แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่จะเป็นครูทั้งหลาย
การบรรยายในครั้งนี้จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า ผู้ที่เป็นครูควรจะรู้ความลับของสิ่งที่เรียกกันว่าชีวิต ข้อนี้หมายความว่าสิ่งที่เรียกกันว่าชีวิตนั้นมันมีความลับ หรือมันมีเคล็ดลับซึ่งเข้าใจยาก หรือคนธรรมดาสามัญก็มองไม่เห็น มันมีความประหลาดตรงที่ว่า มันเป็นตัวชีวิตนั่นเองแต่มันก็มองไม่เห็น เหมือนกับมีคำกล่าวที่ว่า นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ หนอนในส้วมก็ไม่เห็นคูถ ไส้เดือนก็ไม่เห็นดิน ไอ้คนอยู่ในโลกก็ไม่เห็นโลก นี่หมายความว่ามันมีอะไรที่ลึกลับอยู่ ที่ทำให้นกไม่เห็นฟ้า หรือปลาไม่เห็นน้ำ จะดูเห็นได้ง่ายที่ปลา มันอยู่ในน้ำ น้ำก็ถึงปลา มันก็ไม่มองเห็นน้ำ เพราะเป็นสิ่งที่มันปะทะหรือติดกันอยู่เสมอไป ตั้งแต่เกิดมามันก็เป็นอย่างนั้นไปแล้ว มันก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีน้ำ มันจึงไม่รู้ว่าน้ำนั้นคืออะไรโดยแท้จริง หรือว่าหนอนที่เกิดในอุจจาระ มันก็กินอุจจาระอยู่แท้ๆ มันก็ไม่เห็นอุจจาระ หรือว่าไส้เดือนอยู่ในดิน บางทีก็กินดิน มันก็ไม่เห็นดิน เพราะคำว่า เห็น ในที่นี้มันมีความหมายพิเศษ ไอ้คนอยู่ในโลกก็มิได้เห็นโลก คือมิได้เห็นไอ้ความจริงหรือความลับโดยแท้จริงของสิ่งที่เรียกว่าโลก มีตาก็เห็นนั่นเห็นนี่เรื่อยๆ ไป แต่มันไม่เห็นจริง มันไม่รู้จักโดยแท้จริง มันจึงได้หลงในสิ่งเหล่านั้น ถ้าเห็นจริงๆ มันก็ไม่หลงในอะไร เพราะฉะนั้นอย่าได้ประมาท อย่าได้อวดดีว่าเราเห็น มันเพียงแต่ว่าสัมผัสตามธรรมดาด้วยตาแล้วก็รู้สึกไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมดา มันมีเท่านั้น แต่ธรรมดายังมีอยู่อีกชั้นหนึ่งคือชั้นที่มันลึกซึ้ง
ทีนี้เรามองดูกันถึงสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ขอให้สังเกตดูให้ดีๆ ว่า เราต้องใช้คำว่า สิ่งที่เรียกกันว่า ไอ้สิ่งที่เรียกกันว่านี้ มันเป็นของคนโง่ก็ได้ คือคนโง่มันว่า หรือมันเรียกว่าอะไรเป็นอะไร แล้วในโลกนี้มันมีคนโง่มากหรือมีคนฉลาดมาก หรือว่ามันเต็มไปด้วยคนโง่ เพราะว่าคนมันฉลาดมันก็ต้องรู้จักทำโลกนี้ให้หมดปัญหา ให้ไม่มีปัญหา คือไม่มีความทุกข์ยากลำบากวุ่นวาย เดี๋ยวนี้คนส่วนมากก็ไม่ได้รู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าโลกนั้นโดยแท้จริง มันจึงทำไปในลักษณะที่ไม่ถูกต้องตรงตามที่เป็นจริง เรามันจึงยุ่งกันทั้งโลก ไอ้ชีวิตนี้ก็เหมือนกันมันมีสิ่งที่เรียกกันว่าชีวิต โดยเฉพาะเด็กๆ สมัยนี้จะใช้คำว่าชีวิตนี้พร่ำเพรื่อ สมัยปู่ย่าตายายคำว่าชีวิตนี้ ใช้น้อยที่สุดเป็นความลึกลับ เอามาพูดถึงกันน้อยที่สุด เดี๋ยวนี้หนังสืออ่านเล่นหนังสืออะไรมันก็มีคำว่าชีวิตนี้ใช้ พร่ำเพรื่อ จนเด็กๆ เข้าใจไปว่าตัวเองรู้จักสิ่งที่เรียกว่าชีวิตอย่างแตกฉานทีเดียว นั่นแหละคือความหลับหูหลับตาสำหรับจะอวดดี สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นมันมีความลึกลับ แล้วยังแถมมีเคล็ดลับที่ซ่อนเร้นอยู่ในนั้นมาก คำว่าชีวิตของเด็กๆ ที่เคยแต่อ่านหนังสืออ่านเล่น มันก็มีความหมายอย่างหนึ่ง คนวัยรุ่นที่เคยแต่อ่านหนังสืออ่านเล่นนั้นจะเข้าใจคำว่าชีวิตในความหมายอย่างหนึ่ง ต่อเมื่ออายุมากแล้ว เป็นพ่อเป็นแม่แล้วจะรู้จักชีวิตในความหมายอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งจริงกว่าและถูกกว่าขึ้นไปอีกมาก แต่ก็ยังไม่หมด ยังเหลือความลับของชีวิตนั้นอีกมาก จนกว่าจะเป็นพระอริยเจ้าที่เรียกว่ามีปัญญาตามแบบของพระอริยเจ้านี่ จึงจะเห็นไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นอย่างถูกต้อง แท้จริง และก็ถึงที่สุดหรือสมบูรณ์ที่สุด เพราะฉะนั้นพระอริยเจ้านั้นก็มิใช่ใครอื่นที่ไหนมา ก็เป็นเพียงผู้ที่รู้จักโลกตามที่เป็นจริง แล้วก็ไม่หลงโลก และก็ทำให้ชีวิตนี้ไม่มีความทุกข์ คนชนิดนั้นเรียกว่าพระอริยเจ้า เดี๋ยวนี้คนทั่วไปก็ไม่เข้าใจคำว่า พระอริยเจ้า จัดไว้เป็นบุคคลที่ลึกลับ เข้าใจไม่ได้ หรือว่าจะเป็นบุคคลประเภทที่ไม่พึงปรารถนาด้วยซ้ำไป คนวัยรุ่นสมัยนี้จะเข้าใจว่าพระอริยเจ้านั้นเป็นคนหมดความหมายสำหรับโลก หมดความหมายสำหรับพวกเรา มันบ้าๆ บอๆ ครึๆ คระๆ ไปตามแบบของท่าน ถ้าใครนึกอยู่อย่างนี้แล้ว ขอให้นึกเสียใหม่ เพราะว่าการศึกษาอบรมสมัยนี้อาจจะทำให้นึกไปอย่างนั้น คือนึกว่าพระอริยเจ้านี้เป็นมันคนประหลาด บ้าๆ บอๆ ไปตามแบบของท่าน ขอให้เข้าใจเสียใหม่ว่ามันคือบุคคลที่รู้จักโลกตามที่เป็นจริง และจัดการถูกต้องหมดจนไม่มีความทุกข์ คือท่านไม่เป็นเหมือนกับนกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ หนอนไม่เห็นคูถ อย่างนี้อีกต่อไป คือไม่เป็นอย่างนี้อีกต่อไป เป็นผู้ที่รู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริง ด้วยเหตุนี้แหละเราจึงต้องใช้คำว่าสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ไม่ใช้คำว่าชีวิตเฉยๆ เพราะมันเรียกกันได้ตามชอบใจหลายอย่าง หลายแบบ หลายชั้น หลายลักษณะนัก จึงขอร้องให้ผู้ที่เป็นครูนั้นรู้จักความลับของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต
ที่นี้ความลับของสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี้มันก็ยังมีมากมายอีก ถ้าเอาอะไรในชั้นนี้ เราเอาตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้จะดีกว่า แต่มันก็อย่างเดียวกันอีกนั่นแหละ คือว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้มาก ถ้าเอาพระไตรปิฎกเป็นหลักแล้วมันมากจนเกินกว่าที่ชาวบ้านจะศึกษาไหว จะรวบรวมมาให้หมดได้ ดังนั้นจึงต้อง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการย่อหรือสรุปเอาใจความมาให้ฟังหรือให้ศึกษากัน ตามนัยยะที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น เราอาจจะสรุปความได้ว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นมันมีเคล็ดลับมาก แต่มันก็รวมอยู่ที่สิ่งที่เรียกว่าไอ้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ช่วยจำคำ ๖ คำนี้ไว้ให้ดีๆ อย่าเห็นว่าเป็นคำธรรมดาหรือเป็นเรื่องธรรมดา มันมีความลับอยู่ในนั้นมากนัก คือคำว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราเรียกเป็นภาษาไทยกันดีกว่า ภาษาบาลีมันยังจะชวนให้ยุ่งหัว ถ้าอยากจะรู้ภาษาบาลีก็ไปดูปทานุกรมเอาเองก็ได้ ไอ้สิ่งที่สำคัญที่สุดหรือทั้งหมดของสิ่งที่เรียกว่าชีวิตก็ตาม หรือของความลับเคล็ดลับของชีวิตก็ตาม มันสรุปรวมอยู่ที่สิ่งที่เราเรียกกันว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทีนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นมันก็ยังมี สิ่งที่สัมพันธ์กันอยู่ด้วย มันจึงจะเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมาได้ คือมันต้องมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อีก ๖ อย่างเข้ามาจับคู่กันกับสิ่งที่เรียกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงจะเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมา ถ้าไม่มีรูปมากระทบตา ไม่มีเสียงมากระทบหู ไม่มีกลิ่นมากระทบจมูก เป็นต้นแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่มีความหมายอะไร มันเหมือนกับไม่มี มันเท่ากับไม่มี นี่ลองคิดดู อย่างเมื่อเรานอนหลับไม่ฝันอะไรเลยนี่ มันก็เท่ากับไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ที่แท้มันก็ยังอยู่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ยังอยู่ อยู่ที่ตัวของคนนั่นแหละ แต่ทางธรรมะก็ถือว่าไม่มี คือมันเท่ากับไม่มี มันจึงถือว่ามันจะเกิด ตา หู จมูก อะไรขึ้นมาก็ต่อเมื่อมันทำหน้าที่ของมัน เมื่อตาทำหน้าที่เราจึงเรียกว่าเรามีตา เมื่อหูทำหน้าที่เราจึงเรียกว่าเรามีหู แต่คนธรรมดาเขาจะพูดว่าเรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ตลอดเวลา เวลาตื่นๆ อย่างนี้แหละ เขาถือว่าเขามีตา หู จมูก ลิ้น อยู่ตลอดเวลา แต่ภาษาของพระพุทธเจ้าไม่ตรัสไว้อย่างนั้น เราจะมีตาก็ต่อเมื่อมีการเห็นรูป เราจะมีหูก็ต่อเมื่อมีการได้ยินเสียง มีจมูกก็ต่อเมื่อมีการได้กลิ่น อย่างนี้ท่านพูดว่า ตาก็เพิ่งเกิด หูก็เพิ่งเกิด จมูกก็เพิ่งเกิด ไอ้ตาก็เพิ่งเกิดเมื่อตามันเห็นรูป หูก็เพิ่งเกิดเมื่อหูมันได้ยินเสียง ทีนี้เด็กๆ สมัยนี้มันก็ค้านว่าเป็นคำพูดบ้าๆ บอๆ อะไรก็ไม่รู้ นี่คือข้อที่จะไม่เชื่อพระพุทธเจ้ากันก็มีอย่างนี้เป็นตัวอย่าง แต่ทั้งหมดนี้มันก็ไม่ใช่อะไร เป็นเพราะท่านพูดตามภาษาของพระอริยเจ้า ไม่ใช่พูดตามภาษาของเด็กโง่ๆ อย่างว่าคนนี่ก็ไม่ได้เกิดอยู่ ต่อเมื่อมันมีความรู้สึกว่าฉันเป็นฉัน คนจึงจะเกิดขึ้นมา ฟังดูให้ดีๆ นี่เป็นใจความสำคัญที่จะทำให้เข้าใจพุทธศาสนา ไอ้เด็กโง่ๆ ก็จะพูดว่าฉันมีอยู่ ฉันเกิดอยู่ตลอดเวลา แต่ภาษาพระพุทธเจ้าตรัสว่า คนมันเกิดตาย เกิดตาย เกิดตายวันหนึ่งไม่รู้กี่หน เมื่อไหร่มันมีความรู้สึกที่เป็นตัวตน คือรู้สึกว่ากูเป็นกู ฉันเป็นฉันอะไรขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่าคนเกิดทีหนึ่ง พอสิ้นเรื่องแล้วความคิดอันนี้มันก็ดับไป ท่านก็เรียกว่าคนตาย ดังนั้นคนมิได้เกิดอยู่ตลอดเวลา นี้เป็นภาษาพระพุทธเจ้า แต่ภาษาเด็กโง่ๆ มันก็พอเกิดจากท้องแม่มันก็เกิดแล้วก็เกิดอยู่จนกว่าจะเข้าโลง มันเกิดอยู่ตลอดเวลา มันคนละภาษา มันจึงมีเคล็ดลับมีความลับเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ เราต้องเข้าใจกันถึงอย่างนี้ จึงจะเรียกว่ารู้ความลับของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ไหนๆ ก็ได้ตั้งใจที่จะศึกษาวิชาความรู้ของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็พยายามเข้าใจไอ้วิธีการหรือลักษณะของการพูดจาตามแบบของพระพุทธเจ้าอย่างนี้กันเสียบ้าง แล้วก็จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นลึกซึ้งถึงที่สุดได้
ที่เรียกว่าความลับของสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี้มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับการพิจารณา การศึกษา การมอง การเข้าใจในลักษณะอย่างนี้ ฉะนั้นรู้จักสิ่งที่เรียกว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้ไว้ให้ดีๆ เรื่องมันจะเกี่ยวกับไอ้สิ่งทั้ง ๖ อย่างนี้ทั้งนั้น ไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลีก็เรียกว่า อายตนะ มันมีความหมายว่าเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับการสัมผัส ถ้ามันอยู่ข้างใน คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เรียกว่าเครื่องสัมผัส หรือเครื่องมือที่จะทำให้เรารู้จักสิ่งข้างนอกได้ นั่นแหละเขาเรียกว่าอายตนะข้างใน อายตนะภายใน เขียนให้ถูกๆ จำให้ดีๆ ว่า อายตนะภายใน เครื่องสัมผัสมีไว้สำหรับสัมผัสโลกข้างนอก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ข้างใน มันก็มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อยู่ข้างนอก มันจึงมีการสัมผัสกันเป็นคู่ๆ จึงเรียกไอ้ส่วนที่อยู่ข้างนอกว่าอายตนะภายนอก ถ้าเรารู้จักไอ้สิ่งทั้ง ๖ นี้ดี เราจะรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตดีที่สุด ขอให้จำไว้ ขอให้สนใจ และขอให้ศึกษาอยู่ตลอดเวลา ตลอดชีวิตจนกว่าจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าชีวิต เดี๋ยวนี้รู้จักคำว่า อายตนะ แปลว่าสิ่งซึ่งจะต้องรู้จัก สิ่งซึ่งอาจจะรู้จักได้ ตัวเรามีอายตนะในภายในตัวนี่ ๖ อย่างสำหรับสัมผัสกับอายตนะที่อยู่นอกตัวเราอีก ๖ อย่าง นี่เป็นตัวเรื่อง เป็นวัตถุ เป็น object ของเรื่องทั้งหมด รวมทั้งเรื่องที่จะต้องศึกษาด้วย ที่นี้พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เป็น เป็นข้อๆ หรือเป็นหลักๆ เป็นทฤษฎี หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่จะเรียก อย่างหนึ่งๆ เช่นตรัสว่าไอ้โลกทั้งหมดมันรวมอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าพูดให้สั้น ก็ว่าโลกทั้งหมดรวมอยู่ที่อายตนะ ท่านได้ใช้คำว่าโลกนะ แล้วท่านขยายความออกไปว่า มนุษยโลก เทวโลก มารโลก พรหมโลก นรกโลก อะไรโลกก็ตามใจ ทุกโลกนี้มันรวมอยู่ที่สิ่งที่เรียกว่าอายตนะ
ขอให้ทำความเข้าใจ ไอ้ความรู้สึกในใจให้กว้างๆ อย่างนี้ไว้ก่อน ว่ามันจะเป็นเทวดา มาร พรหม ยักษ์ มนุษย์ อะไรก็ตาม ไอ้โลกทั้งหมดของมันมันรวมอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมายความว่าถ้ามันไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างเดียวเท่านั้นแหละ โลกมันไม่มี โลกไหนมันก็ไม่มี นี่ไม่ใช่เรื่องสำหรับจำ แต่เป็นเรื่องสำหรับคิดให้เข้าใจ มองให้เห็น แล้วให้รู้สึกจริงๆ ว่าถ้าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กันแล้ว โลกทั้งหมด ทุกโลก ทุกๆ โลก ไม่ว่าโลกไหนจะไม่มี เรื่องมันลึกลับซับซ้อนพิสดาร เอาไว้คิดต่อไปข้างหน้า แต่ในที่นี้จะมองเห็นได้ง่ายๆ ว่าเรานี่แหละลองไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ แล้วอะไรมันจะมี มันจะมีสำหรับเรา พอไม่มีใจ มันก็ไม่มีความรู้สึกคิดนึกอะไรได้ หรือมีแต่ใจ แต่มันไม่มีทางที่อะไรจะติดต่อกับใจ คือไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมันก็ทำอะไรไม่ได้ การที่ใจมันคิดนึกอะไรได้ เพราะมันได้สะสมไอ้ความรู้ความรู้สึกอะไรต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนี้ไว้มาก เป็นสัญญาหรือความจำเต็มอัดอยู่ในจิตใจนั้น ในคลังของจิตใจมันเต็มอยู่ด้วยสัญญา ความรู้สึกจำได้ หมายรู้ เกี่ยวกับสิ่งที่มันเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางกายนี้จะเรียกว่าทางผิวหนังกันดีกว่า ตาสำหรับเห็นรูป หูสำหรับฟังเสียง จมูกก็สำหรับดมกลิ่น ลิ้นก็สำหรับรู้รส ผิวหนังก็สำหรับรู้สัมผัสไอ้สิ่งที่มันจะมากระทบผิวหนัง ไอ้สิ่งที่มากระทบผิวหนังนั้นภาษาบาลีเขาเรียกว่า โผฏฐัพพะ นี่มันเป็นคำแปลกๆ จำยาก แต่ถ้าพูดเป็นไทยก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร ก็ต้องเรียกว่าสิ่งที่มากระทบผิวหนัง อย่างนี้มันยืดยาวยืดยาด ก็เลยเรียกว่า โผฏฐัพพะไปตามเดิม ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็ไม่มีอะไรทำให้ใจได้ติดต่อกับข้างนอกได้ ทีนี้ใจมันมีสมบัติของมัน สะสมไว้ในคลังของมันก็คือสัญญาทั้งหลายนี่มันเอาไปเป็นอารมณ์ สำหรับใจรู้สึกนึกคิดได้ แต่อย่าลืมว่ามันต้องสะสมไว้ตั้งแต่ทีแรก ที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนังนี่ ก่อน มันต้องกำหนดให้ดีๆ ว่าถ้าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างเดียวเท่านั้น มันก็ไม่มีโลก ไม่มีอะไรหมดเลย ไม่มีตัวเรา ไม่มีโลก อะไรข้างนอกที่จะรู้สึกได้ มันก็มีค่าเท่ากับไม่มี นี่เห็นไหมว่าพระพุทธเจ้าท่านสรุปไว้ถูกต้อง หรือไม่ ถูกต้องมากน้อยเพียงไร ก็ชีวิตนี้ขยายออกไปเป็นโลกทั้งหมดทุกโลกนี่ มันขึ้นอยู่กับสิ่งๆ เดียวคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่รวมเรียกว่าอายตนะ นี่มันก็เป็นความลับหรือเป็นเคล็ดลับของสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั่นอย่างหนึ่งแล้วเป็นข้อแรก ต้องศึกษาข้อแรกนี้ให้เข้าใจให้ดี แล้วก็จะเข้าใจข้อต่อๆ ไปได้
ทีนี้ท่านใช้คำพูดอีกอย่างอย่างอื่นต่อไปอีกว่าไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่แหละมันเป็นมหาสมุทร เด็กๆ ที่เคยเล่าเรียนในโรงเรียน เรียนแผนที่มหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแอตแลนติกอะไรนี่ มันมหาสมุทรอย่างเด็กๆ มันไม่กว้าง มันไม่ลึก เท่ากับมหาสมุทรคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เป็นมหาสมุทร มันลึก มันตกลงไปสิ มันลึก มันลึกกว่ามหาสมุทรแปซิฟิก หรือมหาสมุทรอะไร ที่เรียกว่าลึก คือมันตกจมลงไปได้อย่างลึก ถึงกับตกนรก ลึกถึงนรก คือมหาสมุทรตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บางทีมันก็ขึ้นไปถึงสวรรค์พรหมโลกอะไรหมด ดังนั้นท่านจึงตรัสว่ามนุษย์ก็ดี เทวดา มาร พรหม อะไรก็ดี มันตกอยู่ในมหาสมุทรนี้ทั้งนั้น คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งนั้น มันหลงอยู่ในรสอร่อยที่จะเกิดขึ้นมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทีนี้ในมหาสมุทรนั้นมันมีความลึกตกลงไปแล้วลำบากใช่ไหม นอกจากความลึกแล้วมันยังมีสัตว์ร้ายเช่นปลา เช่นสัตว์ร้ายอื่นๆ ที่มันจะกินไอ้คนที่ตกลงไปในมหาสมุทร หรือมันมีคลื่นที่ทำให้คนลำบากหรือตาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เหมือนกัน มันมีคลื่นที่ทำให้คนลำบาก มีสัตว์ร้ายที่ทำอันตรายคน แล้วมันก็จะมีความตายในที่สุด ในเมื่อตกลงไป เรื่องของธรรมะเป็นอย่างนี้ มันชวนง่วงนอนทั้งที่เพิ่งตื่นนอนมาใหม่ๆ ใช่ไหม นี่เรื่องมันจึงลำบากมากขึ้นไปทุกที ที่แล้วๆ มามันเป็นอย่างนี้
ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เรื่อย มากมายเหลือเกินที่มันเกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือท่านตรัสให้แคบเข้ามาว่า นรกนั้นก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์มันก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นรกอย่างยิ่ง สวรรค์อย่างยิ่ง ก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทีนี้พวกคุณได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็นมาว่านรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่ข้างบนโน้น เขาไปถึงโลกพระจันทร์แล้วก็ยังไม่พบสวรรค์ข้างบนโน้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมายความสั้นๆ ว่า เมื่อใดมันมีการปรุงแต่งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดผลเป็นความเร่าร้อน แผดเผาเจ็บปวด แสบเผ็ด ขึ้นมาก็เรียกว่านรก นี่มันเป็นนรกจริง นรกจริงๆ นั่งน้ำตาไหลอยู่ แล้วเมื่อไรมันมีความปรุงแต่งในทางจิตใจจากสิ่งที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เป็นที่ถูกอกถูกใจหลงใหลเพลิดเพลิน ไม่เห็นแก่อะไรหมดแหละ เห็นแก่รสอร่อยนั้นอย่างเดียว อย่างนี้ก็เรียกว่าสวรรค์ มันเป็นสวรรค์จริงใช่ไหม มันรู้สึกได้จริงด้วยสัมผัสนี่ว่าเป็นนรก เป็นสวรรค์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ แม้ปู่ย่าตายายของเราก็พูดเป็น พูดตามพระพุทธเจ้า ปู่ย่าตายายของเราพูดว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ นี่ท่านพูดถูกพูดตามพระพุทธเจ้า แต่ทีนี้มันลำบากในการที่จะสอนจะถ่ายทอดความคิดนี้ ในเมื่อจะต้องเขียนเป็นตัวหนังสือ เขียนเป็นรูปภาพ เขาจึงต้องใช้อุปมา เมื่อต้องเขียนภาพ ก็เขียนภาพนรกนี่ นรกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ ก็ต้องเขียนภาพเป็นไอ้นรกอย่างที่มีหม้อทองแดง มีหอก มีหลาว เหมือนกับที่เขียนไว้ใต้ถุนเวที ไปดูเถอะ เป็นเพียงภาพอุปมาของนรก สวรรค์ก็เหมือนกัน ต้องเขียนวิมานนางฟ้าอยู่เหนือเมฆ อยู่ที่ก้อนเมฆก็มี ในภาพเขียนฝาผนังโบสถ์เป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ได้เรียนวิทยาศาสตร์มาแล้วว่าไอ้เมฆนี่มันจะมีอยู่อย่างมากก็สัก ๒๐ กิโลเมตรขึ้นไปเท่านั้นแหละ เลยนั้นไปไม่มีหรอก เขาเขียนสวรรค์วิมานไว้บนก้อนเมฆนี้มันก็โง่ ทั้งคนเขียนและทั้งคนเชื่อนั่น อย่างนั้นเรามาเชื่อพระพุทธเจ้าในทีแรกกันก่อนว่า ท่านว่านรกก็ดี สวรรค์ก็ดี อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมาดูซิ บางเวลามานั่งร้องไห้อยู่ใช่ไหม ทำไมไม่รู้จักนรกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บางวันก็ลิงโลดพอใจในชีวิตนี้อย่างบอกไม่ถูก ตามภาษาของคนที่เพิ่งรู้จักโลก เพิ่งเห็นโลก พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่านรกทุกชั้นทุกชนิด สวรรค์ทุกชั้นทุกชนิดมันก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะว่าเราอาจจะมีความทุกข์ร้อนได้หลายๆ แบบ ได้หลายๆ อย่าง นั่นแหละคือนรกหลายๆ ชนิด เรามีความพอใจสนุกสนาน เอร็ดอร่อยได้หลายๆ แบบ หลายๆ อย่าง มันจึงมีสวรรค์หลายๆ ชนิด เอาละทีนี้ระวังให้ดี ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ไปทำลายคำพูดที่ว่านรกใต้ดินสวรรค์บนฟ้า มันก็ต้องไว้ให้สำหรับ เก็บไว้ให้ ไม่ทำลายของเขา แต่ว่าเรายังไม่สนใจก็ได้ เราสนใจนรกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กันก่อน เพราะว่าถ้าเราไม่ตกนรกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเราจะไม่ตกนรกที่ไหนหมด ต่อตายแล้วถ้ามันมีจริงก็ไม่ตก อย่าทำให้ต้องตกนรกที่นี่ ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่นี่ซิ แล้วจะไม่ตกนรกชนิดไหนหมด นรกใต้ดิน นรกอเวจี นรกต่อตายแล้ว จะไม่ตกเลย ดังนั้นเราจึงต้องสนใจนรกที่นี่และเดี๋ยวนี้กันก่อน อย่าให้มันตกได้ แล้วมันไม่ตกนรกไหนหมด สำหรับสวรรค์ก็เหมือนกัน ถ้าเราได้สวรรค์ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว มันจะได้สวรรค์ต่อตายแล้ว สวรรค์ที่ไหนทั้งหมดเป็นแน่นอน อย่างนั้นสวรรค์หรือนรกที่ยังมองไม่เห็นนั้นเอาไว้ก่อนก็ได้ แต่ไม่ต้องยกเลิกหรอก เพราะมีไว้เพื่อบางคน อย่างน้อยก็มีไว้เพื่อบางคน แต่คนที่จะมีปัญญาก็ต้องมองเห็นที่นี่ก่อน อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นรกก็ดี สวรรค์ก็ดี ทุกชนิดทุกชั้นทุกแบบนี้มันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉะนั้นจัดแจงปรับปรุงให้ดีที่นั่นแหละจะไม่ตกนรก แล้วจะได้สวรรค์
ทีนี้ท่านยังพูดเลยต่อนั้นไปอีกว่า แม้สิ่งที่เรียกว่า มรรค ผล นิพพานนั้น มรรค ผล นิพพานนั้น มันก็เนื่องกันอยู่ ที่การจัดการทำ อันเกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง จงจัดจงทำอะไรให้มันถูกต้องเกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะได้มรรคผลได้นิพพาน เมื่อใดเราทำให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เย็นสนิท ไม่มีร้อนเลย เมื่อนั้นเป็นนิพพาน ถ้ามันร้อนมันก็เป็นนรก ถ้ามันหวานหอม สนุกสนาน เอร็ดอร่อย มันก็เป็นสวรรค์ จะเรียกว่าไม่ร้อน แต่มันก็ยังไม่ใช่เย็น จะเปรียบเทียบอย่างนี้ดีกว่า คือเปรียบเทียบกับขมกับหวาน ไอ้ขมมันเหมือนนรก ไอ้หวานมันเหมือนสวรรค์ ทั้งสองอย่างนี้อัดเข้ามามากๆ เราก็ทนไม่ได้ เราอยากจะว่าง จะจืดสนิทไม่ขมไม่หวาน มันจึงจะหยุดหรือมันจึงจะเย็น ทั้งเรื่องนรกเรื่องสวรรค์มันก็เป็น positive negative คู่ฟัดคู่เหวี่ยงกันอยู่อย่างนั้น ไม่สนุกทั้งนั้นแหละ ต่อเมื่อมันไม่เป็นอย่างนั้น มันเป็น neutral มันจึงจะเป็นขึ้นมาอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า มรรค ผลนิพพาน เมื่อขมก็เป็นนรก เมื่อหวานก็เป็นสวรรค์ เมื่ออยู่เหนือขมเหนือหวานก็เป็นมรรคผล นิพพาน แต่แล้วมันก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่ามันขมมันหวานมันก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่จะไม่ให้ขมไม่ให้หวานมันก็ต้องจัดกันที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ขอให้รู้จักเคล็ดลับของสิ่งที่เรียกว่าชีวิตถึงขนาดนี้เถิด ขอร้องหน่อยว่าให้ทนหน่อย อย่าเพิ่งง่วง เพราะว่านี่คือทั้งหมดของพระพุทธวจนะ หรือทั้งหมดของพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกจะ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์หรือจะกี่ล้านๆ ธรรมขันธ์ก็ตาม มันมาสรุปที่คำๆ นี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำผิดเป็นนรก ทำถูกเป็นสวรรค์ ทำได้เหนือผิดเหนือถูกก็เป็นนิพพาน ฉะนั้นเข้าใจคำสามคำนี้ให้ดีๆ ถ้าชั่วก็เป็นนรก ถ้าดีก็เป็นสวรรค์ ถ้าเหนือดีเหนือชั่วก็เป็นนิพพาน ถ้าทุกข์ก็เป็นนรก ถ้าสุขก็เป็นสวรรค์ ถ้าเหนือสุขเหนือทุกข์ก็เป็นนิพพาน นี่มันชวนง่วงใช่ไหม พอพูดถึงนิพพานแล้วชวนง่วง ถ้าพูดถึงนรกหรือสวรรค์มันก็ยังชวนสนใจบ้าง แต่เดี๋ยวนี้เราต้องการจะประกาศจะเผยแผ่ไอ้สิ่งๆ นี้เท่านั้น สิ่งที่มันดีกว่าสุขและทุกข์ คือมันเหนือไปกว่าสุขและทุกข์ เหนือไปกว่าดีและชั่ว เขาเรียกว่าพ้นโลก เหนือโลก เหนือกรรมเหนืออะไรทุกอย่าง ในศาสนาไหนก็มุ่งหมายจะสอนอย่างนี้ ในศาสนาคริสเตียนก็สอนอย่างนี้ คือเหนือดีเหนือชั่วเท่านั้นแหละจึงจะเป็นอาณาจักรของพระเจ้า แต่แล้วไม่มีคำเรียกก็ต้องเรียกว่าดีที่สุด เพราะว่าดีที่สุด เด็กๆ ก็ว่าสวรรค์ที่สุด อ้าว, ก็เลยไปกันคนละทาง เหนือดีเหนือชั่วนั้นมันยังเข้าใจยากจึงถือว่าเป็นเคล็ดลับเป็นความลับอะไรที่สุดซึ่งจะต้องศึกษากันต่อไป
ทีนี้ก็ลองคิดดูเองว่าอะไรๆ ก็ขึ้นอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งหมด เราจะกินจะนอนจะอยู่ในชีวิตประจำวันนี้ เรื่องมันก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะสุขจะทุกข์มันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งหมดรวมอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดังนั้นปัญหาทั้งหลายทั้งหมดทั้งสิ้นมันจึงอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราทำไม่เป็น ทำไม่ถูกมันก็เป็นปัญหา ฉะนั้นปัญหาทั้งหลายมันขึ้นอยู่กับการที่เราทำไม่ถูก เราทำผิดเราทำไม่ถูกกับสิ่งที่เรียกว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เป็นหลักใหญ่ที่จะต้องจำไว้ ก็ไปหาความเข้าใจอันกว้างขวางเอาเองก็ได้ ปัญหามันก็ต้องหมายถึงความทุกข์ ถ้าไม่มีความทุกข์ก็ไม่ใช่ปัญหา ถ้ามันเป็นปัญหามันก็หมายความว่าเป็นความทุกข์ แล้วมันมาจากการทำผิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เรียกว่าทำผิดในที่นี้หมายความว่ายังไง หมายความว่าเราเป็นทาสนั้น จดคำนี้ลงไปด้วย เพราะเราเป็นทาสอายตนะ การเป็นทาสอายตนะ นั่นแหละ คือปัญหาทั้งหมดของความทุกข์ เป็นทาสหรือเป็นขี้ข้า ไม่เป็นอิสระแก่ตัวเอง ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันต้องการอะไร เราต้องไปหาให้มันเร็วๆ ใช่ไหม นี่เขาเรียกว่าเป็นทาส ไม่มีความเป็นอิสระ แล้วเราก็คุยเพ้อไปว่าเราเป็นอิสระ มีประชาธิปไตย มีเสรีภาพ มีอะไร นั่นมันเป็นเรื่องเด็กๆ พูด เสรีภาพอย่างนั้นมันเสรีภาพเด็กๆ เสรีภาพของประชาธิปไตยทางการเมืองทางอะไรนี้ มันเป็นเสรีภาพเด็กๆ เสรีภาพของพระอริยเจ้า คือไม่เป็นทาสของอายตนะ ไม่เป็นบ่าว ไม่เป็นขี้ข้าของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปัญหาทั้งหลายมันอยู่ที่เรานี่เป็นทาสของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ก็คือเคล็ดลับ นี่ก็คือเคล็ดลับ ลับไม่ลับลองคิดดู นี่คือความลับของไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิต นี่เราพูดกันมาตั้งครึ่งชั่วโมงก็เป็นเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเราก็มีอยู่เห็นอยู่ลูบคลำอยู่ทุกวัน ทั้งกลางวันเราก็ไม่รู้จักมัน จึงถือว่าเป็นความลับของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต จะเป็นความลับในแง่ที่ให้เกิดความทุกข์ก็ดี ความลับในแง่ที่ให้เกิดความสุขก็ดี หรือที่จะแก้ปัญหาทั้งหลายก็ดี มันเป็นความลับของไอ้สิ่งที่เรียกว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทั้งนั้น ฉะนั้นเรารู้จักพระพุทธเจ้าดีขึ้น ในเมื่อเรารู้จักความลับของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราจะรู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านรู้อะไรท่านสอนอะไร ท่านหลุดพ้นจากอะไร ท่านชนะอะไร ท่านชนะมาร คือชนะอะไร พระพุทธเจ้าชนะมาร คือ ชนะกิเลส กิเลสก็คือเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เขาก็เขียนรูปภาพมารขี่ช้างร้องบทพาหุง สหัสมภินิมฯ กันไปตามเรื่อง เป็นภาพพจน์สำหรับเด็กๆ ยึดถือ แต่ว่าพระพุทธเจ้าชนะมารหรือชนะไอ้สิ่งร้ายๆ ทั้งหลายที่มันเกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างที่ได้กล่าวแล้วว่าไอ้มารโลก โลกของมารมันก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างนั้นการชนะมารก็ต้องชนะที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ต้องไปดูที่อื่นหรอก พระพุทธเจ้าท่านว่าดูข้างใน ดูข้างใน ไม่ต้องไปดูข้างนอก ดูข้างใน คือดูที่ใจ ถ้ายังมีใจก็หมายความว่า คนมันยังเป็นอยู่มันยังไม่ตาย เมื่อมีความรู้สึกนึกคิดได้ มีใจอยู่นั่นแหละไอ้ร่างกายนี้มันก็เป็นโลกโลกหนึ่ง ซึ่งเราจะต้องดูให้ดี ดูที่กายที่ยาวสักวาเดียวเท่านั้นแหละ และในนั้นมีจิตมีใจมีความรู้สึกมีความคิดนึก มันมีอะไรรวมอยู่ในนั้น โดยที่มันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสื่อ ถ้าเราจะดึงเอาสิ่งข้างนอก ข้างนอกออกมา เข้ามาข้างในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันจะน่าหัวไหมว่าเรื่องทั้งหมดทุกเรื่องที่จะต้องเรียนกันนี้มันคือ เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างนี้เป็นวิทยาศาสตร์อย่างยิ่งไหม แต่มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ทางวัตถุ มันเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต ทางวิญญาณ ทางนามธรรม ขอให้สนใจไว้ด้วยว่าเราจะเรียนแต่วิทยาศาสตร์ทางวัตถุนั่น มันแก้ปัญหาได้แต่ทางวัตถุเท่านั้นแหละ ไม่สามารถจะแก้ปัญหาทางจิตหรือชีวิตอันแท้จริงได้ ดังนั้นต้องเรียนวิทยาศาสตร์ทางจิตใจ คือมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะมันก็มีเรื่องเกิดขึ้นในใจเป็นปัญหาต่างๆ นานา ซึ่งเราจะต้องทำความเข้าใจกันให้พอสมควรเหมือนกัน เรื่องเกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ มันปรุงเป็นความทุกข์ขึ้นมาอย่างไร มันปรุงเป็นความสุขขึ้นมาอย่างไร
แต่ว่าก่อนอื่นทั้งหมดนี่ ต้องขอร้องให้ลบกระดานชนวนลบกระดานดำที่ขีดๆ เขียนๆ มา ที่เกี่ยวกับเรื่องทางโลกๆ ที่เรียนมาแล้วนี่ เช่นวิทยาศาสตร์ทางโลกทางอะไรที่คุณเรียนๆ กันมาแล้ว เอาเหวี่ยงทิ้งไปทีก่อน ต้องมาตั้งต้นพื้นฐานสำหรับเรียนวิทยาศาสตร์ของพระพุทธเจ้ากันใหม่ เพราะว่ามันจะตรงกันข้ามเกือบจะทุกแง่ทุกมุมแหละ ทุกแง่ทุกมุมก็ได้ เช่นว่า เดี๋ยวนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนมิได้เกิดอยู่ จนกว่าเมื่อไหร่มีความรู้สึกว่าตัวกูขึ้นมา คนจึงจะเกิด นี่มันผิดกันแล้ว เมื่อเด็กๆ เรียนมา พอออกจากท้องแม่มันก็เกิดแล้ว อ้าว, ที่นี้จะยกตัวอย่างง่ายๆ ที่สุด ให้เข้าใจง่ายที่สุด ว่าไอ้การกินนะ กับคนที่กินนี่อันไหนเกิดก่อน การกินเกิดก่อนหรือว่าผู้กินเกิดก่อน ไอ้ลูกเด็กๆ หรือว่าอาจจะเป็นว่าที่เรียนมาอย่างพวกคุณนี่ก็จะตอบว่า มันต้องมีผู้กินก่อนมันจึงจะมีการกินได้ ถ้าอย่างนี้ก็ต้องตอบว่าบ้าเลย มันต้องมีการกินก่อนจึงจะมีคนกินใช่ไหม จึงมีผู้กินใช่ไหม เมื่อมันยังไม่ได้กินมันจะมี จะมีอะไร เมื่อเรายังไม่ได้กินจะเรียกเราว่าผู้กินได้อย่างไร มันต้องมีการกินกันเสียก่อนมันจึงจะมีตัวผู้กิน นี่พระพุทธเจ้าท่านมองอย่างนี้ ถึงว่ากิเลสหรือความอยากนี่มันเกิดก่อน เกิดขึ้นในใจตามธรรมชาตินี่ก่อน มันจึงจะมีผู้อยากคือตัวกู นี่เรามีหลักหรือวิธีการที่ตรงกันข้ามไปเสียหมด อ้าว, พูดให้มันเห็นง่ายขึ้นไปอีกว่าการเดินกับผู้เดินอันไหนมันมีก่อน มันต้องมีการเดินก่อนมันจึงจะมีคนผู้เดิน เพราะว่าก่อนหน้านั้นมันไม่ได้เดินนี่ จะเรียกว่าผู้เดินได้ยังไงล่ะ แยกไปเถอะทุกสิ่งทุกอย่างนั่นแหละ มันต้องมีการได้ยินก่อนจึงจะมีผู้ฟัง เพราะก่อนหน้านั้นมันไม่มีผู้ที่ได้ยิน มันต้องมีการได้ยินก่อน ทีนี้พูดตามแบบของพระพุทธเจ้ามันก็เลยตรงข้ามกับแบบที่ลูกเด็กๆ หรือชาวบ้านเขาพูดกัน ดังนั้นจึงพูดว่าไอ้ความทุกข์มันเกิดก่อนแล้วมันจึงมีความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ แล้วมีความรู้สึกว่ากูทุกข์แล้ว ผู้ทุกข์มันจึงมีมาทีหลังความทุกข์ ทีนี้เราก็จะศึกษากันไปต่อไปในข้อที่ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไอ้ธรรมารมณ์ข้างนอกนั้น มันเข้ามาพบกันแล้วมันปรุงให้เกิดอะไรขึ้น นี่ฟังให้ดีๆ มันเกี่ยวข้องปรับปรุงกันอย่างไร
เรื่องนี้ละเอียดมากยากมากและลึกมากแต่มันเป็นทั้งหมดของพุทธศาสนา ถ้าทนฟังได้ก็มีประโยชน์เกินค่า ต้องยกตัวอย่างเรื่อยๆ ไป พอตานี้เห็นรูป นี่คุณก็ตาไม่บอดใช่ไหม เห็นรูปอยู่ เห็นอะไรเรียนได้ด้วยตาอยู่ พอตาเห็นรูป ก็เกิดการเห็นทางตาใช่ไหม การเห็นทางตาไม่ได้เกิดอยู่ก่อน มันจะเพิ่งเกิดต่อเมื่อตากับรูปมันถึงกัน หนึ่งคือตา สองคือรูป ที่สามก็คือการเห็นทางตา เรียกว่าจักษุวิญญาณ วิญญาณทางตา คือการเห็นทางตา ก่อนนี้ก็ไม่มีวิญญาณไม่มีจักษุวิญญาณจนกว่าจะเกิดตากับรูปถึงกันเข้า จึงจะเกิดไอ้วิญญาณทางตา เรื่องที่หนึ่งตา เรื่องที่สองรูป เรื่องที่สามการเห็นทางตาหรือจักษุวิญญาณ นี้สามอย่างนี้รวมกันแล้วพระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าสัมผัส เรื่องที่สี่หรือสิ่งที่สี่เรียกว่าสัมผัส ทีนี้พอเกิดสัมผัสทางตาโดยจักษุวิญญาณกับรูปกับตาแล้ว มันก็เกิดสิ่งที่ห้า คือ เวทนา ความรู้สึก ความรู้สึกว่ารูปที่เห็นนั้นสวยหรือไม่สวย รูปผู้หญิงหรือรูปผู้ชาย รูปดำ รูปขาว รูปเขียว รูปอะไรมันก็นี่ เป็นรูปที่น่าดูหรือไม่ว่าน่าดู อย่างนี้เขาเรียกว่าความรู้สึก เรียกเป็นบาลีว่า เวทนา อย่าจดให้ผิดนะ ถ้าจดนะ เรื่องที่หนึ่งคือตา ไอ้สิ่งที่หนึ่งคือตา เรียกว่าจักษุ สิ่งที่สอง คือรูป หรือสิ่งที่เห็นด้วยตา ถึงกันเข้าแล้วจะเกิดจักษุวิญญาณ คือการเห็นทางตา ทั้งสามอย่างนั้น เรียกว่า สัมผัส หรือจักษุสัมผัส เกิดจักษุสัมผัสแล้วก็จะต้องเกิด เวทนาทางตา คือความรู้สึกทางตา ว่ารูปนี้น่าดูหรือไม่น่าดู น่ารักหรือไม่น่ารัก น่าเกลียดหรือน่ากลัว เป็นต้น นี้หมดไปชุดหนึ่งเรียกว่าเวทนา เป็นผลเกิดขึ้นมา อย่างนี้ยังไม่ทันเกิดกิเลสตัณหา ยังไม่ตกนรกหรือยังไม่ขึ้นสวรรค์ก่อน มันยังมีอีกชั้นหนึ่งก่อน
เอ้า, ทีนี้แถวที่สอง รอบที่สอง ตัวไอ้รูปที่เห็นนั้นสมมติว่าสวยน่ารักนะ ไอ้เวทนาที่เกิดขึ้นทางตานั้น ก็เป็นสุข เป็นความอร่อยทางตา ใช้คำอย่างนี้ดีกว่า เรียกว่าเวทนาที่มีความอร่อยทางตา เวทนาที่อร่อยทางตานี่ปรากฏอยู่ จิตอีกทีหนึ่ง มโน มโน แท้ๆ ทีนี้ จะมาสัมผัสลงไปบนเวทนาที่เป็นความอร่อยทางตา เช่นเห็นรูปเพศตรงกันข้ามที่เป็นที่รักที่พอใจของเรา การเห็นนั้นเป็นเวทนาที่มีความอร่อยทางตา ทีนี้มโนหรือจิตก็เข้ามาสัมผัสไอ้เวทนาชนิดนี้อีกทีหนึ่ง ก็เรียกว่าสัมผัสครั้งที่สอง โดยใจล้วนๆ มาสัมผัสเข้าที่เวทนาที่มีความอร่อยทางตา นี้ก็เรียกว่าตอนนี้เป็นตอนหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้าโง่ตอนนี้ก็เกิดอวิชชา ถ้าไม่โง่ตอนนี้ก็ไม่เกิดอวิชชา ถ้าโง่ตอนนี้เผลอไป สติไม่มีพอ อะไรไม่พอ อวิชชาก็มาผสมเข้าไปในการสัมผัสในเวทนานั้น เราจึงโง่ไปหลงรักมันเข้า อย่างนี้เรียกว่าตัณหา คือความอยากด้วยความโง่ด้วยกิเลส พอเกิดตัณหาก็คือเกิดความอยาก ความอยากอย่างรุนแรงในสิ่งที่มีรสอร่อยทางตานั้น พอเกิดตัณหาแล้วก็จะเกิดสิ่งถัดไป คือ อุปาทาน เป็นความรู้สึกว่าตัวกู ได้สิ่งที่เอร็ดอร่อยทางตานี้ เรียกอุปาทาน ตัวกู หรือคนมันตั้งต้นเกิดที่ตรงนี้ พระพุทธเจ้าท่านว่า คนนี่เพิ่งเกิด ก่อนนี้มันมีแต่ความอยากหรือตัณหา พอเกิดความอยากแล้วมันทำให้เกิดความรู้สึกเป็นกู ผู้อยาก หรือผู้ได้ ผู้เสีย มันจึงเกิดผู้อยากขึ้นมาทีหลังความอยาก พอเกิดอุปาทานอย่างนี้ก็มีปัญหาทันที เร่าร้อนอยู่ด้วยสิ่งที่รัก ที่อยากที่อะไรนี่ อุปาทานจึงให้เกิดความทุกข์ต่อไปตามลำดับ โดยผ่านทางสิ่งที่เรียกว่าภพ ว่าชาติ มันเกิดตัวกูอย่างนี้ขึ้นมา ชาติอย่างนี้ไม่ใช่ชาติเกิดจากท้องแม่ มันเกิดจากท้องแม่เหมือนกัน แต่แม่อีกชนิดหนึ่ง แม่คืออวิชชา ความโง่ มันเป็นตัวกูขึ้นมาเรียกว่าภพโดยสมบูรณ์ แล้วมันชาติออกมา เราทำหน้าที่อันนี้เต็มที่ มันมีปัญหาเกิดขึ้นเพราะความเกิดแก่เจ็บตาย มันอยากจะเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ความเกิดจึงเป็นทุกข์ มันกลัวความแก่ความตายเพราะมันจะพลัดพรากจากสิ่งนี้ ความแก่ความตายจึงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตายเข้าโลง ตายยังไม่ทันตาย และปัญหาทางความตายเข้ามา จิตมันนึก มันก็เลยเกลียดชังความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความทุกข์ ความไม่ได้ตามใจหวัง ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น นี่มันเลยเป็นปัญหาไปหมด
ดูอีกทีจะทบทวนรอบที่สองนะ พอหลังจากเราสัมผัสด้วยตาจนเกิดภาพที่อร่อยทางตาได้เวทนาอันนั้นมาแล้วตามธรรมชาติ ทีนี้ไอ้เวทนาอร่อยทางตานั้นแหละมันจะมาเป็นวัตถุอีกทีหนึ่งสำหรับจิตสัมผัส จิตสัมผัสลงไปบนเวทนาความอร่อยทางตา มันมีการสัมผัสใหม่ด้วยอวิชชา ความโง่ หรือหลงรักในรสอร่อยนั้น แล้วมันก็เกิดตัณหาความอยาก อุปาทานความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ได้เป็นความทุกข์ นี่ลองทบทวนใหม่ก็ได้ เผื่อว่าที่จดไว้จะไม่ถูก เอารอบแรกก่อน รอบที่หนึ่ง แถวที่หนึ่งก่อน แถวที่หนึ่ง ที่หนึ่งมีตา อันที่สองคือรูปมากระทบตา อันที่สามเกิดจักษุวิญญาณ หรือการเห็นทางตาขึ้นมา ทั้งสามอย่างนี้รวมกันแล้วเราเรียกว่าสัมผัส คือที่สี่เรียกว่าสัมผัส จากสัมผัสนี้จะเกิดเวทนาเป็นอันที่ห้า นี่มีห้าอันในรอบแรก รอบนี้เรียกว่าปฏิภะสัมผัส (นาทีที่ 59:13) เป็นการสัมผัสทางวัตถุหรือว่าทางธรรมชาติล้วนๆ ยังไม่เกี่ยวกับกิเลส มันไปจบอยู่ที่เวทนานะ ได้รับความอร่อยทางตาตามธรรมชาติก่อน นี่มาตั้งต้นรอบหลังที่จะเป็นอภิวจนะสัมผัส (นาทีที่ 59:39) ชื่อเรียกยาก อภิวจนะสัมผัส (นาทีที่ 59:41) ทีนี้มันจะสัมผัสด้วยอวิชชานะ มันก็เอาไอ้ความรสอร่อยที่ได้มาจากทางตามาเป็นเรื่องที่หนึ่ง เรามีความรู้สึกอร่อยทางตานี้เป็นตัววัตถุที่หนึ่ง เป็นธรรมารมณ์ ทีนี้มโน คือใจล้วนๆ เข้ามาสัมผัสความอร่อยทางตานี่ ก็เกิดมโนวิญญาณชนิดนี้ขึ้นมา ตรงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่ว่าจะโง่หรือไม่โง่ ถ้าโง่ เอ่อ,ถ้าไม่โง่ก็แล้วไปมันจะทำถูกต้องไม่เกิดความทุกข์ แต่ถ้าโง่มีอวิชชาขึ้นมาแล้ว มันก็หลงทั้งนั้นแหละ มันก็หลงในความอร่อยที่เกิดขึ้นทางตานั้นแหละ เขาจึงเรียกว่าสัมผัสด้วยความโง่ แล้วเกิดเวทนามาอีกอันหนึ่ง อันหนึ่งใหม่ เป็นเวทนาที่มาจากการสัมผัสด้วยความโง่ ทีนี้เวทนาอันนี้มันยิ่งอร่อยมากขึ้นไปอีก ถึงกับเป็นที่ตั้งของตัณหา ให้เกิดตัณหาขึ้นมา เป็นความอยากเป็นกิเลส ประเภทความโลภ หรือราคะ ความกำหนัด ตัวตัณหาคือสิ่งนี้ เกิดตัณหาคือความอยาก หรือความโง่อย่างรุนแรงแล้ว มันเกิดความรู้สึกเป็นตัวกู ผู้อยาก จึงเกิดผู้อยาก เกิดความอยากแล้วเกิดผู้อยาก พอเกิดผู้อยากแล้วมันก็ได้การแหละคือตัวผู้อยากนั่นแหละเป็นตัวผู้ทุกข์ก็มีความทุกข์ มันรักมันหลงมันอะไรก็ตาม มันก็เป็นทุกข์ไปตามแบบของมัน นี่คือรอบที่สอง เขาเรียกว่าสัมผัสด้วยอวิชชา เป็นเรื่องทางใจล้วน ในรอบแรกมันสัมผัสตามธรรมชาติ เป็นเรื่องทางวัตถุ ทางรูปธรรม หรือทางนามธรรมล้วนๆ ที่มันไม่เกี่ยวกับกิเลส พอรอบที่สองมันเกี่ยวกับกิเลส นี่คือความลับอย่างยิ่งของชีวิตหรือของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต
ในชีวิตประจำวันของคนทุกคนจะต้องมีอาการอย่างนี้ แล้วมันสำคัญอยู่ที่ว่าอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ไอ้การสัมผัสของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่ สัมผัสแล้วเกิดอะไรขึ้นมาแล้ว อวิชชามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ถ้าอวิชชามาเกี่ยวข้องก็ได้เกิดกิเลสแล้วเป็นทุกข์ ถ้าอวิชชามิได้มาเกี่ยวข้องก็มิได้เกิดกิเลสและมิได้ทุกข์ ก็ดูกันตอนนี้เสียทีว่า เดี๋ยวนี้คุณก็มีตาและก็เห็นรูปทั้งหลายเหล่านี้อยู่ แล้วบางรูปก็สวย บางรูปก็ไม่สวย แล้วทำไมจึงไม่เป็นทุกข์ ที่เราเห็นสิ่งต่างๆ อยู่ในตึกหลังนี่ อยู่โดยรอบนี้ก็ดี ข้างนอกนี้ก็ดี มันไม่ได้เป็นทุกข์ เพราะว่ามันไม่ได้มีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้อง เว้นไว้แต่ว่าการเห็นเป็นต้นนั้นมันให้เกิดเวทนาที่มีความดึงดูด หรือว่าความเอร็ดอร่อยมากถึงขนาดที่จะเรียกร้องการสัมผัสรอบหลังนั่น นี่ถ้าสมมติว่าคนบางคนนะไม่ใช่ทุกคนมันเกิดชอบอะไรในที่นี่ขึ้นมาในสถานที่นี้มากๆ มันจึงจะเกิดการสัมผัสรอบหลัง และมีความทุกข์ ดังนั้นจึงต้องยกตัวอย่างด้วยไอ้การเห็นที่มันยั่วยวนที่สุดนั่น เช่นว่าชายหนุ่มเห็นหญิงสาว หญิงสาวเห็นชายหนุ่มนี่เอ้า ถ้ามันเกิดเป็นที่ถูกตาถูกใจแล้วมันจะต้องเกิดอวิชชาสัมผัสคือความโง่เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็มีความคิดนึกปรุงแต่งเป็นตัณหาอุปาทาน ได้มีความกระวนกระวายใจเป็นอย่างน้อย เป็นความทุกข์เป็นอย่างมาก นี่เห็นได้ชัดเพราะอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้เกิดการสัมผัสด้วยความโง่ ทีนี้ก็พูดเลยต่อไปขั้นหนึ่งว่า อวิชชามันอยู่ที่ไหนทำไมมันจึงวิ่งมาง่ายๆ คล่องๆ อย่างนี้ อวิชชามันอยู่ที่ไหน มันมาจากไหน เมื่อชายหนุ่มเห็นหญิงสาว หญิงสาวเห็นชายหนุ่ม ปรุงเป็นเวทนาแล้ว มันก็เกิดตัณหาอุปาทาน แต่ทีนี้สมมติว่าสุนัขตัวหนึ่งมันเห็นหญิงสาว มันเกิดความรู้สึกอย่างนั้นได้หรือไม่ มันก็ไม่ได้สิ เพราะมันไม่ใช่เกี่ยวกับเพศอย่างเดียวมันต้องมีความเข้าใจด้วย มีความรู้สึกด้วย และเป็นความโง่หรือความฉลาดด้วย ทีนี้เราก็ศึกษาไอ้สิ่งที่เรียกว่าอวิชชา อวิชชา คือสภาพที่ปราศจากความรู้อันถูกต้อง อย่าไปพูดผิดๆ ตามเขาว่าอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น
ถ้าเอาตามความหมายชัดๆ ว่า อวิชชา คือภาวะ หรือสภาวะที่ปราศจากความรู้อันถูกต้อง เรียกว่าอวิชชา แต่เราเรียกกันง่ายๆ ว่าความโง่ ก็ถูกเหมือนกัน เพราะว่าในความโง่นั้นมันปราศจากความรู้อันถูกต้อง ทีนี้มันอยู่ที่ไหนมันรออยู่ที่ไหน มันพรักพร้อมที่จะมาเกิด มันอยู่ที่ไหน ทีนี้จะต้องรู้จักคำอีกคำหนึ่งแล้ว นี่รบกวนความง่วงนอนมากขึ้นไปอีก คือคำว่า อาสวะ คุณเคยได้ยินไหม พูดว่ากิเลสแล้วก็มักจะพูดเลยไปถึงอาสวะ กิเลสอาสวะ เป็นกิเลสอาสวะ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัวนี้เรียกว่ากิเลส แต่ว่าความเคยชินซ้ำๆ ซากๆ ของสิ่งนั้นที่เคยชินอย่างยิ่งในนิสัย สันดานของเรา ส่วนนั้นเรียกว่าอาสวะ แล้วมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีกว่าสังโยชน์บ้าง ว่าอนุสัยบ้าง อย่าเพิ่งพูดถึงดีกว่า เรียกว่าอาสวะก่อน อาสวะนี้แปลว่าของหมักดอง เอาอะไรใส่ไหดองไว้นานๆ เรื่อยไปนี่เขาเรียกว่าของดอง กริยาอาการอย่างนั้นคืออาการของอาสวะ เอ้าพูดกันรวมๆ ดีกว่าว่าตั้งแต่เกิดออกมาจากท้องแม่นั่น เคยโง่กี่ครั้ง เอ้า,นับกันดูสิว่าตั้งแต่เกิดจากท้องแม่นี่เคยโง่กี่ครั้ง ร้อยครั้งถึงไหม ไม่เชื่อ ร้อยครั้ง พันครั้งถึงไหม เออ, มันต้องหมื่นครั้ง หลายหมื่นครั้ง นั่นมันต้องสะสมสะสม สะสมความชินแห่งความโง่ ความเคยชินแห่งความโง่ที่อยู่ในสันดานนี้ เรียกว่าอวิชชา เป็นอาสวะเรียกว่าอวิชชาสวะ แล้วเราไม่ได้เคยชินแต่จะโง่ เราเคยชินในทางที่จะรักด้วย เพราะมันมีสิ่งที่ทำให้เรารัก รักนั่น รักนี่ รักโน่น ชินเป็นหมื่นครั้ง พันครั้งเหมือนกัน อย่างนี้เขาเรียกว่า ราคานุสัย คืออวิชชาที่สะสมไว้สำหรับที่จะรัก เรียกชื่อว่า ราคานุสัย แปลว่า ราคะที่นอนอยู่ในสันดาน แล้วยังมีความเคยชินที่จะโกรธด้วยใช่ไหม ตั้งแต่เกิดมาเคยโกรธกี่ครั้ง กี่สิบครั้ง กี่ร้อยครั้ง กี่พันครั้ง มันมีความเคยชินเท่าไหร่ นี่ความเคยชินในการโกรธนี่เขาเรียกว่า ปฏิฆานุสัย ปอ แล้วก็ ตอปฏัก สระอิ คอระฆัง สระอา นอหนู สระอุ แล้วก็สอ เสือไม้ผลัด ยอยักษ์ ปฏิฆานุสัย นี่คือความเคยชินสำหรับการโกรธ ที่เราโง่ๆๆ ก็เรียกว่าอวิชชานุสัย อวิชชานุสัย ความโง่ที่นอนอยู่ในสันดาน ราคานุสัย เอาใหม่นะ หนึ่ง ราคานุสัย ความโง่ที่จะรัก ความเคยชินในความรัก ที่นอนอยู่ในสันดาน สอง ปฏิฆานุสัย ความเคยชินในการที่จะโกรธ จะเกลียดนี่เรียกว่าปฏิฆานุสัย สาม อวิชชานุสัย ความเคยชินที่จะโง่ ที่จะไปกลัวบ้าง ที่จะไปวิตกกังวลบ้าง อะไรบ้างก็ตามใจ อย่างที่หนึ่งเพื่อรัก อย่างที่สองเพื่อโกรธหรือเกลียด อย่างที่สามเพื่อโง่ ทั้งหมดนี้เป็นอวิชชา ในแบบหนึ่งๆ ดังนั้น พอมีอะไรมาทำมายั่วให้รัก เราก็รักใช่ไหม พอมีอะไรยั่วให้โกรธเราก็โกรธ พอมีอะไรมายั่วให้โง่เราก็โง่ หรือหลง หลงใหล เช่นเราไปกลัว กลัวจิ้งจก ตุ๊กแก ลูกหนู หรือเปล่า นี่มันเป็น นี่มันเป็นอนุสัย นี่คืออวิชชา แล้วก็ดูสิมันพร้อมไหม มันมีพร้อมไหม มันมีพร้อมที่จะมาเมื่อไหร่ก็ได้ใช่ไหม คือความเคยชินซ้ำๆ ซากๆ หมื่นครั้งแสนครั้งที่จะรักบ้าง ที่จะโกรธบ้าง ที่จะโง่บ้าง ดังนั้น เมื่อเราเห็นรูปฟังเสียงหรือดมกลิ่น ลิ้มรสอะไรก็ตาม เราพร้อมที่จะรักบ้าง ที่จะโกรธบ้าง ที่จะโง่บ้าง นั่นแหละ ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งมาแล้วก็เรียกว่าอวิชชาทั้งนั้น นี่คือ อวิชชาสัมผัส เป็นการสัมผัสในรอบที่สอง ที่จะทำให้เราเกิดความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความหลง ความอะไรต่างๆ แล้วเป็นทุกข์ นี่คือความลับของชีวิต มันไปตั้งปัญหาเอาเอง สะสางเอาเอง ศึกษาเอาเอง ว่าทำไมเราจึงรัก ทำไมเราจึงโกรธ ทำไมเราจึงกลัว ทำไมเราจึงลังเล สงสัย วิตก กังวล ก็เพราะว่าเราสั่งสมไอ้ความเคยชินชนิดนี้ไว้มากมายเหลือเกิน ความเคยชินนี้ เรียกว่าอนุสัย ก็มีเรียกว่า อาสวะ ก็มี ก็ได้ เรียกว่าอนุสัยก็ได้ อนุสัย นี่แปลว่า มานอนอยู่ในจิตใจ มันเป็นความเคยชินเท่านั้นแหละ มันมีมากอยู่ในจิตใจ ถ้าเรียกว่า อาสวะ หมายความว่า มันหมักดอง สะสม หมักหมมอยู่ในจิตใจ แล้วมันจึงมีมาก และมีพร้อมพรัก รวดเร็ว ว่องไว เพราะมันมีมากที่จะเกิดรัก เกิดโกรธ เกิดโง่ ถ้ามันกำลังทำหน้าที่อยู่เราเรียกว่ากิเลส เช่น ความรักนี่ เราเรียกว่า ราคะหรือความโลภก็ได้ นี่คือกิเลส เกิดอยู่เดี๋ยวนี้ ถ้าเราไปโกรธหรือประทุษร้าย เรียกว่าความโกรธหรือโทสะ นี้มันเป็นกิเลส โทสะเป็นกิเลส ถ้าเราไปโง่ เรียกว่าโมหะ นี่มันเป็นความโง่ เรียกว่า โมหะ โลภะ โทสะ โมหะ สามอย่างนี้เรียกว่ากิเลส เพราะมันเกิดอยู่เดี๋ยวนี้ พอมันเกิดเสร็จแล้ว มันหายความรู้สึกอันนี้แล้วแต่มันไม่ได้หายหมด มันสะสมความเคยชินไว้ในสันดาน เรายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ส่วนที่เป็นความเคยชินอยู่ในส่วนลึกของสันดาน ส่วนนี้ไม่เรียกว่ากิเลสแล้ว ไปเรียกชื่อว่า อาสวะบ้าง อนุสัยบ้าง ดังนั้นขอให้เข้าใจ จำไว้ง่ายๆ ว่า โกรธทีหนึ่งเราก็สะสมความเคยชินสำหรับโกรธทีหนึ่ง เรารักหรือชอบด้วยกำหนัดยินดีทีหนึ่ง ก็สะสมความเคยชินอย่างนี้ไว้ทีหนึ่ง เราโง่ทีหนึ่งก็สะสมความเคยชินอย่างนี้ทีหนึ่ง แล้วมันสะสมไว้มาก ดังนั้นมันจึงพร้อมพรักที่จะออกมา เมื่อตาเห็นรูปแป๊ปเดียวมันก็โง่ได้ มันก็หลงรักได้ หรือหลงเกลียดได้ หรือถ้ามันไม่เข้าใจมันก็สงสัยได้
พระพุทธเจ้าท่านจึงบัญญัติไว้ดีมาก จดและจำไว้อีกทีหนึ่งว่า ถ้าเราได้รับความสุขความพอใจนะ มันก็เพิ่มไอ้ราคานุสัย คือชินที่จะรัก ถ้าเราได้รับความทุกข์โทมนัสขัดใจ เราก็เพิ่มปฏิฆานุสัย ชินที่จะโกรธ ถ้ามันไม่สุขไม่ทุกข์ มันไม่แน่ ว่าอะไรแน่ อย่างนี้มันก็เพิ่มความโง่ คือความสงสัย ลังเล วิตกกังวล พัวพันอยู่นี่ เกิดความสุขเพิ่มราคานุสัย เกิดความทุกข์เพิ่มปฏิฆานุสัย เกิดไม่ทุกข์ไม่สุขเพิ่มอวิชชานุสัย นี่เป็นคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้ คิดดูมันเป็นความลับหรือไม่ลับ เป็นความลับอย่างสุดซึ้งของสิ่งที่เรียกว่าชีวิตหรือไม่
ถ้าว่าเข้าใจเรื่องนี้ก็จะเป็นอันว่าเข้าใจทั้งหมดทุกๆ เรื่องในพระพุทธศาสนา ทำไมเราจึงโกรธง่าย เกลียดง่าย กลัวง่าย รักง่าย แว่บเดียวเหมือนกับฟ้าแลบ เพราะว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าอนุสัยหรือสังโยชน์ อาสวะนี่มันเต็มปรี่อยู่ในสันดาน เมื่อตะกี้ก็พูดกันแล้วว่าเคยรัก เคยโกรธ เคยเกลียด เคยกลัวตั้งร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง แล้วก็ตั้งแต่ออกจากท้องแม่มาก็เริ่มทำเป็นแล้ว จนบัดนี้ เพราะฉะนั้นจึงคิดดูคำนวณดูว่ามันเหนียวแน่นสักเท่าไร ไอ้ความมากมายอย่างนี้มันเหนียวแน่นสักเท่าไร นี่มันตอบได้ทันทีว่าทำไมมันจึง ละยาก การที่เราจะละความโกรธ ความโลภ ความหลงนี่มันยาก มันยากเพราะเหตุไร เพราะมันสะสมความเคยชินแห่งความเป็นอย่างนั้นไว้ ไม่รู้กี่ร้อยกี่หมื่นครั้งตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้ ท่าจะท้อใจกระมัง ที่จะละสิ่งเหล่านี้ ก็อย่าเพิ่งท้อใจเพราะว่าถ้าละได้นี้ ละสิ่งเหล่านี้ได้หมดมันเป็นพระอรหันต์โน่น เราอย่าเพิ่งเอาถึงนั่น เราเอาแต่เพียงให้มันเบาบางก็ได้ หรือควบคุมมันไว้ให้ได้ก็ได้ อย่าให้มันขึ้นมา อย่าให้มันได้อาหารกิน สมมติว่าความรักนี่ ความดึงดูดให้รักนี่ ถ้าเราปฏิเสธไว้ได้เรื่อยๆ ห้ามกันไว้ได้เรื่อยๆ มันก็จะถอยกำลังลงไปในการที่จะรัก ความโกรธก็เหมือนกันถ้าเราคอยห้ามกันไว้ได้บ่อยๆ เข้า บ่อยๆ เข้า มันก็ถอยกำลังลงไปทุกที ความโง่ก็เหมือนกันเราอย่าโง่สิ ต่อไปนี้อย่าโง่สิ ความโง่เดิมๆ ก็จะถอยกำลังลงไปทุกที ที่มันพร้อมที่จะโง่มันก็มีน้อยเข้าๆ อย่างนี้คืออาการที่ได้พูดมาแล้ว ในการพูดครั้งที่แล้วมาว่าเราจงเป็นอยู่ให้ดี อย่าให้กิเลสมันได้กินอาหาร เราอย่าไปโกรธใหม่ รักใหม่ โลภใหม่ โง่ใหม่สิ กิเลสมันก็ไม่ได้กินอาหาร ก็คือ อาสวะนั่นแหละ มันจะคลายความหมักดอง คลายความเคยชิน นี่เราก็มีกิเลสเบาบาง เช่นว่าจะโลภน้อย จะโกรธน้อย จะโง่หลงน้อยลงทุกทีๆ เพราะว่าเราควบคุมไว้ด้วยสติสัมปชัญญะเรื่อย ถ้าหมดกิเลสหมดอนุสัย นั่นเป็นพระอรหันต์สูงสุดเลย ไม่มีอะไรจะสูงกว่านั้น เดี๋ยวนี้เราเอาแต่ว่าระลึกให้ได้ทันท่วงที ควบคุมไว้ให้ได้ ก็แปลว่าตัดอาหารมันทุกทีไปแหละ จนกว่ามันจะตาย แล้วมันมีความสุขสบายมันไม่ร้อน
คำพูดที่ลึกซึ้งกว่านี้ก็ว่า ความทุกข์มันก็ร้อน ร้อนอย่างกับถูกราดด้วยน้ำร้อน แต่ว่าไอ้ความสุขมันก็ร้อนอย่างลึกลับ มันร้อนอย่างเปียกแฉะ มันเลยชอบกันเลยเอร็ดอร่อยแล้วก็พอใจกัน มันร้อนอย่างที่บอกไม่ถูก เช่นความร้อนของความรักอันนี้ ไม่มีใครเกลียด แต่ถ้าความร้อนความโกรธนี่คนมันเกลียด มันเกลียดง่าย เห็นง่าย เข้าใจง่าย แล้วความร้อนของความโง่ยิ่งเห็นยาก มันจึงได้โง่กันมากขึ้นๆ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าราคะก็เป็นของร้อน โทสะก็เป็นของร้อน โมหะก็เป็นของร้อน แต่เราจะเห็นได้ง่ายๆ ก็เพียงว่าโทสะเป็นของร้อน ส่วนราคะเป็นของร้อนถ้าคิดให้ดี ถ้าคิดให้ดีก็เห็นได้เหมือนกัน แต่มันร้อนอีกแบบหนึ่ง ซึ่งคนเขาชอบกัน แล้วก็โมหะมันเห็นยากว่ามันร้อนอย่างไร มันโง่ มันหลง ถ้าจะดูง่ายๆ ก็ไปดูที่ความกลัว เรากลัวอะไรมากๆ เวลาที่เรากลัวจริงๆ มันร้อนชนิดหนึ่ง มันไม่เหมือนราคะไม่เหมือนโทสะแต่มันก็ร้อน ความวิตกกังวลนี่มันร้อน มันพวกโมหะ ความกลัว ความสงสัยมันรบกวนจิตใจเหลือประมาณ นี่มันร้อนแบบโมหะ ราคะก็ร้อน โทสะก็ร้อน โมหะก็ร้อน เพราะฉะนั้นเราอย่าไปชอบมัน แต่ว่าเรายังมีอวิชชาอยู่เพียงใดเราก็ต้องไปชอบมันแน่ๆ นี่คืออาการที่เราไม่รู้ความจริงของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต อยู่ในโลกก็ไม่เห็นโลก มีตาก็มองไม่เห็นอะไร เหมือนกับนกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ เป็นต้น ระวังให้ดี มันน่าอาย ถ้าเราไปเป็นปลาแล้วก็ไม่เห็นน้ำนี่มันน่าอาย เราอยู่บนบก มองเห็นปลา ปลามันไม่เห็นน้ำ เราก็ดูถูกมัน นี้เราอยู่ในโลกแล้วก็ไม่เห็นโลก ทีนี้ปลามันจะด่าเราบ้างแล้ว เพราะว่าคนอยู่ในโลกแล้วก็ไม่เห็นโลกนี่มันก็ถึงทีที่ปลามันจะด่าคนบ้างแล้ว ความลับของชีวิตมันมีอยู่อย่างนี้ นี่มันอาจจะสูงเกินไปลึกเกินไปก็ได้สำหรับคนที่โง่ แต่มันอาจจะพอดีที่สุด จำเป็นที่สุด สำหรับทุกคนที่จะอยู่ในโลก นี่เครื่องรางที่แขวนแล้วจะไม่ต้องร้องไห้ แขวนพระเครื่องให้คอหักก็คุ้มไม่ได้ ยังจะต้องร้องไห้ ยังจะต้องกลัวผี แต่ถ้าเรามีความรู้อย่างนี้แล้วมันคุ้ม คุ้มได้ไม่ร้องไห้ ไม่โง่ ไม่อะไรอีกต่อไป นี่คือความลับของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต มันสรุปอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ต้องไปสนใจที่อื่น เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูได้ยินเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น เมื่อลิ้นได้รส เมื่อผิวกายได้รับสัมผัสทางผิวกาย เมื่อจิตได้รับอารมณ์ผ่านจิต ทำให้ดี อย่าให้มันเดิน อย่าให้กระแสมันเดินไปทางความโง่หรืออวิชชา แต่ให้มันเดินไปในทางวิชชา ปัญญา โพธิ คือตาเห็นรูปนี้ก็แล้ว เห็นศัตรูเลย จะทำอย่างไร อย่าไปโง่อย่าไปโกรธ แก้ไขทำให้ดี ทำให้ถูกต้อง อย่าให้ศัตรูทำอะไรเราได้ หรือเราไปเห็นสิ่งที่น่ารัก อารมณ์เป็นที่รัก เห็นเพศตรงข้ามหรืออะไรก็ตาม อย่าไปโง่อย่าไปรักมันเข้า ต้องไปคิดดูก่อนว่าจะทำอย่างไร ควรทำอย่างไร ถ้าจะสัมพันธ์จะติดต่อกันหรือจะเป็นสามีภรรยากัน ก็ต้องทำด้วยความฉลาด อย่าทำด้วยอวิชชา มันจะเป็นทุกข์
ฉะนั้นเราจะไม่มีความทุกข์ได้ ก็เพราะมีวิชชา มีปัญญา มีสัมมาทิฐิ มีโพธิ ซึ่งไม่ใช่อวิชชาก็แล้วกัน นี่ปัญหาอย่างยิ่งมันลึกอย่างนี้ มันยากอย่างนี้ แต่มันก็แก้ได้ด้วยอาการเช่นนี้ เอาแหละ พิจารณาดูแล้วกันว่าไอ้หนังสือความรู้ทางหนังสือ ทางเทคโนโลยีอะไรที่เรียนๆ มาในวิทยาลัยนั้นมันจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ไหม ถ้าเห็นว่าไม่ได้แล้วหล่ะก็ช่วยสนใจเรื่องของพระพุทธเจ้าบ้าง เพราะว่าคนเรามิได้มีปัญหาแต่เพียงเรื่องปากเรื่องท้อง เรื่องกินเรื่องอยู่ มันยังมีปัญหาอันลึกซึ้งทางจิตทางใจ มันจะต้องมาศึกษาในโรงเรียนของพระพุทธเจ้า คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่แหละให้รู้กันไว้แล้วมันจะช่วยแก้ปัญหาอย่างนี้ พอเราแก้ปัญหาอย่างนี้ได้แล้วเราก็สบาย เป็นสุขที่สุด แล้วเราจะทำหน้าที่ต่างๆ ที่เป็นอาชีพได้ด้วย สมมติว่าถ้าหัวใจของครูมันร้อนระอุอยู่ด้วยราคะด้วยความรักนี่ สอนหนังสือได้ไหม ลองคิดดูสิ การสอนหนังสือเป็นอาชีพที่จะต้องทำ แต่ถ้าหัวใจมันกำลังบ้าอยู่ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วมันสอนได้ไหม มันจะเอาออกไปได้อย่างไร นี่มันก็คือวิธีของพระพุทธเจ้า ถ้าเราใช้วิธีนี้เราก็เป็นสุข สบาย เยือกเย็นอยู่ตลอดเวลา แล้วเราก็สอนหนังสือได้ แล้วก็สอนได้ดี แล้วก็มีเมตตากรุณารักเด็กทุกๆ คนในโลก ถ้าเป็นครูแท้ต้องรักเด็กทุกคนในโลก มีเมตตากรุณาอย่างนั้น
นี่คือความลับเอ่อ,ของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ซึ่งมีอยู่หลายแบบหลายระดับเหลือเกิน คนโง่ก็เห็นชีวิตไปแบบหนึ่ง คนฉลาดก็เห็นชีวิตไปแบบหนึ่ง แม้คนคนเดียวกันนั้นแหละ พอมันยังเป็นเด็กเล็กๆ เป็นเด็กอมมือมันก็รู้สึกชีวิตไปแบบหนึ่ง พอเป็นโตเดินได้ก็รู้อีกแบบหนึ่ง เป็นวัยรุ่นขึ้นมาก็รู้จักชีวิตอีกแบบหนึ่ง โตเป็นหนุ่มเป็นสาวก็รู้แบบหนึ่ง เป็นพ่อบ้านแม่เรือนก็รู้ไปอีกแบบหนึ่ง เป็นคนเฒ่าคนแก่ก็รู้ไปอีกแบบหนึ่ง นี่ถ้ายังโง่เป็นปุถุชนก็รู้อีกแบบหนึ่ง ถ้าฉลาดเป็นพระอริยเจ้าก็รู้ไปอีกแบบหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าท่านรู้จนสามารถจะกำจัดปัญหาความทุกข์ทั้งหลายได้นั่น ท่านจึงเป็นพระอริยเจ้า เป็นบุคคลที่ประเสริฐที่เราเคารพบูชากันนี่ ดังนั้น คำว่า พระอริยเจ้า จึงไม่ใช่บุคคลที่จะควรรังเกียจ เกลียดกลัวอะไร เป็นแต่ผู้ที่รู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริง เอาชนะความทุกข์ทั้งหลายได้ เพราะว่าท่านรู้ความลับของไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิต ถึงที่สุดท่านก็ได้ชีวิตนิรันดร
การบรรยายวันนี้ก็พอสมควรแก่เวลา ยุติไว้ที เพียงเท่านี้