แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่จะเป็นครูทั้งหลาย การบรรยายในครั้งที่ ๒ นี้ จะพูดโดยหัวข้อว่า ผู้เป็นครูจะต้องรู้จักมองสิ่งทั้งปวงในด้านใน การมองสิ่งทั้งปวงในด้านในเป็นความจำเป็นสำหรับผู้ที่จะเป็นครู เพราะว่าครูที่แท้จริงนั้นคือผู้นำในทางวิญญาณ คือสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณนั้นมันเป็นเรื่องลึก เพราะว่ามันไม่ใช่เรื่องวัตถุ ไม่ใช่เรื่องร่างกาย แม้ว่าสิ่งนั้นมันจะแสดงออกมาทางร่างกาย มันก็ไม่ใช่ร่างกาย เราจึงต้องมองให้ลึกกว่าร่างกายเข้าไปอีก จึงจะพบสิ่งที่เรียกว่า จิต หรือ วิญญาณ นี่เรียกว่ามองด้านใน คำว่า มองด้านในนี้มีความหมายมาก จะเอามาพูดกันสักสองอย่างก่อนเท่าที่จำเป็น คือว่าการมองด้านในนั้น หมายถึงมองได้ลึกลงไปหลายๆ ชั้น หลายๆ ชั้นทีเดียว นี่อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็คือ การมองเห็นตรงกันข้ามจากที่พวกมองด้านนอกเขามองเห็น นี่ขอให้เข้าใจลักษณะของการมองทั้งสองนี้ มองได้ลึกหลายชั้น และการมองเห็นถูกต้องนั้นมันตรงกันข้าม จากที่คนธรรมดามองเห็นเสมอ เรียกว่ามองอย่างคนธรรมดามอง กับมองอย่างผู้มีปัญญาลึกซึ้งมอง แล้วที่ว่ามองหลายชั้นนี้ เป็นอย่างไร คนเรามักจะมองรู้จักแต่เพียงชั้นเดียว หรือสองชั้นเท่าที่เราเกี่ยวข้อง หรือว่าเท่าที่เราสนใจ หรือพูดอีกทีหนึ่งก็เท่าที่สติปัญญาอันน้อยของเราจะมองเห็น ฉะนั้นเราจะเห็นได้ที่การมองของเด็กเล็กๆ แล้วก็โต โตขึ้นมาตามลำดับ มันมองได้ลึกกว่ากันอย่างนี้ การมองหลายชั้นนั้นมันเป็นเรื่องของคนที่มีสติปัญญาด้วย และก็เห็นสิ่งต่างๆ มามากด้วย จึงจะมองได้หลายชั้น ยกตัวอย่างเหมือนอย่างว่าเล่นหมากรุก เล่นหมากฮอท หมากเก็บอะไรก็ตามใจ ไอ้คนที่มันมีปัญญาลึกมันมองไปได้ล่วงหน้า สองชั้นบ้าง สามชั้นบ้าง มันจึงเล่นหมากรุกเก่ง อีกฝ่ายหนึ่งมันสู้ไม่ได้ เรียกว่ามันมีตาชั้นเดียว คนที่มันฉลาดมองได้หลายชั้น มันก็ชนะเรื่อย นี่ก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง ยิ่งมองได้หลายชั้นมันก็ยิ่งมีสติปัญญามาก ยิ่งมีสติปัญญามากมันยิ่งมองหลายชั้น ถ้าเราจะเป็นครูจริงๆ คือเราจะมีอะไรเหนือลูกศิษย์จริงๆ เราก็ต้องมีสติปัญญามากกว่า หรือมองได้หลายชั้น ตรงนี้ขอเตือนซ้ำอีกทีว่าเราจะพูดกันถึงเรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวกับครูนี่ ในส่วนที่ลึกซึ้งถึงที่สุดที่ครูจะมีได้ เห็นได้ มองได้ เราจะไม่พูดเพียงเพื่อครูเด็กๆ สอน ก ข ก กา แล้วก็เลิกกัน นี่ขออย่าได้จัดตัวเองไว้เพียงเท่านั้นเลย เพราะเดี๋ยวนี้เราจะรู้เพียงเท่านี้ จะทำหน้าที่เพียงเท่านี้ก็ยาก ขอทีอย่ายินดีเพียงเท่านั้น คิดว่าจะทำให้ถึงระดับสูงสุดของอุดมคติ หรือหน้าที่ของครู ฉะนั้นจึงขอให้สนใจในเรื่องที่จะทำอะไรให้ลึกซึ้ง ไม่ต้องเสียดายเวลาที่จะไปเล่นหัวสนุกสนาน เอามาใช้เพื่อความเป็นครูที่ลึกซึ้งกันดีกว่า นั่นแหละมันจะปลอดภัยแก่ชีวิต ร่างกาย แล้วมันก็จะทำหน้าที่ได้ดีที่สุดเป็นปูชนียบุคคลได้ เอาหละทีนี้จะยกตัวอย่างแบบรู้วิธีมองด้านในที่เรียกว่าลึกซึ้งหลายๆ ชั้น แล้วก็กล่าวตามหลักของพระพุทธศาสนาด้วย เรื่องนี้ขอให้เข้าใจกันเป็นที่แน่นอนตลอดกาลเลย ว่าไอ้เรื่องที่เอามาพูดหรือหลักที่บรรยายนี้จะบรรยายไปแต่ตามหลักของพุทธศาสนาเท่านั้น อย่างวิชาชาวโลกเขาจะพูดกันอย่างไรก็ ตามใจเขา เราไปเปรียบเทียบกันดูก็แล้วกัน ตามหลักของพุทธศาสนา ถ้าจะมองให้รู้จักสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าสิ่งทั้งหมดนั่นแหละ ถ้าจะมองกันให้ลึกซึ้งทั่วถึงตลอดแต่ต้นจนปลายแล้ว ท่านก็มีระเบียบ มีวิธี มีหัวข้อให้มองเป็นชั้นๆ หรือว่าแยกเป็นอย่างๆ นั้น อย่างน้อยก็ หก หกอย่าง หรือหกชั้น นี่อันนี้ต้องช่วยจำไว้ด้วย การที่จะมองสิ่งใดให้รู้จักแต่ต้นถึงที่สุดจริงๆ นั้น จะต้องแบ่งเป็นอย่างน้อยหกชั้น แล้วก็มองไปจนเห็นทุกชั้น
ชั้นแรกที่สุดก็คือ ไอ้ปรากฏการณ์ที่กำลังปรากฏอยู่ เราเรียกเป็นภาษาบาลีว่า ลักษณะภาวะ หรือภาวะลักษณะ ภาวะลักษณะ ลักษณะของภาวะ ก็ได้ทั้งนั้นแล้วแต่คำสมาสอย่างไทย หรืออย่างบาลี คือลักษณะของสิ่งที่เป็นอยู่ ภาวะลักษณะ สมัยนี้ไปเรียกกันตามภาษาใหม่ๆ นี้ว่า ปรากฏการณ์ คือสิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้า จะเป็นตัวปัญหา หรือว่าจะเป็นตัววัตถุสิ่งของ หรือเป็นเรื่องความรู้สึกคิดนึกอะไรก็ตาม มันมีปรากฏการณ์ ถ้าเป็นเรื่องวัตถุก็เห็นชัดๆ เช่น สุนัขนอนอยู่ที่นี่ นี่เป็นปรากฏการณ์อันหนึ่ง มีภาวะอย่างนี้ของธรรมชาติปรากฏอยู่ ทีนี้ถ้ามันเป็นเรื่องทางจิตใจ มันก็ต้องปรากฏแก่จิตใจ หรือตา ตาใน หรือตาที่เป็นจิตใจนั้นจะมองเห็น ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไรอยู่ เรากำลังมีความรักอยู่ เรากำลังมีความโกรธอยู่ เรากำลังมีความเกลียดอยู่ เรากำลังมีความกลัวอยู่ เป็นต้น นี่เป็นตัวอย่างของไอ้ปรากฏการณ์ที่มันปรากฏอยู่ในใจ และแก่ใจ แต่นี่ไม่ใช่วัตถุ นี่มันเป็นนามธรรม ทีนี้มันมีนามธรรมอีกอันหนึ่ง คือ ปัญหา หรือหน้าที่การงาน หรืออะไรก็ตาม เรามีปัญหายุ่งยากลำบากที่จะต้องแก้ ปัญหาเหล่านี้อาจจะเนื่องกันทั้งทางวัตถุ และทั้งทางจิตใจ อย่างน้อยก็ได้เป็นสามชนิด ทางวัตถุ หรือเรียกรูปธรรมก็ได้ ล้วนๆนี่อย่างหนึ่ง ทางจิตใจ หรือทางนามธรรมล้วนๆอีกอย่างหนึ่ง แล้วปัญหาที่มันยุ่งยากคาบเกี่ยว คาบเกี่ยวกันระหว่างวัตถุ กับจิตใจนั้นอย่างหนึ่ง ซึ่งคนเรามันต้องมีปัญหาอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ เช่น ปัญหาไม่มีข้าวกิน มันก็เป็นปัญหาทางจิตใจว่ามันเดือดร้อน มันหิว แล้วก็มีปัญหาทางวัตถุว่าข้าวมันไม่มี เพราะเหตุใด เหตุหนึ่ง มันทำนาไม่ได้หรืออะไรทำนองนี้ ปรากฏการณ์นี้มีได้ทั้งทางวัตถุ ทั้งทางจิตใจ และทั้งทางที่มันคาบเกี่ยวกัน นี่เรียกว่าชั้นแรก ชั้นนอกที่สุดที่เราจะต้องมองให้เห็น
ที่ชั้นที่สอง เรียกว่า สมุททัย สมุทัย เขียนเป็นไทย สะ-มุ-ทัย ไม้ผัด ญ หญิงสะกด นี่คือต้นเหตุของมัน หรือว่าที่มาของมัน เช่น สุนัขตัวนี้มันมาจากอะไร หรือความรู้สึกรัก โกรธ เกลียด กลัว เป็นต้นนี้มันมาจากอะไร หรือปัญหาต่างๆ ปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางส่วนบุคคลก็ตาม มันมีต้นเหตุมาจากอะไร หมายความว่าปรากฏการณ์นั้นๆ จะต้องมีต้นเหตุ หรือมีที่มา แล้วก็รู้จักต้นเหตุเหล่านั้นด้วย เพราะว่าถ้าไม่รู้ต้นเหตุ แล้วเราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร คิดดูสิ จะเอาแต่ลักษณะภายนอกเป็นหลัก แล้วจะแก้ปัญหานั้นมันทำไม่ได้แน่ ต้องมีความรู้เรื่องต้นเหตุของมันด้วย
นี้เรื่องที่สามก็คือว่า อัสสาทะของมัน นี่เรียกเป็นบาลี อ ไม้ผัด ส เสือ ส เสือ สระอา แล้วก็ ท ทหาร สระอะ นี่อยากให้รู้คำบาลีที่สำคัญๆ คำนี้แปลเป็นไทยๆ ง่ายๆ ก็ว่า เสน่ห์ของมัน เสน่ห์คือรสอร่อย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางอะไรก็ได้ ที่เป็นรสอร่อยของมัน ที่มันจะทำให้คน หรือสัตว์หลงใหล นี่เรียกว่าอัสสาทะทั้งนั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่หลอกลวง หรือพรางตา ตามปกติเป็นของเท็จ เป็นของหลอกลวง ผู้หญิงหลงผู้ชาย ผู้ชายหลงผู้หญิง ก็เพราะสิ่งที่เรียกว่าอัสสาทะ แล้วสิ่งนั้นมันหลอกลวงเพราะว่าต้องมีความโง่ ถึงจะไปหลงว่าสวย หรือว่าไม่สวย หรือว่าอะไรก็ตามใจ โดยธรรมชาติ จะให้ถือว่า มันไม่ต้องถือว่าสวย หรือไม่สวย คือมันเป็นอย่างนั้นเองก็แล้วกัน เช่น ดอกไม้มันเป็นอย่างนั้นเอง แต่เราได้รับการแวดล้อมอบรมศึกษามาว่าต้องสวย เช่น ดอกกุหลาบ ดอกบัวนั้น ต้องสวยที่สุด แม้ไอ้ดอกเลวๆนั้นก็ยังเรียกว่าต้องสวย ไอ้สิ่งที่ตรงกันข้ามก็ไม่สวย นี่ก็เป็นอัสสาทะ ไอ้กลิ่นหอม หรือเสียงไพเราะ หรืออะไรก็สุดแท้ มันโยงอยู่ในพวกอัสสาทะ แม้แต่สุนัขตัวนี้ ก็ว่าความน่ารักของมันมีไหม ถ้ามันมี นั่นหละคือ อัสสาทะ สิ่งที่ทำให้เราต้องเลี้ยงสุนัข มันมีในสุนัข ก็เสน่ห์ของสิ่งที่เป็นวัตถุอย่างนี้ก็ ก็ล้วนก็มี เพราะรูปร่างมันน่ารัก นี่ถ้าเผอิญมันเกิดมีนิสัยดี ฉลาดมาก สอนง่ายนี่ มันก็ยิ่งเป็นเสน่ห์ในส่วนที่เป็นนามธรรม เราก็ยิ่งชอบสุนัขมากขึ้นอย่างนี้เป็นต้น อะไรๆ ก็ต้องมีอัสสาทะทั้งนั้น เช่น ผลไม้นี่มีรสอร่อย มันก็เป็นอัสสาทะที่ทำให้ลิ้นมันชอบกิน หรือว่ามันต้องมากิน หรือว่าคนก็ต้องกิน นกก็ต้องกิน เรื่องที่สามว่าสิ่งทุกสิ่งจะต้องมีอัสสาทะ
เรื่องที่สี่ อาทีนวะ เขียนตรงๆเหมือนภาษาไทย อาทีนวะ ท ทหาร น หนู คำนี้แปลว่าโทษอันร้ายกาจ ทุกอย่างมีโทษอันร้ายกาจซ่อนอยู่คู่กันกับอัสสาทะ เช่น สุนัขตัวนี้มีความน่ารัก เราก็เลี้ยงมัน แล้วมันก็มีโทษอีกส่วนหนึ่งซ่อนอยู่ คือ ที่มันทำความลำบากให้แก่เรา อย่างเช่นถ้ามันเป็นบ้าขึ้นมา มันก็กัดเราได้ หรือว่าโทษอย่างอื่นๆก็ยังมีอยู่ ที่จะต้องมีความหมดเปลือง หรือว่าจะต้องเสียเวลาเอาใจใส่ นี่มันก็เรียกว่าเป็นส่วนที่เป็นอัสสาทะของมัน สิ่งที่น่ารัก นี่เรียกว่าอัสสาทะอยู่ที่ความน่ารัก แปลว่าในสิ่งที่น่ารักจะมีโทษที่ร้ายกาจซ่อนอยู่อีกด้านหนึ่ง คนที่เคยน้ำตาไหลเพราะไอ้สิ่งที่ตัวรักมาแล้วก็เห็นก็เข้าได้ ถ้าเราไม่รักเราก็ไม่ต้องน้ำตาไหล ก็คิดดูเถอะ นั้นสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความรัก ก็จะต้องมีสิ่งที่ทำให้น้ำตาไหลรวมอยู่ด้วย เช่น ว่าเรามี เรามีรถยนต์ เราชอบรถยนต์ มันก็สนุก ก็มีรถยนต์ แต่ระวังอันตรายที่จะเกิดจากรถยนต์ก็มีรอบด้าน นับตั้งแต่ความหมดเปลืองยุ่งยากลำบาก กระทั่งอันตรายที่จะทำให้ถึงตายกันได้ ไอ้ความรักก็เหมือนกัน มันเป็นอัสสาทะ แต่ข้างหลังก็มีอาทีนวะ คือแผดเผาหัวใจ ให้ร้อนเป็นไฟ ในความโกรธมันก็มีอัสสาทะ พอได้โกรธแล้วมันอร่อยใช่ไหม ได้ด่าเขา ได้ตีเขา มันอร่อยมือ อร่อยใจ ส่วนนั้นมันเป็นอัสสาทะ อีกทางหนึ่งมันก็มีอาทีนวะ มีโทษ ความเสียหาย ความเลว ความร้ายเกิดขึ้นจากความโกรธนั่นแหละที่ไปด่าเขา ไม่สุดแต่ความกลัว มันก็มีส่วนหนึ่งซึ่งเป็นอัสสาทะ คือ อยากจะกลัว หรือว่ายั่วให้กลัว ชวนให้กลัว ความกลัวในบางลักษณะมันก็สนุกดีเหมือนกัน มันก็มีอัสสาทะอยู่น้อยๆซ่อนอยู่ ก็มีอาทีนวะเท่าๆกันอีก ขอให้ดูโลกทั้งโลก มันมีส่วนที่เป็นเสน่ห์อย่างยิ่ง แล้วก็มีส่วนที่เป็นอัสสาทะ เป็นอันตรายอย่างยิ่ง นี่ส่วนที่สี่เรียกว่าอาทีนวะ ที่เป็นอันตราย เป็นความเลวทรามของมัน ความดีมีอัสสาทะ เป็นอัสสาทะออกหน้า แล้วก็เราก็ชอบ แล้วเราก็ต้องร้องไห้เพราะความดีกันบ่อยๆ ต้องฆ่าตัวตายเพราะความดีกันบ่อยๆ มันต้องทำให้ดีกว่านั้น อย่า อย่าทำให้มันฆ่าตัวตายเพราะความดี ในความชั่วนี้ยิ่งมีอัสสาทะ ก็เพราะคนเรามันโง่ แล้วก็ชอบความชั่วเพราะอร่อย สูบบุหรี่ก็อร่อย สูบเฮโรอีนก็อร่อย เล่นการพนันก็อร่อย เที่ยวกลางคืนก็อร่อย ก็ต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศตรงกันข้ามก็ยิ่งมีมาก มันเรียกว่าความชั่วก็มีอัสสาทะ คือเสน่ห์ ให้คนหลงรักมากกว่าความดีเสียอีก แต่แล้วมันก็มีอาทีนวะ คือโทษของความเลวทรามมากเท่าๆ กันเลย
ทีนี้เรื่องที่ห้า เรียกว่านิสสรณะ น หนู สระอิ ส เสือ ส เสือ ร เรือ สระอะ อ่านว่า นิสสรณะ นี่พูดเป็นไทยตรงๆ ง่ายๆ ก็ว่าทางออก ภาษาบาลีก็เรียกว่าอุบาย เป็นเครื่องออกไปพ้นจากอันตรายเหล่านี้ นิสสรณะ แปลว่าอุบาย เป็นเครื่องออกไปพ้นจากอันตรายเหล่านี้ นิสสรณะ เป็นไทยง่ายๆก็ว่าทางออก ความหมายที่สอง ก็เป็นที่พึ่ง เรียกว่าที่พึ่ง ความหมายที่หนึ่งแท้ๆตามตัวหนังสือ ก็เป็นทางออกไปได้ พอเราออกไปได้ก็เรียกว่าเรารอดได้ เรารอดได้ก็คือเราได้ที่พึ่ง ไอ้ทางออกนี่ก็หมายความว่า ออกไปเสียจากปัญหา หรือจากความทุกข์ หรือจากไอ้ที่เราไม่ปรารถนา มันมีอยู่เหมือนกัน เช่น ว่าหมาตัวนี้น่ารัก เราไปโง่ไปหลงไปเลี้ยงกันเสียเป็นวักเป็นเวร พอเรารู้เข้าๆเราก็ไม่รักไม่เลี้ยงก็ได้ มันมีความเข้าใจถูกต้อง แล้วก็หลุดออกมาจากการที่จะต้องเป็นทาสหมา คือไม่ต้องเลี้ยงหมา เรารักอะไรเราก็เป็นทาสของสิ่งนั้น เราก็ถูกมัด ถูกผูกอยู่ด้วยสิ่งนั้น แล้วสิ่งนั้นมันก็กัดเรา มันแผดเผาหัวใจเรา อะไรเรานี้ เรียกว่าเราเป็นทาส หมดความเป็นอิสระอยู่กับสิ่งนั้น ทีนี้ทางออกหรืออุบายก็คือ รู้จักสิ่งนั้นว่าเป็นอย่างไร ไม่โง่ไม่หลงกับมันอีกต่อไป มันจึงเป็นทางออก ถ้ามีสิ่งใดผูกมัดรัดรึงจิตใจทำให้มีความหม่นหมอง กระทั่งหาความสุขไม่ได้ แล้วก็รีบหาทางออก อุบายเป็นเครื่องออก สรุปแล้วมันรวมอยู่ที่สัมมาทิฐิ คือ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตามที่เป็นจริง มันเป็นตัวแท้ของศาสนาทุกศาสนา นั่นแหละคือทางออก พูดอีกทีสั้นๆ ก็คือ ธรรม หรือพระธรรม หรือธรรมะนั่นแหละเป็นทางออก เป็นนิสสรณะ ความทุกข์ หรือปัญหาทุกชนิดมันมีทางออกของมันโดยเฉพาะ มันมีแต่ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ เราจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ จะมองเห็นหรือจะไม่มองเห็นเท่านั้นเอง แต่ตามธรรมชาติแล้วเขาใส่มาให้เสร็จทั้งอัสสาทะ ทั้งอาทีนวะ ทั้งนิสสรณะ มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
อย่างสุดท้าย ที่หก คือเรียกว่านิโรธะ น หนู สระอิ ร เรือ สระโอ ธ ธง สระอะ เรียกว่า นิโรธะ นี่เป็นไทยก็ เป็นไทยๆก็จุดจบของมัน ตัวมันแปลว่าความดับ นิโรธะ แปลว่าความดับ ความดับ ก็คือ สิ้นสุด หรือจุดจบของมัน ทุกสิ่งจะมีจุดจบเป็นนิรันดรเป็นถาวรก็มี เป็นชั่วกรณี ชั่วเรื่อง ชั่วเหตุการณ์ก็มี มันมีจุดจบของมัน เช่น ความรักเกิดขึ้น บ้ากันไปพักหนึ่ง มันก็มีจุดจบ มีเวลาจบ มีเวลาเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ฉะนั้นทุกสิ่งจะต้องมีนิโรธะ คือจุดจบ คือความดับ เช่น สุนัขตัวนี้มันจะต้องตาย ในทางวัตถุมันจะต้องตาย มันก็เป็นจุดจบของมัน ทางรูปธรรม เช่น ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว เรื่องหนึ่ง กรณีหนึ่ง มันก็มีจุดจบของมัน แม้มันจะเกิดอีก ก็เรียกว่าจุดจบไปครั้งหนึ่ง แต่ถ้าเราปฏิบัติได้สูงสุด มันจบเลย มันจบเด็ดขาด เช่น พระอรหันต์ พบจุดจบของความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัวชั้นสุดท้ายเลย มันไม่เกิดอีก นี้สิ่งที่คาบเกี่ยวกัน คือ ปัญหาระหว่างวัตถุ กับจิตใจมันก็มีจุดจบ เช่น ปัญหาเมื่อตะกี้ว่าไม่มีข้าวกิน เมื่อรู้เรื่องราวอะไรดีแก้ปัญหานี้ได้ มันก็มีข้าวกิน หรือมันก็มีจุดจบ หรือถ้าไม่มีข้าวกินจริงๆ มันตาย มันก็ตาย มันก็เป็นจุดจบ เพราะทุกเรื่อง ทุกสิ่งทุกๆ เรื่องทุกๆ กรณีนี้จะต้องมีจุดจบ นี้เรียกว่านิโรธะ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าปัญหา ปัญหานั่นแหละเป็นตัวการ เป็นตัวสิ่งสำคัญสำหรับคนทุกคน นั้นจำไว้เถอะคำว่าปัญหา ปัญหา มันเป็นตัวการ เป็นต้นเหตุของทุกๆ เรื่องที่มนุษย์ต้องดิ้นรนขวนขวาย
ปัญหาในที่นี้ไม่ใช่คำถาม ไม่ใช่ Question ซึ่งเป็นคำถาม แต่ถ้าจะใช้เป็นคำถามมันก็ต้องให้ลึกไปในทางจิตใจก็ได้เหมือนกัน แต่ปัญหาแบบนี้เขาเรียกว่า Problem คือมันเป็นปัญหายุ่งยาก ที่มันเกิดขึ้นทั้งทางกาย ทางใจ ทางอะไรต่างๆ ไม่ใช่คำถามในโรงเรียน งั้นคำถามมีอยู่สองความหมาย คำถามที่ ที่ ที่กว้างที่สุดครอบที่คลุมไปทั้งหมดก็คือ คำถามที่ถามว่า เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร คนเกิดมามีชีวิต มันก็มีปัญหาชีวิต แล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ให้ว่าโลกทั้งโลกมีปัญหา หรือเป็นวิกฤตการณ์ ยุ่งยากลำบากเสียเรื่อย ไม่มีสันติภาพ นี่เป็นปัญหาของโลก นี่ปัญหานี้จะแก้ได้อย่างไร แต่พระพุทธเจ้าท่านเล็งไปถึงสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ความทุกข์นั้นเป็นปัญหาของทุกคน ท่านจึงพูดแต่เรื่องความทุกข์ กับความดับทุกข์ ท่านจึงพูดแต่เรื่องปัญหา กับความหมดปัญหา นี่เป็นพระพุทธภาษิตท่านตรัสยืนยันไว้ว่า แต่ก่อนนี้ก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ตถาคตจะบัญญัติขึ้นมาพูดแต่เรื่องความทุกข์ กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น เป็นพระพุทธภาษิตที่ยืนยันหลักพระพุทธศาสนา ควรจะจำไว้ด้วย มีอยู่ในหนังสือต่างๆ ที่เคยพูดเคยบรรยายมาแล้วก่อนๆ ว่ามนุษย์เรามีปัญหาคือความทุกข์ แล้วหน้าที่ของเราก็คือความดับทุกข์เสีย
ทำไมพวกคุณจึงเรียนวิชาครู เพราะเพื่อจะได้ความรู้ หรือว่าอย่างน้อยก็ได้เป็นอาชีพ ทำไมหละ มันก็มีปัญหาที่กลัวว่าจะไม่มีอาชีพ ไม่มีอาชีพ จะไม่มีอะไรเลี้ยงชีวิต จะต้องตาย หรือว่าจะต้องอยู่ด้วยความลำบาก คือ ความทุกข์ทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นเราจึงตัดปัญหาออกไปด้วยการศึกษาเล่าเรียนให้มีความรู้ความสามารถ หรืออาชีพ นี่มันก็เป็นเรื่องความทุกข์ แล้วก็จะแก้มันออกไปให้ได้ ที่ว่าเป็นครู มีอาชีพ มีฐานะดี สบายแล้ว ปัญหาหมดหรือยัง ไปดูสิ ไอ้คนรวย คนมีอำนาจวาสนายังนั่งร้องไห้อยู่บ่อยๆ แม้เทวดาก็ยังนั่งร้องไห้อยู่บ่อยๆ ตามเรื่องราวของมัน เพราะมันยังมีปัญหาอย่างอื่นอีก ปัญหาทางปาก ทางท้องมันหมดไปแล้ว ทางร่างกาย ทางครอบครัวอะไรมันหมดไปแล้ว แต่มันมีปัญหาทางจิตใจที่เกิดขึ้นจากกิเลส หรือว่าเกิดจากอวิชา ความโง่ ความหลง ยังมีปัญหาเรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความไม่ได้อย่างใจ เราจะเอาอย่างนี้ มีเงินตั้งแสน ตั้งล้านก็เอาไม่ได้ อย่างนี้เขาเรียกว่ามันเป็นปัญหาที่มันลึกเข้าไปทางจิตทางใจ ยังมีอยู่ยังเหลืออยู่อีก ฉะนั้นจะต้องมีสิ่งมาแก้ปัญหาในระดับนี้ด้วย ก็คือ ธรรมะนั่นแหละ
การประพฤติให้ถูกต้องนี้เรียกว่าธรรมะ ไม่มีข้าวกิน แล้วไปประพฤติให้ถูกต้อง ก็มีข้าวกิน เหมือนสุนัขไม่มีใครเลี้ยง มันหิวขึ้นมา มันก็ต้องหากินจนได้ นี่การหากินจนได้ ก็คือการแก้ปัญหาของมัน หรือการประพฤติธรรมะของมัน แล้วมาดูนก หนู ลิง ค่าง บนต้นไม้นี้มันก็แก้ปัญหาของมัน ด้วยการหากิน หรือว่าแก้ปัญหาอื่นๆ ทุกอย่างให้มันรอดชีวิตอยู่ได้ มันจึงไม่ตาย ไม่ได้ทำไร่ทำนา มันก็แก้ปัญหากันไปตามเรื่อง ฉะนั้นสิ่งที่มีชีวิตทุกชีวิต ทุกชนิด ก็ต้องเรียกว่ามีปัญหา คือชีวิตต้องมีปัญหา แล้วเราจะต้องแก้ปัญหานั้นให้ได้ ก็คือความดับทุกข์ให้ได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องไม่มีอะไรจะกินนี่ มันยังเล็กน้อยอยู่ เราอย่าไปเห็นแต่เรื่องว่าไม่มีอะไรจะกิน แล้วไประดมทุ่มเทกันอยู่แต่ที่ตรงนั้น มันก็ยังจะมีความทุกข์เหลืออยู่ มันยังจะน่าละอาย เดี๋ยวนี้เกือบทั้งโลกมันไประดมทุ่มเทกันแต่เรื่องจะกิน จะเล่นจะหัว จะเอร็ดอร่อย จะสนุกสนาน มันคือไปหลงผิดในสิ่งที่สาม ที่เรียกว่าอัสสาทะ สิ่งที่สามในหกสิ่งที่คุณจดจำไปแล้ว อัสสาทะ เพราะว่าโลกนี้มันเต็มไปด้วยอัสสาทะมากขึ้นทุกที
อัสสาทะตามธรรมชาติมันก็มีอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว ว่าโลกนี้งดงามหรืออะไรตามธรรมชาตินี้ ก็มีอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว มีของเอร็ดอร่อย อะไรสนุกสนานอยู่ตามธรรมชาตินั้นก็ส่วนหนึ่งแล้ว จะไปดูน้ำตก จะไปเที่ยวอุทยานธรรมชาติหรืออะไรก็ตาม มันก็มีอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว ทีนี้ ที่คนสร้างขึ้นนี่มันมากกว่ามาก เพราะถ้าเขาสร้างขึ้นมา เขาต้องทำให้มันมีอัสสาทะ ที่จะหลอกลวงล้วงกระเป๋าผู้อื่นได้ ก็คิดดูสิ ทุกอย่างที่เราต้องไปซื้อเขานั้นเพราะว่าเขาทำให้มันมีอัสสาทะ คือ เสน่ห์ที่เราต้องซื้อ ทำไมเราต้องซื้อเสื้ออย่างนี้ ซื้อผ้าอย่างนี้ยิ่งๆ ขึ้นไป จนสตางค์ของเราหมด หรือจำกัด นี่เรามันแพ้อัสสาทะของสิ่งที่เขาทำขึ้น นี่ดีแต่ว่ามีเงินเท่านี้ มันจึงซื้อได้เพียงเท่านี้ ถ้ามีเงินมากกว่านี้ มันก็ซื้อมากกว่านี้ เคยอ่านหนังสือพิมพ์แล้วสะดุ้งว่า ภรรยาหม้ายของ Mr. Kennedy ได้สามีใหม่เป็นมหาเศรษฐียิ่งขึ้นไปอีก ใช้เงินวันละหนึ่งล้านบาท ผู้หญิงคนนั้นใช้เงินวันละหนึ่งล้านบาท พวกเราเป็นครูลองคิดเลขดูสิว่าหนึ่งล้านบาทจะใช้อะไรหมดได้ เขาก็มีปัญญาจะใช้มันหมดได้ เพราะว่าในโลกนี้มันมีอัสสาทะ เปลี่ยนรถยนต์ทุกวันก็ได้ เปลี่ยนบ้านทุกวันก็ได้ อะไรก็ได้ มันก็ได้หมด จะใช้อย่างไรหมดวันละหนึ่งล้านบาท ประมาณหนึ่งล้านบาท เพราะว่าอัสสาทะที่มนุษย์ทำขึ้นมาใหม่ๆ นี้มันมีมากนัก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ให้ได้รับความสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อยในทางหกทางนี้ จนกระทั่งทางจิตใจในที่สุด รวมกันแล้วเรียกว่าอัสสาทะของโลก นี่ถ้าเรามีเงินมาก เราคงคิดจะไปเที่ยวเมืองนอก เพราะได้ยินว่ามันมีอะไรวิเศษ แต่นี่สตางค์ไม่มีไปไม่ได้ ก็ได้แต่อ่านหนังสือละเมอเฟ้อฝันอยู่จนเวลาหมดไป ไม่ได้ทำอะไรที่ดีกว่านั้น พอได้ไปเข้ามันก็ค่อยๆ จางไปเอง หรือว่าถ้าคิดเป็นคิดถูก ไม่ต้องไปก็ได้ เพราะมันไม่จำเป็นอะไรไอ้ความดับทุกข์มันอยู่ที่อื่น
ปัญหามันอยู่ที่ความทุกข์ ต้องแก้ความทุกข์ให้ได้ คนเราก็สบาย ยิ่งไปทำให้ต้องมีรายจ่ายมาก ปัญหาจะยิ่งมีมาก เช่น เขาให้ตึกหลังใหญ่ๆ เอ้า, เรามีเงินเท่านี้ ค่าคนกวาดเช็ดถูมันก็ไม่พอ นั่นแหละอย่าให้มันถูกอัสสาทะล่อลวงไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้เรารู้ ไม่ได้หมายความให้เราเกลียดไอ้สิ่งสวยงาม หรือว่าไม่สนใจสิ่งสวยงาม เราจะไปสนใจกับมันก็ได้ แต่อย่าไปหลงมัน ไปหลงมันก็เรียกว่าโง่ แต่เราเกี่ยวข้องด้วยได้ ตามที่ควรจะเกี่ยวข้อง ระวังให้ดี มันมีคำว่าตามสมควรที่เราจะทำได้ ถ้าเกินกว่านั้นหละก็ไม่ได้ ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกสิ่งได้ ตามสมควรที่เราจะเข้าไปเกี่ยวข้อง นี้เรามันก็หลงเกินไปในอัสสาทะนั้นๆ ก็เลยเกิดอาการที่น่าเกลียดน่าชังขึ้นมามากๆ ผู้หญิงอยู่ในฐานะที่ถูกหลอกลวงให้ทำสิ่งที่ ที่แท้ไม่ต้องทำ หรือไม่ควรจะทำมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการปิด และปกปิดร่างกาย ดูภาพถ่ายบางภาพแล้วมันทุเรศ เพราะว่าในที่ประชุมของผู้มีเกียรติ ผู้มีสติปัญญา มีอำนาจจะแก้ปัญหาในทางการเมืองได้เขาประชุมกัน อย่างประชุมเลี้ยงกัน หรืออะไรอย่างนี้ ผู้ชายเขาแต่งตัวปกปิดมิดชิด เหมือนกับจะซ่อนไม่ให้มีอะไรเห็น แต่ผู้หญิงนี้แต่งนิดเดียวโว้งเว้ามากขึ้นไปอีก ไม่น่าเชื่อว่าจะกล้าทำอย่างนั้น มันไม่มีหิริโอตัปปะ หรือความละอายแก่ใจเสียเลย กลับเห็นว่าดี ผู้ชายก็ว่าดี ผู้หญิงก็ว่าดี ก็ยอมทำอย่างนี้ ก็เรียกว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายที่ถูกหลอกลวง นี่มันเป็นผลของความหลงใหลในสิ่งที่เรียกว่าอัสสาทะ ผู้ชายก็หลงอัสสาทะ ผู้หญิงก็หลงในอัสสาทะ จึงร่วมมือกันทำสิ่งที่ไม่เคยมีอย่างนี้ แล้วก็ทำให้โลกหรืออนุชนรุ่นหลังมันก็ทำตาม มันก็ยุ่งหนักขึ้น เตลิดเปิดเปิงในทางมีปัญหามากขึ้น นี่โลกเราก็หวังยากในการที่จะมีสันติภาพ มันยุ่งมากขึ้นทุกทีเห็นไหม นี่อายุมันไม่กี่ปี มองไม่เห็น ถ้าลองมีอายุร้อยปี จะเห็นมาก เห็นความแตกต่างกันมาก แล้วจะเศร้าใจที่ว่ามันไหลไปเอียงไปในทางที่จะมีความทุกข์มากขึ้นทุกที
นี่พวกคุณจะเป็นครู ถ้าจะเป็นครูก็ต้องคิดถึงปัญหานี้ว่าจะช่วยลูกศิษย์อย่างไร มันก็คือช่วยอย่าให้เขาเข้าใจผิด อย่าให้มีอวิชชา ไปหลงใหลในสิ่งที่เป็นที่ตั้งของความทุกข์ ให้เขามีวิชชาคือความรู้แจ้ง แล้วก็ทำถูกในที่ควรจะทำไม่มีผิด มันก็ไม่มีความทุกข์ ถ้าเป็นวิชชาทางโลกๆมันก็แก้ปัญหาทางโลกๆ ถ้าเป็นวิชชาในทางธรรม มันก็แก้ปัญหาในทางธรรมที่สูงที่ลึกขึ้นไปจนกระทั่งถึงที่สุด ทีนี้เราแยกตัวหนังสือกันแล้ว เราไม่ยอมใช้ร่วมกันแล้ว ถ้าเป็นเรื่องทางโลกๆ เราเขียนว่า วิชา ว สระอิ ช สระอา แต่ทางเป็นเรื่องทางธรรม เราจะยังต้องเขียนว่าวิชชา อยู่นะ ตัว ช ซ้อนสองตัว ตามบาลีตามแบบเดิม เพราะวิชชานั้นมันจะแก้ปัญหาทางจิตใจได้สูงสุดไปถึงนิพพาน ไอ้ส่วนวิชาของชาวบ้านนี่ก็แก้ปัญหาของชาวบ้าน ทีนี้ผู้เป็นครูนี้จะต้องยกวิญญาณของสัตว์ให้สูงขึ้นต้องรู้ทั้งสองอย่าง วิชาชาวบ้านแก้ปัญหาชาวบ้านให้มีกินมีใช้ วิชชาทางธรรมของพระพุทธเจ้าก็ต้องมีเพื่อจะแก้ปัญหาทางจิตทางใจอย่าต้องร้องไห้เพราะความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัวอะไรมันยังมีมาก แต่ถ้าจะมีเพียงอย่างเดียวก็ขอให้มีสิ่งที่เรียกว่าวิชชาก็แล้วกัน มันจะแก้ปัญหาได้หมด ไอ้มีวิชชาของพระพุทธเจ้า หรือของธรรมมะจะแก้ปัญหาได้หมด นี่มีแต่วิชาอย่างโลกๆอย่างเดียวไม่พอ นี่ขอให้มองเห็นด้านในที่เรียกว่าด้านใน มองอย่างด้านใน ยกเอาโลกทั้งโลกนี้เป็นหลัก เป็นวัตถุสำหรับจะมอง
โลกทั้งโลกมีปรากฏการณ์อย่างนี้ คุณก็เป็นครูก็รู้เรื่องโลก อ่านหนังสือพิมพ์กันทุกวัน ฟังวิทยุกันทุกวัน ว่าไอ้ตัวโลกเดี๋ยวนี้มีปรากฏการณ์อย่างไร บนผิวโลกนี้เต็มไปด้วยคำด่ากันทางวิทยุ การเบียดเบียนกันใต้ดินบนดิน นี่หละปรากฏการณ์ของโลก เวลานี้กำลังเป็นอย่างนี้ มันดีกันแต่ปาก มันสันทวไมตรีไปมากันแต่ปาก ในใจมันคิดฆ่ากัน มีปัญหายุ่งยากทางเศรษฐกิจ อย่างเมื่อก่อนนี้นักศึกษาต้องเดินขบวนประท้วงญี่ปุ่นอย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นเรื่อง เป็นเรื่องเดียวในหลายร้อย หลายพัน หลายหมื่น หลายแสนเรื่อง เรียกว่าโลกมันกำลังมีปรากฏการณ์อย่างนี้ ลักษณะภาวะ หรือภาวะลักษณะอย่างนี้เป็นข้อแรก
ทีนี้ข้อสองสมุทัย คือ ต้นเหตุของโลกเป็นอย่างไร ก็แปลว่าตัณหา หรือความอยากของมนุษย์นั่นแหละมันเป็นสมุทัย มนุษย์มีความโง่ มีอวิชชา มีตัณหา มันอยากอย่างนั้น มันอยากอย่างนี้ มันทำแก่โลกอย่างนั้น อย่างนี้ โลกก็ออกมาในรูปนี้ เรียกว่าสมุทัย หรือต้นเหตุที่โลกเป็นอย่างนี้ก็คือ ตัณหา กิเลส ของมนุษย์นั้น ทีนี้พอทำโลกขึ้นมาอย่างนี้โลกแล้ว โลกก็มีอัสสาทะ หรูหรา สวยงาม ตามที่เรารู้เห็นกันอยู่แล้ว แม้เราไม่ได้ไปเห็นด้วยตาเรา เราก็อ่านหนังสือได้ว่ามันมีอัสสาทะเต็มไปทั้งโลกยิ่งขึ้นทุกที เวลาไม่มีพอที่จะบรรยายรายละเอียด แต่ว่าโลกนี้มีอัสสาทะ มีเสน่ห์ หลอกลวงคนยิ่งขึ้นทุกที ดังนั้นโลกนี้ก็มีอาทีนวะ คือ ความเลว จนหาความสุขไม่ได้นี้มากขึ้นทุกที ทีนี้นิสสรณะของมันก็คือ ประพฤติให้ถูกตามทางของศาสนา มีพระเจ้ากันเสียใหม่ให้ถูกต้อง ฝรั่งนั้นเอาพระเจ้าไปทิ้งเสียแล้ว หรือว่าพระเจ้าตายแล้ว ไม่มีพระเจ้าแล้ว นี่มันเป็นความผิด โลกมันจึงเดือดร้อนอย่างนี้ ใช้ธรรมมะ หรือศาสนา หรือพระเจ้า เป็นนิสสรณะเป็นทางออก ทีนี้มันก็จะได้พบจุดจบของมัน ก็คือ สันติภาพอันถาวร หรือมิฉะนั้นถ้าทำผิด ก็คือวินาศ โลกวินาศนั้น เป็นจุดจบของไอ้โลกที่มันเดินผิดทาง ไอ้สันติภาพถาวรนั้น มันก็คือจุดจบของโลกที่มันเดินถูกทาง ขอให้เรารู้จักมองด้านในที่เรียกว่ามีอยู่หลายๆ ชั้นนั้น ทีนี้ก็ยกตัวอย่างให้ดู ว่าจะมองอะไรถึงมองได้ตั้งหกชั้น คือตัวปรากฏการณ์ แล้วก็ตัวต้นเหตุของมัน ตัวอัสสาทะคือเสน่ห์ของมัน ตัวอาทีนวะคือโทษความเลวของมัน นิสสารณะคือทางออก นิโรธะ คือจุดจบ นี่เป็นตัวอย่างของการมองด้านใน
ทีนี้อย่างที่สอง ประเภทที่สอง ที่เรียกว่ารู้จักมองให้ลึกกว่าธรรมดา อย่างนี้เราเรียกกันในภาษาศาสนาว่า มองอย่างภาษาคน มองอย่างภาษาธรรม ภาษาคน ภาษาธรรม เป็นคำที่คิดขึ้นมาใหม่เพื่อใช้พูดกันที่นี่ก่อน แล้วเดี๋ยวนี้ก็ระบาดออกไปทั่ว ได้ยินได้ฟังถ้วนทั่วกันแล้วก็ใช้เป็นกันมากแล้ว คำว่าภาษาธรรม ภาษาคน ภาษาคน ภาษาธรรม มันตรงกันข้ามอยู่เสมอ หรือของเดิมแท้ๆ นั้น เขาเรียกว่า มองอย่างปุคคลาธิษฐาน คำนี้ยืดยาดไม่จำ ปุคลาธิษฐาน คือ เพ่งเล็งไปที่บุคคล เรียกว่าปุคลาธิษฐาน บุคคล แล้วก็อธิษฐานต่อกันเข้า ก็เป็นปุคลาธิษฐาน มองไปที่บุคคล ที่นี้อีกอันหนึ่งก็เรียกว่าธรรมาธิษฐาน นี่มองเพ็งไปที่ธรรม ที่ตัวธรรม ลึกไปกว่าบุคคล ก็หัดพูดให้เป็นกันเสียบ้าง ไหนๆ จะเป็นครูทั้งที คำว่าปุคลาธิษฐาน กับธรรมาธิษฐานนี้ หัดพูดให้เห็น ให้เป็นภาษาธรรมดาในบ้านในเรือนไปเสียเลย ถ้าเอาวัตถุ สิ่งของ หรือบุคคลเป็นหลัก สำหรับพูดก็เรียกว่าปุคลาธิษฐาน ถ้าเอาความจริง เอานามธรรมอันลึกซึ้งเป็นหลักก็เรียกว่า ธรรมาธิษฐาน เดี๋ยวจะอธิบายให้ฟัง ไอ้ที่เป็นปุคลาธิษฐาน เรามาเรียกกันว่าภาษาคน ไอ้ที่เป็นธรรมาธิษฐาน เราเรียกว่าภาษาธรรม คือ ลึก จะยกตัวอย่าง มัน...มันยก เพียงได้แต่ตัวอย่าง เพราะเวลามันจำกัด ถ้าเราจะพูดกันทั้งหมดสิ้นเชิง แล้วมันกินเวลาจนหมด จนไม่มีพูดเรื่องอื่นได้ ฉะนั้นจึงยกตัวอย่าง อย่างว่าเราเป็นครู เป็นพุทธบริษัทนับถือพุทธศาสนา เราก็จะต้องมีสิ่งสำคัญในพุทธศาสนา คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รู้จักกันดี พูดกันอยู่ทุกวัน แต่ทีนี้ แต่ละอย่าง ละอย่าง เช่น พระพุทธ พระพุทธเจ้านี้ มันก็มีอยู่สองความหมาย ความหมายในภาษาคน กับความหมายในภาษาธรรม ความหมายในภาษาคน พระพุทธเจ้า คือ คน พระพุทธเจ้าคือใคร ถ้าตอบในภาษาคน พระพุทธเจ้า คือ บุคคลคนหนึ่ง ชื่อนั้น ลูกคนนั้น เกิดที่ประเทศอินเดีย ประเทศนั้น เมื่อ พ.ศ. เมื่อเวลานั้น นั่นพระพุทธเจ้าอย่างบุคคล มันมีเท่านี้ พระพุทธเจ้าอย่างบุคคล ทีนี้เดี๋ยวนี้มันยังไกลไปกว่านั้นอีก เป็นพระพุทธเจ้าอย่างวัตถุ มันยิ่งกว่าบุคคลไปสิ เป็นอย่างวัตถุ เช่น เด็กๆ เขาเรียกพระพุทธรูปที่แขวนคอนี้ ว่าพระพุทธเจ้า เข้าไปในโบสถ์แทนที่จะเห็นว่าเป็นพระพุทธรูป กลับเห็นเป็นพระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธรูป เป็นพระพุทธเจ้ากันก็มีอย่างนี้ อย่างนี้มันเป็นวัตถุไปเสียอีก คือว่าไกลออกไปอีก ก็รวมอยู่ในพวกปุคลาธิษฐาน เพราะมัน เพราะมันเนื่องอยู่ด้วยบุคคล นี่พระพุทธเจ้าอย่างภาษาคน หรือภาษาปุคลาธิษฐานมันเป็นอย่างนี้ ทีนี้พระพุทธเจ้าอย่างในภาษาธรรม นี่ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เนื้อหนัง ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่พระธาตุ ไม่ใช่พระสารีริกธาตุ ไม่ใช่อะไรหมด แต่คือตัวธรรมนั่นเอง พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม มันไม่ใช่เนื้อหนังร่างกายแล้ว ไอ้ธรรมะใดที่มันมีอยู่ในร่างกายนั้น แล้วทำให้ร่างกายนั้นได้ชื่อว่าพระพุทธเจ้า นั่นคือองค์พระพุทธเจ้าจริงๆ ธรรมะที่มันดับทุกข์ได้นั่น สติปัญญา การประพฤติปฏิบัติที่ทำให้ดับทุกข์ได้นั่นแหละคือตัวธรรมะ ถ้าเห็นสิ่งนั้น จึงจะเห็นพระพุทธเจ้า เห็นแต่รูปร่างของท่านนั้น ไม่รู้ว่าใครนั้น แล้วก็ยิ่งไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ถ้าเรียนประวัติก็จะพบว่า ในครั้งพุทธกาลนั้นมีคนที่ทำตัวเป็นศัตรูกับพระพุทธเจ้า คิดฆ่า คิดทำลายพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน เขาไม่รู้จักพระพุทธเจ้าที่แท้จริง รู้จักแต่บุคคลก็เลยมีประโยชน์ขัดกัน แล้วก็คิดทำลายกัน คนกลางๆ คนไม่ได้เป็นอะไรกัน ก็เดินสวนทางกับพระพุทธเจ้า ไหล่กระทบกัน มันก็ไม่รู้จักกันหรอก มันรู้จักแต่พุทธบริษัทเท่านั้น พุทธบริษัทรู้จักพระพุทธเจ้าเพราะว่าเห็นธรรมในคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงได้พอใจพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้เขาฟัง เขาพอใจ เขาเข้าใจในธรรม เห็นธรรม เขาจึงได้พอใจพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าที่แท้จริง มันจึงคือตัวธรรม ส่วนร่างกายนั้นเป็น เครื่องมือ หรือภาชนะ หรือเปลือกนอก นี้พระพุทธเจ้าอย่างธรรมาธิษฐานนั้น คือ ธรรม คือพระธรรมที่มีอยู่ในร่างกายที่เราสมมุติเรียกกันว่าพระพุทธเจ้า นี่ยกตัวอย่างให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าภาษาธรรมกับพระพุทธเจ้าภาษาคน หรือพูดอีกทีหนึ่งก็คือพระพุทธเจ้าอย่างปุคลาธิษฐาน กับพระพุทธเจ้าอย่างธรรมาธิษฐาน นี่ขอให้จำสองคำนี้ให้ดีๆ ไปใช้พูดให้เป็นคำธรรมดาไปเลย
นี้พระธรรมก็เหมือนกันอีก เรื่องพระธรรม พระธรรมอย่างปุคลาธิษฐานก็คือวัตถุ วัตถุอะไรที่เป็นสัญลักษณ์ของพระธรรม เช่น สมุด หนังสือ คัมภีร์ หรือว่าสุ้มเสียงที่กำลังพูดนี้ ก็คือพระธรรมอย่างที่เป็น ปุคลาธิษฐาน คือ เป็นวัตถุ ส่วนพระธรรมที่เป็นธรรมาธิษฐานนั้น ไม่ใช่พระไตรปิฎก ไม่ใช่เสียงที่พูด ไม่ใช่อะไร แต่เป็นความจริง ความจริงที่มันเกี่ยวกับความทุกข์ เกี่ยวกับความดับทุกข์นั่นแหละ คือพระธรรม มันต้องถึงธรรมชนิดนั้นจึงจะเรียกว่า ถึงธรรมที่แท้จริง ทีนี้เด็กๆ ก็จะเห็นว่าใบลานก็เป็นพระธรรม ตู้พระไตรปิฎกก็เป็นพระธรรม นี่โตขึ้นถึงจึงค่อยรู้ว่ามันเนื้อหาสาระที่เป็นนามธรรมต่างหากที่เป็นพระธรรม ไอ้นั่นเป็นเพียงบันทึก บันทึกแผ่นเสียงก็ได้ บันทึกเทปก็ได้ บันทึกในกระดาษเป็นพระไตรปิฎกก็ได้ มันเป็นวัตถุ เป็นที่ตั้งแห่งการบันทึกตัวพระธรรม แม้แต่เสียงที่พูด เสียงที่แสดงธรรมนี้ ก็ต้องเป็นเหมือนกับเปลือก หรือภาชนะที่บันทึกพระธรรม ไอ้ตัวพระธรรมแท้ๆ มันเป็นนามธรรม มันไม่ใช่เป็นตัวรูปธรรม เช่นเสียงเป็นต้น นี่เราก็รู้จักพระธรรมขึ้นมากันอีกอย่างในฐานะในภาษาคน ในฐานะในภาษาธรรม หรือว่าเป็นปุคลาธิษฐาน และธรรมาธิษฐาน
ทีนี้พระสงฆ์ นี่เกือบจะไม่ต้องอธิบายแล้วมั้ง ทุกคนก็เห็นพระสงฆ์เหลืองๆ ทั่วไปหมด ไม่ว่าที่ไหนในประเทศไทย เหลืองๆ เดินได้นั่นคือ พระสงฆ์ ในภาษาคน ส่วนพระสงฆ์ในภาษาธรรมนั้น คือคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวท่าน คือ ความรู้ของท่าน การปฏิบัติของท่าน การบรรลุมรรคผลของท่านที่มีอยู่ในตัวท่านนั่นแหละคือ พระสงฆ์ที่แท้จริง ส่วนไอ้ตัวบุคคล หรือว่าไอ้สัญลักษณ์ของบุคคลนี้มันก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ตัวพระสงฆ์จริง มันกลายเป็นเปลือกของพระสงฆ์อีก แต่ถ้าพูดอย่างภาษาคนธรรมดาก็ต้องพูดว่าพระสงฆ์อยู่ที่ตัวบุคคล อย่างเช่นตามกฎหมาย คำว่าพระสงฆ์ก็หมายถึงตัวบุคคล ถ้าไปทำอันตรายพระสงฆ์ก็เรียกว่า มันก็ผิดกฎหมาย แต่ว่าธรรมะที่มีในใจของท่านที่เป็นพระสงฆ์นั้น มันไม่เกี่ยวกัน ในกรณีอย่างเกี่ยวกับกฎหมายอย่างนี้ รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นตัวอย่างนี้ว่า ในภาษาธรรมอันแท้จริงเป็นอย่างไร ในภาษาสมมุติ ภาษาชาวบ้าน ภาษาคนเป็นอย่างไร นี่เรียกว่าภาษาคน นี่คือภาษาที่ชาวบ้านพูดกันอยู่ตามตลาด ตามธรรมดาสามัญ แล้วภาษาธรรมก็ ที่พระอริยะเจ้า หรือสัตบุรุษที่มีสติปัญญาลึกซึ้งมองเห็นแล้วพูด มันต่างกันอย่างนี้ ทีนี้ดูให้ดี ดูให้ดีอีกทีหนึ่งก็จะพบว่าในภาษาคนนะ มันแยกกันเป็นสามอย่าง เป็นแก้วสามดวง เป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วสามดวง มีตั้งสาม แต่ในภาษาไทย เอ้ย...ภาษาธรรม ภาษาลึกซึ้ง กลับมีอย่างเดียว พระพุทธเจ้าองค์จริงก็อยู่ที่พระธรรม พระธรรมองค์จริงก็อยู่ที่พระธรรม พระสงฆ์องค์จริงก็อยู่ที่พระธรรม ในพระพุทธเจ้ามีพระธรรม มีธรรมอันลึกซึ้ง ในพระไตรปิฎก ในคัมภีร์ ในอะไรนี่มันก็มีธรรมอันลึกซึ้ง ในพระสงฆ์ ในชีวิตของพระสงฆ์นั้นก็มีพระธรรมอันลึกซึ้ง งั้นธรรมคำเดียวนั้นก็เป็นได้ทั้งสามอย่าง คือ เป็นหัวใจของพระธรรม ของพระพุทธเจ้าอย่างบุคคล ของพระธรรมอย่างวัตถุ ของพระสงฆ์อย่างบุคคล คนที่มีปัญญาถึงที่สุด เขาจึงพูดว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้นที่แท้เป็นสิ่งเดียวกัน เด็กๆ ฟังไม่ถูก คนแรกเรียนฟังไม่ถูกว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น โดยที่แท้ โดยเนื้อในแล้วเป็นของเดียว สิ่งเดียวกัน เราเคยได้ยินได้ฟังคำสอนมาแต่มันแยกเป็นสามอย่าง นั่นภาษาคน ในโรงเรียน ในวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัยที่คุณเรียนกันอยู่ ก็รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แต่ในภาษาคนเท่านั้นแหละ ไปดูสมุดโน้ต ไปดูตำรา ไปดูหนังสือหนังหาที่เขาให้เรียน พูดกันถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แต่ภาษาคนกันทั้งนั้น ที่ในวัด หรือว่าในขอบเขตของการศึกษาธรรมะอย่างลึก จึงจะบอกอีกทีว่าไอ้สามอย่างนั้นมันเป็นอันเดียวกันโว้ย หรือสิ่งๆ เดียวนั้นมองดูกันคนละเหลี่ยม มันเกิดเป็นสามอย่างขึ้นมา นี่คือการมองในด้านในแบบหนึ่ง จะเห็นตรงกันข้ามกับที่คนมองด้านนอกเห็น ชาวบ้านทั่วไปมองด้านนอกจึงเห็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างนั้น ที่นักศึกษาจริงๆ เขามองด้านในจึงเห็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ลึกกว่านั้น
เอาถึงช่วงเวลาที่ยังเหลืออีกนิดหนึ่ง ก็จะยกตัวอย่างให้เห็นอีกข้อหนึ่งว่า เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์กันที่ไหน พวกคุณมองเห็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่ไหน ถ้าพระพุทธเจ้าอย่างบุคคลก็ไม่มีทางจะมองแล้วเหลือแต่พระพุทธรูป เหลือแต่พระธาตุ พระสารีริกธาตุเสียแล้ว ก็ต้องมองที่วัด ที่ตามในโบสถ์ จะไปมองที่อินเดียก็ไม่เห็น เห็นแต่โบสถ์ เห็นแต่อนุสาวรีย์เหมือนกัน นี่มองพระพุทธเจ้าที่นั่น ก็มองอย่างภาษาคน มองพระธรรมที่ไหน ก็มองตามตู้พระไตรปิฎก ตามกันไปอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องภาษาคน มองพระสงฆ์ที่ไหน ก็อยู่ที่วัด เที่ยวเดินไปตามนั่นตามนี่ เป็นคนเหลืองๆ นี่มองที่นั่น ถ้าว่าเขามองเป็น เขามองที่พระธรรมอย่างที่พูดมาแล้ว ทีนี้พระธรรมอยู่ที่ไหนหล่ะ ทีนี้ เอ้อ, มันเป็นนามธรรมไม่มีตัวตนนี้มันอยู่ที่ไหน นี่เราจะต้องเข้าใจ ว่าจะเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์กันที่ตรงไหน มันจึงจะได้ตัวจริงมา นี่จะแนะให้ ว่าอย่าไปหาที่ไหน ให้ไปหาในจิตใจของตนเองจึงจะพบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริง เดี๋ยวจะบอกให้ก่อนว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เองว่าทุกเรื่อง ทุกเรื่อง เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องดับทุกข์ เรื่องทางดับทุกข์ ทุกเรื่อง ฉันพูดบัญญัติไว้ว่ามีอยู่ในร่างกายของคนเป็นๆ มีอยู่ในร่างกายของคนเป็นๆ เรื่องทุกเรื่องมีอยู่ในร่างกายของคนเป็นๆ ปัญหาทั้งหมดก็อยู่ในร่างกายของคนเป็นๆ การแก้ปัญหาก็อยู่ในร่างกายของคนเป็นๆ เดี๋ยวนี้เราพูดกันถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่าอยู่ที่ไหน มันจะมาอยู่ในร่างกายของคนเป็นๆรวมทั้งเราคนหนึ่งด้วยนี้ได้อย่างไร นี่จะพูดให้เห็นว่าในความหมายที่ลึกซึ้งนั้น
คำว่าพระพุทธเจ้าหรือพุทธะนี้ เขาแปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้ามันมีการรู้ การตื่น การเบิกบานที่ไหน มันมีพระพุทธเจ้าที่นั่น นี้หัวใจ เอ่อ, จิตใจนะไม่ใช่หัวใจ พูดอย่างภาษาชาวบ้าน ก็พูดว่าหัวใจ จิตใจ หรือหัวใจก็ตามแต่ที่มันรู้ธรรม นั่นแหละ คือพระพุทธ ถ้าเผอิญว่าเดี๋ยวนี้คุณคนใดคนหนึ่งรู้ธรรม ไอ้ความรู้ธรรมมันอยู่ที่จิตใจ จิตใจที่รู้ธรรมนั่นแหละ คือพระพุทธ แม้จิตใจของเรารู้ธรรมน้อยๆเนี่ย มันก็เป็นพระพุทธองค์น้อยๆ จิตใจที่รู้ธรรมนั่นแหละ คือพระพุทธ แล้วธรรมที่เรารู้มันก็รู้ในใจของเรา มันต้องมีธรรมเข้ามาในใจของเราใจมันจึงจะรู้ พระธรรมแม้น้อยๆนั่นแหละคือพระธรรม พระธรรมองค์น้อยๆ แล้วมันก็อยู่ในใจเรา ทีนี้พระสงฆ์เมื่อเรามีการปฏิบัติตาม เมื่อเรามีการปฏิบัติตามธรรมที่เรารู้ จิตใจส่วนนั้นมันเป็นพระสงฆ์ เด็กคนหนึ่งสมมติว่ามันรู้ธรรม จิตที่รู้ธรรมของมันเป็นพระพุทธ แล้วธรรมะที่มันรู้นั้นเป็นพระธรรม แล้วการปฏิบัติตามนั้นของมันเป็นพระสงฆ์ ฉะนั้นในเด็กคนนั้นมีพระพุทธ มีพระธรรม มีพระสงฆ์อย่างแท้จริง แม้ว่าจะเป็นเพียงองค์น้อยๆ พระพุทธองค์น้อยๆ พระธรรมองค์น้อยๆ พระสงฆ์องค์น้อยๆ ถ้ารู้มากถึงที่สุด เช่นขนาดเป็นพระอรหันต์ ในความเป็นพระอรหันต์นั้นมันมีความเป็นพุทธะคือรู้ตื่น เบิกบาน มีความเป็นธรรมะคือของจริง เรื่องความทุกข์ และความดับทุกข์ และดับทุกข์ได้สิ้นเชิงแล้ว ก็มีการปฏิบัติถึงที่สุดแล้วเป็นพระอรหันต์แล้วนั่นเป็นพระสงฆ์ ผู้ที่กำลังปฏิบัติธรรมอยู่นั้นเรียกว่าพระสงฆ์ แม้ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพานก็ได้ แต่กำลังปฏิบัติธรรมอยู่ ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมะอยู่ในขั้นริเริ่มนี้ก็เรียกว่าพระสงฆ์ผู้กำลังปฏิบัติอยู่ นี่ถ้าได้บรรลุผลแล้วก็เรียกว่าพระสงฆ์ผู้ได้บรรลุผลแล้ว นี่ก็เรียกว่าพระสงฆ์ด้วยกันทั้งนั้น
นี่เราไม่เอาร่างกายนี้เป็นประมาณ แต่เอาจิตใจเป็นประมาณ ถึงว่าจิตที่ปฏิบัติธรรมนั้นเป็นพระสงฆ์ ดังนั้นในตัวบุคคลที่ดี ขอใช้คำอย่างนี้หน่อยว่า ในคนดีทุกคนมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในคนเลวไม่มี มีแต่ยักษ์ แต่มาร แต่ภูตผีปีศาจ ในคนดีจะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ดวงจิตที่รู้ธรรมเป็นพระพุทธ ธรรมที่รู้นั้นเป็นพระธรรม จิตที่ปฏิบัติธรรมนั้นเป็นพระสงฆ์ อย่างนั้นในคุณทุกคนมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในการมองด้านใน ในภาษาธรรมะอันลึก ไม่ต้องไปหาที่ไหนทุกอย่างหาในใจของคนที่ยังเป็นๆอยู่ตามคำสั่งของพระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างนั้น นี่คือการมองด้านใน มองให้ได้หลายชั้น แล้วก็มองให้ลึกกว่าธรรมดานั้น แล้วก็มองให้เห็นว่ามันอยู่ในใจเรา เนี่ยมันถึงสาม สามความหมาย มองให้เห็นทุกชั้น และมองให้ลึกอย่างตรงกันข้ามอย่างที่คนธรรมดาเขามอง แล้วก็มองให้พบว่ามันอยู่ในเราทั้งนั้นเลย ไม่ใช่อยู่ที่วัด ที่บ้าน ภาษาของพวกเซนเขาพูดดีกว่านี้ เขาพูดว่ามันอยู่ที่หน้าผากแล้วทั้งนั้น แต่คุณมองไม่เห็น เจ้าตัวมองไม่เห็นว่ามันมีอะไรอยู่ที่หน้าผากของเรา นี่ก็หมายถึงจิตใจ มันมีอยู่ในจิตใจแล้วแท้ๆ แต่มันมองไม่เห็น มันน่าสงสารเห็นไหม มันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจแท้ๆ แต่มันก็ยังมองไม่เห็น มันน่าสงสารเหลือประมาณ ต่อไปนี้ก็ไปหัดมองด้านใน ตามความหมายอย่างนี้ ตามหลักเกณฑ์อย่างนี้
ผู้ที่จะเป็นครูควรจะรู้จักมองสิ่งทั้งปวงในด้านใน ถ้าไม่อย่างนั้นก็เป็นเด็กๆ หรือว่าจะเป็นลูกศิษย์มากกว่า ควรจะเป็นผู้ถูกสอนมากกว่าที่จะเป็นผู้สอน ตามที่พูดมานี้ คนบางคน หรือว่าแม้นักปราชญ์บางคนก็คงจะพูดว่าอาตมานี้บ้าบอไปแล้วเอาสิ่งที่สูงสุดลึกซึ้งมาสอนคนที่จะตั้งต้น เล่าเรียนหรือตั้งต้นเป็นครู ยังเป็นครูเด็กๆ อายุเท่าลูกศิษย์มาสอนเรื่องอย่างนี้ อ้าว, เขาจะว่าอย่างนั้นก็ตามใจ ก็ยอมให้เป็นคนบ้าบอในสายตาของคนนั้น แต่ว่าโดยเนื้อแท้แล้ว มันเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่อยากจะให้ผู้ที่จะเป็นครูทุกคนรู้เรื่องอย่างนี้ มันเป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณโดยตรง ผู้ที่จะเป็นครูนั้นก็ต้องคือผู้ที่จะยกวิญญาณของคนทั้งปวงให้สูงขึ้น แล้วเมื่อตัวเองไม่รู้เรื่องทางจิต ทางวิญญาณแล้วจะไปยกได้อย่างไร นั้นจึงถือว่าการอธิบายเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่นั่นแหละ แม้ว่าเดี๋ยวนี้มันยังใช้ประโยชน์อะไรไม่ค่อยได้ แต่มันต้องมีไว้เป็นจุดตั้งต้นที่ถูกต้อง ในอนาคต ในวันข้างหน้า มันต้องใช้ได้ ไม่ไกลนักนี้จะฉลาด รู้จักมองสิ่งทั้งปวงในด้านใน จะพูดจาน่าฟัง จะพูดจาลึกซึ้ง เป็นที่เคารพนับถือของคนแก่หัวหงอกทั้งที่พวกคุณมีอายุไม่กี่ปีนี่แหละ ขอให้จำวิชาการเหล่านี้ไว้ ตามวิธีของพุทธบริษัท ตามวิธีของพระพุทธเจ้า ท่านสอนกันอย่างนี้ ท่านแนะกันอย่างนี้ ท่านต้องการให้เราพัฒนาทางจิตใจกันอย่างนี้ ให้มันลึกซึ้งไปไกลอย่างนี้ ดังนั้นอย่าไปทำตัวเป็นเด็กๆ เห็นแต่ความสนุกสนานอยู่เลย ลองพยายามที่จะก้าวหน้า หรือมุ่งหมายให้มันก้าวหน้า ไปเร็วๆ ก่อนดีกว่า หรือว่าทำให้มันเหมาะสมพร้อมๆ กันไปก็ได้ แต่อย่าลืมเรื่องทางจิตใจ เพราะคนเรามีสองซีก สองส่วน ส่วนร่างกายส่วนหนึ่ง ส่วนจิตใจส่วนหนึ่ง อย่าไปบำรุงบำเรอส่งเสริมแต่เรื่องฝ่ายกายอย่างเดียว ต้องส่งเสริมฝ่ายจิตใจด้วย ขอให้เห็นเรื่องทางจิตใจสำคัญกว่าเรื่องทางกาย แล้วมันไปพร้อมกันอย่างถูกสัดถูกส่วนด้วย และเวลาสำหรับวันนี้ก็พอหมดกันที