แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
(เสียงท่านพุทธทาส) ท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ ผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายครั้งนี้ อาตมาจะกล่าวโดยหัวข้อว่าการมีนิพพานในชีวิตประจำวัน เมื่อครั้งที่แล้วมาเราพูดโดยหัวข้อว่านิพพานเท่าที่พุทธบริษัทต้องทราบ ก็เป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป เกี่ยวกับนิพพานในฐานะที่เรียกว่าเป็นวิชาหรือทฤษฏี ส่วนวันนี้เราจะพูดในลักษณะที่มันเป็นประยุกต์ คือใช้ปฏิบัติกันเลย ขอให้ท่านตั้งใจฟังให้ดี ให้สำเร็จประโยชน์ คือรู้เรื่องนิพพานพอสมควรแล้ว เอามาใช้ปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวัน นี่เป็นการทำให้ธรรมะไม่เป็นหมัน ถ้าเพียงแต่รู้อยู่เฉย ๆ รู้มากเท่าไร อะไรมันก็ไม่มีประโยชน์ ยังไม่มีประโยชน์ จึงอยากจะให้เอาไปปฏิบัติ ต้องเอาไปปฏิบัติ ได้รับผลจึงจะเรียกว่ามีธรรมะ ใช้ให้เป็นประโยชน์โดยแท้จริง
การพูดว่ามีนิพพานในชีวิตประจำวันนี้ คนบางพวกหรือครูบาอาจารย์บางพวก เขาว่าบ้า เพราะเขาพูดหรือเขาสอนกันอยู่แต่ว่า อีกหมื่นชาติ แสนชาติ จึงจะมีนิพพาน จึงจะบรรลุนิพพาน เขาสอนกันอยู่อย่างนั้น พอเราบอกอย่างนี้ เขาก็หาว่าเราพูดไม่จริงบ้าง หลอกลวงบ้าง หรือพูดแบบอะไรก็แล้วแต่จะเรียก
เมื่อพูดถึงนิพพาน มันก็เป็นแต่เรื่องที่เรียกว่า พระธรรม พระธรรมในฐานะเป็นผลสุดท้าย พระธรรมที่เราต้องเรียน นี่ข้อแรก พระธรรมที่เราต้องปฏิบัติ นี่เป็นข้อ เป็นตรงกลาง พระธรรมที่เราต้องได้รับผลเป็นความสุข นี่เป็นพระธรรมในขั้นสุดท้าย ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงกำชับนักกำชับหนาว่าเธอจงไปประกาศพรหมจรรย์ แสดงธรรมให้ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง และไพเราะเบื้องปลาย การมีหรือการได้ชิมรสของพระนิพพานนั่นแหละ เป็นความงดงามของพระธรรม สิ่งที่เรียกว่าพระธรรมนั้น ช่วยจำกันไว้ให้แม่นยำ คือบทว่า สวากขาโต ภควตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปนยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ นี่ ออกเสียงเป็นโอ โอ โอ โอ อย่างนี้ เขาใช้กับคำว่าธรรม ในบาลีซึ่งมันเป็นศัพท์ปุงลิงค์ ได้แก่รูปแบบเป็นโอ ถ้าใช้กับนิพพาน ซึ่งเป็นนปุงสกลิงค์ มันเป็นอัง คือนิพพานัง นิพพานังก็เป็น สวากขาตัง ภควตา นิพพานัง สันทิฏฐิกัง อกาลิกัง เอหิปัสสิกัง โอปนยิกัง ปัจจัตตัง เวทิตัพพัง วิญญูหิ ถ้าเกี่ยวกับพระนิพพาน เอ้อ, เกี่ยวกับพระธรรม แล้วจะเป็นธรรมชนิดไหนประเภทไหน ก็ขึ้นอยู่ด้วยคุณบทของพระธรรม ที่เราท่องกันได้ มีอยู่ ๖ บท สวากขาตัง คือเป็นสิ่งที่พระองค์ตรัสไว้ดี สันทิฏฐิกัง คนนั้นเห็นเอง อกาลิกัง ไม่อยู่ ไม่ขึ้นอยู่กับเวลา เอหิปัสสิกัง เป็นสิ่งที่ควรเรียกกันมาดู มารู้ด้วยกัน โอปนยิกัง เป็นสิ่งที่ควรมีไว้ในตน ปัจจัตตัง เวทิตัพพัง วิญญูหิ อันวิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตน
นี่แม้เรื่องของนิพพานซึ่งเป็นธรรมะอย่างหนึ่ง จึงประกอบอยู่ด้วยคุณบทของธรรมะเหมือนดังที่กล่าวนี้ สวากขาตัง พระองค์ตรัสไว้ดี คือตรัสไว้ละเอียดชัดเจน ถูกต้อง เพียงพอ ทีนี้คนปฏิบัติจะเป็นสันทิฏฐิกัง คือได้ชิมรสของพระนิพพานนั้นอยู่ ต้องมีการปฏิบัติและได้ชิมรสของพระนิพพาน มันจึงจะเป็นสันทิฏฐิกัง และปฏิบัติเมื่อไร ก็มีผลเมื่อนั้น จึงเรียกว่า อกาลิกัง ไม่ขึ้นอยู่กับเวลา นี่มันมีความประเสริฐมากพอ จะเรียกว่ากว่าสิ่งใด ๆ ก็ได้ จึงเป็นสิ่งที่ควรบอกกล่าวกันให้รู้ เรียกว่า มาดู มาดู คือมาทำความเข้าใจ มาศึกษา มาปฏิบัติ มาชิมรสของมันดู
โอปนยิกัง ในบรรดาสิ่งที่ควรทำให้มีอยู่กับตน คือน้อมเข้ามาไว้ในตน เช่น ทรัพย์สมบัติเป็นต้น ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าธรรมะนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ดี ยังคงเป็น ปัจจัตตัง เวทิตัพพัง มันรู้ได้เฉพาะคนที่ปฏิบัติ เหมือนกับว่าใครกินน้ำตาล คนนั้นก็รู้สึกหวาน คนที่ไม่ได้กิน จะรู้สึกหวานด้วยนั้นไม่ได้ เขาต้องกินด้วยตนเอง แล้วก็รู้สึกหวาน แต่เขาอาจจะรู้จักหรือจำไว้ได้ว่า หวานนั้นเป็นอย่างไร ต่อไปเมื่อพูดถึงหวาน เขาก็ฟังถูก แต่ที่จะรู้จักรสความหวานด้วยลิ้นนั้น ต้องคนกินเท่านั้น ถึงแม้เดี๋ยวนี้ก็เถิด เคยกินน้ำตาลมาก่อน แต่มันหวานอยู่ไม่ได้ มันต้องมากินอยู่ในลิ้น ที่ลิ้นมันจึงจะรู้สึกหวาน ไม่อย่างนั้นมันก็เป็นเพียงหวานในความจำ หรือหวานในสัญญา เขาเรียกว่า สิ่งที่จำไว้ได้ นี่เราจะมีธรรมะกันสักที แล้วก็ขอให้มันครบ ๖ องค์ องค์ ๖ คุณของพระธรรม ๖ สวากขาตัง สันทิฏฐิกัง ที่สวดเป็นนี่ กลาง ๆ ก็ สวากขาโต ภควตาธัมโม สันทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปนยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะทำจนสำเร็จประโยชน์ได้อย่างนี้ เกี่ยวกับพระธรรม เราต้องทำให้สำเร็จประโยชน์ได้อย่างนี้ ถ้าทำได้อย่างนี้ เราก็สามารถที่จะมีนิพพานในชีวิตประจำวัน ขอให้ท่านทบทวนปาฐกถาครั้งที่แล้วมาเรื่องว่า นิพพานที่พุทธบริษัทต้องทราบ ไม่เช่นนั้นก็ไม่เป็นพุทธบริษัท หรือว่าถ้าไม่มีนิพพาน ก็ไม่มีพุทธศาสนา ถ้ามีพุทธศาสนาที่ถูกต้อง ก็ต้องมีนิพพาน เหมือนกับผลไม้ มันจะเป็นผลไม้ได้ มันต้องมีเนื้อใน เป็นเนื้อผลไม้ที่กินได้ จึงจะเรียกว่า ผลไม้ พุทธศาสนาก็ต้องมีเนื้อในคือนิพพาน ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่เป็นพุทธศาสนา เราจะต้องรู้ข้อนี้ไว้ นี่นิพพานเมื่อเรารู้แล้ว เราจะเห็นได้ รู้ได้ว่า อาจที่จะมีหรือเอามาทำให้มีอยู่ในชีวิตประจำวันตลอดวันตลอดคืน คือถ้าให้เย็นเป็นชีวิตเย็นอยู่ตลอดวันตลอดคืน นั่นเรียกว่ามีนิพพานได้ มีความหมายหลายระดับ เย็นมากเย็นน้อย เย็นชั่วคราว เย็นตลอดไป ฉะนั้นถ้าว่าได้ถึงที่สุดและตลอดไปก็มีนิพพานชนิดสมบูรณ์ ได้แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านมีนิพพานโดยสมบูรณ์ เต็มที่และก็ตลอดไป ส่วนเราปุถุชนนี้ไม่สมบูรณ์ คือมีเป็นช่วง ๆ เป็นห้วง ๆ เป็นช่วง ๆ และเพราะกิเลสไม่สิ้นไปโดยสิ้นเชิง ความเย็นหรือนิพพานของเราจึงยังไม่สมบูรณ์ แต่ว่าแม้จะไม่สมบูรณ์ เราก็สามารถที่จะรู้รสของพระนิพพานนั้นได้ คือเมื่อไม่มีกิเลสกิลา (นาทีที่ 12:38) โลภะ โทสะ โมหะ มารบกวนอยู่ในจิตใจ เมื่อนั้นก็มีความหมายแห่งนิพพาน เป็นน้ฯฯฯฆความเย็น นี่อยู่ในวิสัยที่เราจะทำได้ โดยเหตุใด ๆ ที่เราทำให้มันเย็นได้ชั่วคราว มันก็เป็นตทังคนิพพาน คือด้วยการที่ทำได้ชั่วคราวนั่นแหละ และก็ความเป็นชั่วคราวนั้นก็เรียกว่า สามายิกนิพพาน นิพพานชั่วสมัย ชั่วขณะ ชั่วสมัย นี้ที่ว่าจะเอามาทำให้มีอยู่ได้ในชีวิตประจำวัน การกระทำนี้ไม่มีส่วนแห่งไสยศาสตร์ ไม่ใช่ว่าทำพิธี ทำพิธีแบบไสยศาสตร์ ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ เสกเป่ากันอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ให้เย็น เช่น พ่นน้ำมนต์ เป็นต้น มันไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้โดยวิธีอย่างนั้น มันต้องทำโดยวิธีที่ว่ากิเลสไม่มีอยู่ในจิตใจ ไฟไม่มีอยู่ในจิตใจ จิตใจมันก็เย็น ข้อนี้สำคัญมากที่จะต้องดูกันให้ดี ๆ ไสยศาสตร์นั่นสำหรับคนที่ไม่สามารถจะทำได้ด้วยกำลังความคิดสติปัญญาของตน จึงเป็นเรื่องอาศัยกำลังจิตของคนอื่นช่วยเสกเป่า มันก็มีไว้สำหรับคนปัญญาอ่อน ถ้าจะให้นิพพานมาอยู่ในระดับนี้ ก็ดูจะเหลือวิสัย แต่ก็มักจะทำกันในลักษณะอย่างนี้ คือเชื่อแล้วก็สวด แล้วก็ทำอะไรก็ตาม ชนิดที่ให้คนคนนั้นรู้สึกสบายใจบ้าง เท่านี้มันไม่พอ มันยังมีลักษณะแห่งไสยศาสตร์ ฉะนั้นถ้าว่าเราจะมีนิพพานจริงอยู่กับเราในชีวิตประจำวันต้องยิ่งกว่านั้น คือไม่ ต้องไม่เป็นไสยศาสตร์ เราสามารถทำให้มีได้ โดยกระทำที่สิ่งที่เรียกว่าจิต มันมีหลักสำคัญที่จะต้องจำไว้ให้แม่นยำว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับจิต มันสำเร็จอยู่ที่จิต ถ้าจะเป็นทุกข์ ก็จิตเป็นทุกข์ ถ้าจะไม่มีทุกข์ ก็จิตไม่มีทุกข์ จะมีสติปัญญาสามารถอะไร มันก็อยู่ที่การอบรมจิตให้เป็นอย่างนั้น เราเป็นคนชนิดไหน เรากำลังเป็นคนชนิดไหน มันก็อยู่ที่ว่าจิตเวลานั้นมันกำลังเป็นอย่างไร เช่น จิตในเวลานี้กำลังเป็นอย่างไร เราก็เป็นคนชนิดนั้น เราเป็นคนมีโลภะ มีจิตกิเลส คือโลภะอยู่ในจิต ก็เป็นคนโลภะ มีโทสะอยู่ในจิต มันก็เป็นโทสะ มันจะเป็นคิดดีคิดร้าย จะคิดอย่างโจร จะคิดอย่างคนธรรมดา จะคิดอย่างพระเจ้าพระสงฆ์ จะคิดอย่างพระอริยบุคคล มันก็แล้วแต่จิต ว่าจิตเป็นอย่างไรคนนั้นก็เป็นอย่างนั้น ท่านจึงว่าทุกสิ่งมันอยู่ที่จิต มันแล้วแต่จิต ดังนั้นเราจึงต้องจัดการลงไปกับสิ่งที่เรียกว่าจิต จะมีสุขหรือมีทุกข์ มันก็อยู่ที่จิต ทำ ทำให้มีให้เป็นได้ที่จิต มันแก้ไขได้ที่จิต แล้วมันก็ละเอียด เป็นเรื่องละเอียด มันจะยิ่งกว่าสิ่งใด ถ้าพูดถึงนิพพาน อย่างที่มีบาลีว่า เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตัง (นาทีที่ 16:41) นั่นมันสงบระงับอย่างยิ่ง มันละเอียดปราณีต เอตัง ปะณีตัง มันประณีต ละเอียดอย่างยิ่ง ต้องทำกับมันให้ดี ๆ จะรู้เรื่องนิพพาน ซึ่งที่เป็นที่สงบระงับแห่งจิต เป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เป็นการดับทุกข์
เมื่อตอนกลางวันเคยพูดว่าใครให้ให้เงินเราสักร้อยล้าน ก็ไม่ได้เพิ่มความสุขอะไรให้เรา แม้แต่สักปีกริ้น เพราะว่าความสุขนั่น มันจะมีต่อเมื่อจิตว่างเปล่าจากความรู้สึกว่ามีตัวกู ว่ามีของกู จิตกำลังว่างหรือเปล่าหรือไม่มีความรู้สึก ไม่มีความรู้สึกว่าตัวกูหรือของกู ถ้าใครเอาเงินมาให้เราร้อยล้านนี่ มันก็มีความรู้สึกตัวกู แล้วก็ได้เงินร้อยล้าน กลัดกลุ้มอยู่ในความรู้สึกที่เป็นตัวกู ของกูอย่างนี้ มันก็คือจิตที่กำลังหิ้วของหนัก เหมือนกับมือของเราหิ้วของหนักนี่ จะเป็นสุขได้อย่างไร มันไม่ว่าง มันหิ้วของหนักอยู่ จิตที่หิ้วของหนักอยู่ มีตัวกู มีของกูอยู่ มันก็มีความสุขไม่ได้ จิตมันเป็นสุขได้ เมื่อมันว่างจากความรู้สึกว่ามีตัวกู ว่ามีของกู นี่จำให้ดีเถิด มันจะช่วยได้มาก ถ้าเรามีชีวิตอยู่อย่างรู้สึกว่ามีอะไรหิ้วอยู่เป็นของหนัก มันก็ไม่มีความสุข วันหนึ่ง ๆ ก็สังเกตดูเอง เวลาไหนเราสบายใจที่สุด เวลาไหนเราสบายใจที่สุด ที่บ้านก็ดี ที่โรงเรียนก็ดี ที่ทำงานก็ดี จิตมันจะสบายที่สุด เบาสบายที่สุดก็ต่อเมื่อมันว่าง มันว่าง มันเปล่าไปจากการยึดถือ หอบหิ้วภาระต่าง ๆ เพราะฉะนั้น เราจะต้องทำให้ไม่หอบหิ้ว แม้เราจะทำงานอยู่ แม้เราจะถืออยู่ หิ้วอยู่ด้วยมือ แต่จิตไม่มีหิ้วไม่มีถือ ฉะนั้นคำสอนในพุทธศาสนาจึงมีเรื่องสำคัญอยู่ที่ว่าไม่ยึดถือ ไม่ยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนหรือของตนโดยประการทั้งปวง ข้อปฏิบัติทั้งหมดแปดหมื่นหรือกี่หมื่นข้อก็ตามเถิด มันไปรวมอยู่ที่ว่าไม่ยึดถือ ไม่ยึดถือสิ่งที่มันหลอกให้ยึดถือ คือขันธ์ทั้ง ๕ นี่อยากจะบอกให้รู้ว่า พุทธบริษัทนี่ อย่าโง่หรืออย่าเลวกว่าคริสเตียน คริสเตียนก็มีคำสอนเรื่องไม่ยึดถือเหมือนกัน แต่เขาไม่ค่อยเอามาพูดกัน ไปเปิดดูตอนท้าย ๆ ตอนกิจการของพระสาวกคัมภีร์ Corinthians เป็นคำสอนของเซนต์ปอล เป็นพุทธศาสนาเกือบทั้งหมดเลย ไอ้ที่สำคัญที่สุดก็มีสอนเรื่องไม่ยึดถือ มีภรรยาก็จงมีจิตใจเหมือนกับไม่มีภรรยา มีทรัพย์สมบัติก็มีจิตใจเหมือนกับไม่มีทรัพย์สมบัติ มีความสุขก็จงมีจิตใจเหมือนกับไม่มีความสุข ในที่นี่หมายถึงสุขอย่างโลก ๆ ไปซื้อของที่ตลาด แล้วไม่เอาอะไรมา นี่ก็เป็นคำพูดที่คมคาย ถ้าฟังไม่ถูกก็จะฟังเป็นเรื่องบ้า ๆ บอ ๆ มีภรรยาก็จงเหมือนกับไม่มีภรรยา ก็ปฏิบัติหน้าที่สามีภรรยาอยู่ แต่ไม่ได้ยึดถือว่าตัวกู ว่าของกู นี่มีทรัพย์สมบัติก็ไม่ได้ยึดถือว่ากูมีทรัพย์สมบัติของกู มีความสุขก็ไม่เกิดความรู้สึกว่ากูมีความสุขของกู ไปซื้อของที่ตลาดแล้วหิ้วมาบ้านมากินมาใช้มาอะไรต่าง ๆ ตามปกติ แต่จิตใจไม่รู้สึกว่ากูกระทำอย่างนั้น นี่เรียกว่าซื้อของที่ตลาดแล้วไม่เอาอะไรมา จิตไม่ได้รู้สึกยึดถือเหมือนกับว่าเป็นกู เป็นของกู เอาอะไรมากินอยู่ใช้อยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ถ้าพวกคริสเตียนเขาปฏิบัติได้ตามคำสอนเหล่านี้ ก็เป็นพุทธบริษัทเต็มตัว หรือเป็นพระอรหันต์ไปเลย ระวังให้ดีว่าแม้ในฝ่ายคริสเตียน เขาก็มีคำสอนเรื่องนี้ เข้าใจว่ามันถึงกันไอ้คำสอนระหว่างอินเดียกับดินแดนปาเลสไตน์นั่นมันถึงกัน เรารู้ไว้ว่า ไอ้ที่จะเป็นสุขได้จริง ๆ ก็ต่อเมื่อไม่ยึดถือว่าอะไรเป็นของเรา ถ้ายึดถือว่าอะไรเป็นของเราแม้แต่สักนิดหนึ่ง อันนั้นจะเป็นความหนัก เป็นความทุกข์ จึงว่าเขาจะให้เงินเราสักร้อยล้าน มันก็ไม่เพิ่มความสุขให้ได้ ถ้ามันเอามาเพิ่มความยึดถือว่ากูมีร้อยล้านขึ้นมา จิตจะเป็นสุขได้ต่อเมื่อจิตกำลังว่างจากความรู้สึกว่ามีตัวกูหรือมีของกู ลองไปสังเกตเถิด เรื่องนี้มันก็ มันก็สอนกันไม่ได้ด้วยปาก ไปสังเกตเองก็แล้วกันว่าเมื่อไรมีจิตใจเย็น มีจิตใจเย็น พูดก็พูดได้ว่ามันต่อเมื่อจิตมันเกลี้ยงจากการยึดถือสิ่งใด ๆ ไม่หอบหิ้วสิ่งใด ๆ เมื่อนั้นมันเกลี้ยง ไม่เป็นทาส คือไม่ไปหลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัวสิ่งใด ๆ ฉะนั้น มันว่าง มันก็เย็น ตามแบบของนิพพาน ไอ้รดน้ำมนต์ให้เย็นนี่ มันก็ได้แต่ผิวหนัง มันเย็นที่ผิวหนัง แต่พอจะเป็นเครื่องเปรียบเทียบให้คำนวณได้ว่า มันเย็น มันเย็นก็แล้วกัน ไอ้รดน้ำมันนี่มันก็เย็น แต่ถ้าว่าจะเป็นนิพพานจริง ๆ มันต้องเย็นที่ข้างใน ไม่ใช่ที่ผิวหนัง เย็นเพราะว่ากิเลสมันไม่มี กิเลสที่เป็นไฟมันไม่มี แล้วมันก็เย็น ไม่มีนิพพานไสยศาสตร์ รดน้ำมนต์ให้เย็นชั่วขณะหนึ่งก็ได้ ก็ดีเหมือนกันแหละ มันดีกว่าไม่รู้สึกอะไรเสียเลย แต่ถ้าจะให้เป็นนิพพานจริง ๆ กันแล้ว มันก็ต้องไปที่นู้น ความทิฏฐิมันหมด มันร้อน (นาทีที่ 24:35)
ทีนี้เราจะทำให้มันเย็นในชีวิตประจำวันตลอดวัน ๆ ได้อย่างไร ก็มันอยู่ที่ความสามารถของเรา คือมีธรรมะพอ ไอ้ความสามารถก็จัดเป็นธรรมะเหมือนกัน เราสามารถมีธรรมะ ไอ้ธรรมะมันก็เป็นธรรมะ ไอ้ความสามารถที่จะมีธรรมะ มันก็มี ก็เป็นธรรมะด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นเราสามารถที่จะมีธรรมะ คือไม่ให้กิเลสโผล่ขึ้นมาได้ ทีนี้ก็จะพูดถึงเรื่องจะไม่ให้กิเลสโผล่ขึ้นมาได้ นี่จะต้องทำอย่างไรกัน มันต้องรู้ความลับอีกข้อหนึ่งที่ว่า ธรรมดาจิตนั้นไม่มีกิเลส จิตมันเพิ่งเกิดกิเลสหรือเพิ่งมีกิเลสเกิดขึ้นครอบงำจิต ช่วยจำคำว่า ประภัสสร ไว้ให้ดี ๆ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ไอ้จิตนี้ประภัสสร มีธรรมชาติประภัสสร คือไม่มีกิเลส ไม่มีเศร้าหมอง ไม่มีขุ่นมัว ประภัสสรใสเหมือนกับเพชรหรือน้ำค้าง น้ำค้างกลางแสงแดดบนใบไม้ มันมีลักษณะประภัสสร ใสกระจ่าง จิตนี้ตามธรรมชาติเป็นประภัสสร แต่แล้วจิตนี้ก็เป็นอุปกิลิฏฺฐํ คือ เศร้าหมอง ขุ่นมัวไป ไม่ประภัสสร เพราะมีกิเลสหรืออุปกิเลสเป็น เป็นอาคันตุกะเข้ามา ท่านใช้คำว่า อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ (นาทีที่ 26:27) ทำไมต้องพูดเล่นสำนวนว่าเป็นอาคันตุกะเล่า ที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องเล่นสำนวน มันบอกความจริงว่าไอ้กิเลสนั่นมาชั่วคราว มาเหมือนแขก มาเยี่ยม ไม่ได้มาอยู่เลย ไอ้สิ่งที่เรียกว่ากิเลสนั้นเกิดขึ้นเป็นคราว ๆ จึงใช้คำว่าอาคันตุกะ คือเป็นแขกมาทำให้เศร้าหมอง พอกิเลสเกิดขึ้น จิตก็เศร้าหมอง พอกิเลสกลับไป จิตก็ประภัสสรตามเดิม ข้อนี้เป็นข้อสำคัญอยู่ เรียกว่าเป็นความลับของธรรมชาติที่เราจะต้องรู้สึกหรือรู้จักจริง ๆ โดยดูที่จิตของเราเอง ไม่ต้องเชื่อคำพูดที่พูดหรือเทศน์ คือดูให้รู้ ให้รู้สึกเห็นชัดลงไปว่า เมื่อไม่มีอะไรมารบกวนจิตมันก็เป็นอิสระ เศร้าหมอง เอ้อ, เป็นอิสระ ไม่เศร้าหมอง เย็น สบาย สว่าง ไสว จะใช้คำว่า สะอาด สว่าง สงบก็ได้ แต่ถ้ากิเลสเป็นแขกมาเยี่ยม อ้าว, มันก็หมดแล้ว หมดสะอาด หมดสว่าง หมดสงบแล้ว คิดดู แล้วก็สังเกตดู แล้วก็มองให้เห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ แก่จิตของเรา แก่จิตของเรา ถ้ามองเห็นความจริงข้อนี้แล้วก็เรียกว่าง่ายมากแหละ ถ้าเขาเห็นความจริงข้อนี้ เขาจะมีกำลังใจขึ้นมาทันที มีกำลังใจขึ้นมาในข้อที่ว่า โอ้, จิตนี้มันเป็นอย่างนี้ จิตนี้เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ ถ้ามองเห็นว่ามันอยู่กันอย่างนี้แล้วจะรู้สึกว่าจิตนี้เป็นสิ่งที่เราจัดการกับมันได้ คือพัฒนาได้ พัฒนาไม่ให้มันรับแขก ไม่ให้มันมีอาคันตุกะ กิเลสมาเยี่ยมนั่นเอง แล้วก็มีกำลังใจว่า ไม่เหลือวิสัยโว้ย, มันเป็นสิ่งที่ทำได้ แล้วก็ทำ
นี่จะเป็นเหตุให้เราสามารถมีจิตประภัสสรอยู่ได้ อย่ามีกิเลส อย่ามีอุปกิเลส แล้วมันก็จะเป็นจิตประภัสสร จิตโดยกำเนิดเกิดมาจากท้องแม่ เด็กทารกมีจิตที่เป็นประภัสสร ทีนี้ถ้าเด็กมันโตขึ้น กินนมได้ กินของได้ เล่นหัวได้อะไรได้ มันก็น้อมไปชอบไปหลงรักไอ้ของอร่อย เอร็ดอร่อย สนุกสนาน นั่นมันละความเป็นประภัสสร มันวิ่งตามโจรไป เรื่องนี้ดี จะอ่านอีกที วันก่อนอ่านทีแล้วนะ เหมือนดังเด็กแล หนีพ่อหนีแม่ วิ่งตามโจรมา แต่อดแต่ยาก ลำบากเวทนา โอ้อนิจจา เห็นโจราน่าเชย โจรนี้ใจร้าย ทำใดทำได้ ไม่ปรานีเลย แต่ร่ำร้องไห้ไม่มีสุขเหลย ใจโจรนี้เอ๋ยไม่คิดเอ็นดู ว่าจิตทีแรกมันมีธรรมชาติประภัสสร อยู่กับประภัสสร แต่พอมันได้กินอะไรอร่อย ได้ชิมอะไรอร่อยของแขกผู้มาเยี่ยมคืออุปกิเลส มันหลงรัก มันตามไป มันสลัดไอ้ความเป็นประภัสสร ซึ่งเหมือนกับบิดามารดา มันไปอยู่กับโจร ยิ่งโต ยิ่งวันยิ่งคืน ยิ่งโตเป็นหนุ่มเป็นสาว อะไรมันก็ยิ่งหลงไปในสิ่งที่โจรมันมีให้ หรือล่อเอาไป เหมือนกับมีคนมาเอาของเด็ก ๆ ชอบมาล่อเด็ก ๆ จับตัวเอาไป เรียกค่าไถ่อะไรก็แล้วแต่ จิตมันมีลักษณะอย่างนั้น นี่หนังสือเล่มนี้เป็นของปักษ์ใต้ จะพยายามให้ได้ไปอ่านดูคนละเล่ม ดูความรู้และการศึกษาของคนปักษ์ใต้สมัยหนึ่ง คนพูดข้อความอย่างนี้ได้ และก็ข้อความที่รุนแรงกว่านี้ ที่ว่าทั้งลาภทั้งสูญล้วนแต่อัปรีย์ ทั้งได้ทั้งเสียล้วนแต่อัปรีย์ คนปักษ์ใต้พูดได้ คนกรุงเทพฯ พูดได้เมื่อไร แล้วก่อนนี้คนกรุงเทพฯ กินลูกสะตอเป็นเมื่อไร แล้วเดี๋ยวนี้คนกรุงเทพฯ บ้ากินลูกสะตอยิ่งกว่าคนปักษ์ใต้ คนกรุงเทพฯ ซื้อไปเสียหมดจนคนปักษ์ใต้จะไม่มีกินอยู่แล้ว ฉะนั้นขอให้สนใจว่าที่ปักษ์ใต้นี่มันก็มีอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอ้หนังสือเล่มนี้ขอให้เอาไปศึกษาดู เหมือนกับคนที่ไม่เคยกินลูกสะตอ ถ้าที่นครศรีธรรมราชแล้วก็หนังสือเรื่องสุบิน หาซื้อไปอ่านดูเถิด จะมีขายที่ไหนก็บอกไม่ถูก แต่ว่าหนังสือเล่มนั้นแหละควรจะอ่านอย่างยิ่ง แม้มันจะเป็นเรื่องงมงาย เรื่องนรก เรื่องอะไรตามแบบของคนโบราณ แต่เป็นหนังสือที่ควรอ่านอย่างยิ่ง มนุษย์มีศีลธรรมได้ดีสมัยโบราณก็เพราะหนังสือชนิดนี้ ก็เรียกว่า หนังสือเรื่องเจ้าสุบิน เด็ก ๆ พอเรียนก.ขอ ก.กา แล้วก็อ่านหนังสือสุบิน แล้วเขาก็เป็นคนที่ยึดมั่นในฝ่ายความถูกต้องหรือความดี มันไม่วิ่งตามโจรไป มันอยู่กับพ่อแม่ตลอดเวลา หนังสือรุ่นโบราณของปักษ์ใต้ก็มีดีอยู่บางเรื่อง ลอง ลองพยายามอ่านดู แล้วก็คงจะเปลี่ยน ไม่เคยกินลูกสะตอ ก็กินแล้วก็ชอบ ทำนองอย่างนั้นแหละ
เรื่องจิตประภัสสร มันคือเรื่องจิตที่มันอยู่ในร่องรอยเดิมของธรรมชาติแล้ว พอมันพบของอร่อย ของใหม่ ของอุปกิเลส มันติดใจแล้วมันวิ่งตามไป ที่วิ่งตามโจรไป ที่โจรเขาเอาของมาล่ออร่อย ก็ทิ้งพ่อแม่ไป พออยู่ใต้กำมือโจร ทีนี้ก็แย่แหละ คิดดูเอาเถิด กิเลสมันจะทำให้ทำอะไรบ้างก็ดูเอง ฉะนั้นก็อยากจะพูดโดยไม่ต้องกลัวโกรธ มันได้แก่พวกคุณนั่นแหละ พวกคุณหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่โตขึ้นมาทุกวัน ๆ นั่นแหละ มันมีอาการแห่งการวิ่งตามโจรไป ทีนี้ก็แล้วแต่ว่าโจรมันจะกระทำอะไร มันก็ทำได้ตามปรารถนา เพราะว่าเด็กคนนี้ได้ทิ้งพ่อแม่ไปโดยเด็ดขาดแล้วไปอยู่กับโจร นี่กว่ามันจะรู้จัก อ้าว, นี่โจร แล้วคิดฆ่าโจร ทำลายโจรให้เป็นอิสระนั่นแหละ คือธรรมะ ที่ย้อนกลับมา มันเป็นเรื่องที่ยากอยู่เหมือนกันที่ว่าตัวเองจะช่วยตัวเอง ตัวเองจะเป็นที่พึ่งแก่ตัวเอง มันยาก มันยากอย่างนี้ มันทิ้งพ่อแม่ตามโจรไปอยู่กับโจร แล้วมันจะถอนตัวเองออกมาจากโจรได้อย่างไร มันก็ยากอยู่ และนั่นคือหน้าที่และหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องทำอย่างนั้น ที่จะต้องถอนตัวออกมาให้พ้นจากอำนาจของโจร คือกิเลสอวิชชา ที่มาจากอวิชชาทั้งหลาย นี่คือธรรมะ ศึกษาธรรมะ แอบศึกษาธรรมะ ภายใต้หลังคาโจร ไปอยู่กับโจร ใต้หลังคาโจร แอบศึกษาธรรมะ เอาไว้ให้พอ ก็พอแล้ววันหนึ่งคืนหนึ่งก็ลุกขึ้นฆ่าโจร เพื่อความเป็นอิสระอย่างเดิม ลักษณะของชีวิตที่เกี่ยวกับพระนิพพานน่ะ มันเป็นอย่างนี้นะ มันเป็นอย่างอื่นไม่ได้นะ เพราะว่าตั้งแต่เราเกิดมาจากท้องมารดา มันเป็นอย่างนี้มาเสียแล้ว มาเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ จนเป็นหนุ่มเป็นสาว พ่อบ้านแม่เรือนถึงเป็นคนแก่คนเฒ่าก็มี มันพอใจโจรไปแล้ว จะขบถโจรจะฆ่าโจร จะมาเป็นอิสระ มาเป็นสภาพเดิมประภัสสรนี่มันก็ต้องช่วยตัวเอง
นี่ความเป็นประภัสสรที่มันมีได้ชั่วคราว ไอ้คราวที่โจรไม่เบียดเบียนเรา ก็มีเหมือนกัน ที่เราไปเป็นทาสของโจรไปอยู่กับโจร โจรเฆี่ยนตีใช้สอยอย่างไร มันก็มีแหละ แต่ว่าเวลาที่มันว่าง มันหยุดพัก มันก็มีบ้างแหละ ใครจะมาใช้ มาเฆี่ยนมาตีกันทั้ง ๒๔ ชั่วโมงอย่างไรได้ ฉะนั้นเวลาที่เราว่างจากกิเลส ว่างนั่นแหละ มีประภัสสรบ้าง กลับอยู่กับนิพพานบ้าง ใช้โอกาสนั้นแหละทำหน้าที่ศึกษาฝึกฝนเพิ่มเติม อย่างมาศึกษาอย่างนี้ ก็คือมาหาหนทางที่จะสะสมซ่องสุมอาวุธเพื่อจะฆ่าโจร ได้โอกาสเมื่อไรก็จะฆ่าโจร นี่เราจะพยายามอย่างนี้ เรียกว่าพัฒนาจิตอยู่ทุกวัน ๆ แล้วพยายามที่จะให้โจรมันทำร้ายเราน้อยที่สุด ให้โจรทำร้ายทำอันตรายบีบคั้นเราน้อยลง ๆ ให้เรามีเวลาว่างมากขึ้น ๆ นี่เราจะเพิ่มความเป็นอิสระหรือนิพพานในชีวิตประจำวันให้มันมากขึ้น แต่แล้วไอ้งานหรือหน้าที่นี่ มันยากขนาดนี้ แล้วจะทำอย่างไรที่จะมีโอกาสดี ถ้าดีที่สุดมันก็ไม่ต้องวิ่งตามโจรไป หรือมันวิ่งตามโจรไปสักครึ่งทาง มันวิ่งกลับมาเสีย มันก็มีปัญหาน้อยกว่าที่ว่าเราจะวิ่งไปอยู่กับโจร ใต้อำนาจของโจรโดยประการทั้งปวง ถ้าเผอิญได้รู้ธรรมะเร็วสักหน่อย มันก็เหมือนกับว่าวิ่งตามโจรไปได้ครึ่งทางแล้วหนีกลับมาเสีย อย่างนี้มันก็ดีกว่า ที่เราจะวิ่งกลับมาเสียหรือว่าจะป้องกันการหลงหนีไปตามโจรนั่นแหละ มันก็จะต้องมีวิธีปฏิบัติ อย่าวิ่งต่อไป หยุดเสีย วิ่งถอยกลับเสีย
ฉะนั้น ต้องศึกษาเรื่องว่า โจรหรือกิเลสเป็นไฟ มันเข้ามาในจิตได้อย่างไร เพื่อเข้าใจคำว่า ตอนนี้จิตประภัสสร เดี๋ยวนี้จิตไปหลงตามอุปกิเลสที่เป็นไฟหรือเป็นโจร ฉะนั้นก็ต้องเรียนรู้เรื่องของจิต เพราะว่าทุกอย่างมันสำเร็จอยู่ที่จิต ขึ้นอยู่กับจิต เป็นอยู่ที่จิต เรามาคิดว่าเคยอธิบายเรื่องนี้กันแล้ว แต่บางคนอาจจะไม่ได้ฟัง หรือฟังแล้วลืมเสีย เพราะไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ มาฟังแล้วก็ลืมเสีย มันก็ได้หนีไปหาโจรมากขึ้น เป็นโอกาสที่จะไปติดพันอยู่กับโจรมากขึ้น ฉะนั้นจึงต้องรู้จักควบคุมจิต ควบคุมจิตไม่ให้วิ่งหนีตามโจรไป หรือกลับมาเสียหรือว่ามาตั้งหลักกันใหม่ อยู่อย่างชนิดที่โจรจะมาล่อหลอกเอาตัวไปอีกไม่ได้ สมมุติเหมือนเด็กคนหนึ่งถูกโจรจับไปแล้วมันหนีมาได้ มาอยู่กับพ่อแม่ ทีนี้มันก็ฉลาดพอที่จะไม่ทำให้โจรเอาอะไรมาล่อหลอกเอาตัวได้อีก นี่คือการปฏิบัติธรรมะ เด็กคนนั้นมันจะต้องรู้จักวิธีของโจรว่ามันจะมาหลอกเอาไปอีกอย่างไร มันรู้เท่าเสียแล้ว ฉะนั้นเราศึกษาธรรมะก็เพื่อรู้ข้อนี้แหละ ไอ้เรื่องที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท นั่นแหละเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นเรื่องทั้งหมดของเรื่องนี้ แต่เราก็มักจะท้อถอยกันเสีย ว่ายาก ว่าลำบาก แม้แต่ชื่อก็ฟังยาก อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาโท (นาทีที่ 41:08) นี่ ชื่อก็ฟังยาก รุ่มร่ามรุงรัง เลยไม่ค่อยสนใจ มันก็ต้อง ไม่รู้ล่ะ ถ้าอยากจะมีนิพพานคือความเย็นในชีวิตประจำวันแล้วต้องสนใจเรื่องนี้ เพราะว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องควบคุมจิตให้อยู่แต่ในความเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลส ขอพูดย่อ ๆ สั้น ๆ อีกทีหนึ่ง เผื่อคนที่ไม่เคยฟัง แล้วจะไม่เข้าใจเรื่องที่จะพูดต่อไป อาตมามักจะเผลอ คือถือว่าเคยฟังแล้ว ไม่พูดอีก เช่นคำว่า อิทัปปัจจยตานี่ มักจะพูดแต่ชื่อ ออกแต่ชื่อ แล้วคนที่ไม่เคยรู้เรื่อง มันฟังไม่ถูก ขอให้เป็นหน้าที่ของผู้นั้นไปติดตาม ไปหามาศึกษาเอาเองให้รู้เรื่องอิทัปปัจจยตา เรื่องเดียวกันกับเรื่องปฏิจจสมุปบาท แปลว่า มันสิ่งซึ่งมันอาศัยปัจจัย แล้วเกิดขึ้น อาศัยปัจจัยแล้วเกิดขึ้น อาศัยปัจจัยแล้วเกิดขึ้น มันเป็นกฎธรรมชาติ เป็นกฎแบบวิทยาศาสตร์ เป็นกฎของธรรมชาติ มันอาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา อาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา เรื่อย ๆ เรื่อยไปอย่างนี้เรื่อยไป นับตั้งแต่มันไม่มีจักรวาลนี้ไม่มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ไม่มีอะไรหมดเลย แล้วมันอาศัยเหตุปัจจัย คือ กฎอิทัปปัจจยตา ค่อย ๆ เกิดขึ้น ค่อย ๆ เกิดขึ้น ๆ เดี๋ยวนี้มีเต็มไปหมดแล้ว อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น นี้เรียกว่า อิทัปปัจจยตา เรื่องเรื่องเดียวกันต้องมีอะไรเป็นปัจจัย และสิ่งใหม่ก็จะเกิดขึ้น เหมือนเราอาศัยบิดามารดา เราก็เกิดเป็นชีวิตออกมา แล้วก็อาศัยนมมารดา อาศัยอาหาร ข้าวสุก ขนมสด (นาทีที่ 43:27) การประคบประหงม บริหาร เด็ก ๆ ก็รอดตาย เด็ก ๆ เกิดอยู่ก็เป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นคนขึ้นมา นี่อาการของอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาท เรื่องทางจิตก็เหมือนกัน มันต้องได้อาศัยปัจจัยนั่นนี่ แล้วมันก็เป็นจิต เป็นความคิด แล้วก็ดำเนินต่อไป นี้เรื่องสำคัญมันอยู่ที่จิต จิตนี้มันต้องอยู่กับร่างกาย ถ้าไม่มีร่างกาย จิตมันก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันจึงต้องอยู่ด้วยกัน เป็นเรื่องกายกับใจอยู่ด้วยกัน แล้วก็ทำอะไรได้ เดี๋ยวนี้ เรามีกายกับใจอาศัยกันอยู่ เราก็ทำอะไรได้
ทีนี้ก็มีเครื่องติดต่อกันระหว่างกายกับใจ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจเองที่มีระบบประสาทให้รู้สึกอะไรได้ นั่นแหละจุดตั้งต้นของการศึกษาที่จะควบคุม ควบคุมกิเลสน่ะมันอยู่ที่นั่น ฉะนั้นทุกคนจงพยายามอย่างยิ่งที่จะรู้จักไอ้ตา หา จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ดี พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นั่นแหละเป็นจุดตั้งต้น
(นาทีที่ 45:00 – 46:10 หันไปพูดกับคนอื่นเป็นภาษาปักษ์ใต้ และเสียงเงียบหายไป)
เราจะตั้งต้นที่จุดตั้งต้น การศึกษาก็ดี การปฏิบัติก็ดี อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนเรียกได้ว่า ก.ขอ ก.กาของพระพุทธศาสนา อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราตั้งต้นเรียนพุทธศาสนากันที่นี่ ก็จะรู้พุทธศาสนาได้ง่าย ได้ตรง ได้ชัดเจน ได้สำเร็จประโยชน์ แต่เราไม่ได้ตั้งต้นกันอย่างนี้ ไม่ได้ตั้งต้นศึกษาตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ ทำอะไรกันอย่างไรจึงเกิดกิเลส สูญเสียความเป็นประภัสสร เราตั้งต้นด้วยการที่ว่าไม่ต้องรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไปจับตัวเด็ก ๆ มาว่า นะโม อิติปิโส ภวควา ให้รับศีล ให้สมาทานศีล ให้สวดมนต์ นี่ อย่างนี้มันได้กัน ได้อะไรลองคิดดู มันยังไม่ถึงจุดของก.ขอ ก.กาด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น เราจะต้องจับไอ้จุดตั้งต้นก.ขอ ก.กาให้ถูก แล้วก็เรียนไปเถิดมันก็จะรู้พุทธศาสนา ไอ้เรื่องนี้ก็เป็นปัญหามากทีเดียว ที่ว่าพ่อแม่เขาไม่ได้รู้เรื่องนี้ เขาก็ทำกับลูกไม่ถูก ก็สอนให้ว่า นะโม อิติปิโส จับตัวมารับศีล รับศีล รับศีล ทำบุญทำทาน ทำกันไปตามเรื่องโดยที่ไม่รู้ว่าทำไปทำไม แต่ถ้ารู้ มันก็รู้ว่าความทุกข์มันก็ตั้งต้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
นี่ขอให้ฟังให้ดี โดยเฉพาะที่ไม่เคยได้ฟัง หรือฟังแล้วลืมเสีย ขอย้ำบ่อย ๆ ว่า จงสนใจเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตาคู่กับรูป สำหรับเห็นรูป หูคู่กับเสียง สำหรับฟังเสียง จมูกคู่กับกลิ่น สำหรับดมกลิ่น ลิ้นคู่กับรส สำหรับรู้รส ผิวกายผิวหนังทั่วไปคู่กันกับสิ่งที่จะมากระทบผิวหนัง จะรู้สึกสิ่งที่จะมากระทบผิวหนัง และใจสำหรับจะรู้สึกสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นในใจ นี้เรียกว่า ไอ้ตัวก.ขอ ก.กา ทีนี้มันก็ทำงานไปตามลำดับ ยกตัวอย่างคู่แรก ตากับรูป ตาได้รูปมา เกี่ยวข้องกับตาก็เกิดจักษุวิญญาณ คือการเห็นทางตา ทีนี้ก็ได้เป็น ๓ เรื่อง มีตา มีรูปที่มากระทบตา และจักษุวิญญาณที่เกิดขึ้นสำหรับรู้สึกต่อรูปนั้น เรียกว่า ๓ อย่างนี้ทำงานถึงกันเข้าแล้วในหน้าที่แล้ว ก็เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ คำว่าผัสสะนั้นเป็นคำที่สำคัญที่สุด ปัญหาทั้งหมดทั้งโลกทั้งหมดเลยน่ะ มันตั้งต้นที่ผัสสะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่างนั้น กิเลสก็ตั้งต้นที่ผัสสะ บุญบาปก็ตั้งต้นที่ผัสสะ อะไรมันก็ตั้งต้นที่ผัสสะ แล้วผัสสะที่ไหน ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันพบกันเข้ากับรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เกิดวิญญาณ ๓ ประการสัมผัสกันอยู่ นี่เรียกว่าผัสสะ ตรงนั้นแหละเป็นจุดตั้งต้นของปัญหาทั้งหมด หรือของทุกอย่างทุกเรื่องในโลก นอกโลกก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้จักเรื่องของผัสสะ ควบคุมมันไว้ให้ได้ คือให้เป็นผัสสะที่สว่างไสว เป็นผัสสะที่มีปัญญา มีวิชชา เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นผัสสะที่รู้สึกตัวหรือฉลาด อย่าเป็นผัสสะโง่หรือหลับตา ก็หมายความว่า เมื่อมีผัสสะ ขณะที่มีผัสสะ เราต้องมีความรู้ธรรมะเข้าไปจัดการกับผัสสะ ให้ผัสสะมันเดินไปทางฝ่ายที่สว่างไสว รู้ธรรมะ ป้องกันกิเลส แล้วก็ไม่มีความทุกข์ ถ้าปล่อยไปตามธรรมดาของคนที่ไม่รู้อะไร ไม่เคยเรียนรู้อะไรหรือไม่สนใจจะรู้อะไร มันก็เป็นผัสสะโง่ ผัสสะมันก็ให้เกิดความโง่ต่อ ๆ ไป เพราะมันเป็นผัสสะโง่ มันไม่รู้อะไร เมื่อมันไปสัมผัสเข้ากับสิ่งที่น่ารัก มันก็หลงรัก นี่มันโง่อย่างนี้ เมื่อมันไปสัมผัสเข้ากับสิ่งที่น่าโกรธน่าชัง มันก็โกรธหรือเกลียด หรือไปสัมผัสเข้ากับสิ่งที่น่ากลัว มันก็กลัว หรืออะไรทุกอย่างแหละ มันเป็นผัสสะโง่ มันก็เกิดผลคือการรู้สึกอย่างโง่ ๆ ก็เรียกว่าเป็นเวทนาโง่ เวทนาโง่คือเวทนาที่อวิชชามันจูงไป มันก็หลงรัก ที่น่ารักก็หลงรัก น่าเกลียดก็หลงเกลียด น่าได้น่ามีน่าเป็นอะไร มันก็เป็นไปตามนั้น มันก็ยุ่งเป็นความทุกข์ เมื่อผัสสะเป็นจุดตั้งต้นของความผิดหรือความถูก ต่อไปข้างหน้า จะเป็นบุญเป็นบาปเป็นสุขเป็นทุกข์ ไปนรกสวรรค์ เอ้อ, มันอยู่ที่ผัสสะนั่นเอง
แล้วทีนี้ผัสสะนี่ มันมีได้ตั้ง ๖ ทาง เพราะฉะนั้นก็มีได้มากสิในวันหนึ่ง ๆ มันก็มีได้มาก วันหนึ่ง ๆ มีได้มาก ช่วยจำให้ดี แล้วไปสังเกตดูให้ดีว่า วันหนึ่ง ๆ มันมีผัสสะกี่ครั้ง เดี๋ยวทางตา เดี๋ยวทางหู เดี๋ยวทางจมูก วันหนึ่งมันกี่ครั้ง ก็เรียกว่าผัสสะทั้งนั้น เพราะฉะนั้นต้องทำให้ถูกต้องในขณะแห่งผัสสะ ไม่อย่างนั้นกิเลสก็จะเกิด คือความโง่ แล้วก็หลงรัก แล้วก็หลงอยาก แล้วก็ยึดมั่นถือมั่น ที่รักก็ยึดมั่นถือมั่นอย่างของน่ารัก ที่น่าเกลียดน่าชังก็ยึดมั่นถือมั่นเป็นของน่าเกลียดน่าชังน่ากลัว มันก็เลยไปถึงกับว่าเป็นทุกข์เพราะฉะนั้น ระวังผัสสะอย่างเดียวนั่นแหละ จะไม่เกิดไฟ หรือความร้อนขึ้นมา จะเย็นเป็นนิพพานอยู่เสมอ เหมือนกับไอ้ลูกทารกนั้นน่ะ มันไม่หนีแม่ไปอยู่กับโจร มันจะอยู่กับความถูกต้อง คือ ธรรมะ มีความเป็นประภัสสรอยู่เสมอ นี่ถ้าเรารู้จักระวังผัสสะ อย่าให้โง่หลงไปตามสิ่งหลอกลวงของผัสสะ มันก็เรียกว่า ไม่วิ่งหนีตามโจรไป แต่อยู่กับพ่อแม่ คือธรรมะ นี่จะควบคุมจิตอย่างนี้ได้ไหมในชีวิตประจำวัน กำลังศึกษาเล่าเรียนก็ดี กำลังทำการงานก็ดี เป็นครูบาอาจารย์ก็ดี เป็นลูกศิษย์ก็ดี มันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่คอยรับอารมณ์อยู่ทั้งนั้น การรับอารมณ์นั่นแหละเรียกว่าผัสสะ นั่นแหละวินาทีที่สำคัญที่สุด ยิ่งกว่าวินาทีทองหรือวินาทีอะไรไปเสียอีก เพราะว่าถ้าผิดตรงนั้นมันก็ผิดหมด ฉะนั้นถ้ามีผัสสะก็ต้องมีสติรู้สึกตัวทันที อ่อ, นี่ผัสสะ มันเป็นอย่างไรก็รู้ ควรทำอะไรก็ทำ แต่อย่าไปหลงรัก หลงเกลียด หลงโกรธ หลงกลัว หลงอะไรเหมือนกันที่หลง ๆ กันอยู่ นั่นมันเป็นไฟ มันไม่ใช่นิพพาน และรู้เท่าทันผัสสะ มันก็ไม่ไปหลงอย่างนั้น แต่มันรู้นะ มันรู้ว่าเรื่องนี้จะต้องทำอย่างไร เรื่องที่เรากำลังเห็นอยู่ ได้ฟังอยู่ ได้ดมอยู่ อะไรอยู่นี่ จะต้องทำอย่างไร ก็ทำไป ได้รับแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษ ฉะนั้นเราจัดการกับสิ่งที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ ให้มีแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษ เพราะไม่หลงรัก ไม่เกิดกิเลส นี้ก็เย็น ถ้าอย่างนี้ก็เย็น อยู่ที่นี่ เป็นนิพพาน อยู่ที่นี่ในชีวิตประจำวัน จะเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อะไรก็ตาม ให้มันถูกต้อง แล้วมันเย็นอยู่ ไม่ร้อน ไม่เป็นกิเลสร้อนเกิดขึ้นมา แต่จะเรียกว่ามีนิพพานเย็นในชีวิตประจำวัน เพราะว่าเราประพฤติกระทำอย่างถูกต้องต่อสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ หรือในขณะแห่งผัสสะ
ความวินาศก็อยู่ที่ผัสสะ ความเจริญรุ่งเรืองก็อยู่ที่ผัสสะ ไปสนใจตามหลักของธรรมะที่ได้ยินได้ฟังไป แต่ได้ยินได้ฟังเฉย ๆ มันทำอะไรไม่ได้ มันต้องปฏิบัติให้ถูกต้องกับเรื่องกับราวนั้นด้วย ต้องมีสติพอ ต้องมีความรู้พอ เราทำวิปัสสนาที่เรียกว่ากรรมฐาน เพื่อให้มีสติมากพอ ให้ความรู้มากพอ ให้ความรู้เรื่อง โอ้, มันเช่นนั้นเอง ตถาตา มันเช่นนั้นเอง มันเป็นอิทัปปัจจยตา เช่นนั้นเอง มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นนั้นเอง รู้อันนี้พอ นี่เรียกว่าปัญญา พอเกิดผัสสะ ปัญญาต้องเข้ามารู้ทันที ถ้าไม่มีปัญญา มันก็ไม่มีปัญญาจะมา ถ้ามีปัญญา แต่ไม่มีอะไรจะนำมา มันก็ไม่ได้มา เพราะฉะนั้นเราต้องมีเครื่องนำปัญญามา นั่นคือสติ สติความระลึกได้ ระลึกถึงความรู้ที่เป็นปัญญา เอามาทันเวลาเมื่อมีผัสสะ ถ้าเปรียบก็ว่าสตินี่เหมือนเครื่องขนส่ง ไอ้ปัญญานี่เหมือนสิ่งที่จะมาทำหน้าที่แก้ปัญหา เหมือนคลื่นวิทยุที่มี ๆ กันอยู่นี่ ไอ้คลื่นพามาก็อันหนึ่ง แล้วก็คลื่นเสียงที่จะเป็นเสียง มันก็อีกคลื่นหนึ่ง คลื่นพามา คลื่นนำมันก็พาคลื่นเสียงมา มาสร้างเสียงขึ้นใหม่ได้ยินเสียงอีก เป็น ๒ สิ่งอยู่ มันมีสิ่งที่พามาและสิ่งที่ถูกพามา มันจึงมีเสียงวิทยุให้เราฟังที่นี่ เมื่อมีปัญหาที่ผัสสะ มันต้องสิ่งพามา คือ สติ แล้วพาอะไรมา ก็พาปัญญามา ที่เราอบรมสติอยู่เสมอด้วยการฝึกอาณาปาณสติ นี่เราก็จะเป็นคนมีสติ แล้วก็มีสติมากพอด้วย แล้วมีสติเร็ว ยิ่งกว่าสายฟ้าแลบด้วย ฉะนั้นถ้าเราฝึกสติพอ เราจะมีสติเร็วและมากพอสำหรับขนเอาปัญญาคือความรู้มาทันเวลาเมื่อมีผัสสะ แต่ฟังดูแล้วมันก็คงจะงง คืออะไร ๆ มันก็อยู่ที่จิต จิตตัวเดียวทำหน้าที่ทุกอย่าง เพราะว่าฝึกไว้ดี มันจึงทำได้ จะเป็นผู้รู้หรือผู้ไม่รู้ ก็อยู่ที่จิต จะพามาหรือไม่พามาก็อยู่ที่จิต จะเป็นสติหรือปัญญามันก็เป็นเรื่องที่จิต แล้วฝึกให้ดีเถิด รู้จักกลัว รู้จักหลาบจำต่อความทุกข์ ต้องรู้จักกลัวความทุกข์ รู้จักเข็ดหลาบต่อความทุกข์ มันจึงจะมีสติมีปัญญาเพิ่มขึ้น นี่เราจะควบคุมสติ มีสติ ควบคุมผัสสะ ถ้าจะทำความกำหนด แล้วก็ทำความกำหนดว่า ไอ้ผัสสะนั่นแหละ เหมือนกับว่าจุดเป็นจุดตาย จุดที่จะเป็นหรือจุดที่จะตาย จะทุกข์หรือจะไม่ทุกข์มันอยู่ที่ผัสสะ แต่ตามธรรมดาของคนปุถุชนน่ะ มันเป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละ เพราะว่าคนปุถุชนไม่มีสติไม่มีปัญญา ฉะนั้นเรื่องของผัสสะจึงเป็นเรื่องทุกข์ทั้งนั้นแหละสำหรับปุถุชน เป็นเหมือนกับยักษ์ร้าย มารร้าย ผีร้าย อะไรก็ล้วนแล้วแต่จะเรียกน่ะ มันอยู่ที่ผัสสะ แต่ถ้าเป็นพระอริยเจ้าก็มีปัญญา มีอะไรพอ ก็ควบคุมผัสสะได้ ก็ไม่เกิดความทุกข์ ก็อยู่อย่างไม่มีความทุกข์ มันก็เย็นเป็นนิพพาน
นี่ไปเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่เคยพูดมาแล้ว เคยพิมพ์แจกไปแล้ว พอมีผัสสะ แล้วก็มีเวทนา ถ้าผัสสะโง่ เวทนามันก็โง่ ก็เกิดตัณหาคือความอยากไปตามเวทนา ก็อยากโง่ โง่อีก ความอยากอย่างโง่นี่ก็เกิดความยึดถือโดยอุปาทาน เป็นอุปาทาน มีตัวกูของกูขึ้นมา ก็กวาดเอาอะไรมาเป็นของกูหมดเลย แม้แต่ความทุกข์ก็เอามาเป็นของกู เกิดแก่เจ็บตายก็เอามาเป็นของกู มันโง่ถึงขนาดนี้คิดดู มันต้องมีปัญญาพอที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วก็ไม่ไปกวาดเอาสิ่งเหล่านั้นมายึดถือไว้เป็นตัวกูหรือเป็นของกู นี่ถ้าเราควบคุมผัสสะได้ เป็นผัสสะฉลาด ผัสสะรู้แจ้ง แล้วก็จะไม่มีเวทนาโง่ ไม่มีตัณหา คือความอยากอย่างโง่ แล้วก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานอย่างโง่ มันก็ไม่มีตัวกูของกู คือไม่มีภพ ไม่มีชาติขึ้นมาจากกรณีนั้น ๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีนั้น ๆ ก็ไม่เป็นทุกข์ มันมีเท่านี้ แล้วก็เย็นเป็นนิพพานอยู่ในชีวิตประจำวัน นี่เรียกว่า ไอ้ที่มันจะเย็นเป็นนิพพานในชีวิตประจำวันอยู่ได้ ก็เพราะว่าเราไม่ทำผิดในขณะแห่งผัสสะ ใช้คำว่าไม่ทำผิดดีกว่า ในขณะแห่งผัสสะซึ่งเร็วมากนะ แล้วจะไม่มีการกระทำผิด จิตจะไม่มีการกระทำผิด ก็เป็นผัสสะแจ่มแจ้ง ผัสสะรู้ ผัสสะฉลาด ผัสสะสว่างไสว ควบคุมให้เวทนาเป็นเพียงความรู้สึกว่าควรทำอย่างไร แล้วไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดทุกข์
เรื่องนี้ควร็HH
จะเป็นเรื่องที่สอนกันในหมู่มนุษย์ให้รู้จักไปเสียตั้งแต่แรก ๆ แล้วคนเราก็จะอยู่อย่างคน อยู่อย่างมนุษย์ที่มีความสุข ไม่วิ่งตามโจรไป เดี๋ยวนี้ทั้งโลกเลยมันวิ่งตามโจรไป ทั้งโลกน่ะมันวิ่งตามโจรไป คือ ความสุขสนุกสนาน เอร็ดอร่อย ที่วิชาเทคโนโลยีปัจจุบันเขาผลิตขึ้น ผลิตขึ้น ผลิตขึ้น ทั้งโลกก็วิ่งตามโจรไป การศึกษาหมาหางด้วน มันไม่ทำให้คนทั้งโลกรู้ว่าเรื่องมันเป็นอย่างนี้ มันสอนกันแต่หนังสือกับอาชีพ มันก็ยิ่งวิ่งตามโจรไปใหญ่ วิ่งตามโจรไปสุดเหวี่ยงเลย เพราะการศึกษาหมาหางด้วนในโลก มันไม่สอนเรื่องความทุกข์หรือความเป็นมนุษย์เสียเลย มันสอนแต่หนังสือกับวิชาชีพ มันก็ยากแล้วนะ ที่เรา พวกเราบางคนที่รู้สึกขึ้นมาแล้วจะไม่วิ่งตามโจรไป เพราะว่าทุกคนเขาก็วิ่งตามโจรไปกันทั้งโลก ไอ้เราคนเดียว แล้วเราก็เคยวิ่งตามโจรไปแล้วด้วยซ้ำไป เราจะมาหยุด เราจะมาถอยกลับ เราจะหนีจากโจร มันเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ ถ้าไม่ทำ มันก็มีชีวิตเป็นไฟร้อนตลอดวัน ถ้าเราทำได้ เราก็จะมีชีวิตเป็นนิพพาน คือเย็น เย็นได้ทุกทีที่มันจะเกิดไฟ อย่าเกิดไฟ คือไม่เกิดกิเลส มันก็เย็น ทำอย่างนี้เรื่อยไป ๆ จนเปลี่ยนนิสัย ไม่อาจจะเกิดกิเลสนี่ ไม่อาจจะเกิดกิเลสเลย ก็เป็นพระอรหันต์ในที่สุด
ที่เขาพูดว่า ต้องรอหมื่นชาติแสนชาติจึงจะนิพพาน ก็หมายถึงก็มันยากอย่างนี้แหละ เขาจึงใช้การคำนวณโดยการเปรียบเทียบ ไอ้ความยากนั้นถ้าจะใช้เวลาก็ต้องหมื่นชาติแสนชาติจนกว่าจะนิพพาน แต่ถ้าเรารู้ เราก็มีทางลัด ที่ลัดไปไม่รอหมื่นชาติแสนชาติ ไอ้ที่มันยากมาก เอามาทำให้ง่าย เราไม่มีปัญญาของเราเอง เราอาศัยการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เราปฏิบัติตามทางนั้น เหมือนที่เรียกว่า อัฏฐังคิกมรรคนั่นแหละ สนใจปฏิบัติอัฏฐังคิกมรรคอยู่ให้สมบูรณ์เถิด ผัสสะจะไม่มีทางทำผิด จะไม่มีทางทำผิดผัสสะ ผัสสะจะเป็นผัสสะถูกต้อง เพราะดำรงตนอยู่ในอัฏฐังคิกมรรค ในเรื่องนี้ก็พูดมาแล้ว แล้วก็มันเป็นเรื่องยาว ไปศึกษาใหม่ทบทวนใหม่ เอามาอ่าน มาศึกษา มาปฏิบัติกันใหม่ว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีสัมมาทิฏฐิ ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ ความเลื่อมใสอะไรก็ตาม ถูกต้องตามที่เป็นจริง ในเรื่อง ในเรื่องของความจริง เช่น เรื่องอิทัปปัจจยตา เรื่องตถตา เรื่องอนัตตา สุญญตา รู้ในเรื่องเหล่านี้เพียงพอถูกต้องอยู่นี่ ก็เป็นคนมีสัมมาทิฏฐิอยู่ ถ้ามีสัมมาทิฏฐิอยู่ มันก็ต้องการถูกต้อง ความปรารถนา ความใฝ่ฝัน ความต้องการมันถูกต้องตามคลองของอิทัปปัจจยตาฝ่ายที่ดับทุกข์ ไม่ไปตามคลองของอิทัปปัจจยตาฝ่ายที่ให้เกิดทุกข์ นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปโป มีความปรารถนาเป็นไปถูกต้อง ทีนี้มันก็ช่วยกันถูกต้อง ไอ้การพูดจา สัมมาวาจามันก็มี มีการพูดจาแต่ในทางที่จะเกิดผลดี เกิดกุศล เกิดผลดี มีการทำงานที่ถูกต้อง คือสัมมากัมมันโต แต่ในทางที่เกิดผลดี และมีอาชีพ อาชีโว สัมมาอาชีโว ดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง ล้วนแต่เกิดผลดี แล้วก็มีความพากเพียร สัมมาวายาโม มีแต่จะก้าวหน้าไปตามทางของนิพพาน ไม่ก้าวหน้าไปทางอื่น นี่เรียกว่ามีสัมมาวายาโม นี่มีสัมมาสติ มีสติระลึกอยู่อย่างถูกต้องอยู่เป็นประจำ มีสติสมปฤดี สว่างไสวแจ่มแจ้ง ไม่เป็นคนบ้า ไม่เป็นคนเมา ไม่เป็นคนโง่ ไม่เป็นคนหลง หรือเรียกว่ามีสัมมาสติ ซึ่งเราก็ฝึกกันอยู่ สามารถที่จะทำหน้าที่ของสติ คือขนเอาปัญญามาทันในขณะแห่งผัสสะ มันก็มีสัมมาสมาธิ จิตดำรงมั่นอยู่อย่างถูกต้อง ดำรงมั่นอยู่อย่างถูกต้องสำหรับจะรู้ สำหรับจะต่อสู้ป้องกันกิเลส นิวรณ์อะไรต่าง ๆ แล้วจะรู้ สมาธิเป็นที่ตั้งแห่งความรู้ ฉะนั้นก็มีความพร้อมที่จะรู้
นี่แปดนะ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นตัวการปฏิบัติ ทีนี้อีกสอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ เติมไว้อีกสอง เรียกว่าสัมมาญาณะ อย่างนี้รู้ถูกต้อง มีรู้ถูกต้องก็มีสัมมาวิมุตติ หลุดพ้นอย่างถูกต้อง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ถ้าสัตว์ทั้งหลายได้อาศัยสัมมัตตะ ความถูกต้อง ๑๐ ประการนี้แล้ว สัตว์ที่มีความเกิดเป็นธรรมดาจะพ้นจากความเกิด สัตว์ที่มีความแก่เป็นธรรมดาจะพ้นจากความแก่ สัตว์ที่มีความตายเป็นธรรมดาจะพ้นจากความตาย วิโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปาญาติ (นาทีที่ 01:08:25) เป็นธรรมดา ก็จะพ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาส นั่นล่ะ (นาทีที่ 01:08:30) พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้นะ เอาไปลองคิดดู พิจารณาดู เมื่อเห็นว่าเป็นไปได้ก็ทำตามเท่านั้นแหละ อย่ามัวแต่หลับตาท่องว่า เรามีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่พ้นความเกิดไปได้ แล้วก็ร้องไห้โฮ ๆ เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่พ้นความแก่ไปได้ แล้วร้องไห้โฮ ๆ มีความตายเป็นธรรมดา ไม่พ้นความตายไปได้ ก็นั่งร้องไห้ โฮ ๆ เหมือนคนโง่ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัสอย่างนั้น ท่านตรัสถ้าอาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว ที่มีความเกิดเป็นธรรมดา จะพ้นจากความเกิด ที่มีความแก่เป็นธรรมดา จะพ้นหมดแหละความทุกข์ทั้งหลาย เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เมื่ออาศัยพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร พระพุทธเจ้าท่านดีมากนะ ท่านตรัสจับตัวท่านเป็นกัลยาณมิตรนะ ไม่ใช่ครูบาอาจารย์เรียกค่าทำน้ำมนต์ ท่านตรัสว่าเป็นกัลยาณมิตร เป็นกัลยาณมิตรต่อเมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติให้ครบถ้วนตามอริยมรรคมีองค์ ๘ประการ แล้วท่านจะได้รับผล ๒ ประการ คือ สัมมาญาณะและสัมมาวิมุตติ เรื่องก็จบ เรียกว่าอยู่อย่างอัฏฐังคิกมรรคนั่นแหละ คืออยู่อย่างมีนิพพานในชีวิตประจำวัน เพราะว่าอริยมรรคนั้นคุ้มครองไม่ให้ทำผิดเมื่อมีผัสสะ นี้คนเรามันมีผัสสะอย่างช่วยไม่ได้ มันต้องมีผัสสะตา หู จมูก ลิ้น กายอยู่ตลอดวันตลอดเดือนตลอดปี ทีนี้มีความรู้นี้ของพระพุทธเจ้ามาควบคุมผัสสะ ผัสสะผิดไม่ได้ และไม่ทำให้ จะไม่หลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว หลงวิตกกังวล หลงอิจฉาริษยา หลงทำอย่างเลวร้ายที่ทำ ๆ กันอยู่ทั้งโลก จะไม่มี แล้วก็เป็นเย็น เป็นนิพพานในชีวิตประจำวันนี้ เพราะมีสัมมาญาณะ รู้ถูกต้อง สัมมาวิมุตติรู้ หลุดพ้นไปอย่างถูกต้อง หลุดพ้นไปจากการบีบคั้นของความผิดพลาดทั้งหลาย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่มีความผิดพลาดอีกต่อไป นี่คือการที่เรามีนิพพานในชีวิตประจำวัน เดี๋ยวนี้เราจะหมดปัญหา จะพ้นจากปัญหาของมนุษย์ จะเป็นมนุษย์ที่หลุดพ้น วิมุตติน่ะ ตรงวิมุตติมันหลุดพ้น หลุดพ้นไปจากอะไร หลุดพ้นจากสิ่งที่มันทรมานเรา เรียกว่าปัญหา ทรมานให้เจ็บปวด เราหลุดพ้นจากปัญหา กิเลสทั้งหลายเป็นปัญหา ความทุกข์ทั้งหลายเป็นปัญหา ความทุกข์เป็นปัญหา เราหลุดพ้นจากปัญหา เป็นมนุษย์ที่หลุดพ้นออกไปได้
เพราะฉะนั้นมาสวนโมกข์ทีหนึ่ง ก็ขอให้รู้เรื่องนี้ เพราะคำว่าโมกข์นี้แปลกว่าหลุดพ้นไปจากปัญหา มาสวนโมกข์ก็มาพูดกันเรื่องหลุดพ้นจากปัญหา แล้วก็สมชื่อแล้วที่ว่ามาสวนโมกข์ คำว่าโมกข์แปลว่า เกลี้ยงจากปัญหา หลุดพ้นจากปัญหา ไม่มีความทุกข์ ขอแสดงความหวังว่าให้มันเป็นอย่างนี้ ให้มันเป็นอย่างนี้ ไม่มีการทำผิดพลาดในผัสสะประจำวัน ไม่รู้ว่ากี่สิบกี่ร้อยผัสสะ ทำตัวให้พร้อม อย่าดื้อกระด้างอย่างที่แล้วมา อาตมาพูดมันหยาบไปนะว่าพวกคุณน่ะมันอยู่อย่างดื้อกระด้างต่อธรรมะที่แล้ว ๆ มา แล้วก็วิ่งหนีตามโจรไป เป็นลูกเด็ก ๆ ที่วิ่งหนีตามโจรไป เพราะฉะนั้นอยู่อย่างที่เหมาะสมที่จะรู้ธรรมะ อยู่อย่างอ่อน อ่อนโยน อย่าอยู่อย่างแข็งกระด้าง ทุกคนทะนงตัวว่ากูก็มีความรู้ กูก็มีตัวกู มันแข็งกระด้าง จิตชนิดนี้ไม่อ่อน จิตที่ไม่อ่อนไม่มีทางจะรู้ธรรมะ ก็คุณอยู่กันอย่างสูง ยกหัวสูง กูก็กู กูมีความสูง มันอยู่อย่างสูงนี่ มันก็กลุ้มอยู่ด้วยความเมาในความสูง มันก็ไม่รู้ธรรมหรอก เปลี่ยนระดับของชีวิตอยู่อย่างอ่อนโยน อยู่อย่างต่ำเตี้ยต่ำต้อย นั่นแหละ จิตนั้นจะพร้อมที่จะรู้ธรรมะ จะมีสติสัมปชัญญะ ถ้าคุณอยากจะมีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลาแล้วก็จงอยู่อย่างอ่อน ๆ อ่อนโยน เป็นคนแพ้ เหมือนกับว่าคนแพ้ อยู่อย่างต่ำต้อยไม่ยกหูชูหาง จิตที่ไม่ยกหูชูหางอยู่ในตัวนั่นแหละ มันเป็นจิตที่พร้อมที่จะมีสติ มีปัญญาเพียงพอ สำหรับที่จะไม่ทำอะไรผิดพลาด
เดี๋ยวนี้อาตมาสังเกตเห็นนักเรียนนักศึกษา ครูบาอาจารย์ ล้วนแต่อยู่อย่างยกหูชูหางในวิชาความรู้ที่ได้เรียนมาวันหนึ่ง ๆ แม้เป็นการศึกษาหมาหางด้วน มันก็เอามาเชิดชูยึดถือยกหูชูหาง มันก็เป็นคนหยาบ เป็นคนกระด้าง ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่มีสติปัญญาที่จะดำเนินชีวิตให้ปลอดโปร่งไปได้ ขอให้ไปเปลี่ยนชีวิตเป็นคนอยู่อย่างอ่อนโยนอยู่อย่างต่ำที่สุด เหมือนกับเดี๋ยวนี้ เรานั่งกลางดิน ไปพูดธรรมะกันบนวิมาน ไม่รู้ว่า นั่งกลางดินอย่างนี้มันดีกว่า มันต่ำดี แล้วทำจิตใจให้มันต่ำเหมือนกันดินด้วย ดินนี่มันเคยเป็นที่ประสูติของพระพุทธเจ้า เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นที่สั่งสอนอยู่จนสิ้นพระชนม์ชีวิตก็กลางดิน ตายกลางดิน เกิดกลางดิน รู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน ตายกลางดิน ท่านอยู่ต่ำ ต่ำอย่างนี้ ท่านจึงเป็นพระพุทธเจ้า นี่ เราอยู่อย่างสูง แข็งกระด้าง แข่งกับพวกเทวดา มันอยู่อย่างแข็ง อยู่อย่างสูง อย่างกิเลสตัณหา ไม่มีทางที่จะมีสติปัญญาอย่างเพียงพอ มาอยู่กับพระพุทธเจ้าดีกว่า เกิดกลางดิน รู้กลางดิน อยู่กลางดิน สอนกลางดิน พูดจากันกลางดิน แล้วก็ตายกันกลางดิน มันจะเป็นนิพพานในชีวิตประจำวันร้อยเปอร์เซนต์
และเวลาที่กำหนดไว้มันก็หมดแล้ว ขอทบทวนว่าวันก่อนพูดเรื่องนิพพานในฐานะที่พุทธบริษัทต้องรู้ วันนี้พูดถึงนิพพานที่ต้องมีในชีวิตประจำวัน อย่ารู้เปล่า ๆ อย่ารู้เฉย ๆ รู้ไม่มีประโยชน์ รู้ท่วมหัวก็เอาตัวไม่รอด ต้องรู้ในลักษณะที่เอามาใช้เป็นประโยชน์ได้ ต่อไปนี้กลับไปกรุงเทพฯ แล้ว ก็ขอให้ชีวิตนี้มันเย็นกว่าเดิม ให้มันมีความหมายแห่งนิพพาน คือเย็นเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม โดยที่ไม่ทำผิดในเรื่องของผัสสะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอีกต่อไป
อาตมาขอยุติการบรรยายครั้งนี้ไว้เพียงเท่านี้