แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านผู้จะเป็นครูทั้งหลาย การที่มารับการอบรมที่นี่ในวันนี้นับว่าเป็นครั้งแรกก็จะพูดโดยหัวข้อที่ว่า ผู้ที่จะเป็นครูจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ผู้ที่จะเป็นครูจะต้องเตรียมตัวอย่างไร อย่างนี้ให้มันฟังดูคล้ายกับว่า วิชาครูซึ่งทุกคนก็จะต้องได้รับการสั่งสอนอบรมมาแล้วในวิทยาลัยฝึกหัดครู แต่เดี๋ยวนี้มันยังมีอยู่อีกส่วนหนึ่งซึ่งเชื่อว่า ไม่เคยได้รับอบรมสั่งสอนในวิทยาลัยฝึกหัดครูทั้งที่มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับครูอย่างยิ่ง ท่านทั้งหลายที่มาที่นี่หรือถูกส่งมาที่นี่ด้วยความมุ่งหมายว่า ให้มารับการอบรมวิชาอันเกี่ยวกับพุทธศาสนาหรือหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ให้มาอบรมวิชาครู แต่เดี๋ยวนี้มันมีข้อเท็จจริงอยู่อย่างหนึ่งว่าไอ้หลักพระพุทธศาสนามีอยู่ส่วนหนึ่งซึ่งมันประยุกต์กันได้กับวิชาครูหรือจำเป็นสำหรับผู้ที่จะเป็นครู เพราะฉะนั้นเราจะได้พูดกันถึงเรื่องนี้และขอให้สังเกตดูว่า มันจะเข้ากันได้หรือว่ามันจะขัดกันหรือว่ามันจะอนุโลมหรือส่งเสริมกันและกันหรือไม่
สิ่งที่อยากจะให้เข้าใจให้ดีที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ความเป็นครูมิได้มีขอบเขตจำกัดอยู่เพียงแค่ว่าการสอนหนังสือ แม้ว่าความมุ่งหมายของกระทรวงศึกษาธิการหรือวงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะมุ่งหมายให้อบรมครูสั่งสอนครูเพียงให้รู้จักสอนหนังสือก็ตาม เขาต้องการเพียงเท่านั้นจริงแต่เราทำได้มากกว่านั้นและควรจะทำได้มากกว่านั้น มิฉะนั้นเราจะลำบาก มิฉะนั้นจะได้ประโยชน์น้อย นี่จึงถือโอกาสพูดเฉพาะส่วนนี้ก่อน คือ หลักพระพุทธศาสนาที่จะเกื้อกูลแก่การเป็นครูนี้แหละก่อน แล้วอาตมาจะไม่ถือว่าพวกท่านเป็นครูเด็ก ๆ เพราะว่าตามที่ปรากฏอยู่จริงก็เป็นครูเด็ก ๆ มีอายุไม่กี่ปีได้รับการสั่งสอนอบรมมาเพื่อจะเป็นครูเด็ก ๆ จนกว่าจะเติบโต แม้จะเป็นครูที่โตแล้วก็ยังสอนอย่างเดียวกับครูเด็ก ๆ สอน แม้ครูจะอายุตั้งสี่สิบห้าสิบปีแล้วก็ยังสอนอย่างเดียวกับที่ครูเด็ก ๆ สอน เพราะฉะนั้นมันก็มีค่าเท่ากันหรือจะไม่ถือว่าท่านทั้งหลายเป็นครูเด็ก ๆ รู้จักหน้าที่ของตัวเพียงแต่สอนหนังสือตามที่กระทรวงเขาต้องการ แต่ว่าจะตั้งมาตรฐานไว้อย่างสูงว่า ครูนั้นคืออะไร สำหรับโลกเรานี้ครูคือใคร ดังนั้น จึงต้องกล่าวตามทัศนะหรือตามอุดมคติของพุทธศาสนา เพราะว่าถ้ากล่าวตามหลักการศึกษาทั่ว ๆ ไปแม้ของพวกฝรั่งที่ถือกันว่ามันสูงสุด ไปเรียนวิชาครูสูงสุดมาจากพวกฝรั่งอย่างนี้มันก็ยังไม่มี ไม่มีความมุ่งหมายอันนี้ ไม่มีหลักเกณฑ์อันนี้ จึงต้องใช้คำว่า ครู ตามอุดมคติหรือตามทัศนคติของพุทธศาสนา และจะมองเห็นได้ง่ายว่าครูนี้เป็นอะไรอยู่ในโลกนี้ แม้ว่าพวกคุณจะยังมีอายุน้อยที่เรียกว่า ครูเด็ก ๆ นี้ก็อย่าเสียใจเลยที่จะต้องใช้คำพูดนี้ แต่ไม่เท่าไรก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วมันยังมีอยู่ว่าแม้จะเด็ก ๆ แต่ความคิดนึกอาจจะรู้สึกอย่างผู้ใหญ่หรือสูงกว่าผู้ใหญ่บางคนมากกว่าก็ได้ เพราะฉะนั้นก็ขอให้ฟังไว้ก่อนว่า หลายสิ่งที่รวมกันเป็นโลกนี้มันมีคนหลายชนิด พวกที่เป็นครูในโลกนี้คืออะไร พวกที่เป็นบิดามารดาคืออะไร พวกที่เป็นครูบาอาจารย์คืออะไร และก็พวกที่ทำหน้าที่พร้อม ๆ ร่วม ๆ กันไป เช่น เขาเป็นนักการเมือง หรือว่าเขาเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ เป็นอะไรก็มันก็เป็นพวก ๆ ไป ซึ่งมันทำให้เห็นและเชื่อได้ว่าต้องมีครบทุกพวก โลกนี้จึงจะเป็นโลก สถาบันบิดามารดาก็ต้องมีอย่างดีอย่างถูกต้อง สถาบันครูบาอาจารย์ก็ต้องมีอย่างดีอย่างถูกต้อง สถาบันนักปกครองก็ต้องมีอย่างถูกต้อง แม้กระทั่งสถาบันตุลาการ สถาบันทหาร หรือสถาบันอะไรก็ตามมันต้องมีครบ เราที่เป็นครูนี้ก็เป็นอันหนึ่งหน่วยหนึ่งส่วนหนึ่งหรือสถาบันหนึ่งของสถาบันทั้งหมดที่รวมกันเป็นโลก
ทีนี้เราก็จะมองเฉพาะอุดมคติหรือหน้าที่ของเรา ถ้าถือเอาตามหลักของพุทธศาสนาจะถือตามที่มันมีมาแต่โบราณกาลในประเทศอินเดียที่เป็นที่เกิดของพุทธศาสนาแล้ว คำว่า ครู มีความหมายน่าอัศจรรย์ คือน่าตกใจพร้อมกันไปกับที่มันน่านับถือน่าบูชา รายละเอียดเรื่องนี้เคยพูดไว้ในการบรรยายเรื่อง อุดมคติของครูตามทัศนะของพุทธศาสนา เมื่อไปบรรยายที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา ๑๐ กว่าปีมาแล้วก็ยังมีผู้พิมพ์แจกอยู่เรื่อย เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีพิมพ์ที่วิทยาลัยครูเพชรบุรี ไปหาอ่านรายละเอียดปลีกย่อยได้จากที่นั่น แต่ในที่นี้จะสรุปความแต่เพียงว่าคำว่า ครู นั้นมิใช่ผู้รับจ้างสอนหนังสือ ขออภัยพูดอะไรตรง ๆ เวลามีน้อย เวลาแห่งการอบรมมีน้อย จึงต้องพูดคำตรง ๆ เพื่อประหยัดเวลาว่า ครูมิใช่ลูกจ้างรับจ้างสอนหนังสือเป็นอาชีพ เพราะเราไม่อยากจะถือว่าสถาบันครูนี้เป็นอาชีพหรือเป็นสิ่งที่จะใช้เป็นอาชีพ ถูกแล้วว่าไม่ว่าเราจะทำอะไรลงไปในโลกนี้เราก็ต้องได้รับสิ่งตอบแทนมาเลี้ยงชีพ แต่จะถือว่าเป็นอาชีพไปหมดมันไม่ถูก ถ้าไปถือว่าเป็นอาชีพมันก็ลดความศักดิ์สิทธิ์ของความเป็นครูลงมาเป็นเหมือนการค้าขายอย่างหนึ่ง เมื่ออย่างนี้ครูก็เป็นผู้ค้าขายแรงงานหรือเวลาแลกประโยชน์หรือบางทีจะเป็นกรรมกรด้วยซ้ำไป ที่ต้องใช้แรงงานใช้เวลาขายเอาสตางค์มาเลี้ยงชีวิตในการสอนนั่น อย่างนี้ไม่ใช่ครู ไม่ใช่อุดมคติของครู ไม่ใช่ความหมายแห่งสถาบันของครู ที่มันเป็นความมุ่งหมายสถาบันของครูนั้นมันสูง เพราะคำว่า ครู นี้แต่เดิมมาก็หมายถึง ผู้ที่เป็นแสงสว่างทางจิตทางวิญญาณให้แก่คนในโลก คนในโลกมีอะไรหลาย ๆ อย่างมากอย่างแล้ว แต่ว่าอย่างที่สำคัญอย่างหนึ่งคือว่า แสงสว่างทางจิตหรือทางวิญญาณ สิ่งนี้จะได้มาจากไหน ลองคิดดู มันก็ได้มาจากบุคคลประเภทที่เรียกว่า ครู
ทีนี้เราจะมองตั้งแต่ขั้นต้น ๆ ไปก็ได้ว่า ถ้าไม่รู้หนังสือ จิตใจก็ไม่มีแสงสว่าง ฉะนั้นการให้รู้หนังสือก็เป็นเรื่องให้แสงสว่างแต่ยังไม่พอ เราให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติด้วย ถ้าให้แสงสว่างในการที่จะรู้จักแก้ปัญหาทางจิตทางใจอย่าให้มีความทุกข์ความร้อนด้วย อย่างนี้เขาเรียกว่า ครูที่แท้จริง พระพุทธเจ้าถูกเรียกว่าบรมครูเพราะให้แสงสว่างในทางจิตใจสูงสุด ครูที่รองลงมาจากพระพุทธเจ้าก็มีมากมายแม้พระสงฆ์ก็เป็นครูในทางนี้ พวกเจ้านายเจ้าแผ่นดินอันนั้นเขาก็ต้องการครูเฉพาะตัว มีครูประจำตัวเขาเรียกว่า ราชครู เพราะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือให้แสงสว่างทางจิตทางวิญญาณแก่ปัญหาที่ลึกซึ้งทางจิตใจที่มันยุ่งยาก นั่นแหละคือครู ลดลงมาคือให้ศึกษาวิชาหนังสือ ส่วนที่ให้ศึกษาวิชาชีพหรือวิชาศิลปะบางอย่างนั้นไม่ค่อยจะได้ใช้คำว่า ครู มันเป็นเรื่องของอาชีพมากกว่าที่จะเป็นความสูงในทางวิญญาณ ถ้าสมมติเราจะเปรียบเทียบว่าเป็นครูสอนจักสาน ก็พูดว่าอาชีพ สอนช่างไม้ก็เพื่ออาชีพ ก็เป็นครูสอนวิชาอาชีพ อย่างนี้เขาไม่ค่อยเรียกว่า ครู คำว่า ครู สงวนไว้สำหรับเรียกผู้ที่เป็นแสงสว่างในทางวิญญาณ คือแก้ความโง่ทุกประการ นับตั้งแต่ไม่รู้หนังสือขึ้นไปจนถึงไม่รู้ว่าปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้นแก่บ้านแก่เมืองแล้วจะแก้ไขอย่างไร หรือว่าปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้นในอกในใจร้อนเป็นไฟแล้วจะดับมันอย่างไร เป็นเรื่องที่ครูอันแท้จริงต้องแก้ ช่วยแก้ให้แก่ลูกศิษย์ เราสังเกตเห็นจากพจนานุกรมดิกชันนารี คำว่า ครู ก็หมายถึง Spiritual Guide Guide หมายถึง ผู้นำ หรือมัคคุเทศก์ทาง Spiritual คือ ทางจิตทางวิญญาณ คำว่า ครู ไม่ได้แปลว่า teacher หรือไม่ได้แปลว่าอะไรง่าย ๆ ต่ำ ๆ อย่างนั้น คำว่า ครู หรือ ครุ ในภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤตโดยเฉพาะแปลว่า Spiritual Guide
ทีนี้อีกทางหนึ่งที่ตรงกันข้ามเราก็พบคำว่า อุปัชฌาย์ เป็นผู้สอนวิชาชีพ สอนวิชาดนตรี เรียกว่า อุปัชฌาย์ในทางวิชาดนตรี คนสมัยนี้จะเข้าใจไม่ได้เพราะว่าอุปัชฌาย์เขาใช้สำหรับเรียกคนที่เป็นอุปัชฌาย์บวชคนให้เป็นพระ แต่ถ้าเกิดเข้าใจความหมายคำว่า อุปัชฌาย์ ดีก็จะเข้าใจได้เหมือนกัน มันเป็นเรื่องสอนวิชาชีพหรือว่าเกี่ยวกับอาชีพเกี่ยวกับความเป็นอยู่ อุปัชฌายะนี้คือหน้าที่รับรองคนนี้ต่อสงฆ์ว่าจะปกครองให้ดีให้เขาเป็นภิกษุที่ดีได้ และสงฆ์ก็อนุญาตให้คนนี้มาเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา เพื่อจะมีอาชีพอย่างภิกษุ เขาเรียกว่ามีสิกขาและอาชีพอย่างภิกษุ สำเร็จได้เพราะอุปัชฌาย์ ความหมายมันมาอย่างนี้มันเนื่อง ๆ กันมาอย่างนี้เพราะอุปัชฌายะยังไม่เพ่งถึงว่าจะยกความสูงในทางจิตใจซึ่งก็นำมาเข้าอู่ให้เป็นภิกษุได้ เพราะฉะนั้นคำว่า อุปัชฌายะ จึงเคยใช้เป็นคำสำหรับเรียกผู้ช่วยเหลือให้สำเร็จประโยชน์ในทางอาชีพ เช่น เป็นครูดนตรีก็เรียกว่า อุปัชฌาย์ดนตรี ไม่ใช้คำว่าครู เราต้องไปอ่านหนังสือเก่า ๆ สันสกฤต (นาทีที่ 18:24) เช่น เรื่อง (นาทีที่ 18:26) เป็นต้น ซึ่งมันหาอ่านง่ายไปดูเถอะ จะมีคำว่า (นาทีที่ 18:34) เมื่อท้าวอุเทนไปสอนดีดพิณให้ลูกสาวของเจ้าแผ่นดินเมืองนั้น มีคนพูดถึงคำว่า อุปัชฌาย์ (นาทีที่ 18:48) แต่เป็นภาษาอังกฤษ ถ้าภาษาบาลีเป็นอุปัชฌายะ อุปัชฌาโย นี่เป็นเพียงตัวอย่างเพื่อจะเปรียบเทียบ เพื่อเอามาให้เห็นว่าเปรียบเทียบกันแล้วคำว่า ครู นี้มันยิ่งไปกว่าคำว่า อุปัชฌาย์ เพราะมันสอนแสงสว่างในทางวิญญาณ
ทีนี้อาตมาอยากจะให้ครูทั้งหลายเข้าถึงอุดมคติของครูในฐานะที่เป็นผู้ส่องแสงสว่างทางวิญญาณ ก็ยังมีคนบางคน ๆ หรือบางพวกว่า อาตมานี้บ้าบอที่มาสอนลูกเด็ก ๆ อย่างนี้ให้ตั้งตัวเป็นผู้นำทางวิญญาณ เขาจะว่าอย่างนั้นก็ตามใจแต่เรามามองเห็นอยู่อย่างนี้เพราะว่าครูนั้นต้องเป็นมัคคุเทศก์ทางวิญญาณ แล้วไม่ใช่ว่ามันจะเป็นครูเด็ก ๆ อยู่อย่างนี้เรื่อยไป มันจะต้องโตเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เติบโตเป็นครูชั้นสูงสุดก็ได้ เอาล่ะเป็นอันว่าแม้ว่าจะเป็นครูสอนหนังสือและเป็นครูได้รับเงินเดือนในการสอนหนังสือตามโรงเรียนนี้ก็เถอะ ไอ้ส่วนที่สอนหนังสือก็สอนไปสิ แต่พร้อมกันนั้นอย่าลืมทำให้เกิดความสูงหรือความสว่างในทางวิญญาณแก่เด็ก ๆ เหล่านั้นด้วย ถ้าพูดให้ชัดให้สั้นก็คือว่า อย่าลืมทำหน้าที่อย่างหนึ่งคือทำหน้าที่ให้เด็ก ๆ นักเรียนของเรานั้นเป็นผู้รู้จักความผิดชอบชั่วดี ให้จำคำว่ารู้จักความผิดชอบชั่วดีไว้ด้วย อย่าสอนแต่หนังสือสอนเลข สอนวิทยาศาสตร์สอนอะไรก็ตามเป็นบ้าไปเลย แล้วเด็กไม่รู้จักความผิดชอบชั่วดี พอเรียนจบก็เป็นอันธพาล เป็นฮิปปี้เป็นอะไรไปตามเรื่องของเขานั้น เพราะมันไม่รู้จักความผิดชอบชั่วดี ทีนี้เราจะเห็นว่าอันธพาลเกลื่อนไปทั้งเมืองทั้งประเทศนี้ก็ล้วนแต่เป็นนักเรียนนักศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์มาแล้วกระทั่งชั้นวิทยาลัยก็มี เพราะว่าในโรงเรียนในวิทยาลัยในมหาวิทยาลัยไม่มีการสอนให้รู้จักผิดชอบชั่วดี ฉะนั้นในมหาวิทยาลัยมันจึงยกพวกตีกันระหว่างคณะเป็นต้น เพราะไม่เคยถูกสอนให้มีจิตสูง ไม่เคยถูกสอนให้มีวิญญาณสูง นั่นแหละจงดูให้เห็นโทษของการที่ไม่ยอมรับอุดมคติของคำว่า ครู ถึงแม้ว่าเราจะเป็นครูซึ่งเป็นปีแรกสอนเด็ก ๆ ชั้นประถมก็อย่าสอนแต่หนังสือ จงกระทำทุกอย่างทุกประการที่จะทำได้พร้อม ๆ กันไปในการที่จะทำให้เด็ก ๆ เหล่านั้นรู้จักความผิดชอบชั่วดี รู้สึกต่อความรับผิดชอบที่ตัวเองจะต้องเป็นคนดี ไม่ใช่เป็นคนชั่ว เดี๋ยวนี้ชั่วโมงสอนศีลธรรมมันไม่มีหรือมีมันก็เพียงให้จดใส่สมุดไปท่อง อย่างนี้ไม่ได้ มันไม่ทำให้เกิดแสงสว่างทางวิญญาณ ไม่ทำให้เด็ก ๆ เขาลืมหูลืมตามีความสูงในทางวิญญาณ
เอาล่ะ ทีนี้จะว่าอย่างไรกัน จะถือว่ากระทรวงศึกษาเขาไม่ต้องการอย่างนั้น เขาต้องการให้สอนหนังสืออย่างนี้มันก็ไม่แน่นัก เพราะว่ากระทรวงศึกษาธิการนี้ถ้าจะเอาความมุ่งหมายจริงก็คงมุ่งหมายให้คนดีเหมือนกัน ไม่ใช่เพียงแต่ให้คนรู้หนังสือ เพียงแต่รู้หนังสือมันยังไม่แน่ว่าจะดีหรือไม่ดี มันต้องมีดีแน่ ๆ อีกส่วนหนึ่งด้วยคือมันรู้จักผิดชอบชั่วดี หรือว่าถ้ากระทรวงศึกษาธิการเขาจะกำหนดไว้เพียงแต่สอนหนังสือตามหน้าที่ตามหลักสูตรที่ระบุไว้ แต่ถ้าเราจะสอนให้เขารู้จักผิดชอบชั่วดีได้มันก็เป็นบุญเป็นกุศลที่เราได้รับ แล้วเราก็กลายเป็นผู้ทำบุญ อาชีพของครูมันจึงกลายเป็นอาชีพธรรมดาไปไม่ได้ ถ้าเพียงรับจ้างสอนหนังสือกันจริง ๆ ถึงจะเป็นอาชีพธรรมดา และถ้าเกิดสอนให้รู้จักผิดชอบชั่วดีมีวิญญาณสูงแล้วมันไม่เป็นอาชีพ มันไม่เรียกว่าอาชีพ มันเรียกว่าการกระทำสิ่งที่บุคคลควรบูชา เพราะเราทำให้เขามีวิญญาณสูงมันมีค่ามากเกินกว่าค่าของเงินเดือนจึงควรจะจัดครูไว้ในฐานะเป็นปูชนียบุคคลประเภทหนึ่งหรือส่วนหนึ่งก็ได้เช่นเดียวกับภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนา ถ้าพระภิกษุจะมาเทศน์สอนชาวบ้านหรือจะมารับจ้างเพื่อจะได้ข้าวปลาอาหารมาฉันหรือได้ (นาทีที่ 24:53) เงินเดือน มันก็ไม่ถูกเพราะไม่ได้มุ่งหมายอย่างนั้น พระสงฆ์มีหน้าที่ให้ชาวบ้านรู้ในสิ่งที่ดีที่ชั่วที่รู้ผิดรู้ชอบสูงขึ้นไปจนถึงรู้มรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้นจึงไม่เรียกว่าลูกจ้าง แม้ว่าจะมีการถวายของหรือถวายอาหารหรือถวายอะไรก็ตามที่ถวาย ๆ กันอยู่นี้มันไม่ใช่ค่าจ้าง ไม่อยากให้ครูมีความรู้สึกอย่างนั้นเพราะเราไม่ใช่ลูกจ้าง ฉันไม่อยากเป็นลูกจ้าง สำหรับครูเด็ก ๆ คงจะคิดว่าเป็นการอาชีพอย่างหนึ่งหรือเป็นการรับจ้าง พอใจที่จะรับจ้างเพราะว่าต้องการแต่เงิน อย่างนี้มันก็มีมีมาก แต่อยากจะขอร้องว่าขอให้ไปคิดดูเสียใหม่ คนอื่น ๆ เขาจะคิดอย่างนั้นก็ตามใจเขา
เราต้องการจะเป็นครูที่ถูกต้องตามอุดมคติของคำว่า ครู คือ ผู้นำในทางวิญญาณ ให้แสงสว่างแก่จิตใจ ให้รู้จักดีรู้จักชั่ว รู้ผิดรู้ชอบสูงขึ้นไปจนเป็นมนุษย์ที่ไม่มีความทุกข์ เพราะว่ารู้แต่หนังสือมันยังมีความทุกข์ บางทีมีความทุกข์มากก็ต้องไปใช้วิชาหนังสือผิด ๆ มันกลายเป็นรู้มากยากนาน รู้มันลำบากไปเสียอีก มันคนละเรื่องกัน การรู้หนังสือกับการรู้จักทางจิตใจอย่าให้มีความทุกข์ มันคนละเรื่องกัน แต่ว่าโดยที่แท้แล้วหนังสือมันก็เป็นเพียงเครื่องมือเบื้องต้น เปรียบเหมือนกับลูกกุญแจที่จะไปไขวิชาความรู้ต่าง ๆ ที่มันมีอยู่ในโลกนี้มากมาย ถ้าเรารู้หนังสือเราก็อ่านเอาได้ ศึกษาเอาได้ เพราะมันเป็นเพียงลูกกุญแจที่ไปไขพลังของวิชาความรู้ในโลกแค่นั้นแหละ ต่อเมื่อได้วิชาความรู้โดยเฉพาะมามันจึงจะดับทุกข์อันแท้จริงได้ เช่น เรารู้หนังสือ เราก็บวชเรียนพุทธศาสนา แล้วก็ปฏิบัติและก็ดับทุกข์ได้ ไอ้ระดับของวิชาหนังสือมันอยู่ตอนต้น ฉะนั้นขอให้มองกันในส่วนนี้และอย่าได้เข้าใจไปว่า การตั้งตัวเป็นครูตามอุดมคติของพุทธศาสนานี้มันเป็นเรื่องครึคระ บ้าบอ ล้าสมัยเลย อาจจะมีบางคนที่เขานับถือกันว่าเป็นนักปราชญ์ด้วยซ้ำไปอาจจะคัดค้านว่าอย่าให้มันมากถึงอย่างนั้นเลย มันดีเกินไปบ้างอะไรบ้าง เอาแต่สนุกสนานกันไปวันหนึ่ง ๆ ก็แล้วกัน อย่างนั้นมันก็ได้เหมือนกัน แล้วครูก็จะตกต่ำ คือครูจะไม่เป็นที่เคารพนับถือของศิษย์ เด็ก ๆ เล็ก ๆ จะไม่นับถือครู จะถือว่าครูเป็นลูกจ้างและประชาชนทั้งหลายก็จะไม่รู้สึกว่าครูนี้เป็นบุคคลประเภทที่ควรจะนับถือ แต่ก่อน ๆ มาในเมืองไทยเรานี้ พอชื่อว่าครู จิตใจมันก็ยกไว้ในฐานะเป็นบุคคลที่จะต้องเคารพนับถือ แต่เดี๋ยวนี้มันตกต่ำจนคล้าย ๆ กับว่ามันเหมือน ๆ กัน ฉะนั้นมันจึงทำอันตรายแก่ครูหรือว่าไม่ให้เกียรติแก่ครูสุดแท้ ถ้าว่าเราจะเป็นคนสอนหนังสือก็สอนไปตามหลักสูตรที่เขากำหนดให้แต่พร้อมกันนั้นเราก็ใส่ของดีวิเศษ คือ แสงสว่างทางจิตใจให้ไปด้วย แม้ว่าเด็กมันตัวเล็ก ๆ ก็เถอะมันก็ต้องการไอ้ความรู้ที่เป็นแสงสว่างทางจิตใจ รู้ดีรู้ชั่ว รู้ผิดรู้ชอบเข้าไป ๆ เรื่อย ๆ โตขึ้นก็เพิ่มขึ้น ๆ จึงจะได้เด็กที่จะเป็นพลเมืองดี จะได้คนที่เป็นพลเมืองดี เด็กที่รู้เพียงหนังสือมันเป็นพลเมืองดีไม่ได้และมันจะเป็นพลเมืองเลวได้ง่ายกว่า ยิ่งรู้มากมันยิ่งอวดดี ยกหูชูหาง ยิ่งเห็นแก่ตัวจัด เพราะมันรู้มากมันมีโอกาสที่จะเอาเปรียบคนอื่น อย่างนี้ไม่ใช่พลเมืองดี มันไม่รู้จักรักใคร ไม่รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่รู้จักเมตตากรุณา ไม่มีหิริและโอตตัปปะ พอเรียนจบก็เป็นอันธพาลผู้ดี เขาเรียกว่าอันธพาลผู้ดี ประพฤติชั่ว ประพฤติบาปอกุศล ลามกอนาจารอย่างผู้ดี ผลของการที่รู้แต่หนังสือมันเป็นอย่างนั้น ในโลกนี้มันก็จะเต็มไปด้วยพลเมืองร้ายและก็ไปเบียดเบียนกันไม่มีที่สิ้นสุด กำลังเห็น ๆ กันอยู่ว่าไม่มีความสงบสุขเพราะคนมันเห็นแก่ตัว ความชั่วทั้งหลายแหล่สรุปอยู่ที่คำ ๆ เดียวว่า เห็นแก่ตัว ไปคิดดูเถิด ความเห็นแก่ตัวคำเดียวเท่านั้นแหละ จำไว้ให้ดี มันจะขยายออกเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเห็นแก่ตัว และความโลภขยายออกเป็นหลายชนิด ความโกรธก็หลายชนิด ความหลงก็หลายชนิด ตามที่มันมีอยู่ในโลกอย่างไร ต้นตอมันอยู่ที่ความเห็นแก่ตัว ฉะนั้นอุดมคตินี้มันมีอยู่นมนานแล้วและก็อยู่ในเรื่องของครูเหมือนกัน สมัยโบราณเขาย้ำมากในเรื่องนี้ คือว่าคนเราอย่าเห็นแก่ตัว ต้องเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพบุรุษ คือ ผู้ไม่เห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยพูดกันแล้วเรื่องนี้ รู้แต่หนังสือเลว ๆ เอาไปสนุกสนานฟุ้งเฟ้อกันไปก็แล้วกัน มันก็อย่างนั้น อย่าไปคิดว่าเรามีหน้าที่เพียงสอนหนังสือไปวัน ๆ หนึ่ง อย่าคิดว่าถ้าทำดีมากไปแล้วมันก็จะดีเกินไปจนเข้ากับเขาไม่ได้ ขอให้มันดีไว้มาก ๆ ไว้ก่อนเถอะ แม้ว่าดีเกินไปมันก็ลดลงมาได้จนพอดีได้ เดี๋ยวนี้กลัวมันจะตกต่ำ เพราะว่าครูเองก็รู้จักสอนหนังสือเอาเงินเดือน อย่างนี้ก็เรียกว่าเห็นแก่ตัว จะไปสอนเด็ก ๆ ให้หมดความเห็นแก่ตัวนั้นมันยาก ฉะนั้นครูต้องแสดงออกให้เด็กเห็นว่า ครูไม่เห็นแก่ตัวอยู่ทุก ๆ เวลานาที เมตตากรุณารักเด็ก ๆ โดยยอมเหน็ดเหนื่อยยอมลำบากทุกอย่างทุกประการเพื่อให้เด็ก ๆ เขาดี เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วเด็ก ๆ มันก็มีนิสัยที่ไม่เห็นแก่ตัวไปตามครู เราก็ได้มนุษย์หรือพลเมืองที่ไม่เห็นแก่ตัวมากขึ้น ๆ ขอให้อุทิศอย่างนี้เพื่อการนี้ มันดีมันวิเศษและพระพุทธเจ้าก็สรรเสริญ และเมื่อทำอยู่อย่างนั้นมันก็เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าที่ดีด้วยพร้อม ๆ กันไปในตัว ไม่ต้องไปบวชไปเรียนที่ไหน เป็นครูสอนหนังสืออย่างดีอย่างถูกต้องอยู่ตามโรงเรียน จะเป็นทุกอย่างหมด เป็นครูที่ดี เป็นสาวกที่ดี เป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี ที่น่าไหว้น่านับถือ ที่สวยสดงดงามอยู่ในหน้าที่การงานในโรงเรียนนั้น เรียกว่า ครูตามอุดมคติของพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ลูกจ้างสอนหนังสือ
ทีนี้เราก็ดูกันต่อไปที่ว่า ไอ้หลักธรรมะในพุทธศาสนามันมีอย่างไรบ้างที่จะช่วยให้ครูได้เป็นครูตามอุดมคติของพุทธศาสนา เพราะว่าถ้าเอากันแต่เพียงตามหลักที่มีอยู่ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแล้วไม่มีหวัง มันจะเป็นแต่เพียงครูผู้รู้จักสอนหนังสือเท่านั้น และก็ไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะเห็นแก่ตัวหรือไม่เห็นแก่ตัว เขาวางหลักสูตรว่าอย่างไรก็สอนให้ได้ตามหลักสูตร มันก็ได้เลื่อนชั้นเงินเดือนขึ้นไปเป็นใหญ่เป็นโตเป็นอะไรไป ไม่ต้องคำนึงว่าอุดมคติของพุทธศาสนาเป็นอย่างไร ของมนุษย์เป็นอย่างไร มนุษย์เกิดมาควรจะได้อะไรนี่ไม่ต้องคำนึง เราก็มีเวลามากที่จะไปแสวงหาความสุขส่วนตัว มันก็เดินกันคนละทาง
อุดมคติของครู อุดมคติสำหรับครูตามทัศนะของพุทธศาสนา คือ การยกให้จิตหรือวิญญาณให้มันสูงขึ้นไว้ อย่าให้ความชั่วหรือความทุกข์มันมาครอบงำได้ นั่นเรียกอุดมคติของพุทธศาสนาสำหรับครู สรุปลงในคำว่า มัคคุเทศก์ฝ่ายวิญญาณ แต่ว่าเดี๋ยวนี้กำลังสอนหนังสือและก็ใช้วิชาสอนหนังสือนั้นเป็นการยกวิญญาณของคนให้สูงขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงลูกจ้างล้วน ๆ สอนหนังสือล้วน ๆ อย่างนี้เป็นครูตามความหมายของโลกสมัยปัจจุบันที่เป็นวัตถุนิยม ต้องการเพียงเงิน แต่ถ้าสมัยโบราณหรือตามหลักพระพุทธศาสนา เขาไม่ต้องการเพียงวัตถุ ไม่เป็นวัตถุนิยมอย่างเดียว เขาจะมีเรื่องของวิญญาณนิยม มโนนิยมอะไรด้วย ถ้าเราไปหลงวัตถุอย่างเดียวมันก็เห็นแก่ตัวทันทีและเห็นมากขึ้น ต้องนึกถึงเรื่องฝ่ายจิตใจที่ไม่เป็นทาสของวัตถุ คือไม่ไปหลงบูชาวัตถุ มันจึงจะเป็นเรื่องทางจิตใจ สิ่งที่เรียกว่าครูนี้มันไม่ใช่เรื่องวัตถุนิยม ไม่ใช่ลูกจ้างรับจ้างหาเงินวันหนึ่ง ๆ อย่างนั้นมันเป็นวัตถุนิยมเหมือนกับกุลีกรรมกรที่เขารับจ้างหาเงินไปวันหนึ่ง ๆ นี่มันเป็นวัตถุนิยม เราไม่คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ ปล่อยให้มันไปตามเรื่องของมัน ให้มันเป็นเครื่องบูชาครู เรามีจิตใจที่สูงที่ยกวิญญาณของสัตว์ทั้งหลายอย่างนี้เป็นมโนนิยม แล้วเงินก็ไม่ไปไหนเสีย มันคงเป็นเครื่องบูชาครูอยู่นั่นแหละ มันก็ไม่ตายล่ะ ไม่ต้องกลัวว่าจะอดตาย แล้วเราก็จะได้ความพอเหมาะพอดีที่จะมีความสุขอยู่ในโลกนี้ และก็ได้ความเคารพนับถือจากมหาชนทั้งบ้านทั้งเมืองทั้งโลกว่า มันเป็นปูชนียบุคคล แล้วเรื่องร้าย ๆ เสีย ๆ หาย ๆ ก็จะไม่เกิดแก่ครูเหมือนที่เกิดเดี๋ยวนี้บ่อย ๆ เพราะว่าครูทำตนไม่ถูกตามทัศนะหรือตามอุดมคติของพุทธศาสนา มันเป็นวัตถุนิยมมากเกินไป ครูผู้หญิงแต่งตัวจนเป็นอันตรายแก่ชีวิตของตัวเอง เพราะมันไปหลงวัตถุนิยมมากเกินไป ไม่ต้องพูดโดยรายละเอียด ป่วยการ เข้าใจกันได้ดี เพราะถ้าเราหลงในวัตถุนิยมมากแล้ว มันก็เผลอไป ๆ จนเป็นอันตรายแก่ตัวเอง
ทีนี้เราจะดูกันต่อไปถึงว่ามันมีเรื่องอะไรบ้างที่ผู้ที่จะเป็นครูจะต้องรู้ เราจะพูดว่าพูดอย่างกำปั้นทุบดินเหมือนที่เขาพูด ๆ กันว่าเราจะต้องรู้จัก ๓ เรื่องคือว่า รู้จักความเป็นครูของตนเอง รู้จักสิ่งที่เรียกว่าการศึกษา และก็รู้จักผู้ที่จะรับการศึกษา แม้ว่าเราจะเป็นครูเด็ก ๆ อยู่เดี๋ยวนี้ยังกำลังจะเป็นครูด้วยซ้ำไป เราก็ต้องรู้ ๓ เรื่องนี้ตามมากตามน้อยตามที่เราจะรู้ได้ มันมีครู แล้วก็มีการศึกษา แล้วก็มีผู้ที่จะรับการศึกษา เข้าใจว่าเรื่องนี้ก็มีสอนอยู่แล้วในหลักวิชาครู แต่มันคงไม่เหมือนกันกับที่เราจะกล่าวตามทัศนะของพุทธศาสนา ก็อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อพูดถึงคำว่า ครู มันก็ผู้สอนหนังสือ แต่ทางพุทธศาสนาไม่ถืออย่างนั้น ถือว่าเป็นผู้ยกสถานะทางวิญญาณของมนุษย์ในโลก มันต่างกันเสียแล้ว ฉะนั้นตามหลักวิชาครูในโรงเรียนหรือในวิทยาลัยคงจะพูดว่า ครูคือผู้สอนหนังสือหรือผู้อบรมมรรยาทเพียงเท่านั้น แต่ตามหลักพุทธศาสนาต้องการให้ยกจิตใจ ยกวิญญาณ ยกจิตใจซึ่งสูงไปกว่ามรรยาทหรือว่าการรู้หนังสือ ถ้าเรารู้จักความเป็นครูของเราว่าคือภาระหรือหน้าที่ที่จะต้องทำให้โลกนี้มีแสงสว่างในทางจิตใจ
ทีนี้ก็มาถึงคำว่า การศึกษา สิ่งที่สองการศึกษา การศึกษาคืออะไร ให้ครูเหล่านี้ลองตอบดูว่าการศึกษาคืออะไร ก็ต้องตอบได้เพราะว่ามันมีในหนังสือที่ใช้สอนหรือครูเขาสอนแต่ว่ามันก็ไม่เหมือนกับการศึกษาที่เป็นความมุ่งหมายตามทัศนะของพุทธศาสนา ไม่ใช่การเรียนหนังสือ ไม่ใช่การสอนหนังสือ แต่มันเป็นการทำให้เขาสูงขึ้นในทางจิตใจจนดับทุกข์ได้ นั่นแหละเรียกว่าการศึกษา ถ้าว่าการศึกษาคืออะไร พวกที่เป็นมหาปราชญ์ในโลกนี้ก็บัญญัติไว้ต่าง ๆ กันว่าการศึกษาคืออะไร เช่นว่าการศึกษาเพื่อให้รู้หนังสือ เช่นว่าการศึกษาเพื่อให้รู้จักอาชีพทำมาหากิน กระทั่งดีที่สุดที่จะพูดกันอยู่ก็ว่าการศึกษาเพื่อความอยู่รอด อยู่รอดคือไม่ต้องตาย ไม่ต้องฉิบหาย เพียงเท่านี้พุทธศาสนาเราถือว่ายังไม่พอ แม้ว่าจะมีชีวิตรอดอยู่ได้ มันก็ยังต้องสูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งก็คือว่าเพื่อจะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะต้องได้ จึงสรุปตามทัศนะของพุทธศาสนาว่า การศึกษานี้เพื่อมนุษย์จะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะพึงได้ อันนั้นคืออะไรนี่ต้องไปวินิจฉัยกันดูเอง เพียงแค่รู้หนังสือจะถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ได้หรือไม่ หรือว่ารู้จักประกอบการทำมาหากินมีทรัพย์สมบัติ มีชื่อเสียง อำนาจ วาสนาจะเรียกว่าสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ได้หรือไม่ไปเถียงกันดู แต่เมื่อพูดตามหลักธรรมะในพุทธศาสนาแล้วสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ที่มนุษย์ควรจะได้ คือ จิตใจที่มันสูง คือ จิตใจที่เป็นทุกข์ไม่ได้ จิตใจที่เป็นทุกข์กับใครไม่เป็น เพราะว่าคนมีเงิน มีเกียรติยศ มีอำนาจวาสนาบางทีมันก็ทุกข์ บางทีมันก็ยังร้องไห้ บางทีมันก็ยังเป็นคนเลวและคดโกงเขา ทรัพย์สมบัติ อำนาจ วาสนามันได้เพียงเท่านั้น และมันยังเป็นคนที่มีกิเลส เมื่อมีกิเลสมันก็มีความทุกข์ อย่างน้อยมันก็ยังกลัวตาย เป็นทุกข์วุ่นวายเพราะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น ที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้คือจิตใจที่อยู่เหนือนั้น เป็นทุกข์อะไรกับใครไม่เป็นอีกต่อไปคือสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เราจึงเตรียมเป็นการเตรียมตั้งต้นแม้แต่เด็ก ๆ เราต้องสอนให้เขารู้ดี รู้ชั่ว รู้ผิดรู้ชอบเดินไปเรื่อยจนถึงที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ นั่นแหละคือการศึกษา
ฉะนั้นเมื่อกล่าวตามทัศนะของพุทธศาสนาก็สรุปเป็นบทนิยามว่า การศึกษา คือ การกระทำให้มนุษย์ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ไม่เพียงแต่ว่ารู้หนังสือหรือประกอบอาชีพได้หรือมีมรรยาทดีหรือว่ารอดชีวิตอยู่ได้ ขอให้ผู้ที่จะเป็นครูทั้งหลายเอาไปคิดนึกดูว่า ครู คือ ผู้ยกวิญญาณของสัตว์ให้สูงขึ้น การศึกษา คือ การทำให้มนุษย์ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ
ทีนี้สิ่งที่ ๓ หรือเรื่องที่ ๓ ก็คือผู้ที่จะรับการศึกษา เดี๋ยวนี้ก็ได้แก่เด็ก ๆ เมื่อเป็นครูอย่างนี้ ผู้ที่จะรับการศึกษาของเราก็คือเด็ก ๆ ชั้นประถมชั้นมัธยมอะไรตามเรื่อง เราจะต้องรู้จักเด็ก ๆ เหล่านี้ว่ามันคืออะไร จะรู้จักแต่เพียงว่าไอ้เด็ก ๆ เหล่านี้มันจะเป็นเหตุให้เราได้มีอาชีพ คิดอย่างนี้มันก็หมดวิญญาณของความเป็นครูว่าเพราะมีเด็ก ๆ เราจึงได้งานอาชีพเป็นครู อย่างนี้แล้วก็มันก็หมดเลย เด็ก ๆ นั้นมันคืออะไร คือหมู่คนที่มีไว้เพื่ออะไร ก็มีไว้เพื่อให้ครูยกจิตใจของเขาให้สูงขึ้น เด็ก ๆ คือผู้ที่เกิดมาแล้วไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ว่าในต่อไปเขาก็จะเป็นผู้บันดาลโลก เพราะว่าคนมนุษย์เรานี้เป็นผู้บันดาลโลก แต่เมื่อเขายังเด็ก ๆ อยู่เขาไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ลองนึกถึงตัวเอง รู้ไหมเดี๋ยวนี้รู้ว่าจะบันดาลโลกกันอย่างไร จะเป็นครูอยู่แล้ว ถ้าไม่รู้แล้วจะให้เด็ก ๆ รู้อย่างไร มันก็ต้องพยายามให้มันดีที่สุดกันทั้งทุก ๆ ฝ่าย ครูจะต้องรู้ว่าคนเกิดมาทำไม เราจะได้ช่วยเขาให้ได้รับสิ่งนั้น เราต้องรู้จักเด็กหรือว่ารู้จักไอ้สิ่งนั้นที่มันจะมาเป็นวัตถุให้เราจัดการลงไป เราต้องรู้จักให้ดี เพราะเดี๋ยวนี้เราจะต้องทำกับเด็ก ๆ เราต้องรู้จักเด็ก ๆ นั้นให้ดีว่ามันคืออะไร เราจะต้องทำอย่างไร เพื่อประโยชน์อะไร อย่าหลับหูหลับตาไม่รู้ไม่ชี้ ปล่อยไปตามกรรมว่าเด็กก็เด็ก เราก็สอนไปตามหน้าที่ตามหลักสูตร อย่างนี้ก็เป็นครูลูกจ้าง ไม่ใช่ครูอุดมคติ ไม่ใช่ปูชนียบุคคล ฉะนั้นเกี่ยวกับเด็กแล้ว ครูจะต้องมีจิตใจที่เต็มไปด้วยเมตตา และเด็ก ๆ ของเราก็คือสัตว์ที่จะต้องได้รับความเมตตา ใช้คำว่าสัตว์เดี๋ยวจะหัวเราะเสียอีก ก็ให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าไอ้เด็กตัวเล็ก ๆ มันก็เหมือนสัตว์เล็ก ๆ มันเป็นสัตว์ที่ควรจะได้รับความเมตตา กรุณา รักใคร่ของครู ครูทั้งหลายจงมองเด็ก ๆ ในลักษณะอย่างนี้ จะว่าเด็กก็เด็ก มันก็เป็นหน้าที่ที่ต้องทำกันไปในวันหนึ่ง ๆ อย่างนั้นมันไม่พอ มันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ไม่ใช่ตามอุดมคติของพุทธศาสนา ทีนี้พอเรารักเด็กโดยแท้จริง มีเมตตากรุณาต่อเด็กโดยแท้จริง เราเป็นอะไร เราอาจจะเป็นมารดาของเด็กทุกคนก็ได้ หรือเป็นอะไรที่ยิ่งไปกว่าลูกจ้าง เป็นบิดามารดาของเด็กเหล่านั้น เป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อเด็ก ๆ เหล่านั้น คือเรามอบตัวเรา มอบชีวิต กำลังความสามารถอะไรของเราให้แก่เด็ก ๆ เหล่านั้น ถ้าทำได้มันสนุกสนาน ถ้าทำไม่ได้หรือไม่อยากจะทำแล้วมันก็เหลือระอา มันเป็นสิ่งที่น่าระอาสำหรับคนที่ไม่รักอุดมคติ อยากให้หมดเวลาเร็ว ๆ ไปเล่นไปหัวอะไรกันดีกว่าที่จะมานั่งรักเด็ก ๆ อยู่เหมือนกับว่าแม่รักลูกพ่อรักลูก นี่คืออุดมคติที่มันต่างกัน
การศึกษาในโลกนี้ไม่ใช่แต่ของประเทศไทย มันทั้งโลกเลยไม่ว่าประเทศไหน ประเทศที่ใหญ่โตเจริญล้ำหน้าที่ประเทศไปตามก้นเขาก็เหมือนกัน หลักการศึกษาเขามีไว้อย่างนั้น เขามองเด็กอย่างนั้น มองครูอย่างนี้ซึ่งมันไม่ตรงกับอุดมคติของพุทธศาสนา พุทธศาสนาต้องการให้ครูมองเด็กอย่างผู้ที่ต้องได้รับความเมตตาเหมือนกับว่าเป็นลูกของเรา เรียกว่า สิ่งทั้งสามที่ครูจะต้องรู้ ที่อาตมาตั้งใจจะพูด มันก็ต่างกันลิบแล้วจากสิ่งทั้งสามนี้ที่จะพูดไว้ในหลักวิชาครูของพวกคุณ บทนิยามสำหรับคำว่าครู สำหรับคำว่าการศึกษา สำหรับผู้ที่จะได้รับการศึกษา มันก็ต่างกันได้ถึงอย่างนี้ ฉะนั้นเมื่อคุณมาที่นี้เพื่อจะฟังความคิดความเห็นตามหลักพุทธศาสนา มันก็ต้องพูดอย่างนี้ พูดอย่างอื่นไม่เป็น และพูดอย่างอื่นไม่ได้ ถ้าพูดอย่างอื่นอาตมาก็กลายเป็นกบฏทรยศต่อพระพุทธเจ้า เพราะว่าหลักของพระพุทธเจ้าหรือพุทธศาสนามันมีอย่างนี้จึงต้องพูดอย่างนี้ จะชอบหรือไม่ชอบก็ตามใจ จะรับเอาไปปฏิบัติหรือไม่ก็ตามใจ มันเป็นอิสระหรือเสรีภาพที่เราจะเลือกจะทำ แต่เดี๋ยวนี้จะแนะให้ว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วมันจะไม่เป็นลูกจ้าง แล้วมันจะเป็นปูชนียบุคคลของคนทั้งโลก คือสถาบันของครูนี้จะอยู่เหนือเศียรเหนือเกล้าของคนของมหาชนทั้งโลก ถ้าทำได้ดีกว่านั้นมันจะกลายเป็นบิดามารดา เป็นพ่อพระแม่พระของคนทั้งโลกไปเลยทีเดียว จะทำได้เท่าไรเพียงไหนก็ลองไปคิดดู แต่ว่าอุดมคติมีอยู่อย่างนี้หรือว่าแนวของมันมีอยู่อย่างนี้ มันไปได้ไกลถึงอย่างนี้ เราจะไปจนสุดหนทางหรือไม่ก็แล้วแต่ความสามารถหรือความชอบใจของเรา เดี๋ยวนี้เรายังมีอายุน้อยเกินไปเราอาจจะไม่ชอบก็ได้ แต่ว่าเมื่ออายุมากขึ้นเราอาจจะชอบก็ได้ ฉะนั้นรู้ไว้ก็ไม่เสียหลาย เพราะสิ่งที่ครูหรือผู้ที่จะเป็นครูจะต้องรู้จักไว้ให้ดีแต่เดี๋ยวนี้ก็คือรู้จักความเป็นครูของตัวเอง รู้จักการศึกษาซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับจะจัดการกับคน และก็รู้จักผู้ที่จะรับการศึกษาคือเด็ก ๆ เพราะว่าตามทัศนะของพุทธศาสนาก็เป็นอย่างนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นครู ครูเริ่มแรกอย่างนี้ ยังเพิ่งเป็นครูหยก ๆ อย่างนี้ก็ต้องรู้หยั่งเรื่องนี้ไว้ เพื่อให้เป็นรากฐานเป็นพื้นฐานที่ดีของสิ่งที่มันจะเป็นเบื้องปลาย ทีนี้มันเป็นเบื้องต้นเราทำให้ดี เพื่อให้เป็นรากฐานที่ดีของสิ่งที่เป็นเบื้องปลายหรือสูงสุด ถ้าทำได้อย่างนี้จะพอใจตัวเอง จะรักตัวเองจะนับถือตัวเองจะยกมือไหว้ตัวเองได้ว่าเกิดมาทีหนึ่งชาติหนึ่งก็ได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะทำได้ แล้วก็จะถือว่าเรามีโชคดีที่เราได้มีอาชีพชนิดที่เป็นบุญเป็นกุศลอยู่ในตัวด้วย ถ้าเรามีอาชีพเป็นกรรมกรแบกหามอย่างนั้นเป็นต้น หรืออาชีพทำนาเป็นต้น มันก็ไม่แน่ว่ามันจะเป็นบุญกุศลหรือมันอาจจะไม่เป็นเลย แต่ถ้าเราได้อาชีพเป็นครูอย่างนี้ ทำอาชีพครูให้บริสุทธิ์ มันกลายเป็นบุญเป็นกุศลอยู่ในตัวมันเองยิ่งขึ้นทุกวัน ๆ เลยกลายเป็นปูชนียบุคคล ไม่ใช่ลูกจ้าง มีความสุข มีความพอใจบนการงานสูงสุด คือ การงานแห่งการยกวิญญาณของมนุษย์ในโลกให้มันสูง ขอให้รู้จักตัวเองอย่างนี้ รู้จักการศึกษาอย่างนี้ รู้จักผู้ที่จะรับการศึกษาในลักษณะอย่างนี้
ทีนี้ปัญหาต่อไปอีกก็มันมีอยู่ที่ว่า เราจะจัดทำกับเราอย่างไร บังคับตัวเราอย่างไร ทุกอย่างมันจึงจะเป็นไปได้อย่างที่ต้องการ คือว่าจะบังคับตัวเองอย่างไร จะควบคุมการศึกษาของเราอย่างไร หรือจะชักจูงผู้ที่รับการศึกษา จะดำเนินการสอนอย่างไร เมื่อตั้งหัวข้ออย่างนี้คงจะมีคำตอบอยู่แล้วในวิชาครูที่คุณเล่าเรียนกันมาแล้ว แต่แล้วมันก็ไม่ตรงกับที่ว่าตามหลักของพุทธศาสนา หรือตามอุดมคติของพุทธศาสนามันต้องการสูงไปกว่านั้นอีกนั่นแหละ ฉะนั้นครูต้องมีการบังคับตัวเองมากกว่าที่มีอยู่ในวิชาครูหรือซึ่งในวิชาครูจะไม่พูดถึงเลยก็ได้ ถ้าพูดตามหลักของธรรมะแล้ว ผู้ที่จะทำประโยชน์แก่ผู้อื่นหรือว่าผู้ที่จะบังคับผู้อื่นนั้นต้องบังคับตัวเองก่อน จำไว้เป็นหลักธรรมะที่สูงสุดข้อหนึ่งว่าตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า ถ้าจะชนะผู้อื่น จงชนะตัวเองก่อน ถ้าจะบังคับผู้อื่นให้ได้ ต้องบังคับตัวเองให้ได้ก่อน แล้วครูคนไหนเคยคิดที่จะบังคับตัวเองบ้าง แล้วครูคนไหนที่สามารถบังคับตัวเองได้ชนะแล้ว มันก็มีปัญหาอย่างนี้ ฉะนั้นในหลักวิชาครูคงไม่ได้พูดมากหรือไม่พูดสูงเท่ากับที่หลักพุทธศาสนาพูดหรือต้องการจะพูด เรื่องการบังคับตัวเองนี่มันมีหลักธรรมสำเร็จรูปอยู่แล้ว แล้วก็เป็นใช้ได้ทุกอย่างอย่างที่เรียกว่าสารพัดนึก ถ้าต้องการจะบังคับตัวเองก็มีธรรมะ ๔ ข้อ คือ สัจจะ ข้อแรกสัจจะ ความจริง ข้อ ๒. ทมะ บังคับตัวเอง ข้อ ๓. ขันติ อดทน ข้อ ๔. จาคะ สละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตน ๔ อย่างนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในฐานะเป็นธรรมะสารพัดนึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งหมายจะให้บุคคลเอาชนะกิเลสให้ได้ คือบังคับตนให้ได้หมายถึงบังคับกิเลสได้
ข้อที่ ๑. สัจจะนี้ต้องเป็นจริง คนจริง พูดจริงทำจริง หรือซื่อตรงต่อทุกคน ซื่อตรงต่ออุดมคติ ซื่อตรงต่อหน้าที่การงานที่จะต้องกระทำ อย่างนี้เขาเรียกว่าสัจจะไปหมดเลย สรุปให้สั้นก็คือว่าต้องมีสัจจะต่อความเป็นครู สัจจะต่ออุดมคติของความเป็นครู คือให้มันจริงสุดชีวิตจิตใจต่ออุดมคติของความเป็นครู มันจะช่วยบังคับตนเองง่าย
ทีนี้มันจริงแล้วมันก็มีการบังคับที่เรียกว่า ทมะ ข้อ ๒. บังคับนี้ก็ต้องไม่ใช่ทำเล่น ๆ ถ้าเราไปหวังหรือเห็นแก่ความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้วมันไม่มีการบังคับหรอก เพราะกิเลสนั้นมันดิ้นรนมาก การบังคับจึงต้องจริงมากเท่ากับความดิ้นรนของกิเลส ข้อนี้ก็เปรียบกันไว้สูงมาก คือว่าเหมือนกับว่าไอ้คนที่มันฉลาดในการบังคับช้าง เป็นนายควาญช้างชนิดแท้จริง เป็นนายควาญช้างกันมาไม่รู้จักกี่ชั่วอายุคนแล้ว พ่อของมัน ปู่ของมัน ปู่ทวดของมันก็ล้วนแต่เป็นควาญช้าง มันสามารถบังคับช้างแม้ที่ตกมันได้ ก็เรียกว่าว่ามันรู้เท่าและเก่งจริง ไอ้คนเราก็ต้องบังคับจิตในลักษณะนั้นหรือในขณะนั้น
ทีนี้ก็ไปถึงข้อ ๓. คือความอดทน ถ้าไม่มีความอดทนแล้วล้มละลาย ถ้าครูไม่มีความอดทนหรือใครก็ตามไม่มีความอดทนแล้วกิจการนั้นจะล้มละลาย เพราะไม่มีอะไรหรอกที่จะสะดวกสบายสนุกสนาน ถ้าไปทำเป็นการเป็นงานเป็นจริงเป็นจังกันแล้วต้องประสบความยุ่งยากลำบาก ความต่อต้านอะไรทุกอย่าง ต้องเรียกว่ามันเป็นยิ่ง ๆ เป็นงานมากงานสูงงานดีเท่าไร ยิ่งต้องใช้ความอดทนเท่านั้น ฉะนั้นอย่าบิดพลิ้ว อย่าแก้ตัว อย่าเบี่ยงบ่ายอะไรที่ว่าครูจะต้องอดทนมากกว่าลูกศิษย์ ถ้าไม่อย่างนั้นเป็นล้มเหลว พ่อแม่ต้องอดทนยิ่งกว่าลูกถ้าไม่นั้นจะล้มเหลว อย่างอาตมาเป็นอาจารย์เป็นสมภารเป็นอะไรต้องมีความอดทนเท่ากับความอดทนของลูกวัดทุกคนรวมกัน เพราะว่าลูกวัดทุกคนมันก็มีแต่จะสร้างปัญหาชนิดที่ทำให้อาจารย์จะต้องอดทน ฉะนั้นนักเรียนก็เหมือนกันแหละ มีนักเรียน ๓๐ คนมันก็มีส่วนที่จะทำให้ครูต้องอดทน ๓๐ คน ๓๐ เท่า ถ้าไปเกิดโมโหโทโสไม่อดทนแล้วเป็นอันว่าล้มละลายแน่ ฉะนั้นอย่าเข้าใจผิดเหมือนที่เขาเข้าใจผิดกันว่า อ้าว, เราเป็นนายนี่ เราต้องอดทนอะไร ความอดทนมันอยู่ฝ่ายคนใช้ฝ่ายโน่นสิ นั่นนะคือโง่ โง่ที่สุดในโลก ยิ่งเป็นนายยิ่งจะต้องอดทนมาก ยิ่งเป็นครูยิ่งจะต้องอดทนมาก ยิ่งเป็นพ่อแม่ยิ่งจะต้องอดทนมาก ความอดทนมันกลับมาอยู่ฝ่ายผู้เหนือกว่า ถ้าไม่อย่างนั้นจะล้มเหลว พระพุทธเจ้าจึงตรัส ขันตี ความอดทนนั้นอยู่ในฐานะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความสำเร็จ อย่างเป็นบรรพชิตเป็นสมณะนี้พอขาดความอดกลั้นอดทนนั้น สิกขาอย่างไรสูญหายหมด เป็นคนเลวเป็นคนอะไรไม่เป็นพระแล้ว เพราะถ้าไม่อดทนแล้วมันก็ทำชั่วตามอำนาจของกิเลสบังคับ ฉะนั้นเราจะต้องอดทน ยิ่งเป็นครูยิ่งต้องอดทน ไอ้ฝ่ายเด็กมันจะเป็นฝ่ายที่ไม่อดทน
ทีนี้ข้อสุดท้ายที่ว่าจาคะ สละสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตน ก็คือความเลวความชั่วทุกชนิดทั้งเล็กทั้งใหญ่ตั้งแต่จิดริดนิดหน่อยอะไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าเป็นความชั่วหรือเป็นมลทิน เป็นความเศร้าหมองหรืออะไรก็แล้วแต่ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องสละออกจากตน อย่าทำเล่น ไอ้โทษเล็ก ๆ น้อยก็อุตส่าห์สละไปเสีย อย่าเห็นว่าเรื่องสูบบุหรี่เป็นเรื่องเล็กน้อยแล้วก็ไม่ทิ้งบุหรี่ การไม่ทิ้งบุหรี่หรือทิ้งบุหรี่ไม่ได้มันแสดงความอ่อนแอ ความไม่อดทน ความไม่เข้มแข็งที่จะบังคับตนแล้วจะไปบังคับคนได้อย่างไร บังคับบุหรี่ก็ไม่ได้แล้วไปบังคับคนได้อย่างไร ก็มีหลักว่าไอ้สิ่งใดก็ตามที่มันไม่ควรจะมีในตนก็รีบระบายออกไปเสีย เช่นเดียวกับขี้ไคลมันเกิดทุกวันก็ต้องถูออกไปทุกวัน ทีนี้มันก็มีอะไรอีกหลาย ๆ อย่างที่จะต้องค่อย ๆ สละไป ๆ ด้วยวิธีอย่างนั้นด้วยวิธีอย่างนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเช่นเรื่องอบายมุข ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน มันก็มีอยู่ในสมุดที่คุณจดกันไว้แล้วนั่นแหละแต่แล้วมันก็ไม่มีใครจัดการกับมัน มันเป็นเรื่องที่ถูกสละออกไป ถูกล้างชะล้างออกไป นี่ก็เรียกว่า จาคะ คำว่า จาคะ แปลว่า สละ คนมักจะคิดว่าคำว่า จาคะ เป็นเรื่องให้ทาน ก็ถูกแล้ว ให้ทานก็คือมันสละในสิ่งที่ควรสละ แต่ว่าส่วนที่ควรสละที่มันมีอยู่ในตนนั้นมันร้ายกาจมาก คือ ความชั่วหรือกิเลสหรืออะไรก็ตามที่มันไม่ควรมีอยู่ในใจก็ควรสละออกไป การให้ทานก็สละความขี้เหนียวที่ไม่ควรมีอยู่ในใจ
ทีนี้ถ้าครูจะเป็นผู้บังคับตนให้ได้ก็ขยันเกี่ยวข้องกับธรรมะ ๔ ประการนี้คือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ทีนี้เมื่อบังคับตนได้แล้วไม่ต้องกลัวไม่ต้องสงสัย จะบังคับคนอื่นได้ ครูมันเข้มแข็ง ครูมันระเบียบเรียบร้อย น่ารักน่านับถือน่าบูชา น่าเกรงขาม มันจึงบังคับคนอื่นได้ บังคับเด็ก ๆ ได้ บังคับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้ บังคับตนได้ บังคับนักเรียนได้ก็สามารถบังคับการศึกษาให้เป็นไปตามความประสงค์ได้ ถ้าครูมันเหลวไหลขี้เกียจมันก็บังคับการศึกษาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ไม่ได้ และก็บังคับเด็กไม่ได้ และก็บังคับตัวเองไม่ได้ นี่คือความล้มละลายหมด ผู้ที่จะเป็นครูจะต้องบังคับตัวเองได้ บังคับเด็กได้ บังคับการดำเนินการสอนได้ให้มันเป็นไปถึงที่สุดได้ นี้เราก็รู้วิธีที่จะบังคับได้จากหลักของพุทธศาสนาซึ่งในวิชาครูอย่างโลก ๆ นั้นอาจจะไม่มีพูดถึงอย่างนี้ สมัยก่อนอาจจะมีแต่สมัยนี้ตัดทิ้งไปหมด มุ่งแต่ให้รู้หนังสือเร็ว ๆ ไปหาวิชาเทคโนโลยีไปโลกพระจันทร์กันดีกว่า ไม่มามัวคิดถึงไอ้เรื่องละเอียดลออหรือความสูงในทางจิตใจ ฉะนั้นคนจึงเตลิดเปิดเปิง เรียนจบก็เป็นฮิปปี้ ควรจะคิดดูให้อย่างยิ่งก็คือว่าทำไมมันจึงมีการศึกษายังมีปัญหาที่ยุ่งยากที่สุด เช่นเรื่องนักเรียน นิสิต นักศึกษาชอบเสพยาเสพติด เฮโรอีน เอสแอลดี อะไรก็ตาม ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมการศึกษาที่มีมามากแล้วถึงที่สุดแล้วกลายเป็นไปชอบอย่างนั้น จนเป็นภาระแก่รัฐบาลแก่อะไรต่าง ๆ เรื่องรายละเอียดก็มีอีกมากซึ่งจะได้พิจารณากันอีกทีหนึ่ง แต่มันน่าหัวที่สุดเกี่ยวกับการศึกษาของโลก เขาถือกันว่าก้าวหน้าที่สุด เจริญที่สุด แต่แล้วโลกก็อยู่ในสภาพอย่างนี้ เรียนจบก็ไปชอบยาเสพติด
รวมความว่าไอ้ความรู้ทุกอย่างเราจะแก้ไขปัญหาทุกอย่างนี่มันต้องรู้ไอ้สิ่งสำคัญที่สุดอยู่อย่างหนึ่ง คือวัตถุประสงค์ของการที่ว่าคนเราเกิดมาทำไม คุณอย่าดูถูก ทำเล่น ๆ กับปัญหานี้ อย่าคิดว่ารู้แล้วฉันรู้แล้วว่าฉันเกิดมาทำไม อย่าเพิ่ง ก็จริงอยู่ที่ว่าทุกคนจะคิดและเชื่อว่าตัวรู้แล้วว่าตัวเกิดมาทำไม แต่มันยังผิด มันยังรู้อย่างลูกเด็ก ๆ รู้ว่าเราเกิดมาทำไม เด็ก ๆ ก็ลองคิดลองดูพวกเด็ก ๆ เล็ก ๆ ที่มันยังคลานอยู่หรือมันพอจะวิ่งได้ มันก็เกิดมากินขนม ทีนี้มันโตขึ้นมา มันก็รู้เรื่องสวยงามเรื่องอะไรต่าง ๆ มันก็เพื่อสิ่งนั้นแหละ กระทั่งเพื่อสิ่งที่กิเลสมันต้องการ ๆ ๆ ไปตามลำดับแหละ มันก็เกิดมาเพื่อสิ่งนั้นแล้วมันไม่ถูก แม้แต่ที่ว่าจะเกิดมาเพื่อทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจ วาสนา มันก็ยังไม่ถูกถึงที่สุด เพราะมันยังมีสิ่งอื่นที่สูงกว่านั้น ก็คือสิ่งที่เรียกว่าเรามีจิตใจชนิดที่มีความทุกข์ไม่เป็น จะเป็นคนยากจนหรือเป็นคนรวยหรือเป็นคนที่ไหนก็ตาม เมื่อมันมีจิตใจชนิดที่มีความทุกข์ไม่ได้หรือมีความทุกข์ไม่เป็นละก็ เรียกว่ามันก็ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้เพราะมันไม่มีความทุกข์ ส่วนเรื่องนอกนั้นเงินทองทรัพย์สมบัติข้าวของ มันก็มีไปทำไปใช้ไปกินไปโดยที่ไม่ต้องมีความทุกข์ เดี๋ยวนี้ยิ่งมีมากยิ่งทุกข์มาก ยิ่งมีอำนาจวาสนามากยิ่งทำชั่วมาก มันก็มีปัญหาที่เป็นความทุกข์ทั้งนั้น แล้วถามว่าเกิดมาทำไม ก็เพื่อสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ก็คือทุกข์กับใครไม่เป็น มีจิตใจดีวิเศษทำประโยชน์ผู้อื่นได้มากมายก่ายกองและไม่มีความทุกข์ด้วย นั่นแหละคือสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ เป็นครูจะต้องรู้จักเพื่อว่าจะยกวิญญาณของคนทั้งโลกให้มันสูงขึ้นมาถึงขนาดนั้น อย่าคิดว่าเราเป็นครูของเรา ครูเพื่อตัวเรา หรือครูของประเทศไทยสิ มันต้องคิดว่าเป็นครูของมนุษย์ ถ้าเป็นครูต้องฉลาดพอที่จะคิดได้ถึงข้อที่ว่าเราเป็นครูของมนุษย์ ไม่ใช่เป็นครูของเด็กเท่านี้หรือไม่ใช่เป็นครูในประเทศไทยนี้ ต้องถือว่าครูนี้เป็นสถาบันของโลกมนุษย์คือของมนุษย์เลยทีเดียว รับภาระหน้าที่ที่จะทำให้มนุษย์ในโลกนี้มันมีจิตใจสูงขึ้น ๆ ที่เรียกว่ารู้จักความเป็นครูโดยสมบูรณ์ เพราะจิตใจมันก็จะสูงทันทีถ้ารู้จักอุดมคติอันนี้จิตใจจะสูงทันที จะไม่เห็นแก่ตัว จะไม่เห็นแคบ ๆ พวกของตัว แล้วก็จะชอบในการที่ไม่เป็นลูกจ้างแต่เป็นปูชนียบุคคล ฉะนั้นจะรู้ว่าเกิดมาทำไมให้ละเอียดลออยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกนี่เราก็จะได้พูดกันในวันหลัง
วันนี้ก็จะสรุปความไว้เพียงแค่นี้ว่าเราแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ได้ เพราะว่าเราเป็นครูนำคนไปไม่ได้หรือว่าเด็ก ๆ ของเรามันเป็นผู้ที่เรานำไปไม่ได้หรือว่าอะไรก็ตามที่มันเป็นปัญหา มันล้วนแต่มาจากข้อที่ว่าไอ้คนเหล่านั้นมันไม่รู้ว่าเกิดมาทำไมอย่างถูกต้อง ถ้าแต่ละคนรู้ว่าเกิดมาทำไมอย่างถูกต้องแล้วมันไม่มีปัญหาอะไรเหลือ โลกนี้จะไม่มีปัญหาเหลือ จะไม่มีความทุกข์ความร้อนเหลือ เดี๋ยวนี้พอมีปัญหาความทุกข์ความยากลำบากเขาจึงต้องจัดการศึกษา เมื่อโลกมันเจริญขึ้น ความทุกข์ความร้อนมันมีมากขึ้นจึงต้องจัดเรื่องการศึกษาขึ้น ถ้าอยู่ในป่าอย่างสมัยหินโน่น ผ้าก็ไม่ต้องนุ่ง เรือนก็ไม่ต้องมี อย่างนี้การศึกษามันก็ไม่ต้องมีเพราะว่ามันไม่มีปัญหาอะไรที่จะเป็นความทุกข์ มันพอใจเพียงเท่านั้นแล้ว สิ่งต่าง ๆ มันก็มีอยู่รอบข้างแล้ว ข้าวมันก็งอกเองในป่าไปเก็บมากินได้ เนื้อมันก็อยู่ในป่าไปยิงมากินได้ มันก็ไม่มีปัญหาเรื่องการศึกษา เดี๋ยวนี้มนุษย์มันเปลี่ยนมาเป็นการอยู่บ้านอยู่เรือนอย่างนี้ ต้องกินอย่างนี้ ต้องแต่งตัวอย่างนี้ อะไรอย่างนี้มันก็ต้องมีเรื่องที่จะต้องรู้เพิ่มขึ้นมากมายจึงต้องมีการศึกษา ไอ้คนป่าสมัยโน้น ผ้าก็ไม่ต้องนุ่ง เรือนก็ไม่ต้องมี แล้วจะรู้หนังสือไปทำไม มันก็อยู่กันได้ผาสุกเรื่อย ๆ มา มันก็คือปู่ย่าตายายของเรานั่นแหละ อย่าอวดดี โดยเฉพาะในแถบแหลมมลายูนี้ทุก ๆ ๆ แห่งจะพบวัตถุหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุสมัยหินขัด หินที่มันขัดสวยเป็นรูปขวานบ้าง เป็นรูปแหลม ๆ บ้าง นั่นน่ะมันของคนป่าเมื่อ ๒๐,๐๐๐ ปีมาแล้วมันมีอย่างนั้น มันไม่ต้องเรียนหนังสือหรอกและมันก็เป็นปู่ย่าตายายของคนที่อยู่เดี๋ยวนี้ด้วย มันเปรียบเทียบดูสิว่าปัญหาของมนุษย์เรานี้มันมีอย่างไร เกี่ยวกับการรู้หนังสือ เกี่ยวกับการศึกษา เกี่ยวกับการเป็นครู เกี่ยวพันสั่งสอนและผู้ที่จะถูกสั่งสอน มันมีมากขึ้น อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องเพียงอาศัยเลี้ยงชีวิตไปวันหนึ่ง ๆ ต้องรู้ถึงอุดมคติอันสูงสุดจุดหมายปลายทางด้วย เราจึงจะมีความสว่างไสวในจิตใจแล้วจึงจะสบายใจ จึงจะอยู่ด้วยความเป็นสุขในทุก ๆ กรณีไม่ว่าเราจะเป็นคนชนิดไหน ถ้าเข้าใจความจริงอันลึกซึ้งของมนุษย์ในข้อนี้แล้วก็เรียกว่ามีจิตใจสูง มีวิญญาณสูง แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ นั่นเป็นหน้าที่ของครู ครูคือผู้นำทางวิญญาณ มีหน้าที่ยกจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้นในลักษณะอย่างนี้ คือคำอธิบายตามทัศนะของพุทธศาสนา คือหลักธรรมะเท่าที่เกี่ยวข้องกับความเป็นครูอย่างไร หลักธรรมะมันมีมากแสนจะมาก แต่ส่วนที่จะประยุกต์กันได้กับเรื่องของครูมันมีอยู่อย่างนี้ จึงเอามาพูดให้ฟังในวันแรก จัดว่าเป็นหัวข้อหรือเป็นเค้าโครงนั้น ส่วนรายละเอียดนั้นเราจะได้กล่าวกันในวันหลัง ๆ ในวันแรกนี้ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
ศึกษาอะไรกันในนี้บางหรือเปล่า ก็ต้องรู้จักศึกษาว่าภาพเหล่านี้มันไม่ใช่ภาพศิลปะจัดขึ้นเพื่อประกวดประชันประขันอะไรกัน มันไม่ใช่ภาพศิลปะ มันเป็นภาพสำหรับการเพ่งพิจารณาให้รู้ความจริงข้อใดข้อหนึ่งที่จำเป็นที่สำคัญมากที่เกี่ยวกับชีวิตของคนเรา อย่าดูมันอย่างภาพศิลปะ มันไม่ได้มุ่งหมายอย่างนั้น จะดูอย่างภาพศิลปะก็ได้ไม่ห้ามหรอก มันก็เป็นศิลปะอันหนึ่งอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าเรามุ่งหมายว่ามันจะเป็นและก็อารมณ์ของสมาธิ ต้องดูด้วยความเป็นสมาธิให้ลึกทะลุภาพไปถึงชีวิตจิตใจของเราเอง จะมาศึกษาอะไรบ้างในจุดนี้ด้วยลำพังตนเองแล้วพยายามทำอย่างนั้น อย่าศึกษากันแต่เพียงว่ามันเป็นภาพหรือเป็นภาพศิลปะ แต่มันเป็นภาพธรรมะ เรียกว่า ภาพปริศนาธรรม เอาเก้าอี้ตัวหนึ่งมาวางไว้ตรงหน้าภาพใดภาพหนึ่งที่เราต้องการจะศึกษาและก็ดูให้ออกเสียก่อนว่ามันภาพอะไร เส้น ๆ นั่นมันภาพอะไร เดี๋ยวจะดูไม่ออก แล้วภาพนั้นมีความหมายอย่างไรก็ต้องคิดกันมาก และอีกทีหนึ่งว่ามันได้แก่ตัวเราอย่างไร ทุกภาพจะเกี่ยวข้องแก่ตัวเรา ทุกภาพจะเกี่ยวข้องกับตัวเราจะเป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องในจิตใจของเรา เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราในแง่ใดแง่หนึ่งมุมใดมุมหนึ่งทุกภาพ มันจึงมีมาก มันต้องการเวลามากที่จะศึกษา ถ้ามีเวลามีว่างเมื่อไรก็มาศึกษาในตึกนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ดูผ่าน ๆ ไป จะรู้จักพุทธศาสนาได้จากภาพเหล่านี้และจะรู้จักชีวิตจิตใจของตัวเองอย่างลึกซึ้งได้ก็ด้วยภาพเหล่านี้ เพราะมันเป็นภาพที่เลือกสรรมาจากภาพหลายหมื่นหลายพันภาพหลายพันหลายหมื่นภาพที่มันคัดเลือกมาได้เพียงเท่านี้ ถ้าว่าจะศึกษาเองตามลำพังตามในโปรแกรมนั้นแล้วก็ศึกษาภาพเหล่านี้ไปก็ได้ จะรู้ธรรมะเหมือนกัน (ชั่วโมงที่ 01:19:12) แล้วคุณมีโปรแกรมว่าอย่างไรต่อไปนี้ กลับไปที่พักหรือ ถ้าว่าอยากจะฟังอะไรจะดูอะไรก็ให้ท่านอาจารย์โพธิ์ช่วยจัด จะดูภาพสไลด์วิวจะดูอะไรถ้าทนได้ก็ยังมี จะหัดร้องเพลงบทดอกสร้อยธรรมะเมื่อตะกี้บ้างก็ได้ อาจารย์ที่กรมศิลปากรช่วยร้องให้ ถือเป็นแบบฉบับได้