แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เป็นหวัด เจ็บคอ คือไม่ค่อยมีเสียงจะพูด แต่เนื่องจากเห็นความเสียสละในการมาของท่านทั้งหลาย ก็จะพยายามพูดเท่าที่จะทำได้ แล้วก็เลือกเรื่องที่จะพูดนี้ที่ว่าเรื่องที่จำเป็นก่อนที่สุด ที่เป็นห่วงอยู่ว่าเยาวชนชาวพุทธของเราหรือว่า ยุวพุทธของเรายังไม่ค่อยจะเข้าใจอย่างถูกต้อง ที่จริงมันก็ควรจะพูดเรื่องปีใหม่เกี่ยวกับปีใหม่ แต่มีเรื่องที่ด่วนกว่า จึงขอเปลี่ยนพูดเป็นเรื่องที่ว่าสังคายนาเกี่ยวกับความรู้ธรรมะของนักศึกษาอย่างที่เขียนไว้ในกระดานป้าย ส่วนเรื่องปีใหม่เกี่ยวกับนักศึกษาปัญญาชนก็ต้องพูด แล้วก็จะพูดพรุ่งนี้ตอนเช้า ตอนสาย ขอให้สนใจให้ดีที่สุดเถิด จึงเชื่อว่าจะคุ้มค่าของการเสียเวลา เสียเงิน เหน็ดเหนื่อยอะไรต่างๆมา การที่พยายามทำความเข้าใจเรื่องธรรมะให้เพียงพอ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดของสมัยนี้ คือมีประโยชน์มากที่สุดแก่พวกเราสมัยนี้ ซึ่งมนุษย์คนที่กำลังละทิ้งศีลธรรม ศีลธรรมแทบจะไม่มีเหลือ สังเกตดูจากข่าวสารสื่อมวลชนอะไรต่างๆ มันมีแต่ความไม่มีศีลธรรม นั้นต้องสรุปลงไปว่าเพราะมันไม่รู้ธรรมะ ไม่รู้ศีลธรรมเพียงพอ ถ้ารู้เพียงพอก็คงจะหยุดการกระทำที่เลวร้ายนี้ได้ นี้พวกเราแหละเป็นพวกที่จะต้องเห็นแก่ส่วนรวม รับผิดชอบ ตั้งใจที่จะแก้ไข ถ้าพวกเราไม่รับผิดชอบ ไม่ตั้งใจจะแก้ไขแล้วใครจะแก้ไขนั้นก็ไม่มี ไม่มองเห็น นี้การที่นักศึกษาทุกๆสถาบันจับกลุ่มกันเป็นชมรมพุทธศาสตร์ ศึกษาธรรมะ และปฏิบัติธรรมนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดสำหรับพวกเราในยุคปัจจุบันนี้ ดังนั้นจึงขออนุโมทนาในการมาของท่านทั้งหลายด้วยความประสงค์อย่างนี้ คือประสงค์จะรู้ธรรมะ จะหาความรู้ทางธรรมะเพิ่มเติม รู้ให้เพียงพอจนสำเร็จประโยชน์ จะขอยืนยันว่านี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการทำบุญทำกุศล จะบริจาคสร้างนั่นสร้างนี่อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าไม่ได้ทำให้คนฉลาดขึ้นก็ไม่เรียกว่าเป็นการกุศลอันสูงสุด จะเล่าให้ฟังสักหน่อยว่าเคยประสบมาแล้วอย่างไร เคยบอกว่าสร้างโรงเรียนก็ยังไม่ใช่กุศลอันสูงสุด สร้างโรงพยาบาลก็ยังไม่ใช่กุศลอันสูงสุด
คำว่าอันสูงสุด สร้างวัดสร้างโบสถ์ก็ยังไม่ใช่กุศลอันสูงสุด ถ้าไม่ได้ทำให้ใครฉลาดขึ้นเกี่ยวกับความดับทุกข์ สร้างโรงเรียนก็เรียนแต่หนังสือกับวิชาชีพในการศึกษา ขออภัยที่เรียกว่าหมาหางด้วน ไม่ดับทุกข์ได้ มันก็ไม่สูงสุด มันเป็นบุญเป็นกุศลจริงแต่มันก็ไม่สูงสุด สร้างโรงพยาบาลช่วยให้คนไม่ตาย ถูกแล้ว แต่มันก็ไม่ได้ช่วยดับทุกข์ได้ คือไม่ได้รู้ธรรมะจนดับทุกข์ได้ อย่างดีก็ช่วยคนอันธพาลรอดชีวิตอยู่เป็นอันธพาลต่อไป ถึงว่า แม้สร้างโรงพยาบาลก็ยังไม่ใช่กุศลอันสูงสุด สร้างโบสถ์ แพง สวยงามมาก และก็ไม่ได้เปิดใช้ ปิดไว้ ใช้ปีละไม่กี่ครั้ง ไม่ได้ทำหน้าที่ทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้น โบสถ์นั้นก็ไม่มีความหมายอะไร จึงยังมิใช่กุศลอันสูงสุด ฉะนั้น การกระทำใดๆ ที่ทำให้เกิดความสว่างไสวในทางธรรมะแก่เพื่อนมนุษย์นั่นแหละ กุศลอันสูงสุด ท่านทั้งหลายก็ทำได้ ยุวชน ยุวพุทธทั้งหลายนี่ก็ทำได้ ทำในลักษณะที่ให้แสงสว่างเกิดขึ้นในหมู่เพื่อนมนุษย์ของเรา รู้จักดับทุกข์ได้ นั่นแหละคือกุศลอันสูงสุดที่ทำเพื่อตัวเองก็ได้ เพื่อผู้อื่นก็ได้ และเรื่องมันยังไม่จบ คือเรื่องมันมีต่อไปว่า ครั้งหนึ่งไปนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลที่เชียงใหม่ มีคนเขามาเยี่ยมผู้ป่วย เขามาเยี่ยม และเขาคุยกันอยู่นอกห้อง ไม่ได้เข้ามาในห้อง แต่ได้ยินว่าเขาคุยกันว่าอย่างไร มีคนๆหนึ่งแกล้งพูดดังๆว่า อ้าว, ไหนว่าสร้างโรงเรียนไม่ได้บุญ สร้างโรงพยาบาลไม่ได้บุญ สร้างโบสถ์ไม่ได้บุญ ทำไมมานอนป่วยอยู่ที่นี่ เขาว่าอย่างนี้ ฟังดูสิ เราว่าไม่ใช่กุศลอันสูงสุด เขาโกรธหาว่าไม่ใช่บุญ ทำไมสร้างโรงพยาบาลไม่ได้บุญ และทำไมมานอนป่วยอยู่ที่นี่ นี่น่ะฟังดูให้ดีเถิดว่า คำพูดบางอย่างนั้นมันกำกวม เพราะว่ากุศลอันสูงสุดไม่ใช่กุศลธรรมดา มันก็ได้กุศลธรรมดาแต่ไม่ได้สูงสุด ถ้าสูงสุดต้องมาถึงขั้นที่ช่วยมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ได้ เธอทั้งหลายพยายามที่จะช่วยตัวเองและเพื่อนมนุษย์ ให้รู้ธรรมะจนดับทุกข์ได้นั่นแหละคือ การกระทำอันเป็นกุศลอันสูงสุดแก่ส่วนรวม จึงขออนุโมทนาในข้อนี้
และขอพูดต่อไปถึงเรื่องว่า จะต้องทำอย่างไรที่ว่าสังคายนา นั่นเป็นคำที่เขาใช้กันอยู่แต่อาจจะไม่เข้าใจ สังคายนา แปลว่าท่องพร้อมๆกันหรือว่าประชุมใหญ่ เสนอมติตามที่จะมี หรือว่าเสนอความรู้ของแต่ละคนตามที่จะมี เมื่อพิจารณากันแล้วปรึกษากันแล้ว เป็นความรู้ที่ถูกต้องควรจะรับไว้เป็นหลักทั่วไป เขาก็เรียบเรียงเป็นถ้อยคำที่ดี แล้วสวดขึ้นพร้อมๆกัน นั่นแหละเรียกว่าสังคายนา แต่ใจความสำคัญมันอยู่ตรงที่เลือกเฟ้นให้ถูกต้องเสียก่อนแล้วจึงสวดขึ้นพร้อมๆกัน หรือพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษร เดี๋ยวนี้เราปรารภถึงเรื่องพระธรรม หรือพระศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนามันมีข้อบกพร่อง ผิดพลาดเป็นปัญหาอย่างไรบ้าง นั่นแหละเราจะต้องวินิจฉัยกันให้ชัดเจน อย่าให้มันกำกวม อย่าให้มันผิดพลาด จึงขอปรารภเรื่องนี้สำหรับเวลาช่วงนี้ ขอปรารภเรื่องนี้ที่เรียกว่าปรึกษากันให้ครบในความถูกต้องของเรื่อง และช่วยกันจำไว้ให้แม่นยำ และประเด็นที่แรกที่สุดที่จะให้ทราบให้เข้าใจกันไว้ก็คือว่า พุทธศาสนากับไสยศาสตร์นี่ต่างกันอย่างไร หรือใครเห็นว่าเป็นสิ่งเดียวกัน หรือว่าแทนกันได้ พุทธศาสนาในประเทศไทยเราเจือปนอยู่ด้วยไสยศาสตร์หรือไม่ และกี่มากน้อย อย่างนี้เป็นต้น นี่คือตัวปัญหา ฉะนั้นขอให้จำไว้ให้ดี ต้องจดไว้ให้ดี พุทธศาสตร์ คือพุทธศาสนา ไสยศาสตร์ คือ ศาสนาที่ไม่ใช่พุทธ เป็นของไสย ไสยยะ ของฝ่ายพราหมณ์ ฝ่ายมาแต่กาลก่อน มาแต่ก่อนพุทธกาล คือ ตั้งแต่สมัยคนป่าที่มีขึ้นมาในโลกเรื่อยมาๆจนถึงบัดนี้ ก็ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ไสยศาสตร์
ท่านพุทธทาส : พุทธศาสนากับไสยศาสตร์ต่างกันอย่างไร เท่าที่เรียนมาแล้ว เท่าที่ฟังมาแล้ว ท่านผู้ใดจับใจความได้ขอให้ตอบเลย โดยหัวใจพุทธศาสตร์ กับ ไสยศาสตร์ต่างกันอย่างไร มีใครตอบได้ยกมือ ช่วยตอบเลย แล้วกัน ทำไมอย่างนั้นเล่า พุทธศาสตร์กับไสยศาสตร์ต่างกันอย่างไร ตัวเองถือไสยศาสตร์ หรือถือพุทธศาสตร์ อ้าว, ไม่มีใครตอบเลย
อาจารย์ : ผม ตามที่ผมว่านะ ผมว่า ไสยศาสตร์นี้เป็นศาสตร์หรือการกระทำของเราที่ว่าในทางที่มืดมน คือทำชั่วลงไปเรื่อย อย่างเช่นว่า เราไปด่าเขาอะไรอย่างนี้แล้วก็ทำไม่ดีกับคนอื่น แต่ผมว่าทางพุทธศาสตร์เป็นการศึกษาที่ทำให้เราตื่นตัวขึ้น อย่างเช่นว่าเราช่วยเหลือก็ช่วยเหลือก็ช่วยเก็บเสื้อผ้าเก่าๆอย่างนักศึกษานี่ไปแจกจ่ายทางภาคอีสานที่กำลังหนาวเหน็บ หรือว่าเราก็ สมมติว่าเรามีความดีอะไรอย่างนี้ เราสามารถรักษาคนให้หายได้ เราก็กระทำความดีโดยการช่วยเหลือการรักษาให้
ท่านพุทธทาส : แล้วอย่างไร นี่อย่างนี้คือพุทธศาสตร์หรือ นี่คือพุทธศาสตร์หรือ ปลีกย่อยเกินไปนะขออภัย เอ้า, หลักในใจของคุณที่ถืออยู่นี่ ฟังให้ดีหน่อย และช่วยตอบด้วย คุณคิดจะพึ่งตัวเอง หรือจะพึ่งผู้อื่น
อาจารย์ : พึ่งตัวเองครับ
ท่านพุทธทาส : คนอื่นล่ะ มีหลักพึ่งตัวเองหรือมีหลักพึ่งผู้อื่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นนอกจากตัวเอง ใครถือหลักพึ่งตนเองยกมือ ใครถือหลักพึ่งสิ่งอื่นผู้อื่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น นั่นน่ะขอให้มันจริงอย่างนั้นเถอะ ถ้าว่าคิดจะพึ่งผู้อื่น หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นนั้นคือไสยศาสตร์นี่หัวใจสำคัญที่สุด พระพุทธเจ้าท่านสั่งให้พุทธบริษัทพึ่งตัวเอง พึ่งตัวเอง ทำกรรมที่ดีของตัวเอง และเป็นที่พึ่งแก่ตัวเอง พระตถาคตเป็นแต่ผู้ชี้ทาง นี้ท่านๆวางหลักไว้อย่างนี้ แม้เราคิดพึ่งพระพุทธเจ้า พึ่งพระธรรม พึ่งพระสงฆ์ท่านไม่ได้สอน มันมีลักษณะเป็นพึ่งผู้อื่น มันเป็นไสยศาสตร์ พวกเรามาคิดพึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราว่าเอาเองนะ คนชั้นหลังว่าเอาเอง พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนหรอก ท่านสอนให้พึ่งตัวเอง คือ การกระทำที่ถูกต้องของตัวเองนี่หลักพุทธศาสนา ถ้าพึ่งผีสางเทวดา พระเป็นเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรก็ตามซึ่งนอกไปจากตัวเองแล้วไม่ใช่พุทธศาสนา นี่ไปชำระความเข้าใจความคิดเห็นเสียให้ถูกต้อง อย่างเราชอบอ้างคุณพระรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกนี้ไม่ตรงตามพระพุทธประสงค์ที่พระองค์สอนให้พึ่งตัวเอง และต้องทำที่สุด ดีที่สุด ถูกต้องที่สุดและเป็นที่พึ่งแก่ตัวเอง แต่เราชอบอ้างพระพุทธ พระรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงคุ้มครอง จงรักษา จงช่วยดลบันดาลให้เป็นสุข อย่างนี้ไม่ถูกตามหลักพุทธศาสนา เป็นไสยศาสตร์ และเข้ามาปนอยู่ในพุทธศาสนา นี่ขอให้ช่วยจำไว้ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเวลานี้ไม่สำคัญหรอก แต่ขอให้เอาไปคิด ศึกษา พิจารณา การหวังพึ่งผีสางเทวดา ดวงดาว โชคชะตาราศี แม้แต่พระเป็นเจ้าซึ่งเราไม่รู้ว่าอะไร พระอินทร์ พระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์ก็ตาม ซึ่งเราไม่รู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน แต่เราต้องการจะพึ่ง ถือเอาเป็นที่พึ่ง รวมหมดแล้วเรียกว่าพึ่งผู้อื่น หวังพึ่งผู้อื่น ถ้าอย่างนี้เป็นไสยศาสตร์ แน่นอน ถ้าพึ่งตัวเอง พึ่งการกระทำของตัวเองตามที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้อย่างไร ท่านเป็นแต่ผู้พูดสอนให้เราปฏิบัติเอง เราปฏิบัติเพื่อเป็นที่พึ่งแก่ตัวเองอย่างนี้ก็เป็นพุทธศาสตร์ หรือเป็นพุทธศาสนา แต่มันมาเปลี่ยนทีหลัง ใครเปลี่ยนก็ยากที่จะรู้ว่าเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งจนไม่ต้องช่วย จนไม่ต้องช่วยตัวเองนี้มันก็ผิดหมด ถ้าเพียงแต่ขอร้องให้ช่วยก็ช่วยได้แล้วใครมันจะลำบากยากจน มันก็รวยกันหมด สบายกันหมด อะไรกันหมด เพียงแต่ขอร้องก็ได้ มันไม่ได้มันต้องทำ มันต้องกระทำลงไป พุทธศาสตร์คือช่วยตัวเอง พึ่งตัวเอง ไสยศาสตร์ คือพึ่งผู้อื่น สิ่งอื่นซึ่งอะไรก็ไม่รู้ยิ่งศักดิ์สิทธิ์ล่ะ เราเข้าไปในโบสถ์กราบพระพุทธรูปด้วยความรู้สึกว่าอย่างไร มันมีอยู่ ๒ อย่าง เข้าไปในโบสถ์หรืออะไรก็ตาม แล้วกราบพระพุทธรูปด้วยความรู้สึกว่า ให้ช่วยเราๆ พระพุทธเจ้าหรืออะไรก็ตาม สิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรให้ช่วยเรา แล้วก็กราบ หรือว่าเราขอประกาศตัวแสดงความยินดี พอใจในพระคุณของพระพุทธเจ้าที่ท่านได้ตรัสรู้ ท่านช่วยตนเองได้แล้ว และช่วยพวกเราด้วย เราเห็นจริงอย่างนี้พอใจอย่างยิ่ง ขอบพระคุณอย่างยิ่ง และเราก็กราบๆพระพุทธรูปนั้น นี่มันคนละอย่าง ที่ว่ากราบในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และให้ช่วยเรา แยกออกเป็น ๒ อย่าง กราบในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และให้ช่วยเราอย่างหนึ่ง กราบในฐานะที่เรารู้จักพระพุทธเจ้าดีว่าพระองค์สิ้นกิเลส ดับทุกข์โดยสิ้นเชิงแล้ว และสอนให้เราดับทุกข์ได้ด้วย เราขอบพระคุณ เรายินดีเราจึงกราบ ใครกราบอยากให้เป็นศักดิ์สิทธิ์ช่วยเรา ยกมือ แยะเหมือนกัน ใครกราบอย่างท่านเป็นตัวอย่างของผู้ประสบความสำเร็จในการดับทุกข์แล้วและช่วยเรา เป็นตัวอย่างให้เราช่วยตัวเรา ใครกราบอย่างนี้ นี่คือพุทธศาสตร์ คือพุทธบริษัท เอาพระเครื่องมาแขวนคอก็เหมือนกัน แขวนอย่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วย ให้ช่วยอย่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นไสยศาสตร์ พระเครื่องที่เอามาแขวนคอแขวนด้วยความรู้สึกว่านี่ คือเครื่องระลึกกันลืมถึงพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐที่สุด ดับทุกข์ได้ด้วยตัวเอง และสอนให้เราดับทุกข์ได้ด้วย เอามาแขวนคอไว้อย่าให้ลืมได้ อย่างนี้เป็นพุทธศาสตร์ ทุกอย่างแยกออกไปได้เป็นพุทธศาสตร์ หรือเป็นไสยศาสตร์ ถ้าความหมายมันเป็นไปในทางให้ผู้อื่นช่วยแล้ว เป็นไสยศาสตร์ แต่ความหมายเป็นไปในทางช่วยตนเอง ด้วยการกระทำของตนเองแล้วมันเป็นพุทธศาสตร์ นี้ช่วยทำให้เป็นพุทธศาสตร์มากขึ้น เราถูกอบรมมาแต่อ้อนแต่ออกให้พึ่งผู้อื่นให้หวังพึ่งผู้อื่น เด็กๆไหว้พระสงฆ์ แต่งมาเหลืองๆ พ่อแม่สอนให้ไหว้ ไหว้ในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยเท่านั้นแหละ เราตั้งแต่เล็กๆถูกอบรมให้ถือไสยศาสตร์โดยไม่รู้สึกตัวโดยพ่อแม่ของเราเอง พอโตขึ้นมามันยากที่จะเปลี่ยนเป็นพุทธศาสตร์ เพราะทำกันมาแต่อ้อนแต่ออก เราไปนึกดูให้ดี เมื่อเราไหว้พระ ไหว้เจ้า เมื่อเล็กๆในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่รู้ว่าอะไร เข้าใจไม่ได้ แต่เขาจะช่วยเราแน่ เราก็ไหว้กราบ นับถือ นี่ขอให้จำหลักว่า ที่ทำไปอย่างอวิชชา คือไม่รู้และให้ผู้อื่นช่วยสิ่งอื่นช่วยเป็นไสยศาสตร์ ถ้าทำไปด้วยวิชชา ปัญญาเห็นแจ่มแจ้งอยู่ว่าท่านได้ปฏิบัติดับทุกข์กันอย่างไร แล้วเราก็ปฏิบัติอย่างนั้นเพื่อดับทุกข์ด้วย อันนี้เป็นพุทธศาสตร์ นี่พุทธศาสตร์กับไสยศาสตร์มันปนกันจนแยกกันไม่ออกอยู่ทุกหนทุกแห่ง มันกลายเป็นประเพณีที่จำยอมจะต้องทำ เมื่อชนหมู่ใหญ่เขาทำ เราไม่ได้ทำ เราก็เคอะอยู่คนเดียวเราก็ต้องทำเป็นประเพณีจำยอม ต้องไหว้พระเจ้า ต้องเซ่นพระเจ้า บวงสรวงพระเจ้า ไหว้ผีสางเทวดาไปตามที่เขากระทำกันอยู่ นั่นมันเป็นเรื่องจำยอม ไม่ใช่พุทธศาสตร์แต่เป็นไสยศาสตร์ อย่างนี้เรียกว่าสังคายนา
เรามาใคร่ครวญพิจารณาดูให้ดีแยกให้เห็นชัด แล้วก็ยึดถือเอาฝ่ายที่มันถูกต้อง ถ้าเป็นพุทธบริษัทเขาให้ถือพุทธศาสตร์ อย่าได้ถือไสยศาสตร์เลย แต่ก็ไม่จำเป็นต้องไปทะเลาะกับพวกที่เขาถือไสยศาสตร์ ป่วยการ ถ้าว่าบางคราจำเป็นจะต้องเข้าเมืองตาหลิ่ว หลิ่วตาตามก็เอากับเขาบ้างก็ได้ แต่ในใจเรารู้อยู่นั่นมันเป็นไสยศาสตร์ แต่ฉันเป็นพุทธศาสตร์ เดี๋ยวนี้มันยากในโลกนี้ พวกฝรั่งมันก็มีไสยศาสตร์ คือมันมีความคิดที่อบรมกันมาแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่ศาสนาถือพระเจ้า เชื่อพระเจ้า พระเจ้าช่วยตน เป็นไสยศาสตร์เต็มตัว ฝรั่งบางพวกก็ถือไสยศาสตร์อย่างร้ายกาจ เหนียวแน่นกว่าพวกเรานี่ เพราะว่าศาสนาที่สอนให้มีพระเจ้านั้นเป็นไสยศาสตร์ทั้งนั้น เขาอวดว่าพระเจ้าของเขาไม่ใช่ไสยศาสตร์นั้นไม่จริง เขาว่าพระเจ้าของเอเชีย ฝ่ายเอเชียนี่เป็นไสยศาสตร์ พระเจ้าอย่างของเขาไม่ใช่ไสยศาสตร์ เขามาสอนให้เราเปลี่ยน เปลี่ยนพระเจ้าให้ใหม่เป็นพระเจ้าที่ไม่ใช่ไสยศาสตร์ อย่างนี้เราไม่เชื่อ เพราะว่า ถ้าเชื่อพึ่งผู้อื่นละเป็นไสยศาสตร์ทั้งนั้น ต่อเมื่อพึ่งตนเองนั่นแหละถึงจะเป็นพุทธศาสตร์ดูให้ดีเถิด พวกที่ถือพระเจ้า ให้พระเจ้าช่วยมันก็ยังต้องทำงาน เรียกให้พระเจ้าช่วยก็ต้องทำการทำงานอยู่ดี เลิกไม่ได้ มันไม่จริง ปากถือพระเจ้า ร้องให้พระเจ้าช่วยแต่ก็ต้องทำงาน ร้องให้พระเจ้าโปรดให้ทำงานให้สำเร็จ อย่ามีผิดพลาด แต่มันก็ยังพลาดในบางครั้งอยู่นั่นน่ะ ที่แท้จริงมันต้องทำด้วยสติปัญญาอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของธรรมชาติ ทำงานไม่ผิดพลาดได้ผลดี นี่จึงจะเป็นพุทธศาสตร์
ท่านพุทธทาส : พุทธะ แปลว่าอะไร ใครทราบ คำว่าพุทธะ รากศัพท์ คำนี้ ใครทราบ ระดับมหาวิทยาลัยแล้วใครทราบ
อาจารย์ : คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ท่านพุทธทาส : สวดมนต์อยู่ พุทธะคือผู้รู้ ผู้ตื่นผู้เบิกบาน ถูกแล้ว แล้วไสยยะ แปลว่าอะไรรู้ไหม ใครทราบ ไสยยะ แปลว่า หลับ พุทธะแปลว่า ตื่น คำเดียวกับไสยา ไสยา ไสยาสน์ แปลว่าหลับ แต่พุทธะ แปลว่า ตื่น แล้วแต่คุณจะเลือกศาสนาหลับหรือศาสนาตื่น นี่ก็คือสังคายนา ความคิดนึก ความรู้สึก ความเข้าใจกันเสียใหม่ ต่อไปจะเป็นพุทธศาสนิก หรือพุทธศาสตร์กันทุกคนดีขึ้นๆจนสมบูรณ์ ตัดกิเลสของตนเอง แล้วเป็นพระอรหันต์ พระเจ้าไม่มาช่วยตัดกิเลสให้เราได้หรอก เราต้องทำลายตัดกิเลสตัดบาปตัดความชั่วของเราเอง เขาเซ่นพระเจ้ากันเอาหัวหมูบ้างเอาปูปลาบ้างเอาเหล้าก็มี เซ่นพระเจ้ากันเห็นพิธีเซ่นสรวงบูชาพระ บูชาพระเป็นเจ้า พระเป็นเจ้าอย่างนี้จะมาช่วยตัดกิเลสของเราได้ ขอให้แน่ใจในการพึ่งตนเอง ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เธอทั้งหลายจงมีตนเองเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง จงมีตนเองเป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะ มีตนเองเป็นที่พึ่งคือมีธรรมะเป็นที่พึ่ง มีธรรมะเป็นสรณะ ธรรมะนั้นคือการปฏิบัติธรรมะในพระพุทธศาสนาที่จะทำให้กิเลสหมด ทำสติปัฏฐาน ๔ ในบางแห่ง ศึกษาปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ แล้วมันก็จะทำลายกิเลสหมดไปช่วยให้รอดได้ นี่เรียกว่ามีตัวเองเป็นที่พึ่ง มีธรรมะเป็นที่พึ่ง มีการกระทำของตนเองเป็นที่พึ่ง นี่ พุทธศาสตร์
ท่านพุทธทาส : ใครค้าน ใครเห็นด้วย ใครเห็นด้วย หลายคนยังค้าน ถ้าอย่างนั้นไม่ได้สังคายนา สังคายนาต้องเป็นเอกฉันท์ ว่าข้าพเจ้าถือพุทธศาสตร์พึ่งตนเอง และการกระทำของตนเอง ไม่พึ่งไสยศาสตร์เพื่อต้องให้ผู้อื่นมาช่วย พูดให้เข้าใจชัดอีกทีว่า ถือพุทธศาสตร์ถือหลักช่วยตัวเอง พึ่งตัวเอง มีการกระทำที่ถูกต้องและช่วยตัวเองเป็นพุทธศาสตร์เป็นพุทธศาสนิก ถ้าพึ่งสิ่งอื่นให้สิ่งอื่นมาช่วยเป็นไสยศาสตร์ ตกลงไหม ใครค้าน ใครค้าน ค้านมาสิ ถ้าไม่ค้านก็เป็นอันตกลงว่าเราเป็นมติเอกฉันท์ว่าเราถือพุทธศาสตร์ เชื่อตัวเอง ทำที่พึ่งแก่ตัวเอง ตกลง เพราะเวลามันมีนิดเดียว
นักศึกษา : ในกรณีที่เราไม่อยากจะพึ่งคนอื่น แล้วแต่ว่าคนอื่นมายื่นความช่วยเหลือแก่เรา ไม่ทราบมันเป็นไสยศาสตร์ไหมครับ
ท่านพุทธทาส : เราไม่ได้ถือหลักอย่างนั้นนี่ ไม่ได้ถือหลักพึ่งผู้อื่น ที่เขาจะมาช่วยเหลือเรานั้น เขาต้องพอใจในความดี ความถูกต้องของเรา เราก็ยังพึ่งตัวเองอยู่ เขามาช่วยเราเพราะเขาเห็นว่าเรามีอะไรดี ที่มันถูกต้อง จนเขามาช่วย ไม่ใช่เราหวังพึ่งผู้อื่นหรือยึดผู้อื่น สิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง แม้แต่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขาเล่าลือกัน เวลามันน้อยนะ ก็อยากจะพูดอีกเรื่องหนึ่ง
นักศึกษา : บางเรื่องเราไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ สมมติว่าเราอยู่ในสภาวะแต่สภาวะเจ็บป่วย เราต้องพึ่งหมอพึ่งพยาบาลนี่คือการพึ่งผู้อื่นด้วย
ท่านพุทธทาส : นั่นเกี่ยวกับถ้อยคำ ไม่ใช่ลัทธิ อย่างนั้นไม่ใช่ลัทธิ ที่ต้องพึ่งหมอ พึ่งเพื่อนบ้านอย่างนั้นไม่ได้เรียกพึ่งผู้อื่นที่เป็นลัทธิศาสนา แต่ถ้าดูให้ดี เราก็จะต้องดูจนถึงว่า เราต้องมีอะไรดีหมอถึงมาช่วยเรา อย่างน้อยเราก็มีสตางค์ให้หมอใช่ไหม มันยังรวมอยู่ในลัทธิที่ว่าเรามีอะไรที่มันเป็นการพึ่งตัวเอง จะให้ใครมาช่วยทำอะไรให้เรา เราต้องมีอะไรดี ดีในตัวเราจนมีใครมาช่วยทำอะไรให้เรา นี่เรียกว่าพึ่งตนเอง นี่เพื่อความบริสุทธิ์ สะอาด ถูกต้อง ในการถือศาสนาของเรา เราจะต้องเข้าใจถึงขนาดนี้
เอ้า, ทีนี้จะพูดเรื่องที่สอง เดี๋ยวเวลาหมด หลักตัดสินว่าควรจะเชื่ออย่างไรสำหรับพุทธบริษัท คือหลักที่เรียกว่า กาลามสูตร ใครเคยได้ฟังคำว่ากาลามสูตร เคยได้ยินคำว่ากาลามสูตร อธิบายได้ไหมว่าคืออะไร อธิบายได้ไหมว่าคืออะไร คือหลักสำหรับใช้ในการที่จะเชื่ออะไรลงไป ดังที่ได้ตรัสไว้แก่คนหมู่หนึ่งในหมู่บ้านกาลาม หมู่บ้านนั้นชื่อว่าหมู่บ้าน กาลาม ชาวกาลามแห่งหมู่บ้านกาลาม พระพุทธองค์ตรัสเรื่องนี้ที่นั่น คำสอนนั้นเลยเรียกว่า กาลามสูตร นี่เป็นเรื่องที่จะมีได้แต่ในพุทธศาสนาเท่านั้นน่ะ ในศาสนาอื่นมีไม่ได้ มันคู่กับคำว่าไสยศาสตร์ พุทธศาสตร์พึ่งตัวเอง และเป็นประชาธิปไตยสูงสุดไม่มีประชาธิปไตยไหนเสมอหรอก กาลามสูตร หลักกาลามสูตร คือว่ามันมีเรื่องเป็นปัญหาเกิดขึ้นมาว่า คนนั้นสอนอย่างนั้นคนนี้สอนอย่างนี้คนนู้นสอนอย่างนู้น มันสอนต่างกันและจะเชื่อคนไหนดี พระพุทธเจ้าเลยตรัสหลักนี้ไว้ ให้ถือหลักอย่างนี้ อย่าเชื่อเพราะเหตุว่าเขาพูดแล้วฟัง พูดแล้วฟังๆตามๆกันมาอย่างนั้นๆนานแล้ว เราอย่าเชื่อด้วยเหตุผลเพียงเท่านั้น เดี๋ยวนี้เราเชื่อเรื่องปรัมปราที่หาสาระไม่ได้ เชื่ออยู่ในใจ เล่าลือเรื่องผีเรื่องสาง เรื่องแปลกๆประหลาดๆ ที่ตรงนั้นมีอย่างนั้น ที่ตรงนี้มีอย่างนี้ นี่เรียกว่าฟังตามกันมา ฟังตามๆกันมาแล้วต้องเชื่อเ พราะเขาพูดฟังตามกันมาไม่รู้แต่ครั้งไหนเราต้องเชื่อ ถ้าเราไปเชื่ออย่างนั้นเป็นไสยศาสตร์ ถ้าเราไม่เชื่อ เรามาใคร่ครวญดูตามเรื่องของเราจึงเป็นพุทธศาสตร์
นี่ข้อที่ ๒ อย่าเชื่อเพราะว่าเขาทำตามๆกันมา กระทำเป็นการกระทำ สืบๆตามๆกันมา พวก Tradition ที่คุณชอบกันนัก ระวังให้ดีเถิด ที่ทำตามกันมา ที่ทำตามๆกันมาโดยหลับหูหลับตาโดยไม่ต้องรู้ว่าผิดถูกอย่างไร ปรัมปราทำกันมาอย่างปรัมปรา อย่าเชื่อว่าเขาทำกันมาสืบๆกันมาอย่างนี้แล้วมันต้องถูกแน่ เราต้องเอาด้วย อย่างนี้ไม่ดี ถ้าทำอย่างนั้นเป็นไสยศาสตร์ ถ้ามองเห็นชัดอยู่ว่ามันจะไม่เกิดโทษ มันจะมีผลมีอะไร จึงจะเป็นพุทธศาสตร์ เดี๋ยวค่อยว่าคราวเดียวหมดดีกว่า
ข้อที่ ๓ว่า มา อิติกิรายะ อย่าเชื่อเพราะกำลังลืออยู่กระฉ่อนทั้งเมือง ทั้งโลก เช่นสมมติว่า เกิดลือกันทั้งโลกว่า ดาวหางจะมาชนโลกแตกใน ๒ – ๓ วันนี้ มันลือกันทั้งโลกไม่เชื่อ ลือกันทั้งโลกเราก็ไม่เชื่อ ไม่เชื่อตามเสียงที่ลือกันอยู่อย่างกระฉ่อน ไม่เชื่อ ต้องใคร่ครวญดูจะเป็นจริงได้หรือไม่ต้องคอยดูดีกว่า ถ้าไปเชื่อทันทีอย่างนั้นเป็นไสยศาสตร์ไม่ใช่พุทธศาสตร์ ๓ ข้อนี้เกี่ยวกับได้ฟัง ฟังผู้อื่น เพราะเขาฟังพูด ฟังพูดตามๆกันมานี่อย่างหนึ่ง เพราะเขาปฏิบัติตัวตามๆกันมานี่อย่างหนึ่ง เพราะเขาลือกันอยู่กระฉ่อน ดังก้องไปทั้งโลก ๓ อย่างนี้อย่าเชื่อว่าต้องเชื่อเพราะมันเป็นอย่างนั้น ถ้าเชื่ออย่างนั้นมันเป็นไสยศาสตร์หมด โปรดคิดดูก่อน มาคิดดูก่อน
ทีนี้ ข้อที่ ๔ อย่าเชื่อเพราะมันมีในตำรา อย่าเชื่อเพราะมันมีในปิฎก ปิฎกคือตำรา คือมันเขียนอยู่ในตำราก็ยังไม่เชื่อหรอก ถ้ามันยังไม่พิสูจน์ว่าจะดับทุกข์ได้จริงก็ยังไม่เชื่อ เพราะมีเขียนว่าน่าจะดับทุกข์ได้จริงเรามาลองปฏิบัติดูก่อน ถ้าดับทุกข์ได้จริง เราค่อยเชื่อ หมายความว่า เราจะไม่ยอมเชื่อด้วยเหตุว่ามันมีเขียนอยู่ในตำรา หรือในปิฎก พระไตรปิฎก ถ้าเชื่อด้วยเหตุมันมีเขียนในตำราโว้ย, มันก็เป็นไสยศาสตร์ เรามาใคร่ครวญดูมันจะเป็นไปได้จริง น่าเชื่อ ก็ลองทดลองดู ได้ผลจริงจึงค่อยเชื่อ อย่างนี้เป็นพุทธศาสตร์ ที่เขียนอยู่ในพระไตรปิฎกหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ถ้ามันดับทุกข์ได้จริง มันจึงถูก
ทีนี้ก็ว่า มา ตกฺกเหตุ มา นยเหตุ อย่าเชื่อเพราะว่ามันเข้ากันได้กับหลักตรรกศาสตร์ ตรรกศาสตร์ Logic ที่เขาชอบกันนัก ชอบอ้างกันนัก Logic มันเข้ากันได้กับหลัก Logic ไม่ ไม่ พุทธบริษัทไม่เชื่อ แม้มันเข้ากันได้ กับ Logic หรือ มานยเหตุ อย่าเชื่อเพราะเหตุเข้ากันได้กับหลักนัยยะ ปรัชญา Philosophy หรือเพราะมันเป็น Logic ได้หรือเพราะมันเป็นหลัก Philosophy ก็อย่าเชื่อ ไม่ยอมเชื่อด้วยเหตุที่ว่าเข้ากันได้กับสองหลักนั้นโดยวิธีคำนวณ Induction คำนวณออกตาม ไม่เชื่อเพราะมันเข้ากันได้กับหลัก Logic หรือ Philosophy ที่เขาใช้กันอยู่ เราไม่เชื่อ ถ้าเชื่อก็เป็นไสยศาสตร์ เราจะเอามาใคร่ครวญดูก่อนว่ามันจะดับทุกข์ได้หรือไม่ ถ้าดับทุกข์ได้เราลองดูก่อน ถ้าดับทุกข์ได้เราค่อยเชื่อ อย่างนี้จะเป็นเป็นวิทยาศาสตร์ นี่มันคือพุทธศาสตร์ อย่าเชื่อเพราะติดตามอาการของจิต คือเรียกว่ามันไปตามอาการคิดนึกของจิตตามธรรมชาติที่เรียกว่าCommonsense หนังสือบางเล่มส่งเสริมคนเราให้เชื่อ Commonsense ที่เป็นหลัก Commonsense พุทธศาสนาก็ไม่เอา เขาเรียก มา อาการปริวิตกฺเกน ไปตามอาการ ความเชื่อธรรมดาสามัญที่มันจะไหลไป แล้วก็มา มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา อย่าเชื่อเพราะว่ามันทนได้กับการพิสูจน์ขัดแย้งของเรา เรามีสติปัญญาจะพิสูจน์จะขัดแย้งอะไร มันก็ไม่ขัดแย้งมันเข้ากันได้กับความคิดของเราหมดนี่ก็ยังไม่เชื่อ แล้วก็เพราะครูพูดน่าเชื่อ มา ภพฺพรูปตาย ดูท่าทางผู้พูดมันน่าเชื่อ เราก็เชื่อเพราะท่าทางน่าเชื่อ อย่างนี้มันไม่ใช่พุทธหรอก มันเป็นไสยไปอีกแล้ว หรือข้อสุดท้ายว่า มา สมโณ โน ครูติ เพราะว่าสมณะผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา เป็นสมณะด้วย ไม่ใช่ชาวบ้านด้วยกัน เขาเป็นพระเป็นสมณะเป็นบรรพชิต เป็นครูของเราและเขาพูดออกมา ท่านก็บอกไม่ต้องเชื่อ ยังไม่เชื่อ ก็รวมทั้งพระองค์เองด้วย แม้พระองค์เองจะเป็นผู้ชี้ผู้พูด และพระองค์เองก็เป็นครูของเรา ท่านก็ยังเปิดโอกาสไว้ว่าอย่าเพิ่งเชื่อ ยังไม่ต้องเชื่อ เอาคำพูดนั้นมาใคร่ครวญดูก่อนว่ามันจะดับทุกข์ได้ไหม ถ้าดับทุกข์ได้เพราะลองปฏิบัติดู มันดับทุกข์ได้จึงค่อยเชื่อ ที่นี้ไม่เชื่ออย่างงมงาย ถ้าเชื่องมงายเป็นไสยศาสตร์ ไม่เชื่องมงายเป็นพุทธศาสตร์ นี่คือตัวกาลามสูตร เคยได้ยินแต่ชื่อโดยและไม่รู้เรื่องโดยละเอียดใช่ไหม เคยได้ยินคำว่ากาลามสูตรแต่ไม่รู้ว่าเนื้อแท้ของเรื่องนั้นเป็นอย่างไร เนื้อแท้ของเรื่องเป็นอย่างนี้ อย่ารับสิ่งที่เขา ที่แสดงออกมานั้นทันทีโดยเหตุ ๑๐ อย่าง โดยเหตุที่ว่าเขาพูดต่อๆกันมาก็ไม่เอา เขาปฏิบัติต่อๆกันมาก็ไม่เอา เขาลือกันอยู่กระฉ่อนก็ไม่เอา มันเขียนอยู่ในตำราก็ไม่เอา มันถูกต้องตามหลักของ Logic ก็ไม่เอา มันถูกต้องตามหลักของ Philosophy ก็ไม่เอา มันถูกต้องตาม Commonsense ก็ไม่เอา มันทนได้ต่อสติปัญญาของเราเท่าที่เรามีอยู่ก็ไม่เอา ผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อก็ไม่เอา สมณะนี้เป็นครูของเราก็ไม่เอา ๑๐ ข้อนี้ ไม่งมงาย ไม่มีความงมงายเหลืออยู่ ถ้าทำตามนั้นมันเป็นงมงาย มันเป็นไสยศาสตร์ มันโง่ มันงมงาย ทำให้ดี ๑๐ ข้อนี้ ก็อยู่เป็นพุทธศาสตร์ นี่เรียกว่ากาลามสูตร จะทำให้เราเป็นพุทธศาสตร์ เพราะมีวิชชา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่นผู้เบิกบาน ไม่ใช่ผู้หลับ เขาว่าอย่างไรเชื่อหมดนั้นมันคนหลับ เพราะว่าอย่างไร มาคิดดู มันมีเหตุผลหรือไม่ ทดลองดูว่ามันจริงเท่านั้นหรือไม่จึงจะเชื่อ นี่ความเชื่อของพุทธบริษัท ไม่เชื่องมงาย ไม่เชื่อทันที แต่เชื่อหลังจากได้พิสูจน์ทดลองแล้ว เพราะฉะนั้นหลักธรรมะในพุทธศาสนาจึงเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ปรัชญา ไม่ใช่ Logic ไม่ใช่ไอ้พวกที่มันต้องอาศัยแต่การคำนวณ ผู้ที่เป็นพุทธบริษัทจะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต พระพุทธเจ้าท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์ จอมเลิศ จอมยอด มีธรรมะแสดงให้เห็นจริง เข้าใจได้จริง พอจะเห็นได้จริงว่าดับทุกข์ได้จริง ไปปฏิบัติตามเข้ามันก็ดับทุกข์ได้จริง เป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องศรัทธา ไม่ใช่เรื่องคำนวณ คาดคะเน
ท่านพุทธทาส : นี่กาลามสูตร ๑๐ หัวข้อใครจำได้ ใครจำได้ ๑๐ หัวข้อ ใครจำได้ทั้ง ๑๐ หัวข้อ เอ้า,ว่าสิ
อาจารย์ : มา อนุสฺสเวน อย่าเชื่อโดยฟังตามกันมา, มา ปรมฺปราย อย่าเชื่อโดยประพฤติติดตามกันมา, มา อิติกิราย อย่าเชื่อโดยถือข่าว ,มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าเชื่อโดยนึกเดาเอา ,มา นยเหตุ อย่าเชื่อโดยคาดคะเน ,มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าเชื่อโดยติดตามอาการ ,มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา อย่าเชื่อโดยเพ่งพินิจว่าถูกกับความคิดเห็นของตนเอง ,มา ภพฺพรูปตาย อย่าเชื่อโดยคิดว่าผู้พูดควรเชื่อได้ ,มา สมโณ โน ครูติ อย่าเชื่อโดยคิดว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา
ท่านพุทธทาส : ท่องจำให้ได้ก่อน ใครจำได้ ใครจำได้อีก ใครจำได้อีก หรือมีคนเดียวเท่านั้น ก็มีเรื่องที่ต้องบอกว่า มา ตกฺกเหตุ แต่ก่อนท่านแปลกันว่า เดา มา นยเหตุ คือ คาดคะเน แต่ความหมายนั้นมากกว่านั้น เพราะสมัยนั้นท่านไม่มีคำว่าตรรกะใช้ ไม่มีคำว่า Logic ใช้ ไม่มีคำว่า Philosophy ใช้ ก็น่าเห็นใจท่าน เมื่อพระบาลีในพุทธศาสนาเข้ามาสู่เมืองไทยตอนแรกๆท่านแปลได้อย่างนั้นก็ดีถมเถไป แปลตรรกะว่าเดา นัยยะว่าคาดคะเน แต่เดากับคาดคะเนนี้ไม่ทิ้งกันหรอก แต่ตรรกะมันมีเหตุผล มีวิธีใช้เหตุผลอย่างหนึ่ง นัยยะก็มีวิธีใช้เหตุผลอีกอย่างหนึ่ง คือทำวิธี Philosophy เดี๋ยวนี้พวกอินเดียซึ่งเป็นเจ้าของภาษาแท้ๆเขาแปลอย่างนี้ทั้งนั้น ตกเหตุ ก็คือ Logic นัยยะเหตุ คือ Philosophy นี่แปลว่าเราไม่รับระบบ Philosophy เอามาสำหรับเป็นเหลักเกณฑ์ สำหรับเชื่อ ทั้งโลกเขายอมรับระบบ Philosophy อะไรก็อ้าง Philosophy อะไรก็อ้าง Philosophy นี่มันขัดกับหลักในพุทธศาสนา เป็นอาจารย์หรือเปล่าที่ท่องได้ เป็นอาจารย์ เป็นอาจารย์สอนอยู่หรือเปล่า สอนอยู่ที่วิทยาลัยไหน มากับคณะนักศึกษาเหรอ เป็นอาจารย์สอนอยู่ด้วย ขอประกาศว่าดีกว่าพระหลายๆสิบองค์ที่เขาจำไม่ได้ พระที่นั่งอยู่ทีนี่หลายองค์จำไม่ได้ เพราะดูถูกพระพุทธเจ้า ไม่ยอมจำหลักเกณฑ์สำคัญของพระพุทธเจ้า ขอยกให้อาจารย์เป็นผู้ที่มีประโยชน์ที่สุดที่ช่วยสืบอายุพระศาสนา ๑๐ คำเท่านั้นจำไม่ได้
มา อนุสฺสเวน ,มา ปรมฺปราย ,มา อิติกิราย ,มา ปิฏกสมฺปทาเนน ,มา ตกฺกเหตุ ,มา นยเหตุ ,
มา อาการปริวิตกฺเกน ,มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา ,มา ภพฺพรูปตาย ,มา สมโณ โน ครูติ
นี่คุณไปหาที่ไหน ประชาธิปไตย ไม่มีในโลกนี้ ที่ให้อิสรเสรีภาพแก่สาวกแก่ผู้ฟังเหมือนพระพุทธเจ้าไม่มี ที่เป็นไทยนับถือพุทธศาสนา ตรงกับความหมายคำว่าไท ไทไท ไทแปลว่าอิสระ ถือพุทธศาสนา ที่เป็นพุทธศาสตร์ ถ้าเป็นไสยมันเป็นทาส ถ้าเป็นไสยศาสตร์มันเป็นทาส เป็นทาสของความคิด เป็นทาสของความรู้ เป็นทาสของความเชื่อ เป็นทาสของความงมงาย เราควรจะภาคภูมิใจที่ว่าเป็นไท อิสระ ได้รับหลักการอย่างเป็นอิสระของพุทธเจ้าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทธะแปลว่า ตื่น ไสยยะแปลว่าหลับ อย่าทำอะไรด้วยวิถีแห่งความหลับ หรือหลับอีกต่อไป ช่วยบอกเพื่อนกันเสียด้วยให้ชำระเรื่องนี้มันไปหมด เดี๋ยวนี้ไม่มีกระดาษจด ก็จดตามหนังสือหนังหาจากครูอาจารย์ที่ท่านจำได้ก็ได้ ๑๐ หัวข้อนี้ คือหัวใจพุทธศาสตร์จะคุ้มครองเรา ไม่ให้ตกลงไปในความโง่ ไม่ให้ตกลงไปในเหวแห่งความงมงาย ความเชื่องมงาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องละอันแรกที่สุดในการที่จะละจากปุถุชนไปเป็นพระอริยเจ้า ละจากความเป็นทาสของความโง่ไปสู่อิสระของปัญญา ต้องอาศัยหลักของกาลามสูตรทั้ง ๑๐ ประการนี้ จะทำให้เรายิ่งมองเห็นว่า เราจำเป็นที่จะต้องมีพุทธศาสนาที่ถูกต้องที่เป็นพุทธศาสตร์ ที่ไม่เป็นไสยศาสตร์
เดี๋ยวนี้ปัญหามันมีเฉพาะหน้าอยู่ว่ามันถือไสยศาสตร์ พุทธศาสตร์ปนกันมาตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่เด็กๆ จะแยกออกได้อย่างไร จะแยกออกได้อย่างไร เราถือมาจนเป็นนิสัย ถือพุทธศาสตร์ปนไสยศาสตร์ ถือพุทธศาสตร์แต่ไปเชื่อผีเชื่อเทวดา เชื่ออะไรที่ไม่ใช่พึ่งตนเอง อย่างนี้มันเรียกว่ามันมาแต่อ้อนแต่ออกแล้ว เขาสอนกันมาผิดๆ พูดแล้วมันก็กลายเป็นอะไร มันจะเนรคุณพ่อแม่ พ่อแม่สอนให้เราเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก นี่แหละความผิดพลาดของวัฒนธรรม แต่มันก็ลำบากนะที่ว่าสัญชาตญาณของสัตว์มีชีวิตมันมีรู้สึกพึ่งผู้อื่น ให้ผู้อื่นช่วยอยู่มาก การสอนให้พึ่งผู้อื่นนี้มันง่าย มันเข้ารูปกับสัญชาตญาณ คือความกลัว ต้องการให้ใครช่วย ฉะนั้นทุกคนไม่ว่าชนชาติไหน เด็กๆลืมตาขึ้นมาในโลกก็ถูกมอบมรดกไสยศาสตร์ เชื่อผู้อื่น พึ่งผู้อื่น หวังความช่วยเหลือจากผู้อื่นอย่างน้อยจากพ่อแม่นั่นเอง เด็กๆไม่มีโอกาสจะคิดช่วยตัวเอง เพราะเขาต้องพึ่งพ่อแม่ พ่อแม่ช่วยตลอดเวลา เลยฝังนิสัยต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น จึงเป็นการยากที่จะมานับถือพุทธศาสนากันเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่ยอมเปลี่ยนก็เป็นอย่างนั้นแหละ เป็นปุถุชนอยู่ที่นั่นจนตายไป แต่ถ้าต้องการจะเป็นพุทธบริษัทออกมาเสียได้ มันต้องเปลี่ยนความคิดเห็นเลื่อนขึ้นมา เลื่อนขึ้นมาจนถึงระดับที่ตัวเองเป็นที่พึ่งด้วยการกระทำของตัวเอง เขาเรียกว่าเชื่อกรรมก็ได้ เชื่อหลักธรรมะ เอาธรรมะเป็นตัวเอง เป็นที่พึ่งแก่ตนเอง นี่มันก็จะแก้ปัญหาได้มากแหละ เราจะไม่ต้องหวาดกลัวอย่างงมงาย ไม่ต้องอ่อนแอ ไม่กล้าคิดที่จะพึ่งตัวเอง ช่วยตัวเอง คงจะไม่มีใครเอากาลามสูตร ๑๐ ข้อกลับไปโรงเรียน คงทิ้งอยู่ที่นี่หมด พอกลับไปถึงแล้วช่วยสอบกันดูด้วยนะ ว่าใครพาไปได้บ้าง ถ้าลืมไปก็ไปค้นในตำรา ค้นในหนังสือหนังหา ถามครูบาอาจารย์ที่เขารู้ เอาไว้ให้มันแจ่มแจ้งอยู่ในใจดีกว่า ถือว่าเป็นของโปรดปรานโปรดประทานของพระพุทธเจ้าโดยตรงเลยทีเดียว จะทำให้เราเป็นพุทธร้อยเปอร์เซ็นต์ขึ้นมา มิฉะนั้นเราจะเป็นมิใช่พุทธ เป็นไสยะ เป็นไสยศาสตร์อยู่นั่น การถือไสยศาสตร์มันก็ง่ายๆ ต้องเลื่อน เลื่อนขึ้นไป อะไร
นักศึกษา : คืออย่างหลักที่พระพุทธเจ้ากล่าวมา คิดว่าจะเอาไปใช้จริงในชีวิตประจำวัน คือการงานบางอย่างมันมาใช้ไม่ได้โดยตรง คือนำมาใช้ไม่ได้
ท่านพุทธทาส : ช่วยพูดให้ดังกว่านั้นหน่อย ไม่ได้ยินช่วยพูดดังกว่านั้นหน่อย
นักศึกษา : คือหลักที่พระพุทธเจ้ากล่าวมา ๑๐ ข้อเมื่อกี้นะครับ ผมคิดว่าในชีวิตประจำวันจริงแล้วเอามาใช้ไม่ได้ คือการงานบางอย่าง อย่างเช่นว่าในการทำงาน การตัดสินใจบางอย่างเราต้องแข่งกับเวลานะฮะ แล้วถ้าเกิดว่าเรามาเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเองหมด ผมว่ามันอาจไม่เหมาะกับการงานอย่างนั้น
ท่านพุทธทาส : ไม่ตรงจุดของเรื่อง ท่านไม่ได้ห้ามว่า ไม่ฟัง ไม่ให้ฟังใคร ไม่ให้เปิดตำรา หรือไม่ได้ห้าม แค่เพียงว่าอย่าเชื่อทันทีเท่านั้นเอง อย่าเชื่อทันทีเท่านั้นเอง ถ้าว่าเชื่อทันทีมันมีหวังที่จะผิด หวังที่จะงมงาย อย่าเชื่อเพราะมันมีเขียนไว้ในปิฎก แต่ก็ไม่ได้ห้ามว่าอย่าเปิดปิฎกหรือเปิดตำรา เรื่องนี้อาตมาถูกด่ามาเป็นกระบุงๆแล้ว เพราะไปพูดที่วิทยุว่า อย่าเชื่อปิฎก เขาก็ด่าทางวิทยุเหมือนกันว่าตัวเองนั่งเปิดปิฎกอยู่ทุกวัน ก็เราไม่ได้เชื่อเพราะมันมีในพระไตรปิฎก เราจะต้องใคร่ครวญดูว่ามันจะเป็นไปได้ไหม มีเหตุผล เป็นไปได้ไหม มันจะมีทางเป็นไปได้ไหม น่าจะเป็นได้ก็ลองดู ลองดูแล้วจึงงเชื่อ
นักศึกษา : พระคุณเจ้า เมื่อกี้ ที่บอกว่า ๑๐ ข้อ มีอยู่ข้อหนึ่งถ้าผมจำไม่ผิด คืออย่าเชื่อในสิ่งที่เขาบันทึกไว้ในตำราอะไรพวกนี้ ทำนองนี้ แล้วพระไตรปิฎก ผมคิดว่าจัดอยู่ในประเภทนี้ด้วย
ท่านพุทธทาส : ก็ถูกแล้ว ใช้คำว่าปิฎก อย่าเชื่อเพราะมันมีสมอ้าง หรือมีข้อความที่อ้างได้ในปิฎก
นักศึกษา : ก็แสดงว่าเราต้องทดลองทำก่อนใช่ไหมครับ
ท่านพุทธทาส : เราอ่านได้ เรามาใคร่ครวญได้ ถ้าเรามีหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อจะต้องผ่านทางนั้น ถ้ามีทางอื่นทำที่ดีกว่า เราก็ไม่ต้อง คือว่าไม่เป็นทาสบันทึกของคนก่อนๆ เราไม่เป็นทาสปัญญาของคนก่อนๆ เราอ่านได้ เราค้นได้ เราจะมีตำราสักเท่าไรก็ได้ แต่ไม่มีที่จะเชื่อทันทีเพราะว่ามันมีตัวหนังสืออยู่ในปิฎก
นักศึกษา : เมื่อไรจึงจะเชื่อได้หลังจากอ่านแล้ว
ท่านพุทธทาส : อ้าว, ก็อ่านดูสิ ใคร่ครวญดูว่ามันจะเป็นไปได้ตามนั้นไหม มันมีเหตุผลที่จะเป็นไปได้ตามนั้นไหม
นักศึกษา : ต้องทดลองก่อนไหมครับ
ท่านพุทธทาส : ก็ทดลอง ถ้าเห็นว่ามันจะเป็นไปได้ตามนั้นจริง ก็ทดลองดู ถ้าทดลองแล้วทำได้จริงแล้วจึงปล่อยความเชื่อ
นักศึกษา : แล้วการทดลองทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเขาทดลองมาหลายสิบวิธี
ท่านพุทธทาส : ก็ๆได้ แต่ถ้ามันไม่ได้ประจักษ์แก่เรา เราก็ยังไม่เชื่อ เพราะบันทึกทางวิทยาศาสตร์ก็มีแยะ แต่ในบันทึกนั้น มันจะมีวี่แววให้เราเห็นว่ามันจะเป็นไปได้ คือไม่เชื่อทันที ถ้าใช้คำศัพท์รวบๆ รวบรัดหมดล่ะก็ ไม่เชื่อทันทีที่ได้ฟัง ที่ได้เห็น ที่ได้อ่าน ที่ได้ ตามหลัก ๑๐ ข้อนั้นแหละ
นักศึกษา : แล้วเวลาไปสอบทำยังไงครับ
ท่านพุทธทาส : หา เวลาอะไรนะ
นักศึกษา : เวลาไปสอบครับ
ท่านพุทธทาส : สอบไล่ สอบไล่นั่นมันเป็นเรื่องวัดความจำบ้าง ความคิดเห็น การคำนวณบ้าง ก็ทำไปตามเรื่องของมัน ประเภทความจำก็ตอบให้ตรง ประเภทที่เขาวัดความคิดเห็น เชาวน์ปัญญาก็ว่าไปให้มันถูกเรื่องของที่จะใช้เชาวน์ปัญญากันนั้นหละ ทั้งนั้นทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันความงมงายอย่างเดียวเท่านั้นน่ะ
นักศึกษา : พระพุทธเจ้าก็ว่า ๑๐ ข้อกาลามสูตรที่ว่า อย่าเชื่อเพราะถูกต้องตามหลักตรรกศาสตร์ และปรัชญา ผมว่า ข้อนี้น่าจะไม่ถูกนะครับ เพราะว่าพุทธศาสนาก็เป็นศาสนาเกี่ยวกับคือเหตุผล แล้วก็ตรรกศาสตร์ก็เป็นวิชาที่เกี่ยวกับเหตุผล
ท่านพุทธทาส : เหตุผลกลวิธี วิธีใช้เหตุผลกลวิธี
(วิทยุกระจายเสียงแทรกขึ้นมา นาทีที่ 58.25 – 81.00 )
เอ้า, ต่อไปอีกๆ เขารู้จักใช้ไสยศาสตร์ควบกับพุทธศาสตร์ฟั่นเกลียวกันเลยนะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกจงมาช่วยท่านทั้งหลายเข้มแข็งในการทำหน้าที่ของตน นี่มันเป็นมาอย่างนี้ เรียกว่าฟั่นกันมา พุทธศาสตร์กับไสยศาสตร์ ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจงช่วยดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายเข้มแข็งในหน้าที่การงานของท่าน พี่พวกฝรั่งเขายังพูดตรงๆว่า ถ้าท่านไม่ช่วยตนเอง พระเจ้าก็ไม่ช่วยท่าน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องอ้อนวอนน่ะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เก๊ สิ่งศักดิ์สิทธิ์แท้จริงต้องช่วยทันที ใครทำดีทำถูกน่ะต้องช่วยทันที สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดไม่ช่วยผู้ที่ทำถูกต้องทันทีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เก๊ เคยพูดทางวิทยุอย่างนี้ไม่เกรงใจใครหลายเดือนมาแล้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ช่วยคนที่ทำดีทันที ต้องอ้อนวอนต้องจ้างผีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เก๊ อย่าเอากับมันเลย ธรรมะเท่านั้นแหละ เราประพฤติปฏิบัติเถอะจะช่วยทันที นั่นแหละสิ่งศักดิ์จริง
ขอให้ต่อไปอีกว่า วิธีการใช้เหตุผลวิธีทางใช้เหตุผลน่ะมีหลายวิธี เมื่อตะกี้พูดค้างไว้อยู่ ไม่ใช่ว่าเราจะฝากตัวใช้เหตุผลกับหลัก Logic Philosophy แล้วมันจะรอด เพราะมันมีวิธีใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ทางอื่นก็ได้ พุทธศาสนาก็เป็นศาสนาที่ยึดหลักเหตุผล แต่มีวิธีการใช้เหตุผลตามแบบของพุทธศาสนา ไม่ใช่ตามแบบของ Logic หรือแบบของ Philosophy เป็นต้น มันถูกแล้วที่ท่านยึดว่าเราจะต้องยึดหลักการใช้เหตุผลแต่ขอให้เป็นเหตุผลชนิดที่ว่า มันเป็นของจริง เป็นความจริง เป็นของจริง คือวิทยาศาสตร์ นี่นักศึกษาทั้งหลายช่วยจำไว้ด้วยว่าพุทธศาสนามีรูปแบบหลักการแห่งวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนามิได้มีรูปแบบหลักการแบบ Philosophy เป็นต้น ดูดีๆว่าทางพุทธศาสนาแล้วต้องมีเหตุผลแท้จริงเฉพาะหน้าตามหลักของวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็น Philosophy เขามีสมมติฐานไม่ใช่ของจริงมาว่ากัน สมมติฐานขึ้นมาอย่างหนึ่งแล้วใช้เหตุผลแวดล้อมไปตามทางของ Philosophy จนถึงมติสุดท้าย Conclusion เรามาถือเรื่องนี้เรามันบ้า พุทธศาสนาจะทำอย่างนั้นไม่ได้ พุทธศาสนาจะไม่วางหลักการกฎเกณฑ์ล่วงหน้า ต้องไม่เป็นการคาดคะเน ต้องทำตามหลังเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เช่นว่า จะออกกฎหมายอย่างนี้ จะออกกฎหมายล่วงหน้าก่อนมีการกระทำผิด มันก็บ้า เป็นการคาดคะเนทั้งนั้น แต่ถ้าว่ามีการกระทำผิด แล้วออกกฎหมาย ควบคุมได้แท้จริง อย่างนี้มันได้ มันใช้ได้ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัสวินัยล่วงหน้าก่อนเหตุการณ์เกิด แล้วท่านก็ไม่ได้บัญญัติการดับทุกข์ก่อนการที่มนุษย์จะมีความทุกข์ หรือรู้จักความทุกข์ ฉะนั้นเราเอาตัวความทุกข์เป็นตัวจริงสำหรับวัตถุ เป็นวัตถุสำหรับที่จะดู ใช้เหตุผลจะค้นคว้าอะไรต่างๆตามวิถีทางวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นจึงไม่มีหลักทางตรรกะ คือ นัยยะที่เรียกว่าเดาหรือคาดคะเนเลย ทีนี้มีๆๆมีข้อสงสัยอะไรอีก ว่าว่ามาให้หมดสิ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เรื่องกาลามสูตร ว่ามาให้หมด กลับไปถึงบ้านแล้วคัดลอกขึ้นมา ท่องกันทุกคนนะ อะไรๆ
อาจารย์ : คือผมมีความคิดเห็นเกี่ยวกับว่า คือตามหลักของพุทธศาสนา หัวใจของพุทธศาสนา คือให้พวกเราช่วยตนเองแล้วซึ่งปัจจุบันนี้ คนส่วนใหญ่แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่จะกำกวมอยู่ระหว่างไสยศาสตร์กับพุทธศาสนา ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เป็นสาเหตุผมเห็นว่า แม้แต่สถาบันศาสนา เช่นวัดวาอาราม พูดได้เลยว่าส่วนมากจะทำให้เยาวชนที่เข้าไปในวัด เชื่อในไสยศาสตร์ อาทิเช่น การเสี่ยงทายโชคชะตาอันนี้ครับ ซึ่งผมเห็นแทบทุกวัดเลย แล้วสิ่งนี้คือเป็นจุดเสื่อมของศาสนาพุทธที่แท้จริง นอกจากนั้นสถาบันครอบครัวก็มีส่วน ผมมีความคิดเห็นในแนวทางแก้ไขว่าทำไมเราถึงปล่อยให้สิ่งที่ไม่ใช่พุทธศาสนาที่แท้จริงหลงเหลืออยู่ในสถาบันศาสนาล่ะครับ
ท่านพุทธทาส : ที่จริงที่พูดนี้จริง บอกแล้วมันฟั่นๆแยกกันไม่ออกเลย ในโบสถ์ กลางโบสถ์ ตรงหน้าพระพุทธรูปน่ะมันก็มีไสยศาสตร์ คือมันฟั่นเกลียวในพุทธศาสตร์ เขาไปอ้างคุณพระให้ช่วยเสี่ยงทายให้ นี้มันเป็นเรื่องที่มันเป็นมาในโลกโดยที่เราไม่ควบคุมมันได้ เป็นมานาน นมนาน เรียกว่ามันพุทธปนไสย ไสยปนพุทธ มันแน่นแฟ้นอย่างนี้ แล้วคุณเห็นว่าควรจะทำอย่างไร
อาจารย์ : ความคิดเห็นผมใช่ไหมครับ ผมคิดว่าสิ่งที่น่าจะแก้ไขได้ง่ายคือสถาบันพุทธศาสนา เพราะว่าผู้ที่สืบทอดเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้านะครับ ส่วนใหญ่จะเข้าใจได้ดีกว่าสถาบันครอบครัวที่จะแก้ได้ยากกว่า คือการแก้ปัญหาต่างๆ คนที่จะแก้ได้ต้องเป็นคนที่เข้าใจปัญหา
ท่านพุทธทาส : ถูกแล้วๆตอนนี้เหตุการณ์กำลังหมุนมาถึงจังหวะที่เป็นอย่างนี้ ถึงจังหวะที่เลวร้ายอย่างนี้ คุณจะทำอย่างไรดี คิดว่าจะทำอย่างไรดี
อาจารย์ : มันต้องใช้เวลา แต่มันก็ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ครับ โดยเฉพาะสถาบันศาสนาจะเป็นตัวอย่างดีที่สุด เพราะว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเชื่อในสถาบันศาสนามากกว่าที่เราจะมา
ท่านพุทธทาส : เดี๋ยวนี้อยู่ในสภาพแบบนี้ แล้วเราเอาอำนาจอะไรไปกวาดล้างมัน พวกเราจะทำได้ ช่วยกันพูดสิ ช่วยกันปลุกระดมสิ
นักศึกษา : สังคายนาเจ้าอาวาส
ท่านพุทธทาส : เออ ก็ได้ ช่วยกันปลุกระดม นี่คือสิ่งที่ไม่ใช่พุทธศาสนา บอกกล่าวให้รู้กันทุกคน ทุกคนรู้ เอาอำนาจไหนมาสังคายนาเจ้าอาวาส อำนาจสงฆ์...
อาจารย์ : พระคุณเจ้ากราบเรียนพระสังฆราชได้ไหม
ท่านพุทธทาส : คุณเองนั่นแหละ นั่นแหละมันๆเกี่ยวกับอำนาจ เรายังไม่มีอำนาจ เราต้องสร้างฐานอำนาจในหมู่ประชาชนทุกคน หมู่ประชาชนทุกคน ให้ประชาชนลืมหูลืมตา รู้ความจริงขึ้นมา แล้วประชาชนทั้งหลายจะเรียกร้องเอง ฐานอยู่ที่ประชาชน ฐานรากอยู่ที่ประชาชน ทำฐานรากให้ถูกต้อง เรียกร้องขึ้นมามันก็จะเปลี่ยนแปลงเอง
นักศึกษา : ผมคิดว่ามันลำบาก เพราะวัดต้องขาดรายได้ไปอีก
ท่านพุทธทาส : ที่จริงมันยิ่งกว่านั้น มันยิ่งกว่านั้น พระอาศัยหม้อข้าวของประชาชนอยู่ เลยไม่รู้จะทำอย่างไร ถ้าพวกคุณรู้ พวกคุณลืมตาขึ้นมานั่นน่ะจะทำได้
นักศึกษา : เป็นไปได้ไหมครับว่าไสยศาสตร์มีส่วนเป็นจริงอยู่บ้าง จึงทำให้คนเชื่ออยู่
ท่านพุทธทาส : ไม่พอ ไม่ค่อยพอ ไม่มีน้ำหนักพอ และไม่ถูกหลักที่จะไปพึ่งผู้อื่น ถึงมันจะจริงอยู่บ้าง มันก็ มันไม่ถูกหลักที่ว่าให้พึ่งตนเอง
นักศึกษา : ผมมีข้อสงสัยก็คือว่าที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า พุทธศาสตร์กับไสยศาสตร์ ข้อแตกต่างของสองอย่างนี้ คือการพึ่งตนเองกับให้ผู้อื่นช่วยเหลือใช่ไหมครับ
ท่านพุทธทาส : นี่ก็พึ่งผู้อื่น พึ่งตนเอง
นักศึกษา : แล้วคือผมสงสัยว่า เราจะเอาอะไรมาวัดว่า ๒ อย่างนี้อย่างไหนมันดีกว่า
ท่านพุทธทาส : ในๆๆๆๆโลกนี้มันมีคนโง่มาก กับคนฉลาดมาก เราจะวัดสำหรับคนพวกไหน มันกำกวมเกินไป ว่าเราจะวัดสำหรับคนพวกไหน โดยคนพวกไหน เพื่อคนพวกไหน ก็เอาตามที่เห็นอยู่จริง ตามที่เห็นอยู่จริง การกระทำของผู้นั้นน่ะมันจะช่วยบุคคลผู้นั้น เราทำเอง เราก็กินเข้าไปเอง เราก็ได้รับประโยชน์เอง มันไม่ใช่ทำแทนกันได้ ถ้าทุกคนช่วยตัวเองโลกจะเป็นอย่างไร ถ้าทุกคนนอนรอให้ผู้อื่นช่วยโลกนี้จะเป็นอย่างไร นี่พอจะมองเห็นได้ว่าอันไหนมันจะดีกว่ากัน มันควรจะยึดถือหลักฝ่ายไหน แต่ในที่สุดมันก็ทำไม่ได้หรอกที่จะเลิกได้เด็ดขาดเดี๋ยวนี้ทำไม่ได้ เพราะอำนาจมันก้าวก่ายกัน ผูกพันกันมากเหลือเกิน เราเลยยังต้องมีกันทั้งไสยศาสตร์และทั้งพุทธศาสตร์ปนๆกันอยู่ แต่เราควรจะแยกพุทธศาสตร์ออกมาจากไสยศาสตร์ หรือแยกไสยศาสตร์ออกไปจากพุทธศาสตร์เรื่อยๆไป เรื่อยๆไป ให้มากเท่าที่จะมากได้ คีอถ้าว่าเอาไสยศาสตร์ออกไปหมดได้เลย แล้วคนโง่ก็จะไม่มีอะไรถือสิ คนที่โง่งมงายจะไม่มีอะไรถือเป็นหลัก ต้องเหลือให้คนเหล่านี้ก่อน และค่อยๆทำ ค่อยๆทำไปให้มันฉลาดขึ้นมาพร้อมๆกับที่แยกไสยศาสตร์ออกไปมากเท่าไร คนหลับกับคนตื่น พุทธศาสตร์คนตื่น ไสยศาสตร์คนหลับ มันเป็นเรื่องยึดถือของคนหลับ กว่าเขาจะตื่นมันจะสอนเขาเอง มันจะคุ้ยเขี่ยคล้ายๆสั่งสอนเขาเอง
นักศึกษา : และถ้าเขาหลับแล้ว ไม่ทำความชั่วแล้ว
ท่านพุทธทาส : แล้วมีประโยชน์อะไร แล้วมีประโยชน์อะไรที่เขาหลับจะมีประโยชน์อะไร หลับไม่ทำความชั่ว แล้วมีประโยชน์อะไร
นักศึกษา : ถ้าเขาตื่นขึ้นมา แล้วทำความชั่วล่ะครับ
ท่านพุทธทาส : ถ้าเขาตื่นนั่นคือเขารู้ เขาตื่นคือเขารู้ แล้วเขาจะทำชั่วได้อย่างไร ภาษาธรรมะก็มีว่าตื่นจากหลับ คือ กิเลส ตื่นจากหลับ คือ อวิชชา ตื่นจากหลับ คืออวิชชา
นักศึกษา : หมายความว่าคนที่ บางคนที่ไม่ทำความชั่วเพราะกลัวตกนรก อย่างนี้ถือว่าหลับไหมครับ ถ้าเขารู้มันสมเหตุสมผลว่าไม่สมควร มีนรก เขาจึงทำความดี
ท่านพุทธทาส : นั่นก็ดีสิ เพราะไม่ทำความชั่วเพราะกลัวตกนรก ถึงแม้จะมีกลิ่นไอของไสยศาสตร์อยู่บ้างก็ไม่เป็นไร เพราะว่ามันมีประโยชน์ เราไม่ได้พูดว่าไสยศาสตร์ไม่มีประโยชน์เลย เราพูดแต่ว่ามันไม่เป็นพุทธศาสตร์ หรือว่ามันยังดีน้อย ดีน้อย เอาออกไม่ได้ คุณดูเถอะ เอาออกได้อย่างไร ถ้าเราเองยังกลัวสิ่งที่ไม่รู้ว่าอะไรอยู่ สมัยคนป่าเถื่อนนู่น มันกลัวสิ่งที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นมรดกตกทอดมาจนเดี๋ยวนี้ มันก็ยังเหลืออยู่จนเดี๋ยวนี้กลัวผี กลัวสาง กลัวเทวดา กลัวฟ้ากลัวฝน กลัว มันก็ยังกลัวอยู่
นักศึกษา : คนที่เข้าทรงแล้วเอาเหล็กแทงลิ้นแทงอะไรพวกนี้ ไม่มีจริงหรือไงครับ
ท่านพุทธทาส : ก็ไปดูเองสิ
นักศึกษา : ก็เห็นมาแล้วเขาทำได้
ท่านพุทธทาส : ก็เก็บไว้ให้พวกนั้นสิ คุณจะเอาเหรอ
นักศึกษา : หมายความว่ามันไม่มี หรือมันมีกันแน่ครับ
ท่านพุทธทาส : มันก็มีสำหรับคนพวกนั้น ซึ่งเราไม่ต้องการเลย และไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะทำอย่างนั้น เป็นเรื่องเล่นกลเสียเป็นส่วนใหญ่
นักศึกษา : เรียนท่านพระสังฆราช ไสยศาสตร์ (สังคายนาธรรมะ นาทีที่ 95.20)
ท่านพุทธทาส : ไม่ทราบๆน้ำใจของท่าน ไม่ทราบน้ำใจของท่าน ต้องไปถามท่านเอง
อาจารย์ : ถามพระคุณเจ้า คือผมมีความคิดเห็นอีกอย่างหนึ่ง คือ ถ้าหัวใจพุทธศาสนาที่ว่าหลักช่วยตัวเองได้ ถ้าประชาชนชาวไทยทุกคนเข้าใจหลักนี้ ผมคิดว่าประเทศไทยจะเจริญกว่านี้มาก ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร เห็นตัวอย่างง่ายๆครับ คือผมไม่ใช่คนเห่อชาวต่างประเทศเท่าไหร่ แต่บางกรณีก็อาจจะจำเป็นบ้าง ฝรั่งบอกว่า ให้ช่วยตัวเองก่อน แล้วพระเจ้าจะช่วยท่าน สิ่งนี้ทำให้เขาดิ้นรนตัวเองทำให้เขาพัฒนากว่าประเทศไทยได้เยอะ ผมคิดว่าถ้าหลักศาสนาเราปัจจุบันนี้ มาเน้นจุดนี้นะครับ จะช่วยสังคมและเศรษฐกิจไทยได้เยอะ
ท่านพุทธทาส : ก็ถูกแล้ว ถูกแล้วที่พูดมาถูกแล้ว ช่วยตัวเองเป็นพุทธศาสตร์ เราถือพุทธศาสตร์ให้มากๆสิ แล้วก็ทำงานในหน้าที่ของเราให้สุดเหวี่ยงสิ ไม่ใช่ทำเพราะกลัวอะไร ที่ไม่รู้ว่าอะไร ไม่ต้องอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาบังคับให้ทำ เราทำของเราเองดีกว่า สรุปแล้วทำงานให้สนุก ทำงานในหน้าที่ของตนให้สนุก การทำงานนั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม เมื่อปฏิบัติธรรมก็ควรจะพอใจและก็ทำให้สนุก ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ก็มีผลงานเหลือกินเหลือใช้ไปแจกจ่ายผู้อื่นได้ เลี้ยงผู้อื่น
นักศึกษา : หลวงพ่อครับ มีบางพวกบอกว่า ลักษณะอย่างนี้เปรียบเสมือนต้นไม้ ถ้ามันมีเฉพาะแก่นมันก็อยู่ไม่ได้ มันต้องมีทั้งเปลือก ทั้งกระพี้ ทั้งแก่นนะครับ
ท่านพุทธทาส : ก็แน่สิ ก็ต้องมีแน่ๆถูกแล้ว ฉะนั้นมันยังเด็กอยู่ก็เป็นไสยศาสตร์ไปก่อน แต่อย่าเป็นเด็กจนตายละกัน เมื่อยังเป็นเด็กอยู่ มันก็ต้องเป็นไสยศาสตร์ไปก่อนช่วยไม่ได้ เดี๋ยวนี้เราจะโตกันแล้ว เราจะโตกันแล้ว ตั้งต้นด้วยไสยศาสตร์ เพราะไม่รู้อะไรเกิดมาจากท้องแม่ ไม่รู้ว่าอะไรติดมา มันก็เป็นไสยศาสตร์ออกมา แล้วค่อยๆลืมตาๆเป็นพุทธศาสตร์มากขึ้นๆ จึงจะถึงจุดสุดท้ายของมนุษย์ คือเป็นผู้ตื่น ผู้ตื่นถึงที่สุด เป็นพระอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้า ขอให้เดินตามแนวนี้ก็แล้วกัน ไสยศาสตร์ก็ใช้ป้องกันไม่ให้ทำชั่ว เอาไว้ขู่ไม่ให้ทำชั่วมันก็มีเหมือนกัน มีประโยชน์ แต่คนแต่ก่อนก็มองเห็นแล้ว เขาก็พูดไว้ให้น่ากลัว ถ้าเรากลัว ทำตามและไปในทางดีก็มีเยอะแยะๆ นี่ไสยศาสตร์ เชื่องมงาย แต่เขากล่าวไว้ถูกต้อง ไปปฏิบัติตามเข้าเป็นผลดีแก่ผู้นั้นเองนี่มีเยอะแยะ แต่เราอย่างมงายอยู่เพียงเท่านั้น ให้เรารู้ความจริงของข้อนั้นแจ่มแจ้งชัดเจนยิ่งๆขึ้นไป
ท่านพุทธทาส : เอ้า, นั้นถามต่อไป เรามีศาสนาหลายๆชนิด คือมีทั้งศาสนาพุทธ และศาสนาไสยนี่ หลายๆชนิด นี่หรือว่าเราจะมีแต่ชนิดเดียวดี มีศาสนาหลายๆชนิดช่วยกันดี หรือว่ามีแต่ศาสนาเดียวเดี่ยวดี ไม่มีใครตอบ
นักศึกษา : ท่านหมายความว่า พุทธกับไสย ๒ อย่าง
ท่านพุทธทาส : พุทธกับไสยก็ ๒ อย่าง ก็หลายชนิดแล้ว จะมี ๒ อย่างดี หรืออย่างเดียวดี
นักศึกษา : ผมคิดว่าในเมื่อคนเรามีทั้งฉลาดและโง่ ไสยนี่มันเหมาะกับคนโง่ พุทธเหมาะกับคนฉลาด
ท่านพุทธทาส : อ้าว,ถูกแล้ว ที่ถามว่ามีอย่างเดียวดี หรือมีหลายอย่างดี
นักศึกษา : ก็ควรจะมีทั้ง ๒ อย่าง
ท่านพุทธทาส : มีหลายอย่างดีกว่า เพราะโง่ก็โง่หลายระดับ ฉลาดก็ฉลาดหลายระดับ นั้นมีเผื่อเลือกหลายๆอย่างดีกว่า ศาสนาที่เขาถือพระเจ้ามีหลายๆศาสนา และไม่เท่ากันๆ ลึกซึ้งกว่ากัน โง่ๆไง่ๆก็มี ไหว้หนุมาน ไหว้วัวยังมีเลยที่อินเดีย ไหว้รูปหนุมาน ไหว้วัว เขามีโรงพยาบาลใหญ่โตมโหฬารไม่รู้กี่ชั้น แต่ว่าข้างโรงพยาบาลนั้นมีตะกรุดเล็กๆใส่รูปหนุมาน ให้คนไปไหว้ คนที่เจ็บไข้ก็หายไข้ ก็ยังไหว้รูปหนุมานอยู่ เราก็บอกไปแล้ววันก่อนในวิทยุวันอาทิตย์ที่ ๓ เดือนที่แล้วว่า มีหลายๆศาสนานะดีแล้ว จะได้เหมาะกับคนทุกๆชนิด ทุกๆชนิด เหมือนกับว่าเรามียานพาหนะทุกชนิดนี่ดี มีแต่รถยนต์แล้วมันจะไปวิ่งในทุ่งนาได้หรือ ในทุ่งนาเราก็ใช้เลื่อนลากด้วยควายดีกว่าในทุ่งนา รถยนต์วิ่งได้ที่ไหน หรือว่าถ้าเราจะมีไอพ่น เรามาขี่จับตั๊กแตนได้หรือไอพ่น มันก็ต้องมีอะไรที่เหมาะตามเรื่องของมัน ทุกเรื่องๆนั่นแหละดี นั้นก็มีศาสนาทุกรูปแบบดี แต่ขอให้เลื่อนชั้นๆเรื่อยไป อยู่ชั้นนี้แล้วเลื่อนขึ้นไป อยู่ชั้นนี้แล้วก็เลื่อนขึ้นไป ไปจนถึงชั้นสูงสุด เป็นศาสนาชั้นสูงสุด หลุดพ้นออกจากความทุกข์ทั้งปวงได้ เราอย่ารังเกียจอะไรกันเลย มีพุทธ มีคริสต์ มีอิสลาม มีพราหมณ์ มีฮินดู มีซิกข์ มี อะไรก็ตามมีกันได้ทั้งนั้นแหละ เหมาะแก่ความรู้สึกคิดนึกของตนๆเป็นชั้นๆไป แต่ขอให้เลื่อนชั้นจนดับทุกข์สิ้นเชิง ดับทุกข์สิ้นเชิงได้ก็พอ เราไม่ต้องทะเลาะกันระหว่างศาสนา เดี๋ยวนี้ก็มีปัญหาระหว่างศาสนาที่หาว่าจะเล่นงานกันคุณทราบไหม นี่กำลังมีข่าวระบือออกไป จะต้องไปทะเลาะ วิวาท แก่งแย่งทำลายกันทำไมเล่า เพราะแต่ละศาสนาก็ต้องเหมาะสำหรับคนชนิดหนึ่งๆ มันช่วยขนส่งคนออกไปสู่ข้างนอก โลก นอกความทุกข์กันทั้งนั้น และไสยศาสตร์จะหาสมาชิกได้ง่าย รู้ไหม พุทธศาสตร์นี่หาสมาชิกยาก แต่ถ้าในโลกมีความเจริญ ด้วยการศึกษามากขึ้นๆ พุทธศาสตร์จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้น ไสยศาสตร์จะลดลง นี้ฝรั่งที่เขาถือศาสนาคริสต์มาก่อน เขาหันมาสนใจพุทธศาสนามากขึ้นๆ ทั้งที่เขามีศาสนาคริสต์มาก่อน และเราไปถามเขาว่า ถ้าอย่างนั้นคุณจะถือ ๒ ศาสนาพร้อมกันเหรอ คือทั้งพุทธทั้งคริสต์ เขาบอกว่า ศาสนาคริสต์ก็ถือให้พ่อแม่ ส่วนตัวฉันนี่ถือศาสนาพุทธเอาเอง มีฝรั่งที่เขารู้สึกอย่างนี้ จึงเข้าใจว่า เมื่อการศึกษามันเจริญก้าวหน้าเฉลียวฉลาดขึ้น พุทธศาสนาก็เป็นที่สนใจของคนเหล่านั้น โดยที่เราไม่ต้องไปจ้างไปอ้อนวอนให้มาถือ เขาถือของเขาเอง ลงทุนของเขาเอง นี่พุทธศาสนาคุยโตได้อย่างหนึ่งว่าไม่ได้ลงทุนจ้างใครให้มาถือ แต่ศาสนาบางศาสนาต้องลงทุนจ้างคนให้ถือ
นักศึกษา : พระคุณเจ้าครับ แล้วก็ ตามที่หลักของพุทธศาสนาที่ว่า ให้คนเราพึ่งตนเอง ช่วยตนเอง ถ้าสมมติว่าทุกคนช่วยตัวเอง พึ่งตัวเอง ทำไมเราจำเป็นจะต้องมีศาสนาอีก
ท่านพุทธทาส : ศาสนาให้ทุกคนช่วยตัวเอง
นักศึกษา : ครับ เพราะว่า ถ้าทุกคนช่วยตัวเองแล้ว ศาสนาก็เป็นที่พึ่งของเรา ศาสนาก็กลายเป็นไสยศาสตร์ เพราะฉะนั้น เมื่อทุกคนพึ่งตัวเองแล้ว ศาสนาก็จะเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น
ท่านพุทธทาส : ถูกแล้ว แต่เดี๋ยวนี้มีศาสนาให้ทุกคนช่วยตัวเอง มีศาสนามาสอนให้ทุกคนมาพึ่งตนเอง คนเขาชอบนอนมากกว่าชอบช่วยตนเอง มีบางสิ่งมากระตุ้นว่าให้ช่วยตนเองนั่นแหละ คือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือช่วยตนเอง ช่วยตนเองได้แล้วก็ช่วยผู้อื่นได้ด้วย ธรรมะ แปลว่า หน้าที่ เราได้ฟังแต่ธรรมะ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วไม่รู้ว่าสอนอย่างไร คำสอนของพระพุทธเจ้าคือให้ทำหน้าที่ ช่วยตัวเองและผู้อื่นพร้อมกันไป
อาจารย์ : หลวงพ่อครับ ที่หลวงพ่อว่าเมื่อกี้ บอกว่า คนมีการศึกษามากจะหันหน้าเข้าหาศาสนามากขึ้น แต่หลักสูตรการศึกษาในปัจจุบันไม่ค่อยมีทางด้านศาสนาเข้าอยู่ในหลักสูตรเลยครับ คนยิ่งมีการศึกษาสูง ยิ่งไม่เข้าใจหลักของศาสนา จะเป็นไปได้ไหมครับว่าคนมีการศึกษาสูงแล้วจะเข้าศาสนาครับ
ท่านพุทธทาส : เอ้อ, นั่นๆแหล่ะ การศึกษาดึงเขาไปหาประโยชน์เสียหมด ความฉลาดของเขาไปหาประโยชน์กันหมด ไม่มาหาธรรมะ ไม่มาหาศาสนา ที่เราประชดเรียกว่า การศึกษาหมาหางด้วน ยิ่งเรียนเท่าไรยิ่งไปหาวัตถุหมด ยิ่งไปหาประโยชน์ทางวัตถุหมด เพราะการศึกษามันไม่สมบูรณ์ ถ้าการศึกษาสมบูรณ์ยิ่งเรียนก็ยิ่งค้นคว้าสิ่งดีกว่า เหนือกว่า ลึกว่า เขาก็จะมาหาธรรมะ คือมรรคผลนิพพาน แต่เขาไม่ได้มีการศึกษามากที่เป็นอิสระ เขามีการศึกษาที่เป็นทาสของวัตถุ วัตถุนิยม เราเรียกวัตถุนิยม
อาจารย์ : พระคุณเจ้าบอกว่า ศาสนาแบ่งเป็น ๒ พวกคือทางพุทธกับทางไสยนี่ แล้วอย่างพวกเซนกับพวกเต๋าจัดอยู่พวกไหนครับ
ท่านพุทธทาส : ครูต้องไปเรียนให้รู้เสียก่อนสิถึงจะจัดถูก เซนนั่นคือพุทธศาสนาแบบอะไร แบบรวดเร็ว เต๋านั้นไม่ใช่พุทธหรอก แต่มีอะไรหลายอย่างหลักการใหญ่ๆเป็นเรื่องพุทธได้เหมือนกัน เป็นเรื่องสุญญตา อนัตตามีอยู่มากในเต๋า ถ้าเข้าถึงเต๋าก็จะหมด หมดความหลงในตัวตนเหมือนกัน เพราะมันมีคำสอนคล้ายๆกัน จนต้องมาพูดล้อ ถ้าได้เต๋าแล้วก็จะเหาะได้ เหาะได้ เบาไปเลย ต้องไปศึกษาให้เข้าใจอยู่ว่ามันคืออะไร เต๋ามันศึกษาเรื่องความว่าง ส่วนเซนนั้นเป็นพุทธแต่ว่าแบบเร็ว รวดเร็ว แบบฟ้าแลบ แบบไอพ่น แต่ในที่สุด ก็ไปสู่ความไม่มีตัวตน ความไม่เห็นแก่ตน ความไม่มีตัวตน คือเต๋านั้นไม่มีใครจัดไว้เป็นพุทธหรอก เพราะเต๋าก็เป็นตัวเองอันหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าเกิดพร้อมสมัยกับบพระพุทธเจ้านะ แล้วก็สอนไม่ให้หลงใหลในความมีหรือความไม่มี ให้อยู่เหนือความมีและความไม่มีที่เรียกว่าเต๋า จะได้ผลคือ ไม่ยึดถือเป็นตัวตนเป็นของหนักได้ด้วยเหมือนกัน แต่ต่อมาศาสนาเต๋าก็เลอะเลือน เปลี่ยนเป็นผิดจากของเดิมมาก เรื่องมีกับเรื่องไม่มีที่เป็นที่ตั้งความยึดถือ คำอธิบายในเต๋าละเอียดลออดี แต่เราสู้ไม่ได้ สัสสตทิฐิ คือมี อุจเฉททิฐิ คือไม่มี ถ้าเราหลงใหลอยู่ ๒ อันนี้ละก็จะจมในกองทุกข์ อย่าหลงใหลในความมี อย่าหลงใหลในความไม่มี จิตจะหลุดพ้นจากความทุกข์ อธิบายอย่างเต๋าทันสมัยกว่า แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจ มาสนใจในพุทธกันมากกว่า
อาจารย์ : ถามพระคุณเจ้าที่บอกว่า ความมี กับไม่มี และความว่างมันต่างกันอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส : ความว่าง คือไม่ใช่ความมีกับความไม่มี นี้คือความว่าง เหนือนั่นไปอีก เหนือความมีหรือความไม่มี ความมีความไม่มีเป็นคู่กลับ กลับไปกลับมา แต่ความว่างเหนือนั่นไปอีก พูดถึงเรื่องความว่างดีไหม เวลาที่เหลือ เราก็ถูกด่าเรื่องนี้เหมือนกันมากมายก่ายกอง เรื่องความว่าง เขาว่ามันไม่มีประโยชน์ เป็นเรื่องแค่เรื่องบ้าๆบอๆ หรือเพราะเขาไม่รู้คำว่า ว่างนั้นคืออะไร ว่างคือความไม่ยึดถือ ถ้าไปยึดถืออะไรแล้วเรียกว่าไม่ว่าง ยึดถือตัวตนโดยเฉพาะ คือไม่ว่าง จิตอย่ายึดถือ หมายมั่นอะไรไว้เป็นตัวตนไว้อย่างเหนียวแน่น คือจิตอย่ายึดถือ คือจิตว่าง ถ้าจิตไปจับอะไรอยู่ กุมอะไรอยู่ มันก็ไม่ว่าง จิตนั้นก็ไม่ว่าง เหมือนมือของเราไปจับอะไรอยู่ มือก็ไม่ว่าง จิตก็เหมือนกัน ถ้าไปจับด้วยความโง่ หลงรัก หลงเกลียด หลงกลัว หลงอะไรก็ตาม มันไปจับยึดสิ่งนั้นอยู่ จิตนนั้นมันไม่ว่าง จิตชนิดนั้นเป็นทุกข์ทรมานอยู่ในตัวแล้วจิตชนิดนั้นจะไปทำประโยชน์อะไรกับใครไม่ได้ เป็นความทุกข์อยู่ในตัว ฉะนั้นทำจิตอย่าไปยึดถือสิ่งใดเป็นตัวตน คือของตน เรียกว่าจิตว่าง จิตว่างชนิดนี้เป็นสุข เป็นสุขที่สุด และเป็นจิตที่สามารถคิดนึกได้ดี ทำอะไรได้ดี เวลาทำอะไรก็ทำได้ดี ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง มันก็จะทำให้จิตใจดี นี่เขาไม่เข้าใจอย่างนี้ เขาเอาไปล้อเป็นทำนองว่า ไม่รับผิดชอบอะไร ไม่เห็นแก่ใคร เอาไปล้อกันอยู่ แต่เรารู้ว่า คนที่ล้อหรือด่า จิตว่างนี่ กำลังเป็นโรคประสาทงอมแงม ไปนอนเป็นอัมพาตอยู่ก็แยะ เพราะมันไม่รู้จักทำจิตให้ว่าง มันทำให้จิตวุ่นหมด มันนอนไม่หลับ มันปวดหัว เป็นโรคประสาทกันแยะ พวกที่ล้อจิตว่าง ไปนอนเป็นอัมพาตอยู่ก็มี เพราะจิตมันไม่รู้จักว่าง ให้จิตเป็นอิสระ ให้จิตมันปกติ มันไม่ได้ติดกับอะไรที่เป็นตัวตน จิตชนิดนั้นแหละมีความสุข จิตชนิดนั้นทำงานด้วยดี เราเรียนหนังสือด้วยจิตว่างจึงจะเรียนได้ดี แต่เมื่อสอบไล่ สอบไล่ด้วยจิตว่าง จิตอิสระ อย่า อย่ากลัวตก อย่าเห่อได้ อย่าลิงโลดเห่อได้ ถ้าจิตมันว่างจากกลัวตก ลิงโลดเรื่องได้ จิตว่าง จิตปกตินี่จะสอบไล่ได้ดี จะสอบข้อสอบได้ดี เพราะจิตมันเป็นอิสระ ถ้าจิตมันไปกลัวตกเสียแล้ว หรือมันลิงโลดที่จะได้อวดดีเสียแล้ว มันสอบไม่ได้ดี จิตว่างเป็นคำพิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนา และเอามาล้อเล่น ก็ได้ ถ้าล้อเล่นก็ได้ แต่แล้วมันจะต้องไปนอนเป็นโรคประสาทอยู่นะ คนนั้นนะ
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าตลอดเวลา ตถาคตอยู่ด้วยสุญญตาวิหาร คือความเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง สุญญตาอยู่ด้วยความว่าง จิตไม่จับฉวยอะไร เข้าใจข้อนี้ให้ดี จิตจับฉวยอะไรแล้วนะมันจะต้องมีความรู้สึกที่เป็นกิเลสทุกชนิด ความรักก็ดี ความโกรธก็ดี ความเกลียดก็ดี ความกลัวก็ดี ความอิจฉาริษยาก็ดี ความวิตกกังวลอาลัยอาวรณ์หึงหวงทุกอย่างแหละ คือมันไม่ว่าง ถ้าจิตมันว่าง มันจะไม่มีความรู้สึกเหล่านี้ที่เรามี รู้สึกดี รักมันก็ติดอยู่ที่นั่น มันไม่ว่าง เกลียดก็ติดอยู่ที่นั่นมันไม่ว่าง โกรธก็ติดอยู่ที่นั่นมันไม่ว่าง กลัวก็ติดอยู่ที่นั่นมันไม่ว่าง คือไม่อิสระ จึงเรียกว่า จิตไม่มีตัวตนไม่มีรู้สึกเป็นตัวตนที่กำลังเป็นอะไรอยู่ จิตจึงว่างพอที่จะทำหน้าที่ของจิตได้ดี มองดูอะไรก็เข้าใจได้ดี คิดนึกอะไรก็คิดนึกได้ดี จำอะไรก็จำได้ดี ทำหน้าที่ของจิตได้ดี มีพระบาลีที่ตรัสไว้พอจะเข้าใจได้ว่า ที่ว่าพระตถาคตอยู่ด้วยสุญญตาวิหาร คือจิตว่างนั้นน่ะ ท่านยกตัวอย่างว่า ทั้งวันๆนี่ต้องทำนั่นทำนี่ โดยเฉพาะต้องรับแขก แขกที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้า แขกสำคัญทั้งนั้น พระราชา มหาอำมาตย์ เป็นคนใหญ่คนโตมากมายก่ายกองทั้งนั้นแหละ พระพุทธเจ้าต้อนรับแขกเหล่านี้ด้วยจิตที่ว่างตลอดเวลา ไม่ได้มีความรู้สึกว่าเขาจะมาทำอะไรแก่เรา ไม่ได้มีความรู้สึกว่าเขาจะเอาอะไรมาถวายเรา ไม่มีความรู้สึกว่าเขาจะรักเราเกลียดเรา อะไรไม่มีความรู้สึก ทั้งที่คนมันมาก และชุลมุน มาหามาขอร้องมาทุกๆอย่าง ถ้าคนธรรมดาจิตมันผันแปรตามไอ้สิ่งแวดล้อมเหล่านั้น และมันก็ไม่ว่าง เดี๋ยวมันโกรธ เดี๋ยวมันเครียด เดี๋ยวมันอวดดี จองหอง เดี๋ยวมันอะไรต่างๆไม่ได้มีจิตว่างตลอดเวลาทั้งวันๆ ปฏิบัติหน้าที่ของพระพุทธเจ้า รบกวนโดยมหาชน นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสยืนยันอย่างนี้
อาจารย์ : พระคุณเจ้า ผมอยากถามว่า ทำอย่างไรให้จิตว่างครับ
ท่านพุทธทาส : ต้องศึกษาให้รู้ว่ามันไม่ว่างเพราะเหตุอะไร ถ้ารู้ว่ามันไม่ว่างเพราะเหตุอะไรก็จัดการอันนั้นเสีย คือมีสติพอที่จะไม่ไปหลงรักหลงโกรธหลงเกลียดหลงกลัว เพราะมองเห็นว่าทุกอย่างมันเป็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ทีนี้มีอีกคำว่า เช่นนั้นเอง คำพูดคำนี้สำคัญมากในชั้นลึก ในชั้นหัวใจของพระพุทธศาสนา ถ้าใครมองเห็นเช่นนั้นเอง จิตของคนนั้นจะว่าง จะไม่ไปจับเอาของน่ารัก น่าโกรธ น่าเกลียด น่ากลัวมาหมกมุ่นอยู่ในใจ ที่เราไม่เห็นเช่นนั้นเอง น่ารักก็รัก น่าเกลียดก็เกลียด น่ากลัวก็กลัว น่าโกรธก็โกรธ ทั้งหมดนั้นมันเช่นนั้นเอง แล้วมันเฉยไม่ได้ ฉะนัน้นศึกษาเรื่อง เช่นนั้นเอง เห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่แปลกด้วย แล้วก็ไม่น่ารัก น่าโกรธ น่าเกลียด น่ากลัวอะไร คือ จิตจะปกติที่สุด ไม่อะไรหมดแหละ เดี๋ยวนี้มันมีแต่จองหองบ้าง อวดดีบ้าง เครียดบ้าง ประมาทบ้าง เลินเล่อบ้าง ทั้งพระทั้งฆราวาสน่ะ ขอพูดตรงๆอย่างนี้ มันมีจิตเครียดอยู่ในความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งมีความหมายแห่งตัวตนของตนสำหรับรักโกรธ เกลียด อิจฉาริษยา วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ หึงหวง อาฆาตมาดร้ายต่อใคร เพราะว่าเขาไม่มองเห็นว่าสิ่งที่เข้ามานั้นมัน เช่นนั้นเอง น่ารักก็เช่นนั้นเอง น่าเกลียดก็เช่นนั้นเอง น่าโกรธก็เช่นนั้นเอง อร่อยเช่นนั้นเอง ไม่อร่อยก็เช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเอง ตามธรรมชาติไปหมดก็เลยไม่ ไม่ยึดถือ ไม่จับฉวย เมื่อไม่จับฉวยก็คือว่าง นี่เราอย่าไปหลงในผลที่มันมาล่อให้หลง ให้หลงรักหลงโกรธหลงเกลียดหลงกลัวสารพัดอย่าง จิตไม่ว่าง จิตไม่สงบ จิตไม่พักผ่อน เพราะมันโง่หลงไปในสิ่งเหล่านั้น นี่ต้องศึกษาจากจิตเอง อย่าศึกษาจากหนังสือจากบุคคลนักเลย มันไม่ค่อยรู้หรอก ไปศึกษาจากจิตเอง เมื่อเวลาจิตมันวุ่นก็ให้รู้ว่ามันวุ่น มันไม่ว่าง จิตมันวุ่นเพราะอะไรก็จับมันให้ได้ว่ามันวุ่นเพราะอะไร มีเข้ามามากๆ เดี๋ยวเข้ามาทางตา เดี๋ยวเข้ามาทางหู เดี๋ยวเข้ามาทางจมูก เดี๋ยวเข้ามาทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ๖ อย่างนี้ซึ่งเป็นปากทางให้เกิดเรื่องเรียกว่าทวาร เป็นปากทางให้เกิดเรื่อง และเป็นสิ่งใหญ่โตสำคัญมาก เรียกว่าอินทรีย์ อินทรีย์ ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทวาร ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นปากทาง แล้วมันเป็นอายตนะ คือสิ่งที่สืบต่อกันได้ สัมผัสรู้สึกกันได้ อายตนะ๖ ๖ อย่าง ๖ สิ่งนี้ ถ้าเราไม่รู้เท่าทันสิ่ง ๖ อย่างนี้แล้ว มันก็จะหลอกให้หลง หลงรัก หลงเกลียด หลงโกรธ หลงกลัว หลงสารพัดอย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่าเราไม่ว่าง ถ้าเห็นว่าเข้ามาทางตา สวยหรือไม่สวย เช่นนั้นเอง เข้ามาทางหู ไพเราะหรือไม่ไพเราะเช่นนั้นเอง เข้ามาทางจมูก หอมหรือเหม็นก็เช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเองไปหมด เลยมันไม่วุ่นวาย
นักศึกษา : ถามว่า อยู่ในช่วงที่จะสอบ
ท่านพุทธทาส : ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ไม่ได้ยิน นี่ ช่วยส่งไมโครโฟนให้ที
นักศึกษา : สมมติว่า (สังคายนาธรรมะของนักศึกษา นาทีที่ 02:01:44)
ท่านพุทธทาส : อ๋อ นั่นฟังไม่ถูกเสียแล้ว สอบไล่จบก็เช่นนั้นเอง สอบไล่ได้ก็เช่นนั้นเองใช่ไหม
นักศึกษา : คิดว่า สอบไล่ได้หรือตกก็เช่นนั้นเอง ก็เลยไม่ดูหนังสือ
ท่านพุทธทาส : ถ้ารู้สึกอย่างนั้นมันไม่มีตก เพราะจิตมันปกติที่สุด มันจะทำได้ดีที่สุดตามความรู้ที่ได้เรียนไว้ สะสมไว้ จิตที่ไม่หวั่นไหว สอบตกหรือได้จะเป็นจิตที่สามารถสอบข้อสอบไล่ได้ดีที่สุด คือไม่ประหม่าและไม่เหลิง แล้วที่บอกว่าไปเรียนจากจิตเอง อย่าไปเรียนกับบุคคลหรือจากหนังสือนักเลย ไอ้เรื่องจิตชนิดนี้ เรียนจากตัวเองจะค่อยๆรู้สึกว่าว่างคืออย่างไร ไม่ว่างคืออย่างไร ใต้สำนึกก็มี รักโกรธเกลียดกลัวอยู่ครึ่งๆใต้สำนึกก็ไม่ว่างเหมือนกัน แม้แต่ฝันร้ายนี้ก็ไม่ว่าง ที่ตั้งใจมาจากมหาวิทยาลัยมาขอศึกษาธรรมะนี่ ต้องการธรรมะข้อไหน ธรรมะอย่างไร
นักศึกษา : ที่พระคุณเจ้ากล่าวมา มักจะพูดว่าพระพุทธเจ้ากล่าวว่าอย่างนั้น กล่าวว่าอย่างนี้ ผมขอเรียนถามพระคุณเจ้า ประทานโทษพระพุทธเจ้านี้มีจริงหรือเปล่า
ท่านพุทธทาส : พระพุทธเจ้านี้มีจริงหรือเปล่า
นักศึกษา : มีตัวตนหรือไม่
ท่านพุทธทาส : แล้วนี่ที่ว่าจะมาศึกษาธรรมะนี่ คิดว่าธรรมะของใครหละ
นักศึกษา : คืออย่างนี้ครับ ผมรู้ว่าธรรมะมันก็มี แต่ว่าผมอยากทราบว่าธรรมะนี้มันมาจากไหน
ท่านพุทธทาส : ธรรมะเป็นธรรมะ มีอยู่ตามธรรมชาติ พระพุทธเจ้าค้นพบและเอาบอกมาสอน
นักศึกษา : อย่างนั้นก็แสดงว่าพระพุทธเจ้ามีจริงใช่ไหมครับ
ท่านพุทธทาส : ก็ดูเอาเองสิ มีการบอกการสอนธรรมะ แต่เรายอมให้มากกว่านั้นนะ ถ้าเป็นพุทธๆจะยอมให้ว่าไม่ต้องไปวินิจฉัยข้อที่ว่าพระพุทธเจ้าจะมีจริงหรือไม่มีจริง แต่ขอให้วินิจฉัยคำที่ว่าดับทุกข์ได้นั้นมันดับทุกข์ได้จริงหรือเปล่า ที่ท่านตรัสว่าดับทุกข์ได้อย่างไร ไปวินิจฉัยตรงนั้น ว่ามันดับทุกข์ได้จริงหรือเปล่า ถ้าเห็นว่ามันดับทุกข์ได้จริงก็พอแล้ว พระพุทธเจ้าจะมีจริงหรือไม่มีจริงจะอยู่ที่ไหนไม่ต้องไปสนใจก่อนก็ได้ ทีนี้ก็ไปสนใจที่ว่าท่านสอนให้ดับทุกข์อย่างไร ท่านสอนให้ดับทุกข์ได้ แสดงว่าเรามีจิตใจเหมือนพระพุทธเจ้า มีจริงหรือไม่มีจริงก็ดู ถ้าเรารู้เรื่องทุกข์ ดับทุกข์ได้จริง เราก็เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาทันที
เราไม่ต้องการว่าพระพุทธเจ้าจะเป็นใครเป็นอะไรที่ไหน แต่เราสนใจว่าท่านตรัสว่าอย่างไร และที่ท่านตรัสว่าดับทุกข์ได้มันดับทุกข์ได้จริงใช่ไหม จะให้ไม่มีพระพุทธเจ้าก็ได้ แต่ถ้อยคำเหล่านี้นี้มันมีอยู่ หลักเกณฑ์มันมีอยู่ ปฏิบัติตามแล้วดับทุกข์ได้จริงก็ได้ จะมีพระไตรปิฎกหรือไม่มีพระไตรปิฎก แต่ไอ้ข้อความอย่างนี้มันมีอยู่ว่าอย่างนี้ดับทุกข์ อย่างนี้ดับทุกข์ แล้วพอมาปฏิบัติก็ดับทุกข์ได้จริง เดี๋ยวนี้มีผู้สงสัยว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้มีตัวจริงก็ได้เหมือนกัน ถ้าเขาอยากจะสงสัยอย่างนั้นไปก่อน แต่เราจะขอร้องให้เขาศึกษาคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าดับทุกข์อย่างไร ถ้าเขาเข้าใจและปฏิบัติตามเขาจะได้รับประโยชน์เต็มที่เลย พระพุทธเจ้าจะมีจริงหรือไม่มีจริงก็ไม่มีปัญหา ไม่มีปัญหาอะไร แต่เขาจะได้รับประโยชน์เต็มที่เพราะดับทุกข์ได้จริง ฉะนั้นสนใจพระธรรมที่ตรัสไว้ว่าดับทุกข์อย่างไรนั่นน่ะก่อน ถ้าดับทุกข์ได้แล้วปัญหามันก็หมด พระพุทธเจ้าจะมีจริงหรือไม่มีจริงก็ไม่ใช่ปัญหาแล้ว