กลายเป็นพระอรหันต์ไปก็มี
คุณเป็งฮั้ว : ก็พวกที่เขามีหนทางที่จะมารักษา ก็เหมือนกับว่าไม่เป็นโรคมะเร็งก็พอที่จะรักษาได้ ถ้าเป็นโรคมะเร็งแล้วก็หมอก็ขอลา
ท่านพุทธทาส : เดี๋ยวนี้เขาเริ่มรักษาได้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงทรมานเดียรถีย์บางคนให้ละมิจฉาทิฏฐิ เป็นพระอรหันต์ไปก็มี ต้องถือว่ามิจฉาทิฏฐินี่เป็นสิ่งที่แก้ได้ด้วยสัมมาทิฏฐิ เอ้า, ปัญหาอะไรอีก
คุณเป็งฮั้ว : ก็เป็นบางคนเท่านั้น แต่ว่าอีกเยอะแยะที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งระหว่างที่พระพุทธเจ้าประกาศศาสนานั้นน่ะ เขาก็เจริญรุ่งเรืองเช่นกัน
ท่านพุทธทาส : มันยังไม่ถึงเวลา สำหรับบางคนยังไม่ถึงเวลา ต้องรอหน่อย
คุณเป็งฮั้ว : จนกว่าเวลานี้น่ะ ที่เขาประกาศเป็นเดียรถีย์นั้น ก็ยังยั่งยืนมาจนบัดนี้ก็มีนี่ครับ เยอะแยะครับ
ท่านพุทธทาส : ก็ต้องรอเวลา เมื่อตอนกลางวันว่าเรื่องจับเสือ จับเสืออะไร ว่ามาใหม่สิ
คุณเป็งฮั้ว : อ้อ, ที่บอกว่าเราเลี้ยงเสือไว้นี่ ทุกวัน ๆ ให้ข้าว ให้น้ำ คอยปกป้อง ป้องกันไม่ให้มันเกิดอันตราย แต่หารู้ไม่ว่าเรากำลังเลี้ยงเสือ บางคนก็เลี้ยงเสือแก่ไว้ อายุตั้งเจ็ดแปดสิบ
ท่านพุทธทาส : คุณว่าเสือคือขันธ์ ๕ หรือ
คุณเป็งฮั้ว : ครับ ก็เพราะว่าไอ้เจ้าเสือนี้น่ะมันเป็นเสือที่ทรยศ ทรยศต่อความเป็นความจริง คือมันทรยศต่อความจริงของเราเอง แต่ตัวแท้จริงของเรานี้น่ะ เราไม่อยากจะทำบาป ไม่อยากจะทำอิลุ่ยฉุยแฉก
ท่านพุทธทาส : อย่าพูดประเด็นอื่นสิ ประเด็นที่คุณว่าขันธ์ ๕ เป็นเสืออย่างนั้นหรือ เมื่อตอนกลางวันคุณพูดอย่างนี้ใช่ไหม ถามพยานดู
คุณเป็งฮั้ว : คือว่าก็รู้แล้ว ว่าไอ้ตัวของเรามันเป็นขันธ์ ๕ ก็เราอุตส่าห์เลี้ยงมัน เลี้ยงมันเอาไว้ แต่หารู้ไม่ว่าถ้าเลี้ยงมันเอาไว้นี่ คือเลี้ยงเสือไว้
ท่านพุทธทาส : ขันธ์ ๕ เป็นเสือหรืออะไรเป็นเสือ อะไรเป็นเสือ
คุณเป็งฮั้ว : ก็ขันธ์ ๕ นี่แหละ
ท่านพุทธทาส : ขันธ์ ๕ เป็นเสือ
คุณเป็งฮั้ว : ครับ ครับ เป็นเสือ เลี้ยงไว้ หรือเรียกว่าเลี้ยงงูพิษไว้ ๕ ตัวก็ได้ เพราะไอ้ขันธ์ ๕ นี่มันเป็นงูพิษถึง ๕ ตัว เพราะว่ารูป รูปนี่
ท่านพุทธทาส : เดี๋ยว ๆ พอถึงเวลาก็ต้องสวดนะ ยังอีก ๑๐ นาที ขันธ์ ๕ นั้นพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่ามันเป็นอะไร มันจนกว่ามันจะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะว่าถ้ามันมีกิเลสมันก็เป็นอุปาทานขันธ์ แล้วเป็นเสือได้ แต่ถ้ามันไม่มีกิเลส เช่นขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์นี่มันเป็นเสือไม่ได้
คุณเป็งฮั้ว : อ๋อ, ผมว่าพระอรหันต์ไม่มีขันธ์ ๕ แล้วครับ
ท่านพุทธทาส : เอ้า, ถ้าอย่างนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรหมด ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ก็ไม่ใช่ตัวเรา มันก็ไม่ใช่มี ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ของเรา เราก็ไม่ได้เลี้ยงขันธ์ ๕ ถ้าคุณพูดแบบนั้น เราก็ไม่มีขันธ์ ๕ เราไม่ได้เลี้ยงขันธ์ ๕ เพราะว่าโดยแท้จริงขันธ์ ๕ มันก็เป็นอนัตตา เอ้า, เวลาจะไม่พอแล้ว จะต้องเตรียมทำพิธีปีใหม่แล้ว นี่ยังอีก ๕ นาทีแล้ว
คุณเป็งฮั้ว : ขอบพระคุณครับ