แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่จะเป็นครูทั้งหลาย
การบรรยายในครั้งนี้จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า ผู้ที่เป็นครูควรจะรู้จักวิธีการเข้าถึงหัวใจของศาสนา เราได้พูดกันมาแล้วถึงสิ่งที่เรียกว่าศาสนา หรือหัวใจของสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ดังนั้นจึงเหลืออยู่แต่วิธีการที่จะเข้าถึงหัวใจของศาสนา ถ้าเราจะสังเกตคำว่า เข้าถึง เราก็จะได้ใจความของมันว่า มีการเดินหรือมีการทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งคล้ายกัน เพื่อจะถึงสิ่งที่ต้องการจะได้จะถึง โดยทั่วไปก็คือการเดิน เมื่อเราอยากจะไปถึงที่ไหน เราก็ต้องเดินไปที่นั่น จะเดินด้วยเท้าหรือว่าจะเดินด้วยยานพาหนะ หรือแม้แต่ว่าจะเหาะไปได้ มันก็ยังเรียกว่าเป็นการเดิน คือเดินทาง จะมีคำว่าเดินกับคำว่าทาง นี่เป็นความหมายที่สำคัญอยู่ ที่ได้บอกมาตั้งแต่ทีแรก แรกแล้วว่า อันคำบัญญัติเฉพาะทางศาสนานั้น แม้จะลึกซึ้งเพียงใด มันก็ยืมไปจากคำชาวบ้าน เช่นคำว่าปฏิปทา หรือปฏิบัตินี้ คำนี้ก็แปลว่าเดินหรือไป ปทะ ที่แปลว่าเท้า ถ้าเป็นกริยา มันแปลว่าเดิน ปฏิปทา หรือ ปฏิบท นี้มันแปลว่าเดิน ปฏินี้มันเป็นคำประกอบข้างหน้า แปลว่าเฉพาะ ปฏิปทา จึงแปลว่าเดินไปเฉพาะ หรือเป็นรูปศัพท์อีกรูปหนึ่ง ประติปฏิ (นาทีที่ 5.07) นี้ก็ไปถึงเฉพาะ เดินไปเฉพาะ นั่นแหละคือ การเดินหรือวิธีปฏิบัติเพื่อให้มันถึง ก็คือการเดินนั่นเอง ที่นี้คำว่าทางนี่ หนทาง ก็ถนนหนทางนี่ ก็มีคำว่ามรคะหรือมรรคะ อยู่แล้วในภาษาชาวบ้าน ภาษาบาลีว่ามรรคะ ก็แปลว่าทางเดิน ภาษาสันสฤตว่า มรคะ ก็แปลว่าทางเดิน ภาษาไทยออกมาจากภาษาสันสกฤต จึงเป็นมรรคาหรือมรคา อย่างนี้เป็นต้น การปฏิบัติหรือการเข้าถึงหัวใจของศาสนา มันก็เปรียบกันได้กับการเดินทางตามทางธรรมดานี่เอง ผิดกันแต่ว่าเดี๋ยวนี้มันเดินด้วยใจ เดินด้วยจิต เดินด้วยวิญญาณ ไปตามทางปฏิบัติ ทางของศาสนา แล้วก็ไปถึงปลายทาง คือนิพพาน ที่เรียกว่า ความเย็น ก็เดินจากความร้อนไปสู่ความเย็น เดินทางไปจากความทุกข์ไปสู่ความไม่ทุกข์เท่านั้นเอง
นี่เข้าใจได้ไม่ยากว่าการเข้าถึงหัวใจของศาสนา การปฏิบัติให้ถูกต้องแล้วก็ถึงนิพพานนั่น คือหัวใจของศาสนา ถ้าเรียกว่าสิ่งสูงสุด ก็เดินไปจากสิ่งที่ต่ำไปยังสิ่งที่สูงสุด ถ้าพูดอย่างบุคลาธิษฐาน หรือพูดอย่างภาษาสมมติเป็นกรณีพิเศษ ก็เช่นว่า ไปถึงพระเจ้า การปฏิบัตินั้นเป็นการเดินทางเรื่อยๆ ไปกว่าจะถึงพระเจ้า ถึงอาณาจักรของพระเจ้า จึงขอให้พิจารณาดูให้ดีว่า มันไม่ใช่สิ่งที่น่าเกลียด มันไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว ไม่ใช่สิ่งที่น่าระอา คนสมัยนี้ เขาเกลียด เขากลัว เขาเบื่อระอากับสิ่งที่เรียกว่าศาสนาโดยแท้จริง พอได้ยินคำว่า มรรค ผล นิพพาน ก็ชวนง่วงนอน ดังนั้น เขาจึงไปถือศาสนาเงิน ศาสนาอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นศาสนาของกิเลส ไม่ใช่ศาสนาสำหรับมนุษย์ หรือศาสนาของธรรมะ เราควรจะสนใจและต้องการอย่างยิ่ง เหมือนกับต้องการเงินทอง ข้าวของ เพชรพลอย
และที่นี้ก็จะได้พูดกันถึงคำว่า ทาง หรือการเดินทาง คำว่า ทาง ในทางธรรมนั้น มันมีชื่อว่า อัฏฐังคิกมรรค คำว่า “อัฏฐังคิกมรรค” นี้ ในอัญประกาศ ขอให้เข้าใจให้ดีๆ อัฏฐะ แปลว่า แปด อัญธิกะ (นาทีที่ 9.27) แปลว่า ประกอบอยู่ด้วยองค์ มรรค ก็แปลว่าทาง อัฏฐังคิกมรรค ก็เลยแปลว่า ทางอันประกอบอยู่ด้วยองค์ ๘ ประการ ก็หมายความว่า ทางนี้มันมีอะไรที่ประกอบ ประกอบกันเข้า จากองค์ประกอบ ๘ ประการ ขอร้องให้จำไว้ในเบื้องต้นว่า อย่าพูดผิดๆ ว่า มรรค ๘ หรือทาง ๘ ทาง นั้นมันผิด มรรคนั้นมันหนึ่ง ฉะนั้นทางเดียวเท่านั้น แต่ว่าต้องประกอบอยู่ด้วยองค์ ๘ องค์ในที่นี้ก็ตรงกับคำว่า factor หรือ flown (นาทีที่ 10.26) ที่เรารู้จักกันดี ก็มี ๘ องค์หรือ ๘ factor รวมกันเข้าแล้วเป็น ๑ สิ่ง ที่นี้ ๘ องค์นี้ก็คือความถูกต้อง ๘ ประการ ความถูกต้องทางความเข้าใจหรือความเชื่อนี้ เรียกว่าสัมมาทิฐิ หรือความเห็นชอบ ความถูกต้องของความใฝ่ฝันหรือต้องการ นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปโป แปลว่าความดำริชอบ สองอย่างนี้เป็นเรื่องของปัญญา ทีนี้ต่อไปเป็นความถูกต้องทางการพูดจา นี้เรียกว่าสัมมาวาจา แปลว่า วาจาชอบ ทีนี้ความถูกต้องทางการกระทำ ทางกาย ทางการกระทำ เรียกว่าสัมมากัมมันโต แปลว่า การงานชอบ ที่นี้ความถูกต้องทางการดำรงชีวิต เลี้ยงชีวิต เรียกว่า สัมมาอาชีโว แปลว่า เลี้ยงชีวิตชอบ สามอย่างนี้เป็นพวกศีล ที่นี้ก็ความถูกต้องในทางความพากเพียรพยายาม เรียกว่า สัมมาวายาโม แปลว่าความพากเพียรชอบ คำว่า วายาโม หรือวายามะในภาษาบาลี นั้นคือยามะในสันสกฤตและก็มาเป็น พยายาม ในภาษาไทย วายามะ นั่นเองหรือพยายามชอบ ที่นี้ก็ความถูกต้องของการดำรงสติ เรียกว่าสัมมาสติ ก็แปลว่า ความมีสติ หรือความรำลึกชอบ ความระลึกหรือการระลึกชอบ ก็แล้วแต่จะเขียน ทีนี้อันสุดท้าย ความถูกต้องของความตั้งมั่นของจิต จิตตั้งมั่นถูกต้อง เรียกว่า สัมมาสมาธิ แปลว่าตั้งใจมั่นชอบ สามอย่างสุดท้ายนี้เป็นพวกสมาธิ ที่นี้เราก็ได้พวกปัญญามาก่อน ๒ อย่าง ได้พวกศีลตามรองลำดับมา ๓ อย่าง ได้พวกสมาธิถัดมาอีก ๓ อย่าง รวมเป็น ๘ อย่าง ๘ อย่างนั้นมันก็เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา แต่ก็เรียงลำดับให้ปัญญามาก่อน เพราะว่ามันต้องมีความเข้าใจถูกต้อง ความเชื่อถูกต้องอะไรมาก่อน สิ่งต่างๆ มันจึงจะเป็นไปได้ โผล่ขึ้นมาจะมีศีล มันก็ยาก มันต้องมีความรู้เรื่องอะไรต่างๆ หรือเรื่องศีลนั้นซะก่อน มันจึงมีศีลได้ มีศีลแล้วก็มีสมาธิได้ มีสมาธิมากแล้ว ก็ทำให้ปัญญามากต่อไปอีก ปัญญามากก็ทำศีล ทำสมาธิได้มาก ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น มันจึงไปถึงนิพพาน นี่ ๘ ประการนี้ เป็นองค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่าหนทาง มันต้องมีครบทั้ง ๘ อย่างนี้ เป็นความถูกต้อง ๘ ประการ รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว เขาเรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค เอากันง่ายๆ ว่า เราจะเดินทางไปที่ไหนสักแห่งหนึ่ง เราต้องมีองค์ประกอบของการเดินทางหลายๆ อย่าง เช่นเราต้องมีกำลังที่จะเดิน เราต้องมีแข้งขาที่จะเดิน เราต้องมีความรู้ที่จะเดิน มีความปลอดภัยในการเดิน มีเสบียงอาหารที่จะหากินได้ตลอดทาง อย่างนี้เป็นต้น สิ่งที่สมบูรณ์มันจะต้องประกอบอยู่ด้วยองค์ประกอบจำเป็นทั้งนั้น แม้ว่าการเรียนหนังสือ มันก็ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่าง มันจึงเรียนหนังสือสำเร็จได้ ถึงแม้การสอนหนังสือต่อไปก็เหมือนกัน มันก็ต้องประกอบด้วย องค์ประกอบหลายๆอย่าง มันจึงจะสำเร็จได้ อย่างนั้นวิธีปฏิบัติงานทั้งหลาย จะต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่มันจำเป็นครบถ้วนทุกอย่าง เดี๋ยวนี้เราพูดถึงหนทาง ในพุทธศาสนาที่จะเดินไป มันมีอยู่อย่างนี้ ทีนี้อะไรมันเดิน ก็จิตใจมันเดิน ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน ก็ว่า ชีวิตนี่แหละมันเดิน เราจะต้องทำให้ชีวิตของเราก้าวหน้าไปหรือว่าสูงขึ้น เจริญขึ้น ด้วยการเป็นอยู่ที่ถูกต้อง ๘ ประการนี้ แล้วก็รวมเรียกว่า เดินทางไปนิพพาน เมื่อยังไม่ถึงนิพพาน ก็ถึงความสุข ความสงบ อยู่ในเรื่องของโลกๆ นี้ก็ได้ ก็ไปคิดดู งั้นความถูกต้อง ๘ ประการนี้ สำคัญที่สุด แม้เด็กๆ ก็ต้องทำ คนหนุ่มคนสาวคนเฒ่าคนแก่ก็ต้องทำ ชาวบ้านก็ต้องทำ บรรพชิตที่วัดก็ต้องทำ ความถูกต้อง ๘ ประการเรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค รวมกัน ทีนี้ที่จัดเป็นศีล สมาธิ ปัญญา นั้นก็คือ ไอ้ ๘ อย่างนั่นแหละ ไปเรียกชื่อมันใหม่ว่า ไตรสิกขา ไตร สาม สิกขา การศึกษา ไตรสิกขาคือการศึกษา ๓ อย่าง ศึกษาเรื่องศีล ศึกษาเรื่องสมาธิ ศึกษาเรื่องปัญญา และเป็นการปฏิบัติทั้งนั้น ไม่ใช่ท่องหนังสือ สิกขานี้ใช้ได้ทั้งการเล่าเรียนและการปฏิบัติ ศึกษาทางทฤษฎี ก็ด้วยเล่าเรียน ทีนี้มันศึกษาจริงๆ ตัวจริงๆ เป็นตัว train อะไรลงไปจริงๆ ก็คือการปฏิบัติ การฝึกฝนอบรมนั้นแหละคือการศึกษา ก็มีผลของการปฏิบัติเกิดขึ้นแน่ ถ้าเพียงแต่ท่องหรือเล่าเรียน ผลแท้จริงไม่ได้ เราก็มารู้จักศีล สมาธิ ปัญญา กันเสีย ทำถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องกาย วาจา ก็เรียกว่า ศีล ทำถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องจิตโดยเฉพาะ ก็เรียกว่าสมาธิ ทำถูกต้องเกี่ยวกับวิชา ความรู้ ความเข้าใจ ความเห็นแจ้ง นี่เรียกว่า ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอย่างนี้ น่าเกลียด หรือไม่น่าเกลียด น่าระอา หรือไม่น่าระอา ลองไปคิดดู ที่จริงคนเรามันก็อยู่ได้ด้วยความถูกต้องอย่างนี้ มันจึงรอดมาได้ ไม่รู้จักชื่อ ไม่รู้จักเรียก นี้คำอธิบายก็ไม่ยาก รู้ได้เอง ถ้าพิจารณาสักหน่อย สัมมาทิฐิ ความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ความเชื่อถูกต้อง จะต้องอธิบายอะไรกันอีกหล่ะ ถ้าถูกต้อง ก็หมายความว่า มันทำสำเร็จประโยชน์ มันดับทุกข์ได้ นั้นแหละ ถูกต้อง ที่นี้เมื่อเห็นถูกต้องแล้ว ก็ต้องตั้งใจ ที่จะเอาให้ได้ อย่างถูกต้องอีกนี่ก็จะหลีกความชั่วเสีย ไปสร้างความดี ไปทำจิตให้บริสุทธิ์ อะไรก็ได้ บางทีเขาระบุไว้ ก็คือว่า ไม่ไปลุ่มหลงในทางกาม และก็หวังที่จะออกจากกาม ไม่ไปมัวโกรธ เกลียดอะไรอยู่ มีเมตตากรุณา แล้วก็มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการกระทำของตัวที่มันถูกต้อง ดำริที่จะไปตามความถูกต้องนั้น สัมมาวาจา วาจาถูกต้อง ไม่อธิบายแล้ว คงจะเต็มอยู่ในสมุดโน้ตที่จดๆ กันมาก่อนแล้ว ทำการงานถูกต้อง ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่อะไรต่างๆ ทำนองนั้น เลี้ยงชีวิตถูกต้อง ก็แสวงหามาให้ถูกต้อง แล้วก็การกิน การอยู่ อะไรให้มันถูกต้อง ให้มันถูกต้อง ที่เรียกว่า ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น ตรงนี้อยากจะพูด อย่างที่เรียกว่า กำชับไว้หน่อยว่า ให้ระวัง กินดี อยู่ดี ให้ระวัง มันจะกัดเอาก็ได้ แต่ถ้าว่ากินอยู่พอดีแล้วก็ไม่มีอันตราย กินอยู่ให้พอดี มันจะไม่มีอันตราย ไอ้กินดี อยู่ดี เดี๋ยวมันจะกินที่เหลา จะมีรถชน จะตัดเอาก็ได้ เดี๋ยวนี้มันหมิ่นเหม่ต่ออันตรายที่พูดกันว่า กินดี อยู่ดี มันมักจะดึงกิเลสตัณหาไปไม่ทันรู้ตัว และก็ไม่ค่อยสิ้นสุด กินอยู่พอดี ดีกว่า คือเลี้ยงชีวิตชอบ ที่นี้พวกจิต มันก็ความพากเพียรชอบ พยายามแต่ในความที่ชอบ สติ ความระลึก ต้องระลึกถึงสิ่งที่มันเป็นที่พึ่งได้ อย่าลืม อย่าเผลอ และก็ระลึกได้ก่อนสิ่งอื่นทั้งหมด นี่เรียกว่า ตั้งสติไว้ชอบตลอดเวลา
สตินี้เป็นภาษาบาลี ถ้าเป็นสันสกฤตก็สัมสติ คือสมประดี เป็นภาษาไทยว่าสมประดี เราต้องมีสมประดีนี้ ถูกต้องอยู่ตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นก็เมา หรือบ้า หรือหลับ มันไม่มีสมประดี อันสุดท้ายสัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ เรียกว่า สมาธิ สมาธิแปลว่าตั้งมั่น หรือตั้งจิตไว้ถูกต้อง ที่เรียกว่าสมาธิ ไม่ใช่น่าเกลียด น่ากลัวอะไร ความหมายของมันมีอยู่ ๓ หัวข้อ คือมีจิตใจสะอาด และก็มีจิตใจแน่วแน่ แล้วก็มีจิตใจคล่องแคล่ว รวมกันทั้ง ๓ อย่างนี้ เรียกว่า มีสมาธิ ใจต้องสะอาด หมายความว่ากำลังไม่มีสิ่งเศร้าหมองใจ ขุ่นมัวในใจมารบกวนนี้เรียกว่าจิตใจสะอาด แล้วจิตใจตั้งมั่น ก็มั่นอยู่ที่สิ่งที่เราต้องคิดต้องนึก ต้องทำนั่น จิตใจมันตั้งมั่น แล้วจิตใจมันคล่องแคล่ว เขาเรียกว่า active ที่สุดเลย activeness ความคล่องแคล่วนั้นแหละ มันเป็นความมุ่งหมายของสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ มันมีกำลังมาก แล้วมันคล่องแคล่ว มันสะอาด มันตั้งมั่น มันจึงทำหน้าที่ของมันได้ดี อย่างว่าจะคิดเลข ทำเลขนี่ ใจต้องสะอาด ไม่มีอะไรมาทำให้เศร้าหมองขุ่นมัว เมื่อใจตั้งมั่นก็จดจ่ออยู่แต่ไอ้เลขที่ทำ แล้วมีความคล่องแคล่วในการคิดนึก ในการที่จะทำ รวมกันนี้เรียกว่า ความเป็นสมาธิ ความเป็นสมาธิ ประกอบอยู่ด้วย องค์ ๓ ประการ คือ จิตสะอาด จิตตั้งมั่น จิตคล่องแคล่ว ดีไม่ดี น่ากลัวหรือไม่น่ากลัว เมื่อไม่รู้จัก ก็ไปเกลียดกลัวว่ามันครึคระ มันไม่อยากจะไปยุ่งด้วย ไปยุ่งด้วยแต่เรื่องสวยๆ งามๆ หัวเราะจนจิตฟุ้งซ่าน จิตไม่ตั้งมั่น จิตไม่สะอาด มันจะมีสมาธิ แล้วจะแน่วแน่ หรือจะถึงกับบึกบึน เข้มแข้ง มั่นคง จิตชนิดนี้น่ะ จิตชนิดนี้มีประโยชน์ที่สุด ไม่ว่าในการงานชนิดไหน เขาเรียกว่า สมาธิ ความถูกต้อง ๘ ประการนี้ ทำให้เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ให้มันเหลือ ๓ ประการก็ได้ มีใจความอย่างที่ว่าแล้ว เข้าใจให้มันชัด พอนึกถึงให้มันแจ่มใส สว่าง แจ่มใส ว่าศีลนี้มันถูกต้องที่กาย วาจา สมาธิมันถูกต้องที่จิต ปัญญามันถูกต้องที่ความคิด ความนึก วิชาความรู้ ความเชื่อ ว่ามันถูกต้องหมด นี่คือตัวศาสนา ถ้าเป็นการปฏิบัติ แล้วเป็นการเดินทางเข้าไปหาหัวใจของศาสนาคือ นิพพาน ปฏิบัติตามทางนี้ที่เรียกว่า ไตรสิกขา ก็ได้ เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ ก็ได้ ก็ถึงนิพพาน ก็ถึงหัวใจของศาสนา ทุกศาสนาหรือ เพราะว่ามันมีเพียง ๒ อย่างเท่านั้น มีพระเจ้า กับไม่มีพระเจ้า ถ้าศาสนาที่มีพระเจ้า หนทางนี้ก็นำไปสู่พระเจ้า ถ้าไม่มีพระเจ้า ก็ไปสู่สิ่งสูงสุด ที่ควรที่จะเรียกว่าพระเจ้า เพราะเป็นสิ่งสูงสุด
ที่นี้ก็มีคำพูดที่แปลกออกไป แต่หมายถึงสิ่งๆ เดียวกันอีกหลายๆ คำ เช่นว่า โอวาทของพระพุทธเจ้า มันก็มีว่า อย่าทำบาป อย่าทำความชั่ว แล้วก็ทำแต่ความดี แล้วก็ทำจิตให้บริสุทธิ์ มันก็อยู่ในที่พูดมาแล้ว ข้อหนึ่งอย่าทำบาปโดยประการทั้งปวง ข้อสองทำดีให้สมบูรณ์ ทำบุญทำกุศล และข้อสามทำจิตให้สะอาด อย่าไปยึดมั่นถือมั่นนั่นนี่เข้าไว้ มันไม่สะอาด ก็เรื่องเดียวกันอีก ไปคิดดูก็เห็นได้ เมื่อเราไม่ทำบาป ก็มีศีล เมื่อเราทำดี มันก็มีความดี มีบุญ ก็ต้องมีสมาธิ มีปัญญานี้ด้วย แล้วก็ทำจิตให้มันเป็นอิสระ อย่าไปยึดถือให้รุงรัง เอ้า,ที่นี้ก็อยากจะพูดถึงคำที่ชวนง่วงนอนที่สุดอีกคำหนึ่ง คือคำว่า กรรมฐาน ถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้แล้วก็จะง่วงนอน พอได้ยินคำนี้ แต่ถ้าเข้าใจเรื่องนี้จะหูผึ่ง คือ มันจะใช้เป็นประโยชน์ได้ ไอ้กรรมฐาน พระกรรมฐานที่เขาเรียกๆ กันนั่น มันแปลว่าที่ตั้งแห่งการงาน การงานของใคร การงานของมนุษย์ที่ดี มนุษย์ที่ดีต้องมีกรรมฐาน มีที่ตั้งแห่งการงาน กรรมฐานในที่นี้ก็จะหมายเอาแต่เรื่องทางฝ่ายใจ ไม่พูดถึงฝ่ายกาย ฝ่ายวาจากันแล้ว เพราะมันเป็นองค์ประกอบเท่านั้น ที่นี้มันยังลึกไปกว่านั้น ก็คือว่า ถ้าเราอยู่ในกรรมฐาน แล้วกาย วาจา มันดีเอง คือทำใจดี แล้วกาย วาจา มันก็ดีเอง กรรมฐานคือการทำใจให้ดี ให้ถูกต้อง อย่าไปเกลียด ไปกลัวมันนัก ไอ้คนเขาทำผิดๆ มันก็เลยไปเรื่องน่าเกลียด น่ากลัว ไปก็ได้ กรรมฐานคือการทำใจให้ดี ที่บ้านก็ได้ ที่วัดก็ได้ ในป่าก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ต้องทำใจให้ดีๆ เรียกว่าทำกรรมฐาน
กรรมฐานนั้นแบ่งเป็น ๒ แขนง คือทำใจให้สงบก่อน แล้วก็ทำใจให้แจ่มแจ้ง ทำใจให้สงบเรียกว่า สมถกรรมฐาน ทำใจแจ่มแจ้งเรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน สมถะแปลว่าสงบ ทำใจให้สงบเรียกว่า สมถะ หรือสมถกรรมฐาน ก็คือทำให้เป็นสมาธิอย่างที่ว่าไปแล้วนั่นแหละ ทีนี้ทำใจให้แจ่มแจ้งเรียกว่า วิปัสสนา หรือวิปัสสนากรรมฐาน วิแปลว่าแจ้ง ปัสนะแปลว่าเห็น ให้เห็นแจ้งคือให้เข้าใจให้ถูกต้อง ไม่มืดไม่มน กรรมฐานก็คือสิ่งที่ดีที่สุด คือทำจิตให้มันดีที่สุด ให้มันมั่นคง และให้มันแจ่มแจ้ง แล้วจะต้องไปเกลียดมันทำไม แล้วทำไมจึงไม่ต้องทำในที่ทุกหนทุกแห่ง เราต้องทำในที่ทุกแห่ง ตลอดเวลาเท่าที่เราจะทำได้ ทำจิตให้สงบ ระงับ แล้วก็ทำจิตให้แจ่มแจ้ง ถ้าจิตไม่สงบ ระงับ มันไม่แจ่มแจ้ง เช่นว่า จิตมันกลัดกลุ้มอยู่ด้วยความรัก มันจะแจ่มแจ้งได้อย่างไง ถ้าจิตมันกลัดกลุ้มอยู่ด้วยความโกรธ มันก็ไม่แจ่มแจ้ง กลัดกลุ้มอยู่ด้วยความโง่ มันก็ไม่แจ่มแจ้ง งั้นต้องขจัดไอ้ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความสงสัยลังเลออกไปเสียให้หมด มันจึงจะสงบ พอสงบแล้วมันก็แจ่มแจ้งเอง แจ่มแจ้งแล้วก็ไปคิด ไปนึก ไปศึกษา ไปทำอะไรได้ดี อย่างนี้เขาเรียกว่ากรรมฐาน
ที่นี้ก็ไปอธิบายหรือไปทำกันจนเลยเถิด จนผิดทาง จนน่ากลัว ทำให้บ้า เขาว่า กรรมฐานที่แท้จริงไม่ทำให้ใครบ้า กรรมฐานของคนบ้ามันจึงทำให้คนบ้า ถ้ากรรมฐานของพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีการทำให้ใครบ้า มีแต่ทำให้มีจิตใจที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไป ก็เรียกว่าพัฒนาจิตใจ คำว่าพัฒนาที่แท้จริงนั้นคือ คำว่า ภาวนา เขียนไว้ด้วยว่าภาวนา ภ สำเภาแล้วก็ น หนู ภาวนาแปลว่าทำให้เจริญ ทำให้สูง งั้นทำภาวนาใดๆ ก็ตาม ก็คือทำสิ่งนั้นให้มันสูง ที่นี้คำว่าพัฒนา นั้นอีกคำหนึ่ง นี้มันมาจากคำว่าวัฒนะ หรือวัฒนา ในภาษาบาลี นี้ไม่แน่บ้าก็ได้ คำว่าพัฒนานี้บ้าก็ได้ เพราะคำว่าวัฒนะหรือวัฒนา นี้มันมีความหมายแต่เพียงมันมากขึ้น หรือรกหนาขึ้นเท่านั้นแหละ ดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่นว่าหญ้ารก นี่ก็เรียกว่าหญ้าพัฒนา ภาษาบาลีเขาเป็นอย่างนั้น นี้คำว่าพัฒนาที่แปลว่าความเจริญ นั้นมันไม่แน่ เจริญไปในทาง เดือดร้อนก็ได้ เช่นโลกเจริญเวลานี้ เจริญไปในทางเดือดร้อน ถ้าคำเดิมของพุทธศาสนา ใช้คำว่า ภาวนา ทำให้เจริญ เจริญแล้วเป็นพะวะภวังค์ อย่างนี้ไม่มีผิด มีแต่ถูก อย่ากลัวคำว่า ภาวนาที่แท้จริง ภาวนาที่มาใช้ผิดๆ มานั่งพึมพำ พึมพำอะไรก็ไม่รู้ อย่างนี้ไม่ได้ นี้มันเป็นเรื่องที่เลือนไปแล้ว ถ้าภาวนาที่แท้จริง ก็คือทำให้เจริญขึ้นอย่างแท้จริง ปากก็เจริญ กายก็เจริญ ใจก็เจริญ อะไรก็เจริญ อย่างแท้จริงนี้เรียกว่า ทำภาวนา ก็คือทำกรรมฐานนั่นแหละ หรือแม้แต่ว่าเดินไปตามทาง มีองค์ ๘ ประการนี้ก็เรียกว่าภาวนา คือทำให้มันเจริญ เจริญแล้ว ก็ไปถึงที่สุดจุดหมายปลายทางก็เป็นนิพพานไปเลย นั่นภาวนาเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องผีสาง ไม่ใช่เรื่องลึกลับ แล้วน่าเกลียดน่ากลัวอะไร รวมความแล้วทั้งหมดนี้เรียกว่าการปฏิบัติ คือการไต่เต้าดำเนินไปเพื่อถึงหัวใจของเรื่อง คือความไม่มีทุกข์เลย จะเรียกว่าอัฎฐังคิกมรรคก็ได้ จะเรียกว่าไตรสิกขาก็ได้ จะเรียกว่าโอวาทพระพุทธเจ้าก็ได้ จะเรียกว่ากรรมฐานก็ได้ จะเรียกว่าภาวนาก็ได้ นี้เป็นตัวการดำเนินไปให้ถึงหัวใจของศาสนาที่มนุษย์ควรจะต้องการ ที่มนุษย์จะได้เป็นมนุษย์อันแท้จริง ถ้าไม่ไปที่นี้ ก็จะเป็นได้แต่เพียงคน หรือเดี๋ยวจะว่าเป็นคำด่า ที่จริงมันก็เป็นคำด่า ถ้าเป็นแต่เพียงคนนี่ มันก็ไม่มีอะไรดี มันต้องเป็นมนุษย์คือใจสูง มันจึงจะดี ให้หมาด่าคน ในรูปภาพนั้น ว่าไอ้ชาติคน มันเจ็บปวดที่สุดใช่ไหม หรือไม่ได้สังเกต อยู่ที่ตรงนั้นเองแหละ หมามันด่าคนว่าไอ้ชาติคน ถ้าไม่รู้ก็ไปดูเสียใหม่ซิ เวลายังมีนี่ ลูกหมามันจะกินศพคน แม่หมามันว่าอย่าไปกินข้าว ไปกินที่ตรงไหนมันไม่ได้ทั้งนั้น ไอ้เลวทุกส่วนเลย ไอ้ชาติคนนี้ หูของมัน ตาของมันก็จะดูแต่สิ่งยั่วกิเลส หูของมันก็จะฟังแต่สิ่งที่ยั่วกิเลส จมูกของมันก็จะดมแต่สิ่งที่ยั่วกิเลส ลิ้นของมันก็จะรสลิ้มแต่เรื่องที่ยั่วกิเลส ผิวหนังของมันก็สัมผัสแต่เรื่องยั่วกิเลส ใจของมันก็คิดแต่เรื่องกิเลส งั้นหัวใจของมันก็กินไม่ได้ อย่ากินเข้าไป ไอ้ชาติคน แต่ถ้าเป็นมนุษย์แหละก็ได้ คือใจมันสูง อะไรมันดีหมด รูปภาพนั้นดูซะใหม่ ถ้าไม่เคยดู เรื่องไอ้ชาติคน เป็นมนุษย์ดีกว่า ก็พัฒนาจากคนนี่เป็นมนุษย์ แล้วก็ปลอดภัย ถ้ายังเป็นคนอยู่ มันยังไม่แน่ ไปทางไหนก็ได้ นี้จะพัฒนาให้เป็นมนุษย์ก็ด้วยอุบายอย่างที่ว่ามาแล้ว คำว่าอุบายนี่เป็นคำสำคัญคำหนึ่งในทางศาสนา เขาใช้ในทางดี ไม่ใช้ในทางหลอกใครหรอก แต่ในภาษาไทย คำว่าอุบายนี้มันกำกวม ไปใช้หลอกเขาก็ได้ คือทำอุบาย แต่ว่าในภาษาธรรมะแล้ว อุบายนี้เป็นวิธีที่ฉลาดวิธีหนึ่ง ที่จะให้สำเร็จประโยชน์ตามที่เราต้องการ ไม่ทำลายเราเอง ไม่ทำลายผู้อื่น แล้วก็ได้คำว่าอุบาย นี้ภาษาธรรมกับภาษาคนนี้มันต่างกันอย่างนี้
เอาต่อไปนี้ก็จะพูดถึงธรรมมะอีกประเภทหนึ่งที่มันเป็นเครื่องประกอบการเดินทาง เป็นเครื่องมือ ธรรมะที่เป็นเครื่องมือ เช่น เราปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นตัวธรรมะสำหรับปฏิบัติโดยตรง เป็นธรรมมะโดยตรง ที่นี้ก็มาถึงธรรมะอุปกรณ์ ช่วยเหลือ ช่วยประกอบ นี้ก็มีอยู่หลายหมวด หลายอย่าง ลองนึกดูในหนังสือที่เคยเรียนมาแล้วหรือหลักสูตรเรื่องศีลธรรมนี้ คงจะมีคำว่า อิทธิบาท ๔ ประการ อิทธิบาท ๔ ประการ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา คงจะมีแล้ว ไม่ต้องจดหล่ะมัง ในหนังสือที่เรียน ฉันทะ ความรัก ความพอใจ ในสิ่งที่เราจะต้องทำ วิริยะ ก็พากเพียรในสิ่งที่เราจะต้องทำ จิตตะ เอาใจใส่ในสิ่งที่เราต้องทำ วิมังสา สอดส่องในทางการหาเหตุผล หาอุบายวิธีแก้ไข ปรับปรุง ให้มันสำเร็จไปได้ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นธรรมที่เป็นอุปกรณ์ ที่จะช่วยให้สิ่งที่เราต้องการนั้นสำเร็จ พระพุทธเจ้าตรัสไปทำนองที่ว่า ถ้าต้องการจะมีอายุยืนสักกัปป์หนึ่งก็ได้ ถ้ามีอิทธิบาทถูกต้อง เพราะฉะนั้นมันเป็นหลักเหมือนกับหลักวิทยาศาสตร์ ถ้าเรามีการค้นคว้า มีการกระทำอะไรถูกต้อง เราก็ทำให้อายุยืนตั้งหมื่นปีก็ได้ เดี๋ยวนี้เราไม่รู้นี่ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องถึงอย่างนั้นแล้ว ว่าแต่ว่าอะไรๆ ที่มันอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ ก็ยังต้องใช้อิทธิบาท เช่นการเรียนหนังสืออย่างนี้ ต้องมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ๔ ประการนั้นก็เรียนหนังสือสำเร็จ ฉันทะคือรักการเรียน วิริยะ พากเพียรในการเรียน จิตตะ เอาใจใส่ในการเรียน วิมังสา สอดส่องในการเรียน ก็เรียนสำเร็จ ที่นี้จะปฏิบัติเพื่อไปนิพพาน ตามศีล สมาธิ ปัญญา ก็ใช้ไอ้ ๔ ประการนี้ เป็นอุปกรณ์ มันก็สำเร็จอีก แม้ที่สุดแต่ชาวนาจะทำนา ถ้าลองใช้อุปกรณ์ ๔ ประการนี้ มันก็สำเร็จอีก นี้ถ้าอยากจะเป็นโจรขึ้นมาบ้าง เป็นขโมยขึ้นมาบ้าง ก็ใช้ ๔ ประการนี้ก็สำเร็จอีก นั้นเป็นอุปกรณ์ที่เป็นกลาง ๆ ที่จะไปใช้ทำอะไรก็สำเร็จ ไปทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว เขาเรียกว่าอิทธิบาท บาทก็แปลว่า โคนหรือฐาน ที่ตั้ง อิทธิแปลว่าความสำเร็จ อิทธิที่ในภาษาไทยเรียกว่า ฤทธิ์ นั่นแหละ คำคำนี้แปลว่าความสำเร็จ คือมีฤทธินี้คือความสำเร็จ มีเครื่องมือแห่งความสำเร็จ บาทแปลว่ารากฐานของมัน รากฐานแห่งความสำเร็จ เรียกว่า อิทธิบาท มีอยู่ ๔ ประการนี้ พยายามใช้ให้มาก ใช้ให้ถูกต้อง อย่าใช้ให้ผิดๆ ถ้าใช้ผิดๆ แล้วมันก็จะเสียหายหนักขึ้น ถ้าใช้ให้ถูกต้อง มันก็จะดี ถึงที่สุดได้
ที่นี้ที่ละเอียดประณีตสูงไปกว่านี้อีก จนไม่ใครค่อยยอมรับว่าจะเอามาใช้ในกรณีทั่วไปได้นั้นนะ ก็มีอยู่อีกหมวดหนึ่ง เขาเรียกว่า สัมโพชฌงค์ สัมเขียนตรงๆ สอ เสือ ไม้ผัด มอ แล้วก็ โพช พอ พาน สระ โอ ชอช้าง สะกด แล้วก็ ฌอเฌอ งอ คอควาย การันต์ สัม แปลว่า บริบูรณ์ ครบถ้วน โพช แปลว่ารู้ ฌงค์ แปลว่า องค์ประกอบ องค์ประกอบแห่งการรู้อย่างสมบูรณ์ เรียกว่า สัมโพชฌงค์ นี้ก็มุ่งหมายถึงว่าจะรู้นิพพานกันเลย แสดงว่ารู้อะไรก็ได้ รู้สิ่งที่ต้องรู้ รู้การงาน รู้ความสำเร็จของการงานนี้ก็ได้ แม้แต่เรียนหนังสือก็ได้ เมื่อเข้าใจสัมโพชฌงค์ ๗ ประการแล้ว ก็จะเข้าใจทันทีว่า มันจะช่วยให้รู้ถึงที่สุดได้อย่างไร ข้อที่หนึ่งก็เรียกว่า สติ แปลว่า ระลึกได้ดี ระลึกได้รอบคอบ ระลึกได้ทั่วถึง ข้อที่สองเขาเรียกว่า ธรรมวิจัย ธรรมะ พระธรรม ธรรมะ นั้นนะ ธรรมวิจัย คือวิจัยธรรม คือเลือกเฟ้นในธรรมที่เหมาะสม ที่ถูกต้องเหมาะสมแก่เรา แก่เหตุการณ์ เลือกเอามาให้ถูก เพราะว่าธรรมมันมากนั้น ถ้าสติมันระลึกได้มาก แล้วก็เลือกเอาแต่ที่จำเป็น เรียกว่าธรรมวิจัย ให้เข้าใจละเอียดและเพียงพอ ให้ครบถ้วน ทีนี้ ข้อที่สาม เรียกว่า วิริยะ ก็ความพากเพียรอีกนั่นแหละ รวมทั้ง ความกล้าหาญด้วย และมีความพากเพียร เข้มแข็งกล้าหาญ อดทนไปด้วยเลยก็ได้ เรียกว่า วิริยะ อันที่สี่ ปิติ ปิติ แปลว่า ความพอใจ เมื่อเราทำมาเรื่อยๆ เราก็พอใจกันเรื่อยๆ ในความสำเร็จที่มันสำเร็จมาเรื่อยๆ นี้ทำอะไรต้องมีความพอใจหล่อเลี้ยงนะ เรียนหนังสือ ๘ ปี ๑๐ ปีนี้ มันต้องมีความพอใจมาหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา ไม่งั้นมันเรียนไปไม่ได้ จะทำอะไรก็ตาม ต้องพอใจ อิ่มใจในสิ่งที่ทำอยู่เรื่อยๆ เรื่อยๆ ที่เรียกว่าความสันโดษก็ได้ อะไรก็ได้ ไม่งั้นมันทำไปไม่ได้ มันนาน ระยะมันนาน ต้องมีส่วนที่พอใจอยู่เรื่อย จะปลูกต้นไม้สักต้นหนึ่ง ก็ต้องหลายวัน หลายเดือน มันก็ต้องพอใจอยู่เรื่อย จึงจะไม่เลิก และมันช่วยสนับสนุนให้ความพยายามนั้นนะเข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา พอหยุดพอใจเมื่อไหร่มันก็ทอดทิ้งเมื่อนั้นแหละ มันก็เหลวหมด ที่นี้ข้อที่ห้า ปัสสัทธิ นี้แปลกสำหรับชาวบ้าน ปัสสัทธิ ปอไม้ผัด สอ เสือ สอ เสือ ไม้ผัด ทอ ทหาร ธอ ธง สระ อิ อ่านว่า ปัสสัทธิ แปลว่าความเข้ารูป เข้ารอย เข้ารูป มันจะสงบระงับลง มันไม่เอะอะ มันหมดความ เอะอะ ตึงตังฟุ้งซ่าน มันเข้ารูปเข้ารอย สงบระงับลง คือการงานของเรามันเข้ารูป เมื่อแรกเราทำอะไรหรือเมื่อแรกเรียน มันยุ่งไปหมด มันไม่เข้ารูป เพราะมันใหม่ เมื่อได้พยายามมาตามลำดับ ลำดับ แล้วที่นี้มันเข้ารูป อย่างเราจะหัดขับรถ กว่ามันจะเข้ารูป มันก็กินเวลาหลายวัน ที่นี้มันเข้ารูป ไอ้การงานที่เราทำอยู่ ไม่ว่าอะไร ที่มุ่งหมาย มันจะเข้ารูป มันจะยุบความวุ่นวายอะไรลงไป มันก็เข้ารูป เรียกว่า ความสงบ ระงับ หรือความเข้ารูป ข้อที่หก ก็สมาธิอีกนี้แหละ ไปๆ มาๆ ก็มาสมาธิอีกนี้แหละ พอเข้ารูปมันก็เป็นสมาธิ คือแน่วแน่ มั่นคง เป็นเรื่องจิต เรื่องกาย เรื่องอะไรก็ตาม มันเป็นสมาธิ เป็นอันเดียวกันได้ นี่เรียกว่า มันแน่นแฟ้น อันสุดท้ายก็เรียกว่า อุเบกขา อุเบกขานี้ทำยุ่ง ความหมายหลายความหมาย ในภาษาไทยก็เปลี่ยนไปมาก ในทางธรรมะ อุเบกขา หมายถึง การวางเฉย อยู่ในความถูกต้อง คือรอเวลาที่มันจะไปถึงที่สุดที่มันจะให้ผล เมื่อถูกต้องหมดแล้วเราก็เฉย ถ้าไม่เฉยจะทำอย่างไง เดี๋ยวก็บ้าตาย เมื่อทำการงานหรือการเรียนหรืออะไรก็ตาม ถูกต้อง เข้ารูปมาถึงอย่างนี้แล้ว ที่นี้ก็รออยู่เฉยๆ เช่นปลูกต้นไม้ ทำถูกต้องหมดแล้ว ก็ต้องรออยู่เฉยๆ ให้มันเติบโตจนออกดอกออกผล หรือเมื่อเราจัดแจงรถ ถนนอะไรดีแล้ว ดีแล้ว ก็ถือพวงมาลัยอยู่เฉยๆ เมื่อมันมีความถูกต้องหมดแล้ว มันก็เฉย กว่ามันจะให้ผล นี่ไปคิดดู ถ้าจะแยกออกเป็นรายละเอียดแล้ว การทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง มันจะมีอย่างนี้ ทบทวนอีกทีก็ได้ เดี๋ยวเผื่อจำผิด ข้อที่หนึ่ง ต้องมีสติ ระลึกให้รอบคอบทั่วถึงทุกแง่ ทุกมุม ทุกทาง ทุกอย่าง ที่ควรจะระลึก ข้อที่สอง เลือก วิจัย คือเลือก เลือกเฟ้น เมื่อเลือกได้แล้ว ข้อที่สาม ก็ระดมทุ่มเท ทำกันเลย คือ วิริยะ ความเพียร ความกล้าหาญ ความอดทน ที่นี้ว่ามันจะทนไม่ไหว ก็ต้องมีปิติหล่อเลี้ยงเข้าไว้ คือพอใจอยู่เรื่อย ถ้ามีปิติหล่อเลี้ยงอย่างนี้มันจะเข้ารูปลงรอย เรียกว่า ปัสสัทธิ เข้ารูปลงรอยเป็นปัสสัทธิแล้ว มันก็ระงับเป็นสมาธิไปเลย แล้วก็รอให้ทั้งหมดนี้มันทำงานของมันไป มีสมาธิในการงาน ก็รอแก่เวลาจะถึงที่สุด นี้เขาเรียกว่า สัมโพชฌงค์ เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ธรรมะ บรรลุเป็นมรรคผลนิพพานไปเลย เอามาใช้ทำนาก็ได้ เรียนหนังสือก็ได้ ว่าชาวนาจะต้องมีสติอะไรบ้าง มันก็ต้องรู้ ต้องเตรียม ก็เลือกมา ก็ทำลงไป แล้วก็พอใจทำหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ นี้มันก็เข้ารูป การทำนาก็เข้ารูป แล้วก็มั่นหมาย ปักใจมั่น อะไรมั่นๆๆ แน่นแฟ้นต่อไป ตลอดเวลา ก็รอ รออยู่ด้วยความเฉย ความถูกต้อง นั้นก็ได้ข้าว ได้ปลา ได้อะไรมาแล้วแต่ที่จะต้องการ ธรรมะสูงสุดนั้นเอามาใช้ในเรื่องต่ำๆ นี้ก็ได้ แต่ทางที่ถูกที่ดีแล้วอย่าคิดว่านี้เป็นเรื่องต่ำๆ ขึ้นชื่อว่าการงานแล้วไม่มีอะไรต่ำ จะเป็นการงานชนิดไหนก็ตาม อย่าไปตีค่ามันว่าต่ำ ถ้าเป็นการงานที่ถูกต้องแล้วมันสูงทั้งนั้น มันเป็นค่าของมนุษย์ทั้งนั้นแหละ ไม่มีอะไรต่ำหรอก แม้แต่จะกวาดบ้านให้สะอาด นี้ก็ไม่ใช่ต่ำ ลองไม่กวาดดูสิ แล้วถ้าจะกวาดให้ดี มันก็ไม่ใช่ง่ายนัก คนโง่ กวาดไม่สะอาด คนขี้เกียจกวาดไม่สะอาด คนจิตฟุ้งซ่านกวาดไม่สะอาดนั่น เพราะฉะนั้นขึ้นชื่อว่าการงานมันต้องทำด้วยคุณธรรมที่น่าเลื่อมใส น่านับถือทั้งนั้น การงานมันก็มีมากมาย หลายสิบหลายร้อยอย่าง ล้วนแต่ต้องทำให้ดี ทำดีแล้วมันดี ดีก็คือเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป แล้วก็จะถึงสิ่งสูงสุดได้ พวกเราที่นี้อยากจะถือกันว่าการงานนั้นนะ สิ่งที่มีค่าสูงสุดของมนุษย์ อย่างหนึ่งก่อน แล้วการงานนั้นเป็นการปฏิบัติธรรมะอยู่ในตัว ไม่ว่าการงานไหน ทำให้ดีแล้วจะเป็นการปฏิบัติธรรมะอยู่ในตัว คิดดูสักหน่อยก็เห็นได้ ว่าขึ้นชื่อว่าการงาน เมื่อทำลงไปแล้วจะเป็นการปฏิบัติธรรม คือเราต้องมีสติ ต้องมีความเพียร ต้องมีความพอใจอะไรอยู่ตลอดเวลาอย่างที่ว่ามาแล้วในการงานนั้น เพราะฉะนั้นการงานนั้นย่อมเป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ในตัว แม้แต่จะหุงข้าวกิน มันก็ต้องมีวิชาความรู้ ต้องมีสติสัมปชัญญะ ต้องมีความอดทน ต้องมีความพากเพียร ต้องมีความถูกต้องหลายๆ อย่าง มันจึงจะหุงข้าวได้สำเร็จ แล้วจะไม่ให้เรียกว่าปฏิบัติธรรมอย่างไร จิตใจของเรามันตะกละ มันจะเห็นแต่จะกินข้าว เลยไม่เห็นไอ้การปฏิบัติธรรมที่มันมีอยู่ในการหุงข้าวหรือแม้แต่กินข้าว ถ้ากินข้าวถูกวิธีก็เป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ในตัว ถ้าไม่มีธรรมอยู่ในการกินข้าว มันก็กินมูมมาม กินตะกละ กินเสียหาย แม้แต่กินข้าว ก็ต้องเป็นการปฏิบัติธรรม อาบน้ำก็ปฏิบัติธรรม ถ่ายอุจจาระ ถ้าถูกต้อง ก็เป็นการเรื่องปฏิบัติธรรมหลายอย่าง ไม่งั้นก็จะเกิดความเสียหายขึ้นมา เป็นโรคภัยไข้เจ็บอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมาเป็นแน่นอน ให้เชื่อเถอะว่า ไอ้การงานที่ถูกต้องย่อมเป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ในตัวทั้งนั้น นี่เรียกว่าธรรมะที่เป็นอุปกรณ์ อิทธิบาทพวกหนึ่ง สัมโภชฌงค์พวกหนึ่ง ที่อยากจะพูดซ้ำย้ำอีกพวก อีกหมวดหนึ่ง ซึ่งได้เคยพูดไปบ้างแล้ว หมวดนี้เขาเรียกว่า ฆราวาสธรรม ฆราวาสธรรม คือธรรมสำหรับฆราวาส บอกให้แต่หัวข้อก็พอ เพราะว่าได้บอกไปบ้างแล้ว ตัวเองก็พอจะรู้ได้ มีอยู่ ๔ อย่าง หนึ่ง ก็สัจจะ ความจริง สอง ทมะ บังคับตนเอง สาม ขันติ ขันติ อดทน สี่ จาคะ สละ คำอธิบายง่ายๆ ไม่ต้องจดก็ได้ สัจจะ แปลว่าความจริง ให้มันจริงทุกอย่างเลย จริงต่อเพื่อนฝูง จริงทางวาจา จริงในการกระทำ จริงต่อเวลา จริงต่อหน้าที่การงาน จริงสุดท้ายคือจริงต่อตัวเอง จริงต่อตัวเอง คือจริงต่ออุดมคติของความเป็นมนุษย์ อย่าโกหก ขบถต่ออุดมคติของความเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์มีอุดมคติอย่างไร ต้องจริงต่ออุดมคติอันนั้นแล้วทำให้ได้ นี้คือความความจริงสูงสุด เรียกว่า จริงต่อตัวเอง เมื่อเราเป็นครู ต้องเป็นครูจริงๆ อย่าไปทำรีๆขวางๆเป็นนั่นเป็นนี่ ซึ่งมันไม่จริง ไอ้จริงอื่นๆ นั้นมันเป็นการประกอบ จริงต่อเวลา จริงต่อหน้าที่การงาน จริงต่อเพื่อนฝูง จริงต่ออะไรก็มันเป็นเรื่องประกอบ ให้เรามันจริงต่อความเป็นมนุษย์ของเรา เมื่อเป็นมนุษย์ครู ก็ต้อง มันต้องอุดมคติของครูเป็นหลัก ถ้ามีการงานอย่างอื่นอีกด้วย ก็จริง เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดประกอบไป นี้เรียกว่า สัจจะ ทีนี้ ทมะ บังคับตนเอง นี่เป็นจริยธรรมสากล ทุกคนในโลกก็พูดกัน บังคับตัวเอง บังคับตัวเอง ก็คือบังคับกิเลส ตัวเองของคนโง่คือกิเลส คนไม่รู้ก็เอากิเลสเป็นตัวเอง บังคับตัวเองคือบังคับกิเลส อย่าให้กิเลสมันมีอำนาจขึ้นมา ที่นี้มันก็มีธรรมะขึ้นมาแทน มีโพธิปัญญาขึ้นมาแทน อย่าให้กิเลสขึ้นมาบัญชาการ ให้สติปัญญามันขึ้นมาบัญชาการ อยู่ในสมอง ในจิตใจ ที่สาม ขันติ นี่แปลว่าอดทน บางทีก็ใช้คำว่าฐิติ (นาทีที่ 58.29) แปลว่าตั้งมั่น ถ้าทนได้ก็ตั้งมั่น ถ้าตั่งมั้นอยู่ได้ก็คืออดทน สิ่งที่มาทำให้เราเหลวไหล เราต้องต่อสู้และอดทน ทนแดด ทนฝน ทนหนาว ทนร้อน ทนความเจ็บปวด ทนอะไรก็ทนเถิด แต่ว่าไอ้ทนที่วิเศษที่สุดนั้น คือทนต่อความบีบคั้นของกิเลสนั่นเอง กิเลสมันจะบีบคั้นเราอยู่เสมอ ถ้าเราไม่ทน มันก็ไม่ได้ เช่นเราอยากจะไปดูหนัง เราอยากจะไปเที่ยวกินเล่นเอร็ดอร่อย ความหิว ความอยาก มันบังคับ เราต้องทน อย่าให้กิเลสมันชนะ ให้เรามันชนะไปเรื่อย เราต้องทนได้ หรือแม่พ่อจะด่าเรา คงจะมีใช่ไหม แล้วเราก็จะต้องทน เพราะว่าเรามันเหลวไหล พ่อแม่เขาจึงด่า นั้นเราก็ต้องทน มันเป็นเรื่องที่ต้องทนอยู่หลายๆ อย่างในวันหนึ่ง วันหนึ่ง อันสุดท้ายเรียกว่า จาคะ แปลว่า สละ อะไรไม่ควรมีอยู่ในเรา ต้องสละ เขาใช้คำกว้างๆ จะเป็นข้าวของเงินทอง ไอ้ความชั่วอะไรก็ตาม ที่มันไม่ควรจะมีอยู่ในเรา ก็ต้องสละออกไป สละออกไป สละออกไป อยู่ทุกวันๆ ต้องตั้งอกตั้งใจดีๆ ว่าวันนี้ต้องสละอะไรบ้าง เช่นไอ้นอนสาย สละทิ้งไว้ที่นี่ อย่าเอากลับไปสงขลาอย่างนี้ เป็นต้น เขาเรียกว่าสละเหมือนกัน มันเป็นคำว่า จาคะ นี้ก็แปลว่าสละ นี้ชาวบ้านรู้จักแต่สละสิ่งของ ให้สตางค์ ให้ขนม ให้อะไรแก่คนขอทาน นี้ก็เรียกว่าสละเหมือนกัน ถูกแล้ว มันก็เหมือนกันแหละ คือสละความขี้เหนียว ความขี้เหนียวเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตัวเรา งั้นเราจะสละมัน สละอย่างไรล่ะ สละแต่ปากได้อะไรเล่า มันต้องทำจริงๆ อะไรที่มันเป็นที่ตั้งแห่งความขี้เหนียว ก็สละอันนั้นแหละ พระเวสสันดรจึงสละหมด เพื่อจะเอาความไม่ขี้เหนียว นี้เราทำอย่างนั้นไม่ได้ ยังไม่จำเป็นจะต้องทำด้วย ก็สละไอ้สิ่งที่ควรจะสละ สละความขี้เกียจ สละไอ้ความประพฤติกระทำอะไรที่มันไม่ควรจะประพฤติกระทำอีกต่อไป รวมถึงว่าบางทีมันต้องสละทางสิ่งของ สละสิ่งของให้เพื่อนให้ฝูง บำรุงโรงเรียน บำรุงศาสนา อะไรก็คือสละความขี้เหนียว นี้เรียกว่าสละทั้งนั้น ให้มีการสละอยู่เสมอ ถ้าจะสละความขี้เกียจ คุณจะทำยังไง ก็ต้องขยันไหว้พระสวดมนต์ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยทำ ขยันตื่นดึกๆ ไหว้พระสวดมนต์ ไม่เสียเวลาไปโรงเรียน มันจะสละความขี้เกียจ แล้วก็ไม่นอนสายด้วย ไม่ตามใจตัวเอง รวมความแล้วก็สละ ความตามใจตัวเองทุกอย่างทุกประการ สัจจะ ธรรมะ ขันติ จาคะ ว่าไว้ให้คล่องปาก นี้พระเครื่องรางที่ดีที่สุด ช่วยได้แน่นอน แขวนไว้ในใจนะ ถ้าเป็นเครื่องรางแท้จริงของพระพุทธเจ้า แล้วก็แขวนไว้ในใจ ถ้าเป็นเครื่องรางของชาวบ้านแล้วแขวนไว้ที่คอ ที่ข้อมือ ที่คอ รุงรัง นุงนังไปหมด ไอ้เครื่องรางที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แขวนไว้ในใจ เรียบร้อยแล้วจะไม่เกะกะ ไม่รุงรัง ไม่อะไร ถ้าไม่มีเครื่องรางของพระพุทธเจ้าแขวนอยู่ในใจแล้ว ไอ้เครื่องรางที่แขวนที่คอจะพลอยมีความหมาย ถ้าไม่แขวนเครื่องรางของพระพุทธเจ้าไว้ในใจแล้ว เครื่องรางอะไรที่แขวนที่คอเป็นหมันเปล่าๆ เกะกะ เปล่าๆ รุงรังเปล่าๆ ไปคิดดูให้ดี ไปทำกันเสียใหม่ให้ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้แขวนสัจจะ ธรรมะ ขันติ จาคะ ไว้ที่ปาก ไว้ที่ใจ ปากพูดได้ตลอดเวลา มันออกมาจากใจ
ที่นี้จะพูดเรื่องที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก การปฏิบัติ หรือการเดินทางที่จะเข้าไปถึงหัวใจของศาสนา และของดีที่สุดของมนุษย์ ก็จะพูดให้ละเอียด สูงขึ้นไปอีก ก็ได้แก่ สิ่งที่พวกคุณไม่ค่อยชอบ คือสิ่งที่เรียกว่ากรรมฐาน ที่ออกชื่อมาตะกี้แล้ว แต่เดี๋ยวนี้จะไม่เรียกกรรมฐานแล้ว คนไม่ค่อยชอบ จะเรียกว่าอานาปานสติภาวนา ยาวหน่อย อานาปานสติภาวนา แปลว่า การทำความเจริญอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก อย่างนี้ไม่น่ากลัวใช่ไหม ทำความเจริญอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เขาเรียกว่า อานาปานสติภาวนา อานาปานะ แปล หายใจเข้าออก สติแปลว่าความระลึก ภาวนาแปลว่าทำความเจริญ ทำความเจริญอยู่ด้วยสติทุกลมหายใจเข้าออก นี่คือตัวกรรมฐานแท้ สติ คือความกำหนดได้ ระลึกได้ สติ ระลึกอยู่ในสิ่งที่ควรระลึก ก็คือความถูกต้อง หรือธรรมะ หรือความจริงอะไรก็ตาม สิ่งที่ควรระลึก ก็มาระลึก ก็เรียกว่ามีสติ นี้ไม่ระลึกเล่นๆ นะ ระลึกอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก หมายความว่า ระลึกอยู่ตลอดเวลา อะไรที่ดี ที่มีประโยชน์ ที่คุ้มครองเรา เราต้องระลึกถึงอยู่ตลอดเวลา นี่เรียกว่า อานาปานสติ ที่นี้มันยังน้อยนัก ก็ทำให้มันมาก เขาเรียกว่าภาวนา ทำให้มาก ทำให้เจริญ ทำให้เต็มที่ นี่เราต้องมีระบบนี้อยู่ในตัว ในชีวิตนี่ ตลอดเวลา ทำความเจริญอยู่ด้วยความระลึกที่ถูกต้องทุกลมหายเข้าออกทั้งวันทั้งคืน แล้วประหลาดที่ว่าจะพูดได้ว่าทั้งหลับทั้งตื่น หมายความว่าเมื่อเราตื่นนี่ เราทำไว้ให้ดี ถูกต้องอยู่ พอเราจะหลับ เราจะหลับด้วยสติ ถ้าเราหลับด้วยสติ ความปลอดภัยจะมี แม้ในเวลาหลับ ถ้าเราไม่หลับด้วยสติ ในเวลาหลับมันทำชั่วได้ มันฝันร้าย หรือมันฟุ้งซ่านไปได้ ด้วยจิตที่มันไม่มีสติตั้งแต่ทีแรก งั้นพอจะนอนนี่ ทำสติให้มั่นคงโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง อยู่ในความดี ความงาม ความถูกต้อง ในทางธรรมนี้ แล้วจึงปล่อยให้มันหลับไป อย่างนี้มันหลับสนิท มันก็ทำชั่วไม่ได้ในเวลาหลับ เราก็ตั้งจิตกำหนดไว้ว่าจะหลับนานกี่มากน้อยให้แน่วแน่ แล้วก็ตื่นขึ้นมา ก็มาสติทันทีเลย พอสักว่าตื่นขึ้นมา มีสติอย่างเดิมตั้งแต่เมื่อก่อนหลับทันที แล้วก็มีสติต่อไป เลยไม่มีความชั่วความผิด ทั้งหลับและตื่น นี้เรียกว่า มีสติอยู่ทั้งหลับและตื่น ที่นี้ขอแทรกหน่อยว่าไอ้เรื่องตื่นนอนนี้ มันเป็นเรื่องพิเศษอยู่อย่าง ถ้าเราตั้งใจดี มีสติเพียงพอแล้ว มันจะตื่นตรงเวลา คนโดยมากไม่สนใจ ไม่เคยฝึก เพราะฉะนั้นให้ฝึกยิ่งขึ้นไป ให้ยิ่งขึ้นไปๆ จะตื่นนอนให้ตรงเวลา มันเกี่ยวกับการอธิษฐานจิต ว่าเราจะทำจริง แล้วว่าจะตื่นเวลาเท่าไหร่ มันจะตื่นตรงเผง ไม่ผิดแม้แต่ ๕ นาที เช่นว่าจะตื่นตี ๔ อย่างนี้ มันจะตรงเผง ไม่ผิดแม้แต่ ๕ นาที เรื่องนี้เคยลองมาแล้ว เคยฝึกมาแล้ว แล้วก็เป็นบทที่จะต้องฝึกด้วย แต่ว่าชาวบ้านไม่ค่อยสนใจ ก็ปล่อยไปตามเรื่องตามราว ถ้าร่างกายปกติ ใจคอปกติ จะตื่นตรงตามเวลา ถ้าร่างกายเราไม่ค่อยสบาย มันก็อาจจะผิดได้ แต่ถ้าตั้งใจให้แรง มันก็ตื่นตรงได้ ทั้งที่ร่างกายไม่ค่อยสบาย อย่างนี้เรียกว่าทำสติอย่างยิ่ง เป็นระเบียบปฏิบัติที่สูงสุด คือไม่เผลอสติ ที่นี้ไม่ค่อยปฏิบัติกัน ชาวบ้านก็ไม่ปฏิบัติ พระเณรก็ไม่ค่อยปฏิบัติ มันก็เลยโง่ๆทึ่มๆ อยู่อย่างนั้น มันบังคับอะไรไม่ค่อยได้ มันมีโมโหโทโส มันมีอะไรหลายๆอย่าง เพราะมันอยู่โดยที่ไม่มีสติสมบูรณ์ ที่นี้จะพูดถึงอานาปานสติต่อไปอีก ว่ามีสติ กำหนดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ถูกต้องทุกครั้งที่หายใจออก หายใจเข้า จนเจริญๆๆ นี้เรียกว่าอานาปานสติ ตามหลักของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านได้วางไว้ เรียกว่า อานาปานสติภาวนา เอาล่ะที่นี้จะแสดง อานิสงค์ก่อน เดี๋ยวคุณจะไม่ซื้อ อานิสงค์ของมันมากเหลือเกิน ถ้าเจริญอานาปานสติภาวนา อย่างแรกที่สุดนั้นจะมีอนามัยดี หนึ่งจะทำให้มีอนามัยดี อนามัยก็แปลว่าความไม่มีโรค ความไม่มีความบกพร่อง พิรุธอะไรต่างๆ เรียกว่ามีอนามัยดี อนามัยนี้ มีทั้งทางกายทั้งทางจิต อนามัยทางกายก็ดี อนามัยทางจิตก็ดี อนามัยทางกายดี เราก็สบายดีทางกาย แล้วสวยด้วย ใครไม่อยากสวยบ้าง ต้องมีร่างกายที่มีอนามัยดี มันจึงจะสวย มันจะต้องสวยไปแบบใดแบบหนึ่ง ถ้าเป็นผู้มีอนามัยดี มันจะผิวดำ ก็ยังสวย ถ้ามันมีอนามัยดี มันมีความงาม ความอะไรอยู่ในส่วนลึก ของผิว ของหน้าตา ของอะไรต่างๆ นี่อนามัยทางกายดี มันก็จะแข็งแรงดี ก็สบายดี จะมีความสวยงาม ตามแบบของผู้ที่มีอนามัยดี อนามัยทางจิตนี้ยิ่งสำคัญ เพราะเมื่ออนามัยทางจิตเสียไป เราก็จะเรื่มฟุ้งซ่านทางจิตใจ บ่อยเข้าเราจะเป็นโรคเส้นประสาท เลยนั้นไปเราก็เป็นโรคจิต บ้าเลย เพราะอนามัยทางจิตมันเสียไป อานาปานสตินี้จะทำให้มีอนามัยดีทั้งกายและทางจิต ใจก็สวย กายก็สวย มันก็นับว่าวิเศษ ที่นี้ข้อที่ ๒ ถ้าเราทำอานาปานสติได้นะ จะเป็นอุปกรณ์อันวิเศษแก่หน้าที่การงานทุกชนิด มันเป็นอุปกรณ์อันวิเศษแก่หน้าที่การงานทุกชนิด จะเป็นครูก็ตาม จะเป็นนักเรียนก็ตาม จะเป็นผู้ทำการงานชนิดใด ชนิดไหน ในโลกนี้ก็ตามเถอะ ความเป็นผู้มีอานาปานสตินี้ มันจะเป็นอุปกรณ์ช่วยได้ทุกชนิด เพราะอะไร เพราะเมื่อทำอานาปานสติอยู่นี้ มันทำให้มีสติสัมปชัญญะสูงสุดโน่น มันจะทำให้จำเก่ง คิดเก่ง มันจะทำให้จิตสดใส แจ่มใสอยู่ตลอดเวลา ทำไมจะไม่เป็นอุปกรณ์อันสูงสุด ที่นี้จิตเรามืดมัว หดหู่ นี้เรามันก็เสียการงาน ถ้าเรามีจิตแจ่มใส สดชื่น แล้วก็มีความจำดี ความคิดเก่ง ความตัดสินใจเก่ง มีสติสัมปชัญญะสูงสุด มันก็ดีแก่หน้าที่การงานทุกชนิด ถ้าจะพูดให้สรุปสั้นๆที่สุดก็ว่า อานาปานสตินี้มันช่วยให้คนเรามีอารมณ์ดี อารมณ์เสียไม่มีใครชอบใช่ไหม อารมณ์ดี ชอบ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร มันก็ชอบเฉยๆ ไม่มีประโยชน์ มันต้องมีวิธีที่จะทำให้อารมณ์ของเราดีอยู่เสมอ นี่พูดอย่างภาษาไทยนะ อารมณ์ดี นี่ก็เป็นอานิสงค์ข้อหนึ่งด้วยเหมือนกัน ที่นี้ข้อที่ ๓ ไอ้อานาปานาสตินี้มันจะเป็นการบรรเทา ไถ่ถอนกิเลสและอาสวะอยู่ตลอดเวลา เรื่องกิเลสพูดกันแล้ว เรื่องอาสวะพูดกันแล้ว จะไม่พูดอีก แต่เรารู้ว่าไอ้สิ่งเหล่านี้เอาไว้ไม่ได้ ควรจะหมดไป ทำอานาปานสติอยู่เสมอ กิเลสอาสวะจะหมดไปโดยเร็ว แล้วก็ให้ประโยชน์ เป็นความสิ้นกิเลส สิ้นอาสวะ คือมันสูงสุดของมนุษย์ ให้ถึงนิพพาน คือเย็น ที่นี้ขอสรุปในที่นี้ว่า จะทำให้ชีวิตเย็น ชีวิตที่เย็น จะได้มีชีวิตที่เย็น ไม่มีร้อนเลย โลกนี้จะไม่เป็นของร้อนสำหรับเรา ชีวิตนี้จะเป็นของเย็น พอแล้วละมั่ง ไม่มีอะไรดีกว่านี้แล้ว นี่ ๓ อย่างเป็นอานิสงค์ของสินค้า ของพระพุทธเจ้า ชื่อนี้ คุณจะซื้อหรือไม่ซื้อ มันมีประโยชน์มากถึงอย่างนี้
ที่นี้เป็นเรื่องพิเศษ เป็นเรื่องนอกเรื่อง เป็นเรื่องพิเศษ อานิสงค์ของอานาปานสตินี้ทำให้มีฤทธิ์เดชได้ ทำให้มีปาฏิหาริย์ได้ ทำให้มีอุตริมนุษยธรรม อุตริมนุษยธรรม ก็แปลว่า ฝีไม้ลายมือที่ยิ่งไปกว่ามนุษย์ธรรมดา เคยได้ยินไหมคำว่า อุตริมนุษธรรม คือฝีไม้ลายมือที่ยิ่งไปกว่าที่มนุษย์ธรรมดาเขามีกัน นี้พิเศษนะ ไม่นับเข้าไปใน ๓ แรกและก็ไม่ส่งเสริมให้ไปสนใจในเรื่องอย่างนี้ แต่บอกให้รู้ ว่ามีฤทธิ์ มีปาฏิหาริย์ มีอะไรเหนือกว่าคนธรรดาได้ แม้แต่การทำอานาปานสติ ที่นี้เอาแต่อานิสงค์ ๓ ข้อข้างต้นก็พอแล้ว ว่าอย่างไง ก็ทบทวนดู มีอนามัยดีทั้งทางกายทางจิต เป็นอุปกรณ์แก่หน้าที่การงานทุกชนิด ก็ทำให้สิ้นกิเลสอาสวะ เป็นชีวิตที่เย็น นั้นนะต้องการสนับสนุน ส่งเสริมและข้อร้องว่า ต้องทำ ต้องสนใจ แต่อันพิเศษอันสุดท้ายนี่ไม่ต้องก็ได้ แต่บอกให้รู้ว่าการทำกรรมฐานภาวนารูปนี้จะทำให้สามารถมีอำนาจ มีฝีไม้ลายมืออะไรเหนือคนธรรมดา คือมีฤทธิ์มีเดช ปาฏิหาริย์
เอ้า, ทีนี้เราก็จะพูดถึงตัวอานาปานสติว่าทำอย่างไร ชั่วเวลาเล็กน้อย เพียงแต่หัวข้อ และก็ถ้ามีโอกาสก็จะทำให้ดูหรือแนะให้ทำ แต่เดี๋ยวนี้เราศึกษาส่วนทฤษฎี ส่วนวิชากันเสียก่อน ว่าทำอานาปานสติอย่างไร ถ้าจะพูดให้เต็มที่ตามข้อความในพระสูตร ในอรรถกถา ในคัมภีร์นั้นมันมาก พูด ๑๐ ชั่วโมงก็ยังไม่จบ แต่นี้จะพูดให้จบใน ๑๕ นาทีนี้ อานาปานสติ แปลว่า สติที่กำหนดอยู่ที่ธรรมะ หรือความจริงในข้อใดข้อหนึ่งอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า นี่เข้าใจแล้ว เขียนแล้วนะ สติที่กำหนดอยู่ในธรรมะ หรือความจริง หรืออะไรเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจออกเข้า นี่เดี๋ยวนี้เราก็จะตั้งต้นด้วยการกำหนดที่ลมหายใจนั่นแหล่ะก่อน พูดสำหรับชาวบ้าน สำหรับผู้ที่มีการงานอย่างอื่น ไม่ใช่พูดสำหรับพระที่อยู่ตามป่าตามเขานะ
หัวข้อที่ ๑ เรียกว่า วิ่งตามลม คำนี้พูดเป็นภาพพจน์ เป็นเหมือนอุปมาว่า วิ่งตามลม ลมในที่นี้คือลมหายใจ ลมหายใจมันเป็นอยู่อย่างไรตามปกติ ลมหายใจมันก็เข้า แล้วก็ออก เข้าแล้วก็ออก ไปศึกษามันให้ดีก่อนเถอะว่ามันเข้าแล้วก็ออกอย่างไร บางทีมันยาว บางทีมันสั้น บางทีมันเข้าไปแล้ว มันจะหยุดยั้งนิดนึง แล้วมันจึงจะออก ออกแล้วมันจะหยุดยั้งนิดหนึ่ง แล้วมันจึงจะเข้าไปอีก มันก็มีอย่างนี้ตลอดเวลา ที่นี้จิตหรือสติหรือการกำหนดของเราวิ่งตามลม ลมเข้าก็กำหนดตามเข้าไป ลมออกก็กำหนดออกมา เมื่อลมหยุดยั้งอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ขณะหนึ่งนิดหนึ่ง ก็กำหนดอยู่ที่ตรงนั้น นั้นมันจึงเข้าไป ยั้งนิดหนึ่งแล้วออกมา ยั้งนิดหนึ่ง แล้วเข้าไป ยั้งนิดนึง แล้วออกมา ให้จิตของเรากำหนดอยู่ตลอดเวลา อย่าให้มีระยะว่างได้ ถ้ามีระยะว่าง ตรงไหนตรงนั้นล่ะ จิตมันจะหนีไปเสียที่อื่น มันไม่มากำหนดอยู่ที่นี้ ถ้าเขาเปรียบด้วยการไกวเปลให้เด็กเล็กๆ นอนนี่ จับเด็กเล็กๆใส่ลงไปในแปล แล้วไกวเปลให้มันนอน เราต้องจับตาดูอยู่เสมอ เพราะมันยังไม่นอน เดี๋ยวมันจะตกลงมาจากเปล พอเปลแกว่งไปทางโน้น เราก็ส่ายหน้าไปทางโน้น พอเปลไกวมาทางซ้าย นี่ก็ตาจับมาข้างซ้าย เปลกลับไปข้างขวา ก็ตาจับไปข้างขวา เห็นอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้เลย ซึ่งเปลมันก็เหมือนกันแหละ มันต้องหยุดยั้งไปนิดนึง มันถึงจะกลับไปข้างหนึ่งได้ นี่เหมือนกับการหายใจแท้ๆ อย่างนี้เรียกว่าวิ่งตาม วิ่งตามอยู่ตลอดเวลา ไม่มีระยะที่เผลอ ทำอย่างนี้ได้ก่อน เรียกมันว่าวิ่งตามลม เพียงทำได้เท่านี้ก็จะเก่งขึ้นมากมาย คือมีสติสัมปชัญญะดีขึ้นๆๆ มีการบังคับตัวเองแน่นแฟ้นขึ้นๆ มีธรรมะหลายอย่างเกิดขึ้น มีความปกติในทางกาย ในทางจิต แล้วมันไม่ทำผิดศีล ผิดบาป อะไรที่ไหน มันดีอย่างนั้น ที่ดีที่สุด มันจะระงับการอยากไปดูหนังได้ ไม่เชื่อลองไปทำดู มันจะค่อยๆพอใจ มีความสบายอะไรเกิดขึ้น แล้วก็จะระงับไอ้ความกระวนกระวายที่อยากจะไปดูหนัง อยากจะไปเที่ยวนั่นเที่ยวนี่ได้ นี่เป็นเพียงขั้นแรกนิดเดียวเท่านั้นนะ มันนิดเดียวเท่านั้น ขั้นแรกนี่ ที่เราจะมีการหายใจที่ถูกต้อง ซึ่งมีอาการหายใจที่ยาวมากขึ้น มากขึ้น สม่ำเสมอดี เป็นระเบียบเรียบร้อยดี มีสติสัมปชัญญะดี นี่จะมีใจพอดี มีอนามัยดี มีหน้าตาผ่องใสดี เอ้า ก็ไปหัดวิ่งตามลมนี่ ดูที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ โดยปิดหูปิดตาอะไรเสียโดยอัตโนมัตินี่ ถ้าเราระดมจิตเพ่งแรงไปกำหนดอยู่ที่ลมหายใจนี่นะ เราจะไม่ได้ยินอะไร ถ้าเราสามารถกำหนดลมหายใจได้แรงมากอย่างนี้ เราจะไม่ได้ยินอะไร งั้นอย่าไปเที่ยวโทษคนนั่นคนนี้ มันทะลึ่งตึงตังทำให้เราหนวกหู ทำสมาธิไม่ได้ นี่มันคนที่อารมณ์เสียมันพูด ไอ้คนที่อารมณ์ดี มันตั้งจิตกำหนดอะไรหนักขึ้นๆ มันจะไม่ได้ยินอะไร ในรถไฟก็ทำได้ กลับไปสงขลาคราวนี้ ลองทำดู ในรถไฟ ครืดคราด ตึงตังเอะอะ อะไรนี่ เราไม่รู้ไม่ชี้ เราจะกำหนดไอ้ลมหายใจเข้าออก หนักเข้า หนักเข้า หนักเข้า เราจะไม่ได้ยินอะไร จะไม่ได้รับความกระเทือนอะไร แม้รถมันจะกระเทือน เราก็ไม่รู้สึก นี่ทำการกำหนดลมหายใจให้ถูกต้องอย่างนี้เป็นขั้นแรก วิ่งตามลม มันก็คงจะขลุกขลักบ้างในตอนแรกๆ คือทำยากนั่นแหละ แล้วก็อย่าท้อสิ ถ้าท้อก็เป็นคนอ่อนแอ เหลวไหล ก็ต้องใช้อิทธิบาท ใช้ฆราวาสธรรม ใช้อะไรที่ว่ามาแล้ว ทำให้มันได้
ทีนี่ขั้นที่ ๒ ต่อไป เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง นี่มันต่างกันแล้ว เมื่อตะกี้วิ่งตาม วิ่งตาม เข้าออกๆ แกว่งไป แกว่งมา เหมือนกับเปล เดี๋ยวนี้ไม่เอาแหละ จะเฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ที่นี่จุดที่มันเหมาะที่สุดนั้น คือที่จงอยจมูก จุดอื่นก็ได้แต่ไม่เหมาะ ถ้าสมมติว่าลมวิ่งเข้าวิ่งออกตั้งต้นฝ่ายหนึ่งที่จงอยจมูกแล้วไปสุดที่ในท้อง สมมติว่าที่สะดือ สมมติว่า เพราะจริงลมมันอยู่แค่ปอดเท่านั้นแหละ แต่ความสะเทือนมันลงไปถึงท้อง ไอ้จุดที่สะดือเป็นหลัก จุดจุดข้างใน มีจุดจบ จุดสุดของมัน terminal นั่น ที่สะดือ terminal มันจงอยจมูก มันวิ่งอยู่ระหว่างสะดือกับจมูก เข้าออกๆ เราวิ่งตามพอแล้ว เดี๋ยวนี้มันจะหยุดเฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง เอาที่จงอยจมูกเป็นเรื่องสะดวก ก็คือด้านในของรูจมูก ที่ลมมันจะกระทบ เว้นไว้แต่คุณจะเป็นแขกนิโกร จมูกมันเชิด ลมอาจจะกระทบที่ริมฝีปากข้างบนนี้ก็ได้ แต่ถ้าเป็นคนธรรมดาอย่างนี้แล้ว มันก็ที่จมูกทั้งนั้นแหละ ที่จงอยจมูกด้านใน เอาจุดตรงนั้นแหละ เป็นจุดเฝ้าดู มีจิตคอยเฝ้ากำหนดอยู่ที่นั้น เมื่อลมมันผ่านจุดนั้นเข้าไปข้างในนั้น แล้วก็ช่างหัวมัน อย่าไปวิ่งตามมัน เพราะเราทำได้ดีมาแล้วนะ ต้องทำขั้นที่ ๑ ได้แล้วนะ นี่ทิ้งระยะห่าง จนเฝ้าดูอยู่ที่จุดหนึ่งแล้วจึงมีโอกาสที่ลมผ่านเข้าไปข้างใน ไม่วิ่งตามเข้าไปข้างใน แต่เฝ้าที่ประตูนั่น ผ่านจนกว่าจะหมด ผ่านไปๆๆ เราจะเฝ้าดูอยู่ที่จงอยจมูก จนกว่ามันจะหมด หมดแล้วก็ไม่รู้ไม่ชี้ เดี๋ยวมันจะออกมาๆๆ ออกมากระทบตรงนี้อีก ก็เฝ้าดูแต่ที่ตรงนี้ นี่เรียกว่าเฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ในที่นี้ คือ จงอยจมูก นี่ยากขึ้นมากว่าขั้นที่ ๑ นะ ยากเพราะเหตุใด เพราะมันทิ้งระยะไว้ไกล ตรงนั้นนะมันจะหนีไปได้ ถ้าว่าไม่ทำให้ดีมาแต่ขั้นที่ ๑ แล้ว มันจะทำขั้นที่ ๒ ไม่ได้ คือมันจะหนีไปหมด เมื่อมันยังไม่มาถึงที่จงอยจมูก มันจะหนีไป จิตมันจะหนีไปหรือสติมันจะว่างไป ถ้าทำขั้นที่ ๑ มาดีแล้ว ขั้นที่ ๒ ประคับประคองดี ก็ทำได้ เฝ้าดูจมูกจนเหมือนว่าตรงนั้นมันถูกลมมันถู มันฝน จนมีความรู้สึกแรงอยู่ที่จุดจุดนั้น พยายามทำอย่างนี้ มันก็เรียกว่า บังคับจิตได้มากขึ้นกว่าขั้นที่ ๑ สติสัมปชัญญะละเอียดประณีตสุขุมยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นที่ ๑ เราเก่งขึ้นกว่าทีแรกเป็นกอง ทำความรู้สึกตรงที่ลมกระทบจะแห่งเดียว เหมือนกับว่าเดี๋ยวนี้เด็กมันเริ่มง่วง มันเริ่มนอนแล้ว มันจะไม่ตกจากเปลแล้ว เราไม่ต้องแหงนหน้าไปแหงนหน้ามาเหมือนทีแรกแล้ว กำหนดอยู่ที่ลมก็ต่อเมื่อเปลมันผ่านหน้าเราก็พอ เปลเลยไปทางโน้น ช่างหัวมัน เลยไปทางนี้ ช่างหัวมัน เราดูแต่เมื่อมันผ่านหน้าเรา เรียกว่า จุดเดียว จุดหนึ่งเท่านั้น แต่เราทำความรู้สึกให้แรงขึ้น ๆ เหมือนราวกับว่าตรงนั้นมันมีความรู้สึกมากที่สุดกว่าที่ไหนๆหมดแหละ หรือเปรียบคล้ายๆ มันมีแผลอ่อนอยู่ตรงนั้น มันรู้สึกแรงๆๆๆๆ ขึ้น นี่กำหนดอยู่ที่จุดเดียวได้สำเร็จอย่างนี้ นี่เรียกว่าขั้นที่ ๒ เรียกว่าเฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง
ที่นี้ก็จะไปถึงขั้นที่ ๓ ทำมโนภาพขึ้นที่จุดนั้น ทำมโนภาพขึ้นที่จุดๆนั้น ในขั้นที่ ๒ ไม่ใช่มโนภาพ คือลมจริงๆ กระทบเนื้อจริงๆ กระทบเส้นประสาทจริงๆ มันเป็นคอนกรีต คือเป็นของแข็งจริงๆ พอมาขั้นที่ ๓ นี้ไม่เอาอย่างนั้นแล้ว จะทำมโนภาพ Imagination การทำมโนภาพ imagine ภาพขึ้นมา ภาพนั้นก็มิใช่ของจริง แต่ว่าเราทำมันขึ้นมา ให้มันเห็นก็แล้วกัน ก็เพื่อว่าทำจิต น้อมจิต ให้เกิดความเห็นอะไรขึ้นมาที่ตรงนั้น จุดๆน้อยๆที่ลมกระทบนั้น เดี๋ยวนี้จะทำให้เป็นมโนภาพกลายเป็นมโนภาพขึ้นเป็นดวงขาวๆ ขึ้นมา หรือดวงเขียวๆ แดงๆ อะไรขึ้นมา เหมือนกับหลับตาเห็นภาพ ทำไมเราถึงทำได้หล่ะ ถ้าเราหัดจะเพ่ง เพ่งหลอดไฟฟ้า เพ่งดวงเทียน เพ่งอะไรมาแล้วหลับตา ก็ยังเห็นดวงเทียน เห็นหลอดไฟฟ้า ยิ่งหลับตายิ่งเห็นนั่น เรียกว่าทำมโนภาพ เดี๋ยวนี้เราก็ทำมโนภาพที่ตรงนั้นให้เห็นว่ามันมีดวงเทียนขึ้นมาก็ได้ ตรงที่ ที่ลมมันกระทบนั่นแหละ หรือจะเห็นดวงขาวๆ นั่นก็ได้ เห็นเหมือนกับปุยฝ้ายก็ได้ เห็นเหมือนหยดน้ำค้างกลางแสงแดดอยู่ที่ตรงนั้นก็ได้ หรือใยแมงมุมวอบๆแวมๆอยู่ที่กลางแสงแดดอ่อนๆก็ได้ มโนภาพอะไรก็ได้ แล้วแต่เราจะทำให้มันเกิดขึ้นมาได้ ตามความเหมาะสมของจิตใจของเรา นี่เขาเรียกว่า สร้างมโนภาพขึ้นมาที่จิตนั้น นี่มันยิ่งไปไกล ไปไกลไปแล้วนะ มันยิ่งดีกว่า เก่งกว่า มีจิตใจที่บังคับได้กว่า ละเอียดประณีต ละเอียดสุขุมที่สุดเลย ก็สามารถสร้างมโนภาพขึ้นมาที่จิตนั้น ก็หล่อเลี้ยงมโนภาพนั้นเอาไว้ ให้แน่วแน่ ให้เก่ง เมื่อไรก็ได้ จนกระทั่งเราหลับตาเห็นสิ่งนั้นเมื่อไรก็ได้ ไม่เฉพาะแต่เมื่อนั่งทำสมาธิแล้ว ให้ที่ไหนก็ได้ จะเกิดหลับตาให้เห็นภาพนั้นขึ้นมาที่ไหน เมื่อไหร่ ก็ได้เลย แล้วก็เก่ง ในขั้นที่ ๓ นี้ คือสร้างมโนภาพขึ้นมาจุดๆ นั้น สรุปความว่า มันมีมโนภาพอย่างใดอย่างหนึ่งแน่วแน่ขึ้นมาที่จุดนั้น ตามที่เราต้องการ
ที่นี้ขั้นที่ ๔ เราจะเปลี่ยนแปลงมโนภาพนั้นเล่นตามใจของเรา นี้มันก็ยากขึ้นไป มันเกี่ยวกับการน้อมจิตเป็น สมมติว่าเราเห็นจุดขาวๆ เหมือนกับว่า หยดน้ำค้างก็ได้ ปุยฝ้ายก็ได้ ก้อนเล็กๆ อยู่ที่ตรงนั้นนะ นิ่งๆ นะทีแรกมันนิ่งๆ ในขั้นที่ ๓ มันยิ่งนิ่ง ในขั้นที่ ๔ นี้ เราจะให้มันเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหว แล้วมันก็น้อมจิต น้อมจิตไป ไอ้จุดขาวที่เห็นนั้นใหญ่ออกไปก็ได้ เล็กลงมาก็ได้ ใหญ่ออกไปก็ได้ นี่มันเก่งถึงขนาดนี้แล้ว หรือบางครั้งมันเปลี่ยนสีก็ได้ และในที่สุดบังคับให้มันห่างออกไป ห่างออกไป ห่างออกไป ไกลโน่น แล้วมันกลับเข้ามาแล้วมันลอยไปเล่นในอากาศ แล้วกลับเข้ามา นี่มันบังคับจิต ประณีตละเอียด สุขุม มากขึ้น ขึ้นๆ ถึงขนาดนี้ แล้วการปฏิบัติอย่างนี้มันจำเป็นสำหรับการปฏิบัติฝึกให้มีฤทธิ์ มีเดช มีปาฏิหาริย์ ทีนี้เราก็ไม่ได้มุ่งหมายปาฏิหาริย์ เราเอาแต่เพียงว่าบังคับจิตให้ได้ดี ยิ่งขึ้นไป นั้นมโนภาพที่เราเคยเห็นอยู่นิ่งๆ ที่จุดนั้นในขั้นที่ ๓ ในขั้นที่ ๔ นี้ก็บังคับเล่นตามชอบใจก็ได้ ให้เปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่าง เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนอะไรก็ตาม ได้ตามต้องการ นี้เรียกว่าเรามีอำนาจเหนือจิต เป็นนายเหนือจิตมากที่สุดแล้ว
ทีนี้ขั้นที่ ๕ บังคับให้เกิดความรู้สึกขององค์ฌานให้ชัดเจน เมื่อเราบังคับจิตได้ถึงขนาดนั้น คือในขั้นที่ ๔ แล้ว ที่นี้เราจะบังคับอะไรก็ไม่ยากแล้ว ที่เราทำให้ความเห็น นิมิตนั้นนะให้ชัดอยู่อย่างนั้นด้วย ไม่ต้องวิ่งไปวิ่งมา ให้มันแน่วแน่เหมือนกับขั้นที่ ๓ เราเลือกเอาไอ้ภาพที่ดีที่สุด ที่เราพอใจที่สุดนั่น แหละมาอยู่ ปรากฏอยู่ในตาข้างใน แล้วเราเพ่งเห็นไอ้ภาพนั้นอยู่ด้วย ก็พร้อมกันนั้น เราทำความรู้สึกในจิตใจว่ามันมีความรู้สึกอะไร ที่จะรู้สึกได้บ้าง ความรู้สึกเหล่านี้ที่สำคัญๆ ก็เรียกไว้ ๕ อย่าง เรียกว่าเป็นองค์ของสมาธิ องค์ของฌาน องค์ที่ ๑ เรียกว่า วิตก คือความรู้สึกว่า อ้าว, จิตของเรากำหนดอยู่ที่นี้ นี่ นี่เรียกว่า วิตก คือเรารู้ความที่จิตของเรากำหนดอยู่ที่สิ่งนั้น เรียกว่าวิตก ไม่ใช่วิตกคิดเลขนะ ไม่ใช่วิตกกังวล คิดถึงปัญหา เพียงแต่รู้ว่าจิตมันกำหนดอยู่ที่นั่น ที่นี้องค์ที่ ๒ เขาเรียกว่า วิจารณ์ คือความรู้สึกที่ว่าจิตของเราเข้าใจซึมทราบ แจ่มแจ้งทั่วถึงต่อนิมิตนั้นแหละ นิมิตที่เห็น การกำหนดเฉยๆ นิมิตนั้นเรียกว่า วิตก การรู้สึกแจ่มแจ้งซึมซาบทั่วถึง ต่อนิมิตนั้นแหละ เรียกว่า วิจารณ์ ความรู้สึกที่เป็นวิตกก็มี ความรู้สึกที่เป็นวิจารณ์ก็มี แต่ไม่ใช่พิจารณาอย่างที่เขาพิจารณากัน มันเพียงแต่ว่า รู้สึกทั่วถึงอยู่ในนิมิตนั้น นี้องค์ที่ ๓ รู้สึกพอใจ ความอิ่มใจ ความพอใจ ก็เกิดอยู่ในขณะนั้นด้วย เรียกว่า ปิติ ปิติจะเกิดเอง เกิดง่าย ในเมื่อประสบความสำเร็จ ถ้าเราบังคับจิตได้สำเร็จ ปิติก็เกิดเอง แต่เราต้องทำความรู้สึกในปิตินี้อีกทีหนึ่ง เขาจึงจัดปิตินี้เป็นองค์ฌาน องค์ของฌาน เป็นองค์ที่ ๓ ไม่ใช่ฌานที่ ๓ นะ องค์ฌานที่ ๓ ที่นี้องค์ฌานที่ ๔ คือความรู้สึกที่เป็นสุขและสบายๆๆ นี่เรียกว่าความสุข ความรู้สึกที่เป็นสุขนี้ต้องถูกกำหนดด้วย และองค์ที่ ๕ การที่ภาวะหรือสภาพหรือภาวะที่จิตมีอารมณ์อย่างเดียว จิตมียอดสุดอยู่ที่อารมณ์อย่างเดียวนี้ ไม่มีอารมณ์อื่น ไม่มีอะไรอื่นอีก การที่จิตแน่วเป็นอารมณ์เดียวอย่างนี้เขาเรียกว่า เอกกัคตา เอกกัคตา แปลว่า ความมียอดสุดอยู่ที่สิ่งๆ เดียว เอาดูสิ อันที่ ๑ วิตก อันที่ ๒ วิจารณ์ อันที่ ๓ ปิติ อันที่ ๔ สุข อันที่ ๕ เอกกัคตา ถ้าครบ ๕ อย่างนี้ เขาเรียกว่าประสบความสำเร็จของความเป็นสมาธิที่แท้จริงแล้วก็ในอันดับที่ ๑ เรียกว่า ปฐมฌาน ปฐมฌาน แปลว่า ฌานที่ ๑ ไอ้สำหรับฌานที่ ๒ อันที่ ๓ อันที่ ๔ นี้จะไม่อธิบาย คือเป็นลดไอ้ ๕ อย่างนี้ออกเสียทีละอย่าง ทีละอย่าง คือมันน้อยเข้า น้อยเข้า มันก็เป็นฌานที่แน่วแน่มากขึ้น เพียงแต่ปฐมฌานนี้ก็เหลือหลายแล้ว สำหรับคนทั่วไป
ฟังดูคล้ายกับว่าชักชวนให้เป็นฤาษีชีไพรกันแล้วใช่ไหม ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก อยู่ที่บ้านนั่นแหละทำได้ เพื่ออบรมจิตให้สูง ให้เก่ง ให้สามารถ ให้การอนามัยดี ในการมีความสามารถ สมรรถภาพดี มีความสุข นี้มันเป็นระเบียบแบบแผนที่วางไว้ชัดเจน มีลักษณะเป็นเทคนิค ก็เป็นเทคโนโลยีเหมือนกัน แต่มันเป็นเรื่องทางวิญญาณ งั้นอย่าไปดูถูกฤาษีชีไพรว่าไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี แกมีเทคโนโลยีดีกว่าพวกฝรั่ง พวกชาวบ้านพวกนั้นซะอีก แต่มันเป็นจิตทางวิญญาณ ที่นี่เป็นเรื่องเทคนิคสำหรับทางจิต ให้ดีที่สุดที่มันจะเป็นได้ มนุษย์มีจิตและมนุษย์ก็รู้จักทำจิตให้ดี คุณสมบัติสูงสุดที่มันจะเป็นได้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า อานาปานสติ ที่นี้มันก็เสร็จเรื่องของสมถะ คือทำจิตให้สงบ มันจบแต่เพียงเท่านี้
ที่นี้ส่วนที่ ๒ ทำจิตให้รู้แจ้ง เมื่อเราทำจิตเป็นสมถะ เป็นสมาธิได้ ไปอย่างที่ว่ามาแล้ว ใน ๕ ขั้นนี้แล้วที่นี้ก็เลื่อนขึ้นไปเป็นเรื่องทำให้เห็นแจ้ง คือบังคับจิตชนิดนี้ให้ทำงานเพื่อสติปัญญา ก็หมายความว่า เอาจิตชนิดนี้ ที่อบรมดีแล้วอย่างนี้ไปพิจารณา เรื่องความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวง เรื่องความเป็นทุกข์ทรมานในสิ่งทั้งปวง เรื่องความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนในสิ่งทั้งปวง เขาเรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นความจริงอันสูงสุดของสิ่งทั้งปวง ก็ไปทำให้จิตเห็นแจ้งในสิ่งเหล่านี้ นี่เรียกว่า ส่วนความเห็นแจ้งหรือวิปัสสนา พวกที่ทำจิตให้สงบ ระงับ เขาเรียกว่าสมถกรรมฐาน การที่ทำจิตให้เห็นแจ้งอย่างนี้เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน แล้วก็เป็นคนฉลาดถึงที่สุด รู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง เมื่อเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ กิเลสไม่ได้กินอาหาร กิเลสผอมไป ผอมไป ผอมไป จนไม่มีกิเลส ไม่มีอาสวะ ก็ได้ชีวิตที่เย็น ที่สุข คือนิพพาน อย่างน้อยก็ได้ชีวิตที่เย็นตามธรรมดา ที่ชาวบ้านจะเย็นได้ กระทั่ง เย็นที่สุดเป็นพระอรหันต์บรรลุนิพพาน เรื่องมันก็จบ สำหรับเรื่องอานาปานสติเท่าที่คนธรรมดาจะเข้าใจได้และปฏิบัติได้ แต่ถ้ากล่าวสำหรับนักปฏิบัติที่เป็นบรรชิตที่อยู่ตามป่าตามเขานั้นจะมีรายละเอียดมากกว่านี้ ใจความก็อย่างนี้ รูปโครงก็อย่างนี้ เอาแหละเป็นอันว่า เราได้พูดกันถึงวิธีการที่จะเข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนามาอย่างสมบูรณ์แล้ว คือบอกให้ทราบว่า ในชีวิตธรรมดาสามัญชาวบ้านทั่วๆ ไปนี้ทำอย่างไร ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ทำได้ นี้ก็ทำให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าชาวบ้านธรรมดาทำ ก็คือระบบการปฏิบัติทางกรรมฐาน ชาวบ้านก็ทำได้ ทำได้ก็ได้รับผลสูงกว่าชาวบ้านธรรมดา นี่คือคำตอบที่ว่าทำไมในเพศฆราวาสนั้นมีพระโสดาบัน มีพระสกิทาคามี มีพระอนาคามี ด้วย ก็เพราะว่าเขาสามารถทำจิตใจให้มันสูงขึ้นมาถึงอย่างนี้ แล้วก็ไม่เสียหายแก่การงานอะไร เป็นผู้มีความสุข เป็นผู้มีการงานดี เป็นผู้ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างยิ่ง เขาเรียกว่าเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา ทั้งในระดับต่ำๆ ทั้งในระดับกลางๆ ทั้งในระดับสูงสุด เข้าใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างนี้
เป็นอันว่า เรารู้จักวิธีการเข้าถึงหัวใจของศาสนาพอสมควรแก่ความเป็นนักศึกษาแล้ว ขอยุติการบรรยายครั้งนี้ไว้เพียงเท่านี้