แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ที่กำลังจะเป็นครูทั้งหลาย การบรรยายในครั้งที่สองของเรานี้ จะกล่าวโดยหัวข้อที่ติดต่อ กันไปกับหัวข้อในครั้งที่แล้วมา ในครั้งที่แล้วมาเราพูดกันถึงเรื่องไอ้หลักไอ้ธรรม ที่ช่วยความเป็นครู เรียกว่าครุธรรมปริทรรศ คือดูกันถึง ดูกันคร่าว ๆ ถึงสิ่งที่จะช่วยทำความเป็นครู ให้แก่เรา มันก็คือสิ่งที่เรียกว่าธรรมนั่นแหละ ทีนี้เราจะดูกันให้ชัดยิ่งขึ้นไปอีก เรามีหัวข้อในวันนี้ว่า ทุกอย่าง ขึ้นอยู่ กับสิ่งที่เรียกว่าธรรม เพียงคำเดียว ข้อนี้เป็นความรู้แม่บท หรือรากฐานของความรู้ทั้งหลาย คือสิ่งที่เรียกว่าธรรมเพียงคำเดียว พยางค์เดียว ด้วยซ้ำ ขอให้สนใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมเพียงพยางค์เดียวนี้ให้มาก เพราะว่าที่เรารู้มาแล้วนั่น มันน้อยนัก แล้วเราก็จะไปสอนคนอื่น ด้วยสิ่งที่เรียกว่าธรรม เท่าที่สังเกตเห็นในโรงเรียนในวิทยาลัยหรือแม้กระทั่งในมหาวิทยาลัย พอพูดขึ้นว่าธรรมคืออะไร ก็จะเล็งถึงแต่ว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเรียกว่าธรรมนี่ ที่จริงก็มีความหมายกว้างแล้ว แต่มันก็ยังไม่หมด แล้วมันจะนิดเดียว ในเมื่อเอาไปเทียบกันเข้ากับความหมายของคำว่า ธรรม ในทุกความหมาย ฉะนั้นท่ามันจะแปลกไปบ้าง หรือมันมากเกินไปบ้างก็ขอให้ทน ศึกษาเกี่ยวกับคำ ๆ นี้เป็นเรื่องแรก เป็นเรื่องพื้นฐาน ที่ถึงกับต้องบอกว่าขอให้ทนศึกษา นี่ก็เพราะมันกว้างขวางมันยืดยาวบางที มันจะเลยขอบเขตของไอ้ความสนใจไปก็ได้ แต่ถ้าเราเป็นนักเรียนจริง เป็นนักศึกษาจริงจะรู้สึกสนุก ในการที่จะได้ ศึกษาพิจารณา เกี่ยวกับคำว่าธรรมนี้ให้สมบูรณ์ มันมีความสำคัญมากถึงกับเราควรจะยอมเสียเวลาพิจารณา ก็ทนเหน็ดเหนื่อยที่จะทำการพิจารณา ภาษาไทยเราเรียกว่าธรรม เขียน รอ อ่า ธ รอ หัน มอ นี้มันถอดมาจากไอ้ภาษาสันสกฤตที่เรียกว่าธรัมมะ ธ รอ จุดใต้แล้ว มอม้า ออกเสียงภาษาไทยก็ไม่ค่อยถูกนะ ธรัมมะ มันเป็นภาษาสันสกฤต ภาษาไทยเราออกจากภาษาสันสกฤต เพราะว่าไอ้พวกครูที่มาเป็นครูบาอาจารย์รุ่นแรก มันเป็นพวกพราหมณ์ ซึ่งใช้ภาษาสันสกฤต ทีนี้ภาษาไทยของเราจะ อยู่ในรูปสันสกฤตเป็นส่วนใหญ่ หรือว่าทั้งหมดก็ได้ ในยุคที่แล้วมา เพิ่งจะมานิยมใช้บาลีกันบ้างก็ตอนหลัง สำหรับคำว่าธรรม ที่เป็นภาษาบาลีนั้น เขียนต้องเขียน ทอธง แล้ว มอ จุดใต้ แล้วมอ อีกตัวหนึ่ง ไปเทียบกันดู จะเป็นสันสกฤต ทอธง รอเรือ จุดใต้ แล้วก็มอม้าแล้วเป็นภาษาบาลี ทอธง มอจุดใต้ แล้ว มออีกตัวหนึ่ง ทีนี้พอมาเป็นภาษาไทย เราเขียน ทอธง รอหัน มอม้า ก็อ่านว่า ทำ สันสกฤตเขาออกเสียงเป็น ทรำ-มะ ภาษาบาลีเขาก็ออกเสียงเป็น ทำ-มะ แม้เสียงจะต่างกันความหมายคือสิ่งเดียวกัน จำไว้เป็นความรู้เบ็ดเตล็ดนอกเรื่องสักอย่างหนึ่งก็ได้ ไอ้พวก รอหัน มันมาจากไอ้รอจุดใต้ ในภาษาสันสกฤตเป็นหลัก ถ้าในรูปสันสกฤต มันเป็นตัวรอจุดอยู่ข้างใต้ พอมาเป็น ภาษาไทยเขียนเป็น รอหันหมด เช่นคำว่า สวรรค์ เช่นคำว่า มรรรคา เช่นคำว่าอะไรเหล่านี้มันมาจากไอ้รอจุดใต้ของภาษาสันสกฤต นี่คือธรรมะ ในภาษาบาลี หรือ ธรัมมะในภาษาสันสตกฤต มาเป็นธรรม เฉย ๆ ในภาษาไทย นี้ตัวหนังสือ ทีนี้เราก็ถามต่อไปว่า ไอ้ตัวหนังสือตัวนี้มันมีรากศัพย์ มี Root ของศัพย์ว่าอย่างไร ไอ้รากศัพท์หรือธาตุของศัพท์ตัวนี้ มันมีความหมายว่า ทรงไว้หรือดำรงค์ไว้ เรียกว่าทรงเฉย ๆ ก็แล้วกัน คำว่า ทรงในในภาษาไทย คือ รากศัพท์ของคำว่า ธรรม ในภาษาบาลี ทรงตัว ทรงรูป ทรงลักษณะ ทรงอะไรก็ได้ เรียกว่า ทรง เฉย ๆ ก็แล้วกัน คือคำว่า ธรรม แปลว่าทรง ทรงไว้ นี้เรียกว่าโดยพยัญชนะ ก็ได้ตัวหนังสือแปลว่าทรง ทีนี้โดยอัตถะ คือโดยความหมาย มันก็ต้องพูดกันว่าทรงอะไร ทรงตัวมันเองก็ได้ ทรงสิ่งอื่นก็ได้ ทรงมนุษย์ ทรงคนนี้ก็ได้ โดยกฎแห่งเหตุผล มันทรงไว้ซึ่งตัวมันเอง หรือทรงสิ่งต่าง ๆ ทรงตัวมันเอง ก็หมายความให้มันอยู่ได้ มันอยู่เป็นก้อนหินอยู่ได้ เป็นต้นไม้อยู่ได้ เป็นไอ้ ไอ้สัตว์ สัตว์อยู่ได้ เป็นคนอยู่ได้นี้ มันทรงอยู่ได้ลักษณะอย่างนี้ ทรงตัวมันเอง เป็นตัวมันเองอยู่ แล้วที่ดีกว่านั้น มันค่อยไปทรงเอาสิ่งอื่น เป็นปัจจัยไอ้สิ่ง แก่สิ่งอื่นให้สิ่งอื่นทรงตัวอยู่ได้ นี้เรียกว่าทรง สิ่งต่าง ๆ ไว้ เราจึงอธิบายกันว่าธรรมะ คือสิ่งที่ทรงผู้ปฏิบัติไว้ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว เดี๋ยวนี้มันทรงสิ่งอื่นนะ ถ้าทรงตัวมันเอง มันก็ทรงสักแต่ว่าให้มีตัวมันเองอยู่ สิ่งทั้งหลายมีอยู่สองประเภท คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลง กับสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งทั้งปวงมีอยู่สองชนิดเท่านั้น ไม่มีมากกว่านี้ สิ่งใดมีความเปลี่ยนแปลง มันก็ทรงตัวความเปลี่ยนแปลงนั้นไว้ได้ คือมันยังคงเปลี่ยนแปลงไปได้ตามลักษณะของมัน มันทรงความเปลี่ยนแปลงอันนี้ไว้ได้ มันก็มีตัวมันอยู่ นี้คือสิ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงได้แก่สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏแก่เรานี้ มันเปลี่ยนแปลงทั้งนั้นแหละ แต่แล้วไอ้ตัวความเปลี่ยนแปลงนั้นมันทรงตัวมันอยู่ได้ มันก็มีความเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป มันก็มีอยู่ให้เราเห็นอยู่เรื่อย ๆ ไป ทีนี้ไอ้สิ่งอีกสิ่งหนึ่งมันไม่มีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นไอ้ความที่มันไม่เปลี่ยนแปลงน่ะมันทรงตัวอยู่ได้ สิ่งนี้ เข้าใจยากครูไม่เคยสอนในโรงเรียน เขาเรียกกันในว่าภาษาบาลีว่าอสังขตะ หรือนิพพาน เข้าใจยาก ในภาษาวิทยาศาสตร์หรือปรัชญามันก็มีอยู่ ไอ้Phenomena คำนี้เป็นพหูพจน์ หมายถึงทุกสิ่งที่มันปรากฏแก่เรา เรียกว่า Phenomena แล้วมีอีกสิ่งหนึ่งที่ตรงกันข้ามแล้วมีอยู่สิ่งเดียวอย่างเดียวเท่านั้น เรียก Nominal คือมันตรงกันข้ามกับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันไม่มีเหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลงมันไม่มีอะไรที่ มันตรงกันข้ามไปหมด ฝรั่งเองก็ไม่ค่อยรู้จัก แต่รู้ว่ามันมี มีสิ่งนั้น ที่ตรงกันข้ามกับ Phenomena นั้นคือสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง มันมีตัวของมันอยู่ได้ โดยความที่มันไม่เปลี่ยนแปลงก็ได้ เราจึงกล่าวได้ว่าไม่ว่าสิ่งไหน ทุกสิ่ง มันก็ต้องมีการทรงตัวมันอยู่ ไอ้สภาพที่มันทรงตัวอยู่นี่คือ ความหมายของคำว่า ธรรม หรือธรรมะ ค้นคว้าดูในทางศัพทศาสตร์ มีเค้าเงื่อนให้เห็นว่ามันตรงกับไอ้คำว่า Form เอฟ โอ อาร์ เอ็ม ฟอร์มนั่นนะ ซึ่งแปลว่ารูปร่าง หรือรูปโครง หรือรูปทรง แต่คำว่า Form ในภาษาในปัจจุบันนี้ความหมายมันแคบเสียแล้ว ต้องเอาความหมายของคำว่าฟอร์มในสมัยตั้งพันปีมาแล้ว ในสมัยที่ใช้ภาษาละติน เขาเขียนว่า Forma พอไปเปิดดู Root ของคำว่าฟอร์ม่านี่ ก็กลายเป็นทรงนี่ คำว่าทรงนี่ Up to นี่ทรงขึ้นไว้ ฉะนั้นคำว่า Form นั่นน่ะไอ้รากศัพท์ของมันว่า ทรง ขึ้นไว้หรือทรงอยู่ ก็คือทำให้สิ่งต่าง ๆ ปรากฎอยู่ ไอ้คำว่า Form มันหมายความอย่างนั้น ไม่ใช่หมายความแต่เพียงรูป หรือแบบหรือยูนิฟอร์มอย่างเดียว ฉะนั้นดูความหมายอันลึกซึ้งของคำว่าฟอร์ม ทรงไว้ หรือธรรมะนี่มันเป็นอย่างนี้ มันจึงลึกซึ้ง มันจึงลึกหมด กว้างขวางทั่วไป ซึ่งเราไม่เคยรู้จักใช่ไหม ฉะนั้นจึงต้องขอร้องว่าช่วยทนหน่อย ถ้าจะศึกษาไอ้ความหมายของคำว่า ธรรม ธรรมะนี่มันมากอย่างนี้ นี่เรียกว่าโดยอัตถะ หรือความหมายมันหมายถึงทรงตัวมันไว้ แล้วมันก็พลอยทรงสิ่งอื่นไปด้วย ธรรมะจะทรงผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ฉะนั้นธรรมะมันก็มีรูปมีแบบมีฟอร์มของมันอย่างหนึ่งทรงตัวมันเองไว้ได้ ฉะนั้นมันก็ทรงสัตว์ทั้งหลายไว้ได้อีกถ้าปฏิบัติธรรมะ ทีนี้ส่งที่มัน อ่าสิ่งที่มันทรงตัวมันได้อย่างนี้มันมีมาก เพราะว่าธรรมะนี้มันมีมากมีหลายประเภท ทีนี้เราจะเอากันสักแต่เพียงสี่ประเภท เรียกว่าธรรมะในสี่ความหมาย ธรรมะในสี่ความหมาย ธรรมะในความหมายที่หนึ่งเราเรียกว่าสัจจะธรรมะ สัจจะธรรมะ หรือสัจจะธรรม ทีนี้ธรรมะคือความจริง ในฐานะที่เป็นกฎ ฉะนั้นธรรมะในความหมายนี้หมายถึงกฎของธรรมชาติหรือกฎของความจริง หมายถึงตัวกฎนะ แล้วก็กฎนั้นต้องเป็นความจริง ถ้าไม่ใช่จริง ถ้าไม่จริงไม่ใช่กฎ กฎนั้นต้องไม่หลอกด้วย ก็เลยเรียกว่าไม่มุสา อโมสะธัมมะ (นาทีที่14.55) น่ะ ธรรม แปลว่าสิ่งที่ไม่มุสา สิ่งนั้นคือสัจจะ สิ่งใดเป็นสัจจะสิ่งนั้นเป็นกฎ และสิ่งนั้นต้องเป็น อสังขตะ นี่แปลกหู แล้วใช่ไหม อสังขตะแปลว่า ไอ้สิ่งซึ่งสิ่งใดแตะต้องมันไม่ได้ สิ่งที่สิ่งใดไปแตะต้อง ไป Treat ไปอะไรมันไม่ได้ มันไม่เปลี่ยนแปลงหมด นี่สิ่งนี้ก็เรียกว่า อสังขตะ ฉะนั้นกฎต้องเป็นอย่างนี้เสมอ จะเป็น กฎวิทยาศาสตร์ กฎธรรมชาติ กฎอะไรก็ตามต้องมีลักษณะอย่างนี้ ต้องเป็นสัจจะคือจริงด้วย ต้องเป็น อมุสะ คือไม่หลอกด้วย แล้วก็ต้องเป็นอสังคตะ คือไม่มีอะไรไปทำให้มันเปลี่ยนแปลงได้ด้วย นี่เราเรียกว่ากฎ หรือสัจจะ ในทางศาสนาเราก็จะเรียกว่าสัจจะธรรม คือกฎของธรรมชาติ แล้วก็มีอยู่ทั้งนอกตัวเราและในตัวเรา หาให้พบ กฎธรรมชาติที่มันมีอยู่ในตัวเราคือที่มันควบคุมอะไรอยู่ในตัวเรานี่ ที่มันควบคุมสิ่งต่าง ๆ อยู่นอกตัวเรานี่ ฉะนั้นกฎธรรมชาตินี้เราจะหาดูได้ พบได้ทั้งในตัวเราและนอกตัวเรา นี่ธรรมะในความหมายที่หนึ่งเรียกว่าสัจจะธรรม คือกฎของธรรมชาติ ทีนี้ความหมายที่สอง เขาจะเรียกว่าสภาวะธรรม นี่คล้าย ๆ จะสอนบาลีกันสักหน่อย แต่มันมีประโยชน์มาก จดจำไว้สภาวธรรม แปลว่าสิ่งที่เป็นอยู่เอง สะ แปลว่าเอง ภาวะ แปลว่าเป็น สภาวะ แปลว่า เป็นอยู่เอง สภาวธรรม แปลว่าสิ่งที่เป็นอยู่เอง อันนี้คือตัวปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวกฎนะ อย่าไปปนกันนะ ไอ้กฎมันคือกฎธรรมชาติ เดี๋ยวนี้มันเป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่เป็นไปตามกฎ ฉะนั้นปรากฏการณ์ก็คือ Phenomena ทั้งหลาย ปรากฏแก่เราทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่เหลียวไปสิมันก็มี ข้างในก็คิดนึกสิมันก็มี นี่เขาเรียกว่าปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ปรากฏแก่ตา หู จมูก ลิ้น กายข้างนอกก็ได้ ปรากฏแก่จิตใจข้างในก็ได้ แม้แต่ความคิดนึกรู้สึกมันก็เป็นปรากฎการณ์ของธรรมชาติ ที่ปรากฎแก่จิตใจ นี่เป็นหลัก หลักทางธรรมทางพุทธศาสนา ถ้าทางวิทยาศาสตร์ ที่นักวิทยาศาสตร์สมัยนี้เขาเรียนกัน เขาก็คงไม่เอาสิ่งเหล่านี้เป็นปรากฎการณ์ก็ได้ ถ้ามันเกิดไปตีกันเข้าแล้วก็ต้องแบ่งแยกกันทันทีว่า เขาจะพูดตามหลักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ หรือจะพูดตามหลักของพุทธศาสนา หลักธรรมะที่มัน มันไปไกลหรือไปลึกกว่า ไอ้การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ฉะนั้น อันที่สองคือสภาวะธรรม คือปรากฎการณ์ทั้งหลายของธรรมชาติ ทั้งที่มีอยู่ในตัวเราและทั้งที่มีอยู่นอกตัวเรา ทีนี้ความหมายที่สาม เขาจะเรียกว่าปฏิปัตติธรรมะ ปฏิปัตติธรรม ใช้คำว่าธรรมก็ธรรมไปให้หมด ปฏิปัตติธรรม นี้คือหน้าที่ ตามกฎของธรรมชาติ โดยเฉพาะสิ่งที่มีชีวิต มีความรู้สึก ที่มีชีวิตทั้งต้นไม้ทั้งสัตว์เดรัจฉานทั้งคนนี่ สิ่งที่มีชีวิต ทีนี้ก็ต้องมีหน้าที่ ที่จะต้องกระทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ หน้าที่อันนั้นเราเรียก ปฏิปัตติธรรม แปลว่าหน้าที่ที่ต้องทำ แล้วไอ้การที่ต้องทำนี่ก็ต้องทำต่อตัวเองด้วย ต้องทำต่อสิ่งอื่น ๆ นอกตัวเองด้วย มันมีทั้งข้างในและข้างนอก ก็รู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่หรือ Duty ก็แล้วกัน ไม่มีใครที่อยู่ได้โดยปราศจากหน้าที่ เดี๋ยวก็พูดกันโดยละเอียดกว่านี้ ทีนี้อันที่สี่อันสุดท้ายเรียกว่า ปฏิเวธธรรม ไอ้ทะ นี่ทอธง นี้คำแปลกสำหรับผู้ที่ศึกษาอย่างธรรมดา มันเป็นภาษาวัดโดยเฉพาะ ปฎิเวธธรรม มีผลที่เรารู้สึก ผลที่เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่ แล้วก็ที่เรารู้สึกแก่จิตใจของเรา ก็เรียกว่า ปฏิเวธะ ปฏิเวธะ แปลว่ารู้แจ้งแทงตลอด ต่อสิ่งที่เรารู้สึกอยู่ในใจ กำลังมีอยู่ในใจ เป็นปฏิกิริยาก็ได้ เป็นวิบากกรรมก็ได้ อะไรก็ได้ ทีนี้ผลเกิดขึ้นตามหน้าที่จะตรงตามหน้าที่คือเกิดขึ้นตามกฎของธรรมชาติ ผลไม่เกิดขึ้นได้อย่างผิดกฎธรรมชาติ ต้องเกิดขึ้นตามกฎของธรรมชาติ แล้วมันก็ เกิดแก่เราก็ได้ เกิดแก่สิ่งนอกตัวเรา เช่นเกิดแก่สังคมก็ได้ นี้มันจะมี ในตัวเราและนอกตัวเราเป็นคู่กันไปทุกอย่าง อย่างนี้เราเรียกว่า ผล นี่ครบสี่ความหมายแล้ว ขอร้องให้พยายามที่จะเข้าใจสิ่งทั้งสี่นี้ให้มากที่สุดเลย มันจะเข้าใจสากลจักรวาล มันจะเข้าใจทั้งเรื่องรูปธรรม นามธรรม เข้าใจศาสนา เข้าใจวิทยาศาสตร์ เข้าใจปรัชญาได้โดยง่าย ถ้าเรารู้จักไอ้สิ่งทั้งสี่นี้ ก็ทบทวนดูสิ เอาแต่ชื่อสั้น ๆ ก็หนึ่งกฎของธรรมชาติ สอง ปรากฏการณ์ของธรรมชาติ สามหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ ทีนี้สี่ผลที่จะเกิดขึ้นมาตามกฎของธรรมชาติ ตัวกฎตัวปรากฏการณ์และก็ตัวหน้าที่ และก็ตัวผล สี่อย่างนี้อุตส่าห์จำไว้ให้แม่น แล้วก็คอยสังเกตดูในทุกกรณี ที่อะไรมันเกิดขึ้นแก่เรา ก็จะได้รู้ว่ามันเป็นกฎของธรรมชาติอย่างไร เป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติอย่างไร เราได้ทำอย่างไรลงไป มันมีผลอย่างไรขึ้นมา ทั้งสี่อย่างนี้มันเรียกว่าธรรม เพียงคำเดียวแหละ สัจจะธรรม ก็เรียกว่าธรรม สภาวธรรม ก็เรียกว่า ธรรม ปฏิปัตติธรรมก็เรียกก็ว่าธรรม ปฏิเวธธรรมก็เรียกว่า ธรรม เลยเหลือธรรมเพียงคำเดียว ทุกอย่างคือสิ่งที่เรียกว่าธรรม เพียงคำเดียว แล้วมันก็ขึ้นอยู่กับสิ่งนี้เพียงสิ่งเดียว นี่หัวข้อที่เราจะต้องพูด นี่ดูสัจจะธรรมกับกฎ ในโรงเรียนก็เรียน ในวิทยาลัยก็เรียน ไอ้สิ่งที่เรียกว่ากฎ กฎนี่ ไอ้กฎที่ธรรมชาติกำหนดไว้ กับกฎที่มนุษย์บัญญัติขึ้น อันไหนมันจริงกว่า ถ้าอย่างนั้นก็เข้าใจคือว่า ถ้ามนุษย์ตั้งขึ้นมนุษย์มันก็เปลี่ยนแปลงได้ มนุษย์ตั้งขึ้น มันก็ตั้งขึ้นตามคิดตามเห็นความรู้สึกของมนุษย์ นั่นไม่ใช่กฎธรรมชาติแล้วก็ไม่จริงด้วย ไม่สัจจะไม่อมุสะ ไม่อสังขตะ เหมือนกับที่กฎธรรมชาติ ถ้าลงธรรมชาติตั้งแล้วมันผิดไม่ได้ มันไม่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วมันก็ไม่ได้ตั้งให้ใครด้วย มันเป็นกฎของมันเอง ใครไม่รู้มันก็เดือดร้อนเอง ไอ้ที่เรียกว่ากฎวิทยาศาสตร์นี่ไปดูให้ดีว่า ธรรมชาติตั้งหรือมนุษย์ตั้ง ธรรมชาติตั้งหรือมนุษย์ตั้ง (เสียงตอบธรรมชาติตั้ง) ไม่ถูก ธรรมชาติตั้งแต่ว่ามนุษย์ไปรู้ รู้ รู้เท่าไหร่แล้วก็ว่าเอาเองเท่านั้น ศาสตราจารย์บัญญัติกฎวิทยาศาสตร์ ในแบบเรียนวิทยาศาสตร์นั้นน่ะ มันก็เท่าที่อาจารย์คนนั้นรู้ หรือนักวิทยาศาสตร์คนนั้นรู้ แต่กฎนั้นเป็นกฎธรรมชาติจริง กฎธรรมชาติทั้งหลายเรื่องเกี่ยวกับฟิสิกส์อย่างนี้ มันก็กฎธรรมชาติแท้ ๆ แต่รู้ไม่หมด มันรู้เท่าไหร่มันตั้งเท่านั้น บางทีเอามาให้เราเรียนนี่ มันเป็นบัญญัติ ตามที่นักวิทยาศาสตร์เขา รู้ บางอย่างก็จริง จริงหมดเหมือนกัน แต่บางอย่างมันยังไม่หมด มันยังไม่จริง เราต้องดูให้ดี ว่ากฎวิทยาศาตร์ กฎปรัชญา กฎอะไรที่มนุษย์บัญญัตินี่ ยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่จริงถึงที่สุด แต่ถ้าของธรรมชาติมันจริงถึงที่สุด แล้วรู้ไม่หมด แล้วเอามาพูดเท่าที่รู้ ฉะนั้นยังไม่จริงโดยสมบูรณ์ เราจะเรียนวิทยาศาสตร์ก็ได้ แล้วจะเชื่อกฎวิทยาศาสตร์ เท่าที่ปฏิบัติแล้วได้ผลจริงก็ได้ แต่ยังไม่ใช่หมด ต้องให้รู้ว่ากฎนั้นธรรมชาติตั้ง แล้วก็ผู้ค้นคว้าพบเอามาบัญญัติพูดสอนเรา ฉะนั้นเท่าที่เราเรียนในหนังสือนั้นน่ะเราเรียนเท่าที่คนบัญญัติ คนแต่งตั้ง จะพูดว่าธรรมชาติตั้งก็ถูกแล้ว แต่คนเอามาไม่หมด นี่รู้จักสัจจะธรรมของพุทธศาสนาให้ไกลกว่านั้น ให้ไกลกว่ากฎวิทยาศาสตร์หรือกฎอะไรที่มนุษย์ตั้ง ให้เป็นธรรมชาติตั้งแล้วพระพุทธเจ้าค้นพบแล้วพบหมด เท่าที่จำเป็น แก่มนุษย์สำหรับจะดับความทุกข์ ฉะนั้นสัจจะธรรมที่พระพุทธเจ้านำมาประกาศนั้น มันก็เป็นกฎธรรมชาติ แต่ท่านไม่เอามาทั้งหมดท่านเอามาเท่าที่จะดับทุกข์ได้ เอามาสอน ท่านก็เลยให้คำเปรียบข้อนี้ไว้ จำไว้ง่าย ๆ เอามาสอนกำมือเดียว เท่าที่มันมีอยู่หมดทั้งป่า ใบไม้หมดทั้งป่านี้มันมากเท่าไหร่ แล้วพระพุทธเจ้าท่านว่าท่านเอามาสอนให้กำมือเดียวนั้นน่ะ คือเท่าที่จำเป็นที่สุด เพราะว่าเราจะเรียนให้หมดไม่ไหว เราก็เรียนและปฏิบัติเท่ากับว่า เท่าที่จำเป็นอย่างไร เท่าไร มันก็เลยเท่ากับใบไม้กำมือเดียว มนุษย์จะรู้จักกฎของธรรมชาติก็เพียงเท่าใบไม้กำมือเดียวเท่านั้นน่ะ ถ้าทั้งหมดมันยังอีกมากนัก มันไม่อาจจะรู้ หรือว่ารู้แล้วมันก็เอามาทำอะไรไม่ได้ ฉะนั้นที่มันจะเป็นประโยชน์ได้จริงและจำเป็นนี้ เปรียบเทียบกันแล้ว มันเท่ากับว่าใบไม้กำมือเดียว ไปเทียบกับใบไม้หมดทั้งป่า ทั้งประเทศทั้งโลก สัจจะธรรมจะอยู่ในสภาพอย่างนี้ ทีนี้ดูในตัวเราแล้วก็นอกตัวเรา ในตัวเรามันมีกฎธรรมชาติอยู่ที่ไหน ทำไมเราต้องกินข้าว ทำไมเราต้องไปถาน ไปส้วม นี่เห็นง่าย ๆ เลย มันมีกฎอะไรอันหนึ่ง มันบังคับอยู่ในตัวเรา เราก็สู้มันไม่ค่อยได้หรอก ได้แต่ต้องทำให้มันถูกเรื่องถูกราวของมัน อะไรทำให้เราหายใจ อะไรที่ทำให้โลหิตไหลเวียน มันเหลือที่จะอัศจรรย์ นั่นแหละกฎธรรมชาติที่มันบีบบังคับหรือมีอยู่ในตัวเรา ดูให้เห็นส่วนนี้สิ ส่วนที่มันเป็นกฎ ในตัวเราก็มี แล้วข้างนอกตัวเรา คือของคนอื่นของสัตว์อื่น ของต้นไม้ ของอะไรมันก็มี มันมีตัวกฎอยู่ในตัวสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ แยกดูให้ละเอียดให้พบในส่วนที่มันเป็นกฎก่อน ทั้งข้างในเราและนอกเรา ทีนี้ก็ดูส่วนที่สอง ที่ว่ามันเป็นตัวผล ตัวปรากฏการณ์ นี้ไม่ใช่ตัวกฎ แต่เป็นตัวปรากฏการณ์เช่นเนื้อหนัง ไอ้เลือด ไอ้อะไรของเรา กระดูกของเรา นี่มันเป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ซึ่งมีกฎอันหนึ่งควบคุมอยู่ควบคุมไว้ ฉะนั้นเราเห็นทีเดียวพร้อมกันเลยก็ได้ เช่นเราดูเนื้อหนังของเรานี้เป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติ แล้วในนี้มีกฎเกณฑ์ ที่เนื้อหนังของเราจะต้องเป็นอย่างไร นั่นแหละเป็นส่วนที่เป็นกฎ ดูให้เห็นว่าในเราเป็นอย่างไร ในผู้อื่นนอกตัวเรามันก็เป็นอย่างนั้น นี่เรียกว่าเห็น Phenomena ภายในเรา เห็น Phenomena ภายนอกตัวเรา ทั้งหมดทั้งสิ้น มันมีอยู่อย่างนั้น แล้วกำลังเป็นไปตามกฎ ฉะนั้นในที่ใดมี Phenomena ที่นั้นก็มีกฎของ Phenomena คือกฎของธรรมชาติที่อยู่กับตัวธรรมชาติ ทีนี้ดูหน้าที่ ที่มันจะต้องทำมันต้องทำไปหมดแหละ ไอ้เนื้อหนังของเราประกอบอยู่ด้วย ส่วนเล็กที่สุดที่เรียกว่าเซลล์ เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายเรากำลังทำหน้าที่ มันอยู่ไม่ได้ถ้ามันไม่ทำหน้าที่ มันจะตายมันจะสลาย แล้วมันยังทำหน้าที่รวมกันทั้งหมดให้ชีวิตนี้อยู่ได้ ถ้าเซลล์ทั้งหลายหรือ Tissue ของเซลล์กลุ่มหนึ่งมันไม่ทำหน้าที่ คนมันก็ตายแล้วเซลล์นั้นก็ตาย ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่นี้ คือสิ่งที่เฉียบขาดที่สุดที่ทุกคนจะต้องทำ กระทั่งหน้าที่ออกมาข้างนอกหยาบ ๆ ว่าต้องกินข้าว ต้องอาบน้ำ ต้องไปส้วม ต้องทำอะไรทุกอย่างที่จะทำให้คนเราอยู่ได้ จนกระทั่งว่าต้องทำความสะอาดบริหารร่างกายทุกอย่างไปหมดนี้มันเป็นหน้าที่ และหน้าที่สูงสุด มันก็คือทำหน้าที่กำจัดความทุกข์ให้มันหมดไป อย่าให้ความทุกข์มันมีอยู่ นั่นคือยอดสุดของหน้าที่ เขาเรียกว่าการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมคือการทำหน้าที่เพื่อให้ความทุกข์หมดไป เขาหมายถึงความทุกข์ที่แท้จริง คือทุกข์ทางจิตใจที่แท้จริง ไอ้ทุกข์เล็ก ๆ น้อยๆ ก็รวมอยู่ในนั้นนะ ฉะนั้นก็เป็นหน้าที่น้อย ๆ ไปอีก หน้าที่ที่จะ ต้องทำน้อย ๆ หาอาหารกิน หาอะไรกินก็ทำไป หน้าที่ส่วนใหญ่ส่วนลึกก็คือว่า ดับความทุกข์อันใหญ่หลวงทั้งทางกายทางใจทางวิญญาณ นี่เราเรียกว่าหน้าที่ ดูตั้งแต่หน้าที่ของเซลล์เซลล์หนึ่งจนมาประกอบกันเข้าเป็นมือ แล้วหน้าที่ของมือ หน้าที่ของขา หน้าที่ของทั้งเนื้อทั้งตัว หน้าที่ของโลหิต หน้าที่ของระบบการขับถ่ายอะไรต่าง ๆ มันหลายระบบเหลือเกินในร่างกาย นี้ก็ไปดูเอาเองจากไอ้หนังสือประเภทนั้น พอเป็นคนขึ้นมาแล้วก็มีหน้าที่ที่จะต้องต่อสู้ จนกว่าจะได้รับผล จนตลอดชีวิตนี้ เราเกิดมาเราเล่าเรียนเราทำการงานเรามีชีวิต เป็นประโยชน์แก่สังคมแก่โลกนี้เป็นหน้าที่ทั้งนั้น เขาเรียกปฏิปัตติธรรมเรียกว่าหน้าที่ สั้น ๆ ทีนี้ถ้าจะเอาความหมายของคำว่าธรรม ที่ดี ที่จำเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป คำว่าธรรมนี้แปลว่าหน้าที่ ฉะนั้นในตำราศัพทศาสตร์ของอินเดีย ของเจ้าของคำ ๆ นี้คือประเทศอินเดีย เขาแปลคำว่าธรรมนี้ ว่าหน้าที่ก่อนคำอื่น แล้วจึงค่อยแปลเป็นคำอื่นต่อ ๆ ไปอีก คำว่าธรรมนี่ต้องแปลว่าหน้าที่ไว้ก่อน เพราะมันจำเป็นที่สุด เราต้องรู้หน้าที่แล้วก็คือรู้ธรรม รู้ธรรมคือรู้หน้าที่ แล้วก็ปฏิบัติให้มันถูกต้อง ฉะนั้นคำว่าธรรมในความหมาย ที่จะเรียกว่าไอ้ Practical ที่สุด หรือ Applicable ที่สุดแล้วก็คือหน้าที่ อินเดียแปลว่าธรรมเท่ากับหน้าที่ ทีนี้ความหมายนี้มันก็ดูหน้าที่ต่อตัวเรา หน้าที่นอกตัวเรา หน้าที่ต่อสังคม หน้าที่ต่อโลกทั้งหมด เรียกว่าหน้าที่ภายใน หน้าที่ภายนอก ดูให้เห็นทีอย่าเพียงแต่ว่าได้ยินได้ฟังแล้วจดไว้ แล้วก็ลืมไป มันต้องมองเห็นเหมือนกับเรารู้จักสิ่งที่มันอยู่กับเรา แต่บางสิ่งมันลึก มันซ่อนอยู่ลึก เรารู้จักแต่เครื่องวิทยุ รู้จักแต่โทรทัศน์นี้มันง่ายมันอยู่ข้างนอก เราต้องรู้จักอะไรข้างในที่มันสำคัญกว่านั้นมาก ความหมายที่สี่ ผล ที่มันจะเกิดขึ้น นั้นมันมีปฏิกิริยา ที่เกิดขึ้นมาจากกิริยาอยู่ตลอดเวลาทุกครั้งที่เราหายใจเข้าออก ก็เรียกว่าผล กิริยาคือการกระทำ ปฏิกิริยาคือไอ้ผลที่มันออกมา มันเป็นอย่างไม่มีความหมายอะไรแก่เราก็มี มีความหมายที่สุดก็มี ถ้าเกี่ยวกับเรื่อง ทางศาสนา ทางจิตทางใจเขาก็เรียกว่ากรรม เรียกว่าผลกรรม ผลกรรมนี่มันยิ่งร้ายกว่าปฏิกิริยา ที่แท้มันก็เป็นปฏิกิริยา แต่มันเป็นปฏิกิริยาที่เกี่ยวกับสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกคิดนึกที่จะทำ ถ้ามันเป็นของสิ่งที่ไม่มีชีวิตมันก็เป็นปฏิกิริยาเฉย ๆ เช่นว่าไม้มันหักลงมา ก็ถูกแผ่นดินเป็นบ่อเป็นหลุมลงไป หรือว่าเมื่อไอน้ำมันผลักดันไอ้เครื่องจักรมันก็หมุนไปนี่ มันก็เป็นปฏิกิริยาของสิ่งที่ไม่มีชีวิต แต่เดี๋ยวนี้คนน่ะมันเป็นสิ่งที่มีชีวิตมีอะไรมากกว่านั้น มันก็เลยมี กิริยาและปฏิกิริยาอีกแบบหนึ่ง เขาจึงยักไปเรียกว่ากรรมและผลของกรรม เรามีกรรมและเป็นไปตามผลของกรรม เราได้รับผลของกรรมนั่นน่ะคือผลแหละ ผลที่เกิดขึ้นตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แก่เราเนี่ยก็เต็มเราแล้ว เราก็ได้รับผล มีอยู่ตลอดเวลาไม่อย่างนั้นก็อย่างนี้ก็พร้อม ๆ กันหลาย ๆ อย่างทางกายทางใจ แล้วผลที่เราหลาย ๆ คนกระทำกันขึ้นมานี้ มันก็ไปมีแก่สังคมทั้งหมด แก่โลกทำโลกให้เปลี่ยนแปลงได้ เพียงสี่อย่างเท่านี้มันก็มีอะไรมากมายอย่างนี้ แล้วจึงจะดูไอ้ความสำคัญ นี่ไอ้ความสำคัญตามลำดับหรือลำดับของความสำคัญ ที่เราจะต้องดูก่อนหลังเกี่ยวกับสิ่งทั้งสี่นี้ เราดูพระเจ้า คือความหมายที่หนึ่งที่ว่า กฎกฎของธรรมชาตินี่ ดูให้ดีเถอะจะรู้สึกว่าเหมือนกับพระเจ้า ธรรมะในความหมายที่หนึ่ง คือ กฎ ของ ของธรรมชาติหรือสัจจะของธรรมชาติ ที่มีลักษณะเหมือนกับพระเจ้า พระเจ้าในที่นี้ก็หมายความว่ามันสูงสุด มันบังคับสิ่งอื่นได้ มันไม่มีใครต่อสู้มันได้ เราเรียกว่าพระเจ้า ฉะนั้นพระเจ้าก็มีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่งไม่มีใครเล่นตลกกับพระเจ้าได้ พระเจ้าเป็นทุกสิ่ง รู้ทุกสิ่ง ไม่มีอะไรที่จะไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ของพระเจ้า รู้ธรรมะในความหมายที่หนึ่งคือสัจจะธรรม หรือกฎของธรรมชาตินี่ว่าเป็นพระเจ้าก็แล้วกัน เราก็ชอบเรียกหาพระเจ้าช่วย เราก็หวังในสิ่งที่พระเจ้าช่วย ทั้งที่เราไม่รู้ว่าพระเจ้าคืออะไร เดี๋ยวนี้มารู้เอาเสียทีว่าพระเจ้าคือสิ่งนี้ คือสิ่งที่มันตายตัวเด็ดขาดอย่างนี้ คือธรรมหรือพระธรรมในกฎในความหมายที่เป็นกฎของธรรมชาติ เป็นพระเจ้าที่ทุกคนจะต้องเชื่อฟัง เดี๋ยวนี้ไม่เชื่อฟังใช่ไหม ไม่เชื่อฟังสิ่งที่เรียกว่าธรรม ไปเที่ยวกลางคืนแล้วเกิดอะไรขึ้น จำไว้เป็นอนุสรณ์ ไปกระทำในที่ที่ไม่ควรทำ ในเวลาที่ไม่ควรทำ ในกิริยาอาการที่ไม่ควรทำ มันก็เกิดผลอย่างนั้นขึ้น นี่คือไม่เชื่อฟังพระเจ้า แล้วพระเจ้าก็ลงโทษให้ ตบหน้าให้หกคะเมนไปเลย เสียชื่อเสียงเสียไอ้ชีวิตเสียอะไรไปในที่สุด รู้จักสิ่งนี้ในฐานะที่เป็นพระเจ้า ที่เด็ดขาดที่สูงสุดที่ต้องเชื่อฟัง พระเจ้าเนี่ยสร้างเราขึ้นมาควบคุมเราอยู่ แล้วจะยุบเราเมื่อถึงเวลาที่ควรจะยุบ พระเจ้าน่ากลัวขนาดนั้น นี่คือสัจจะธรรม กฎของธรรมชาติ นี้คือความสำคัญอันที่สอง ที่เราจะต้องรู้จักก็คือไอ้ ไอ้ตัว ตัวสิ่งต่าง ๆ ที่มันเป็นไปตามกฎก็คือสภาวะธรรม เนื้อตัวของเราจิตใจของเรา อะไรของเรานี่ เราต้องรู้จักดีที่สุดเสียก่อน เพราะว่าเราจะต้องบริหารมันจะต้องกระทำให้ถูกต้อง เราต้องรู้ว่าไอ้ปรากฏการณ์ทั้งหลายของธรรมชาตินี้มันคือตัวเรา แล้วมันเกี่ยวข้องกับเราอย่างที่แยกกันไม่ได้ เป็นสิ่งที่เราหลีกไม่พ้น ในการที่จะต้องบริหาร นี่ธรรมในความหมายที่สองคือ สภาวะธรรม คือตัวเรา เราจะต้องรู้จักมัน ที่รองลงไปก็คือว่าในความหมายที่สามคือการปฏิบัติ พูดเสียเลยว่าให้มีชีวิตอย่างถูกต้อง เราทุกคนจะต้องมีชีวิตอย่างถูกต้องพูดอย่างนี้กว้างมาก คำว่าถูกต้องในความหมายอย่างนี้มันกว้างมาก เราก็ต้องพูดอย่างนี้แหละ พวกเธอจะต้องมีชีวิตอย่างถูกต้อง พระเจ้าเขาบังคับไว้อย่างเด็ดขาด ถูกต้องนี้ก็ถูกต้องตามกฎของพระเจ้า ทีนี้ความหมายที่สี่ผลที่เกิดขึ้น เราจะต้องบริโภคมันด้วยสติ เราเคยชินแต่การบริโภคโดยไม่ต้องมีสติ เรากินข้าวกินปลากินขนมกินอะไรโดยไม่มีสติ นี่เป็นประจำเป็นนิสัยไปแล้ว แต่จะมาทำอย่างนี้ไม่ได้กับสิ่งที่เรียกว่าธรรมในความหมายที่มันลึกกว่านี้ ถ้าเรากินข้าวไม่มีสติปราศจากสติมันมีก้างติดคอบ่อย ๆ นั่นแหละดูเอาที่นั่นก็แล้วกัน ไอ้สิ่งที่เรากินนั้นน่ะ ถ้าเรากินโดยไม่มีสติ มันจะเกิดอันตรายขึ้นมาเช่นก้างติดคอ อย่าเข้าใจว่าผล ผล ผล แล้วเราก็จะไม่ต้องระมัดระวัง อะไร อะไรกินเข้าไป กินเข้าไป ไม่ได้โดยเด็ดขาดจะต้องบริโภคผลนั้นโดยความมีสติ ทำงานได้ผลตามที่เราต้องการ พอทีจะบริโภคผลนั้นก็ยังต้องระมัดรวังอย่างยิ่งเหมือนอย่างที่ทำงานเหมือนกัน ถ้าบริโภคอย่างผลีผลามจะกลายเป็นอันตราย ไม่ใช่ผลแล้วทีนี้จะมีอันตรายแล้วเพราะการบริโภคนั่นเอง เนี่ยบริโภคด้วยมีความมีสติ ทีนี้ก็ดูสิ ดูทั้งสี่อย่างพร้อม ๆ กัน ดูให้ดีอย่าประมาท ก็จะพบว่าโอ้ไม่มีอะไรที่จะทำเล่น ๆ กับมันได้ ไม่มีอะไรที่จะไปทำเล่น ๆ กับมันได้ ตัวกฎธรรมชาติก็ดี ตัวปรากฏการณ์ของธรรมชาติก็ดี หน้าที่ที่จะปฏิบัติต่อมันก็ดี ผลจะเกิดขึ้นก็ดีอย่าทำเล่นกับมัน ถ้าทำเล่นน่ะในทางธรรมะเขาเรียกว่าความประมาท ความประมาทก็คือความตาย ก็ไปดูตัวอย่างคนที่มันตายก็แล้วกัน มันตายไปทางร่างกายก็ได้ ตายในทางจิตทางวิญญาณทางชื่อเสียงเกียรติยศก็ได้ มันตาย เรียกว่ามันตายเพราะความประมาท ความประมาทนี้คือการทำเล่น ๆ กับไอ้สิ่งทั้งสี่นี้ ทีนี้เรารู้จักกับสิ่งทั้งสี่นี้ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ทำเล่น ๆ ไม่ได้ นั่นน่ะศึกษาธรรมะในสี่ความหมายให้มันมีประโยชน์กันอย่างนี้ แม้ที่สุดแต่การบริโภคผลของมันแล้วเรียกว่าได้มาแล้วมาอยู่ในมือของเราแล้วยังแต่จะกินเท่านั้น ก็อย่าทำเล่น อย่าทำเล่นๆ จะต้องระมัดระวังตั้งแต่ทีแรกเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับไอ้สิ่งที่เรียกว่าสาม กอ สาม กอ นี่ เรื่องกินหนึ่ง เรื่องกามหนึ่ง เรื่องเกียรติหนึ่ง เขาเรียกว่าสามกอ นี่คนเคยวินาศฉิบหายก็เพราะทำเล่น ๆ กับสิ่งทั้งสามนี้มานับไม่ถ้วนแล้ว เขากำลังวินาศฉิบหายอยู่เพราะว่าทำเล่น ๆ อยู่กับไอ้สิ่งทั้งสามนี้ ฉะนั้นระวังมันให้ดีไอ้สามกอนั่นมันจะกัดเอา มันมีตัวกอด้วยกันทั้งนั้นแหละ มันจะกัดเอาแล้วจะลำบากแล้วจะเป็นทุกข์ แต่ถ้าเมื่อใดมีธรรมะแล้วเมื่อนั้นจะปลอดภัย หัวข้อนี้เป็นหัวข้อสำคัญ ถ้ามีธรรมะแล้วจะปลอดภัย นี่เราต้องเรียนสิ่งที่เรียกว่าธรรมะให้หมด แล้วก็เอาสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีต้องใช้นั้นมา ก็ธรรมะนี้มีแล้วก็จะปลอดภัย ในการปลอดภัยนี้เราก็ดูเอาสิ เราก็มีอายุถึงขนาดนี้แล้ว ก็ผ่านโลกผ่านชีวิตมาพอสมควรแล้ว เราก็พอจะสรุปไอ้สิ่งเหล่านี้ได้เป็นสามสามส่วนหรือสามตอน ว่าในการเรียน ในการศึกษาเล่าเรียนนี้ตอนหนึ่ง ในการทำการทำงาน ทำหน้าที่นี้ก็ตอนหนึ่ง แล้วก็ในตอนที่บริโภคผลงาน นี้ก็อีกตอนหนึ่ง เพราะเราก็เรียนใช่ไหมนี่ กำลังจะเป็นครูแล้วเราก็ทำงานคือเป็นครู แล้วเราก็จะได้รับผลของการงานนี้ ถ้าเอากันยาว ๆ เป็นเรื่องของชีวิตยาว ๆ นี่มันก็ เด็ก ๆ นี้ก็เรียน แล้วก็เป็นผู้ใหญ่แล้วก็ทำงาน เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ก็บริโภคผลของการงานที่ทำมาจนตลอดชีวิต ถ้ามีธรรมะแล้วก็จะปลอดภัยทั้งสามระยะนี้ เมื่อเรียนก็เรียนมาได้โดยปลอดภัยเพราะมันมีธรรมะช่วยอยู่ แต่ไม่ค่อยมองเห็น ไม่ได้ขอบใจธรรมะใช่ไหม นี่ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะที่ช่วยให้เรียนสำเร็จนี่แล้วก็ไม่ได้ขอบใจธรรมะ ไปดูเสียใหม่ แล้วก็จะมองเห็นจะขอบใจ ก็จะนับถือไอ้สิ่งที่เรียกว่าธรรมะที่ให้เรียนสำเร็จ ทีนี้ต่อไปก็ยังมีอยู่อีกสองด่าน สองชั้นที่ว่าจะต้องทำงานด้วยการมีธรรมะประกอบด้วยธรรมะ แล้วมันช่วยเราอย่างที่เราเรียนมาสำเร็จนี่ ต่อไปเราจะทำการงานสำเร็จ เพราะในขั้นสุดท้ายแล้วเราก็จะมีการบริโภคผลของงานนี่ด้วยธรรมะอีกเหมือนกัน พอมีธรรมะมันก็ปลอดภัยอย่างนี้ฉะนั้นเรื่องกินเรื่องกามเรื่องเกียรติอะไรมันก็ปลอดภัยไปหมดเมื่อมีธรรมะ ก็กินอย่างมีธรรมะ เกี่ยวข้องกับกามอย่างมีธรรมะ เกี่ยวข้องกับเกียรติอย่างมีธรรมะ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้เว้นสิ่งเหล่านี้ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันต้องมี ต้องเกี่ยวข้องกับคน แต่ว่าต้องให้มันประกอบอยู่ด้วยธรรมะนี่ การกินนี่ก็ประกอบด้วยธรรมะ การเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่ากาม หรือการบริโภคกามนั้นก็ต้องประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ประกอบกับธรรมะคือไม่ทำผิด ในการที่บริโภคกามคุณหรือบริโภคกามเป็นเรื่องระหว่างเพศ ที่มัน มันหลีกไม่ได้ ไม่มีใครหลีกได้ มันมีอยู่แต่ว่าทำให้ถูกต้องเท่านั้นน่ะ อย่าให้มีผิดพลาดขึ้นมาได้ ทีนี้เรื่องเกียรติ พระพุทธเจ้าก็ได้ ไม่ได้ห้ามว่าอย่าแสวงหาเกียรติ ทุกคนแสวงหาเกียรติเป็นเครื่องวัดความสามารถของตน แต่ว่าเกี่ยวข้องกับเกียรติในลักษณะที่ถูกต้องอีกเหมือนกัน อย่าให้มันกัดเอา ให้มันเป็นเครื่องสนับสนุนส่งเสริมเราอยู่ตลอดเวลา เรื่องกินเรื่องกามเรื่องเกียรติสามกอนี้ อย่าให้มันกัดเอาเพราะว่าธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครอง จะดูกันให้กว้าง ให้เป็นแบบแผนเป็นแบบฉบับเป็นหลักฐาน ก็จะเรียกชื่อตามแบบฉบับเดิมของเขาว่าชีวิตคนเรานี้เขาแบ่งเป็นสี่ส่วนหรือสี่หมู่ ส่วนที่แรกก็เป็นพรหมจารี ตั้งแต่คลอดมาจากท้องแม่จนบัดนี้ จนก่อนชีวิตสมรสนี้เขาเรียกว่าพรหมจารี ทีนี้อันดับที่สองเขาเรียกว่าคฤหัสถ์ ก็หมายถึงสมรสแล้วก็มีเย้าเรือน เรียกว่าคฤหัสถ์ นี้ถ้ามันอยู่ไปได้ ผ่านโลกไปด้วยดี มันก็จะเบื่อแล้วจะเลื่อนชั้น มันจะไปอยู่ในระบบของวนปรัสถ์ วนที่แปลว่า ป่า ปรัสถที่แปลว่าอยู่ วนปรัสถ์ อยู่ป่า คืออยู่ในความสงบไม่ชอบยุ่งด้วยเรื่องโลกเรื่องยุ่งเวียนหัวนั่นนะ อยากไปอยู่ในมุมสงบ วนปรัสถ์ก็คือมุมสงบ ทีนี้ก็มีอยู่แบบหนึ่งมีอยู่ชั้นหนึ่ง ทีนี้ถ้าว่ายังไม่ตายต่อไปได้อีก ทีนี้ก็จะออกไปอยู่ในแบบที่เรียกว่าสันยาสี ท่องเที่ยวไปหรือว่าอยู่มีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ทีนี้เราเรียกกันว่าแจกของส่องตะเกียง คนเฒ่าคนแก่ที่เชี่ยวชาญแก่ชีวิตแก่โลกมาสมควรแล้วมีประโยชน์มาก คำพูดของเขาคำหนึ่งจะมีประโยชน์มากเพราะเป็นแสงสว่าง มันมาจากไอ้ประสบการณ์ที่เขาผ่านมาแล้วตั้งแต่เกิดจนแก่ ฉะนั้นคนแก่ที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์นี้จะมีประโยชน์มากเขาจะเป็นแสงสว่างให้แก่เด็ก ๆ แล้วก็อยู่มีชีวิตอยู่ทำหน้าที่นี้ต่อไปอีกทีหนึ่ง แล้วก็เสียสละเที่ยวไปเดินสอนไปเดินสอนไปอย่างพระพุทธเจ้านี้ เขาเรียกว่าสันยาสี ยากที่คนจะทำได้ครบทั้งสี่ แต่ก็มีส่วนที่ทำได้ อ้าวพวกเรานี่เป็นพรหมจารีที่ดีตลอดเวลาไม่มีความทุกข์ในวัยพรหมจารี แล้วเป็นพ่อบ้านแม่เรือนที่ดี แล้วต่อไปเราก็เป็นคนเฒ่าคนแก่บางเวลาก็หลีกไปหามุมสงบ ตามวัดตามวา ตามกอกล้วย กอไผ่ ริมบ้านก็ยังได้ นั้นมันไปอยู่ในมุมสงบ เมื่อแก่มากกันจริง ๆ ก็นั่งควบคุมลูกหลานให้มันทำถูกให้มันประพฤติถูก คนแก่ ๆ ก็ทำได้ทั้งนั้นแหละ ทำมากทำน้อย แม้ว่าจะไม่ได้ท่องเที่ยวไปตามประเทศต่าง ๆ ก็อยู่ในบ้านในเรือนนั่นนะ ลูกหลานในบ้านในเรือนมันไปทำผิดก็ห้ามเสียก็บอกเสีย ลูกหลานของคนข้าง บ้านใกล้เรือนเคียงมาคุยด้วยก็สอนมันให้ดี ก็ทำหน้าที่อย่างพระพุทธเจ้าได้น้อย ๆ อยู่ที่มุมสงบที่ในบ้านในเรือนอย่างนี้ก็ยังเรียกว่าเขาไปได้ครบสี่อาศรม เพราะว่าอาศรมนั้นก็แปลว่าหมู่หนึ่งที่อยู่กันทำอะไรเหมือน ๆ กัน ทีนี้เราก็กำลังอยู่ในอาศรมพรหมจารีทุกคนนี่ อาศรมพรหมจารีคือหมู่หนึ่งคณะหนึ่งที่ปฏิบัติอยู่อย่างดีที่สุด เคร่งครัดในการศึกษาในการประพฤติ ตามระเบียบตามกฎเกณฑ์ตามวินัย ที่ว่าพรหมจารีจะต้องประพฤติอย่างไร ขอให้อดกลั้นอดทนทำหน้าที่ของอาศรมนี้ให้ดีที่สุดจนวินาทีสุดท้าย ที่จะเปลี่ยนไปเป็นอาศรมคฤหัสถ์ ครองเรือน ธรรมะเท่านั้นช่วยได้ที่จะเป็นพรหมจารีสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ ธรรมะเท่านั้นช่วย พอไม่มีธรรมะก็เสียหมดแหละ ฉะนั้นมันก็จะมีไอ้ความทุกข์ นับตั้งแต่ไม่ ไม่ชอบตัวเองแล้ว รังเกียจตัวเองแล้ว ไม่นับถือตัวเองแล้ว มันก็ไม่มีความสบายแล้ว ถ้ามันมีความถูกต้องอยู่ในตัวเรามากพอ เราก็ไหว้ตัวเองได้ ชอบใจตัวเองได้ นับถือตัวเองได้ มีความสุขอยู่ได้ โดยที่ไม่ต้องไปมองไปนึกไม่ต้องนึกถึงสิ่งอื่นนี่ นึกแต่ตัวเราก็ยังพอใจตัวเรามีความสุขได้ นี่คืออานิสงค์ของธรรมะ เป็นคฤหัสถ์เป็นพ่อบ้านแม่เรือนนี่เขาเปรียบเหมือนกับว่า วัวหรือควายลากแอกลากไถลากเกวียนลากรถ หนัก แต่ถ้าอาศัยธรรมะมันก็ทำได้ดีอีก แล้วมันก็ไม่หนัก ไม่หนักมากเหมือนกับคนที่ไม่มีธรรมะ เพราะธรรมะมันช่วยให้รู้จักทำถูก แล้วให้ ช่วยให้รู้จักทำจิตใจให้ถูก ความทุกข์เลยกลายเป็นไม่ทุกข์เพราะว่ามันปลงตก เพราะว่ามันพิจารณาเห็นแล้วมันตั้งใจไว้ถูก มัน มันไม่เกิดความคิดไปในทางที่ให้เป็นความทุกข์ มันเกิดความคิดที่จะให้ปล่อยระบายออกไปไม่ให้เป็นความทุกข์มาก ฉะนั้นคฤหัสถ์ที่ดีก็มีความทุกข์น้อยกว่าคฤหัสถ์ที่เลว ที่เลวเขาเรียกว่าปุถุชน ที่ดีเขาเรียกว่าพระอริยะ พระอริยะเป็นคราวาสครองเรือนก็มี เป็นพระโสดาบันก็มี เป็นพระสกิทาทาคามีก็มี เป็นฆราวาสเป็นอนาคามีก็มี มันเป็นชั้น ๆ พวกนี้มีความทุกข์น้อยมาก แทบจะไม่มีความทุกข์เลย ทีนี้พวกปุถุชนมีกิเลสหนา มันก็แส่ไปหาความทุกข์มีความทุกข์มาก นี่เป็นคฤหัสถ์ที่ดี ธรรมะช่วย ก็มีความทุกข์น้อยและเป็นการศึกษาที่ดีพร้อมกันไปในตัว เราเกิดมา แล้วเราก็เติบโตขึ้นมา แล้วก็ทำการงานเป็นไปแล้วเราก็เจ็บไข้ แล้วเราก็ชราแล้วเราก็ตาย จากเกิดถึงตายมันมีอยู่อย่างนี้ นี้เป็นชั้น ๆ ขั้น ๆ นี้ทำให้มันถูกทุกชั้นทุกขั้น โดยอาศัยธรรมะเป็นเครื่องมือ เว้นธรรมะเสียแล้วสิ่งเหล่านี้จะเป็นความทุกข์อย่างมหาศาลและตลอดเวลา มีธรรมะแล้วไอ้สิ่งเหล่านี้จะถูกแก้ไขให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์แล้วเป็นไปด้วยดีแล้วก็ไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นขอให้เป็นอยู่อย่างที่เรียกว่ามีธรรมะ ทำอย่างไรเรียกว่ามีธรรมะ นี้ก็พอจะเข้าใจกันได้ เพราะมันเคยได้ยินได้ฟังมาไม่น้อยอยู่แล้ว ให้มีธรรมะให้ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ให้ทุกอย่างมันประกอบอยู่ด้วยธรรมะ การกินการนอน การทำทุกอย่าง เรื่องกินเรื่องกามเรื่องเกียรติ ก็ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ เกิดขึ้นมา เติบโตอยู่ เจ็บไข้อยู่ ก็ให้ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ แก่ชราตายลงก็ให้มันตายลงไปด้วย อาการที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ นี่เกิดดีอยู่ดีตายดี ดีในที่นี้หมายถึงประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ทีนี้ถ้าจะหาอะไรมา ก็หาโดยธรรมะ จะได้อะไรมา ก็ให้ได้โดยธรรมะ จะกินจะใช้อะไรก็ให้มันประกอบอยู่ด้วยธรรมะ แล้วเรามาสรุปความเสียใหม่ก็ว่า มีลมหายใจอยู่ด้วยธรรมะ อย่าให้ลมหายใจสกปรก ถ้ามันทำผิดอยู่ที่กายวาจาใจก็เรียกว่าเรามีลมหายใจอยู่อย่างสกปรก น่ารังเกียจอย่างยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ขอให้จัดหรือปรับปรุง ทุกอย่างทุกวิถีทางให้ลมหายใจสะอาด มีธรรมะอยู่ทุกครั้งที่หายใจ พูดอีกโวหารหนึ่งก็พูดว่ามีธรรมะอาบรดอยู่ที่กายวาจาใจ ฟังดูแล้วน่านับถือใช่ไหม ที่มีธรรมะน่ะมาอาบรด ลูบไล้อยู่ที่กายของเรา ที่วาจาของเรา ที่ใจของเรา อย่างนี้เขาเรียกว่าประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ฉะนั้นทุกคนจะต้อง เสียสละอดทน อดทนที่สุดที่จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ต้องศึกษาต้องทดลองต้องค้นคว้าให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ จึงจะมีธรรมะอาบรดอยู่ที่กายที่ใจ มันก็เป็นเครื่องหุ้มเครื่องคุ้มครองไม่ให้ความทุกข์มาแตะต้องนั่น ธรรมะนั่นแหละเป็นเครื่องราง เอาพระมาแขวนคอไว้ก็ได้ แต่เพื่อให้ระลึกถึงธรรมะ แล้วมีธรรมะแล้วธรรมะก็คุ้มครอง อย่างนี้เราก็เรียกว่าพระเครื่องนั้นคุ้มครองอย่างนี้ถูก แต่ถ้ามาแขวนไว้แล้วก็นึกว่าคุ้มครองเฉย ๆ อย่างนี้มันโง่ จะไม่เรียกว่าผิด แต่เรียกว่าโง่ มันก็อยู่ในพวกที่ผิดนั่นแหละ เรามีอะไรที่เป็นสัญลักษณ์ของธรรมะมาเตือนใจอยู่เสมอ อย่างพระพุทธรูปองค์นี้ ก็มันเห็นแล้วก็ให้นึกถึงธรรมะ โบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ ผ้าเหลืองอะไรก็ตาม ก็เหลือบตาไปเห็นก็เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงธรรมะ ที่บางทีมันไม่สะดวกเอามาแขวนไว้ที่คอสักชิ้นหนึ่ง เป็นสัญลักษณ์ของธรรมะ จะได้คุ้มครองโดยทำให้มีธรรมะแล้วก็คุ้มครอง ถ้าเรามีอะไรเป็นสัญลักษณ์ของธรรมะคอยเตือน คอยตักเตือนใจไว้อย่างนี้เสมอก็ดี ที่ในห้องเรียนก็มี ในห้องทำงานก็มี ที่ไหนก็มี ที่เนื้อที่ตัวก็มี อย่างนี้เขาเรียกว่าประกอบอยู่ด้วยธรรมะ มีลมหายใจอยู่ด้วยธรรมะ มีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัว คือที่กายที่วาจาที่ใจ ความประกอบอยู่ด้วยธรรมะนี้ จะเรียกว่าการปฏิบัติธรรมะอยู่ตลอดเวลา ถ้าโดยหลัก ในพุทธศาสนา ก็เรียกว่าตั้งตนอยู่ในหนทางอันชอบ คือหนทางที่เรียกว่าอริยมรรคน่ะ ถ้าคำว่าอริยมรรคมันแปลกหูเรา แล้วเราไม่ค่อยชอบแล้วเราชักจะเกลียดเอาด้วยแล้วก็เข้าใจเสียใหม่ เพราะอริยมรรคคือหนทางแห่งความถูกต้องที่ประเสริฐที่สุด ไม่ใช่ของครึ ไม่คำครึ ไม่ใช่เรื่องที่วัด แต่เป็นเรื่องที่จะอยู่ที่ในเนื้อในตัวของทุกคน ในทุกคนจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่าอริยมรรค คือการเดินที่ถูกต้อง ชีวิตเป็นของเดินอยู่เสมอเป็นการเดินอยู่เสมอ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี่มันเดินโดยจิตใจอยู่เสมอ มันต้องเดินตามหนทางที่ถูกต้อง หนทางที่ถูกต้องนี้เรียกว่าอริยมรรค แล้วต้องเดินมาถูกต้องไม่มากก็น้อย เราจึงรอดตัวมานั่งอยู่ที่นี่ได้ ตั้งแต่เกิดมาจากท้องแม่จนมาเป็นอย่างนี้ มันมีการเดินที่ถูกต้องที่เรียกว่าอริยมรรคอยู่ ในระดับใดระดับหนึ่งมันจึงรอดมาถึงขนาดนี้ แล้วมันจะต้องเดินต่อไปอีก มันก็เป็นอริยมมรรคที่ยิ่งขึ้นไปสูงขึ้นไป เดินไปถึงประสบความสำเร็จในเรื่องโลก ๆ นี้แล้ว มันยังไม่ยอมยุดมันอยากจะเดินอีก มันก็จะต้องเดินไปสู่มรรคผลนิพพาน นั่นคือตัวอริยมรรคอย่างสมบูรณ์ ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไอ้สิ่งที่เรียกอริยมรรคไว้ ในฐานะที่ครอบคลุมได้หมด กว้างขวางได้หมด เด็ก ๆ ก็ปฏิบัติได้ คนหนุ่มคนสาวก็ปฏิบัติได้ ผู้ใหญ่ครองบ้านครองเรือนบิดามารดาก็ปฏิบัติได้ คนแก่คนเฒ่าก็ปฏิบัติได้ โดยหลักอันเดียวกันที่เรียกว่าอริยมรรค ที่เขาเรียกว่าอัตถังคิตะมรรค เพราะมันประกอบอยู่ด้วยองค์แปดอย่าง เป็นความถูกต้องแปดประการนี้เรียกว่าอริยมรรคคือตัวธรรมะแท้ ที่เป็นหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติและให้ทุกคนมันรอดไปได้ มันเป็นเรื่อง ที่จะเรียกว่าใหญ่โตก็ได้มันมีรายละเอียดมาก ฉะนั้นเราไว้พูดกันในวันต่อไป วันนี้จะหยุดไว้แต่เพียงความหวังว่า เราจะต้องมีอริยมรรค คือความถูกต้องแปดประการ นี้ขอย้ำในที่สุดว่าให้ดูให้ดี ให้ดูให้ดีทุกอย่างขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าธรรมะเพียงคำเดียว หรือพยางค์เดียวออกเสียงทีเทียวว่า ทำ ว่าทำ เฉย ๆ นี้เวลาที่กำหนดไว้สำหรับการบรรยายมันก็สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปเหลืออีกสามสิบนาทีก็ถามปัญหาตอบปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็จะซักไซ้เข้าใจไอ้สิ่งที่ได้พูดไปแล้ว หนึ่งชั่วโมงนี้ ฉะนั้นใครมีปัญหาอะไร ถ้าไม่มีปัญหาก็เป็นพระอรหันต์ มันมีอย่างนั้นมันไม่ต้องหัวสิ ไม่ต้องหัวเราะสิ ถ้าใครหมดปัญหาก็เป็นพระอรหันต์ ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์จะยังมีปัญหา แม้แต่พระโสดาบัน สกิทาทาคามีเกือบจะเป็นพระอรหันต์ก็ยังมีปัญหา คือถ้าไม่มีปัญหาก็คือไม่รู้จักตัวเอง น่าหัว ไม่รู้จักตัวเอง ไม่มีปัญหาที่ตัวเองจะต้องสะสางจะต้องแก้ไข ทีเดี๋ยวนี้ก็ได้พูดให้ฟังตั้งชั่วโมงแล้ว มันควรจะมีแง่เงื่อนอะไรบางอย่างที่ไม่เข้าใจ แล้วจะต้องสงสัย หรือนั่งหลับซะหมด ไม่มีปัญหา แต่ก่อนหัวหน้ามีโปรแกรมไว้อย่างไรวันนี้ ไปเลี้ยงพระใช่ไหมเวลาเท่าไหร่ตามเวลานี้ มันก็ต้องสองต้องแปดโมง เดี๋ยวนี้เรายังมีเวลาเหลือตั้งครึ่งชั่วโมง แล้วพวกคุณจะไปรับประทานกันตอนไหน เก้าโมงครึ่ง เอาสิ ก็รีบให้มันเสีย ให้มันตอนนี้นะ มีปัญหาก็ถาม จะไปรับประทานที่ไหน ใกล้ ๆ แถวนี้ก็ดีแล้วก็มาเลี้ยงพระ จะเก็บอันนั้นไว้รับประทานตอนเลี้ยงพระเสร็จมันก็จะหิวเกินไป เพราะเรารับประทานแต่เช้า อ้าวมีปัญหาอะไรว่าไป ช่วยตั้งปัญหาแทนแล้วก็ตั้งไม่ถูก ฉะนั้นทุกคนต้องมีปัญหาจริงของตัวเองแล้วถามออกมา อ้าวมีว่าอะไร (คำถาม นาทีที่ 01.08.29-01.08.50) นี้เขาถามว่าไม่รู้จักอ่า สิ่งที่เรียกว่ากรรมแล้วผลของกรรมคืออะไร เรื่องอย่างนี้ก็ได้เขียนกันไว้มาก พูดกันไว้มากในเรื่องที่เกี่ยวกับกรรม เพราะจะต้องประยุกต์ กันเข้ากับไอ้เรื่องที่เรากำลังพูด ว่าเรามีธรรมะในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ แล้วก็ตัวธรรมชาติหน้าที่ตามธรรมชาติ ผลตามกฎของธรรมชาติ กฎแห่งกรรมนั่นแหละคือกฎของธรรมชาติ ว่าถ้าทำลงไปอย่างนี้ ปฏิกิริยาจะต้องเกิดขึ้นอย่างนี้ แน่นอนไม่มีใครเปลี่ยนแปลงมันได้ เว้นว่าแต่เราจะรู้หรือไม่รู้ ถ้าเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำ คนทำ คือคนมันมีจิตใจมีความรู้สึกคิดนึก กิริยานั้นแหละเขาเรียกว่ากรรม ถ้าแมวทำมันก็ไม่ค่อยจะเรียกว่ากรรม มันเป็นเรื่องกิริยามากกว่า เพราะแมวมันก็ไม่ค่อยมีความรู้ผิดชอบชั่วดีอะไร ไอ้เรามีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีแล้วก็ไปทำตามนั้นมันก็ต่างจากที่แมวทำ หรือถ้าสิ่งที่ไม่มีชีวิตทำ เช่นต้นไม้ทำนี่ สิ่งที่มันไม่มีความรู้สติปัญญาทำนี้ เช่นต้นไม้นี้มันก็ยิ่งไปกว่าแมว แล้วถ้ามันเป็นสิ่งที่ไม่มีความรู้สึกยิ่งไปกว่านั้น มันเป็นก้อนดินก้อนหินมันมีการเคลื่อนไหวการเปลี่ยนแปลงนี้มันก็เป็นต่างกันไปมากไปอีก ฉะนั้นคำว่ากรรมจำกัดไว้เฉพาะสิ่งที่มีความรู้สึกคิดนึกผิดชอบชั่วดี ไปทำอะไรเข้าเคลื่อนไหวเข้าด้วยความรู้สึกนั้น ๆ แล้วก็เรียกว่า กรรม ถ้ารู้สึกคิดนึกผิดมันก็เป็นชั่วก็เป็นกรรมชั่ว รู้สึกคิดนึกดีถูกมันก็เป็นกรรมดี ทีนี้ผลของกรรมมันก็เกิดขึ้นในฐานะเป็นปฏิกิริยาออกมา กรรมดีก็ให้ผลดี กรรมชั่วก็ให้ผลชั่ว มันดีหรือชั่วตั้งแต่เมื่อเรามันทำลงไป เพราะได้บัญญัติว่าอย่างนี้ดี พอทำเข้ามันก็ดี อย่างนี้มันชั่วทำเข้ามันก็ชั่วนี้เรียกว่าผลกรรม แล้วเราก็ต้องเป็นไปตามกรรมคือตามกฎนี้ นี้เรียกว่ากฎแห่งกรรมมีอยู่ในฐานะเป็นสัจจะธรรม ฉะนั้นมีตัวเรานี้ที่เป็นผู้ทำกรรม เราทำหน้าที่เกี่ยวกับกรรมให้ถูกต้อง แล้วเราก็จะได้รับผลดีจากการกระทำกรรมนั้น มันก็อยู่ในสี่ความหมายที่ว่ามาแล้ว รายละเอียดกว่านี้ก็ไปดู ที่เขียนไว้บรรยายไว้ยืดยาวมาก กรรมชั่วเราก็ไม่สนใจ มันกัด มันกัดเอามากแรงนัก ไอ้กรรมดีนี้มันก็กัดเหมือนกันแต่ไม่ค่อยรู้สึก เอาสนุกสนานสบายอะไรไปเพราะกรรมดี แต่อีกทางหนึ่งมันก็กัดเอาเหมือนกัน มัน มัน มัน มันซ่อนอยู่เบื้องหลัง ทีนี้มันมีกรรมอีกกันหนึ่งซึ่งมันเหนือดีเหนือชั่ว กรรมอันนี้ไม่มีใครรู้จัก ตามธรรมดาไม่รู้จักแล้วไม่ได้สอนกันด้วย แต่พระพุทธเจ้าสอน คือปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปดน่ะ อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าชั่วหรือ ดี มันเหนือดีขึ้นไปอีก คือจะไม่มีความทุกข์เลยจะไม่กัดเลย กรรมชั่วก็กัดเอาเจ็บปวดอย่างกรรมชั่ว ไอ้กรรมดีก็กัด กัดเอาอย่างซ่อนเร้นมองไม่ค่อยเห็น แต่ถ้ากรรมเหนือดีเหนือชั่วคือหลักพุทธศาสนาแล้วไม่กัดเลย หมายถึงไปถึงนิพพาน ไอ้ดีก็อยู่ในนรก เอ้ยไอ้ชั่วก็อยู่ในนรก ไอ้ดีก็อยู่ที่สวรรค์ แต่พ้นนั้นไปก็เป็นนิพพาน ฉะนั้นกรรมที่สามพ้นดีพ้นชั่วแต่บางทีก็เรียกว่าเหนือกรรมไปซะเลย นี่หลักย่อ ๆ เรื่องกรรมมันมีอย่างนี้ เรามีจิตใจมีความรู้สึกคิดนึกทำลงไปผิดหรือชั่ว มันก็ต้องได้รับผลนั้น อย่างเป็นความทุกข์โดยตรง นี้เรามีความคิดนึกถูกต้องทางกรรมดี ทำดี ก็ได้รับผลเป็นที่พอใจ แต่อย่าลืมว่ามันเปลี่ยนแปลงมันจะทำให้เราร้องไห้เพราะกรรมดีก็ได้ เราอยากสอบไล่ได้พอเราสอบไล่ตกมันก็ร้องไห้ เราก็ไม่มีความผิดอะไรหรือทำชั่วอะไร แต่เรายึดถือในความดีนั้นเราก็อาจจะเป็นทุกข์ได้ เพราะความดี ทีนี้เราอย่าไปยึดถือมันทั้งสองอย่างแต่ตั้งใจทำให้ดีที่สุดนะ นี้มันจะไม่สอบตกเลย และจะไม่ต้องร้องไห้ไม่ต้องหัวเราะด้วย คนเราเกี่ยวกับกรรมอย่างนี้ไม่มีทางหลีกเลี่ยง ทุกคนจะต้องเกี่ยวอยู่กับกรรมของตัว ไปเป็นเรื่องเป็นราวเป็นสายเป็นสลับซับซ้อน มีหน้าที่แต่จะต้องระวังให้ดีให้ถูกต้อง เกี่ยวกับเรื่องกรรมมีอยู่อย่างนี้ อ้าวใครมีปัญหาอะไรอีก เดี๋ยวจะหมดเวลาเสีย อะไรว่าอะไร (คำถาม นาทีที่ 01.15.21-01.16.34) นี้เขาถามว่าไอ้คนเราได้รับผลอะไรต่าง ๆ อยู่นี้เพราะผลของกรรมเป็นผลของกรรมในชาติก่อนคือชาติที่แล้วมา แล้วก็ชาติก่อนนั้นมีจริงหรือไม่ บางคนเขาสอนว่าให้ทำสมาธิอย่างสูงสุดแล้วก็ระลึกได้ถึงชาติก่อน แล้วก็เชื่อในเรื่องชาติก่อน ทีนี้บางคนเขาไม่เชื่อย่างนั้นไม่คิดอย่างนั้นว่าไม่ใช่กรรมหรือผลของกรรมในชาติก่อน แต่มันเป็นเรื่องเพียงชาตินี้เท่านั้น อะไรก็มันเสร็จสิ้นอยู่เพียงชาตินี้เท่านั้น ตายแล้วก็เลิกกัน นี่มันเป็นสองความเห็น แย้งกันอยู่อย่างนี้ ทีนี้ก็จะตอบตามหลักของพุทธศาสนามันจะมีปัญหาอย่างอื่นแทรกเข้ามา ตรงที่คำว่าชาติ ชาตินี้ หรือชาติก่อน หรือชาติข้างหน้าน่ะ มันมีความหมายอยู่เป็นสองอย่าง คำว่าชาติคือความเกิดเนี่ยมันเกิดของเนื้อหนังร่างกายนี้ก็ได้ อย่างนี้มันเกิดทีเดียวจากท้องแม่แล้วมันรออยู่จนกว่าจะเข้าโลงคือตาย นี้ก็เรียกว่าชาติหนึ่ง แล้วก็มีความหมายอย่างหนึ่ง ทีนี้ชาติอีกความหมายหนึ่งละเอียดสุขุมกว่านั้น คือไม่เอาเกิดจากท้องแม่ เป็นเกิด ไม่เอาตายเข้าโลงเป็นตาย เอาเกิดแห่งความคิดในใจ พอเกิดความรู้สึกประเภทที่มันเป็นตัวตน ตัวฉันตัวกู เป็นที่เรียกว่าไอ้ ไอ้ Egoism Egoism มีความรู้สึกเป็นตัวฉันเป็นตัวตนที่หนึ่งนี่ก็เรียกว่าเกิดทีหนึ่ง ความรู้สึกอันนี้อยู่ชั่วขณะชั่วกรณีที่มันเกิดขึ้นแล้วเดี๋ยวมันก็ดับไป นี้ก็คือตาย ฉะนั้นคนเราจึงเดี๋ยวเกิดเดี๋ยวตาย เดี๋ยวเกิดเดี๋ยวตายได้วันหนึ่งหลายหน ทำไมจึงเรียกว่าเกิดชาติหนึ่ง ๆ เพราะมันไม่เหมือนกันนี้ ความคิดอย่างนี้มันคิดไปอย่างนี้ ความคิดทีหลังมันคิดไปอย่างอื่น ฉะนั้นเรียกว่าไอ้ตายเกิดตายเกิดอยู่เรื่อย ๆ แล้วก็ไม่เหมือนกันสักที แล้วมันก็ยังมีหลักว่าถ้าเกิดว่าไปคิดอย่างเลวมันก็เป็นคนเลว เกิดเป็นคนเลวแล้ว เดี๋ยวใจวูบเดียวก็เกิดเป็นคนเลวแล้ว ถ้าเลวมากกว่านั้นก็เกิดเป็นสัตว์นรกสัตว์เดรัจฉาน ได้แล้วในร่างกายนี้ มันมีการเกิดเป็นสัตว์นรกสัตว์เดรัจฉานก็ได้ ถ้าคิดดีมันเกิดเป็นคนดี คิดอย่างเทวดา เกิดเป็นอย่างเทวดา คิดอย่างไรก็เกิดอย่างนั้น นี่เกิดตายเกิดตายอย่างนั้นจริงกว่า แล้วก็มองเห็นได้ ว่ามันเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดอย่างแท้จริง แล้วมันส่งเสริมกันจริง ความคิดในการเกิดทีแรกเป็นอย่างนั้น แล้วมันก็มาให้ผลในการเกิดความคิดอย่างที่สอง แล้วมันก็ส่งมาเกิดอย่างที่สามที่สี่ เอ้าอย่างว่าตัวอย่างว่าทีแรกเราคิดผิด ก็เกิดเป็นคนโง่คนคิดผิด แล้วความคิดผิดนี้กลับไปแล้วก็ทำให้เกิดการกระทำ หรือว่าคิดว่าจะกระทำก็เกิดใหม่แล้ว คิดอย่างผู้กระทำ กระทำอย่างโจร อย่างบัณฑิตอะไรก็แล้วแต่ แล้วมันก็ทำจริง ๆ ด้วย พอทำไปแล้วมันก็เกิดความคิดอันอื่นอีก มันเป็นชาติ ชาติ ชาติ ต่อกันมา แล้วก็มีผลส่งถึงกันทุกชาติอย่างนี้จริง ไม่ต้องเชื่อคนอื่น ถ้าเราทำดีมันก็ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป แล้วเราได้เกิดดีแล้วจะเอาอะไรกันอีก มันไม่มีอะไรมากกว่านั้น ถ้าเราคิดดี ทำดี ถูกดีมันก็ดีเป็นคนดีที่นี่เป็นคนรวยเป็นคนดีอยู่ที่นี่ นี่เรียกว่าจริง แล้วก็เป็นของที่เห็นได้ รู้สึกได้สัมผัสได้ด้วยตนเองจริง ๆ ชาติในความหมายอย่างนี้เป็นอย่างนี้ ทีนี้ชาติในความหมายอย่างอื่น ที่คนอื่นเขาก็พูดเขาก็สอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าโน่น ที่ว่า ชาติก่อนหลังก็มี ทำอะไรไปแล้วก็มีผลในชาตินี้ แล้วก็ผลชาตินี้ไปในชาติหน้า ก็จะได้รับ เช่นทำบุญไว้ในชาตินี้ ตายแล้วเข้าโลงแล้วไปสวรรค์อย่างนี้หรือไปนรกก็ตามใจ อย่างนี้เขาสอนกันอยู่ ก่อนพระพุทธเจ้าด้วยซ้ำไป พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นก็ไม่ลบล้างของเขา ไม่ลบไม่ยกเลิกของเขา บอกว่าเชื่ออย่างนั้นก็ดีแล้ว มันมีประโยชน์ ในทางศีลธรรมคือคนจะได้ทำดี สังคมจะได้มีความสุขฉะนั้นเป็นเรื่องศีลธรรม แต่เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นนะ ที่ว่าชาติโน้นอย่างไร มาชาตินี้อย่างไร ไปชาติหน้าอย่างไร เป็นสิ่งที่มองด้วยตนเองไม่เห็น ต้องเชื่อผู้อื่น อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านไม่ชอบ ท่านไม่แนะนำ แต่ท่านก็ไม่ไปคัดค้านเขา ท่านแนะนำไอ้สิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตนเอง รู้สึกได้ด้วยตนเอง ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นไอ้เรื่องชาติที่ว่าเกิดในใจแล้วดับในใจได้นั้นน่ะ รู้สึกได้ด้วยตัวเอง เห็นได้ด้วยตัวเองตลอดเวลา ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น แล้วมันก็จริงกว่าถ้าเราควบคุมได้ เราทำได้ เราจัดได้ตามที่เราต้องการ แล้วเป็นชาติที่เราไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนควบคุมไม่ได้มันก็ไม่มีประโยชน์ แต่ว่ามันก็ดี ถ้าเชื่ออย่างนั้นมันก็ดี มันก็มีประโยชน์ทางศีลธรรม ฉะนั้นสรุปความว่าเราเชื่อว่าตายแล้วไปเกิดอีกตามนั้นดีกว่าที่เราจะเชื่อว่าตายแล้วไม่เกิดอีก ทีนี้เราต้องเชื่อ เชื่ออย่างเชื่อผู้อื่นกันทั้งสองอย่างแหละ เชื่อว่าตายแล้วเกิดอีกนี่ดีกว่าแล้วก็สอนกันมานมนานก่อนพุทธกาล ก็มีประโยชน์ ทำให้คนมีศีลธรรม ทำดี ถ้าเชื่อว่าตายแล้วแค่นี้เอง ลงเข้าโลงแล้วก็หมดเรื่องอย่างนี้มันไม่แน่ แล้วมันมักจะเอียงไปในทางที่เห็นแก่ตัว รวบรัดเอาแต่ประโยชน์ของตัว ไม่เห็นแก่ผู้อื่น มันจะมีดีอยู่บ้างก็ว่าถ้าเขาคิดถูกว่าตายแล้วเลิกกัน เขาก็รีบทำความดี รีบทำความดีก่อนจะตายไว้ให้มาก เข้าไว้ นี้มันก็มีประโยชน์เหมือนกัน แต่ถ้าคิดว่าตายแล้วเกิดอีก มันก็มีประโยชน์ที่ว่าเราจะได้ทำให้มาก ๆ เข้าไว้ เอาผลยืดยาวไปข้างหน้า นี่เรื่องศีลธรรมเขาสอนไอ้เกิดตายอย่างนี้ แต่เรื่องสัจจะธรรมเขาสอนอย่างที่ว่าทีหลัง หรือเกิดตายด้วยจิตใจวันหนึ่งเกิดตายได้ไม่รู้กี่ครั้ง ฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งกว่า ทั้งสองเรื่องมีประโยชน์คนทั่วไปที่ไม่มีสติปัญญาก็เชื่ออย่างตายแล้วเกิด ก็ไม่กล้าทำชั่วทำบาป ศาสนาทุกศาสนามีรากฐานอย่างนี้ ให้เชื่อไว้โดยหลักว่าตายแล้วเกิด ดีกว่า แล้วให้รีบทำความดีเพื่อจะได้เกิดดี นี่พุทธศาสนาเขาสอนอย่างนั้นในระดับศีลธรรม เพราะในระดับสัจจะธรรมเขาสอนว่าอย่าเกิดดีกว่า ให้มีความรู้สูง กระทั่งว่าไม่มีตัวเราไม่มีอะไรเกิด แล้วก็จิตมันก็ว่างก็ไม่มีวิตกกังวลไม่มีปัญหาไม่มีอะไรหมดเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์ในลักษณะที่ถูกต้องอย่างนี้ก็ไม่มีความทุกข์เลย ก็เรียกว่าพ้นเกิด เหนือเกิด ฉะนั้นการที่จะเชื่อว่า เข้าโลงแล้วเลิกกันนี่ มันก็มันก็เป็นอันตรายกว่า ที่จะเชื่อว่ายังมีอีก และเดี๋ยวนี้ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่าพวกวัตถุนิยม เขาไปถือกันแต่เพียงว่าร่างกายนี้อยู่แค่นี้ ตายแล้วเลิกกันซะฉะนั้น แล้วบางทีจะหนักไปถึงกับว่าเอาเรื่องวัตถุเป็นหลักให้ได้เอร็ดอร่อยตามที่ต้องการแล้วก็พอแล้ว นี้มันก็อันตรายแล้ว นี่ นี่คน คนที่คิดแบบวัตถุนิยมนี่ พอตายแล้วก็แค่นี้เกิดแล้วก็แค่นี้ นี่มันเอียงไปในทางที่จะเห็นแก่ตัวได้ ไม่ทำอะไรให้ยืดยาวไว้ ฉะนั้นจึงเสียเปรียบไอ้ผู้ที่เชื่อว่าตายแล้วเกิด มันพิสูจน์ได้อย่างนี้ เราเชื่อว่าตายแล้วเกิดอีกนะ เราก็รีบทำความดีเผื่อไว้ ทีนี้ถ้าสมมุติว่าตายแล้วไม่เกิด เราก็ไม่ขาดทุนอะไร ไอ้ความดีที่เราทำไว้มาก มาก ๆ ทั้งหมดน่ะ มันก็ได้ที่นี่ ได้ผลชาตินี้ แต่ทีนี้ถ้าเผื่อว่าตายแล้วมันมีการเกิดจริงเราก็ไม่ขาดทุนอีก เราก็ได้ผลตามที่เราตั้งใจไว้จริง เขาเรียกว่าปลอดภัยทั้งสองทางคือทั้งขึ้นทั้งล่อง ทีนี้การที่เชื่อว่าตายแล้วไม่เกิดนี้อาจจะไม่ปลอดภัยทั้งขึ้นทั้งล่อง ก็อยู่ที่นี่ก็จะเอาแต่ความเห็นแก่ตัว เอาแต่เปรียบผู้อื่นเห็นแก่ตัวนี่ หรือจะไม่ทำความดี เพื่อจะตายแล้วไปเกิดอีก ถ้ามันไปเกิดกันอีกจริง ๆ มันก็จะแย่ นี่เขาเรียกว่าขาดทุนทั้งขึ้นทั้งล่อง ฉะนั้นเพื่อปลอดภัยไว้ก่อน สอนลูกศิษย์ ต่อไปข้างหน้าให้มันเชื่อว่าตายแล้วเกิดไว้ดีกว่า เกิดตายแล้วเกิดทางศีลธรรมก็ได้ อย่างที่เขาสอนกันทั่วไป ตายแล้วเกิดอย่างสัจจะธรรมที่อย่างละเอียดลึกซึ้งอย่างที่ว่านี้ก็ได้ แต่เด็ก ๆ คงไม่เข้าใจ รอโอกาสว่าคนเรานี่เกิดความคิดเป็น Egoism มีตัวฉัน มี Identity มี Personality เฉพาะกรณีนั้นอย่างหนึ่ง เป็นตัวฉันอย่างนั้น ๆ แล้วเดี๋ยวก็ดับไปแล้วก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น นี่ถ้าเรียนวิทยา อ้า เรียนหนังสือมากขึ้นมาในทาง ถึงชั้นสูง เรียนวิทยาศาสตร์อะไรมากพอ แล้วก็เข้าใจเรื่องจิตชนิดนี้ได้ แล้วเขาก็เชื่อเลย เขามองเห็นเองเลยว่ามันตายเกิดตายเกิดอยู่ข้างในจริง นี้ก็ยิ่งดี ยิ่งเห็นว่ามีตายแล้วเกิดจริง ถ้าเรามองเห็นชัดซะอย่างนี้แล้วไม่มีทางที่จะ จะเสียหาย จะเป็น จะทำชั่วจะเป็นทุกข์ เพราะไม่เชื่อว่าตายแล้วเกิดนั่นน่ะ จึงทำอะไรหวัด ๆ ถ้าหวัดมากเข้าก็เกิดผลร้ายในชาตินี้ทันตาเห็นเลย ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว ฉะนั้นอย่าทำเล่นกับไอ้ ไอ้ ไอ้ ความคิดหรือทฤษฏีทางที่เกี่ยวกับตายแล้วเกิดนี่ ถ้ายังทำอะไรได้ไม่มาก ก็เชื่อว่าตายแล้วเกิดตามกฎแห่งเหตุผล เพราะเมื่อเหตุปัจจัยมันยังไม่หมดมันต้องมีอะไรต่อไปแหละ นี่เขาจึงมีอดีต ปัจจุบันอนาคตกันเข้าไว้ทีก่อน เพราะเหตุมันทยอยเกิดผล ทีนี้ถ้าว่าเหตุผลนี้มันไปไปจนเบื่อจนขี้เกียจจะเกิดแล้วก็มีทางที่จะไม่ต้องเกิดก็ได้ ปฏิบัติธรรมะสูงสุดในพุทธศาสนาไม่ถืออะไรว่าเป็นตัวตน ไม่ถืออะไรว่าเป็นตัวเรา มีแต่ความเปลี่ยนแปลงไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ นี้จิตใจก็มันหลุดพ้น ไม่ไปติดอยู่ที่อะไร ก็สบายดี มันก็มีว่าเกิดตาย เกิดตาย เกิด ตายอยู่อย่างหนึ่ง แล้วก็เหนือเกิดเหนือตายอีกอย่างหนึ่ง ไปศึกษาเรื่องกรรมให้ถึงที่สุด เกี่ยวกับความเหนือกรรมพ้นกรรม ถึงแล้วซึ่งความสิ้นไปแห่งกรรมก็หมดปัญหา นี้มันเป็นเรื่องลึกสูงไปถึงจะเป็นเรื่องนิพพานแล้ว ก็เอากันแต่เรื่องศีลธรรมในโรงเรียนสอนเด็กสอนอะไรก็สอนเรื่องนี้เรื่องดีเรื่องชั่ว อย่าไปยุ่งกับไอ้ความชั่ว ถ้าเกิดความชั่วหรือทำชั่วแล้วให้กลายเป็นการสอน ให้รู้จักเข็ดหลาบกับความชั่ว ไอ้ความชั่วใหญ่หลวงมันก็มาไม่ได้ มันไม่มา เพราะเรามันเกลียดความชั่วเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่แล้ว แล้วก็ทำดี ก็ไม่ต้องมีใครมา ยกย่องสรรเสริญ ว่าทำดี ได้แล้วดีกว่า ไอ้ทำดีให้เขายกย่องสรรเสริญนั้นมันรับจ้าง ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่เคยรับจ้างมาแล้วเข้าใจไหม จะเอาอะไรจากพ่อแม่ก็ทำดี ก็ต้องเอาขนมมายั่วมาล่อให้เด็กเล็ก ๆ นั่น ทำดี ทำดีอย่างรับจ้างนี้ก็ต้องมีเหมือนกัน มันเป็นเรื่องตั้งต้น ต่อไปนี้เราไม่ต้องรับจ้างแล้ว เรารู้จักผิดชอบชั่วดี แล้วก็ทำดีโดยที่มันเป็นของดี นี่เขาเรียกว่ามีสติปัญญา อย่างผู้ใหญ่ขึ้นมาแล้วรู้จักทำดี ไอ้เด็ก ๆ ก็เลื่อนชั้นขึ้นมาเป็นการทำดีโดยไม่ต้องมีค่าจ้าง ก็ดีจริงดีกว่าสูงขึ้นไปกว่า อย่าสอนเขาแต่หนังสือ ก็สอนให้เขาเกลียดความชั่วกลัวความชั่วแล้วรักความดี ปราถนาความดี เขาก็จะมีความดี แล้วเขาจะเรียนหนังสือเก่งด้วย เราก็จะสอนเขาได้ง่าย ถ้าเด็ก ๆ เขานิยมความชั่วแล้วเขาก็ดื้อ ดื้อแล้วก็สอนเขาไม่ได้ครูก็เป็นหมัน ก็ถ้ามี แผนการที่จะทำให้เด็กมันดี ถ้าไม่ดี มันก็ไม่ดื้อ อ้าเมื่อดีมันก็ไม่ดื้อ มันก็เชื่อฟัง มันก็พยายามที่จะทำตามคำสั่งสอน มันก็ดี ไอ้เราก็สอนสะดวกสอนสบายไม่หนักอกหนักใจ ฉะนั้นควรจะห้ามเขาว่าอย่าเพิ่งไปวิจารณ์เรื่องการ ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดให้มันมากหนัก ให้เชื่อว่ามันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เชื่อว่าตายแล้วเกิดไว้ทีก่อนดีกว่า เพราะอย่างน้อยเราก็ยังมาพิสูจน์ให้เขาเห็นได้ด้วยการตายเกิดอย่างที่เรียกว่าตายเกิดวันละหลาย ๆ หนนี้ ส่วนตายเกิดอย่างที่มองไม่เห็นนั่นก็ เชื่อไว้ก่อน ในทางที่ปลอดภัย ในลักษณะที่ปลอดภัย ส่วนที่เขาว่าไปเข้าฌาณเข้าสมาบัติ เข้าฌาณ เข้าสมาธิแล้วจะไปเห็นไอ้ชาติก่อนนั้นอย่าไปสนใจเลย มันหลอกให้ก็ได้ เพราะจิตมันกลับกลอกหลอกได้ แล้วมันก็ไม่มีประโยชน์อะไรด้วย เพราะว่า เอ้าถ้ามันมีชาติก่อนจริง มีชาติหน้าจริงเราก็ต้องมาทำความดีอยู่นั่นแหละ ฉะนั้นเอาเวลามาทำความดีดีกว่าที่จะไปมัวทดสอบเรื่องเกิดหรือไม่เกิด ก็ว่าเอาเอง มากเหมือนกัน จะทำสมาธิอย่างนั้นแล้วก็จะเห็นชาติก่อน อุปาทานมันก็หลอนเอาได้ ก็เห็นจริงเหมือนกันแล้วก็เชื่อว่าจริงอย่างนี้ก็น่าสงสาร คนเขาทำสมาธิเห็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามาเห็นได้อีก นี้ก็เหมือนก็เห็นพระพุทธเจ้าก็เหมือนเขียนฝาผนังโบสถ์ ไม่เหมือนแขกอินเดีย มันก็ตลอกเล่นตลกกันอีกแล้ว เห็นพระพุทธเจ้าอย่างพระพุทธรูปนี้ แถมด้วยเห็นพระพุทธเจ้าอย่างที่เป็นชาวอินเดียในสมัยนั้นจริง นี่มันก็เล่นตลกกันอยู่อย่างนี้ เรื่องเกี่ยวกับสมาธิ เกี่ยวกับเห็นในสมาธิ ในฌาณในอะไร ที่มันจริงก็มี แล้วส่วนมากมันเป็นเรื่องอุปาทานหลอน ความรักของเรามีในคนที่ตายแล้ว อยากจะเห็นเขา ไปก็ทำสมาธิให้เห็นมันก็เห็น แล้วมันก็จะเห็นได้ด้วยความรู้สึกเก่า ๆ ที่มันสะสมไว้ในใจ ถ้าผิดจากนั้นมันก็เป็นเรื่องอุปาทานหลอน นี่เรื่องสมาธิเรื่องอย่างนี้มันก็ยังมีได้ถึงอย่างนี้ ฉะนั้นเลิกกันหมดดีกว่า มาดูแต่ว่าอะไรดีก็ทำ อะไรไม่ดีก็อย่าทำ เป็นอันว่าปลอดภัยทุกด้าน ทั้งที่ตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด นี่สอนไอ้ศีลธรรมอย่างเป็นรกรากขั้นต้นให้แก่เด็กนักเรียนของเราอย่างนี้ดีกว่า ส่วนไอ้อื่นน่ะถ้าเขาถามก็บอกว่ารอไว้วันหลังวันนี้มันจำเป็นอย่างนี้ มันต้องเอาอย่างนี้ก่อน มันจำเป็นอย่างนี้ เอ้าอีกห้านาทีถามเร็ว ๆ ใครมีถาม (คำถาม นาทีที่ 01.35.53-01.36.20) อย่างนี้มีมาก ที่นั่นก็มี ที่โน่นก็มีเหมือนอย่างนี้แล้วเก่งกว่านี้ก็มี แล้วไม่เห็นมีประโยชน์อะไร แล้วเชื่อว่าจริงหรือไม่นี้ก็ยังแย้งได้ อือ มันไม่เคยเป็นตัว เคนนาดี้ แต่ถ้าว่าไอ้ความคิดนึกรู้สึกของคนทั้งหลายที่รู้เรื่องเคนนาดี้ดี มันไปครอบงำจิตใจเด็กคนนั้นมันก็ตอบถูกเหมือนกัน จะพูดว่าวิญญาณของเคนนาดี้มาสิงเอา โดยที่มันไม่ใช่ตัวเคนนาดี้มาก่อนก็ได้น่ะ มันเป็นเด็กคนอื่นไม่ใช่ตัวแคนาดี้ชาติก่อนล่ะ แต่ว่าก็เอาวิญญาณเคนนาดี้มาสิงเอา มันก็พูดถูก นี้มันก็ไม่ใช่ของจริงน่ะ มันจริงไปไม่ได้ ทีนี้เด็กคนนั้นมันก็ได้รับอิทธิพลของความรู้สึก ของคนที่เคยรู้จักเคนนาดี้มาแล้ว แล้วสิงเอาก็ได้ ทีนี้แม้ว่ามันเป็นตัวจริง เป็นเคนนาดี้จริงมันก็ยังไม่มีประโยชน์อะไร เรารู้เพียงเท่านั้นยังไม่มีประโยชน์อะไร เขาต้องหันมาทำกรรมดี ทำความดีอะไรอีก เป็นเรื่องอย่างอื่นเป็นเรื่องความประสงค์อย่างอื่นมีประโยชน์อย่างอื่นไม่ใช่เรื่องความดับทุกข์ ฉะนั้นเราก็เลยไม่ค่อยจะสนใจกัน มาสนใจอยู่แต่ว่าเมื่อเกิดเป็นคนแล้วจะเป็นใครก็ตามนี้น่ะ มันจะต้องทำอย่างไร ให้ได้ผลดีที่สุด อย่างนั้นเขาเรียกว่า มันเป็นเรื่องที่ยังไม่ ไม่เป็นประโยชน์แก่ความดับทุกข์ แม้ว่ามันเป็นเรื่องจริง มันก็ยังไม่เป็นประโยชน์แก่ความดับทุกข์ มันต้องเลื่อนมาหาไอ้การทำความดี แล้วมันมีส่วนที่จะไม่จริงและหลอก โดยผลของอุปาทานนี้มากเสียกว่ามาก มันก็เป็นอันว่าเก็บไว้เสีย มาทำเรื่องที่ด่วนกว่า อะไรควรจะรู้เร็ว ๆ กันทำเร็ว ๆ ด่วนกว่า เพราะเราอย่าเป็นทุกข์เนี่ย เขาเปรียบเหมือนอย่างนี้เลยว่าถ้าไฟไหม้อยู่บนศีรษะของเรานี้ ก็ต้องรีบดับ อย่าไปสนใจว่ามันมาจากไหน อะไรยังไงยังไง ใครเป็นใคร อย่าไปสนใจ แล้วทำให้เร็ว อย่างเร็วที่สุด และก็ด้วยความพยายามอย่างยิ่งถึงที่สุดที่จะทำให้ได้ เหมือนกับว่าเราถูกจับกดศีรษะลงไปใต้น้ำนี่ เดี๋ยวเราก็อยากที่สุดที่จะขึ้นมาผิวน้ำ มันต้องอยากมากอย่างนั้น อยากทำเร็ว ๆ ในการที่จะดับทุกข์ได้ อย่าไปสนใจเรื่องปลีกย่อย ไกลออกไป ไกลออกไปมันจะเสียเวลาแก่การที่จะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์โดยตรง และโดยเร็ว บางคนก็จะถือว่าเป็นวิชาความรู้รอบตัวเบ็ดเตล็ดรอบตัวมันก็ได้เหมือนกัน มันก็ทำให้ฉลาดหรือว่าอะไรขึ้นได้บ้าง แต่ต้องทำไอ้เรื่องที่จำเป็นด่วนจี๋ให้เสร็จซะก่อน ตามหลักพุทธศาสนา จะถือหลักอย่างนี้เสมอไป ไอ้ที่ดับความทุกข์เหมือนกับว่าไฟไหม้อยู่บนศีรษะ เสร็จเสียก่อนแล้วจึงค่อยไปสนใจเรื่องนอกจากนั้น เราจะไม่ต้อง ไม่ ไม่ต้องอ้างเรื่องเคนนาดี้น่ะ มันมีมากมาย มากมาย แล้วก็น่า น่า น่า น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่านี้ แต่แล้วแม้ว่าเราจะรู้จริงว่าเป็นคนนั้นจริงนี้จริงมันก็กลับมาหาปัญหาเดิม จะดับทุกข์กันอย่างไร ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจะไม่ตอบปัญหาที่ไม่จำเป็น ฉะนั้นเราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าก็จะไม่ตอบปัญหาที่ยังไม่จำเป็น มันจะเปลืองเวลาของปัญหาที่จำเป็น แต่นี้หมดเวลาแล้ว เสร็จครึ่งแล้วอ้าวปิดประชุมรีบไปรับประทานอาหารหรืออะไร แล้วก็มาให้ทันเวลาแปดโมง