แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เทียนแห่งชีวิตซึ่งถ้าพบจริงก็หมายความว่าปราศจากทุกข์จริง นี่แหละครับเพราะอย่างนั้นศรัทธา
ขอขอบคุณคุณวิโรจน์ที่ให้ทรรศนะความคิดเห็นในคำว่าศรัทธาต่อท่านทั้งหลาย ท่านผู้ฟังท่านใดคิดว่าท่านจะแสดงความคิดเห็นในคำนี้อีกก็ขอเชิญนะครับ เดี๋ยวผมขอเรียนให้ทราบสักนิดหนึ่งนะครับ คือเมื่อเย็นนี้คุณไสว
ท่านพุทธทาส : ขอให้ทุกคนระลึกถอยหลังนิดว่าอาตมากำลังพูดว่าจะขึ้นปีใหม่ ต้องการให้มีความสุขหรือมีพรปีใหม่ ให้จงได้และให้มากกว่าปีเก่า การที่จะทำให้ได้อย่างนี้ก็แนะว่าให้เพิ่มมูลเหตุของความสุข ซึ่งระบุไปยังศรัทธา คำว่าศรัทธาแปลว่าเชื่อ หรือไว้ใจ หรือแน่ใจในสิ่งที่ตัวถือเอาเป็นที่พึ่ง เราถืออะไรเป็นที่พึ่ง ถ้าเราแน่ใจในสิ่งนั้นนั่นคือศรัทธา ที่ว่ามันจะช่วยให้ความยากลำบากหายไปนั้น มันเป็นอานิสงส์ของศรัทธาไม่ใช่คำแปลของศรัทธา เมื่อเรารู้จักอะไรว่าจะเป็นที่พึ่งแก่เราได้ เราจึงจะมีศรัทธาในสิ่งนั้น ที่เชื่อกรรมเราต้องรู้เรื่องกรรมว่ามันเป็นอย่างไร ที่เชื่อให้ผล การที่กรรมให้ผล เราก็ต้องรู้เรื่องกรรมให้ผล หรือว่าจะมีศรัทธาในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เราก็ต้องรู้เสียก่อนว่าท่านตรัสรู้ว่าอะไรนี่ เราจะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง เราต้องรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร มันจึงจะมีศรัทธาในสิ่งนั้นได้ นี่ขอให้คิดดูเถิดว่าเราจะมีศรัทธาในผู้ใด ในสิ่งใด ในการกระทำอย่างใดเราต้องรู้จักสิ่งนั้นจนเห็นว่ามันเป็นที่พึ่งแก่เราได้ หรืออย่างน้อยมันเป็นประโยชน์ ถ้าเรายังไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ว่าอะไร เราก็ไม่มีศรัทธาในพระพุทธเจ้าหรือในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เราต้องรู้เสียก่อนว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ว่าอย่างไร แล้วก็เชื่อว่าไอ้การทำอย่างนั้นเรามองเห็นอยู่ว่ามันดับทุกข์ได้จริง เราจึงมีศรัทธาในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แล้วก็เลยศรัทธาไปถึงองค์พระพุทธเจ้าด้วย ว่าท่านคงจะตรัสรู้อะไรถูกต้องอีกมากมาย ฉะนั้นศรัทธามันจะมาทีหลังความรู้จักสิ่งที่เราจะศรัทธาก่อนเสมอไป เราจะรู้ เราจะศรัทธาในสิ่งใดเราจะต้องรู้จักสิ่งนั้นก่อนเสมอไป และสิ่งที่เราต้องการนั่นก็คือสิ่งที่จะเป็นที่พึ่งแก่เรา พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่าธรรมะเราแสดงแล้ว คือเรื่องอริยสัจ ๔ นี่ ประตูแห่งความไม่ตายเราก็เปิดแล้ว ผู้ที่เห็นคือฟัง ฟัง ฟังพระองค์ตรัสเข้าใจ ผู้นั้นจงปลงศรัทธาลงไปเถิด ประตูแห่งอมตะเราเปิดแล้ว ผู้เข้าใจจงปลงศรัทธาลงไปเถิด ในการแสดงให้เห็นว่าอมตะนั้นเป็นอย่างไร ทีนี้อาตมาอยากจะให้มัน มัน มันครบถ้วนหมดทุกอย่างของสิ่งที่แวดล้อมเราอยู่และที่เราต้องพึ่งอาศัยมัน ฉะนั้นจึงยกขึ้นมาตั้งแต่เรื่องวัตถุ ประตู หน้าต่าง รั้วบ้านอะไรก็ตามหรือว่าคนใช้ หรือว่ารถยนต์ หรือว่าอะไรที่เราจะต้องไปเกี่ยวข้องเอาประโยชน์จากมัน พึ่งพาอาศัยมัน เราต้องรู้จักสิ่งนั้น ครั้นเรารู้แล้ว เราจึงเชื่อว่ามันจะทำประโยชน์ให้แก่เราได้ ถ้าเรายังไม่รู้เราก็ไม่เชื่อมัน ไม่ไว้ใจมัน ฉะนั้นจะปลงศรัทธาลงไปนั้นจะต้องปลงลงไปในสิ่งที่เรารู้จักดี ถ้าไม่อย่างนั้นมันไม่เกิดหรอก ถ้าบังคับให้เชื่อ มันก็ไม่ใช่ศรัทธาในที่นี้ มันเชื่อโดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรนั้นมันเป็นไปไม่ได้ คงไม่มีใครเชื่อหรือไม่มีสัตว์ตัวใดจะเชื่อในสิ่งที่ตัวไม่รู้ว่าเป็นอะไร ฉะนั้นจะต้องรู้ว่าเป็นอะไรเสียก่อน อย่างน้อยก็รู้ว่ามันจะเป็นที่พึ่งแก่เราได้อย่างไร มันจึงจะปลงศรัทธาลงไปในสิ่งนั้น ทีนี้ต้องการจะแนะในจุดที่สำคัญว่าถ้ามีศรัทธาแล้วมันจะมีความสุข คือสบายใจ ที่เรียกว่าอุ่นใจ หมดความหวาดกลัว ไม่ระแวง ไม่หวาดผวาน่ะคือความสุข เดี๋ยวนี้เรานอนไม่หลับกันบ้าง ปวดหัวบ้าง เป็นโรคประสาทบ้าง เป็นโรคจิตบ้าง เพราะความหวาดผวา ความระแวง ความไม่แน่ใจในความปลอดภัยหรือชีวิตของตัว เราจึงมีความสุขสู้ สู้แมวก็ไม่ได้ ซึ่งมันไม่ปวดหัว มันไม่หวาดกลัว มันไม่เป็นโรคประสาทเพราะว่ามันไม่มีสิ่งที่มันต้องกลัว มันอาศัยความเชื่อตามสัญชาตญาณ มันก็นอนหลับแล้ว ไอ้เรามันคิดมากไปเองจนนอนไม่หลับ ไม่รู้จะปลงศรัทธาลงไปที่ไหน ฉะนั้นขอให้พิจารณาว่าถ้าเรามีความแน่ใจ ไว้ใจในสิ่งที่เราเอาเป็นที่พึ่งเมื่อไร เมื่อนั้นเราก็สบายใจหรือมีความสุข รู้จักพระพุทธเจ้าดีด้วยปัญญาจึงมีศรัทธาในพระพุทธเจ้า รู้จักพระธรรมดีด้วยปัญญาจึงมีศรัทธาในพระธรรม รู้จักพระสงฆ์ดีด้วยปัญญาจึงมีศรัทธาในพระสงฆ์
ทีนี้ปัญญานี้ ถ้ามันเป็นชั้นเด็ก ๆ มันก็ตามที่คนผู้ใหญ่เขาบอกหรือหนังสือเอามาอ่านดู นี่ปัญญานี้มันปัญญาเด็ก ๆ เพราะมีศรัทธาเด็ก ๆ มันก็มีความสุขในระดับเด็ก ๆ ถ้าปัญญาหรือความรู้เป็นเรื่องจินตามยปัญญา คือคิดด้วยสติปัญญาด้วยเหตุผล ศรัทธามันก็สูงขึ้นไป ความสุขมันก็สูงขึ้นไป ทีนี้ถ้ามันได้ปฏิบัติในสิ่งนั้น ลองดูแล้วมีความรู้ถึงที่สุดจริงแล้ว ศรัทธามันก็สูงถึงที่สุด มัน มันเกิดมาจากได้ชิมรสหรือชิมผลของการปฏิบัติต่อสิ่งนั้นแล้ว นี่เขาเรียกว่าภาวนามยปัญญา ทำให้เกิดศรัทธาในระดับสูงสุดเพราะมันได้ผ่านชิมรสของสิ่งนั้น รู้จักสิ่งนั้นดีแล้ว ฉะนั้นปัญญามีอยู่หลายระดับ ศรัทธาก็มีอยู่หลายระดับ ถ้าว่าปัญญามันถูกต้องศรัทธามันก็ถูกต้อง และความสุขนั้นมันก็ถูกต้อง ถ้าความรู้มันผิด ศรัทธามันผิด ไอ้ความสุขที่เกิดมาจากศรัทธาชนิดนั้นมันก็ผิด ดังนั้นในโอกาสที่ขึ้นปีใหม่นี้ขอให้ช่วยกันซักฟอกศรัทธาให้เป็นศรัทธาถูก โดยซักฟอกปัญญาให้ปัญญามันถูกคือเป็นสัมมาทิฐิ ทำให้ปัญญามันถูก ศรัทธามันก็ถูก เราก็มีความสุขที่ถูก ในโอกาสแห่งการขึ้นปีใหม่นี้จึงหวังว่าทุกคนจะซักฟอกความรู้ของตนให้ถูกและเลื่อนให้มันสูง ๆ ขึ้นไป ศรัทธามันก็ถูกแล้วมันสูงขึ้นไป แล้วก็รับความสุขที่ถูกที่แท้และก็สูงขึ้นไป จนกว่ามันจะถึงระดับสูงสุดซึ่งตัดกิเลสได้ หลุดพ้นได้ พอหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์แล้ว ศรัทธาก็สมบูรณ์เป็นอัตโนมัติไม่ต้องคอยระวังรักษาไม่ต้องคอยสร้างไม่ต้องคอยอะไรอีกต่อไป ใจความสำคัญมันอยู่ที่ว่าถ้าไม่มีศรัทธา จิตมันหยุด หรือสงบ หรือว่าปกติไม่ได้ มันกลัวมันหวาดระแวงอยู่เสมอ ทีนี้ชีวิตที่มันสงบได้ไม่กลัวไม่หวาดระแวงเพราะมันมีศรัทธาในสิ่งที่มันถือเอาเป็นที่พึ่ง ฉะนั้นขอให้ชำระสะสางไปตั้งแต่ทางวัตถุ วัตถุสิ่งของที่ใช้สอย กระทั่งว่าพิธีกรรม หลักการที่เรายึดถืออยู่เรื่องระบบเศรษฐกิจการเงินอนามัยอะไรก็ตามนี่ มันต้องถูกทั้งนั้น มีความรู้ถูกเชื่อว่าเป็นที่พึ่งได้ก็มีศรัทธา พอมีศรัทธาแล้วก็สบายใจ ไม่มีอะไรที่จะมาหยุดมันได้ มันก็ต้องทำได้ ถ้ามีศรัทธาแล้วมันต้องทำได้ มันจะยากเย็นสักเท่าใดมันก็ต้องทำได้เพราะมันมีความเชื่อแน่ลงว่าอันนี้มันเป็นที่พึ่งได้ ฉะนั้นขอให้ถือเอาความหมายคำว่าศรัทธาแปลว่าความแน่ใจในสิ่งที่ตนถือเอาเป็นที่พึ่ง นับตั้งแต่วัตถุสิ่งของเงินทองอะไรต่าง ๆ กระทั่งบุคคลที่แวดล้อมเราอยู่ กระทั่งระบอบปฏิบัติที่ว่าศีล สมาธิ ปัญญา นี้ถ้าเราไม่รู้จัก เราไม่มีศรัทธาหรอก เราต้องรู้จักศีล สมาธิ ปัญญาพอ เราจึงจะมีศรัทธาในศีล สมาธิ ปัญญา พอปฏิบัติได้ผลของมันแล้ว มันยิ่งศรัทธามากขึ้นไปอีก มันเป็นศรัทธาที่มาจากปัญญาที่เป็นภาวนามยปัญญา ฉะนั้นปัญญาก็ยิ่งแรงขึ้นศรัทธาก็ยิ่งแรงขึ้น ปัญญาก็แรงศรัทธาก็แรง มันก็ไปด้วยกันจนถึงระดับที่สูงสุด ขอให้มองสิ่งนี้ตามที่มันเป็นอยู่จริงตามธรรมชาติ
พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้แต่งตั้งกฎอันนี้ ท่านทรงพบว่าไอ้ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้และท่านก็เอามาบอกให้เรารู้ ว่าศรัทธาตั้งมั่นแล้วเป็นสุข สุขา สทฺธา ปติฏฐิตา ศรัทธาตั้งมั่นแล้วเป็นสุข เพราะมันหมดกลัว หมดระแวง มันหมดหวาดผวา มันแน่ใจ สาธุ สทฺธา ปติฏฐิตา ศรัทธาตั้งมั่นแล้ว สาธุ คำนี้แปลว่ายังประโยชน์ทุกอย่างให้สำเร็จ ทีนี้เรื่องมันยาว มันเหมือนกับการเดินทางยาว ๆ จงเอาศรัทธานี้เหมือนกับเสบียงสำหรับการเดินทางที่ยาว ๆ จึงมีหลักเกิดขึ้นมาว่า สทฺธา พนฺธติ ปาเถยฺยํ แม้จะเดิน เดินทางธรรมดานี้มันต้องมีความเชื่อนะว่าเราเดินไปได้โดยปลอดภัย ไม่มีโจรปล้น ไม่มีเสือกัด ไม่มี มันมีความเชื่ออย่างนี้มันจึงจะเดินไปได้ตามถนนหนทางในป่าในดงใดก็ตาม จะเดินทางไปนิพพานซึ่งมันไกลมันยากกว่าอันนี้ก็ต้องมีศรัทธาในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในศีล สมาธิ ปัญญาในทุกอย่างที่มันจะต้องเอามาเป็นที่พึ่ง ฉะนั้นศรัทธาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องพอกพูนแล้วมันจะซักฟอกด้วยปัญญา ซักฟอกให้ปัญญาถูกต้อง ปัญญาก็ซักฟอกศรัทธาแล้วก็พอกพูนปัญญามันก็เท่ากับพอกพูนศรัทธา มันก็จะเพิ่มศรัทธาขอให้ไปเพิ่มปัญญา อย่าไปเพิ่มปัญญา อย่าไปเพิ่มศรัทธาล้วน ๆ มันจะตาบอด มันจะเป็นไปไม่ได้ ไปบังคับให้มันเชื่อโดยไม่รู้จักสิ่งนั้นก็เหมือนกับว่าไปด้วยความบอดมืด เหมือนกับว่าถูกหลอกให้เชื่อนั้น มันก็ไปด้วยความมืดบอด เรียกว่าสอนกันมาผิด เด็ก ๆ มีความเชื่อผิด มันก็เดินไปด้วยความมืดบอด ฉะนั้นช่วยกันไปทำให้ลูกเด็ก ๆ มีความรู้ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งที่เราจะต้องเอาเป็นที่พึ่ง แล้วเด็ก ๆ ของเราก็จะมีศรัทธาที่ถูกต้อง เขาก็จะเดินไปได้และมีความสุข ถ้าว่าไม่แน่ใจในสิ่งที่กำลังถือเอาเป็นที่พึ่งแล้ว คนนั้นจะนอนไม่หลับ จะหวาดผวา จะเป็นบ้าและตาย ฉะนั้นชีวิตมันอยู่ได้ด้วยศรัทธาที่หล่อเลี้ยงความแน่ใจ ความรู้สึกว่าตัวปลอดภัยไม่ต้องกลัวนี่ ใครมันจะอยู่ได้ด้วยความกลัวมันก็เป็นบ้าตาย ฉะนั้นสิ่งที่จะระงับความกลัวคือศรัทธาที่ถูกต้อง ด้วยปัญญามันถูกต้องในสิ่งที่จะถือเอาเป็นที่พึ่ง อาตมาพูดเท่านี้ในโอกาสที่ว่าจะขึ้นปีใหม่ให้มีความสุขมากกว่าปีเก่า ให้มีพรคือความดีมากกว่าปีเก่า ขอให้ชำระสะสางศรัทธาเถิด และพอกพูนศรัทธาเถิด และจงทำลงไปที่ปัญญา ซักฟอกความรู้และก็เพิ่มพูนความรู้แล้วศรัทธามันก็จะเพิ่มพูน มันจะมาก มันจะพอใช้ในการที่จะทำให้เกิดความอุ่นใจ เป็นสุข กลายเป็นความสุขปีใหม่ที่มากกว่าปีเก่าได้ เรื่องมันมีเท่านี้ แล้วไม่รู้จะพูดว่าอย่างไรอีก อาตมาขอยุติการพูดด้วยเหมือนกัน
ฆราวาส : (นาทีที่ 16:33) ครับก็คิดว่าคงจะแจ่มแจ้งดีสำหรับการบรรยายธรรมะของท่านอาจารย์ในเรื่องส่งท้ายปีเก่าแล้วก็รับปีใหม่นะครับ ด้วยการเพิ่มพูนสติปัญญาด้วยการเสริมสร้างศรัทธาลงไปในสิ่งที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์จริงเป็นที่พึ่งจริง ผมก็คิดว่าสำหรับข้อนี้ก็คงจะเป็นที่แจ่มแจ้งเข้าใจกันดีแล้วทุกคนนะครับ เมื่อกี้ผมต้องขอโทษ ผมลืมไปสนิท ก็ขอให้ผ่านไปนะ ก็ยังมีคุณยูรซึ่งเมื่อกี้ทำหน้าที่เป็นผู้นำอภิปรายโดยให้วิทยากรต่าง ๆ ผมก็มาขอทำเสียเองและก็จะได้ขอเชิญคุณประยูร ต่อไปนี้ก็อยากจะเป็นการแสดงความคิดเห็นนะครับในเรื่องธรรมะอีกเหมือนกัน ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งคุณไสว คุณเป้งฮั้ว คุณติณในฐานะที่เป็นนักศึกษาธรรมะมาเก่าแก่นมนาน จะได้แสดงความคิดเห็นต่อจากที่เมื่อเย็นนี้นะครับ แล้วก็คุณไสวบอกว่าได้แจกชีทซึ่งคุณไสวได้ทำขึ้นเองจากความคิดเห็นจากการค้นคว้าก็จากศรัทธานั่นอีกแหละครับ เพราะว่าทำไปแล้วมันได้ผล ก็คิดว่าสำหรับผู้ที่ได้รับชีทแจกไปแล้วก็คงจะได้นำเอาชีทนั้นขึ้นมาดู มันอาจจะเป็นวิธีไม่ยากนักนะครับสำหรับที่คุณไสวได้มีประสบการณ์อันนี้มา และในการอภิปรายหรือการอธิบายนะครับ อธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ในนั้น บางทีอาจจะมีวิทยากรท่านอื่นออกมาแสดงความคิดเห็นบ้าง ก็เป็นการดีเพื่อจะให้ผู้ฟังได้ฟังในหลาย ๆ แง่ หลาย ๆ มุมนะครับ ก็เป็นการเจริญสติปัญญาและก็เสริมสร้างศรัทธาในความหมายที่ท่านอาจารย์ได้พูดไว้แล้วเหมือนกัน ต่อไปนี้ก็อยากจะขอวกเข้ารายการนะครับ ก็ผมขอเติมอีกนิดด้วยว่าทุกอย่างนะครับ ถ้าเราศึกษาหรือเราค้นคว้าให้ถูกต้องแล้วนะครับ มันจะทำให้เราเข้าใจอะไรต่ออะไรได้อย่างดีและถูกต้องยิ่งขึ้น ในความคิดเห็นของผมต่อเรื่องศาสนาหรือต่อเรื่องในการที่เราจะนำเอาวิธีการต่าง ๆ และข้อคิดเห็นต่าง ๆ มาแสดงความคิดเห็นหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ตอนนี้ผมก็ขอเชิญคุณไสวได้ต่อจากที่ได้อภิปรายไว้เมื่อเย็นนี้ แล้วก็สำหรับท่านที่มีชีทแจกจากคุณไสวก็ขอได้นำมา ถ้าหากว่าไม่มี ผมก็คิดว่าคุณไสวจะแจกอีกสักที
ฆราวาส : (นาทีที่ 19:27) คุณมนัสครับถ้าหากว่าไม่มีนะครับ ถ้าใครไม่มี คุณมนัสช่วยกรุณาแจกชีทให้ด้วยนะครับคุณไสวจะได้อธิบายไป แล้วก็ ก็คงจะเป็นสักไม่นานนะครับคุณไสว แล้วก็ควรจะเปิดโอกาสให้คุณเป้งฮั้วหรือคุณติณหรือคุณยูร คุณยูรมีอะไรไหมครับก่อนที่เขาจะเริ่มรายการใหม่นี้ คิดว่าจะมีอะไรสักนิดไหม พูดแสดงความคิดเห็น ก็ขอเชิญครับก่อนที่คุณไสวจะมา ขอเชิญคุณยูร
ฆราวาส : (นาทีที่ 20:00) คั้นเวลานิดหนึ่งนะครับระยะที่กำลังแจกชีทหรืออะไรจะอภิปรายกันต่อไป ถึงเรื่องที่ว่ายังไม่ค่อยรับความคิดเห็นไม่ตรงกันผมก็ไม่ทราบ ทีนี้เราเอาที่ว่ามันตรงกันในวันนี้กันเสียหน่อยนะครับ ตรงสุดท้ายก็คือเรื่องของศรัทธาซึ่งพระเดชพระคุณท่านอาจาย์ก็ได้สรุปปิดไปแล้วอย่างดีนั่นแหละครับ ซึ่งผมใคร่ขอฝากไว้ตอนนี้ว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องพัวพันอยู่กับปัญญาจริง ๆ ถ้าศรัทธาเฉย ๆ ไม่มีปัญญาแล้วก็ไปไม่รอด แล้วก็โดยเฉพาะเราพุทธศาสนาแล้วน่าจะให้มีปัญญานำศรัทธาไว้นะครับ ปัญญานำศรัทธาไว้ แล้วก็ปัญญาเร่งให้มีศรัทธาเพิ่มขึ้น ศรัทธาก็ทำให้เกิดปัญญามากขึ้น ใครมาก่อนอะไร ปัญญาศรัทธามาอะไรมาก่อนกัน สุดท้ายก็น่าจะให้มีปัญญาเป็นผู้นำไว้ คนเราต้องมีความรู้อะไรอย่าง ๆ ก่อนเสมอนะครับก่อนที่เราจะศรัทธาอะไร โดยเฉพาะ โดยเฉพาะทางศาสนานี้เรามักจะต้องมีความรู้เดิมไว้หน่อยว่าศาสนาพุทธเป็นอย่างไร อย่างเรามีความรู้เดิมเราตั้งแง่ไว้อย่างไร อย่างของผมเองนี้เราในฐานะที่จบหมอมาก็ไปในทางในแง่ของทางวิทยาศาสตร์ อยากจะพบของจริงที่เราเห็นได้ด้วยตาจริงเรื่องจริงของเราทั้งหมด เราจะมองเห็นอย่างนี้แหละเราถึงจะเลื่อมใส นี่เรามีความรู้ไว้อย่างนั้น เรามีความรู้ไว้อย่างนี้ก่อนว่าถ้าพบของจริงเห็นจริงพูดกันให้จริง ๆ แล้วนั่นแหละเราถึงจะเลื่อมใสและศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทีนี้คำพูดอะไรความรู้อะไรที่เข้ามาตรงกับสิ่งที่เรารู้ นั่นแหละเราก็เริ่มศรัทธาทันที นี่เป็นเรื่องจริง อย่างของผมนะครับเมื่อก่อนผมก็ไม่ได้สนใจจริง ๆ เหมือนกันพระพุทธศาสนา แต่พอดีพระเดชพระคุณท่านอาจารย์ก็ให้หนังสือไป พอดีหนังสือนั้นก็มีอบรมทุกภาษามีอยู่ปีที่เราทำเป็นคู่มือมนุษย์ย่อ ๆ ฉบับนี้ละครับ ว่าศาสนานั้นก็คือเรื่องวิชาความรู้ที่ว่าด้วยเรื่องอะไรเป็นอะไรในโลกนี้ที่เป็นจริงอยู่เสมอ ประโยคเท่านี้เองผมศรัทธาแล้วครับ เมื่อก่อนผมไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาผมบอกตรง ๆ เพราะมันไม่รู้เรื่อง ๆ ไม่รู้จะศรัทธาอย่างไร เพราะเรามันเรียนหนังสืออบรมมาด้านทางด้านวิทยาศาสตร์ก็อยากจะให้เห็นอะไรกับตาเห็นอะไรเห็นจริง เห็นจริงเห็นจริงแล้วเราจึงจะค่อยเชื่อแล้วเราทำอย่างนั้น
ท่านพุทธทาส : ต้องขอ ต้องขอเพิ่มเติมนิดถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวมันจะเข้าใจผิดว่าอย่าผูกขาดศรัทธาเอาไว้แต่ในพุทธศาสนา ศรัทธานั้นอย่าเอามาผูดขาดไว้เป็นของพระพุทธศาสนา ไอ้ศรัทธาที่ว่าเมื่อตะกี้ขอให้เป็นเรื่องของธรรมชาติ ของ ของวิทยาศาสตร์ ของจิตวิทยาทั่วไปโดยไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเลย เรา ชีวิตจะรู้สึกเป็นสุขได้เพราะเรามีศรัทธาในสิ่งที่เราถือเอาเป็นที่พึ่ง ฉะนั้นเราจะต้องมีความรู้ในสิ่งที่เราจะศรัทธา ต้องพูดให้สั้น ๆ อย่างนี้ว่าเราต้องมีความรู้ในสิ่งที่เราจะศรัทธา แล้วความรู้นั้นจะทำให้เราศรัทธาโดยปลอดภัย เราต้องรู้จักสิ่งที่เราจะศรัทธาว่ามันเป็นอย่างไร นี้เรียกว่าความรู้หรือปัญญา ไอ้ความรู้หรือปัญญานี้มันจะทำให้เกิดศรัทธา แล้วศรัทธานี้จะทำให้เกิดความเบาใจ เป็นจิตวิทยาของธรรมชาติ อย่าผูกขาดเป็นของพระพุทธศาสนาเลย แต่เดี๋ยวนี้มันมาตรงกันเข้ากับหลักในพระพุทธศาสนาซึ่งอาศัยศรัทธา มีศรัทธา มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา แล้วก็รู้เรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา ฉะนั้นศรัทธาต้องมาจากความรู้ในสิ่งที่มันจะศรัทธา ขอสรุปไว้อย่างนี้ดีกว่า ศรัทธาต้องมาจากความรู้ในสิ่งที่เราจะศรัทธา แล้วมันไม่มีทางจะผิดได้
คุณไสว : คือพระเดชพระคุณท่านอาจารย์ติงไว้ครับ คือที่ผมยกตัวอย่างเพราะผมมันมาศึกษาทางพุทธศาสนาเลยใช้คำพูดว่าพุทธศาสนาเข้าไปนะครับ พระเดชพระคุณท่านอาจารย์บอกว่าอย่าได้ผูกขาดในพุทธศาสนา คือมันมาตรงนะครับ คือเรารู้ในสิ่งที่เราศรัทธาเข้า และมันก็รู้เข้า แล้วก็มันเพิ่มศรัทธามากขึ้นสรุปแล้วก็เป็นเท่านั้นเอง ทีนี้ผมยกตัวอย่าง ยกตัวอย่างพุทธศาสนาเพราะมาศึกษาพระพุทธศาสนาเข้านะครับ ความจริงไม่ได้ ผมไม่ได้ตั้งใจ เรื่องนี้ไม่ได้จะผูกขาดเฉพาะพุทธศาสนานะครับ อะไรก็ได้นะครับที่เราศรัทธาครับ พระเดชพระคุณท่านติงไว้กลัวว่าจะมาพูด จะมาเอาวงแคบเฉพาะพุทธศาสนานะครับ นี่เป็นเรื่องที่ผมขอเน้นเพียงเท่านี้ละครับ แล้วทีนี้เราก็มาปฏิบัติมาฝึกต่อไป แล้วมันก็เพิ่มศรัทธายิ่งขึ้นแล้วเราก็ปฏิบัติยิ่งขึ้น ทีนี้จะมาให้เกิดปัญญาสูงขึ้นอย่างไรก็ตามแนวที่เราศึกษารู้ไปตามระบบที่เราศรัทธานั่นเองครับ ฉะนั้นผมก็ขอจบของผมก็เท่านี้เองนะครับ เป็นเรื่องจากประสบการณ์ในชีวิตของผมที่ได้เข้ามาเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็กำลังจะเดินทางต่อไป อย่างที่ผมว่าละครับ ว่าบางครั้งมันหนักที่เราจะต้องต่อสู้กิเลส มัน มัน มันหนักเหมือนกันนะครับ ฉะนั้นต้องศรัทธาให้เก่งกล้าจริง ๆ นี่ก็เป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนควรจะเพิ่มกันทุกปี ๆ ๆ นี่ ไอ้เรื่องนี้ผมพูดด้วยใจจริงครับเพราะว่าแหม, มันเหมือนกับไฟกับฟางละครับมันโอกาสจะไหม้กันง่าย ๆ ถึงแม้ฟางเปียกก็จริงแต่ว่ามันโดนใกล้ไฟเรื่อย ๆ ฟางมันก็แห้งไหม้ได้จริง ๆ เพราะฉะนั้นอย่าทำเล่นนะครับเพราะว่าศรัทธานี้แหละจะช่วยได้ต่อไป และก็นำมาซึ่งความสุขให้แก่เราด้วย แล้วคนละสุขกับสุขเวทนาที่ผมขอเสริม ผมขอเติมกับทางคุณวิโรจน์อีกสักครั้งหนึ่งนะครับ สุขจากศรัทธาอันนี้มันสบายใจจริง ๆ มันต่างกับสุขเวทนาที่เราหันไปทางสุขความรู้สึกทางสัมผัสนั่นอีกเรื่อง ผัสสะอีกเรื่องนะครับ เอาละครับตอนนี้รายการอาจารย์ไสว ขอเชิญครับ ผมขอจบเพียงเท่านี้
อาจารย์ไสว คือผมก็แหม,ศรัทธาเหลือเกินต่อพระพุทธศาสนานี่นะครับ ท่านทั้งหลายที่รู้ประวัติก็คงทราบดีถึงกับยืนพูดอยู่ที่โคนต้นอโศกวัดมหาธาตุนั้น ๑๐ ปีเต็ม ทุกเสาร์ทุกอาทิตย์ตั้งแต่เช้ายันเย็นนะครับ ทีนี้ก็เมื่อมันรู้จักพุทธศาสนามากขึ้นนะครับ ศึกษาคำสอนท่านอาจารย์มากขึ้น ผมก็เห็นว่าพอจะมีวิธีไหนนะที่จะทำให้คำสอนของพระอาจารย์ที่ ของท่านน่ะว่าท่านพูดง่าย ๆ แต่พวกเรามันจะฟังยากนะครับ โดยเฉพาะคนมารับฟังใหม่ ๆ ให้เข้าใจง่าย ผมก็มีหน้าที่จะทำคำสอนท่านให้ง่ายเข้านะครับ เพราะเรื่องโลกุตรธรรม เรื่องนิพพานนี่มันเป็นเรื่องลึกซึ้งอยู่นะครับ เพราะฉะนั้นผมก็ได้คิดวิธีขึ้นมา วันนี้ก็ถือโอกาสส่งความสุขปีใหม่นะครับ โดยเฉพาะผมได้พูดตอนเย็นแล้วว่าไอ้ปีใหม่ก็ต้องชีวิตใหม่นะครับ ชีวิตใหม่ก็ต้องมีทิฐิใหม่ที่เป็นสัมมา คือเป็นทิฐิหรือความเห็นที่ถูกต้อง เพราะคนเราถ้ามีสัมมาทิฐิถูกต้องแล้ว มันก็ไม่เป็นทุกข์ แล้วมันก็ไม่เบียดเบียน ไม่เบียดเบียนกัน ไอ้ที่ผมจะอธิบายขอเวลาเล็กน้อยนะครับ อธิบายนี่ที่แจกไปให้นี่ก็ ก็คือเพิ่มเติมจากที่ท่านอาจารย์ได้พูดเรื่องศรัทธา เพราะท่านได้ย้ำแล้วย้ำอีกว่าศรัทธาต้องเกิดจากปัญญาหรือสัมมาทิฐิ ถ้าหากว่ามันไม่มีปัญญาหรือไม่มีสัมมาทิฏฐิแล้ว ไอ้ศรัทธานั้นก็เหมือนคนตาบอดนะครับ เพราะฉะนั้นการที่จะมีสัมมาทิฏฐินี่สำคัญมาก สมมุติว่าเราศรัทธาต่อความสุขที่แท้จริงคือพระนิพพาน เอาละ, เราเชื่อมั่นเหลือเกินว่าพระนิพพานเป็นความสุขที่แท้จริง พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้อย่างนั้น นิพ.พานํ ปรมํ สุขํ แล้วเราก็ต้องการที่จะเข้าถึงนิพพาน แต่เราก็ต้องมีปัญญามีสัมมาทิฏฐิให้รู้เสียก่อนว่าไอ้นิพพานนั่นมันคืออะไร อย่างที่พวกเราเข้าใจกันอยู่ว่านิพพานคือตายแล้วไม่เกิด มันก็ถูกล่ะครับ เพราะว่าถ้าตายแล้วยังเกิด ยังเป็นทุกข์นะครับ ยังเวียนว่ายตายเกิด ยังเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าตายแล้วไม่เกิดก็เป็นอันว่าพ้นทุกข์ พ้นทุกข์ก็คือเป็นสุขอย่างยิ่ง แต่นี่อะไรตาย นี่อะไรตาย นี่เราจะต้องพิจารณากันอย่างนี้ครับ ผมก็ทำเป็นรูปขึ้นมานะครับ ขอให้ท่านดูรูปที่ ๑ รูปที่ ๑ นะครับ รูปที่ ๒ รูปที่ ๓ พวกหนึ่งบอกว่านิพพานก็คือชีวิตร่างกายตายนะครับ แตกสลายหรือดับสูญไปแล้ว ไม่เกิดอีกนะครับ พวกนี้เขาเรียกว่าพวกวัตถุนิยมนะครับ เห็นคนเป็นวัตถุอย่างเดียว เห็นว่าเกิดที่เป็นทุกข์คือเกิดจากท้องแม่ และก็เห็นว่าคนเราถ้าได้ตายคือสิ้นชีวิตแล้วก็หมดทุกข์ มีใครไหมครับที่ต้องการนิพพานอย่างนี้ ผมเชื่อแน่เหลือเกินว่าไม่มีใครต้องการนิพพานอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าคนเฒ่าคนแก่เรานี่สวดมนต์ไปเพื่อหวังนิพพาน แต่จะเอาจริง ๆ ไม่มีใครเอานิพพานนะครับ เพราะคิดว่านิพพานคือตายสูญ ยังอยากจะเกิดใหม่ ขอให้เกิดใหม่ ให้สวยกว่าเก่า ให้รวยกว่าเก่า เพราะฉะนั้นนี่ละครับศรัทธาจะมั่นมากน้อย มากเพียงไรก็ตาม แต่ว่าแต่ปัญญาตัวสัมมาทิฐิมันไม่มีเสียแล้ว ไอ้ศรัทธานั่นก็เป็นหมันอยู่ตรงนั้นแหละครับ ผมมีความเห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นขอบอกไว้ในที่นี้เลยนะครับว่านิพพานไม่ได้หมายถึงว่าร่างกายหรือชีวิตตายสูญ แต่ท่านเชื่อไหมครับมีชาวพุทธเป็นส่วนมากที่หลงเข้าใจผิดอย่างนี้ครับ นะครับ มีมากครับเป็นถึงคนใหญ่คนโตเคยอ่านหนังสือพิมพ์ไหมครับ ท่านเป็นถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ฯ ท่านยังคิดว่าความตายคือความดับทุกข์ ท่านยังฆ่าตัวตาย เป็นถึงรองอธิบดีกรมตำรวจท่านยังฆ่าตัวตาย มีครูอยู่คนหนึ่งจบปริญญาการอุตสาฯ ชื่อครูสำรวม ปรีชาวงศ์ มาตั้งลัทธิของแกขึ้นเลยเรียกว่าลัทธิรวมหรือรวมลิซึม ลัทธิรวมนี่สอนว่าชีวิตเป็นสิ่งชั่วร้าย ชีวิตเป็นทุกข์ แล้วการดับทุกข์ในชี ใน ในแนวทางลัทธิรวมก็คือฆ่าตัวตาย และครูรวมก็ประกาศฆ่าตัวตายเมื่อปีที่แล้ว ๙ เมษายนนะครับ แล้วถูกพี่สาวหลอกมารักษาตัวโรงพยาบาลศรีธัญญา เข้าใจว่าน้องชายเป็นบ้า มาอยู่ได้เดือน แกหนีกลับบ้านไปแล้วครับ แล้วแกยิงตัวตายไปแล้วครับ แกยิงตัวตาย แกเขียนตำราฆ่าตัวตายขึ้น ๒๐๐ วิธี ครูรวมนะครับ จบปริญญาการศึกษานะครับ แต่ในวันเผาศพนั่นคุณพ่อเอาตำราของแกเผาไปเสียด้วย นะครับ ใคร ๆ ว่าครูรวมบ้า ครูรวมไม่ได้บ้า ครูรวมไม่ได้เป็นโรคประสาท สอนเด็กดี เข้าใจดี พูดจารู้เรื่อง แต่ท่านทราบไหมว่าครูรวมเป็นโรคอะไร ครูรวมเป็นโรคมิจฉาทิฐิ โรคเห็นผิด เห็นผิดในเรื่องทุกข์ เห็นผิดในเรื่องเกิดทุกข์ จึงเห็นผิดในเรื่องดับทุกข์ โรคมิจฉาทิฏฐินี่เป็นกันทุกคนครับ ปุถุชนทุกคนเป็นโรคนี้
เพราะฉะนั้นเราจะปล่อยเอาไว้ไม่ได้เดี๋ยวก็เป็นอย่างครูรวมนะครับ อย่างที่หนังสือพิมพ์ลงทุกวันไอ้เรื่องฆ่าตัวตาย เมื่อสองวันนี่แม่เอายาพิษใส่นมให้ลูกกินไป เอ้า, ตัวเองก็กิน สถิติคนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเท่าตัวครับ เดิมนี่ ๗ คนใน ๑๐๐,๐๐๐ คน เดี๋ยวนี้เพิ่มขึ้นเป็น ๑๕ คนใน ๑๐๐,๐๐๐ คน แล้วมันเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อพระพุทธเจ้านี่สอนโดยเฉพาะเรื่องดับทุกข์ แล้วทำไมพุทธบริษัทถึงยังดับทุกข์กันอย่างนั้น นั่นก็เพราะมิจฉาทิฏฐิ เพราะความเห็นผิดนะครับ ถ้าเขาจะคิดว่าความตายความสิ้นชีวิตคือความสุขนั่นก็คือศรัทธาของคนตาบอด ไม่ใช่ศรัทธาของพุทธบริษัทซึ่งแปลว่าบริษัทของผู้รู้ ผู้รู้ถูก ผู้รู้ถูกต้องปฏิบัติถูก ที่นี้ยังมีอีกแนวหนึ่งเป็นแนวที่ผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิคือรูปที่ ๒ ท่านดูรูปที่ ๒ พวกนี้เข้าใจว่าคนเรามีวิญญาณอาศัยอยู่ในร่างนี้นะครับ ร่างกายแตกดับแล้ววิญญาณยังคงอยู่นะครับ ตายแล้ววิญญาณออกจากร่างนี้ไปเข้าร่างโน้นนะครับ รู้สึกว่าชาวพุทธเรา ๙๙% พอพูดถึงเวียนว่ายตายเกิดก็คือเวียนว่ายวิญญาณนะครับ ความจริงคำสอนนี้สอนกันมาก่อนพุทธนับพันปีนะครับ นับพันปีนะครับแต่ความจริงนี้ไม่ใช้คำสอนพระพุทธเจ้านะครับ ไอ้เรื่องเวียนว่ายวิญญาณนี่ ทีนี้เมื่อเข้าใจว่าวิญญาณมาเกิดคือการเกิดทุกข์ ก็เข้าใจว่าการทำให้ตายแล้ววิญญาณดับสูญนะครับ ทำให้วิญญาณดับสูญ ไม่ต้องเกิดอีกคือการพ้นทุกข์หรือพ้นเวียนว่ายหรือนิพพาน อันนี้ก็ผิดอีกครับ แล้วจะได้ความสุขอะไรนะครับ ในเมื่อตายไปแล้วสูญไปหมดอย่างนั้น จะได้ความสุขอะไร แล้วมันจะเป็นประโยชน์อะไรในเมื่อพระพุทธเจ้าบอกว่านิพพานเป็นปรมัตถประโยชน์ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งนะครับ เพราะฉะนั้นไอ้แนวที่เข้าใจว่าเวียนว่ายวิญญาณ แล้วตาย แล้ววิญญาณดับสูญคือนิพพานก็ผิดอีกครับ แนวนี้ก็ทำให้คนฆ่าตัวตายเหมือนกันครับ อย่างจะเห็นว่าหนุ่มสาวรักกันนี่ ถ้าถูกผู้ปกครองกีดกันไม่ให้สมหวังแล้ว เช่นนัดกันไปเช่าโรงแรมกินยาตายนะครับ แล้วเขียนไว้ในจดหมายว่าถ้าชาติหน้ามีจริงนะครับ ชาติ ชาติในที่นี้หมายถึงชาติในความหมายของวิญญาณ ไม่ใช่ชาติในความหมายของพุทธศาสนาที่เป็นสัมมาทิฏฐิเดี๋ยวจะ ผมจะได้พูดต่อไป เพราะฉะนั้นคนเชื่อเรื่องวิญญาณนี่ฆ่าตัวตายเหมือนกันนะครับ อยู่ไปทำไมชาตินี้ลำบาก เราทำบุญมาขนาดนี้ ท่านบอกว่าทำขนาดนี้ต้องตายขึ้นสวรรค์ชั้นดุสิต กินของพิษแล้วจะอยู่ลำบากทำไม ฆ่าตัวตายไปขึ้นสวรรค์ไม่ดีหรือนะครับ เพราะฉะนั้นฆ่าตัวตายเหมือนกัน แล้วถูกหลอก พวกเชื่อวิญญาณถูกหลอกเรื่อย ทรงเจ้าเข้าผีเต็มบ้านเต็มเมืองอยู่ทุกวันนี้นะครับ ซึ่งมันควรจะหมดไปแล้วนะครับ ไม่ควรจะมีในเมืองพุทธ แต่มันก็ยังคงมีอยู่ไม่สิ้นซาก เพราะความเข้าใจผิดของพุทธบริษัทเราเองนะครับ ทีนี้ทั้ง ๒ แนวนี่นะครับไม่ใช่พุทธศาสนานะครับ ก็เหลือแนวที่ ๓ นะครับขอให้ท่านดูรูปที่ ๓ นะ รูปที่ ๓ นั่นเราจะต้องเข้าใจว่าคนเรานั้นจะต้องแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนนะ คนเป็น ๆ นี่จะต้องแบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนที่ ๑ ก็คือร่างกายนะครับที่เรียกว่ารูป คือร่างกายนะครับ ส่วนที่ ๒ ก็คือจิตนะครับเป็นธรรมชาติรู้ได้ และส่วนที่ ๓ ที่เกิดขึ้นกับจิตก็คือกิเลส ถ้าภาษาธรรมเขาเรียกว่าเจตสิก รูป จิต เจตสิกนะครับ ทีนี้เมื่อเราแบ่งคนเป็น ๓ ส่วนอย่างนี้แล้วก็จะเข้าใจในคำสอนพระพุทธเจ้าได้ทันทีว่า เกิดที่เป็นทุกข์นั้นคือเกิดกิเลส ซึ่งเป็นเจตสิกเกิดขึ้นกับจิตนะครับ ไม่ใช่เกิดจากท้องแม่ตามแนววัตถุนิยมและไม่ใช่เกิดวิญญาณตามแนววิญญาณนิยม แต่เป็นการเกิดกิเลสขึ้นกับจิตนะครับ อย่างที่พุทธภาษิตท่านตรัสว่า จิตฺเต สงฺกิสิฏเฐทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา แปลว่าถ้าจิตเศร้าหมองคือมีกิเลสต้องเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นการทำให้พ้นเวียนว่ายในพุทธศาสนาหรือนิพพานในพุทธศาสนาก็คือการทำกิเลสให้หมดไปนะครับ กิเลสมันจะเกิดขึ้นตรงผัสสะคือตรงเห็นรูป ได้กลิ่น ได้รส ได้ยินเสียงอะไรก็แล้วแต่นะครับ ถ้าผัสสะด้วยอวิชชามันก็จะเกิดกิเลสนะครับ และถ้าผัสสะนั้นยังมีอวิชชาอยู่ทุกครั้ง มันก็จะเกิดกิเลสขึ้นทุกครั้ง เป็นกิเลสประเภทโลภะ ชอบใจบ้างแล้วก็ดับไป พอผัสสะอีกครั้งเดียววิชชาก็เกิดโทสะบ้างแล้วก็ดับไป ผัสสะอีกครั้งด้วยวิชชาเป็นโมหะบ้างแล้วก็ดับไป ไอ้การเวียนว่ายตายเกิดของกิเลสขึ้นกับจิตนี่ละครับคือเวียนว่ายในความหมายพระพุทธเจ้า แล้วท่านก็หาทางให้เราทำกิเลสให้หมดไปโดยกำจัดที่เหตุคืออวิชชา ฉะนั้น ปฏิจจสมุปบาท
อีกตอนหนึ่งมีว่าถ้าผัสสะด้วยวิชชาคือเห็นรูปได้ยินเสียงได้กลิ่นได้รสด้วยวิชชาหาเกิดกิเลสไม่ เมื่อมันไม่เกิดกิเลสก็เรียกว่านิพพาน เพราะฉะนั้นนิพพานในความหมายของพระพุทธเจ้าก็คือพ้นเวียนว่ายตายเกิดของกิเลส เพราะฉะนั้นยังมีชีวิตอยู่ยังเป็น ๆ แต่ไม่มีกิเลสอีกแล้วภายในจิตใจ ท่านถึงบอกว่านี่ นิพ.พานํ ปรมํ สุขํ นี่แหละความสุขอยู่ตรงนี้แหละนะครับ และนิพพานในความหมายนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือเมื่อไม่มีกิเลสเบียดเบียนตนเองแล้วผู้นั้นก็ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ผู้นั้นเป็นการยังประโยชน์ถึงที่สุดแล้ว หมดแล้ว การปฏิบัติในพุทธศาสนาหมดแค่นี้พรหมจรรย์อยู่ จบแล้ว ๆ ไม่ต้องปฏิบัติอะไรต่อแล้ว ชีวิตที่ยังเหลือก็ไปประกาศพรหมจรรย์ ไปบอกวิธีแก่ผู้อื่นวิธีที่ทำจิตจนบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นรูปนี้นะครับอาจจะทำให้เรามีสัมมาทิฐิขึ้นไม่มากก็น้อย เราศรัทธาเหลือเกินต่อนิพพาน ต่อความสุขที่แท้จริง แต่ความศรัทธาของเราอาจจะเป็นหมันก็ได้ ถ้าเราเป็นมิจฉาทิฐิ เพราะฉะนั้นเราต้องมีสัมมาทิฐิเสียก่อนนะครับ ซึ่งอาจารย์ย้ำแล้วย้ำในเรื่องนี้นะครับ ทีนี้ก็รู้สึกว่าไอ้คำถามคำตอบอันนี้นะครับมันเป็นเรื่องยาว และผมมีคำตอบอยู่แล้วในหน้า ๒ นะครับ มีอยู่ในหน้า ๒ ท่านทั้งหลายก็คงไปอ่านเอาเองได้ผมก็ขอชี้แจงเล็กน้อย ทีนี้มันมีรูปอีกรูปหนึ่งนะครับคือหน้า ๔ รูปหน้า ๔ มีหลายคนด้วยกันพอพูดถึงเรื่องกิเลสแล้วก็เกิดความท้อแท้เบื่อหน่ายว่า โอ้โห, เรามันคนกิเลสหนามันจะไหวหรือนิพพานนะครับ ก็อีกละครับเราไม่ศึกษาเสียก่อนเราก็ไม่รู้สิครับ นะครับ คนที่ไม่เคยเรียนวิชาดับไฟนี่ ชาวบ้านทั่วไปถ้าเกิดไฟไหม้ขึ้นเมื่อไรแล้ววิ่งหนีทุกคน กลัวไฟนะครับ ที่เขากลัวเพราะเขาไม่รู้ แต่ผู้ที่ได้เรียนวิชาดับไฟมาแล้วเขาไม่กลัว ไฟไหม้ เขาเข้าไปให้ใกล้พยายามจะดับมันฉันใดก็ฉันนั้นครับ เราเรียนพุทธศาสนานี้เราไม่เคยมาศึกษากันเลยว่า หนึ่งกิเลสเป็นส่วนไหนของคนเราบางคนก็เข้าใจผิดเอาเนื้อหนังเป็นกิเลสบ้าง เอาอาหารเป็นกิเลสบ้าง นุ่งผ้าเป็นกิเลสบ้าง ทำการงานทางโลกเป็นกิเลสบ้าง เมื่อเข้าใจผิดก็ปฏิบัติผิด ทิ้งลูกทิ้งเมียเข้าป่าบ้าง แก้ผ้าไม่นุ่งผ้าบ้าง ไม่กินข้าวกินน้ำบ้าง เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเอาคน ๆ หนึ่งนี่มาแยกออกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้รู้ว่ากิเลสเป็นส่วนไหนนะครับ เหมือนตำรวจจะไปจับผู้ร้ายต้องรู้จักหน้าตาผู้ร้ายเสียก่อนเขาจึงจะจับได้ถูก ก็เป็นอันว่าส่วนที่หนึ่งคือรูปร่างกายหรือวัตถุทุกชนิดไม่ใช่กิเลส อย่าไปทำลายมันนะครับ อย่างที่สองจิตใจคนเราไม่ได้มีแต่ร่างกายฝ่ายวัตถุอย่างเดียว ยังมีจิตซึ่งเป็นนามธรรม เป็นธรรมชาติที่รู้ได้ จิตก็ไม่ใช่กิเลสอย่าไปดับมัน บางคนเข้าใจว่าจิตนี่แหละคือกิเลส รู้มากกิเลสมาก รู้น้อยกิเลสน้อย ถ้าไม่รู้เสียไม่มีกิเลส พวกนี้ก็มักจะดับจิตนะครับ ดับจิต ถือว่าไม่รู้เสียเลยก็ไม่มีกิเลส อันนี้ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง แนวทางของพระพุทธเจ้านั้นตรงกันข้าม ท่านบอกว่ารู้น้อยกิเลสมาก ถ้ารู้มากกิเลสน้อย ถ้ารู้ถึงที่สุดคือเห็นสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงไม่เป็นตัวตน หมดกิเลส เพราะฉะนั้นคำสอนของพระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ พุทธะคือผู้รู้ รู้ถูก รู้ถูกก็คือสัมมาทิฏฐินะครับ เมื่อรู้ถูกถึงขั้นนั้นแล้วก็ไม่มีกิเลสนะครับ ทีนี้เมื่อเรารู้ว่ากิเลสเป็นส่วนไหนของคน มันไม่ใช่รูป ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่จิต ก็เป็นส่วนที่สามครับคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิต เขาเรียกว่าเจตสิก อันนี้สำคัญมากนะครับ เราต้องแบ่งคนออกเป็นสามส่วนและจะต้องเห็นว่ากิเลสนั้นไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่รูปและก็ไม่ใช่จิต แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตนะครับ คนเราจะชั่วจะดีอยู่ที่กิเลสนะครับ ถ้ามีกิเลสชั่วเกิดขึ้น คนนั้นก็มีการกระทำชั่ว ถ้ามีกิเลสดี คนนั้นก็มีการกระทำดี ถ้าคนนั้นไม่เกิดกิเลสก็คือนิพพาน ท่านจะต้องเข้าใจให้ดีนะครับ ไอ้กิเลสกับจิตนี่ก็เหมือน ๆ น้ำนะครับ เหมือนน้ำกับสิ่งที่เข้าผสมกับน้ำ น้ำนี่ปกติใสสะอาดบริสุทธิ์นะครับ แต่ถ้าของเหม็นเข้าไป น้ำมันเหม็น ของหอมเข้าไป น้ำมันหอมนะครับ ฉะนั้นเวลาน้ำมันเหม็นน้ำมันหอม ไม่ใช่ตัวน้ำเองมันเหม็น ไม่ใช่น้ำเองมันหอม ของเหม็นเข้าไปน้ำมันถึงเหม็น ของหอมเข้าไปน้ำมันถึงหอม ฉันใดก็ฉันนั้นครับ จิตของคนนี่สะอาดบริสุทธิ์ประภัสสรมีพุทธสุภาษิตก็แสดงเอาไว้
อย่างที่ท่านอาจารย์เคยยกมาแสดง ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ นะครับ จิตนั้นประภัสสรแต่มันเศร้าหมองด้วยสิ่งที่จรเข้ามานะครับ คือสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นพอกิเลสชั่วเกิดขึ้นจิตนั้นก็ชั่ว เมื่อจิตชั่วเป็นมโนกรรมชั่ว กายกรรม วจีกรรมก็ชั่วนะครับ ถ้ากิเลสดีเข้าผสมเข้าปรุงแต่งก็เป็นมโนกรรมที่ดี กายกรรมวจีกรรมก็ดี เพราะฉะนั้นขอให้เข้าใจในเรื่องนี้ไว้นะครับว่าต้องรู้จักหน้าตาของกิเลสว่าเป็นส่วนไหนของคนเรา มีชาวพุทธเป็นส่วนมากนะครับไม่รู้ว่ากิเลสอยู่ที่ไหนนะครับ บางคนก็ไปโทษว่าไอ้เมียน่ะเป็นกิเลสนะไปเรียนธรรมะมาหน่อยกลับมาอยู่กับเมียไม่ได้แล้ว แกมันตัวกิเลส ฉันไปก่อน อย่างนี้ก็มีนะครับ เพราะฉะนั้นการรู้ผิดนี่ก็ปฏิบัติผิด เป็นผลเสียหายเหมือนกันนะครับ ทีนี้ประการที่สองเราก็จะต้องรู้ว่าไอ้กิเลสนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ปัจจุบันนี่มีทฤษฎีที่สอนเรื่องกิเลสอยู่ ๒ ทฤษฎี ทฤษฎีทั่วไปที่สอนกันอยู่ในประเทศไทยเดี๋ยวนี้นะครับคือทฤษฎีกิเลสเป็นพื้นฐานที่จิตใจนะครับ กิเลสเป็นพื้นฐานมีอยู่ตลอดเวลาที่จิตใจนะครับ เขาอธิบายว่ากิเลสนี่มันติดอยู่กับจิตใจของคนเรามาไม่รู้แต่ชาติไหน เพราะฉะนั้นคนเราที่เกิด หมายถึงเกิดจากท้องแม่นี่กิเลสนี่พามาเกิด คนที่เกิดเรียกว่ากิเลสพามาเกิดนะครับ เพราะคนที่ตายยังเป็นปุถุชนยังมีกิเลส เมื่อตายแล้วกิเลสก็ต้องพาวิญญาณมาเกิด ส่วนพระอรหันต์นั้น ท่านหมดกิเลสเมื่อตายแล้ววิญญาณย่อมดับสูญไม่เกิด เพราะฉะนั้นคนที่เกิดจากท้องแม่นี่กิเลสพามาเกิด เพราะฉะนั้นคนที่เกิดมากิเลสต้องเป็นพื้นฐานของจิตใจ กิเลสที่เป็นพื้นฐานของจิตใจนี่เป็นกิเลสละเอียดเขาเรียกว่าอนุสัยกิเลส มันจะไม่ปรากฏอะไรออกมาเลยครับนะครับ เหมือนตะกอนที่นอนนิ่งอยู่ที่ก้นน้ำนะครับ มันจะไม่ปรากฏอะไรมา แต่เมื่อจิตของเราไปกระทบอารมณ์คือกระทบรูปรสกลิ่นเสียง มันก็จะฟุ้งขึ้นเป็นกิเลสอย่างกลาง เป็นปรินิพถานะกิเลสนะครับ เช่น ฮึดฮัดอยู่ในใจนะครับ ฮึดฮัดโกรธไม่พอใจอยู่ นี่เขาเรียกกิเลสอย่างกลางนะครับ และถ้ามันรุนแรงก็ออกทางกายวาจา เช่น ไปด่าเขาไปทุบตีเขาเป็นกิเลสอย่างหยาบเรียกว่าวีติกกมกิเลส นี่ทฤษฎีที่สอนกันส่วนมากเวลานี้มีใจความสำคัญว่าคนเรามีกิเลสเป็นพื้นทางอยู่ที่จิตใจตลอดเวลาแล้วกิเลสนั้นจะค่อย ๆ พอกพูนหนาขึ้น ๆ เหมือนดินพอกหางหมู เพราะฉะนั้นพวกนี้พอได้ยินท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องจิตว่างคือว่างจากกิเลสแล้วก็ปฏิเสธเถียงคอเป็นเอ็นเลยว่าจิตมันว่างไม่ได้ จะว่างได้ต้องพระอรหันต์เท่านั้นนะครับ เพราะกิเลสมันตั้งสามชั้นนะครับ มันไม่ใช่อยู่ดี ๆ ทำให้มันว่าง จะต้องเอาศีลไปขูดกิเลสอย่างหยาบ เอาสมาธิไปขูดอย่างกลาง จะต้องทำวิปัสนาเพื่อขูดกิเลสอย่างละเอียดเป็นนิสัย เพราะฉะนั้นอยู่ดี ๆ จะทำให้จิตว่างขึ้นมาง่าย ๆ ไม่ได้ พวกนี้ไม่เข้าใจก็พาโจมตีท่านอาจารย์ บางทีก็เข้าใจผิดจิตว่างก็คือคนบ้า ๆ บอ ๆ ทำอะไรไม่ได้ เดินข้ามถนนถ้าจิตว่างก็รถชนตาย นี่ละครับเขาไม่เข้าใจ มีหลายคนเป็นคนใหญ่คนโตเพราะเขาเข้าใจทฤษฎีของกิเลสผิด แต่ทีนี้ทฤษฎีของกิเลสที่อาจารย์ค้นคว้านี่มาจากหลักฐานพระไตรปิฎกนั่นนะครับก็ไม่ใช่ท่านพูดเอาเอง อาศัยหลักในพระไตรปิฎกคือปฏิจจสมุปบาท นะครับ ปฏิจจสมุปบาทนี้คือหัวข้อธรรมที่อธิบายให้เราทราบว่ากิเลสจะเกิดขึ้นได้อย่างไรและไม่เกิดขึ้นได้อย่างไร ท่านจำไว้นะครับปฏิจจสมุปบาทเป็นหัวข้อธรรมอธิบายการเกิดกิเลสและไม่เกิดกิเลส ในปฏิจจสมุปบาทนั้นได้อธิบายไว้ว่า ถ้าผัสสะคือเห็นรูปได้ยินเสียงด้วยอวิชชา มันก็เกิดกิเลส แต่ถ้าผัสสะคือเห็นรูปได้ยินเสียงด้วยวิชชามันหาเกิดกิเลสไม่ เพราะฉะนั้นตามทฤษฎีที่อาจารย์ค้นคว้ามาจากพระไตรปิฎกที่แท้จริงนั้น ท่านบอกว่าปกติคนเราไม่ได้มีกิเลสอยู่เป็นพื้นฐานที่จิตใจนะครับ แต่กิเลสมันจะเกิดตรงผัสสะคือตรงเห็นรูปได้ยินเสียง เฉพาะผัสสะด้วยอวิชชาเท่านั้น เพราะฉะนั้นขอให้ท่านดูรูปที่ผมทำไว้จะเข้าใจได้ง่ายนะครับ ไอ้เส้นดิ่งที่ลากสัมผัสวงกลมนั้นคืออารมณ์ หรือ รูป รส กลิ่น เสียง แล้วจิตวงกลมข้างในก็มีลูกศรโยงออกมากระทบคือรับรู้หรือสัมผัส ถ้าหากว่ามันกระทบด้วยอวิชชามันก็จะเกิดกิเลส กิเลสผมก็ทำเป็นรูปสามเหลี่ยมขึ้น แต่ถ้ามันผัสสะด้วยวิชชา มันก็หาเกิดกิเลสไม่ เมื่อมันไม่เกิดกิเลสจิตนั้นก็ว่าง ดูรูปก็จะเข้าใจง่ายครับ ไอ้ว่างในที่นี้ก็คือว่างจากกิเลส เพราะฉะนั้นปุถุชนทั่วไปนี่ถ้ามาฟังธรรม มาศึกษาปฏิจจสมุปบาทนะครับ ก็สามารถจะทำให้จิตว่างได้เหมือนกันนะครับแต่ไม่ว่างตลอดไป แต่มันว่างบ้างวุ่นบ้าง เมื่อวุ่นได้เราก็ทำให้ว่างได้ เมื่อมันมีกิเลสได้ เราก็ทำให้มันไม่มีกิเลสได้ ทีนี้เมื่อเรามีสัมมาทิฐิเรามีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิค่อย ๆ ผุดอยู่เสมอ มันก็ค่อยว่างช่วงยาวไปทุกที ๆ ๆ นะครับนี่เขาเรียกว่าเกิดเป็นอริยบุคคลตามลำดับขั้นเป็นโสดา สกิทาคา อนาคา ถ้าว่างถึงที่สุดนะครับ ไม่วุ่นอีกแล้วก็เรียกว่าพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นท่านดูรูปที่ ๔ นะครับผมก็พยายามทำให้เห็นว่าปุถุชนมีกิเลสอยู่ ๑๐๐ นี่วุ่นเต็มที่ แต่อย่างพระโสดาบัน อวิชชาดับไปบ้าง เพราะฉะนั้นผัสสะของโสดาบันเกิดกิเลส ๗๐% ว่างไป ๓๐ พระสกิทาคามี ผัสสะด้วยอวิชชาเกิดกิเลส ๕๐% ว่างไป ๕๐% นะครับ พระอนาคามี ผัสสะด้วยอวิชชาน้อยลงไปอีกเกิดกิเลส ๓๐% ก็ว่าง ๗๐% ไอ้การที่กิเลสค่อย ๆ ดับไป ๆ แต่ยังมีเศษเหลือนี่เขาเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ดับไม่หมดยังมีเศษเหลือนะครับ ส่วนพระอรหันต์นั้นผัสสะด้วยวิชชา ไม่มีอวิชชาเลยนะครับ ก็ไม่มีกิเลสเลยก็เป็น อนุปาทิเสสนิพพาน เห็นไหมครับ ผมคิดว่ารูปนี้จะช่วยทำให้ท่านเข้าใจโลกุตรธรรมได้ง่ายขึ้นนะครับ จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ทีนี้รูปที่ ๕ นี่นะครับ รูปที่ ๕ สำหรับเด็กสมัยใหม่เข้าใจง่ายนะครับ คือผมเปรียบกิเลสเหมือนกับไฟ เปรียบกิเลสเหมือนกับไฟ ปกตินี่ไฟไม่ได้มีอยู่หรอกครับนะครับ แต่ถ้าเมื่อไรเอาหัวไม้ขีดกระทบข้างกลักมันถึงมีขึ้นนะครับ ปกติไฟไม่ได้มีนะครับ ที่เราพูดว่าขอโทษเถิด ขอไฟผมต่อบุหรี่หน่อย ไม่มีใครพกไฟไว้ได้ ถ้าพกไฟแล้วเขาต้องกระโดดแล้วครับนะครับ แต่เรามีกล่องไม้ขีดนะครับ เมื่อต้องการไฟก็เอาหัวไม่ขีดกระทบข้างกลัก ทางหลักวิทยาศาสตร์บอกว่าไฟนี่จะเกิดขึ้นเมื่อ ๓ สิ่งมาพร้อมกันคือเชื้อเพลิง ออกซิเจนและอุณหภูมิถึงจะติดไฟ มันก็จะเกิดไฟขึ้น ถ้าเราเข้าใจไฟนี้ดีเราก็จะเข้าใจว่ากิเลสก็เหมือนกับไฟละครับ ปกติไม่ได้มีอยู่ก่อน แต่ถ้าเมื่อไรจิตของเรามากระทบอารมณ์เห็นรูปได้ยินเสียงแล้วมีอวิชชา มันก็เกิดกิเลส เห็นไหมครับ
เพราะฉะนั้นนี้เป็นทฤษฎีที่ผมพยายามยกตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์ทางวัตถุก็เพื่อให้เข้าใจง่ายนะครับ เพราะฉะนั้นที่เขาบอกว่า ฮู้, ไม่ไหวหรอกผมกิเลสหนาผมไม่สามารถจะไปนิพพานได้นี่ นี่เขาเข้าใจผิดและไอ้การเข้าใจผิดของเขาทำให้เขาท้อถอย ไอ้ศรัทธาที่เขาจะมั่นคงต่อนิพพานเท่าไรก็ตาม แต่ไอ้อำนาจมิจฉาทิฐิเขาเข้าใจผิดว่าคนเรามีกิเลสอย่างหนาแน่น ไอ้ความศรัทธาเขาก็เป็นหมันไปเลยนะครับ เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่สนใจต่อการปฏิบัติให้กิเลสหมดไปจนถึงนิพพานเพราะฉะนั้นเราจะต้องศึกษาทฤษฎีกิเลสให้ถูกต้องนะครับ เมื่อเราศึกษาได้แนวทางถูกต้องอย่างนี้แล้วเราก็จะเห็นว่านิพพานนั้นไม่ใช่สิ่งที่เหลือวิสัย คนสมัยก่อนเขาไม่รู้หนังสือเลย เขามาฟังธรรมหนสองหนเขาสำเร็จ คนสมัยนี้เรียนหนังสือกันเป็นตู้ ๆ ไม่สำเร็จเพราะอะไร ก็เพราะว่าไปตีความคำสอนผิด พระพุทธเจ้าท่านพูดเรื่องเกิดกิเลส ท่านพูดภาษาธรรมหรือพูดภาษาพระ สมัยนี้มาพูดเกิดจากท้องแม่ ไปพูดภาษาคนหรือพูดว่าเกิดวิญญาณไปพูดภาษาผี เพราะฉะนั้นผมจึงมีไอ้คำกล่าวเป็นกลอนเป็นสโลแกน ภาษาอังกฤษเขาเรียกสโลแกนว่า ใครรู้ภาษาคนคือรู้เกิดจากท้องแม่เขาจะต้องเป็นปุถุชนไปจนตาย อย่างโกณฑัญญะรู้ภาษาคนเกิดจากท้องแม่ตั้งแต่เด็กก็ไม่ได้เป็นโสดาบัน ทีนี้ถ้าใครรู้เกิดภาษาผีคือเกิดวิญญาณนะครับ ใครรู้ภาษาผีนี่เชื่อกันว่าจะได้ดีภายหลังตายนะครับ พวกนี้ก็เชื่อผีต้องเป็นผีเสียก่อนถึงจะได้นะครับ โกณฑัญญะรู้เมื่อตอนหนุ่มก็ไม่ได้เป็นโสดาบัน แต่ถ้าใครรู้ภาษาพระคือรู้เกิดกิเลสขึ้นกับจิตใจ เรียกว่ารู้ภาษาพระหรือภาษาธรรมก็สามารถเอาชนะกิเลสได้ อันนี้โกณฑัญญะมาฟังพระพุทธเจ้าเอาตอนแก่แล้ว พอฟังจบแล้วก็ดวงตาเห็นธรรมเป็นโสดาบัน เพราะฉะนั้นนี่อันนี้เป็นไงครับท่านพอที่จะเข้าใจขึ้นมานะครับ มีแนวทางที่ถูกต้องขึ้นมาว่า อ๋อ, ไอ้กิเลสเราก็ชนะได้นะครับ แต่ข้อสำคัญเราฟังภาษาพระพุทธเจ้าให้ออกก็แล้วกัน เรามาพูดกันในภาษาธรรมพูดกันในภาษาพระ เราอย่าไปพูดเลยภาษาคน เรื่องเกิดเนื้อหนังนะครับ เราอย่าไปพูดเลยเรื่องภาษาผีเกิดวิญญาณนะครับ เรามาพูดกันในภาษาธรรมคือเกิดกิเลส ผมอยากจะขอแสดงความเห็นว่าคนนี่จะเกิดอย่างไร เกิดชีวิตเกิดจากท้องแม่ไม่ใช่เรื่องของพระพุทธศาสนาครับ อย่าเสียเวลาไปศึกษาเลยครับ หรือว่าคนตายแล้ววิญญาณจะไปไหนนั้นก็ไม่ใช่เรื่องพุทธศาสนานะครับ เกิดชีวิตหรือวิญญาณไม่ใช่เรื่องพุทธศาสนา เรื่องพุทธศาสนาจะเริ่มตรงเกิดกิเลสครับ เมื่อคนเกิดขึ้นมาแล้ว มีกิเลสขึ้นกับจิตใจนี่พุทธศาสนาจะเริ่มตรงนี้ครับ พระพุทธเจ้าจะสอนว่ากิเลสเป็นส่วนไหนคนเรามันเกิดขึ้นได้อย่างไรจะดับมันได้อย่างไร ถ้าเมื่อเราดับกิเลสได้หมดแล้วก็เป็นว่าจบ พุทธศาสนาจบตรงนี้ครับไม่ต้องเรียนต่อไป ตายแล้วจะไปไหน เป็นการยังประโยชน์ถึงที่สุดแล้วเฉพาะตน ชีวิตที่ยังไม่แตกดับก็ไปบอกผู้อื่น ไปประกาศพรหมจรรย์
ในสมัยพุทธกาลใช้คำว่าประพฤติพรหมจรรย์ ประกาศพรหมจรรย์นี่ถูกต้องที่สุดครับ เพราะพรหมแปลว่าบริสุทธิ์ จรรย์แปลว่าปฏิบัติ ปฏิบัติพรหมจรรย์ก็คือปฏิบัติเพื่อให้จิตบริสุทธิ์นะ มันรัดกุม จะไปพูดเรื่องเกิดเนื้อหนังเกิดท้องแม่ ไปพูดเรื่องเกิดวิญญาณมันไม่เกี่ยวกับพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้นพระมาลุมทยะ (53:23 ค้นไม่พบค่ะ ไม่ทราบสะกดถูกหรือเปล่า) ถามพระพุทธเจ้าว่าตายแล้ววิญญาณไปไหน พระองค์ไม่ตอบ บอกว่ามันไม่ใช่เบื้องต้นของพรหมจรรย์ ท่านอุปมาเหมือนคนถูกยิงด้วยลูกธนู ปักอยู่ที่อกนะครับ ลูกธนูเสียบอกแล้วเขาควรจะทำอย่างไร เที่ยวถามหาคนยิงอย่างนั้นหรือ มันจะตายเสียเปล่า ต้องดึงลูกธนูออกไปหาหมอเยียวยาบาดแผล ไอ้ลูกธนูก็เหมือนกิเลสนี่มันปักอกอยู่คนทุกคน กลางคืนเป็นควันกลางวันเป็นไฟ เบียดเบียนกันทุกหย่อมหญ้าไม่สนใจที่จะถอนลูกธนู ไม่สนใจธรรมะที่จะดับกิเลสนะครับ ไปเที่ยวถามหาวิญญาณไปไหนไปสนใจเรื่องอะไร นี่ละครับมันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถึงแม้จะมีตำราเป็นตู้ ๆ มันไม่มีทางจะสำเร็จได้เพราะมันไม่เรียนภาษาพระไม่เรียนภาษาธรรม ไปเรียนภาษาคนภาษาผี ไอ้อย่างนี้เป็นต้น ทีนี้อีกสักนิดเถอะครับคุณเป้งฮั้วไปยัง ยังอยู่หรือเปล่า เป้งฮั้วฟังไว้นะ เดี๋ยวจะค้านอะไรก็มาค้านเสีย พูดกัน เราก็แก่กันมาก ๆ แล้วไม่กี่วันก็จะตายกันไปนะครับ ต้องค้านกันจนตายผมกับคุณเป้งฮั้วนะครับ และทีนี้ก็ไอ้เรื่องภพเรื่องชาตินี่นะครับใคร ๆ ฟังกันผิวเผินก็เข้าใจว่า แหม, แนวท่านพุทธทาสสวนโมกข์นี่ปฏิเสธเรื่องชาติหน้าชาติที่แล้วนะครับ มีคนโจมตีมากมายนะครับ อาจารย์หลาย ๆ อาจารย์อย่าให้ระบุชื่อเลย ส่วนมากก็จะหาว่าแนวสวนโมกข์นี่ปฏิเสธเรื่องภพเรื่องชาติ ก็มีคนบอกว่าทำไมผมไม่ช่วยโต้ไปบ้าง ผมก็บอกว่า โธ่, จะไปโต้อะไรกันมันพูดคนละภาษา ไอ้เราพูดภาษาพระภาษาธรรมไอ้เขาพูดภาษาคนภาษาผี มันพูดกันคนละภาษา มันไม่รู้เรื่อง เราก็เคยรู้มาแล้วภาษาคนไอ้เกิดท้องแม่ ไอ้ภาษาผีก็เคยโง่มาแล้วนะครับ เรารู้มาแล้วไอ้ที่รู้แบบผิด ๆ เดี๋ยวนี้มารู้ถูกว่าต้องพูดภาษาพระ พูดภาษาธรรมคือเกิดกิเลสนะครับ เพราะนั้นกิเลสที่เกิดขึ้นกับจิตครั้งหนึ่งก็คือชาติหนึ่ง มันเป็นกิเลสชนิดไหน มันโกรธขึ้นมาก็เป็นสัตว์นรก มันโลภขึ้นมาก็เป็นเปรตนะครับ มันกลัวมันก็เป็นอสูรกาย มันเที่ยวหลอกเขามันก็เป็นผี นี่การเกิดของกิเลสนี่ละครับนั่นน่ะเป็นชาติหนึ่งเป็นภพหนึ่ง ภพแปลว่าความเป็น ชาติแปลว่าการเกิด เกิดอย่างนี้เขาเรียกว่าเกิดแบบโอปปาติกะ เกิดโดยไม่มีพ่อมีแม่เกิดด้วยอำนาจของกรรม เกิดทุกข์ดับก็ดับปั๊บคือการเกิดของกิเลสนี่ละครับ ถ้ามันมีศีลห้าก็เป็นมนุษย์ ถ้ามันมีหิริโอตับปะมันก็เกิดภพชาติเป็นเทวดา ถ้ามันมีพรหมวิหารธรรมมันก็มีภพชาติเป็นพรหม นี่แหละคือเกิดและไม่ใช่พูดเอาเองพระพุทธเจ้าก็ตรัสแบบนี้ว่าสัตว์ทั้งหลายต่างกันที่กรรม กรรมจำแนกสัตว์ กรรมก็มีอยู่ ๓ กรรม กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ในกรรมทั้ง ๓ มโนกรรมก็เป็นหัวหน้า มโนกรรมคือจิตที่มีกิเลส นี่ว่าตามสุภาษิตทุกอย่าง เพราะฉะนั้นภพชาติในทางพระพุทธศาสนานั่นที่ท่านอาจารย์แสดงน่ะ แสดงเป็นสวากขาตธรรม คือพูดแล้วเป็นสันทิฏฐิโกคือเห็นกันได้ อกาลิโกทำเมื่อไรให้ผลเมื่อนั้น เมื่อไรที่เขาโกรธเขาเกิดเป็นสัตว์นรกเดี๋ยวนั้น ไม่ใช่ไปตายแล้วเป็นสัตว์นรก ไอ้ความโกรธนั่นแหละ ไอ้ลักษณะท่าทางตาแดงที่จะเข้าไปทำร้ายกันนั่นแหละไอ้ภาวะนั่นแหละเป็นสัตว์นรกนะครับ ทันทีที่เข้ามีเมตตากรุณา มุทิตา อุเบกขา เขาเป็นพรหมเดี๋ยวนั้นไม่ใช่ตายแล้วเป็นพรหม เพราะฉะนั้นตามแนวคำสอนท่านอาจารย์นี่เป็นสิ่งที่เห็นกันได้ ทำเมื่อไรได้ผลเมื่อนั้น เรียกร้องมาดูกันได้แล้วสามารถจะเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติได้โดยไม่ต้องตาย คำสอนนี้สำคัญมากครับ ผมขอย้ำ เพื่อนพุทธบริษัททั้งหลาย พุทธศาสนาของเราที่เป็นหมันอยู่ทุกวันนี่เพราะเราไปสอนแบบผีแบบวิญญาณ ไอ้แบบนั้นมันต้องเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติเอาเมื่อตาย เป็น ๆ เปลี่ยนไม่ได้ แล้วถ้าหากว่าคนเราไปเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติเอาเมื่อตาย แล้วจะแก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร ไอ้ใครที่มันเป็นโจร เป็นเปรต เป็นสัตว์นรก มันแก้ไม่ได้ตายเสียก่อนมันถึงไปเปลี่ยนเอาชาติหน้า ฉะนั้นจะแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างไร มันต้องแก้ตอนเป็น ๆ คนเรามันจะเป็นอะไรนี่มันเป็นกันที่กิเลส กิเลสก็คือกรรม คือมโนกรรม เพราะฉะนั้นไอ้คนมีกิเลสชั่ว เปลี่ยนมาเป็นดีเสีย ภพชาติมันก็เปลี่ยนแล้วใช่ไหมครับ หรือยิ่งกว่านั้นสามารถจะทำภพชาติให้สิ้นไปก็ได้นะครับ ถ้าเราทำกิเลสให้หมดไป เพราะฉะนั้นเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อท่านหมดกิเลสสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในชาติ ท่านก็อุทานขึ้นมาว่า ขีณา ชาติ แปลว่าชาติสิ้นแล้ว วุสิตัง พรัหมะจะริยัง พรหมจรรย์จบแล้ว ชาติสิ้นกับพรหมจรรย์หยุดจบมีความหมายเดียวกันคือกิเลสสิ้น ถ้าไปหมายภาษาคนภาษาผีพอท่านบอกว่าชาติสิ้น ท่านก็เละเป็นดินไปสิ แล้วใครละที่เดินสอนคนอยู่ ๔๕ ปี พวกนั้นไม่รู้เรื่อง ก็ไม่รู้จะโต้กันยังไง พูดเขาไม่ฟัง ไม่ฟังก็คนละภาษาเพราะฉะนั้นไม่รู้จะโต้กันยังไงครับ ไม่รู้จะโต้ เว้นไว้แต่เขาพยายามมาฟังภาษาธรรมภาษาพระนี่เท่านั้นนะครับ รูปเหล่านี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจได้ดีครับ อย่าคิดว่ามันเป็นไอ้กระดาษไม่มีค่าอะไรนะครับ สิ่งนี้ผมได้พยายามค้นคว้ามาเหลือเกินยี่สิบสามสิบปี แล้วปรากฏว่าจะไปพูดโดยเฉพาะนักศึกษานักเรียนปัจจุบันทำให้เขาเข้าใจพุทธศาสนาอย่างถูกต้องภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว อันนี้ก็เป็นความชื่นชมยินดีของผมอย่างที่ได้พยายามช่วยเผยแพร่งานของท่านอาจารย์นะครับ แต่วิธีการนั้นผมก็คิดค้นขึ้นมานะครับ ทำเป็นรูปเป็นอะไรต่าง ๆ นะครับ ก็ ผมก็คิดว่า ผมก็ขอแสดงแค่นี้ละครับ เพราะมีเพื่อนสมาชิกอีกหลายคนที่จะมาพูดนะครับ จนกว่าจะถึงเวลาสองยาม คอยฟังพระราชดำรัสของสมเด็จพระสังฆราชหรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนนี้ว่าไงเพื่อนสมาชิก คุณเป้งฮั้วยังอยู่ไหม
ฆราวาส : (นาทีที่ 59:21) ครับก็ ก็ได้ฟัง ก็ขอบคุณมากครับที่อุตส่าห์นั่งฟังอย่างตั้งอกตั้งใจที่คุณไสวได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องพุทธศาสนาในแง่มุมต่าง ๆ นะครับในเรื่องกิเลส ในเรื่องดับทุกข์ ในเรื่องวิญญาณ ครับนี่ก็เป็นอีกแง่หนึ่งนะครับ ที่มีต่อการแสดงความคิดเห็นในเรื่องหลักธรรมะในแนวทางของพุทธศาสนา คุณ คุณป้าจะถามอะไรไหม คิดว่าจะถามอะไรไหมครับ ถ้าจะถามก็จะได้เปิดโอกาสให้ถามนะครับ มีไหมครับ ท่านคิดว่าจะถามอะไรไหมครับ คุณเป้งฮั้วรู้สึกว่าจะไปนอนนะครับ ท่านอาจารย์ยังนั่งอยู่ คุณเป้งฮั้วไม่ทราบว่าไปไหน ถ้าคุณเป้งฮั้วอยู่ขอเชิญมาแสดงความคิดเห็นได้นะครับ ตามที่เราได้ตกลงกันไว้หรือว่าท่านผู้หนึ่งผู้ใดคิดว่าจะถามนะครับก็ยินดีครับ คุณไสวบอกว่ายินดีจะตอบให้เท่าที่รู้ ถ้าคุณเป้งฮั้วไม่อยู่ตอนนี้นะครับก็ ผมขอเชิญคุณตฤณ ขอเชิญคุณตฤณได้มาแสดงความคิดเห็นบ้างตามที่เราได้เคยปฏิบัติกัน การแสดงความคิดเห็นในเรื่องธรรมะนี่ผมคิดว่ามันก็เป็นหลักการในทางประชาธิปไตยอย่างหนึ่งเหมือนกันนะครับ คือเราจะไม่ว่ากันจะให้สติปัญญาของแต่ละท่านที่มีอยู่ ได้เป็นผู้วินิจฉัยว่าอย่างไรหรือวิธีใดมันเหมาะกับที่ท่านสามารถนำไปใช้ได้ปฏิบัติได้ก็นำไป อันไหนที่ไม่เหมาะท่านก็มีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วย หรือจะไม่นำไปนะครับ นี่ก็เป็นหลักประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง ถ้าคุณตฤณมาแล้วก็ขอเชิญคุณตฤณครับ
คุณตฤณ : เอ้า, เวลายังมีนิดหน่อยนะครับ กระผมก็คิดว่าพอดียังมีอยู่ ถ้าเมื่อตอน ตอนบ่ายของวันนี้ รัตนตรัยผมได้พูดไปแล้ว ขันธ์ ๕ ได้พูดไปแล้ว ก็มีอีกข้อหนึ่งซึ่งผมยังไม่ได้พูดก็คือไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณะ ซึ่งอันนี้ในทรรศนะที่กระผมเข้าใจหรือเป็นแง่คิดซึ่งควรจะได้เล่าสู่กันฟัง กระผมก็เลยคิดว่าควรจะพูดในเวลานิด ๆ หน่อย ๆ นี้ได้ คือถ้าเราอ่านไอ้คำว่าไตรลักษณ์ ก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๓ อย่างด้วยกัน ซึ่งมันเป็นลักษณะของสรรพสิ่งทั้งหลายในสากลโลกนี้จะต้องมีลักษณะอย่างนี้อยู่ด้วยกันทั้งนั้น แต่ทีนี้มันมีอีกว่าทั่ว ๆ ไป ท่านใช้คำว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา ทีนี้มันมีอันหนึ่งครับ สังขารทั้งหลายเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา แต่ทีนี้เวลาในบทสวดที่เราสวดทั่ว ๆ ไปพอถึงไอ้ตัวอนัตตานี่ แทนที่จะบอกว่าสังขารทั้งหลายเป็น เป็นอนัตตา ไอ้ ไอ้ข้อนั้นละครับมันจะมีคำว่าธรรมทั้งหลาย คือแทนที่จะบอกว่าสังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ท่านใช้คำว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สังขารทั้งหลายเป็นอนิจจัง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ แต่พอมาเป็นอนัตตาแทนที่จะบอกว่าสังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็กลายเป็นบอกธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา มันมีคำที่คล้าย ๆ ว่ามันทแยงหรือมัน ๆ ๆ แปลงอยู่หน่อยหนึ่งตรงนั้น อันนี้ละครับ ทีนี้กระผมได้ไปค้นคว้าหรือได้ไปเจอมีอยู่แล้ว เราก็จะพบความจริงว่าไอ้สังขารทั้งหลายกับธรรมทั้งหลายนี่ มันมีความหมาย มันต่างกันอย่างไรและที่พระองค์มาตั้งไว้อย่างนั้นมีความหมายอย่างไร กระผมก็เลยคิดว่าเวลาอันเล็กน้อยก็เลยเอานี้ เรื่องนี้มาพูดเพียงนิดเดียว คือสังขารทั้งหลายนี่นะครับ ก็หมายถึงตัวเรานะครับและธรรมทั้งหลายก็หมายถึงตัวเรา ทีนี้ความหมายของคำว่าธรรมทั้งหลายนี่ มันเป็นอันหนึ่งอันเดียว แต่คำว่าสังขารกับไอ้ ไอ้สังขารกับวิสังขารนี่ ๒ อย่างนี้รวมเข้าแล้วเป็นธรรมทั้งหลาย ในตัวของเรานี้นะครับ ที่จับได้ถูกได้นี่เป็นธรรม เป็นวิสังขาร คือเรามองดูในตัวของเรามีสิ่งที่เป็นเองอยู่ สิ่งใดที่มันเป็นของมันเอง เช่น คล้าย ๆ มือของกระผมนี่ กำได้นี่ งอได้นี่ มันเป็นเอง แต่ถ้าหากกระผมตั้งเจตนาบอกว่าฉันจะหยิบ คือมือนี่หยิบเพราะเจตนา อันนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่เป็นเอง ใจผมสั่งให้มือทำ ใจไปสั่งให้ผมดู ใจสั่งให้ฟัง ฟังเสียง มัน ๆ ๆ ๆ อยู่นี่ด้วยกันมันคล้าย ๆ ด้วยกัน แต่ไอ้คำว่าสังขารทั้งหลายนั้นพุ่งไปที่ใจ พุ่งไปที่จิตใจของเรานะครับ คือจิตใจของเรานี่มีเจตนา พอมีเจตนาปั๊บมันแสดงว่าเรามีตัวมีตน ซึ่ง ซึ่งอันนี้กระผมรู้สึกเป็นคำที่เพราะ แล้วก็รู้สึกจับใจมาก แล้วเป็นคำที่พูดแล้วมองเห็นง่ายที่สุด ที่ท่านอาจารย์ท่านใช้คำว่าอันความจริงตัวเรามิได้มี แต่พอโง่มันก็มีขึ้นจนได้ พอหายโง่ตัวเราก็หายไป ไอ้ตัวเราจริง ๆ นั้น ไอ้ข้อนี้มันเป็นธรรม เป็นธรรมชาติ มันเป็นอยู่ แต่พอโง่ พอโง่ปั๊บมันก็ยึดว่าเป็นตัวเรา เพราะพอโง่ปั๊บมันก็มีเจตนา พอมีเจตนาปั๊บ ไม่ว่าจะดู ไม่ว่าจะฟัง ไม่ว่าจะหยิบ ไม่ว่าจะจับ ไม่ว่าจะทำอะไรมันกลายเป็นเรา เป็นสังขารไปหมด เป็นเรา เป็นของเราไปหมด เพราะเรามีเจตนา มันอยู่ในที่เดียวกันครับ ผมก็เคยเอาไปคิดว่า เอ, พระพุทธเจ้านี่พระองค์ทรงสำเร็จเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่ออายุ ๓๕ แล้วพระองค์ยังมีชีวิตไปถึง ๘๐ ซึ่งอีก ๔๕ ปีนี่พระองค์เดินโทง ๆ อยู่ใน อยู่ในๆ ๆ ๆ โลกของเราเหมือนกัน เพราะไอ้ความคิดเมื่อก่อนว่าไปนิพพานคงจะไปอยู่ที่ไหนสักแห่งหนึ่ง หรือเป็นแมนเป็นเมืองแมนแดนสวรรค์อะไรอยู่ที่ไหน แต่เอาจริง ๆ แล้วไม่ใช่ ใช่ไหม แต่พระองค์ก็อยู่อย่างพวกเราเหมือนกัน พระองค์ก็ต้องนอน ต้องนั่ง ต้องเดิน ต้องเหิน ต้อง ๆ ทำอะไรเหมือนอย่างกับโลก อันนี้ผมก็จับใจอีกละครับที่ท่านอาจารย์พูดกระผมฟัง เมื่อสมัยหลายปีมาแล้ว ดูเหมือนจะเป็นเวลาเป็นยี่ ยี่สิบปีนะครับ พูดถึงปุถุชนนั้น กายต้องเป็นอยู่อย่างโลกนี้ ใจก็เป็นอยู่อย่างโลกนี้ นี่ ๆ ๆ ท่านอาจารย์เล่าให้ผมฟัง ผมจำได้ครับ ส่วนพระอริยเจ้านั้น กายก็ต้องเป็นอยู่อย่างโลกนี้ แต่ใจเท่านั้นจะเป็นอย่างโลกนี้ก็ได้ ไม่เป็นอย่างโลกนี้ก็ได้ พระอริยเจ้าหมายถึงโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์หมายถึงอย่างนั้น กายต้องเป็นอยู่อย่างโลกนี้คือต้องกิน ต้องขี้ ต้องเยี่ยว ต้องนั่ง ต้องนอนเหมือนกันทุกอย่าง แต่ใจของพระองค์เท่านั้นจะเป็นอย่างโลกนี้ก็ได้ ไม่เป็นอย่างโลกนี้ก็ได้ นี่ ๆ ท่านอาจารย์เล่า เคยพูดให้ผมฟัง และยิ่งกว่านั้นอีก เพื่อให้เข้าใจชัดลงไปอีก ปุถุชนนั้นเปรียบเหมือนเต่า ปู ปลาในหนองน้ำ
ส่วนพระอริยเจ้านั้นเปรียบเหมือนนกกระเรียน เมื่อเวลาน้ำใสสะอาดเย็นสบาย นกกระเรียนก็ลงเล่นน้ำด้วย ถ้าหากน้ำขุ่นข้น นกกระเรียนก็บินหนี บินขึ้นท้องฟ้า ส่วนเต่า ปู ปลา น้ำขุ่นก็เดือดร้อนไปกับน้ำด้วย นี่ตัวอย่างเป็น ๆ ๆ คำเสริมในการอธิบายให้กระผมฟัง ไอ้ที่กระผมย้ำตรงนี้ก็เพราะเห็นว่าความเป็นพระอริยเจ้านั้นเป็นได้เพียงจิต และจิตนั้นจะมาพูดอย่างโลกก็ได้ จะพูดอย่างธรรมก็ได้ จนบางครั้งบางคราวดูเหมือนอาจารย์ก็เคยพูดบอกว่า หนูจะกลายเป็นคนมารยาคือไม่ ๆ ๆ ตรง จิตใจคล้าย ๆ ว่าถึง ๆ ทำแล้วแต่พูดไม่ใช่ตรงอย่างที่เจ้าทำ อันนี้ก็เคย กระผมก็เคยเอามาคิด เพราะฉะนั้นสังขารวิสังขาร สมมุติวิมุติ โลกกับธรรมจึงอยู่ที่ตัวเรา ส่วนตระกูลของโลกก็ได้แก่โลก ก็มาจากการปรุงแต่ง เมื่อปรุงแต่งก็มีความหมาย เอาจริง ๆ เข้าแล้วคำว่าสมมุติ ผมฟังคุณภาณุอัดเทปจากท่านอาจารย์ไปเปิดที่รามอโศก ย้ำอยู่คำเดียวหนึ่ง คำหนึ่งอยู่ว่าสมมุติก็คือความหมาย เพราะฉะนั้นโลกคือความหมาย ถ้าวิมุตินั่นมันหมดความหมาย เราสร้างความหมาย โลกเขาสร้างความหมาย เมื่อเราหลงในความหมายก็คือหลงในสมมุติ หรือหลงสมมุติก็คือหลงในความหมาย ความหมายเดิมแท้มันไม่มี แต่โลกโง่ไปสร้างความหมายขึ้นคือไปเอาคุณธรรมคือไม่ธรรมทั้งก้อน เป็นคุณธรรมแล้วเอามาสมมุติ แค่นี้เป็นเล็บ แค่นี้เป็นมือ อันนี้เป็นนิ้วมือแค่นี้เป็นมือแขนขา สมมุติทั้งตัว พอสมมุติขึ้นมามันก็มีความหมาย พอมีความหมายขอโทษนะครับ อันนี้เราบอกศีรษะ อันนี้เท้าแค่นี้ต่างกันแล้ว ทั้ง ๆ ที่ไอ้ก้อนนี้เป็นอันเดียวกันไม่มีความหมาย มันก็เท่ากัน มีความหมายเท่ากัน จับตรงนี้ก็ถูก จับตรงนี้ก็ถูก เป็นอันเดียวกันแต่พอสมมุติเข้า ที่นี่ศีรษะ อันนี้ไม่ใช่ศีรษะเป็นเท้า ถ้าเอาหัวไปชนเอาศีรษะไปชนไม่เป็นไร ถ้าเอาเท้าไปชนเข้าดูถูก เราไม่ชอบ ไอ้นี่ก้อนหิน ถ้าเอาเพชรเม็ดหนึ่งมาตั้งอยู่ตรงนี้ซึ่งของแข็งเป็นธาตุดินเหมือนกัน ไอ้นี่เป็นเพชรไอ้นี่เป็นก้อนหิน พอเห็นเพชรเข้าจะเอา แต่เห็นก้อนหินไม่เอา นี่ก็เป็นโรคขึ้นมาจากความเห็นผิดในความสมมุติ ซึ่งความหมายที่มนุษย์เราสร้างกันขึ้นโดยความโง่ เพราะฉะนั้นในตัวของกระผม ในตัวของเราทุกคนนี้แหละครับ มือ เห็นมือ ไอ้ชื่อว่ามือนั้นเป็นสมมุติเราสร้างความหมายทั้ง ๆ ที่เอาชื่อว่ามือออก ไอ้นี่ก็เห็นอยู่ก็มีอยู่แต่ไม่มีความหมาย เมื่อมันไม่มีความหมายมันก็ไม่สร้างจิตใจของเราให้หวั่นไหวไปด้วย ที่เราหวั่นไหวเพราะเราไปหลงในความหมาย ความหมายมันเกิดขึ้นมา แล้วก็ทำให้เราหลง เมื่อเราหลงแล้วจิตใจก็หวั่นไหว ปัญหาใหญ่ ทำอย่างไรใจของเราจะไม่หวั่นไหว เรามองในแง่ของคำว่าไม่หวั่นไหวในโลกุตรธรรมหรือใน ในนิพพาน เพราะเราก็ต้องเข้าใจความจริงตามความเป็นจริงว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่มีความหมาย มีแต่สภาวธรรมที่มันไหลไป เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาของมันเท่านั้น เมื่อเราเห็นอย่างนี้เราก็ไม่มี ไม่น่าจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ถ้าเรารู้ว่านี่เพชร ไม่ได้ ต้องเอาให้ได้ ไม่ได้ก็ต้องยอมตาย เรายึดถึงขนาดยอมตาย นี่ก็หมายถึงว่าเรา เราก็ไม่ มันก็เป็นเหตุให้เราได้รับความทุกข์ต่าง ๆ นา ๆ นี่ก็แง่หนึ่งที่กระผมอยากจะพูดว่า เพราะฉะนั้นที่ท่านพูดเขย่งเอาไว้นั้น เรามองถึงว่าถ้าสังขารทั้งหลายนั้นเพียงความคิดของเราเท่านั้นที่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรามองถึงสภาพข้างนอกที่เป็นอนิจจังนั้นท่านบอกยังห่างไป ถ้าจะมองอนิจจังให้เด่นชัดจริง ๆ ต้องมองดูจิตของตัวเองว่าทนได้ไหม ในการที่เราชอบในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในการที่เกลียดในสิ่งหนึ่งสิ่งใด จิตของเราทนได้ไหม มันทนไม่ได้ นั่นแหละครับเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ชัด ๆ ทีเดียวว่าอนิจจัง มันเป็นทุกข์ขังอยู่ในที่เดียวกัน แต่ในทางธรรมแล้วไม่เดือดร้อน ไม่เป็นไร เพราะมันไม่มีความหมายแต่พอเป็นอนัตตา ถึงแม้จะเป็นวิมุติวิสังขารซึ่งเป็นธรรมชาติที่มันเป็นเอง มันก็เปลี่ยนด้วย ผมจึงยกตัวอย่างอย่างนี้ครับ เหมือนคล้าย ๆ ผมนี่ไปยืนอยู่ริมแม่น้ำ น้ำเขาก็ไหลอยู่เป็นธรรมชาติธรรมดา เราอยู่บนฝั่ง น้ำไหลก็ไหลไปฉันไม่เดือดร้อน ถ้าหากผมตกน้ำป๋อม ผมต้องอาศัยน้ำ น้ำก็พาผม พัดตัวผมไปต่าง ๆ นา ๆ ผมก็เดือดร้อนไปตามน้ำด้วย ถ้าตราบใดที่ผมยังไม่ขึ้นจากน้ำ ผมก็ต้องเดือดร้อนไปตามน้ำที่ไหลไป สุดแล้วแต่จะไหลไปทางดีทางไม่ดีก็สุดแล้วแต่ ฉันใดก็ฉันนั้น ทีนี้ถ้าเราศึกษา เราก็ถือทำอย่างไรเราจึงกระโดดขึ้นมาให้พ้นน้ำเสียตามเดิม ถ้าเราพ้นมาจากน้ำเมื่อไร เราก็พ้นจากไอ้การไหลเหล่านั้น เหมือนอย่างคล้าย ๆ ก่อนที่จะตกลงไป อันนี้ผมดูในแม่น้ำ เรามองเห็นง่าย ๆ เรามาดูตัวของเราเอง แว้, ออกมาจากท้องแม่ ร่างกายของเราก็เริ่มไหลแล้วครับ เจริญขึ้นมาเป็นเด็กเป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นแก่เป็นเฒ่า มันก็ไหลไปตามน้ำ ก็เลยกลายเป็น ฉันเป็นเด็ก ฉันเป็นหนุ่ม ฉันเป็นแก่ ฉันเป็นเฒ่า ฉันเป็นคนป่วย ฉันเป็นคน ก็สุดแล้วแต่เถิดครับ เราก็เป็นเพราะเรา คำว่าเราเข้าไปยึดมั่นมันก็เลยตาม มันก็แก่ มันก็ตาย มันก็ป่วย มันก็ไข้ที่สุด ถ้าเรายังโง่ เราไปยึดมัน ก็ตายไปด้วยตามนั้นไอ้ ๆ ๆ ๆที่สภาวธรรมมันก็เป็นของเขา ก็ไม่เดือดร้อนหรอกครับ แต่พอเราไปยึดเข้า เราก็เลยเป็นอันนั้น คนฉลาดก็ย่อมจะกระโดดออกเสีย แก่ก็แก่ไป ตายก็ตายไป ไม่ใช่เรื่อง กระผมนี่ในแง่ ๆ หนึ่งที่กระผมคิด ๆ แล้วก็เลยมาเล่าสู่กันฟัง ขอบพระคุณมากครับที่อุตส่าห์ฟังผม
ฆราวาส : (นาทีที่ 1:14:16) ขอบคุณคุณตฤณมากนะครับ ผมก็ขึ้นมาอีก กลัวว่าท่านทั้งหลายจะ จะหนีกลับกันเสีย แล้วก็ ผมก็พยายามมาประโคม ๆ กันต่อไปอีกนะครับ โดยเฉพาะเรื่องที่คุณตฤณพูดนี้นะครับ มันทำให้เรานี่ในฐานะพุทธศาสนานี่ พุทธศาสนิกชนพบพระพุทธศาสนานี่ เราจะได้ไข่แดงของพระพุทธศาสนาจริง ๆ นะครับ ๆ ได้ไข่แดงของพระพุทธศาสนาจริง ๆ เอาเรื่องที่ใคร ๆ ว่ายากหรือห่างไกลอย่างพระนิพพานนี้ เอามาไว้กันตรงนี้ เอามาพูดกันตรงนี้แล้วจะได้พบกับที่นี่และเดี๋ยวนี้นะครับ ถ้าเราได้ตั้งใจฟังจริง ๆ นะครับ ฟังจริงแล้วเราจะพบเลยครับว่าพระนิพพาน อ๋อ, ที่เรามัวไปเที่ยวหากันอยู่ว่าเมื่อไรจะได้ เมื่อไรจะได้นั้น มันชักจะอยู่กับเราเสียแล้วละครับตอนนี้ โดยคำว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตานะครับ ที่เมื่อกี้คุณตฤณยกตัวนี้มา ไม่ได้ใช้คำว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงนะครับ ใช้คำธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็สังขารและวิสังขาร สิ่งปรุงแต่งและไม่ปรุงแต่งก็เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนก็อยู่ในตัวเราทั้งหมดนะครับ สิ่งที่ปรุงแต่งและไม่ปรุงแต่ง ไอ้สิ่งที่ปรุงแต่งก็สิ่งที่มีเจตนาปรุงทิพย์ทำ ๆ ๆ ไป ผมก็ย้ำอีกทีตามหลังอีกแล้ว แล้วสิ่งที่ไม่ปรุงแต่งก็สิ่งที่มันเป็นของมันอย่างนั้นเองทำมาอย่างนั้นเอง เป็นอย่างนั้นเอง ไม่มีเกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวตนผู้ทำอะไรขึ้นมานี่หรือเรียกว่าวิสังขาร หรือจะเรียกว่าพระนิพพานก็ได้นะครับ เพราะว่ามันเย็น ตอนนั้นมันเย็น สงบเย็นไม่ปรุงแต่งนะครับ เป็นพระนิพพาน ทั้งพระนิพพานและทั้งตัวเราที่ปรุงแต่งและทั้งภาวะที่ไม่ปรุงแต่งนั้นเป็นภาวะนิพพาน เป็นอนัตตาไม่มีตัวตนนี่เป็นสามัญลักษณะของ เขาเรียกว่าลักษณะพวกธรรมดาของธรรมชาติเป็นอย่างนั้น ทั้งสิ่งที่ปรุงแต่งและไม่ไปปรุงแต่งก็เป็นอนัตตาหรือไม่มีตัวตนหมายถึงว่าพระนิพพาน
สมเด็จพระสังฆราชจากวิทยุ : (นาทีที่ 1:16:31) ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ กำลังเคลื่อนคล้อยใกล้จะหมดสิ้น
ฆราวาส : ตอนนี้เดี๋ยวได้ฟังวิทยุด้วยนะครับ ตอนนี้ก็แถม ๆ สักนิดเพราะว่าสิ่งนี้กำลังผมว่าตอนนี้ฟังวิทยุดีกว่านะครับได้ประโยชน์มาก
สมเด็จพระสังฆราชจากวิทยุ : (นาทีที่ 1:17:13) เราทั้งหลายต่างแสดงความรื่นเริงบันเทิงใจส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมถึงการทำบุญใส่บาตรตามประเพณีบ้าง อำนวยอวยพรแก่กันและกันบ้าง ไปเคารพท่านผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือบ้าง เหมือนเป็นการเฉลิมฉลองอายุของตน ๆ ที่เจริญมาด้วยความสวัสดี ได้ปีหนึ่งผ่านไปแล้วเราจะย่างขึ้นสู่ปีใหม่สืบต่อไปอีก ดูข้างหน้าเรายินดีด้วยทั่วกันเพราะชาวเราจะได้มีอายุเพิ่มขึ้นอีกแล้วในเวลาไม่ช้านี้ การรื่นเริงบันเทิงใจในระยะเวลาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จงระวังการแสดงความรื่นเริงให้เป็นการรื่นเริงบันเทิงใจสนุกสนานกันภายในขอบเขตของการรื่นเริงจริง ๆ อย่าแสดงความรื่นเริงด้วยความคึกคะนองจนเกินไปถึงกับกลายเป็นความเดือดร้อนประหัตประหารกัน ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราทั้งหลายมักมิได้แสดงความรื่นเริงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วยน้ำใสใจจริงเท่าไรนัก ล้วนแต่แสดงความรื่นเริงภายใต้การควบคุมของอบายมุขเสียเป็นส่วนมาก ความรื่นเริงบันเทิงใจจึงเข้าไม่ถึงหัวใจจริง คงรื่นเริงอยู่เพียงภายนอกตามความยั่วยุของอบายมุขและความคึกคะนองเท่านั้น ถ้าอยากจะรื่นเริงให้ถึงน้ำใจจริงแล้ว อย่าดื่มสุราเมรัยแม้เพียงเล็กน้อยจะดีกว่า เพราะสุราเมรัยเป็นยาพิษทำให้ลืมตัวหลงทำความผิดความชั่วได้อย่างร้ายกาจ ในโอกาสขึ้นปีใหม่ ๒๕๒๔ นี้ ขอเชิญชวนท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจงพิจารณาถึงเรื่องการบุญการกุศลซึ่งเป็นกิริยาตามที่ชาวเราทุกคนทุกผู้ทุกนามสนใจและพอใจที่จะบำเพ็ญกันโดยทั่วหน้า ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเมื่อมีใครมาบอกเรื่องการบุญการกุศลในทางพระศาสนา มีทอดกระถินผ้าป่าสร้างอุโบสถวิหารหรือหาบรมวัตถุในพระศาสนาแล้ว ต่างก็พร้อมใจกันร่วมอนุโมทนาสละทรัพย์เข้าร่วมโดยปราศจาก (นาที่ที่1.19.58 ได้ยินไม่ชัดค่ะ) โดยไม่ใคร่ควรพิจารณาก่อนว่าผู้มาบอกเขาจะหลอกลวงหรือไม่ ด้วยการหลงบุญเช่นนี้จึงเป็นเหตุให้ผู้ประพฤติทุจริตคิดมิชอบถือโอกาสหลอกลวงอยู่เสมอ การนิยมทำบุญกุศลโดยไม่ใคร่ควรพิจารณานี้เองจึงเป็นเหตุให้มีการใช้บุญบังหน้าหากินบนศรัทธาของประชาชน และเป็นการทำลายสถาบันพระพุทธศาสนาไปในตัว ทางพระพุทธศาสนาสอนไว้ว่าพิจารณาก่อนแล้วจึงทำ เลือกก่อนแล้วจึงทำ ไม่ได้สอนให้ใจเร็วด่วนได้ในทันทีทันใด การพิจารณาใคร่ควรรอบคอบถี่ถ้วนเป็นหลักสำคัญยิ่งในวิกฤตการณ์ เพราะนอกจากจะไม่เกิดความผิดพลาดให้ต้องเสียใจในภายหลังแล้วยังจะชื่อว่าไม่เสียรู้คนง่าย ๆ อีกด้วย โอกาสที่ผู้ปรารถนาความสวัสดิมงคลในยามส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จะพึงกระทำไว้ในใจเป็นนิจเพื่อความเป็นสิริมงคลประจำตัวก็อยู่ที่การทำความดี ความดีนั้นคือความสุขกายสบายใจอันเกิดจากประพฤติตามศีลธรรมของศาสนา ซึ่งใคร่ครวญก่อนแล้วจึงกระทำ ก็ไม่ต้องเดือดร้อนใจเพราะมีความผิด ไม่ต้องมีผู้ปองร้ายและมีใจสงบรื่นรมณ์อยู่เป็นนิจ เรื่องความดีทั้งหลายเหล่านี้ทางเราจะหาซื้อด้วยทรัพย์สินไม่ได้ เพราะเป็นผลซึ่งเกิดมาจากการกระทำความดีตามศีลธรรมของแต่ละบุคคลซึ่งเป็นเหตุให้เกิดผลเป็นความสุขตามสนองในภายหลัง การทำความดีเพื่อความดีเป็นเรื่องศีลธรรมที่จะเกิดความสงบใจ ส่วนการมุ่งทำดีเพื่อให้ได้ดี เกิดทรัพย์สมบัติชื่อเสียงเกียรติยศประการต่าง ๆ นั้น ไม่เป็นเรื่องที่จะให้เกิดความสงบใจได้แท้จริงเลยเพราะเกิดจากกิเลสตัณหา ชาวเราทั้งหลายจงพยายามทำความดีเพื่อความดีตามหลักศีลธรรม ประพฤติปฏิบัติเช่นนี้จนติดเป็นนิสัย ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความดีเป็นสิริมงคลสมปรารถนา ด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ขอให้ประชาชนชาวไทยทั้งหลายที่มีพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต จงถึงความเจริญด้วยจตุรพิธพรชัยมงคลด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ และจงยึดมั่นในคุณธรรมคือความสามัคคีเพื่อความเจริญของชาติบ้านเมืองโดยทั่วกันตลอดปี ๒๕๒๔ เทอญ
เสียงผู้ประกาศจากวิทยุ : ที่ท่านได้ฟังจบไปแล้วนี้คือพระโอวาทและคำอำนวยพรของสมเด็จพระอริยวงศากัลญาณ (1:23:38 ค้นไม่พบค่ะ ไม่แน่ใจว่าถูกหรือเปล่า) สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปรินายก ขณะนี้เวลา ๒๓ นาฬิกา ๓๗ นาที ที่นี่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ต่อไปนี้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชผาติการามและพระสงฆ์ทรงสมศักดิ์จำนวน ๘ รูปจะได้เจริญพระพุทธมนต์ (ตั้งแต่นาทีที่ 1.24.04 พระสงฆ์กล่าวคำเจริญพระพุทธมนต์)