แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธทาสภิกขุ : ประสูติบนปราสาท หรือว่าประสูติกลางดิน
สามเณร : กลางดินครับ
พุทธทาสภิกขุ : ใครว่าประสูติบนปราสาท ที่เรียนมาใครว่าประสูติบนปราสาท (หัวเราะ) พระพุทธเจ้าตรัสรู้กลางดินหรือตรัสรู้บนมหาวิทยาลัย
สามเณร : กลางดินครับ
พุทธทาสภิกขุ : อืม, ไม่มีใครว่าบนตึกมหาวิทยาลัย พระพุทธเจ้าสอนสาวกกลางดินหรือว่าในตึก
สามเณร : กลางดินครับ
พุทธทาสภิกขุ : อืม, ไม่ได้สอนในโรงเรียน พระพุทธเจ้านิพพานกลางดินหรือว่าบนกุฏิ
สามเณร : กลางดินครับ
พุทธทาสภิกขุ : นั่นแหละ ฉะนั้นเธอไม่อยากจะนั่งกลางดิน, ไม่อยากจะนั่งกลางดิน เพราะฉะนั้นอุตส่าห์ชอบดินกันเสียบ้าง มันจะง่ายในการที่จะระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า ดังนั้นเราจึงชอบชวนมานั่งกลางดิน เดี๋ยวนี้ ระลึกโดยจิต จิต ส่งจิตระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน แม้แต่กุฏิก็พื้นดิน โรงฉันก็พื้นดิน ทำปาฏิโมกข์ก็กลางดิน มีในสูตรชัดๆ เลย ไม่ได้มีโรง มีเพิง เรียกประชุมตรงไหนก็ทำปาฏิโมกข์ตรงนั้น ถ้าฝนตกมา ต้องเลิก ต้องเลิกปาฏิโมกข์ ในที่สุดก็ปรินิพพานกลางดิน นึกถึงข้อนี้กันไว้ก่อน แล้วเราก็จะไม่หลงใหลในเรื่อง
สามเณรแปลว่าอะไร
สามเณร : เหล่ากอของสมณะครับ
พุทธทาสภิกขุ : ว่าใหม่สิ สั้นๆ
สามเณร : เหล่ากอของสมณะครับ
พุทธทาสภิกขุ : พูดให้สั้นกว่านั้น
สามเณร (รายบุคคล) : ผู้สงบครับ
พุทธทาสภิกขุ : ยังไม่ถูก สามเณรน่ะก็แปลว่าเตรียมสมณะ เตรียม ป. เตรียม ม. เตรียมลูกเสือ เตรียมอะไรนี่ ก็เตรียมทั้งนั้นแหละ สณะ สมณะ เณระ สมณะ-เอระ เป็นสามเณระ (นาทีที่ 4:09) เหล่ากอของสมณะ คือเตรียมสมณะ สมณะนี้เป็นฆราวาสหรือเป็นนักบวช
สามเณร : นักบวชครับ
พุทธทาสภิกขุ : อืม, สมณะเป็นผู้อยู่บ้านเรือนได้ไหม
สามเณร : ไม่ได้ครับ
พุทธทาสภิกขุ : แต่ข้อความเขามีนะ สมณะอยู่บ้านเรือนก็มี เป็นพระโสดาบันก็มาก ที่เด่นที่สุด เช่น พระนางวิสาขา อนาถบิณฑิกเศรษฐี พ่อแม่ของพระยส (นาทีที่ 5:01) ที่เราเรียนพุทธประวัติมาแล้ว ผู้ที่เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามีนี่ ที่เป็นฆราวาสอยู่บ้านเรือนก็มี ที่เป็นอนาคามีไม่ได้บวช อยู่บ้านเรือนก็มี แต่ว่าเขาอยู่ชีวิตโสด ส่วนโสดาบัน สกิทาคามี นี่เป็นชีวิตคู่ก็มี ฉะนั้นก็เรียกว่า สมณะที่ ๑ หนึ่งคือโสดาบัน สมณะที่ ๒ คือสกิทาคามี สมณะที่ ๓ คืออนาคามี นี่เป็นฆราวาสก็มี เป็นบรรพชิตก็มี ส่วนสมณะที่ ๔ คือพระอรหันต์ เป็นฆราวาสหรือเป็นบรรพชิต ใครตอบได้ เป็นฆราวาสหรือเป็นบรรพชิต
สามเณร : บรรพชิตครับ
พุทธทาสภิกขุ : อืม, เธอรู้ ว่าเป็นบรรพชิต แต่ที่เรารู้ เลยนั้นไปอีก ไม่เป็นฆราวาส ไม่เป็นบรรพชิต อยู่เหนือความเป็นฆราวาส เหนือความเป็นบรรพชิต แต่ว่าการประพฤติเป็นอยู่ กิน-อยู่ อะไรอย่างนี้ของท่านก็ทำคล้ายๆ กับเป็นบรรพชิต แต่จิตใจของท่านอยู่เหนือความเป็นฆราวาส เหนือความเป็นบรรพชิต เช่นเดี๋ยวนี้เขาเป็นฆราวาสอยู่ ไปฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เกิดเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาที่ตรงนั้นนะ เขาไม่ต้องบวชหรอก ก็เป็นพระอรหันต์ ก็เป็นยิ่งกว่าเป็นบรรพชิตไปเสียอีก เหนือบรรพชิตไปเสียอีก คำนี้เข้าใจยาก จำๆ ไว้ก่อนก็ได้ถ้ายังไม่เข้าใจ คือมันเหนือความเป็นอะไรหมด ไม่มีความเป็นอะไร ไม่มีความเป็นบุคคล ไม่มีความเป็นมิใช่บุคคล มิใช่ มันอยู่เหนือความเป็นอะไรทั้งหมด แต่ถ้าดูกันภายนอก ตามสมมติ ตามธรรมเนียม ก็พระอรหันต์ก็เรียกว่าท่านเป็นบรรพชิต อยู่ในเพศบรรพชิต นุ่งห่มกินอยู่อย่างบรรพชิต ก็ถูกแล้ว ที่ตอบน่ะถูกแล้วว่าเป็นบรรพชิต แต่ที่ถูกกว่านั้นก็คือว่ามันเหนือ เหนือกว่าที่จะเป็นฆราวาสหรือเป็นบรรพชิต ก็แปลว่า สมณะสูงสุดคือพระอรหันต์ สามเณร แปลว่า เตรียมสมณะ เตรียมที่จะเป็นสมณะ ฉะนั้นต้องจำไว้นะว่า แม้จะสึกกลับไปเป็นฆราวาส ก็ต้องเป็นสมณะให้ได้ แม้ว่าเธอจะสึกกลับไปเป็นฆราวาส เธอก็ต้องเป็นสมณะให้จนได้ คือสมณะอย่างฆราวาส ที่อยูที่บ้านเรือน ถ้าอยู่ได้เป็นสามเณร เป็นภิกษุ ไม่ต้องสึกก็ยิ่งดี ก็เป็นสมณะได้ง่าย เป็นได้มาก เป็นได้ไกล นี่ขอให้รู้จักตัวเราว่าเป็นสามเณร คือเตรียมสมณะ แล้วแต่โอกาส จะเป็นสมณะอยู่บ้านเรือนหรือสมณะไม่มีบ้านเรือนก็ได้
เดี๋ยวนี้เราบวชเพื่อฝึกฝนอบรมธรรมะที่ควรอบรมทั้งหมดทั้งสิ้น ก็รวมความว่า ทั้งเพื่อเป็นสมณะและเพื่อ
ไม่เป็นสมณะ เป็นหลักธรรมะทั่วไปให้ดับทุกข์ได้ก็แล้วกัน สมณะฆราวาส เป็นสมณะฆราวาสก็เป็นเมื่อดับทุกข์ เป็นสมณะบรรพชิตก็เป็นเมื่อดับทุกข์ ฉะนั้นเราก็เป็นสมณะก็แล้วกัน ดับทุกข์ ดับทุกข์ก็คือดับกิเลส ดับกิเลสก็คือดับไฟ ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ
ใคร ใครมีไฟราคะ ใครเคยมีไฟราคะ คนเดียว สองคน คนนี้คงไม่รู้จักไฟราคะ เลยคิดว่าไม่มี ใครเคยมีไฟโทสะ ความโกรธ อืม, นี่รู้จักกันมาก อืม, ไฟโมหะ, ไฟโมหะ แหม, ฉลาดกันมาก โง่เพียง ๒-๓ คน ไฟโมหะคือความโง่ ความหลง ความสะเพร่า ความประมาท ความอวดดี นี่คือไฟโมหะ เมื่อมีราคะ กำหนัด รัก มันก็ร้อน ไม่ ไม่ต้องรักผู้หญิง-ผู้ชายหรอก จะรักอะไรก็ตามเถอะถ้าไปรักเข้าแล้วมันร้อนทั้งนั้นแหละ แล้วเมื่อมันไม่ได้ตามที่มันรักหรือมันต้องการ มันก็เกิดโทสะ ไฟโทสะมันก็ร้อนอีกแหละ ทีนี้ไฟโมหะ มันทำอะไรไม่ถูกตามที่ควรจะทำ มันก็ต้องร้อน แม้แต่ความสงสัย มันก็ร้อนนะ ความลังเล ความสงสัย เท่านี้มันก็ยังร้อนเสียแล้ว ยิ่งความโง่แล้วมันก็ยิ่งร้อนมาก ฉะนั้นเมื่อมีราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นในจิต จิตนี้มันก็ไม่สงบ, ไม่สงบ คือไม่เป็นสมณะ เมื่อใดในจิตมันไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เหมือนจิตสงบ คนนั้นก็เป็นสมณะโดยบังเอิญ ไม่ได้ทำอะไร จิตมันสงบเองก็เป็นสมณะบังเอิญ ถ้าควบคุมได้ จัดการได้ ให้มันไม่ ไม่เกิดขึ้น ก็เป็นสมณะที่ว่ามีการกระทำ เราได้กระทำให้มันเป็นสมณะ สงบเย็น
เมื่อไม่มีไฟ เรารู้สึกอย่างไร ฮึ,
สามเณร : เย็นครับ
พุทธทาสภิกขุ : เมื่อไม่มีไฟ เรารู้สึกเย็น เมื่อมีไฟ
สามเณร : ร้อนครับ
พุทธทาสภิกขุ : อืม, ฉะนั้นดูให้ดี เมื่อไฟราคะ โทสะ โมหะ ไม่มี นี่มันเย็นอย่างไร จะเข้าใจเรื่องนี้เธอต้องรู้จักไอ้ตัวไฟนี่เสียก่อน ราคะเป็นอย่างไร กำหนัดรักเรื่องผู้หญิง เรื่องนี้ก็ร้อนเด่นชัดมาก แต่แม้กำหนัดรักไอ้ของรักอย่างอื่น เป็นของ สิ่งของก็ได้ บุคคลก็ได้ กำหนัดรักแล้วก็เป็นอย่างไร จิตมันกระวนกระวายอย่างไร
สมมติว่าเรารักของใช้สักอันหนึ่ง เช่น ปากกาด้ามหนึ่ง นาฬิกาเรือนหนึ่ง อะไรนี่ รักมาก รักเหมือนกับบ้า มันร้อนหรือเย็น ดูอย่างนั้น ถ้าราคะละก็ต้องร้อน ฉะนั้นต้องรู้จักไอ้ความร้อนนี่ก่อน ไม่เช่นนั้นทำความสงบไม่ได้หรอก เพราะไม่รู้ว่าจะไปทำที่ตรงไหนนั่น รู้จักตัวปัญหาเสียก่อนจึงจะแก้ปัญหาได้
โทสะนี่คงจะรู้จักกันดีเพราะมันง่าย เมื่อเราไม่ได้อย่างใจ เราก็มีโทสะ ใครเคยมีโทสะเกิน ๑๐๐ ครั้ง
(หัวเราะ) ใครเคยมีโทสะเกิน ๑๐๐ ครั้ง นี่ก็พูดจริงนะ นี่เดี๋ยวนี้เป็นเณรนะ รับศีลนะ ใครเคยมีโทสะประมาณเกิน ๑๐๐ ครั้ง ใครมีเกิน ๒๐๐ ครั้ง (หัวเราะ) เอ้า, ใครมีเกิน ๓๐๐ ครั้ง ใครมีโทสะประมาณ ๑,๐๐๐ ครั้ง
สามเณร : นับไม่ถ้วนครับ
พุทธทาสภิกขุ : ใครมีโทสะประมาณ ๑,๐๐๐ ครั้ง เคยมีโทสะประมาณ ๑,๐๐๐ ครั้ง นั่นแหละเกินจะรู้จักแล้ว พอแล้ว, พอแล้ว ถ้าเคยมีโทสะตั้ง ๑,๐๐๐ ครั้งแล้วยังไม่รู้จักโทสะ มันก็บรมโง่แล้ว ฉันไม่พูดด้วยแล้ว ถ้ามันมีโทสะตั้ง ๑,๐๐๐ ครั้งแล้วมันยังไม่รู้จักโทสะ มันโง่เกินกว่าที่จะพูดด้วยกันได้แล้ว เดี๋ยวนี้เราต้องการให้รู้จักโทสะ พอโทสะเกิดขึ้นในใจน่ะมันร้อนหรือมันเย็น
สามเณร : ร้อนครับ
พุทธทาสภิกขุ : เปรียบกับไฟเป็นอย่างไร ร้อนเท่าไฟ หรือร้อนกว่าไฟ หรือร้อนน้อยกว่าไฟ
สามเณร : ร้อนมากกว่าครับ
พุทธทาสภิกขุ : อืม, เขาก็เรียกว่าไฟ โทสัคคิ ไฟคือโทสะ ราคัคคิ ไฟคือราคะ โมหัคคิ ไฟคือโมหะ ร้อนทั้งนั้น ร้อนคนละแบบ ไอ้ร้อนนี่ มันเปียกหรือมันแห้ง ใครตอบได้
สามเณร : แห้งครับ
พุทธทาสภิกขุ : เอาน้ำร้อนราดที เอาไหม
สามเณร : ไม่เอาครับ
พุทธทาสภิกขุ : แล้วว่าเปียกยังไงล่ะ ก็เปียก ร้อนก็เปียก ไฟบางชนิดมันก็เปียกนะ คนโง่ๆ ไม่รู้ว่าไฟ ไปหลงรักมัน ไฟราคะ ไฟเปียก ไม่ต้องแห้งเสมอไป ไฟราคะนี่เปียกแฉะเลย ไฟโทสะนี่ แห้งหรือเปียก
สามเณร : แห้ง
พุทธทาสภิกขุ : จะแห้ง ไฟโมหะนี่ ฮึ, ตอบไม่ถูก เอาแห้งๆ เปียกๆ ก็แล้วกัน ไฟโมหะนี่มันทั้งแห้งๆ เปียกๆ ไฟราคะมันเปียก ไฟโทสะมันแห้ง เมื่อไม่มีไฟเหล่านี้ก็เรียกว่า เย็น คือสงบ
คำว่า นิพพาน แปลว่าอะไร
สามเณร : เย็นครับ
พุทธทาสภิกขุ : อือ, รู้มาจากไหน
สามเณร : หลวงพี่พยอมครับ
พุทธทาสภิกขุ : หลวงพี่พยอมบอก
เมื่อไม่มีไฟ ดับไฟได้ มันก็เย็น เมื่อร้อนนักมันไม่ไหว แม้จะกินก็ไม่ได้ ข้าวร้อนแกงร้อนเกินไปกินไม่ได้
ต้องรอให้มันเย็น เดี๋ยวนี้จิตใจของเราก็เหมือนกันแหละ ถ้ามันร้อนก็สู้ไม่ไหว มันกระวนกระวาย ชักดิ้นไปเลย เพราะมันมีราคะ โทสะ โมหะนั่นน่ะเผาผลาญ จะเรียกว่าเผาผลาญก็ได้ จะเรียกว่าทิ่มแทงก็ได้ จะเรียกว่าผูกมัดรัดรึงก็ได้ จะเรียกว่าครอบงำ ห่อหุ้มก็ได้ กิเลส, กิเลส มีอาการหลายๆ อย่าง แล้วแต่มันจะเป็นกิเลสไหน บางชนิดก็เผาเหมือนกับไฟเผา บางชนิดก็ทิ่มแทงเหมือนกับเอาของแหลมแทง บางชนิดก็ผูกมัดรัดรึงเหมือนกับเอาเชือกมัด บางชนิดก็หุ้มห่อครอบงำเหมือนกับเอาของครอบไว้ ฉะนั้นจึงเรียกว่า โรค เพราะมันทำให้เจ็บปวด กิเลสเป็นโรคทางวิญญาณ เมื่อเราเป็นโรคแล้ว เราสงบได้ไหม
สามเณร : ไม่ได้
พุทธทาสภิกขุ : นั่นน่ะ เราอย่าเป็นโรค ไอ้ทางร่างกายนี้เราไม่พูดกันวันนี้ มันเป็นเรื่องต่างหาก แต่ทางจิตนี่เราอย่าเป็นโรค ถ้าเราเป็นโรคทางจิตเราสงบไม่ได้ เมื่อไม่สงบก็ไม่เรียกว่าสมณะ ถ้าเธออยากจะเป็นสมณะ พยายามจะเป็นสมณะ เตรียมเป็นสมณะ ก็ต้องพยายามอย่าเป็นโรคทางจิต เป็นแล้วสงบไม่ได้ มันร้อนเพราะราคะ โทสะ โมหะ มันก็ดิ้นรน เหมือนกับว่า เราจับปลาตัวหนึ่งโยนลงไปบนทรายร้อนๆ มันจะทำอย่างไร
สามเณร : ดิ้นครับ
พุทธทาสภิกขุ : อือ, ดิ้น แล้วถ้าปล่อยให้มันดิ้นไปอย่างนั้นแหละ มันจะเป็นอย่างไร
สามเณร : ตายครับ
พุทธทาสภิกขุ : เออ, อย่างนี้ทำไมถึงเห็นได้ง่ายนักล่ะ ไอ้ตัวเองล่ะ เมื่อราคะ โทสะ โมหะ ราวกับไฟ มันเข้าไปเผาลน ผูกมัด หุ้มห่ออยู่ ทำไมไม่เห็นว่าดิ้นบ้างล่ะ ฮึ, ใครเห็นดิ้น นี่ไม่เข้าใจ เห็นไหมที่มันเป็นทุกข์นี่ เขาเรียกว่ามันเป็นทุกข์ ก็คือดิ้น ถ้าปล่อยให้มันดิ้นไม่มีที่สิ้นสุด มันก็ตายแหละ มันคือวินาศฉิบหาย ตายไปแหละ
ดิ้น กระวนกระวาย คือไม่สงบ ฉะนั้นต้องหยุด ไม่ดิ้น ไม่กระวนกระวาย จึงจะสงบ เรื่องมันก็มีเท่านี้
เรื่องของสามเณร, เรื่องของสามเณร มันมีเท่านี้ คือเตรียมสมณะ เตรียมเป็นสมณะ เป็นสมณะคือสงบ สงบเพราะไม่ดิ้น ไม่ดิ้นเพราะไม่มีไฟมาลน ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ มาลน มันก็ไม่ดิ้น มันก็สงบ ฉะนั้นต่อไปนี้เธอก็จะต้องเป็นอยู่ด้วยความสงบ ทำการทำงานในหน้าที่ทุกอย่างด้วยความสงบ เดี๋ยวนี้ก็ดี สึกออกไปเป็นฆราวาสใหญ่โตไปก็ดี ต้องทำงานด้วยความสงบ อย่าดิ้น อย่าให้มันร้อน แล้วเราก็อยู่ด้วยความสงบ ทำงานด้วยความสงบ พักผ่อนด้วยความสงบ มันก็ดีเท่านั้นแหละ ปัญหามันก็หมด คนเราเมื่อไม่มีความทุกข์มันก็เรียกว่าหมดปัญหา
ใครชอบความสงบ ใครชอบความดิ้น, ใครชอบความดิ้น เธอเห็นพวกไหนชอบการดิ้น ดิ้นรน
สามเณร (รายบุคคล) : วัยรุ่น
พุทธทาสภิกขุ : ฮึ
สามเณร (รายบุคคล) : วัยรุ่นครับ
พุทธทาสภิกขุ : วัยรุ่น จิ๊กโก๋ เรารึเปล่าน่ะจิ๊กโก๋
เท้าไกวหาความยุ่งยาก ไกวหาสิ่งที่กระตุ้นกิเลส เข้าไปสถานที่กามารมณ์ บำรุงบำเรอให้มันดิ้น เพราะเขา
ชอบว่ามันเป็นสุข แล้วเขาก็ได้ฆ่าแกงกัน เป็นสุขไหม เขาฆ่าแกงกันเป็นสุขไหม
สามเณร : ไม่สุขครับ
พุทธทาสภิกขุ : เออ, ยังไม่ถูกกระมัง ฆ่าแกงกันแล้วเป็นอย่างไรบ้าง
สามเณร : เป็นทุกข์ครับ
พุทธทาสภิกขุ : อือ, นั่นแหละฆ่าแกงกันแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ฆ่ากันจนถึงที่สุดแล้วเป็นอย่างไรบ้าง
สามเณร (รายบุคคล) : ไม่สิ้นสุดครับ
พุทธทาสภิกขุ : ไม่สิ้นสุด ก็ฆ่ากันจนให้มันถึงที่สุด มันเป็นอย่างไรบ้าง
สามเณร : ตายหมดครับ
พุทธทาสภิกขุ : ตายแล้วไปไหน
สามเณร (รายบุคคล) : ไปลงดินครับ
พุทธทาสภิกขุ : ไปลงดิน (หัวเราะ) จะหาดูยากแล้วกระมัง ตายแล้วไปลงดินนี่ ตายแล้วไปไหน
สามเณร (รายบุคคล) : เผาครับ
พุทธทาสภิกขุ : เผาแล้วสุกหรือไม่สุก
สามเณร : ไม่สุก
พุทธทาสภิกขุ : ไม่สุก เผาอย่างไรไม่สุก (หัวเราะ) เธอมันโง่เสียแล้ว เผาไม่สุก มันก็ต้องสุกแหละ แต่มันก็ต้องสุกคนละอย่าง สุขเย็นกับสุกไหม้ สุขเย็น อะไรสะกด
สามเณร (รายบุคคล) : ข ไข่ ครับ
พุทธทาสภิกขุ : สุกไหม้
สามเณร : ก ไก่ ครับ
พุทธทาสภิกขุ : นั่นแหละ เราก็ว่าสุขเหมือนกัน ไอ้พวกที่มันชอบ ราคะ โทสะ โมหะ ดิ้น, ดิ้น, ดิ้น, ดิ้น ไปตามราคะ โทสะ โมหะ ทั้งวันทั้งคืน จนได้ฆ่ากันนี่ มันก็มีความสุกเหมือนกัน ฟังออกหรือยัง สุกชนิดไหน ฮึ, สุกชนิดไหน
สามเณร : สุกไหม้ครับ
พุทธทาสภิกขุ : อืม, สุกชนิด ก สะกด ฉะนั้นเราพยายามที่จะไม่ให้เกิดกิเลสขึ้นมาในจิต ให้จิตว่างจากกิเลสอยู่ เราก็มีความสุข สุขชนิดไหน ฮึ,
สามเณร : ชนิด ข ไข่ ครับ
พุทธทาสภิกขุ : สุขเย็น ฉะนั้นมันก็มีทั้งสุขเย็นและสุกไหม้ สุขชนิดไหนเป็นสมณะ
สามเณร : สุขเย็นครับ
สามเณร : สุข ข ครับ
พุทธทาสภิกขุ : สุขเย็น สุข ข สุขเย็นเป็นนิพพาน สมณะ สมณะทั้งหลายมีความสุขชนิดไหน
สามเณร (รายบุคคล) : สมณะมีความสุขชนิด ข ไข่
พุทธทาสภิกขุ : มีความสุขชนิดไหน
สามเณร : สุข ข ไข่ครับ
สามเณร : สุขเย็นครับ
พุทธทาสภิกขุ : สามเณรมีความสุขชนิดไหน
สามเณร : สุขเย็นครับ
พุทธทาสภิกขุ : ทะเลาะกันหรือเปล่า
สามเณร (รายบุคคล) : ไม่ครับ
สามเณร (รายบุคคล) : ทะเลาะครับ
พุทธทาสภิกขุ : ที่แล้วมา
สามเณร (รายบุคคล) : มีครับ
สามเณร (รายบุคคล) : บางครั้งครับ
พุทธทาสภิกขุ : ต่อไปนี้
สามเณร (รายบุคคล) : เลิก
พุทธทาสภิกขุ : ต่อไปนี้, ต่อไปนี้จะทะเลาะกันไหม
สามเณร : ไม่ครับ
สามเณร : เลิกแล้วครับ
พุทธทาสภิกขุ : จะได้ไม่สร้างความร้อน ไม่สร้างความกระวนกระวาย ไม่สร้างความทุกข์ เราก็จะมีสุข ข ไม่ต้องมีสุก ก สุข ข เป็นนิพพาน สุข ข สะกด เป็นนิพพาน สุก ก สะกด เป็นนรก
ใครชอบนรก ยกมือ เราจะให้ ไม่มีใครเอา อยาก, อยาก อยากจะมีนรกทำอย่างไร ฮึ, อยากจะมีนรกน่ะ
ทำอย่างไร
สามเณร : ทะเลาะครับ
พุทธทาสภิกขุ : มันสร้างขึ้นมาได้ง่ายๆ นรก ไอ้ทำที่มันผิดๆ เรื่อยไป เดี๋ยวมันก็ได้เป็นนรกขึ้นมา ทำกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ให้มากๆ เดี๋ยวก็จะยิ่งไปกว่านรกเสียอีก
คนเราตกนรกต่อตายแล้ว หรือว่าตกนรกเป็นๆ นี้ก็ได้
สามเณร : เป็นๆ นี้ก็ได้ครับ
พุทธทาสภิกขุ : เอ้า, ไหนเธอลองตกให้ดูสิ ฮึ, ลองทำให้ดูสักฉากสิ ตกนรกเป็นๆ นั่นน่ะคนมันไม่รู้ มันรอต่อตายแล้ว จึงจะตกนรก ที่จริงมันก็ตกนรกกันอยู่โดยมาก เมื่อใดร้อนใจเมื่อนั้นเป็นนรก ร้อนน้อยก็เป็นนรกเล็ก ร้อนมากก็เป็นนรกใหญ่ วานนี้มีร้อนใจอะไรบ้าง เมื่อวานนี้ ไม่มีเลย วานซืน อืม, ดี วันนี้ล่ะมีร้อนใจอะไรบ้าง จะทำอะไร จะไปไหน จะได้อะไร ต้อง เอ้อ, มีร้อนใจอะไรบ้างวันนี้ ดี, ดี, ดี เมื่อวานก็เป็นสามเณร วานซืนก็เป็นสามเณร วันนี้ก็เป็นสามเณร พรุ่งนี้ร้อนใจอะไรบ้าง
สามเณร (รายบุคคล) : ยังไม่รู้
พุทธทาสภิกขุ : ยังไม่ถึง ยังไม่รู้ แต่ว่าเตรียมไว้ให้ดีๆ อย่าต้องมีร้อนใจ จะได้เป็นสามเณรตลอดไป มีความสงบ มีความเย็น ไม่ต้องมีความร้อนใจ นี่คือเป็นสามเณรที่ดี ที่ถูกต้องสำหรับจะเป็นสมณะ คือจะสงบเย็นตลอดกาล อย่าตกนรกทั้งเป็น หลับตาดูให้ดีๆ มีสัตว์นรกที่ตกนรกทั้งเป็นเต็มไปทั้งบ้านทั้งเมือง เห็นไหม
สามเณร : เห็นครับ
พุทธทาสภิกขุ : เดี๋ยวนี้มีแต่คนตกนรก สัตว์ตกนรกทั้งเป็น เต็มไปทั้งบ้านทั้งเมือง ที่ไหน, ที่ไหน ที่ว่าเห็นนี่ที่ไหน
สามเณร : ในคุกครับ
สามเณร : หนังสือพิมพ์ครับ
พุทธทาสภิกขุ : ฮึ, หนังสือพิมพ์นั่นมันข่าว เคยเห็นตัวจริงที่ไหน
สามเณร : ในคุกครับ
สามเณร (รายบุคคล) : แถวเมืองหลวง
สามเณร (รายบุคคล) : ในคุกบางขวาง
สามเณร (รายบุคคล) : เรือนจำครับ
พุทธทาสภิกขุ : เรือนจำก็มี นอกเรือนจำมีไหม
สามเณร : มีครับ
พุทธทาสภิกขุ : กลางถนนมีไหม
สามเณร : มีครับ
พุทธทาสภิกขุ : บนรถบัสมีไหม
สามเณร : มีครับ
พุทธทาสภิกขุ : ในวัดมีไหม
สามเณร : มีครับ
พุทธทาสภิกขุ : ในผ้าเหลืองมีไหม
สามเณร : มีครับ
พุทธทาสภิกขุ : อ้า, เก่งโว้ย หาพบในผ้าเหลืองก็มีสัตว์นรก (หัวเราะ) เมื่อเป็นอย่างไรหว่า ฮึ, เมื่อมันร้อนใจด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ใจมันร้อน แล้วไปโทษว่าผ้าเหลืองร้อน มันคนโกหก พอมันจะสึก มันว่าผ้าเหลืองร้อน ที่จริงใจมันร้อน มันไปโทษว่าผ้าเหลืองร้อน ในวัดก็มีคนตกนรกทั้งเป็น ในผ้าเหลืองก็มี เราอย่ามีก็แล้วกัน เราไม่มี เราจะไม่มี เราต้องไม่มีโดยเด็ดขาด ถ้าไม่อย่างนั้น เราไม่เป็นสามเณร, เราไม่เป็นสามเณร แล้วก็ไม่เป็นสมณะ นี่มันจบแล้วนี่เรื่องสามเณร พูดเรื่องเกี่ยวกับสามเณรน่ะมันจบแล้ว
เอ้า, ทดสอบความรู้ ความจำ ความเข้าใจ สามเณร แปลว่าอะไร
สามเณร : เตรียมสมณะครับ
พุทธทาสภิกขุ : เมื่อครู่แปลว่าอะไร เมื่อครู่แปลว่าอะไร ก่อนนี้แปลว่าอะไร ทีแรก
สามเณร : เหล่ากอของสมณะ
พุทธทาสภิกขุ : เมื่อแรกแปลว่า เหล่ากอของสมณะ เดี๋ยวนี้ถามแล้วก็แปลว่า เตรียมสมณะ สมณะคือใคร
สามเณร : ผู้สงบครับ
พุทธทาสภิกขุ : สงบจากอะไร
สามเณร : จากกิเลสครับ
พุทธทาสภิกขุ : อืม, กิเลสคืออะไร
สามเณร : ไฟครับ
สามเณร : ไฟ ๓ ไฟครับ
สามเณร : ไฟราคะ โทสะ โมหะ ครับ
พุทธทาสภิกขุ : สมณะที่ ๑
สามเณร (รายบุคคล) : โสดาบัน ครับ
พุทธทาสภิกขุ : สมณะที่ ๒
สามเณร (รายบุคคล) : สกิทาคา ครับ
พุทธทาสภิกขุ : สมณะที่ ๓
สามเณร : อนาคา ครับ
พุทธทาสภิกขุ : สมณะที่ ๔
สามเณร : อรหันต์ ครับ
พุทธทาสภิกขุ : สมณะเหล่านี้อยู่บ้านหรืออยู่วัด
สามเณร : อยู่วัด
สามเณร : อยู่บ้านก็มีครับ
พุทธทาสภิกขุ : (หัวเราะ) เพิ่งนึกได้ ใคร สมณะอยู่บ้าน
สามเณร : พระโสดาบันครับ
พุทธทาสภิกขุ : อะไรอีก สมณะไหนอยู่บ้าน สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ มี ๔ สมณะ สมณะไหนอยู่บ้าน เอ้า, ตอบได้ก็ตอบไปสิ แล้วกัน สมณะไหนอยู่บ้านล่ะ ก็แปลว่า ฟังไม่ถูก ไม่เข้าใจ เมื่อครู่เราบอกว่า พระโสดาบัน พระสกิทาคามี อยู่บ้านก็ได้ พระอนาคามีอยู่บ้านก็มี ถ้าเป็นพระอรหันต์ สมณะที่ ๔ อยู่ที่ไหน
สามเณร : อยู่วัดครับ
สามเณร (รายบุคคล) : พื้นดินครับ พื้นดินก็มี
พุทธทาสภิกขุ : ฮึ, อยู่พื้นดินก็มี (หัวเราะ) นี่คงฟังผิด สมณะที่ ๔ คือพระอรหันต์ โดยภายนอกก็ว่าอยู่ที่วัดแหละ แต่ถ้าโดยจิตใจแล้ว พระอรหันต์ไม่อยู่ที่ไหน ไม่อยู่ที่บ้าน ไม่อยู่ที่วัด ไม่อยู่บนสวรรค์ ไม่อยู่ไหน ไม่อยู่ที่ไหนหมดเลย
สามเณร : อยู่ที่ใจครับ
พุทธทาสภิกขุ : อือ, นี่เขาเรียกว่า พ้นไปหมด สมณะที่อยู่บ้านมีกี่ชนิด
สามเณร : ๒ ชนิดครับ
สามเณร : ๓ ชนิดครับ
พุทธทาสภิกขุ : เอ้า, ๓ ชนิดว่าไป
สามเณร : โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ครับ
พุทธทาสภิกขุ : ที่ว่า ๒ ชนิดว่าไป, ๒ ชนิดว่าไป
สามเณร : โสดาบัน กับ สกิทาคามี ครับ
พุทธทาสภิกขุ : นี่ตอบไม่ถูก หัวขี้เลื่อย ในกะโหลกหัวมีแต่ขี้เลื่อย ไม่มีมันสมอง
๒ ชนิดก็คือว่า ครองเรือน มีเหย้าเรือน มีคู่สมรสก็มี แล้วก็โสด เดี่ยว ไม่มีคู่สมรสก็มี ที่เขาเรียกว่า
พระอนาคามี แม้จะอยู่บ้านอยู่เรือน เขาก็ไม่มีคู่ครอง ถ้าเป็นโสดาบันหรือสกิทาคามี ก็ยังมีคู่ครอง ฉะนั้นสมณะอยู่บ้านเรือนก็มี และยังแบ่งได้เป็น ๒ ชนิดคืออะไร ๒ ชนิดคืออะไร เอ้า, ก็พูดกันไปหยกๆ นี่หว่า
สามเณร : คนโสดกับผู้ครองเรือนครับ
สามเณร : ครองเรือน กับ ไม่ครองเรือน ครับ
พุทธทาสภิกขุ : เอ้า, ผู้ครองเรือนน่ะ สมณะผู้ครองเรือนนั่นแหละ ก็ยังแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คืออะไร ฮึ,
คือไม่มีคู่ครอง หมายความว่า ไม่เป็นสามี-ภรรยากับใคร ก็อยู่คนเดียว เดี่ยวก็มี และอยู่เป็นสามี-ภรรยา
ก็มี สมณะมี ๔ ชั้นนะ ๒ ชั้นแรกครองเรือนด้วย มีคู่ครองก็ได้ ชั้น ๓ นี่อยู่บ้านเรือนก็ได้ แต่ไม่ต้องมีคู่ครอง ชั้น ๔ ล่ะมีคู่ครองหรือไม่มี
สามเณร : ไม่มีครับ
พุทธทาสภิกขุ : เขาอยู่อย่างไร
สามเณร : อยู่โดดเดี่ยวครับ
พุทธทาสภิกขุ : ถ้าโดดเดี่ยวก็ยังใช้ไม่ได้ เขาอยู่อย่างไม่มีตัวตน คือมีจิตใจที่ไม่เป็นตัวเป็นตน แล้วมันก็มีคู่ไม่ได้ หรือจะว่าไม่มีคู่ มันก็ไม่ได้ เพราะว่ามันไม่มีตัวตน นี่เราพูดกันถึงสมณะโดยย่อเป็นอย่างนี้ สามเณรเป็นผู้เตรียมสมณะ เธอเตรียมที่จะเป็นสมณะชั้นไหน
สามเณร (รายบุคคล) : ชั้น ๑ ครับ
พุทธทาสภิกขุ : ชั้น ๑ (หัวเราะ) คนอื่นล่ะ เตรียมเป็นสมณะชั้นไหนกันล่ะ
สามเณร : ชั้น ๑ ครับ
พุทธทาสภิกขุ : เพราะอยากมีคู่ครองใช่ไหม (หัวเราะ) ยังอยากมีคู่ครอง มันจึงอยากเป็นเพียงสมณะชั้น ๑ เอาล่ะก็ยังดีกว่าที่จะไม่เป็นสมณะเสียเลย ไม่มีไฟ ไม่มีกิเลส แล้วก็เย็น
คำว่า เย็น นี่แปลว่าอะไร เป็นบาลีเรียกว่าอะไร
สามเณร : นิพพาน
พุทธทาสภิกขุ : นิพพาน แปลว่า เย็น ไฟดับเขาเรียกว่าไฟนิพพาน
ถ้าว่าสัตว์เดรัจฉานเย็น คือมันเป็นอย่างไรวะ ถ้าจะพูดว่าสัตว์เดรัจฉานก็เย็นนี่มันหมายความว่าอย่างไร
ฮึ, คือมันไม่มีความดุร้าย ไม่มีฤทธิ์ไม่มีเดชที่เป็นอันตราย สัตว์เดรัจฉานที่เป็นสัตว์ไม่มีอันตรายโดยประการทั้งปวงแล้ว เขาใช้คำว่านิพพานเหมือนกัน มันดับเย็นเหมือนกัน เหมือนกับคนไม่มีกิเลส ไม่มีไฟ ก็ดับเย็นเป็นนิพพาน ก็เรียกว่า อย่ามีร้อนก็แล้วกัน อย่ามีเรื่องร้อนก็เป็นนิพพานทั้งนั้น คำนี้ใช้ได้แม้แก่สัตว์เดรัจฉาน ใช้ได้แม้แก่วัตถุสิ่งของ ถ้าไม่ร้อนแล้วก็เรียกว่าเย็น ถ้าเย็นก็คือนิพพาน
ทีนี้คำว่า นิพพาน แปลว่าเย็นนี่ สำหรับมนุษย์นี่เขามีหลายชนิด ชนิดที่มิใช่พุทธศาสนาก็มี ชนิดที่เป็นพุทธ
ศาสนาก็มี อย่าเอาไปปนกัน เย็นอย่างนิพพานในพุทธศาสนาคือไม่มีกิเลส ที่ว่าในพวกอื่นลัทธิอื่น เขาเพียงแต่ว่ากิเลสสงบอยู่ กิเลสยังมี แต่หยุดอยู่ สงบอยู่ เขาก็เรียกว่านิพพานก็มี ไอ้คนโง่ๆ เขาว่าเมื่อได้สนุกสนาน เอร็ดอร่อย นั่นแหละเป็นนิพพาน คนที่มันโง่มากไป เห็นสนุกสนาน เอร็ดอร่อย ว่าเย็น ที่จริงมันไม่ได้เย็นหรอก ฉะนั้นคนบางพวกที่ไม่ใช่พุทธศาสนา เขาว่ากามารมณ์เต็มที่ว่า นิพพาน ก็มี เข้าฌานเสียเป็นนิพพานก็มี แต่พระพุทธเจ้าท่านว่า ไม่เอา อย่างนั้นไม่เอา เอาต่อเมื่อมันหมดกิเลส มันจึงจะเย็นจริง เป็นนิพพานจริง ฉะนั้นเราอย่าไปชอบเย็นที่หลอกๆ นะ ไอ้เย็นที่หลอกๆ นี่ ทำให้คนฉิบหายมานักหนาแล้วแหละ เดี๋ยวนี้พวกไหนชอบไอ้เย็นหลอกๆ นี้มากที่สุด พวกไหน ใครตอบได้ พวกไหน
สามเณร : คนโง่ครับ
สามเณร : พวกวัยรุ่นครับ
พุทธทาสภิกขุ : พวกวัยรุ่น แล้วเธอล่ะไม่ใช่วัยรุ่นหรือ
สามเณร : ยังเป็นเด็กอยู่ครับ
พุทธทาสภิกขุ : ยังเป็นเด็ก (หัวเราะ) หาทางออก
วัยรุ่นที่โง่เขลา ไปชอบไอ้เรื่องร้อนๆ ยุ่งๆ สนุกๆ นี่ก็ว่าเป็นเย็น คนอย่างนี้ถ้าเรียกให้ถูก เขาเรียกว่า
อะไรนะ
สามเณร (รายบุคคล) : โง่ครับ
พุทธทาสภิกขุ : เรียกว่าโง่ เห็นร้อนเป็นเย็น เห็นเย็นเป็นร้อน นี่เขาเรียกว่าคนอะไรนะ
สามเณร : คนโง่
พุทธทาสภิกขุ : เขามีชื่อยาวกว่านั้น ฮึ,
สามเณร (รายบุคคล) : บรมโง่
พุทธทาสภิกขุ : บรมโง่ (หัวเราะ)
สามเณร (รายบุคคล) : ซุปเปอร์โง่
พุทธทาสภิกขุ : (หัวเราะ) ซุปเปอร์โง่ อืม, ยังอะไรอีก เขาว่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัว จำไว้บ้าง วัยรุ่นทั้งหลายเหล่านี้อย่าได้เห็นกงจักรเป็นดอกบัว จะเอาแต่เรื่องเย็น สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ก็ดีแล้วเอาเป็นนิพพานเสียเลยนี่ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ไอ้อย่างนั้นน่ะไม่ใช่สมณะ ไม่ใช่สงบ ไม่ใช่เย็น ไปบ้ากามารมณ์ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง สอบไล่ตก หมดท่าเข้าก็ต้องไปขโมย ไปเป็นอันธพาล ไปติดยาเสพติด เขาคิดว่าเฮโรอีนเป็นนิพพาน ใครเคยสูบเฮโรอีนบ้างที่นั่งอยู่ที่นี่ ใครเคยสูบเฮโรอีนบ้าง เราก็ไม่เคยสูบ แต่เราได้ยินเขาว่าพอสูบแล้วมันก็สบายเหมือนกับนิพพาน (หัวเราะ) นิพพานของคนโง่ นิพพานของคนที่ไม่รู้ว่าเย็นนั้นคืออะไร สูบกัญชาก็เป็นนิพพาน สูบเฮโรอีนก็เป็นนิพพาน ทำอะไรให้มันเคลิ้มๆ ไปมันก็เรียกว่า นิพพาน มันไม่ใช่เย็นจริง มันไม่ใช่หมด ราคะ โทสะ โมหะ
ตอนนี้กี่โมงแล้ว (เสียงตอบ : ๑๐.๐๕ ครับ) ๑๐ โมง ๕ นาที พูดเรื่องเณรให้จบสักที สอบถามว่า
สมณะมีกี่ชั้น มี ๔ ชั้น สองชั้นแรกอยู่บ้านก็ได้ อยู่วัดก็ได้ ชั้น ๓ อยู่วัดก็ได้ อยู่บ้านก็ได้ แต่อยู่บ้านก็ไม่เหมือนกับ ๒ ชั้นแรก สมณะชั้น ๔ อยู่เหนือกิเลส เหนือเหตุแห่งกิเลส เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง เหนือการปรุงแต่งแห่งสังขารทั้งปวง ทางกายก็ดี ทางจิตก็ดี ไม่มีการปรุงแต่งด้วยอำนาจของอวิชชา ดังนั้นจึงสงบที่สุด
ทีแรกทำไมจึงได้สมัครมาบวช เพราะเห็นอะไร เพราะรู้สึกว่าอย่างไร ดีอย่างไร ต้องการอะไร จึงได้มาบวช
เณรกัน ทุกคนน่ะ เราถามทุกคนแหละ ถามเฉพาะทุกคนๆ ว่า ไอ้ที่เข้ามาบวชกันคราวนี้เพราะเห็นประโยชน์อะไร จึงได้เข้ามาบวช ตัวเองก็ยังตอบไม่ได้ แล้วใครจะรู้ล่ะวะ รู้สึกอย่างไรจึงได้เข้ามาบวช
สามเณร (รายบุคคล) : มีศรัทธาครับ
พุทธทาสภิกขุ : มีศรัทธา อืม, ซึ่งมันก็ต้องรู้ว่ามันดีอย่างไรจึงจะมีศรัทธาได้ ศรัทธาเฉยๆ ว่าศรัทธา ไม่ใช่ศรัทธาหรอก มันต้องมองเห็นว่าดีอย่างไรบ้างเสียก่อน มันจึงจะศรัทธาในสิ่งนั้น แล้วมันจึงอยากจะทำ เรื่องนี้เกือบจะไม่ต้องคิดนี่ เพราะมันได้ผ่านมาแล้ว เพียงแต่นึกย้อนหลังว่าเรามาบวชคราวนี้ บวชเข้ามาด้วยความรู้สึกอย่างไร ใครจ้างมา ฮึ,
สามเณร : ไม่มีครับ
พุทธทาสภิกขุ : ใครหลอกมา
สามเณร : ไม่มีครับ
พุทธทาสภิกขุ : ใครเอาเชือกร้อยจมูกจูงมา
สามเณร : ไม่มีครับ
พุทธทาสภิกขุ : เอ้า, แล้วมาด้วยเรื่องอะไรล่ะ
สามเณร (รายบุคคล) : อยากให้ความประพฤติของตนดีขึ้นครับ
พุทธทาสภิกขุ : เอ้า, แล้วรู้ได้อย่างไร ใครอธิบาย ใครบอก ใครชักชวน
สามเณร : มีใบแจ้งไปครับ
พุทธทาสภิกขุ : มีใบอะไร
สามเณร : ใบที่กำหนดอยู่ครับ
พุทธทาสภิกขุ : ในใบนั้นเขาเขียนว่าอย่างไร เขาชักชวนว่าอย่างไร มาบวชทำไม ในใบนั้นเขียนว่ามาบวชทำไม นี่ยังไม่ได้ผลเต็มที่เห็นไหม ยังไม่รู้ว่าเรามีปัญหาอะไร เรามาบวชนี่จะแก้ปัญหาอะไร เราก็ยังไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่ เกือบจะไม่รู้ว่าได้อะไรด้วยซ้ำไปถ้าอย่างนั้น เพียงแต่จำได้บ้างตามที่เขาบอก ยังไม่รู้สึกโดยแท้จริง เรามาบวชโดยที่อะไรบังคับผลักไส ชักจูงมาให้บวช พระอาจารย์พยอมเขาชวนเท่านั้นหรือ มีเท่านั้นหรือ เป็นอันว่ายังไม่รู้จักตัวเองว่าทำไมจึงได้มาบวช ตั้งหลายสิบคน ทำไมไม่รู้สักคนเลยว่าทำไมจึงได้มาบวช รู้สึกอย่างไร คิดนึกอย่างไรจึงได้มาบวช เอ้า, อย่าโง่ทีเดียวทั้งฝูงนะ มันมากนัก
สามเณร (รายบุคคล) : มีเหตุครับ
พุทธทาสภิกขุ : ฮึ
สามเณร (รายบุคคล) : มีเหตุปัจจัยทำให้มาบวชครับ
พุทธทาสภิกขุ : นั่นน่ะอะไรว่าไปสิ
สามเณร (รายบุคคล) : เพราะว่าโยมตายครับ ก็เลยให้บวช
พุทธทาสภิกขุ : (หัวเราะ) บวชให้โยมหรือ เอ้า, คนอื่นล่ะ
สามเณร (รายบุคคล) : เพราะอยากจะรู้ชีวิตนักบวชครับ
พุทธทาสภิกขุ : เพราะอยากจะรู้ชีวิตนักบวช ได้ยินทีแรกว่าชีวิตนักบวชเป็นอย่างไร
สามเณร (รายบุคคล) : ได้เปลี่ยนแปลงนิสัยตนเองครับ
พุทธทาสภิกขุ : อืม, อยากจะเปลี่ยนแปลงนิสัยตนเอง
สามเณร (รายบุคคล) : อยากจะรู้ธรรมมะครับ
พุทธทาสภิกขุ : อืม, อยากจะรู้ธรรมะ แล้วคำว่า เป็นเหล่ากอของสมณะ นั้นไปเอามาจากไหน
สามเณร (รายบุคคล) : หลวงพี่พยอม
พุทธทาสภิกขุ : (หัวเราะ) หลวงพี่พยอมพูด ทั้งที่ไม่รู้ว่าอะไร
เราก็ไม่รู้ว่าสมณะคืออะไร แล้วเราก็ไม่สนใจว่าเป็นเหล่ากอของสมณะมันจะดีอะไร เดี๋ยวนี้เราบวชแล้ว
เราต้องรู้แล้ว เป็นเหล่ากอของสมณะคืออย่างนี้ๆ ที่ที่กำลังพูดนี้ ที่กำลังว่าไปนี่ จะได้เป็นเหล่ากอของสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ในที่สุด มีสมณะอยู่ ๔ สมณะ ใครคิดว่าบวชแล้วไม่สึก
ไม่มี (หัวเราะ) ใครคิดว่ายังจะต้องสึก อืม, จะสึกไปเป็นสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ก็ได้ ที่ ๓ ก็ยังได้ ฉะนั้นอย่า
ให้ผิดหวัง อย่าให้เหลวไหล อย่าให้ไม่มีความหมายอะไร ระหว่างบวชนี้เรียนให้ดี ศึกษาให้ดี ได้พบกับความเป็นสมณะบ้างแม้เล็กน้อยก็ยังดี ที่นี่ เวลานี้ ยังไม่ทันจะสึกนี่ ก็ขอให้พบกับความเป็นสมณะบ้างก็ยังดี มีราคะสงบลงไปบ้าง มีโทสะสงบลงไปบ้าง มีโมหะสงบลงไปบ้าง คือไม่ดิ้นรน กระวนกระวายใจ มีจิตใจหยุด เย็น สงบ รำงับ นั่นแหละก็เรียกว่า สงบ รำงับ สงบ
หลวงพี่พยอมได้เคยให้ทดลองงดฉันอาหารสักมื้อหนึ่งไหม เคยไหม
สามเณร (รายบุคคล) : ไม่เคยครับ
พุทธทาสภิกขุ : เคยไหม เคยงดฉันอาหารวันหนึ่งไหม ไม่เคย สู้ของหลวงพี่วิสุทธิ์ (นาทีที่ 48: 55) ไม่ได้ หลวงพี่วิสุทธิ์เขาให้งดเว้นอาหารวันหนึ่ง นี่ดูบ่อยๆ นั่นแหละคือเขาหัดชิมดูว่ามันจะเป็นอย่างไร พอไม่ได้กินอาหาร มันหิว มันสงบไหม
สามเณร : ไม่สงบ
พุทธทาสภิกขุ : ไม่สงบ ถ้าทำให้สงบได้ เก่งไหม
สามเณร : เก่งครับ
พุทธทาสภิกขุ : เออ, นั่นแหละรู้กันไว้บ้าง ก็ต้องฝึกทุกอย่างแหละที่จะข่มให้มันสงบ เขาก็เลยเอาไอ้สิ่งที่ทำยากๆ มาให้ฝึก เขาให้นั่งให้เป็นระเบียบ เจ็บปวดก็อดทนได้ นั่งแข็งเหมือนตุ๊กตาหินก็ได้ นี่เขาหัดให้สงบ ให้กำหนดอารมณ์ของสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน นี่ก็คือสงบ แม้แต่นอนหลับก็ยังสงบ ไม่ดิ้น นอนหลับแล้วยังดิ้นผ้าเปิด น่าเกลียด นี่มันไม่สงบ ควรถูกตีไหม
สามเณร : ควรครับ
พุทธทาสภิกขุ : เราก็สั่งพวกพระนายหมู่ว่า ถ้าเณรคนไหนมันนอนดิ้นผ้าเปิด ให้ตีเลย ไม่ต้องปลุก ให้ตีผางๆ เลย มันจะได้นอนใหม่ มันจะได้กลัวมาก ก็จะได้ระวัง มันจะบังคับได้แม้ในเวลานอนหลับ นอนอย่างราชสีห์ กับนอนอย่างหมา ต่างกันอย่างไร ใครรู้ เรื่องนี้แพร่หลายมากทำไมไม่รู้ นอนอย่างราชสีห์ กับนอนอย่างหมา ต่างกันอย่างไร
สามเณร (รายบุคคล) : หมานอนไม่เรียบร้อยครับ
พุทธทาสภิกขุ : เออ, หมานอนไม่เรียบร้อย
สามเณร : หมานอนไม่มีสติครับ
พุทธทาสภิกขุ : มีสติ เรียบร้อย แม้แต่นอนหลับก็ไม่ดิ้น ถ้านอนดิ้นกระจุยกระจายก็คือว่านอนอย่างหมา ถ้านอนเรียบ ตื่นขึ้นมาอะไรก็ยังคงที่ตามเดิม นี่ก็เรียกว่านอนอย่างราชสีห์ เพราะจิตสงบ กายมันสงบ มันก็ไม่ดิ้นแม้แต่ในเวลาหลับ นี่เขาเรียกว่า มาบวชนี่ มาหัดสงบ มาหัดให้สงบ โดยเจตนา โดยไม่มีเจตนา โดยครึ่งเจตนา อะไรเขาก็หัดกันทั้งนั้นแหละ ฉะนั้น จึงมีความรู้เรื่องความสงบมากขึ้น ฉะนั้นเราก็ได้เป็น เตรียม เตรียมสมณะมากขึ้น คือเตรียมสูงขึ้นไป เป็นเหล่ากอของสมณะที่สูงขึ้นไป, สูงขึ้นไป
ฉะนั้นเธอจงสนใจในข้อนี้ คือการฝึกทุกอย่างๆ แหละ ที่ทำให้เรามีความสงบมากขึ้นๆ ทุกอย่าง
ตลอดเวลาที่บวชอยู่นี้ แล้วมันก็จะติดตัวไป แม้จะสึกออกไปแล้วมันก็จะยังมีความสงบ แล้วก็จะได้ฝึกเพิ่มขึ้นๆ เมื่อมีการบวชครั้งหลัง นี่ ความเป็นสมณะของเราก็มากขึ้นๆ จนกระทั่งเลยชั้นเตรียม ทีนี้ไม่ต้องเป็นชั้นเตรียมแล้ว พร้อมเป็นชั้นสมณะโดยแท้จริง
เอาละ เราพูดกันแต่เพียงเรื่องของเตรียมสมณะก็พอแล้ว เรื่องนอกนั้นมันยืดยาว แล้วมันก็ยัง ยังไม่ถึง
ด้วย แล้วมันก็ไปหาอ่านเอาเองได้ เดี๋ยวนี้เรามีเวลาเท่านี้ มีอะไรเท่านี้ ก็พูดกันแต่เรื่องเตรียมเป็นสมณะนี่ ให้ครบถ้วน ให้ถูกต้อง ให้เพียงพอ หวังว่าเธอคงจะได้รู้จักเตรียมสมณะหรือการเตรียมเพื่อเป็นสมณะนี่มากขึ้นกว่าที่แล้วมา แล้วเป็นสมณะได้ในที่สุด
เอ้า, ในที่สุดนี้ขออวยพรนะ ว่าให้เธอจงมีสติปัญญาเป็นสัมมาทิฏฐิ มีสติปัญญาพอที่จะฟังฉันพูดนี้เข้าใจ
นะ เมื่อนั้นแหละจะมีศรัทธา ถ้าเข้าใจมองเห็นในเรื่องนี้ แล้วก็จะมีศรัทธาในเรื่องนี้ และก็จงมีความพากเพียรในเรื่องนี้ แล้วก็มีความอดกลั้นอดทนเมื่อปฏิบัติในเรื่องนี้ แล้วก็รอได้ คอยได้ เรื่อยไปแหละ จนมันประสบความสำเร็จ คือได้เป็นเตรียมสมณะโดยสมบูรณ์บ้าง ได้เป็นสมณะที่ ๑ ที่ ๒ กันไปตามลำดับบ้าง นี่เรียกว่า ความก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย ขอให้เธอทั้งหลายมีโชคดี เป็นไปได้อย่างนี้ ด้วยอำนาจของคุณพระธรรมซึ่งขยายออกไปเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั่นเอง แล้วมีความก้าวหน้าพร้อมกับความสุขในการประพฤติปฏิบัตินี้อยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ
สามเณร : สาธุ
พุทธทาสภิกขุ : ซ้อมกราบ ซ้อมการกราบ กราบให้ดู เดี๋ยวนี้ฝรั่งกราบสวยกว่าคนไทยเสียแล้ว เราละอายเหลือเกิน เดี๋ยวนี้ฝรั่งมันกราบสวยกว่าคนไทยเสียแล้ว ฝรั่งเขามาใหม่ เขาหัดกราบใหม่ เขากราบสวยกว่าคนไทยเสียแล้ว เขาต้องเอามาลงที่หน้าอกนี้ก่อน แล้วเขาจึงยกขึ้นเหนือศีรษะ แล้วเขาเอามาลงที่หน้าอกนี้อีกทีหนึ่ง แล้วเขาจึงเอามือกราบลงไป เอ้า, กราบดู เอ้า, ไม่ถูก ไม่ถูก ไม่ถูก
ตั้งต้นที่นี่ ๑ ที่นี่, ๒ ที่นี่, ๓ ที่นี่, ๔ ที่นี่
เอ้า, ๑, ๑ ผิดแล้ว
๑ อยู่ที่หน้าอก, ๒ สูงกว่าหน้าผาก สูงกว่าหน้าผาก, ๓, ๔, ๕
๑, ๒, ๓, ๔, ๕
๑, ๒, ๓, ๔, ๕
๑, ๒, ๓, ๔, ๕
ไปซ้อมกันเอง ให้พร้อม, ให้พร้อม เหมือนกับว่าเป็นคนคนเดียวทำ ถ้าจะออกไปให้ออกอย่าง
ประทักษิณ ใครเข้าใจไหม วันก่อนบอกหมู่ใหญ่ทีหนึ่งแล้ว ถ้าจะออกไปให้ออกอย่างประทักษิณ คือเอามือขวา มือข้างขวาไว้ทางผู้ที่เราเคารพ แล้วก็เดินออกไป นี่จะยืนตรง ซ้ายหัน เดินไปทางโน้น ถ้าปล่อยตามใจน่ะ มันลุกขึ้นนะ แล้วมันก็หันหลังนะ แล้วมันก็ปัดทรายใส่หน้านะ แล้วมันก็เดินไป อย่างนี้มันไม่, ไม่, ไม่เป็นระเบียบ เข้ามาอย่างประทักษิณ ออกไปอย่างประทักษิณ คือมือขวาของเราอยู่ทางผู้ที่เคารพ ที่เราเคารพเรื่อย
มีหินสลักแผ่นหนึ่ง อยู่สุดมุมติดกับประตูทางด้านโน้น พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งเข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็
เดินเข้ามา เขาไหว้แล้ว เขาออกไปในลักษณะประทักษิณ เอ้า, ซ้อมการเตรียมออกไปอย่างประทักษิณ
ยืนขึ้น ซ้ายหัน ซ้ายหันก่อนแล้วเดินไปจนสุดก่อนโน้น ถึงค่อยแยกกันไปตามประสงค์ เดินไปเลย ไม่
ต้อง เดี๋ยวค่อยมาเอาก็ได้ เดินไป, เดินไป ไม่ต้องเรียงหนึ่ง ไปพร้อมกันก็ได้ ไป, ไป, ไปออกพอสมควร พ้นระยะพอสมควร แล้วจึงค่อยแยกย้ายกัน ไม่ลุกขึ้นยืน กลับหลังหันแล้วสะบัดทรายใส่เขา