แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่จะเป็นครูทั้งหลาย การบรรยายในครั้งนี้ จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า ผู้ที่เป็นครูควรจะรู้จักหัวใจของสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา คือ จะได้กล่าวถึง สิ่งที่เรียกว่า หัวใจของศาสนา สำหรับคำว่าศาสนา นี้ เป็นคำที่ใครๆ ก็ชอบอ้างว่า เราก็รู้จัก เราก็มีศาสนา จะพูดกันอย่างนี้ทุกคน แม้คนที่เขาพูดว่าเขาไม่มีศาสนานั้น ก็หมายความแต่เพียงว่า เขาไม่มีศาสนาเหมือนที่คนอื่นๆ เขาถือกันอยู่ แต่เขาก็มีศาสนาของเขาเองอย่างน้อยที่สุด ก็เช่น ศาสนาเงินตรา เป็นต้น เพราะว่าคนทุกคน อย่างน้อยก็เข้าใจคำว่า ศาสนาในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นี่ระวังให้ดี เขาถือกันว่า ศาสนา คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วเขาก็หาแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เขาคิดว่าอะไรศักดิ์สิทธิ์ เขาก็เอามาถือเป็นศาสนา อย่างนี้มันทั่วไปหมด แม้แต่เด็กๆ ก็ทำเป็น ก็เลยยืนยันว่า ฉันก็มีศาสนา ฉันก็มีศาสนา แล้วก็ไม่ค่อยจะสนใจให้มากไปกว่านั้น จึงไม่ได้ศาสนาที่แท้จริง หรือว่าไม่เข้าถึงหัวใจของศาสนาที่แท้จริง
ทีนี้เราก็จะได้พูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา คำว่า ศาสนานี้มีความหมายมากมาย จนสับสน คือมันแล้วแต่สติปัญญาของคนที่จะมีศาสนา หรือจะพูดว่าเรามีศาสนา ถึงแม้ในวงการศึกษาก็ยังไม่ได้ทำความเข้าใจที่จำกัดความให้ชัดลงไป เช่น มีคำว่า ศีลธรรม หรือวัฒนธรรม เป็นต้น ใช้เข้ามาอีก ในหลักสูตรการศึกษา ดูจะมีแต่คำว่า ศีลธรรม ไม่มีคำว่า ศาสนา แล้วก็ให้พุทธศาสนาไปรวมอยู่ในคำว่า ศีลธรรม อย่างนี้แล้ว ถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้วก็น่าหัวเราะ เพราะว่า สิ่งที่เรียกว่าศาสนานั้น มันใหญ่โตเกินกว่าที่จะบรรจุเข้าไปในสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่าศีลธรรม เราควรจะทำความเข้าใจกันเสียบ้างเกี่ยวกับ อย่างน้อย ๓ คำนี้ คำว่า ศาสนา มันมุ่งหมายที่จะบำบัดทุกข์ทางจิตใจ และก็ใหญ่โตกว้างขวาง คำว่า ศีลธรรม มันมุ่งหมายแต่เรื่องที่เกี่ยวกับสังคม หรืออย่างน้อยก็ ๒ ฝ่ายคือ ฝ่ายเรากับฝ่ายผู้อื่น อย่าให้มันมีเรื่องราวยุ่งยากลำบากกันขึ้น ต่างคนต่างมีศีลธรรม ทีนี้ทางศาสนานั้น แม้จะไม่เกี่ยวกับผู้อื่น ก็ยังมีศาสนาอยู่นั่นแหละ คือ ทำตัวเองคนเดียวให้หมดกิเลส ให้ไปนิพพานไปเลย มันใหญ่กว่า สูงกว่า มากกว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม ทีนี้ไอ้ส่วนที่เรียกว่า วัฒนธรรมนั้น มันเป็นเพียงขนบธรรมเนียมประเพณี หรืออะไรที่มันแยกตัวออกมาจากศีลธรรม หรือเป็นเครื่องประกอบ สนับสนุนให้สิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม
ฉะนั้นพุทธบริษัท ก็มีศีลธรรม คือ มีขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ถอดรูปออกมาจาก พุทธศาสนา สำหรับมาไว้ประพฤติปฏิบัติกันให้มันสะดวก แพร่หลาย ง่ายดายแม้แก่ลูกเด็กๆ งั้นเราจึงมีวัฒนธรรม ของชาวพุทธเป็นหลักกว้างๆ ทั่วไปว่าจะไม่ทำอย่างนั้นจะไม่ทำอย่างนี้ แล้วเป็นศีลธรรมมันก็สูงขึ้นไปกว่า ถ้าเป็นศาสนามันก็สูงขึ้นไปกว่านั้นอีกมาก แต่คำว่าศีลธรรมนี้ก็ยังมีเรื่องสลับซับซ้อน ทุ่มเถียงกันไม่ค่อยจะรู้จักจบจักสิ้น ว่ามันจะกินความไกลไปถึงไหนอย่างนี้ แล้วนักจริยธรรมสากลสมัยนี้ ก็พาลบวกศาสนาเข้าไปไว้ในศีลธรรมด้วย คล้ายๆ กับว่าจะให้คนทั้งโลกนี้ทิ้งศาสนาเสีย มามีศีลธรรมแบบสากลกันแล้วก็พอ นี่มันเป็นอย่างนี้ เขาจึงบัญญัติศีลธรรมสากลนี้สูงขึ้นไปกว่าที่มันมีอยู่แต่ก่อน หรือแม้ว่าจะไม่เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้เดี๋ยวนี้ ก็วาดไอ้ความมุ่งหมาย หรือจุดหมายปลายทางของสิ่งที่ เรียกว่า ศีลธรรมนั้นไว้สูงมาก ตามที่มนุษย์ควรจะได้รับอย่างไร แต่แล้วมันก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นความหมายมันก็ลดลงมา เช่น อุดมคติทางจริยธรรมสากลนี่ก็ว่า จุดหมายปลายทางของศีลธรรม นั้นมันก็คือ ความเต็มเปี่ยมของความเป็นมนุษย์อย่างหนึ่ง ความสุขที่แท้จริงนี้อย่างหนึ่ง ก็มีใจสูงจนกระทั่งว่าทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ที่เราเรียกกันว่า งานเพื่องานนี่อย่างหนึ่ง มีความรักที่กว้างขวาง ไม่มีเขา ไม่มีเรา นี้อีกอย่างหนึ่ง นี่คือ สิ่งที่เรียกว่า summon worldmon (นาทีที่ 10:31)ของจริยธรรมสากล ให้ได้ความเป็น มนุษย์เต็มเปี่ยม คือ มีสติปัญญา ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี อะไรต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของ ความเป็นมนุษย์ให้มันเต็มเปี่ยม นี่เป็นมนุษย์เต็มที่และก็มีความสุขสงบกันอย่างแท้จริง ไม่ใช่ความสุข หลอก ๆ เมื่อใจบริสุทธิ์ก็ทำงานนี้ทำเพื่อหน้าที่ ไม่ใช่ทำเพื่อเงิน ไม่ใช่ทำเพื่อตัวกู ก็มีจิตใจกว้าง รักคนทุกคน ไม่มีเขาไม่มีเรา ไม่มีมึง ไม่มีกู
แม้ว่าศีลธรรมสากลจะวาดเค้าโครงหรือความมุ่งหมายไว้สูงถึงอย่างนี้ นี่มันก็ยังไม่สูงถึงเรื่อง สูงสุดทางศาสนา เช่น เรื่องนิพพาน เป็นต้น แต่เขาวาดไว้กว้างดี จนอาจจะรวมนิพพานหรืออะไร เข้าไว้ในนั้นด้วยก็ได้ เช่นว่า ความสุขแท้จริงถึงที่สุดนี้ ก็คือ นิพพาน นั่นแหละ แต่เขาก็ไม่รู้จัก ก็หมาย ความสุขอย่างที่ว่าในโลกนี้มันจะมีได้ คือความไม่เบียดเบียนกันและไม่เดือดร้อน ตามปกติเท่านั้น แต่ไม่มีปัญญาจะแก้ไขกิเลสอาสวะ ไม่ให้มีความทุกข์เรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้นเลย ดังนั้นศีลธรรม หรือปรัชญาของศีลธรรม ที่เรียกว่า จริยธรรมนั้น แม้จะสูงสุดอย่างไร มันก็ไม่เท่าไอ้สิ่งที่เรียกว่า ศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนา เขาปรับใหม่เพื่อความสะดวกสำหรับคนสมัยนี้ ถือคราวเดียวพร้อม ๆ กันไป ในรูปของศาสนา ของศีลธรรม ของวัฒนธรรมอะไรก็ได้
ทีนี้เราจะพูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก จะยกตัวอย่างพุทธศาสนา ของเรา คำว่า ศาสนา ถูกทำให้มีความหมายสับสน โดยไม่เจตนา คือ มันเป็นมาเรื่อยๆ โดยไม่มีใครเจตนาจะไปทำให้มันผิดอะไรไป แต่มันก็มีความสับสน จนไม่ค่อยจะสำเร็จประโยชน์ หรือไม่สำเร็จประโยชน์เลย นี่พอพูดขึ้นทุกคนจะมองเห็นว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ศาสนา บางคนไปเล็งที่วัตถุก็มี บางคนก็ไปเล็งที่ขนบธรรมเนียมประเพณีก็มี บางคนไปเล็งที่การเล่า บวช การเรียนก็มี น้อยคนที่จะไปเล็งที่การปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลส ไอ้พวกแรกที่เล็งถึงวัตถุนั้น ก็เช่นว่า เขาเอาสัญลักษณ์ของศาสนานั่นแหละ มาเป็นตัวศาสนา เอาพระพุทธรูป เอาโบสถ์ เอาวิหาร พระเจดีย์ สัญลักษณ์ต่าง ๆ ของศาสนานั้นเป็นตัวศาสนา เมื่อจะพูดว่า ศาสนาเจริญ เขาก็หมายถึง สิ่งเหล่านั้นมีมาก นี้เรียกว่า เอาวัตถุ เช่น โบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ เป็นต้น ว่าเป็นตัวศาสนา แม้ที่สุดแต่ผ้าเหลือง ผ้ากาสาวพัสตร์ของภิกษุนี้ก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของศาสนา เช่น เขาว่า อาณาจักรแห่งผ้ากาสาวพัสตร์อย่างนี้ ก็หมายถึงประเทศที่มันมีศาสนาเจริญรุ่งเรือง เป็นต้น
ทีนี้บางพวกก็เลื่อนจากวัตถุเช่นนี้สูงขึ้นไปถึงเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี เรื่องบวช เรื่องเรียน เรื่องที่มันเป็นประเพณีก็แล้วกัน ทำบุญทำทาน ทอดกฐิน ทอดอะไรกันตามประเพณี จนเป็นประเพณี จนหมดความหมายของธรรมะไปก็มี นี่เขาก็เรียกว่า ศาสนาเหมือนกัน ถ้าศาสนาเจริญ ก็มีคนทำบุญทำทาน ทอดกฐิน อะไรกันมากมาย ที่ดีกันไปกว่านั้น ก็ว่ามีคนบวชมีคนเล่าเรียน มีโรงเรียนมีเรียนพระไตรปิฎกกันมาก นี่ก็ศาสนาก็เจริญ แม้ว่าเรียนพอเป็นพิธี หรือกระทั่งเป็น พิธีรีตอง นั้นก็เป็นศาสนาไปหมด บางคนพูดว่า สร้างพระคัมภีร์ไตรปิฎก ไว้ในพระพุทธศาสนา นี่ก็เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างนี้ สร้างใบลาน สร้างอะไรไว้ในพุทธศาสนา เพื่อให้คนได้ศึกษาเล่าเรียน หนักเข้าก็เป็นใบลานที่เขียนผิด ๆ ถูก ๆ ไม่มีความหมายอะไรก็มี เพราะเขาทำขายกันอย่างสินค้า นี้ก็เป็นพิธีประรำประราค่อย ๆ หายไปแล้วเดี๋ยวนี้
นี้ศาสนาที่แท้จริงนั้น มันคือ ตัวการปฏิบัติให้ถูกต้อง ตัวศาสนาที่แท้จริงนั้น คือ ตัวการ ปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าเรียกอย่างไพเราะ พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า พรหมจรรย์ ทีนี้พอมาถึงคำ ว่า พรหมจรรย์ มันก็ทำความสับสนอีกนั่นแหละ เพราะมันมีความหมายหลายอย่าง ที่ว่าคนรักษา พรหมจรรย์ หญิงสาวชายหนุ่ม รักษาพรหมจรรย์ อย่างนี้ก็เป็นเรื่องไม่ทำผิดในทางเพศ ก็เรียกว่า พรหมจรรย์ การบวชนี่ก็ประพฤติพรหมจรรย์ การบวชเฉย ๆ แม้ไม่ประพฤติอะไร ก็เรียกว่า พรหมจรรย์ แต่ถ้าโดยเนื้อแท้แล้ว คำว่า พรหมจรรย์ นั้นหมายถึง การประพฤติที่สูงสุด การประพฤติที่ทำด้วยความเสียสละสูงสุด ตั้งอกตั้งใจที่สุด มุ่งหมายจะกำจัดความชั่ว หรือกิเลส แล้วก็เรียกว่า พรหมจรรย์ นั่นคือ ตัวสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา ขอให้รู้จักคำว่าพรหมจรรย์ นี้ให้กว้าง หมายถึง ตัวศาสนาทั้งหมด
ยกตัวอย่างเช่น คำพูดที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เธอจงไปประกาศพรหมจรรย์ ใช้ภิกษุ ทั้งหลายที่สำเร็จการปฏิบัติแล้ว ว่าเธอจงไปประกาศพรหมจรรย์อย่างนี้เป็นต้น ถ้าคนแรกมา ท่านก็มา ๆ มาประพฤติพรหมจรรย์ นี่พอตรัสอย่างนี้ ก็ถือว่าคนนั้นเป็น ภิกษุ เรียกว่า เอหิภิกขุ อุปสัมปะทา เอหิภิกขุ พรัมมะ จริยัง จะระถิ (นาทีที่ 19:08) มาประพฤติพรหมจรรย์ อันนี้ก็เป็นภิกษุแล้ว นี่ต้องประพฤติพรหมจรรย์ พอปฏิบัติได้ผล เป็นที่พอใจ หรือถึงที่สุดแล้ว ท่านก็ไล่ว่าไป ๆ ไปประพฤติ ไปเผยแพร่พรหมจรรย์ ไปประกาศพรหมจรรย์ นั่นแหละคือ ตัวศาสนาที่แท้จริง คือ ทำให้รู้แล้วให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง จนได้รับผลของการปฏิบัติ การไปประกาศพรหมจรรย์ ก็ต้องไปทำให้เขาปฏิบัติได้ จนสำเร็จประโยชน์
ตัวศาสนาที่ถูกต้องนั้น มันไม่ใช่คำสั่งสอน แม้ว่าคำสั่งสอนจะมาจากคำว่า ศาสนา คำว่า ศาสนา แปลว่า คำสั่งสอน แต่แล้วในที่สุดตัวศาสนานั้น ไม่ใช่เป็นเพียงคำสั่งสอน มันต้องเป็นการปฏิบัติจึงจะเป็นตัวศาสนาที่แท้จริง พวกเราในประเทศไทย ใช้คำว่า ศาสนากันในสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า พรหมจรรย์ การประพฤติพรหมจรรย์ เขาจะถือกันตามตัวหนังสือ จรรย์ (นาทีที่ 20:51) นั้นก็คือ จริยา แปลว่า ประพฤติ พรหม นั้นแปลว่า ประเสริฐหรือสูงสุด สิ่งใดที่สูงสุดหรือความสูงสุด นั่นก็ใช้คำว่า พรหม พรหมจรรย์ ก็คือ การประพฤติที่สูงสุด การประพฤติอะไรสูงสุด ก็คือ การประพฤติที่ทำให้มนุษย์เรารอดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้จริง ถ้าพูดเอาแต่ใจความก็ว่า การประพฤติที่ดีที่ถูกต้อง ที่ทำให้คนเรารอดตัว จากความทุกข์ทั้งปวงได้จริง นี่คือ ความหมายอันแท้จริงของศาสนา หรือของพรหมจรรย์ก็ตาม
แต่ทีนี้เขาต้องการจะให้ขลัง ให้ศักดิ์สิทธิ์ ในบางศาสนาเขามีพระเจ้าขึ้นมา ถ้าเราจะ กล่าวโดยเค้าใหญ่ ๆ แล้ว เราจะพูดได้ว่า ศาสนาประเภทที่มีพระเจ้าเป็นบุคคล กับศาสนาประเภทที่ไม่มีพระเจ้าเป็นบุคคล บางศาสนาก็มีพระเจ้าเป็นบุคคล หรือเขาสอนให้มีพระเจ้าเป็นบุคคล เช่น ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาฮินดู ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม นี้เขามีพระเจ้า มีพระเป็นเจ้ารูปร่างเหมือนคน แล้วก็รู้จักโกรธ รู้จักพอใจ อะไรเหมือนกับคนนี่ นั่นเป็นศาสนาที่มีพระเจ้า อย่างพุทธศาสนานี้ ไม่มีพระเจ้าอย่างคนเช่นนั้น แต่ก็มีสิ่งบางสิ่งซึ่งไม่ใช่คนนั่นแหละ มีความหมายเท่ากับพระเจ้า
ถ้าว่าเป็นศาสนาที่มีพระเจ้า เขาก็ใช้คำพูดว่า ศาสนา คือ สิ่งที่ทำให้คนนี้ผูกพันกันกับ พระเจ้า ช่วยจำไว้ให้ดี ความหมายนี้ เป็นความหมายสากล สำคัญที่สุดที่นิยมใช้กันอยู่ในหมู่นักศาสนา หรือนักปรัชญา นักจริยธรรม มันมาจากคำว่า Religion rig (นาทีที่ 23:34) มันแปลว่า ผูกพัน Religion แปลว่า ไอ้สิ่งที่ทำความผูกพัน ผูกพันอะไร ผูกพันคนกับพระเป็นเจ้า สิ่งนั้นเรียกว่า Religion จึงถือกันเสียว่า ถ้าเป็น Religion แล้วก็ต้องมีพระเจ้าแล้วก็จำกัดให้เป็นพระเจ้าอย่างคนเสียด้วย ทีนี้พุทธศาสนานี้ ไม่มีพระเจ้าอย่างคน พวกนั้นก็เลยหาว่า พุทธศาสนานี้ไม่ใช่ศาสนา เถียงกันให้เมื่อยปาก พุทธศาสนาเราก็มีสิ่งที่มีความหมาย เท่ากับพระเจ้า เดี๋ยวก็จะว่าให้ฟัง
เดี๋ยวนี้เราจะพูดกันแต่ว่าอะไรคือ ศาสนา ถ้ามันเป็นศาสนาที่ไม่มีพระเจ้า ก็พูดได้ว่า ศาสนา คือ วิธีปฏิบัติที่ประเสริฐที่สุด ที่จะทำมนุษย์ให้รอดไปจากความทุกข์ทั้งปวง แต่ถ้ามันเป็นศาสนาที่มีพระเจ้า เขาก็ให้คำนิยามจำกัดความนี้ว่า ศาสนา คือ สิ่งที่จะทำความผูกพันกันระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า พอไล่ไปไล่มา ถามว่า พระเจ้าอยู่ที่ไหนเป็นอย่างไร เขาก็มีอาณาจักรของพระเจ้าขึ้นมา คือ Kingdom of God พอถามว่า อาณาจักรของพระเจ้ามีความหมายอย่างไร ก็เลยไม่มีความทุกข์ เป็นเรื่องที่ไม่มีความทุกข์อย่างเดียวกันอีก นี่มันเป็นอย่างนี้ ดังนั้นสรุปความแล้วก็คือ ว่า ไอ้ที่มันทำให้คนไม่เป็นทุกข์นั่นแหละคือ ศาสนา เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน จะเรียกว่า มีพระเจ้าก็ได้ ไม่มีพระเจ้าก็ได้ มันแล้วแต่จะสะดวกในการสั่งสอน ถ้าเราสอนคนที่ไม่ฉลาด เราสอนให้มีพระเจ้าดีกว่า นี้อย่าหาว่าดูถูกใครกันเลย แต่ถ้าสอนคนที่ฉลาดแล้ว ไม่ต้องมีพระเจ้าก็ได้ พูดกันตรง ๆ เลยว่า ทำอย่างนี้สิความทุกข์มันไม่มี แต่ถ้า ว่าในถิ่นที่คนมันไม่ฉลาดหรือมันโบราณดึกดำบรรพ์มาแล้ว ในบางแห่งบางถิ่น ต้องพูดอย่างอื่น เลยพูดว่า ให้ทำตามพระเจ้า ทำเพื่อให้ถึงพระเจ้า ทำตามคำสั่งของพระเจ้า เพื่อให้เราไปให้ถึงองค์พระเจ้า หรือไปอยู่ในบ้านในเมืองของพระเจ้า พูดกันอย่างนี้ ทว่าที่จริงมันก็น่าฟังกว่า ถ้าพูดกับเด็ก ๆ แล้วเข้าใจง่ายที่สุด
ดังนั้นในศาสนาต่าง ๆ ในโลกนี้ ก็มีอยู่ ๒ อย่าง อย่างนี้ พูดอย่างมีพระเจ้าก็มี พูดอย่างไม่มีพระเจ้าก็มี แล้วการปฏิบัติมันก็เหมือน ๆ กันแหละ คือ ทำดีทั้งนั้นแหละ ทำเลวไม่ได้ เพราะว่าพระเจ้า ท่านก็ไม่ต้องการให้คนทำเลว แล้วทำดีนี้ก็มีความหมายเหมือน ๆ กันแหละ คือ อย่ามีความชั่ว อย่ามีกิเลส อย่ามีความเห็นแก่ตัว ดังนั้นศาสนานี้ก็คือ ระบบปฏิบัติเพื่อจะดับทุกข์
อ้าว, ทีนี้ก็จะพูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่า พระเจ้ากันสักหน่อย เพราะเชื่อว่าอย่างไรเสีย ก็จะต้องมีปัญหามาถึงพวกครู ครูทั้งหลายนี่ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง จะกระทบกันเข้ากับปัญหาว่า พระเจ้ามีหรือ ไม่มี พระเจ้าอยู่ที่ไหน พระเจ้าคืออะไร บางทีเขาก็ยังมาดึงเราให้ไปนับถือพระเจ้า บางทีเขาก็จะมาล้อเลียนเราว่าไม่มีพระเจ้า อะไรอย่างนี้เป็นต้น หรือว่าแม้ในการสอนนี่ บางทีเราก็อาจจะสอนว่ามีพระเจ้าไว้ก่อนก็ได้สำหรับลูกเด็กๆ เล็กๆ พระเจ้าในพุทธศาสนานี้ เขาสอนว่ามีก็ได้ แต่อย่างเพิ่ง อธิบายว่าอะไรมันผิดไปก็แล้วกัน อธิบายให้ถูกความหมายของคำว่า พระเจ้า
ทีนี้ความหมายของ พระเจ้านั้นมันมีอะไรบ้าง คอยจำไว้ให้ดี ตามที่เขาถือกันบัญญัติไว้ มีกล่าวอยู่ ในคัมภีร์ทั้งหลายนั้นแหละ พระเจ้า คือ สิ่งสูงสุดไม่มีอะไรสูงไปกว่า นี้เราก็มีสิ่งสูงสุด ในศาสนาพุทธ ก็มีสิ่งสูงสุด จะเป็นอะไรก็ไว้ค่อยพูดกันทีหลัง แต่ว่าสิ่งสูงสุดนั้นมีแน่ ทีนี้ที่เขายกขึ้นมาเป็นหลักสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือว่า โลกเราหรือสากลจักรวาล หรือสิ่งทั้งปวงนี้ต้องมีที่มา เรียกว่า ปฐมเหตุ ก็คือ คำว่า Source ที่มาหรือที่ออกมา ที่คลอดออกมา มันคืออะไร พวกที่มีพระเจ้าเขาก็ถือว่า พระเจ้านั่นแหละเป็นปฐมเหตุ เป็นต้นเหตุของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ให้สิ่งทั้งปวงออกมา ก็เลยพูดเสียใหม่ว่า พระเจ้า คือ ผู้สร้างโลก หรือสร้างสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงออกมาจากพระเจ้า
นี้ในพุทธศาสนาของเราก็มี ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ปฐมเหตุ หรือเป็นที่ออกมาแห่งสิ่งทั้งปวง นั้นน่ะ แม้เราจะไม่เรียกว่า พระเจ้า มันก็มี มันก็มีสิ่งที่มี มีสิ่งที่สูงสุด ที่เป็นที่ออกมาแห่งสิ่งทั้งปวงได้ เหมือนกัน เดี๋ยวก็จะได้พูดกันให้ชัด ทีนี้เขาถือว่า พระเจ้านี้เป็นผู้สร้างโลกแล้ว ก็เป็นผู้ควบคุมโลกด้วย บังคับโลกให้เป็นไปตามความต้องการของพระเจ้า บางยุคบางสมัยท่านก็ยุบมันเสีย บางยุค บางสมัยท่านก็สร้างมันขึ้นมาอีกมันเป็นอย่างนี้ เรียกว่า พระเจ้า นี้ในพุทธศาสนาเราก็มี มีสิ่งชนิดนั้นที่ทำให้โลกเกิดขึ้น ทำให้โลกเปลี่ยนไป ทำให้โลกดับลง ทำให้โลกเกิดขึ้นมาอีก อย่างนี้ก็มี ในพุทธศาสนานี้ก็มี สิ่งที่สามารถที่จะทำอย่างนั้นและมีหน้าที่ที่จะทำอย่างนั้น แต่เราไม่เรียกว่า พระเจ้า เราเรียกด้วยคำอื่น เพียงเท่านี้ก็พอแล้วสำหรับคำว่า พระเจ้า พระเจ้า คือ สิ่งที่เป็นปฐมเหตุ สร้างสิ่งทั้งหลายทั้งปวงขึ้นมา ควบคุมสิ่งทั้งหลายทั้งปวง บังคับบัญชาสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ที่มีความหมายเบ็ดเตล็ด เช่นว่า พระเจ้าจะอยู่ในที่ทุกแห่ง เราก็มี สิ่งที่มีอยู่ในที่ทุกแห่ง แต่เราไม่เรียก พระเจ้า พระเจ้านี้รู้สิ่งทั้งปวง เราก็มี สิ่งที่จะรู้สิ่งทั้งปวง แต่เราไม่เรียกว่า พระเจ้า
เอาล่ะ ที่นี้จะชี้ให้เห็นชัดว่า ถ้าพูดกันในแง่ว่า พระเจ้าคือสิ่งสูงสุด เรามีสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะเป็นสิ่งสูงสุด ได้แก่ ธรรมะที่เรียกว่า นิพพาน ธรรมะที่เรียกว่า นิพพานนี้เป็นสิ่งสูงสุดในทางมีค่า แต่ถ้าจะถามไปในทางว่า เป็นที่สร้าง เป็นผู้สร้างสิ่งทั้งปวง หรือเป็นที่ออกมาแห่งสิ่งทั้งปวงแล้ว เรามีพระเจ้าชื่อว่าอะไร เราบอกว่ามีสิ่งที่เรียกว่า กฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา ที่แปลกคงไม่เคยได้ยิน แต่ก็จดไว้ก่อนก็ได้ กฎแห่งอิทัปปัจจยตา คือ กฎที่ว่า เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น นี่จำคำ ความหมายมันดีกว่า เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้ จึงเกิดขึ้น กฎอย่างนี้เขาเรียกว่า กฎอิทัปปัจจยตา นี่มันทำให้สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นมา เรียกว่า พระเจ้าก็ได้ หรือเรียกว่า ธรรมะ ก็ได้ เรียกว่า กฎแห่งอิทัปปจัจยตา นั้นถูกกว่า ถูกที่สุด และเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย อำนาจหรือกฎเกณฑ์ที่ทำให้ เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ในโลกนี้มันเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น
ทีแรกโลกนี้ไม่มี มันก็มีเหตุปัจจัยที่ทำให้โลกนี้มี อย่างที่เราเรียนกันมาว่า โลกนี้แยกตัว ออกมาจากดวงอาทิตย์ก็ได้ หรือว่าโลกนี้มันรวมกลุ่มขึ้นมาจากหมอกเพลิงใน Nebula (นาทีที่ 33: 57)นั้นก็ได้ อย่างไรก็ได้ แต่ว่าก่อนนี้โลกนี้มันไม่มี แล้วมันมีเหตุปัจจัยตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่ทำให้โลกนี้กฎเกณฑ์อันนั้นเราเรียกว่า กฎแห่งอิทัปปัจจยตา นี่มันเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นพระเจ้าอย่างวิทยาศาสตร์ แน่นอนกว่า ชัดเจนกว่า เถียงไม่ได้ พระเจ้าสร้างโลก คือ กฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา
ที่นี้ถ้าพูดว่า พระเจ้าที่ควบคุมโลกหล่ะมีไหม ก็บอกว่ามี คือ กฎเกณฑ์แห่งกรรม การกระทำด้วยเจตนา เรียกว่า กรรม แล้วก็ต้องเป็นไปตามกรรม อย่างไม่มีทางเปลี่ยนแปลง แก้ไขอะไรได้ นี่กฎแห่งกรรมนี้ คือ พระเจ้าในแง่ของการควบคุมโลก ลงโทษคนทำผิด ให้รางวัลคนทำถูก
ทีนี้ว่า พระเจ้าที่จะยุบโลกเสียเป็นคราว ๆ หล่ะ มีไหมก็มี คือ กฎแห่งอิทัปปัจจยตา ที่ว่านั่นแหละ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่เกิดขึ้น หมายความว่า เมื่อไม่มีปัจจัยอย่างนี้ ๆ แล้ว สิ่งนี้ก็จะไม่มี คือ มันจะดับลงไป ในโลกนี้ทั้งใหญ่โตนี้ พอลองหมดเหตุปัจจัยที่จะตกแต่งมัน มันก็ดับลงไปเท่านั้นแหละ คือ พระเจ้าที่มันจะยุบโลกนี้ ก็คือ กฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา ซึ่งมีว่า เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ก็เกิดขึ้น เมื่อไม่มีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ก็ไม่เกิดขึ้น หรือว่า ที่เกิดอยู่เมื่อขาดปัจจัย มันก็จะสลายลงไปทันที อย่างนี้ นี่คือ พระเจ้าในพุทธศาสนา ที่เรียกว่า กฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา สร้างโลกก็ได้ ยุบโลกก็ได้ แล้วก็มีกฎเกณฑ์ที่ควบคุมโลก ที่เรียกว่า กฎเกณฑ์แห่งกรรม ก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา ด้วยเหมือนกัน นั่นน่ะมันออกจะเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน แต่ว่าไม่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจ
ทีนี้ถ้าว่าจะพูดถึงผล ที่น่ารักน่าพอใจ ที่พระเจ้าจะโปรดประทานให้ เป็นอาณาจักรของพระเจ้านั้น พวกโน้นเขาเรียกว่า เมืองพระเจ้า อาณาจักรของพระเจ้า เข้าไปอยู่แล้วเป็นบรมสุขนิรันดรในพุทธศาสนามีไหม ก็ว่ามี แต่เราเรียกว่า พระนิพพาน ในฐานะเป็นสิ่งสูงสุดของผลที่เป็นที่น่าปรารถนาของมนุษย์ทุกคน เราเรียกว่า นิพพาน มีพระพุทธภาษิตว่า “ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพาน ว่าเป็นสิ่งสูงสุด”
เพราะอะไรๆ ที่เขามีในศาสนาที่มีพระเจ้าอย่างบุคคล เราก็มี ในพุทธศาสนาที่ไม่ต้องมีพระเจ้าอย่างบุคคล จะมีพระเจ้าอย่างที่เรียกว่า ธรรม ต้องออกเสียงว่า ธรรม แต่ในบาลีออกเสียงว่า ธรรมะ ถึงเรามาออกเสียงธรรมะในภาษาไทย ความหมายมันเปลี่ยน ก็ต้องออกเสียงว่า ธรรม ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ธรรม นี้มีหลายความหมาย หลายแง่หลายมุม บางแง่เป็นพระเจ้า บางแง่เป็นสิ่งที่ถูกพระเจ้าสร้างขึ้นมา บางแง่เป็นเพียงกฎเกณฑ์ บางแง่เป็นการปฏิบัติ บางแง่เป็นผลของการปฏิบัติ
ทีนี้จะสรุปความให้เข้าใจง่าย ฟังให้ดี ว่า ไอ้สิ่งที่ เรียกว่า ธรรม หรือคำว่า ธรรม ธอ รอหัน มอ นี่มีอยู่ ๔ ความหมาย ความหมายที่หนึ่ง เรียกว่า สภาวธรรม ได้แก่ ตัวธรรมชาติทั้งหลาย เมื่อพูดว่าธรรมชาติ พวกคุณคงจะรู้ดีแล้วว่ามัน คือ สิ่งทั้งปวงที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ เป็นโลก เป็นแผ่นดิน เป็นต้นไม้ เป็นดวงอาทิตย์ เป็นดวงจันทร์ กระทั่งเป็นสัตว์ เป็นคน เป็นตัวเรา เป็นที่เรียกว่า Phenomena เต็มไปทั้งในจักรวาลนี้ ก็เรียกว่า ธรรมชาติ ธรรมชาติชนิดนี้เรียกว่า สภาวธรรม
ทีนี้ธรรมในความหมายที่สอง ก็คือ กฎของธรรมชาติ นี้เรียกว่า สัจธรรม สองคือ สัจธรรม ได้แก่ กฎของธรรมชาติ ขอทบทวนว่า อันที่หนึ่งคือ สภาวธรรม ได้แก่ ตัวธรรมชาติ อันที่สอง เรียกว่า สัจธรรม ได้แก่ ตัวกฎ กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
ทีนี้ธรรมในความหมายที่สาม เรียกว่า ปฏิปัตติธรรม(นาทีที่ 39: 43) นี้คือ หน้าที่ หน้าที่ที่มนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย จะต้องประพฤติกระทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มิฉะนั้นจะต้องตาย ไม่ยอมยกเว้นผ่อนผันอะไรเลย ถ้าไม่ทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แล้วจะต้องตาย ก็เรียกว่า ปฏิปัตติธรรม คือ หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติให้ถูกตามของกฎของธรรมชาติ
ทีนี้ธรรมในความหมายที่สี่ ก็เรียกว่า ปฏิเวธธรรม(นาทีที่ 40: 34) คือ ผลที่เราจะได้รับและรู้สึกอยู่ในจิตใจของเรา เป็นผลของการปฏิบัติดีก็ตาม เป็นผลของการปฏิบัติชั่วก็ตาม มันเป็นผลเกิดขึ้นแล้ว จะรู้สึกแก่จิตใจของเรา ส่วนที่เป็นผลนี้ ก็เรียกว่า ปฏิเวธธรรม คือ สิ่งที่เราจะได้รู้สึก ปฏิเวธะ(นาทีที่ 41: 06) แปลว่า รู้สึก ก็นับดูสิ หนึ่ง คือ ตัวธรรมชาติ สอง คือ ตัวกฎของธรรมชาติ สาม คือ หน้าที่ตามธรรมชาติ สี่ คือ ผลที่จะได้รับตามสมควรแก่หน้าที่นั้น ๆ ๔ อย่างนี้ เรียกว่า ธรรม เสมอกันหมด จะไปแจกให้มันต่างกันตามความหมาย ว่า สภาวธรรมบ้าง สัจธรรมบ้าง ปฏิปัตติธรรมบ้าง ปฏิเวธธรรมบ้าง แล้วแต่จะให้มุ่งหมายถึงส่วนไหน
ทีนี้เขาเกิดถามขึ้นมาว่า ในธรรม ๔ ความหมายนี้ ความหมายไหนเป็นพระเจ้า ลองคิดดูพลางก็ได้ เราต้องบอกว่าไอ้สัจธรรม นั่นแหละ คือ กฎของธรรมชาติ นั่นแหละมัน คือ พระเจ้า ใครไปเถียงมันได้หล่ะ ใครไปสู้มันได้หล่ะ ใครไปเทียมมันได้ มันสูงสุด และมันเป็นที่ออกมาแห่งสิ่งทั้งปวง มันควบคุมสิ่งทั้งปวง มันมีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ไม่มีที่หลบหลีกจากกฎของธรรมชาติ จะอยู่บนฟ้าหรืออยู่ใต้ดิน หรือไปซ่อนในซอกเหวที่ไหน มันก็ไม่พ้นจากอำนาจของ กฎธรรมชาติ นั่นน่ะจึงเขาพูดว่า ไม่มีใครรอดสายตาของพระเจ้าไปได้ ไอ้กฎของธรรมชาตินี่ คือ พระเจ้า สภาวธรรม คือ ธรรมชาติทั้งหลายนั้นก็ คือ สิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา ออกมาจากพระเจ้า ทีนี้หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัตินั่นแหละ คือ บทบัญญัติของพระเจ้า คำสั่งของพระเจ้า โองการของพระเจ้า ว่าต้องปฏิบัติอย่างนั้น ๆ คือ การปฏิบัติที่ทำตามโองการของพระเจ้า ทีนี้ถ้าทำก็ได้ผลไปอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ทำก็ได้ผลไปอีกอย่างหนึ่ง นี่คือ รางวัลที่พระเจ้าเขาให้ ถ้าทำดีก็ให้สิ่งที่น่ารัก น่าพอใจ ทำไม่ดีฝืนโองการพระเจ้าก็ให้สิ่งที่น่าเกลียดน่าชัง เป็นทุกข์ทรมาน
ให้รู้จักคำว่าธรรมใน ๔ ความหมาย จะรู้ได้ทันทีว่า อ้าว,นี่ คือ ตัวศาสนา หรือ ระบบของศาสนา หรือคำว่า ธรรม พุทธศาสนาเขาสอนเรื่องธรรมชาติว่าเป็นอย่างไร มีรูปมีนาม มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีความเปลี่ยนแปลงอะไร ไปตามเรื่องของธรรมชาติ แล้วมีกฎของธรรมชาติ ว่าต้องเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีเหตุปัจจัยอย่างไร ก็จะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย อย่างนั้น นี่มันเป็นกฎของธรรมชาติ แล้วเราก็ปฏิบัติธรรม ธรรมที่เป็นการปฏิบัติ เป็นตัวแท้ของสิ่งที่เรียกว่า พุทธศาสนา ในเมื่อปฏิบัติแล้วมันก็ได้ผลแน่นอน พูดมาตั้งมากมายนี่ มันก็ยังเหลือเพียง ๔ คำ
ถ้าพูดอย่างวิทยาศาสตร์นะ ก็พูดว่า ธรรมชาติอย่างหนึ่ง กฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง หน้าที่ ตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง ผลที่จะได้รับจากหน้าที่นั้นอย่างหนึ่ง นี่เรียกว่า พูดภาษาวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าพูดภาษาพุทธศาสนา ภาษาบาลี ก็ว่า เรียกว่า สภาวธรรมอย่างหนึ่ง สัจธรรมอย่างหนึ่ง ปฏิปัตติธรรมอย่างหนึ่ง ปฏิเวธธรรมอย่างหนึ่ง มันก็เหมือนกันนั่นแหละ นี่ถ้าเขาพูดอย่างพวกมี พระเจ้า เขาบอกว่ามีสิ่งที่พระเจ้าสร้าง คือ สิ่งทั้งปวง ก็มีตัวพระเจ้าด้วย แล้วก็มีหน้าที่ที่คนจะต้องปฏิบัติตามพระเจ้าด้วย แล้วก็จะได้รับผลคือ บ้านของพระเจ้า บ้านเมืองของพระเจ้า เขาใช้คำว่า Kingdom of God หรืออาณาจักรของพระเจ้านั่นน่ะ จะให้รางวัลนั่น นี่ลองคิดดูเถอะ ถ้าเราดูข้างนอกแล้วมันต่างกัน แต่ถ้าดูความหมายข้างในแล้ว มันเรื่องเดียวกัน มันเป็นแต่ว่ามันมีอุบายวิธีที่จะสอนต่าง ๆ กัน เพราะฉะนั้น พวกที่เป็นครูนี้อย่าได้มีความเขลา ไปเที่ยวดูถูกศาสนาอื่นเลย ปล่อยให้คนที่มันโง่ มันไม่รู้อะไรนั่นมันไปเที่ยวดูถูกศาสนาอื่น มันก็ช่วยไม่ได้ เพราะว่า ไอ้คนในศาสนาอื่นบางคน คนมันก็พูดผิด ๆ ไอ้คนนี้มันก็ไม่รู้ แม้แต่ศาสนาของมันเอง มันก็ต้องด่ากันในระหว่างศาสนาอย่างนั้นอย่างนี้ นี่เราเป็นครูทั้งที จะเป็นผู้นำในทางวิญญาณทั้งที อย่างให้มันเกิดอาการอย่างนี้ สรุปสั้น ๆ ว่าอย่าไปดูถูกดูหมิ่นศาสนาอื่น ถ้ามีการอธิบายที่ถูกต้อง มีการปฏิบัติที่ถูกต้องตามศาสนานั้น ๆ แล้ว มันก็จะเหมือนกัน แม้มันจะต่างระดับกัน มันก็มีความหมายอย่างเดียวกัน
นี่จะขอให้สังเกตดูต่อไปอีก ว่าทีแรกในโลกนี้มันไม่มีศาสนานะ ตั้งต้นมีสัตว์ มีชีวิตขึ้นมาในโลก คนก็ยังไม่มีนะ แล้วต่อมามันจึงมีคน มันก็ยังไม่มีศาสนา แล้วต่อมาไอ้คนนี่มันลำบาก ยุ่งยาก มากเข้า เพราะคนมันมากขึ้น มันจึงมีระเบียบที่เรียกว่า ศีลธรรมหรือกฎหมาย หรือวินัยอะไรต่าง ๆ นี้มันมี ศีลธรรม มีกฎหมายแล้วมันก็ยังไม่พอ มันดับทุกข์ได้แต่บางอย่างที่เป็นภายนอก มันดับทุกข์ในภายในไม่ได้ มันก็ต้องค้น ค้น ค้นเข้าไปจนพบ ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ศาสนา สำหรับเป็นเครื่องดับทุกข์ข้างใน มันจึงสูงกว่ากฎหมาย สูงกว่าศีลธรรม สูงกว่าอะไรอย่างนั้น
นี่ลองคิดดูตามหลักของธรรมชาติที่ว่า เมื่อมันมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างนี้ แม้ใครจะไปคิดค้น ที่ไหนก็ตาม ถ้ามันแก้ปัญหานี้ได้ มันจะต้องเหมือนกัน นั้นในความทุกข์นี้ มันเกิดมาจากความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือว่าทั้งหมดนั้นมันมาจากความเห็นแก่ตัว เราก็กำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือกำจัดความเห็นแก่ตัว ทุกศาสนาต้องการอย่างนี้ แต่ถ้าไปพูดอย่างนี้ตรง ๆ อย่างนี้ ในที่บางแห่งมันฟังไม่ถูก เพราะคนมันไม่ฉลาดพอ นี่เราไม่ใช่จะดูถูกพวกอื่น แต่เราอยากจะเปรียบเทียบว่าพุทธศาสนา เกิดขึ้นในประเทศอินเดียที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยการทำมาหากิน การเป็นอยู่ แล้วคนมันฉลาดมานมนานนักแล้ว มันก็พูดอย่างตรงไปตรงมาอย่างพุทธศาสนานี้ก็ได้ เมื่อมันโง่ไปมีความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วก็ต้องเป็นทุกข์ ก็อย่าโง่ อย่าได้มี ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเห็นแก่ตัว นี้มันก็ฟังถูก แต่ถ้าไปพูดในถิ่นที่คนมันลำบาก แม้แต่จะกินก็ไม่ค่อยจะมี ธรรมชาติก็ดุร้าย การศึกษาก็ไม่มี ก็ต้องพูดอย่างอื่น เช่น พูดว่ามีพระเจ้า แกต้องทำอย่างนี้ ถ้าแกไม่ทำอย่างนี้ พระเจ้าจะเอาตายเลย แล้วเมื่อถามว่าพระเจ้า ให้ทำอย่างไร ก็คือ อย่าเห็นแก่ตัว อย่าเบียดเบียนผู้อื่น อย่ามีความชั่ว ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลงนั่นแหละ เราต้องทำผ่านทางพระเจ้า ให้พระเจ้าบังคับให้ทำ ในที่บางถิ่นไม่ต้องพูดอย่างนั้น บางแห่งไม่ต้องพูดอย่างนั้น หรือบางยุคบางสมัย ไม่ต้องพูดอย่างนั้น พูดเป็นวิทยาศาสตร์ง่ายๆ ตาเห็นรูป เกิดการเห็นทางตา ถ้าความโง่เข้ามามันก็ไปรักสิ่งที่ยั่วให้รัก มันก็ไปโกรธสิ่งที่ยั่วให้โกรธ หรือมันไปโง่ในสิ่งที่มายั่วให้โง่ มันเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงขึ้นมาอย่างนี้ พูดอย่างนี้ก็พอ ไม่ต้องมีบุคคลที่เป็นพระเจ้ามาคอยขู่เรา เรารู้จักกลัวกิเลส รู้จักกลัวความทุกข์ด้วยตนเองนี่
ข้างนอกพูดแปลกๆ ต่างๆ กัน แต่ข้างในเหมือนกัน คือ ว่าอย่าเห็นแก่ ตัวเอง อย่ามีความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้รักใคร่กัน เหมือนกับว่าทั้งโลกนี้เป็นคนๆ เดียว กัน เขาไปไกลถึงอย่างนั้น เพราะเขาพูดว่า ทุกคนมนุษย์ทุกคนมาจากพระเจ้า หรือว่ามาจาก มนุษย์คู่แรกคู่เดียวที่พระเจ้าสร้างขึ้น นี่เขาพูดอย่างนี้ มันก็เลยเป็นคนเดียวกันทั้งโลก คือ เป็นญาติ ตระกูลเดียวกันทั้งโลก ก็ดีเหมือนกัน ก็เป็นอันว่าในโลกสากลโลกเรานี้ มันมีวิธีสอนไว้ครบทุกแบบ สำหรับคนโง่ สำหรับคนฉลาด สำหรับคนโง่ๆ ฉลาดๆ ครึ่งๆ กลางๆ มันมีทุกแบบ แล้วสอนเด็ก สอนผู้ใหญ่ สอนคนแก่ มันมีทุกแบบนั้นดีแล้ว ทีนี้มันมีสอนไว้ทุกแบบในโลกนี้ แต่แล้วในเนื้อแท้ข้างในส่วนลึกมันก็คือ ไม่ทำความชั่วนั่นแหละ เมื่อไม่เห็นแก่ตัวแล้วก็ไม่ทำความชั่ว เมื่อเห็นแก่ตัวแล้วก็ต้องทำความชั่ว
อ้าว,ทีนี้จะตั้งปัญหาว่า พระเจ้าอยู่ที่ไหน สำหรับคนโง่ก็บอกว่า พระเจ้าก็อยู่ที่อาณาจักรของพระเจ้าบนสวรรค์โน่น แต่แล้ววันก่อนได้บอกว่าอะไร วันก่อนได้บอกแล้วว่า พระพุทธเจ้าได้ ตรัสว่า นรกอยู่ที่ไหน สวรรค์อยู่ที่ไหน ใครยังจำได้ คือ อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา นั่นอย่าลืมเสียสิ นี่มันเป็นหลักอย่างนี้ ว่าไอ้นรกก็ดี สวรรค์ก็ดี มันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เกี่ยวข้องไปถึงใจของเรา ดังนั้นเมืองพระเจ้าเมืองสวรรค์มันก็อยู่ในเรา กิเลสเป็นนรกก็อยู่ในเรา ความดีเป็นสวรรค์ก็อยู่ในเรา สิ่งสูงสุดคือ นิพพานก็อยู่ในเรา
ที่นี้ถ้าพูดให้เป็นวิทยาศาสตร์หน่อยก็ว่า ไอ้ตัวธรรมชาติอยู่ที่ไหน ก็อยู่ในเราสิ ร่างกาย เนื้อหนัง จิตใจนี้มันเป็นธรรมชาติ เป็นสภาวธรรม ทีนี้กฎของธรรมชาติอยู่ที่ไหน มันก็อยู่ในเรา ในเนื้อหนังของเรา ทั้งเนื้อทั้งตัวนี่มันมีกฎเกณฑ์ว่าอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น ตามกฎของธรรมชาติ ไปหยิกก็ยังเจ็บ เอาไฟไปจี้ก็มันไหม้ไปเลย มันไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มันมีกฎของธรรมชาติอยู่ ก็เรียกว่า ในกายเรานี้ก็มีกฎของธรรมชาติ
นี้การปฏิบัติที่ถูกต้องก็อยู่ที่ กาย วาจา ใจของเรา แล้วผลที่ได้รับเป็นสุขเป็นทุกข์ ก็อยู่ที่ร่างกายของเรา ดังนั้นธรรมะมันมีอยู่ในเรา ธรรมะในแขนงหนึ่งมันเป็นพระเจ้า เพราะฉะนั้น พระเจ้าอยู่ในเรา ใครไปหาที่อื่นเป็นคนโง่ นี่มันโง่ร้อยเท่าพันเท่า ดังนั้นจงให้ร่างกายของเรานี้เป็นวิหาร ของพระเจ้า อย่าเอาเป็นของกู อย่าเอาไปใช้เป็นสื่อหาความสนุกสนาน เอร็ดอร่อยทางเนื้อหนัง มันจะสกปรก ต้องประพฤติความดี ให้ถูกต้องไว้เสมอ ให้เหมือนกับร่างกายนี้มันเป็นวิหาร เป็นโบสถ์ เป็นวิหารของพระเจ้า ถืออย่างนี้ปลอดภัยที่สุด คือ อย่าทำให้ความผิดมันเกิดมีขึ้นในร่างกายนี้ เพราะว่าร่างกายนี้มันเป็นวิหารของพระเจ้า นี่พวกคริสเตียนเขาก็พูดอย่างนี้ นั้นอย่าดูถูกดูหมิ่นร่างกาย อย่าละเลย อย่าทอดทิ้ง อย่าดู อย่าปล่อยให้ไปตามบุญตามกรรม แต่ต้องทำให้ดีที่สุด ให้สะอาดที่สุด ให้บริสุทธิ์ที่สุด แล้วมันก็จะกลายเป็นอาณาจักรของพระเจ้าขึ้นที่ร่างกายนี้ แล้วเราก็ได้อยู่ในอาณาจักรของพระเจ้า
ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่า มรรค ผล นิพพาน มันก็อยู่ในร่างกายนี้ โลกทั้งหมดอยู่ในร่างกายนี้ เหตุเกิดโลกทั้งหมดอยู่ในร่างกายนี้ ความดับสนิทของโลกก็อยู่ในร่างกายนี้ ทางให้ถึงความดับของโลกก็อยู่ในร่างกายนี้ นั้นหมายถึง ทุกอย่างทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งมรรค ผล นิพพาน นั้นมันอยู่ในร่างกายนี้ จึงแล้วแต่ว่าเราจะจัดร่างกายนี้ให้เป็นอย่างไร หรือเป็นอะไร ถ้าเราจัดดีก็เป็นวิหารของพระเจ้า คือ เป็นอาณาจักรของพระเจ้า หรือจะเรียกว่า เป็นสวรรค์ เป็นมรรค ผล นิพพาน อยู่ที่ร่างกายนี้ มันอยู่อย่างนี้โดยที่ไม่ต้องไปหาที่อื่น ไม่ต้องไปห่วงที่ใต้ดิน ไม่ต้องเป็นห่วงที่บนฟ้า เพราะว่านรก สวรรค์ มรรค ผล นิพพานมันอยู่ในร่างกายนี้ โดยทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างที่ว่ามาแล้ววันก่อนนั่นเอง
ทีนี้เราได้พูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ศาสนาชนิดที่มีพระเจ้าบ้าง ไม่มีพระเจ้าบ้าง ในที่สุดก็มันเป็นสิ่งที่มีพระเจ้าด้วยกันทั้งนั้น แต่คนละลักษณะหรือความหมาย นี่เราเรียกว่า รู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่า ศาสนาโดยทั่วไป เดี๋ยวนี้จะเขยิบเข้ามาให้แคบ คือว่า อะไรเป็นหัวใจของศาสนา แล้วโดยเฉพาะของพุทธศาสนา ถ้าถามถึงพุทธศาสนา ยกขึ้นมาพูดก่อนว่า อะไรเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ก็ตอบได้คำเดียวสั้น ๆ ที่ไม่ค่อยมีใครจะเชื่อว่า ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ความไม่ยึดมั่นถือมั่น คำเดียวเท่านี้ มันเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ทีนี้มันลำบาก ตรงที่จะเข้าใจคำว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่น นี่ภาษาไทยมันก็กำกวมและสับสน แต่ถ้าภาษาบาลีเขาไม่สับสน เขาก็พูดว่า ยึดมั่นถือมั่น เขาเรียกว่า อุปาทาน แล้วก็ต้องมาจากความโง่ทั้งนั้น มาจากอวิชชาทั้งนั้น ถ้ายึดมั่นด้วยความฉลาด หรือความดี นี้เขาไม่เรียกว่า ความยึดมั่น แต่ในภาษาไทยเราเรียก ในภาษาไทยก็ต้องทำยุ่ง ยึดมั่นถือมั่นชั่วก็ได้ ยึดมั่นถือมั่นดีก็ได้ นั่นเป็นเสียอย่างนั้น
แต่ในภาษาธรรมะแล้วก็ ยึดมั่นถือมั่น นี้ต้องทำด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา ด้วยอุปาทาน ด้วยกิเลสตัณหาทั้งนั้น ที่นี้อย่ายึดมั่นถือมั่น นี่หมายความว่าอะไร อย่าไปมั่นหมายสิ่งใดๆ ว่าเป็นตัวกู ว่าเป็นของกู ถ้าพูดอย่างนักวิทยาศาสตร์ก็พูดว่า สิ่งทั้งหลายมันเป็นของธรรมชาติ ถ้าใครไปยึดมั่นว่าของกู ตัวกู มันก็เป็นคนขี้ฉ้อ หรือเป็นโจรปล้นธรรมชาติซึ่งหน้า แล้วธรรมชาติมันก็จะกัดเอา ถ้าพูดอย่างธรรมะในพุทธศาสนาก็ว่าอย่างเดียวกันว่า สิ่งทั้งปวงเป็นของธรรมชาติ เป็นของเราไม่ได้ พอไปยึดว่าของเราก็เป็นคนโง่ เป็นคนทำผิดแล้วมันก็ต้องได้รับความทุกข์ ถ้าพูดอย่างศาสนาอื่นที่มีพระเจ้าก็ต้องถือว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น มันเป็นของพระเจ้า พอเราไปยื้อแย่งเอามาว่าเป็นเรา เป็นของเรา พระเจ้าก็ลงโทษมันก็มีความทุกข์
นั้นอย่าได้ไปโง่เข้าใจไปว่า สิ่งนั้น สิ่งนี้ สิ่งโน้น เป็นตัวเรา เป็นของเรา นั้นมันเป็นเพียงสมมติ ขนบธรรมเนียม ประเพณีเขาสมมติให้ว่า นี้บ้านของเรา นี้อะไรของเราหรือว่า กฎหมายก็ออกมาตามสมมติ ตามบัญญัติว่านั้นเป็นของคนนั้น นี้เป็นของคนนี้ แต่มันตากฎหมายเท่านั้นแหละ แต่ถ้าตามธรรมชาติแท้จริงแล้ว มันของธรรมชาติ หรือของธรรม หรือของพระธรรม หรือของพระเจ้า ไอ้เรื่องกฎหมายบ้านเมือง ขนบธรรมเนียม ประเพณีก็ไปตามเรื่องกฎหมาย ก็ทำกันไปตามเรื่องของกฎหมาย แต่ถ้าในทางจิตใจล้วนๆ แล้วอย่าได้ทำอย่างนั้นเลย มันจะต้องร้องไห้แน่ แต่เมื่อมันไปตามธรรมชาติธรรมดาตามเหตุตามปัจจัยของมัน มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น อย่าไปร้องไห้กับมัน โดยที่เราไม่ยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา
ดังนั้นหัวใจของพุทธศาสนา คือ อุบายที่จะทำให้ไม่เป็นทุกข์ ไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องบ้าๆ บอๆ เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ นั่นคือ หัวใจของพุทธศาสนา ว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น มันมีความหมายอย่างนี้ นี้เราจะทำอย่างไรกับสิ่งนี้ จะทำอย่างไรกับความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี่ ก็คือ เราจะปฏิบัติศาสนากันแล้ว เราก็ต้องเรียน เรียนเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วเราต้องปฏิบัติในความไม่ยึด มั่นถือมั่น แล้วในที่สุดเราก็จะต้องได้รับผลของการปฏิบัติ คือ เราไม่เป็นคนยึดมั่นถือมั่น แล้วเราก็สบาย มันเป็นอย่างนี้ ถ้าเรายังยึดมั่นถือมั่นอยู่ก็ต้องมีความทุกข์ นั้นเราจะทำอะไรก็ทำไป โดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่อย่างที่ว่ามาแล้ว แม้จะตั้งใจจริง แม้จะเอาจริง จะเรียนจริง จะทำจริงก็ไม่ต้องทำด้วยความยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่ เราทำด้วยสติปัญญาดีกว่า นั้นจึงพูดไว้เสียเลยว่า อย่าทำด้วยความยึดมั่นถือมั่นเลย มันจะผิด หรือว่ามันจะหนัก หรือว่ามันจะลำบาก ทำด้วยสติปัญญาที่ถูกต้อง ที่พอดี ไม่มากไม่น้อย ไม่ขาดไม่เกิน นั้นน่ะดีกว่า
ดังนั้นจึงต้องศึกษาว่าอะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร ให้เข้าใจถูกต้อง ให้พอดี นี่เรียกว่า อยู่ มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ด้วยสติปัญญา ด้วยสัมมาทิฐิ นั่นแหละเป็นหลักของพุทธศาสนา ในแง่นี้ โดยเฉพาะแล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ให้สมาทานสัมมาทิฐิ คือ ถือเอาให้ดีๆ อย่าถืออย่างยึดมั่นถือมั่น ถือไว้อย่างดีๆ ซึ่งสัมมาทิฐิ คือ ความรู้ ความเห็น ความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าอะไรเป็นอะไร
แล้วมันก็ไม่มีอะไรที่ถูกต้อง ยิ่งไปกว่าที่พูดมาแล้ว ว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ เรื่องกฎ ธรรมชาติ เรื่องหน้าที่ตามธรรมชาติ ต้องปฏิบัติแล้วก็จะได้รับผลตามหน้าที่ นี้ที่เรียกว่า ความเข้าใจที่มันถูกต้อง และถ้ามันเป็นไปตามนี้ นั้นเรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่าอยู่ด้วยความเข้าใจที่มันผิด มันจะต้องร้องไห้ หรือมันจะต้องมีอาการอย่างอื่น ซึ่งไม่น่าปรารถนาทั้งนั้นแหละ อย่างนั้นเขาเรียกว่า มิจฉาทิฐิ คือ ความรู้ ความเห็น ความเข้าใจ ที่มันผิดทั้งนั้น แล้วมันก็ทำไปผิดทั้งนั้น แล้วก็ดูง่ายๆ ที่คนอันธพาล คนอันธพาลที่ได้รับทุกข์อยู่ เดือดร้อนอยู่ กระทั่งถูกฆ่า ถูกทำลายไปนี้ นั้นเพราะอำนาจของมิจฉาทิฐิ อยากรู้จักมิจฉาทิฐิ ก็ไปดูที่ความคิด ความเห็น การกระทำของคนเหล่านั้น
นี้เราดูสัมมาทิฐิ ที่บุคคลที่เป็นสัตบุรุษ เป็นคนดี ประพฤติดี ประพฤติชอบ มีความเชื่อถูกต้อง คือ ในลักษณะที่ไม่เกิดความทุกข์ได้ แล้วก็ปฏิบัติถูกต้อง ไม่เกิดความทุกข์ได้ เป็นอันว่าเราจะต้องยอมรับว่าไอ้การปฏิบัติที่ถูกต้องนั่นแหละเป็นตัวศาสนาของทุกศาสนาเลย มีหัวใจสรุปสั้นๆ เป็นความไม่ยึดมั่นถือมั่น มนุษย์ค้นพบข้อนี้ในฐานะที่เป็นมนุษย์ อย่าพูดเป็นพระพุทธเจ้า หรือพระเยซู หรือพระโมฮัมหมัด อะไรดีกว่า อย่าพูดดีกว่า แต่พูดว่ามนุษย์ คือ มันมีโลกใหญ่ๆ นี้แล้ว แล้วมันก็มีคน แล้วคนนั่นในนามของคน ในนามของมนุษยชาตินี้ มันค้นพบไอ้สิ่งที่เรียกว่า ศาสนา มีใจความตรงกันหมด คือ อย่าเห็นแก่ตัว อย่ายึดมั่น ถือมั่น ตัวกูของกูนี้ตรงกันหมด แต่แล้วมันก็ค่อยแตกแยกกัน โดยวิธีพูดด้วยคำสอน ที่สอนนั่น ตามยุค ตามสมัย ตามถิ่น ตามประเทศ นี้ทีหนึ่งแล้ว มันเกิดศาสนานั่น ศาสนานี่ ขึ้นมาแล้ว อ้าว, ทีนี้พอเกิดเป็นศาสนาหนึ่งๆ ขึ้นมาแล้ว สาวกในศาสนานั้นเอง มันทำดีอย่างเลว คือ มันไปอธิบายเอาเองผิดๆ ถูกๆ เกิดเป็นนิกายนั้น นิกายนี้ พวกนั้น พวกนี้ ในศาสนาเดียวก็มีหลายสาขา หลายนิกาย แล้วก็ทะเลาะกัน
ศาสนาที่แท้จริงมีศาสนาเดียว ถูกทำให้เป็นหลายศาสนา และในหนึ่งศาสนา ก็ยังมีถูกแยกให้เป็นหลายแขนง แล้วมันก็ได้ทะเลาะกัน อย่าไปเอาในส่วนนี้ป่วยกาล เอาหัวใจของศาสนาดีกว่า อย่าเห็นแก่ตัว อย่ามีชีวิตอยู่ด้วยความเห็นผิด เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดมั่นนั่นนี่ ว่าเป็นตัวกูของกู จนได้นามว่า เป็นโจรปล้นธรรมชาติบ้าง เป็นโจรปล้นพระธรรมบ้าง เป็นโจรปล้นพระเจ้าบ้าง นั่นมันไม่ไหวแล้ว มันเป็นจอมอันธพาล จนไม่มีคำจะเรียกแล้ว
เป็นอันว่าเราได้รู้จัก สิ่งที่เรียกว่า ศาสนา และหัวใจของศาสนาพอสมควรแล้ว ทีนี้เราจะดูกันที่ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วซึ่งมันจะต้องเกี่ยวกับตัวเราด้วยคอยระวังให้ดี ว่าคนสมัยนี้ถือศาสนาของกิเลส คนสมัยนี้ถือศาสนาของกิเลส ไม่ถือศาสนาของพระเจ้า หรือของพระพุทธเจ้า ทีนี้ต้องดูข้อเท็จจริงกัน คนมันมีกิเลสมันก็ต้องการตามอำนาจของกิเลส หวังจะได้อะไรตามใจของกิเลสก่อน มันจึงไปหาศาสนา มันก็เลยไปคว้าเอาศาสนาที่ได้ตามต้องการของกิเลสมา คนจึงได้ทำชั่ว ได้ขโมยบ้าง ได้อะไรบ้าง ทำไมจึงเป็นคนขโมย เพราะไปเข้าใจว่า ขโมยนั้นมันก็ง่ายๆ ไปหยิบเอามาก็แล้วกัน ไม่ต้องทำอะไร นี่กิเลสมันบอกอย่างนั้น ไอ้คนก็ถือศาสนากิเลส แล้วก็ต้องไปฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ทำกาเมสุมิฉาจาร (นาทีที่ 1:09: 54) ต้องพูดเท็จ ต้องทำตัวให้โง่ด้วยน้ำเมา เป็นต้น นี่คือการถือศาสนาของกิเลส คนสมัยนี้โดยมากถือศาสนาของกิเลส ไม่ถือศาสนาของพระเจ้า หรือของพระธรรม ไม่ถือกฎวิทยาศาสตร์ ของวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็มีอยู่ว่า ถ้าไปทำอย่างนั้นก็แล้วผลมันจะเกิดขึ้นมาอย่างนี้ แล้วมันก็จริงอย่างนั้นด้วย คนก็ยังไม่เชื่อ ยังไปลัก ยังไปขโมย ยังไปทำอะไรต่างๆ ที่มันจะต้องเกิดความทุกข์ นี่เพราะว่าถือศาสนาของกิเลส โดยไม่กลัวความทุกข์ ไม่รู้จักความทุกข์ อย่างนี้เขาเรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว มันน่าหัว คนเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นกงจักรแต่เข้าใจว่าดอกบัว ระวังให้ดี คนที่เป็นครูจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าเห็นกงจักรเป็นดอกบัวแล้วหมดเลย หมดความเป็นครูเลย อย่าไปถือศาสนาของกิเลสเข้า โดยไม่รู้สึกตัว ถือศาสนากิเลสแล้วก็ไม่ได้ศาสนาที่แท้จริง นี้คนมันอยู่ไม่ได้ มันมีกิเลส มันหวังไปตามกิเลส มันก็ไปคว้าเอาไอ้เหยื่อของกิเลสนั้นแหละ เป็นจุดมุ่งหมายก็ทำตามอำนาจกิเลส มันได้ศาสนาของกิเลสมา
ศาสนาของกิเลสนี้มันมีชื่อต่างๆ กัน ศาสนาของกิเลสมีชื่อต่างๆ กัน อย่างแรกจะ เรียกว่า ศาสนาเงิน คุณถือศาสนาเงินหรือเปล่า อย่าเพิ่งโกรธ ใครบ้างที่ไม่ได้ถือศาสนาเงิน ไม่เห็นเงินเป็นพระเจ้า มันมีกี่คน นี่คนโดยมากโดยแท้จริง มันถือศาสนาเงิน เดี๋ยวนี้เรามีคำใหม่ๆ เรียกว่า ศาสนาฮิตาชิ ออกชื่อนี้คงฟังไม่ถูก คือมันมีเรื่องจริง ว่าเพื่อนของเราคนหนึ่ง มันคบกันกับญี่ปุ่น พอสนิทกันดีแล้ว มันกล่าวว่า คุณถือศาสนาอะไร ญี่ปุ่นคนนั้นตอบว่า ผมถือศาสนาฮิตาชิ คือ เรื่องอื่นไม่สนใจหมด สนใจแต่เรื่องของบริษัทฮิตาชิ เป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทฮิตาชิ ได้เงินเดือนสูง ถ้าบริษัทฮิตาชิไม่เลี้ยงเขา แล้วเขาแย่เลย เขาตายเลย นั้นก็เรียก เขาถือศาสนาฮิตาชินี่ ก็คือ ศาสนาเงินนั้นแหละ แต่มันใช้ชื่อพิเศษออกไป ตามที่ว่าไอ้เงินของเขามันขึ้นอยู่กับใคร แล้วพวกเรากำลังถือศาสนาเงินในแบบนี้กันหรือเปล่า ระวังให้ดีๆ เรียกว่า ศาสนาเงิน นี่ขออภัยพูดคำที่มันโสกกระโดกว่าบางคนก็ถือ ศาสนารัก คนหนุ่มก็มี คนสาวก็มี บูชาศาสนารักนี่ระวังให้ดี มันจะตกนรก เพราะคำว่า รัก นี่มันใกล้กับ คำว่า นรก คือ มันทำผิดด้วยอำนาจอวิชชา กิเลสแล้วไอ้ความรักนั้นน่ะ จะนำไปใส่นรก นั้นศาสนารัก นี้ถือยาก อย่าไปเล่นกับมัน แต่คนก็ชอบแล้วก็บูชากันด้วย
นี้ก็มีศาสนาอื่นอีกแยะ ที่เป็นศาสนากิเลสนี่ อย่างสมัยนี้ดูเหมือนจะถือกันว่า ฆ่ามันซะ ให้หมดคราวละหมื่นละแสน บางทีจะดี จะเป็นเกียรติยศ เป็นความดี ก็เลยรบราฆ่าฟันกัน เอาเครื่องไม้เครื่องมือที่วิเศษ มาฆ่ากันทีละร้อย ทีละพัน ทีละหมื่นละแสน ลองเอาไอ้ลูกระเบิดที่คิดขึ้นได้ใหม่ๆ เนี่ย มาใส่กันทีเดียว มันก็ตายตั้งแสนๆ หรือตั้งล้านก็ได้ นี่มันถือศาสนาเห็นแก่ตัว อย่างนี้เราเรียกว่า ศาสนากิเลส กำลังเจริญลุกลามแพร่หลายในโลก แล้วศาสนาที่แท้จริงมันก็ถอยไปเท่านั้นแหละ เพราะมันแล้วแต่มนุษย์ มนุษย์จะถือศาสนาอะไร แล้วในโลกมันก็มีศาสนานั้น ระวังศาสนากิเลส
เราควรจะมีศาสนาที่แท้จริง ที่จะเรียกว่า ศาสนาธรรมะนี่ พวกอื่นเขาจะถือศาสนากิเลสกันก็ตามใจ แต่เราก็ถือศาสนาธรรมะ แล้วมันก็หวังได้แน่นอนว่า ไอ้ศาสนาธรรมะนี้ มันจะกำจัดศาสนากิเลส ดังนั้นเรามาจงรักภักดีต่อศาสนาธรรมะกันก็แล้วกัน แล้วมันก็จะฆ่าหรือทำลายศาสนากิเลสนั้น ให้หมดไปจากจิตใจของเราได้ ถ้าหากว่าเราเคยถือศาสนากิเลส หรือว่าถือศาสนากิเลสในบางครั้งบางคราว เราก็รีบถือศาสนาธรรมะ มันจะช่วยฆ่าหรือกำจัดศาสนากิเลสออกไป แต่เดี๋ยวนี้มันก็ทำยาก ในเมื่อคนมันถือศาสนากิเลสกันมากขึ้น บูชาศาสนากิเลสกันมากขึ้น เราก็พลอยติดหางเขาไปด้วย ต้องการความเข้มแข็งแน่นอน
เอาล่ะ ทีนี้ก็จะขอย้ำแล้วย้ำอีกว่า ผู้ที่เป็นครูนี่ต้องเป็นผู้นำในทางวิญญาณ ต้องมีแสงสว่างของตัวเองอย่างเพียงพอ แล้วจึงจะนำผู้อื่นไปในทางที่ถูกต้องได้ ดังนั้นครูก็อย่าหลงทางเสียเอง นี่เป็นครูต้องรับผิดชอบถึงขนาดนี้ มันจึงกลายเป็นปูชนียบุคคล ไม่ใช่ลูกจ้าง จึงพูดว่า ผู้ที่จะเป็นครูหรือผู้เป็นครูเนี่ย ควรจะรู้จักหัวใจของสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา ซึ่งเป็นหัวข้อของคำบรรยายในวันนี้
และก็พอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้เท่านี้ก่อน